Tag: มรรคผล

ไตรลักษณ์กับสมถะและวิปัสสนา

March 31, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,952 views 0

ไตรลักษณ์กับสมถะและวิปัสสนา

ดาวน์โหลดภาพขนาดเต็ม | Download full size image

ไตรลักษณ์กับสมถะและวิปัสสนา

ความแตกต่างของการใช้ไตรลักษณ์ระหว่างการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา

หากจะจำแนกวิธีปฏิบัติธรรมในปัจจุบันคงจะมีมากมายหลากหลาย มีชื่อ นิยาม และความหมายไปตามทิฏฐิที่แตกต่างกัน ซึ่งโดยหลักแล้วไตรลักษณ์ หรือลักษณะสามัญ 3 อย่าง คือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตนนี้เอง คือสิ่งที่หลายคนใช้ในการพิจารณาธรรม

แต่ในความจริงแล้ว การใช้ไตรลักษณ์เข้ามาพิจารณาธรรมนั้นก็มีวิธีการที่หลากหลายแตกต่างกันไป เหมือนกับมีเครื่องมืออยู่หนึ่งชิ้น สามารถนำไปทำอะไรได้หลายอย่าง มีวิธีการใช้และผลจากการใช้เครื่องมือนั้นที่เรียกกันว่า  “มรรค-ผล

การปฏิบัติโดยใช้สมถะก็มีมรรคผลแบบสมถะ การปฏิบัติโดยใช้วิปัสสนาก็มีมรรคผลแบบวิปัสสนา ถ้าโดยภาษาจะดูเหมือนมีมรรคผลเหมือนกัน แต่ในรายละเอียดนั้นจะแตกต่างกัน เมื่อมรรคต่างกัน ผลที่ได้ก็ย่อมต่างกันไปด้วย แล้วสิ่งไหนที่จะเป็นทางเดินที่ถูก ทางที่พาพ้นทุกข์(สัมมาอริยมรรค) ที่จะนำไปสู่ผลคือสภาพหลุดพ้นจากกิเลส (วิมุตติ)

สมถะกับไตรลักษณ์

สมถะในรูปแบบทั่วไปนั้น จะใช้การกำหนดจิต กดจิต ดับความคิด หรืออุบายต่างๆเข้ามาเพื่อควบคุมใจ แต่ก็ยังมีสมถะที่ใช้ตรรกะเข้ามาช่วยกดข่ม ในแบบชาวบ้านทั่วไปเช่น เราเป็นคนดี, เราจะไม่โกรธ, เราจะไม่กลัว และในรูปแบบที่ใช้ธรรมะเข้ามาก็เช่นการใช้ไตรลักษณ์นี่เอง

การใช้ไตรลักษณ์เข้ามาช่วยกดจิตให้นิ่งเมื่อเจอกับผัสสะที่ทำให้เกิดเวทนา เมื่ออาการผิดปกติเหล่านั้นเกิดขึ้นในจิต ก็จะใช้ “ธรรมะ” เข้ามาเป็นเหตุผล หรือนำสัจจะเข้ามาตบความฟุ้งซ่านนั้นๆทิ้ง เช่นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่พอใจก็จะใช้การท่อง ระลึกถึง พิจารณาไตรลักษณ์ ความโกรธนั้นไม่เที่ยง ความโกรธนั้นเป็นทุกข์ ที่เรามีความโกรธเพราะเรามีตัวตน ฯลฯ

ลักษณะเหล่านี้คือปัญญาสมถะ จะดูคล้ายกับการวิปัสสนามากจนหลายคนเข้าใจผิดว่าวิธีนี้คือการวิปัสสนา ทั้งๆที่กระบวนการเหล่านี้เป็นรูปแบบของสมถะเท่านั้น เป็นเพียงการกดข่มจิตไม่ให้ไหวไปตามผัสสะที่เข้ามา จะเกิดสภาพสงบจากกิเลสที่โดนกดได้

เป็นมรรคผล แบบสมถะที่เกิดความสงบได้จริง กิเลสสงบจริง สุขจริง ผ่อนคลายจริง แต่ก็ไม่ใช่ผลที่ยั่งยืน แม้จะกดได้ข้ามภพข้ามชาติแต่วันใดวันหนึ่งก็ต้องระเบิดออกมาอยู่ดี เพราะปัญหาไม่ได้ถูกแก้ เหตุแห่งทุกข์ไม่ได้ทำให้รู้แจ้ง เพียงแค่ใช้ปัญญากดข่มอาการใดๆอันไม่น่าอภิรมย์ของจิตไปเท่านั้น

รูปแบบของสมถะจะซ้ำๆเดิมๆ เจอโจทย์ไหนก็ใช้วิธีเดิม ทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ใช้ตรรกะ ธรรมะ เหตุผล คิดบวก ใช้ปัญญากดข่มอยู่แบบนี้เป็นมรรค และผลที่ได้จะเป็นเวทนา แบบเคหสิตอุเบกขา คือความวางเฉยแบบชาวบ้าน หรือความเบื่อแบบคนทั่วไป แบบโลกๆ แบบสามัญ ไม่ใช่ในแนวทางพ้นทุกข์ของพุทธศาสนา แต่เป็นแบบฤๅษีหรือเกิดความสงบอย่างผู้ปฏิบัติสมาธิทั่วไป

วิปัสสนากับไตรลักษณ์

กระบวนการของวิปัสสนานั้นจะต่างไปจากสมถะอย่างชัดเจน เพราะเป็นการ “คิด” (สัมมาสังกัปปะ) โดยมีพื้นฐานของความเห็นความเข้าใจที่ถูกตรงที่ยังมีกิเลสปนเปื้อนอยู่ (สัมมาทิฏฐิที่ยังมีสาสวะ)

วิปัสสนานั้นเป็นอุบายทางปัญญาที่จะเข้ามาใช้บริหารจิตเพื่อกำจัดกิเลสโดยเฉพาะ เมื่อเจอกับอาการของกิเลสที่สะท้อนผ่านความสุขหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้น จึงใช้อาการเหล่านั้นเป็นเบาะแสที่จะขุดค้นลงไปหาต้นสายปลายเหตุแห่งทุกข์หรือรากของกิเลสนั้นๆ (สมุทัย)

เมื่อเจอกับต้นตอของปัญหา จึงใช้การคิดพิจารณาธรรมะต่างๆ เช่น การใช้เรื่องกรรม, ผลของกรรม, ประโยชน์, โทษ และการใช้ไตรลักษณ์นี้เองก็เป็นสุดยอดเครื่องมือในการพิจารณาเพื่อทำลายกิเลสเช่นกัน

เมื่อเราเจอกับตัวกิเลสจริงๆ มันจะไม่มองความจริงตามความเป็นจริง มันจะไม่คิดไปตามความถูกต้อง ยังเป็นมิจฉาสังกัปปะอยู่ คือคิดอย่างไรมันก็ตามใจกิเลสไปเรื่อยๆ แต่เมื่อเรามาวิปัสสนา เราก็จะเริ่มให้ปัญญากับตัวเอง ซึ่งมันจะไม่ง่ายและไม่ดับลงในทันที

เราจะใช้ธรรมะต่างๆเข้ามาพิจารณาที่เหตุ เช่น เมื่อเราโกรธ เราก็จะหาเหตุแห่งความโกรธ ว่าเรานั้นหวังเสพสิ่งใด ไม่ถูกใจสิ่งใด ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด แล้วขุดค้นลงไปจนเจอตัวเหตุจริงๆ จึงใช้ธรรมะเข้าไปเจรจากับกิเลส

แต่จิตที่เต็มไปด้วยกิเลสมันจะไม่ยอม มันจะเห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง มันจะเห็นทุกข์เป็นสุข มันจะเห็นอนัตตาเป็นอัตตา เช่นเราชอบกินขนม เราก็จะบอกว่ามันสุข มันอร่อย เราชอบกินมัน ซึ่งเราจะเห็นแบบถูกตรง(สัมมาทิฏฐิ)ไม่ได้ และคิดแบบถูกตรง(สัมมาสังกัปปะ)ไม่ได้ กิเลสมันจะค้าน กินยังไงมันก็จะยังอร่อยและเป็นสุขอยู่ดี เราจึงต้องใช้ปัญญาเข้ามาสู้ หาธรรม หาสัจจะ พิจารณาความจริง ทุกข์โทษภัยที่เกิดขึ้นจริงๆจากการเสพการติดสิ่งนั้น ประโยชน์เมื่อออกจากสิ่งที่ยึดติดนั้นผลกรรมที่จะต้องรับหากยังยึดติดสิ่งนั้น และสภาพจริงคือไตรลักษณ์นั้นหมายถึง ความสุขที่จะได้รับนั้นไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยงก็เป็นทุกข์ เพราะเรายึดมั่นถือมั่นความอยากกินขนมไว้เป็นตัวตน

ซึ่งจะยากตรงที่ต้องเปลี่ยนผี(กิเลส) ให้เป็นคนด้วยตัวเองนี่เอง ตรงนี้จะให้ใครทำแทนไม่ได้ ต้องเพียรพิจารณาจนกระทั่งเกิดปัญญาเอง รู้เองเห็นเอง ปริยัติ ปฏิบัติ จนเกิดปฏิเวธ กลายเป็นธรรมะในตน มีปัญญารู้แจ้งกิเลสในตน เป็นปัจจัตตังจริงๆ

การวิปัสสนาจะเห็นผลไม่ง่ายนัก ไม่ได้ทำเพื่อบรรลุธรรมในทันที แต่ทำไปเพื่อให้รู้เห็นความเป็นจริงตามความเป็นจริงไปโดยลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ซึ่งมีวิมุตติเป็นเป้าหมาย

ความต่างของสมถะและวิปัสสนากับไตรลักษณ์

สมถะนั้นจะใช้ไตรลักษณ์เพื่อทำความดับให้เกิดขึ้น ดับความคิด ดับจิตที่ฟุ้งซ่าน เรียกง่ายๆว่าดับทุกข์ที่เกิดนั่นเอง แต่วิปัสสนาจะใช้ไตรลักษณ์เพื่อทำให้เกิดปัญญา แต่ในส่วนของความดับกิเลสนั้นเป็นผลที่เกิดจากปัญญานั้นได้รู้แจ้งไปตามลำดับ

จะเห็นได้ว่าเครื่องมือเดียวกันแต่การใช้งานนั้นต่างกัน เราสามารถใช้ได้ทั้งวิธีสมถะและวิปัสสนา ซึ่งแล้วแต่เหตุปัจจัย เรื่องไหนควรดับในทันทีก็ควรจะใช้สมถะ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็ควรจะวิปัสสนาเป็นหลักแล้วใช้สมถะเป็นตัวเสริม เพราะสมถะเองนั้นมีไว้พักจิตเท่านั้น ไม่ใช่ตัวบรรลุธรรม ไม่ใช่วิธีที่จะทำให้เกิดปัญญา

การประมาณการใช้สมถะวิปัสสนานั้นขึ้นอยู่กับอินทรีย์พละของแต่ละคนซึ่งมีสะสมมาต่างกัน บางคนไม่ต้องทำสมถะเลยก็สามารถผ่านโจทย์ต่างๆได้โดยง่าย แต่บางคนแม้จะทำสมถะก็แล้วแต่ก็ยังแพ้ให้กิเลสอยู่เรื่อยไป ดังนั้นอย่าพยายามอ้างอิงสูตรหรือวิธีการปฏิบัติของใครเพราะเรามีกรรมต่างกัน มีอินทรีย์พละต่างกัน ทั้งนี้สมถะนั้นเป็นตัวเสริมพลังให้วิปัสสนา ซึ่งทำควบคู่กันไปจะเห็นผลเจริญได้ไวที่สุด

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องรู้จักอย่างแท้จริงว่าอย่างใดคือสมถะ อย่างใดคือวิปัสสนา ไม่เช่นนั้นก็จะปฏิบัติหลงทางวนเวียนอยู่เรื่อยไปเพราะโดยพื้นฐานแล้ว คนจะไปติดสมถะกันมาก เพราะวิธีสมถะจะทำให้เกิดความสงบในทันทีซึ่งดูจะเป็นผลที่สัมผัสได้ง่ายกว่าวิธีวิปัสสนา

ในส่วนวิปัสสนา คนที่ไม่เข้าใจกระบวนการปฏิบัติก็เห็นว่าวิธีนี้จะไม่สามารถทำให้เกิดความสงบได้เลย เห็นว่าการคิดนี้เองจะยิ่งทำให้ฟุ้งซ่าน พอไม่ได้ความสงบอย่างที่หมายก็เลยหลงไปติดกับสมถะอีก แท้จริงแล้ววิปัสสนานี่แหละคือสงความความคิด ที่เราจะต้องสร้างความคิดที่จะชำระกิเลส(สัมมาสังกัปปะ)มาสู้กับความคิดที่อยากสนองกิเลส(มิจฉาสังกัปปะ) ดังนั้นสมถะจึงเหมือนสถานที่พักรบซึ่งคนชอบไปพักและติดสงบจนหลงว่าอารมณ์เหล่านั้นคือการบรรลุธรรมบ้าง คือการหลุดพ้นบ้าง นิพพานบ้าง ทั้งๆที่นั่นคือการพักรบเท่านั้นเอง

การวิปัสสนานั้นเป็นวิธีของคนที่เพียรอย่างถูกต้อง แต่กระนั้นก็เห็นผลไม่ได้ง่ายๆ จะเกิดปัญญารู้แจ้งกิเลสกันไม่ได้ง่ายๆ ทำความดับไม่ได้ง่ายๆ แต่จะรู้ได้เองว่ากิเลสลดลงไปเท่าไหร่แล้ว เมื่อปฏิบัติอย่างถูกตรงจะมีญาณปัญญารับรู้กิเลสได้ชัดเจนขึ้นตามลำดับ และผลที่ได้นั้น ยั่งยืน เที่ยงแท้ ถาวร ตลอดกาล ข้ามภพข้ามชาติ ตราบปรินิพพาน

– – – – – – – – – – – – – – –

31.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

จิตว่าง

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,932 views 0

จิตว่าง

จิตว่าง

…ว่างจากอะไร?

จิตว่างเป็นคำที่ในยุคสมัยนี้นิยมกันมาก เพราะเป็นคำที่สั้น จำง่าย เหมาะกับยุคที่รวดเร็วร้อนแรงเช่นนี้อย่างยิ่ง แต่หลายคนมักจะมีนิยามของจิตว่างในใจที่ต่างกันออกไป มีการแตกประเด็นออกไปมากมายจากคำนี้ตามแต่ใจคน

เรื่องที่มาของคำนี้จะขอยกไว้ จะกล่าวแต่เพียงความเห็นที่ได้พบและประสบมาในปัจจุบัน เราอาจจะได้ยินคำว่าจิตว่างบ่อยครั้ง แต่หลายคนอาจจะสงสัยว่ามันว่างจากอะไร? แล้วมันว่างยังไง? ว่างแบบไหน? ต้องขนาดไหนถึงเรียกว่าว่าง? ว่างจริงๆมันเป็นอย่างไร?

จริงอยู่ที่ว่าสภาวธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะบอกกล่าวไม่ได้ เพียงแค่บอกแล้วอาจจะไม่เข้าใจกันเท่านั้นเอง แต่การไขสภาพหรือบอกกล่าวกันไว้ให้เป็นหลักอ้างอิงก็ยังดีกว่าไม่ได้ชี้แจงอะไร เพราะหากเราจะเหมารวมทุกอย่างเป็นปัจจัตตังแล้วเก็บอมไว้ แล้วใครล่ะจะรู้ว่าสิ่งที่คิดและเข้าใจนั้นมันถูกต้องจริงไหม บางครั้งเราอาจจะไปยึดสภาพที่ยังไม่ถูกตรงนักมาเป็นผลก็ได้ใครจะรู้…

1). จิตว่างจากความทุกข์

จิตว่างจากทุกข์นี้เป็นประโยคที่ตีความได้ทั้งทางโลกและทางธรรม แต่น้ำหนักส่วนใหญ่น่าจะเป็นไปทางโลก เพราะการจะว่างจากทุกข์นั้นทำได้ไม่ยากนัก ไม่ต้องใช้ธรรมะ ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นเรากำลังทุกข์เพราะหิว การไปกินอาหารก็ทำให้ทุกข์นั้นหายไป จิตก็ว่างจากทุกข์แล้ว

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง กำลังรู้สึกหงุดหงิดใจเพราะทำเงินหาย แต่พอเดินไปดูละครมันก็ลืมเรื่องทุกข์ไปแล้ว มันก็กลายเป็นจิตว่างจากทุกข์ อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น กำลังอกหักแฟนที่รักและผูกพันมาทิ้งไป ก็ไปทำให้จิตว่างจากทุกข์ด้วยการเสพสุขอื่นๆให้มัวเมาจนลืมทุกข์

สภาพของจิตว่างจากทุกข์นั้นโดยทั่วไปก็สามารถใช้วิธีวิ่งไปหาสุขก็สามารถออกจากสภาวะทุกข์ได้แล้ว หรือถ้าจะใช้สมถะเข้ามาช่วยก็ได้เช่นกัน ความเข้าใจว่าจิตว่างจากทุกข์จะพาลให้เฉโก(ฉลาดในเรื่องสะสมกิเลส)พาชีวิตไปเสพแต่สุขโลกีย์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเข้าใจว่าต้องทำชีวิตให้สุข ต้องอยู่อย่างมีความสุข ไม่จมทุกข์

จริงๆแล้วจิตว่างจากทุกข์นั้นก็หมายถึงการคิดบวก การคิดในแง่ดี มองโลกในแง่ดีทั่วไป แม้ทางภาษาอาจจะต่างกันแต่สภาวะนั้นเป็นแบบเดียวกัน

ในส่วนจิตว่างจากทุกข์ในระดับทางธรรมนั้นจะต่างออกไป คำว่าว่าง คือไม่มี ว่างจากทุกข์คือไม่มีทุกข์เลย ทุกข์ในที่นี้คือทุกข์ทางใจเท่านั้น และผู้ที่จะเกิดสภาพนี้ได้คือผู้มีสภาวะของพระอรหันต์เท่านั้น เข้าใจง่ายๆแค่ว่าไม่มีกิเลสก็ไม่ต้องทุกข์ ดังนั้นมันจึงว่างจากทุกข์

2). จิตว่างจากความคิด

เป็นอีกความหมายหนึ่งของจิตว่างที่ได้ยินบ่อย หลายคนตีความว่า “สุขก็เพราะความคิด ทุกข์ก็เพราะความคิด” ก็เลยหาวิธีดับความคิดเสียเลย

การทำให้จิตว่างจากความคิดปรุงแต่งหรือการสังขารนั้น โดยทั่วไปมักจะใช้วิธีการสมถะเข้ามาจัดการกับความคิด ใช้อุบายทางใจที่สารพัดจะคิดขึ้นมา ตบ ดับ กดข่ม เมินเฉย ดูเฉยๆ รอจนดับไป หรืออะไรก็ได้ที่ทำให้เราไม่ต้องไปยุ่งกับความคิดเหล่านั้นซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นวิธีของสมถะ

ในสมัยนี้วิธีสมถะนั้นมีมากมาย ที่รู้กันโดยทั่วไปก็จะมีนั่งสมาธิ เดินจงกรม เพ่งกสิณ จดจ่ออยู่ที่ใดที่หนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ก็มีการพัฒนาวิธีขึ้นให้เหมาะกับจริตของคนที่หลากหลายขึ้นเช่นการขยับตัวไปในท่าต่างๆ ย้ายจิตไปจดจ่อกับสิ่งอื่น ทิ้งผัสสะที่เกิดขึ้นแล้วไปสนใจสิ่งอื่น จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำโดยไม่คิด ไม่ปรุงแต่งใดๆ

การฝึกสมถะจะได้ผลเป็นฌานอยู่เหมือนกันแต่จะเป็นฌานฤๅษี เกิดจากการทำให้จิตจมไปอยู่ในภพใดภพหนึ่งและจมลึกไปเรื่อยๆ ดับไปเรื่อยๆ ดับตั้งแต่สังขาร(ความคิด) ดับสัญญา(ความจำได้หมายรู้) จนเกิดเป็นสภาพที่จิตว่างจากความคิด เกิดความสงบ เป็นความสุขที่เกิดจากความทุกข์ที่ถูกดับทิ้งจากการคิดฟุ้งซ่านนั่นเอง

การทำสมถะในสมัยนี้ก็มีรูปแบบให้เห็นอย่างหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น “สมถะลืมตา” คือทำสมถะทั้งที่ลืมตาและใช้ชีวิตนั่นแหละ ใช้ชีวิตได้แบบคนปกติเลย ไม่ต้องไปนั่งสมาธิ แต่ก็ใช้วิธีของสมถะดับความคิดไปด้วย จนบางครั้งมีหลายคนหลงเข้าใจผิดว่าเป็นวิปัสสนา ซึ่งจริงๆแล้วมักจะไม่ได้เกี่ยวกับการวิปัสสนาเลย เป็นสมถะแท้ๆเพียงแค่ไม่ได้ทำเหมือนที่เข้าใจโดยทั่วไป

เมื่อสามารถทำจิตว่างจากความคิดได้แล้วเกิดความสุขความสงบ หลายคนจึงปักมั่นในสภาวะนั้นว่าคือผลเจริญของพุทธ จริงๆแล้วไม่ใช่เพราะการปฏิบัติแบบสมถะหรือแบบฤๅษีก็มีผลเจริญและสงบแบบฤๅษีเช่นกัน มันมีความสุขจริง มันว่างจริง ซึ่งมักจะพาให้เข้าใจผิดกันไปได้

หลายคนพอใจที่ตัวเองทำจิตว่างจากความคิดได้ จนสามารถควบคุมความคิดได้ แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าวิธีนั้นคือวิธีพ้นทุกข์ ซึ่งอาจจะเป็นความประมาทที่ค่อนข้างมาก เพราะลืมพิจารณาไปว่าความคิดเหล่านั้นมันเกิดขึ้นเพราะอะไร อะไรคือตัวการที่ทำให้คิด ทำไมมันจึงทุกข์เมื่อคิด สิ่งเหล่านี้มักจะถูกมองข้ามไป เพราะหลงเสพหลงยึดเพียงความสงบด้วยความว่างจากความคิดนั่นเอง

3). จิตว่างจากตัวตน

เป็นอีกลักษณะความเข้าใจที่มักจะพบเห็นได้โดยทั่วไป เพราะเขาเหล่านั้นเห็นว่าการมีอัตตาเป็นทุกข์ ก็เลยทำให้เป็นอนัตตาเสียเลย ปราศจากตัวตนเสียเลย ว่างจากตัวตนเสียเลยก็น่าจะดี

จริงๆแล้วการใช้ตรรกะหรือความคิดเข้าไปกำหนดสภาวะมันก็ดูจะเป็นอะไรซื่อๆไปสักหน่อย แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนยึดมั่นถือมั่นการใช้ภาษาเข้ามากำหนดสภาวธรรม เพราะจริงๆแล้วการทำลายอัตตาจนกลายเป็นอนัตตานั้นไม่ได้ง่ายเพียงแค่คิด เพียงแค่กำหนดจิต เพียงแค่หมั่นกระทำจิตให้ไม่ถือตัวถือตน มีอะไรมากระทบก็วางเฉย เห็นว่าเป็นเช่นนั้นเองมันก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเช่นนั้นเอง สิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนของเราก็เท่านั้นเอง มันคิดและท่องจำเอาแบบนี้ไม่ได้

การกระทำเหล่านั้นแท้จริงก็อยู่ในลักษณะของสมถะ เป็นการทำสมถะที่ใช้ธรรมะเข้ามาเป็นกรรมฐาน ใช้เป็นบทบริกรรมแทนพุท-โธทั่วไป ซึ่งจะดูซับซ้อนกว่าวิธีสมถะทั่วไปอยู่บ้าง แต่การคิดพิจารณาเป็นรูปแบบเดิมๆ ซ้ำแบบเดิมๆ เพื่อให้จิตเข้าสู่ภพใดภพหนึ่ง หรือสภาพใดสภาพหนึ่งก็เป็นสมถะอยู่ดี ยังไม่ได้เข้าวิปัสสนาแต่อย่างใด

ความเห็นเช่นนี้มักจะมีคนสนใจมาก แม้คนที่เชื่อเช่นนี้ก็จะดูดีมาก ดูเหมือนคนไม่ยึดมั่น ไม่มีอัตตา ดูเหมือนสามารถปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้ จริงๆแล้วก็เหมือนฤๅษีที่ทำสมถะ ทำสมาธิจนเป็นฌานทั่วไปนั่นแหละ มันก็จะมีความสุข ความสงบที่เกิดขึ้นเช่นกัน

แต่การเข้าใจว่าจิตว่างจากอัตตาแล้วใช้ตรรกะ ใช้ความคิด ใช้การตรึกตรองในความไม่มีอัตตาแล้ว อาจจะให้ผลเสียที่ร้ายสุดท้ายก็ได้ เพราะการที่เราคิดหรือหมายมั่นว่าการปฏิบัติธรรมนั้นคือการไม่มีอัตตาตั้งแต่แรกคือการเอาตอนจบมาทำตั้งแต่แรก ซึ่งขัดกับหลักของพุทธ เพราะศาสนาพุทธนั้นต้องปฏิบัติไปโดยลำดับ จากหยาบ กลาง ละเอียด

แน่นอนว่าก่อนจะไปถึงการไม่ยึดมั่นถือมั่นหรือไม่มีอัตตานั้น จะต้องทำลายทางโต่งไปทางด้านกามเสียก่อนถึงจะมีผลเจริญจริงๆ แต่ในเมื่อเราใช้ความเห็นผิดเข้ามาเป็นตัวปฏิบัติ ใช้กรรมฐานเข้ามากดข่มให้เกิดสภาพอนัตตาหลอกๆ ก็เหมือนเราข้ามขั้นตอน เหมือนข้อสอบที่มีคำถามสองหน้า แต่เราพลิกไปทำหน้าหลังแล้วส่งเลย

ธรรมะก็เช่นกัน กามนั้นมีภัยมาก หลายคนที่ทำตัวให้รู้สึกว่าเป็นผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่นตั้งแต่แรกก็จะหลงกลายเป็นว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นในการละกามเสียเลย มองว่าการไปละกามนั้นคือตัวตนก็ว่าได้ กลายเป็นมองว่าไม่มีสิ่งใดเป็นตัวเป็นตนให้ยึดมั่นถือมั่น

สุดท้ายก็ไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไรเลย จริงๆแล้วก็เหมือนคนธรรมดาที่ยังเสพกามนั่นแหละ แต่แย่กว่าตรงที่หลงผิด หลงผิดทั้งลำดับการปฏิบัติ หลงผิดทั้งสมถะวิปัสสนา หลงผิดทั้งอัตตา-อนัตตา คือไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย มาถึงก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น สุดท้ายก็เสพกามแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น ทำชั่วแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็เพี้ยนไปอย่างนั้นเอง

จิตว่างจากตัวตนแท้นั้นก็มีผลอยู่แต่จะอธิบายอยู่ในหัวข้ออื่นต่อไป…

4). จิตว่างจากปัญญา

จิตว่างแบบนี้ที่จริงแล้วไม่มีอยู่หรอก ไม่มีใครบัญญัติไว้ สร้างขึ้นมาใหม่ในบทความนี้เพื่อเป็นตัวสรุปของความผิดพลาดในการปฏิบัติธรรมจนหลงผิด

วิธีการปฏิบัติธรรมในปัจจุบันนั้นมีมาก หลายคนแม้จะเอาจริงเอาจังกับการปฏิบัติแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดมรรคผลตามหลักศาสนาพุทธ แน่นอนว่าการปฏิบัติที่เพียรพยายามนั้นต้องการผลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่การปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนก็จะนำมาซึ่งผลที่ผิดเพี้ยนเช่นกัน

ผู้มีมรรคผลที่ผิดเพี้ยนมักจะไม่รู้ตัว เพราะคนที่มิจฉาทิฏฐิจะไม่มีทางรู้ตัวอยู่แล้ว ก็จะเชื่อว่าตนเองนั้นสัมมาทิฏฐิ เชื่อว่าการปฏิบัติของตนนั้นถูกต้อง พ้นทุกข์ได้จริง ปฏิบัติได้จริง มีผลจริงๆ สภาพที่เห็นจะเหมือนกับการปฏิบัติแบบพุทธเลย แต่นามธรรมภายในจะต่างกัน เรียกว่าสัญญาเดียวกันกายต่างกัน

คือจะใช้ศัพท์ ภาษา สมมุติเหมือนกันหมด เรียกสภาวะอย่างเดียวกัน สงบก็สงบเหมือนกัน ว่างก็ว่างเหมือนกัน ดับก็ดับเหมือนกัน ดังนั้นเวลาคุยกันก็จะเหมือนว่าบรรลุธรรมพ้นทุกข์กันจริงๆ แต่ไม่มีใครรู้จริงหรอกว่าสภาพจิตใจที่เกิดนั้นถูกจริงหรือผิดเพี้ยนไป ใครจะรู้ในเมื่อมิจฉาทิฏฐิก็หลงว่าตัวเองสัมมาทิฏฐิ จึงมีผู้บรรลุธรรมเต็มประเทศไปหมด แล้วคนไหนของจริง คนไหนของปลอม ใช้อะไรแยก จะรู้ได้อย่างไร คนนั้นก็อวดว่าตนจริง แล้วก็ชี้ว่าคนอื่นปลอม มันก็มีให้เห็นแบบนี้บ่อยๆ

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สัมมาอริยมรรคนั้นเป็นทางเอกทางเดียวที่พาพ้นทุกข์ เราสามารถใช้มรรคที่ถูกตรงนี้เป็นตัววัดได้คร่าวๆ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีหลายสำนักหลายกลุ่มที่อ้างว่ามรรคของตนถูก แน่นอนว่ามีทั้งถูกและผิด มิจฉาทิฏฐิก็ปฏิบัติมรรค สัมมาทิฏฐิก็ปฏิบัติมรรคและเกิดสภาพจิตว่างเหมือนกันด้วย

กลับมาที่หัวข้อ ในหัวข้อนี้คือ “จิตว่างจากปัญญา” ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาที่มีปัญญา ดังนั้นจิตที่ว่างจากปัญญาจึงไม่ใช่พุทธ ปัญญาในทีนี้นั้นไม่ใช่ปัญญาที่เพียงแค่ทำให้มีความสงบ ความสุข ความว่างจากความคิด ความว่างจากตัวตนโดยใช้ความคิด แต่เป็นปัญญาที่ทำให้สงบจากกิเลส ชำระกิเลส ดับกิเลส

การดำเนินตามสัมมาอริยมรรคนั้นหมายถึงทางที่พาไปสู่ความเจริญเพียงอย่างเดียว ทางที่พาลดละกิเลส สวนกระแสโลก ทางที่พาให้คิดดี พูดดี ทำดี ทำงานดี ดังนั้นการไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำนั้นไม่ใช่วิธีปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ การที่จะเดินทางไปสู่ความผาสุกจะต้องคิด พูด ทำ

แล้วมันต้องคิด พูด ทำอะไร? ก็คือคิดไปในทางลดกิเลส พูดแต่เรื่องลดกิเลส ทำแต่สิ่งที่พาลดกิเลส

แล้วมันจะคิด พูด ทำ อย่างไร? แบบนี้มันก็ต้องมีปัญญา คนที่ปฏิบัติยังไม่ถูกทางก็จะไม่มีปัญญา จิตก็เลยว่างจากปัญญา กลายเป็นคนไม่มีปัญญา แม้จะมีความสุข ความสงบ ความไม่มีตัวตน แต่กลับไม่มีปัญญารู้ในเรื่องลดกิเลส ไม่มีปัญญาจัดการกับกิเลส ไม่รู้แจ้งเรื่องกิเลส ก็เรียกได้ว่า “จิตว่างจากปัญญา

5). จิตว่างจากกิเลส

มาถึงประเด็นหลักกันเสียที ถ้าจะให้คำว่าจิตว่างมันถูกตรง ถูกตามพุทธนี่มันก็ต้องว่างจากกิเลสนี่แหละ แต่สภาวะว่างจากกิเลสนั้นก็ยังมีคนหลงผิดกันไปมาก ก็จะขอขยายตรงนี้กันให้เข้าใจกันเสียก่อน

เรามักจะเข้าใจว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นคือกิเลส ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความโลภ ฯลฯ ซึ่งก็ถูกต้องเช่นนั้น แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นกิเลสปลายเหตุ หลายคนสามารถดับความโกรธที่เกิดขึ้นได้แล้วหลงเข้าใจไปว่า เรานี่ว่างจากกิเลสแล้ว ซึ่งจริงๆมันก็ไม่ได้ง่ายแบบนั้นเสียทีเดียว

การดับความโกรธ ความคิด ความฟุ้งซ่านต่างๆได้ ถ้าเราใช้วิธีสมถะก็สามารถดับทิ้งไปได้แล้ว ยังไม่ได้เข้าหลักการลดกิเลสแต่อย่างใด เป็นเพียงการใช้สมถะเข้ามาตบกิเลสที่ฟุ้งขึ้นมาให้ดับลง ทำให้กิเลสที่แสดงตัวนั้นดับลงเท่านั้น จริงๆแล้วคนที่ทำได้แบบนี้ก็ถือว่าดีแล้ว เก่งแล้ว แต่ก็มักจะหลงเข้าใจว่า สิ่งนี้เรียกกว่าการดับกิเลส หรือจิตว่างจากกิเลส ซึ่งจริงๆเรื่องกิเลสมันไม่ได้ตื้นเขินแบบนั้น มันไม่ได้ง่ายแบบนั้น

การที่จะจิตว่างจากกิเลสได้ ต้องปราศจากกิเลสใดๆในเรื่องนั้นๆเลย ถ้าว่างได้หมดก็เป็นพระอรหันต์เท่านั้นเอง แต่การจะว่างได้ก็ไม่ได้ว่างเพียงแค่ดับปลายเหตุ แต่ต้องขุดลึกลงไปถึงต้นเหตุที่เรียกว่าสมุทัย

โดยทั่วไปเรามักจะมองง่ายๆ แบบตื้นๆว่า ทุกข์เกิดเพราะเราโกรธเพราะเรามีตัวตน พอเราดับความโกรธดับตัวตนก็ไม่ต้องทุกข์ แบบนี้ใช้สมถะก็ได้ ฤๅษีก็ทำได้ยังไม่ต้องเข้าพุทธ ซึ่งหมายความว่าวิธีดับที่เหตุนี่ยังไม่ใช่พุทธนั่นเอง

แต่ถ้าวิธีของพุทธจะมองสมุทัยลึกลงไปอีก เช่น เราเกิดทุกข์เพราะเราโกรธ แล้วเราทำไม่จึงโกรธ เพราะเราไม่ได้สิ่งนั้นมาเสพสมใจใช่ไหม แล้วเราอยากเสพสิ่งนั้นไปทำไม เราติดสุขอะไร …. การหาเหตุแห่งทุกข์ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีรูปแบบแน่ชัดนัก ขึ้นอยู่ว่าใครสะสมกิเลสมาหนาขนาดไหน ซับซ้อนขนาดไหน แต่ละคนก็จะมีเหลี่ยมมุมในการวิเคราะห์กิเลสที่แตกต่างกัน เพราะเราชอบต่างกัน ยึดติดต่างกัน เรามีตัวตนที่ต่างกันไปตามกรรมของแต่ละคน

ดังนั้นการปฏิบัติธรรมนั้นจึงไม่มีสูตรสำเร็จใดๆให้ท่องจำแล้วทำตามจึงจะบรรลุธรรม แต่เป็นการปฏิบัติไปเพื่อล้างกิเลสที่เป็นของตัวเอง เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติเอาเอง ทำเอาเอง ตามรูปแบบของกิเลสตัวเอง จะมีก็เพียงหลักพื้นฐานเพื่อให้พิจารณาเช่น ไตรลักษณ์ ประโยชน์และโทษ กรรมและผลของกรรม

แต่การพิจารณานี้ไม่ได้พิจารณากันที่ผลที่เกิด แต่ต้องพิจารณาไปที่สมุทัย ที่กิเลสที่ซ่อนอยู่ลึกๆ เหมือนกับการแก้ปัญหาให้ถูกจุด ถ้าเราไปใช้ไตรลักษณ์ ทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน กับความโกรธที่เป็นผลปลายเหตุ มันก็จะเข้าลักษณะของสมถะเท่านั้นเอง

เพราะแท้จริงแล้วการจะได้มาซึ่งจิตว่างจากกิเลสไม่ใช่ด้วยการท่องจำ หรือใช้กรรมฐานต่างๆ พอเราเจอตัวกิเลสจริงๆ มันจะพิจารณาไตรลักษณ์ไม่ออก เมื่อเรายึดติดเราจะรู้สึกว่ามันเที่ยง ไม่เป็นทุกข์ มันเป็นตัวตนของเรา กิเลสจะไม่ยอมให้เราเห็นต่างจากนี้ ถึงแม้เราจะท่องด้วยภาษา แต่จิตเราไม่ได้ลดกิเลสจริง มันก็จะติดจะยึดอยู่แบบนั้นเอง นี่แหละคือความจริงของการปฏิบัติธรรม รู้จริง เห็นจริง ในทุกเหลี่ยมมุมของกิเลสกันเลย

ทีนี้พอปฏิบัติเพื่อชำระล้างกิเลสเป็นแล้ว เข้าใจอริยสัจ ๔ ,สัมมาอริยมรรคแล้ว ก็จะเดินหน้าลุยล้างกิเลสลูกเดียว มีกิเลสไหนสู้ไหวก็จะสู้ ไม่ปล่อยทิ้งให้เวลาเสียเปล่า จนเกิดเป็นผลจริง เกิดความว่างจากกิเลสจริง

แล้วว่างจากกิเลสในเรื่องไหน? ก็ว่างจากกิเลสในเรื่องที่ตั้งศีลเพื่อปฏิบัติ แล้วปฏิบัติไปพร้อมกันทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ใช้ไตรสิกขาเพื่อข้ามสามภพคือ กามภพ รูปภพ อรูปภพของกิเลสนั้นๆ จนกระทั่งกิเลสตาย

เมื่อกิเลสตายจึงว่างจากทุกข์ ว่างจากความคิดที่เจือปนด้วยกิเลส ว่างจากอัตตาตัวตนเพราะไม่ยึดมั่นทั้งกามและอัตตา จิตว่างที่แท้จริงมันว่างแบบนี้ มันว่างจากกิเลสเช่นนี้

6). สรุป

จริงๆแล้วคำว่า “จิตว่าง” คือสภาพของผล คือผลที่เจริญแล้ว คือการปฏิบัติที่เห็นผลแล้ว แต่หลายคนที่หลงผิดกลับเอา “จิตว่าง” มาเป็นมรรค คือใช้จิตว่างมาเป็นตัวปฏิบัติ พยายามให้จิตที่มีนั้นว่าง โดยมากก็ใช้วิธีสมถะทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อใช้มรรคที่ผิดจากทางพุทธ ผลก็ผิดจากทางพุทธไปด้วยเช่นกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

12.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การปฏิบัติศีล (สมาธิ ปัญญา)

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,215 views 0

การปฏิบัติศีล(สมาธิ ปัญญา)

การปฏิบัติศีล(สมาธิ ปัญญา)

การปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นทุกข์นั้นเราจะต้องปฏิบัติไปพร้อมกันทั้งศีล สมาธิ ปัญญา โดยไม่โต่งไปในด้านใดด้านหนึ่งจนเกินไป โดยปฏิบัติให้พอเหมาะกับกิเลสนั้นๆ

ศีล เหมือนดังเข็มทิศที่จะบอกว่าทิศทางที่เรากำลังจะไปนั้นต้องเดินไปทางด้านไหนเรากำลังมาถูกทางหรือผิดทาง

สมาธิ เหมือนดังกำลังที่จะพาให้เราปฏิบัติศีลไปจนตลอดรอดฝั่ง ให้เรามีความเพียรพยายามล้างกิเลสได้อย่างต่อเนื่อง

ปัญญา นั้นเหมือนดังเครื่องมือมีที่จะนำไปทำลายกิเลส เมื่อเราสามารถชำระกิเลสได้เท่าไหร่เราก็จะได้ปัญญาที่เป็นผลมากเท่านั้น

ในตอนที่เราเริ่มปฏิบัตินั้นเราจะเต็มไปด้วยกิเลส แต่เมื่อเราปฏิบัติศีล อย่างมีสมาธิ จนเกิดปัญญารู้แจ้งทำลายกิเลส ปัญญาเกิดกิเลสก็หาย แต่ปัญญาไม่หายไปไหนเพราะสุดท้ายจะได้ปัญญาที่เป็นผลจากการทำลายกิเลส เป็นจิตใหม่ที่ประกอบไปด้วยปัญญา ไม่เหมือนจิตตอนที่เริ่มปฏิบัติซึ่งตอนนั้นยังไม่มีปัญญา

1).มรรค

ในระหว่างที่เราถือศีล เพื่อปฏิบัติธรรม เราจะต้องใช้ปัญญาเท่าที่เรามีขุดกิเลส หากิเลส ทำลายกิเลสไปเรื่อยๆตามศีลที่เราได้ตั้งไว้ เช่น เราตั้งศีลว่าจะลดกาแฟ เราก็ใช้ปัญญาของเรานี่แหละพิจารณาโทษของกาแฟ ด้วยสมาธิ ด้วยความตั้งมั่น มีขันติ อดทนต่อความอยากกาแฟ ดำรงสภาพของสมาธิให้นานเท่าที่จะนานได้เพื่อพิจารณาธรรมต่างๆ

เพราะเมื่อกำลังสมาธิหรือพลังจิตหมด เราจะหมดแรงต้านทานกิเลสหรือทนความอยากกินกาแฟไม่ไหว ก็กลับไปกินบ้าง พอพักแล้วมีกำลังใหม่ก็อดทนใหม่ ใช้ปัญญากะเทาะกิเลสต่อไปเรื่อยๆ จะใช้พลังสมถะเข้าช่วยเพิ่มกำลังบ้างก็ได้ ซึ่งจะทำให้ช่วงของการละเว้นกาแฟนั้นยาวนานขึ้น มีเวลาให้เราเห็นทุกข์จากความอยากและพิจารณาความอยากนั้นมากขึ้น

การปฏิบัตินี้เองเรียกว่ามรรค หรือทางเดิน ซึ่งการจะเดินไปในทางสายกลางได้อย่างไม่หลงไปซ้ายหรือไปขวานั้น ต้องพยายามละเว้นการกลับไปกินกาแฟ และประมาณตัวเองไม่ให้รู้สึกทรมานจนเกินไปเมื่อความอยากกาแฟเกินจุดที่จะกดข่มไหว ซึ่งในระยะที่ปฏิบัตินั้นจะเดินปัดซ้ายขวาไปมาระหว่างทางโต่งสองด้านอยู่อย่างนี้ แต่เมื่อเจริญขึ้นจะเริ่มนิ่งขึ้น จะเดินตรงขึ้น

เราไม่สามารถเข้าใจสัมมาอริยมรรคได้เพียงแค่การคิดหรือท่องจำ เพราะถึงแม้ว่าจะรู้ดีเพียงใดแต่ในขณะที่เรายังมีกิเลสเราจะไม่สามารถเดินตามมรรคได้สมบูรณ์นัก ซึ่งก็ต้องปฏิบัติละเว้นทางโต่งสองด้านและใช้หลักสัมมาอริยมรรคเป็นตัวยึดอาศัยบนเส้นทางแห่งศีลนั้นเอง

2). ผล

ในระหว่างที่ฝึกปฏิบัติ เราจะได้ผลเป็นระยะๆ มรรคผลจะเกิดขึ้นทีละนิดละหน่อย ปัญญาจะเจริญขึ้นเป็นลำดับ เพราะการปฏิบัติธรรมของพุทธนั้นเป็นไปตามลำดับ ไม่ใช่เพื่อบรรลุธรรมในทันที

เราจำเป็นต้องปฏิบัติจนเห็นผลเจริญอย่างเป็นลำดับในจิตวิญญาณ ให้รู้ว่าวันนี้เราได้ผลเจริญขึ้นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น แต่ก่อนเราเห็นร้านกาแฟแล้วต้องแวะทุกทีเลยนะ แต่เดี๋ยวนี้สัปดาห์หนึ่งถึงจะแวะ หรือไม่ก็แต่ก่อนเราต้องกินกาแฟทุกเช้าเลยนะแต่เดี๋ยวนี้ไม่กินก็ไม่ได้รู้สึกทุกข์ ไม่รู้สึกอยาก และไม่ได้รู้สึกว่ากาแฟจำเป็นอีกต่อไป

การที่เราปฏิบัติศีลอย่างตั้งมั่นจะทำให้เราได้รับปัญญาที่เป็นผลโดยลำดับ และปัญญาเหล่านี้เองที่จะทำให้เราสามารถปฏิบัติศีลที่สูงขึ้น หรืออธิศีลในส่วนย่อยของศีลที่เราตั้งไว้ได้ ยกตัวอย่างว่าเราสามารถลดกาแฟที่กินต่อวันจากสองแก้วเหลือหนึ่งแก้วเพราะเรามีปัญญารู้ว่ากินสองแก้วต่อวันไม่ดี อยากกินไปก็ทุกข์ ฯลฯ เมื่อปฏิบัติศีลจนได้ปัญญาเป็นผล ปัญญาที่เป็นผลเหล่านั้นจะเป็นฐานให้เราขยับขึ้นไปในระดับลดกาแฟต่อสัปดาห์ หรือเลิกกาแฟได้ง่ายขึ้น

เราจำเป็นต้องใช้ผลเจริญของปัญญาที่เกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติศีลนี่แหละเป็นฐานให้เราขยับฐานการละเว้นต่อไป แม้ว่าเราจะไม่สามารถเลิกกาแฟ ชำระความอยากได้ทันที หรือไม่สามารถดับความอยากกินจนสิ้นเกลี้ยง แต่การที่เราสามารถถือศีลที่สูงขึ้น ยากขึ้น นั่นหมายความว่าเราสามารถที่จะทนการบีบคั้นให้เห็นตัวกิเลสได้ดีขึ้น ยิ่งถือศีลที่ยากมากเท่าไหร่ก็จะสามารถเห็นกิเลสที่แอบหลบซ่อนอยู่ได้มากเท่านั้น

ก). ไตรสิกขากับกิเลสสามภพ

ความจริงจังในการปฏิบัติธรรมไม่ได้หมายความว่าเราควรจะตั้งศีลเลิกตั้งแต่แรกแล้วยึดมั่นถือมั่นไว้ แบบนั้นอาจจะทำให้ทรมานจนโต่งไปด้านอัตตา จริงอยู่ที่ว่าเป้าของเราคือเลิกกาแฟ แต่เราควรตั้งใจลด ละ เลิกไปตามลำดับเพื่อเป็นไปตามหลักการปฏิบัติไตรสิกขา คือการเรียนรู้อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา นั่นก็คือการพัฒนาระดับศีล สมาธิ ปัญญา จากการ ลด ละ เลิกไปตามลำดับนี่เอง

ทั้งนี้การทำไปตามลำดับก็เพื่อให้เราได้เรียนรู้ความหยาบ กลาง ไปจนถึงละเอียดของกิเลสชนิดนั้นๆ กิเลสนั้นมีสภาพอยู่สามภพ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ การที่เราถือศีลที่ยากขึ้นไปเรื่อยๆจะค่อยๆทำให้เห็นกิเลสที่ซ่อนอยู่ในแต่ละภพชัดเจนขึ้น เมื่อเห็นกิเลสจึงจะสามารถใช้สติปัญญาทำลายกิเลสได้ และศีลนี้เองคือสิ่งที่ควรประมาณให้เหมาะกับฐานะของตน

หากเรายังอยู่ในกามภพ คือสภาพที่เรายังไปกินกาแฟอยู่ เราก็ตั้งศีล ลด ละ เลิกกาแฟไปตามลำดับจนสามารถเลิกได้เด็ดขาดแล้ว จึงตั้งศีลในระดับของรูปภพ

สภาพของรูปภพคือยังมีความอยากกาแฟให้เห็นอยู่ มีความรู้สึกว่ายังอยากกินอยู่แต่ไม่กิน พอเข้ารูปภพจะต้องตั้งศีลที่ยากขึ้นอีกคือละเว้นความอยากกินกาแฟ แม้ความอยากกินกาแฟเกิดก็ผิดศีล เพราะความอยากที่เกิดเพียงในใจก็สามารถสร้างมโนกรรมได้แล้ว

เมื่อละรูปภพได้แล้ว เห็นกาแฟก็ไม่อยากกินเหมือนก่อนแล้ว ก็จะเข้าอรูปภพ หมายถึงสภาพที่ไม่สามารถเห็นกิเลสเป็นรูปได้อีกต่อไป ไม่มีความคิดว่าอยากกิน แต่เห็นกาแฟแล้วก็ยังไม่สบายใจ ยังแอบมอง ยังแอบสนใจ ยังรู้สึกดี มีคนจะซื้อมาฝากแม้จะปฏิเสธแต่ก็ยังแอบเสียดายอยู่ลึกๆ มีอาการที่ร่างกายเกิดขึ้นมาฟ้องบ้าง เช่นกลืนน้ำลาย น้ำลายไหล เราคิดว่าใจเรามันไม่อยากแล้วนะ แต่จิตใต้สำนึกมันยังอยากอยู่ มันยังมีอาการอยู่ ถ้าเข้าแบบนี้ก็ต้องตั้งศีลละเอียดขึ้น คือทุกอาการสั่นไหวของกายและจิตที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะกาแฟ ต้องละเว้นและทำลายกิเลสละเอียดที่แอบซ่อนนี้ให้ได้

3).มรรคผล

ถ้าเราตั้งศีลว่าเราอยากเลิกกาแฟนั้นอาจจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ง่าย แต่อาจจะยังติดอยู่ภพใดภพหนึ่งของกิเลสอยู่ ดังนั้นการตั้งศีลที่ว่าอยากจะพ้นจากความอยากกินกาแฟทั้งกาย วาจา ใจ นี้เป็นศีลที่พาให้เกิดกุศลมากกว่า เข้าถึงกิเลสได้จริง เห็นกิเลสได้จริง ทำลายกิเลสได้จริงๆ จึงมีโอกาสที่จะถึงวิมุตติจริงๆ

เมื่อเราปฏิบัติศีลโดยลำดับจากง่าย กลาง ยาก จนสามารถผ่านกิเลสที่ดึงรั้งเราไว้ให้อยู่ในกามภพ รูปภพ อรูปภพได้แล้ว ก็เหมือนว่าเราสามารถพาตัวเองออกจากถ้ำกิเลสได้ ออกมาพบความจริงตามความเป็นจริง เช่นเดียวกับการทำลายกิเลสเมื่อเราสามารถหลุดพ้นจากกิเลส เราจึงจะรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงในเรื่องนั้นๆ

เช่นถ้าเราทำลายความอยากกินกาแฟ เราก็จะรู้ทุกเหลี่ยมทุกมุมในกิเลสเกี่ยวกับเรื่องกาแฟที่ผ่านมาของเรา ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความรู้เรื่องกิเลสในกาแฟทั้งหมดในโลก แต่ก็เพียงพอที่จะรู้ว่ามันติดเพราะอะไรและจะออกจากกาแฟได้อย่างไร นั่นเพราะตลอดเวลาที่เราปฏิบัติศีลอย่างตั้งมั่นเราก็จะได้ปัญญาและเจริญขึ้นมาโดยลำดับ สุดท้ายเมื่อเราทำลายกิเลสทั้งหมดเราก็จะได้ปัญญาที่เป็นผลเหล่านั้นไว้ใช้เพื่อเป็นธรรมทานให้คนอื่นใช้เป็นแนวทางในการทำลายความอยากกาแฟต่อไป

การปฏิบัติธรรมจนถึงผลนั้นไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ ไม่ใช่การทำเพื่อบรรลุธรรมในทันที แต่หากเป็นความเพียรพยายามที่จะเข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์แท้และละเว้นสิ่งที่เป็นโทษออกจากชีวิต พัฒนาจิตใจโดยการใช้ ศีล สมาธิ ปัญญาเพื่อเกิดความเจริญไปโดยลำดับ จนสามารถรู้แจ้งมรรคผลได้ด้วยตนเอง คือรู้วิธีการปฏิบัติเพื่อทำลายกิเลสเหล่านั้นและรู้ผลที่เกิดขึ้นเมื่อทำลายกิเลสเหล่านั้น

จึงกลายเป็นผู้ที่ไม่มีความสงสัยในกิเลสเหล่านั้นเพราะรู้แจ้งเหตุปัจจัยในการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป จนสามารถดับความอยากซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นได้อย่างสิ้นเกลี้ยง

– – – – – – – – – – – – – – –

สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา เพิ่มเติมได้ที่ …

– – – – – – – – – – – – – – –

6.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

December 6, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,033 views 0

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

…เมื่อการกินมังสวิรัติไม่ได้ทำให้คลายกิเลส

การกินมังสวิรัติหรือการลดเนื้อกินผักนั้น หลายคนอาจจะมีเส้นทางการเริ่มต้นที่ต่างกันไป บางคนกินเพราะสุขภาพ บางคนกินเพราะเข้าใจว่าได้บุญ บางคนกินเพราะเขานิยม บางคนกินเพราะเมตตาสัตว์ บางคนกินเพราะทำให้ดูเป็นคนดี บางคนกินเพราะประหยัด บางคนกินเพราะคนในครอบครัวกิน หลายเหตุผลนี้อาจจะทำให้หลายคนเข้าถึงที่สุดแห่งการลดเนื้อกินผักได้ แต่อาจจะไม่ถึงที่สุดของใจ

ด้วยเหตุต่างๆที่กล่าวอ้างมาสามารถจูงใจให้คนเข้ามากินมังสวิรัติได้ทั้งสิ้นและสามารถทำให้เป็นนักมังสวิรัติขาประจำได้ด้วยเช่นกัน เพราะในความจริงแล้วการกินมังสวิรัตินั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่เรื่องยากนั้นคือการไม่กินเนื้อสัตว์เพราะความอยาก

เราสามารถกินมังสวิรัติได้ง่ายๆเพียงแค่อยู่ใกล้แหล่งอาหารมังสวิรัติ มีแม่ครัวรู้ใจ ทำอาหารเอง หรือแม้แต่รู้วิธีไปกินมังสวิรัตินอกสถานที่ ด้วยความรู้เหล่านี้ทำให้เราสามารถกินมังสวิรัติได้ไม่ยาก กินไปทั้งชีวิตก็ได้ ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังได้เพราะเมนูมังสวิรัติหรือเมนูเนื้อสัตว์ที่มีทั่วไปนั้นก็ปรุงรสจัด รสที่ทำให้เรารู้สึกอร่อยหรือรสชาติที่เราคุ้นเคยเหมือนๆกัน

มันไม่ใช่เรื่องยากเลยหากคนทั่วไปที่ชอบกินเนื้อต้องเผชิญกับเหตุปัจจัยที่ทำให้ไม่มีเนื้อสัตว์ให้กินแล้วต้องกินมังสวิรัติเป็นเวลานาน เพราะสุดท้ายมนุษย์ก็จะต้องกินเพื่อดำรงชีวิตอยู่ดี

ศีลหรือการละเว้นสิ่งที่เป็นภัย

การกินมังสวิรัติหรือการถือศีลละเว้นนั้น หากเราตั้งไว้แค่การละเว้นเนื้อสัตว์ เมตตาสัตว์ เราก็จะสามารถกินมังสวิรัติได้แล้ว แต่ทว่าศีลระดับนั้นอาจจะไม่สามารถดับความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ให้สิ้นเกลี้ยงได้เพราะเพียงแค่ดับกามภพหรือแค่เพียงไม่ไปเสพก็สามารถบรรลุผลของศีลนั้นได้แล้ว การตั้งศีลที่สูงกว่าหรืออธิศีลในมังสวิรัติคือการดับความอยากกินเนื้อสัตว์จนสิ้นเกลี้ยงจากกามภพไปจนถึงรูปภพและอรูปภพ ศีลนี้ต่างจากการกินมังสวิรัติหรือการกินเจของคนทั่วไปอยู่มาก เพราะโดยส่วนมากเขาจะกินเพราะเมตตาสัตว์ เพราะสงสาร ทำให้เกิดกุศล

หากจะตั้งจิตตั้งศีลไว้ที่ไม่เบียดเบียนเนื้อสัตว์ การกินมังสวิรัติได้ 100% ก็เป็นที่สุดแห่งศีลนั้นแล้ว แต่ก็ยังมีศีลที่เจริญกว่าเข้าถึงผลยากกว่านั่นคือทำลายความอยากนั้นเสีย การตั้งศีลสองอย่างนี้ต่างกันเช่นไร การไม่เบียดเบียนเนื้อสัตว์นั้น เพียงแค่คุมร่างกายหรือกระทั่งคุมวาจาได้ก็ไม่ไปเบียดเบียนเนื้อสัตว์ได้แล้ว คุมร่างกายไว้ไม่ให้ไปหยิบกิน กดไว้ไม่ให้หิวไม่ให้อยาก คุมวาจาไว้ไม่ให้พูดถึง ไม่ให้เอ่ยถึงการกินเนื้อสัตว์ แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงในส่วนของใจทั้งหมดเพียงแค่คุมใจไว้ เป็นการปฏิบัติจากนอกเข้ามาหาใน คือคุมร่างกายวาจาแล้วไปกดที่ใจในท้ายที่สุด

ศีลที่ตั้งไว้เพื่อทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นจะปฏิบัติกลับกันนั่นคือจากในออกไปหานอก ปฏิบัติที่ใจให้คุมวาจา และคุมไปถึงร่างกาย เป็นการพุ่งเป้าหมายไปที่การล้างกิเลสอย่างชัดเจน ให้เห็นตัวเห็นตนของกิเลสอย่างชัดเจน ถือศีลขัดเกลาเฉพาะกิเลสอย่างชัดเจน ไม่หลงไปในประเด็นอื่น

การตั้งเป้าหมายไว้ที่กิเลสนั้นดีอย่างไร นั่นก็คือเมื่อเราสามารถปฏิบัติจนละหน่ายคลายกิเลสหรือกระทั่งดับกิเลสได้แล้ว จะดับไปถึงวจีสังขาร คือไม่ปรุงแต่งคำพูดอะไรในใจอีกแล้ว ไม่มีแม้เสียงกิเลสดังออกมาจากข้างใน จนไปถึงร่างกายไม่สังขาร คือไม่ขยับเพราะแรงของกิเลส ไม่ออกอาการอยากใดๆทางร่างกาย ไม่ไปกินเพราะว่ากิเลสสั่งให้กินเนื้อ

ผู้ที่ตั้งศีลไว้ที่การชำระกิเลสภายในนั้น เมื่อปฏิบัติจนสุดทางแล้วจะไม่ต้องเคร่งเครียดไม่ต้องกดข่ม ไม่ต้องกดดัน ไม่มีรูปแบบมากนัก ไม่เกลียดคนกินเนื้อ ไม่รังเกียจที่จะกินร่วมโต๊ะ ไม่รังเกียจที่จะกินร่วมจาน และไม่รังเกียจแม้จะหยิบชิ้นเนื้อเข้าปาก แต่ถึงแม้จะกินเนื้อก็ไม่มีอาการอยากใดๆ เคี้ยวเสร็จแล้วคายทิ้งได้และยังสามารถทิ้งที่เหลือได้โดยไม่มีการทุกข์ใจใดๆเกิดขึ้น ไม่มีความอยากเกิดขึ้นแม้ตอนเคี้ยวหรืออึดกดดันถ้ารู้สึกจะต้องกินเนื้อ ในกรณีลองกินเนื้อนี้เราใช้เพื่อทดสอบกามและอัตตาเท่านั้น

นั่นเพราะการถือศีลนี้เป็นการดับความอยาก ไม่ใช่แค่การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ใช่แค่การกินมังสวิรัติ แต่เป็นการทำลายเหตุแห่งการกินเนื้อสัตว์ ดับทุกข์ที่เหตุ จึงเกิดสภาพแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ทรมานจากกาม ถึงแม้จะจำเป็นต้องกินก็ไม่ทุกข์ทรมานจากอัตตา ซึ่งจะพ้นจากทางโต่งทั้งสองด้านในท้ายที่สุด

การปฏิบัติที่ใจ

การปฏิบัติไปถึงใจนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำเป็นต้องใช้หลักปฏิบัติของศาสนาพุทธเข้ามาเป็นส่วนร่วม ในการตรวจทุกสภาวะของจิตใจ ซึ่งจะลึกซึ้ง ละเอียด ประณีต เดาไม่ได้ คิดเอาเองไม่ได้ เป็นสภาพของญาณที่ใช้ตรวจกิเลส เป็นสภาพรู้ถึงกิเลส ชัดเจนในใจว่ากิเลสยังเหลืออยู่ไหม เหลือมากน้อยเท่าไหร่ เจริญขึ้นหรือเสื่อมลง ในผู้ที่กินมังสวิรัติเพื่อล้างกิเลสจะได้รับญาณเหล่านี้มาด้วยเมื่อพัฒนาการปฏิบัติไปเรื่อยๆ

การปฏิบัติเพื่อล้างกิเลสนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่เมตตาสัตว์ ไม่สงสารสัตว์ แต่การจะถึงผลได้นั้น ต้องนำทุกวิถีทางที่กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นบทความเข้ามาเป็นตัวพิจารณาธรรม ซ้ำยังต้องพิจารณาไปถึงกรรมและผลของกรรม พิจารณาไตรลักษณ์ ให้ตรงเข้ากับกิเลสนั้นๆ ในกรณีนี้ก็คือการพิจารณากรรมและผลของกรรมของความอยากเสพ และพิจารณาความเป็นทุกข์ของความอยากเสพ ความไม่เที่ยงของความอยากว่ามันเพิ่มได้มันลดได้ และความไม่มีตัวตนของความอยากนี้อย่างแท้จริง

การพิจารณาล้างกิเลสนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่ตั้งใจแล้วจะทำได้แต่ยังต้องมีกำลังที่มาก เรียกได้ว่าต้องมีอินทรีย์พละที่แกร่งกล้าพอที่จะต้านทานพลังของกิเลสได้ ดังที่กล่าวว่าโจทย์ของเราคือความอยากเสพเนื้อสัตว์โดยใช้การตรวจวัดไปที่ใจ ดังนั้นการเห็นใจอย่างละเอียดนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย หากคนที่ปฏิบัติน้อยมองผ่านๆก็จะเหมือนยืนมองฝุ่นที่พื้นซึ่งอาจจะไม่เห็นฝุ่น คนที่ปฏิบัติเก่งขึ้นมาก็จะใช้แว่นขยายดูฝุ่นนั้น ส่วนขึ้นที่เก่งขึ้นมาอีกก็เหมือนใช้กล้องจุลทรรศน์ดูฝุ่นนั้น

การเห็นกิเลสนั้นจะเป็นไปโดยลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ต้องทำลายกิเลสหยาบจึงจะสามารถเห็นกิเลสกลาง ทำลายกิเลสกลางถึงจะเห็นกิเลสละเอียด นั่นเพราะในระหว่างปฏิบัติศีลไปเรื่อยๆ เราก็จะได้มรรคผลมาเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้เราสามารถรู้และเห็นกิเลสที่เล็กและละเอียดนั้นได้มากขึ้น

เราปฏิบัติโดยทำลายความอยากที่จิตสำนึก ทำลายไปจนถึงจิตใต้สำนึก และล้วงไปจนถึงจิตไร้สำนึก ละเอียดลงไปเรื่อยๆดำดิ่งลึกลงไปให้เห็นกิเลสที่ฝังอยู่ข้างในจิตใจทำลายไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดสิ้น

แต่ถ้าหากว่าเรายังยินดีในศีลเพียงแค่ละเว้นการฆ่าสัตว์ ละเว้นการเบียดเบียนสัตว์ พอใจและมั่นใจแล้วว่าสิ่งนี้ดีที่สุดแล้วจะถือศีลนั้นไปเรื่อยๆก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายเท่าไรนัก เพราะพ้นภัยจากกรรมแห่งการเบียดเบียนได้บ้างแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การกดความรู้สึกจากร่างกายเข้าไปหาใจนั้นไม่ใช่ทางดับทุกข์ที่เหตุ แต่เป็นการดับที่ปลายเหตุซึ่งนั่นหมายความว่า ความอยากนั้นอาจจะกลับกำเริบขึ้นมาในวันใดวันหนึ่งก็ได้ หรือชาติใดชาติหนึ่งก็ได้เช่นกัน ถึงแม้ในชาตินี้เราจะสามารถกดข่มความอยากไว้ด้วยความเมตตาได้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากิเลสจะไม่เติบโต

กินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าล้างกิเลสเป็น

การกินมังสวิรัติได้ ถึงแม้จะกินได้ตลอดชีวิตแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถล้างกิเลสได้หรือล้างกิเลสเป็นเพราะการกินมังสวิรัติได้นั้น สามารถใช้เพียงสัญชาติญาณความเมตตาทั่วๆไปกดความชั่วนั้นไว้ได้แล้ว นั่นเพราะการเบียดเบียนสัตว์เป็นบาปที่เห็นได้ชัดเจน เหมือนกับการที่เรารู้ว่าการฆ่าสัตว์ไม่ดี เราจึงไม่ตบยุง แต่ความโกรธ ความรำคาญ ความแค้นยุงยังมีอยู่ ถึงเราจะไม่ตบไปทั้งชีวิตก็ไม่ได้หมายความว่ากิเลสจะตาย มันเพียงแค่ถูกฝังกลบไว้ในความดี ไว้ในจิตลึกๆเพียงแค่ยังไม่แสดงตัวออกมา

…สรุปข้อแตกต่าง

ข้อแตกต่างของผลในการกินมังสวิรัติแบบกดข่มกับแบบล้างกิเลสคือ การกดข่มจะใช้พลังความดีและใช้ธรรมะในการกดความชั่วเอาไว้ไม่ให้ออกมาเพ่นพ่าน ไม่ให้หลุดออกมาทั้งทางกายวาจาใจ แต่เมื่อทำไปนานวันเข้าจะมีความกดดันและจะเครียดหรือสร้างบรรยากาศที่ตึงเครียด เป็นสภาพของการยึดมั่นถือมั่น เพราะทำจากข้างนอกเข้ามาข้างใน

ส่วนแบบล้างกิเลสคือการใช้พลังปัญญาเข้าไปล้างเชื้อชั่วข้างในจิตวิญญาณเลย เมื่อทำไปนานวันเข้าจะเก่งขึ้นเรื่อยๆ สติ ปัญญา เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา จะขยายขอบเขตมากขึ้น ความโปร่งโล่งสบายจะแผ่กระจายออกไปจนคนอื่นรับรู้ได้และมีพลังที่จะส่งต่อสิ่งดีๆให้ผู้อื่นอย่างมีศิลปะ มีไหวพริบ มีการประมาณที่จะยิ่งเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นสภาพของการปล่อยวาง เพราะทำจากข้างในแผ่ออกไปข้างนอก

การค้นหากิเลสและทำลายกิเลสอย่างถูกวิธีนั้นต้องดำเนินไปตามขั้นตอนของวิปัสสนาญาณ ๑๖ ซึ่งจะเป็นทั้งเป้าหมายและเป็นตัวตรวจสอบสภาพว่าเราได้ดำเนินการผ่านกิเลสนั้นมามากน้อยเท่าไร ถึงระดับไหน และอีกไกลเท่าไร ผลคือแบบไหนเราจึงจะไม่หลงไปในกิเลส ไม่ต้องหลงทางวนเวียนอยู่กับการหลอกหลอนของกิเลสอีกต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

5.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์