Tag: ฆ่าตัวตาย

ฆ่าตัวตาย บาปอย่างไร?

December 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,100 views 0

ฆ่าตัวตาย บาปอย่างไร?

ฆ่าตัวตาย บาปอย่างไร?

ถาม: คุณดิณห์ ช่วยบอกผมหน่อย ว่าการฆ่าตัวตาย บาปได้อย่างไร ในเมื่อ เราตายคนเดียว คนอื่นไม่ได้ตายด้วย สมมติว่าถ้าเราไม่เหลือใครแล้ว และไม่มีใครให้ห่วง ไม่มีใครห่วง การตายของเราก็ไม่น่าทำให้ใครเดือดร้อนนะครับ

ตอบ: เป็นบาปเพราะทำให้ตัวเองเดือดร้อน เป็นการเบียดเบียนตนด้วยความเห็นผิดครับ

เพราะเราอาจจะเห็นว่าชาติก่อนไม่มี ชาติหน้าไม่มี ทำอะไรไปก็ไม่มีผล เช่นเดียวกับการฆ่าตัวตายไม่มีผล ย่อมดับสูญไป สลายไป สิ่งที่ทำลงไปแล้วถูกยกเลิกทั้งหมด จึงมักคิดเห็นว่าการฆ่าตัวตายในเงื่อนไขที่ว่าไม่เหลือใครไม่มีผลกระทบกับใครเพราะเรามองแต่องค์ประกอบในชาตินี้ ไม่ได้รู้เหตุที่มา และไม่รู้ที่ไปของมัน

ซึ่งจริงๆ การฆ่าตัวตาย มีผลกระทบกับตัวเราเองโดยตรงเลย ด้วยความที่เราสำคัญผิด คิดว่าตัวเราเป็นของเรา เรามีสิทธิ์ขาดที่จะตัดสินใจทำอะไรก็ได้ แน่นอนว่าภาพที่เห็นคงจะเป็นเช่นนั้น แต่การกระทำใด ๆ ล้วนมีผลดีและร้ายอยู่ ถ้าเราทำดีเราก็จะได้รับผลดี ถ้าเราทำชั่วเราก็จะได้รับผลชั่ว

ทีนี้ชีวิตและร่างกายที่เราได้มานี่มันไม่บังเอิญนะ การที่เราเกิดมาครบ 32 มีสติปัญญาสามารถเข้าถึงคำสอนในศาสนาได้นี่มันไม่ได้มาลอยๆ มันไม่ใช่จับฉลากมาได้ มันมีเหตุมีที่มา เอาง่ายๆว่าเราต้องทำคุณงามความดีมาพอสมควรถึงจะได้สิทธิ์นั้น

สมมุติว่าเราต้องทำดีสัก 100 หน่วย ถึงจะมีสิทธิ์เกิดมาบนแผ่นดินที่มีธรรมะของพระพุทธเจ้าประกาศอยู่ เราก็ทำดีสะสมมาหลายต่อหลายชาติกว่าจะสะสมได้ความดี 100 หน่วย ทีนี้พอเกิดมาเราก็มีความเห็นว่า เราไม่มีญาติเป็นห่วง เราตายไปก็ไม่น่าจะทำให้ใครเดือดร้อน ว่าแล้วเราก็ฆ่าตัวตาย ทิ้งความดี 100 หน่วยที่ได้สะสมมาอย่างไม่เสียดาย

กรรมดีเมื่อได้รับแล้วก็หมดไป เมื่อเราได้รับผลนั้น คือทำดีจนเกิดมาบนแผ่นดินที่มีธรรมะของพระพุทธเจ้าประกาศอยู่ ผลนั้นก็จบไป ดี 100 หน่วยที่ทำมาก็หายไป ถ้าอยากได้ใหม่ก็ต้องทำดีใหม่

ชี้กันชัดๆว่าการฆ่าตัวตายคือการโยนสิ่งที่ดีทิ้งไปโดยไม่รู้ว่ามันดี ชีวิตนี่มันดีนะ มันมีคุณค่า คนเกิดมาแล้วสามารถสร้างคุณค่าให้กับตัวเองได้ จะตกต่ำจนเป็นมหาโจรก็ได้ จะดีจนเป็นพ่อพระก็ได้ หรือจะพัฒนาจนถึงขั้นเป็นพระอรหันต์ก็ได้ หนึ่งชีวิตมันมีโอกาส มีคุณค่าแบบนี้ แล้วทีนี้เราไม่สนใจเลยว่ามันมีที่มายังไง เราได้มาเราไม่เห็นค่า เห็นแค่ว่าถึงโยนชีวิตทิ้งไปก็ไม่เดือดร้อนใคร เราก็โยนสิ่งดีทิ้งไปแบบนั้น

ซึ่งลักษณะนี้ก็เข้ากับอุปกิเลสแบบหนึ่งคือ ลบหลู่คุณท่าน คือลบหลู่ ตีทิ้ง มองข้ามคุณความดีที่ตนทำมานี่แหละ แทนที่จะเอาร่างกาย ทรัพย์สิน ปัญหา ไปสร้างคุณค่าสร้างกรรมดีให้เราและโลกได้ใช้ แต่เรากลับเอาทั้งหมดไปโยนทิ้ง

ลองนึกภาพว่าเราต้องสร้างบันไดเพื่อไปให้ถึงยอดเขา เราก็เพียรสร้างมาหลายภพหลายชาติ แล้วชาติใดชาติหนึ่งก็เกิดความเห็นว่าจะสร้างทำไม ว่าแล้วก็พังบันไดเหล่านั้นทิ้ง สุดท้ายมันก็ต้องวนกลับไปเริ่มสร้างใหม่อยู่ดีนั่นแหละ เพราะนอกจากจะหลุดพ้นวัฏสงสารนี้ด้วยธรรมะของพระพุทธเจ้า โดยการทำลายกิเลสแล้ว ทางอื่นไม่มี ก็ต้องทำใหม่ เริ่มใหม่ แล้วชาติใดเห็นผิดอีก ก็ทำลายที่ตนเองสร้างมา แล้วก็วนกลับไปเกิดในกองทุกข์ พอทุกข์แล้วก็อยากพ้นทุกข์ ก็สร้างบันไดหนีทุกข์ใหม่ แล้วก็ทำลายไปอีก วนเวียนไปอยู่เช่นนี้

สภาพของคนที่คิดฆ่าตัวตายมักจะเกิดจากการไม่เห็นคุณค่าในตนเอง เป็นสภาพของความหดหู่ ซึมเศร้า หรือโกรธจัดซึ่งเกิดจากความไม่ได้ดั่งใจ ฯลฯ เป็นลักษณะหนึ่งของกิเลสที่สามารถแก้ไขได้ อยู่ในระดับของอบาย คือหยาบ ฉิบหาย เสียหายมาก เพราะถือว่าล้มโต๊ะ ทำลายคุณค่าที่ทำมาทั้งหมด

จริงๆแล้วไม่ใช่ว่าเราไม่มีคุณค่ากับใครหรอก เพียงแค่เราไม่รู้เท่านั้นเองว่ามี และไม่รู้จักการสร้างคุณค่า การที่เราหายไปนั้นมีผลกับคนอื่นไม่มากก็น้อย

ทรัพยากรที่เราใช้มาตั้งแต่เด็กจนโต สัตว์กี่ตัวที่ตายไปเพราะเรากิน ต้นไม้กี่ต้นหายไปเพราะการเรียนรู้ของเรา หลายสิ่งที่เราผลาญมาจนถึงวันนี้ เราสร้างคุณค่าชดเชยคืนให้กับมันอย่างเหมาะสมแล้วหรือยัง เราใช้ชีวิตเพื่อโลกให้มากพอกับที่เราเคยเอามาจากโลกแล้วหรือยัง หรือเราจะมาเพื่อเพียงเสพสุขแล้วเลือกที่จะจากโลกนี้ไปโดยทิ้งหนี้กรรมไว้ ไม่ยอมชำระสะสาง

ถึงแม้เราจะเหลือเป็นคนสุดท้ายในโลก ไม่มีใครให้ห่วง ไม่เหลือใครมาห่วงเรา ก็ยังไม่เห็นความจำเป็นว่าจะต้องทิ้งคุณค่าที่ตนมีไปเลย เรายังสามารถใช้ชีวิตสร้างสรรค์โลกได้นานตราบเท่าที่เราจะอยู่ไหว ถึงเวลาที่สมควรก็ปล่อยให้ร่างกายมันตายไปเอง ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่รีบเร่ง ไม่ฝืน ไม่ต่อต้าน มีแต่จะเสริมให้โลกนั้นหมุนเวียนไปอย่างสงบร่มเย็น

ในวัฏสงสารอันยาวนานนี้ หากสิ่งใดจะสำคัญที่สุดก็คือตัวเราเอง มีแต่ตัวเราเองเท่านั้นที่เป็นผู้สร้างกรรม และเป็นผู้รับผลกรรมเหล่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

7.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)