Tag: ล้างกิเลส

ศีล สมาธิ ปัญญา ภาคปฏิบัติ

November 2, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 7,368 views 1

ศีล สมาธิ ปัญญา ภาคปฏิบัติ

Download ภาพขนาดเต็ม กดที่นี่

ศีล สมาธิ ปัญญา ภาคปฏิบัติ

การปฏิบัติธรรมนั้น ต้องประกอบไปด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา เป็นการปฏิบัติไปทั้งหมดภายในเวลาเดียวกันไม่แยกจากกัน ในศีลก็มีสมาธิและปัญญา ในปัญญาก็มีศีลและสมาธิ

พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้มีศีลย่อมมีปัญญา ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล และทั้งหมดทั้งมวลนั้นจะเป็นไปเพื่อกันและกัน หากเรานำมาแยกปฏิบัติ จะเกิดสภาพที่เรียกได้ว่าขาดๆเกินๆ เช่น…

…ถ้าปฏิบัติแต่ศีล ก็จะกลายเป็นคนเคร่งเครียดในศีล ถือศีลแบบยึดมั่นถือมั่น ถือโดยไม่มีปัญญา ไม่รู้สาระในศีล รู้แค่ว่าถือศีลแล้วดี ยิ่งถือศีลมากๆยิ่งดี กลายเป็นหลงงมงายในศีลไป

…ถ้าปฏิบัติแต่สมาธิ ก็จะกลายเป็นเหมือนฤาษี เข้าภพ เข้าฌาน เข้าภวังค์ สะสมพลังสติ เมาสติ เหมือนนักกล้ามที่ออกกำลังกายเพื่อกล้ามเนื้อ แต่ก็ไม่รู้จะเอาความแข็งแกร่งนั้นไปทำประโยชน์อะไร อย่างเก่งก็ดับความคิด ดับสัญญา แต่ดับกิเลสไม่เป็น

…ถ้าปฏิบัติแต่ปัญญา ก็จะกลายเป็นพวกฟุ้งซ่าน อ่านพระไตรปิฏกมากมาย จำได้พูดคล่องเหมือนนกแก้วนกขุนทอง แต่ไม่เข้าใจสาระ ไม่เข้าใจวิธีการปฏิบัติ รู้แค่ตามที่ได้ยินได้ฟังมา

จะเห็นได้ว่าถ้าเรามุ่งแต่ปฏิบัติตัวใดตัวหนึ่งก็จะทำให้หลงมัวเมาไปได้ และโดยส่วนมากผู้ที่หลงมัวเมามักจะไม่รู้ตัว และยึดมั่นถือมั่นในแนวทางที่ตนเองได้ปฏิบัติมา ทำให้การปฏิบัติธรรมไปสู่ความผาสุกนั้นเนิ่นช้าไปเรื่อยๆ เรามาลองดูว่าถ้าปฏิบัติแล้วขาดบางอย่างไปจะเป็นอย่างไร

…ถ้าขาดศีลก็จะฟุ้งไปไกล มักจะหลงว่าตัวเองบรรลุธรรม มีกำลังสติ สามารถตั้งจิตให้มั่น คงสภาพนั้นๆ เกิดสมาธิได้นาน แถมมีปัญญา คิดและเข้าใจไปเองว่าตนเองมีกำลังสติมาก และเข้าใจธรรมได้ขนาดนี้ ต้องบรรลุธรรมแน่เลย เข้ารกเข้าพงกันไปตามความฟุ้งซ่านของปัญญา

…ถ้าขาดสมาธิก็ยากที่จะเจริญในการปฏิบัติธรรม เหมือนคนอยากวิ่งมาราธอนแต่ร่างกายอ่อนแอ วิ่งไปได้สักพักก็หมดแรง แข่งงานไหนก็ไม่ถึงเส้นชัยกับเขาเสียที แม้จะสามารถถือศีลได้อย่างมีปัญญา แต่ถ้ากำลังสติน้อย ก็ยากที่จะเอาชนะกิเลส ยากที่จะดำเนินไปสู่ปัญญาที่เป็นผลได้

…ถ้าขาดปัญญาก็จะกลายเป็นเหมือนฤาษีที่เคร่งวินัย สามารถถือศีลที่ยากๆ และลำบากได้ง่ายๆ เพราะมีสติมาก แต่เป็นการถือศีลแบบยึดมั่นถือมั่น ถือศีลแล้วล้างกิเลสไม่เป็น ถือศีลไปอย่างนั้น ไม่รู้คุณค่า ไม่รู้สาระ ไม่รู้วิธีใช้ศีลให้เกิดปัญญา โดยมากแล้วจะมีรูปสวย ภาพลักษณ์ดูดี คนในสังคมนิยมชมชอบ เพราะจะดูนิ่งและสงบมาก แต่ถ้าให้สอนหรือถ่ายทอดก็จะสอนไม่เป็น ยิ่งสอนยิ่งงง พอโดนไล่ถามมากๆก็มักจะโกรธ หรือไล่ให้ไปปฏิบัติจะรู้เอง เพราะตนเองนั้นไม่ได้บรรลุธรรม ไม่ได้ดับกิเลส เมื่อดับกิเลสไม่เป็นก็ไม่สามารถสอนหรือบอกใครได้

แต่ถ้าคนที่ปฏิบัติถูกทาง การขาดตัวใดตัวหนึ่ง หรือปฏิบัติขาดๆเกินๆจะไม่เกิดขึ้น ศีล สมาธิ และปัญญา จะเสริมเติมกันเองตลอด ยกระดับขึ้นไปพร้อมๆกัน ไม่โต่งไปด้านใดด้านหนึ่งมากนัก เมื่อเห็นดังนี้แล้ว เรามาเข้าภาคปฏิบัติกันเลย

1). ปฏิบัติศีลด้วยปัญญาที่เป็นมรรค

ก่อนที่ใครสักคนจะปฏิบัติศีลนั้น เขาจำเป็นต้องมีปัญญาในเบื้องต้น ที่จะทำให้ยินดีที่จะปฏิบัติศีลนั้น เช่นเห็นคุณค่าของศีล เห็นว่าศีลนั้นดี เช่นถือศีลข้อ๑ ไม่ฆ่าสัตว์อย่างเคร่งครัด เพราะเห็นแล้วว่าศีลข้อนี้จะทำให้ตนไม่ทำบาป การถือศีลนั้นจึงต้องมีปัญญาร่วมด้วยเสมอ ส่วนคนไม่มีปัญญาก็จะไม่ถือศีลเพราะมองว่าศีลนั้นเป็นของไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ เหตุนั้นเพราะเขาเองไม่มีปัญญาพอที่จะเห็นสาระและประโยชน์ในศีลนั้นๆ

2). ปฏิบัติศีลด้วยสมาธิ

เมื่อตั้งศีล ถือศีล พร้อมเอาศีลมาปฏิบัติแล้ว จากนี้ก็ต้องใช้ความอึด ความอดกลั้น ความอดทน ใช้สติ ใช้ขันติ ให้เกิดสภาพของศีลอย่างต่อเนื่อง คือถือศีลอย่างมีสมาธิ ในขั้นตอนนี้ไม่ง่าย เพราะเปรียบได้กับการเข้าสมรภูมิรบ เช่นเราตั้งศีลว่าจะไม่กินกาแฟ เมื่อเราได้กลิ่นกาแฟ กิเลสก็มักจะหาเหตุผลให้เราไปเอากาแฟมากินเสมอ หรือนั่งอยู่เฉยๆ ก็อาจเกิดอาการอยากกาแฟขึ้นมาเลยก็ได้ สมาธิจะเข้ามาทำงานอย่างมากในช่วงนี้ ต้องอด ต้องทน ต้องฝืนต่อพลังของกิเลสในจิตใจ กดข่มมันไว้ ไม่ไปเสพสิ่งที่เราตั้งใจว่าจะละเว้นไว้ เราสามารถเพิ่มพลังสมาธิ หรือกำลังสติได้โดยการฝึกสมถะ

3).สมาธิไปสู่ปัญญา

เมื่อคงสภาพของสมาธิได้แล้ว จึงใช้ปัญญาเข้ามาพิจารณา หรือที่เรียกว่าวิปัสสนา คือการพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริง พิจารณาคุณประโยชน์ของการออกจากสิ่งที่เป็นภัย พิจารณาโทษของสิ่งที่เป็นภัย พิจารณากรรมและผลของกรรมหากเรายังไปเสพสิ่งที่เป็นภัย พิจารณาไตรลักษณ์ คือความอยากเสพนั้นทำให้เราทุกข์อย่างไร ความอยากเสพนั้นไม่เที่ยงอย่างไร มันไม่ได้เกิดตลอดใช่หรือไม่ มันเกิดแล้วมันก็ดับไป พิจารณาอนัตตา คือความไม่ใช่ตัวตนของทุกข์นั้น ความอยากไม่ใช่เรา กิเลสไม่ใช่เรา เรายึดมันมาเอง เราเป็นคนต้อนรับกิเลสเข้ามาในชีวิตเราเอง แท้จริงมันไม่ใช่เรา

4).ปัญญาที่เป็นผลเจริญ

เมื่อสามารถถือศีล อย่างมีสมาธิ และใช้ปัญญาที่เป็นมรรค คือทางเดิน คือกระบวนการ พิจารณาล้างกิเลส จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งที่ปัญญานั้นเต็มรอบ จะสามารถที่จะดับกิเลสนั้นได้อย่างสิ้นเกลี้ยงจะเกิดสภาวะของฌานไปตามลำดับ คือปีติ สุข อุเบกขา ซึ่งจะข้ามวิตกวิจารณ์ไป เพราะทำตั้งแต่ในข้อสามแล้ว ฌานนี้จะไม่เหมือนกับวิธีเข้าฌานนั่งสมาธิ เพราะเป็นฌานเพ่งเผากิเลส จะเกิดก็ต่อเมื่อได้ทำการล้างกิเลสจนเกิดปัญญาที่เป็นผล รู้แจ้งในกิเลสนั้นๆ ซึ่งการเกิดสภาพของฌานแรงหรือเบา ผ่านไปเร็วหรือตั้งอยู่นาน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่นความยากของกิเลสนั้นๆ หรือความเคยชินของการฆ่ากิเลส

5).ปฏิบัติไปจะค่อยๆยากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนมหาสมุทร ลาด ลุ่ม ลึก ไปตามลำดับ

การปฏิบัตินั้น ไม่ได้หมายความว่าจะทำทีเดียวบรรลุธรรมถึงวิมุตติได้เลย จะรู้แจ้งเข้าใจได้เลย แต่จะต้องทำไปตามลำดับ เกิดปัญญาไปตามลำดับ เพิ่มพลังสติไปตามลำดับ ปฏิบัติอธิศีล แปลว่า ยกระดับศีลไปเรื่อยๆ เพื่อปฏิบัติอธิจิต และอธิปัญญา การปฏิบัติเช่นนี้จะเจริญไปเรื่อยๆ แม้ว่าเราจะปฏิบัติศีลที่ยากขึ้น แต่มันจะไม่รู้สึกยากเหมือนกับตอนแรกที่เราเริ่มปฏิบัติธรรม

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าตอนแรกเราตั้งใจเลิกกาแฟเลย มันจะยากมาก มันจะตัดใจยาก มันจะทรมาน มันจะแพ้กิเลสอยู่เรื่อยไป แต่ถ้าเราหัดลดปริมาณการดื่มจากวันละสองแก้วเป็นวันละแก้ว ค่อยๆหัดละจากกินทุกวันเป็นสัปดาห์ละ 3 วัน เพิ่มวันที่ละให้เยอะขึ้นจาก 3..4..5.. วัน จนถึง 1 เดือน 2 เดือน สุดท้ายก็จะสามารถตัดสินใจเลิกได้ง่ายขึ้น เพราะเราปฏิบัติธรรมไปตามลำดับ เจริญไปตามลำดับ เก็บสะสมพลังสติ พลังปัญญาไปตามลำดับ

6).เมื่อถึงเป้าหมาย สามารถอนุโลมถอยกลับมาได้

เมื่อเราปฏิบัติจนสามารถล้างกิเลสนั้นได้จริง เรียกว่าถึงวิมุตติ จะมีสภาพรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงในความอยากนั้น จะไม่มีวันที่จะกลับไปอยากเสพอีก รู้โทษชั่วของการเสพสิ่งนั้น รู้ชัดว่าต้องปฏิบัติอย่างไรถึงจะสามารถทำลายกิเลสนั้นได้ จึงสามารถย้อนกลับไปสอนหรือแนะนำคนที่ยังไม่ผ่านกิเลสด่านนั้นได้ หรือกระทั่งสามารถอนุโลมกลับไปเสพได้ในบางกรณี โดยไม่เกิดบาป เพราะบาปคือการสั่งสมกิเลส ผู้ที่กำจัดกิเลสสิ้นเกลี้ยงแล้ว แม้จะกลับไปเสพก็ไม่บาปแต่อย่างใด แต่จะมีอกุศล หรือโทษภัยบางอย่างเช่น ถ้ากลับไปกินกาแฟ ก็ไม่ได้กินเพราะความอยาก ไม่ได้ติดใจในรสชาติ แต่มีเหตุจำเป็นต้องใช้สารที่ทำให้ตาสว่าง จึงยอมรับผลเสียต่อสุขภาพนั้นไป และถ้าไม่จำเป็นก็จะไม่กลับไปใช้วิธีนั้นอีก จะสามารถทำให้ปัญญาเจริญขึ้นไปได้อีก หาวิธีเลี่ยงสิ่งนั้นเก่งขึ้นอีกเรื่อยๆ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่ายิ่งเสพยิ่งทุกข์

ในขั้นตอนนี้ คนที่หลงว่าตนบรรลุธรรมมักจะเอาไปอวดอ้างว่าตนเองบรรลุธรรมแล้ว ไม่เกิดกิเลสแล้วจึงเสพได้ เสพไปจิตไม่เกิด ไม่คิดอะไร ความหลงในลักษณะนี้มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล วิธีตรวจสอบคือ เราต้องปฏิบัติตนให้เป็นผู้บรรลุธรรมเอง ก็จะทำให้รู้ความแตกต่างของคนที่หลงว่าตนบรรลุธรรม กับคนที่บรรลุธรรมจริง ได้ชัดเจนขึ้น จะประมาณได้เก่งขึ้นว่าแตกต่างกันอย่างไร อันไหนจริง อันไหนหลอก จะกระจ่างขึ้น แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะมีส่วนของวิบากกรรมที่อาจจะมาทำให้การประเมินผิดพลาดได้

เมื่อทุกสิ่งไม่เที่ยง และโลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ การจะไปสนใจคนอื่นนั้นเป็นการเสียเวลาเปล่าๆ สู้เอาเวลาที่มีมาเพ่งเพียรปฏิบัติให้ตนเองเกิดผลเจริญจะดีกว่า ส่วนใครจะของจริงของปลอมอย่างไรมันก็เรื่องของเขา บาปบุญของเขา อะไรดีเราก็ช่วยเหลือส่งเสริม อะไรไม่ดีเราก็ห่างเข้าไว้

7).ได้มาหนึ่ง แต่ต่อไปก็จะง่ายขึ้นเพราะทำเป็นแล้ว

เมื่อสามารถเข้าใจกระบวนการปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือการปฏิบัติไตรสิกขา คืออธิศีล อธิจิต อธิปัญญาแล้ว ความเข้าใจนี้หมายถึงเข้าใจตั้งแต่มรรคไปจนถึงผล เข้าใจตั้งแต่การเริ่มมีปัญญา มาปฏิบัติ จนทำลายกิเลสนั้น ก็จะสามารถนำกระบวนการนี้ไปทำลายกิเลสตัวอื่นๆได้ เพราะกิเลสทุกตัวก็ทำลายเหมือนกันนั่นเอง คือพิจารณาลงไปถึงที่เกิดแล้วใช้ปัญญาพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียต่างๆ เพื่อดับมัน

ในกรณีที่ทำลายกิเลสตัวใหญ่หรือตัวที่ติดมากได้แล้ว เราจะสามารถเก็บตัวเล็กตัวน้อยได้ง่ายขึ้น เช่นเราติดกาแฟแล้วทำลายความอยากกาแฟทิ้ง เราจะสามารถพิจารณาฆ่ากิเลสที่เกี่ยวเนื่องกับกาแฟได้ง่ายขึ้น เช่น ชา โกโก้ เพราะอยู่ในหมวดของความอยากในรส กลิ่น ของกินเล่น ซึ่งก็แล้วแต่ว่าใครจะติดสิ่งใดในมุมไหน ซึ่งเหลี่ยมมุมของกิเลสในแต่ละคนก็จะต่างกัน

8).พลาดไปกับกิเลสเป็นเรื่องปกติ

คนที่ตั้งใจปฏิบัติศีล เพื่อล้างกิเลสนั้น ถ้าปฏิบัติใหม่ๆมักจะมีอัตตาแรง แพ้ไม่เป็น แพ้แล้วชอบล้มเลิก แพ้แล้วชอบตีตัวเองซ้ำ โทษตัวเอง ทำทุกข์ทับถมตน อยากทำลายกิเลสไวๆ อยากให้เกิดผลมากกว่าที่ปฏิบัติ เข้าใจว่าการที่ตนเองปฏิบัตินั้นต้องผ่านกิเลสได้ พอผ่านไม่ได้ก็ทุกข์ อกหักอกพัง

บ้างก็เจ็บ ขยาด หนีไปเลียแผลกันอยู่นาน บ้างก็เลิกถือศีลนั้นไประยะหนึ่ง บ้างก็เลิกปฏิบัติธรรมไปเลย นั่นเพราะเราคาดหวังความสมบูรณ์แบบ คิดว่าทุกอย่างต้องสำเร็จดังใจ คิดว่าเราต้องทำได้ คิดว่าเราต้องไม่พลาด ทั้งๆที่ไม่ได้มองความจริงเลยว่ากิเลสเราช่างหนาและยิ่งใหญ่นัก การจะเอาชนะมันด้วยการคิดเอา จินตนาการเอานั้นเป็นไปไม่ได้เลย

การพลาดไปกับกิเลสแม้ว่าเราจะถือศีล อย่างตั้งมั่น มีสติอย่างเต็มเปี่ยม มันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิด เพราะถ้ากิเลสใดง่าย เราก็จะผ่านมันไปแบบไม่สนใจ ไม่รู้คุณค่า เมื่อผ่านกิเลสง่ายๆได้หมด สุดท้ายก็ต้องตั้งศีลที่ยากขึ้น หรือปฏิบัติอธิศีล เช่น จากกินสามมื้อ ก็หันมากินมื้อเดียว เมื่อถือศีลเกินฐานเดิม ความผิดพลาดก็มักจะมีเป็นเรื่องธรรมดา

การพ่ายแพ้กิเลสเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราจะไม่ล้มนาน และเราจะไม่แพ้ตลอดไป ถึงแม้ว่าเราจะแพ้ เราก็จะหน้าด้านสู้ ตั้งหน้าตั้งตาพิจารณาโทษของกิเลสนั้นต่อไปเรื่อยๆอย่างไม่ย่อท้อ

9).ฝึกสติแต่ไม่ปฏิบัติศีล

เรามักจะได้เห็นการฝึกสติ ที่ไม่ปฏิบัติศีลอยู่เป็นประจำ ดังที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น หากเราปฏิบัติ เจริญสติ แต่ไม่มีเป้าหมาย ก็เหมือนคนที่เพาะกล้ามแต่ไม่รู้จะเอากล้ามไปทำประโยชน์อะไร เหมือนมีดที่ลับคมดีแล้ว แต่ก็ไม่ได้เอาไปหั่นอะไร เหมือนคนที่เรียนรู้วิชามากมาย แต่ก็ไม่ได้เอาไปทำประโยชน์อะไร

การปฏิบัติศีลเหมือนการเข้าสมรภูมิรบ ผู้ที่ฝึกสติแต่ไม่สนใจศีล ก็เหมือนกับสิงห์สนามซ้อม หมูสนามจริง เพราะจริงๆแล้ว เราสามารถพัฒนากำลังสติของเราได้ระหว่างที่ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญาไปพร้อมๆกัน ซึ่งผู้ปฏิบัติอย่างถูกตรงจะสามารถรู้ถึงกำลังสติของตัวเองที่เจริญขึ้นมาได้ เป็นสัมมาสติ เป็นสติที่มีเพื่อการดับกิเลส ไม่ใช่การฝึกสติแบบฤาษีชีพราหมณ์ ซึ่งการฝึกสติหรือทำสมาธิสะสมพลังฌานเช่นนั้นมีมาก่อนศาสนาพุทธแล้ว เป็นการฝึกสติและสมาธิทั่วๆไป ที่มีอยู่คู่โลกตราบโลกแตก ไม่ได้พิเศษเหมือนสติแบบพุทธ หรือสัมมาสติ คือสติที่เป็นไปเพื่อการทำลายกิเลสเท่านั้น

ผู้ที่ฝึกมิจฉาสติมากอาจจะทำให้ไปหลงในฤทธิ์ ในคุณวิเศษ หรือหลงในมโนมยอัตตาของตัวเอง คือการที่จิตตัวเองปั้นภาพ หรือเสียง เหตุการณ์ อารมณ์ ความสุข ฯลฯขึ้นมาเอง เช่นการเห็นผี เห็นนรก เห็นสวรรค์ เป็นการปั้นที่เกิดมาจากกิเลส ดึงสัญญาที่เคยจำไว้ออกมาเป็นภาพ ภาพที่เห็นจะเห็นจริงๆ เสียงที่ได้ยินจะได้ยินจริงๆ แต่ไม่ใช่ของจริง จะรับรู้ได้อยู่คนเดียว เห็นเทวดา ผีสาง นรกสวรรค์ก็เป็นไปตามจินตนาการของคนนั้นคนเดียว กลายเป็นหลงว่าบรรลุธรรม หลงไปติดภพ ติดนิมิต ติดมโนมยอัตตา

คนเหล่านี้จะสามารถพบเหตุการณ์ที่คนอื่นไม่เห็นได้ แต่นั่นไม่ใช่สาระของการปฏิบัติธรรม เพราะกิเลสไม่ตาย อย่างมากก็ได้แค่กดข่มข้ามภพข้ามชาติ เหมือนอาจารย์ของพระพุทธเจ้า คืออุทกดาบส และอาฬารดาบส เข้าได้ถึงอรูปฌาน แต่ทั้งหมดเป็นฌานฤาษี ไม่ใช่ฌานแบบพุทธ ฌานพุทธต้องเกิดจากการเพ่งเผากิเลสเท่านั้น นอกนั้นเป็นสภาวะของการกดจิตให้ดำดิ่งลงไปในภพต่างๆทั้งสิ้น

10).ปฏิบัติศีลเกินกำลังสติ

ก่อนจะเข้าเรื่องว่าอะไรมากไปน้อยไปจะขอเกริ่นเรื่องทางสายกลางเสียก่อน ทางสายกลางของพุทธนั้นต้องเว้นจากทางโต่งสองด้าน คือเว้นจากกามสุขัลลิกะ และอัตตกิลมถะ ซึ่งเป็นบทแรกที่พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรม นั่นคือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

กามสุขัลลิกะ  คือการไปเสพสุขลวง ไปเสพสิ่งที่ทำให้เกิดความสุขและความสุขนั้นมาจากกิเลส ท่านให้เว้นจากทางนี้คือไม่ไปเสพสุขลวง

อัตตกิลมถะ คือการทรมานตนเองด้วยอัตตา คือมีความยึดดี ถือดี ท่านให้เว้นจากทางนี้เช่นกัน คือไม่ให้มีอัตตา

การจะปฏิบัติให้เข้าสู่ทางสายกลางนั้นต้องเว้นจากทางโต่งทั้งสองด้าน กามก็ไม่ไปเสพ อัตตาก็ไม่มี จึงจะเข้าสู่สภาวะของทางสายกลางหรือสัมมาอริยมรรคมีองค์ ๘

การปฏิบัติศีลเกินกำลังสติมักจะเกิดกับคนที่ประมาณไม่เก่ง คนที่โลภ คนที่ไม่เข้าใจการปฏิบัติศีล ก็มักจะถือศีลที่เกินกำลัง เช่นตัวเองอินทรีย์พละน้อย แต่ก็ฝืนไปถือศีลอพรหมจริยา ในระดับอธิศีล คือการไม่มีคู่ ประพฤติตนเป็นโสด ทีนี้ตอนตั้งศีลมันก็คิดเอาได้ แต่พอปฏิบัติจริงมันทำไม่ได้ จิตใจมันโหยหา อยากได้ใครสักคนมาครอบครอง ต้องพบกับความเหงา ความหดหู่ ยิ่งถือศีลยิ่งเก็บกด เพราะในใจอยากมีคู่ แต่มีปมในใจบางอย่างที่ต้องปกป้องตัวเองด้วยการโสด จึงเกิดทุกข์ภายในตัวเอง เข้าข่ายอัตตกิลมถะ(ทางโต่งไปด้านอัตตา)ยึดศีลนั้นว่าดี ทั้งๆที่ศีลนั้นเกิดฐานของตัวเองไปมาก เกินกำลังสติปัญญาของตัวเองไปมาก นอกจากจะไม่เจริญทางจิตใจแล้ว ยังกลายเป็นบาป เพราะมีการทรมานตัวเองด้วยการยึดดี ซึ่งเมื่อปฏิบัติไม่เป็นไปในทางสายกลาง โต่งไปทางด้านอัตตา ก็ไม่มีทางที่จะบรรลุธรรมได้

หรืออาจจะเปลี่ยนขั้วกลับไปทางกามสุขัลลิกะ (ทางโต่งด้านการเสพสุขลวง) ตบะแตก ทำลายศีลตัวเอง เข้าใจว่าถือศีลไปก็ทุกข์ ว่าแล้วก็ไปมีคู่มันซะเลย แต่ไปมีคู่จากความอยาก ความเก็บกด สุดท้ายก็จะเป็นภัยต่อตัวเองอยู่ดี เพราะแทนที่จะมีคู่ด้วยสภาพปกติ แต่กลับเป็นมีคู่ด้วยอาการอยากเสพอย่างรุนแรง มีอาการดูดดึงอย่างรุนแรง เพราะเป็นอาการที่ตีกลับจากทางโต่งด้านอัตตา

ผู้ที่เริ่มปฏิบัติธรรมควรปฏิบัติไปตามฐานของตัวเอง ให้เจริญไปตามลำดับ ค่อยเป็นค่อยไปเหมือนมหาสมุทรค่อยๆลาด ลุ่ม ลึกไปตามลำดับ ไม่ชันเหมือนเหว

11).ปฏิบัติกลับหน้าเป็นหลัง

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าการปฏิบัติธรรมของศาสนาพุทธนั้นเป็นไปตามลำดับ คือการละในสภาวะส่วนของกามสุขัลลิกะ หรือละการหลงเสพก่อน แล้วค่อยละฝั่งอัตตา

เช่นเมื่อเราติดกาแฟ ก็ควรจะทำลายความอยากเสพกาแฟก่อน ไม่ใช่ไปพิจารณาไม่ยึดมั่นถือมั่นตั้งแต่แรก เพราะถ้าพิจารณาล้างอัตตา ล้างความยึดมั่นถือมั่นก่อน มันก็จะเฉโกหรือฉลาดไปในทางกิเลส คือกลายเป็นไม่ยึดมั่นถือมั่นในการกินกาแฟ ว่าแล้วก็กลับไปกินกาแฟเหมือนเดิม แล้วหลงว่าตัวเองบรรลุธรรม

คือลักษณะที่ไม่ล้างกิเลสไปตามลำดับ เอาหลังมาหน้า เอาหน้าไปข้างหลัง ล้างอัตตาก่อนล้างกาม พอไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ไปเสพกามแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็ชั่วอยู่นั่นเอง

พระพุทธเจ้าท่านให้ละกิเลสนั้นทั้ง3ภพ คือละ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ไปตามลำดับ โดยใช้ไตรสิกขา คืออธิจิต อธิศีล อธิปัญญา ดังกระบวนการ 1-7 ที่ได้อธิบายไปข้างต้น

เราต้องละกามภพก่อน กามภพ คือสภาพที่ยังไปเสพ ไปติด ไปยึด ไปเอาสิ่งนั้นมาเป็นของตัว แล้วค่อยละรูปภพ คือสภาพที่ไม่ไปเสพแล้ว แต่ยังมีอาการอยากเสพที่เห็นได้ในจิตตัวเอง ซึ่งก็สามารถข่มใจไม่ให้ไปเสพไว้ได้ และสุดท้ายคืออรูปภพคือสภาวะที่มองไม่เห็นความอยากเป็นรูป ไม่เห็นการปรุงแต่งความอยากชัดๆแล้ว แต่เมื่อไม่ได้เสพจะหลงเหลืออาการขุ่นใจ ไม่สบายใจ โหยหา พะวง หรือจิตใจไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบายนั่นเอง เมื่อละสามภพนี้ไปตามลำดับ จึงจะสามารถพบกับวิมุตติได้

ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติธรรมแบบล้างอัตตา หรือล้างความยึดมั่นถือมั่นก่อน โดยที่ไม่ได้ล้างกาม คือการที่ยังไปเสพสมใจในสิ่งที่ชอบ หรือติดนั้นอยู่ จะเกิดสภาพบรรลุธรรมหลอกๆ หลงว่าตนบรรลุธรรมแล้วเสพได้ กลายเป็นพวกเฉโก ไม่บรรลุธรรม ไม่พ้นทุกข์ เพราะเอาหลังมาหน้า เอาหน้าไปข้างหลัง ปฏิบัติไม่ถูกวิธี

– – – – – – – – – – – – – – –

1.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ความตายมิอาจพราก…กิเลสและกรรมไปจากเราได้

October 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,851 views 0

ความตายมิอาจพราก...กิเลสและกรรมไปจากเราได้

ความตายมิอาจพราก…กิเลสและกรรมไปจากเราได้

การที่ชีวิตหนึ่งต้องพบกับการจากพรากจนถึงความตายนั้น ไม่ได้หมายถึงการสิ้นสุดของวิญญาณดวงนั้น ความตายเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนแปลงสภาพของร่างกายอันคือภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่ง ซึ่งมีกรรมเป็นผู้ดลบันดาลให้เกิด

กว่าจะตาย…

ยกตัวอย่างเช่น พอเราชอบกินเนื้อสัตว์ กินอาหารปิ้งย่างมากๆ ด้วยกิเลสของเราจึงสร้างกรรมอันเบียดเบียน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้เบียดเบียนย่อมมีโรคมากและอายุสั้น คนบางพวกที่กินเนื้อสัตว์มากจึงมีการป่วยด้วยโรคต่างๆ เช่นมะเร็ง นั่นคือสภาพหนึ่งของกรรมที่ส่งผล เป็นทั้งกรรมจากอดีตชาติคือกรรมจากกิเลสส่วนหนึ่ง กรรมจากผลที่ทำมาส่วนหนึ่ง และกรรมจากกิเลสที่ทำในชาตินี้อีกส่วนหนึ่งสังเคราะห์กันอย่างลงตัวจนเกิดเป็นสภาพของมะเร็ง

โรคที่เกิดขึ้นนั้นมาจาก “นาม” เข้าใจง่ายๆกันว่าอกุศลกรรม หรือพลังงาน หรือจะเข้าใจว่าบาปก็ได้ เพราะส่วนหนึ่งของการเบียดเบียนนั้นเกิดจากกิเลส เกิดจากความอยากเสพ พอมีความอยากเสพมากๆ ก็จะไม่คิดถึงศีลธรรม ไม่คิดว่าชีวิตคนอื่นหรือสัตว์อื่นต้องได้รับทุกข์ร้อนใจอะไร เพียงแค่ได้เสพสมใจตนเองเท่านั้น จึงยินดีในการเบียดเบียนผู้อื่น ยอมสร้างกรรมกิเลสนี้ได้ เพียงให้ได้มาซึ่งความสุขลวง

เมื่อผลของการกระทำหรือวิบากกรรมชั่วนั้นสะสมจนลงตัว เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม จึงสร้าง “รูป” ขึ้นมาให้เห็น รูปในที่นี้คือสิ่งที่เห็นได้ สัมผัสได้ รับรู้ได้ เช่น วัตถุ สิ่งของ ก้อนมะเร็ง หรือเหตุการณ์บางอย่างที่เข้ามาทำให้ร่างกายและจิตใจของเราเป็นทุกข์

แม้จะตายก็ยอมเสพ…

สังเกตได้ว่าแม้ว่าคนเราจะรู้ว่าการสูบบุหรี่จะนำมาซึ่งการเจ็บป่วยทุกข์ทรมาน เหล้าและสารเสพติดจะนำมาซึ่งภัยต่อสุขภาพ อุบัติเหตุ และการวิวาท หรือแม้แต่การกินเนื้อสัตว์ย่างจะมีผลให้ก่อเกิดมะเร็ง แต่เราก็ยังยินดีที่จะเสพสิ่งนั้น แม้ว่าจะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม เราก็ยังอยากจะเสพสิ่งนั้น ประมาณว่าขอตายก็ได้ เพียงแค่ให้ฉันได้เสพสมใจในสิ่งที่ฉันอยาก

มีชาวนาชาวไร่มากมายที่ต้องเสียชีวิตไปจากการสะสมของสารเคมีต่างๆในร่างกาย แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนจะมองเห็นว่าสารเคมีเป็นโทษ หลายคนแม้ได้เห็นการตายของคนใกล้ชิดจากสารเคมีกลับมองว่าไม่ใช่เพราะสารเคมี แม้คนตายนั้นเองก็ไม่ได้โทษสารเคมีที่ใช้เลย นั้นเพราะเขามีอัตตา ยึดมั่นถือมั่นว่าสารเคมีดี สารเคมีเป็นมิตรกับเขาทำให้เขามีผลผลิตและร่ำร่วยมันไม่มีทางฆ่าเขา เห็นไหมว่ากิเลสคนเรามันรุนแรงขนาดไหน ขนาดว่ามันจะฆ่าเราตาย มันฆ่าญาติ พี่น้อง มิตร สหายของเราให้ตายไปแล้ว เรายังไม่เกลียดมันเลย

ดังนั้นความตาย หรือการพิจารณาเพียงแค่ความตายนั้นจึงไม่อาจจะนำไปล้างกิเลสได้เสมอไป เพราะบางครั้งกิเลสของเราจะหนาถึงขั้นยอมตายได้เพียงเพื่อให้ได้เสพสิ่งนั้น

เราตาย กิเลสไม่ตาย

เห็นได้เช่นนั้นว่า แม้ความตายก็ไม่อาจจะพรากกิเลสได้ และเมื่อเราตายกิเลสเหล่านั้นจะหายไปไหน?

กิเลสจะสั่งสมลงในวิญญาณ อยู่ในอุปาทาน ฝังไว้ในรากลึกๆ อยู่ในนาม อยู่ในกรรมของเรา รอวันเวลา ที่วันใดวันหนึ่งเรามีโอกาสที่จะได้ร่างกาย ก็จะนำกิเลสและกรรมส่วนหนึ่งมาสังเคราะห์ให้เกิดเป็นร่างนั้นๆ ดังเช่น ผู้ที่มักเบียดเบียนมักนำความทุกข์มาให้ผู้อื่นสัตว์อื่นชีวิตอื่น ก็มักจะมีโรคมาก

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเสพติดการกินเนื้อสัตว์มาก นอกจากจะทำให้เกิดเป็นมะเร็งที่มาคร่าชีวิตเราแล้ว ยังสามารถให้ผลเป็นร่างกายที่อ่อนแอของเราในชาตินี้ด้วย นั่นเป็นผลที่มาจากการเบียดเบียนในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน

และเท่านั้นยังไม่พอ เมื่อเกิดมาเป็นสัตว์หรือมนุษย์แล้วกิเลสก็ยังมีอยู่ จึงต้องเสาะหาสิ่งที่ตัวเองอยากเสพต่อจากชาติที่แล้ว เช่นเคยเสพติดเนื้อสัตว์ พอชาตินี้ได้มากินเนื้อสัตว์ก็เสพติด แม้คนอื่นเขาจะบอกว่ามันทำให้เกิดทุกข์ โทษ ภัยอย่างไรก็ยังจะยินดีกินเนื้อสัตว์ ติดอยู่ในความอยากเสพเนื้อสัตว์ ออกไม่ได้ง่ายๆ

ต่างจากผู้ที่มีกิเลสเรื่องความอยากเสพเนื้อสัตว์เบาบางหรือล้างกิเลสแห่งความอยากเนื้อสัตว์นั้นได้แล้วเมื่อเขาได้ยินทุกข์ โทษ ภัยที่เกิดจากการกินเนื้อสัตว์ ก็สามารถสลัดความอยาก เลิกเสพเนื้อสัตว์นั้นได้โดยง่าย นี่คือลักษณะของความไม่มีกิเลสที่ติดมาเช่นกัน ให้สังเกตว่าเราสามารถหลุดจากสิ่งนั้นได้ง่ายหรือยาก ถ้าง่ายก็คือบุญบารมีเก่า แต่ถ้ายากแสนยากก็ให้พากเพียรกันต่อไป ผูกกิเลสมาเองก็ต้องมานั่งแก้กันเอง

แม้เราจะตาย แต่กรรมไม่ตายตามเรา

เมื่อเรามีกิเลส กิเลสก็มักจะพาเราไปเบียดเบียนผู้อื่น และผลที่ได้กลับมาคือความสุขเพียงชั่วครู่ กับกรรมที่ต้องรับไว้จากการเบียดเบียน พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเราว่า ไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับโดยที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งที่เราได้รับ เราทำมาแล้วทั้งนั้น

หลายคนอาจจะบอกว่าทำไมฉันต้องได้รับกรรมที่ฉันไม่เคยทำมาด้วย ชาตินี้ฉันยังไม่เคยทำใครเดือดร้อนขนาดนี้เลย!!

บางครั้ง บางเหตุการณ์ ก็อาจจะเกิดขึ้นจากผลกรรมในชาติก่อน สังเคราะห์รวมกันกับกรรมในชาตินี้ เช่นชาติก่อนเป็นคนชอบเบียดเบียนผู้อื่น สัตว์อื่น ชาตินี้ก็เลยต้องมารับกรรมด้วยร่างกายอ่อนแอ มีโรคมาก แถมในชาตินี้ก็ยังชอบกินเนื้อสัตว์ โปรดปรานเนื้อสัตว์ดิบ มักชอบเมนูสัตว์ที่สด เช่น ปลาสด ปูนึ่งสด ปลาหมึกสด กุ้งสด เมื่อกรรมเก่า รวมกับกรรมกิเลสใหม่ในชาตินี้ ก็จะสังเคราะห์ออกมาเป็นทุกข์ โทษ ภัยมากมาย อาจจะแสดงออกมาในรูปของโรคภัยไข้เจ็บ การสูญเสีย ปัญหาภาระหน้าที่การงาน หรือทุกข์ใดๆก็ได้ เพราะกรรมเป็นเรื่องอจินไตย อย่าไปเสียเวลาเดาผลของมันเลย รู้ไว้เพียงแค่ว่า เบียดเบียนคนอื่นแล้วต้องได้รับผลนั้นอย่างแน่นอน

กรรมนี้เองเป็นสมบัติที่จะติดตามเราไปทุกภพทุกชาติ ใครทำอะไรไว้ก็ต้องได้รับผลจนหมด จะหนักจะเบาก็ต้องรับไว้หมด ความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุดของกรรม เพราะเมื่อเกิดขึ้นมาใหม่ก็ต้องรับผลกรรมนั้นไปเรื่อยๆ ดังเช่นในคนที่คิดเห็นว่า “ชาตินี้ฉันไม่ได้ทำชั่ว ทำไมฉันต้องรับกรรมด้วย” ก็นั่นแหละ คือกรรมเก่าของเรา เราทำมาเอง ไม่อย่างนั้นมันไม่มีทางได้รับหรอก เพราะเคยชั่วมาก็ต้องรับกรรมชั่วของเรา

คนเราเวลาได้รับกรรมดีมักจะไม่นึกย้อนว่าตัวเองเคยทำดีมา เพียงแค่คิดว่า โชคดี ลาภลอย จึงไม่ทำเหตุหรือความดีที่จะทำให้เกิดสิ่งดีในชีวิตนั้นอีก แต่พอเกิดสิ่งร้ายที่มาจากกรรมชั่ว ก็มักจะหาคนผิด หาว่าคนอื่นผิด โทษดินโทษฟ้า แต่ไม่โทษตัวเอง คนพวกนี้ก็จะทุกข์สุดทุกข์ และเมื่อมัวแต่โทษผู้อื่นก็จะไม่หยุดทำชั่ว สร้างกรรมชั่วนั้นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุด นั่นเพราะเขาไม่ยอมรับกรรมชั่วที่ตนเคยทำมา เมื่อไม่ยอมรับก็ทำเหมือนมองไม่เห็น โกหกว่าไม่เคยทำมา เมื่อโกหก ก็ได้ทำชั่วไปแล้ว

ดังนั้นแม้เราจะเห็นว่าคนที่ทำดีจะตายไปจากอุบัติเหตุ หรือในเวลาที่เราคิดว่าไม่สมควรทั้งหลายนั้น ให้รู้ว่าเขาได้ใช้กรรมชั่วของเขาหมดไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ความดีที่เขาทำในชาตินี้ก็จะช่วยส่งเสริมเขาในชาติต่อไป ในการเกิดครั้งต่อไป

คนชั่วก็เช่นกัน แม้เราจะเห็นว่าคนชั่วบางคนตายจากไปอย่างง่ายดาย หรือยังไม่ได้รับกรรมอันสมควรก่อนจะตาย ให้รู้ว่าเขาได้ใช้กรรมชั่วของเขาหมดไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ความชั่วที่เขาทำในชาตินี้ก็จะทำให้เขาต้องทุกข์ทรมาน แม้จะเกิดอีกกี่ครั้งเขาก็ต้องรับกรรมที่เคยเบียดเบียนผู้อื่นไว้ และรับไปจนกว่าจะหมดกรรมนั้นๆ

เมื่อเห็นได้ดังนี้แล้ว ผู้ที่มีปัญญาก็จะพากเพียรทำแต่ความดี เพราะรู้ว่าสิ่งที่ดีที่เราได้รับนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากการทำดีในกาลก่อน เพื่อไม่ให้ดีนั้นพร่องลงไป และเพื่อที่จะใช้ความดีนี้สร้างกุศลต่อไป เขาจึงหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส โดยการล้างกิเลส ทำลายกิเลสอันเป็นเชื้อร้ายที่จะก่อกำเนิดสิ่งชั่ว นำมาซึ่งอกุศลกรรมต่างๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องลำบากทั้งในชีวิตนี้และชีวิตหน้า ดับกิเลสตอนนี้ก็สุขได้เลยตอนนี้ หมดกรรมจากกิเลสใหม่ไปเลยตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ต้องรอแบกกิเลสไปดับกันในภพหน้า ชาติหน้า ชีวิตหน้า

– – – – – – – – – – – – – – –

14.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี กรณีศึกษามังสวิรัติ ภาวะเมื่อผ่านพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์

October 11, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,541 views 0

อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี กรณีศึกษามังสวิรัติ ภาวะเมื่อผ่านพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์

อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี กรณีศึกษามังสวิรัติ : ภาวะเมื่อผ่านพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์

เมื่อเราผ่านพ้นนรกของความอยากเสพเนื้อสัตว์มาแล้ว เราก็จะได้พบกับนรกอีกขุมคือความไม่อยากเสพ เป็นส่วนของกลับของกิเลสทุกตัว เป็นเสมือนหัวหน้าผู้ร้ายที่จะโผล่มาหลังจากผู้ร้ายตัวแรกได้ตายไป

ย้อนรอย…

เล่าย้อนไปถึงตอนที่เราได้สู้กับความอยากกินเนื้อสัตว์ใหม่ๆ เราต้องพากเพียรปฏิบัติ ถือศีลอย่างตั้งมั่น เฝ้าพิจารณาประโยชน์และโทษของสิ่งนั้นเพื่อล้างกิเลส โดยใช้ความทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย ความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน กรรมและผลของกรรมเข้ามาช่วยล้างกิเลส จนกระทั่งเราผ่านพ้นความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้ด้วยใจที่เป็นสุข

แต่การจะได้มาซึ่งความสุขจากการไม่เสพนั้น เราก็จะได้ความเกลียดเนื้อสัตว์มาด้วย เพราะการจะออกจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งเราต้องรังเกียจ เห็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของสิ่งนั้น เมื่อก้าวผ่านการเสพกามกิเลส(ความอยากกินเนื้อสัตว์) จะเข้ามาสู่การเสพอัตตา(ความไม่อยากเสพเนื้อสัตว์) คือความยึดดี ถือดี ต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข

ในช่วงที่เรายังเสพเนื้อสัตว์อยู่นั้นก็จะมีอัตตาอยู่หนึ่งชุด เป็นอัตตาในกาม(ความอยากเสพเนื้อสัตว์) หลงยึดว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งดี อร่อย มีคุณค่า ทำให้แข็งแรง ฯลฯ แต่เมื่อเราทำลายกามแล้ว เราก็จะมาเจออัตตาอีกชุดหนึ่งเหมือนเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ คือความไม่อยากเสพเนื้อสัตว์ ยึดว่าต้องไม่กินเนื้อสัตว์จึงจะดี กินแต่ผักจึงจะเจริญ หลงติดหลงยึดว่าการเป็นคนดี ติดดี ยึดดี การที่ตนกินมังสวิรัติได้เป็นสิ่งที่เลิศกว่าคนอื่นจนกระทั่งไปข่มเหงผู้อื่นได้ เราจะมาเรียนรู้อัตตาในภาคหลังนี้กัน

อัตตา…

ในตอนที่เราสามารถออกจากนรกแห่งความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้ เราก็จะกลายเป็นคนติดดีโดยอัตโนมัติ สายตาจะมองคนที่ยังเสพเนื้อสัตว์ต่างออกไปจากตอนที่เรายังเสพเนื้อสัตว์ มองว่าการเสพเนื้อสัตว์นั้นน่ารังเกียจ มองว่าสังคมต้องไม่เบียดเบียนถึงจะดี มักจะมีอาการรังเกียจทั้งเนื้อสัตว์และคนที่ยังกินเนื้อสัตว์และคนที่สนับสนุนให้กินเนื้อสัตว์

อัตตานี้เองคือกิเลสที่ผลักดันให้คนในสังคมถกเถียงกัน และไม่ได้หมายความว่าคนที่ผ่านนรกเนื้อสัตว์เท่านั้นที่จะมีอัตตา คนกินมังสวิรัติ คนกินเจที่อยู่ในระหว่างการหัดกินก็สามารถมีอัตตาได้ แต่จะไม่แรงเท่ากับคนที่ผ่านความอยากนั้นมาแล้ว

อัตตาคือนรกของคนดี คืออาวุธของคนดีที่ใช้ปราบคนที่เขายังไม่รู้โทษชั่วของการกินเนื้อสัตว์ เหล่าคนดีที่สามารถข้ามความอยากจึงสามารถใช้ท่าที วาจา ถ้อยคำต่างๆไปย่ำยีคนที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะตัวเองนั้นเลิกกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว จึงไม่มีทางที่คนกินเนื้อสัตว์เหล่านั้นจะมาโต้กลับได้เลย

อัตตาคืออาวุธที่ร้ายแรง ร้ายกาจ เชือดเฉือนทำลาย ทำร้ายใจคนได้มากที่สุด ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม จะอยู่กันไม่เป็นสุขเพราะคนมีอัตตา ยิ่งเป็นนักมังสวิรัติที่มีอัตตาก็จะยิ่งร้ายกาจ ใช้ความดีเข้าไปทำลาย ทำร้ายจิตใจคนที่เขายังติดในกิเลส ยังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ ให้เขาเกิดความลำบากใจ อึดอัดขัดข้องใจ รำคาญใจ จนเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันได้

อัตตาไม่ใช่อาวุธที่จะนำไปทำลายกิเลสของคนอื่นได้ เมื่อใช้อัตตาหรือความยึดดีถือดีเข้าไปแนะนำคนอื่น รังแต่จะเพิ่มปัญหา เพิ่มความเจ็บป่วย ทุกข์ร้อน ทรมานให้กับเขา แต่การจะนำความรู้มังสวิรัติไปให้หรือแนะนำคนอื่นนั้น ต้องทำด้วยอนัตตา หรือความไม่มีตัวตน คือไม่มีตัวตนของกิเลส ไม่มีตัวตนของคนดี ไม่มีความยึดดี ไม่ถือดี ไม่จำเป็นต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข

อัตตานอกจากจะทำให้คนอื่นทุกข์แล้วยังทำให้ตัวเองทุกข์อีกด้วย เพราะเมื่อเรามีความยึดมั่นถือมั่นมาก เมื่อคนอื่นทำไม่ได้ดังใจเราหมาย หรือเมื่อเราแนะนำไปแล้วเขาไม่เอา เราก็จะมีอาการอกหักอกพัง เพราะเรายึดว่าเกิดดีจึงจะเป็นสุข พอไม่เกิดดีดังใจเราหมายเราก็จะเป็นทุกข์ ออกอาการได้ตั้งแต่มีอาการขุ่นใจ ไม่พอใจ ว่ากล่าวตักเตือนคนอื่นด้วยอัตตา กระทั่งทะเลาะเบาะแว้งกันได้

อัตตาคือความโง่ที่คนดีแบกไว้ เป็นคนดีที่แบกนรกไว้ทำลายตัวเองและทำลายคนอื่น ทำลายสังคมสิ่งแวดล้อม ทำลายโลก เพราะความติดดีนี้เป็นเหตุแห่งการทะเลาะกัน ไม่ว่าจะคนดีหรือคนไม่ดี หากเกิดการทะเลาะกันแล้วก็คือนรกทั้งคู่ คนดีที่ล้างอัตตาไม่เป็นก็จะหลงว่าตนดี ใช้ความดีทำร้ายทำลายคนอื่น พร้อมทั้งแบกทุกข์จากความไม่สมใจหมาย สะสมกิเลสข้ามภพข้ามชาติต่อไปอีกนานแสนนาน

อัตตาคือเกราะของกิเลสที่พอกตัวตนไว้ ทำให้คนดีไม่สามารถรู้ได้เลยว่าตัวเองนั้นเต็มไปด้วยกิเลส เพราะมัวแต่มองไปยังความไม่ดีของคนอื่น มองไปยังความผิดของคนอื่น ในขณะที่ตัวเองก็สั่งสมความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปเรื่อยๆจนเป็นเกราะหนา จนกระทั่งไม่สามารถมีใครที่จะแนะนำและช่วยเหลือคนดีที่มีอัตตาหนานั้นได้ นั่นเพราะเขาไม่ยอมมองกลับมาในกิเลสของตัวเอง หลงในอัตตาและเชื่อมั่นเสมอว่าตัวเองดี เขาจึงต้องแบกอัตตา แบกตัวตน แบกทุกข์นั้นไปตลอดกาล

การทำลายอัตตา

การทำลายอัตตานั้นก็ใช้กระบวนการเดียวกับการทำลายกิเลสฝั่งกาม(ความอยากเสพเนื้อสัตว์) คือใช้กระบวนการสมถะ-วิปัสสนาเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยในการทำลายอัตตา โดยอัตตานั้นควรจะใช้ธรรมในพรหมวิหาร๔ เข้ามาร่วมกำจัดความยึดดีถือดีด้วย และใช้กรรมและผลของกรรมช่วยในการพิจารณา รวมกับหลักพิจารณาเดิมของเราคือความเป็นทุกข์ โทษ ภัย ความไม่เที่ยง เราไม่ใช่ตัวตนของกิเลสนั้น ประโยชน์และโทษในการมีอัตตานั้นๆ

การใช้พรหมวิหารเข้ามาช่วยจะทำให้เราสามารถสังเกตอาการติดดีได้ง่ายขึ้น เพราะคนที่มีอัตตา ยึดดี ถือดี จะติดตรงที่ไม่สามารถไปถึงอุเบกขาได้ เมื่อเขากินมังสวิรัติได้ดังหวังเราก็มีจิตยินดี มีความมุทิตากับเขา แต่เมื่อเขากลับไปกินเนื้อสัตว์ สั่งเนื้อสัตว์มากิน หรือเห็นคนอื่นกินเนื้อสัตว์ เราก็กลับมีอาการขุ่นข้องหมองใจ แทนที่จะปล่อยวาง เรากลับรู้สึกยินร้าย รู้สึกไม่พอใจที่เขาไปกินเนื้อสัตว์ นั่นคือเราไม่สามารถปฏิบัติจนถึงภาวะอุเบกขาได้

เราต้องเจริญพรหมวิหาร๔ ให้มากจึงจะมีกำลังดับอัตตา สร้างจิตที่เมตตาให้ทั้งสัตว์ที่ต้องเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของคนที่มัวเมาในกิเลส และเมตตาไปถึงคนที่ยังหลงว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งดี กรุณาโดยการไม่กินเนื้อสัตว์และช่วยสอนให้ผู้ที่ยังกินเนื้อสัตว์ได้เห็นโทษของการเบียดเบียน มุทิตาโดยการยินดี เมื่อเขาเหล่านั้นสามารถลด ละ เลิก เนื้อสัตว์ได้ตามกำลังของเขา และอุเบกขาเมื่อทุกสรรพสิ่งนั้นไม่ได้เป็นไปดังใจหมาย สัตว์ก็ต้องถูกฆ่าเพื่อมาเป็นอาหารอยู่ทุกวัน คนมีกิเลสก็ต้องอยากกินเนื้อสัตว์ เมื่อเราสร้างความเป็นพรหมขึ้นในใจได้ดังนี้แล้วจะช่วยลดอัตตาได้อย่างดี

ในข้อกรรมและผลของกรรมก็ต้องพิจารณาให้มาก สัตว์ที่ถูกฆ่าตายนั้นก็มีกรรมเป็นของเขา เขาทำกรรมนั้นมาจึงต้องเกิดเป็นสัตว์ ต้องถูกขัง ต้องถูกทรมาน สุดท้ายก็ต้องโดนฆ่าเพราะกรรมนั้นเองที่เขาเหล่านั้นทำมา แต่ถูกฆ่าแล้วก็จบไป ได้ใช้กรรมไปหนึ่งเรื่อง สุดท้ายสัตว์เหล่านั้นก็เกิดมาใช้กรรมใหม่จนกว่าจะหมดวิบากอยู่ดี เราน่าจะสงสารและเข้าใจคนที่กินเนื้อสัตว์มากกว่า ว่าพวกเขาล้วนยังไม่เห็นถึงโทษภัยแห่งการเบียดเบียนเขาจึงต้องรับกรรมที่ตนก่อโดยที่ไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นสิ่งที่นำโทษภัยมาให้เขาเอง พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” คนที่ยังเบียดเบียนจึงต้องพบกับโรคภัยไข้เจ็บและไม่สามารถมีชีวิตอยู่สร้างกุศลได้นานก็ต้องจากไป

และการที่เราไปมีอัตตานั้นก็กลายเป็นกรรมของเราเช่นกัน การที่เราไปทำร้ายจิตใจคนอื่นด้วยความติดดีเราก็สะสมกรรมชั่วลงในจิตใจของเราไปด้วย นั่นก็คือการเบียดเบียนคนอื่น เมื่อเบียดเบียนคนอื่นก็จะมีโรคมากและอายุสั้น สะท้อนเป็นการเบียดเบียนตัวเองในทีเดียวกัน ดังจะเห็นได้ว่าคนดี หรือคนติดดีนั้นก็สามารถป่วยด้วยโรคร้ายและตายไวกันได้เหมือนคนทั่วไป

เมื่อเราได้พบผู้คนที่ยังไม่เห็นคุณค่าของการกินมังสวิรัติ ให้พึงพิจารณาว่าเราก็เคยเป็นเช่นนั้นมา การที่เราไม่สามารถที่จะสอนหรือแนะนำเขาได้ หรือแม้แต่แนะนำแล้วเขาไม่สนใจ หรือสนใจก็ไม่สามารถที่จะกินมังสวิรัติได้ ความขุ่นข้องหมองใจจากความไม่ประสบความสำเร็จนี้ส่วนหนึ่งก็เกิดมาจากกรรมเก่าของเรา เมื่อสมัยที่เรายังหลงมัวเมาในความอยากกินเนื้อสัตว์ในชาติใดชาติหนึ่งอยู่ มีคนมาแนะนำเรา เราก็ดื้อ ไม่เอา ตีทิ้งคนที่มาแนะนำสิ่งดีๆเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อเราสามารถปฏิบัติชีวิตมังสวิรัติได้ดี ก็ให้เข้าใจเรื่องกรรมด้วยว่ากว่าที่เราจะมากินมังสวิรัติได้ เราได้เคยทำให้เหล่าคนดีไม่พอใจมาหลายชาติแล้ว ดังนั้นการที่เราจะได้รับความไม่สมใจก็เป็นสิ่งที่สมควรแล้ว เพราะเราสร้างมาเอง

ความเป็นทุกข์ ความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน หรือการพิจารณาไตรลักษณ์ ให้เราพิจารณาไปว่าการมีอัตตายึดดีถือดีแบบนี้ทำให้เราและคนอื่นเป็นทุกข์อย่างไร สิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่นไว้มันจะยั่งยืนตลอดกาลหรือ มันจะไม่แปรเปลี่ยนเลยหรือ แท้จริงแล้วอัตตานั้นก็ไม่ใช่ตัวตนของเราเป็นสภาพหนึ่งของกิเลสที่เข้ามาหลอกเราว่าเราหมดกิเลสแล้ว จริงๆอัตตานี้ไม่ใช่เรา เราไม่จำเป็นต้องมีอัตตา ไม่จำเป็นต้องมีตัวกูของกู

การพิจารณาประโยชน์ของการไม่มีอัตตาและโทษของการมีอัตตานั้นก็สามารถที่จะช่วยล้างอัตตาได้อย่างดีเยี่ยม เช่น ถ้าเรายังมีอัตตาอยู่ เราก็มักจะไปซัดอาวุธด้วยวาจาอันเชือดเฉือนใจใส่คนอื่นอยู่บ่อยครั้ง อาจจะทำให้เกิดการบาดหมางใจ ผิดใจกัน จนถึงขั้นทะเลาะกันได้ แต่ถ้าเราไม่มีอัตตาเราก็จะสามารถอยู่กับคนอื่นได้อย่างมีความสุข เรากินมังสวิรัติก็กินไป เขากินเนื้อสัตว์ก็กินไป เราไม่รู้สึกยินดียินร้ายอะไร ก็สามารถจะอยู่กันได้ วันใดที่เขาเห็นคุณค่าเขาก็จะมากินมังสวิรัติตามเราเอง เป็นต้น

เพียรพิจารณาข้อธรรมเหล่านี้ตามกำลังที่มีด้วยความตั้งใจ ตั้งมั่นให้เห็นถึงโทษชั่วของการมีอัตตา ความติดดี ยึดดี ถือดี ว่าคนอื่นจะต้องไม่กินเนื้อสัตว์จึงจะดี

สภาพหลังจากทำลายอัตตา

เมื่อผ่านพ้นอัตตาแล้ว เราจะสามารถร่วมโต๊ะกับครอบครัว กับเพื่อน กับญาติมิตรสหายได้โดยไม่รู้สึกรังเกียจ ไม่รู้สึกขุ่นเคืองใจที่เขายังกินเนื้อสัตว์ แม้ว่าเราจะแนะนำไปแล้วเขาจะไม่สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ดังใจเราหมายได้ เราก็สามารถปล่อยวางได้ ไม่มีอาการติดดี ยึดดี ถือดี

และถึงแม้ว่าเราจะไปร่วมโต๊ะกับเขา เราก็จะยินดีที่จะไม่กินเนื้อสัตว์ ผู้ที่สามารถผ่านนรกของการเสพเนื้อสัตว์ จะมีปัญญาในการเอาตัวรอดจากสภาพต่างๆ ในการกินอาหารร่วมกับคนอื่น หรือการกินอาหารในถิ่นที่ไม่คุ้นเคย จนเรียกได้ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถละเว้นเนื้อสัตว์กินแต่ผักได้โดยมีความสุขใจ อิ่มใจ สบายใจ แม้ว่าจะต้องกินแต่ข้าวเปล่าก็ยังมีความสุขกว่าการกินข้าวปนกับเนื้อ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความยึดมั่นถือมั่น แต่เป็นปัญญาที่รู้โทษของการเสพเนื้อสัตว์ จนยินดีที่จะละเว้นเนื้อสัตว์ต่างๆอย่างมีความสุข

เมื่อผ่านพ้นอัตตาแล้วหากได้ลองกินเนื้อสัตว์ก็จะไม่รู้สึกรังเกียจ ไม่มีความขุ่นข้องหมองใจ ทุกข์ใจ กระวนกระวายใจ แต่จะรู้สึกเฉยๆตามความเป็นจริง กินก็ได้ แต่ก็คายทิ้งได้เหมือนกัน เพราะไม่ได้ติดในรสของเนื้อสัตว์นั้น เป็นกระบวนการตรวจสอบอัตตาของผู้ที่ยังสงสัยว่าตัวเองติดอยู่หรือไม่ เพราะถ้าผ่านอัตตา จะไม่มีอาการผลัก แต่จะรู้สึกถึงโทษของการกินเนื้อสัตว์จนไม่กินเอง และก็ไม่ได้มีความทุกข์อะไร สุดท้ายคนที่ผ่านทั้งกาม(อยากกินเนื้อสัตว์)และอัตตา(ไม่อยากกินเนื้อสัตว์)จึงไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยความยินดี ไม่มีทั้งอาการผลัก หรืออาการดูด เนื้อสัตว์ชั้นดีมาวางเสริฟไว้ตรงหน้าก็เฉยๆ มีคนจับยัดเข้าปากก็ไม่โกรธไม่รังเกียจ ..แต่ไม่กิน ถึงจะกินเข้าไปก็ไม่มีรสสุข จะไม่เกิดสุขลวงๆจากการเสพอีกต่อไป ไม่ยินดีในสุขลวงนั้น เพราะรู้ว่าสุขจากการออกจากนรกเนื้อสัตว์ทั้งกามและอัตตานั้นเป็นสุขยิ่งกว่า หาสิ่งใดเปรียบไม่ได้ เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

อัตตาซ้อนอัตตา

หลังจากผ่านอัตตา เราอาจจะเจอสภาพหนึ่งซ้อนเขามาคืออัตตาอีกตัวหนึ่ง เมื่อเราไม่เสพเนื้อสัตว์และไม่ติดดีแล้ว เราอาจจะเกิดอาการ เกลียดคนติดดีอีกทีหนึ่ง นั่นเพราะเราเพิ่งออกจากนรกคนติดดีมาได้ เมื่อเราเห็นคนกินมังสวิรัติที่ติดดีไปทำร้ายทำลายจิตใจของผู้ที่ยังเสพเนื้อสัตว์ เราก็มักจะมีอาการไม่พอใจคนที่ติดดีนั้น คนกินเนื้อสัตว์เราไม่โกรธแล้วนะ เพราะเราเข้าใจ เราเข้าใจเพราะเราผ่านความติดดีมาได้ แต่จะมาติดดีกว่าอีกที คือไปเพ่งโทษคนติดดีอีกที

เห็นไหมว่ากิเลสมันมีลีลาของมันเยอะมาก ผ่านตัวนั้นก็ต้องมาติดตัวนี้ พอฆ่าตัวนี้ก็ต้องไปกำจัดตัวโน้นต่อ แล้วปลายทางมันอยู่ตรงไหน?

มันก็อยู่ที่กำจัดอัตตาที่ซ้อนอยู่นี่แหละ เหมือนเป็นหัวหน้าใหญ่ที่จะออกมาเมื่อผ่านนรกคนดี เป็นกิเลสที่เฝ้าประตูสู่ความสุขแท้ เราก็ต้องกำจัดมันให้ได้โดยการพิจารณาธรรมเหมือนเดิมแต่โจทย์นั้นเปลี่ยนไปเป็นล้างความรังเกียจคนดี เพราะจริงๆกว่าคนจะมาติดดีได้นั้นมันยากมาก เขาต้องบำเพ็ญเพียรมาหลายต่อหลายชาติกว่าจะมาเลิกกินเนื้อสัตว์จนมาติดดีได้ แล้วทีนี้เราก็โง่ไปเพ่งโทษคนดี ไปรังเกียจคนที่เขาทำดี แล้วมันจะเกิดดีไหมล่ะ

นั่นเพราะส่วนหนึ่งเราเพิ่งจะออกจากนรกคนดีได้ เมื่อเราออกจากสิ่งใดได้ เราก็มักจะรังเกียจสิ่งนั้น เพราะการจะออกจากสิ่งใดได้ ต้องใช้ความรังเกียจ ความไม่ชอบใจในสิ่งนั้นออกมาก พอออกมาแล้วเราก็ต้องล้างความรังเกียจนั้นอีกที เมื่อล้างหมดก็ถือว่าจบกิจ ปิดชุดงานกิเลสมังสวิรัติได้เลย เพราะจะไม่มีทุกข์เกิดอีก แม้จะมีเนื้อสัตว์ชั้นดีวางตรงหน้าก็ไม่กินด้วยความยินดี แม้ว่าจะมีคนมากมายยินดีกับการกินเนื้อสัตว์เราก็ไม่ยินร้ายกับเขา และแม้ว่าจะเห็นคนติดดีเข้าไปทำร้ายคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ เราก็จะไม่รู้สึกถือสาอะไร เพราะเข้าใจคนติดดี

เมื่อจบกระบวนการทั้งหมดนี้ มันก็ไม่รู้จะไปทำอย่างไรให้มันทุกข์ ใครจะกินเนื้อสัตว์ก็กินไป สัตว์จะเกิดจะตายก็ตายไป ใครจะติดดีมีอัตตาก็ติดไป เราก็ปล่อยวางความทุกข์ได้ทั้งหมด เหลือสุข เป็นสุขจากการไม่เสพสิ่งใด เป็นสุขจากการหมดกิเลสในเรื่องนั้นๆ แล้วเราก็จะกินมังสวิรัติไปเรื่อยๆ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นจากเรื่องมังสวิรัติไม่ว่ากรณีใดๆ

– – – – – – – – – – – – – – –

11.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ตรวจสอบศีล ข้อ๑ เราเมตตามากพอหรือยัง

September 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,848 views 0

ตรวจสอบศีล ข้อ๑ เราเมตตามากพอหรือยัง

ตรวจสอบศีล ข้อ๑ เราเมตตามากพอหรือยัง

ถือศีลกันมาก็นานแล้ว เราเคยตรวจสอบกันบ้างไหมว่าจิตใจของเราเจริญขึ้นมาอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะศีลข้อ ๑ คือให้เว้นขาดจากการฆ่าทำร้ายทำลาย ทำชีวิตสัตว์ให้ตกร่วง ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่เบียดเบียนสัตว์ เราสามารถถือศีลข้อนี้ได้ดีอยู่หรือไม่ แล้วการถือศีลข้อนี้ ได้ทำให้จิตใจของเราเจริญขึ้นอย่างไร จะแบ่งปันประสบการณ์ให้ได้ลองทบทวนกัน

ผ่านมาเมื่อไม่กี่ปีก่อน ผมยังเป็นอย่างคนทั่วไป มดกัดบี้มด ยุงกัดตบยุง เหตุการณ์ล่าสุดที่ผมยังจำความอำมหิตโหดร้ายของตัวเองได้ดีคือ คือเมื่อครั้งไปเที่ยวเขาใหญ่กับเพื่อนๆ กลางปี 2012 ที่ผ่านมาไม่นานนี่เอง

เนื่องจากเป็นหน้าฝน ก็เลยมีทากมาก พอเดินเข้าไปน้ำตก ก็มีทากเกาะบ้าง พอมันเกาะแล้วกัดเรา เราก็ดึงออกไม่มีอะไร ทีนี้พอเดินผ่าน เดินเล่น ทำกิจกรรมอะไรเล็กน้อยเสร็จแล้วก็มานั่งพักกัน เพื่อนสังเกตว่ามือเราเลือดไหล เราก็สงสัยว่าไม่ได้เจ็บไม่ได้เป็นแผลอะไรนี่ ทำไมเลือดไหลเยิ้ม สุดท้ายก็มาเจอตัวการคือทากหนึ่งตัว

เมื่อได้เห็นตัวการและผลงานที่มันทำ ผมจึงหยิบมันมาบี้ๆด้วยความแค้นที่เย็นชา ไม่มีคำพูดคำด่าอะไร รู้แค่อาฆาตมัน บี้แล้วมันไม่ตายก็เลยวางลงบนพื้นแล้วเอาพื้นรองเท้าบี้และขยี้จนมันแหลกไปกับพื้น ด้วยความสะใจ

ผมยังจำสายตาของเพื่อนที่มองการกระทำของผมได้อย่างดี มองคนที่ใจดำอำมหิต ที่ฆ่าได้อย่างเลือดเย็น ด้วยวิธีที่โหดร้ายรุนแรง ผมยังจำบาปที่ทำในตอนนั้นได้ดี เป็นสิ่งที่เก็บไว้สอนใจอย่างไม่มีวันลืม

เรียนรู้ธรรมะ

จนเมื่อวันที่ผมได้ก้าวเข้ามาใกล้ชิดกับธรรมะมากขึ้น เรียนรู้เรื่องศีลมากขึ้น แต่ก่อนผมก็คิดนะเรื่องถือศีล๕ ก็ถือบ้างไม่ถือบ้าง แต่พอได้ศึกษาเรียนรู้มากขึ้น จึงได้พบว่าศีลนั้นมีคุณค่ามากกว่าแค่การถือ ศีลเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้เราพัฒนาและเจริญเติบโตได้ ถ้าเรายังไม่เข้าใจคุณค่าของศีล หรือถือศีลตามเขาไปโดยที่ไม่รู้เนื้อหาสาระ ก็จะไม่มีวันพัฒนาได้เลย

ศีลที่ผมเรียนรู้มาคือศีลที่มีไว้เพื่อให้เห็นกิเลส เป็นเครื่องบีบคั้นให้จิตใจได้ต่อสู้กับกิเลส ได้แพ้กิเลส ได้ล้างกิเลส ซึ่งก่อนหน้านี้มันมีแต่แพ้กับกดข่ม เพราะไม่เคยสู้เลย ผมถือศีลแบบยอมกิเลสมาตลอด อะไรพออดทนไหวก็ทำไป อะไรไม่ไหวก็ศีลแตกบ้างก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอได้เรียนรู้คุณค่าแห่งศีลแบบนี้แล้ว ก็เลยใช้ศีลนี่แหละเป็นตัวขัดเกลาตนเอง

เมื่อผมปฏิบัติศีลมาอย่างตั้งมั่น ได้พบกับความโกรธ ความอาฆาตของตัวเองอยู่หลายครั้ง เพราะมีศีลเป็นเครื่องจับผี จับจิตใจที่โกรธเคืองของเราได้อย่างดีและดักมันไว้อย่างนั้นจนกว่าเราจะทำอะไรสักอย่างกับมัน ผมได้มีโอกาสฝึกกับยุงที่มากัดตั้งแต่ขั้นกดข่ม คือมันกัดแล้วก็แค้นนะ แต่ไม่ตบ จนเจริญมาถึงเรื่องที่กำลังจะเล่าต่อไป

ผลของการปฏิบัติศีล– เรื่องของยุง

เมื่อวานก่อนผมนอนงีบหลับพักผ่อนอยู่ รู้สึกเจ็บคัน บริเวณขา จึงรู้แน่นอนว่ายุงกัด ก็เลยไม่ขยับตัวสักพัก ปล่อยให้มันดูดไป เพราะหากเราขยับตัวหรือบิดตัว ก็เกรงว่าจะทำให้มันตายได้ หรือไม่มันก็บินกลับมาดูดเลือดอีกจุดอยู่ดี การไม่ยอมให้มันดูดเลือดในครั้งนี้จึงไม่เป็นผลดีกับใครเลย ก็เลยปล่อยให้มันดูดไปอย่างนั้น ไม่ได้โกรธแค้นอะไรมัน

ทีนี้รอสักพักมันคงดูดเสร็จแล้ว เราก็งีบต่ออีกหน่อยจนลุกขึ้นมาทำงานต่อ มียุงตัวหนึ่งบินมาวนเวียนหน้าโต๊ะทำงาน ท้องของมันป่อง เต็มไปด้วยเลือด มันบินช้าเพราะมันหนักเลือดที่ท้อง บินวนอยู่ก็หลายรอบ

ในใจก็สงสารมันนะ มันคงออกไม่ได้ แต่จะทำอย่างไร จะไปจับมัน ก็กลัวจะพลาดผิดเหลี่ยมผิดมุมตายคามือ ก็คิดอยู่สักพัก ตัดสินใจว่าถ้ามันบินผ่านหน้ามาอีกครั้งจะลองจับดู และแล้วมันก็บินผ่านหน้ามาอีกที ผมค่อยๆ เอามือไปล้อมมัน โชคดีที่มันกินอิ่มมันจึงบินช้า เลยจับไว้ในอุ้งมือได้ง่ายๆ

ผมเก็บมันไว้ในอุ้งมือ และเปิดกระจกออกพอประมาณมือสอดออก เพราะเกรงว่าเดี๋ยวมันจะบินผิดทิศ บินกลับเข้ามาในห้องอีก พอยื่นแขนออกไปได้สักหน่อยก็คลายมือออก ยุงตัวนั้นก็บินจากไปตามทางของมัน

ผลของการปฏิบัติศีล– เรื่องของแมงป่อง

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อตอนไปทำงานที่ไร่ ตื่นนอน ทำธุระยามเช้า ขับรถออกจากบ้านเช่า ไปถึงไร่ก็ระยะ 2 กิโลเมตรเท่านั้น เมื่อถึงก็จอดรถ ขณะที่กำลังจะลงจากรถก็รู้สึกว่ามีตัวอะไรมาไต่แขน ซึ่งตอนนั้นใส่เสื้อฝ้ายแขนยาว จึงนึกไปว่าแมงมุม ไม่รู้จะทำอย่างไรเลยไปจับผ้าเบาๆ เพื่อล็อกมันไม่ให้ขยับก่อนที่จะเปิดประตูรถออกไปเพื่อเหย่ามันออก แต่มันก็ไม่ออก แถมยังต่อยอีก ทันทีที่โดนต่อย ก็อาการปวดร้อนรุนแรงขึ้นมาทันที จึงถอดเสื้อแล้วสะบัดออก พบว่าเป็นแมงป่อง ซึ่งน่าจะเป็นแมงป่องบ้าน ตัวไม่ใหญ่มาก มันก็ค่อยๆเดินหนีเข้าไปตามซอกดินที่แตก

ในขณะที่โดนแมงป่องต่อย ไม่ได้มีความโกรธแค้นเลยแม้แต่นิดเดียว มีแต่ความเจ็บปวดที่แขน คือทุกข์ที่เกิดจากพิษ ส่วนใจยังเป็นห่วงว่ามันจะโดนบี้ในตอนถอดเสื้อ เพราะเสื้อแขนยาวนั้นไม่ได้ตัวใหญ่ หรือหลวมมากนัก เมื่อเห็นมันตกลงมาและเดินต่อได้ โดยภาพที่เห็นมันก็ครบองค์ประกอบดี ทำให้รู้สึกสบายใจที่ไม่ได้ไปฆ่ามัน สบายใจที่มันยังดีอยู่เหมือนเดิม รู้สึกได้เลยว่าจิตอิ่มเอิบไปด้วยเมตตา

ทั้งๆที่ในความจริง(แบบโลกๆ)แล้ว เราควรจะโกรธ ควรจะแค้น สิ่งที่มาทำเราเจ็บ แต่ความรู้สึกเหล่านั้นกลับไม่เกิดเลย

สรุปผล

ดังตัวอย่างเรื่องยุงและเรื่องแมงป่อง ผมจึงได้เห็นจิตใจที่พัฒนาของตัวเอง จากเป็นคนที่โกรธง่าย อาฆาตแรง แค้นฝังใจ กลับกลายเป็นคนที่ไม่โกรธ นอกจากจะไม่โกรธแล้วยังรู้สึกว่ามีเมตตา อยากให้มันพ้นภัย จนกระทั่งกรุณาคือลงมือทำให้มันเป็นสุข เช่นการนำยุงไปปล่อย มีความมุทิตา คือยินดีเมื่อมันสามารถหนีไป จากไป ได้แบบเป็นสุขดี และอุเบกขาตรงที่ปล่อยให้มันเป็นไปตามบาปบุญของมันต่อไป

การถือศีลนั้น จึงเป็นการถือเพื่อที่จะขัดเกลากิเลสออกจากจิตใจของตนเอง มากกว่าที่จะถือไปเพราะมัวเมา เพราะหลง เพราะงมงาย เพราะเห็นว่าเขาถือกัน เพราะได้ยินเขาพูดกันว่าดี แต่ถือเพราะเรามีปัญญารู้ถึงคุณค่าของศีลนั้น เราจึงใช้ศีลนั้นเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตัวเอง

ถ้าไม่มีศีล หรือไม่ถือศีล เราก็จะไม่เห็นกิเลสของเรา ถ้าถือศีลบ้างไม่ถือศีลบ้าง หรือถือศีลแบบเหยาะแหยะ หยวนๆ ลูบๆคลำๆ ไม่เอาจริงเอาจัง ก็จะกลายเป็นไม่ได้อะไรเลย จะดีก็ไม่ดี แต่จะชั่วก็ไม่ใช่ เป็นอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน

ดังนั้นการจะถือหรือยึดสิ่งใดมาอาศัย เราจึงควรพิจารณาให้เห็นถึงคุณค่าของสิ่งนั้น เข้าถึงประโยชน์ของสิ่งนั้นด้วยปัญญารู้จริงถึงประโยชน์ เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งการรู้แจ้ง ศาสนาแห่งปัญญา มิใช่ศาสนาที่พาให้หลงงมงาย หลงมัวเมา แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นความดีก็ตาม

การตรวจสอบศีลของเราก็เอาจากเรื่องง่ายๆในชีวิตประจำวันแบบนี้ละนะ ถ้าแค่เรื่องง่ายๆ เรื่องเบาๆ เรายังทำไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าจะทำศีลที่ยากกว่า หนักกว่า รุนแรงกว่า ได้เลย

– – – – – – – – – – – – – – –

23.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์