Tag: ความโลภ

รวยเท่ากับซวย #1

December 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,918 views 0

รวยเท่ากับซวย #1

รวยเท่ากับซวย #1

…เมื่อความร่ำรวย ไม่ได้นำมาซึ่งความสุขและโชคดีเสมอไป

การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมยุคทุนนิยมในปัจจุบัน ผู้คนต่างก็พากันใฝ่หาความมั่งคั่งร่ำรวยเป็นเป้าหมายตั้งแต่เกิดไปจนตายว่าต้องร่ำรวยจึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นภารกิจที่ผูกมัดให้เราต้องแสวงหา ไขว่คว้าเพียงเพื่อจะร่ำรวย

แล้วเราร่ำรวยไปทำไม? เป็นคำถามที่ดูตลกสิ้นดี คำตอบนั้นมีมากมายรองรับไว้ตั้งแต่เราเกิดมาแล้ว เช่น จะได้สบาย จะได้กินใช้ตามต้องการ จะได้ไม่ลำบากตอนแก่ฯลฯ

แล้วเราต้องร่ำรวยขนาดไหน? มาถึงคำถามนี้หลายคนก็จะเริ่มตอบตามฐานะ ตามฝันของแต่ละคน เช่นตอนนี้ยังไม่ได้ล้านก็เอาล้านก่อน ได้ล้านมาแล้วแต่เดี๋ยวจะเอาสิบล้านว่าจะพอ พอได้สิบล้านเห็นเป้าร้อยล้านว่าจะคว้ามาก่อน สรุปง่ายๆว่าหาเท่าที่กิเลสจะนำพานั่นแหละ

….ความมั่งคั่งกับกิเลส

ขึ้นชื่อว่ากิเลสนี่มันไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีขอบเขตและมันไกลออกไปเป็นอนันต์ การได้มาซึ่งเงินหรือความมั่งคั่งเป็นเพียงแค่ฉากหน้า แต่กิเลสที่มีทั้งอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา นั้นเป็นฉากหลังที่ยิ่งใหญ่และอลังการ ไม่มีวันที่คนจะพอใจกับการสนองกิเลสด้วยเงิน มันไม่มีวันจบสิ้นแม้จะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เงินคืออสรพิษ” แต่ถึงอย่างนั้นศาสนาพุทธก็ไม่ได้ปฏิเสธความมั่งคั่งที่มาโดยธรรม เพียงแค่ให้รู้จักบริหารความมั่งคั่งเพราะถ้าสะสมมากเกินไปมันจะกลายเป็นพิษ ดังเช่นในฐานของศีล ๑๐ ก็จะมีเรื่องของเงินเข้ามาอย่างชัดเจน นั่นหมายถึงถ้าอยากให้ชีวิตมีความสุขก็อย่าไปยุ่งกับเงินมากนัก

ถึงกระนั้นก็ตามในฐานของศีล ๑๐ นั้นเป็นฐานะที่สูงมาก การจะมาถึงได้ต้องลดกิเลสมาตามลำดับจากศีล ๕ ศีล ๘ จนมั่นใจว่าถือศีลได้อย่างปกติเสียก่อนจึงจะขยับฐานมาศีล ๑๐ ไม่ใช่ว่าเห็นว่าศีล ๑๐ ดีแล้วจะเลิกรับเงินทุกอย่างแล้วทำตัวยากจนต้องทนทุกข์ทรมานจากกิเลส อยากได้ อยากมี อยากกิน อย่างคนอื่นเขาแต่อดไว้เพราะถือศีล อันนี้ก็เรียกว่าถือศีลไม่เหมาะสมตามฐานะ

ความเป็นพิษของความมั่งคั่งนั้นก็คือการเสพอย่างเกินพอดี คิดเพียงแค่ว่าตนหามาได้มากก็มีสิทธิ์ใช้มาก แปลกันตรงตัวก็คือหาเงินได้มากก็เอามาสนองกิเลสได้มาก สนองกิเลสมากมันก็บาปมาก ทางไปนรก(ความเดือดเนื้อร้อนใจ) ก็เปิดกว้างมากเช่นกัน

….รวยแล้วมันซวยยังไง

หลายคนอาจจะบอกว่ารวยก่อนถึงจะดี ในบทความนี้เราไม่ได้ปฏิเสธเงินเสียทีเดียว แต่เราปฏิเสธความรวยซึ่งหมายถึงการมีเกินพอดี คำว่ารวยนั้นแสดงถึงสภาพเหลือกินเหลือใช้ นั่นก็แสดงถึงความล้น ความเฟ้อ ความไม่พอดีอยู่แล้ว

ทีนี้เมื่อเรามีมาก เราก็อยากใช้มาก เพราะกิเลสเราโตตามไปพร้อมกับเงินด้วย สมมุติว่ามีคนคนหนึ่งตอนเขาจน เขากินข้าวจานละ 50 บาทก็ยังว่าแพง แต่ตอนเขารวย กินอาหารมื้อกลางวันมื้อเดียว 1,000 บาทก็ยังว่าคุ้มค่า ดูสิกิเลสมันหลอกได้ถึงขนาดนี้ มันเอารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสมาหลอกขายเขา เขาก็หลงเชื่อเห็นไหม ตอนเขาจนเขายังฉลาดกว่าตอนรวยเลยนะ เพราะเห็นว่าของที่คนรวยกินเข้าไปนั้นมันทั้งแพงทั้งน้อย แม้อร่อยแต่ก็ไม่คุ้มค่าเงิน คนรวยเขากล้ากินได้ยังไง ตอนจนมันจะเห็นคุณค่าเงิน 50 บาทว่ามาก จึงใช้เงินอย่างประหยัด แต่พอตอนเขารวยนี่มันกินได้หมดเลยนะ มันไม่ต้องคิดอะไรเพราะมันจ่ายได้หมด มันเห็นคุณค่าเงิน 1,000 บาทว่าน้อย เห็นไหมมันเริ่มโง่แล้ว

ค่าอาหารที่แพงขึ้นไปคือราคาของกิเลส ราคาของกามคุณที่เขาแต่งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ราคาของโลกธรรมที่เขายกยอปอปั้นว่าดีว่ายอด ราคาของอัตตาที่เราหลงไปให้คุณค่าว่ามันดี ราคาที่จ่ายไปนี่คือค่ากิเลสล้วนๆ คือความโง่บริสุทธิ์บนความรวยนี่เอง ถ้าได้ลองล้างกิเลสเรื่องอาหารจนหมดจะพบความจริงว่า ทั้งหมดนี้มันก็เท่านั้นเอง ข้าวมื้อละ 1,000 บาทกับมื้อละ 50 บาท มันก็อิ่มเท่ากัน ก็เท่านั้นเอง

การใช้เงินเป็นนี่ไม่ได้หมายความว่าใช้เงินตามฐานะอย่างที่เข้าใจกันเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการใช้เงินอย่างพอเหมาะพอควรให้เหมาะสมกับสิ่งที่จ่ายเงินซื้อไป ดังเช่นเรื่องที่ยกตัวอย่างนั้น คนเรากินเพื่อดำรงชีวิตอยู่แต่คนมีกิเลสนั้นดำรงชีวิตอยู่เพื่อกิน จึงต้องเสียเงินมากมายให้กับการกินที่สิ้นเปลือง ซึ่งก็มักจะมีคำพูดที่ดูดีเหตุผลที่สวยหรูจากกิเลสมารองรับ

ในมุมของความเป็นภัยนี่ก็มาก ความรวยจะเรียกคนที่ไม่จริงใจเข้ามาใกล้กับชีวิตเราเยอะมาก มีการฆ่ากันเพราะความรวยกันมาก็เยอะ คดีดังๆก็มีให้เห็นหลายคดีจนมีคำถามว่ารวยแล้วยังไง? สุดท้ายก็โดนเขาฆ่าแล้วเอาเงินไปใช้ มันตายเพราะความรวยแท้ๆ

ความรวยยังเป็นภัยในมุมของการบริหารงาน เช่นหากประเทศอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำสุดขีด เรามีโรงงานอยู่ซึ่งต้องแบกรับค่าใช้จ่ายรายเดือนสูงมาก เราบริหารไม่ผิดพลาดตามหลักการเลยนะ แต่สุดท้ายการเงินฝืดเคืองจนจำเป็นต้องลดสวัสดิการบางอย่างของพนักงาน แล้วเราดันรวย มีภาพรวยติดอยู่ในใจพนักงาน คือมีดีแค่ความรวยนี่แหละ เรื่องอื่นไม่ค่อยเด่น เพราะวันๆเอาแต่ทำตัวรวย ขับรถหรูไปกินอาหารแพงๆ เขาก็จะจ้องเราเหมือนกับฝูงหมาป่าจ้องลูกแกะนั่นแหละ ส่วนจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ลองจินตนาการกันดูว่าถ้าบริษัทที่เรากำลังทำงานถูกลดสวัสดิการ ลดเงินเดือน แต่ผู้บริหารยังใช้ชีวิตหรูหราตามปกติ เราจะรู้สึกอย่างไร

คนรวยที่เก็บกักทรัพย์ไว้ไม่สละออกนั้นก็ยากที่จะพบกับความสุข ในฆราวาสธรรม ๔ คือธรรมของผู้ครองเรือน ก็มี “จาคะ” หมายถึงการเสียสละแบ่งปัน ซึ่งจะใช้ลดความยึดมั่นถือมั่น ความตระหนี่ถี่เหนียวของของรวยนี้เอง

เมื่อมีทรัพย์แต่ไม่ได้บริหารทรัพย์ให้ไปเป็นไปในทางกุศล ไม่ได้ทำให้เกิดบุญ แต่นำไปสนองตัณหา นำไปเสพที่กิเลสสั่งนั้นก็จะกลายเป็นบาป นั่นหมายถึงว่ายิ่งรวยก็จะยิ่งมีศักยภาพในการทำบาปสูงเท่านั้น นำมาซึ่งสิ่งอกุศลมากมาย

….การบริหารความรวยไม่ให้ซวย

ในสมัยพุทธกาลนั้นก็มีเศรษฐีมากมายที่ทำทาน เปิดโรงทาน แจกของแจกอาหารทุกวัน ซึ่งเป็นลักษณะของผู้ศรัทธาในการทำทาน เป็นการบริหารทรัพย์ที่มีมากให้เกิดประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่เกิดบุญกุศลเท่านั้น ยังสามารถทำให้ตนเองนั้นพ้นภัยไปได้ด้วย

ยกตัวอย่างในยุคนี้เช่นกรณีของบิล เกตส์เมื่อครั้งหนึ่งเคยมีปัญหาที่ทำให้ชื่อเสียงและความมั่นคงในชีวิตตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย เขาได้ใช้การบริจาคเงินตั้งมูลนิธิขึ้นมาและผ่านพ้นวิกฤตินั้นไปได้ ด้วยผลแห่งการทำทานนั้นเอง

ในกรณีเช่นนี้ ถ้าตามหลักของ CSR (Corporate Social Responsibility : ความรับผิดชอบต่อสังคม)ก็ยังเป็นระดับปลายเหตุ เหมือนกับที่บริษัทยักษ์ใหญ่มากมายถล่มทรัพยากรธรรมชาติ กดขี่พนักงาน ลดคุณภาพสินค้า ขายสินค้าราคาแพง สุดท้ายเอารายได้ส่วนหนึ่งมาจัดกิจกรรมสังคมให้ดูดีหรือกลบเกลื่อนชื่อเสียงที่ไม่ดี ไม่ใช่ทานที่ให้ตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิตหรือตั้งแต่ต้นสายปลายเหตุ แต่ก็ยังถือว่าเป็นการบริหารความรวยไม่ให้ซวยได้ระดับหนึ่ง

ซึ่งในกรณีนี้ถ้าเราสมมุติกิจกรรมเป็น 10 ส่วน ทำบาปทำอกุศลไปซะ 9 ส่วน ทำดีเอากำไรมาทำทานเสีย 1 ส่วน มันก็ดูดีใช่ไหม แต่มันจะทานพลังบาปอกุศลของ 9 ส่วนนั้นไม่ได้นานหรอก วันหนึ่งหากยังไม่หยุดเอาเปรียบลูกค้า พนักงาน สังคมสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ได้มาซึ่งกำไร ก็ไม่มีทางจะต้านผลแห่งบาปที่ทำสะสมไว้ได้ สุดท้ายก็ซวยอยู่ดี

การบริหารความรวยที่ดีที่สุดคือการไม่รวย หรือการไม่ปล่อยให้ตนเองรวยจนถึงขีดที่เป็นภัย มีเท่าไหร่ก็ขจัดออก ปัดออก ยกตัวอย่างของประธานาธิบดีที่จนที่สุดในโลก “โฮเซ มูฮิกา” ที่มอบรายได้ต่อเดือนของตนกว่า 90% ให้กับการกุศล โดยใช้ชีวิตอย่างพอเพียงอยู่ในบ้านไร่ของเขากับภรรยา เรียกได้ว่าเป็นการบริหารความรวยอย่างชาญฉลาด เพราะนอกจากปัดภัยจากเงินที่จะเข้ามาหาตัวแล้ว ยังสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นด้วย

ในทางพุทธศาสนายังมีวิธีการบริหารที่ดีกว่านั้น คือทำงานฟรี คือไม่รับความรวยไว้ตั้งแต่แรกเลย เมื่อไม่ได้รับมาก็ไม่ต้องมานั่งบริหาร ไม่ต้องมาคอยลำบากเพราะความรวย และใช้การบริหารชีวิตและสังคมด้วยระบบสาธารณโภคี คือใช้ของส่วนกลาง ไม่มีของส่วนตัว พึ่งพาอาศัยกัน เลี้ยงดูกันและกัน สร้างประโยชน์แก่กันและกันแบบฟรีๆ

….การบริหารความรวยที่ผิด

ลองมายกตัวอย่างการบริหารความรวยที่ผิดบ้าง มีตัวอย่างมากมายให้เห็นเช่น ในระดับทั่วไป คนที่มีเงินมีทองก็สวมใส่ทอง เอาเงินมากมายใส่กระเป๋าด้วยความอยากแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตนรวย ทีนี้พอเตะตาบางคนที่เขามีความโลภมากๆเข้าก็มักจะเกิดการกระชากสร้อย ปล้นจี้ ขโมย อันนี้เป็นระดับชาวบ้านทั่วๆไป

ลองขยับขึ้นมาเป็นเรื่องของที่อยู่อาศัยบ้าง คนรวยก็มักจะตกแต่งบ้านประดับบ้านด้วยสิ่งของราคาแพง บ้านจะใหญ่และโดดเด่นกว่าคนอื่น เพราะคนรวยที่หลงเมาในกิเลสก็จะพยายามทำตัวให้คนอื่นรู้ว่าตนรวย ทีนี้พอโดดเด่นก็จะเป็นเป้าสายตา แล้วก็จะกลายเป็นเป้าหมายของโจรเข้าในวันใดวันหนึ่ง ความสูญเสียทรัพย์สินหรือชีวิตก็จะตามมา

ลองเปลี่ยนมาเป็นการบริหารงานบ้างดังเช่นกิจการที่มีการเติบโต ผู้บริหารจึงขยายกิจการออกไปเพื่อหวังกำไรให้มากขึ้น แต่เมื่อมีสาขามากขึ้นภาระก็มากขึ้น ต้องทำยอดขายมากขึ้น ปัญหาก็มากขึ้น ทั้งที่ชีวิตจริงๆก็ดีอยู่แล้ว แทนที่จะนำทรัพยากรมาพัฒนาสวัสดิการภายในต่างๆให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่กลับขยายให้ใหญ่แต่มีคุณภาพแบบทั่วๆไป เป็นลักษณะการบริหารความรวยที่ผิดที่เห็นได้โดยทั่วไปลองคิดดูก็ได้หากบริษัทจะบอกกับคุณว่าปีนี้ไม่มีโบนัสเพราะบริษัทจะนำเงินไปลงทุนขยายกิจการ จะรู้สึกอย่างไร

ลองมาดูในมุมของการบริหารเงินกันบ้าง หลายคนเอาเงินไปลงทุนในธุรกิจต่างๆที่มีความเสี่ยง ยกตัวอย่างเช่นลงทุนในตลาดหุ้นในลักษณะระยะสั้น สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า ซึ่งมีการแปรผันอย่างรวดเร็วและคาดเดาผลได้ยาก และแม้จะใช้คำว่า “การลงทุน” แต่ก็มีคุณสมบัติเหมือนการพนันอย่างไม่ผิดเพี้ยน คือมีการลงทุนและหวังให้ทุนเพิ่มมากกว่าที่ลงโดยมีโอกาสลดลงเช่นกัน ไม่ต่างอะไรกับการเล่นพนันอื่นๆ เพียงแค่ใช้ข้อมูลทางผลประกอบการและเศรษฐกิจเป็นตัวอ้างอิงที่ใช้เล่นกันไม่ต่างกับลูกเต๋าหรือไพ่ เมื่อเป็นการพนันจึงกลายเป็นการบริหารความรวยที่มีผิดไปจากทางที่ควรจะเป็นกุศล

การบริหารความรวยที่ผิดนั้นไม่ได้มาจากเหตุอะไรมาก ส่วนใหญ่ก็มาจากโลกธรรม คือความโลภ ความอยากได้การชื่นชม อยากให้มีคนยอมรับ อยากอยู่ในตำแหน่งสูงสุด อยากมีความสุข สนองอัตตา ก็เพียงแค่นั้น

….การประกอบอาชีพอย่างพุทธ

การได้มาซึ่งความร่ำรวยนั้นต้องไม่ได้มาจากการพนัน การขโมย การแย่งชิง การเอาเปรียบ ฯลฯ ความรวยที่สุจริตนั้นมาจากการประกอบอาชีพที่สุจริต และอาชีพที่สุจริตนั้นมีอยู่ในพระไตรปิฏก อยู่ในสัมมาอริยมรรคข้อหนึ่งที่ว่า “สัมมาอาชีวะ” เป็นคำที่ผู้คนต่างเข้าใจกันเพียงว่าเลี้ยงชีพชอบ แล้วอย่างไรจึงชอบ อาชีพใดจึงดี เราจะไปขยายกันต่อในบทความต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

13.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

คนเจ้าชู้

November 22, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 13,353 views 7

คนเจ้าชู้

คนเจ้าชู้

…น่าอิจฉาที่สุดในโลก น่าสงสารที่สุดในธรรม

ในสังคมทุกยุคทุกสมัย ไม่มียุคไหนที่ไม่มีคนเจ้าชู้ ถ้าเรามองผ่านๆโดยใช้กิเลสเป็นตัววัด เรามักจะอิจฉาริษยาคนเจ้าชู้เสมอ ที่เขาหรือเธอมักจะได้เสพสมใจในกิเลส มักจะได้คบหา รู้จัก สมสู่กับคนมากหน้าหลายตาอยู่เสมอนั่นคือมุมมองที่เรามองจากกิเลสไปสู่กิเลส สิ่งเหล่านั้นย่อมจะดูน่าเสพ น่าได้ น่ามีเป็นธรรมดาตามประสาโลกียะ

แต่ถ้ามองกันตามจริงนั้น คนเจ้าชู้นี่แหละคือคนที่น่าสงสารที่สุดในโลก เพราะตลอดเวลาที่เขาได้แสดงความเจ้าชู้ ด้วยถ้อยคำหวาน คำหยอกเย้า หว่านเสน่ห์ หรือกระทั่งนอกใจคู่ครองของตน ไม่มีการกระทำใดเลยที่เป็นบุญ ตลอดเวลาเขาได้กระทำบาปซ้ำซ้อนและบาปที่เขาทำนั้นก็ยังจะไปดูดดึงให้คนอื่นได้ร่วมบาปไปกับเขาอีก

คนเจ้าชู้นั้นจัดอยู่ในลักษณะของอบายมุข ซึ่งโดยวิถีชีวิตแล้วก็มักจะมีเรื่องของอบายมุขอื่นๆติดมาในชีวิตด้วย เช่นอบายมุขหยาบๆที่รู้กันโดยทั่วไปคือ กินเหล้า สูบบุหรี่ เสพยาเสพติดให้มัวเมา เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน ฯลฯ

และยังมีอบายมุขหยาบอีกมากมายที่คนมองไม่เห็นว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นอบายมุขเช่น หุ้น การบ้าดารา การหลงในของสะสม การแต่งรถ การชอบเที่ยวเล่นไปในที่ต่างๆ เช่นเที่ยวกินต่างประเทศ ฯลฯ ลักษณะเหล่านี้เป็นกิเลสหยาบในระดับอบายมุขทั้งสิ้นซึ่งเป็นเครื่องล่อหรือเครื่องมือให้คนเจ้าชู้ใช้กิเลสเหล่านี้มาเป็นสิ่งที่ทำให้ตนได้มาเสพสมใจในสิ่งต่างๆ

กิเลสแต่ละตัวจะเติมเต็มกันและกัน เมื่ออยากเสพสิ่งใดมากเข้าก็จะเพิ่มกิเลสตัวอื่นไปในตัว เช่นเมื่อเราอยากเที่ยว เราก็อยากกินของอร่อย พอกินของอร่อยก็อยากถ่ายรูปอวด พออยากถ่ายรูปอวดก็อยากแต่งตัวสวย พอรู้สึกว่าตัวเองสวยก็เริ่มอยากตรวจสอบความนิยม พอมีคนเข้ามาให้เลือกมากๆก็เริ่มคิดที่จะมีคู่ พอมีคู่ได้เสพสมใจบางอย่างแล้วก็ติดใจ วันใดที่เริ่มไม่ได้เสพได้ดั่งใจเหมือนก่อนหรือเบื่อรสชาติเดิมๆก็จะหาสิ่งใหม่มาเสพ นี่แหละอบายมุขกับความเจ้าชู้มันจะค่อยๆเติมเต็มกันและกัน

…ความเจ้าชู้เกิดจากอะไร

คนเจ้าชู้นั้นเป็นได้ทั้งชายและหญิง กิเลสนั้นไม่จำกัดเพศ ไม่จำเป็นว่าผู้ชายต้องมักมากมากกว่าผู้หญิงมันไม่แน่เสมอไป เพราะสิ่งที่ให้เกิดความเจ้าชู้ไม่ใช่เพศแต่เป็นกิเลส

ลักษณะที่เห็นได้ทั่วไปสำหรับกิเลสของคนเจ้าชู้คือความโลภ อยากครอบครอง อยากเสพมากกว่าที่ควรจะเป็น อยากมีมากกว่าคนอื่น อยากสะสม อยากอวด ฯลฯ จึงเกิดสภาพของความเจ้าชู้ขึ้น เพราะไม่รู้จักคำว่า “พอ” คำว่าพอนี้ไม่ใช่คิดเอาแล้วมันจะพอเพียงได้ กิเลสมันจะไม่ยอม มันจะหิวโหยหาและออกไปสร้างความเจ้าชู้ แม้จะรู้ตัวว่าเป็นสิ่งไม่ดี ไม่ควรทำ แต่คนเจ้าชู้กลับไม่สามารถหักห้ามใจตัวเองไม่ให้ไปเสพสิ่งที่ไม่ควรได้ ซึ่งเขาหรือเธอเหล่านั้นตกอยู่ในกิเลสที่หนาจนแทบมองไม่เห็นแสงสว่าง แม้ว่าคิดจะหยุดเจ้าชู้แต่ก็ทำไม่ได้เพราะกิเลสมันสั่ง

กิเลสชั้นแรกของคนเจ้าชู้คือนักสะสม กลัวสูญเสีย กลัวไม่ได้เสพ กลัวขาด กลัวไปหมดทุกอย่าง แต่ภาพแบบนี้เราจะไม่ได้เห็นกันเพราะเขาหรือเธอนั้นจะกลบมันไว้ด้วยความมั่นใจ ภาพลักษณ์ของคนเจ้าชู้จะไม่แสดงความอ่อนแอ แต่จะเห็นในลักษณะของการบำรุงบำเรอกิเลสคนอื่น ทั้งหมดทั้งสิ้นนั้นเพื่อการให้ตัวเองได้มาสะสม ได้มาเสพนั่นเอง

ถ้าคนไม่เจ้าชู้ก็จะไม่ต้องบำรุงบำเรอกิเลสคนอื่น ไม่ต้องพูดคำหวาน ไม่ต้องหยอกล้อ ไม่ต้องส่งสายตา ไม่ต้องดูแล ไม่ต้องเอาใจ เพราะไม่ได้หวังจะเสพอะไร คนเจ้าชู้บางคนสร้างพฤติกรรมสุภาพบุรุษเสียจนกลายเป็นสามัญ คือดูแลเอาใจใส่ทุกคน แต่สุดท้ายเขาก็ทำเพื่อที่จะเลือกคนที่เขามาเสพอยู่ดีนั่นเอง ถือว่าเป็นคนเจ้าชู้ที่เก่ง เก่งในเรื่องของการสนองกิเลส ความแนบเนียนในการสร้างความเชื่อมั่นให้คนอื่นเห็นว่าตนไม่มีกิเลส ตนจริงใจ นี่คือลักษณะของคนที่เจ้าชู้มันจะหลอกซ้ำหลอกซ้อนในตัวเองแล้วหลอกคนอื่นไปด้วยในตัว พอเหยื่อหลงเชื่อก็ค่อยๆตามไปกินก็ยังไม่สาย

คนเจ้าชู้มากก็จะมีวิธีการให้ได้มาซึ่งการเสพมาก แนบเนียน น่าค้นหา น่าหลงใหล ดูอบอุ่น เหมือนใบมีดโกนเคลือบน้ำผึ้งถ้าใครเผลอหลงในรสน้ำผึ้งสุดท้ายก็จะโดนใบมีดโกนบาด ยิ่งเจ้าชู้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งบาปเท่านั้น ยิ่งชั่ว ยิ่งเก่ง ยิ่งเสพก็ยิ่งใกล้นรกมากเท่านั้น

คนเจ้าชู้มือใหม่อาจจะมีวิธีการที่ไม่แนบเนียน แต่เมื่อเขาได้เรียนรู้ผ่านวันผ่านเดือนผ่านปี เขาอาจจะกลายเป็นนักเจ้าชู้ตัวฉกาจก็ได้ เพราะกิเลสสอนเราให้ชั่วเสมอ ชั่วล้ำลึก ชั่วซับซ้อนซ่อนเงื่อน ชั่วดูดี เมื่อเราเสื่อมจากธรรมและนำพาชีวิตด้วยกิเลส เราจะเป็นคนที่สามารถทำชั่ว หรือเจ้าชู้ได้อย่างแนบเนียน เราจะมีเหตุผลมากมายในการเจ้าชู้ เราจะยินดีในการเจ้าชู้และหลงไปว่าการเจ้าชู้นี่แหละคือคุณค่าของชีวิต การได้เสพการได้มีคู่ครองมากนี่แหละคือสิ่งที่น่าสรรเสริญ ทั้งที่จริงลักษณะที่มีคู่ครองหลายคน มั่วกันไปกันมานั้น สัตว์มันก็ทำได้ ไม่เห็นมันจะน่าภูมิใจตรงไหน

จริงๆแล้วรากลึกของความเจ้าชู้นั้นเกิดจากอัตตา เกิดจากความมีตัวมีตน อยากให้คนยอมรับ อยากให้คนเห็นคุณค่า อยากให้คนเห็นว่า นี่ไงมีคนสนใจฉันมาก ฉันทำให้คนเสพฉันได้มาก ฉันเสพคนอื่นได้มาก ยอมรับฉันสิ ดูฉันสิ ฉันเป็นที่นิยมนะ เป็นอัตตาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยโลกธรรม หลงในลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียะสุข เป็นกิเลสชั้นหยาบที่ทำให้คนหลงไปในกามเมถุนและเรื่องอบายมุขอีกมากมาย

ลักษณะเด่นของคนเจ้าชู้คือมักทำตัวให้เป็นที่น่าสนใจ ให้เป็นที่น่าคบหา ทั้งในทางเปิดเผยและไม่เปิดเผย กลยุทธ์ในการได้มาซึ่งการครองใจคนอื่นมีมากมายนับไม่ถ้วนแต่สรุปรวมได้ว่าการสนองกิเลสคนอื่น จนเขายอมมาเสพสมใจหรือสมสู่กันนั่นแหละ เหมือนกับสัตว์ที่เวลาหาคู่ก็ต้องพยายามทำตัวเองให้เด่น พยายามทำตัวเองให้แข็งแรง มนุษย์ที่เจ้าชู้ก็ไม่ต่างจากสัตว์สักเท่าไรนัก จะให้บอกกันตรงๆก็คงจะแย่กว่าสัตว์เพราะสามารถทำชั่วได้มากกว่า ไปกระตุ้นกิเลสคนอื่นได้มากกว่า ทำร้ายจิตใจคนอื่นได้มากกว่า ทำให้เกิดทุกข์ เกิดบาป เกิดกรรมชั่วได้มากกว่า

….ทำไมเราต้องเจอกับคนเจ้าชู้

หลายคนสงสัยว่าทำไมฉันต้องมาเจอกับคนเจ้าชู้ สำหรับคนที่มารู้ทีหลังว่าคู่ของตนนั้นเจ้าชู้ก็ถือว่ารับกรรมไป เพราะไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับโดยที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งที่เราได้รับเราทำมาแล้วทั้งนั้น

การมีคู่ครองหรือคนที่คบหาเจ้าชู้โดยที่ไม่รู้มาก่อนนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการใช้กรรมที่เราเคยไปเจ้าชู้มาชาติใดก็ชาติหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งของเราคือเรายินดีกับการที่เขามาสนองกิเลสให้เราจนเรายอมให้เขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเราเอง มันมีทั้งกรรมในอดีตและกรรมในชาติปัจจุบันสังเคราะห์ร่วมกันจนเกิดเป็นเหตุการณ์นั้นๆขึ้น

และยังมีคนอีกมากที่มักจะชอบคิดว่าตนเองสยบความเจ้าชู้ได้ หลงไปว่าคนเจ้าชู้จะจบที่เราได้โดยเพียงเชื่อคำหวาน คำสัญญาของคนที่มีกิเลส การที่เราคิดว่าจะสยบความเจ้าชู้ได้นั้นเพราะเรามีอัตตายึดมั่นถือมั่นว่าเราดี เราเก่ง เราสวย เราหล่อ อะไรก็ว่ากันไป พอยึดมั่นถือมั่นมันก็เลยมั่นใจ ทีนี้มาเจอกับคนเจ้าชู้ พอเขาได้เสพสมใจในหลายๆสิ่ง จนเขาเริ่มเบื่อแล้วเขาก็จะเริ่มหาสิ่งใหม่เสพ เพราะกิเลสของเขามาก เราสนองกิเลสเขาไม่พอ เขาก็เลยต้องแสดงความเจ้าชู้ไปหาคนอื่นมาเสพ ถ้าเขาไม่หามาเสพ กิเลสเขาก็จะทรมานให้เขาต้องทุกข์เพราะความอยากเสพ กิเลสนั้นคือยาเสพติดชั้นดีเชียวล่ะ

….คนเจ้าชู้รับมืออย่างไร

คนเจ้าชู้นี้จัดอยู่ในหมวดของคนติดอบายมุข เป็นคนพาล พระพุทธเจ้าท่านให้ห่างไกลคนพาลก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งอาจจะไม่ได้หมายความว่าต้องเลิกคบ แต่ไม่ไปคบหาในเชิงชู้สาว ไม่เผลอใจเข้าไปเพราะเพียงแค่หวังจะเสพรสของหนุ่มสาวเจ้าชู้ เรื่องกิเลสนี้ไม่ควรลอง ไม่สมควรที่จะเอาชีวิตไปเสี่ยง มีคนมากมายที่มั่นใจนักหนาว่าจะปราบคนเจ้าชู้ได้แต่สุดท้ายก็แพ้ไม่เป็นท่ามาหลายรายแล้ว

ถ้าเจอคนเจ้าชู้เปิดเผยก็แล้วไป แต่ถ้าเจอคนเจ้าชู้เงียบล่ะ แบบว่าแอบติดต่อ แอบหยอดคำหวานไม่ให้ใครรู้ ซึ่งเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาทำอย่างนั้นกับทุกคนหรือไม่ วิธีตรวจสอบก็คืออย่าไปรีบตามเขา คนเจ้าชู้จะมีกลยุทธ์มากมายที่เอาไว้มัดใจเรา ให้เราออกไปใกล้ชิด ให้เรายอมสมสู่ ให้เรายอมแต่งงาน สุดท้ายแม้แต่การทอดทิ้งกันไปหลังแต่งงานก็ยังมีให้เห็นเป็นปกติในสังคม เพราะฉะนั้นการแต่งงานไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะจบ ไม่ได้หมายความว่าคนเจ้าชู้จะหยุดเจ้าชู้ได้ ถ้าเจอคนที่จีบเก่ง เอาใจเก่งก็ให้เขารอ รอไปเรื่อยๆ 5 ปี 10 ปี ก็รอไปอย่าเพิ่งไปใกล้ชิดแนบเนื้อนัก อย่ารีบไปสมสู่ อย่ารีบไปแต่งงาน รักษาระยะห่างให้ความสัมพันธ์เป็นไปในทางกุศล อะไรดีก็ทำร่วมกัน อะไรไม่ดีก็ให้ห่างไว้ ถ้ารักกันจริงมันต้องรอได้ แต่คนเจ้าชู้จะรอไม่ได้ เพราะความเจ้าชู้จะทำให้เขารีบเผด็จศึก ถ้าเขารู้สึกว่ากลยุทธ์ที่เขางัดมาใช้ทั้งหมดไม่ได้ผล เขาจะเลิกลงทุนและล่าถอยไปเอง นั่นหมายความว่าไม่ได้ควรคู่ให้เขาคบหาจริง นั่นเพราะเขาไม่ได้คิดจะคบหาเราเป็นคู่ชีวิต แต่คิดจะคบหาเป็นช่วงหนึ่งของชีวิต

เจ้าชู้เปิดเผยกับเจ้าชู้เงียบก็ยังพอจะป้องกันไว้ได้ แต่ถ้าเจอเจ้าชู้ที่ยังไม่กำเนิดก็ยากหน่อย หมายถึงคนที่กิเลสยังไม่แสดงตัวนั้นจะดูและป้องกันยากมาก ส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังจากเป็นแฟนกันแล้ว สมสู่กันแล้ว หรือแต่งงานกันแล้ว นั่นเพราะแต่ก่อนไม่เคยได้เสพเรื่องสมสู่คนคู่แต่พอได้เสพหนึ่งแล้วมันก็อยากเสพอีกหนึ่ง อยากเสพแบบอื่น รสอื่น ลีลาอื่น ที่อื่น คนอื่น สุดท้ายก็เลยกลายเป็นคนเจ้าชู้ไป กลายเป็นปัญหาในครอบครัว ไม่ว่าจะมีเมียน้อยผัวน้อยหรือไปเที่ยวโสเภณีก็ตาม

ถ้าเจอแบบนี้ก็ให้ปล่อยวางเสียเพราะมันทำอะไรไม่ได้ มันพลาดไปแล้วก็ให้ทำดี ถือศีลให้มั่นคง ศึกษาธรรมะ ความดีจะจัดฉาก จัดเหตุการณ์ที่ดีให้เอง เช่น เขาหรือเธอกลับใจเลิกเจ้าชู้ , เขาหรือเธอออกไปจากชีวิตเอง , หรือมีคนอื่นเอาไปเป็นคู่ เช่นเขามีเมียน้อย เราก็ปล่อยเขาไป คนที่คิดนอกใจเจ้าชู้ไปมีคนอื่นนั้นมันก็บาปก็ชั่วพอที่เราจะปล่อยให้เขาไปตามทางของเขาแล้ว แต่ส่วนมากก็มักจะยึดคนบาปไว้กับตัวเพราะเสียดาย จะไปเสียดายคนชั่วทำไม เขานอกใจแล้วแสดงว่าเขายินดีที่จะไปเสพสิ่งอื่น ไม่อดทน ไม่มั่นคง เราก็ไม่ควรไปยึดเขาไว้ เราก็ต้องปล่อยเขาไปตามที่กิเลสและกรรมของเขาจะนำพา ให้โอกาสตัวเองได้พบกับชีวิตที่ดี จะดีกว่าให้โอกาสเขากลับมาทำทุกข์ให้ตัวเรา มันบาปทั้งคู่

คนเจ้าชู้จะหยุดที่ใครได้จริงไหม

ด้วยความเจ้าชู้นั้นมักสร้างเสน่ห์จนน่าหลงใหลอยู่เสมอ คนจำนวนมากจึงหลงไปกับคนเจ้าชู้ โดยคิดหวังลึกๆว่าเขาหรือเธอจะหยุดลงได้ที่เรา

ในความเป็นจริงแล้วความเจ้าชู้เกิดจากกิเลส การได้สนองกิเลสนั้นไม่ได้ทำให้กิเลสตาย นั่นหมายถึงว่า ถึงแม้เราจะให้เขาเสพเรา แม้ว่าเราสวย เราหล่อ เรารวย เราดีแค่ไหน ก็ไม่ได้ทำให้กิเลสของเขาลดลงเลย เขาก็อาจจะเสพเราจนกว่าเขาจะเบื่อ สุดท้ายคนเจ้าชู้ที่เต็มไปด้วยกิเลสก็จะหาช่องทางออกไปเสพสิ่งอื่นอยู่ดี

หรือที่เห็นว่าหยุดมันก็แค่หยุดได้แค่ช่วงหนึ่ง สงบไปได้ช่วงหนึ่ง อาจจะเป็นปี สิบปี ยี่สิบปี แต่ถ้าสุดท้ายกิเลสไม่ตาย ความเจ้าชู้มันก็จะออกมาอาละวาดฟาดคนอื่นไปทั่วอยู่ดี การหยุดนั้นเป็นการหยุดเพื่อเสพ หยุดเพื่อให้คนคนหนึ่งตายใจเพื่อจะได้เสพ คนเจ้าชู้ก็คิดจะหยุดความเจ้าชู้เช่นนั้นจริงๆนะ เขาหรือเธออาจจะไม่ได้โกหกเลย ยินดีจะหยุดด้วยความเต็มใจ แต่พอถึงวันหนึ่งมันเสพจนเบื่อกิเลสมันก็จะกระตุ้นให้ผีร้ายออกไปอาหารไปเลี้ยงกิเลสอยู่ดีนั่นเอง

ผลกรรมของคนเจ้าชู้

ผลกรรมที่เห็นได้เด่นชัดของคนที่เจ้าชู้คือ ได้รับความเจ็บปวดจากความเจ้าชู้อย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้ได้เจอกับคนเจ้าชู้และแม้จะรู้ว่าสุดท้ายต้องเจ็บ แต่ก็จะหลงเชื่อมั่นจนหมดตัวหมดใจ ยอมพลีกายพลีใจให้เขาไปหมด หน้ามืดตามัว แม้ใครจะเตือนก็ไม่ฟัง แม้มีหลักฐานก็ไม่เชื่อ สุดท้ายก็ต้องโดนเขาทอดทิ้ง ปล่อยปละละเลย กลายเป็นอดีตของคนเจ้าชู้คนนั้น ดังที่หลายคนเจออยู่ในทุกวันนี้ เพราะกรรมที่เราทำมานั่นเอง

คนเจ้าชู้นี่เป็นคนที่น่าสงสารที่สุดเพราะเขาหลงว่าความเจ้าชู้นั่นเป็นสิ่งดีที่เขาภูมิใจโดยไม่รู้ว่ามันสร้างบาปเวรภัยให้กับเขาและผู้อื่นมากมายขนาดไหน

การเจ้าชู้เกิดขึ้นเพราะเขาไม่เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม คนที่ไม่เจ้าชู้นั้นก็เพราะเขากลัวในเรื่องบาปกรรม ส่วนคนเจ้าชู้นั้นจะไม่เชื่อ ไม่ชัดเจนในเรื่องของกรรม ส่วนใหญ่มักคิดว่าเกิดมาชาติเดียวต้องใช้ชีวิตให้คุ้ม เป็นความหลงผิดอย่างร้ายแรงของจิตวิญญาณดวงหนึ่ง เมื่อไม่เชื่อในเรื่องกรรม ก็ไม่มีความดีความชั่วที่ส่งผลข้ามภพข้ามชาติ สุดท้ายก็จะเหลือแต่การหามาเสพสมใจโดยไม่สนใจกรรมชั่ว

เหมือนกับคนที่อดอยากมานานพอได้มาเจออาหาร ก็มักกินอย่างตะกละตะกลามเหมือนกันกับคนเจ้าชู้ เขาเองไม่เคยได้เสพไม่เคยได้ครอบครอง พอมีโอกาส เกิดมารวย เกิดมาหน้าตาดี ถึงแม้ไม่มีก็พยายามจะทำให้เป็นให้มีเพื่อให้ได้เสพ และพอมีโอกาสเสพก็จะเสพอย่างเต็มที่ มัวเมาในอบายมุข กาม โลกธรรม อัตตา เมากิเลสอยู่แบบนั้นโดยไม่รู้ว่ากรรมและผลของกรรมนั้นมีจริง เป็นเรื่องจริงที่ส่งผลข้ามภพข้ามชาติ เป็นสิ่งทำให้เหล่าสัตว์เกิดมาดีเลว ขาวดำ สูงต่ำ รวยจน ฯลฯ แตกต่างกัน

สิ่งที่จะได้รับจากความเจ้าชู้นั้นหนักหนามากมายเหลือประมาณ เพราะผิดศีลข้อ ๓ เต็มๆ ไม่ว่าจะเจ้าชู้ทางกาย วาจา หรือแม้แต่ใจก็ยังผิด นรกนั้นเปิดประตูต้อนรับคนเจ้าชู้เสมอ ทั้งตอนที่ยังมีชีวิตอยู่และตอนตาย นรกเกิดทันทีในจิตของคนเจ้าชู้นั้นๆตั้งแต่เริ่มคิดทำชั่ว และเกิดไปจนกว่าจะได้รับผลกรรมชั่วที่ทำไว้หมดสิ้น แม้จะเกิดชาติใหม่เป็นคนดีไม่เจ้าชู้ แต่ก็ยังต้องมารับกรรมที่ตัวเองเคยเจ้าชู้ไว้ตั้งแต่ชาติปางก่อน

ความเจ้าชู้จะจบลงที่ตรงไหน

คนเจ้าชู้นั้นจะไปจบตรงไหนและจะหยุดได้เมื่อไหร่นั้น หากมองกันเพียงสั้นๆในชีวิตนี้แล้ว คนเจ้าชู้เขาก็เจ้าชู้ไปได้แค่ทุกข์สุดทุกข์นั่นแหละ คือการเจ้าชู้นี่มันต้องไปทำผิดอยู่แล้ว ไม่ว่ากาย วาจา ใจ ซึ่งวันใดวันหนึ่งพอผลกรรมที่ทำไว้สุกงอมร่วงหล่นลงมาเกิดเป็นเหตุการณ์เช่น ทำให้ใครเขาท้องหรือตัวเองท้องเอง ,ไปเจ้าชู้กับแฟนเพื่อน ,ไปเจ้าชู้กับนักเลง,ติดโรคร้ายแรง,เสียทรัพย์หมดตัวเพราะมัวเมา ฯลฯ ก็อาจจะทำให้ชีวิตเปลี่ยนได้ ซึ่งเขาก็อาจจะสามารถหยุดความเจ้าชู้ลงในชาตินั้นๆได้

แต่หากได้โงหัวผงาดขึ้นมาใหม่ เช่นร่ำรวย หรือเปลี่ยนถิ่นที่อยู่ ก็อาจจะเป็นโอกาสที่เขาจะได้แสดงความเจ้าชู้อีกครั้ง ทำชั่วสะสมมากเข้าจนกระทั่งตาย

แม้ว่าจะตายก็ยังไม่จบเพราะกิเลสไม่ตาย ความตายในเชิงความเข้าใจของโลกนั้นดูเหมือนว่าทุกอย่างจะจบ แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนภพ เปลี่ยนร่างไปสู่อีกร่างหนึ่ง แต่คนที่เจ้าชู้ ยากนักที่จะได้เกิดเป็นคนอีก อาจจะกลายเป็นหมู เป็นหมา เป็นวัว เป็นควาย ให้เขาตอน ให้เขาผสมพันธุ์ ต้องรับกรรมจากการที่ไปเจ้าชู้กับคนอื่นนานแสนนานจนกว่าจะใช้กรรมหมด จนได้เกิดเป็นคนอีกครั้ง

ทีนี้พอเกิดเป็นคนแต่กิเลสยังไม่ตาย กิเลสตัวเจ้าชู้ยังมีอยู่เหมือนเดิมนั่นแหละ ก็ทำบาปเวรภัยต่อไปอีกเรื่อยๆ เกิดแล้วตาย วนเกิดเป็นสัตว์เป็นคนเจ้าชู้ไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ ต้องทรมานและตายเพราะความเจ้าชู้นั้นไม่รู้กี่ครั้ง จนกระทั่งชาติใดชาติหนึ่งก็เริ่มที่จะเข็ดขยาดกับความเจ้าชู้ เริ่มหันมาเป็นคนดีบ้าง แต่ก็ต้องพบกับกรรมที่ตัวเองเคยเจ้าชู้มาก่อนเข้ามาอัดซ้ำแล้วซ้ำอีก

แล้วก็วนเวียนกลับไปเป็นคนเจ้าชู้อีกเพราะกิเลสยังไม่ตาย วนกลับไปกลับมาระหว่างคนเจ้าชู้กับไม่เจ้าชู้นี่แหละ สุดท้ายก็ติดดีเกลียดเจ้าชู้วนเวียนไปนานแสนนานจนกว่าจะพบกับครูบาอาจารย์ที่สอนวิธีดับกิเลส พอได้รู้วิธีดับกิเลสแต่ก็ขี้เกียจ หวงกิเลส ไม่เชื่ออีก ก็ต้องเกิดตายเกิดตายอยู่หลายชาติจนพบว่าไม่มีทางใดพ้นทุกข์นอกจากการดับกิเลส เมื่อรู้ดังนั้นก็ต้องเพียรดับกิเลสกันอยู่หลายภพหลายชาติ ตายแล้วก็เกิดมาสู้กิเลสใหม่ กิเลสก็ยังไม่ตายสักที

จนในที่สุดวันที่เพ่งเพียรพยายามอย่างเต็มที่ได้มาถึง เมื่อได้ปฏิบัติสัมมาอริยมรรคซึ่งเป็นทางเดินสู่การพ้นทุกข์คือการดับกิเลสในจิตวิญญาณให้สิ้นเกลี้ยงก็จะได้รับผลเป็นปัญญารู้แจ้งในกิเลสเรื่องเจ้าชู้นั้นๆ รู้ทุกเหลี่ยมทุกมุม ทุกข์โทษภัย ผลเสีย รู้กรรมและผลของกรรม รู้ว่าการฆ่ากิเลสนี้ยากเพียงไร พอมีความรู้มีธรรมอันนี้จริงในวิญญาณแล้วก็ถือว่าเป็นสุดท้าย เป็นตอนจบของความเจ้าชู้แล้ว หลังจากนั้นคือเอาความรู้ที่ได้จากการปราบความเจ้าชู้ไปสอนคนอื่นเพื่อพัฒนาปัญญา เพิ่มกุศลที่ต้องใช้เพื่ออาศัยในชาติภพต่อๆไป เพื่อเป็นพลังในการทำลายกิเลสตัวอื่นที่ยังเหลืออยู่ต่อไป

คนเจ้าชู้ที่เก่ง จะทำให้คนอื่นเชื่อว่าตนไม่เจ้าชู้

คนเจ้าชู้ที่เก่งกว่า จะทำให้คนอื่นยินดียอมรับ แม้จะรู้ว่าตนนั้นเจ้าชู้

แต่ยิ่งเก่งในเรื่องเจ้าชู้เท่าไร ก็ยิ่งสร้าง บาป เวร ภัย มากเท่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

21.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

October 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 23,627 views 1

เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

คำว่าทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้จักกันอยู่แล้ว ไม่มีใครเกิดมาไม่พบกับทุกข์ ทุกคนที่อยู่บนโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องพบกับทุกข์ เป็นสัจจะ เป็นความจริงแท้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ทุกข์นั้นมีอยู่สองส่วน หนึ่งทุกข์ที่เลี่ยงไม่ได้ และสองคือทุกข์ที่เลี่ยงได้นั่นก็คือทุกข์จากกิเลสนั่นเอง เราจะมากล่าวถึงทุกข์จากกิเลสกัน

ทุกข์นั้นจะเกิดได้ก็เพราะมีเหตุ เหตุแห่งทุกข์ นั้นพระพุทธเจ้าเรียกว่า “สมุทัย” และเหตุแห่งทุกข์นั้นแท้จริงแล้วอยู่ข้างในตัวเรา

(1). ด่านแรก ทุกข์อยู่ข้างใน…

ด่านแรกของการเห็นเหตุแห่งทุกข์เลยก็คือมันอยู่ที่ตัวเรา ใครที่พบเจอกับความทุกข์แล้วมัวแต่มองหาคนผิด มองหาผู้ที่ทำให้ตนทุกข์ มองหาคนรับผิดชอบในทุกข์นั้น เป็นคนที่มองไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์ เพราะทุกข์นั้นเกิดจากใจของตัวเอง เกิดจากกิเลสของตน เกิดจากกรรมของตน การจะรู้เหตุแห่งทุกข์ได้จึงต้องยอมรับว่าทุกข์นั้นเกิดจากตนเองก่อนเป็นอันดับแรก

(2). ด่านที่สอง ทุกข์ที่เห็นอาจจะไม่ใช่เหตุแห่งทุกข์

ทุกข์ที่เห็นนั้น มักจะเป็นผลสุดท้ายของการไม่ได้เสพสมใจ แต่หลายคนไปเข้าใจผิดว่าความทุกข์นั้นคือเหตุแห่งทุกข์ เช่นเราถูกเพื่อนสนิทนินทา เราโกรธเพื่อน แล้วเรารู้สึกว่าโกรธเป็นทุกข์ เราจึงเห็นว่าความโกรธคือเหตุแห่งความทุกข์ ซึ่งจริงๆแล้วความโกรธนั้นเป็นผลที่ปลายเหตุแล้ว จะไปดับความโกรธนั้นก็ได้ก็เรียกว่าดี แต่ก็ถือว่าไม่ได้ดับเหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง

มีหลายลัทธิพยายามที่จะดับความคิด ดับเวทนา ดับความสุข ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการได้กระทบสิ่งต่างๆที่เข้ามาในชีวิตประจำวัน โดยพยายามทำการดับสิ่งที่เกิดขึ้น ดับจิตที่เป็นทุกข์ ซึ่งก็เป็นการดับปลายเหตุที่ดีวิธีหนึ่ง แต่ก็เหมือนมองเหตุที่ปลายเหตุเพียงอย่างเดียวไม่ได้เข้าไปค้นที่ต้นเหตุ มองเพียงว่าจิตใจที่สั่นไหวนั้นคือเหตุเท่านั้น เหมือนกับเกิดแผ่นดินไหว เขาเหล่านั้นมักมองปัญหาคือแผ่นดินไหว บ้านเรือนพังทลายคือปัญหา เขาต้องหยุดการพังทลายหรือพยายามสร้างบ้านที่ป้องกันแผ่นดินไหวได้ แต่ผู้ที่ค้นหาเหตุจริงๆ คือเข้าไปค้นหาว่าแผ่นดินไหวจากสาเหตุใด แผ่นดินเคลื่อนเพราะอะไร อากาศร้อนเย็นมีผลหรือไม่ ค้นหาไปถึงนามที่ทำให้เกิดรูปคือแผ่นดินนั้นเคลื่อนไหวได้ และดับเหตุนั้นจึงจะเป็นการดับทุกข์ที่เหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง

มีหลายลัทธิที่มองว่าทุกข์นั้น เป็นเพียงสิ่งที่ผ่านมาผ่านไปตามกฎของไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง จริงอยู่ว่าทุกข์ที่เกิดนั้น มันเกิดขึ้นมา มันตั้งอยู่ และมันก็ดับไป เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ผู้ที่เข้าใจเช่นนี้จะสามารถปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในทุกข์ที่เกิดได้ดีระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถดับเหตุแห่งทุกข์ได้ เสมือนกับผู้ที่มองแผ่นดินไหว บ้านเรือนพังทลายด้วยจิตใจว่างๆ แล้วก็สร้างใหม่ แล้วก็พังใหม่ แล้วก็สร้างใหม่ แล้วก็พังใหม่ เกิดดับ เกิดดับเช่นนี้ตลอดไป ด้วยพวกเขาเหล่านั้นไม่รู้วิธีดับทุกข์ที่เหตุ เมื่อไม่ได้เข้าไปดับเหตุแห่งทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสก็ต้องเกิดขึ้นอยู่เรื่อยไป แม้จะดับไปตามกฎ แต่ก็จะเกิดขึ้นมาใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

(3). ด่านที่สาม ขุดค้นเหตุแห่งทุกข์

เมื่อเราเห็นได้ว่า การค้นหาเหตุแห่งทุกข์โดยการดูแค่ผิวเผินนั้นไม่สามารถทำลายเหตุแห่งทุกข์ได้อย่างแท้จริง เราจึงต้องมาค้นหาว่าเหตุแห่งทุกข์นั้นอยู่ตรงไหนกันแน่

ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนนินทาเรา เราก็โกรธเพื่อน ความเข้าใจทั่วไปจะดับความโกรธที่เกิดตรงนี้ แต่ในความจริงแล้ว ความโกรธ (โกธะ)คือกิเลสปลายทาง เป็นสภาพทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการไม่ได้ครอบครองสมใจ ไม่ได้มาอย่างใจหมาย เราจึงแสดงอาการโกรธเหล่านั้นออกไป อันเกิดจากความโลภ ความอยากได้ อยากครอบครองเกินความจำเป็นจริง เกินจากความจริง(โลภะ) คือเราอยากให้เพื่อนทุกคนพูดดีกับเรา การที่เราอยากให้ทุกคนพูดดีกับเรานั้นเพราะเราเสพติดคำพูดดีๆอยากฟังสิ่งดีๆ (ราคะ) ทั้งหมดนี้มีรากมาจากความหลง(โมหะ) หลงไปว่าการได้เสพคำพูดดีๆ จะนำมาซึ่งความสุขให้ตน เป็นต้น

ลำดับของกิเลสที่จะเห็นได้จากละเอียดไปหยาบคือ…

โมหะ เพราะเราหลงติดหลงยึดในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเราจะอยากเสพสิ่งนั้น เป็นรากที่ละเอียดที่สุด แก้ยากที่สุด

ราคะ เราอยากเสพสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เกิดจากเราหลงชอบหลงยึดสิ่งนั้น พอเสพก็ติด ยิ่งเสพก็ยิ่งจะอยากเสพเพิ่มอีก

โลภะ เมื่อเราชอบสิ่งนั้นอยากเสพสิ่งนั้น ก็จะพยายามหามาปรนเปรอกิเลสตัวเอง จนเกิดการสะสม หามามากเกินความจำเป็น หวง ไม่ยอมให้ใครเพราะกลัวตัวเองจะไม่ได้เสพ

โกธะ เป็นกิเลสปลายเหตุ เกิดขึ้นเมื่อไม่ได้เสพสมใจอยาก เมื่อมีคนพรากสิ่งที่อยากเสพไปรุนแรง เป็นไฟที่ทำลายได้ทุกอย่าง

การวิเคราะห์พิจารณาหาเหตุแห่งทุกข์นี้ ต้องใช้กระบวนการของสติปัฏฐาน๔ คือกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เข้ามาวิเคราะห์กิเลสเหล่านี้ ซึ่งสติปัฏฐาน๔ นี้ต้องปฏิบัติทุกองค์ประกอบไปพร้อมกัน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นก้อนเดียวกัน เป็นกระบวนการเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกมาใช้เป็นตัวๆอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจได้

เมื่อปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน๔ อย่างถูกต้องจึงจะมีสิทธิ์ได้เห็นไปถึงเหตุแห่งทุกข์อันคือความหลงติดหลงยึดในกิเลสใดๆได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะพิจารณาครั้งเดียวก็เห็นได้ทุกอย่าง เพราะกิเลสนั้นลึกลับซับซ้อน จนบางครั้งเราอาจจะต้องให้เหตุการณ์นั้นๆเกิดขึ้นหลายที หรือพิจารณาซ้ำๆในจิตใจอย่างหนักเพื่อที่จะทำให้เห็นเข้าไปถึงเหตุแห่งทุกข์นั้น

การวิเคราะห์กิเลสเหล่านี้บางครั้งสติปัญญาที่เรามีอาจจะไม่สามารถทำเหตุแห่งทุกข์ให้กระจ่างได้ การมีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี คือมีครูบาอาจารย์ที่คอยชี้แนะ มีเพื่อนกัลยาณมิตรที่คอยแนะนำ ก็จะช่วยให้สติ ช่วยให้เกิดปัญญาที่มากขึ้นกว่าขอบเขตที่เราเคยมีได้

(4). ด่านที่สี่ เหตุแห่งทุกข์เกิดจากการหลงในกิเลส

ความหลงในกิเลสนั้นมีมิติที่หลากหลาย หากเราเข้าใจเพียงแค่ว่าหลง แต่ไม่รู้ว่าหลงในอะไร ก็ยากที่จะแก้ไปถึงเหตุได้ เพราะถ้าไม่รู้สาเหตุว่าหลงในอะไร ก็คงจะไม่สามารถดับทุกข์ได้ เพราะการดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ เมื่อดับไม่ถูกเหตุ ทุกข์ก็ไม่ดับ เราจะมาลองดูเหตุแห่งทุกข์ อันคือความหลงยึดในกิเลสสี่ตัวนี้กัน

(4.1). อบายมุข

คือกิเลสขั้นหยาบที่พาให้คนหลงไป สามารถหลงจนไปนรก ไปเดรัจฉานได้เลย คือความหลงในอบายมุขต่างๆ เช่นเที่ยวเล่น เที่ยวกลางคืน เล่นพนัน หวย หุ้น เสพสิ่งมึนเมาทั้งหลายไม่ว่าจะสุรา บ้าดารา กิจกรรมหรือสิ่งต่างๆที่ทำให้จิตใจมัวเมา เที่ยวดูการละเล่น ดูละคร ดูหนัง ดูทีวี เพื่อความบันเทิงใจ คบคนชั่ว พาไปทางเสื่อม พาให้เล่นพนัน พาให้มัวเมา พาให้เป็นนักเลง พาให้หลอกลวงผู้อื่น พาให้คดโกง และความเกียจคร้านการงาน

คนส่วนมากมักจะติดในอบายมุขจนดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา ผู้ที่พยายามทำตัวกลืนไปกับสังคมโดยใช้ค่ามาตรฐานของสังคมเป็นตัววัดความดี จะถูกกิเลสมวลรวมของคนส่วนใหญ่ลากไปลงนรก หรือที่เรียกว่าอุปาทานหมู่ คือสังคมคิดไปเองว่ากิเลสเหล่านั้นเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องที่ใครๆก็เสพกัน ทั้งๆที่เป็นอบายมุข เป็นกิเลสหยาบที่พาให้ชีวิตเดือดร้อน เมื่อเสพอบายมุขก็จะยิ่งนำพากิเลสตัวอื่นที่หยาบเข้ามา เสพมากๆก็ติด พอไม่เสพก็โกรธไม่พอใจ เป็นทุกข์

(4.2). กามคุณ

คือความหลงในกิเลสที่พาให้อยากเสพใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เช่นชอบแต่งตัวสวย ชอบคนหน้าตาดี อาหารอร่อย กลิ่นที่หอม เสียงไพเราะ เตียงที่อ่อนนุ่ม หรือกระทั่งเรื่องการเสพเมถุน ทั้งหมดนี้อยู่ในหมวดของการหลงในกาม เมื่อเราหลงติดในกามเหล่านี้ ก็จะพาให้เราอยากเสพกามตามที่เราติด พอเสพมากๆก็พาสะสม พอไม่ได้เสพสมใจก็โกรธเป็นทุกข์

(4.3). โลกธรรม

โลกธรรมคือกิเลสที่ละเอียดที่ฝังอยู่ในคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียะสุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ก็เป็นสภาพของโลกธรรม เมื่อคนหลงในลาภก็จะสะสมมาก หลงในยศก็จะไต่เต้าเพื่อหายศหาตำแหน่ง หลงในสรรเสริญก็จะพยายามทำตัวให้เป็นที่น่าสนใจ อยากให้คนยอมรับ เชิดชูบูชา หลงในโลกียะสุขก็จะแสวงหาสุขในทางโลก สุขที่วนอยู่ในโลก เมื่อเสพสิ่งเหล่านี้มากเข้า ก็จะเริ่มสะสม เริ่มหวงลาภ ยศ สรรเสริญ สุข พอไม่ได้หรือเกิดสภาพของความเสื่อมทั้งหลายก็จะโกรธ เป็นทุกข์ เสียใจ

(4.4). อัตตา

อัตตาคือกิเลสที่ละเอียดที่สุดที่คนหลงยึดไว้ ไม่ว่าจะอบายมุข กามคุณ โลกธรรม สุดท้ายก็ต้องมาจบที่อัตตา เป็นเสมือนรากของกิเลส ส่วนที่เหลือนั้นเหมือนกิ่งก้านใบของกิเลสเท่านั้น ผู้ที่ดับอัตตาได้ก็จะเข้าสู่อนัตตา เป็นภาษาที่พูดกันได้ง่ายแต่ทำได้ยากยิ่ง

อัตตานั้นคือความยึดมั่นถือมั่น เรายึดมั่นถือมั่นตั้งแต่คน สัตว์ วัตถุสิ่งของ หรือสิ่งที่เป็นรูปเป็นร่างจับต้องได้ เรายึดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของเรา เราอยากครอบครอง วัตถุ คน สัตว์ สิ่งของเหล่านี้มาเป็นตัวตนของเราซึ่งจะสะท้อนออกไปอีกทีในรูปของ อบายมุข กาม โลกธรรม เช่นเราอยากคบหาคนผู้นั้นไว้เพราะเขารวย เพราะเขามีชื่อเสียง เพราะเขามีอำนาจ หรือเรายึดว่าคนต้องกินเนื้อสัตว์ คนเป็นสัตว์กินเนื้อเพราะเราหลงในกาม หลงติดในรสชาติรสสัมผัส เมื่อเราจะกำจัดกามเหล่านั้นแล้วก็ต้องมากำจัดอัตตาไปพร้อมๆกันด้วย

เรายังสามารถที่จะติดรูปที่สำเร็จด้วยจิตของตัวเองได้อีก เช่นการคิดฝัน ปั้นจินตนาการไปเองว่าคนนั้นพูดแบบนั้นคนนั้นพูดแบบนี้ คนนั้นเขาคิดกับเราแบบนั้น เขาจะทำกับเราแบบนี้ หลงไปว่าการเสพอบายมุขนั้นเป็นสุข หลงไปว่าการเสพกามนั้นเป็นสุข หลงไปว่าการเสพโลกธรรมนั้นเป็นสุข เป็นสภาพที่จิตสร้างความสุขหลอกๆขึ้นมาหลอกตัวเอง หรือถ้าหนักๆก็จะเป็นพวกเห็นผี เข้าทรงกันไปเลย ทั้งหมดนั้นเป็นสภาพที่จิตนั้นปั้นขึ้นมาเป็นรูปให้เราได้เห็น จึงเรียกว่ารูปที่สำเร็จด้วยจิตเป็นกิเลสของเราเองที่สร้างความรู้สึกสุข ชอบใจ พอใจ สร้างเป็นภาพ เป็นเสียงขึ้นมาให้เราได้ยิน ทั้งๆที่จริงแล้วมันไม่มี แต่เราไปยึดไว้และหลงเสพสิ่งที่ไม่มีเหล่านั้น ในเมื่อสิ่งนั้นไม่มีจริง ไม่ใช่ของจริง ไม่เที่ยง สุดท้ายเมื่อไม่ได้เสพสมใจก็จะเป็นทุกข์

อัตตายังอยู่ในสภาพไร้รูป หรือที่เรียกว่า อรูปอัตตา เช่น ความเห็น ความเข้าใจ ศักดิ์ศรี ความรู้ ฯลฯ เราก็ไปหลงยึดสิ่งเหล่านี้ไว้ เช่น เราเข้าใจธรรมแบบนี้ เราก็ยึดสิ่งนี้เป็นตัวตนของเรา พอใครมาพูดไม่เหมือนที่เราคิด ไม่เหมือนที่เราเข้าใจ เราก็จะมีอาการขัดข้องใจ ไม่พอใจ โกรธ เพราะเราไม่ได้เสพสมอัตตา คือต้องการให้คนอื่นมาทำให้ได้ดังใจเราหมาย หรือทำตามอัตตาเรานั่นเอง

….เมื่อได้รู้กิเลสทั้งหมดนี้แล้ว เราจึงควรใช้เวลาพิจารณากิเลสในตัวเองอย่างแยบคาย ทำให้เห็น ทำให้ชัดเจนว่าเราติดในกิเลสตัวไหน ปนกับตัวไหน มีรากมาจากตัวไหน การค้นหารากของกิเลสไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย กิเลสบางตัวอาจจะใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปี หรือทั้งชีวิตอาจจะไม่สามารถเห็นเลยก็ได้ถ้าไม่พากเพียร และไม่คบมิตรที่ดี

(5). ด่านที่ห้า ดับเหตุแห่งทุกข์นั้นเสีย

เมื่อเห็นเหตุแห่งทุกข์แน่ชัดแล้ว เห็นตัวการของกิเลสแน่ชัดแล้ว ก็ให้เพียรพยายามทำให้ถึงความดับ โดยใช้มรรควิธี ก็คือการปฏิบัติมรรคทั้ง ๘ นั่นแหละ จะใช้สมถะ วิปัสสนาก็ได้ จะใช้สัมมัปปธาน ๔ ก็ได้ จะใช้โพชฌงค์๗ ก็ได้ จะใช้จรณะ๑๕ ก็ได้ จะใช้ทั้งโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ก็ได้ หรือจะใช้ธรรมใดตามที่ถนัดก็ได้ เพราะธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้นเป็นไปเพื่อการละกิเลส เพื่อการล้างกิเลส เพื่อการดับกิเลสอยู่แล้ว

การจะค้นเจอเหตุแห่งทุกข์นั้นว่ายากแล้ว การดับทุกข์ที่เหตุนั้นยากยิ่งกว่า เพราะต้องใช้ความเพียรพยายาม ใช้อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เข้ามาเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทำที่สุดแห่งทุกข์ คือการดับทุกข์นั้นอย่างสิ้นเกลี้ยงโดยการดับกิเลสนั้นนั่นเอง

สรุป

การที่เราต้องมาหาเหตุแห่งทุกข์อย่างยากลำบากนี้ เพราะพระพุทธเจ้าได้ชี้ขุมทรัพย์ไว้ว่า ดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ แต่บางครั้งเรามักจะมองเหตุแห่งทุกข์นั้นตื้นเกินไป เหมือนกับเราที่เราอยากกำจัดหญ้า แต่ก็ทำแค่เพียงตัดหญ้าที่มันยาวพ้นดินออกมา บ้างเก่งกว่าก็ว่าขุดรากถอนโคนหญ้านั้นไปเลย แต่สุดท้ายหญ้าก็จะขึ้นมาใหม่ เหมือนกับกิเลสนั้นกลับมาโตใหม่อีกครั้ง

ผู้มีปัญญาย่อมขุดรากถอนโคนกิเลสทั้งหมด ทั้งตัดหญ้า ขุดรากถอนโคน และนำดินมาเผา ทำลายเมล็ดหญ้าที่ยังหลงเหลืออยู่ในฝืนดินซึ่งเป็นเมล็ดนี้เองเป็นแหล่งเกิดของหญ้า เหมือนกับตัณหา ถ้าเรายังดับตัณหาคือความอยากไม่ได้ ความอยากเหล่านั้นก็จะค่อยๆเติบโต เหมือนกับผืนดินที่เต็มไปด้วยเมล็ดหญ้า หากไม่กำจัดเมล็ดออก ก็มีแต่จะต้องมาคอยตัดหญ้า ขุดรากถอนโคนหญ้ากันทุกชาติไป

ดังนั้นผู้มีปัญญาพึงกำจัดทุกข์จากเหตุแห่งทุกข์ เผากิเลสเหล่านั้นด้วยไฟแห่งฌาน ให้ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสนั้นสลายไป ทำลายกามภพ ทำลายรูปภพ ทำลายอรูปภพของกิเลสนั้น ไม่ให้มีแม้เสี้ยวอารมณ์ความอยากที่เกิดภายในจิต แม้จะตรวจด้วยอรูปฌานสักกี่ครั้งก็ไม่พบความอยากในจิตอีก เมื่อนั้นแหละที่เขาเหล่านั้นจะได้พบกับสภาวะที่เรียกว่า “สัญญาเวทยิตนิโรธ” คือการดับกิเลสที่อยู่ในสัญญาอย่างสิ้นเกลี้ยง ถือเป็นการสิ้นสุดการต่อสู้กับกิเลสนั้น ได้รับชัยชนะที่ทำได้ยาก เป็นสิ่งที่บัณฑิตต่างสรรเสริญ

– – – – – – – – – – – – – – –

13.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

September 29, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,738 views 0

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

ทุกวันนี้ศาสนาไม่ได้ถูกใช้เป็นวิถีทางแห่งการดับทุกข์เหมือนอย่างในอดีต แต่กลับกลายเป็นช่องทางให้ใครหลายคนได้ใช้เพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่งด้วยชื่อเสียง เงินทอง บริวาร และสุขลวงๆ

ในยุคที่สังคมรีบเร่ง แก่งแย่งแข่งขัน ทำให้เราเหลือเวลาไม่มากพอที่จะใส่ใจแก่นแท้ของศาสนา นั่นทำให้เราเลือกที่จะไปทำบุญทำทานด้วยเงิน เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่คนไทยส่วนใหญ่ยึดถือและปฏิบัติ เรามีงานประเพณีมากมายที่ใช้เงินเป็นตัวขับเคลื่อน ไม่ว่างานบุญ งานกฐิน หรือแม้กระทั่งงานบวชก็ยังต้องมีเงินหมุนเวียนมากมาย

เราอาจจะเห็นวัดวาอารามใหญ่โต เจริญขึ้น มีความสะดวกสบายมากขึ้น นั่นเป็นผลมาจาก…เงิน หรือจะให้ชัดก็คือ ผลมาจากแนวคิดเชิงทุนนิยม วัตถุนิยม กิเลสนิยม

แต่หลักของพุทธนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างทางโลก พุทธไม่ได้สะสมวัตถุ ไม่ได้ต้องการวัดที่ใหญ่และความสะดวกสบายมากนัก เพราะศาสนาพุทธนั้นเป็นไปเพื่อการพราก ความมักน้อย ความไม่สะสม การขัดเกลากิเลส จนกระทั่งถึงการดับกิเลส

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “เงินทองเหมือนดังอสรพิษ” ความมีจนเกินพอดี จะทำให้คนมัวเมาในกิเลสกลายเป็นพิษเป็นภัย แม้แต่ผู้ที่ตั้งใจบวชก็ยังพ่ายแพ้ต่อพลังของเงิน ใช้เงินสร้างวัตถุที่เกินความจำเป็น เพื่อชื่อเสี่ยง เพื่อบารมี เพื่อสะสมบริวาร ทั้งหมดนี้มีรากมาจากความโลภทั้งสิ้น

ส่วนต้นเหตุที่ทำให้เป็นแบบนั้นก็คือ คนที่หลงมัวเมาในการทำบุญทำทานอย่างไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า เงินที่ให้ไปนั้น จะไปเพิ่มกิเลสให้กับพระหรือไม่ ถ้าให้เงินนั้นไปแล้ว พระนำไปสร้างวัตถุเพื่อสนองกิเลสของตน ก็เป็นการเพิ่มกิเลสให้กับพระ เป็นทานที่ให้ไปแล้วผู้รับ “ไม่บริสุทธิ์” ย่อมไม่เกิดอานิสงส์ที่สมบูรณ์ และอาจจะกลายเป็นอกุศลไปได้ด้วย หากพระผู้นั้นใช้ทานเหล่านั้นเพื่อไปเสพสมใจในกิเลสของตนมากเกินไปจนทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาในศาสนา

การร่วมบุญกับคนบาป นั้นจะไม่บาป ไม่มีอกุศล ไม่มีผลทางลบนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เราควรจะแยกคนพาล (คนผู้หลงมัวเมาในกิเลส) กับบัณฑิต(คนผู้มีสัจจะ เป็นไปเพื่อลด ล้างกิเลส) ออกให้ชัดเจน คนไหนเป็นคนพาลก็ให้ห่างไกลไว้ ไม่ร่วมกิจกรรมด้วย คนไหนเป็นบัณฑิต ก็ให้เข้าใกล้ ร่วมกิจกรรม ร่วมบุญกัน ก็จะเกิดกุศลและอานิสงส์มหาศาล

ทานที่ให้ควรประกอบด้วยความบริสุทธิ์ทั้งผู้ให้ ผู้รับ และทานนั้นๆ ผู้ให้ควรบริสุทธิ์ด้วยกายวาจาใจ ไม่ได้ให้เพื่อหวังสิ่งตอบแทนใดๆ ไม่ได้ให้ด้วยกิเลสตัณหา ผู้รับเองก็ควรบริสุทธิ์ด้วยศีล อันเป็นฐานะที่ควรทำให้เจริญขึ้นเรื่อยๆเพื่อยังประโยชน์แก่ผู้ให้ และทานนั้นก็ควรบริสุทธิ์ เป็นของที่ไม่เบียดเบียนใคร ไม่เดือดร้อนใคร

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตั้งตนอยู่บนความลำบาก กุศลธรรมเจริญยิ่ง” ถ้าเราปล่อยให้พระได้ลำบากพอประมาณ ในขีดที่ไม่ทรมาน เปลี่ยนจากการทำบุญทำทานด้วยวัตถุ มาเป็นออกแรง เช่น ทำความสะอาดวัด ก็จะทำให้พระไม่ได้รับความสะดวกสบายจากปัจจัยที่มากเกินพอดีนัก นั่นคือช่วยให้พระได้ตั้งตนอยู่บนความลำบากบ้าง ท่านก็จะได้เจริญในธรรมยิ่งขึ้น และอานิสงส์เหล่านั้นก็จะย้อนกลับมาถึงเราด้วย เช่น เมื่อท่านได้เรียนรู้ธรรมจากความลำบากบ้าง ท่านก็จะได้นำธรรมเหล่านั้นมาสอนเรา

และพระพุทธเจ้ายังได้ตรัสไว้อีกว่า “เมื่ออยู่ตามสบาย อกุศลธรรมเจริญยิ่ง” นั่นหมายถึง ถ้าเรายิ่งเลี้ยงพระด้วยอาหารอันมีมาก ด้วยทรัพย์อันเกินประมาณ ด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกที่เกินพอดี ความเสื่อมจะยิ่งใกล้เข้ามาเรื่อยๆ กุศลธรรมจะเสื่อมลง อกุศลธรรมจะเจริญขึ้น สิ่งดีจะหายไป สิ่งชั่วจะเข้ามาแทนที่ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเราทำบุญทำทานกันอย่างหน้ามืดตามัว ทำทานกันอย่างเมาบุญ เห็นว่าที่ไหนพระดัง ก็พากันเอาเงินโถมเข้าไปทำลายวัดนั้นๆจนแตกกระเจิง ตบะแตกกันกระจาย ศีลแตกกันไม่มีเหลือ

พระส่วนมากก็คนธรรมดาเหมือนเรา จะไปมีพลังต้านทานกิเลสได้อย่างไร พอใส่เงินเข้าไปมากๆ ก็เริ่มจะโลภ เริ่มจะล่าบริวารมากขึ้น เริ่มตั้งลัทธิ ตั้งสำนัก เพื่อให้ตนเองนั้นได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ดังที่เคยเป็นข่าวให้เราเห็นกันอยู่เป็นประจำ

ดังนั้นการทำบุญทำทานอย่างไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าผู้รับนั้นเหมาะสมหรือไม่ ควรหรือไม่ โดยใช้ความเจริญทางจิตใจของศาสนาเป็นหลักในการพิจารณา ไม่ให้ความอยากในการทำบุญทำทานของเรานั้นไปเป็นส่วนหนึ่งในความเสื่อมของชาวพุทธ เพียงคิดได้แค่นี้ก็เกิดกุศลยิ่งใหญ่แล้ว เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา มิใช่ศาสนาที่พามัวเมาในบุญ ในสวรรค์ วิมาน เทวดา ฟ้าดิน แต่ท่านสอนให้เชื่อในเรื่องของกรรม

ชีวิตของคนเราจะดีนั้น ไม่ได้หมายความว่าไปบริจาคเงินทำบุญแล้วมันจะดีเสมอไป เพราะ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ถ้าเราอยากจะให้เกิดสิ่งที่ดีในชีวิตเราต้องทำเอาเอง ไม่มีอะไรมาดลให้เกิดดีกับเราได้ นอกจากกรรมที่เราทำมา ยิ่งเราทำกรรมดีมากๆ แม้ไม่ได้ไปทำบุญหยอดตู้ใส่เงินให้กับวัด ชีวิตเราก็สามารถเกิดสิ่งที่ดีได้

และนั่นคือสิ่งที่ดีที่สุด เพราะเรายึด “กรรม” คือการกระทำของตนนั้นเป็นหลักในการปฏิบัติ ไม่ใช่ไปให้เงิน ให้วัตถุกับคนอื่นแล้วบอกให้เขาอวยพรให้มีความสุข ให้เราร่ำรวย ให้เราเจอแต่คนดี ให้เราไปสวรรค์ ให้เราไปนิพพาน อันนี้ไม่ถูกทางพุทธ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ปลายทางนั้นมีแต่จะทุกข์ เป็นนรกอย่างเดียว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์