Tag: ทรัพย์สมบัติ

อิสรภาพทางการเงิน

October 1, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,721 views 0

อิสรภาพทางการเงิน

อิสรภาพทางการเงิน

อิสรภาพทางการเงิน เป็นคำที่ได้ยินกันจนคุ้นหูในยุคนี้ เป็นความฝันทางทุนนิยม เป็นคำนิยามที่สวยหรู เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงตามที่แต่ละคนจะคิดหรือปรุงแต่งไปเอง ปั้นแต่งให้สวยงามเลิศหรูไปตามกิเลสของแต่ละคน

เขาเหล่านั้นมักมีความเข้าใจเกี่ยวกับอิสรภาพทางการเงินดังเช่น การมีอิสระในการใช้เงิน ,มีเงินมากพอจนไม่ต้องไปเสียเวลานั่งทำงาน , ให้เงินทำงานแทนเรา , มีเงินมากพอที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเหตุฉุกเฉิน เป็นความเข้าใจที่เหมาะกับยุคทุนนิยม แต่ไม่เหมาะกับความเป็นจริงเท่าไรนัก

การมีเงินใช้จ่ายอย่างไม่จำกัดไม่ได้หมายความว่าชิวิตจะมีอิสรภาพหรือจะมีความสุข เงินไม่ได้เป็นตัวประกันความมั่งคั่ง หรือความสมบูรณ์แบบในชีวิตเลย เป็นเพียงแค่ของหยาบที่คนหยาบมักเอาไว้ใช้วัดคุณค่าของคน วัดความสำเร็จ เป็นวัตถุที่จับต้องได้ เข้าใจได้ง่าย เขาเหล่านั้นจึงมักจะใช้เงินเป็นเป้าหมายหนึ่งของชีวิต เป็นความมั่งคั่ง เป็นความสุข

เรามักจะมีเหตุผลมากมายที่จะทำให้เราเชื่อว่า เราสามารถมีความสุขได้จากการมีเงิน เรามักจะไม่ได้มองเงินเป็นหลัก แต่มักจะมองสิ่งที่ได้จากเงินเช่น เราอยากได้อะไรก็ได้ เราอยากมีอะไรก็มี อยากซื้อของที่อยากได้ อยากซื้อรถคันใหญ่ อยากมีบ้านหลังโต อยากมีเงินเลี้ยงพ่อแม่ อยากมีเงินส่งเสียลูก อยากมีเงินแต่งเมีย เพราะเหตุนั้น เราจึงคิดว่าเราจะต้องมีเงิน จึงจะสามารถสนองตามความอยากของเราได้ เมื่อได้สนองจนสมใจอยาก เราจึงจะได้พบกับความสุข

การได้มาซึ่งความมั่งคั่งนั้นมีมิติที่ซับซ้อนมากกว่ากิจกรรมที่เราเห็นมากนัก ประกอบไปด้วยกรรมปัจจุบันและกรรมเก่า พวกที่มีกรรมเก่ามากก็อาจจะเกิดมาบนกองเงินกองทองเลย หรือไม่ก็คนประเภทที่ว่าในชาตินี้แม้จะเกิดมาจน แต่พอจับอะไรก็รวยได้ทันที อันนี้ก็มีปัจจัยหนุนนำมากกว่าเรื่องที่มองเห็น

เหมือนกับเรือใบจะแล่นได้เพราะมีลม ความสามารถ หรือกรรมปัจจุบันคือการบังคับเรือให้เหมาะกับลม แต่ลมนั้นคือกรรม คือสิ่งที่คำนวณไม่ได้ คนบังคับเรือเก่งแต่ไม่มีลมก็ไปไม่ได้ คนบังคับเรือไม่เก่งแต่มีลมที่ดีพัดมาตลอดก็ไปถึงฝั่งฝันได้ง่าย

นั่นหมายความว่า การที่เราจะขยันทำงานหรือขยันหาเงินลงทุน ทุ่มเทเวลากับการทำธุรกิจ กิจการร้านค้า ลงทุนเล่นหุ้น ฯลฯ ไม่ได้หมายความว่าเราจะพบกับความมั่งคั่งหรืออิสรภาพทางการเงินเสมอไป อาจจะมีอะไรบางสิ่งบางอย่างคอยเข้ามาขัดขวางไม่ให้เราได้พบกับความมั่งคั่งทางทุนนิยมเหล่านั้น ซึ่งนั่นอาจจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ได้

นั่นเพราะแท้จริงแล้ว การมีเงินไม่ได้หมายความว่าเราจะมีความสุข แต่การที่เราสามารถสนองต่อกิเลสของเราได้ต่างหากคือสิ่งที่เราเรียกว่าความสุข แต่ความสุขแบบนี้ก็เป็นความสุขที่หลอกลวง เป็นสุขจากกิเลส เป็นสุขที่เสพไม่นานก็หายไป แม้จะเสพมากเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ มักจะต้องการเสพเพิ่ม หามาเพิ่ม เพื่อที่จะได้ลิ้มรสสุขที่มากกว่า

ทั้งที่จริงแล้ว เงินไม่ใช่ความสุข จะลองดูก็ได้ ลองไปใช้ชีวิตอยู่ในเกาะร้าง มีเงินวางไว้ใช้บนเกาะสักพันล้าน จะมีความสุขไหม? เมื่อเทียบคุณค่าของเงินกับเพื่อนสักคนหรืออาหารสักจานอะไรจะดีกว่า?

ความสุขที่ว่านั้นเกิดจากการได้เสพสมใจในกิเลส เป็นการสนองความโลภของตัวเองด้วยการแสวงหาทรัพย์อันไม่มีจำกัด เหมือนกับคนที่ตามล่าหาสมบัติเพื่อจะทำให้ตัวเองรวยไปทั้งชาติ เหมือนกับคนที่ตามหาชีวิตอมตะ เหมือนกับคนที่คิดฝันไปเอง

แม้ว่าเราจะได้เงินที่ไม่จำกัดต่อการสนองกิเลสเหล่านั้นมาครอบครอง แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถคงสภาพเช่นนั้นไปได้ตลอด พอมีเงินแล้วก็มักจะมีความอยากเสพมากขึ้นตามมาด้วย จากที่เคยประหยัดก็หันมากินและใช้จ่ายแพงๆ จากที่เคยเป็นโสด ก็ไปหาใครสักคนมาเสพสมกิเลสร่วมกัน จากที่เคยอยู่เป็นคู่ก็สร้างทายาทมาเสริมกิเลสแก่กัน มาช่วยกันใช้ทรัพย์นั้น จนกระทั่งวันหนึ่ง เริ่มสะสมคนมีกิเลสมากขึ้นๆ ในขณะที่ทรัพยากรนั้นมีอยู่อย่างจำกัด เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งทุกอย่างก็จะพังทลายลงในพริบตา ทรัพย์สมบัตินั้นหายไป เหลือไว้แต่คนที่เต็มไปด้วยความโลภ เต็มไปด้วยปริมาณกิเลสก้อนใหญ่…สภาพหลังจากนั้นก็ลองหาดูตัวอย่างชีวิตของผู้มั่งคั่งที่ล้มละลาย

ความไม่เที่ยงนั้นคงอยู่คู่กับโลกเสมอ แม้เราจะพยายามเก็บเงินนั้นไว้ ประหยัดและวางแผนไว้ดีเท่าไหร่ ก็จะมีเหตุให้เราต้องพรากจากความมั่งคั่งนั้นไป ไม่ว่าจะอุบัติเหตุ ความเจ็บป่วย การตาย การทำลายทรัพย์เหล่านั้นด้วยกิเลสของตัวเอง หรือแม้แต่การทำลายกันเองของเหล่าผู้มีกิเลสเช่นการปั่นหุ้น การสร้างข่าวลวง หลอกล่อให้ลงทุน และยังมีปัจจัยแวดล้อมที่จะช่วยแสดงให้เห็นความไม่เที่ยงเช่นภัยพิบัติต่างๆ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ ฯลฯ ดังจะเห็นได้ว่า ความมั่งคั่งสามารถถูกทำลายลงได้ทุกเมื่อ ความหมายมั่นตั้งใจว่าจะใช้ชีวิตอย่างสุขสบายเมื่อยามแก่ อาจจะพังทลายลงโดยที่ไม่สามารถจะทำอะไรได้เลย

……ยกตัวอย่างเช่น ทำงานอย่างหนัก ลงทุนในธุรกิจทุกอย่างจนมีเงินหมุนเวียน เกิดสภาพคล่องในชีวิต มีเงินปันผลให้ใช้อย่างเต็มที่ทุกปี สุดท้ายตรวจพบมะเร็งระยะสุดท้าย เงินยังมีอยู่นะ แต่ความสุขยังมีอยู่ไหม?

……หรือ ทำงานจนประสบความสำเร็จ มีเงิน แล้วก็ไปแต่งงาน สุดท้ายมาอยู่กันเป็นครอบครัว มีลูกมีหลาน วุ่นวาย ทะเลาะเบาะแว้งมีปัญหารายวัน เงินยังมีอยู่นะ แต่ความสุขยังมีอยู่ไหม?

……หรือ ทำงานจนประสบความสำเร็จ มีเงิน พอมีเงินก็ไปเที่ยวรอบโลกครั้งแรก ไปปีนเขา …แล้วก็ตกลงมาตาย เงินยังมีอยู่นะ แต่ชีวิตหายไปไหน?

มีกรณีศึกษาเกี่ยวกับคนรวยที่ยังไม่ทันได้ใช้เงินของตัวเอง หรือกระทั่งคนรวยที่ตกอับมากมาย แต่เรามักจะไม่เคยสนใจ เพราะเรามัวแต่แหงนมองไปที่คนรวยกว่า คนที่มั่งคั่ง คนที่เป็นบุคคลตัวอย่างทางการเงินทั้งหลาย จนไม่มองกลับมาถึงความจริงว่า สิ่งเหล่านั้นมันไม่เที่ยง

แต่ถึงกระนั้นคนผู้หลงมัวเมาในเงินก็มักจะไม่มองกว้างนัก เขาเหล่านั้นเหมือนม้าที่ถูกปิดตาให้มองเห็นแต่ทางแห่งความมั่งคั่งอย่างที่ใครสักคนบอกไว้อยู่ข้างหน้า โดยที่เขารู้เพียงว่า ถ้ามีเงินก็สามารถจะมีความสุขได้ ทั้งๆที่จริงแล้วความสุขกับเงิน ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย เป็นการตั้งสมการหรือสมมุติฐานในการดำเนินชีวิตที่ผิดเพี้ยนไป เพราะเอาเงินมาเป็นตัวตั้ง ทั้งๆที่ควรจะใช้ความสุขเป็นตัวตั้งแล้วหาเงินเพียงแค่พอเลี้ยงชีพและจุนเจือครอบครัวกิจกรรมการงาน

อิสรภาพทางการเงินในนิยามของยุคสมัยนี้นั้น มีรากมาจากความโลภและความขี้เกียจ ซึ่งเป็นกิเลสที่ร้ายและหยาบ

อิสรภาพทางการเงินที่แท้จริงนั้น คือ ไม่เป็นทาสของเงิน ไม่ทุกข์แม้จะไม่มีเงิน จะมีเงินก็ได้ไม่มีก็ได้ จะมีมากก็ได้มีน้อยก็ได้เป็นอิสระจากผลกระทบของเงิน เป็นอิสระจากความผูกพันของเงิน อิสระจากสิ่งสมมุติแห่งความมั่งคั่งที่เรียกว่า “เงิน

อิสรภาพทางการเงินนั้น เมื่อเทียบกับอิสรภาพจากกิเลส ก็จะพบว่าเปรียบกันได้ยากยิ่ง เหล่าคนผู้มัวเมาไปด้วยกิเลสตัณหามักจะสะสมโลกียะทรัพย์ ทรัพย์ทางรูปธรรม สะสมเงิน ตำแหน่ง ชื่อเสียง สุขลวงๆ เพราะเขาเหล่านั้นเข้าใจว่าความมั่งคั่งด้วยทรัพย์จะเป็นหลักประกันให้ชีวิตของเขามีความสุข สามารถเสพสุขไปจนตายได้

แต่ในขณะเดียวกัน ผู้มีปัญญานั้นมักจะสะสมอริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ทางนามธรรม ทรัพย์ที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่มีอยู่จริง เขาสามารถที่จะใช้ทรัพย์เหล่านั้นในการสร้างความมั่งคั่งก็ได้ สร้างความสุขก็ได้ สร้างสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดีก็ได้ สร้างอะไรก็ได้ตามกำลังทรัพย์ที่เขามี เป็นทรัพย์ที่ไม่มีวันหมด ยิ่งใช้ยิ่งสะสมก็ยิ่งเพิ่ม เป็นทรัพย์ที่อยู่ในธนาคารที่เรียกกันว่า“กรรม

คนผู้มัวเมาในกิเลสมักหลงในคำว่าอิสรภาพทางการเงิน ลงทุนลงแรง เฝ้าหาเฝ้าเติมอยู่แบบนั้น เขาเหล่านั้นหาเงิน หาความมั่งคั่งมาเพื่อเสพสมใจในชาตินี้ พอชาติหน้าชีวิตหน้าก็ต้องเกิดมาหาแบบนี้ใหม่ เหมือนดังในชาตินี้ที่ต้องมานั่งแสวงหาความมั่งคั่ง

คนผู้มีปัญญานั้นจะเข้าใจในอิสรภาพจากกิเลส เขาจึงลงทุนลงแรง เรียนรู้ พัฒนา สะสมอริยทรัพย์ ซึ่งประกอบไปด้วย ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา…

…ศรัทธาคือความเชื่อมั่นอย่างสัมมาทิฏฐิ เป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญาไม่ใช่เชื่อแบบหลงงมงาย เป็นไปเพื่อลดกิเลส เป็นเหมือนไฟส่องทาง เป็นแผนที่ที่ทำให้ไม่มีวันหลงทาง จะเกิดมากี่ชาติก็ไม่มีวันไปหลงงมงาย เสียเวลากับการเดินผิดทาง เดรัจฉานวิชา ไม่หลงในลัทธินอกพุทธศาสนา

…ศีลคือ ข้อปฏิบัติในการเว้นจากการทำชั่ว เป็นไปเพื่อความสุขความเจริญ เมื่อมีศีลก็พ้นจากภัยต่างๆ ศีลเป็นเกราะป้องกันที่ดีเยี่ยม ศีลวิเศษที่สุด จะเกิดมากี่ชาติ ก็จะมีความสามารถในการถือศีลในระดับที่เคยปฏิบัติได้ติดมาด้วย จะไม่หลงติดอยู่ในอบายมุขนาน แม้ตั้งศีลตั้งตบะแล้วก็สามารถทำลายกิเลสนั้นได้ไม่ยาก

…หิริคือ ความละอายต่อบาป ละอายต่อการทำชั่ว แม้คนอื่นหลอกเราว่าสิ่งชั่วนั้นดี แต่เราจะรู้สึกไม่อยากทำ เพราะเราเห็นว่าเป็นสิ่งชั่วจริงๆ รู้สึกจริงในวิญญาณของเรา เป็นความรู้สึกละอายที่สะสมมาข้ามภพข้ามชาติ

…โอตตัปปะคือ ความเกรงกลัวต่อบาป กลัวการทำชั่ว จะไม่ไปทำชั่วนั้นอีก เพราะรู้ถึงโทษภัยจากการทำชั่ว จึงเข็ดขยาดในการทำชั่วนั้น ไม่ว่าจะเกิดมาอีกกี่ชาติ ความรู้สึกนี้ก็จะติดมาด้วย คือจะไม่หลงไปทำชั่วตามที่คนอื่นเขาทำกัน เพราะรู้ได้ชัดในวิญญาณของตนถึงทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย เหล่านั้น

…สุตะ คือความตั้งใจฟัง คือการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ การยินดีรับความรู้ใหม่โดยไม่มีอัตตา สามารถฟังและจำแนกธรรมได้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ เป็นการฟังอย่างเปิดใจโดยน้อมเอาสิ่งที่ฟังเข้ามาพิจารณาไว้ในใจโดยแยบคาย ซึ่งเป็นการฟังที่เป็นเหตุนำไปสู่สัมมาทิฏฐิ

…จาคะ คือ ความเสียสละแบ่งปัน เกิดจากการทำลายกิเลสอันคือความตระหนี่ถี่เหนียว จนเป็นความเสียสละที่ฝังไว้ในวิญญาณ จะเกิดกี่ภพกี่ชาติก็จะเป็นคนที่ใจบุญ เสียสละประโยชน์ส่วนตนให้กับประโยชน์ส่วนรวม ยอมเสียเปรียบให้คนอื่นได้ ยินดีที่จะได้รับน้อยกว่าคนอื่นก็ได้

…ปัญญา คือ ความรู้แจ้งเห็นจริง ชำแหละกิเลส กำจัดกิเลส ล้างกิเลสได้ เพราะมีความรู้ความเข้าใจในกิเลสนั้นว่าเป็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย อย่างแจ่มแจ้ง และเห็นประโยชน์ในการละกิเลสนั้นๆอย่างถ่องแท้ รู้ไปถึงกรรมและผลของกรรมของกิเลสนั้นๆ รู้ว่ากิเลสนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน

ปัญญาจึงเป็นสภาพที่เจริญและติดไปข้ามภพข้ามชาติ ดังจะเห็นได้ว่าคนทุกคนมีปัญญาไม่เท่ากัน มีการเสพกิเลสที่ต่างกัน มีความยึดมั่นถือมั่นไม่เท่ากัน เพราะเขาเหล่านั้นมีอริยทรัพย์ไม่เท่ากัน

เมื่อเห็นดังนี้ ผู้มีปัญญาจึงตามหาครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ เพื่อที่จะมาเป็นที่ปรึกษาและแนะนำในการลงทุน เพื่อความมั่งคั่งแบบข้ามภพข้ามชาติ เป็นทรัพย์ที่ติดตัวไปตลอดไม่ว่าจะไปเกิดที่ไหน ภพไหน ชาติไหน ก็จะมีศักยภาพเหล่านี้ติดไปด้วยเสมอ นำมาซึ่งทั้งอิสรภาพทางการเงิน และอิสรภาพจากกิเลส

เมื่อมีอริยทรัพย์ดังนี้ ความสุข ความสมบูรณ์ ความมั่งคั่งในชีวิต จะไปไหนเสีย..

– – – – – – – – – – – – – – –

1.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ความตายชนะทุกสิ่ง

August 30, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,873 views 0

ความตายชนะทุกสิ่ง

ความตายชนะทุกสิ่ง

ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหน หรือต่ำต้อยเพียงใด ชีวิตก็ต้องดำเนินมาถึงความตาย แม้ชีวิตจะมีแต่ความสุข ที่เต็มไปด้วยทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง อำนาจ คนรัก ญาติมิตร บริวาร หรือกระทั่งความทุกข์ โรค ภัย ไข้เจ็บ ความเหงา เศร้า ทรมาน ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับความตาย ทุกสิ่งช่างไร้ค่า…เมื่อต้องเผชิญกับความตาย

เมื่อความตายมาถึง สิ่งที่สั่งสมมาไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน ก็เอาติดตัวไปไม่ได้ จะผ่านไปได้ก็เฉพาะจิตวิญญาณเท่านั้น ส่วนทางที่ไปนั้น ก็เป็นไปตามกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่ได้ทำมา คงจะมีหลายคนในโลกที่ไม่เชื่อและยังไม่เข้าใจเรื่องตายแล้วไปไหน?

ความตายไม่ได้นำไปสู่การดับสูญ เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนสภาพจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง เปลี่ยนจากคนที่นอนป่วยกลายเป็นสิ่งอื่น ตามกรรมที่เขาได้ทำมา ทำชั่วก็ไปชั่ว ทำดีก็ไปดี ทำชั่วดีปนกัน กรรมเขาก็คำนวณให้ออกไปอย่างเหมาะสม นั่นก็เพราะกฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ ดังจะเห็นได้ว่าตัวเราที่นั่งอ่านบทความอยู่ตรงนี้ก็เป็นผลจากกรรมในอดีต เราเกิดมาพร้อมกับกรรมดีกรรมชั่วที่เราทำมาแต่ชาติปางก่อน

การที่เราเกิดมามีกินมีใช้เพียบพร้อมไปด้วยปัจจัยสี่ โดยทั่วไปก็มักมองว่าเป็นเรื่องของความบังเอิญ เป็นเรื่องของโชค แต่ในทางพุทธไม่มีคำว่าบังเอิญหรือโชคดีอะไรทั้งนั้น มีแต่ความจริงที่ว่า สิ่งที่เราได้รับคือสิ่งที่เราทำมาแล้วทั้งนั้น ไม่มีสิ่งใดเลยที่เราได้รับโดยที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งดีสิ่งชั่วเหล่านั้นที่เราได้รับ คือสิ่งที่เราทำมาทั้งนั้น

ความตายที่ผ่านเข้ามาก็เป็นเพียงการชำระล้างของกรรม เพื่อที่จะเริ่มต้นใหม่ ผู้ที่สะสมโลกียะทรัพย์ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขลวงๆ ก็จะต้องพลอยสิ้นเนื้อประดาตัว ขาดทุนไปตามๆกัน คงจะมีแต่ผู้ที่สะสมอริยทรัพย์ คือบุญและกุศลเท่านั้นที่พอจะสามารถกอบโกยทุนบางส่วน ไปลงทุนในละครบทต่อไปได้

ความตาย และการเกิดของกิเลส…

แต่ความตายก็ไม่ได้เลวร้ายเท่าการเกิด การเกิดนั้นย่อมเป็นทุกข์ยิ่งกว่า เพราะความเกิดเป็นเหตุแห่งความตาย ตายแล้วก็เกิดวนกันไปอยู่อย่างนี้ ดังที่กิเลสเกิดในแต่ละวัน เช่น เราอยากกินของที่ชอบ กิเลสก็เกิดขึ้นมา แล้วมันก็ตั้งอยู่สักพัก ไม่ว่าจะได้กินหรือไม่ได้กิน มันก็จะดับไปของมันเอง แต่แล้ววันต่อมามันก็เกิดอีก แล้วก็ตั้งอยู่สักพัก ไม่นานไปก็ดับไปอีก เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แบบนี้วนเวียนไปเรื่อย ไม่มีวันจบสิ้น

แม้ว่าความตายนั้นจะชนะทุกสิ่งได้ แต่ความตายของกิเลสนี้ เราต้องทำให้มันเกิดขึ้นเอง กิเลสคือศัตรูร้ายที่ฝังตัวแอบซ่อนอยู่ข้างในจิตใจเรา เป็นตัวบงการให้มีการเกิด แต่ตัวมันเองจะไม่ยอมตาย ถ้ามัวแต่เลี้ยงมันไว้ คนที่ตายก็เป็นตัวเราเองนี่แหละ แล้วมันก็จะสั่งให้เราเกิด เพื่อหาอาหารให้มัน ให้เสพสมใจมัน ใช้งานเราจนร่างกายที่ได้รับมาทรุดโทรม เจ็บป่วย แก่เฒ่า แล้วก็ตายจนต้องทิ้งร่างนี้ไป เบิกทุนบุญกุศลในชาติก่อนเพื่อเกิดมาตายไปชาติหนึ่งเปล่าๆ โดยไม่ได้ใช้ทำประโยชน์ คือการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวอริยทรัพย์ เพราะมัวแต่ทำตามคำสั่งกิเลสให้ไปสะสมโลกียะทรัพย์

การจะเอาชนะกิเลสนั้น จึงจะเป็นต้องสวนกระแส ต้องคอยต้าน คอยฝืน ไม่ทำตามกิเลส พิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียที่เกิดจากการทำตามคำสั่งของกิเลสนั้นๆ ค้นหาว่าจริงๆแล้วเราต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้เพราะอะไร และเข้าไปค่อยๆพิจารณาตามจริงถึงสาระแท้ของสิ่งนั้นว่ามีคุณค่าจริง หรือแค่กิเลสต้องการ เมื่อเราใช้ปัญญาพิจารณาอย่างตั้งมั่น จนเห็นความจริงตามความเป็นจริงแล้วว่ากิเลสนั้นไม่ใช่ตัวเรา เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่มีประโยชน์หรือสาระใดๆเลย กิเลสก็จะยอมถอย ยอมตายไปจากใจของเราเอง เป็นการชนะศึกจากการรบกับกิเลสโดยใช้ปัญญา

เป็นการมอบความตายให้กับกิเลส โดยที่มันเองก็ยินดีที่จะตาย และตายไปตลอดนิรันดร์กาล เป็นความตายที่เอาชนะได้แม้แต่กิเลส เป็นความตายที่ไม่ต้องมีการกลับมาเกิดอีก และไม่ต้องมีการตายอีกต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –
28.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์