Tag: งมงาย
กินร่วมจาน : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมจานกับผู้อื่น
กินร่วมจาน : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมจานกับผู้อื่น
เป็นระดับที่สองต่อจาก “กินร่วมโต๊ะ” แต่ก็จะยากขึ้นกว่าเดิมมาก ยังคงต้องใช้พื้นฐานเดิมคือ ”สติสัมปชัญญะ”ความรู้ตัวพร้อมแบบทั่วไป และ “สติปัฏฐาน ๔” คือรู้ กาย เวทนา จิต ธรรม
ซึ่งสติทั่วไปนั้นเอาไว้รู้ตัวเพื่อไว้ใช้ในกรณีที่จะตัดสินใจใช้ขันติในการกดสภาพความอยากหรือใช้ธรรมอื่นใดเข้ามากด ลด ข่ม ตบอาการอยากนั้นๆก็ตามแต่เหตุการณ์ ส่วนสติปัฏฐานนั้นมีไว้เพื่อตรวจสอบและพิจารณาล้างกิเลส ทั้งนี้ทั้งนั้นการพิจารณาธรรมต้องมีสติที่สมบูรณ์พร้อมตลอดสายไม่ปัดอาการอยากทิ้งจนหายหมดเกลี้ยง ไม่ตบทิ้งด้วยตรรกะหรือเหตุผลใดๆจนไม่เหลือเชื้อให้พิจารณาธรรมได้ต่อ ถ้ามีสติไว้ตัดอาการอยากนั้นถือว่าเป็นสมถะวิธี แต่ถ้ามีสติตลอดจนถึงจบการพิจารณาธรรมถือว่าเป็นวิปัสสนาวิธี
ในกรณีของเราจะใช้ทั้งสมถะและวิปัสสนา แต่จะใช้วิปัสสนาเป็นตัวหลักและสมถะเป็นตัวเสริมในบางกรณี ซึ่งจะไม่ยกขึ้นมากล่าว แล้วแต่ว่าใครจะทนความอยากไหว ใครทนไหวก็ไม่ต้องกด ใครทนไม่ไหวก็ใช้สมถะกดไว้ก็ได้
ขั้นตอนที่ 1).คำเตือน!!
ในขั้นตอนนี้จะเริ่มมีความยากในการวิเคราะห์กิเลสขึ้นมา ผู้ที่ไม่เห็นว่ากิเลสคือเชื้อร้ายที่เป็นตัวผลักดันให้เรากินเนื้อสัตว์ ผู้ที่ไม่เห็นว่าการล้างกิเลสเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะต้องเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่ไม่เห็นว่าการล้างกิเลสสำคัญต่อการกินมังสวิรัติอย่างผาสุกและยั่งยืนควรละเว้นการอ่านต่อไปเพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง
จะไม่มีประโยชน์ใดเกิดขึ้นหากท่านไม่มีคุณสมบัติเบื้องต้นดังที่กล่าวเมื่อตอนต้นของบทความหรือไม่มีความต้องการในการเรียนรู้กิเลส หากท่านยังคงยินดีในการที่ท่านกินมังสวิรัติได้โดยไม่สนใจความอยาก ข้อความต่อจากนี้จะเริ่มเป็นภัยต่อทิฏฐิของท่านอย่างมาก
ขอให้ท่านประมาณกำลังสติของตัวเองให้พอดี เพราะไม่มีใครที่จะต้องรับผิดชอบความขุ่นเคืองใจของท่านนอกจากตัวท่านเอง จะขอย้ำอีกครั้งว่าบทความนี้ไม่เหมาะกับคนที่ต้องการจะกินมังสวิรัติ แต่เหมาะกับคนที่ต้องการเรียนรู้การลดกิเลสโดยใช้การกินมังสวิรัติมาเป็นโจทย์ หากท่านพิจารณาดีแล้วว่าเหมาะควรที่ตนเองจะเรียนรู้เรื่องกิเลสก็สามารถอ่านต่อไปได้ แต่หากพิจารณาเห็นว่าเรื่องราวอันยุ่งยากเหล่านี้ไม่เหมาะกับท่าน ท่านต้องการเพียงแค่กินมังสวิรัติเท่านั้น ก็ขอแนะนำให้ปิดบทความนี้เสีย
ขั้นตอนที่ 2).กินร่วมจาน
การกินร่วมจานนั้นหมายถึงเราต้องกินอาหารที่มีทั้งเนื้อสัตว์และผักในจาน ซึ่งโดยปกติแล้วเราก็จะใช้การเขี่ยผักเข้ามา เขี่ยเนื้อสัตว์ออกไปดังที่เรียกกันว่า”มังเขี่ย” หรือไม่ก็เป็นการที่เราต้องกินอาหารร่วมหม้อกับคนอื่นเช่นกรณีของต้มยำ ต้มจืด สุกี้ ชาบู หรืออะไรก็ตามที่มีเนื้อและผักร่วมกันโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในกรณีแยกหม้อจะขอยกไว้ในการกินร่วมโต๊ะแทนเพราะไม่ถือว่าเป็นการกินร่วมจาน ผลของการตรวจกิเลสออกมาจะไม่เหมือนกันเพราะวัตถุดิบคือเหตุการณ์ที่มีนั้นต่างกันออกไป จุดสังเกตในการตรวจสอบนี้คือเรารู้สึกอย่างไรเมื่อต้องไปข้องแวะกับเนื้อสัตว์หรือมีเนื้อสัตว์อยู่ในหม้อเดียวกัน เราแยกความอยากกินเนื้อสัตว์ออกจากการกินมังสวิรัติได้ไหม หรือเรายังคิดว่าการกินร่วมจานนั้นหมายถึงยังมีความอยากกินเนื้อสัตว์
เราจะใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นตัวขุดคุ้ยกิเลสของเรา หากผู้ใดที่ไม่มีสังคม ไม่มีโอกาสทดสอบในสถานการณ์เหล่านี้ ก็ขออภัยจริงๆที่ต้องบอกว่าท่านอาจจะกำลังมาผิดทาง เพราะการปฏิบัติธรรมของเราไม่ใช่การแยกตัวกับสังคม ยังคงต้องปฏิบัติไปพร้อมกับอยู่ในสังคม ให้ปนแต่ไม่เปื้อน หากท่านไม่มีกลุ่ม ไม่มีโอกาสในการทดสอบในด่านนี้ ก็ให้กลับไปทดสอบตัวเองในด่านก่อนในตอน “กินร่วมโต๊ะ” ท่านจะไปหาวิธีใดให้เกิดการกินร่วมโต๊ะโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่นก็ได้ ในโรงอาหารหรือในร้านค้าที่เป็นที่นิยมที่ต้องเห็นคนอื่นกินเนื้อสัตว์อย่างใกล้ชิด
หากว่าขาดผัสสะหรือสิ่งกระทบในการกระตุ้นกิเลสเหล่านี้ บทความทั้งหมดนี้จะกลายเป็นแค่นิยายบทหนึ่งที่ไม่มีความหมายอะไร เราจำเป็นต้องไปเจอกับเหตุการณ์เหล่านี้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่จำมาหรือท่องมา แต่เป็นการสัมผัสทุกความอยากของตัวเองด้วยร่างกายและจิตใจของตัวเองซึ่งจะเป็นปราการด่านแรกที่จำเป็นต้องผ่านหากจะเรียนรู้การล้างกิเลส
ขั้นตอนที่ 3). ตรวจสอบกาม
หากว่าเรากินร่วมหม้อหรือร่วมจานกับผู้อื่นแล้ว เรายังมีอาการเขี่ยเนื้อเข้าตัว แอบควานเนื้อสัตว์เข้าหาตัว หรือพยายามกินผสมโรงให้รู้สึกว่าเหมือนไม่ผิดในการกินเนื้อสัตว์ ท่านกำลังอยู่ในกามภพที่ลึกลับซับซ้อนกว่าเดิม เพราะในแบบตรงไปตรงมาก็คือทนความอยากไม่ไหวแล้วลองกินเลย แต่คนที่ไม่จริงใจกับตัวเองก็จะทำเป็นเนียนกินไป แบบนี้ยากจะบรรลุธรรมเพราะมีการกลบเกลื่อนไม่ให้ตัวเองและผู้อื่นเห็นความอยากแม้ว่าจะตักกินอยู่อย่างชัดเจน
ผู้ที่อยู่ในรูปภพ จะไม่ทำเนียนกินหรือพยายามจะกินอีกต่อไป แต่จะพยายามกดข่มอาการอยากไว้ในภพ ในสภาวะที่ตัวเองไม่กิน เพื่อให้ตัวเองไม่ไปกิน ใจนั้นอยากกินอยู่ เห็นเนื้อสัตว์ที่ปนกันก็ยังอยากกินอยู่ แต่ด้วยความยึดว่าต้องมังสวิรัติจึงหักห้ามใจได้ดีกว่าผู้ที่อยู่ในกามภพ ซึ่งแม้ว่าจะหักห้ามใจให้ไม่ไปหยิบกินได้นั้น ก็ยังมีความอยากอยู่เต็มใจ อยากชัดเจนจนได้ยินเป็นคำพูดปรุงแต่งอยู่ในใจว่า น่ากินนะ อยากกินนะ น่าอร่อยนะ
ผู้ที่อยู่ในอรูปภพ หรือภพที่ไม่มีรูปของความอยากให้เห็นเป็นตัวตนชัดๆแล้วก็จะไม่มีอาการอยากใดๆแสดงออกมา มีแต่อาการไม่ใส ไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบาย เพราะลึกๆในใจมันอยากกิน แต่มันไม่มีคำปรุงแต่งใดๆแล้ว กินชาบูมีเนื้ออยู่ในหม้อเต็มไปหมดก็สามารถลวกผักกินได้ หรือกินเมนูผักกับเนื้อก็สามารถเขี่ยผักมากินได้ แต่ในใจมันยังวนเวียนอยู่กับเนื้อสัตว์ มันยังมอง ยังจ้อง ยังรู้สึกเสียดาย มันไม่โล่ง ไม่ยอมทิ้งเนื้อสัตว์อย่างเต็มใจ ยังมีความอาลัยอาวรณ์อยู่
การพ้นสามภพนี้ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ในโจทย์นี้นั้นไม่ง่าย เพราะความที่เราเคยติดเนื้อสัตว์มามาก ความอยากมันยังมีอยู่มาก การกินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายถึงไม่อยากกินเนื้อสัตว์มันคนละเรื่องกัน ถ้าคนตีความผิดไปว่ากินมังสวิรัติได้คือไม่อยากกินเนื้อสัตว์ถือว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดจากความจริงไปหลายขุม เพราะการกินมังสวิรัติได้กับการดับความอยากในการกินเนื้อสัตว์เป็นคนละเรื่องกัน แม้ผลจะออกมาเหมือนกันคือไม่กินเนื้อสัตว์ แต่จิตใจข้างในจะต่างกันโดยสิ้นเชิง
ผู้ที่ยังวนเวียนอยู่ในสามภพนี้จะต้องทุกข์ทรมานจากความอยากเสพ แม้ได้เสพก็ทุกข์ แม้ไม่ได้เสพก็ทุกข์ ต้องกดข่มนั่งเขี่ยกินผักอย่างเศร้าหมอง หดหู่ เป็นมังสวิรัติที่ไม่สดใส ไม่เบิกบาน ไม่สดชื่น ไม่ใช่ทางบรรลุธรรม เป็นเพียงการใช้สมถะวิธีเข้ามากดข่มความอยากแล้วติดอยู่ในรูปภพ หรืออรูปภพเท่านั้นเอง
ขั้นตอนที่ 4). ตรวจสอบอัตตา
คนที่มีอัตตาแรงจะออกอาการรังเกียจตั้งแต่แรก คือตั้งแต่อ่านบทความนี้เลยว่าทำไมตัวเองต้องไปกินร่วมกัน มันมีน้ำซุป น้ำมันหอย น้ำปลา ฯลฯ คนพวกนี้จะกินมังสวิรัติได้แต่ไม่เห็นความอยาก ไม่มีปัญญารู้ในเรื่องของกิเลส เขาแค่กินมังสวิรัติได้ก็พอใจแล้ว และหลงยึดว่าต้องมังสวิรัติ 100% นั่นถึงจะเรียกว่าดีที่สุด
ซึ่งการที่สัตว์ใดจะกินแต่ผักทั้งชีวิตได้นั้นเป็นเรื่องธรรมดา วัวควายมันก็กินหญ้าทั้งชีวิตไม่เห็นมันจะบรรลุธรรมตรงไหน มันก็ยังเป็นวัวเป็นควายอยู่เหมือนเดิม เช่นเดียวกับคนกินมังสวิรัติโดยไม่มีปัญญา เขาก็กินกันไปได้นะ เพียงแต่ว่าไม่รู้เรื่องกิเลส แต่ก็จะรู้เกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปที่ใช้กดข่มความอยากเช่น สุขภาพ การเบียดเบียน เมตตา บุญ(กุศล) กรรม หรืออะไรก็ว่ากันไป การถือศีลแบบไม่มีปัญญาหรืองมงายนี่เองที่เรียกว่า ถือศีลอย่างอุปาทาน คือถือไว้อย่างยึดมั่นถือมั่น เป็นลักษณะของคนกินมังสวิรัติที่เคร่งและเครียด แต่ก็ไม่รู้สาระข้างใน รู้แต่มันไม่ดี มันเบียดเบียน ฯลฯแล้วก็ใช้ความรู้เหล่านั้นกดข่มความชั่วคือกดข่มการไปกินเนื้อสัตว์เอาไว้ เป็นลักษณะของสมถะวิธี เป็นการกดข่ม ไม่ใช่การล้างกิเลส
ดังนั้นคนที่มีอัตตาแรงก็จะไม่เห็นด้วยกับการทดสอบนี้ตั้งแต่แรก เพราะเห็นว่าไม่จำเป็น เขาเข้าใจเพียงแค่ว่ากินมังสวิรัติก็พอแล้วทำไมต้องมาทดสอบกิเลสกัน เขาจะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นและยังไร้สาระ นั่นเป็นเพราะจุดประสงค์ของคนไม่เหมือนกัน ใครที่อยากกินมังสวิรัติเพราะไม่อยากเบียดเบียนก็ไม่จำเป็นต้องทดสอบจิตใจแบบใดๆเลยก็ได้ ก็เพียงแค่กินมังสวิรัติไปก็เท่านั้น ส่วนคนที่อยากเรียนรู้เรื่องกิเลสนั้นก็จำเป็นจริงๆที่จะต้องมีโจทย์ในการขัดเกลากิเลสของเขาเหล่านั้น
คนที่มีอัตตาผ่อนลงมาบ้างก็จะยังมีความยินดีที่จะอ่าน แต่ก็ไม่ยินดีที่จะกินร่วมกับคนอื่น ไม่ยินดีที่จะกินมังเขี่ย หรือไม่ยินดีที่จะกินร่วมหม้อกับคนกินเนื้อสัตว์ จะมีอาการรังเกียจ ไม่ชอบใจ ไม่พอใจ ถ้าเป็นไปได้ก็จะขอแยกหม้อหรือไม่ไปกินร่วมกันหรือหาร้านที่กินแยกจานกันเลยก็จะดีกว่าจะพยายามผลักตัวเองเข้าสู้การกินร่วมโต๊ะดีกว่าต้องมากินร่วมจาน
ทั้งนี้เป็นเพราะอัตตาหรือความยึดดีในมังสวิรัติผลักให้เกิดอาการรังเกียจทั้งเนื้อสัตว์และคนกินเนื้อสัตว์เหล่านั้น ซึ่งคนกินมังสวิรัติจะหลงว่าอัตตาเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาของคนดี แต่ความจริงแล้วมันเรียกว่านรกคนดี เป็นนรกขุมที่หลอกให้คนที่นึกว่าตัวเองเป็นคนดียินดีที่จะเดินเข้าสู่นรกอันคือความเดือดเนื้อร้อนใจด้วยความยินดี
การที่เรายังมีอัตตาหรือความรังเกียจในเนื้อสัตว์หรือรังเกียจคนที่กินเนื้ออยู่ จะผลักดันให้เราสร้างบรรยากาศกดดัน ขุ่นมัว แสดงออกได้ทั้งทางกาย วาจา ใจ การคิดในใจเพียงว่าไม่ชอบไม่ยินดีที่จะร่วมจานก็สร้างทุกข์ให้กับตัวเองแล้ว มันเห็นทุกข์กันอยู่ชัดๆแต่คนมีอัตตาก็จะยินดีแบกทุกข์นี้ไว้เพราะหลงเข้าใจว่าฉันเป็นคนดี ฉันต้องทุกข์เมื่ออยู่กับคนที่ยังกินเนื้อ
ในมุมของการล้างกิเลส คนดีที่ติดดีนั้นก็ยังชั่วอยู่ดี มองไปก็ยังเป็นนรกเหมือนกับคนกินเนื้อสัตว์อยู่ดี แต่เป็นนรกคนละขุม อย่าไปแบ่งเลยว่าใครต่ำกว่าใครสูงกว่า เพราะนรกของใครก็ของมัน คนที่ติดดีอาจจะสร้างบาปเวรภัยได้มากกว่าก็ได้ อาจจะไปกดดันหรือระรานชีวิตคนอื่นได้มากกว่าคนกินเนื้อก็ได้ใครจะรู้
ถ้ายังรู้สึกว่าตนเองไม่พอใจที่จะต้องกินร่วมจาน ร่วมชาม ร่วมหม้อกับคนกินเนื้อแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลย เรากำลังติดอยู่ในอัตตา
ขั้นตอนที่ 5). สรุปผล
ในด่านนี้จะค่อนข้างยากขึ้นมาทั้งในด้านการตรวจใจและยากที่จะผ่านความอยากที่ละเอียดขึ้นและเข้ามากระแทกใกล้ขึ้น จากโจทย์ที่แล้วคือการกินร่วมโต๊ะ เนื้อสัตว์ก็ยังห่างออกไปคนละจาน แต่ครั้งนี้เราต้องกินร่วมจาน ตัวเราจะต้องเข้าใกล้เนื้อสัตว์เข้าไปอีก เป็นการบีบให้ตัวเองได้เห็นกิเลสอันคือกามและอัตตาที่ซ่อนอยู่ข้างใน
ผู้ที่ไม่ได้ฝึกปฏิบัติธรรมมาหรือไม่มีญาณปัญญาจะไม่สามารถจับสภาวะใดๆของจิตที่เกิดขึ้นได้เลย อยากก็ไม่รู้ ไม่อยากก็ไม่รู้ เรียกว่าไม่ละเอียดเรื่องจิตวิญญาณ การทดสอบนี้จึงไม่มีประโยชน์ใดๆกับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ฝึกและเรียนรู้เกี่ยวกับกิเลสมา
จริงอยู่ที่ว่าการกินมังสวิรัตินั้นดี แต่คนที่กินมังสวิรัติอาจจะไม่ได้ดีเสมอไป เรามักจะเห็นคนกินมังสวิรัติที่อุดมไปด้วยอัตตา ยึดดีถือดี ไปขัดแย้งกับชาวบ้านที่ยังกินเนื้ออยู่เป็นประจำ ชอบแสดงทัศนคติ เผยแพร่ความรู้โดยที่คนอื่นเขาไม่ต้องการ ไปยัดเยียด กดดัน บีบคั้นให้เขาเห็นดีในมังสวิรัติโดยใช้สมถะวิธี
ในความจริงแล้วเราต้องเข้าใจว่าปัญญาบารมีของคนเราไม่เท่ากัน เราบำเพ็ญมาไม่เท่ากัน บางคนใช้แค่สมถะวิธี เอาความดีไปกดข่ม แค่เห็นภาพสัตว์ตายก็สามารถหลุดออกมากินมังสวิรัติได้ บางคนต้องให้ข้อมูลวิจัย บางคนแม้จะมีทุกอย่างแต่เขาก็ยังไม่เลิกกินเนื้อสัตว์ แต่สุดท้ายทุกอย่างมันจะจบตรงเรื่องของกิเลสเพราะกิเลสนี่เองคือรากแห่งความอยาก เป็นตัวสร้างทุกข์แท้ๆ ที่พระพุทธเจ้าได้ค้นพบมาตั้งแต่กว่า ๒๖๐๐ ปีมาแล้ว
ดังนั้นถ้าชาวมังสวิรัติไม่เรียนรู้เรื่องกิเลสก็จะไม่ฉลาดในการสอนคนให้ถูกกับฐานะ ไม่สอนให้ถูกกับจริต จะพยายามยัดความรู้ตามที่ตัวเองได้เรียนมา ได้เห็นมา ใครหลุดมาได้จากภาพสัตว์ถูกทรมานก็ประกาศด้วยภาพสัตว์ตายอยู่แบบนั้น ใครหลุดมาด้วยข้อมูลทางการวิจัยก็แสดงข้อมูลทางการวิจัยอยู่อย่างนั้น ใครหลุดมาได้ด้วยเมตตาก็ประกาศเชิญชวนให้เมตตาอยู่แบบนั้น ยัดไปตามที่ตัวเองเห็นว่าดี พยายามจะเปรียบเทียบ อัดกระแทกให้เกิดจิตสำนึก ยัดข้อมูลเข้าไปเรื่อยๆ แต่จะไม่ฉลาดในการปรับข้อมูลตามจริตของผู้รับสาร ไม่รู้กาลเทศะ จะเป็นมังสวิรัติแบบแข็งๆ รู้อย่างเดียวว่าเนื้อหาสาระนี้ดี ฉันหลุดพ้นจากการสื่อสารแบบนี้ “ดังนั้นถ้าฉันทำแบบนี้เธอก็ต้องรับได้ ไม่อย่างนั้นเธอก็จะได้ชื่อว่าเป็นคนไม่ฉลาดเป็นคนจิตใจต่ำทราม” จากฉัน เพื่อนร่วมโลกผู้มีอัตตาหนาเตอะ
สรุปแล้วเรื่องกามมันก็เห็นไม่ยากเท่าไหร่ เพราะในส่วนของ ”ความอยาก” ถ้าได้พิจารณาตัวเองอย่างจริงใจมันก็จะเห็นชัด ส่วนอัตตาเป็นเรื่องยากสุดยากที่จะเห็น เพราะใครเล่าจะยอมรับว่าตัวเองมีอัตตา ใครจะยอมรับว่าตัวเองยึดดีถือดีในมังสวิรัติ หากไม่ได้เจอแบบทดสอบก็คงจะไม่รู้ และหลายคนถึงแม้จะมีบททดสอบมากมายในชีวิตก็ไม่รู้ เพราะไม่เคยเรียนเรื่องกิเลสมาก่อน จึงปล่อยเหตุการณ์ที่เข้ามาทดสอบเหล่านั้นให้ผ่านไปอย่างน่าเสียดาย
จึงขอหยิบยกพุทธพจน์บทหนึ่งมากล่าวไว้ “ วันคืนล่วงไปล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ”
ติดตามต่อได้ที่
Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)
ทำบุญหวังผล
ทำบุญหวังผล
ชาวไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังคงมีวิถีชีวิตที่สอดร้อยไปด้วยวิถีแห่งความดีงาม เมื่อมีเหตุการณ์อะไรไม่ว่าจะดีหรือร้าย ก็มักจะไปทำกุศลโดยการบริจาคทาน ตามวัดวาอาราม ทำงานจิตอาสา บริจาคเงินเผื่อแผ่แก่สังคม ฯลฯ และในสังคมทั่วไปไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ หากที่ใดใกล้วัดก็จะได้พบเห็นการทำบุญตักบาตรเกื้อกูลพระสงฆ์ซึ่งเป็นภาพที่เห็นได้เป็นประจำในทุกเช้า เป็นเรื่องที่ดีที่ยังมีให้เห็นได้อยู่ในสังคมไทย
แต่การทำบุญนั้น ใครเล่าจะรู้ว่าจะได้อานิสงส์เท่าไหร่อย่างไร สิ่งใดเล่าเป็นตัววัด จะรับรู้ได้อย่างไรว่าบุญนั้นจะเกิดผล ผู้ที่ทำบุญส่วนมากกลับมีความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไปจากหลักคำสอนของศาสนาพุทธ คือทำบุญแล้วมักจะหวังผล หวังให้เกิดสิ่งที่ดีกับตน หวังให้ตนได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ให้สมใจ ขอลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ขอสวรรค์วิมาน ขอเทวดาคุ้มครอง ขอนิพพาน ขออะไรก็ขอกันไป โดยมีสิ่งของเครื่องบรรณาการไปแลกหรือติดสินบน เพื่อให้ตัวเองนั้นได้คาดหวังว่าจะมี เทวดา ฟ้า สวรรค์ หรืออะไรมาดลบันดาลให้เกิดสิ่งดีในชีวิตตน
เป็นการเอาโลกียะทรัพย์ คือวัตถุ สิ่งของ ไปแลกโดยหวังสิ่งที่มากกว่า เช่นทำบุญไป 100 บาท หวังว่าจะถูกหวยรางวัลที่หนึ่ง หรือคนอีกพวกก็มักจะทำบุญด้วย วัตถุ สิ่งของ เพื่อหวังไปแลกอริยทรัพย์ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ทั้งสองกรณีอยู่แล้วที่จะเอาของไร้ค่าไปแลกกับของมีค่า เป็นไปไม่ได้ที่จะลงทุนน้อยแต่ได้กลับมามาก
ศาสนาพุทธสอนให้เราเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม การที่เราทำสิ่งใดนั้น เราย่อมได้รับผลของมัน นั่นหมายความว่า ถ้าอยากได้ อยากเป็น อยากมีอะไร ต้องทำเอาเอง ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ไม่ว่าจะลาภ ยศ สรรเสริญ สุข สวรรค์ วิมาน นิพพาน ฯลฯ ถ้าอยากจะได้ ต้องทำเอาเอง ต้องปฏิบัติเอาเอง ไม่ใช่การเฝ้าร้องขอ วิงวอน บนบาน ขอพร กับใครหรืออะไรทั้งสิ้น
อ่านไปแล้วอาจจะรู้สึกว่าโหดร้าย แต่ความจริงก็เป็นเช่นนั้น เพราะกฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ เราจะได้รับสิ่งที่เราไม่ได้ทำได้อย่างไร ในเมื่อเราไม่ได้ทำอะไรมา เราก็ไม่สมควรได้รับสิ่งนั้น ความยุติธรรมเช่นนี้ก็ดีแล้วไม่ใช่หรือ?
ผู้ที่มัวเฝ้าหวัง เฝ้าขออะไรก็ตาม แท้จริงแล้วเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจกฎแห่งกรรม ไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่ถ่องแท้ ไม่กระจ่างแจ้งเรื่องกรรม เขาเหล่านั้นจึงงมงายในสิ่งลี้ลับ สิ่งมหัศจรรย์ เทพ เทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไปจนถึงไสยศาสตร์ เดรัจฉานวิชาต่างๆ
การขอหรือการหวังใดๆนั้นอาจจะได้หรือไม่ได้ก็ได้ แต่การเกิดสิ่งที่หวังนั้นไม่ได้เกิดจากการร้องขอของเราเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าเราไม่เคยทำสิ่งดีมาก่อนก็ไม่มีวันได้สิ่งดี เหมือนกับการหยอดกระปุกสะสมเงิน ถ้าเราไม่เคยหยอดกระปุกเลย ถึงเราจะพยายามแงะแกะเขย่าเท่าไหร่ ก็ไม่มีวันที่เงินจะร่วงลงมา
ดังนั้นการที่เราขอแล้วได้นั้น ไม่ได้หมายความเทพเทวดาหรืออะไรในสถานที่นั้นศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นเพราะตัวของเรามีกุศลเก่าที่เก็บไว้ ความคาดหวังอย่างตั้งมั่นในการได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น ทำให้เราได้เบิกทุนกุศลเก่าที่เก็บไว้ในคลังกุศลของเรามาใช้อย่างไม่รู้ตัว จะสังเกตได้ว่าเวลามีคนบนบานศาลกล่าว หรือไปทำบุญขอนั่นขอนี่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มักจะมีทั้งคนสมหวังและไม่สมหวัง นั่นก็เพราะคนที่สมหวังเขาทำกุศลสะสมมามากเวลาเขาอยากได้อะไรเขาก็เบิกได้ ส่วนคนที่ไม่ได้ก็ไปเห็นคนที่เขาได้ ก็เข้าใจไปว่าสิ่งนั้นศักดิ์สิทธิ์ และเกิดความโลภ ก็เลยหวังให้ตนขอได้บ้าง สุดท้ายก็ไม่ได้อะไร…เพราะตนไม่เคยทำกุศลกรรมนั้นมา เมื่อไม่มีกรรม ก็ไม่มีผลของกรรม เพราะกฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ
แล้วต้องทำบุญแบบไหน?…
เราหลงไปกับการทำบุญที่เป็นความเข้าใจที่ผิด เป็นมิจฉาทิฎฐิ ซึ่งเป็นทางที่ตรงข้ามกับสิ่งที่ถูกที่ควร เมื่อเข้าใจผิดก็จะห่างไกลกับความสุขแท้ไปเรื่อยๆ เราควรมีความเข้าใจที่ถูกที่ควรเสียก่อน คือ มีความเข้าใจที่พาพ้นทุกข์ พาลดกิเลสเสียก่อน จึงเรียกได้ว่าสัมมาทิฏฐิ การให้เพื่อเป็นไปสู่การสั่งสมกิเลส ไม่ใช่ทางที่ถูกที่ควรเลย
ดังที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ตอนหนึ่งเกี่ยวกับสัมมาทิฏฐิว่า “ทานที่ให้แล้ว มีผล ( อัตถิ ทินนัง)“ มีผลอะไร? คือมีผลไปลดกิเลส ลดความละโมบ ลดการสะสม ลดความตระหนี่ถี่เหนียว ลดการเอาแต่ได้ ลดความเอาแต่ใจ ลดความยึดมั่นถือมั่น ฯลฯ ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์ จึงเป็นความเข้าใจที่ถูกที่ควร หรือสัมมาทิฏฐิ
ดังนั้น เมื่อเราทำทาน เราจึงต้องเข้าใจว่า ทานนี้เราให้ไปเพื่อลดกิเลสของเรา ลดความอยากได้อยากมีของเรา จึงจะเป็นบุญที่แท้จริง สร้างกุศลอย่างเต็มที่ ไม่มีบาปหรืออกุศลใดมาหักล้างให้เสียประโยชน์ไปเปล่าๆ
เมื่อเราได้เข้าใจว่าทำการทำทานของเราได้เกิดผลลดกิเลสแล้ว นั่นก็คือทานนั้นสำเร็จถูกต้องตามสัมมาทิฏฐิ เป็นความสมบูรณ์ของทานนั้นๆแล้ว ส่วนกุศลหรืออานิสงส์จากการทำบุญที่จะเกิดตามมานั้น จะเป็นอย่างไรให้เป็นเรื่องของเขา จะเกิดสิ่งที่ดีก็ได้ ไม่เกิดก็ได้ เพราะเราเมื่อเราทำทาน เราก็ได้รับสิ่งประเสริฐที่สุดคือการลดกิเลส เป็นสมบัติของเราแล้ว
ถ้าอย่างนั้นให้ทานแล้วต้องไม่หวังผล?..
จะตอบในแง่เดียวมันก็ไม่ใช่.. การให้ทานนั้น เราควรจะรับรู้ว่าผลจะเกิดอะไร เช่นเราให้สิ่งของกับคนๆหนึ่งไป แล้วรู้ผลว่าเขาจะไปสร้างประโยชน์ต่อได้ อันนี้ก็คือเราหวังผล คือให้เกิดผลดีกับเขา แต่เราไม่หวังผลเพื่อให้เกิดกิเลสใดๆในใจเราเพิ่ม
หรือถ้าเราไปทำทานแล้ว รู้ผลว่าเขาจะไปทำชั่ว เอาไปทำสิ่งไม่ดี เราก็รู้ผลนั้นๆ จึงระงับการให้ทาน เพราะทานนั้นจะเป็นไปเพื่ออกุศล แต่ใจเราไม่ได้ติดยึดเรื่องการให้แล้ว เรายินดีที่จะให้ แต่ถ้าให้ไปแล้วมันเกิดอกุศลมากกว่ากุศลเราก็ไม่ให้ จิตตรงนี้ก็เป็นทานแล้ว คือไม่ให้ เพื่อจะไม่ส่งเสริมโอกาสที่เขาไปสร้างบาปสร้างอกุศลเพิ่ม เป็นการไม่ให้ เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดี เพื่อหวังไปชะลอหรือขัดกิเลสเขา ไม่ให้เขามีกิเลสเพิ่ม
การทำทานนั้น ควรทำอย่างมีปัญญา คือควรรู้ว่าเราทำแล้วเราจะได้อะไรบ้าง ได้กุศลหรืออกุศล เป็นไปเพื่อบุญหรือบาป เป็นการลดกิเลสหรือสั่งสมกิเลส จะเกิดสิ่งที่ดีหรือให้ผลที่ร้าย เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เราจึงทำทานเพื่อลดกิเลสของเราและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นด้วยในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นการสร้างประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน พาตนเองและสังคมเจริญไปด้วยกัน เป็นบุญ เป็นกุศลอย่างแท้จริง
– – – – – – – – – – – – – – –
1.9.2557