Tag: สนองกิเลส

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

September 29, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,852 views 0

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

ทุกวันนี้ศาสนาไม่ได้ถูกใช้เป็นวิถีทางแห่งการดับทุกข์เหมือนอย่างในอดีต แต่กลับกลายเป็นช่องทางให้ใครหลายคนได้ใช้เพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่งด้วยชื่อเสียง เงินทอง บริวาร และสุขลวงๆ

ในยุคที่สังคมรีบเร่ง แก่งแย่งแข่งขัน ทำให้เราเหลือเวลาไม่มากพอที่จะใส่ใจแก่นแท้ของศาสนา นั่นทำให้เราเลือกที่จะไปทำบุญทำทานด้วยเงิน เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่คนไทยส่วนใหญ่ยึดถือและปฏิบัติ เรามีงานประเพณีมากมายที่ใช้เงินเป็นตัวขับเคลื่อน ไม่ว่างานบุญ งานกฐิน หรือแม้กระทั่งงานบวชก็ยังต้องมีเงินหมุนเวียนมากมาย

เราอาจจะเห็นวัดวาอารามใหญ่โต เจริญขึ้น มีความสะดวกสบายมากขึ้น นั่นเป็นผลมาจาก…เงิน หรือจะให้ชัดก็คือ ผลมาจากแนวคิดเชิงทุนนิยม วัตถุนิยม กิเลสนิยม

แต่หลักของพุทธนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างทางโลก พุทธไม่ได้สะสมวัตถุ ไม่ได้ต้องการวัดที่ใหญ่และความสะดวกสบายมากนัก เพราะศาสนาพุทธนั้นเป็นไปเพื่อการพราก ความมักน้อย ความไม่สะสม การขัดเกลากิเลส จนกระทั่งถึงการดับกิเลส

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “เงินทองเหมือนดังอสรพิษ” ความมีจนเกินพอดี จะทำให้คนมัวเมาในกิเลสกลายเป็นพิษเป็นภัย แม้แต่ผู้ที่ตั้งใจบวชก็ยังพ่ายแพ้ต่อพลังของเงิน ใช้เงินสร้างวัตถุที่เกินความจำเป็น เพื่อชื่อเสี่ยง เพื่อบารมี เพื่อสะสมบริวาร ทั้งหมดนี้มีรากมาจากความโลภทั้งสิ้น

ส่วนต้นเหตุที่ทำให้เป็นแบบนั้นก็คือ คนที่หลงมัวเมาในการทำบุญทำทานอย่างไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า เงินที่ให้ไปนั้น จะไปเพิ่มกิเลสให้กับพระหรือไม่ ถ้าให้เงินนั้นไปแล้ว พระนำไปสร้างวัตถุเพื่อสนองกิเลสของตน ก็เป็นการเพิ่มกิเลสให้กับพระ เป็นทานที่ให้ไปแล้วผู้รับ “ไม่บริสุทธิ์” ย่อมไม่เกิดอานิสงส์ที่สมบูรณ์ และอาจจะกลายเป็นอกุศลไปได้ด้วย หากพระผู้นั้นใช้ทานเหล่านั้นเพื่อไปเสพสมใจในกิเลสของตนมากเกินไปจนทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาในศาสนา

การร่วมบุญกับคนบาป นั้นจะไม่บาป ไม่มีอกุศล ไม่มีผลทางลบนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เราควรจะแยกคนพาล (คนผู้หลงมัวเมาในกิเลส) กับบัณฑิต(คนผู้มีสัจจะ เป็นไปเพื่อลด ล้างกิเลส) ออกให้ชัดเจน คนไหนเป็นคนพาลก็ให้ห่างไกลไว้ ไม่ร่วมกิจกรรมด้วย คนไหนเป็นบัณฑิต ก็ให้เข้าใกล้ ร่วมกิจกรรม ร่วมบุญกัน ก็จะเกิดกุศลและอานิสงส์มหาศาล

ทานที่ให้ควรประกอบด้วยความบริสุทธิ์ทั้งผู้ให้ ผู้รับ และทานนั้นๆ ผู้ให้ควรบริสุทธิ์ด้วยกายวาจาใจ ไม่ได้ให้เพื่อหวังสิ่งตอบแทนใดๆ ไม่ได้ให้ด้วยกิเลสตัณหา ผู้รับเองก็ควรบริสุทธิ์ด้วยศีล อันเป็นฐานะที่ควรทำให้เจริญขึ้นเรื่อยๆเพื่อยังประโยชน์แก่ผู้ให้ และทานนั้นก็ควรบริสุทธิ์ เป็นของที่ไม่เบียดเบียนใคร ไม่เดือดร้อนใคร

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตั้งตนอยู่บนความลำบาก กุศลธรรมเจริญยิ่ง” ถ้าเราปล่อยให้พระได้ลำบากพอประมาณ ในขีดที่ไม่ทรมาน เปลี่ยนจากการทำบุญทำทานด้วยวัตถุ มาเป็นออกแรง เช่น ทำความสะอาดวัด ก็จะทำให้พระไม่ได้รับความสะดวกสบายจากปัจจัยที่มากเกินพอดีนัก นั่นคือช่วยให้พระได้ตั้งตนอยู่บนความลำบากบ้าง ท่านก็จะได้เจริญในธรรมยิ่งขึ้น และอานิสงส์เหล่านั้นก็จะย้อนกลับมาถึงเราด้วย เช่น เมื่อท่านได้เรียนรู้ธรรมจากความลำบากบ้าง ท่านก็จะได้นำธรรมเหล่านั้นมาสอนเรา

และพระพุทธเจ้ายังได้ตรัสไว้อีกว่า “เมื่ออยู่ตามสบาย อกุศลธรรมเจริญยิ่ง” นั่นหมายถึง ถ้าเรายิ่งเลี้ยงพระด้วยอาหารอันมีมาก ด้วยทรัพย์อันเกินประมาณ ด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกที่เกินพอดี ความเสื่อมจะยิ่งใกล้เข้ามาเรื่อยๆ กุศลธรรมจะเสื่อมลง อกุศลธรรมจะเจริญขึ้น สิ่งดีจะหายไป สิ่งชั่วจะเข้ามาแทนที่ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเราทำบุญทำทานกันอย่างหน้ามืดตามัว ทำทานกันอย่างเมาบุญ เห็นว่าที่ไหนพระดัง ก็พากันเอาเงินโถมเข้าไปทำลายวัดนั้นๆจนแตกกระเจิง ตบะแตกกันกระจาย ศีลแตกกันไม่มีเหลือ

พระส่วนมากก็คนธรรมดาเหมือนเรา จะไปมีพลังต้านทานกิเลสได้อย่างไร พอใส่เงินเข้าไปมากๆ ก็เริ่มจะโลภ เริ่มจะล่าบริวารมากขึ้น เริ่มตั้งลัทธิ ตั้งสำนัก เพื่อให้ตนเองนั้นได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ดังที่เคยเป็นข่าวให้เราเห็นกันอยู่เป็นประจำ

ดังนั้นการทำบุญทำทานอย่างไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าผู้รับนั้นเหมาะสมหรือไม่ ควรหรือไม่ โดยใช้ความเจริญทางจิตใจของศาสนาเป็นหลักในการพิจารณา ไม่ให้ความอยากในการทำบุญทำทานของเรานั้นไปเป็นส่วนหนึ่งในความเสื่อมของชาวพุทธ เพียงคิดได้แค่นี้ก็เกิดกุศลยิ่งใหญ่แล้ว เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา มิใช่ศาสนาที่พามัวเมาในบุญ ในสวรรค์ วิมาน เทวดา ฟ้าดิน แต่ท่านสอนให้เชื่อในเรื่องของกรรม

ชีวิตของคนเราจะดีนั้น ไม่ได้หมายความว่าไปบริจาคเงินทำบุญแล้วมันจะดีเสมอไป เพราะ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ถ้าเราอยากจะให้เกิดสิ่งที่ดีในชีวิตเราต้องทำเอาเอง ไม่มีอะไรมาดลให้เกิดดีกับเราได้ นอกจากกรรมที่เราทำมา ยิ่งเราทำกรรมดีมากๆ แม้ไม่ได้ไปทำบุญหยอดตู้ใส่เงินให้กับวัด ชีวิตเราก็สามารถเกิดสิ่งที่ดีได้

และนั่นคือสิ่งที่ดีที่สุด เพราะเรายึด “กรรม” คือการกระทำของตนนั้นเป็นหลักในการปฏิบัติ ไม่ใช่ไปให้เงิน ให้วัตถุกับคนอื่นแล้วบอกให้เขาอวยพรให้มีความสุข ให้เราร่ำรวย ให้เราเจอแต่คนดี ให้เราไปสวรรค์ ให้เราไปนิพพาน อันนี้ไม่ถูกทางพุทธ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ปลายทางนั้นมีแต่จะทุกข์ เป็นนรกอย่างเดียว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ทำไมเธอไม่เป็นดังที่ฉันหวัง

August 31, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,376 views 0

 

ทำไมเธอไม่เป็นดังที่ฉันหวัง

ทำไมเธอไม่เป็นดังที่ฉันหวัง

คงจะมีหลายครั้งหลายเหตุการณ์ในชีวิต ที่เราหมายมั่นตั้งความหวังไว้ว่า เมื่อเราลงมือทำบางสิ่งลงไปแล้ว สิ่งนั้นจะเปลี่ยนแปลง พัฒนาไปตามที่เราคาดหวังไว้ แต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น กลายเป็นเหมือนกับว่าเราพยายามที่ทำให้น้ำทะเลจืด พยายามทำไปอยู่อย่างนั้นโดยไม่เข้าใจความเป็นจริง…

อาจจะเพราะทำกรรมอะไรเอาไว้…

คงจะเหมือนกันกับตอนที่เรายังเป็นเด็ก พ่อแม่ของสอนสั่ง แนะนำสิ่งที่ดีให้กับเรา แต่เราก็ยังจะดื้อ ไม่ทำตาม ไม่เชื่อฟังในสิ่งที่ดี ก็จะเอาแต่สิ่งที่กิเลสของตัวเองต้องการ จนถึงเวลาที่ผลของกรรมสุกงอม เราจึงได้รับผลของกรรมนั้น พ่อแม่อาจจะไม่ได้มาดื้อกับเราเหมือนที่เราไปดื้อกับท่านก็ได้ แต่อาจจะส่งคนบางคน สิ่งบางสิ่ง เหตุการณ์บางเหตุการณ์ ที่ทำให้เราต้องทุกข์กับความดื้อรั้น เอาแต่ใจของสิ่งๆนั้น ซึ่งอาจจะมาในรูปของ คนในครอบครัว คนรัก เพื่อน ลูกน้อง สิ่งของ หรือเหตุการณ์อื่นๆก็ได้เหมือนกัน เป็นอะไรก็ได้ เดาไปก็ไม่ถูก แต่เมื่อเวลาถูกกระทำกลับก็จะสามารถรับรู้ได้ด้วยตัวเองได้บ้าง

ขึ้นชื่อว่ากรรมแล้ว ไม่มีทางผ่านพ้นไปโดยที่เราไม่ได้รับผลนั้นอย่างแน่นอน ยิ่งถ้าชาตินี้เราไปทำกับใครไว้ ไม่ต้องกลัวเลยว่าจะไม่ได้รับ เราได้สิทธิ์นั้นแน่นอน แล้วกรรมเขายังใจดีแบ่งให้เรารับไปในชาติหน้า และชาติอื่นๆสืบไปด้วย จึงเรียกได้ว่า การทำกรรมดีหรือกรรมชั่วครั้งเดียว ก็สามารถนอนรอรับผลกันได้จนคุ้มข้ามชาติกันเลย

ในเวลาที่เหมาะสม กรรมก็จะดึงคู่เวรคู่กรรมของเราเข้ามา หรือที่ใครหลายๆคนอาจจะเรียกว่าเนื้อคู่ก็ได้ เป็นคนที่ทำให้เราสุขหรือทุกข์ได้รุนแรงกว่าคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น ในเหตุการณ์แบบเดียวกัน คนทั่วไปทำอะไรกับเราแบบหนึ่ง เราไม่ถือสา แต่พอเป็นคนนี้ทำกับเรา เรากลับถือสา คิดมาก ถ้าเป็นเชิงคู่รักที่เคยเสพสมกิเลสร่วมกันมา ก็จะมีลักษณะเป็นเหมือนเหตุการณ์ที่คนอื่นเขาจีบเราแทบตาย เราไม่สนใจ แต่คนนี้พูดไม่กี่ประโยค เรากลับหลงใหล ลักษณะแบบนี้แหละที่เรียกว่าตัวเวรตัวกรรม เจอแล้วก็ให้พึงระวังตั้งสติกันไว้ดีๆ เพราะกรรมจะลากเขาเหล่านั้นเข้ามาใช้เวรใช้กรรมด้วยกันต่อ อาจจะเป็นคนมาร่วมรัก คนที่ได้รักแค่ฝ่ายเดียว คนที่เข้ามารัก หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน หรือคนใดๆที่มีจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในชีวิตของเราก็ได้

กรรมส่วนหนึ่งก็มาจากกิเลสของเรานี่แหละ ด้วยความที่เราอยากจะสนองกิเลสของเรา ก็เลยไปทำสิ่งที่ไม่ถูกใจใครหลายๆคนไว้มาก เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม กรรมเหล่านั้นก็จะส่งผลมาเป็นเหตุการณ์ที่พาให้ขัดใจเรา ทำให้เราทุกข์ แต่เราก็ไม่สามารถหนีออกไปได้ เรายังต้องวนอยู่กับทุกข์เหล่านั้นโดยไม่เห็นทางออก แม้จะมีคนมาบอกแนะนำ เราก็จะไม่ฟัง ถึงฟังก็ไม่เข้าใจ จนบางครั้งพาลไปสร้างกรรมใหม่ ไม่พอใจคนที่หวังดี ไม่พอใจคนที่มาแนะนำทางออกให้เราด้วย ซึ่งเป็นธรรมดาของคนที่หลงในกิเลส เมื่อเวลาที่มีคนมาพูดขัดใจ ขัดกับกิเลสของเรา เราก็มักจะไม่พอใจ ไม่สนใจ ด้วยเหตุนั้นเราก็เลยต้องทนทุกข์ไปจนกว่าจะรับวิบากกรรมชุดนั้นหมด

กรรมที่เราได้รับนั้น เป็นเพียงภาพเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เราเห็นสิ่งที่เราได้ทำมา ที่เราเคยทำชั่วมาตั้งแต่ชาติไหนๆก็ตาม เป็นสิ่งที่เราต้องรับเพราะเราทำมา แต่โลกก็ไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น เรายังสามารถทำกุศล เพื่อที่จะละลาย ลด บรรเทาอกุศล หรือความทุกข์ โทษ ภัย ที่เกิดขึ้นได้ …หากยังรู้สึกทุกข์ มืดมัว ปวดหัว หาทางไปไม่เจอ ก็ให้ทำดีมากๆ ทำดีไปเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลาหมดวิบากกรรมชุดนั้นๆ ก็จะมีเหตุการณ์ที่พาหลุดจากสภาพนั้นเอง อาจจะเกิดปัญญาเข้าใจก็ได้ หรือเขาอาจจะเปลี่ยนแปลงในทางที่ก็ได้ จะเป็นอะไรก็ได้ แต่จะพ้นจากสภาพของทุกข์ที่เคยแบกเอาไว้

ดังนั้นการล้างกรรมที่ดีที่สุด ก็คือการล้างกิเลส เพราะเมื่อเราหมดกิเลสนั้นๆ เราก็จะไม่สร้างวิบากบาปต่อไปอีก และกุศลยังสามารถไปละลายวิบากบาปที่เคยทำในอดีตให้เบาบางได้อีกด้วย เรียกว่าปิดประตูนรกกันไปเลย

เมื่อเราจมอยู่กับความคาดหวัง ฝนลมๆแล้งๆ….

ความคาดหวังกับความผิดหวังเป็นของคู่กัน คงเพราะเรามีความฝัน อุดมคติ ความมั่นใจ ความยึดดีถือดี ว่าสิ่งดีจะต้องเกิดเมื่อเราคิดดีพูดดีทำดี แต่ในความเป็นจริง ดีนั้นอาจจะไม่เกิดก็ได้ เมื่อดีไม่เกิดสมใจ คนติดดีก็เลยเป็นทุกข์ บางคนก็ถึงกับฝันลมๆแล้งๆ หลอกตัวเองไปวันๆว่าสิ่งที่ดีจะต้องเกิด โดยไม่ได้เข้าใจเหตุปัจจัยที่ทำให้ดีนั้นเกิด เหมือนคนที่เฝ้าฝันว่าวันหนึ่งจะสร้างชีวิตให้ยิ่งใหญ่ แต่ก็ยังมัวแต่นอนฝันอยู่บนเตียง

การที่เราไปเฝ้าฝันให้เขาหรือใครเปลี่ยนนั้น เป็นการเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไปจากเรื่องกรรมที่ถูกที่ควร เพราะการที่เขาจะเปลี่ยนได้นั้น จะเกิดจากกรรมของเขาเอง ไม่ได้เกิดจากการที่เราคิดหวัง ฝันไป หรือจะไปบอกให้เขาแก้ไข ไปช่วยเขาแก้ไข โดยมีความคาดหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่าเขาจะแก้ไขเพราะเขาก็มีกรรมของเขา เขาก็เป็นอย่างนั้น เราจะอยากให้เขาเป็นอย่างที่เราหวัง เราก็จะผิดหวัง แล้วเราก็ทุกข์ เหมือนอย่างที่หลวงพ่อชาท่านได้สอนไว้ว่า เราอยากให้เป็ดมันเป็นไก่ มันก็ทุกข์ เพราะเป็ดมันก็เป็นเป็ด มันจะเป็นไก่ตามใจเราไปไม่ได้

จะไปแก้เขานี่มันยาก ลองกลับมาแก้ตัวเราก่อนดีไหม…

เมื่อเราไม่สามารถทำให้เขาเปลี่ยนแปลงได้ เราก็จะลองกลับมาแก้ตัวเองกันดู เพื่อที่จะได้เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงที่ฝืนธรรมชาติ หรือฝืนกิเลสของตัวเองนั้น มันยากขนาดไหน เรามาลองปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆในชีวิตกันดู เช่น ตื่นให้เช้าขึ้น ,นอนให้พอดี ,ศึกษาแต่สาระหรือสิ่งที่มีประโยชน์ ,กินแต่สิ่งที่มีประโยชน์ , ทำงานบ้านเป็นประจำ, เลิกสิ่งฟุ่มเฟือย, เลิกสิ่งที่ทำให้หลงมึนเมา ในแบบหยาบๆ ก็คือ เหล้า เบียร์ ยาเสพติด ฯลฯ หรือจะขยับขึ้นมาก็เลิกหลงเมามายในสิ่งที่หลงอยู่เช่น ชอบฟังเพลง ชอบดูกีฬา ชอบเล่นพนันชอบดูละคร ชอบเที่ยวกลางคืน ชอบไปตระเวนกินของอร่อย บ้าดารา ฯลฯ,,,

ถ้ายังรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงโดยลดสิ่งไร้สาระพวกนี้มันง่ายไป ก็ลองถือศีล ๕ ดู และยกระดับของศีลขึ้นไปเรื่อยๆ เป็น ศีล ๘ ศีล ๑๐ ไปจนถึงนำจุลศีลบางข้อที่พอจะปฏิบัติได้มาใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะศีลเหล่านี้เป็นไปเพื่อความสุข เพื่อการพ้นทุกข์ เป็นสิ่งที่ดีเลิศ เป็นสิ่งที่เยี่ยมยอดที่สุดในโลก

แล้วเราก็จะเห็นว่า…เป็นอย่างไรล่ะ เราเองก็ยังเปลี่ยนแปลงไปทำสิ่งที่ดีไม่ได้เลย ถึงแม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่ดี แต่ความคิดหรือกิเลสข้างในมันจะค้านแย้งตลอดเวลา มีหลายๆเหตุผลที่เราจะไม่ยอมทำดี เช่น ก็แค่อยากเป็นคนธรรมดาที่มีความสุข , ไม่ได้เคร่งขนาดนั้น , แค่อยากมีชีวิตที่ดี ….ฯลฯ แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั่นแหละ เป็นวิธีปฏิบัติสู่ชีวิตที่ดี ที่เราเองก็ทำไม่ได้แถมยังปฏิเสธ พร้อมทั้งหาเหตุผลมากมายที่จะไม่ทำดีเหมือนกัน

จะเห็นว่าการจะแก้ตัวเรานี่ยังทำได้ยากเลย จะทำตัวเราให้เป็นคนดีว่ายากแล้ว การไปแก้คนอื่นนั้นยากกว่า เพราะการจะไปแก้คนอื่นหรือไปสั่งสอน ไปแนะนำคนอื่นนั้น จำเป็นต้องทำตัวเองให้เรียนรู้และเข้าใจในเรื่องนั้นๆอย่างถ่องแท้เสียก่อน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรก่อน แล้วสอนผู้อื่นภายหลัง จึงไม่มัวหมอง” เข้าใจกันง่ายๆว่า ทำตัวเองให้ได้ก่อนเถอะ แล้วค่อยไปสอนคนอื่น

เมื่อเห็นดังนี้แล้วว่า ต้องทำตัวเองให้ดีก่อน จึงจะสามารถช่วยคนอื่นได้ เราก็พยายามทำตัวให้ดี ลดอบายมุข หยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสไปเรื่อยๆเมื่อเราทำดีมากๆ เวลามีคนที่เขามาทำสิ่งไม่ดีกับเรา เขาก็จะได้รับวิบากกรรมแรงกว่าทำสิ่งไม่ดีกับเราในสมัยเมื่อเรายังชั่วอยู่ เมื่อได้รับวิบากกรรมแรง ก็จะเกิดทุกข์แรง เมื่อเกิดทุกข์แรง ก็จะสามารถเข้าใจได้เร็ว ดังคำที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม

ดังนั้น การที่เราพยายามทำดี ประพฤติตัวเป็นคนดี ก็เพื่อที่จะช่วยเขาทางอ้อม คือเร่งให้เขาได้รับ ทุกข์ โทษ ภัย จากการที่เขายังยึดมั่นในสิ่งไม่ดีให้เร็วขึ้น จะได้เห็นทุกข์ เข้าใจทุกข์ เลิกทำชั่วให้เกิดทุกข์ จะได้พ้นทุกข์ได้ไวขึ้น จากที่เคยต้องจมอยู่หลายปี ถ้าเราทำดีมากๆ เขาอาจจะหลุดจากสภาพดื้อรั้นนั้นได้ในเวลาไม่กี่เดือน โดยเฉพาะคนที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน เช่น คนในครอบครัว คนรัก เพื่อนร่วมงาน คนที่มีความสัมพันธ์ในชีวิตกับเรามากๆ จะได้รับผลกระทบนี้โดยตรง

จนผู้ที่ได้ทดลองทำดีสามารถเห็นผลได้ด้วยตัวเองว่า เมื่อเราเปลี่ยน ทุกคนก็จะเปลี่ยนตาม โดยที่แทบจะไม่ต้องพูด บอกกล่าว ชี้แจง แถลง บังคับใดๆ กับคนเหล่านั้นเลย เขาจะเห็นดีตามเรา และเกิดศรัทธาจนเขาอาจจะทดลองที่จะเปลี่ยนตามเราดูบ้าง หรือในบางกรณี คนที่ร้ายกับเราก็อาจจะหลุดพ้นชีวิตเราไปเลยก็ได้ เพราะเราได้ใช้วิบากบาปที่ต้องมาทนใช้กรรมร่วมกันนั้นหมดไปแล้ว เมื่อเขาเองไม่คิดจะร่วมกุศลกับเรา เขาก็จะไปตามทางที่กิเลสเขาชี้นำ ในส่วนนี้ถ้าช่วยเขาได้ก็ช่วยไป ถ้าช่วยไม่ได้ก็ปล่อยเขาไป

แต่ถ้าเราคิดว่าเราทำดีแล้วไม่เกิดดี นั่นก็เพราะว่าเรายังทำดีไม่มากพอ ก็ให้พยายามทำดีไปเรื่อยๆ อย่าไปหวังผล วันหนึ่งจะพบการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีเอง กรรมจะจัดสรรช่องให้เราออกไปพบสิ่งที่ดี มีสิ่งดีในชีวิตเข้ามา แม้แต่คนรอบข้างก็อาจจะเปลี่ยนไปเพราะพลังแห่งความดี หรือกุศลที่เราทำมานั่นเอง

หรือในอีกกรณีคือการทำดีที่ไม่เข้าใจถึงผลแห่งความดี คือทำดีในความเข้าใจที่โลกเข้าใจ แต่ผิดไปจากทางของพุทธ คือผิดสัมมาทิฏฐิ เมื่อผิดไปจากความคิดเห็น ความเข้าใจ ความเชื่อที่ถูกที่ควร ก็มีแต่จะพาไปนรกเท่านั้น กลายเป็นดีที่ทำไปนั้น ไม่ได้ดีตามจริง เพียงแค่เป็นดีที่เขาบอกกันมา แต่ไม่ใช่สาระแท้ ไม่ได้พาพ้นทุกข์ ไม่ได้พาลดกิเลส จึงมีกุศลเพียงน้อยนิด หรือบางทีก็อาจจะกลายเป็น “ทำบุญได้บาป” มาแทนก็เป็นได้

ดังนั้น ในเรื่องของความดี จำเป็นต้องศึกษาจากผู้รู้ มีเพื่อนที่คอยช่วยแนะนำในทางที่ถูกที่ควร เพราะความดีที่ถูกตามหลักของพุทธนั้น จะคิดเอาเองไม่ได้ เข้าใจเองไม่ได้ ต้องมีผู้รู้มีแสดงให้เห็นเท่านั้น เป็นสัจจะของพระพุทธเจ้าว่า ถ้าคนจะบรรลุธรรม หรือจะปฏิบัติชีวิตไปสู่การพ้นทุกข์ ต้องคบหาสัตบุรุษเสียก่อน สัตบุรุษก็คือบัณฑิตที่มีสัจจะแท้ มีธรรมนั้นๆในตัวเอง ปฏิบัติจนเข้าใจแจ่มแจ้ง รู้จริงเรื่องกิเลส เกิดปัญญารู้แจ้งในตัวเอง แล้วจึงสามารถถ่ายทอด สอน แนะนำ คนอื่นได้

– – – – – – – – – – – – – – –

31.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ฉันดีพอ..กับเธอแล้วหรือยัง?

August 26, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,081 views 0

ฉันดีพอ..กับเธอแล้วหรือยัง?

ฉันดีพอ..กับเธอแล้วหรือยัง?

คนเราเมื่ออยากจะได้บางสิ่งบางอย่าง ก็ต้องพยายามแสวงหามา ถ้าเป็นวัตถุสิ่งของก็คงจะง่าย มีรูปร่าง ขนาด ที่รู้ว่าจะต้องหยิบจับอย่างไรเพื่อจะให้ได้มา ต้องจ่ายเงินเท่าไหร่ถึงจะได้ครอบครอง แต่ถ้าเป็นเรื่องของคน เรื่องของจิตใจ สิ่งที่ไม่มีรูปร่าง มองไม่เห็น ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องทำอย่างไรจึงจะได้มา ต้องจ่ายเท่าไหร่ ต้องทำดีแค่ไหน ถึงจะมีสิทธิ์ครอบครอง…

คงจะเหมือนสภาพที่ยิ่งทำเท่าไหร่ก็ยิ่งไกล ระยะห่างที่ดูเหมือนจะไม่ไกลแต่ก็ไม่มีวันไปถึง คือช่องว่างของจิตใจระหว่างคนสองคนที่ไม่สามารถวัด ไม่สามารถคาดคะเนได้ว่า เท่าไหร่ถึงจะพอ…

ใจของคนเราคงเหมือนหลุมของกิเลส ถ้ามีใครสักคนไปเติมจนเต็มก็คงจะได้โอกาสครอบครอง แต่ใครจะรู้ล่ะว่าหลุมแห่งกิเลสนั้นกว้างยาวลึกเท่าไหร่ ต้องใส่อะไรลงไปถึงจะเต็ม

หลุมกิเลสต้องใส่อะไรลงไปบ้าง? ความสนุกสนาน ความสวยงาม ความดูดี ความมั่นคง ความอบอุ่น มีฐานะ เงินทองของมีค่า ชื่อเสียง อุดมการณ์ ความเป็นผู้นำ ความคิดสร้างสรรค์ การเอาใจใส่ …ฯลฯ แค่คิดว่าจะต้องใส่อะไรลงบ้างไปก็ปวดหัวแล้ว ปัญหาต่อมาคือต้องใส่ไปมากเท่าไหร่ และต่อเนื่องขนาดไหน จนกว่าจะเติมกิเลสให้เขาพอใจกับสิ่งที่เราหยิบยื่นให้จนเขาคิดว่าเราดีพอสำหรับการสนองกิเลสของเขา

…บางคนใส่แค่ ความสวยงาม หน้าตาดี ก็ยินยอมให้ครอบครองกันแล้ว

…..บางคนใส่ คำพูดหวานๆ คำโกหก คำหลอกลวง ก็ยินยอมให้ครอบครองกันแล้ว

…….บางคนต้องใส่ เงินทองของมีค่า ฐานะ ความมั่นคง ถึงจะยินยอมให้ครอบครองกัน

………บางคนต้องใส่ ความมีชื่อเสียง มีหน้าตาในสังคม ความเป็นที่ยอมรับ ถึงจะยินยอมให้ครอบครองกัน

…………และบางคนอาจจะต้องใส่ อุดมการณ์ ความเห็นที่ตรงกัน ความเข้าใจที่เสมอกัน จึงจะยินยอมให้ครอบครองกัน

แค่คิดว่าเราจะต้องหาอะไรมาเติมให้อีกฝ่ายยอมรับ และเห็นว่าตัวเราดีพอสำหรับเขา ก็เหนื่อยสุดแสนจะเหนื่อย เพราะบางคุณสมบัติ อาจจะไม่ได้มีมาแต่กำเนิด ไม่ได้หน้าตาดี ไม่ได้มีฐานะ ไม่ได้มีความรู้ ชื่อเสียง สุดท้ายก็ต้องลำบากพัฒนาตัวเอง โดยมีกิเลสที่มีชื่อเรียกเล่นๆแบบไพเราะเสนาะหู ว่า “ความรัก” เป็นตัวนำ

แต่ขึ้นชื่อว่ากิเลส ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก เรียนรู้ได้ยาก กำจัดได้ยาก หลุมแห่งกิเลสที่เราเคยเข้าใจว่าต้องเติมแค่นั้นแค่นี้ถึงจะเต็ม ไม่ได้คงสภาพอยู่อย่างนั้นตลอดกาล ทุกครั้งที่เราใส่ความเสพสมใจให้กับเขา หลุมกิเลสจะเปิดกว้างและลึกขึ้น ขยายตัวขึ้นเพื่อที่จะรองรับกิเลสที่มากกว่า แม้ว่าเราจะพยายามถมมันลงไปด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ หรือสุขลวงๆ สักเท่าไหร่ ก็จะยิ่งรู้สึกว่า เราห่างไกลออกไปจากความรักมากขึ้นเรื่อยๆ

และคนที่โชคร้าย ก็จะสามารถเติมกิเลสกันจนเต็มได้ครอบครอง ได้เสพสมอารมณ์ ได้แต่งงานกัน สมรสกัน ได้โอกาสในการมีลูก มีครอบครัวร่วมกัน เป็นการหนีจากทุกข์แห่งความเหงา เปล่าเปลี่ยว ความใคร่อยาก ไปเจอทุกข์อีกแบบ คือทุกข์แบบคนคู่ ทุกข์แบบมีครัวมาครอบไว้ กรงขังที่ยากจะหลุดออกมาได้ และบ่วงที่มีชื่อว่าลูก เสพสมอยู่กับสุขลวง ที่ให้สุขนิดหน่อย แต่ทุกข์มากมาย

ส่วนคนที่โชคดีก็จะเรียนรู้ว่า หลุมแห่งกิเลสของเขาหรือเธอเหล่านั้น ไม่มีวันที่จะถมเต็ม เขาก็มีกิเลสของเขา เราก็มีกิเลสของเรา และหันมามองว่าจริงๆ เราเองนั่นแหละ ที่จะเอาเขามาเติมเต็มกิเลสของเรา เราจะต้องได้เขามาครอบครองถึงจะเสพสมใจ ปัญหาก็คือเราเองก็ไม่เคยจะเติมตัวเองจนเต็มเสียที ยังเป็นคนที่ขาดที่พร่องอยู่เสมอ และถึงแม้ว่าจะได้ครอบครองเขาแล้วมันยังไง? มันสุขเหมือนวันแรกไหม? มันจะค่อยๆลดลงใช่ไหม?

แค่หลุมกิเลสในตัวเราก็ใหญ่มากพอแล้ว ยังต้องลำบากไปยุ่งวุ่นวายกับกิเลสของคนอื่นอีก แล้วไปหวังว่าเขาจะมาเติมเต็มกิเลสให้กับเรา เป็นฝันลมๆแล้งๆ คนที่เราหวังไม่มีวันจะสวยงามคงทนได้ตลอดไป ไม่มีวันมีฐานะร่ำรวยมั่นคงได้ตลอดไป ไม่มีวันมีชื่อเสียง เกียรติยศได้ตลอดไป ไม่มีวันที่ความฝันหรืออุดมการณ์ของเขาจะไม่สลายหรือเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีวันจะดูแลเราหรืออยู่ให้เราแลดูได้ตลอดไป ทุกอย่างเสื่อมไปตลอดเวลา

เราเองก็เป็นหลุมกิเลสที่มีแต่จะลึกและกว้างขึ้นทุกๆวัน ถ้ามัวแต่ไปยุ่งกับกิเลสของคนอื่น ก็ไม่มีวันได้จัดการกิเลสของตัวเอง หลุมกิเลสที่กว้างและลึกไม่มีวันเติมเต็มด้วยการหามาเสพ แต่ต้องใช้การพิจารณาความจริงตามความเป็นจริงว่า กิเลสนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา เป็นทุกข์ เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และให้เห็นลึกลงไปถึงราก ว่าจริงๆแล้วเราต้องการเสพอะไรกันแน่ อยากได้มาเพื่ออะไร เรายึดเราติดเราหลงในอะไร หากเราเห็นตามจริงแล้วว่าเราหลงยึดอะไร ก็เหมือนได้เห็นประตูสู่การปลดเปลื้องกิเลสเหล่านั้น ที่เหลือก็แค่พยายามเดินไปให้ถึงประตู เปิดมันและเดินออกไป เท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

26.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ความรักกับการเปลี่ยนแปลง

August 25, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,261 views 0

ความรักกับการเปลี่ยนแปลง

ความรักกับการเปลี่ยนแปลง

กาลเวลาที่ผ่านไปได้แสดงให้เห็นว่า ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลง ไม่มีสิ่งใดที่ไม่เปลี่ยน แม้แต่ใจคนที่หนักแน่น คำพูดที่จริงจัง คำสัญญาที่ตั้งมั่นว่าจะมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่สุดท้ายไม่ว่าอะไรก็ต้องค่อยๆเสื่อม ค่อยๆพราก ค่อยๆจาก และเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล….

ขับรถไป เปิดวิทยุไป แล้วเขาก็เปิดเพลงหนึ่ง ฟังแล้วรู้สึกทันทีว่าน่าจะเอาเรื่องราว อารมณ์ความรู้สึกนี้มาพิมพ์บทความกันสักหน่อย (เปลี่ยน – บี๋ คณาคำ อภิรดี : http://www.youtube.com/watch?v=0i-e5nnDfgU)บทความนี้ก็ได้แรงบันดาลใจจากการฟังเพลงนี้ละนะ

ความรักกับความเปลี่ยนแปลง…เรื่องราวเกี่ยวกับความรักในบทนี้ ก็คงจะกล่าวกันถึงความรักที่มีความเปลี่ยนแปลงที่มีทิศทางในลักษณะที่เสื่อมลง คลายลง ถดถอยลง จนถึงสลายหายไป เป็นทุกข์แบบชัดเจน

ขึ้นชื่อว่าความรักนั้นก็เหมือนของหอม ของงาม น่าโหยหา น่าเอามาผูกพัน น่าเอามายึดไว้ข้างกาย เป็นความสุขความสมบูรณ์ตามที่สังคมและโลกสอนให้เราเข้าใจ ให้เรารับรู้ว่าการที่คนเราได้รับความรัก ได้มีคู่รัก นั่นคือจุดสมบูรณ์ของชีวิต เหมือนในนิทาน ในนิยาย ในละคร ที่ตอนจบพระเอกและนางเอกก็ได้ร่วมชีวิตกัน

เป็นเหมือนเรื่องราวที่โลกทำให้เราเข้าใจว่าการได้มีคู่ ได้สมรส มีครอบครัว นั้นคือความสุข เป็นจุดจบของทุกสิ่ง เพราะส่วนใหญ่เรื่องราวในหนังมันก็จบแค่นั้น… แต่ถ้าชีวิตจริงมันจบแค่นั้นก็คงจะเป็นอย่างที่เขาว่า

เมื่อได้เสพสมใจ คือการแต่งงาน จนไปถึงการสมสู่ ความต้องการของเราจะได้รับการเติมเต็มอย่างสูงที่สุด ตามแต่ใครจะสร้างกิเลสเหล่านั้นขึ้นมา ดังจะเห็นได้โดยทั่วไปว่า ไม่มีงานใดยิ่งใหญ่มากเท่างานแต่งงานในชีวิตของคนหนึ่งคนแล้ว เรียกได้ว่าเป็น“จุดพีค” ของชีวิตเลยทีเดียว ถ้าเป็นละครก็คือตอนสำคัญเชียวละ

แต่เมื่อเวลาผ่านไป เรากลับต้องการเสพความสุขเหล่านี้ “มากขึ้นเรื่อยๆ” ในขณะที่ความอยากจะตอบสนองของอีกฝ่ายลดลง หรือหมดความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของคู่ตน ที่มีแต่จะพัฒนาความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ขึ้นทุกวัน

เมื่อคนเรามีความต้องการ ความอยากเป็นเจ้าของ หรือกระทั่งความใคร่ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้คำว่า “ความรัก” เข้ามาเป็นตัวแทนโดยทำทุกอย่างให้เหมือนทุ่มเท ใส่ใจ เอาใจใส่ ทั้งหมดก็เพื่อที่จะสนองกิเลสอีกฝ่ายให้พอใจกับการกระทำของตน เรียกง่ายๆว่า เอาใจ…จนจีบติด , เมื่ออีกฝ่ายเริ่มสนใจ ก็จะสนองกิเลสเพิ่มเข้าไปอีก หาสิ่งมาเติมกิเลสเข้าไปอีกให้เกิดความอยากร่วมชีวิต ให้มาแต่งงานร่วมกัน มีคำหวาน คำสัญญา คำพูดและสิ่งของอีกมากมายที่จะมาหลอกล่ออีกฝ่ายให้มาตกลงปลงใจกับตนเอง โดยเนื้อแท้ที่ทำทั้งหมดตั้งแต่แรกคือจะเอามาสนองกิเลสตัวเอง คือ อยากครอบครอง อยากสมสู่ อยากมีคนแก้เหงา อะไรก็ว่ากันไป… จนสนองกิเลสกันสำเร็จ ตกลงใจร่วมเป็นครอบครัวเดียวกัน

การกระทำเหล่านี้เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นไปตามสัญชาติญาณ ไม่ต้องนึกหรือบังคับ กิเลสก็จะกุมบังเหียนพาเราไปสู่จุดที่อยากจะเสพสมใจเอง โดยทั่วไปแล้ว คนจะเข้าใจว่า ตัวเองเข้าใจว่าทำอะไรอยู่ แต่ไม่เข้าใจว่าจริงๆที่ทำอยู่ นั้นมาจากคำสั่งของกิเลส ประมาณว่าไม่รู้ตัวเหมือนกันว่าโดนบงการ เลยเข้าใจไปว่า ทำด้วยหัวใจ,ความรักอยู่ที่ใจ,คนมีรักถึงจะเข้าใจ,เราให้เพราะอยากให้,ฯลฯ …กิเลสทั้งนั้น

ความฉิบหายจะเริ่มตั้งแต่จุดนี้ เมื่อฝ่ายหนึ่งได้เสพสมกิเลสตามที่ตนพอใจแล้ว อาจจะเป็นเรื่องการได้ครอบครอง การได้สมสู่ การได้มีสิ่งที่หวัง ก็จะเริ่มลดความพยายามในการตามใจ หรือการสนองกิเลสของอีกฝ่ายลง ในขณะที่อีกฝ่ายก็งง ว่าทำไมแต่งงาน หรือเป็นแฟนกันแล้ว ได้กันแล้ว กลับเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิม นั่นก็เพราะเขาได้ในสิ่งที่คาดหวังมาหมดแล้ว ทั้งหมดที่เขาทำมาก็แค่เพื่อเสพสมบางสิ่งจากตัวเราเท่านั้นเอง เมื่อเขาเสพสมใจแล้วเขาจะพยายามต่อไปเพื่ออะไร?

จากจุดนี้ก็คงจะไม่มีใครพูดตรงๆถึงปัญหาซึ่งเป็นรากเหง้าเหล่านี้เพราะส่วนใหญ่ก็จะไม่รู้ เนื่องจากไม่เคยศึกษากิเลสตัวเอง ก็เลยจะออกมาในรูปของการทะเลาะ ความไม่เข้าใจกัน ความขัดแย้ง อยู่กันไปทั้งรักทั้งชัง ไปจนกระทั่งถึงเลิกราต่อกัน

ในอีกกรณีหนึ่งก็คือการสร้างภาพกันทั้งคู่ เวลาที่ยังไม่อยู่ร่วมกันก็เป็นคนดีทั้งคู่ แต่พอมาอยู่ด้วยกัน เริ่มเคยชินกัน จึงไม่ค่อยสำรวม กิเลสที่เคยกดข่มไว้ก็ค่อยๆคลายออกมา กลายเป็นความเอาแต่ใจ อารมณ์ร้าย เปลี่ยนไปเป็นคนละคนทีนี้พอคนมีกิเลสสองคนมาอยู่ร่วมกัน แต่ละคนก็อยากได้ อยากให้อีกฝ่ายสนอง แรกๆก็พอจะสนองกันไปได้ วันหนึ่งเริ่มไม่ไหว ก็เลิกสนอง กลายเป็นหามือที่สามมาสนองกิเลส หรือไม่ก็เลิกรากันไป

ดังจะเห็นได้ว่า ในทุกการเปลี่ยนแปลงของความรักนั้นมีกิเลสเป็นตัวขับเคลื่อนและผลักดัน เป็นเหมือนแรงลมที่ทำให้ทุกๆอย่างเคลื่อนไหว ดังนั้นความรักที่ขับเคลื่อนไปด้วยลมแห่งกิเลสจะไม่มีวันเปลี่ยนไปได้อย่างไร

ทีนี้คนที่มีความยึดมั่นถือมั่น หลงไปในคำสัญญา ก็จะยึดว่าเขาต้องไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เปลี่ยนจากวันที่รักเรามากที่สุด เมื่อคิดเช่นนี้ มันก็ทุกข์เอง และพยายามจะกอดทุกข์เหล่านั้นไว้ไม่ปล่อย โดยที่ไม่ได้เข้าใจเลยว่ารักที่มาจากกิเลสนั้นจะต้องมีวันเปลี่ยนแปลงไป ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ถึงแม้ว่ารักนั้นจะสะอาดปราศจากกิเลศก็ตาม ก็ยังต้องพบเจอกับความเปลี่ยนแปลง ความพลัดพราก คนที่เคยดูแลเรา อาจจะกลายเป็นคนที่เราต้องดูแล คนที่เราฝากชีวิตไว้ อาจจะจากเราไปก่อนที่เราจะทำใจได้ ความเปลี่ยนแปลงนำพาทุกข์มาให้ผู้ที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเสมอ

ความรักที่มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง เที่ยงแท้แน่นอน นั้นมีอยู่จริง แต่ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้เพียงแค่พูด แค่คิดเอา แค่ตั้งมั่นสัญญา หรือด้วยความเข้าใจเพียงแค่ว่า “เรานี่แหละมีรักที่มั่นคง” สิ่งเหล่านี้มันไม่สามารถหยุดความเปลี่ยนแปลงของกิเลสเรา ที่มันจะโตขึ้นทุกวันทุกวันได้

หากเราอยากพบกับความรักจริงๆแล้ว คงต้องพยายามบากบั่น ทำลายความเอาแต่ใจ ความอยากครอบครอง ความหลง ความเหงา ฯลฯ ของตัวเองให้สิ้นเกลี้ยงเสียก่อน จึงจะพอเห็นแสงสว่างปลายทางที่เรียกว่ารักแท้ได้บ้าง

หากใจยังปนเปื้อนไปด้วยกิเลส ก็คงมีแต่คำว่า “รักแท้” ที่เป็นคำลวง พาให้หลงใหล พาให้ปักใจเชื่อ และรอวันเวลาผ่านเข้ามาพรากสิ่งลวงนั้นไปในวันใดก็วันหนึ่ง เหลือทิ้งไว้แต่คนที่ยังยึดมั่นกับรักแท้ที่เป็นคำลวง คนที่หลงเข้าใจไปว่าทุกสิ่งจะไม่เปลี่ยนแปลง

– – – – – – – – – – – – – – –
24.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์