Tag: สัมมาทิฏฐิ
สมถะ-วิปัสสนา เมื่อใช้ตามแนวทางอริยสัจ ๔
สมถะ-วิปัสสนา เมื่อใช้ตามแนวทางอริยสัจ ๔
สมถะและวิปัสสนานั้นเป็นสิ่งที่ปฏิบัติแตกต่างกัน ผลที่ได้ก็จะแตกต่างกัน เราจึงควรเรียนรู้ความต่างของสมถะและวิปัสสนาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สมถะ คือ การใช้อุบายให้เกิดความสงบใจ เข้ามาควบคุมใจ ซึ่งจะเป็นการกดข่ม ตัดรอบ ทำเป็นลืม เปลี่ยนเรื่อง คิดบวก ฯลฯ การกระทำให้จิตที่ฟุ้งซ่านนั้นดับไปโดยทันทีจะอยู่ในลักษณะของสมถะ
วิปัสสนา คือ การใช้อุบายให้เกิดปัญญา ให้มองเห็นความจริงตามความเป็นจริง โดยการคิดพิจารณาความจริง ให้จิตเกิดปัญญารู้แจ้งว่าความจริงที่ไม่ถูกปนเปื้อนด้วยกิเลสนั้นเป็นเช่นไรเจริญไปตามลำดับหยาบ กลาง ละเอียด ไม่ได้เป็นไปเพื่อความดับในทันที
สมถะ-วิปัสสนา สำหรับผู้ที่เข้าใจทั้งสองกระบวนการ จะบริหารการใช้อุบายเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ใช้สมถะกดกิเลสไม่ให้ออกฤทธิ์ก่อนแล้วใช้ช่วงเวลานั้นๆพิจารณาความจริงตามความเป็นจริงไป ถ้าไม่มีพลังของสมถะเลย แล้ววิปัสสนาอย่างเดียวก็จะช้า จะแพ้กิเลสจนท้อหรือกระทั่งเลิกพิจารณา ส่วนถ้าสมถะอย่างเดียวก็จะกดข่ม ตัดรอบกันอย่างเดียวจนไม่มีปัญญาใดๆเกิดขึ้น ได้เพียงความสงบเท่านั้น
และในบทความนี้เราก็จะมาไขความต่างของสมถะและวิปัสสนา เมื่อปฏิบัติตามแนวทางของอริยสัจ ๔
๑). ทุกข์
เมื่อมีทุกข์เกิดขึ้นนั้นก็หมายถึงเรามีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดสักสิ่งหนึ่งแล้วเราไม่ได้สิ่งนั้นมาเสพ ยกตัวอย่างเช่นมีคนมานินทาเราแล้วเราโกรธก็จะเป็นทุกข์ขึ้นมา
๑.๑ ). สมถะกับทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์นั้นก็จะเห็นความโกรธที่เกิดขึ้นนั้นเป็นตัวทุกข์
๑.๒ ). วิปัสสนากับทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์นั้นก็จะเห็นว่าการโกรธนั้นเป็นตัวทุกข์
๑.๓ ). สรุปทุกข์ ในมุมมองของสมถะและวิปัสสนานั้นจะเห็นแตกต่างกันอยู่บ้าง คือสมถะจะเห็นความโกรธเป็นทุกข์ แต่วิปัสสนาจะเห็นว่าการที่เราต้องมาลำบากโกรธจนลำบากกายลำบากใจนี่แหละเป็นทุกข์ ความต่างคือสมถะมักจะมองความโกรธเป็นเรื่องนอกตัวไม่ใช่ตัวเรา แต่วิปัสสนาจะมองความโกรธเป็นเรื่องที่เกิดจากภายในซึ่งจะมีผลต่อไปถึงสมุทัย
การมองว่าทุกข์นั้นไม่ใช่ตัวเราของเราตั้งแต่ตอนแรกจะทำให้เราไม่คิดจะสืบหาสาเหตุแห่งทุกข์นั้นต่อไป เพราะไป “คิด” ว่าทุกข์ไม่ใช่เรา ความโกรธไม่ใช่เรา โดยที่กิเลสนั้นยังไม่ได้ถูกทำให้แสดงตัวและชำระให้สิ้น นั่นหมายความว่าการกดข่มจะทำให้ไม่สามารถเข้าถึงประโยชน์สูงสุดของการเกิดทุกข์ได้
๒).สมุทัย
การเห็นทุกข์นั้นเป็นประตูแรกของการเห็นธรรม แต่การเห็นเหตุแห่งทุกข์นั้นจำเป็นต้องใช้ความเพียรและปัญญาที่มากกว่า ขึ้นชื่อว่าเหตุก็ต้องศึกษาให้เห็นเหตุซึ่งจะยากเย็นแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่ผูกปมกิเลสนั้นๆไว้
๒.๑ ).สมถะกับสมุทัย จะเห็นความโกรธนี่เองเป็นเหตุแห่งทุกข์ ทุกข์เพราะโกรธ ทุกข์เพราะคิดปรุงแต่ง ทุกข์เพราะมีตัวตน ทุกข์เพราะไม่มีสติ ฯลฯ
๒.๒ ).วิปัสสนากับสมุทัย จะค้นลงไปในความโกรธว่าสิ่งใดเป็นเหตุแห่งความโกรธนั้น แน่นอนว่าการมีอัตตานั้นคือปลายทาง แต่การวิปัสสนานั้นจะมองหาความจริงที่แท้จริงไปตามลำดับ ขุดค้นเหตุไปเรื่อยๆ เช่น โกรธเพราะเราเกลียดเขาอยู่แล้ว นั่นเพราะเขาเคยทำไม่ดีกับเรา คนอื่นนินทาเราไม่โกรธแต่คนนี้เราโกรธ ที่เขาเคยทำไม่ดีกับเราเราก็ฝังใจ ที่เขาทำไม่ดีนั้นไม่ดีจริงหรือไม่ แล้วถ้าไม่ดีจริงทำไมเราต้องถือสา ที่เราถือสาเพราะเรามีอคติอะไรอยู่แล้วรึเปล่า?
ซึ่งการหาเหตุนี้เองจะขุดค้นลงไปตามลำดับ ซึ่งจะไม่เจอเหตุแห่งทุกข์ตั้งแต่แรก จึงจำเป็นต้องใช้ไตรสิกขาเข้ามาช่วยกระทุ้งกระแทกให้เห็นเหตุให้ชัดขึ้น
๒.๓ ).สรุปสมุทัย ที่สมุทัยนี้เองจะเริ่มเห็นความต่างของสมถะวิธีและวิปัสสนาวิธีอย่างชัดเจน ในมิติของความลึกในการแก้ปัญหา สมถะจะมองปัญหาแค่ผิวเผิน ส่วนวิปัสสนานั้นจะขุดลงไปที่เหตุที่แท้จริง นั่นก็เพราะว่าถ้าหาเหตุแห่งทุกข์ไม่ได้ การเห็นความจริงตามความเป็นจริงนั้นก็เป็นไปไม่ได้เลย
๓).นิโรธ
นิโรธคือการดับทุกข์ การดับทุกข์นั้นสามารถดับได้หลายวิธี มีทั้งดับชั่วคราวและดับถาวร มีกลยุทธ์และวิถีทางในการดับหลายแบบ แต่จะสรุปคร่าวๆออกมาจากผลของสมถะและวิปัสสนาด้วยกันสองแนวทาง
๓.๑ ).สมถะกับนิโรธ เมื่อเห็นทุกข์ของความโกรธและเห็นว่าความโกรธ ความคิด การมีตัวตน การไม่มีสตินั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์ สมถะจึงดับทุกข์ด้วยการดับความคิด ดับการปรุงแต่ง การคิดว่าต้องไม่มีตัวตน หรือการใช้สติ ซึ่งการดับเช่นนั้นเป็นการดับแบบชั่วคราว ดับเฉพาะไฟที่ลุกขึ้นแต่ไม่ได้ดับเชื้อไฟ นี้เองคือความตื้นของสมถะที่ลงไปไม่ถึงเหตุ แต่ถึงกระนั้นการดับแบบชั่วคราวก็สามารถดับข้ามภพข้ามชาติได้ แต่ที่แน่นอนคือมันไม่ถาวร
๓.๒ ).วิปัสสนากับนิโรธ เมื่อเห็นความทุกข์ของความโกรธ และค้นเจอเหตุแห่งทุกข์แล้ว ยกตัวอย่างเช่นว่า จริงๆที่มีอคติจนเป็นเหตุแห่งความโกรธเมื่อได้รับการนินทาก็คือ คนคนนี้มีท่าทีหยิ่งในตอนแรกที่พบกันแล้วเราไม่ถูกใจ ดังนั้นเหตุแห่งทุกข์ก็คือความอยากได้รับการยอมรับ การเอาใจใส่จากคนอื่นนั่นเอง ซึ่งการจะทำให้กิเลสดับไปนั้น วิปัสสนาจะมาดับกันที่ตรงนี้ จะพิจารณาธรรมกันตรงที่เหตุ ใช้ไตรลักษณ์ก็ใช้ที่เหตุ ใช้กรรมและผลของกรรมก็ใช้ที่เหตุ ใช้การพิจารณาประโยชน์และโทษก็กระทำที่เหตุ ซึ่งเมื่อดับเหตุที่แท้จริงได้ จึงจะเป็นการดับที่แท้จริง ตามที่ควรจะเป็นจริงๆ
๓.๓ ).สรุปนิโรธ จะเริ่มเห็นได้ชัดแล้วว่าเมื่อระบุเหตุของปัญหาที่ต่าง ก็จะมีวิธีการแก้ปัญหาที่ต่าง ตรงนี้เองที่เป็นขีดจำกัดที่ว่าทำไมทำสมถะอย่างเดียวจึงไม่บรรลุธรรมหรือกลายเป็นฤๅษี เพราะสมถะไม่ได้ดับทุกข์ที่เหตุ แต่มักจะไปดับที่ผล ถึงแม้จะมีการหาเหตุแต่ก็มักจะเป็นหารวมๆ ใช้วิธีการเป็นรูปแบบ ซ้ำๆ ย้ำๆ เรียกได้ว่ากิเลสแบบไหนก็ใช้วิธีการเดิม ทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ทุกอย่างไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวเราของเรา มันก็ใช้ธรรมะเข้ามากดข่มเท่านั้นเอง เพราะแท้จริงแล้วการดับกิเลสในแต่ละอย่างนั้นมีความต่างในองค์ประกอบหลายๆอย่างอยู่ หลายคนก็หลายรูปแบบ เพราะแต่ละคนผูกปมสะสมกิเลสมาไม่เท่ากัน การแก้ไขปัญหาก็ต่างกัน ความยุ่งยากซับซ้อนก็ต่างกัน ดังนั้นเมื่อสมุทัยไม่ถึงเหตุ นิโรธก็ไม่ถึงผลตามแนวทางของพุทธ
๔). มรรค
มรรค คือวิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์อย่างถูกตรง ประกอบด้วยความเข้าใจ การคิด พูด ทำ เลี้ยงชีพ ความเพียร การระลึกรู้ และความเป็นสมาธิที่ถูกตรง เกิดปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์จะต้องประกอบด้วยมรรคทั้ง ๘ องค์ที่สมบูรณ์ครบพร้อม ซึ่งการจะเกิดมรรคทั้ง ๘ ได้ จะต้องกระทำมรรคในข้อ ๑-๗ อย่างถูกตรงจนกระทั่งเกิดเป็นสภาพของสัมมาสมาธิ ซึ่งหมายถึง ความเข้าใจ คิด พูด ทำ เลี้ยงชีพ ขยัน มีสติอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
๔.๑ ).สมถะกับมรรค ในเมื่อสมถะมองความโกรธ เพราะความคิด การปรุงแต่ง การมีตัวตน การไม่มีสติเป็นปัญหา ดังนั้นจึงต้องดับปัญหาเหล่านี้ ซึ่งมรรคของสมถะจะกลายเป็นดำดิ่งสู่ความสงบ การกดข่ม การตัดรอบ การวางเฉย การใช้ธรรมะหรือเหตุผลต่างๆมากระทำต่อความฟุ้งซ่านนั้นๆ เช่นความโกรธไม่ใช่เรา ความโกรธไม่เที่ยง มาเป็นเครื่องมือสะกดจิต จนจิตสงบจากกิเลสนั้นๆ เป็นสภาพที่ความโกรธสงบลงเพราะใช้อุบายทางใจเข้ามาบริหารและความคุม ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นไปตามสัมมาอริยมรรค เป็นเพียงวิถีทางทั่วไปตามแบบฉบับของสมถะซึ่งเป็นพื้นฐานของมนุษย์ในโลกอยู่แล้ว การทำสมถะนี้ไม่ว่าศาสนาใดก็ใช้กัน ซึ่งพุทธเองก็ใช้เป็นเครื่องอุปการะเหมือนกันแต่ไม่ได้ใช้เป็นหลักในการปฏิบัติ
๔.๒ ).วิปัสสนากับมรรค เมื่อเห็นตัวกิเลสที่ทำให้เกิดทุกข์แล้ว จึงทำการคิดพิจารณากิเลสนั้นๆไปตามความจริงที่เป็นจริง ไม่ใช่ตามกิเลส โดยใช้ศีลมาเป็นเครื่องชี้วัด ซึ่งในตอนแรกมันจะไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้ แต่จะเห็นโน้มเอียงไปตามกิเลส แม้ว่าจะมีสัมมาทิฏฐิแล้วก็ตาม ซึ่งการจะทำให้คิดได้ตามจริงนั้นก็ต้องอาศัยการพูด ทำ เลี้ยงชีพ ไปตามหลักแห่งความพ้นทุกข์ และพิจารณากิเลสนั้นๆโดยใช้ความเพียรและมีสติเป็นที่ตั้งเพื่อชำแหละกิเลสที่โผล่มาจากการใช้ศีลจับ เพื่อกระทำทิฏฐิให้ถูกตรงโดยลำดับ ทั้งหมดนี้เพื่อผลแห่งความคิดที่ถูกต้องถูกต้องให้ถึงพร้อม
วิปัสสนานี้เองเป็นความคิดอย่างแน่แท้ แต่เป็นการคิดที่สวนทางกับกิเลส เป็นการคิดที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ (สัมมาสังกัปปะ)ซึ่งมีคนจำนวนมากเข้าใจผิดว่าวิปัสสนาไม่ใช่การคิด การทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงนี่เองคือการคิด แต่มันอยู่ที่รายละเอียดว่าคิดอย่างไรจึงจะถูกทางพ้นทุกข์ ถ้าไม่คิดเลยก็กลายเป็นสมถะ
๔.๓ ).สรุปมรรค วิปัสสนานั้นไม่ได้ปฏิเสธการมีสติ หรือการคิด พูด ทำใดๆ เพราะจำเป็นต้องปฏิบัติมรรคทุกองค์อยู่แล้วเพื่อให้เกิดสัมมาสมาธิซึ่งเป็นผลจากการเห็นความจริงตามความเป็นจริง และยังไม่ได้ปฏิเสธการใช้สมถะเข้ามาร่วมในกระบวนการต่างๆเพื่อกดกิเลสไว้ เช่นมีความโกรธเราก็กดไว้ ก่อนที่เราจะตอบโต้ด้วยความโกรธ แต่จะไม่กดจะดับทั้งหมด เราจะยังต้องใช้เชื้อแห่งความโกรธที่เหลือมาเป็นเป็นต้นทางแห่งสมุทัย จนกระทั่งสามารถนำมาปฏิบัติตามมรรคได้
แต่มรรคของสมถะนั้นก็สามารถถึงสมาธิได้เหมือนกัน แต่ก็ยังเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะเกิดมาจากมิจฉามรรค นั่นเพราะทิฏฐิผิดรูปผิดรอยตั้งแต่แรก โดยเฉพาะผู้ที่เข้าใจว่าการดับ การไม่คิด การมีสติตลอดเวลาคือการพ้นทุกข์ เหล่านี้คือผู้หลงผิดไปติดสมถะทั้งสิ้น เพราะแท้จริงแล้วการดับหมายถึงการดับกิเลส ไม่ใช่การดับผลของกิเลส การไม่คิดหมายถึงไม่คิดตามกิเลส ไม่ใช่ไม่คิดอะไรเลย และถ้าเป็นความคิดที่ย้อนแย้งกิเลสยิ่งต้องคิด และการมีสตินั้นจำเป็นต้องมีในการวิปัสสนาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ตัวบรรลุธรรม เพราะหลักของวิปัสสนานั้นคือทำให้เกิดปัญญารู้เห็นจริงตามความเป็นจริง สติเป็นเสมือนเครื่องหล่อเลี้ยงที่จำเป็นต้องมี แต่ไม่ใช่ตัวที่จะทำให้เกิดปัญญา เพราะสิ่งที่ทำให้เกิดปัญญาก็คือสัมมาสังกัปปะที่เกิดจากสัมมาทิฏฐิเป็นตัวตั้ง มรรคทั้ง ๗ องค์ทำงานส่งเสริมกันจนกระทั่งเกิดสัมมาสมาธิเป็นองค์ที่แปด ซึ่งเป็นตัวจบของกิเลสนั้นๆหมายถึงเกิดสภาพของวิมุตติหรือการหลุดพ้นจากกิเลสอย่างถาวร
สัมมาสมาธิไม่ใช่การนั่งสมาธิ ไม่ใช่การกดข่มจิต หรือกระทำใดๆต่อจิตจนเกิดสภาพสมาธิ ลักษณะเหล่านี้เป็นวิธีของสมถะ ให้ผลเป็นสมาธิจริง แต่เป็นมิจฉาสมาธิ เป็นแบบทั่วไป ศาสนาใดก็ทำได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นพุทธ เพราะทางพ้นทุกข์พุทธนั้นมีทางเดียวคือ สัมมาอริยมรรค นั่นหมายถึงจะต้องถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์อย่างถาวรด้วย ไม่ใช่การดับอย่างชั่วคราว แม้จะดับได้ข้ามภพข้ามชาติแต่ถ้าไม่ถาวรก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งจะทำให้ติดภพ ติดสงบ ติดดีเข้าไปอีก กลายเป็นฤๅษีไปอีก เนิ่นช้าไปอีก ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ธรรมใดวินัยใดเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นวินัยนั้นไม่ใช่ของเราคถาคต”
ดังนั้นการใช้สมถะเข้ามาช่วยกดข่มกิเลสในกรณีที่มีความรุนแรงมากนั้นก็สามารถทำได้และเป็นกุศล แต่หากจะตั้งสมถะเป็นเป้าหมายในการบรรลุธรรมก็ขอสรุปเลยว่าจะต้องวนเวียนติดสุขอยู่ในโลกอีกนานแสนนาน เพราะโดยหลักแล้วสมถะไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหาที่เกิดเลย เพียงแต่ทำปัญหาที่เกิดให้ดับและจบไปเท่านั้น จึงต้องวนเวียนเกิดดับๆอยู่เรื่อยไปเพราะเหตุยังไม่ดับนั่นเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
6.3.2558
นำบุญมาฝาก
นำบุญมาฝาก
…ความหวังดี ที่พาให้หลงทางและห่างไปจากความเป็นพุทธ
ในปัจจุบันนี้คำว่า “บุญ” กับคำว่า “กุศล” นั้นแทบจะแยกกันไม่ออก หรือกลายเป็นเนื้อเดียวกันไปแล้ว มิหนำซ้ำยังมีการทำบุญทำกุศลให้กันได้อีก เรียกว่าเตลิดกันไปไกล
หลักธรรมสั้นๆที่รู้กันโดยทั่วไปคือ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” และในเรื่องของกรรมคือ “เรามีกรรมเป็นของของตน” เพียงแค่ธรรมสองข้อนี้ก็ยืนยันได้แล้วว่าไม่ว่าบุญหรือกุศลก็ไม่สามารถ “ทำให้” แก่กันและกันได้ เพราะศาสนาพุทธบอกว่า อยากได้ต้องทำเอง เราทำกรรมอะไรไว้เราจึงจะได้รับผลของกรรมนั้นเอง คนอื่นทำให้เราไม่ได้
คำว่ากุศลนั้นยังพออนุโลมให้ได้บ้าง เพราะกุศลคือความดีงาม สิ่งดีทั้งหลาย เมื่อเราไปทำทาน บริจาคทรัพย์ จึงเกิดเป็นความดีหรือที่เรียกว่าได้กุศล คือได้กรรมดีเก็บไว้ในธนาคารกรรมของตัวเอง ทีนี้หากเราไปเล่าเรื่องในการทำดีของเราให้คนอื่นฟังแล้วเขามีมุทิตาจิต อนุโมทนากับสิ่งดีที่เราทำนั้นก็เรียกว่าเราได้ทำกุศลอีกต่อคือการพูดสิ่งที่ดี และเขาก็ได้สร้างกุศลด้วย กุศลนั้นไม่ได้เกิดจากเราให้เขา แต่เกิดเพราะเขาสร้างกุศลขึ้นมาเอง เขาสร้างกรรมดีขึ้นมาเอง ทั้งหมดนี้อยู่ในหมวดของกุศลเท่านั้น
มากล่าวกันถึง “บุญ” บุญนั้นคือการชำระกิเลส การสละออก การนำสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นออก ดังนั้นกิจกรรมใดที่พาลดกิเลสจะเป็นบุญทั้งหมด ดังที่ยกตัวอย่างว่าเราไปทำทาน บริจาคทรัพย์แต่ถ้าเราให้เพื่อหวังว่าจะได้ลาภ ได้โชคดี ได้สิ่งดี ได้สวรรค์ ได้นิพพาน แบบนี้ไม่เป็นบุญเพราะให้เพื่อหวังผล กิเลสไม่ลด นอกจากกิเลสจะไม่ลดเผลอๆยังเพิ่มกิเลสเข้าไปอีก ซึ่งเป็นความเข้าใจในเรื่องบุญที่ผิดเพี้ยนไปมากในปัจจุบัน
แต่ถ้าเราบริจาคทรัพย์เพื่อลดความขี้งก ขี้เหนียว ลดความหวงแหนในสิ่งของ บริจาคเพื่อให้ความยึดมั่นถือมั่นลดลง สละของที่ตนรักให้ผู้อื่น แบบนี้เป็นบุญและการอนุโมทนาที่เป็นบุญนั้น จะยกตัวอย่างในกรณีที่เราไม่ชอบใจคนคนหนึ่ง ทีนี้พอเขาไปทำความดีแล้วเราก็ยังไม่ชอบอยู่ดีเพราะเรามีอาการผูกโกรธ การอนุโมทนา หรือสามารถทำจิตมุทิตาเห็นดีเห็นงามกับเขาที่เราไม่ชอบใจได้ คือการที่เราลดการผูกโกรธ ลดอัตตาตัวเองลงมา เมื่อสละกิเลสก็ถือว่าเป็นบุญ
ดังจะเห็นได้ว่ากิจกรรมเดียวกันสามารถเกิดบุญหรือไม่เกิดบุญก็ได้ ซึ่งนั่นขึ้นอยู่กับทิฏฐิหรือความเห็นความเข้าใจ คนที่มิจฉาทิฏฐิก็จะทำทานหวังได้บุญ ส่วนคนที่สัมมาทิฏฐิก็จะสละสิ่งของ สละแรงงาน ลดกิเลสเพื่อให้เกิดบุญ ซึ่งในส่วนของกุศลนั้นจะเกิดอยู่แล้วดังที่ยกตัวอย่างในข้างต้น
…ทีนี้พอเข้าใจได้ว่าบุญหรือกุศลต่างก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตนเอง ดังนั้นการจะทำบุญให้ใครนั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว และการทำกุศลเพื่อให้เขาได้รับกรรมดีไปเป็นของเขาก็ทำไมได้เช่นกัน ถ้าจะทำได้ก็เพียงทำความดีกับเขาโดยตรง เขาจึงจะได้รับผลดีนั้น
แต่การที่เราคิดจะทำดี ทำสิ่งที่เป็นกุศลโดยใช้การอ้างอิงใครสักคนเช่น ถือศีลในวันพระให้พ่อแม่ พอเพียงเพื่อในหลวง ตรงนี้มันจะมีความซ้อนอยู่นิดหนึ่งคือเราใช้เขาเป็นแรงบันดาลใจในการทำดี เพราะมีเขาเป็นแรงกระตุ้น เราจึงคิดทำดี ถ้าไม่มีเขาเราก็ไม่คิดจะทำดี บุคคลผู้เป็นที่ตั้งแห่งแรงบันดาลใจเหล่านั้นก็จะได้รับผลแห่งกุศลไปด้วย ซึ่งตรงนี้ก็สามารถเห็นได้ทางรูปธรรมอย่างชัดเจน เช่น ถ้าเรามีความพอเพียง ไม่โลภ ก็จะไม่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง เมื่อไม่มีผลประโยชน์เราก็สามารถที่จะตรวจสอบนักการเมืองได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีอคติลำเอียง ทำให้สามารถคัดคนชั่วออกได้มากขึ้น พอคนชั่วน้อยก็มีอำนาจทุจริตน้อยลงประเทศก็สงบสุขขึ้น ปัญหาน้อยลง พัฒนามากขึ้น นี้เองคือกุศลร่วมที่เกิดขึ้นจากการใช้บุคคลเป็นแรงบันดาลใจ คนทำก็ได้กุศล คนที่เป็นแรงบันดาลใจก็ได้ผลแห่งกุศลที่ตนเองได้ทำไว้
ทั้งนี้ผลแห่งกุศลที่บุคคลผู้เป็นแรงบันดาลใจได้รับนั้นก็มาจากสิ่งที่เขาทำนั่นแหละ เพราะเขาทำดีเป็นตัวอย่าง เช่นพ่อแม่ทำดีให้เราเห็น เข้าวัดฟังธรรม ให้ทานแก่ผู้อื่นเป็นประจำ นี่คือกุศลที่เขาทำ เมื่อเราได้เห็นจึงเกิดศรัทธาและซึมซับความดีเหล่านั้นมา การทำดีของเราก็กลายเป็นดอกผลของความดีจากเขาเหล่านั้นนั่นเอง
ดังนั้นวิธีสร้างกุศลให้กว้างไกลออกดอกออกผลงอกงามก็คือการทำความดีให้มาก วิธีทำความดีนั้นมีมากมาย ไม่จำเป็นว่าต้องรอโอกาสสำคัญหรือไปตามสถานที่สำคัญเสมอไป ผู้มีปัญญาย่อมไม่ประมาทโอกาสในการทำความดี
และการทำความดีที่ให้อานิสงส์หรือให้ประโยชน์สูงสุดก็คือการล้างกิเลส การชำระล้างกิเลสก็คือการทำบุญ เมื่อชำระล้างกิเลสด้วยบุญจนหมดสิ้นแล้วมันก็จะไม่มีเชื้อชั่วอีกต่อไป เมื่อความชั่วไม่มีในจิตใจ เราก็จะไม่ทำชั่วอีก ทำแต่ความดี การชำระกิเลสจึงเป็นวิธีที่ปิดประตูนรกและเปิดสวรรค์ในเวลาเดียวกันและผลที่เหนือกว่านั้นก็ยังมีอยู่เช่นกัน
– – – – – – – – – – – – – – –
6.1.2558
เชื่อเรื่องดวง ไม่มีวันพ้นทุกข์
เชื่อเรื่องดวง ไม่มีวันพ้นทุกข์
ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความรีบเร่งและสับสน ในสังคมที่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายแต่กลับเต็มไปด้วยความทุกข์ทางจิตใจที่ยากจะเยียวยา แม้ว่าจะหันหน้าเข้ามาหาศาสนาเท่าไรแต่ก็ไม่รู้สึกว่าทุกข์จะหายไป ทำบุญทำทานเท่าไหร่ก็ไม่พ้นทุกข์ สุดท้ายจึงต้องหาสิ่งยึดมั่นจิตใจ ที่เรียกว่า “การดูดวง”
การดูดวง ดูหมอ การทำทายทายทัก ทรงเจ้า เข้าทรง ดูฤกษ์ ดูฮวงจุ้ย การทำนายและการพยากรณ์ต่างๆกลับกลายเป็นที่ยึดถือทางจิตใจของใครหลายคน เป็นสิ่งที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตและสังคมถึงขนาดที่สามารถเปลี่ยนชีวิตของใครหลายคนได้เลยทีเดียวเช่นบางคนเชื่อในเรื่องอาถรรพ์เจ็ดปีของคนที่คบหาดูใจกัน หรือเบญจเพส พอเชื่ออย่างนั้นจิตก็ปักมั่นว่าจะเกิดสิ่งร้าย จิตจึงตกสู่ความหดหู่ กังวล และความรู้สึกที่เป็นลบเหล่านั้นเองก็ดูดดึงให้เกิดสิ่งร้ายจนได้ยกตัวอย่างเช่นเรื่องอาถรรพ์เจ็ดปี ถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเชื่อ เวลามีเหตุการณ์ผิดใจกันเกิดขึ้นก็จะมีความไม่ชอบใจ บวกกับความเชื่อเสริมแรงให้ทุกข์เข้าไปอีก หรือกระทั่งความเชื่อนั่นแหละคือสิ่งที่ทำให้ทุกข์ ทั้งๆที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้ทุกข์ขนาดนั้นเลย
หรือการดูดวงทำนายทายทัก เช่น ไปดูหมอ แล้วเขาทักว่าจะได้แฟนเป็นข้าราชการ เมื่อได้ฟังดังนั้นก็ตั้งความหวัง จิตจะเริ่มคัดครองคนที่เข้ามาในชีวิตโดยอัตโนมัติ ถ้าไปเจอข้าราชการ ที่มีรูปลักษณ์ตรงกับใจ จึงคิดว่าคนนั้นต้องใช่แน่นอน เป็นความหลงในรูป บวกกับความงมงายเสริมแรงกันไป เมื่อได้เจอคนที่หวังก็จะยิ่งปักมั่น เชื่ออย่างเต็มใจ สุดท้ายก็เทหมดหน้าตัก ทุ่มให้ทุกอย่าง คาดหวังทุกอย่าง และมักจะจบลงด้วยความผิดหวัง
การดูดวงเหล่านั้น ตามหลักศาสนาพุทธท่านว่าเป็น “เดรัจฉานวิชา” เดรัจฉานนั้นคือความโง่ เดรัจฉานวิชาก็คือวิชาที่จะนำมาซึ่งความโง่ สร้างโดยคนโง่ เชื่อโดยคนโง่ เป็นวิชาที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักกฎแห่งกรรม แต่เป็นไปตามสถิติและตรรกะวิธี ซึ่งเป็นวิสัยของโลกียะ เมื่อเป็นไปตามโลกจึงได้แค่วนอยู่ในโลก สุข ทุกข์แบบโลกๆ
การทำนายทายทักเหล่านี้ยังผิดต่อมหาศีล คือศีลที่เป็นหลักใหญ่ของพระพุทธศาสนา ที่คุมความเชื่อและความเป็นไปโดยรวมของพุทธศาสนิกชน เพราะการดูดวงหรือแม้แต่การทำนายทายทักที่เข้าใจว่ารู้จริงเห็นจริงนั้น พระพุทธเจ้าท่านไม่สรรเสริญการทำนาย การเดาใจ หรือการใช้อาเทสนาปาฏิหาริย์ แม้ว่าจะสามารถใช้ได้จริงก็ตาม
เหตุนั้นเพราะการเดาใจ ทายใจ ไม่ทำให้ใครพ้นทุกข์ ไม่ได้ทำให้กิเลสใครลดลง และไม่ทำให้คนพึ่งตนเอง ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งการพึ่งตน พึ่งพากรรมของตนเอง ไม่ใช่พึ่งสิ่งอื่น เมื่อเราเชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม เราจะไม่สนใจการดูดวง
เพราะเราจะรู้แน่ชัดแล้วว่าการทำดี ทำให้เกิดสิ่งที่ดีในชีวิตเรา ดังเช่นสิ่งดีที่เกิดขึ้นในชีวิตเราทุกวันนี้ก็เกิดมาจากกรรรมดีที่เราเคยทำมา ซึ่งเมื่อรู้เช่นนี้แล้วก็ไม่ต้องรอให้ใครมาพยากรณ์ มาทำนายดวงให้ เพราะถ้าตนเองอยากพบกับสิ่งที่ดี ได้เจอคนดี ได้งานดี ได้มีชีวิตที่ดี ก็เพียงแค่กระทำกรรมดี แล้วในวันใดวันหนึ่ง ชาติในชาติหนึ่งก็จะได้รับผลของกรรมดีนั้นอย่างแน่นอน
ในส่วนของกรรมชั่วก็เช่นกัน เมื่อเราได้รับสิ่งที่ไม่ถูกใจ ไม่พอใจ ทำให้ทุกข์ใจ คนที่เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม จะไม่โทษดวงชะตาฟ้าลิขิตใดๆ เพราะรู้แน่ชัดว่าชั่วที่ได้รับอยู่นี้ เป็นสิ่งที่เราเคยทำมาก่อนอย่างแน่นอน อาจจะในชาตินี้ หรือในชาติก่อน
ในเมื่อเราเองก็มักได้รับผลดีหรือกรรมดี ที่เราไม่เคยได้ทำมาในชาตินี้ เช่น เกิดมาก็มีพ่อแม่เลี้ยงดู ซื้อของเล่นให้ ทั้งๆที่เราไม่เคยทำกรรมดีอะไรให้กับพ่อแม่เลย ดังนั้นกรรมดีที่ได้รับนั้นคือกรรมเก่าที่สะสมมา ซึ่งเมื่อเรายินดีรับสิ่งที่ดี เราก็ควรจะต้องยินดีรับสิ่งชั่วที่เราเคยทำมาเช่นกัน
การรับกรรมดีนั้น ส่วนใหญ่ก็เข้าใจได้ไม่ยาก ไม่มีใครทุกข์ใจ ไม่มีใครลำบากใจ แต่พอได้รับสิ่งชั่วก็กลับทุกข์ใจ ลำบากใจ ขุ่นมัว หาคนผิด โทษดินโทษฟ้า ไม่เข้าใจว่าทำไมฉันต้องมารับกรรมนี้ ซึ่งนั้นเป็นลักษณะของมิจฉาทิฏฐิ หรือความเห็นผิด เพราะเราไม่มีทางได้รับสิ่งที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งที่เราได้รับเราทำมาแล้วทั้งนั้น กรรมชั่วนั้นก็เช่นกัน มันเป็นของเราอย่างแน่นอน
เมื่อเรายินดีรับกรรมชั่วที่ได้ทำไว้อย่างยินดีเต็มใจ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่า นี้คือสิ่งชั่วที่เคยทำมา และเป็นสิ่งที่ทำให้เราสังวรระวังที่จะไม่ทำชั่วอีก
ในอีกกรณีหนึ่งคือ เมื่อเราได้รับกรรมชั่วแล้วไม่ยอมรับว่าตัวเองทำมา จะเกิดสภาพที่เรียกว่าโกหกซ้ำซ้อนเข้าไปอีก ผิดศีลข้อ ๔ ว่าด้วยการพูดปด คิดโกหกเข้าไปอีก เพราะเราไม่ยอมรับผลกรรมชั่วทั้งๆที่เราทำมา แถมยังโกหกว่าคนอื่นเป็นคนทำอีก เมื่อคิดแบบนี้ก็ต้องทุกข์ตั้งแต่ไม่ยอมรับกรรมชั่ว และทุกข์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่ทำกรรมชั่วใหม่อีก นั่นคือการผิดศีล เรียกได้ว่าถ้าเข้าใจเรื่องกรรมไม่กระจ่างแจ้ง ก็จะมีโอกาสได้รับทุกข์ถึงสองต่อ หรืออาจจะมากกว่านั้นตามความหลงผิด
สรุปรวมได้ว่าการเชื่อในเรื่องดวงหรือการทำนายทายทัก ทำให้คนไม่เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม เมื่อไม่เชื่อในเรื่องกรรมซึ่งเป็นหนึ่งในสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นที่ถูกตรงสู่ความพ้นทุกข์ ) ก็ไม่มีทางที่จะพ้นจากความทุกข์นั้นได้เลย
– – – – – – – – – – – – – – –
2.11.2557
เพ่งโทษฟังธรรม
เพ่งโทษฟังธรรม
การที่คนเราจะสามารถเรียนรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นั้นจำเป็นต้องมีการเปิดใจรับฟัง มีการนำมาพิจารณาถึงเนื้อหานั้นๆ ไม่ว่าสิ่งที่ได้ฟัง ได้เรียนรู้มานั้นจะเป็นความรู้ทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม
เมื่อคนเรานั้นได้เรียนรู้โลกจนได้ความรู้มาหนึ่งชุด ก็มักจะยึดมั่นถือมั่นความรู้ชุดนั้นเป็นอัตตา เช่นไปศึกษากับครูบาอาจารย์ท่านใดก็จะยึดคำสอนนั้นเป็นหลักยึดทันที เมื่อได้ฟังธรรมใหม่ๆก็จะนำมาตรวจเทียบกับความรู้เดิมของตน เมื่อสิ่งใดไม่เหมือนสิ่งที่ตนเคยเรียนรู้มาก็มักจะมองว่าสิ่งนั้น “ผิด” โดยที่ตนเองก็ไม่ได้ปฏิบัติจนเข้าใจในคำสอนนั้น สักแต่ว่าฟังมาแล้วเอามายึด เอามาถือ เอามาพูดต่อ เอามาประดับเป็นยศของตัวเองว่าเป็นผู้รู้ธรรมมาก ใช้ความรู้ที่ฟังมาคอยเพ่งโทษเอาผิดผู้อื่น โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้มีการปฏิบัติหรือเข้าใจธรรมใดๆด้วยตนเองเลย
ทำให้คนที่ติดยึดเหล่านั้นไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง แม้จะนั่งฟังอยู่แต่ก็เพ่งโทษฟังธรรม แล้วก็จะไม่เข้าใจสาระแท้ในสิ่งที่ผู้พูดได้สื่อสาร พอไม่ฟังก็ไม่สามารถบรรเทาความสงสัยได้กลายเป็นยิ่งฟังก็ยิ่งสงสัย เพราะไม่ได้ตั้งใจฟัง เมื่อเป็นดังนั้นจึงไม่มีโอกาสทำความเห็นให้ถูกต้องตามที่ความจำเป็น เช่นเขาพูดอีกอย่าง เราฟังเป็นอีกอย่างกลายเป็นคนจับประเด็นไม่เป็น สุดท้ายจิตของผู้เพ่งโทษฟังธรรมนั้นก็จะขุ่นมัว ไม่เลื่อมใส ไม่ศรัทธา มีจิตคอยคิดเพ่งโทษ และไปปรามาสในธรรมได้ในที่สุด ถ้าธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แท้ เป็นธรรมที่ปนเปื้อนด้วยกิเลสก็ยังพอจะเรียกว่าเสมอตัวได้บ้าง แต่หากธรรมนั้นเป็นธรรมแท้ เป็นธรรมที่พาลดกิเลส ธรรมลดความยึดมั่นถือมั่น การเพ่งโทษฟังธรรมครั้งนี้จะกลายเป็นผลเสียอย่างมากต่อความสุขความเจริญเลยทีเดียว
ในบทของกำลัง๘ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “บัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลังและคนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง” จึงจะเห็นได้ว่าผู้ที่จะก้าวเป็นบัณฑิตจึงไม่เพ่งโทษใครๆเลย แม้ว่าจะได้ยินธรรมที่แสดงอยู่นั้นไม่ตรงตามหลักแห่งการพ้นทุกข์ ก็จะไม่ไปเพ่งโทษใดๆทั้งยังมีจิตมีเมตตา หากบอกสิ่งที่ถูกได้ก็บอก ถ้าบอกไม่ได้ก็ปล่อยวางได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะบอกสิ่งที่ถูกจะต้องเป็นสิ่งที่ถูกจริง หากผู้ใดหลงตนว่าเป็นบัณฑิตหยิบเอาธรรมที่ได้ยินได้ฟังมากล่าวอ้างโดยไม่มีความรู้ในตนเอง ก็อาจจะกลายเป็นภัยต่อตัวเองได้เช่นกัน
ส่วนคนพาลนั้นมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง กำลังนี้เองที่จะพาให้คนพาลคอยจ้องจับผิดผู้อื่น แม้ว่าจะอยู่ในคราบของนักบวช นักบุญ ผู้ถือศีล บุคคลที่มีชื่อเสียงน่าเคารพนับถือ แต่หากยังมีการเพ่งโทษผู้อื่นอยู่เสมอก็เรียกได้ว่าเป็นคนพาล พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในมงคล ๓๘ เป็นข้อแรกว่าให้ห่างไกลคนพาลนี้เสีย เพราะคนพาลนั้นมักจะมีการเพ่งโทษว่าร้ายผู้อื่น นำพาไปสู่เรื่องเสื่อมทรามอยู่เสมอ ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมก็มักจะคอยชี้นำให้คนอื่นเพ่งโทษคนที่คิดเห็นไม่ตรงกับที่ตนเข้าใจ ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่คนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มักจะทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมแตกแยกกัน เสื่อมศรัทธาต่อกัน ซึ่งเป็นกรรมหนัก คนที่เชื่อในคนพาลก็จะพากันลงนรกด้วยกันกับคนพาล ดังนั้นท่านจึงว่าให้ห่างไกลคนพาลเข้าไว้
ผู้ที่คอยเพ่งโทษเวลาฟังผู้อื่น ก็จะฟังผู้อื่นไม่เข้าใจ ฟังเด็กพูดก็ไม่เข้าใจเด็ก ฟังผู้ใหญ่พูดก็ไม่เข้าใจผู้ใหญ่ ฟังคนแก่พูดก็ไม่เข้าใจคนแก่ ฟังพระพูดก็ไม่เข้าใจพระ ถึงแม้จะดูเหมือนเข้าใจ แต่ก็จะไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่งได้
สัมมาทิฏฐิ
พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับปัจจัยแห่งการเกิดสัมมาทิฏฐิไว้สองประการ สัมมาทิฏฐินั้นคือความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ แล้วสิ่งใดคือสัมมาทิฏฐิ เชื่ออย่างใดจึงจะเป็นความเชื่อที่ถูกต้อง เราเพียงแค่รู้จักกับคำนี้เพียงแค่ว่า “ความเห็นชอบ” แต่สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าเห็นชอบในอะไร ได้แต่เดาไปเอง เข้าใจไปเองตามปัญญาที่มี โดยที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ค้นหาความจริงเกี่ยวกับสัมมาทิฏฐิ
ความเห็นที่ถูกต้องนั้นต้องพาให้ลดกิเลส พาให้ไม่สะสม รู้ว่าการลดกิเลสมีผลเจริญ เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม เชื่อว่ากรรมยุติธรรมเสมอ รู้ว่าพระพุทธเจ้ามีจริง และรู้ว่าอริยสาวกนั้นก็มีอยู่จริง รู้ว่าโลกียะมีและโลกุตระก็มี คือรู้ว่าเรายังมีกิเลสอยู่และรู้ว่าความสุขกว่าการมีกิเลสก็มีอยู่ รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงหรือการเกิดใหม่ทางวิญญาณมีจริง คือคนที่เลวก็สามารถกลับตัวเป็นคนดีได้ และเชื่อว่าผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่สอนธรรมะอย่างถูกตรงในโลกนี้ยังมีอยู่ รู้ว่าเป็นใครและรู้ด้วยว่าหากปฏิบัติตามท่านเหล่านั้นก็จะสามารถพ้นทุกข์ได้จริง
ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ
การจะนำตัวเราไปสู่ความเห็นความเข้าใจที่ถูกตรงนั้นมีเหตุปัจจัยอยู่ด้วยกันสองประการ นั่นคือ ๑.ปรโตโฆสะ ๒.โยนิโสมนสิการ
ปรโตโฆสะ
คือการตั้งใจรับฟัง เปิดใจฟังสิ่งที่แตกต่างจากที่ตนคิดโดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปปน ฟังอย่างลึกซึ้งให้เข้าใจว่าผู้สื่อสารนั้นกำลังตั้งใจสื่อสารอะไร ผู้ที่ไม่มีปรโตโฆสะก็มักจะฟังไปด้วยคิดแย้งไปด้วย เช่นพอผู้พูดกล่าวมาหนึ่งประโยค เขาก็จะมีความคิดเห็นแย้งต่อประโยคนั้นทันที คือไม่เชื่อ อันเกิดจากความไม่รู้ ยึดมั่นถือมั่น หรือลังเลสงสัย ถ้าค้านแย้งหนักๆก็จะกลายเป็นการเพ่งโทษฟังธรรม ฟังไปก็จับผิดไป คิดแย้งไป พูดไม่เหมือนที่ฉันเรียนมา พูดไม่เหมือนที่ฉันเข้าใจ มันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ปรโตโฆสะคือใช้ความไม่มีอัตตา ฟังด้วยอนัตตาคือไม่ถือตัวถือตน
กลายเป็นผู้ฟังที่ไม่ดีในที่สุด นอกจากจะฟังไม่รู้เรื่องแล้วยังทำให้เกิดวิบากกรรมอีกด้วย ผู้ฟังที่ดีมีหน้าที่แค่ฟัง ฟังอย่างตั้งใจ ไม่รีบคิดตีความใดๆ ก่อนเวลาอันควร ยอมให้ความรู้อื่นที่เราไม่เข้าใจ เข้ามาเพิ่มในความรู้เดิมของเราเสียก่อน ยินดีที่จะรับฟังเสียก่อนค่อยตัดสินใจ
โยนิโสมนสิการ
เมื่อเปิดใจรับฟังแล้ว เราก็จะนำข้อความ เรื่องเล่า ความรู้เหล่านั้นพิจารณาไปถึงแก่นสารสาระของธรรมที่สอดแทรกอยู่ในนั้นๆ หรือที่เรียกกันว่าการทำใจในใจให้แยบคาย คือเมื่อฟังแล้วก็มีการพิจารณาสิ่งเหล่านั้นตามไปด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าฟังเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ฟังจบแล้วก็ลืมไป แต่การมีโยนิโสมนสิการจะทำให้สามารถเข้าใจในสิ่งที่ฟังได้มากขึ้น สิ่งที่ฟังนั้นเข้าไปในใจ ไปในความรู้สึก ไม่ใช่แค่ในความคิด เมื่อพิจารณาลงสู่ใจจะได้ความรู้สึกอีกแบบหนึ่งจะ “เข้าใจ” ลึกซึ้งขึ้น
….เมื่อเรามีสองปัจจัยนี้แล้ว ไม่ว่าเราจะฟังหรือเรียนรู้เรื่องทางโลกหรือทางธรรม การฟังหรือเรียนรู้นั้นๆก็จะเกิดประสิทธิภาพที่สูงที่สุด จะฟังเรื่องทางโลกก็สามารถเข้าใจแก่นสารสาระของสิ่งนั้น จะฟังเรื่องทางธรรมก็สามารถเข้าใจธรรมนั้นๆได้โดยลำดับตามฐานของตน
ความเสื่อมของชาวพุทธ
การเพ่งโทษฟังธรรมนั้นเป็นหนึ่งในความเสื่อมของชาวพุทธ ความเสื่อมนี้เกิดในคนที่เสื่อม ไม่ใช่ศาสนาเสื่อม เพราะเขาเหล่านั้น ขาดการเยี่ยมเยียนครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ ถึงแม้จะไปเยี่ยมก็กลับละเลยการฟังธรรมสนใจเอาแต่กุศลน้อยๆเช่นทำทาน บริจาค กวาดลานวัด ฯลฯ พอไม่ได้ฟังธรรมก็เลยไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติในอธิศีล ไม่เรียนรู้เรื่องศีล ไม่รู้วิธีทำให้ตัวเองเจริญในศีลนั้น เพราะเมื่อไม่มีผู้รู้สอนก็ไม่สามารถรู้และปฏิบัติด้วยตนเองได้ พอไม่ศึกษาและปฏิบัติอธิศีลก็เริ่มจะไม่เข้าใจคุณค่าของศีล เริ่มเห็นช้างเป็นมด ไม่ให้ค่ากับคนผู้มีศีล มองเห็นทุกคนเทียบเท่ากันหมด ไม่ศรัทธาในครูบาอาจารย์ไม่ว่าจะแก่หรือเด็ก จะเห็นว่าเท่ากันหมด
พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล ผู้มีศีลย่อมมีปัญญา” คนมีปัญญาจึงถือศีล คนไม่มีปัญญาก็ไม่ถือศีล คนมีปัญญาจึงเคารพในผู้มีศีล ส่วนคนไม่มีปัญญาจึงไม่สนใจผู้มีศีล ในชาดกตอนหนึ่งท่านว่า หากกลุ่มชนใดไม่สามารถแยกแยะคนดีกับคนชั่วได้ เห็นว่าคนมีศีลกับคนไม่มีศีลเสมอกัน ท่านให้พรากจากสังคมหรือกลุ่มชนนั้นเสีย จะเห็นได้ว่าท่านให้พรากจากคนผู้ไม่มีปัญญา
เมื่อไม่มีปัญญาแยกแยะคนผู้มีศีลกับคนทั่วไป สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนพาลในที่สุดเพราะไม่มีความเคารพในผู้ปฏิบัติดีทั้งผู้ปฏิบัติมาก่อนและปฏิบัติใหม่ เมื่อได้ฟังธรรมที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังก็มักจะมีจิตตำหนิติเตียน “เพ่งโทษฟังธรรม” หากธรรมที่แสดงอยู่นั้นเป็นธรรมที่พาลดกิเลสและพาพ้นทุกข์ ผู้เพ่งโทษฟังธรรมก็จะเดินย้อนไปอีกทางคือไปทางนรก
เมื่อไม่เชื่อตามธรรมที่ผู้ปฏิบัติดีสอนสั่ง คอยเพ่งโทษฟังธรรม ก็จะไม่เข้าใจธรรม แม้จะทำบุญทำทานก็จะกลายเป็นการแสวงบุญนอกขอบเขตพุทธศาสนา คือไปทำบุญตามประเพณีที่สังคมเข้าใจ แต่ไม่เกิดบุญกุศลตามหลักของศาสนาพุทธ และจะมีความเข้าใจในเรื่องบุญกุศลที่ผิดเพี้ยน
เมื่อเข้าใจการทำบุญที่ผิดไปจากพุทธก็จะเริ่มไปศรัทธาลัทธิที่อ้างว่าตนเองเป็นพุทธแต่ปฏิบัติไม่ถูกตามหลักพุทธ เช่นการเอาสวรรค์วิมานมาเป็นเครื่องล่อ การเอาลาภยศสรรเสริญมาเป็นเครื่องลวง การนำหลักปฏิบัติของศาสนาอื่นมาปนเช่น พราหมณ์ ฤาษี หรือลัทธิอื่นนอกพุทธ ไปเคารพบูชาเทพเจ้า เคารพบูชาคนผู้อวดอ้างเป็นเจ้าลัทธิ สุดท้ายจะเลิกนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็จะหลุดจากพุทธไปศาสนาอื่นเลย
นี่เองคือกระบวนการแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ เป็นชาวพุทธเองที่เสื่อมไปจากธรรมที่แท้ ไม่ใช่ธรรมนั้นเสื่อม แต่เป็นคนที่เสื่อมไปจากธรรม ธรรมะคือสิ่งที่มีอยู่เช่นนั้น เป็นอยู่แบบนั้นไม่มีวันเสื่อมสลาย หากแต่คนผู้มีความเสื่อมศรัทธาในการลดกิเลส จะค่อยๆพาตัวเองเสพกิเลสและเสื่อมจากธรรมไปเอง นี้เองคือเหตุแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ( ความเสื่อมของชาวพุทธ๗ )
– – – – – – – – – – – – – – –
11.10.2557