Tag: กิเลส

30+ โสดก็ทุกข์ ไม่โสดก็ทุกข์( โลกธรรม )

February 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,298 views 0

30+ โสดก็ทุกข์ ไม่โสดก็ทุกข์( โลกธรรม )

เมื่ออายุล่วงเลยเข้าไปถึงสามทศวรรษ สิ่งต่างๆก็เปลี่ยนแปลงไป ทั้งร่างกาย ความคิด โดยเฉพาะเสียงจากสังคม

โดยส่วนมากความเปลี่ยนแปลงของวัยจะมีผลอย่างมากกับผู้หญิงและมีสิ่งที่ทำให้กังวลใจเกิดขึ้นมากมาย ทำให้เกิดความเข้าใจว่า เมื่อเข้าช่วงอายุประมาณ 30 ขึ้นไปจะต้องรีบหารถไฟขบวนสุดท้าย เป็นความเชื่อจากสังคมและโลกที่ปรุงแต่งให้เราคิดและกังวลเกี่ยวกับชีวิต โดยเฉพาะในเรื่องของการมีคู่

ทำให้คนที่อยู่ในช่วงอายุนั้นๆเกิดความทุกข์ ความกังวลใจ จากกระแสสังคมและความเชื่อที่มีโหมกระหน่ำเข้ามาจนทำให้จิตใจสั่นไหว ไม่มั่นคง ไม่เป็นไปตามเหตุและผล แต่เป็นไปตามกิเลส เป็นไปตามโลกธรรม เป็นปลาที่ไหลไปตามน้ำ ในบทความนี้จะมาไขเสียงเรียกร้องของกิเลสที่มักจะได้ยินกันในสังคมของคนในช่วงอายุนี้กัน

1). ทุกข์ของคนโสด

เป็นคนโสดก็มีความทุกข์ในแบบของคนโสด เราเป็นคนโสดมาตั้งแต่แรกกันทั้งนั้น แต่ใครจะเสียความโสดไปในขั้นตอนไหนก็ลองมาศึกษากันเลย

1.1). โสดไม่เป็นสุข

พออายุเข้า 30+ ก็ยังโสดอยู่ คนรู้ใจก็ไม่มี คนที่เข้าตาก็มองไม่เห็น และด้วยความที่ยังโสดแต่ก็ไม่มีความสุข ชีวิตยังเหมือนขาดอะไรไป ยังพร่องอยู่ ไม่รู้สึกว่าเต็มเสียที มองเห็นคนมีคู่ก็คิดไปว่าถ้าเรามีก็คงจะสุข ใครเขาว่ามีคู่ก็มีความสุข มันก็เลยทำให้คนโสดไม่เป็นสุข เพราะไม่เห็นคุณค่าของความโสด ไม่มีปัญญารู้แจ้งในประโยชน์ของความเป็นโสด กลับไปเห็นดีเห็นงามในการมีคู่จึงทำให้โสดอย่างไม่เป็นสุข

โลกธรรมก็จะเข้ามาช่วยเร่งรัด เช่นเพื่อน ครอบครัว คนใกล้ชิด เข้ามาบอกว่าทำไมไม่มีคู่ล่ะ, ไม่มีแฟนสักทีล่ะ, อยู่คนเดียวตอนแก่จะลำบากนะ, เป็นคู่ปฏิบัติธรรมก็ได้นะ เหตุผลร้อยแปดพันเก้ากระหน่ำเข้ามาด้วยคำพูดเสริมกิเลสซ้ำๆย้ำๆ จนคนโสดเริ่มเมาหมัด อยู่ไม่เป็นสุข ถึงแม้ว่าตอนแรกคิดว่าตั้งใจจะโสด แต่สุดท้ายก็อาจจะหวั่นไหวไปตามกิเลสจนต้องแสวงหาก็ได้

1.2). โสดแสวงหา

พอโสดอย่างไม่เป็นสุขและโดนความเชื่อตามที่สังคมเข้าใจกันว่าเมื่อใกล้ถึงวัยนี้ โอกาสลงจากคานช่างยากเต็มที ก็จะเริ่มแสวงหาใครสักคนมาช่วยทำให้ความโสดนั้นหายไป โดยมีตัวเลขที่เรียกว่าอายุเป็นปัจจัยเร่งรัด ทำให้หน้ามืดตามัวแสวงหาคู่อย่างไม่มีสติ ทั้งนี้ทั้งนั้นอายุที่สมควรจะมีคู่นั้นเป็นเพียงสมมุติโลก ในพระไตรปิฎกมีบันทึกไว้ว่า เมื่อถึงกลียุคหญิงสาวจะแต่งงานและมีบุตรได้เมื่ออายุ 5 ขวบ แต่เมื่อผ่านพ้นกลียุคและเจริญไปจนกระทั่งมนุษย์มีอายุ 80,000 ปี หญิงสาวจะแต่งงานก็ต่อเมื่อมีอายุ 500 ปี ทั้งหมดนี้เป็นสมมุติโลกทั้งนั้น และสิ่งที่เราเชื่อกันว่าขบวนสุดท้ายก็เป็นสิ่งที่เราหลงเชื่อกันต่อๆมานั่นเอง เป็นค่าสถิติที่เก็บได้ แต่ใช้ตามความจริงไม่ได้ เพราะเรามีกรรมเป็นของของตน ดังนั้นสถิติจึงไม่มีผลใดๆเลยในวิถีของพุทธ

และเมื่อตั้งหน้าตั้งตาแสวงหาแต่พบว่าหาไม่ได้เสียที หากกิเลสน้อยก็ปลงและจมทุกข์ไป หากกิเลสมากก็จะปรุงแต่งมากขึ้น เสริมสวยมากขึ้น แต่งโป๊มากขึ้น บริหารเสน่ห์มากขึ้น เอาง่ายๆว่ายั่วกิเลสหาเหยื่อนั่นแหละ ก็ใช้การเสริมกิเลสเป็นเหยื่อล่อกิเลสกันไป

โลกธรรมจะเข้ามาเสริมทัพของกิเลสโดยอาจจะมี ครอบครัว เพื่อน เป็นพ่อสื่อแม่สื่อให้ ชักนำคนนั้นคนนี้เข้ามาในชีวิตเพื่อช่วยให้เราได้แสวงหาหรือมีคู่ได้มากขึ้น คนที่อยากมีคู่มากก็จะพ่ายแพ้ต่อพลังของกิเลสไปในที่สุด

1.3). โสดเลือกได้

ทีนี้พอมีคุณสมบัติครบพร้อม รูปงาม เสียงงาม ฐานะ หน้าที่การงาน ฯลฯ เมื่อผ่านพ้นช่วงแสวงหาจนได้เป้าหมายมา อย่างน้อยๆก็จะมีมาให้เลือกหนึ่งคนหรือที่เรียกกันว่าคนที่ดูๆกันไป แต่ในสังคมทุกวันนี้ดูไปถึงร่างกายแล้ว แม้จะมีสัมพันธ์ทางกายกันแต่ก็ยังไม่นับว่าเป็นคู่กันก็มีมาก เป็นความเสื่อมอย่างแท้จริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้

คนที่มีโอกาสเลือกมากก็มักจะคัดเลือกคนตามกิเลสของตน ดังคำตัดพ้อที่นิยมในสมัยนี้ว่า “ชอบคนดี รักคนหล่อ แต่งงานกับคนรวย” สุดท้ายไม่ว่าจะดีแค่ไหน ปัจจัยที่จะมีน้ำหนักในการเลือกนั้นก็คือคนที่สนองกิเลสตนให้ได้มากที่สุด ใครสนองกิเลสของฉันได้มากที่สุด ต้องสนองเท่าที่ฉันต้องการได้ด้วยนะ ก็จะได้สิทธิ์เป็นทาสกิเลสของฉันไปจนตาย โดยไม่มีสิทธิ์เลิก

แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่หลายคนใฝ่ฝันว่าจะได้คนที่เพียบพร้อมมาสนองตนเอง แต่ในชีวิตจริงนั้นมักจะไม่ได้สมใจทั้งหมด คนที่เข้ามาให้เลือกจะพร่องๆขาดๆ คนนั้นดีตรงนั้น คนนี้ดีตรงนี้ คนนั้นรวยแต่เลว คนนั้นดีแต่จน มันก็จะทำให้ชั่งน้ำหนักยาก เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์นักหรอก

ซึ่งเวลาเลือกก็คงจะมีไม่มากสำหรับคนวัย 30+ โลกธรรมจะเข้ามาเป็นตัวเร่ง ถามอยู่นั่น เร่งอยู่นั่น เมื่อไหร่จะเลือก คนนั้นดีนะ คนนี้ดีนะ คนนั้นจนอย่าไปเอาเลย คนนั้นเจ้าชู้แต่รวยเอาเงินไว้ก่อนดีกว่า พอมันไม่ได้มีแค่กิเลสของตัวเราเป็นตัวผลักดันแต่ยังมีกิเลสของญาติมิตรสหายที่กิเลสหนาเป็นตัวร่วม โสดที่เลือกได้ก็เหมือนจะไม่ได้เลือกด้วยเหตุและผลอันเป็นกุศล แต่มักจะเลือกด้วยเหตุที่สามารถสนองผลคือสนองกิเลสของฉันและหมู่คณะของฉันได้

2). ทุกข์ของคนไม่โสด

สุดท้ายแล้วพอโสดแล้วมันอยู่ไม่เป็นสุข มันทุกข์มากก็เลยมีคู่เสียเลย เอามาสนองความอยากเสียเลยจะได้ลดทุกข์ของการไม่มีคู่ลงบ้าง แต่ใครจะรู้ว่าแท้จริงแล้ว ทุกข์มันไม่ได้ลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้นและที่สำคัญโลกธรรมก็จะยังอยู่กับเราเช่นเคย

2.1). คบหาดูใจ

เมื่อเราเริ่มคบหาดูใจกัน หรือที่เรียกว่าเป็นแฟนกัน คือคนนี้แหละที่น่าจะเป็นคู่แต่งงานในอนาคต ตอนแรกก็คิดว่าจะคบหาดูใจกันไป แต่ในความจริงมันไม่เป็นแบบนั้น สภาพของแฟนในปัจจุบันแทบไม่ต่างกับคู่แต่งงาน เพียงแค่ไม่ได้จัดงานแต่งงานกันเท่านั้น

กิเลสจะเร่งเร้าให้ทำมากกว่าคบหาดูใจ คือพยายามจะคบหาดูร่างกายกันไปด้วย เมื่อพลาดพลั้งไปจึงเกิดสภาพผูกมัดที่มากกว่าแฟน เพียงแต่ยังเรียกว่าแฟนอยู่ แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นแค่เพียงปากทางแห่งนรกเท่านั้น

เมื่อคบหาดูใจกันในวัย 30+ คบกันไม่ทันไรก็จะมีแต่คำถามและคำแซวมากมาย หวานกันจังนะ, เข้ากันดีนะ, ดูเหมาะสมกันดีนะ, เมื่อไหร่จะแต่งงานกัน ฯลฯ เจอใครเขาก็ถามแบบนี้ กลายเป็นโดนโลกธรรมสะกดจิต ตัวเองก็ต้านกิเลสไม่เป็นอยู่แล้ว และโดยมากมักจะเห็นดีเห็นงามกับการแต่งงานเสียด้วย

สุดท้ายเมื่อโดนโลกธรรมรบเร้าจนกิเลสโต อยากแต่งงานขึ้นมาอย่างจริงจัง ก็เลยพยายามคุยกันเรื่องแต่งงานบ่อยๆ หาเหตุที่จะได้แต่งงาน ไม่มีเงินก็ขยันหา ไม่มีเรื่องราวก็พยายามสร้าง สรุปคือพยายามสนองกิเลสจนทั้งคู่พร้อมใจจะแต่งงานนั่นเอง

2.2). แต่งงาน

เมื่อแต่งงานแล้ว ด้วยวัย 30+ เรื่องที่ตามมาก็มักจะเป็นเรื่องของลูก คนจะถามกันว่าจะมีลูกไหม, รีบมีลูกนะเดี๋ยวไม่ทันใช้, มีลูกน่ารักนะ, คิดนานไม่ดีนะ, มีลูกตอนแก่สุขภาพจะไม่อำนวย, มีลูกตอนนี้พ่อแม่ยังช่วยดูแลไหว ฯลฯ โลกธรรมมันจะเข้ามายั่วกิเลสแบบนี้ จริงๆคือมันจะลากลงนรกไปด้วยกันนั่นแหละ

คนที่พอจะต้านทานกระแสโลกได้ก็แต่งงานแต่ไม่มีลูก อยู่กันไปแบบนั้น อย่างดีเลยก็ถือศีล 8 อยู่กันแบบพรหมไป เจริญในธรรมได้แบบมีวิบากกรรมตามมาหลอกหลอนประมาณหนึ่ง แต่ไม่มีทางเป็นสุขและสบายเท่าคนโสด ส่วนคนที่กิเลสหนาก็จะเห็นว่าการแต่งงานนี่แหละดี กิเลสมันบังอยู่แบบนี้มันก็จะเห็นแบบนี้ มันก็ถูกตามแบบของคนเห็นผิดแบบนี้

ส่วนคนที่ต้านทานกระแสโลกไม่ไหว และตัวเองก็อยากมีลูกด้วย สุดท้ายก็พยายามหวังให้มีลูก ที่ว่าหวังเพราะการมีลูกกับไม่มีลูกในปัจจุบันไม่ก็ไม่ได้ต่างอะไรที่กระบวนการนัก เพราะมีการสมสู่กันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่การจะติดลูกนั้นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง บางคนมีลูกยากก็ทุกข์ บางคนมีลูกง่ายก็ทุกข์ มันก็ทุกข์ไปคนละแบบ

2.3). ครอบครัว

ทีนี้พอมีลูกแล้วองค์ประกอบของครอบครัวก็ครบพร้อมทันที เป็นชีวิตอุดมคติที่หลายคนใฝ่ฝัน เกิดเป็นสภาพที่โดนครอบไว้ออกไปไหนไม่ได้อีกต่อไป เป็นหนี้ เป็นทาส ขาดอิสระ ต้องเอาชีวิต เวลา พลังงาน ทรัพยากรต่างๆมาดูแลเด็กที่เกิดขึ้นมาใหม่คนนี้ ทุกข์ตรงนี้ต้องรับไปเต็มๆ

ส่วนชาวโลกที่มาช่วยเสริมโลกธรรมตั้งแต่แรกเขาไม่มารับทุกข์ด้วยหรอก เขามาเล่นกับเด็กแค่พอสนุกไม่นานเขาก็ไป ส่วนหน้าที่เช็ดขี้เช็ดเยี่ยวดูแลชีวิตเด็กคนนี้ไปอีกจนกว่าเขาจะตายก็อยู่ที่คนสร้างนั่นแหละ หน้าที่ดูแลบุตรมันไม่ได้หยุดแค่เขาทำงานเลี้ยงตัวเองได้นะ แต่มันต้องดูแลเขาไปตลอดโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆและไม่ว่านานเท่าไหร่ เรียกง่ายๆว่าดูแลจนกว่าจะหมดวิบากกรรมที่ตัวเองสร้างมา

แล้ววิบากกรรมมันจะหมดได้อย่างไร ก็เมื่อตัวเองสร้างเด็กคนนั้นมา เด็กคนนั้นก็เป็นผลแห่งกรรมที่เราต้องดูแลนั่นแหละ ก็รับกันไปจนตายกันไปข้างหนึ่งนั่นแหละ บางทีตายแล้วยังไม่จบเลย เกิดมาใหม่ยังต้องมารับกันต่ออีก

….

ดังจะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้สึกอยากมีคู่ ไม่มีความอยากมีครอบครัวเป็นส่วนตัว แต่ถ้าเราไม่มีพลังพอที่จะต้านกระแสโลกธรรม เราก็จะหลงไปตามโลก หลงไปตามที่เขาว่าดี ตามที่เขายึดถือ หลงไปตามโลกียะนั่นเอง

แต่คนโดยส่วนมากนั้นมีความอยากมีคู่ อยากมีคนสนองกิเลส อยากมีครอบครัว อยากมีลูกมาเป็นหลักประกันผูกรั้งคู่ของตนไว้กับคำว่าครอบครัว (แม้สุดท้ายจะกลายเป็นบ่วงที่ผูกรั้งตัวเองก็ตาม) เรามักจะมีกิเลสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อได้รับแรงผลักดันจากกิเลสของสังคมและโลกหรือที่เรียกว่าโลกธรรม ก็มักจะละทิ้งความโสดและความปกติสุขไปโดยลำดับเพื่อแลกมาซึ่งบาป เวร ภัย ภาระ อกุศลกรรม เพียงเพื่อที่จะได้เสพสมใจตามที่โลกเขาเห็นว่าดี ตามที่โลกเขายอมรับ

คนที่อยู่ในวัย 30+ มักจะโดนแรงจากโลกธรรมกระหน่ำแบบนี้ และเมื่อต้านไม่ไหวก็จะเป็นทุกข์ โสดก็ทุกข์ ไม่โสดก็ทุกข์ ต่างจากคนที่โสดอย่างเป็นสุข ที่เป็นสุขเพราะมีสภาพรู้เห็นความจริงตามความเป็นจริงในเรื่องคู่ครอง โลกธรรมที่กระหน่ำเข้ามาไม่ว่าจะมากน้อยหรือรุนแรงซับซ้อนเพียงใดก็ไม่อาจจะทะลุทะลวงกำแพงแห่งปัญญาได้เลย มิหนำซ้ำปัญญาเหล่านั้นแหละจะไปทำลายโลกธรรมจนสิ้นซากไม่เหลือท่าใดๆเลย

ถึงแม้ว่าสิ่งที่จะกดพลังแห่งโลกธรรมไว้ได้คือการใช้อัตตา คือความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน มีความมั่นใจในตัวเองสูง จะสามารถป้องกันภัยของโลกธรรมได้บ้าง ดังที่เห็นได้บ้างว่ามีคนจำนวนหนึ่งสามารถต้านโลกธรรมด้วยความแข็งแกร่งในตน นั่นก็คืออัตตา แต่ก็ยังไม่ใช่จุดที่ดีที่สุดที่จะป้องกันกิเลสได้ เพราะดีกว่านั้นยังมี สุขกว่านั้นยังมี สมบูรณ์กว่านั้นยังมี

เราจึงต้องศึกษาเกี่ยวกับกิเลสให้เข้าใจอย่างรู้แจ้งชัดเจน ถ่องแท้ในกิเลสเรื่องนั้นๆจนสามารถเห็นความจริงตามความเป็นจริง ข้ามพ้นกามและอัตตา ดำเนินอยู่บนทางสายกลางที่ไม่เปื้อนไปในด้านใดด้านหนึ่ง นั่นแหละคือที่สุดของการปฏิบัติ

– – – – – – – – – – – – – – –

26.2.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การสะสมว่ายากแล้ว การเลิกสะสมนั้นยากกว่า

February 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,892 views 0

การสะสมว่ายากแล้ว การเลิกสะสมนั้นยากกว่า

ในชีวิตเรานั้นตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงตอนนี้ อาจจะรู้จักแค่คำว่าสะสม ไม่ว่าจะสะสมการเรียนรู้ สะสมประสบการณ์ สะสมทรัพย์สินเงินทอง สะสมสิ่งของ สะสมบ้านและรถ สะสมบริวาร สะสมบารมีชื่อเสียง สะสมความรัก สะสมความสุข ฯลฯ

เป็นเรื่องสามัญที่คนเขาทำกันทั่วไปในโลก จะว่ายากก็ยาก เพราะกว่าจะได้มาในแต่ละอย่างที่หวังไว้นั้น บางทีเอาทั้งชีวิตไปแลกก็ไม่พอ

ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นสิ่งที่ยาก แต่ถ้ามีพลังของกิเลสเป็นตัวผลักดันแล้วล่ะก็ เราก็จะยินดีถวายชีวิตเพื่อที่จะให้ได้สิ่งเหล่านั้นมาเสพมาสะสม กิเลสจะทำให้เรายินดีเผาพลังชีวิตไปเพื่อให้ได้ความสุขที่ได้สะสมสิ่งเหล่านั้น

แต่การเลิกสะสมนั้นยากกว่าการสะสมมากนัก มีนักสะสมที่เก่งมากมาย รวบรวมของหายากมาไว้กับตัว เราสามารถเห็นนักสะสมทั้งสิ่งของ ความรู้ความสามารถ ทรัพย์สินเงินทอง สิ่งของ โลกธรรมได้ไม่ยากนัก เพราะมีตัวอย่างให้เห็นโดยทั่วไปในโลก แต่เรากลับไม่สามารถหาคนที่เลิกสะสมได้ง่ายนัก

การเลิกสะสมจึงเป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากในโลก ใครที่มีความรู้สึกที่อยากจะเลิกสะสม อยากสละ ไม่อยากเอามาเป็นภาระ เขาเหล่านั้นก็คือผู้พ้นภัยจากการสะสมจากสิ่งเหล่านั้นนั่นเอง

การจะสะสมนั้นต้องมีกลยุทธ์ในการแสวงหา มีขั้นตอนในการหามาครอบครอง เช่นอยากรวยก็ต้องเรียนในเรื่องที่ทำรายได้สูงๆ อาชีพที่รายได้ดี มีการเติบโตเจริญก้าวหน้าที่รวดเร็วหรือถ้าอยากรวยลัดก็เล่นพนัน หวย หุ้น ถ้าระดับหยาบๆ รวยลัดและมักง่ายก็ขายของเถื่อนหรือขโมยของกันเลย

การเลิกสะสมนั้นก็ต้องมีกลยุทธ์ในการสละออกเหมือนกัน เพราะในปัจจุบันนี้ สิ่งที่คนเราสะสมล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไร้สาระและมอมเมาคน หากเราสละออกอย่างไม่มีศิลปะ สิ่งที่เราคิดว่าสละแล้วพ้นจากตัวของเราอาจจะไปก่อเวรภัยสร้างภาระให้กับคนอื่นก็ได้ การสละออกต้องใช้ปัญญาและศิลปะอย่างมาก ไม่ใช่แค่ปัดให้พ้นตัวเราเพียงอย่างเดียวแต่ต้องคิดถึงคนอื่นด้วย

ตอนที่เราสะสมมันจะมีกิเลสมาสร้างสุขลวงให้ แต่ตอนที่เราเลิกสะสมแล้วมันจะไม่มีกิเลสตัวเดิมนั้น ไม่มีความรู้สึกอะไรให้อยากเก็บไว้ ดังนั้นสิ่งที่เก็บสะสมไว้ก็จะกลายเป็นภาระทันที แต่เรามักจะไม่สามารถโยนภาระออกไปทันทีได้ เพราะวิบากบาปที่เราสะสมมาจะทำให้เราสลัดออกได้ไม่ง่ายนัก เราจึงต้องเรียนรู้การสละออกอย่างไม่ให้เป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่น

ซึ่งการสละออกอย่างไม่เป็นโทษ นั้นยากกว่าการแสวงหาและสะสมมากนั้น ต้องมีศิลปะและชั้นเชิงอย่างมากเพราะต้องรักษาความเป็นกุศลไว้ ส่วนการสะสมนั้นไปในทางอกุศลอยู่แล้ว จะมากจะน้อยก็อกุศลอยู่ดี ดังนั้นทุกวันนี้จึงมีผู้รู้ทั้งหลายออกมาเผยแพร่วิธีให้เป็นนักสะสมกันมากขึ้น เพราะมันไม่ต้องระวังอะไร แค่มีให้สะสมก็พอ ยิ่งสะสมได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี เป็นประโยชน์ต่อตัวเองเท่าไหร่ยิ่งดี เป็นอกุศลเท่าไหร่ก็ไม่รู้ เพราะเห็นอกุศลเป็นกุศล เห็นสิ่งชั่วเป็นสิ่งดี เหมือนเห็นกงจักรเป็นดอกบัวนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

5.2.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความรักของเรา เธอรักฉัน ฉันรักเธอ… หรือฉันรักตัวเอง

January 31, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,185 views 0

ความรักของเรา เธอรักฉัน ฉันรักเธอ... หรือฉันรักตัวเอง

ความรักของเรา เธอรักฉัน ฉันรักเธอ… หรือฉันรักตัวเอง

…ความรักที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นมาได้เพราะอะไร?

ในบทความก่อนหน้านี้ได้ขยายเหตุว่าทำไมฉันจึงไปหลงรักเขาในมุมของกรรมกันมาแล้ว ในบทความนี้ก็จะมาขยายกันในมุมของกิเลสบ้าง ซึ่งจะทำให้เห็นภาพกิเลสได้ชัดเจนแค่ไหนก็ลองอ่านแล้วค่อยๆพิจารณาตามกันดู

ความรัก นั้นคือความอยาก แต่ในความอยากนั้นก็มีมิติที่ซับซ้อนทั้งดีและร้าย ซึ่งโดยส่วนมากจะเป็นไปในทางร้าย คือมีกิเลสปนอยู่ในความอยากนั่นเอง กิเลสเป็นตัวที่ผลักดันให้เราหลง ทำให้เราให้โอกาสเขาเข้ามาในชีวิต ทำให้เราตัดสินใจรัก หากเรายังไม่สามารถ “เห็น” กิเลสในตัวเองอย่างชัดเจน จนมั่นใจว่าความรักของฉันครั้งนี้นี่มันเกิดจากกิเลสตัวนั้นตัวนี้ ก็ยากที่จะเข้าใจความรักที่แท้จริงได้ เพราะโดนกิเลสบังไว้จนกลายเป็น “ความรัก(จากกิเลส)ทำให้คนตาบอด

ในบทความนี้เราก็จะนำเสนอเรื่องกิเลสด้วยกันสี่หัวข้อคือ

  • 1). กลยุทธ์ในการหาคนมาบำเรอกิเลส : เริ่มต้นกันตั้งแต่เริ่มหาคู่กันเลย เป็นการเกิดขึ้นของกิเลส
  • 2). ทาสกิเลส : สภาพการตั้งอยู่ของความรักจากกิเลส
  • 3). คะนองกิเลส บทพิสูจน์ว่าฉันรักใคร : สภาพการดับลงไปของความรักที่เต็มไปด้วยกิเลส
  • 4). กรรมกิเลส ที่สร้างขึ้นมา : เป็น “ผล” ที่เกิดขึ้นจากความรักที่มีแต่บาปและอกุศล

หัวข้อทั้งหมดที่ได้เรียบเรียงมานั้นก็เพื่อจะนำเสนอให้เห็นกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้น การดำเนินอยู่ จนกระทั่งการจบลงไป ซึ่งหากเราได้สำรวจและทบทวนดีๆก็จะเห็นได้ว่าในการคบหากันนั้นมีสภาพของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หลายครั้งจนนับไม่ถ้วน มันเกิดขึ้นเพราะอะไร มันตั้งอยู่นานเท่าไหร่ แล้วมันดับไปได้อย่างไร เราจะมาเรียนรู้กิเลสตามหัวข้อเหล่านี้กัน

1). กลยุทธ์ในการหาคนมาบำเรอกิเลส

การจะมีคู่ได้นั้น บางคนก็เป็นเรื่องยากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร บางคนก็ง่ายยิ่งกว่าปลอกกล้วย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สังเคราะห์ขึ้นมาเช่น หน้าตาดี มีความมั่งคั่ง มีชื่อเสียง พูดจาดี อาจจะเป็นสิ่งที่ติดมาตั้งแต่เกิดหรือสิ่งที่ฝึกฝนหรือสร้างใหม่ขึ้นในชาตินี้ก็ได้

กลยุทธ์ในการมีคู่หรือหาคนมาบำเรอกิเลสนั้น จะอธิบายกันด้วยภาพกว้างๆ 3 ลักษณะ คือ รุก , รอสวนกลับ , รับ ซึ่งจะมีลีลาอาการที่แสดงออกต่างกัน ไม่จำเป็นว่าต้องมีแผนเดียวเสมอไป สลับสับเปลี่ยนแผนได้ตามกำลังกิเลสที่มี

1.1). รุก (จีบ)

คนที่เป็นฝ่ายรุกนั้นจะเป็นใครก็ได้ จะเป็นคนหน้าตาดีก็ได้ หน้าตาไม่ดีก็ได้ การรุกคือการเข้าไปจีบ การแสดงความอยากครอบครองโดยการสนองกิเลสต่างๆให้กับเป้าหมาย เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่หวัง โดยมากมักจะเป็นสิ่งที่หาได้ยาก เช่น คนสวย คนรวย คนมีชื่อเสียง แต่ถึงจะไม่มีสิ่งเหล่านั้นเป็นตัวกระตุ้น แค่ใช้แรงกระตุ้นจากธรรมชาติในแบบชายหญิงตามสัญชาติญาณของคนมีกิเลสทั่วๆไป ก็สามารถที่จะรุกได้เหมือนกัน หรือถ้าเขาหรือเธอสามารถกระตุ้นกิเลสเราได้มากพอที่เราจะอยากได้เขาจนตัวสั่นความอยากก็จะทำให้เรารุกเช่นกัน

คนที่ไม่มีวาสนาเก่ามาเช่น หน้าตาไม่ดี บ้านไม่รวย ก็อาจจะต้องเล่นเกมรุก เพราะคงจะหาคนมารุกตัวเองได้ยาก ตั้งรับไปก็ไม่มีใครมารุก แห้งเหี่ยวอยู่อย่างนั้น แต่กิเลสจะไม่ปล่อยให้เราแห้งตายอยู่แบบนั้น แม้จะหน้าตาไม่ดี บ้านไม่รวย พูดไม่เก่ง แต่พลังกิเลสจะกระตุ้นให้เราพัฒนา ออกกำลังกาย แต่งหน้าแต่งตัวให้ดูดี ทำศัลยกรรม ขยันทำงาน เก็บเงิน สร้างภาพ หัดพูดกับคนเยอะๆ นี่คือพลังของกิเลสที่สามารถสร้างพลังที่จะใช้ “รุก” ได้นั่นเอง

แม้คนที่มีหน้าตาดี บ้านรวย มีชื่อเสียง พูดจาดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะชอบเล่นเกมรับเสมอไป เขาหรือเธออาจจะชอบเล่นเกมรุกด้วยปัจจัยที่มีมากกว่าคนอื่น จึงสามารถรุกไปจับจิตใจของใครหลายๆคนได้โดยง่าย จึงเกิดเป็นสภาพของ “คนเจ้าชู้” เพราะเขาเหล่านั้นต้องการเสพสิ่งที่มากกว่า สิ่งที่ดีกว่าอย่างไม่จบไม่สิ้น

การรุกนั้นมักจะถูกใช้เมื่อเราต้องการได้สิ่งนั้นมากๆ ความอยากเสพสุขจากกิเลสนั้นไม่มีที่สิ้นสุด เสพไปก็อยากได้เพิ่ม อยากได้มากกว่าเดิม ดังนั้นการที่เรารุกเข้าไปในชีวิตใครก็สังเกตให้ดีว่าเรากำลังอยากได้ อยากมี อยากเสพอะไรในตัวเขากันแน่

1.2). รอสวนกลับ (รอจับ)

คนที่รอสวนกลับมักจะไม่รุกในทีแรก ทำเหมือนไม่สนใจใคร แต่จะเปิดช่องให้คนอื่นเข้ามาได้บ้าง ไม่ปิดตัวเองเสียทีเดียว พอมีคนหลงเข้ามา หากถูกใจก็จะรุกในทันทีจนเหยื่อตั้งรับไม่ทัน เรียกว่า “โดนจับ” มีให้เห็นโดยมาก เป็นสภาพซ้อนของการรุกที่มีชั้นเชิงของกิเลสมากขึ้น

สาเหตุของการรอสวนกลับ นั่นเพราะเขามักจะมีโลกธรรมสูง เช่นขี้อาย กลัวคนนินทา กลัวทำตัวไม่ถูก จึงมีฟอร์ม มีการวางท่า มีความลึกลับซับซ้อน ไม่ตรงไปตรงมา ไม่จริงใจ ทีเล่นทีจริง อยากรุกแต่ก็รุกไม่เป็น กลัวว่าถ้ารุกไปแล้วจะพลาดพลั้งหรือเสียฟอร์มก็เลยวางเกมรับแล้วรอสวนกลับ

เรียกง่ายๆว่ารอคนอื่นเปิดเกมก่อนแล้วจะเล่นตาม ซึ่งกิเลสก็จะมาเสริมทัพในด้านการเพิ่มโอกาสให้มีคนเข้ามาหา เหมือนกับวิธีรุก คือทำตัวให้ดูดี น่าคบหา ยั่วกิเลสกันไป เหมือนกับดอกไม้กินแมลงที่พอเหยื่อหลงเข้ามาแล้วก็จะงับทันที

1.3). รับ (มีให้เลือก)

คนที่ใช้กลยุทธ์รับโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะมีพร้อมด้วยกามคุณและโลกธรรม เช่นมีรูปร่างที่สวย หน้าตาดี เสียงเพราะ ฐานะดี การงานดี มีชื่อเสียง เป็นต้น

ในสมัยนี้แค่หน้าตาดีก็รับกันไม่หวาดไม่ไหวอยู่แล้ว จะมีคนมาแจกขนมจีบจนแทบไม่ได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่น ต้องมาคอยบริหารเสน่ห์ จัดการกับผู้ที่วนเวียนเข้ามาในชีวิต

ผู้รับมักจะเป็นผู้เลือก แต่ก็มักจะไม่เลือกในทันที เพราะมีให้เลือกมาก ทำเหมือนจะเลือกแต่ก็ไม่เลือก แทงกั๊กอยู่เสมอ เหมือนแมวที่เล่นเหยื่อแต่ไม่ยอมกินเหยื่อ จนกระทั่งมั่นใจว่าคนนั้นแหละคือคนที่จะมาบำเรอกิเลสของฉันได้ ก็จะจับเหยื่อในท้ายที่สุด

การรับนั้นเป็นสิ่งที่เป็นภัยต่อตัวเองเช่นกัน เพราะยิ่งมีเสน่ห์เท่าไหร่ก็จะยิ่งเป็นสิ่งที่สร้างกระแสแห่งบาปมากเท่านั้น เพราะจะทำให้คนหลง คนมัวเมา ยกตัวอย่างเช่นผู้หญิงหน้าตาดี ถ้ายิ่งแต่งตัวโป๊คนก็จะยิ่งมอง และถ้ายิ่งมนุษย์สัมพันธ์ดีคุยกับเขาไปทั่วเขาก็จะหลงกันหมด ที่หลงนั่นคือหลงอยากเสพ จึงกลายเป็นภัยต่อตัวเองและผู้อื่น

การจะคงสภาพ “รับ“ ได้นั้นจำเป็นต้องบริหารเสน่ห์ตัวเองไปเรื่อยๆ ต้องแต่งหน้า แต่งตัว ทำผม สร้างภาพ สับราง บริหารเสน่ห์ โดยที่ต้องแข่งกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและแข่งขันกับคู่แข่งมากมายที่อาจจะมารุกใส่คนที่เราหมายตาอยู่ก็ได้

คนที่เอาแต่รับนั้นยากที่จะเปลี่ยนเป็นรุก เพราะมักจะสั่งสมกิเลสไว้มาก สร้างโลกธรรม สร้างอัตตามาครอบตัวเองไว้ ว่าฉันนี้ดีพร้อม คนอื่นต้องวิ่งเข้าหาฉัน ทำตัวเหมือนดอกไม้ที่รอแมลงเข้ามา ไม่สามารถขยับไปหาแมลงได้ กลายเป็นติดภพ จมอยู่ในภาพลักษณ์ที่ตัวเองสร้างขึ้นมา

2). ทาสกิเลส

ไม่ว่าจะรุก รอสวนกลับ หรือตั้งรับ สุดท้ายเป้าหมายก็คือการได้มาซึ่งคู่ครองที่หมายตาไว้อยู่ดี ซึ่งอาจจะดีดังใจหวัง มากกว่าที่คาดหวัง หรือจะแย่กว่าที่หวังนั้นก็ไม่ใช่สาระสำคัญ สิ่งสำคัญก็คือ “ฉันเลือกเขามาเพราะฉันคิดว่าเขาจะสามารถบำเรอกิเลสของฉันได้

นั่นคือเราจะเลือกคนที่เราคิดว่าในอนาคตเราจะได้เสพสิ่งที่หวังไว้ สิ่งที่หวังของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน หนาบางลึกตื้นไปตามกิเลส

…บางคนแค่อยากสมสู่ก็หาใครก็ได้ที่ใจง่ายๆมาคบกันเพราะรู้ว่าในที่สุดก็จะได้สมสู่ สุดท้ายเราก็แค่เอาเขามาสนองความใคร่

…บางคนแค่อยากมีเพื่อนร่วมเสพในกิจกรรมต่างๆ กินเที่ยวด้วยกันก็หาคนที่คิดเหมือนกัน สุดท้ายเราก็ได้คู่มาช่วยสนองกิเลสกันและกัน

…บางคนแค่อยากรวยก็หาใครก็ได้ที่มีเงิน ไม่จำเป็นว่าต้องหล่อหรือจิตใจดีขอแค่รวยก็พอ เพราะรู้ว่ายังไงเราก็จะได้เงินใช้สุดท้ายเราก็แค่อยากรวยโดยไม่ต้องลำบาก

…บางคนแค่อยากมีลูกก็เลยหาใครก็ได้มาเป็นพ่อแม่ของลูก เอาที่ดูดีหน่อย เชื้อจะได้ดีๆ สุดท้ายเราก็แค่อยากเสพอารมณ์ในการมีลูก

…บางคนแค่อยากมีชื่อเสียง ก็เลยหาคนที่มีชื่อเสียงในสังคมแล้วก็ใช้เขาเป็นตัวกระตุ้นชื่อเสียงตัวเอง สุดท้ายเราก็แค่เอาเขามาเสริมโลกธรรมของเรา เพิ่มสรรเสริญให้กับเรา

…บางคนแค่ขี้เกียจทำงานอยากมีคนดูแลก็เลยหาคนที่พอจะมีศักยภาพในการดูแลทั้งชีวิตนี้ได้และเกาะเขาไปเป็นที่พึ่ง สุดท้ายเราก็แค่อยากได้คนมาเลี้ยงดูชีวิต

…บางคนแค่หลงว่าเกิดมาแล้วต้องมีคู่จึงจะมีคุณค่า ก็เลยหาใครสักคนที่พอสมน้ำสมเนื้อมาควงคู่ไม่ให้ใครเขานินทาว่าอายุปูนนี้แล้วยังไม่มีใครเอา สุดท้ายเราก็แค่เอาเขามาปกป้องโลกธรรมของเรากลัวคนนินทา

…บางคนแค่หลงว่าชีวิตที่สมบูรณ์ต้องแต่งงานมีครอบครัว ก็เลยหาใครสักคนที่เหมาะจะมาเป็นสามีหรือภรรยา สุดท้ายเราก็แค่สนองความหลงของเรานั่นเอง

…บางคนแค่อยากหาเพื่อนร่วมชีวิต ที่จะดูแลกันไปจนแก่เฒ่า ก็เลยหาใครสักคนที่ดูมั่นคงและซื่อสัตย์และพร้อมจะดูแลเราเข้ามาในชีวิต สุดท้ายเราก็แค่กลัวลำบากไม่มีใครดูแล

…บางคนแค่หลงว่าเราสามารถมีคู่ใช้ชีวิตร่วมกันทำกุศล สร้างความดี ความเจริญร่วมกันได้ ก็เลยหาคนที่ดูมีบุญบารมีที่เหมาะควร สุดท้ายเราก็แค่หลงไปในกิเลส หาเรื่องครองคู่โดยใช้ข้ออ้างที่สวยหรูมาบังหน้าเพื่อเสพกามและอัตตา

…บางคนแค่เหงาก็เลยหาใครสักคนคนเข้ามาในชีวิตเพื่อเป็นเพื่อนคุย สุดท้ายพอหายเหงา หลุดจากสภาพที่ต้องทนเหงา หรือมีคนอื่นที่ดีกว่ามาแก้เหงา ใครคนนั้นก็หมดค่าเพราะไม่จำเป็นต้องใช้เขาสนองกิเลสอีกต่อไป

สรุปแล้วคนที่เราเลือกมาเป็นคู่นี่แหละคือคนที่ซวยสุดซวย เพราะต้องมารองรับกิเลสของเรา ต้องคอยสนองกิเลสของเรา เป็นทาสกิเลสของเรา ต้องบำเรอเรา เป็นสิ่งที่มาสนองกิเลสของเรา “ฉันเลือกเธอมาเพราะฉันคิดว่าเธอจะดูแล(กิเลส) ของฉันได้

หลายคนอาจจะคิดว่า เอ๊ะ! ฉันก็รักเขา ฉันก็ดูแลเขา ฉันก็จริงใจกับเขานะ …ความรู้สึกนี้มันก็ใช่ แต่มันทำไปเพื่ออะไรล่ะ เรายอมสละ ยอดอดทน ยอมทุ่มเท แรงกาย แรงใจ พลีกายถวายชีวิต ทั้งหมดก็เพื่อเสพบางสิ่งจากคู่ครองใช่ไหม นั่นแหละคือสิ่งที่เราจ่ายไปเพื่อที่จะได้สิ่งที่เราคิดว่ามากกว่ามาเสพ “ที่ฉันทุ่มเทให้เธอเพราะฉันคิดว่าเธอจะสามารถบำเรอสุขให้ฉันได้มากกว่าที่ฉันทำไป

เมื่อใช้กิเลสเข้ามาเป็นแรงผลักดันในการครองคู่กันสุดท้ายก็จะเกิดเป็นกรรมชั่วในที่สุด กลายเป็นคู่เวรคู่กรรม สะสมกรรมชั่วกันเพิ่มในชาตินี้ เช่น ไปกินของอร่อยบำเรอกิเลสด้วยกัน ไปท่องเที่ยวตามกิเลสด้วยกัน ไปร่ำรวยสนองกิเลสด้วยกัน ไปมีชื่อเสียงเติมกิเลสของกันและกัน

ในการครองคู่นั้นยากนักที่จะหลีกเลี่ยงการสนองกิเลสให้แก่กันและกัน แทบจะทุกเหตุการณ์ของชีวิตที่เป็นการเพิ่มกิเลส ได้เสพสมใจก็กิเลสเพิ่ม อยากเสพอีก ไม่ได้เสพก็ทุกข์ใจคับแค้นใจ โกรธจนสะสมกิเลสอีก ดังนั้นการครองคู่จึงสะสมเชื้อทุกข์ สะสมกิเลสพอกไปเรื่อยๆ ออกดอกออกผลแห่งบาปไปเรื่อยๆ

3). คะนองกิเลส บทพิสูจน์ว่าฉันรักใคร

ในตอนที่เราหลงติดหลงยึดจนอยากเสพ มันจะมีภาพฝันสวยๆของการครองคู่ เช่น เราจะรักกันไปจนแก่ เราจะมีลูกด้วยกัน มีบ้านน่ารักๆ ดูลูกหลานวิ่งเล่นพร้อมกับใช้ชีวิตรักอย่างเป็นสุข หรือถึงแม้เขาหรือเธอจะแก่ไปฉันก็จะรัก แม้ว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงไป ป่วย พิการ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ฉันก็จะดูแลเธอเอง

กิเลสก็จะพาให้ฝันหวานไปแบบนี้เอง เพราะจินตนาการมันถูกผลักดันด้วยกิเลส พอใจมันอยากเสพก็จะพิจารณาแต่ประโยชน์ คือจะมองเห็นแต่ข้อดีของการมีคู่ เห็นแต่สุข ไม่เห็นทุกข์เลย มันจะไม่มองความจริงตามความเป็นจริง ตามันมองเห็นแต่ก็มืดบอดมองความจริงไม่เห็น หลงอยู่ในสภาพสุขที่กิเลสหลอกไว้

แล้วก็ใช้เวลาครองคู่สนองกิเลสกันบ้าง ไม่สนองกันบ้าง เพราะความจริงแล้วคู่ที่เราเลือกมาเขาก็ใช้เราเป็นสิ่งสนองกิเลสของเขาเหมือนกัน เขาก็มีความอยากของเขา แรกๆมันก็จะยอมกันไปได้บ้าง พลัดกันเสพ ฉันยอมให้เธอ เธอยอมให้ฉัน เรารักกัน ให้อภัยกัน พลัดกันเสพสุขกันไป

แต่กิเลสมันไม่ได้หยุดแค่นั้น เมื่อชีวิตของการครองคู่คือการสนองกิเลสของกันและกัน ก็จะมีแต่การเพิ่มกิเลสกันไปกันมา สุดท้ายวันหนึ่งกิเลสก็จะก้อนใหญ่ขึ้น อยากเสพมากขึ้นในขณะที่ประสิทธิภาพของการสนองกิเลสนั้นลดลง จึงนำมาซึ่งการผิดใจกัน ขัดใจกัน ไม่ยอมกัน

…ในตอนนี้เราจะเริ่มรู้ได้ชัดแล้วว่า ”เรารักใคร ” ในตอนที่กิเลสมันพุ่งพล่าน อยากได้อยากเสพ คิดว่าตัวเองถูกต้อง เอาแต่ใจนั่นแหละ เราจะเห็นว่าที่แท้จริงเรารักใคร

ที่เราโกรธ ไม่พอใจ ขัดใจ ขุ่นมัวในใจ เป็นเพราะเราไม่ได้เสพสมใจในสิ่งที่คาดหวังไว้ นั่นเพราะเราไม่ได้รักเขาตั้งแต่แรก เรารักตัวเองแล้วเราเอาเขามาเป็นเครื่องสนองกิเลสตัวเอง พอเขาสนองไม่ได้เราก็จะมีอาการหงุดหงิดเหล่านี้เพราะมันไม่สมใจตัวเอง ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในลักษณะเหล่านี้เองเป็นตัวสรุปว่าแท้จริงแล้ว “ฉันรักตัวเอง

5). กรรมกิเลส ที่สร้างขึ้นมา

เพราะความ “รักตัวเอง” นี่เองเราจึงยินดีสร้างกรรมขึ้นมา คือยินดีที่จะไปหาใครสักคนมาสนองกิเลสของเรา มาเป็นคนบำรุงบำเรอกิเลสเรา โดยใช้ข้ออ้างว่ามันคือ “ความรัก” แน่นอนว่ามันคือความรัก แต่เป็นความรักตัวเองจนต้องหาผู้อื่นมาบำเรอตน นั่นหมายถึง “ความเห็นแก่ตัว” อย่างยิ่งยวด

ความเห็นแก่ตัวจะทำให้เราคิดถึงแต่ตัวเอง มองแต่ตัวเอง คิดว่าโลกหมุนรอบตัวเอง กลายเป็นให้ความสำคัญกับตัวเองมากที่สุด เมื่อให้ความสำคัญกับตนเองมากที่สุด ก็หมายถึงมี “อัตตา” ที่มาก

นั่นจึงนำมาสู่การเบียดเบียนผู้อื่นโดยที่ไม่รู้สึกผิด ไม่รู้ว่าการไปกระตุ้นกิเลสหรือการไปยั่วกิเลสของคนอื่นเป็นบาปแค่ไหน เพราะตนนั้นหลงเสพสุขในอัตตาของตัวเอง เพื่อให้คนอื่นมาเติมเต็มความเป็นตัวของตัวเอง เช่นฉันเป็นคนแบบนี้, ต้องแต่งตัวแบบนี้, กินอาหารแบบนี้, เธอต้องปฏิบัติกับฉันแบบนี้, วันพิเศษต้องทำแบบนี้, เวลาฉันโกรธต้องง้อฉันก่อน ฯลฯ เหล่านี้คือสภาพของความเห็นแก่ตัวอย่างแท้จริง ซึ่งถูกซ่อนอยู่ภายใต้ภาพสวยๆในอุดมคติของสิ่งที่เรียกว่าความรัก

ความฝันที่สวยงามในชีวิตคู่ คงไม่จริงเท่าความเห็นแก่ตัวที่เห็นกันอยู่ชัดๆ จนกระทั่งสามารถเอาชีวิตอื่นมาบำเรอกิเลสตนได้ นั่นจึงเป็นการสะสมบาปและอกุศลกรรมร่วมกัน สร้างทุกข์ โทษ ภัยสะสมไว้ส่งผลกับตัวเองทั้งในชาตินี้ ชาติหน้าและชาติอื่นๆต่อไป

เป็นกรรมจากกิเลสที่ต้องรับในอนาคต เหมือนดังที่หลายคนได้เจอกับสภาพที่ต้องทุกข์เพราะความรัก ทุกข์เพราะคนรัก นั่นก็เพราะมันมีหนี้บาปกันมา เคยสนองกิเลสกันมา พอมาเจอกันในชาตินี้เชื้อชั่วในจิตใจก็จะดูดดึงกันเหมือนกับสภาพรักตั้งแต่แรกเจอ นั่นแหละ “ตัวเวรตัวกรรม” มันจะลากให้ไปทำชั่วกันต่อ ให้ไปสั่งสมกิเลสร่วมกันต่อ ให้วนเวียนอยู่ในโลกไปด้วยกันต่อ แล้วก็ต้องเจอทุกข์จากความรักวนเวียนไปไม่รู้จบ

เพราะยิ่งครองคู่ก็จะยิ่งสร้างกรรมชั่ว ไม่มีการครองคู่ใดเป็นไปในฝั่งกุศลฝ่ายเดียวอยู่แล้ว มันจะมีอกุศลหรือสิ่งชั่วปนไปด้วยเสมอ และโดยส่วนมากมันก็จะชั่วมากกว่าดี ดังนั้นยิ่งมีคู่มาก มีรักบ่อย เปลี่ยนคนรักบ่อยก็ยิ่งต้องรับผลชั่วที่ทำไว้มาก

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามีคู่คนเดียวแล้วจะดีเสมอไป การมีคู่โผล่มาคนเดียวในชีวิต โดยความเข้าใจทั่วไปก็จะเหมือนคู่แท้ ที่ผูกกันมาตั้งแต่ชาติปางก่อน ซื่อสัตย์จริงใจ ไม่เคยคบใครนอกจากคนนี้ แต่นั่นหมายถึงกรรมชั่วทุกอย่างมันก็จะมารวมที่คนนี้คนเดียวนั่นแหละ กรรมเขาก็จะจัดสรรเหตุการณ์ที่เจ็บปวด เผ็ด แสบร้อนให้ต้องทุกข์ในท้ายที่สุดทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่ดี

ดังนั้น การไม่มีคู่เสียเลยยังจะดีกว่า อย่างน้อยก็ไม่ต้องลากใครเข้ามาเพิ่มในบ่วงกรรมของเรา ไม่ต้องให้เขาต้องมาคอยบำเรอกิเลสเรา เราก็ไม่ต้องลำบากไปสนองกิเลสเขา เพราะเราไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตัว จึงยอมปล่อยให้เขาไปเผชิญกับชีวิตตามกรรมของเขา ความไม่เห็นแก่ตัวนี้เองคือความเมตตา คือความรักที่แท้จริง คือความรักที่มีต่อผู้อื่นอย่างแท้จริง เป็นความรักที่เต็มไปด้วยปัญญารู้แจ้งในกิเลสและกรรม เมื่อเข้าใจและปล่อยวางได้เช่นนี้ จึงจะเรียกได้ว่า “ฉันรักเธอ” ได้อย่างแท้จริง

– – – – – – – – – – – – – – –

28.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เมื่อเธอเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง

January 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,479 views 0

เมื่อเธอเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง

เมื่อเธอเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง

…ทำอย่างไรถึงเรียกว่ารักตัวเอง เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ไม่ทำร้ายตัวเอง

รักตัวเอง” เป็นประโยคสั้นๆ ที่เข้าใจกันได้อย่างหลากหลาย เรามักจะใช้ประโยคนี้ในการปลอบใจตัวเอง เยียวยาจิตใจที่กำลังเศร้าหมองด้วยการให้คุณค่ากับตัวเอง

การรักตัวเองนั้นสามารถแสดงออกได้หลายลีลาท่าทาง แน่นอนว่าหลายคนก็ต่างพูดว่าตนนั้นรักตัวเอง ทำเพื่อตนเอง หรือกระทั่งทำเพื่อผู้อื่นเพื่อให้ตนเองมีความสุข และอื่นๆอีกมากมาย

ทำไมทุกคนที่บอกว่ารักตัวเองถึงมีวิถีชีวิตต่างกัน มีวิธีคิดต่างกัน มีเป้าหมายที่ต่างกัน แล้วรักตัวเองแบบไหนถึงจะเรียกว่ารักจริง เราจะลองมาเรียนรู้ที่จะรักตัวเองกันได้อย่างแท้จริงเสียที จาก 3 ลีลาความรักตัวเอง รักด้วยกาม รักด้วยอัตตา รักด้วยอนัตตา จะเป็นแบบไหนลองมาอ่านกัน

1). รักตัวเอง (กาม)

ความรักตัวเองในมุมของกามหรือการหา รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส จนกระทั่งหา คน สัตว์ สิ่งของมาเสพ จะเป็นมุมที่เห็นได้ทั่วไปเช่น คนที่คิดว่าเกิดมาครั้งเดียวต้องใช้ชีวิตให้มันสุดๆ กิน เที่ยว เล่น ให้มันสุขสุดๆ เพราะเข้าใจว่ารักตัวเองเลยพยายามหาสิ่งมาบำเรอความสุขให้กับตัวเอง เข้าใจว่าต้องทำให้ตัวเองเป็นสุขจากการเสพจึงจะเรียกว่ารักตัวเอง

ความรักตัวเองในมุมของกามเช่นนี้ ยังอยู่ในลักษณะที่เห็นแก่ตัวอยู่มาก เช่น เราชอบกินเนื้อสัตว์ เรารักตัวเองมากจึงพยายามหาเนื้อสัตว์มาเสพสุข พร้อมทั้งหาข้อมูลอ้างอิงว่าเนื้อสัตว์นั้นดี มีคุณค่า ให้ความสุข หาธรรมะมาอ้างว่ากินเนื้อสัตว์ไม่ผิด ยึดมั่นถือมั่นเนื้อสัตว์เป็นตัวเป็นตน เป็นสิ่งจำเป็น เป็นของสำคัญ จะให้ตัดเนื้อสัตว์ออกจากชีวิตก็ไม่ได้ เพราะรักตัวเอง กลัวอด กลัวไม่ได้เสพสุข กลัวขาดสารอาหาร เมื่อเรารักตัวเองมากๆ จนเข้าขีดของความเห็นแก่ตัว จึงยินดีที่จะเบียดเบียนผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้ตัวเองได้เป็นสุข

แม้แต่การรักผู้อื่นก็เช่นกัน ในมุมของการเอาใจผู้อื่น บางครั้งก็เกิดจากความรักตัวเองมาก จนสามารถใช้การล่อลวง ใช้คำหวาน ใช้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เข้าไปทำให้ผู้อื่นหลงงมงายจนยอมตกลงปลงใจกับเรา จนกระทั่งเราได้รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสเหล่านั้นมาเสพ นั่นเพราะเรารักตัวเองมาก เราจึงทำทุกอย่างเพื่อให้ได้คนอื่นมาเสพ

การรักตัวเองแล้วบำเรอสุขจากการเสพให้ตัวเองนั้น ไม่ใช่ความรักตัวเองเลย แต่เป็นความหลงในกิเลส หลงว่ากิเลสเป็นตัวเราก็เลยเอาอาหาร ทรัพย์สินเงินทอง เวลา สุขภาพ ฯลฯ ไปให้กับกิเลสโดยหลงเข้าใจว่านั่นคือตัวเรา หลงไปว่าตัวเราชอบกินเนื้อสัตว์ ตัวเราชอบเที่ยว ตัวเราชอบแต่งตัว ตัวเราอยากได้รถโก้และบ้านหลังโต ทั้งที่ทั้งหมดนั้นเป็นคำสั่งจากกิเลส

การรักตัวเองแบบนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้อะไรก็ได้ แค่ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกิเลสนำพา ตรงไหนสุขก็ไปเสพ ตรงไหนทุกข์ก็หนี แสวงหาที่เสพสุขวนเวียนสะสมบาปสะสมอกุศลอยู่เรื่อยไป เพราะความรักตัวเองเช่นนี้ คือการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอย่างแท้จริง นำวิบากบาปมาให้ตนเองอย่างแท้จริงเป็นทางแห่งทุกข์อย่างแท้จริง

การจะบอกว่ารักตัวเองแล้วยังแสวงหาสุขลวงจากกิเลสมาเสพ นั่นหมายถึงการทำทุกข์ทับถมตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วจะเรียกว่ารักตัวเองได้อย่างไร

2). รักตัวเอง (อัตตา)

ความรักตัวเองในมุมของอัตตา เป็นอีกมุมหนึ่งที่เห็นได้เป็นประจำ กามและอัตตาจะยังมีผสมปนเปอยู่ในจิตใจของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่เสมอ ไม่ได้หมายความว่ามีอัตตาแล้วจะไม่มีกาม ทางโต่งทั้งสองด้านนี้จะเติมพลังให้แก่กันอยู่เสมอ ผลัก-ดูด, รัก-ชัง, ชอบ-ไม่ชอบ สลับกันไปมาเช่นนี้เสมอ

อัตตาคือความยึดมั่นถือมั่น คือมีตัวเราของเรา เห็นกิเลสเป็นตัวเป็นตนของเรา เช่นเรารักตัวเองมาก เห็นว่าตัวเองเป็นคนดี เข้าวัด ทำบุญ แต่พอมีคนมานินทา เหน็บแนม ก็รู้สึกโกรธนั่นก็เพราะว่าเรารักตัวเองมากเกินไป รักจนยึดเป็นตัวเป็นตน รักจนไม่ยอมให้ใครมาแตะต้องได้

หรือการที่เรามีความคิดเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ความเชื่อความเข้าใจแบบใดแบบหนึ่ง เราก็จะรักและยึดมั่นสิ่งเหล่านั้นเป็นตัวเรา กอดมันไว้กับเรา ถ้ามีใครเห็นด้วยเราก็จะยินดีกับเขา แต่พอมีคนที่ไม่เห็นด้วยพร้อมทั้งการแสดงท่าทีหรือความเห็นที่แตกต่าง ความเห็นเหล่านั้นก็กระทบกับเกราะแห่งรัก(อัตตา,รักลวง) ก่อนที่จะเข้ามาถึงใจเรา นั่นคือเมื่อเรารักตัวเองมาก เราก็จะ”ไม่ฟัง” ไม่ยินดีรับฟัง ไม่อยากฟังอะไรที่ขัดกับความเห็นของเรา เขาพูดอะไรก็จะไม่สนใจ คิดแต่เพียงว่า ฉันก็เชื่อของฉันแบบนี้, ฉันได้ของฉันแบบนี้, ของเธอไม่ดีหรอก หรือถ้าหนักๆเข้าก็อาจจะถล่มอีกฝ่ายด้วยความรักตัวเองจนเกินจะระงับไว้ได้นั่นเอง

คนที่มีความเห็นผิดก็มักจะยึดเอาความเห็นผิดไว้เป็นที่พึ่ง เป็นหลักยึด เป็นคติ เป็นข้อปฏิบัติ และเห็นสิ่งที่ผิดเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะควรอยู่แล้ว นั่นคือเกิดสภาพยึดไปแล้ว และเป็นการยึดความเห็นผิดอีกต่างหาก อัตราส่วนของคนที่ยึดความเห็นผิดต่อความเห็นที่ถูกต้องก็ราวๆ จำนวนเส้นขนวัวทั้งตัวเมื่อเทียบกับ 2 เขาวัว ซึ่งนั่นหมายความว่าโอกาสที่จะได้รับฟังความเห็นที่ถูกก็น้อยยิ่งกว่าน้อย และเมื่อคนที่ยึดความเห็นผิดเป็นตัวเป็นตน เมื่อได้ฟังความเห็นที่ต่างจากที่ตัวเองยึดไว้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกแต่ก็จะเป็นผิดทั้งหมด

ความรักตัวเองในมุมของอัตตาจะส่งผลให้กลายเป็นคนที่ติดอยู่ในภพ ติดอยู่ในความเชื่อหนึ่งๆ ตัวตนหนึ่งๆ สภาพหนึ่งๆ รูปแบบหนึ่งๆ กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว คือเห็นแต่เรื่องของตัวเองเป็นสำคัญ เรื่องของคนอื่นไม่สำคัญ ของตนสำคัญที่สุด คนอื่นผิด ฉันถูก หรือคนอื่นอาจจะผิดไม่มาก แต่ฉันถูกเสมอ

การรักตัวเองแบบมีอัตตาก็จะสามารถรักและเมตตาคนอื่นได้เช่นกัน แต่จะเป็นสภาพที่ซับซ้อนของกิเลส นั่นคือไปยึดเหตุการณ์ รูปแบบ ลักษณะแทน เช่น ฉันจะต้องเป็นคนมีเมตตา ฉันจะต้องมีน้ำใจ ฉันจะต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฯลฯ ซึ่งอาจจะมีความซ้อนตรงที่แอบเสพความสุขจากการได้เป็นผู้ให้เหล่านั้นเช่น เสพติดการได้รับคำชม ได้ชื่อเสียง ได้ความเคารพ ลักษณะเหล่านี้จะซับซ้อนและสังเกตได้ยาก เป็นอัตตาที่ซ่อนตัวอยู่ในโลกธรรม

ความรักตัวเองในมุมของอัตตา แม้ว่าจะไม่ได้หาวัตถุ คน สัตว์ สิ่งของภายนอกมาเสพเหมือนกาม แต่ก็ยังเสพเหตุการณ์อยู่ ยังติดดียึดดีอยู่ รักความเป็นตัวของตัวเอง รักนิสัย รักศักดิ์ศรี รักลาภ ยศ สรรเสริญ รักความสุข จึงหาเหตุการณ์เหล่านี้มาบำเรอสุขให้ตนอยู่

แม้จะสามารถรักตัวเองจนดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เป็นผู้มีรายได้มาก มีตำแหน่งใหญ่โต มีคนยกย่องนับถือ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการรักตัวเองอย่างแท้จริง เพราะการหาเหตุการณ์ใดๆมาเสพให้สมใจตัวเอง ไม่ว่าจะความสำเร็จ ความมั่งคั่ง ความนิยม ซึ่งมักจะต้องแลกมาด้วยการทำบาป

บาป” นั้นหมายถึงการสะสมกิเลส เสริมกิเลส บำรุงกิเลส ซึ่งจะตรงข้ามกับ “บุญ” ที่หมายถึงการชำระกิเลส ลดกิเลส ล้างกิเลส ทำลายกิเลส

หากเราได้สิ่งเหล่านั้นมาเสพจนกระทั่งเกิดความสุขจากสิ่งนั้น เหตุการณ์นั้น สภาพนั้น และเมื่อไม่ได้เสพสมดังใจหมายก็ผิดหวังเป็นทุกข์เศร้าโศกเสียใจ ก็ให้รู้ไว้เลยว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เหตุการณ์ที่มาโดยกุศลกรรม แต่หากเป็นผลจากพลังของกิเลสที่ผลักดันเราให้ยึดมั่นถือมั่นในการจะได้เหตุการณ์ใดๆจนแสวงหามาเพื่อให้ได้เสพสมใจให้สมกับอัตตาที่มีนั่นเอง

3). รักตัวเอง (อนัตตา)

เมื่อเห็นแล้วว่าการรักตัวเองด้วยการหามาเสพด้วยวัตถุ คน สัตว์ สิ่งของ หรือแม้กระทั่งสร้างเหตุการณ์ต่างๆที่ทำให้สมใจนั้น เป็นการทำตามกระแสของกิเลสทั้งนั้น กิเลสจะพาให้เราเสพสิ่งต่างๆ ให้เรายึดมั่นถือมั่นและหามาเสพไปเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนหลงว่าเป็นความสุข เป็นการให้รางวัลชีวิต เป็นเป้าหมายในชีวิต เป็นคุณค่าของชีวิต เป็นความหมายของการเกิดมา เป็นตัวเป็นตน เป็นการรักตัวเองโดยการสนองตัวเองให้เสพสุขไปกับสิ่งเหล่านั้น

สิ่งที่จะกล่าวกันต่อไปนี้ อาจจะขัดใจกันสักหน่อย นั่นคือสิ่งที่คนแสวงหาทั้งหมดไม่ว่าจะกามหรืออัตตา ต่างก็เป็นการทำทุกข์ทับถมตนทั้งสิ้น สร้างอกุศลคือความชั่ว สะสมไปเป็นอกุศลกรรม คือกรรมชั่วที่จะส่งผลให้เราทุกข์ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ในวันใดวันหนึ่ง นั่นก็เพราะเรามีการสะสมกิเลสซึ่งเป็นเชื้อทุกข์ที่ร้ายสุดร้ายเข้าไปในจิตวิญญาณ

ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์จากทั้งกามและอัตตา ความรู้สึกเหล่านั้นก็จะสะสมกิเลสไปเรื่อยๆ ได้เสพก็ติดสุข ไม่ได้เสพก็ทุกข์จนต้องหามาเสพ นั่นหมายถึงว่าทุกๆวันของชีวิตการคือสะสมบาป เวร ภัย ทุกข์ให้กับตัวเอง ดังนั้นจึงเรียกสิ่งเหล่านั้นว่าการรักตัวเองไม่ได้

ไม่ว่าจะกามหรืออัตตา ต่างก็เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน หลายคนบอกว่าที่ฉันเสพมันก็สุขนะ ได้กินของอร่อย ได้ท่องเที่ยว ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ฯลฯ ซึ่งมันก็สุขจริง แต่เป็นสุขลวงแถมด้วยความทุกข์แท้ๆ ได้เสพก็สุขนิดหน่อยแต่สุดท้ายก็จะทุกข์มาก ทุกข์เพราะความอยากเสพ ทุกข์เพราะวิบากบาปในการหามาเสพ เหมือนยาเสพติดหยุดไม่ได้ ถึงจะรู้ว่ามีโทษแต่ก็สุขจนหยุดเสพไม่ได้ จึงกลายเป็นทุกข์แท้ๆเลยทีเดียว

ความไม่เที่ยงนั้นคือสภาพสุขที่ได้เสพ โอกาสที่จะได้เสพ หรือความสุขเหล่านั้นต่างไม่เที่ยง ไม่คงที่ สุขไม่นานก็จางคลาย เช่นเรากินอาหารที่อร่อย ความอร่อยนั้นอยู่ตรงไหน เรากินทุกวันมันจะอร่อยเหมือนวันแรกไหม สุขที่เกิดขึ้นมันไม่เที่ยงเลย มันเปลี่ยนไปตลอดเวลา

และความไม่มีตัวตน นั่นหมายถึงสภาพสุขจากการเสพนั้นแท้จริงไม่มีตัวตน มันไม่ใช่ตัวเรา เราไม่ได้สุขจากการเสพนั้น แต่กิเลสทำให้เราสุข แต่เป็นสุขลวงๆ แล้วเราก็หลงยึดสุขน้อยทุกข์มากนั้นเป็นตัวเราของเรา ยึดกิเลสเป็นตัวเรา ทั้งที่มันไม่ใช่ตัวเรา เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์ เราไม่จำเป็นต้องกินสามมื้อ เราไม่จำเป็นต้องแต่งหน้าแต่งตัว เราไม่จำเป็นต้องกินเหล้า เราไม่จำเป็นต้องมีบ้านใหญ่โต เราไม่จำเป็นต้องมีคู่ครอง เราไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งใหญ่โต เราไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียง เราไม่จำเป็นต้องร่ำรวยมั่งคั่ง เราไม่จำเป็นต้องมีคนนับหน้าถือตา แต่เพราะเรามีตัวตนของกิเลสเป็นของเรา เราจึงเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นจำเป็น เชื่อว่าเป็นสาระของชีวิต เชื่อว่าเป็นความสุข ความเจริญ ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นมันไม่มีตัวตน ไม่มีสาระอะไรเลย

ความรักตัวเองในมุมของอนัตตา คือความรักแบบไม่มีตัวตน นั้นคือไม่มีตัวตนของกิเลสในจิตวิญญาณ ไม่มีกาม ไม่มีอัตตา เพราะทำลายทั้งกามและอัตตาจึงเข้าสู่สภาวะของอนัตตา แต่ไม่ได้หมายถึงแค่ไม่มีตัวเรา ไม่ใช่อนัตตาแบบท่องจำที่ทำกันโดยทั่วไป “ทุกสิ่งเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป,ทุกสิ่งไม่ใช่ตัวเราของเรา” ท่องแบบนี้มันก็ท่องได้ เป็นสมถะ เอาไว้กดอาการของจิตได้ดีแต่ทำลายกิเลสไม่ได้

การปฏิบัตินั้นจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สภาวะของอนัตตานั้นเป็นผลของการปฏิบัติ ไม่ใช่วิถีทางปฏิบัติ(มรรค) ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดเอาอนัตตามาเป็นตัวปฏิบัติ เพราะการจะรักตัวเองได้อย่างแท้จริงนั้น ต้องเว้นจากทางโต่งสองด้าน คือกามและอัตตา โดยปฏิบัติยึดหลักทางสายกลาง จนเกิดเป็นผลที่เรียกว่า “อนัตตา

ความรักตัวเองด้วยอนัตตานี้เองจะเป็นความรักที่สร้างแต่กุศลอยู่ฝ่ายเดียว ทำแต่กุศลกรรม มีแต่การสร้างอนาคตที่ดี ไม่มีการสะสมบาป หรือสะสมอกุศลกรรมใดๆให้ตัวเองต้องได้รับทุกข์ โทษ ภัย ในอนาคตทั้งในชาตินี้และชาติหน้า นี่คือความรักตัวเองอย่างแท้จริงเพราะได้ส่งต่อสิ่งที่ดีให้กับตัวเองในอนาคต สร้างกรรมดีให้กับตัวเองในอนาคต จึงจะมีแต่เจริญไปข้างหน้าเรื่อยๆ ไม่มีถอยหลัง ไม่ตกต่ำ ไม่กลับมาชั่ว ปิดนรก ปิดทางฉิบหายได้สนิท ไม่ว่าจะในชาตินี้หรือชาติหน้าจนกระทั่งชาติอื่นๆต่อไป

เมื่อเรารักตัวเอง เราจึงควรเรียนรู้ที่จะรักตัวเองด้วยการเว้นขาดจากทางโต่งสองด้านคือกามและอัตตา จนกระทั่งทำลายกิเลสที่เป็นตัวผลักให้เราไขว้เขวไปในทางโต่งทั้งสองด้านจนสิ้นเกลี้ยง ทีละเรื่อง สองเรื่อง เริ่มจากกิเลสที่ไม่ยากมาก ให้โอกาสตัวเองได้เรียนรู้ความรักที่แท้จริง ความรักที่ไม่มีกาม ไม่มีอัตตา รักที่เป็นอนัตตาอย่างเที่ยงแท้ แน่นอน ไม่มีหลอกลวง เป็นประโยชน์ให้กับตัวเองและผู้อื่นตลอดไป สะสมอนัตตาในแต่ละเรื่อง เจริญขึ้นไปเรื่อยๆตามลำดับโดยการศึกษาเรียนรู้ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อก้าวข้ามภพของกิเลสทั้งหมด ไปจนกระทั่งเป็นผู้ที่มีแต่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

การรักตัวเองได้อย่างแท้จริง จะทำให้เราไม่ยอมเปิดโอกาสให้ตัวเองไปทำบาป ไม่ชักชวนให้คนอื่นทำบาป ไม่ส่งเสริมให้คนทำบาป ไม่ยินดีในบาปเหล่านั้น ไม่ทำอกุศลกรรมใดๆ ที่จะกลายเป็นสิ่งที่ผูกมัดตัวเองไว้กับทุกข์

– – – – – – – – – – – – – – –

26.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)