Tag: ลดกิเลส

รักให้เป็นสุข

November 20, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,764 views 1

รักให้เป็นสุข

รักให้เป็นสุข

….การทำให้ใครมารักนั้นไม่ยาก แต่การจะรักใครสักคนนั้นยากมาก

คงจะปฏิเสธได้ยากหากจะบอกว่า “ความรัก” นั้นคือสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของแต่ละชีวิต ความรักนั้นมีรูปแบบและมิติที่หลากหลาย แต่ถ้าหากแบ่งออกเป็นสองส่วนก็จะได้เป็นรักคนอื่นและรักตัวเอง ในบทความนี้จะมาขยายกันในหัวข้อรักให้เป็นสุขในเรื่องของการรับรักและการให้รัก

….การทำให้ใครมารักนั้นไม่ยาก

เป็นเรื่องจริงแน่แท้หากจะบอกว่าการทำให้ใครสักคนมารักนั้นไม่ยาก แต่รายละเอียดนั้นกลับไม่มีสิ่งใดจริงเลย การจะทำให้ใครสักคนมารัก มายอมรับ มาสนใจ มาลุ่มหลงในตัวเรานั้นก็เพียงแค่สนองกิเลสให้สาสมใจของเขาเท่านั้นเอง

เป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายที่สุดและเป็นเรื่องที่ลวงโลกมากที่สุดที่คนหลงติดหลงยึดกันข้ามภพข้ามชาติ เพราะในความเป็นจริงแล้ว “เราไม่มีวันสนองกิเลสของใครได้ตลอดไป” แม้วันนี้เราจะสนองได้ แต่วันหนึ่งความไม่เคยพอของกิเลสก็จะทำให้สภาพของความรักลวงๆที่เกิดจากความเสพสมใจนั้นเปลี่ยนแปลงไปหรือที่เรียกกันว่า”ไม่เที่ยง

เราไม่มีวันสนองกิเลสใครให้เขาสมใจได้ตลอดไป แม้กระทั่งตัวเราก็ตาม เราเองไม่มีวันที่จะสนองกิเลสตัวเองได้ตลอดไป วันหนึ่งเราจะต้องพบเจอกับการพราก การจากไปจากสภาพที่เคยยินดี ดังประโยคที่ว่า เมื่อเกิดมาแล้ว การแก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา กิเลสก็เช่นกันเมื่อเกิดความอยากขึ้นมาแล้วสภาพที่ถูกพรากจากความเสพสมใจนั้นเป็นเรื่องธรรมดา

ไม่ใช่ว่ากิเลสนั้นตาย แต่เป็นความสามารถในการสนองกิเลสนั้นตาย ดังเช่นความรัก แม้วันนี้เราจะสามารถสนองกิเลสคนที่เราเลือกมาเป็นคู่ด้วยคำหวาน คำสัญญา ความมั่นคง ความมั่งคั่งด้วยฐานะ ชื่อเสียง การงาน หรือแม้กระทั่งความฝัน แต่วันหนึ่งเราก็ต้องเสียความสามารถที่จะสนองกิเลสเหล่านี้ไป เหลือทิ้งไว้แต่คนมีกิเลสสองคนที่โหยหาอยากเสพไม่เคยพอ

และการที่เราเสนอสิ่งเหล่านี้เพื่อได้ความรักมานั้นเปรียบเสมือนการซื้อ ซึ่งไม่ใช่การซื้อด้วยเงินแต่เป็นการล่อซื้อด้วยการสนองกิเลส จนกว่าอีกฝ่ายจะยอมใจอ่อน น้ำลายไหล ยอมขายตัวมาเพื่อเสพกิเลสที่อีกฝ่ายล่อ

รักที่เกิดจากการบำรุงบำเรอกิเลสจึงไม่ต่างจากการซื้อขายตัว แต่เป็นการซื้อขายที่ดูดีในแบบที่สังคมยอมรับหรือจะเรียกให้ถูกว่า “หลงไป”และวันใดวันหนึ่งเมื่อการซื้อขายจ่ายค่าบำรุงไม่เป็นไปดังที่คาดหวังก็จะเกิดการบาดหมาง การเลิกรา หรือการเปลี่ยนแปลงใดๆก็ตามเกิดขึ้น

คนบางคนนั้นมีคุณสมบัติในการสนองกิเลสคนอื่นติดมาตั้งแต่เกิดเช่น ความสวยความหล่อ และด้วยความหลงระเริงไปตามโลกว่าต้องแต่งตัวดีบ้าง ต้องมีคู่ครองบ้าง ทำให้เขาหรือเธอใช้กามคุณที่มีติดตัวมาแต่กำเนิดนั้นล่อลวงเหล่าคนที่หลงในกิเลสให้เข้ามาติดกับดักเหมือนดังเหยื่อติดเบ็ดที่เขาใช้ล่อปลา คนที่หลงไปในรูป หลงไปในกามคุณก็มักจะยอมตกเป็นเหยื่อเพื่อที่จะได้เสพความสวยความหล่อเหล่านั้น

ความรักที่ดีนั้นย่อมไม่เกิดจากการล่อลวงด้วยกิเลส แต่เป็นการยอมให้กับคุณงามความดี ซึ่งจะตรงข้ามกับการสนองกิเลส รักแบบนี้มีอยู่ไม่มากนัก และโดยมากก็ยังเป็นรักที่เห็นแก่ตัว เพราะยังมีความอยากเอามาครอบครองเอามาเป็นของตัวของตนอยู่นั่นเอง

การทำให้ใครสักคนมารักด้วยการสนองกิเลส หรือการทำให้ใครสักคนมารักด้วยความดีนั้น มีสภาพไม่เที่ยงทั้งสองกรณี แม้รักนั้นจะใสสะอาดบริสุทธิ์แค่ไหน แต่การที่รักนั้นจะอยู่ยั่งยืนตลอดการไม่แปรเปลี่ยนนั้น เป็นไปไม่ได้เลย

ความรักนั้นไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็ตาม หากมันไม่เที่ยงแล้วผู้ที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรักนั้นจะไม่มีวันพบกับความสุขแท้ได้เลย คงจะได้พบเพียงสุขลวงๆที่ล่อให้เขาและเธอได้เสพติดความรักที่เหมือนกับมายานั้นเพื่อได้รับทุกข์ทรมานแสนสาหัสตลอดไป

….แต่การจะรักใครสักคนนั้นยากมาก

การจะรักใครสักคนนั้น ในความเข้าใจสามัญธรรมดาก็มองว่ามักจะเป็นเรื่องง่ายเพียงแค่เราพบคนที่เราถูกใจ คนที่พร้อมจะทุ่มเท เราก็มักจะเรียกสิ่งนั้นว่าความรักได้แล้ว แต่ชื่อของมันจริงๆก็คือ “ความหลง

เรามักถูกทำให้หลงเข้าใจผิดเกี่ยวกับความรัก ว่าความรักเป็นสิ่งที่ต้องได้รับมา ได้มาเสพ ได้มายึด จนกระทั่งไปหาคู่ หาแฟน หาคนมาแต่งงาน มีครอบครัวให้ชีวิตต้องพบกับความลำบากทุกข์กายทุกข์ใจแบกเคราะห์กรรม แบกกิเลส แบกของตัวเองยังไม่พอยังต้องลำบากไปแบกของคู่ ของลูกหลาน ของญาติมิตรอื่นๆอีกด้วย ทั้งหมดนี้เกิดจากความหลงผิดไปว่าความรักเป็นเรื่องของการมีคู่ เป็นเรื่องของการสมสู่ เป็นเรื่องของคนสองคน เป็นเรื่องของครอบครัว ฯลฯ

ความรักนั้นมีรายละเอียดและความยิ่งใหญ่มากกว่าการได้มาเสพความเป็นคู่ การมีแฟน หรือการแต่งงานมากนัก เรามักมองความรักกันได้แค่ในมุมแคบๆ รักกันอยู่แค่วงแคบๆ

แม้แต่การรักในวงแคบนั้นก็ยังเป็นความรักที่ผิด ผิดไปจากทางแห่งความสุขแท้ การจะรักใครสักคนแล้วสนองกิเลสเขา หรือเอาเขามาบำเรอกิเลสตัวเองเพื่อความสุขลวงนั้นทำได้ง่าย แต่ความรักที่จะเป็นไปเพื่อความสุขแท้นั้นทำได้ยากยิ่ง

เพราะรักที่เป็นไปเพื่อความสุขแท้นั้น ต้องเกิดจากการไม่สนองกิเลส เพราะกิเลสเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ ยิ่งสนองกิเลสเท่าไหร่ก็จะยิ่งห่างไกลจากความสุขแท้เท่านั้น

สุขที่ได้จากการเสพกิเลสนั้นคือสุขลวง สุขที่ไม่เที่ยง สุขที่แปรผันไปตามโลก เป็นสุขแบบโลกๆ ไม่ยั่งยืน ไม่ถาวร ทำให้เป็นทุกข์ ดังนั้นหากจะรักใครสักคนอย่างแท้จริงนั้นต้องให้เขาได้พบกับความสุขแท้และยั่งยืนนั่นคือการลดกิเลส

การลดกิเลสไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องที่จะทำความเข้าใจหรือคิดคำนวณเอาเองได้ แต่ต้องใช้การเพียรพยายามศึกษาและปฏิบัติ และต้องทำอย่างถูกต้องถูกตรง โดยมีครูบาอาจารย์ที่มีสัจจะแท้อยู่ด้วย ไม่เช่นนั้นสิ่งที่เข้าใจว่ากิเลสลด อาจจะเป็นการเพิ่มกิเลสก็เป็นได้

ความรักที่เจริญจากการลดกิเลสนั้น จะเป็นความรักที่ยั่งยืน นำมาซึ่งความสุขแท้ จะเป็นความรักที่ค่อยๆปล่อย ค่อยๆคลายจากความยึดมั่นถือมั่นด้วยความยินดี ยินดีที่จะได้ให้แม้จะไม่มีอะไรตอบแทน แม้จะไม่มีคำขอบคุณ แม้จะไม่มีใครเห็นคุณค่า แม้จะไม่มีโอกาสได้แสดงถึงความรักนั้นก็ยังยินดี เพราะรักที่แท้คือการให้โดยไม่เอา ไม่เอาอะไรเลย มีแต่จิตที่คิดจะให้อยู่ฝ่ายเดียว ให้จนหมดตัวหมดตน เป็นการให้ที่เป็นบุญเป็นกุศลที่สุดในโลก

แต่การจะให้ความรักแท้ที่นำมาซึ่งความสุขแท้ ที่เรียกว่าการลดกิเลสนั้นไม่ใช่ว่าจะให้ได้ทันที เพราะสิ่งที่เราจะสามารถให้ได้คือสิ่งที่เรามี หากตัวเราเองไม่มีการลดกิเลส ไม่มีความรู้ในการลดกิเลส ไม่มีวิธีการลดกิเลสอย่างถูกต้องแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะให้ หรือถ่ายทอดวิธีสร้างความสุขแท้ให้กับผู้อื่นได้

การที่เราจะเป็นผู้มีรักแท้นั้นจึงจำเป็นต้องทำตนให้เป็นผู้ลดกิเลสได้จริง ทำลายกิเลสได้จริงๆ จึงจะเรียกได้ว่ามีของจริง เมื่อมีของหรือมีธรรมนั้นในตัวจริงๆก็จะสามารถให้ความรู้ ความเข้าใจ วิธีการเหล่านี้กับผู้อื่นได้ ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้เราสามารถรักใครได้จริงๆ รักได้แบบไม่หวังอะไร รักได้อย่างบริสุทธิ์ รักได้อย่างไม่มีโทษ

เรามักเข้าใจผิดว่าเรานั้นมีรักแท้ แต่ถ้าสังเกตดีๆ รักของเราที่มีให้กับคนอื่นนั้น คือรักที่เห็นแก่ตัว เป็นรักที่จะเอาบางสิ่งบางอย่างมาเสพ เช่นรักแฟน ก็อยากเสพทั้งการสมสู่ ทั้งการดูแลเอาใจใส่ ทั้งหน้าตาทางสังคม ทั้งชื่อเสียงลาภยศ ,รักพ่อแม่ ก็เพราะพ่อแม่เอาใจเลี้ยงดู , รักลูก ก็เพราะมองลูกเป็นของของตน เรามีการเสพบางสิ่งบางอย่างโดยใช้นามแห่งความรักเสมอ เรียกได้ว่ามีผลประโยชน์กับความรักอยู่นั่นเอง

รักที่แท้นั้นจะสามารถพิสูจน์ได้ในยามที่สภาพสุขที่เคยเสพได้พรากจากไป เช่นแฟนที่เคยคิดว่าจะดูแลเรา วางแผนกันว่าจะแต่งงานในเร็วๆนี้ แต่มาประสบอุบัติเหตุเป็นอัมพาตเสียก่อน เรายังจะสามารถที่จะรักหรือให้ได้โดยไม่คิดจะเอาอะไรอยู่รึเปล่า เมื่อสิ่งที่เราเคยได้เสพหายไป เรายังจะยินดีให้โดยที่ตัวเองไม่ได้รับอะไรกลับคืนมารึเปล่า

ผู้ที่สามารถมีความยินดีที่จะให้ได้แม้จะไม่ได้รับอะไรเลย จะเป็นผู้ที่ได้รับที่แท้จริง ได้รับโอการในการให้ที่มีคุณค่า เป็นผู้ที่มีรักแท้ เป็นรักที่เสียสละ ไม่ครอบครอง ไม่แสวงหา ไม่ผลักไส ไม่ดูดดึง ไม่ได้รักเพราะมีผลประโยชน์ แต่รักเพราะเข้าใจว่าความรักนั้นเป็นสิ่งที่ดี

ผู้ที่สามารถรักใครได้โดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ไม่เอาสิ่งใดมาเสพอีก จะเป็นผู้ที่สามารถรักใครก็ได้ในโลก รักได้ทั้งคนสัตว์และสิ่งอื่นๆ เป็นความรักที่นำมาแต่ความสุข รักกันข้ามภพข้ามชาติ ข้ามความลำบากทุกข์ทรมานแสนสาหัสก็เพื่อจะได้มอบความรักแก่คนอื่น

เหมือนดังที่พระพุทธเจ้าได้ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงความรักที่ทนทุกข์ทรมาน บำเพ็ญเพียรอยู่กว่าสี่อสงไขยกับหนึ่งแสนกัป เพื่อที่จะส่งต่อความรัก หรือการให้วิธีทำลายกิเลสซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ นำมาซึ่งความสุขแก่จิตวิญญาณดวงหนึ่งอย่างแท้จริง

เรายังไม่ต้องทำถึงขนาดพระพุทธเจ้าหรอก เพียงแค่หัดรักให้เป็น การรักเป็นคือการรักให้มีความสุข การมีความสุขแท้เกิดจากการลดกิเลส นั่นก็คือถ้าเราพากันลดกิเลส เราก็จะรักกันเป็น รักคนอื่นได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่รักตัวเองโดยใช้คนอื่นมาสนองความอยากโดยอ้างว่าเป็นความรักอย่างในทุกวันนี้

– – – – – – – – – – – – – – –

19.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ทำบุญทุกวันด้วยการกินมังสวิรัติ

October 30, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,335 views 0

ทำบุญทุกวันด้วยการกินมังสวิรัติ

ทำบุญทุกวันด้วยการกินมังสวิรัติ

การทำบุญที่หลายคนเข้าใจกันนั้นคือการทำบุญตักบาตร ไปวัด ทำสังฆทาน ปล่อยนกปล่อยปลา ทำทานช่วยเหลือวัดและพระด้วยปัจจัยต่างๆ นั่นคือการทำบุญแบบที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ซึ่งแท้ที่จริงแล้วการทำบุญนั้นมีมิติที่หลากหลายและละเอียดอ่อนกว่าที่เห็นและเป็นอยู่มาก

คำว่า “บุญ” คือการสละกิเลส ลดกิเลส ทำลายกิเลส กิจกรรมใดๆ ที่ทำให้กิเลสน้อยลง ไม่ว่าจะโลภน้อยลง โกรธน้อยลง หลงน้อยลง ทำให้ความอยากเสพอยากได้อยากมีในสิ่งใดๆลดลงได้ ก็ถือว่าเป็นการทำบุญ และการทำบุญที่ดีที่สุดนั้นคือการทำที่ตัวเอง คือทำตัวเองให้เป็นเนื้อนาบุญ ลดกิเลสที่ตัวเอง ทำให้เกิดสภาพที่กิเลสนั้นหายและตายไปจากจิตของตัวเองไป นั่นคือสภาพที่สุดของบุญ ซึ่งสอดคล้องกับคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ดังนั้น การทำบุญที่ดีที่สุดก็คือการทำที่จิตใจตัวเองนั่นเอง

การกินมังสวิรัตินั้น สำหรับคนที่เสพติดเนื้อสัตว์ แต่สามารถพยายามฝืน ต้านกิเลส กดข่ม พิจารณาโทษของกิเลส ให้ความอยากเสพนั้นจางคลายลงไปได้ ก็ถือว่าเป็นบุญที่ทำได้ในทุกโอกาสที่เราจะหยิบเนื้อสัตว์เข้าปาก เป็นการลดความอยากเสพ ลดกิเลสที่เคยมี สำรวม กาย วาจา ใจ ไม่ให้ไปเสพเนื้อสัตว์ ไม่ให้เกิดการเบียดเบียน ไม่ให้กิเลสให้กำเริบมากไป การกินมังสวิรัตินี้ก็ถือว่าเป็นบุญ ซึ่งทำได้ทุกวัน วันละหลายๆครั้งตามมื้ออาหาร หรือตามจำนวนครั้งที่หักห้ามใจไม่ไปเสพได้

ถ้าการไม่ไปเสพเนื้อสัตว์คือ “บุญ” ดังนั้น การไปเสพเนื้อสัตว์ก็เป็น “บาป” เพราะคนที่ตั้งใจไว้ว่าตนเองจะละเว้นการกินเนื้อสัตว์ หากบกพร่องไปจากศีลหรือตบะที่ตนตั้ง พลั้งเผลอใจ ปล่อยตัวปล่อยใจไปกินเนื้อสัตว์แล้ว ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มกิเลส ยอมให้กับกิเลส บาปนั้นคือการสั่งสมกิเลส ตามใจกิเลส เพิ่มพูนกิเลส

สำหรับคนที่ไม่ได้ตั้งใจว่าจะกินมังสวิรัติอาจจะสงสัยว่าตัวเองบาปไหม? บาปแน่นอน เพราะทุกวันมีแต่การสั่งสมกิเลส เสพตามใจกิเลส ไม่เคยคิดค้านแย้งกับกิเลส ไม่มีโอกาสที่จะเกิดบุญเลย ต่างจากคนที่ถือศีล ตั้งตบะจะกินมังสวิรัติ เขาเหล่านั้นก็จะเกิดบุญบ้าง บาปบ้าง ตามกำลังที่แต่ละคนมี ไม่ใช่บาปอย่างเดียวอย่างที่คนทั่วไปเป็น

แต่บางครั้งเราอาจจะต้องยอมเลือกที่จะบาปบ้างเพื่อไม่ให้เกิดบาปที่มากกว่าเช่น ในกรณีคนที่มีกิเลสมาก ถ้าจะให้อดเนื้อสัตว์ในระยะเวลานานๆเขาจะไม่สามารถทำได้ หรืออดเนื้อสัตว์ในงานเลี้ยง เทศกาล วันสำคัญต่างๆ เขาจะทรมานมาก ความทรมานที่เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นนี้ก็เป็นการเบียดเบียนตัวเองเช่นกัน ซึ่งบางครั้งเมื่อเรายึดมั่นถือมั่นในการกินมังสวิรัติมากไปจนจิตใจทรมาน เพราะการลดเนื้อสัตว์ในระดับนั้นไม่อยู่ในฐานะที่เราจะกระทำได้ไหว จิตใจเรายังไม่เข้มแข็งพอ ก็ให้ลดความยึดดี ถือดีออกไปบ้างและกลับไปกินเนื้อสัตว์บ้างให้หายจากความทรมานจากการอด ซึ่งเป็นลักษณะการปฏิบัติธรรมที่ไม่เคร่งจนเครียด

เราจำเป็นต้องยอมรับว่าการกำจัดกิเลสที่สุดแสนจะหนานั้น ไม่สามารถทำได้เพียงแค่คิดเอา บางคนดูเหมือนจิตใจแข็งแกร่ง แต่พอต้องมากินมังสวิรัติกลับไม่สามารถทำได้ แม้ว่าเขานั้นจะเห็นประโยชน์ของมังสวิรัติ และโทษของการกินเนื้อสัตว์แล้ว แต่กิเลสที่หนาของเขานั้นไม่ยอมให้เขาได้หลุดพ้นจากนรกเนื้อสัตว์ได้โดยง่ายนัก

การลดกิเลส หรือการทำบุญนั้น ไม่ใช่สิ่งที่คิดเอาได้ หวังเอาได้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องเพียรพยายามทำอย่างตั้งมั่น สำหรับการกินมังสวิรัติก็คือการตั้งมั่นในการกินมังสวิรัติอย่างต่อเนื่อง แม้จะพลาดพลั้งก็รีบตั้งตบะสู้ใหม่ ไม่จมอยู่กับความสุขที่ได้ลิ้มรสเนื้อสัตว์นาน พร้อมกับพิจารณาคุณและโทษไปเรื่อยๆ

ทั้งหมดนี้คือการทำบุญ โดยที่ไม่ต้องไปวัด ไม่ต้องบริจาคเงิน ไม่ต้องลำบากเสาะหาพระดัง วัดดังใดๆ แต่เป็นการทำบุญที่ใจ ยอมปล่อยให้กิเลส ออกไปจากจิตใจของเรา ไม่ยึดกิเลสไว้เป็นตัวเราของเรา เป็นบุญที่พึงกระทำได้ทุกวัน จนกระทั่งวันสุดท้าย ที่เรียกว่าหมดบุญหมดบาป คือกำจัดกิเลสเนื้อสัตว์หมดแล้ว ก็ไม่ต้องทำบุญอีก เพราะไม่มีกิเลสเกี่ยวกับความอยากกินเนื้อสัตว์เหลือให้กำจัด หมดบาปก็เพราะไม่มีการสั่งสมกิเลสอีก เพราะมีปัญญาเห็นโทษจากการเสพเนื้อสัตว์อย่างเต็มรอบ จึงไม่มีวันที่จะเห็นดีเห็นงามกับการกินเนื้อสัตว์อีกต่อไป

หากพุทธศาสนิกชน เข้าใจแก่นแท้ของการทำบุญ คือการกระทำใดๆ เพื่อเป็นไปซึ่งการลดกิเลสแล้ว สังคมจะน่าอยู่ขึ้นอีกมาก เพราะมีแต่คนที่พากันลดกิเลส ลดความอยากได้อยากมี ลดความกลัว ลดความเห็นแก่ตัว ลดการเก็บสะสม ลดความหลงในกิเลส เมื่อมีแต่คนที่พากันลดกิเลส สังคมก็จะเติบโตไปในทางดีงาม ไม่ไปในทางเสื่อม ไม่พากันหลงมัวเมาด้วย อบายมุข กาม ลาภ ยศ สรรเสริญ และสุขลวงๆ อีกต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

29.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

มังสวิรัติวิถีพุทธ ปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติ เพื่อการทำลายกิเลส

October 27, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,405 views 0

มังสวิรัติวิถีพุทธ ปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติ เพื่อการทำลายกิเลส

มังสวิรัติวิถีพุทธ ปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติ เพื่อการทำลายกิเลส

การกินมังสวิรัติในทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่มีให้เห็นอยู่บ้างในสังคมไทย ซึ่งกลุ่มคนกินมังสวิรัติมักจะเป็นกลุ่มคนจำนวนน้อย โดยที่คนส่วนใหญ่ต่างพากันชอบใจในรสของเนื้อสัตว์ แต่ในกลุ่มคนที่กินมังสวิรัติ ก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก บ้างก็กินเพื่อสุขภาพ บ้างก็กินเพราะประหยัด บ้างก็กินเพื่อภาพลักษณ์ บ้างก็กินเพราะยึดมั่นถือมั่น บ้างก็กินเพื่อลดกรรม บ้างก็กินเพราะเมตตา บ้างก็กินเพราะลดกิเลสฯลฯ

ผมได้ตั้งกลุ่มขึ้นมาในเฟสบุ๊ค โดยมีชื่อกลุ่มว่า Buddhism Vegetarian โดยให้มีชื่อไทยว่า “มังสวิรัติวิถีพุทธ

หลายคนคงจะสงสัยว่าการกินมังสวิรัติมันเป็นพุทธอย่างไร แล้วกินแบบไหนจึงจะเป็นวิถีพุทธ แล้วถ้ามังสวิรัติเป็นวิถีพุทธจริง ทำไมยังเห็นพระฉันเนื้อสัตว์อยู่เลย…

มังสวิรัติวิถีพุทธ ที่ตั้งกลุ่มขึ้นมาและหมายถึงนั้น คือการปฏิบัติธรรมด้วยการกินมังสวิรัติ โดยใช้วิถีทางของพุทธ คือ วิธีการทั้งหมดเป็นไปเพื่อลดกิเลส เพื่อดับกิเลส คือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นแนวทาง โดยมีสภาพหมดกิเลส หมดความอยากเสพเนื้อสัตว์ หมดความถือดี ยึดดี หลงตนเองว่าดีเหนือใครนั้นลงได้ ทั้งหมดนั้นคือการทำลาย กามและอัตตานั่นเอง

ซึ่งวิธีปฏิบัติที่จะนำมาใช้ก็เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และสอนไว้แล้วตั้งแต่ 2600 กว่าปีก่อน ไม่ใช่วิธีที่คิดขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่นำมาใช้กับกิเลสตัวหนึ่ง คือความอยากเสพเนื้อสัตว์เท่านั้น ดังนั้นกลุ่มจึงพุ่งเป้าไปที่การกำจัดกิเลสตัวนี้ เพราะเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ที่เข้าใจกระบวนการล้างกิเลส จะสามารถนำกระบวนการนี้ไปใช้ในกิเลสตัวอื่นๆที่ตนเองยังยึดมั่นถือมั่นต่อได้

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเพื่อการเริ่มต้น สำหรับผู้ที่ยังสงสัยว่าการปฏิบัติธรรมให้พ้นทุกข์ต้องทำอย่างไร การกำจัดกิเลสต้องทำอย่างไร สภาพที่พ้นจากกิเลสจะเป็นอย่างไร เราจะมาร่วมแบ่งปันวิธีการที่ได้ปฏิบัติมาไม่ว่าจะถูกทางหรือผิดทางก็จะช่วยแนะนำและชี้แจง แถลงไขให้ตรงกับเป้าหมายของกลุ่มคือการกินมังสวิรัติโดยใช้วิถีของพุทธเข้ามาเป็นองค์ประกอบหลัก

เหตุผลหนึ่งที่ต้องชี้ให้ชัดว่าเป็นวิถีพุทธนั้น เพราะการกินมังสวิรัติได้ ไม่ได้หมายความว่าจะลดกิเลสได้ หรือการที่กินมังสวิรัติเป็น ทำอาหารมังสวิรัติเป็น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะลดกิเลสเป็นเช่นกัน

คนที่กินมังสวิรัติได้นั้น อาจจะลดกิเลสได้จริง หรือลดไม่ได้ก็ได้ ซึ่งโดยส่วนมากก็จะเป็นสภาพที่กดข่มความอยากเอาไว้ ส่วนการทำลายความอยาก หรือล้างกิเลสนั้น จำเป็นต้องปฏิบัติตามวิถีพุทธเท่านั้น วิธีอื่นไม่มีทางทำได้

การกินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าจะได้พบกับนิพพาน ไม่ได้หมายความว่าจะกลายเป็นผู้ทรงศีล มีสัตว์กินพืชมากมายเช่น วัว ควาย มันก็กินหญ้าทั้งชีวิต ไม่กินเนื้อเลย แต่มันก็ไม่ได้บรรลุธรรมอะไร เช่นเดียวกัน ถ้าเรากินมังสวิรัติแบบไม่มีปัญญา ก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์กินพืชอื่นๆ

การเลือกกินมังสวิรัตินั้น เราต้องฝืน ต้องอดทนต่อกิเลส ที่สังคมมักจะบอกว่าเราเป็นสัตว์ที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ แต่แท้ที่จริงแล้ว เราเป็นเพียงแค่สัตว์ที่กินตามกิเลสเท่านั้น วัว ควาย กินหญ้าเพราะมันจำเป็นต้องกิน แต่เรากินเนื้อสัตว์มากมายโดยที่หลายครั้งไม่จำเป็นต้องกิน คนที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่พึงพิจารณาเอาเองว่าตนนั้นอยู่ในระดับไหน

ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงประโยชน์ในการกินมังสวิรัติได้ เพราะกิเลสจะรั้งเราไว้ไม่ให้เราทำในสิ่งที่ดี กิเลสมักจะดึงดูดสิ่งที่ชั่วเข้าหาตัว แม้จะมีคนบอกว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นเบียดเบียน แต่คนผู้มากด้วยกิเลสก็มักจะพยายามหาข้ออ้างมาให้ตนได้กินเนื้อสัตว์ได้อยู่ดี นี่คือพลังของกิเลสที่บดบังปัญญาของคน ทำให้คนไม่เอาดี ไม่เอาในสิ่งที่ดี

ถึงแม้ผู้มีปัญญาจะรู้คุณค่าในการกินมังสวิรัติและรู้โทษชั่วจากการกินเนื้อ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้าถึงชีวิตมังสวิรัติได้อย่างทันที ไม่สามารถตัดเนื้อสัตว์ทั้งหมดออกจากชีวิตได้อย่างทันที เพราะแรงของกิเลสนั้นผูกไว้มาก คนที่ผูกกิเลส สะสมกิเลสไว้มากก็จะแก้ยาก ต้องใช้ความเพียรมาก ต้องทุกข์ทรมานมากหากต้องเลิกเนื้อสัตว์ในทันที ส่วนคนที่มีกิเลสน้อย หรือเคยล้างกิเลสมาก่อนแล้ว ก็จะแก้ได้ง่าย เลิกกินเนื้อสัตว์ได้ง่าย

การกินมังสวิรัติวิถีพุทธนั้น เป้าหมายคือดับความอยากจนสิ้นเกลี้ยงตามลำดับของกิเลสที่มี ใครที่ติดเนื้อสัตว์ใดมากก็เสพไปก่อน ใครที่พอลดได้ก็ลองลดดู ใครที่พอละได้บ้างในช่วงเวลาหนึ่งก็ลองละดู ใครที่คิดว่าละแล้วยังปกติดี มีความสุขดีก็ให้เลิกเสพเนื้อสัตว์นั้นไปเลย

แต่การกินมังสวิรัติ หรือไม่กินเนื้อสัตว์ได้ยาวนานนั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถล้างกิเลสได้ ทั้งหมดที่ทำมาอาจจะเป็นเพียงการกดข่มกิเลสเท่านั้น วิธีทดสอบก็คือการกลับเข้าไปทดลองกินอีกครั้ง ถ้ากิเลสลดจริงๆ จะไม่รู้สึกสุขเหมือนอย่างเคย ดีไม่ดีจะทุกข์ด้วยซ้ำไป อาจจะทุกข์ด้วยอัตตา ทุกข์ด้วยความเข้าใจในกรรม หรือทุกข์ด้วยความยากลำบากในการกินเนื้อสัตว์นั้นก็ตาม แต่ที่แน่ๆ ถ้าผ่านแล้วจะไม่มีความยินดี เต็มใจ พอใจ สุขใจในการกินเนื้อสัตว์นั้นอีกต่อไป

…เมื่อเห็นดังนี้แล้วว่า การกินมังสวิรัติอย่างผาสุกและยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องศึกษาและปฏิบัติตามวิถีทางแห่งพระพุทธศาสนาสอดคล้องไปด้วย เพื่อดับความอยากให้สิ้นเกลี้ยง ไม่ใช่กดข่มกิเลสเอาไว้เท่านั้น แต่ต้องดับกิเลสให้สนิทเพื่อความไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นในชาตินี้ ชาติต่อไป และชาติอื่นๆสืบไป เป็นการเรียนรู้การกินมังสวิรัติข้ามภพข้ามชาติ เป็นนักมังสวิรัติตลอดกาลนับตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงวันสุดท้ายของจิตดวงนี้ เพื่อประโยชน์ตนเอง ประโยชน์ผู้อื่นและเพื่ออนุเคราะห์โลกให้เป็นไปด้วยความผาสุก

– – – – – – – – – – – – – – –

27.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เพ่งโทษฟังธรรม

October 12, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,080 views 0

เพ่งโทษฟังธรรม

เพ่งโทษฟังธรรม

การที่คนเราจะสามารถเรียนรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นั้นจำเป็นต้องมีการเปิดใจรับฟัง มีการนำมาพิจารณาถึงเนื้อหานั้นๆ ไม่ว่าสิ่งที่ได้ฟัง ได้เรียนรู้มานั้นจะเป็นความรู้ทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม

เมื่อคนเรานั้นได้เรียนรู้โลกจนได้ความรู้มาหนึ่งชุด ก็มักจะยึดมั่นถือมั่นความรู้ชุดนั้นเป็นอัตตา เช่นไปศึกษากับครูบาอาจารย์ท่านใดก็จะยึดคำสอนนั้นเป็นหลักยึดทันที เมื่อได้ฟังธรรมใหม่ๆก็จะนำมาตรวจเทียบกับความรู้เดิมของตน เมื่อสิ่งใดไม่เหมือนสิ่งที่ตนเคยเรียนรู้มาก็มักจะมองว่าสิ่งนั้น “ผิด” โดยที่ตนเองก็ไม่ได้ปฏิบัติจนเข้าใจในคำสอนนั้น สักแต่ว่าฟังมาแล้วเอามายึด เอามาถือ เอามาพูดต่อ เอามาประดับเป็นยศของตัวเองว่าเป็นผู้รู้ธรรมมาก ใช้ความรู้ที่ฟังมาคอยเพ่งโทษเอาผิดผู้อื่น โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้มีการปฏิบัติหรือเข้าใจธรรมใดๆด้วยตนเองเลย

ทำให้คนที่ติดยึดเหล่านั้นไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง แม้จะนั่งฟังอยู่แต่ก็เพ่งโทษฟังธรรม แล้วก็จะไม่เข้าใจสาระแท้ในสิ่งที่ผู้พูดได้สื่อสาร พอไม่ฟังก็ไม่สามารถบรรเทาความสงสัยได้กลายเป็นยิ่งฟังก็ยิ่งสงสัย เพราะไม่ได้ตั้งใจฟัง เมื่อเป็นดังนั้นจึงไม่มีโอกาสทำความเห็นให้ถูกต้องตามที่ความจำเป็น เช่นเขาพูดอีกอย่าง เราฟังเป็นอีกอย่างกลายเป็นคนจับประเด็นไม่เป็น สุดท้ายจิตของผู้เพ่งโทษฟังธรรมนั้นก็จะขุ่นมัว ไม่เลื่อมใส ไม่ศรัทธา มีจิตคอยคิดเพ่งโทษ และไปปรามาสในธรรมได้ในที่สุด ถ้าธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แท้ เป็นธรรมที่ปนเปื้อนด้วยกิเลสก็ยังพอจะเรียกว่าเสมอตัวได้บ้าง แต่หากธรรมนั้นเป็นธรรมแท้ เป็นธรรมที่พาลดกิเลส ธรรมลดความยึดมั่นถือมั่น การเพ่งโทษฟังธรรมครั้งนี้จะกลายเป็นผลเสียอย่างมากต่อความสุขความเจริญเลยทีเดียว

ในบทของกำลัง๘ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “บัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลังและคนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง” จึงจะเห็นได้ว่าผู้ที่จะก้าวเป็นบัณฑิตจึงไม่เพ่งโทษใครๆเลย แม้ว่าจะได้ยินธรรมที่แสดงอยู่นั้นไม่ตรงตามหลักแห่งการพ้นทุกข์ ก็จะไม่ไปเพ่งโทษใดๆทั้งยังมีจิตมีเมตตา หากบอกสิ่งที่ถูกได้ก็บอก ถ้าบอกไม่ได้ก็ปล่อยวางได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะบอกสิ่งที่ถูกจะต้องเป็นสิ่งที่ถูกจริง หากผู้ใดหลงตนว่าเป็นบัณฑิตหยิบเอาธรรมที่ได้ยินได้ฟังมากล่าวอ้างโดยไม่มีความรู้ในตนเอง ก็อาจจะกลายเป็นภัยต่อตัวเองได้เช่นกัน

ส่วนคนพาลนั้นมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง กำลังนี้เองที่จะพาให้คนพาลคอยจ้องจับผิดผู้อื่น แม้ว่าจะอยู่ในคราบของนักบวช นักบุญ ผู้ถือศีล บุคคลที่มีชื่อเสียงน่าเคารพนับถือ แต่หากยังมีการเพ่งโทษผู้อื่นอยู่เสมอก็เรียกได้ว่าเป็นคนพาล พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในมงคล ๓๘ เป็นข้อแรกว่าให้ห่างไกลคนพาลนี้เสีย เพราะคนพาลนั้นมักจะมีการเพ่งโทษว่าร้ายผู้อื่น นำพาไปสู่เรื่องเสื่อมทรามอยู่เสมอ ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมก็มักจะคอยชี้นำให้คนอื่นเพ่งโทษคนที่คิดเห็นไม่ตรงกับที่ตนเข้าใจ ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่คนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มักจะทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมแตกแยกกัน เสื่อมศรัทธาต่อกัน ซึ่งเป็นกรรมหนัก คนที่เชื่อในคนพาลก็จะพากันลงนรกด้วยกันกับคนพาล ดังนั้นท่านจึงว่าให้ห่างไกลคนพาลเข้าไว้

ผู้ที่คอยเพ่งโทษเวลาฟังผู้อื่น ก็จะฟังผู้อื่นไม่เข้าใจ ฟังเด็กพูดก็ไม่เข้าใจเด็ก ฟังผู้ใหญ่พูดก็ไม่เข้าใจผู้ใหญ่ ฟังคนแก่พูดก็ไม่เข้าใจคนแก่ ฟังพระพูดก็ไม่เข้าใจพระ ถึงแม้จะดูเหมือนเข้าใจ แต่ก็จะไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่งได้

สัมมาทิฏฐิ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับปัจจัยแห่งการเกิดสัมมาทิฏฐิไว้สองประการ สัมมาทิฏฐินั้นคือความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ แล้วสิ่งใดคือสัมมาทิฏฐิ เชื่ออย่างใดจึงจะเป็นความเชื่อที่ถูกต้อง เราเพียงแค่รู้จักกับคำนี้เพียงแค่ว่า “ความเห็นชอบ” แต่สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าเห็นชอบในอะไร ได้แต่เดาไปเอง เข้าใจไปเองตามปัญญาที่มี โดยที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ค้นหาความจริงเกี่ยวกับสัมมาทิฏฐิ

ความเห็นที่ถูกต้องนั้นต้องพาให้ลดกิเลส พาให้ไม่สะสม รู้ว่าการลดกิเลสมีผลเจริญ เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม เชื่อว่ากรรมยุติธรรมเสมอ รู้ว่าพระพุทธเจ้ามีจริง และรู้ว่าอริยสาวกนั้นก็มีอยู่จริง รู้ว่าโลกียะมีและโลกุตระก็มี คือรู้ว่าเรายังมีกิเลสอยู่และรู้ว่าความสุขกว่าการมีกิเลสก็มีอยู่ รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงหรือการเกิดใหม่ทางวิญญาณมีจริง คือคนที่เลวก็สามารถกลับตัวเป็นคนดีได้ และเชื่อว่าผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่สอนธรรมะอย่างถูกตรงในโลกนี้ยังมีอยู่ รู้ว่าเป็นใครและรู้ด้วยว่าหากปฏิบัติตามท่านเหล่านั้นก็จะสามารถพ้นทุกข์ได้จริง

ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ

การจะนำตัวเราไปสู่ความเห็นความเข้าใจที่ถูกตรงนั้นมีเหตุปัจจัยอยู่ด้วยกันสองประการ นั่นคือ ๑.ปรโตโฆสะ ๒.โยนิโสมนสิการ

ปรโตโฆสะ

คือการตั้งใจรับฟัง เปิดใจฟังสิ่งที่แตกต่างจากที่ตนคิดโดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปปน ฟังอย่างลึกซึ้งให้เข้าใจว่าผู้สื่อสารนั้นกำลังตั้งใจสื่อสารอะไร ผู้ที่ไม่มีปรโตโฆสะก็มักจะฟังไปด้วยคิดแย้งไปด้วย เช่นพอผู้พูดกล่าวมาหนึ่งประโยค เขาก็จะมีความคิดเห็นแย้งต่อประโยคนั้นทันที คือไม่เชื่อ อันเกิดจากความไม่รู้ ยึดมั่นถือมั่น หรือลังเลสงสัย ถ้าค้านแย้งหนักๆก็จะกลายเป็นการเพ่งโทษฟังธรรม ฟังไปก็จับผิดไป คิดแย้งไป พูดไม่เหมือนที่ฉันเรียนมา พูดไม่เหมือนที่ฉันเข้าใจ มันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ปรโตโฆสะคือใช้ความไม่มีอัตตา ฟังด้วยอนัตตาคือไม่ถือตัวถือตน

กลายเป็นผู้ฟังที่ไม่ดีในที่สุด นอกจากจะฟังไม่รู้เรื่องแล้วยังทำให้เกิดวิบากกรรมอีกด้วย ผู้ฟังที่ดีมีหน้าที่แค่ฟัง ฟังอย่างตั้งใจ ไม่รีบคิดตีความใดๆ ก่อนเวลาอันควร ยอมให้ความรู้อื่นที่เราไม่เข้าใจ เข้ามาเพิ่มในความรู้เดิมของเราเสียก่อน ยินดีที่จะรับฟังเสียก่อนค่อยตัดสินใจ

โยนิโสมนสิการ

เมื่อเปิดใจรับฟังแล้ว เราก็จะนำข้อความ เรื่องเล่า ความรู้เหล่านั้นพิจารณาไปถึงแก่นสารสาระของธรรมที่สอดแทรกอยู่ในนั้นๆ หรือที่เรียกกันว่าการทำใจในใจให้แยบคาย คือเมื่อฟังแล้วก็มีการพิจารณาสิ่งเหล่านั้นตามไปด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าฟังเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ฟังจบแล้วก็ลืมไป แต่การมีโยนิโสมนสิการจะทำให้สามารถเข้าใจในสิ่งที่ฟังได้มากขึ้น สิ่งที่ฟังนั้นเข้าไปในใจ ไปในความรู้สึก ไม่ใช่แค่ในความคิด เมื่อพิจารณาลงสู่ใจจะได้ความรู้สึกอีกแบบหนึ่งจะ “เข้าใจ” ลึกซึ้งขึ้น

….เมื่อเรามีสองปัจจัยนี้แล้ว ไม่ว่าเราจะฟังหรือเรียนรู้เรื่องทางโลกหรือทางธรรม การฟังหรือเรียนรู้นั้นๆก็จะเกิดประสิทธิภาพที่สูงที่สุด จะฟังเรื่องทางโลกก็สามารถเข้าใจแก่นสารสาระของสิ่งนั้น จะฟังเรื่องทางธรรมก็สามารถเข้าใจธรรมนั้นๆได้โดยลำดับตามฐานของตน

ความเสื่อมของชาวพุทธ

การเพ่งโทษฟังธรรมนั้นเป็นหนึ่งในความเสื่อมของชาวพุทธ ความเสื่อมนี้เกิดในคนที่เสื่อม ไม่ใช่ศาสนาเสื่อม เพราะเขาเหล่านั้น ขาดการเยี่ยมเยียนครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ ถึงแม้จะไปเยี่ยมก็กลับละเลยการฟังธรรมสนใจเอาแต่กุศลน้อยๆเช่นทำทาน บริจาค กวาดลานวัด ฯลฯ พอไม่ได้ฟังธรรมก็เลยไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติในอธิศีล ไม่เรียนรู้เรื่องศีล ไม่รู้วิธีทำให้ตัวเองเจริญในศีลนั้น เพราะเมื่อไม่มีผู้รู้สอนก็ไม่สามารถรู้และปฏิบัติด้วยตนเองได้ พอไม่ศึกษาและปฏิบัติอธิศีลก็เริ่มจะไม่เข้าใจคุณค่าของศีล เริ่มเห็นช้างเป็นมด ไม่ให้ค่ากับคนผู้มีศีล มองเห็นทุกคนเทียบเท่ากันหมด ไม่ศรัทธาในครูบาอาจารย์ไม่ว่าจะแก่หรือเด็ก จะเห็นว่าเท่ากันหมด

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล ผู้มีศีลย่อมมีปัญญา” คนมีปัญญาจึงถือศีล คนไม่มีปัญญาก็ไม่ถือศีล คนมีปัญญาจึงเคารพในผู้มีศีล ส่วนคนไม่มีปัญญาจึงไม่สนใจผู้มีศีล ในชาดกตอนหนึ่งท่านว่า หากกลุ่มชนใดไม่สามารถแยกแยะคนดีกับคนชั่วได้ เห็นว่าคนมีศีลกับคนไม่มีศีลเสมอกัน ท่านให้พรากจากสังคมหรือกลุ่มชนนั้นเสีย จะเห็นได้ว่าท่านให้พรากจากคนผู้ไม่มีปัญญา

เมื่อไม่มีปัญญาแยกแยะคนผู้มีศีลกับคนทั่วไป สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนพาลในที่สุดเพราะไม่มีความเคารพในผู้ปฏิบัติดีทั้งผู้ปฏิบัติมาก่อนและปฏิบัติใหม่ เมื่อได้ฟังธรรมที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังก็มักจะมีจิตตำหนิติเตียน “เพ่งโทษฟังธรรม” หากธรรมที่แสดงอยู่นั้นเป็นธรรมที่พาลดกิเลสและพาพ้นทุกข์ ผู้เพ่งโทษฟังธรรมก็จะเดินย้อนไปอีกทางคือไปทางนรก

เมื่อไม่เชื่อตามธรรมที่ผู้ปฏิบัติดีสอนสั่ง คอยเพ่งโทษฟังธรรม ก็จะไม่เข้าใจธรรม แม้จะทำบุญทำทานก็จะกลายเป็นการแสวงบุญนอกขอบเขตพุทธศาสนา คือไปทำบุญตามประเพณีที่สังคมเข้าใจ แต่ไม่เกิดบุญกุศลตามหลักของศาสนาพุทธ และจะมีความเข้าใจในเรื่องบุญกุศลที่ผิดเพี้ยน

เมื่อเข้าใจการทำบุญที่ผิดไปจากพุทธก็จะเริ่มไปศรัทธาลัทธิที่อ้างว่าตนเองเป็นพุทธแต่ปฏิบัติไม่ถูกตามหลักพุทธ เช่นการเอาสวรรค์วิมานมาเป็นเครื่องล่อ การเอาลาภยศสรรเสริญมาเป็นเครื่องลวง การนำหลักปฏิบัติของศาสนาอื่นมาปนเช่น พราหมณ์ ฤาษี หรือลัทธิอื่นนอกพุทธ ไปเคารพบูชาเทพเจ้า เคารพบูชาคนผู้อวดอ้างเป็นเจ้าลัทธิ สุดท้ายจะเลิกนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็จะหลุดจากพุทธไปศาสนาอื่นเลย

นี่เองคือกระบวนการแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ เป็นชาวพุทธเองที่เสื่อมไปจากธรรมที่แท้ ไม่ใช่ธรรมนั้นเสื่อม แต่เป็นคนที่เสื่อมไปจากธรรม ธรรมะคือสิ่งที่มีอยู่เช่นนั้น เป็นอยู่แบบนั้นไม่มีวันเสื่อมสลาย หากแต่คนผู้มีความเสื่อมศรัทธาในการลดกิเลส จะค่อยๆพาตัวเองเสพกิเลสและเสื่อมจากธรรมไปเอง นี้เองคือเหตุแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ( ความเสื่อมของชาวพุทธ๗ )

– – – – – – – – – – – – – – –

11.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์