Tag: วัฏสงสาร

ประพฤติตนเป็นโสด คือความเป็นกลาง

January 9, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,092 views 0

ได้ไปเห็นความเห็นที่คนเขามองว่าการปฏิบัติตนเป็นโสด มันจะออกไปทางโต่ง ๆ ตามความเห็นของเขา อ่านแล้วก็เห็นใจเขา เพราะจริง ๆ ประพฤติตนเป็นโสดนั้น คือความเป็นกลาง เป็นทางพ้นทุกข์อย่างหาทางอื่นไม่ได้เลย

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “คนที่เขาประพฤติตนเป็นโสด คนเขาก็รู้กันว่าเป็นบัณฑิต” นั่นหมายถึงก็มีแต่คนที่มีปัญญาเท่านั้นแหละ ที่จะตั้งตนอยู่ในความเป็นโสด ท่านยังตรัสไปต่ออีกว่า “ส่วนคนเขลาฝักใฝ่ในเมถุนย่อมเศร้าหมอง” นั่นก็หมายถึงคนที่เขาไม่มีปัญญา หรือที่เรียกกันว่าคนโง่ คนหลง เขาก็จะเศร้าหมองเพราะหมกมุ่นอยู่กับเรื่องการอยู่เป็นคู่ ๆ อยู่กับเรื่องคนคู่

ท่านยังตรัสไว้ใน พระไตรปิฎก เล่ม 25 ข้อ 29 ไว้อีกว่า “บุคคลผู้มีความเกษม ไม่มีเวร ไม่มีภัย เราเรียกว่า เป็นบัณฑิต

คนที่ประพฤติตนเป็นโสดนี่ทำไมถึงเป็นบัณฑิต แล้วทำไมบัณฑิตถึงไม่มีภัย นั่นก็เพราะการประพฤติตนเป็นโสด จะไม่สร้างเวรแค่ใคร ไม่มีภัยแก่ใคร เพราะไม่ทำให้ใครหลงรัก หรือหลงชัง ไม่ไปเป็นข้าศึกในวัฏสงสารอันยาวนานของเขา ออกจากวังวนแห่งการหลงสุขหลงเสพ อันเป็นธรรมชาติของสัตว์ทั่วไป

การที่คนเข้าไปรักกัน ไปแสดงความรักกันนั้น ก็ยังสร้างเวรสร้างภัยให้แก่กันอยู่ ด้วยการมอมเมาด้วยกาม ด้วยตัณหา ด้วยราคะ ด้วยอัตตา ก็ตาม ดังนั้นผู้ที่สร้างเวรสร้างภัย จะเรียกว่าเป็นบัณฑิตก็ไม่ใช่ จะเรียกว่าตั้งตนอยู่บนทางสายกลางก็ไม่ใช่ จะเรียกว่าปฏิบัติสู่ความเจริญก็ไม่ใช่

ทางสายกลางในมิติของคนโสดคนคู่นั้น จะอยู่ตรงการประพฤติตนเป็นโสด ส่วนทางโต่งสองด้านนั้น หนึ่งคือฝั่งของการหลงไปในทิศของกาม จะหลงใหลหมกมุ่นใคร่อยากในเรื่องคู่ครอง สองคือทิศของอัตตา จะเป็นความยึดดี ถือดี หลงดี จนเกิดความชังขึ้นในจิต อธิบายง่าย ๆ ว่าเกลียดความรัก เหม็นความรักอะไรทำนองนี้ เห็นเขารักกันก็จะไม่ชอบใจ อันนี้เป็นทางโต่งในทิศของอัตตา

แต่บัณฑิตที่ประพฤติตนเป็นโสดนั้น จะเห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นว่าเขาติดกามก็เห็นใจเขา เพราะเขาหลงไปสุข ไปเสพกับสิ่งลวง เห็นกงจักรเป็นดอกบัว แล้วก็มัวเมาอยู่กับกาม เขาก็ให้ค่ามัน ให้ความสำคัญกับมันเป็นธรรมดา แค่เขาหลงเขาก็ทุกข์พออยู่แล้ว มันก็น่าเห็นใจ

ส่วนทิศอัตตานี่ก็น่าสงสารอีก เขาจะยึดดีจนอึดอัด กดดัน บีบคั้น มีแต่รังสีอำมหิต เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นด้วยความยึดดี มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรใครเลย ทำลายทั้งตัวเอง และคนรอบข้าง ดีไม่ดี ตบะแตก อดทน อดกลั้นการมีคู่ไหมไหว กลับไปหาฝั่งกามก็มีเยอะเหมือนกัน ก็คล้าย ๆ พวกทำเป็นเก๊ก แล้วสุดท้ายใจแตก ก็น่าเห็นใจเขา

ความจริงมันก็ไม่มีอะไรน่ายึด เพียงแต่มันจะมีจุดอาศัยที่พอดี เป็นกลาง เป็นความเบาสบาย ถ้าทั้งสองฝั่งคือพื้นที่ที่มีไฟลุกเผาใจอยู่ทุกวี่วัน การประพฤติตนเป็นโสดจนหลุดพ้นจากความอยากมีคู่ก็คือตรงกลางระหว่างนรกทั้งสองฝั่ง เป็นแดนสวรรค์ของจิตที่พ้นจากความเดือดเนื้อร้อนใจ

ก็อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านว่า บัณฑิตคือผู้ที่มีความเกษมสำราญในธรรม ไม่มีเวรไม่มีภัยแก่ใคร ใครจะมีคู่ก็เข้าใจ ใครจะชังการมีคู่ก็เข้าใจ แต่ก็จะทำงานของตนต่อไปคือเผยแพร่สิ่งที่ดี ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ทำกุศลให้ถึงพร้อม” เมื่อมีความรู้ ก็ควรจะแบ่งปันแจกจ่ายเป็นธรรมทาน เก็บไว้ หวงไว้ ซ่อนไว้ ไม่แบ่งแจก ก็เหมือนพรามห์ผู้เห็นผิดในโลหิจจสูตร ที่เห็นว่าผู้บรรลุธรรมนั้นไม่ควรเปิดเผยธรรม

พระพุทธเจ้ายังตรัสไว้อีกว่า ธรรมะของท่าน ยิ่งเปิดเผย ยิ่งเจริญ แต่คนที่เขาไม่มีปัญญาเขาจะไม่ชอบใจหรอกนะ เขาจะค้านแย้ง ดังที่ท่่านได้ตรัสไว้ว่า ธรรมที่พาพ้นทุกข์ อสัตบุรุษจะไม่ยินดี ไม่ชอบใจ ให้พาออกจากกาม ออกจากอัตตานี่เขาจะไม่เอา เขาจะแย้ง มันก็เป็นธรรมดาของโลก ที่จะมีความเห็นทั้งสองทางมาค้านกัน

ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิดต่าง จะเข้าใจว่าทางสายกลางกลางกามก็เป็นสิทธิ์ที่พึงทำได้ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะทำตามใจของตน และผลกรรมก็เป็นสิทธิ์ที่ทุกคนพึงได้รับเช่นกัน ทำดีก็ได้รับผลดีสะสมไว้ ทำชั่วก็ได้รับผลชั่วสะสมไว้ ก็ให้อิสระในการเลือกกันเองว่าจะทำอะไรแบบไหน

ฆ่าตัวตาย บาปอย่างไร?

December 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,318 views 0

ฆ่าตัวตาย บาปอย่างไร?

ฆ่าตัวตาย บาปอย่างไร?

ถาม: คุณดิณห์ ช่วยบอกผมหน่อย ว่าการฆ่าตัวตาย บาปได้อย่างไร ในเมื่อ เราตายคนเดียว คนอื่นไม่ได้ตายด้วย สมมติว่าถ้าเราไม่เหลือใครแล้ว และไม่มีใครให้ห่วง ไม่มีใครห่วง การตายของเราก็ไม่น่าทำให้ใครเดือดร้อนนะครับ

ตอบ: เป็นบาปเพราะทำให้ตัวเองเดือดร้อน เป็นการเบียดเบียนตนด้วยความเห็นผิดครับ

เพราะเราอาจจะเห็นว่าชาติก่อนไม่มี ชาติหน้าไม่มี ทำอะไรไปก็ไม่มีผล เช่นเดียวกับการฆ่าตัวตายไม่มีผล ย่อมดับสูญไป สลายไป สิ่งที่ทำลงไปแล้วถูกยกเลิกทั้งหมด จึงมักคิดเห็นว่าการฆ่าตัวตายในเงื่อนไขที่ว่าไม่เหลือใครไม่มีผลกระทบกับใครเพราะเรามองแต่องค์ประกอบในชาตินี้ ไม่ได้รู้เหตุที่มา และไม่รู้ที่ไปของมัน

ซึ่งจริงๆ การฆ่าตัวตาย มีผลกระทบกับตัวเราเองโดยตรงเลย ด้วยความที่เราสำคัญผิด คิดว่าตัวเราเป็นของเรา เรามีสิทธิ์ขาดที่จะตัดสินใจทำอะไรก็ได้ แน่นอนว่าภาพที่เห็นคงจะเป็นเช่นนั้น แต่การกระทำใด ๆ ล้วนมีผลดีและร้ายอยู่ ถ้าเราทำดีเราก็จะได้รับผลดี ถ้าเราทำชั่วเราก็จะได้รับผลชั่ว

ทีนี้ชีวิตและร่างกายที่เราได้มานี่มันไม่บังเอิญนะ การที่เราเกิดมาครบ 32 มีสติปัญญาสามารถเข้าถึงคำสอนในศาสนาได้นี่มันไม่ได้มาลอยๆ มันไม่ใช่จับฉลากมาได้ มันมีเหตุมีที่มา เอาง่ายๆว่าเราต้องทำคุณงามความดีมาพอสมควรถึงจะได้สิทธิ์นั้น

สมมุติว่าเราต้องทำดีสัก 100 หน่วย ถึงจะมีสิทธิ์เกิดมาบนแผ่นดินที่มีธรรมะของพระพุทธเจ้าประกาศอยู่ เราก็ทำดีสะสมมาหลายต่อหลายชาติกว่าจะสะสมได้ความดี 100 หน่วย ทีนี้พอเกิดมาเราก็มีความเห็นว่า เราไม่มีญาติเป็นห่วง เราตายไปก็ไม่น่าจะทำให้ใครเดือดร้อน ว่าแล้วเราก็ฆ่าตัวตาย ทิ้งความดี 100 หน่วยที่ได้สะสมมาอย่างไม่เสียดาย

กรรมดีเมื่อได้รับแล้วก็หมดไป เมื่อเราได้รับผลนั้น คือทำดีจนเกิดมาบนแผ่นดินที่มีธรรมะของพระพุทธเจ้าประกาศอยู่ ผลนั้นก็จบไป ดี 100 หน่วยที่ทำมาก็หายไป ถ้าอยากได้ใหม่ก็ต้องทำดีใหม่

ชี้กันชัดๆว่าการฆ่าตัวตายคือการโยนสิ่งที่ดีทิ้งไปโดยไม่รู้ว่ามันดี ชีวิตนี่มันดีนะ มันมีคุณค่า คนเกิดมาแล้วสามารถสร้างคุณค่าให้กับตัวเองได้ จะตกต่ำจนเป็นมหาโจรก็ได้ จะดีจนเป็นพ่อพระก็ได้ หรือจะพัฒนาจนถึงขั้นเป็นพระอรหันต์ก็ได้ หนึ่งชีวิตมันมีโอกาส มีคุณค่าแบบนี้ แล้วทีนี้เราไม่สนใจเลยว่ามันมีที่มายังไง เราได้มาเราไม่เห็นค่า เห็นแค่ว่าถึงโยนชีวิตทิ้งไปก็ไม่เดือดร้อนใคร เราก็โยนสิ่งดีทิ้งไปแบบนั้น

ซึ่งลักษณะนี้ก็เข้ากับอุปกิเลสแบบหนึ่งคือ ลบหลู่คุณท่าน คือลบหลู่ ตีทิ้ง มองข้ามคุณความดีที่ตนทำมานี่แหละ แทนที่จะเอาร่างกาย ทรัพย์สิน ปัญหา ไปสร้างคุณค่าสร้างกรรมดีให้เราและโลกได้ใช้ แต่เรากลับเอาทั้งหมดไปโยนทิ้ง

ลองนึกภาพว่าเราต้องสร้างบันไดเพื่อไปให้ถึงยอดเขา เราก็เพียรสร้างมาหลายภพหลายชาติ แล้วชาติใดชาติหนึ่งก็เกิดความเห็นว่าจะสร้างทำไม ว่าแล้วก็พังบันไดเหล่านั้นทิ้ง สุดท้ายมันก็ต้องวนกลับไปเริ่มสร้างใหม่อยู่ดีนั่นแหละ เพราะนอกจากจะหลุดพ้นวัฏสงสารนี้ด้วยธรรมะของพระพุทธเจ้า โดยการทำลายกิเลสแล้ว ทางอื่นไม่มี ก็ต้องทำใหม่ เริ่มใหม่ แล้วชาติใดเห็นผิดอีก ก็ทำลายที่ตนเองสร้างมา แล้วก็วนกลับไปเกิดในกองทุกข์ พอทุกข์แล้วก็อยากพ้นทุกข์ ก็สร้างบันไดหนีทุกข์ใหม่ แล้วก็ทำลายไปอีก วนเวียนไปอยู่เช่นนี้

สภาพของคนที่คิดฆ่าตัวตายมักจะเกิดจากการไม่เห็นคุณค่าในตนเอง เป็นสภาพของความหดหู่ ซึมเศร้า หรือโกรธจัดซึ่งเกิดจากความไม่ได้ดั่งใจ ฯลฯ เป็นลักษณะหนึ่งของกิเลสที่สามารถแก้ไขได้ อยู่ในระดับของอบาย คือหยาบ ฉิบหาย เสียหายมาก เพราะถือว่าล้มโต๊ะ ทำลายคุณค่าที่ทำมาทั้งหมด

จริงๆแล้วไม่ใช่ว่าเราไม่มีคุณค่ากับใครหรอก เพียงแค่เราไม่รู้เท่านั้นเองว่ามี และไม่รู้จักการสร้างคุณค่า การที่เราหายไปนั้นมีผลกับคนอื่นไม่มากก็น้อย

ทรัพยากรที่เราใช้มาตั้งแต่เด็กจนโต สัตว์กี่ตัวที่ตายไปเพราะเรากิน ต้นไม้กี่ต้นหายไปเพราะการเรียนรู้ของเรา หลายสิ่งที่เราผลาญมาจนถึงวันนี้ เราสร้างคุณค่าชดเชยคืนให้กับมันอย่างเหมาะสมแล้วหรือยัง เราใช้ชีวิตเพื่อโลกให้มากพอกับที่เราเคยเอามาจากโลกแล้วหรือยัง หรือเราจะมาเพื่อเพียงเสพสุขแล้วเลือกที่จะจากโลกนี้ไปโดยทิ้งหนี้กรรมไว้ ไม่ยอมชำระสะสาง

ถึงแม้เราจะเหลือเป็นคนสุดท้ายในโลก ไม่มีใครให้ห่วง ไม่เหลือใครมาห่วงเรา ก็ยังไม่เห็นความจำเป็นว่าจะต้องทิ้งคุณค่าที่ตนมีไปเลย เรายังสามารถใช้ชีวิตสร้างสรรค์โลกได้นานตราบเท่าที่เราจะอยู่ไหว ถึงเวลาที่สมควรก็ปล่อยให้ร่างกายมันตายไปเอง ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่รีบเร่ง ไม่ฝืน ไม่ต่อต้าน มีแต่จะเสริมให้โลกนั้นหมุนเวียนไปอย่างสงบร่มเย็น

ในวัฏสงสารอันยาวนานนี้ หากสิ่งใดจะสำคัญที่สุดก็คือตัวเราเอง มีแต่ตัวเราเองเท่านั้นที่เป็นผู้สร้างกรรม และเป็นผู้รับผลกรรมเหล่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

7.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

บทขยายธรรม การขึ้นคานอย่างเป็นสุข

May 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,353 views 0

บทขยายธรรม การขึ้นคานอย่างเป็นสุข

บทขยายธรรม การขึ้นคานอย่างเป็นสุข

ในบทความนี้จะเป็นบทขยายข้อธรรมะในบทความ “การขึ้นคานอย่างเป็นสุข” เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ร่วมเรียนรู้เพิ่มเติมให้ลึกซึ้งถึงนัยที่ซ่อนอยู่ด้วยกัน 7 ข้อ

1). วัฏสงสาร

ในข้อที่ 1-7 นั้น เป็นสภาพของคนที่ต้องวนเวียนเสพสุขลวงรับทุกข์จริงกันโดยประมาณจำนวนชาติไม่ได้ เราต่างวนเวียนเรียนรู้เกี่ยวกับกิเลส อยากมีคู่ หาคู่แล้วก็มีคู่ สุดท้ายก็จบด้วยการจากลา เป็นเช่นนี้มีหลายภพหลายชาติ ซึ่งหลายคนก็อาจจะมีโอกาสได้เรียนรู้ในชาตินี้หลายต่อหลายครั้ง แต่มันก็ยังไม่จบสิ้น เมื่อดำเนินไปถึงข้อ 7 สุดท้ายก็วนกลับไปที่ข้อ 1 ใหม่อยู่ดี และจะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆหากเหตุยังไม่ดับ

2). ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่รัก

แท้จริงแล้วตั้งแต่ข้อ 1 – 7 ในบทความการขึ้นคานอย่างเป็นสุขนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคู่รักเสมอไป เพียงแค่เริ่มที่จะมองหาใครสักคนในข้อ 2. และข้อ 3. เลือกใครสักคนที่ตนชอบ ในข้อ 4.ก็จะเริ่มแสวงหาทางไม่โสด นั้นหมายถึงจิตใจที่ไม่คงอยู่กับความโสด ล่องลอยคิดถึงใครบางคนจนไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ข้อ 5. นั้นคือการที่เราไปหลงรักหลงเสพเขาแล้ว แม้จะไม่ได้คบหากัน แม้จะไม่เคยคุยกันเลย เพียงแค่เราไปติดสุขกับการได้เห็นหน้าเขา ได้ยินเสียงเขา ได้รับรู้เรื่องของเขา ก็เรียกได้ว่าหลงแล้ว ดำเนินต่อไปในข้อ 6. นั้นคือความอกหักจากความหวังใดๆ ก็ตามที่จะได้เสพ เช่น เขาไม่เป็นดังใจเราหมาย เขาไปมีคนรักของเขา เขาไม่รับรักเรา เราก็จะเกิดความทุกข์ และอาจจะไปจองเวรจองกรรมกันอีก เพราะหากจิตใจไปคิดแค้นแม้น้อย ก็มากพอที่จะสร้างกรรมชั่วให้ต้องไปรับผลในอนาคตต่อไป สุดท้ายก็มาจบในข้อ 7. คืออกหักแล้วก็เลิกชอบคนนั้น กลับมาที่ใจตนเอง มาอยู่กับตัวเอง กลับมารักษาแผลใจตัวเอง

3). ปล่อยวางแบบชาวบ้าน

สภาพการปล่อยวาง ปลง หรือไม่รู้สึกว่าต้องมีแฟน สามารถเป็นการปล่อยวางแบบชาวบ้านๆได้ หมายถึงการปล่อยวางที่ใครก็สามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติธรรม ไม่ได้หมายความว่าธรรมนั้นเจริญขึ้น ใครๆก็ทำได้เป็นได้ การปล่อยวางเช่นนี้อาจจะเกิดจากสาเหตุดังเช่นว่า ไม่มีปัจจัยให้หาได้จริงๆ, ไม่มีคนที่เข้าตา, หน้าที่การงานที่หนัก, วัยที่ล่วงเลย, ความเบื่อการมีคู่เพราะเสพจนอิ่ม, หาดีกว่าอยู่คนเดียวไม่ได้, เขาไม่พอที่จะสนองกิเลสเรา ฯลฯ หลายๆเหตุผลเหล่านี้สร้างความเบื่อ ความปลง ความปล่อยวางแบบชาวบ้านขึ้นมา

4). โสดใช่ว่าเป็นสุข

การโสดหรือการอยู่บนคานนั้นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสุข หลายคนอาจจะติดอยู่บนคานทั้งที่ไม่อยากติดและไม่สามารถทำให้หลุดพ้นจากสภาพโสดได้ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกทุกข์อะไร ซึ่งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะจัดตัวเองอยู่ในข้อ 9 ได้ เพราะ โสดในแบบข้อ 1,7,8,9 นั้นมีสภาวะที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ข้อ 1 นั้นจะเป็นความโสดแบบจมกิเลส กิเลสแต่ละตัวนั้นมีภพที่ละเอียดซับซ้อนถึงสามภพ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ แม้ใจจะรู้สึกว่าไม่สุขไม่ทุกข์จากความโสด แต่นั้นก็อาจจะเป็นแค่การกดข่มไว้ก็ได้ ในกรณีผู้ที่ไม่ได้มีญาณปัญญาที่สามารถรู้กิเลสได้ การกดข่มที่กามภพ(ไม่ให้ออกอาการอยากมีคู่)แล้วกิเลสที่ยังอยู่ในรูปภพและอรูปภพก็ใช่ว่าจะจับอาการได้ แต่ถ้าอยากรู้ก็ลองตั้งใจว่าจะโสดตลอดชาติดูจะเห็นกิเลสดิ้นได้ชัดเจนข้อ 7 จะเป็นความโสดแบบสัตว์ที่ถูกทำร้าย จะหวาดกลัว จะป้องกันตัวเอง มีโอกาสเวียนกลับไปข้อ 1 , ส่วนข้อ 8 นั้นเป็นโสดแบบมีอัตตา โสดแบบมีอุดมการณ์ว่าจะโสดตลอดชีวิต) ข้อ 9 นั้นเป็นโสดที่หลุดพ้นจากตัณหาทั้งปวง

5). กาม อัตตา อุเบกขา

ในข้อ 1. ที่ว่าด้วยการเฝ้าคานอย่างว้าเหว่นั้น เป็นสภาพของคนโสดที่ยังเปิดประตูรอคอยคนรักอยู่ ไม่ว่าจะแสดงออกหรือไม่อย่างไร แต่ถ้ายังไม่ปิดโอกาสตัวเองกับการมีคู่ ยังมีเผื่อใจไว้ ก็ยังอยู่ในลักษณะของข้อ 1 แม้ว่าจะรู้สึกว่าตนเองนั้นโสดอย่างสบายๆ ไม่ได้ทุกข์หรือสุขอะไร แต่ถ้ายังดับโอกาสมีคู่ในใจให้เกลี้ยงไม่ได้ ก็ยังวนอยู่ในขีดของกาม

เมื่อจิตเจริญขึ้นจนสามารถที่จะข้ามขีดกาม ไม่อยากมีคู่ เพราะรู้ว่าการมีคู่จะต้องทุกข์สุดทุกข์โดยชัดในวิญญาณของตัวเองว่า ไม่ว่าจะเกิดชาติไหนก็ขออย่าให้มีคู่ เห็นคนมีคู่แล้วไม่ยินดี ดูหนัง ดูละคร ดูคนมีรักพลอดรักกันแล้วเห็นถึงทุกข์ภัยที่จะเกิดขึ้นจนขยาดกลัวในผลนั้น พร้อมกับอาการผลักไสการมีคู่ ก็จะเรียกว่าเข้าขีดของอัตตา เป็นลักษณะตามข้อ 8 คือโยนบันไดที่จะเป็นโอกาสให้คู่เข้ามาในชีวิตทิ้งไปเลย

เมื่อตัดกามด้วยอัตตาแล้ว จึงมาติดที่อัตตา การจะขยับจากข้อ 8 ไปข้อ 9 นั้นจะต้องใช้อุเบกขาเข้ามาพิจารณาเพื่อลดความยึดมั่นถือมั่นเสีย สุดท้ายแล้วพอทำลายอัตตาที่มีได้จะเป็นโสดอยู่บนคานอย่างเป็นสุขในข้อ 9 เพราะไม่มีทั้งกามและอัตตา คู่ก็ไม่อยากมี ติดดีก็ไม่ติด ใครจะมีคู่ไปก็เรื่องของเขา โลกของเราเป็นสุขก็พอ

6). โลกุตระสุข

บทความสั้นๆนี้แท้จริงแล้วประเด็นสำคัญอยู่ที่ข้อ 8 และ 9 ในข้อที่ 1-7 ใช้ชี้ลักษณะของโลกียะ แต่ในข้อ 8 และ 9 จะเข้าไปในส่วนของโลกุตระ คือการทำลายกิเลสล้วนๆ ในบทความนั้นใช้คำว่า “ทำลายความอยาก” ความอยากนั้นก็คือตัณหา พระพุทธเจ้าท่านได้สอนวิธีให้เราดับตัณหา ผู้ที่สามารถดับตัณหาในเรื่องคู่ได้ก็จะพบกับโลกุตระสุขในเรื่องของคู่

โลกุตระสุขนั้นคือสุขที่เหนือไปจากวิสัยของโลก ไม่ทั่วไป ไม่ใช่ของธรรมดา แต่เกิดจากการทำลายตัณหา ดับทั้งความอยากเสพกาม(อยากมีคู่) และติดในอัตตา(ไม่อยากมีคู่) แต่ในบทความนี้จะไม่ขยายไปถึงกระบวนการปฏิบัติ

7). ตรวจสอบและพัฒนาตนเอง

การตรวจสอบตนเองว่าพร้อมหรือยังสำหรับการจะอยู่บนคานอย่างเป็นสุขนั้นก็ไม่ยาก เพียงแค่ตั้งจิตให้มั่นว่าฉันจะโสดตลอดกาล นี้คือสิ่งที่ฉันจะต้องยึดอาศัยไว้ศึกษาให้เห็นกิเลสในตนและกำจัดมัน,หมายถึงแค่ตั้งจิตนั้นไม่พอ จะต้องคอยจับความอยากที่โผล่ขึ้นมาเพื่อกำจัดทิ้งจนกระทั่งถึงผลที่ตั้งจิตในเป้าหมายไว้

หลังจากนั้นก็ลองไปเรียนรู้เรื่องราวของความรักที่หวานชื่นดู ไป ดูหนัง ดูละคร อ่านนิยาย ไปงานแต่งงาน ดูหน้าคนที่เคยชอบ ฯลฯ แต่ไม่ต้องถึงขนาดไปชอบหรือไปจีบใครนะ เพราะเพียงแค่เราได้เจอผัสสะ(สิ่งกระทบ) แต่ละครั้งที่เข้ามา เราก็จะรู้ได้ชัดแล้วว่าเราพร้อมแค่ไหน

ถ้าเราไปดูเรื่องราวความรักแล้วยังมีความรู้สึก ซึ้งใจ ปลื้มใจ อยากเป็นอย่างเขาบ้าง อยากได้แบบนั้นบ้าง ก็รู้ได้เลยว่ายังมีเชื้อของความอยากอยู่ ก็ให้เพียรพิจารณาโทษของ”ความอยากมีคู่” ซึ่งเป็นเหตุของปัญหาทั้งหมดที่ต้องมาลำบากลำบนแก้กันจนทุกวันนี้

และใช้ไตรลักษณ์ย้ำเข้าไปอีกว่า ความสุขที่ได้จากคู่มันก็ไม่เที่ยงหรอก ได้เสพไม่นานๆเดี๋ยวมันก็ดับไป ไปยื้อไว้ให้มันสุขตลอดกาลก็ไม่ได้ ไปหลงยึดสิ่งที่ไม่เที่ยงมันก็เป็นทุกข์ สุดท้ายมันก็ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารสาระเลย จะไปยึดมันทำไมไอ้”ความอยากมีคู่”นี่ แล้วก็ขุดความอยากลงไปอีกว่าที่มันอยากมีคู่นั้น *เราอยากเสพอะไร(*กุญแจแห่งความสำเร็จอยู่ตรงนี้) ต้องลงไปให้ลึกถึงรากของปัญหา แล้วพิจารณาธรรมอัดเข้าไป ใส่ความจริงตามความเป็นจริงเข้าไป กิเลสจะค้านแย้งตามธรรมชาติ แต่เราก็ใช้การพิจารณาโทษ ใช้ไตรลักษณ์ ใช้การพิจารณาผลของกรรมที่จะเกิดขึ้นหากเรายังมีความอยากเหล่านั้นอยู่ เพียรทบทวนธรรมที่สวนกระแสกิเลสให้มาก กิเลสเถียงมาเราก็เถียงกลับ ทำมันไปอย่างนี้ทุกวันๆ

ถ้ามันหลุดพ้นแล้วมันจะรู้ได้เอง เพราะไปแตะแล้วก็ไม่สุข ไม่ว่าจะสัมผัสกี่ครั้งก็ไม่มีรสสุข ไม่มีความชอบใจพอใจใดๆเกิดขึ้นเลย ถูกพรากก็ไม่ทุกข์ ไม่ได้เสพก็ไม่ทุกข์ นั่นเพราะเราพ้นจากสุขลวงที่โลกได้มอมเมาเรามานานแสนนานแล้ว สุดท้ายจะไม่มีทั้งความรักหรือความชัง ไม่มีทั้งอยากและไม่อยาก จะสามารถอยู่ในสังคมปกติได้ด้วยการปนแต่ก็ไม่เปื้อน(กิเลส)

เมื่อจิตรู้สึกตั้งมั่นในผลเจริญนั้น อาจจะมีผัสสะที่จะเข้ามากระแทกเพื่อทดสอบเรา ซึ่งจะมีหรือไม่มีก็ได้ เราจะหาเรื่องทดสอบเองก็ได้ ถ้าหลุดพ้นจริงมันจะไม่มีความลังเลสงสัย ไปแตะก็รู้ว่าหลุดพ้น ไม่ใช่อารมณ์ที่ว่าจะหลุดก็ใช่ ไม่หลุดก็ไม่ใช่ จะมั่นใจเต็มที่ไม่มีแม้เสี้ยวความสงสัย ไม่ใช่การเดา ไม่ใช่จากฟังเขามา หรือท่องจำต่อๆกันมา แต่รู้ได้เองจาก”ปัญญาที่รู้แจ้งกิเลส”ในตน

– – – – – – – – – – – – – – –

15.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

นรกของสัตว์เลี้ยง

September 16, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,120 views 1

นรกของสัตว์เลี้ยง

นรกของสัตว์เลี้ยง

ในสังคมปัจจุบันเรามักจะนิยมเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะด้วยประโยชน์อะไรก็ตามแต่ สัตว์เหล่านั้นก็จะมาอยู่ในความดูแลของเรา ในชีวิตของเรา ในกรรมของเรา

การช่วยเหลือสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยากนั้นเป็นกุศลกรรม เป็นเมตตาธรรมที่ดี เช่นช่วยสัตว์ที่บาดเจ็บ ช่วยสัตว์จากโรงฆ่าสัตว์ แต่การเอาสัตว์มาเลี้ยงกลับกลายเป็นโทษ เพราะเราเอาสัตว์มายึดไว้เป็นของตัวของตน คือเป็นอัตตา หรือโอฬาริกอัตตา เป็นความยึดในระดับหยาบ ยึดในสิ่งที่มีรูปร่าง เช่น คน สัตว์ วัตถุ สิ่งของ เมื่อยึดมั่นถือมั่นแล้วความทุกข์จะไม่เกิดเป็นไม่มี

เมื่อเกิดเหตุการณ์ ไม่ปกติ ดังเช่นน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา สัตว์เลี้ยงกลับสร้างปัญหาไม่น้อยให้กับใครหลายๆคน ใครเลี้ยงสัตว์ตัวเล็กดูแลง่ายก็รอดไป แต่ก็ยังมีปัญหาเช่น งูที่เลี้ยงหลุดออกมา จระเข้หลุดออกมา หรือมีภาระต้องขนย้ายสัตว์เลี้ยงไปอยู่ที่ต่างๆซึ่งไม่สะดวกเลย

การเลี้ยงสัตว์นำมาซึ่งการผูกกรรม ผูกภพ ผูกชาติด้วยกัน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสัตว์ที่เราเลี้ยงนั้น เคยเป็นอะไรมาในชาติก่อน เขาอาจจะเคยเป็นคนในครอบครัว คนรัก คนสนิท หรือศัตรูคู่แค้นก็ได้ เพราะถ้าไม่มีกรรมผูกกันมา ในชาตินี้เราก็คงจะไม่มาผูกกันต่อ ซึ่งอ่านดูแล้วอาจจะรู้สึกดี รู้สึกว่าได้ใกล้ชิดกับคนคุ้นเคย แต่จริงๆมันไม่ดี ลองให้เราสลับไปเป็นสัตว์เลี้ยงดูบ้างไหมล่ะ…

การเกิดเป็นสัตว์นั้น คือการเกิดในภพของเดรัจฉาน เพื่อการชดใช้วิบากกรรมที่ทำไป สัตว์จะไม่สามารถทำกุศลได้มากนัก ไม่สามารถมีปัญญาได้มากนัก จะมีขอบเขตการเรียนรู้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ภารกิจจริงๆคือการชดใช้กรรม ต้องทุกข์ ต้องทรมาน ต้องลำบาก และตายไป จนกว่าจะหมดกรรมนั้นๆจึงจะได้เกิดเป็นคนอีกครั้ง

การที่เราเอาเขามาเลี้ยง เขาก็จะมีชีวิตสุขสบาย แทนที่วิบากกรรมเขาจะลด เขากลับเพิ่มความสุขในภพของเดรัจฉาน ติดสุขในภพเดรัจฉาน เมื่อวิบากกรรมไม่ได้ชดใช้ในชาตินี้ ถึงแม้จะตายไป เขาก็ต้องเกิดเป็นเดรัจฉานซ้ำๆ ไปจนกว่าจะใช้วิบากกรรมหมด

ดังนั้นการนำสัตว์มาเลี้ยง จะทำให้เขาพ้นทุกข์ช้า แทนที่เราจะปล่อยให้เขาเผชิญชีวิตตามบาปบุญที่เขาทำมา เรากลับนำเขามาร่วมวิบากกรรมกับเรา ด้วยความหลง ด้วยความเสน่หา ด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่าสัตว์นี้เป็นของฉัน เป็นเพื่อนของฉัน เป็นลูกของฉัน ก็อุปโลกน์กันไปตามแต่กิเลสจะนำพากลายเป็นการเพิ่มกิเลสทั้งคนและสัตว์เลี้ยง ผูกกรรมกันด้วยการสะสมกิเลส พากันไปนรกทั้งคู่

บางครั้งเรามักจะนำเขามาเลี้ยงเพราะความรักความสงสาร แต่ความจริงถ้าเราปล่อยเขาอยู่แบบนั้นเขาก็อยู่ของเขาได้ ถึงแม้เขาจะตายมันก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับเขา เพราะตายแล้วก็หมดกรรมไปอีกเรื่อง ถ้ายังไม่หมดวิบากก็กลับไปเกิดเป็นสัตว์ใหม่อยู่ดี เราเองนั่นแหละที่เข้าไปยุ่งกับเขา ไปพยายามมีส่วนในกรรมของเขา โดยถือเอาตัวเราเป็นใหญ่ พยายามที่จะไปกำหนดชะตาชีวิต ไปกำหนดกรรมของคนอื่น ทั้งๆที่ไม่ใช่หน้าที่ของเราเลย

สัตว์ใดไม่ได้มาหาเรา ไม่ได้มาให้เราช่วย ก็ให้เราปล่อยวางไว้ เพราะรู้ดีว่ากรรมก็เป็นแบบนี้ เขาก็ต้องทนทุกข์แบบนั้น เพราะกรรมที่เขาทำมา เขาเบียดเบียน คดโกง มัวเมา เสพอบายมุขมาเท่าไหร่ เขาจึงต้องตกไปอบายภูมิแบบนั้นเราเข้าใจดี ซึ่งเราก็จะมองเขาด้วยเมตตา แต่ก็จะไม่เอาภาระ เพราะการเอาภาระนี้นอกจากทำให้เราเองลำบากแล้วยังทำให้เขาพ้นทุกข์ช้าอีกด้วยเสียประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

แต่ถ้าสัตว์ใดบาดเจ็บ ทุกข์ทรมานอยู่ตรงหน้า ก็ให้พิจารณาหาทางช่วยให้เขาพ้นทุกข์ ให้เขาสบาย หายเจ็บป่วย เมื่อหมดหน้าที่อันสมควรก็ไม่ต้องไปแบกเขาเอาไว้ ปล่อยเขาไปตามบาปบุญของเขา ถ้าเขามีบุญจริงก็จะมีคนมาดูแลเขาต่อไปเอง

การเลี้ยงสัตว์ยังนำมาซึ่งการทำฟาร์มสัตว์เลี้ยง เพาะพันธุ์สัตว์ ค้าขายสัตว์เลี้ยง ซึ่งผิดตามหลักของพุทธ ในบทของมิจฉาวณิชชา ๕ พระพุทธเจ้าท่านว่า ชาวพุทธไม่ควรค้าขายสัตว์ เป็นการค้าขายที่ผิด ดังนั้นการที่เราเลี้ยงสัตว์ก็จะทำให้คนอื่นอยากเลี้ยงตาม พอมีคนอยากเลี้ยงมากๆก็เกิดเป็นธุรกิจขายสัตว์ เป็นบาปทั้งคนเลี้ยงคนขาย

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะดูเหมือนใจจืดใจดำ แต่การที่เราจะคิดได้แบบนี้ เราต้องเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม เข้าใจภาพรวมของวัฏสงสาร เข้าใจอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จนเห็นทุกการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสภาวะที่เปลี่ยนรูปไปเท่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

16.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์