Tag: นามธรรม

การลดกิเลส ความดีที่เข้าใจได้ยาก

July 31, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,883 views 1

การลดกิเลส ความดีที่เข้าใจได้ยาก

การลดกิเลส ความดีที่เข้าใจได้ยาก

หากเราจะกล่าวกันถึงเรื่องลดกิเลสนั้น ก็เป็นเสมือนเรื่องนามธรรมที่มองไม่เห็น เป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจ เป็นเรื่องที่ถูกลืมไปแล้วในสังคมพุทธบ้านเรา

เรามักจะมองเห็นการทำดีที่เป็นรูปธรรมได้ชัดเจน ใครทำดีก็ทำไปตามที่สังคมเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี แต่การลดกิเลสกลับเป็นเรื่องที่ดูมีคุณค่าน้อย ดูเป็นเรื่องอุดมคติ มองไม่เห็น วัดไม่ได้ ไม่เหมือนการทำดีตามสังคมนิยมทั่วไปที่เห็นภาพกันได้ชัดเจนเลยว่าใครทำอะไร เท่าไหร่ อย่างไร…

(ต้องขออภัยที่ในบทความนี้ต้องยกตัวอย่างการปล่อยปลา ซึ่งผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาให้กระทบใคร การปล่อยปลาช่วยเหลือปลาก็เป็นสิ่งดีถ้าปลานั้นได้รับความทุกข์ทรมานอยู่ ซึ่งการช่วยเหลือเกื้อกูลสัตว์เป็นสิ่งที่ดีสามารถทำได้ เป็นสิ่งที่เป็นกุศล แต่กระนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้สนับสนุนในการซื้อขายชีวิตสัตว์เพราะเป็นมิจฉาวณิชชาหรือการค้าขายที่ชาวพุทธไม่ควรทำ)

หากเราจะเปรียบเทียบการทำดีในมุมที่สังคมเข้าใจกับการลดกิเลส ก็จะยกตัวอย่างในกรณีการปล่อยปลา คนที่คิดว่าการปล่อยปลาดีนั้น เขาก็จะนำปลามาปล่อย ปล่อยตัวเดียวคนก็ยินดีประมาณหนึ่ง ปล่อยเป็นล้านตัวคนก็ร่วมยินดีกันยกใหญ่ เข้าใจตามประสาสังคมว่าเป็นบุญใหญ่ ความดีแบบนี้มันเห็นได้ง่าย ผู้คนเข้าใจ ร่วมยินดี ให้ความเคารพ

แต่ถ้ามาเรื่องลดกิเลส เราอาจจะไม่ได้ซื้อหรือหาปลามาปล่อยลงแม่น้ำเหมือนคนอื่นเขา แต่เราปล่อยให้ปลาใช้ชีวิตไปตามธรรมชาติของมัน ไม่ซื้อ ไม่จับ ไม่กินมัน คือละเว้นการกินเนื้อปลาตลอดชีวิตเพราะรู้ว่าความอยากกินเนื้อปลานั้นยังผลให้ต้องเบียดเบียนปลา และเบียดเบียนตนเองด้วยอกุศลกรรมและทุกข์จากความอยากกิน สุดท้ายจึงกลายเป็นคนที่ไม่กินปลา

ความดีที่เห็นและที่เป็น

หากจะถามว่าเราสามารถเห็นความดีแบบไหนได้ง่าย โดยส่วนมากเขาก็จะตอบว่าปล่อยปลาล้านตัว เขาไม่มาสนใจคนที่เลิกกินเนื้อปลาหรอก เพราะมันเป็นรูปธรรม มันชัดเจน เข้าใจง่าย

แต่หากจะถามว่าอะไรเป็นความดีมากกว่า ก็ต้องตอบว่าการลดกิเลส เพราะการลดความอยากได้นั้นคือการปฏิบัติสู่หนทางสู่การพ้นทุกข์ การทำลายกิเลสจนสิ้นเกลี้ยงเป็นเป้าหมายของศาสนาพุทธ แม้จะทำได้แค่เรื่องเดียวก็เป็นเรื่องที่มีกุศลมากแล้ว เป็นความดีมากแล้ว

ความชั่วที่เห็น

หากจะถามว่าเราจะเห็นสิ่งชั่วแบบไหนได้ง่าย โดยส่วนมากเขาก็จะตอบว่าปล่อยปลาล้านตัว คนที่ช่างสังเกตก็จะมองว่าแล้วหาปลามาจากไหน จับมาหรือเพาะพันธุ์มา แล้วจะทำให้ระบบนิเวศเสียไหม แล้วทำไมไม่เลิกกินปลาเสียเลย เห็นบางคนปล่อยปลาแล้วก็ไปกินปลาต่อ ซึ่งการทำดีแบบโลกๆก็คงจะหนีไม่พ้นสรรเสริญและนินทา

ส่วนการทำลายความอยากจะไม่สามารถเห็นสิ่งชั่วได้เลย เพราะไม่ไปเบียดเบียนให้มันชั่ว ไม่ยุ่งกับสัตว์อื่นให้ต้องมีอกุศลกรรมใดๆ แม้จะไม่ได้ดีโดดเด่นอะไร แต่เพียงแค่ไม่มีชั่วปนอยู่เลยก็เพียงพอแล้ว และไม่ต้องได้รับสรรเสริญนินทามาก จนเสี่ยงต่อการเกิดสิ่งชั่วขึ้นอีก

ความจริงที่ปรากฏ

การปล่อยปลา หรือการทำดีที่เข้าใจกันโดยทั่วไปเช่น การสละทรัพย์สร้างวัตถุ การสละแรงงาน ฯลฯ เหล่านั้นมีความไม่แน่นอน นั่นหมายถึงไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา อาจจะมีเหตุปัจจัยให้ทำได้หรือไม่ได้ก็ได้ ดังนั้นการทำความดีตามที่โลกเข้าใจนั้น ยังมีข้อจำกัดที่มาก ไม่สามารถทำได้ทุกวัน

แต่การละเว้นปลานั้น เป็นความดีที่ทำได้ทุกวัน ทุกมื้ออาหาร โดยเฉพาะคนที่ทำลายกิเลสได้จริง เขาก็จะดีของเขาไปทุกวันเช่นนั้น ไม่ต้องรอโอกาส ไม่ต้องมีเวลาพิเศษ ไม่ต้องสละทรัพย์ใดๆเพื่อความดี แต่เป็นการสละกิเลสเพื่อความดี ความดีก็จะคงอยู่กับตัวเขาไปเช่นนั้น ทุกวัน ทุกเวลา และสามารถละเว้นสิ่งอื่นๆได้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างความดีในตนสะสมไปอีก

ความจริงตามความเป็นจริง

หากเอาความดีตามที่โลกเข้าใจนั้นก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องทางรูปธรรม เข้าวัด ปล่อยปลา ทำทาน สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล สร้างวัด ฯลฯ แต่ในทางพุทธศาสนาแล้ว เราไม่ได้มุ่งเน้นด้านวัตถุหรือรูปธรรมมากนัก แต่จะเน้นหนักไปทางด้านจิตใจหรือเรื่องนามธรรมเป็นส่วนใหญ่

ความดีสูงสุดที่มนุษย์ควรจะกระทำคือการชำระกิเลส การปฏิบัติตนให้พ้นจากกิเลส ที่เป็นเหตุแห่งความชั่วทั้งปวง ดั้งนั้นความเป็นพุทธจึงไม่ได้มุ่งเน้นการทำดีเป็นอันดับแรก แต่เอาการหยุดชั่วมาเป็นสิ่งแรกที่มนุษย์สมควรทำ การจะหยุดชั่วได้นั้น จะต้องหยุดที่กิเลส ถ้ายังมีกิเลสอยู่ก็จะยังชั่วอยู่ เมื่อหยุดชั่วได้หมดก็จะเป็นความดีไปในตัว แต่กระนั้นท่านก็มิได้บอกให้หยุดชั่วแล้วอยู่เฉยๆ แต่ให้เพียรทำดีด้วย คือสร้างประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่นไปด้วย สุดท้ายแล้วคือหมั่นทำจิตใจของตนให้ผ่องใสจากกิเลสอื่นๆที่ยังหมักหมมในจิตใจให้หมดสิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

28.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กินมังสวิรัติด้วยเมตตาหรืออัตตา

January 19, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,486 views 0

กินมังสวิรัติด้วยเมตตาหรืออัตตา

กินมังสวิรัติด้วยเมตตาหรืออัตตา

การปฏิบัติสู่การกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนนั้นมีหลากหลายวิธี มีความยากง่ายรายละเอียดซับซ้อนแตกต่างกันไป แม้ว่าสุดท้ายแล้วผลทางรูปธรรมที่เห็นได้คือเราสามารถกินมังสวิรัติได้เหมือนกันทุกคน แต่ผลทางนามธรรมนั้นกลับแตกต่างไปตามวิธีที่แต่ละคนยึดถือและปฏิบัติมา

ก).เมตตามังสวิรัติ

หลายคนมักจะเริ่มกินมังสวิรัติด้วยความเมตตา ความสงสาร เห็นว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นคือการเบียดเบียนทางอ้อมที่ได้รับบาปอย่างตรงไปตรงมา ก็จะเริ่มมีจิตใจที่ยอมสละอาหารจานเนื้อสัตว์ที่เคยโปรดปราน เพื่อละเว้นการเบียดเบียนสัตว์เหล่านั้น การไม่เบียดเบียนทางอ้อมก็ทำให้ผลดีเกิดขึ้นกับเขาเหล่านั้นทั้งด้านสุขภาพและจิตใจ

แต่ความเมตตานั้นไม่ใช่จุดจบสมบูรณ์ เมื่อเรามีจิตใจเมตตาแล้ว มีกรุณาคือการลด ละ เลิกเนื้อสัตว์ได้จริงแล้ว แต่ก็มักจะมาติดตรงมุทิตา เมื่อเราเห็นว่าคนอื่นสามารถกินมังสวิรัติกินเจ เห็นดีเห็นงานในการลดเนื้อสัตว์หันมากินผักกับเรา เราก็มักจะมีมุทิตาจิตหรือมีความรู้สึกยินดีตามเขาไปด้วย

แต่เมื่อเราพบว่าหลายคนยังยินดีกินเนื้อสัตว์ แถมยังหาเหตุผลมาย้อนแย้งคนที่กินมังสวิรัติ กล่าวเพ่งโทษ ให้ร้ายมังสวิรัติหรือสิ่งที่ตนยึดถือ แน่นอนว่านอกจากเราจะไม่สามารถมีจิตมุทิตาได้แล้ว เรายังอุเบกขาไม่ได้อีกด้วย

หลายคนมักจะเจอกับปัญหาความไม่ปล่อยวางความยึดดี เมื่อสามารถลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจได้อย่างสมบูรณ์แล้วก็มักจะยึดดีถือดี จนกระทั่งไม่สามารถปล่อยวางความดีเหล่านั้น เมื่อมีใครมาพูดกระแทกกระทบกระทั่งก็มักจะมีจิตใจที่ขุ่นเขือง ถ้าคุมไม่อยู่ก็ด่ากลับหรือออกอาการไม่พอใจต่างๆได้

เกิดเป็นสภาพพร่องๆของพรหมวิหาร ๔ เป็นคนที่มีเมตตาแต่ไม่มีอุเบกขา เริ่มเป็นแต่จบไม่เป็น จึงต้องเกิดสภาพทุกข์ใจอยู่เรื่อยไปเพราะวางความยึดดีเหล่านั้นไม่ลง

พรหมวิหาร หรือที่ตั้งแห่งความเป็นพรหมที่ครบองค์ประกอบนั้นต้องมีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาสอดร้อยอยู่ด้วยกันเสมอ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นคนเมตตาที่ทุกข์ เป็นคนดีที่มีแต่ทุกข์ ทำความดีแต่ไม่มีคนเห็นคุณค่าก็ทุกข์ เพราะไม่มีอุเบกขาเป็นตัวจบนั่นเอง

แต่การถึงอุเบกขาไม่ได้ง่ายเพียงแค่ปากท่องว่าปล่อยวางหรือใช้กำลังของจิตในการกดข่มสภาพทุกข์ อุเบกขานั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นเสีย แม้สิ่งที่เราทำจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเรายึดดีไว้เป็นตัวตนของเราก็จะเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป ผู้ที่สามารถปฏิบัติจนครบองค์ของพรหมได้นั้นจะเป็นมังสวิรัติที่มีเมตตาอย่างไม่มีขอบเขต กระจายความห่วงใยไปทั่วทั้งสัตว์ผู้มีกรรมและคนที่ยังมีกิเลส ไม่รู้สึกโกรธเกลียดขุ่นใจในเรื่องใดเลย แม้ว่าจะมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการกินมังสวิรัติ แม้จะโดนต่อว่าหรือหักหน้าก็ยังสามารถคงสภาพจิตใจที่ผ่องใสอยู่ได้

ข). อัตตามังสวิรัติ

แม้ว่าเราจะเริ่มต้นการกินมังสวิรัติด้วยเมตตาจิต แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความเราจะหนีพ้นอัตตา ดังนั้นอัตตาก็เป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในวิถีปฏิบัติสู่การกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนเช่นกัน

ในรูปแบบหยาบๆของอัตตานั้นคือการเปลี่ยนขั้วของการยึด ในตอนแรกนั้นหลายคนยึดเนื้อสัตว์เป็นอาหารในการดำรงชีวิต แต่พอคิดจะมากินมังสวิรัติหลายคนก็เปลี่ยนเอาผักและธัญพืชเป็นอาหารในการดำรงชีวิต เป็นเพียงการเปลี่ยนขั้วของการยึด

ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มักจะเห็นได้ง่ายที่สุดและมีให้เห็นได้บ่อยครั้ง เช่น คนที่ตัดสินใจเปลี่ยนมาลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติทันทีนั่นเอง จะเป็นสภาพที่สลับขั้วอย่างรุนแรง เปลี่ยนอัตตาจากขั้วหนึ่งไปอีกขั้วหนึ่ง ซึ่งนั่นก็หมายความว่ายังวนอยู่ในอัตตาซึ่งเป็นการยึดมั่นถือมั่นอยู่นั่นเอง

การสลับข้างของอัตตานั้นเป็นเรื่องปกติ เหมือนกับหลายครั้งในชีวิตที่เราเคยชอบอะไรแล้ววันหนึ่งกลับไม่ชอบ หรือเคยไม่ชอบอะไรวันหนึ่งกลับมาชอบ มันก็กลับไปกลับมาแบบนี้ เรื่องการกินเนื้อสัตว์และมังสวิรัติก็เช่นกัน ถ้าเราใช้ความยึดมั่นถือมั่นเป็นหลักในการปฏิบัติเราก็จะสลับไปสลับมาแบบนี้ อาจจะชาตินี้หรือชาติหน้าก็ได้ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร?

นั่นก็เพราะว่าการเปลี่ยนจากการยึดเนื้อสัตว์มายึดมังสวิรัตินั้นเป็นการเปลี่ยนแค่ความเห็น แต่กิเลสมันไม่ได้เปลี่ยนตามมาด้วย เราจะยังคงมีความสุข ความอร่อยจากการกินเนื้อสัตว์อยู่เหมือนเดิม สังเกตได้จากการทำวัตถุดิบเทียมเนื้อสัตว์ขึ้นมา บางชนิดทำได้เหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ ทั้งรสชาติและสัมผัส

แล้วทำไมแล้วยังต้องกินสิ่งเทียมเนื้อสัตว์ในเมื่อเราไมได้อยากกินเนื้อสัตว์แล้ว ทำไมเราไม่เปลี่ยนเมนูไปกินผัก กินเห็ด กินเต้าหู้หรือสิ่งที่มีกระบวนการสังเคราะห์ที่น้อยลง หาซื้อได้ง่าย ราคาถูก ไม่เป็นภัยมาก นั่นเพราะเรายังติดกิเลสในลักษณะที่เรียกว่ากามคุณอยู่นั่นเอง

เรายังหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของเนื้อสัตว์อยู่ ซึ่งในกรณีนี้เราไม่ได้ทำลายความหลงเหล่านี้ เพียงแค่ใช้อัตตาเข้ามาข่มความชั่วไว้ ยึดดีไว้ เมตตาเข้าไว้ เป็นคนดีละเว้นการเบียดเบียนเข้าไว้

แต่กิเลสมันไม่ได้ปล่อยให้เราทำดีอยู่แบบนั้น เมื่อกิเลสยังมีเชื้ออยู่ ความอยากเสพรสต่างๆของเราจะโตขึ้นเรื่อยๆ ใครที่มีแนวโน้มในการหาอาหารอร่อย หรือสิ่งเทียมเนื้อสัตว์ หรือแสวงหารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่ใกล้เคียงเนื้อสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ เตรียมใจไว้ได้เลยว่าวันใดวันหนึ่งหรือชาติใดชาติหนึ่งจะต้องหลุดจากวิถีของการกินมังสวิรัติ เวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์เหมือนเดิม

คนที่มีทิศทางที่จะเจริญไปได้อย่างยั่งยืนนั้น คือคนที่มีแนวโน้มที่จะลดการปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นลดความจัดของรสชาติ ลดการประดับตกแต่งที่สวยงาม ลดการใช้สิ่งเทียมเนื้อสัตว์ หรือลดความต้องการในการกินอาหารที่น้อยชนิดลงเช่น เลิกกินของทอด เลิกกินขนมหวาน การลดชนิดอาหารหรือลดความหลากหลายของความอยากนี้เอง จะเป็นสิ่งที่ประกันไม่ให้กิเลสของเราพาเราไปแสวงหาเมนูแปลกๆ เมนูเด็ดๆ ซึ่งเป็นการสะสมกิเลสที่จะทำให้เกิดความเสื่อมในศีลธรรมต่อไป

ดังจะเห็นได้ว่าการใช้ความยึดดีหรือใช้อัตตาเข้ามายึดว่า “ฉันจะเปลี่ยนมากินมังสวิรัติ ,ฉันจะไม่เบียดเบียนอีก” ไม่ใช่สิ่งยืนยันว่าจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างยั่งยืน เพราะหากวันใดวันหนึ่งที่ความอยากนั้นเกินปริมาณที่ความยึดดีจะทนไหว ก็อาจจะตบะแตกกลับไปกินเนื้อสัตว์และหลงว่าเป็นทางสายกลางจนไม่กลับมากินมังสวิรัติอีกเลยก็เป็นได้

…ไม่ว่าจะกินมังสวิรัติด้วยวิธีไหน ก็หนีเรื่องกิเลสไม่พ้น ไม่ติดกามก็ต้องมาติดอัตตา ติดไปติดมาวนเวียนกันไปมา ชาติหนึ่งกินเนื้อ อีกชาติกินมังสวิรัติ สลับไปมาแบบนี้เพราะเป็นชีวิตที่ถูกผลักดันด้วยกิเลส ไม่ว่าจะหลงยึดไปในด้านใด การหลงเหล่านั้นก็คือกิเลส เมื่อเราหลงไปในสิ่งใดเราก็มักจะลำเอียงให้คุณค่าแก่สิ่งนั้นอย่างมัวเมา ลองสังเกตดูว่าเรารู้สึกรักหรือชอบใจคนกินเนื้อกับคนที่กินผักเท่ากันหรือไม่

– – – – – – – – – – – – – – –

7.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

จิตว่าง

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,932 views 0

จิตว่าง

จิตว่าง

…ว่างจากอะไร?

จิตว่างเป็นคำที่ในยุคสมัยนี้นิยมกันมาก เพราะเป็นคำที่สั้น จำง่าย เหมาะกับยุคที่รวดเร็วร้อนแรงเช่นนี้อย่างยิ่ง แต่หลายคนมักจะมีนิยามของจิตว่างในใจที่ต่างกันออกไป มีการแตกประเด็นออกไปมากมายจากคำนี้ตามแต่ใจคน

เรื่องที่มาของคำนี้จะขอยกไว้ จะกล่าวแต่เพียงความเห็นที่ได้พบและประสบมาในปัจจุบัน เราอาจจะได้ยินคำว่าจิตว่างบ่อยครั้ง แต่หลายคนอาจจะสงสัยว่ามันว่างจากอะไร? แล้วมันว่างยังไง? ว่างแบบไหน? ต้องขนาดไหนถึงเรียกว่าว่าง? ว่างจริงๆมันเป็นอย่างไร?

จริงอยู่ที่ว่าสภาวธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะบอกกล่าวไม่ได้ เพียงแค่บอกแล้วอาจจะไม่เข้าใจกันเท่านั้นเอง แต่การไขสภาพหรือบอกกล่าวกันไว้ให้เป็นหลักอ้างอิงก็ยังดีกว่าไม่ได้ชี้แจงอะไร เพราะหากเราจะเหมารวมทุกอย่างเป็นปัจจัตตังแล้วเก็บอมไว้ แล้วใครล่ะจะรู้ว่าสิ่งที่คิดและเข้าใจนั้นมันถูกต้องจริงไหม บางครั้งเราอาจจะไปยึดสภาพที่ยังไม่ถูกตรงนักมาเป็นผลก็ได้ใครจะรู้…

1). จิตว่างจากความทุกข์

จิตว่างจากทุกข์นี้เป็นประโยคที่ตีความได้ทั้งทางโลกและทางธรรม แต่น้ำหนักส่วนใหญ่น่าจะเป็นไปทางโลก เพราะการจะว่างจากทุกข์นั้นทำได้ไม่ยากนัก ไม่ต้องใช้ธรรมะ ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นเรากำลังทุกข์เพราะหิว การไปกินอาหารก็ทำให้ทุกข์นั้นหายไป จิตก็ว่างจากทุกข์แล้ว

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง กำลังรู้สึกหงุดหงิดใจเพราะทำเงินหาย แต่พอเดินไปดูละครมันก็ลืมเรื่องทุกข์ไปแล้ว มันก็กลายเป็นจิตว่างจากทุกข์ อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น กำลังอกหักแฟนที่รักและผูกพันมาทิ้งไป ก็ไปทำให้จิตว่างจากทุกข์ด้วยการเสพสุขอื่นๆให้มัวเมาจนลืมทุกข์

สภาพของจิตว่างจากทุกข์นั้นโดยทั่วไปก็สามารถใช้วิธีวิ่งไปหาสุขก็สามารถออกจากสภาวะทุกข์ได้แล้ว หรือถ้าจะใช้สมถะเข้ามาช่วยก็ได้เช่นกัน ความเข้าใจว่าจิตว่างจากทุกข์จะพาลให้เฉโก(ฉลาดในเรื่องสะสมกิเลส)พาชีวิตไปเสพแต่สุขโลกีย์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเข้าใจว่าต้องทำชีวิตให้สุข ต้องอยู่อย่างมีความสุข ไม่จมทุกข์

จริงๆแล้วจิตว่างจากทุกข์นั้นก็หมายถึงการคิดบวก การคิดในแง่ดี มองโลกในแง่ดีทั่วไป แม้ทางภาษาอาจจะต่างกันแต่สภาวะนั้นเป็นแบบเดียวกัน

ในส่วนจิตว่างจากทุกข์ในระดับทางธรรมนั้นจะต่างออกไป คำว่าว่าง คือไม่มี ว่างจากทุกข์คือไม่มีทุกข์เลย ทุกข์ในที่นี้คือทุกข์ทางใจเท่านั้น และผู้ที่จะเกิดสภาพนี้ได้คือผู้มีสภาวะของพระอรหันต์เท่านั้น เข้าใจง่ายๆแค่ว่าไม่มีกิเลสก็ไม่ต้องทุกข์ ดังนั้นมันจึงว่างจากทุกข์

2). จิตว่างจากความคิด

เป็นอีกความหมายหนึ่งของจิตว่างที่ได้ยินบ่อย หลายคนตีความว่า “สุขก็เพราะความคิด ทุกข์ก็เพราะความคิด” ก็เลยหาวิธีดับความคิดเสียเลย

การทำให้จิตว่างจากความคิดปรุงแต่งหรือการสังขารนั้น โดยทั่วไปมักจะใช้วิธีการสมถะเข้ามาจัดการกับความคิด ใช้อุบายทางใจที่สารพัดจะคิดขึ้นมา ตบ ดับ กดข่ม เมินเฉย ดูเฉยๆ รอจนดับไป หรืออะไรก็ได้ที่ทำให้เราไม่ต้องไปยุ่งกับความคิดเหล่านั้นซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นวิธีของสมถะ

ในสมัยนี้วิธีสมถะนั้นมีมากมาย ที่รู้กันโดยทั่วไปก็จะมีนั่งสมาธิ เดินจงกรม เพ่งกสิณ จดจ่ออยู่ที่ใดที่หนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ก็มีการพัฒนาวิธีขึ้นให้เหมาะกับจริตของคนที่หลากหลายขึ้นเช่นการขยับตัวไปในท่าต่างๆ ย้ายจิตไปจดจ่อกับสิ่งอื่น ทิ้งผัสสะที่เกิดขึ้นแล้วไปสนใจสิ่งอื่น จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำโดยไม่คิด ไม่ปรุงแต่งใดๆ

การฝึกสมถะจะได้ผลเป็นฌานอยู่เหมือนกันแต่จะเป็นฌานฤๅษี เกิดจากการทำให้จิตจมไปอยู่ในภพใดภพหนึ่งและจมลึกไปเรื่อยๆ ดับไปเรื่อยๆ ดับตั้งแต่สังขาร(ความคิด) ดับสัญญา(ความจำได้หมายรู้) จนเกิดเป็นสภาพที่จิตว่างจากความคิด เกิดความสงบ เป็นความสุขที่เกิดจากความทุกข์ที่ถูกดับทิ้งจากการคิดฟุ้งซ่านนั่นเอง

การทำสมถะในสมัยนี้ก็มีรูปแบบให้เห็นอย่างหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น “สมถะลืมตา” คือทำสมถะทั้งที่ลืมตาและใช้ชีวิตนั่นแหละ ใช้ชีวิตได้แบบคนปกติเลย ไม่ต้องไปนั่งสมาธิ แต่ก็ใช้วิธีของสมถะดับความคิดไปด้วย จนบางครั้งมีหลายคนหลงเข้าใจผิดว่าเป็นวิปัสสนา ซึ่งจริงๆแล้วมักจะไม่ได้เกี่ยวกับการวิปัสสนาเลย เป็นสมถะแท้ๆเพียงแค่ไม่ได้ทำเหมือนที่เข้าใจโดยทั่วไป

เมื่อสามารถทำจิตว่างจากความคิดได้แล้วเกิดความสุขความสงบ หลายคนจึงปักมั่นในสภาวะนั้นว่าคือผลเจริญของพุทธ จริงๆแล้วไม่ใช่เพราะการปฏิบัติแบบสมถะหรือแบบฤๅษีก็มีผลเจริญและสงบแบบฤๅษีเช่นกัน มันมีความสุขจริง มันว่างจริง ซึ่งมักจะพาให้เข้าใจผิดกันไปได้

หลายคนพอใจที่ตัวเองทำจิตว่างจากความคิดได้ จนสามารถควบคุมความคิดได้ แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าวิธีนั้นคือวิธีพ้นทุกข์ ซึ่งอาจจะเป็นความประมาทที่ค่อนข้างมาก เพราะลืมพิจารณาไปว่าความคิดเหล่านั้นมันเกิดขึ้นเพราะอะไร อะไรคือตัวการที่ทำให้คิด ทำไมมันจึงทุกข์เมื่อคิด สิ่งเหล่านี้มักจะถูกมองข้ามไป เพราะหลงเสพหลงยึดเพียงความสงบด้วยความว่างจากความคิดนั่นเอง

3). จิตว่างจากตัวตน

เป็นอีกลักษณะความเข้าใจที่มักจะพบเห็นได้โดยทั่วไป เพราะเขาเหล่านั้นเห็นว่าการมีอัตตาเป็นทุกข์ ก็เลยทำให้เป็นอนัตตาเสียเลย ปราศจากตัวตนเสียเลย ว่างจากตัวตนเสียเลยก็น่าจะดี

จริงๆแล้วการใช้ตรรกะหรือความคิดเข้าไปกำหนดสภาวะมันก็ดูจะเป็นอะไรซื่อๆไปสักหน่อย แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนยึดมั่นถือมั่นการใช้ภาษาเข้ามากำหนดสภาวธรรม เพราะจริงๆแล้วการทำลายอัตตาจนกลายเป็นอนัตตานั้นไม่ได้ง่ายเพียงแค่คิด เพียงแค่กำหนดจิต เพียงแค่หมั่นกระทำจิตให้ไม่ถือตัวถือตน มีอะไรมากระทบก็วางเฉย เห็นว่าเป็นเช่นนั้นเองมันก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเช่นนั้นเอง สิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนของเราก็เท่านั้นเอง มันคิดและท่องจำเอาแบบนี้ไม่ได้

การกระทำเหล่านั้นแท้จริงก็อยู่ในลักษณะของสมถะ เป็นการทำสมถะที่ใช้ธรรมะเข้ามาเป็นกรรมฐาน ใช้เป็นบทบริกรรมแทนพุท-โธทั่วไป ซึ่งจะดูซับซ้อนกว่าวิธีสมถะทั่วไปอยู่บ้าง แต่การคิดพิจารณาเป็นรูปแบบเดิมๆ ซ้ำแบบเดิมๆ เพื่อให้จิตเข้าสู่ภพใดภพหนึ่ง หรือสภาพใดสภาพหนึ่งก็เป็นสมถะอยู่ดี ยังไม่ได้เข้าวิปัสสนาแต่อย่างใด

ความเห็นเช่นนี้มักจะมีคนสนใจมาก แม้คนที่เชื่อเช่นนี้ก็จะดูดีมาก ดูเหมือนคนไม่ยึดมั่น ไม่มีอัตตา ดูเหมือนสามารถปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้ จริงๆแล้วก็เหมือนฤๅษีที่ทำสมถะ ทำสมาธิจนเป็นฌานทั่วไปนั่นแหละ มันก็จะมีความสุข ความสงบที่เกิดขึ้นเช่นกัน

แต่การเข้าใจว่าจิตว่างจากอัตตาแล้วใช้ตรรกะ ใช้ความคิด ใช้การตรึกตรองในความไม่มีอัตตาแล้ว อาจจะให้ผลเสียที่ร้ายสุดท้ายก็ได้ เพราะการที่เราคิดหรือหมายมั่นว่าการปฏิบัติธรรมนั้นคือการไม่มีอัตตาตั้งแต่แรกคือการเอาตอนจบมาทำตั้งแต่แรก ซึ่งขัดกับหลักของพุทธ เพราะศาสนาพุทธนั้นต้องปฏิบัติไปโดยลำดับ จากหยาบ กลาง ละเอียด

แน่นอนว่าก่อนจะไปถึงการไม่ยึดมั่นถือมั่นหรือไม่มีอัตตานั้น จะต้องทำลายทางโต่งไปทางด้านกามเสียก่อนถึงจะมีผลเจริญจริงๆ แต่ในเมื่อเราใช้ความเห็นผิดเข้ามาเป็นตัวปฏิบัติ ใช้กรรมฐานเข้ามากดข่มให้เกิดสภาพอนัตตาหลอกๆ ก็เหมือนเราข้ามขั้นตอน เหมือนข้อสอบที่มีคำถามสองหน้า แต่เราพลิกไปทำหน้าหลังแล้วส่งเลย

ธรรมะก็เช่นกัน กามนั้นมีภัยมาก หลายคนที่ทำตัวให้รู้สึกว่าเป็นผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่นตั้งแต่แรกก็จะหลงกลายเป็นว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นในการละกามเสียเลย มองว่าการไปละกามนั้นคือตัวตนก็ว่าได้ กลายเป็นมองว่าไม่มีสิ่งใดเป็นตัวเป็นตนให้ยึดมั่นถือมั่น

สุดท้ายก็ไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไรเลย จริงๆแล้วก็เหมือนคนธรรมดาที่ยังเสพกามนั่นแหละ แต่แย่กว่าตรงที่หลงผิด หลงผิดทั้งลำดับการปฏิบัติ หลงผิดทั้งสมถะวิปัสสนา หลงผิดทั้งอัตตา-อนัตตา คือไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย มาถึงก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น สุดท้ายก็เสพกามแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น ทำชั่วแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็เพี้ยนไปอย่างนั้นเอง

จิตว่างจากตัวตนแท้นั้นก็มีผลอยู่แต่จะอธิบายอยู่ในหัวข้ออื่นต่อไป…

4). จิตว่างจากปัญญา

จิตว่างแบบนี้ที่จริงแล้วไม่มีอยู่หรอก ไม่มีใครบัญญัติไว้ สร้างขึ้นมาใหม่ในบทความนี้เพื่อเป็นตัวสรุปของความผิดพลาดในการปฏิบัติธรรมจนหลงผิด

วิธีการปฏิบัติธรรมในปัจจุบันนั้นมีมาก หลายคนแม้จะเอาจริงเอาจังกับการปฏิบัติแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดมรรคผลตามหลักศาสนาพุทธ แน่นอนว่าการปฏิบัติที่เพียรพยายามนั้นต้องการผลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่การปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนก็จะนำมาซึ่งผลที่ผิดเพี้ยนเช่นกัน

ผู้มีมรรคผลที่ผิดเพี้ยนมักจะไม่รู้ตัว เพราะคนที่มิจฉาทิฏฐิจะไม่มีทางรู้ตัวอยู่แล้ว ก็จะเชื่อว่าตนเองนั้นสัมมาทิฏฐิ เชื่อว่าการปฏิบัติของตนนั้นถูกต้อง พ้นทุกข์ได้จริง ปฏิบัติได้จริง มีผลจริงๆ สภาพที่เห็นจะเหมือนกับการปฏิบัติแบบพุทธเลย แต่นามธรรมภายในจะต่างกัน เรียกว่าสัญญาเดียวกันกายต่างกัน

คือจะใช้ศัพท์ ภาษา สมมุติเหมือนกันหมด เรียกสภาวะอย่างเดียวกัน สงบก็สงบเหมือนกัน ว่างก็ว่างเหมือนกัน ดับก็ดับเหมือนกัน ดังนั้นเวลาคุยกันก็จะเหมือนว่าบรรลุธรรมพ้นทุกข์กันจริงๆ แต่ไม่มีใครรู้จริงหรอกว่าสภาพจิตใจที่เกิดนั้นถูกจริงหรือผิดเพี้ยนไป ใครจะรู้ในเมื่อมิจฉาทิฏฐิก็หลงว่าตัวเองสัมมาทิฏฐิ จึงมีผู้บรรลุธรรมเต็มประเทศไปหมด แล้วคนไหนของจริง คนไหนของปลอม ใช้อะไรแยก จะรู้ได้อย่างไร คนนั้นก็อวดว่าตนจริง แล้วก็ชี้ว่าคนอื่นปลอม มันก็มีให้เห็นแบบนี้บ่อยๆ

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สัมมาอริยมรรคนั้นเป็นทางเอกทางเดียวที่พาพ้นทุกข์ เราสามารถใช้มรรคที่ถูกตรงนี้เป็นตัววัดได้คร่าวๆ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีหลายสำนักหลายกลุ่มที่อ้างว่ามรรคของตนถูก แน่นอนว่ามีทั้งถูกและผิด มิจฉาทิฏฐิก็ปฏิบัติมรรค สัมมาทิฏฐิก็ปฏิบัติมรรคและเกิดสภาพจิตว่างเหมือนกันด้วย

กลับมาที่หัวข้อ ในหัวข้อนี้คือ “จิตว่างจากปัญญา” ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาที่มีปัญญา ดังนั้นจิตที่ว่างจากปัญญาจึงไม่ใช่พุทธ ปัญญาในทีนี้นั้นไม่ใช่ปัญญาที่เพียงแค่ทำให้มีความสงบ ความสุข ความว่างจากความคิด ความว่างจากตัวตนโดยใช้ความคิด แต่เป็นปัญญาที่ทำให้สงบจากกิเลส ชำระกิเลส ดับกิเลส

การดำเนินตามสัมมาอริยมรรคนั้นหมายถึงทางที่พาไปสู่ความเจริญเพียงอย่างเดียว ทางที่พาลดละกิเลส สวนกระแสโลก ทางที่พาให้คิดดี พูดดี ทำดี ทำงานดี ดังนั้นการไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำนั้นไม่ใช่วิธีปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ การที่จะเดินทางไปสู่ความผาสุกจะต้องคิด พูด ทำ

แล้วมันต้องคิด พูด ทำอะไร? ก็คือคิดไปในทางลดกิเลส พูดแต่เรื่องลดกิเลส ทำแต่สิ่งที่พาลดกิเลส

แล้วมันจะคิด พูด ทำ อย่างไร? แบบนี้มันก็ต้องมีปัญญา คนที่ปฏิบัติยังไม่ถูกทางก็จะไม่มีปัญญา จิตก็เลยว่างจากปัญญา กลายเป็นคนไม่มีปัญญา แม้จะมีความสุข ความสงบ ความไม่มีตัวตน แต่กลับไม่มีปัญญารู้ในเรื่องลดกิเลส ไม่มีปัญญาจัดการกับกิเลส ไม่รู้แจ้งเรื่องกิเลส ก็เรียกได้ว่า “จิตว่างจากปัญญา

5). จิตว่างจากกิเลส

มาถึงประเด็นหลักกันเสียที ถ้าจะให้คำว่าจิตว่างมันถูกตรง ถูกตามพุทธนี่มันก็ต้องว่างจากกิเลสนี่แหละ แต่สภาวะว่างจากกิเลสนั้นก็ยังมีคนหลงผิดกันไปมาก ก็จะขอขยายตรงนี้กันให้เข้าใจกันเสียก่อน

เรามักจะเข้าใจว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นคือกิเลส ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความโลภ ฯลฯ ซึ่งก็ถูกต้องเช่นนั้น แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นกิเลสปลายเหตุ หลายคนสามารถดับความโกรธที่เกิดขึ้นได้แล้วหลงเข้าใจไปว่า เรานี่ว่างจากกิเลสแล้ว ซึ่งจริงๆมันก็ไม่ได้ง่ายแบบนั้นเสียทีเดียว

การดับความโกรธ ความคิด ความฟุ้งซ่านต่างๆได้ ถ้าเราใช้วิธีสมถะก็สามารถดับทิ้งไปได้แล้ว ยังไม่ได้เข้าหลักการลดกิเลสแต่อย่างใด เป็นเพียงการใช้สมถะเข้ามาตบกิเลสที่ฟุ้งขึ้นมาให้ดับลง ทำให้กิเลสที่แสดงตัวนั้นดับลงเท่านั้น จริงๆแล้วคนที่ทำได้แบบนี้ก็ถือว่าดีแล้ว เก่งแล้ว แต่ก็มักจะหลงเข้าใจว่า สิ่งนี้เรียกกว่าการดับกิเลส หรือจิตว่างจากกิเลส ซึ่งจริงๆเรื่องกิเลสมันไม่ได้ตื้นเขินแบบนั้น มันไม่ได้ง่ายแบบนั้น

การที่จะจิตว่างจากกิเลสได้ ต้องปราศจากกิเลสใดๆในเรื่องนั้นๆเลย ถ้าว่างได้หมดก็เป็นพระอรหันต์เท่านั้นเอง แต่การจะว่างได้ก็ไม่ได้ว่างเพียงแค่ดับปลายเหตุ แต่ต้องขุดลึกลงไปถึงต้นเหตุที่เรียกว่าสมุทัย

โดยทั่วไปเรามักจะมองง่ายๆ แบบตื้นๆว่า ทุกข์เกิดเพราะเราโกรธเพราะเรามีตัวตน พอเราดับความโกรธดับตัวตนก็ไม่ต้องทุกข์ แบบนี้ใช้สมถะก็ได้ ฤๅษีก็ทำได้ยังไม่ต้องเข้าพุทธ ซึ่งหมายความว่าวิธีดับที่เหตุนี่ยังไม่ใช่พุทธนั่นเอง

แต่ถ้าวิธีของพุทธจะมองสมุทัยลึกลงไปอีก เช่น เราเกิดทุกข์เพราะเราโกรธ แล้วเราทำไม่จึงโกรธ เพราะเราไม่ได้สิ่งนั้นมาเสพสมใจใช่ไหม แล้วเราอยากเสพสิ่งนั้นไปทำไม เราติดสุขอะไร …. การหาเหตุแห่งทุกข์ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีรูปแบบแน่ชัดนัก ขึ้นอยู่ว่าใครสะสมกิเลสมาหนาขนาดไหน ซับซ้อนขนาดไหน แต่ละคนก็จะมีเหลี่ยมมุมในการวิเคราะห์กิเลสที่แตกต่างกัน เพราะเราชอบต่างกัน ยึดติดต่างกัน เรามีตัวตนที่ต่างกันไปตามกรรมของแต่ละคน

ดังนั้นการปฏิบัติธรรมนั้นจึงไม่มีสูตรสำเร็จใดๆให้ท่องจำแล้วทำตามจึงจะบรรลุธรรม แต่เป็นการปฏิบัติไปเพื่อล้างกิเลสที่เป็นของตัวเอง เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติเอาเอง ทำเอาเอง ตามรูปแบบของกิเลสตัวเอง จะมีก็เพียงหลักพื้นฐานเพื่อให้พิจารณาเช่น ไตรลักษณ์ ประโยชน์และโทษ กรรมและผลของกรรม

แต่การพิจารณานี้ไม่ได้พิจารณากันที่ผลที่เกิด แต่ต้องพิจารณาไปที่สมุทัย ที่กิเลสที่ซ่อนอยู่ลึกๆ เหมือนกับการแก้ปัญหาให้ถูกจุด ถ้าเราไปใช้ไตรลักษณ์ ทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน กับความโกรธที่เป็นผลปลายเหตุ มันก็จะเข้าลักษณะของสมถะเท่านั้นเอง

เพราะแท้จริงแล้วการจะได้มาซึ่งจิตว่างจากกิเลสไม่ใช่ด้วยการท่องจำ หรือใช้กรรมฐานต่างๆ พอเราเจอตัวกิเลสจริงๆ มันจะพิจารณาไตรลักษณ์ไม่ออก เมื่อเรายึดติดเราจะรู้สึกว่ามันเที่ยง ไม่เป็นทุกข์ มันเป็นตัวตนของเรา กิเลสจะไม่ยอมให้เราเห็นต่างจากนี้ ถึงแม้เราจะท่องด้วยภาษา แต่จิตเราไม่ได้ลดกิเลสจริง มันก็จะติดจะยึดอยู่แบบนั้นเอง นี่แหละคือความจริงของการปฏิบัติธรรม รู้จริง เห็นจริง ในทุกเหลี่ยมมุมของกิเลสกันเลย

ทีนี้พอปฏิบัติเพื่อชำระล้างกิเลสเป็นแล้ว เข้าใจอริยสัจ ๔ ,สัมมาอริยมรรคแล้ว ก็จะเดินหน้าลุยล้างกิเลสลูกเดียว มีกิเลสไหนสู้ไหวก็จะสู้ ไม่ปล่อยทิ้งให้เวลาเสียเปล่า จนเกิดเป็นผลจริง เกิดความว่างจากกิเลสจริง

แล้วว่างจากกิเลสในเรื่องไหน? ก็ว่างจากกิเลสในเรื่องที่ตั้งศีลเพื่อปฏิบัติ แล้วปฏิบัติไปพร้อมกันทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ใช้ไตรสิกขาเพื่อข้ามสามภพคือ กามภพ รูปภพ อรูปภพของกิเลสนั้นๆ จนกระทั่งกิเลสตาย

เมื่อกิเลสตายจึงว่างจากทุกข์ ว่างจากความคิดที่เจือปนด้วยกิเลส ว่างจากอัตตาตัวตนเพราะไม่ยึดมั่นทั้งกามและอัตตา จิตว่างที่แท้จริงมันว่างแบบนี้ มันว่างจากกิเลสเช่นนี้

6). สรุป

จริงๆแล้วคำว่า “จิตว่าง” คือสภาพของผล คือผลที่เจริญแล้ว คือการปฏิบัติที่เห็นผลแล้ว แต่หลายคนที่หลงผิดกลับเอา “จิตว่าง” มาเป็นมรรค คือใช้จิตว่างมาเป็นตัวปฏิบัติ พยายามให้จิตที่มีนั้นว่าง โดยมากก็ใช้วิธีสมถะทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อใช้มรรคที่ผิดจากทางพุทธ ผลก็ผิดจากทางพุทธไปด้วยเช่นกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

12.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,935 views 0

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

มังสวิรัติ รูปธรรม นามธรรม

รูปธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย เป็นภาพที่เห็นได้ เป็นอาการที่เห็นได้ เป็นความรู้สึกนึกคิดที่รับรู้ได้ การปฏิบัติใดๆที่ทำให้เกิดผลทางรูปธรรมนั้นทำได้ไม่ยากนัก แต่หากเป็นเรื่องของนามธรรมแล้ว…ใครเล่าจะเข้าใจ

ในบทความนี้จะชี้ให้ชัดถึงความแตกต่างของการกินมังสวิรัติกับการล้างกิเลสในความอยากกินเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน เหตุที่จำเป็นต้องชี้ให้ชัดก็เพื่อคลายสงสัยให้กับผู้ที่ต้องการศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อการลดละกิเลสโดยใช้มังสวิรัติเป็นโจทย์ในการฝึกปฏิบัติ

ทั้งนี้ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะข่มวิธีการที่จะพาเข้าสู่การกินมังสวิรัติโดยทั่วไป แต่เพราะเห็นโทษภัยที่ยังแอบซ่อนอยู่ ยังเห็นว่ามีกิเลสอยู่ จึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์หากได้นำเสนอปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ไว้ใต้ภาพที่สวยงาม ซึ่งก็ไม่ได้จำเป็นว่าใครจะต้องเห็นตามด้วย ใครยินดีจะลดละเลิกในขีดใดที่ตัวเองทำไหวก็ได้ ได้แค่ไหนก็ขอให้ทำต่อไป การละเว้นเนื้อสัตว์เป็นการไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งแล้วในกึ่งพุทธกาลเช่นนี้

1). มังสวิรัติรูปธรรม

คำว่ารูปธรรมคือสิ่งที่เห็นได้รับรู้ได้ เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ในกรณีของมังสวิรัติคือการกินมังสวิรัติให้ได้สมบูรณ์นั่นเอง เพราะโดยความเข้าใจของคนทั่วไปแล้วมักจะหลงใน “รูป” จึงยึดถือและเอารูปเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติ

นั่นคือการยึดมังสวิรัติที่เป็นรูปธรรมในการปฏิบัติ ยึดสิ่งที่มองเห็นได้เช่น ไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่กินส่วนผสมจากสัตว์ ไม่กินสิ่งปรุงแต่งจากสัตว์ ไม่ว่าจะซอส น้ำซุป น้ำปลา น้ำมันหอย ผงปรุงรส หรืออะไรที่เกี่ยวกับซากสัตว์ คนที่ยึดมั่นถือมั่นในรูปธรรมก็จะไม่ยินดีในการที่จะมีส่วนผสมเหล่านั้นร่วมอยู่เลย

เพราะเขาเหล่านั้นยึดว่าความสมบูรณ์ของมังสวิรัติคือรูปธรรมที่สมบูรณ์ หมายถึงการละเว้นทุกอย่างที่เป็นรูปของเนื้อสัตว์หรือผลผลิตจากสัตว์ อันเป็นเหตุแห่งความเบียดเบียน

แน่นอนว่าแนวความคิดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยึดถือและปฏิบัติกันโดยทั่วไปในหมู่นักมังสวิรัติทั่วโลก เป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะยึดสิ่งที่มองเห็นเป็นเครื่องอาศัย เพราะเข้าใจได้ง่าย วัดผลได้ง่าย กำหนดเป็นมาตรฐานได้ง่ายว่าขั้นนี้ ขั้นนั้นโดยใช้รูปธรรมเป็นตัววัด

2). ภัยของมังสวิรัติรูปธรรม

และเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะใช้ “รูป” เหล่านั้นเป็นตัววัดคุณค่าของการกระทำ เพราะเราสามารถมองเห็นได้ เข้าใจได้ ความเห็นความเข้าใจนี้เองเป็นความประมาทอย่างยิ่งยวด เพราะรูปธรรมเป็นแค่ผลจากนามธรรมบางส่วนที่สะท้อนออกมา และไม่ได้หมายความว่าการมีรูปที่สวย การที่สามารถกินมังสวิรัติได้ 100% มาเป็นสิบยี่สิบปีจะมีนามธรรมที่สวยไปด้วย ใครเล่าจะรู้เรื่องนามธรรมที่มองไม่เห็น ไม่มีรูปร่าง เป็นเรื่องลึกซึ้ง ซับซ้อน ละเอียดลออ

เราสามารถทำให้ “รูป” ของเราสวยได้นานตราบเท่าที่เรายังหลงเสพหลงยึดมันอยู่ เหมือนกับดาราที่ไม่เคยยอมแก่ ไม่ยอมโทรมก็จะยังเสริมแต่งรูปของตนให้ดูงดงามเสมอ นักมังสวิรัติที่เน้นรูปแบบก็เช่นกันตราบใดที่เขายังเสพความดี ยังเสพสุขจากการทำสิ่งดีเขาก็จะพยายามทำให้รูปของการกินมังสวิรัติของเขาสวยขึ้นเรื่อยๆ และคงสภาพไปนานตามอัตตาที่มี

กิเลสในด้านร้ายคือการกินเนื้อสัตว์นั้น เราสามารถใช้ความดีกดข่มมันลงไปได้ไม่ยากนัก เราไม่จำเป็นต้องศึกษาธรรมะหรือหาข้อมูลสุขภาพอะไรให้มากมาย แค่มีจิตใจเมตตาก็สามารถรู้สึกผิดและสร้างความดีขึ้นมากดข่มความชั่วคือการกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว

แต่กิเลสในด้านยึดดี หรืออัตตานี้เองเป็นสิ่งที่ยากจะกำจัด เพราะในเมื่อเราติดอยู่ในการยึดดี เราจะเอาอะไรมากำจัดความยึดดีนั้น? เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วว่าจะเอาความชั่วมากำจัดเพราะมันไม่ได้ง่ายเหมือนกับการคำนวณที่เอา 1+1 แล้วหารสองจึงจะเป็นความพอดี

เมื่อเราสร้างรูปธรรมจนสวยงามแล้วมีความยึดดีในรูปเหล่านั้น การจะออกด้วยความดีในโลกนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเก่งกาจฉลาดเมตตาเพียงใดก็ไม่สามารถออกจากความยึดดีเหล่านี้ได้ คนที่ติดอยู่ในรูปธรรมของมังสวิรัติก็จะตกอยู่ในนรกคนดี มีความทุกข์ร้อนจากการทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ทำร้ายตัวเองด้วยอัตตาอยู่เสมอ แม้จะไม่ยินดีในการกินเนื้อสัตว์แต่มักจะมีอาการยินร้ายเมื่อต้องอยู่ร่วมกับเมนูเนื้อสัตว์หรือคนกินเนื้อสัตว์ ต้องประสบกับความหงุดหงิดขุ่นเคืองใจไปอีกนานแสนนาน

3). การออกจากความยึดติดในรูปธรรม

การจะออกจากความยึดดี ถือดี หรือความหลงในรูปธรรมนั้น ไม่มีความรู้ใดในโลกที่จะสามารถทำให้ผ่านไปได้นอกจากความรู้ของพระพุทธเจ้า

การที่เรายังวนอยู่ในความดี จนเกิดการยึดในสิ่งดีเหล่านั้น แม้จะดีแสนดีเพียงใด แม้จะกินมังสวิรัติตั้งแต่เกิดจนตาย ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นเพียงคนที่วนเวียนอยู่ในโลกคนหนึ่ง เป็นวิถีทางทำดีแบบโลกๆทางหนึ่ง ยังเป็นความดีแบบที่โลกเขาทำกันโดยทั่วไปอยู่ ไม่ต้องมีศาสนา ไม่ต้องมีศาสดาก็สามารถกินมังสวิรัติได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ความดีในระดับศาสดาเอกใดๆในโลกก็สามารถกินมังสวิรัติได้

เพราะการกินมังสวิรัติโดยทั่วไปนั้นเป็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในระดับสัญชาตญาณเท่านั้น คือเราเห็นเขาฆ่าสัตว์แล้วเราก็สงสารสัตว์นี่ก็เป็นจิตใจเมตตาธรรมดาของคนที่มีจิตใจดีงามทั่วไป ซึ่งแม้แต่คนที่คิดไม่ดีมิจฉาทิฏฐิก็สามารถมากินมังสวิรัติได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นพระเทวทัตที่เคยมาทูลขอให้พระพุทธเจ้าบัญญัติห้ามมิให้สาวกกินเนื้อสัตว์เลย (วัตถุ ๕ ,สังฆเภทขันธกะ) การที่พระเทวทัตทูลขอแบบนั้นได้แสดงว่าตัวเองต้องกินเนื้อสัตว์เป็นปกติอยู่แล้ว และนั่นคือคนที่ชั่วที่สุดในจักรวาล ชั่วสุดชั่วที่แม้แต่มหาบุรุษที่ประเสริฐที่สุดในจักรวาลก็ยังสามารถคิดจะฆ่าได้ เขาก็ยังไม่กินเนื้อสัตว์เช่นกัน

ดังนั้นการกินมังสวิรัติโดยยึด “รูปธรรม” เป็นหลักปฏิบัตินั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นคนดี จิตใจสูง ผ่องใส หรือบรรลุธรรมใดๆแต่อย่างใด เพราะรูปธรรมสามารถเกิดได้จากหลายเหตุและปัจจัย ซึ่งอาจจะมีกิเลสใดๆซ้อนอยู่ก็เป็นได้ เช่นอัตตาเป็นต้น

การจะออกจากความยึดในรูปหรือการจะสามารถมองเห็นความยึดในรูปธรรมเป็นกิเลสได้ ต้องใช้ธรรมะที่มากกว่าธรรมชาติ ธรรมะที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ธรรมะที่ไม่อยู่ในโลก ไม่ไปกับโลก ต้องเป็นธรรมะที่เหนือโลก หลุดจากโลก พ้นจากโลก สวนกระแสโลก หรือโลกุตระธรรม

4). มังสวิรัตินามธรรม

การเริ่มต้นของมังสวิรัตินามธรรมจากแตกต่างออกไปจากมังสวิรัติรูปธรรม เพราะการปฏิบัตินามธรรม หรือที่เรียกสั้นๆว่า “นาม” หรือจะระบุให้ตรงประเด็นในเรื่องนี้ก็คือ “ความอยากกินเนื้อสัตว์” การปฏิบัตินี้จะไม่ได้เริ่มต้นที่ “รูป” แต่จะเริ่มที่ “นาม

รูปนั้นคือสิ่งที่ถูกรู้ คือสิ่งที่เห็น แต่นามนั้นต่างออกไป มันมองไม่เห็น ไม่มีรูปร่าง เป็นเพียงพลังงานที่มีอยู่ รับรู้ได้ว่ามีอยู่ผ่านการกำหนดรู้ในรูป ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น “เรายังมีความอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ และยังมีเมนูเนื้อสัตว์ที่ชอบ วันหนึ่งเราได้เงินโบนัส จึงอยากจะใช้เงินนั้นสนองตัณหาตัวเอง จึงได้เกิดความคิดว่า ไปกินเนื้อย่างบุฟเฟต์ร้านนั้นดีกว่า เขาว่าเนื้อนุ่ม ชุ่มมัน หอม หวาน อร่อย”

จากตัวอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรา“คิด” ว่าถ้าได้กินเนื้อย่างเราจะมีความสุข เรา“พูด”กับตัวเองในใจว่าเราจะไปกินเนื้อย่าง เราพาร่างกายตัวเองไป “กิน” เนื้อย่าง สิ่งเหล่านี้เรียกว่า “รูป” และรูปทั้งหมดนี้เกิดจาก “นาม” คือพลังงานของความอยากที่เป็นตัวผลักดันเรา ให้เราคิด พูด ทำ เพื่อสนองกิเลส

ความอยากเหล่านี้มองไม่เห็น ทำได้เพียงรับรู้ผ่านรูปที่เกิดขึ้นมา ดังนั้นการกินมังสวิรัติโดยเริ่มต้นที่นามธรรมจึงเป็นเรื่องที่ยากสุดยาก เพราะแทบจะกลับหัวกลับหางกับรูปธรรม แต่ผลที่เราจะได้รับนั้น มั่นคง ยั่งยืน และสุขยิ่งกว่าแน่นอน

5). การปฏิบัติของมังสวิรัตินามธรรม

ดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า นามธรรมของเรื่องนี้ก็คือความอยากกินเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นความติดอยู่กับกิเลสในหมวดของกามคุณ๕ เป็นส่วนใหญ่

การปฏิบัติในทางนามธรรมนั้นจะต้องชัดเจนลงไปเลยว่า เราจะปฏิบัติกันที่ความอยาก ทำลายความอยาก เพราะรู้ผลแน่ชัดแล้วว่าถ้าทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้สิ้นเกลี้ยงทั้งหมด ก็จะไม่เกิด “รูป” คือการไปกินเนื้อสัตว์อีก เพราะไม่มีความอยากเลยไม่ต้องลำบากไปกิน

เทียบให้เห็นภาพแบบโลกๆก็เหมือนกับคนที่ไม่มีความอยากทำงานมันก็จะเอื่อยเฉื่อย เชื่องช้า ไม่สดใส การจะไปกินเนื้อสัตว์ก็เช่นกัน ถ้าไม่มีความอยากกินมันก็จะไม่ไปกินเท่านั้นเองแต่จะต่างกันคือคนที่ไม่มีความอยากในแบบเหนือโลกจะไม่ขุ่นมัว ไม่เชื่องช้า สดใส จิตควรแก่งานอยู่ตลอดเวลา ลักษณะเหล่านี้เป็นผลมาจากการปฏิบัติทางนามธรรมซึ่งหาตัวอย่างมายกให้เห็นได้ยาก

คำว่า “ไม่มีความอยาก” นั้นไม่เหมือนกับคำว่า “ไม่อยาก”เพราะคำว่าไม่อยากนั้นยังมีอาการผลักไสอยู่ ยังรังเกียจอยู่ ยังมีการเกิดของอัตตาอยู่ แต่การไม่มีความอยากนั้นต่างออกไป ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่อยาก แต่ทั้งความอยากและความไม่อยากมันไม่มีเหลือ เนื้อสัตว์จึงกลายเป็นเหมือนกับอากาศสำหรับคนที่ปฏิบัติทางนามธรรม มันมีอยู่แต่เหมือนมันไม่มีอยู่ เนื้อสัตว์นั้นไม่ได้ทำให้เกิดทุกข์หรือสุขใดๆในใจอีกต่อไป

เมื่อเข้าใจความต่างของผลแล้วจึงจะสามารถเริ่มปฏิบัติในทางนามธรรมได้ เพราะหากยังแยกนามธรรมกับรูปธรรมไม่ออก ต่อให้มีทฤษฏีอีกกี่บท ขนพระไตรปิฏกมาเปิดอ้างอิงกันแค่ไหน ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะยังแยกสิ่งที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับปัญหาจริงๆที่ทำให้เกิดไม่ออก

การปฏิบัตินั้นไม่มีขั้นตอนที่เข้าใจยากนัก เพียงแค่ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติไตรสิกขาจนสามารถทำลายกิเลสสามภพก็สามารถดับนามธรรมได้แล้ว ขั้นตอนมันก็มีแค่นี้ มันย่อได้เหลือเท่านี้ แค่สองบรรทัดก็สามารถบอกทางเดินและผลได้แล้ว แต่การปฏิบัติจริงต้องใช้เวลาไม่รู้กี่ร้อยปี หรือกี่ล้านล้านล้านชาติ ไม่รู้จะต้องเกิดอีกสักกี่ครั้งถึงจะรู้ กว่าจะเข้าใจ กว่าจะปฏิบัติ กว่าจะเห็นผล นานแสนนานเลยทีเดียวนี่ยังต้องเสียเวลากับการไปติดรูปธรรมอีกนะ ไปหลงรูป ไปเข้าใจว่ารูปนั้นเป็นที่สุดของการปฏิบัติ ก็เนิ่นช้าเข้าไปอีก

6). สมดุลรูปนาม

การปฏิบัติทางรูปธรรม แม้จะเป็นมังสวิรัติ 100% ละเว้นเนื้อสัตว์สมบูรณ์แบบผู้คนต่างยกย่องสรรเสริญ แต่ก็ไม่มีอะไรยืนยันว่าจะสามารถมังสวิรัติ 100% ได้ทางนามธรรม จะมั่นใจได้อย่างไรในเมื่อยังมีความอยากและไม่อยากอยู่ การที่ตัณหายังไม่ดับ นั่นหมายถึงชาติยังไม่ดับ ภพยังไม่ดับ การวนเวียนกินเนื้อสัตว์และมังสวิรัติก็จะต้องดำเนินสลับสับเปลี่ยนกันต่อไปตามกิเลสที่ผกผัน แปรเปลี่ยนทิศทางการมีอัตตายึดในสิ่งที่ต่างกันออกไป ตามความเห็นความเข้าใจ

เพราะเมื่อนามยังไม่ดับ ก็จะยังมีเชื้อของกิเลสที่จะสะสมพลังงานกิเลสให้มากขึ้น ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่งพลังกิเลสที่สะสมมาก็จะส่งผลให้เกิดรูป คือการกลับไปกินเนื้อสัตว์อีก แม้ว่าจะหลงรูปธรรมกดข่มความชั่วไว้ได้ในชาตินี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชาติหน้าจะข่มได้ ไม่มีใครรู้ว่าเราจะไปเกิดในยุคไหนสมัยไหน หากเรายังยึดติดในรูป เราก็จะไปหลงดีในรูปของยุคสมัยนั้น และถ้าเกิดยุคนั้นไม่มีรูปดีๆให้ยึดมั่นถือมั่นเลย มันก็ไปยึดรูปเลวๆเท่านั้นเอง

แต่นามธรรมจะต่างออกไป เพราะนามดับจึงไม่เกิดรูป คือเมื่อดับความอยากกินเนื้อสัตว์จนสิ้นเกลี้ยง ไม่มีความอยากเหลือก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่เราไปหลงติดหลงยึดเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเกิดมาอีกกี่ภพกี่ชาติก็จะไม่มีวันหลงมัวเมาไปในเนื้อสัตว์ ถึงจะติดก็ติดตามโลก แต่ถ้าคิดจะออกก็ออกได้ทันที เพราะจริงๆมันไม่มีนามนั้นอยู่แล้ว ไม่มีเชื้อกิเลสนั้นเหลืออยู่แล้ว ถึงแม้มีกิเลสใหม่เข้ามามันก็จะไม่มีอะไรให้ยึดเกาะ ก็เกาะได้แค่ผิว ได้แค่เปลือก ไม่เข้าไปถึงจิตใจ ไม่เข้าไปยึดในจิตใจ

ไม่เหมือนกับการปฏิบัติที่รูปธรรม เพราะนามคือความอยากกินเนื้อสัตว์ยังอยู่ ทีนี้พอกิเลสใหม่วิ่งเข้ามาก็จะเข้าไปสะสมรวมกับของเก่าทันที ส่งผลให้กลายเป็นสภาพที่เรียกว่าตบะแตกนั่นเอง

ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงเลยว่าถ้าเราปฏิบัติที่นามธรรมแล้วจะเกิดปัญหาเหล่านั้น เพราะการดับทุกข์นั้นต้องดับที่เหตุ เหตุของการกินเนื้อสัตว์นั้นคือความอยากกินเนื้อสัตว์จนต้องไปเบียดเบียนชีวิตอื่น และเหตุของความอยากกินนั้นก็เกิดจากการติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของเนื้อสัตว์เป็นส่วนใหญ่ และเมื่อดับเหตุแห่งอุปาทานเหล่านี้ได้ก็จบภารกิจ

ผู้มีนามธรรมที่ปราศจากกิเลสจึงมีสมดุลของรูปนาม นามไม่มี รูปไม่เกิด และมีความยืดหยุ่นในรูปสูงกว่าผู้ที่กินมังสวิรัติในทางรูปธรรม เพราะหากเราเน้นเพียงรูปธรรม ก็จะมีความแข็ง ตึง เครียด กฎ การยึดมั่นถือมั่น เพราะสิ่งเหล่าเป็นสิ่งที่สามารถสนองให้เสพสมใจในรูปธรรมได้หรือที่เรียกว่า “อัตตา” นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

8.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)