Tag: มาตรฐาน

ทางสายกลาง? : แน่ใจแล้วหรือว่าที่ยืนอยู่นั้นคือตรงกลาง

August 15, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,900 views 0

ทางสายกลาง? : แน่ใจแล้วหรือว่าที่ยืนอยู่นั้นคือตรงกลาง

คำว่า “ทางสายกลาง” เป็นคำที่คนมักจะยกกันขึ้นมาพูด เมื่อต้องการแสดงความเห็นต่อสิ่งที่ตนเองรู้สึกว่า ตึงหรือหย่อนเกินไป

ทางสายกลาง เป็นคำที่มักจะได้ยินกันโดยทั่วไป ตั้งแต่คนไม่นับถือศาสนาไปจนถึงคนเคร่งศาสนาเลยก็ว่าได้ เมื่อมีคนที่มีความเห็นแตกต่างกันยกคำว่า “ทางสายกลาง” ขึ้นมาพูด แล้วจริงๆ ทางสายกลางนี่มันคือตรงไหน? มันเป็นอย่างไร? ในเมื่อจุดยืนของแต่ละคนนั้นต่างกัน คนไม่นับถือศาสนาเขาก็พูดถึงทางสายกลาง คนเคร่งศาสนาก็พูดถึงทางสายกลาง แล้วมุมมองที่เขามองเห็นทางสายกลางนั้นจะเป็นทางเดียวกันจริงหรือ?

ถ้าเราพิจารณากันจริงๆ แล้ว ทางสายกลางนั้นคือวิถีปฏิบัติของพุทธ ไม่ใช่เพียงแค่มุมมอง แต่เป็นการใช้ชีวิตด้วย ไม่ใช่ว่าเราจะมองทุกอย่างเป็นกลางๆ ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป แล้วมันจะพ้นทุกข์ได้ เพราะบางทีมุมที่มองนั้น ก็มองออกมาจากมุมของตัวเอง มุมที่ตนเองพอใจ สบายใจ กลายเป็นทางสายกลางของฉัน ฉันก็กลางของฉัน ฉันก็พ้นทุกข์ของฉัน กลางของเราไม่เหมือนกัน แบบนี้มันก็เลยกลางเป็น “ทางสายกู” เป็นมาตรฐานกู เอาตามใจกู ซึ่งก็คือ “อัตตา” นั่นเอง

คนเราจะสร้างภาพให้ดูดี ยกธรรมะให้ดูขลังแค่ไหน สร้างบริวารมากมายเท่าไหร่ หรือมีคนเคารพศรัทธาสักเพียงใดก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเอา “ทางสายกู” มาเป็นมาตรฐานของพุทธได้ เพราะทางสายกูนี่มันรู้อยู่คนเดียว คนอื่นไม่รู้ด้วย ว่าตกลงหลุดพ้นจริงหรือไม่ หรือแค่ยกวาทกรรมที่ดูดีขึ้นมาอ้าง เพื่อให้ได้เสพสมใจโดยไม่มีคนกล้าติติง

ศาสนาพุทธนั้นมีมาตรฐานอยู่แล้วโดยลำดับ ตั้งแต่ ศีล ๕ ๘ ๑๐ จนถึงจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลและพระวินัยอีกกว่า ๒๒๗ และ ๓๑๑ ข้อ ที่เป็นส่วนของนักบวช ซึ่งจะรู้กันดีว่า ศีล ๑๐ นั้นสูงกว่าศีล ๘ และศีล ๘ นั้นสูงกว่าศีล ๕ ไปตามลำดับ

ผู้ที่เข้าถึงทางสายกลางอย่างแท้จริงในเบื้องต้น จะมีศีล ๕ เป็นปกติทั้งกาย วาจา ใจ พัฒนาขึ้นไปอีกเป็นมีศีล ๘ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องปฏิบัติ ไม่ต้องกดข่ม ไม่ต้องระวัง ไม่ต้องคอยตั้งสติ เพราะมันไม่มีเหตุคือกิเลสเกิดขึ้นมาให้ศีลขาด ความเป็นปกติของผู้มีศีลสมบูรณ์เป็นเช่นนี้ นี่คือทางสายกลางในระดับของศีล ๘

แต่แน่นอนว่าศีล ๘ ก็ยังไม่ใช่กลางที่สุดของศาสนาพุทธ แต่ก็มีส่วนที่กลางแล้ว ถูกต้องแล้ว พัฒนามาโดยลำดับ และศึกษาต่อไปจนมีศีลหรือทำสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ทุกข้อได้โดยไม่ทุกข์ ไม่ลำบาก ไม่ทรมานตน เพราะรู้ดีในตนว่า ศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสนี้ดีที่สุด รู้ว่าการปฏิบัติตามศีลนี้เป็นเหตุให้ถึงพร้อมด้วยความสุข โภคทรัพย์ วรรณะ และเป็นประตูสู่การเข้าถึงนิพพาน มาตรฐานทางสายกลางของพุทธจึงวัดในเบื้องต้น สังเกตได้ในเบื้องต้นด้วยศีล ถ้ามีศีลแล้วชีวิตมันทุกข์ มันลำบาก ยังไม่เห็นดีเห็นควรตามศีลนั้นๆ ยังมีข้อขัดแย้งที่เป็นไปในทางอกุศล แสดงว่ามันยังไม่กลาง มันยังจมกิเลสอยู่ ยังโดนกิเลสดึงไว้อยู่ ยังไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาถือศีลเพื่อศึกษาและปฏิบัติได้

นี่คือมาตรฐานที่รู้กัน เข้าใจกัน มองเห็นกันได้ ยอมรับกันได้ในพุทธบริษัทว่านี่แหละ คือมาตรฐานร่วมที่จะใช้บ่งบอกว่าสิ่งใดที่เป็นลักษณะของความเจริญ เป็นไปเพื่อกุศล ยับยั้งอกุศล ก็คงจะมีแต่ศีลนี่แหละที่พอจะเห็นเป็นภาพเดียวกันได้ เพราะสภาวะที่ลึกๆ หลังจากนั้นล้วนเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก อีกทั้งคนที่ต่ำกว่าจะไม่เข้าใจคนที่สูงกว่า ซึ่งบางคนก็ถือโอกาสมั่วนิ่ม โมเมว่าตนเป็นพระอริยะหรือเป็นพระอรหันต์ซะเลย จะได้ไม่มีใครกล้าตำหนิหรือกล้าแย้ง หรือในพวกคนที่หลงผิดด้วยใจซื่อๆ ว่าตนเองบรรลุธรรมก็มี พอไม่มีสิ่งที่จะมาตรวจสอบสภาวธรรมกันจริงๆ ก็เลยมีอรหันต์เก๊ พระอริเยอะกันเต็มบ้านเต็มเมือง

ศีลนี้เองจะทำให้เรารู้ว่าผู้ใดที่เจริญแล้ว อยากตรวจสอบง่ายๆ ก็ลองเอาศีล ๕ ไปปฏิบัติดู ถ้าไหวก็ ๘, ๑๐ ต่อไปจนถึงพระพุทธเจ้าตรัสอะไรก็ทำหมดนั่นแหละ ถ้าอยู่บนทางสายกลางจริง มันจะไม่มีทุกข์เลย มันจะมีปัญญาเห็นตามด้วยว่า “อ๋อ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ดีอย่างนี้นี่เอง ทำแล้วมันดีแบบนี้นี่เอง” จะมีความเห็นที่เป็นไปในทางเดียวกับที่พระพุทธเจ้าตรัสโดยไม่มีข้อสงสัยหรือข้อขัดแย้งใดๆ และถ้ามีความเห็นถูกตรงในการปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์จริงๆ มันจะไม่ตีกลับ ไม่เบือนหน้าหนีสิ่งดีงามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ จะพยายามปฏิบัติตนเองให้พัฒนาจนเข้าถึงธรรมนั้นๆ มันจะไม่หาช่องไว้เสพสุข ไม่หาจุดบอด ไม่เบี้ยวบาลี มีแต่จะทำไปเพื่อเป็นกุศลอย่างเดียว ถ้าจะปรับก็ปรับเพื่อกุศลมากกว่า อนุโลมในบางกรณีที่เกิดประโยชน์มากกว่าเท่านั้น

ผู้ที่อยู่ในทางสายกลางอย่างสมบูรณ์โดยไม่มีวันเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งก็มีแต่พระอรหันต์เท่านั้น ส่วนพระเสขะอื่นๆ ท่านก็เอียงไปในส่วนที่ท่านยังหลงอยู่ แต่ท่านเหล่านั้นก็รู้แล้วว่าตรงไหนที่เรียกว่า “ทางสายกลาง” ไม่ใช่เอา “ทางสายกู” ขึ้นมาอ้าง เหมือนกับคนที่หลงทางในทางธรรม…

14.8.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทำไมเธอไม่กินมังสวิรัติ?

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,753 views 0

ทำไมเธอไม่กินมังสวิรัติ?

ทำไมเธอไม่กินมังสวิรัติ?

…เป็นคำถามที่ยังสงสัย หรือเป็นเราเองที่กำลังหลงลืมอะไรไป?

หลายคนที่สามารถลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจได้ดี มักจะมีคำถามลึกๆอยู่ในใจว่า ลดเนื้อกินผักมันยากตรงไหน กินเนื้อสัตว์มันดีตรงไหน แล้วกินผักมันไม่ดีอย่างไร ในเมื่อมีข้อมูลมากมายมายืนยันว่ากินผักแล้วดี ทำไมเธอถึงยังไม่เลิกกินเนื้อสัตว์

ท่ามกลางความสงสัย เขาเหล่านั้นก็มักจะกระหน่ำโถมใส่ข้อมูลในด้านดีของมังสวิรัติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพความโหดร้ายของการฆ่าสัตว์ บทความที่ทำให้ตระหนัก ข้อมูลวิจัยและข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ทั้งในด้านสุขภาพและด้านจิตใจ ในสมัยนี้เราก็มักจะใช้ เฟสบุ๊ค เว็บบอร์ด เว็บไซต์ ฯลฯ เป็นเครื่องมือในการให้และกระจายข้อมูลกัน แต่ยิ่งทำก็ยิ่งไม่เข้าใจและกลับยิ่งสงสัย คนบางส่วนหันมากินมังสวิรัติก็จริง แต่ทำไมคนอีกมากมายกลับไม่สนใจ ไม่ใยดี แม้ว่าเราจะเสนอข้อมูลให้เขาเหล่านั้นได้เห็นผ่านช่องทางที่เรามีเท่าไหร่แต่เขาก็ยังไม่ยินดีที่จะมากินมังสวิรัติ

ทำไม? เพราะอะไร? หรือเขาไม่เมตตาเหมือนเรา ไม่อดทนเหมือนเรา ไม่มีศีลเหมือนเรา หรือเป็นเราเองที่กำลังหลงเข้าใจอะไรบางอย่างผิดไป….

1).หรือเป็นเราเองที่เข้าใจผิด

บางครั้งเมื่อเราทำอะไรได้ง่ายจนเกินไป เราก็มักจะมองข้ามรายละเอียดหลายๆอย่างไป หลงคิดว่าทุกคนต้องเข้าใจเหมือนเรา เห็นเหมือนเรา ทำได้เหมือนเรา เราเริ่มที่จะเอาตัวเองหรือกลุ่มของตนเป็นมาตรฐานในการวัดคน จึงเริ่มก่อเกิดอัตตาทั้งในตัวเราเองและอัตตาในกลุ่มของเรา

จนกระทั่งเราหลงเข้าใจไปว่าการกินมังสวิรัตินั้นเป็นปกติของชีวิตเป็นมาตรฐานที่สังคมของเราส่วนใหญ่ทำได้ เราก็จะยิ่งสงสัยมากขึ้นไปอีกเมื่อเห็นคนมีความสุขกับการกินเนื้อสัตว์ และแม้เราจะพยายามบอกหรือถ่ายทอดมากเท่าไหร่ก็ยังไม่มีผล ถึงจะมีผลก็เป็นผลที่กดดันเขา บีบคั้นเขา ใช้ความดีเข้าไปอัดกระแทกจนคนกินเนื้อสัตว์หวาดผวา

ในความจริงแล้วยุคสมัยนี้เราต้องยอมรับว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นเรื่องปกติ การลดเนื้อกินผักเป็นเรื่องไม่ปกติ คนปกติเขาไม่ทำกัน ไม่มีใครอยากพรากจากความอร่อยของเนื้อสัตว์ คนจำนวนมากแม้ได้เห็นภาพสัตว์ตาย ข้อความที่ร้องขอหรือกระตุ้นจิตสำนึก จนกระทั่งได้รับข้อมูลวิจัยมากมาย แต่ก็ไม่สามารถที่จะเลิกเนื้อสัตว์ได้

คนที่เลิกได้ก็เลิกได้ แต่คนที่เลิกไม่ได้ก็คือเลิกไม่ได้ และไม่คิดจะเลิกกินเนื้อสัตว์ หากเราเอาความดีความชั่วความเมตตามาวัด เราก็จะได้ผลที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริง เพราะแท้จริงแล้วไม่มีใครอยากทำชั่วหรืออยากเบียดเบียนคนอื่น แต่เพราะกิเลสอันคือความอยากเสพในตัวเขา กระตุ้นให้เขาอยากกิน ให้เขาแสวงหา ให้เขาหลงวนเวียนอยู่กับเนื้อสัตว์

2). ใจเขาใจเรา

เมื่อเรามีกิเลส การจะเลิกเบียดเบียนนั้นทำได้ยาก ถึงแม้จะแค่ในขั้นลดก็ยังทำได้ยากเช่นกัน ถ้าเราลองเข้าใจในเรื่องกิเลสให้มากอีกสักนิดก็จะไม่มีคำถามว่าทำไมคนอื่นไม่หันมากินมังสวิรัติ มากินผักลดเนื้อกัน เพราะเข้าใจในเรื่องกิเลสจึงจะสามารถปล่อยวางได้ ไม่ตั้งคำถาม ไม่กดดัน ไม่บีบคั้นใครๆ

หากเรามองว่าการกินมังสวิรัติเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเราแล้วมัวแต่มองไปยังคนที่กินเนื้อแล้วรู้สึกว่าตนเองนั้นทำได้ดีกว่า เก่งกว่า เมตตากว่า เบียดเบียนน้อยกว่า ความรู้สึกเหล่านี้จะก่อตัวเป็นอัตตาทำให้เราเป็นคนยึดดีและติดดีในที่สุด

ให้เราลองพิจารณาถึงคนที่มีศีลสูงกว่า เบียดเบียนน้อยกว่า ยกตัวอย่างเช่น พระที่ฉันอาหารมื้อเดียว ท่านก็เบียดเบียนโลกน้อยกว่าเราจริงไหม เพราะปกติเรากินตั้งสามมื้อเสียทั้งเงินเสียทั้งเวลาในการกิน แต่ท่านกินมื้อเดียวก็สามารถเอาเวลาที่ไม่ได้กินมื้ออื่นมาทำประโยชน์ได้มากขึ้น เหลืออาหารให้คนอื่นมากขึ้น เพราะไม่ได้เอาอาหารมาบำเรอตัวเองจนเกินความจำเป็น

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่ากินมื้อเดียวนี่ดีที่สุดในโลกนะ และการกินมื้อเดียวนี่มีประโยชน์มากนะ ทำให้เจ็บป่วยน้อย ลำบากกายน้อย เบากายเบาใจ มีกำลัง เป็นอยู่ผาสุก (กกจูปมสูตร) เห็นไหมมีแต่ประโยชน์ทั้งนั้นเลย ก็เหมือนกับการที่เราอยากให้คนอื่นหันมากินมังสวิรัตินั่นแหละ เราก็มองว่าเป็นสิ่งดี เป็นกุศล มีประโยชน์

ทีนี้เราลองมาดูบ้างถ้ามีคนยื่นสิ่งที่มีประโยชน์กว่าการกินสามมื้อ มาเสนอให้เรากินมื้อเดียวนี้ เราจะเอาไหม? เราจะเห็นดีกับเขาไหม? เราจะทำตามเขาไหม? ถึงสิ่งนั้นจะดีแต่มันก็ทำได้ไม่ง่ายเลยใช่ไหม?

ก็เหมือนกับที่เราไปอยากให้คนอื่นเขามากินมังสวิรัติเหมือนเรานั่นแหละ ถ้าเราเริ่มเห็นแล้วว่ากิเลสมันเป็นแบบนี้ มันทำงานแบบนี้ มันดื้อด้านแบบนี้ มันจะหาเหตุผลมากมายเพื่อไม่ให้เข้าถึงสิ่งที่ดี ถึงแม้ว่าจะมีสิ่งที่มีประโยชน์มาอยู่ตรงหน้ามันก็จะไม่เอาแบบนี้

เราก็จะเข้าใจคนที่ยังติดกับการกินเนื้อสัตว์อยู่ได้โดยไม่สงสัย เพราะเข้าใจว่าเรื่องกิเลสเป็นเรื่องยาก ฐานใครก็ฐานมัน เขาทำได้เท่านั้นมันถูกตามกิเลสของเขาอย่างนั้น เราทำได้ขนาดนี้เรายังไม่อยากพัฒนาไปมากกว่านี้เลย

3). เจียมตัว

เมื่อเราเข้าใจเรื่องกิเลสเราก็จะมีแนวโน้มที่อ่อนนุ่มลง ไม่ถือตัวถือตน ไม่อวดดิบอวดดี อ่อนน้อมถ่อมตน เป็นมังสวิรัติที่เจียมตัว ไม่กดดันใคร ไม่บีบคั้นใคร ไม่เสนอให้ใครขุ่นใจ มีการประมาณที่ดีให้เหมาะกับจิตใจของผู้ฟัง

การอ่อนน้อมถ่อมตนนี้เองคือคุณสมบัติของผู้เมตตา เป็นผู้มีธรรมะในตนเพราะไม่มีอัตตา ไม่ยกตนข่มท่านให้ใครมัวหมอง มีแต่จิตเมตตาให้ทั้งสัตว์และคนที่ยังมีกิเลส เข้าใจว่าสัตว์นั้นก็ต้องรับกรรมของเขา และเข้าใจว่าคนนั้นก็ต้องสู้กับกิเลสไปตามฐานที่เขามี จะให้เขาทำเกินกำลังที่เขามีมันจะไม่ไหว เขาจะทรมานจนกระทั่งไม่ทำเสียเลยยังจะดีกว่า

ความทรมานจากความยึดดีถือดีนี้เองคือ อัตตกิลมถะ หรือทางโต่งในด้านอัตตา ไม่เป็นไปในทางสายกลาง หากเราเองยังมีความยึดดีถือดีจนไปทำให้ใครลำบากใจอยู่นั้นก็ไม่สามารถเรียกว่าอยู่บนทางสายกลาง แม้ว่าเราจะสามารถออกจากความอยากกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว แต่ถ้ายังมีอัตตา ยึดว่าตนทำได้ทำไมคนอื่นทำไมได้ ทำไมเขาไม่เมตตา ทำไมเขาไม่เลิกเบียดเบียน มันก็ยังสร้างความทุกข์ทรมานให้กับตนเองและผู้อื่นอยู่ดีนั่นเอง

ดังนั้นนักมังสวิรัติที่เข้าใจในเรื่องมังสวิรัติจริงๆก็จะเป็นผู้ที่เข้าใจผู้อื่น เพราะเข้าใจว่ากิเลสเป็นแบบนี้ ก็จะเจียมตัวปฏิบัติตนเองในแนวทางลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจต่อไปโดยไม่สงสัยและไม่ไปยุ่งวุ่นวายในการปฏิบัติของคนอื่น

– – – – – – – – – – – – – – –

7.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

September 29, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,215 views 0

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

หลายครั้งที่เราคงจะเคยคิดสงสัยว่า การดำเนินชีวิตไปในแต่ละวันของเรานั้นได้เกิดสิ่งดีสิ่งชั่วอย่างไร แล้วอย่างไหนคือความดี อย่างไหนคือความชั่ว ดีแค่ไหนจึงเรียกว่าดี ชั่วแค่ไหนจึงเรียกว่าชั่ว

ความดีนั้นคือการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นและยังสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นได้ในเวลาเดียวกัน ส่วนความชั่วนั้นคือการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น สร้างสมความสุขลวง เพิ่มกิเลส สะสมกิเลสในตัวเองและยังเป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้อื่นได้เพิ่มกิเลส

เราสามารถยกตัวอย่างของคนดีที่มีคุณภาพที่สุดในโลกได้ นั่นก็คือพระพุทธเจ้า และรองลงมาก็คือพระอรหันต์ จนถึงอริยสาวกระดับอื่นๆ ซึ่งก็จะมีความดีลดหลั่นกันมามาตามลำดับ ในส่วนของคนชั่วนั้น คนที่ชั่วที่สุดก็คงเป็นพระเทวทัตที่สามารถคิดทำชั่วกับคนที่ดีที่สุดในโลกได้ รองลงมาที่พอจะเห็นตัวอย่างได้ก็จะเป็น คนชั่วในสังคมที่คอยเอารัดเอาเปรียบเอาผลประโยชน์ของตัวเอง มากกว่าผลประโยชน์ของส่วนรวม

แล้วเราเป็นคนดีหรือคนชั่ว?

การที่เราเข้าใจว่าดีที่สุด ชั่วที่สุดอยู่ตรงไหนเป็นการประมาณให้เห็นขอบเขต แต่ที่ยากกว่านั้นก็คือ “เราอยู่ตรงไหน” เรากำลังอยู่ในฝั่งดี หรือเราคิดไปเองว่าเราดี แต่แท้ที่จริงเรายังชั่วอยู่

ดีของแต่ละคนนั้นอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้าเราเป็นคนเข้าวัดทำบุญ เราก็จะบอกว่าลูกหลานที่เข้าวัดทำบุญนั้นเป็นคนดี แต่ถ้าเราเป็นหัวหน้าโจรที่เต็มไปด้วยกิเลส เราก็มักจะมองลูกน้องที่ขโมยของเก่งว่าดี มองว่าคนที่ขโมยของมาแบ่งกันคือคนดี เรียกได้ว่าคนเรามักจะมองว่าอะไรดีหรือไม่ดี จากการที่เขาได้ทำดีอย่างที่ใจของเราเห็นว่าดีนั่นเอง

การมองหรือการวัดค่าของความดีด้วยความคิดของผู้ที่มีกิเลสนั้น มักจะทำให้ความจริงถูกบิดเบือนไปตามความเห็นความเข้าใจที่ผิดของเขา เช่น บางคนเห็นว่าการเอาเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ ไปไหว้เจ้าว่าดี นั่นคือดีตามความเห็นความเข้าใจของเขา แต่อาจจะไม่ได้ดีจริงก็ได้

ดังนั้นการวัดค่าของความดีนั้นจึงต้องใช้ “ศีล” ซึ่งเป็นเครื่องมือเดียวที่พอจะอ้างอิงถึงความดีความชั่วได้ เพราะคนมีปัญญาย่อมมีศีล คนมีศีลย่อมมีปัญญา ศีลนั้นเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เราไปทำชั่วทำบาปกับใคร ดังนั้นคนที่เห็นว่าการไม่ทำความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นเป็นสิ่งดี เขาเหล่านั้นย่อมเห็นประโยชน์ของการถือศีล

หากเราจะหามาตรฐานของคำว่าดีนั้น ก็คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะความพอใจในศีลนั้นแตกต่างกัน บางคนบอกว่าทุกวันนี้ตนไม่ถือศีลก็มีความสุข เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนยินดีถือศีล ๕ ก็เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนบอกอย่างน้อยต้องถือศีล ๑๐ จึงจะเรียกว่าดี ด้วยความยินดีในศีลต่างกัน ปัญญาจึงต่างกัน ผลดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน ดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน

ถ้าเราอยู่ในหมู่คนที่เที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เขาก็มักจะบอกว่า การหาเลี้ยงชีวิตตนเองได้เป็นสิ่งดีแล้ว เขาสามารถหาเงินมากินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวเตร่ได้โดยไม่ต้องเดือดร้อนพ่อแม่หรือครอบครัว เขาก็เห็นว่าเป็นสิ่งดีแล้ว

ในมุมของคนที่เลิกเที่ยวและเสพสุขจากอบายมุข ก็มักจะมองว่า การได้ทำบุญทำทาน ถือศีล ๕ เป็นสิ่งดี การได้เกิดมานับถือศาสนาเป็นสิ่งดี แต่การเที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เป็นการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ทำให้ตัวเองต้องลำบากกาย เสียเงิน เสียเวลา และทำให้คนที่บ้านเป็นห่วง ทุกข์ใจ ไม่สบายใจ

ดังนั้นจะหามาตรฐานของความดีนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่หากจะถามว่าสิ่งใดเป็นฐานต่ำสุดของความไม่เบียดเบียนก็จะสามารถตอบได้ว่าฐานศีล ๕ และจะลดการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นลงมาเรื่อยๆ เมื่อปฏิบัติศีลที่สูงยิ่งๆขึ้นไป

คนที่เฝ้าหาและรักษามาตรฐานความดีให้เข้ากับสังคม เสพสุขไปกับสังคม จะต้องพบกับความเสื่อมลงเรื่อยๆ เพราะโลกมักถูกมอมเมาด้วยกิเลส เราผ่านมาถึงกึ่งพุทธกาล และกำลังจะดำเนินไปสู่กลียุค มาตรฐานของความดีก็จะค่อยๆ ลดระดับลงมาตามความชั่วของคน

จะเห็นความเสื่อมนี้ได้จากพระในบางนิกาย บางลัทธิ มักเสื่อมจากธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เสื่อมจากบทบัญญัติที่ได้กำหนดไว้เพื่อการละหน่ายคลายกิเลส เช่น ท่านให้ฉันวันละมื้อ แต่พระบางพวกก็สู้กิเลสไม่ไหว เมื่อมีคนมีกิเลสมากๆรวมตัวกันก็เลยกลายเป็นคนหมู่มาก กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ ว่าแล้วก็กลายเป็นพระฉันวันละสองมื้อ หรือบางวัดก็แอบกินกันสามมื้อเลยก็มี

ดังนั้นการจะเกาะไปกับค่ามาตรฐาน ก็คือการกอดคอกันลงนรก เพราะคนส่วนมาก ยากนักที่จะฝืนต่อต้านกับพลังของกิเลส มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถต่อกรกับกิเลสได้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้เปรียบไว้เหมือนกับ “จำนวนเขาโค เมื่อเทียบกับเส้นขนโคทั้งตัว” การที่เราทำอย่างสอดคล้องไปกับสังคม ไม่ได้หมายความว่ามันจะดี หากสังคมชั่ว เราก็ต้องไปชั่วกับเขา แม้เขาจะบอกหรือหลอกเราว่าสิ่งชั่วนั้นมันดี แต่บาปนั้นเป็นของเรา ทุกข์เป็นของเรา เรารับกรรมนั้นคนเดียว ไม่ได้แบ่งกันรับ เราชั่วตามเขาแต่เรารับกรรมชั่วของเราคนเดียวไม่เกี่ยวกับใคร ดีก็เช่นกัน เราทำดีของเราก็ไม่เกี่ยวกับใคร

ดังเช่นการดื่มเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มมอมเมาทั้งหลาย เรารู้ดีว่าผิดศีลข้อ ๕ อย่างแน่นอนเพราะนอกจากจะทำให้หลงมัวเมาไปกินแล้วยังทำให้มัวเมาไร้สติตามไปด้วย แต่ด้วยโฆษณาทุกวันนี้จากสื่อหลายช่องทาง โดยเฉพาะจากคนรอบข้างที่ว่าเหล้าดีอย่างนั้น เหล้าดีอย่างนี้ กินเหล้าแล้วทำให้มีความสุข เพลิดเพลิน ไปกับบรรยากาศเสียงเพลงและสุรา เราถูกมอมเมาและทำให้เสื่อมจากศีลด้วยคำโฆษณา คำอวดอ้าง คำล่อลวงทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้หลงว่าสิ่งนั้นดี เสพสิ่งนั้นแล้วจะสุข ใครๆเขาก็เสพกัน นิดๆหน่อยๆไม่เป็นไรหรอก นี่คือลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยกิเลสของสังคมและคนรอบข้าง รวมทั้งกิเลสของตนเองด้วย

หรือเครื่องดื่มที่ไม่ได้ทำให้ร่างกายมัวเมา แต่มีกระบวนการทำให้จิตใจมัวเมาเช่น ชาหลายๆยี่ห้อ มักจะใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเข้ามาเร่งให้คนเกิดกิเลส จากคนปกติที่ไม่เคยอยากกินชายี่ห้อนั้น ก็สามารถทำให้กิเลสของเขาเพิ่มจนอยากกินได้ โดยการกระตุ้นล่อลวงไปด้วยลาภ เช่น แจกวัตถุสิ่งของที่เป็นที่นิยม ที่คนอยากได้อยากมีกัน เพื่อมอมเมาให้คนหลงในการเสี่ยง การพนันเอาลาภ ก็เป็นการเพิ่มกิเลสให้กับคนหมู่มาก การเพิ่มกิเลสหรือการสะสมกิเลสนั้นเป็นบาป ผู้กระตุ้นให้เกิดกิเลสนั้นย่อมเป็นเหตุแห่งบาป เป็นความชั่ว ทำให้คนเสื่อมจากความปกติที่เคยมี กลายเป็นแสวงหาลาภในทางไม่ชอบ เป็นลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยการตลาด และผู้ประกอบการที่ละโมบ

เมื่อการชักจูงด้วยลาภเริ่มที่จะไม่สามารถกระตุ้นกิเลสของคนได้ ก็จะเริ่มกระตุ้นกิเลสทางอื่นเช่น กระตุ้นกาม หรือกามคุณ เช่น กระตุ้นรูป ดังเช่นชาหลายยี่ห้อที่บอกกับเราว่า กินแล้วสวย กินแล้วหุ่นดี กินแล้วไม่อ้วน เหล่าคนผู้มีกิเลสหลงในรูปหลงในร่างกายหรือความงามก็จะถูกดึงให้ไปเป็นลูกค้าได้โดยง่าย ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นกับชีวิตเลย ไม่ได้สร้างให้เกิดความสุขแท้เลย แต่เรากลับหลงมัวเมาไปตามที่เขายั่วกิเลสของเรา แล้วเรากลับหลงว่ามันดี หลงว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ดี แต่จริงๆแล้วมั่นชั่ว มันพาเพิ่มกิเลส มันไม่ได้พาลดกิเลส เมื่อสังคมสิ่งแวดล้อมพาเพิ่มกิเลสแล้วเราคล้อยตามไป มันก็ชั่ว ก็บาป ก็นรกไปด้วยกันนั่นแหละ

กิเลสนั้นมีต้นกำเนิดเดียวกัน หากเราเพิ่มกิเลสให้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง กิเลสเรื่องอื่นๆก็มักจะเพิ่มตามไปด้วย ดังนั้นการเพิ่ม กระตุ้น หรือสะสมกิเลสไม่ว่าจะเรื่องใด ก็เป็นทางชั่วทั้งสิ้น

ไม่ทำบาปแล้วทำไมต้องทำบุญ

หลายคนมักพอใจในชีวิตของตน ที่หลงคิดไปว่าตนนั้นไม่ทำบาป หลงเข้าใจไปว่าไม่ชั่ว แล้วทำไมต้องทำบุญ แค่ไม่ชั่วก็ดีอยู่แล้วนี่…

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความคิด คำพูด การกระทำของเราไม่เป็นบาป… ในเมื่อเราไม่รู้ ไม่มีตัววัด ไม่มีใครมาบอก เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราไม่ชั่ว เราไม่บาป การที่เราคิดเอาเองว่าเราไม่บาปนั้นจะถูกต้องได้อย่างไร

มีคนหลายคนบอกว่าฉันไม่ชั่ว แม้ฉันจะเลิกงานไปกินเหล้าฟังเพลง ฉันก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร แต่พอบอกไปว่าเบียดเบียนตัวเองนะ…. ก็มักจะต้องจำนน ถึงแม้ว่าจะพยายามเถียงว่าเบียดเบียนตัวเองก็เป็นเรื่องของเขา ก็จะโดนความชั่วอีกข้อ ก็คือมีอัตตา ยึดตัวเราเป็นของเรา สรุปว่าเพียงแค่คิดเข้าข้างตัวเองยังไงก็หนีไม่พ้นบาปไม่พ้นความชั่ว

คนเราเวลาชั่วมากๆก็มักจะมองไม่เห็นดี ไม่เข้าใจว่าดีเป็นเช่นไร เพราะโดนความชั่ว โดนบาป โดนวิบากบาปบังไม่ให้เห็นถึงความชั่วนั้น จึงหลงมัวเมาในการทำชั่ว แล้วเห็นว่าเป็นสิ่งดี หรือที่เรียกว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

แม้ว่าในชีวิตนี้เราเกิดมาจะไม่ทำชั่วเลย เป็นฤาษีนั่งอยู่ในเรือน มีคนเอาของกินมาถวาย แต่นั่งสมาธิอยู่อย่างนั้นทั้งชีวิต ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร นั่นก็คือชั่วอยู่ดี เพราะตนเองไม่ได้หาเลี้ยงชีพ ทั้งยังกินบุญเก่า คือให้เขาเอาของมาให้ เรียกได้ว่าเกิดชาติหนึ่งไม่ทำชั่วเลย แต่ก็กินบุญเก่าไปเรื่อยๆ

เหมือนคนที่มีเงินฝากในธนาคาร ไม่ได้ฝากเงินเพิ่ม แต่ก็ถอนเงินและดอกเบี้ยมากินใช้เรื่อยๆ ใช้ชีวิตแบบนี้หมดไปชาติหนึ่ง กินบุญเก่าไปเปล่าชาติหนึ่ง เกิดมาเป็นโมฆะไปชาติหนึ่ง เกิดมาทำตัวไร้ค่าไปชาติหนึ่งแล้วก็ตายไป เป็นต้นไม้ต้นหนึ่งยังดีกว่าเป็นคนที่เกิดมาไม่ทำประโยชน์กับใคร ต้นไม้มันดูดน้ำดูดธาตุอาหารในดินมายังสร้างเป็นดอกผลให้สัตว์อื่นได้กิน

และการจะดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนนั้น ต้องหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ชั่วนั้นต้องหยุดทำก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงทำดีเติมเข้าไป ให้กุศลได้ผลักดันไปสู่การทำจิตใจให้ผ่องใส ผ่องใสจากความมัวเมาของกิเลส ปราศจากความอยากได้อยากมี ซึ่งการจะทำจิตใจให้ผ่องใสได้นั้น จำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้รู้ธรรมมาสอน จะนึกคิดเอาเองไม่ได้ และการจะได้เจอครูบาอาจารย์นั้น ต้องทำดี ทำกุศลที่มากเพียงพอ ที่ความดีนั้นจะผลักดันเราไปพบกับครูบาอาจารย์ผู้มีบุญบารมีนั้นได้ และการจะเติมบุญกุศลให้เต็มจนเป็นฐานในการขยับสู่การทำจิตใจให้ผ่องใสนั้น ต้องอุดรูรั่วที่เรียกว่าความชั่วเสียก่อน หากทำดีไม่หยุดชั่ว ก็เหมือนเติมน้ำในโอ่งที่รั่ว เติมไปก็หาย ทำดีไปก็แค่ไปละลายชั่วที่เคยทำ แล้วชั่วที่เคยทำก็จะมาฉุดดีที่พยายามทำอีก ดังนั้น การจะทำให้ชีวิตมีความสุขอย่างยั่งยืน คือการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ซึ่งเป็นการกระทำที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แยกจากกัน

คนติดดี

คนทั่วไปมักจะมองว่าคนดีนั้นอยู่ในสังคมยาก เพราะอาจจะติดภาพของคนติดดีมา คนที่ติดดี ยึดดี ต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข จะไม่สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขนัก เพราะสังคมทุกวันนี้มักไม่มีความดีให้เสพ มีแต่ความวุ่นวาย แก่งแย่งชิงดี ชิงเด่น หลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ คนติดดีเมื่ออยู่ในสังคมที่มีแต่ความชั่วเช่นนี้ก็มักจะหงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ทำให้เกิดอาการหม่นหมอง เป็นทุกข์ เพราะไม่ได้เสพดีดังที่ตนเองหวัง

ความติดดีนั้นมีรากมาจากอัตตา คือความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจะเรียกคนติดดีว่าคนดีนั้น ก็พอจะเข้าใจได้ในสังคม แต่จะให้เรียกว่าคนดีแท้นั้นก็คงจะไม่ใช่ เพราะคนที่ติดดีนั้น พึ่งจะเดินมาได้เพียงครึ่งทาง เขาเพียงละชั่ว ทำดีมาได้บ้าง แต่ยังไม่สามารถทำจิตใจตนเองให้ผ่องใสจากความยึดมั่นถือมั่นได้ จึงเกิดเป็นทุกข์

การเป็นคนดีนั้นไม่ได้หมายความว่า เราจะได้รับแต่สิ่งที่ดี เราจะได้สิ่งดีก็ได้ จะได้รับสิ่งไม่ดีก็ได้ แต่เราจะต้องรับรู้ให้ได้ว่า สิ่งดีที่เราได้รับเกิดจากการที่เราทำดีมา และสิ่งไม่ดีที่เราได้รับ เกิดจากชั่วที่เราเคยทำมาก่อน ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ทำดี หรือจากภพก่อนชาติก่อน กรรมเก่าก่อนก็ตามมันไม่จำเป็นว่าทำดีแล้วต้องเกิดดีให้เห็นเสมอไป เพราะเรื่องกรรมเป็นเรื่องอจินไตย(เรื่องที่ไม่ควรคิดคาดคะเน เดา หรือคำนวณผล) เราทำดีอย่างหนึ่งเราอาจจะได้ดีอีกอย่างหนึ่งก็ได้ หรือดีนั้นอาจจะสมไปชาติหน้าภพหน้าก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ตอนเด็กๆเราได้ของขวัญจากผู้ใหญ่ ทั้งๆที่เราไม่เคยทำดีให้ผู้ใหญ่หรือใครๆขนาดนั้นเลย นั่นก็เป็นผลแห่งกรรมที่เราเคยทำมา ถ้าสงสัยก็อาจจะลองเปรียบเทียบกับเด็กที่เขาจนๆเกิดมาไม่มีจะกินก็ได้ ไม่ใช่ทุกคนหรอกนะ ที่จะได้จะมีในสิ่งของหรือความรัก เพราะถ้าหากเขาไม่เคยได้ทำกรรมดีเหล่านั้นมา เขาก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับกรรมดีนั้นเหมือนอย่างคนอื่นที่เขาทำมา

ซึ่งเหล่าคนติดดีมักจะหลงเข้าใจว่าทำดีแล้วต้องได้ดี เมื่อคนติดดีได้รับสิ่งร้ายก็มักจะไม่เข้าใจ สับสน สงสัยในความดีที่ตนทำมา เมื่อไม่ได้รับคำตอบที่ดีพอให้คลายสงสัยในเรื่องของกรรม ก็มักจะเสื่อมศรัทธาในความดี กลับไปชั่วช้าต่ำทราม เพราะความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนในเรื่องกฎแห่งกรรม ซ้ำยังทำดีด้วยความหวังผล เมื่อไม่ได้ดีดังหวัง ก็มักจะผิดหวัง ท้อใจ และเลิกทำดีนั้นไปนั่นเอง

ยังมีคนติดดีอีกมากที่หลงในความดีของตัวเอง ซึ่งก็มักจะเป็นเรื่องปกติ เมื่อเราสามารถลด ละ เลิก สิ่งที่เป็นภัย มาหาสิ่งที่ดีได้แล้ว เมื่อมองกลับไปยังสิ่งชั่วที่ตนเคยทำมาก็มักจะนึกรังเกียจ เพราะการจะออกจากความชั่ว ต้องใช้ความยึดดี ติดดีในการสลัดชั่วออกมา เมื่อสลัดชั่วออกจากใจได้แล้วก็ยังเหลืออาการติดดีอยู่ ซึ่งทำให้เกิดอาการถือดี หลงว่าตนดี ยกตนข่มท่าน เอาความดีของตนนั้นไปข่มคนที่ยังทำชั่วอยู่ เพราะลึกๆในใจนั้นยังมีความเกลียดชั่วอยู่และไม่อยากให้คนอื่นทำชั่วนั้นต่อไป

การจะล้างความติดดีนั้น จำเป็นต้องใช้ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาให้มาก ให้เห็นว่าคนที่ยังชั่วอยู่นั้น เราก็เคยชั่วมาก่อนเหมือนกันกับเขา กว่าเราจะออกจากชั่วได้ก็ใช้เวลาอยู่นาน และก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะใช้วิธีเดียวกับเราออกจากชั่วนั้นได้ เพราะคนเรามีการผูกการยึดกิเลสมาในลีลาที่ต่างกัน เหมือนกับว่าแต่ละคนก็มีเงื่อนกิเลสในแบบของตัวเองที่ต้องแก้เอง ดังนั้นการที่เราจะออกจากความติดดีก็ไม่ควรจะไปยุ่งเรื่องกิเลสของคนอื่นให้มาก แต่ให้อยู่กับกิเลสของตัวเองว่าทำไมฉันจึงไปยุ่งวุ่นวาย ไปจุ้นจ้านกับเขา ทำไมต้องกดดันบีบคั้นเขา ถึงเขาเหล่านั้นจะทำชั่วไปตลอดชาติก็เป็นกรรมของเขา เราได้บอกวิธีออกจากชั่วของเราไป แล้วเราก็ไม่หวังผล บอกแล้วก็วาง ทำดีแล้วก็วาง ผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับตัวเขา จะเกิดดีเราก็ยินดี จะไม่เกิดดีเราก็ไม่ทุกข์

และคนที่ดีที่หลงมัวเมาในความดี หรือติดสรรเสริญ โลกธรรม อันนี้เรียกว่าชั่ว เป็นดีที่สอดไส้ไว้ด้วยความชั่ว มีรากจริงๆมาจากความชั่ว ความดีที่เกิดถูกสร้างมาจากความชั่วในจิตใจ จะเห็นได้จากคนทำบุญทำทานเพื่อหวังชื่อเสียง ทำดีหวังให้คนนับหน้าถือตา ทำดีหวังให้คนเคารพ แบบนี้ไม่ดี ยังมีความชั่วอยู่มาก ไม่อยู่ในหมวดของคนที่ติดดี

การเป็นคนดีนั้นไม่จำเป็นว่าคนอื่นเขาจะมองเราว่าเป็นคนดีเสมอไป ขนาดว่าพระพุทธเจ้าดีที่สุดในจักรวาล ก็ยังมีคนที่ไม่ศรัทธาในตัวท่านอยู่เหมือนกัน แล้วเราเป็นใครกัน เราดีได้เพียงเล็กน้อยจะไปหวังว่าจะมีคนมาเชิดชูศรัทธาเรา เราหวังมากไปรึเปล่า… โลกธรรม สรรเสริญ นินทา มันก็ยังจะต้องมีตราบโลกแตกนั่นแหละ ไม่ว่าจะคนดีหรือคนชั่วก็ต้องมีคนสรรเสริญ นินทา ดังนั้นเราอย่าไปทำดีเพื่อมุ่งหวังให้ใครเห็นว่าเราดี จงทำดีเพื่อให้เราดี ให้เกิดสิ่งที่ดีในตัวเรา เท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

29.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์