Tag: ทำบุญทำทาน

ฉลาดทำบุญทำทานด้วยอาหารมังสวิรัติ

October 30, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,683 views 0

ฉลาดทำบุญทำทานด้วยอาหารมังสวิรัติ

ฉลาดทำบุญทำทานด้วยอาหารมังสวิรัติ

ว่าด้วยการทำบุญทำทานในสมัยนี้ ไม่ว่าจะทำบุญตักบาตรให้กับพระ ทำบุญเลี้ยงอาหารผู้ยากไร้ ทำบุญในงานมงคลต่างๆ หรือการทำการกุศลที่มีอาหารเป็นส่วนประกอบในงานใดๆก็ตาม โดยส่วนมากก็มักจะเป็นอาหารที่พรั่งพร้อมไปด้วยเนื้อสัตว์ไปเสียทุกงาน

เรามักเข้าใจไปว่าการให้อาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์เหล่านั้นเป็นการทำบุญ เราหลงเข้าใจไปว่าสัตว์ตายเพื่อเป็นอาหารสัตว์นั้นก็ได้บุญ เราหลงเข้าใจกันว่าเนื้อสัตว์ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้กันมานานแสนนาน ทั้งที่จริงแล้วมันเป็นการทำบุญที่ได้บาป…

ทำบุญได้บาปอย่างไร?

ในพระไตรปิฏกบทหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องทำบุญได้บาป ได้ชี้แจงไว้ดังนี้ ๑.บุญได้บาปเพราะมีการสั่งให้ไปเอาสัตว์ตัวนั้นมา ๒.ได้บาปเพราะสัตว์นั้นต้องโศกเศร้า เพราะถูกบังคับมา ๓.ได้บาปเพราะมีการสั่งให้ฆ่าสัตว์นั้น ๔.ได้บาปเพราะสัตว์นั้นได้รับความทุกข์ทรมาน ๕.ได้บาปเพราะทำให้ผู้ปฏิบัติสู่ความสงบจากกิเลสทั้งหลาย เกิดความยินดีที่ได้กินเนื้อสัตว์ที่ไม่สมควรกิน (เนื้อสัตว์ที่ได้มาด้วยการเบียดเบียน)

จึงจะเห็นได้ว่า การนำเนื้อสัตว์มาบริจาคเป็นทานนั้น มีส่วนแห่งบาปปะปนอยู่มากมาย จนเรียกได้ว่า อาจจะไม่คุ้มกันกับการทำบุญทำทานด้วยการเบียดเบียนสัตว์อื่น

กว่าจะได้มาซึ่งเนื้อสัตว์ ต้องผ่านความทุกข์ทรมาน ผ่านความเศร้าโศกเสียใจมากมาย สัตว์ที่จะถูกฆ่าต่างก็มักจะรู้ตัวว่าตัวเองนั้นจะต้องถูกฆ่า บ้างก็น้ำตาไหล บ้างก็วิ่งหนี ดิ้นรนเท่าที่มันจะสามารถทำได้ แต่สุดท้ายสัตว์เหล่านั้นก็ไม่มีทางหนีจากบ่วงกรรม จากบาปที่สัตว์เหล่านั้นเคยทำมา ไม่มีทางหนีคมหอกคมดาบจากคนผู้มีใจเหี้ยมโหด

โดยทั่วไปมนุษย์นั้นมักจะไม่สามารถทนเห็นการกระทำที่แสนจะโหดร้ายทารุณได้ แต่ก็มักจะหลงติดในกามรส ติดในโลกธรรม หลงยึดว่าเนื้อสัตว์อร่อย หลงยึดว่าคนส่วนใหญ่บริโภคเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่ถูกต้อง หลงยึดว่าเนื้อสัตว์นั้นจำเป็นกับชีวิตหลงยึดว่าเนื้อสัตว์ดี

มนุษย์ผู้มีใจสูง หากได้รับรู้ถึงความโหดร้ายทารุณ รู้ถึงความทรมาน รู้ถึงบ่วงกรรมที่จะเกิดขึ้น รู้ถึงโทษชั่ว รู้ถึงภัยจากกิเลสคือความอยากเสพเนื้อสัตว์ เขาเหล่านั้นจะพยายามออกจากการเบียดเบียนเหล่านั้น เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่าถ้ายังฝืนเบียดเบียนต่อไปจะนำมาซึ่งทุกข์ โทษ ภัย ต่อตัวเอง ดีไม่ดี อาจจะเป็นเขาเองก็ได้ที่ต้องกลายเป็นสัตว์เหล่านั้นไปในชาติใดชาติหนึ่ง

เพราะโดยสัจจะแล้ว ไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับโดยที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งที่เราได้รับ เราทำมาแล้วทั้งนั้น สัตว์ที่ถูกกักขัง ถูกทรมาน และถูกฆ่าเหล่านั้น เขาก็เคยก่อกรรมชั่วมามากมาย และในชาติที่เราเห็นเขาเป็นสัตว์ เขาก็กำลังชดใช้กรรมของเขาอยู่ ใช้แล้วก็หมดไปเรื่องหนึ่ง ถ้ายังไม่หมดก็อาจจะเกิดเป็นสัตว์ไปชดใช้กรรมอีกเรื่อยๆก็เป็นได้ จนชาติใดชาติหนึ่งกรรมชั่วได้เบาบาง ส่งผลให้เกิดเป็นมนุษย์ แต่ด้วยความที่มีกิเลสมากก็กลับไปเบียดเบียนสัตว์กินเนื้อสัตว์อีก สะสมบาป เวร ภัย สะสมความชั่วอีกมากมาย เมื่อตายก็อาจจะวนกลับไปเป็นสัตว์ได้อีก วนเวียนไปเช่นนี้ เราจึงจะเห็นได้ว่ามีสัตว์ที่ถูกฆ่าและคนที่กินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่าอยู่ร่วมในสังคมเดียวกันเสมอ มีสัตว์ มีคนกินเนื้อสัตว์ ก็มีคนฆ่าสัตว์ และมันจะวนเวียนกันไปจนกว่าคนใดคนหนึ่งจะหลุดพ้นจากกิเลสได้นั่นเอง

ฉลาดทำบุญด้วยการละเว้นเนื้อสัตว์

เมื่อเราเห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นแล้ว เรายังคิดจะทำบุญด้วยเนื้อสัตว์อยู่อีกหรือ? เรายังสนับสนุนให้ผู้อื่นกินเนื้อสัตว์อยู่อีกหรือ? แม้ว่าเราจะยังไม่สามารถเลิกเนื้อสัตว์ได้ แต่ทำไม่เราไม่ให้โอกาสผู้อื่นได้สัมผัสอาหารมังสวิรัติบ้างเล่า

อย่างเช่น การทำบุญตักบาตรให้พระ ถ้าเราใส่แต่อาหารมังสวิรัติ ใส่ผักไป พระท่านก็จะได้โอกาสพิจารณาอาหาร ได้โอกาสที่จะกินมังสวิรัติแม้ว่าตัวท่านเองจะยังมีกิเลสอยากเสพเนื้อสัตว์อยู่ก็ตาม แต่หากสังคมช่วยกันด้วยการไม่ส่งเสริมกิเลสให้พระ ไม่ใส่เนื้อสัตว์ให้พระ ก็จะสามารถช่วยบำรุงความเจริญให้ศาสนาได้

เพราะผู้บวชในพระพุทธศาสนานั้น บวชไปเพื่อความพราก เพื่อความไม่มี เพื่อความลด และดับกิเลส ดังนั้นเราจึงควรส่งเสริมให้ท่านได้ลดกิเลสในเรื่องเนื้อสัตว์นี้ ไม่เอาเนื้อสัตว์ไปถวายท่าน เพราะพระที่ยังมีกิเลสมาก ก็มักจะกินเนื้อสัตว์นั้น ซึ่งเป็นเนื้อสัตว์ที่ไม่สมควร เป็นเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา เราจะได้บาปเพราะทำให้พระผู้ปฏิบัติสู่การลดกิเลส กินเนื้อสัตว์ที่ประกอบไปด้วยบาป ซ้ำยังไปส่งเสริมกิเลสในตัวท่านอีก จึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเลยหากชาวพุทธจะทำการใดๆ เพื่อส่งเสริมกิเลสพระ

การเลี้ยงพระด้วยอาหารมังสวิรัตินั้นจะเป็นกุศลอย่างยิ่งเพราะไม่ประกอบด้วยบาปใดๆ ปรุงรสให้จืด ทำด้วยวัตถุดิบที่หาได้ง่ายและไม่มีโทษ เสริมโปรตีนให้ท่านด้วยถั่วและธัญพืช มีรายงานและการวิจัยมากมาย รวมถึงหลักฐานชนิดที่ว่าเป็นคนทั่วไปว่าการกินมังสวิรัตินั้นไม่ได้ทำให้เสียสุขภาพแต่อย่างใด ในทางกลับกันยังมีสุขภาพที่ดี ร่างกายเบาสบาย สดชื่น แข็งแรง มีโรคน้อย

ซึ่งจะไปตรงกับคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “การไม่เบียดเบียนทำให้มีโรคน้อยและอายุยืน” ดังนั้น หากเราคิดจะทำบุญให้ได้กุศลสูงสุด เป็นไปเพื่อสร้างความเจริญให้กับศาสนา ก็พึงพิจารณาหาอาหารมังสวิรัติมาถวายพระ นำอาหารมังสวิรัติไปจัดกิจกรรมการกุศลต่างๆ นำอาหารมังสวิรัติมาทำบุญตักบาตร ส่วนท่านจะฉันหรือไม่ฉันนั้นก็ให้เป็นไปตามกิเลสของท่าน ส่วนเรามีหน้าที่ไม่เสริมกิเลสของท่านก็เป็นบุญอันยิ่งใหญ่แล้ว

เมื่อจิตของเราคิดจะสละทรัพย์บริจาคทานให้ผู้อื่นเพื่อเป็นบุญแล้ว ก็ควรพิจารณาสิ่งที่จะนำไปบริจาคนั้นให้ดีด้วย เพื่อทำกุศลให้ถึงพร้อม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

หากทานที่เราให้ไปนั้น ให้แล้วกลับกลายเป็นเพิ่มกิเลส เพิ่มบาปให้กับผู้อื่น เราก็ไม่สมควรให้ หรือให้แต่น้อย ส่วนทานใดที่เราให้ไปแล้วพาให้เขาลดกิเลส พาให้เขาเกิดความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรมไปในทางเดียวกัน ทานนั้นจึงเป็นทานที่สมควรให้

– – – – – – – – – – – – – – –

29.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

September 29, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,786 views 0

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

ทุกวันนี้ศาสนาไม่ได้ถูกใช้เป็นวิถีทางแห่งการดับทุกข์เหมือนอย่างในอดีต แต่กลับกลายเป็นช่องทางให้ใครหลายคนได้ใช้เพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่งด้วยชื่อเสียง เงินทอง บริวาร และสุขลวงๆ

ในยุคที่สังคมรีบเร่ง แก่งแย่งแข่งขัน ทำให้เราเหลือเวลาไม่มากพอที่จะใส่ใจแก่นแท้ของศาสนา นั่นทำให้เราเลือกที่จะไปทำบุญทำทานด้วยเงิน เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่คนไทยส่วนใหญ่ยึดถือและปฏิบัติ เรามีงานประเพณีมากมายที่ใช้เงินเป็นตัวขับเคลื่อน ไม่ว่างานบุญ งานกฐิน หรือแม้กระทั่งงานบวชก็ยังต้องมีเงินหมุนเวียนมากมาย

เราอาจจะเห็นวัดวาอารามใหญ่โต เจริญขึ้น มีความสะดวกสบายมากขึ้น นั่นเป็นผลมาจาก…เงิน หรือจะให้ชัดก็คือ ผลมาจากแนวคิดเชิงทุนนิยม วัตถุนิยม กิเลสนิยม

แต่หลักของพุทธนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างทางโลก พุทธไม่ได้สะสมวัตถุ ไม่ได้ต้องการวัดที่ใหญ่และความสะดวกสบายมากนัก เพราะศาสนาพุทธนั้นเป็นไปเพื่อการพราก ความมักน้อย ความไม่สะสม การขัดเกลากิเลส จนกระทั่งถึงการดับกิเลส

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “เงินทองเหมือนดังอสรพิษ” ความมีจนเกินพอดี จะทำให้คนมัวเมาในกิเลสกลายเป็นพิษเป็นภัย แม้แต่ผู้ที่ตั้งใจบวชก็ยังพ่ายแพ้ต่อพลังของเงิน ใช้เงินสร้างวัตถุที่เกินความจำเป็น เพื่อชื่อเสี่ยง เพื่อบารมี เพื่อสะสมบริวาร ทั้งหมดนี้มีรากมาจากความโลภทั้งสิ้น

ส่วนต้นเหตุที่ทำให้เป็นแบบนั้นก็คือ คนที่หลงมัวเมาในการทำบุญทำทานอย่างไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า เงินที่ให้ไปนั้น จะไปเพิ่มกิเลสให้กับพระหรือไม่ ถ้าให้เงินนั้นไปแล้ว พระนำไปสร้างวัตถุเพื่อสนองกิเลสของตน ก็เป็นการเพิ่มกิเลสให้กับพระ เป็นทานที่ให้ไปแล้วผู้รับ “ไม่บริสุทธิ์” ย่อมไม่เกิดอานิสงส์ที่สมบูรณ์ และอาจจะกลายเป็นอกุศลไปได้ด้วย หากพระผู้นั้นใช้ทานเหล่านั้นเพื่อไปเสพสมใจในกิเลสของตนมากเกินไปจนทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาในศาสนา

การร่วมบุญกับคนบาป นั้นจะไม่บาป ไม่มีอกุศล ไม่มีผลทางลบนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เราควรจะแยกคนพาล (คนผู้หลงมัวเมาในกิเลส) กับบัณฑิต(คนผู้มีสัจจะ เป็นไปเพื่อลด ล้างกิเลส) ออกให้ชัดเจน คนไหนเป็นคนพาลก็ให้ห่างไกลไว้ ไม่ร่วมกิจกรรมด้วย คนไหนเป็นบัณฑิต ก็ให้เข้าใกล้ ร่วมกิจกรรม ร่วมบุญกัน ก็จะเกิดกุศลและอานิสงส์มหาศาล

ทานที่ให้ควรประกอบด้วยความบริสุทธิ์ทั้งผู้ให้ ผู้รับ และทานนั้นๆ ผู้ให้ควรบริสุทธิ์ด้วยกายวาจาใจ ไม่ได้ให้เพื่อหวังสิ่งตอบแทนใดๆ ไม่ได้ให้ด้วยกิเลสตัณหา ผู้รับเองก็ควรบริสุทธิ์ด้วยศีล อันเป็นฐานะที่ควรทำให้เจริญขึ้นเรื่อยๆเพื่อยังประโยชน์แก่ผู้ให้ และทานนั้นก็ควรบริสุทธิ์ เป็นของที่ไม่เบียดเบียนใคร ไม่เดือดร้อนใคร

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตั้งตนอยู่บนความลำบาก กุศลธรรมเจริญยิ่ง” ถ้าเราปล่อยให้พระได้ลำบากพอประมาณ ในขีดที่ไม่ทรมาน เปลี่ยนจากการทำบุญทำทานด้วยวัตถุ มาเป็นออกแรง เช่น ทำความสะอาดวัด ก็จะทำให้พระไม่ได้รับความสะดวกสบายจากปัจจัยที่มากเกินพอดีนัก นั่นคือช่วยให้พระได้ตั้งตนอยู่บนความลำบากบ้าง ท่านก็จะได้เจริญในธรรมยิ่งขึ้น และอานิสงส์เหล่านั้นก็จะย้อนกลับมาถึงเราด้วย เช่น เมื่อท่านได้เรียนรู้ธรรมจากความลำบากบ้าง ท่านก็จะได้นำธรรมเหล่านั้นมาสอนเรา

และพระพุทธเจ้ายังได้ตรัสไว้อีกว่า “เมื่ออยู่ตามสบาย อกุศลธรรมเจริญยิ่ง” นั่นหมายถึง ถ้าเรายิ่งเลี้ยงพระด้วยอาหารอันมีมาก ด้วยทรัพย์อันเกินประมาณ ด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกที่เกินพอดี ความเสื่อมจะยิ่งใกล้เข้ามาเรื่อยๆ กุศลธรรมจะเสื่อมลง อกุศลธรรมจะเจริญขึ้น สิ่งดีจะหายไป สิ่งชั่วจะเข้ามาแทนที่ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเราทำบุญทำทานกันอย่างหน้ามืดตามัว ทำทานกันอย่างเมาบุญ เห็นว่าที่ไหนพระดัง ก็พากันเอาเงินโถมเข้าไปทำลายวัดนั้นๆจนแตกกระเจิง ตบะแตกกันกระจาย ศีลแตกกันไม่มีเหลือ

พระส่วนมากก็คนธรรมดาเหมือนเรา จะไปมีพลังต้านทานกิเลสได้อย่างไร พอใส่เงินเข้าไปมากๆ ก็เริ่มจะโลภ เริ่มจะล่าบริวารมากขึ้น เริ่มตั้งลัทธิ ตั้งสำนัก เพื่อให้ตนเองนั้นได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ดังที่เคยเป็นข่าวให้เราเห็นกันอยู่เป็นประจำ

ดังนั้นการทำบุญทำทานอย่างไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าผู้รับนั้นเหมาะสมหรือไม่ ควรหรือไม่ โดยใช้ความเจริญทางจิตใจของศาสนาเป็นหลักในการพิจารณา ไม่ให้ความอยากในการทำบุญทำทานของเรานั้นไปเป็นส่วนหนึ่งในความเสื่อมของชาวพุทธ เพียงคิดได้แค่นี้ก็เกิดกุศลยิ่งใหญ่แล้ว เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา มิใช่ศาสนาที่พามัวเมาในบุญ ในสวรรค์ วิมาน เทวดา ฟ้าดิน แต่ท่านสอนให้เชื่อในเรื่องของกรรม

ชีวิตของคนเราจะดีนั้น ไม่ได้หมายความว่าไปบริจาคเงินทำบุญแล้วมันจะดีเสมอไป เพราะ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ถ้าเราอยากจะให้เกิดสิ่งที่ดีในชีวิตเราต้องทำเอาเอง ไม่มีอะไรมาดลให้เกิดดีกับเราได้ นอกจากกรรมที่เราทำมา ยิ่งเราทำกรรมดีมากๆ แม้ไม่ได้ไปทำบุญหยอดตู้ใส่เงินให้กับวัด ชีวิตเราก็สามารถเกิดสิ่งที่ดีได้

และนั่นคือสิ่งที่ดีที่สุด เพราะเรายึด “กรรม” คือการกระทำของตนนั้นเป็นหลักในการปฏิบัติ ไม่ใช่ไปให้เงิน ให้วัตถุกับคนอื่นแล้วบอกให้เขาอวยพรให้มีความสุข ให้เราร่ำรวย ให้เราเจอแต่คนดี ให้เราไปสวรรค์ ให้เราไปนิพพาน อันนี้ไม่ถูกทางพุทธ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ปลายทางนั้นมีแต่จะทุกข์ เป็นนรกอย่างเดียว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ทานนี้เพื่อให้

September 7, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,668 views 0

ทานนี้เพื่อให้

 

ทานนี้เพื่อให้

การทำบุญทำทาน หรือการสละให้ออกไปนั้น เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนทุกคนบนโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เป็นการลดความอยากได้อยากมี เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นสิ่งที่ควรให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ นอกจากการแบ่งปันเผื่อแผ่กันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่ ” ดังนั้นการให้ทานจึงเป็นสิ่งที่ควรพึงกระทำอย่างสม่ำเสมอ

การให้ทานจะมีผลมากนั้นก็ขึ้นอยู่กับทานนั้นลดกิเลสหรือไม่? เราได้สละออก ได้ให้ไปจริงหรือไม่? บางครั้งเรามักจะเห็นคนที่ให้หรือบริจาคทาน ไม่ได้ให้อย่างแท้จริง เมื่อให้ไปแล้วแต่ยังมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ ยังคาดหวัง ยังแลกเปลี่ยนอยู่

เช่น เราให้ขนมกับเพื่อน เราให้ไปแล้วนะ แล้วเพื่อนเอาขนมที่เราให้ไปให้หมากิน เรากลับโกรธเพื่อน อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ

เช่น เมื่อเราทำบุญบริจาค เราให้ไปแล้วนะ แต่เราไปตั้งจิตขอให้สมหวังอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ

เช่น เราแนะนำ เราบอกสิ่งดีๆให้กับเพื่อนไปแล้ว แต่เพื่อนกลับไม่ทำตามที่เราแนะนำ ตามที่เราเห็นว่าดี กลับไปทำตรงข้าม แล้วเราไม่พอใจที่เขาไม่ทำตามเรา อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ

เช่น เราบอกคนที่ทำให้เราโกรธว่า “เอาเถอะ…ให้อภัยไม่ถือโทษกัน” เราบอกด้วยปาก ท่าทีของเราก็ดูปกติ คนนั้นเขาก็เชื่อนะ แต่ในใจเรายังโกรธ ยังเคือง ยังไม่พอใจอยู่ ยังไม่อยากเจอ ไม่อยากคบหา อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ

การให้ทานที่ยังมีความหวังว่าจะได้อะไรกลับมาตอบแทนหรือยังยึดมั่นถือมั่นเป็นเจ้าของอยู่นั้น เป็นการให้ทานไม่ถูกไม่ควรสักเท่าไรนัก

การให้ทานที่จะเกิดกุศลมาก ต้องเป็นทานที่ให้เพื่อที่จะให้ ให้เพื่อที่จะไม่ได้รับอะไรเลย ให้เพื่อหมดตัวหมดตน ให้เพื่อหมดความอยากได้ ให้เพื่อที่จะไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากจะเอาอะไรอีก ให้จนไม่มีอะไรจะเอา…

ในชีวิตของเราในแต่ละวันนั้น มีการให้ทานอยู่ในหลายรูปแบบ ทั้งวัตถุทาน ธรรมทาน อภัยทาน ถ้าเราพิจารณาให้ดีว่าการให้ทานที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งนั้น เราได้ให้ไปจริงหรือไม่ ยังคิดจะเอาอะไรอยู่หรือไม่ ก็จะเป็นการสร้างโอกาสในการทำทานที่ให้ผลเจริญ เป็นกุศล ที่ทำได้โดยไม่จำเป็นต้องรอไปทำบุญทำทานที่วัด ไม่ต้องรอตักบาตรตอนเช้า

วัตถุทาน เช่น เราสามารถแบ่งขนมให้เพื่อนกินได้หรือไม่ แบ่งของให้เพื่อนยืมได้หรือไม่ มีน้ำใจช่วยเหลือคนอื่นได้หรือไม่

ธรรมทาน เช่น เราแนะนำสิ่งดีให้กับคนอื่น พูดสิ่งที่ดี ที่พาลดกิเลสให้กับคนอื่น เมื่อมีปัญหาในกลุ่ม เราพูดเพื่อลดความบาดหมาง ลดโลภ โกรธ หลง หรือกระทั่งสอนให้เขาเข้าใจวิธีการทำให้ชีวิตไม่ทุกข์ก็เป็นธรรมทาน

อภัยทาน เช่น มีคนทำไม่ถูกใจเรา รถคันหน้าขับปาดแซงเรา คันหลังเปิดไฟสูงไล่เรา คันข้างๆเบียดเข้ามา เราให้อภัยเขาได้ไหม , เพื่อนร่วมงานนินทาเรา เจ้านายว่าเรา เราให้อภัยเขาได้ไหม , เห็นข่าวไม่ดีไม่งาม คนทำผิด ทำชั่ว ทำเลว เราให้อภัยเขาได้ไหม , มีคนพูดไม่ถูกใจเรา ทำไม่ถูกใจเรา คิดไม่ตรงใจเรา เราให้อภัยเขาได้ไหม

ดังจะเห็นได้ว่า การทำทานนั้นสอดร้อยไปในทุกจังหวะชีวิตของเรา หากคนมีปัญญารู้จักเก็บเกี่ยวกุศลสูงสุดของทุกๆเหตุการณ์ในแต่ละวัน ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่ไม่ประมาท รู้จักทำทานอยู่เสมอ แม้ว่าจะไม่ได้มีภาพลักษณ์เหมือนคนที่ใจบุญ ทำบุญตักบาตรนุ่งขาวห่มขาวไปวัดเป็นประจำอย่างที่สังคมเข้าใจ แต่เขาก็จะได้รับแต่สิ่งที่ดีในชีวิต เพราะผลแห่งทานเหล่านั้นนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

7.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์