Tag: ความหลง

ทั้งรู้ก็รัก

January 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,952 views 0

ทั้งรู้ก็รัก

ทั้งรู้ก็รัก

…เพราะเหตุใด ผู้คนต่างยินดีที่จะมีความรัก แม้ว่าสุดท้ายจะต้องผิดหวัง

ความรักนั้นเป็นสิ่งที่ทรงพลังมาก เป็นแรงผลักดันให้ชีวิตของเราเคลื่อนไหว หลายคนสามารถทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับความรัก จนกระทั่งถึงขนาดที่ว่ายอมทิ้งชีวิตเพื่อบูชาความรักกันได้เลย

ความรักกับความหลงนั้นเป็นสิ่งที่แยกกันได้ยาก เพราะความหลงนั้นเองจะทำให้เข้าใจว่าสิ่งที่คิดและทำอยู่นั้นคือความรัก ความหลงจะครอบคลุมทุกอย่างไว้ ปิดบังความจริงไว้ เหมือนกับร่มที่กันฝน เมฆที่บังแดด เหมือนกะลาที่ครอบไว้

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงก็จะพาให้เราพบกับความจริงได้เสมอ ความจริงที่ว่าเราหลงไป ความจริงที่ว่ารักของเขา หรือแม้แต่รักของตัวเราเองก็ไม่ใช่ของจริง เป็นสิ่งลวง เป็นสิ่งเทียมความรักเท่านั้นเอง

ทำไมต้องผิดหวัง?

ไม่มีวันที่เราจะสมหวังและสามารถเสพสุขได้ตลอดไป เพราะสุขที่เราเสพนั้นมาจากกุศลที่เราเคยสร้าง มาจากความดีที่เราเคยทำไว้ และแน่นอนว่าเมื่อใช้สิ่งเหล่านี้ไปเรื่อยๆมันก็จะมีวันหมด และนอกจากสุขจะมีวันหมดแล้ว ยังมีทุกข์อีกมากมายที่เกิดจากความไม่ดีหรือความชั่วที่เราเคยก่อไว้

ก่อนที่เราจะตกลงปลงใจกับใครสักคนหนึ่ง เราทำร้ายใจใครมามากเท่าไรแล้ว เราเคยทำให้พ่อแม่เสียใจกี่ครั้ง เราเคยดื้อเอาแต่ใจมากี่หน เราเคยหักอกใคร ทำร้ายใจใคร นินทา ใส่ร้ายป้ายสีใครบ้างไหม ถึงแม้ชาตินี้จะไม่เคยทำ แล้วเรามั่นใจได้อย่างไรว่าชาติก่อนจะไม่เคยทำ เพราะดีในชาตินี้ที่เราได้เสพก็มักจะไม่ได้มาเพราะเราทำดีแต่เป็นกุศลเก่าที่ติดมา ใครกันที่อยู่ๆจะมีคนดีเข้ามาในชีวิต ถ้าไม่เคยทำดีร่วมกันไว้ไม่มีทางได้พบเจอสิ่งที่ดีหรอก

แน่นอนว่ามีสิ่งที่ดีก็ต้องมีสิ่งที่ชั่วด้วย โลกธรรมมันเป็นแบบนี้ มันมีสุขมีทุกข์อยู่คู่กันเสมอ ตราบเท่าที่ยังคงยินดีในโลก ในความสุขแบบโลกๆ ก็ต้องรอรับกรรมชั่วที่จะดลบันดาลความผิดหวังในวันใดก็วันหนึ่ง ในชาติใดก็ชาติหนึ่ง ด้วยลักษณะเหตุการณ์ ลีลาท่าทางอย่างใดอย่างหนึ่ง

เพราะการวนเวียนอยู่ในโลกนี้เอง จึงต้องพบกับการผิดหวังและสมหวังเป็นเรื่องธรรมดา แม้วันนี้จะสมหวังและดูเหมือนว่าจะมีแต่ความสุข แต่นั่นหมายความว่าเรากำลังจะเสพสุขให้หมดไปและเปิดทางให้ทุกข์ที่ต่อแถวรอได้เข้ามาหาเราไวขึ้น จึงเป็นเหตุให้ชีวิตต้องพบกับความผิดหวังเช่นนี้ตลอดไป

ทั้งรู้ว่าสุดท้ายต้องทุกข์แต่ทำไมยังรัก?

การมีความรักแบบคู่ครอง ไม่มีวันหนีความทุกข์พ้น ไม่ว่าคู่ครองจะดีแสนดีแค่ไหน มีศีลธรรม รับผิดชอบครอบครัว นำพาชีวิตให้มีความสุขความเจริญ แต่สุดท้ายก็ต้องทุกข์เพราะถูกพรากจากกันด้วยความแก่ ความเจ็บ ความตายอยู่ดี ดังนั้นยิ่งรักก็ยิ่งทุกข์

แต่ความจริงแล้วการจะหาคู่รักที่ดีแสนดีเหล่านั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้ คนที่ดีมีความรับผิดชอบ มีศีลธรรม ไม่ส่งเสริมกิเลสแก่กันและกัน ที่จะไม่พาตกต่ำนั้น เป็นลักษณะของคนที่หาได้ยากยิ่งในโลก นั่นหมายถึงที่หากันได้อยู่ในทุกวันนี้ก็ไม่ได้ดีสักเท่าไร แต่ถึงแม้จะไม่ได้ดีพร้อมก็ขอให้เป็นสิ่งที่ตัวเองยินดีพอใจก็พอแล้ว ก็ยังยินดีแม้จะต้องทนทุกข์มากก็ตาม

การที่เรายังยินดีที่จะร่วมสุขร่วมทุกข์นั้น สาเหตุที่แท้จริงคือ “ไม่รู้” เกี่ยวกับสุขและทุกข์นั้น เรามักจะมอง เข้าใจ และมั่นใจว่าฉันยินดีจะร่วมชีวิต ร่วมทุกข์ ร่วมสุขกับคู่ครองคนนี้ เป็นบรรยากาศที่เห็นได้ทั่วไปตามงานแต่งงาน วันแต่งงานนี่มันก็ดูดีใช่ไหม เหมือนเจ้าหญิงเจ้าชาย จากคนที่ไม่มีใครสนใจก็ได้ขึ้นเวทีแต่งชุดสวย ได้พูดจาคมๆ ซึ้งๆ มันดูดีใช่ไหม แต่แล้วยังไง เวลาผ่านไปมีสักกี่คู่ที่ยังสามารถคงสภาพความรักให้เที่ยงแท้ ดังที่ตนเองเคยคิดว่าตนมีรักแท้ได้

นั่นเพราะว่าความจริงมันทุกข์มากกว่าสุข ในตอนแรกก่อนที่เราจะครองคู่ ไม่ว่าจะเป็นแฟน หรือแต่งงานเป็นสามีภรรยา เราก็คิดว่า ถ้าเรามีคู่มันจะต้องสุขมากกว่าทุกข์แน่นอน ได้มีคนดูแล เทคแคร์ เอาใจ คุยกัน แบ่งปัน แลกเปลี่ยนกัน บำรุงบำเรอกิเลส สมสู่กันและกัน มันจะต้องเป็นสุขแน่นอน ความเห็นผิดมันเริ่มตรงนี้ เพราะไม่รู้ความจริงในเรื่องโลก ไม่แม่นยำในเรื่องกรรม ไม่รู้จักกิเลส ก็เลยทำให้ปักใจเชื่อว่ามันจะสุขมากกว่าทุกข์

พอเชื่อว่าสุขมากกว่าทุกข์ก็เลยยินดี ตกลงปลงใจคบหาหรือแต่งงานกันเพราะหวังลึกๆในใจว่ามันจะสุขมากกว่าทุกข์นั่นเอง ปัจจัยที่ทำให้เกิดสุขก็คือกิเลส ปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์ก็คือกิเลส กิเลสนั้นจะบันดาลทั้งสุขและทุกข์ให้ แต่สุขที่ได้รับจากกิเลสนั้นเราเรียกว่าสุขลวง เป็นสุขที่เสพไม่นานก็จางหาย ยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพเช่นการที่เรากินของที่อร่อยแต่ถ้ากินซ้ำๆก็เบื่อ กินตอนป่วยก็ไม่สุข กินตอนทุกข์ก็ไม่สุข มันลวงแบบนี้ มันไม่แท้แบบนี้ เพราะถ้ามันแท้ มันต้องสุขทุกครั้งที่เสพ ไม่มีวันเบื่อ ไม่มีวันที่อะไรจะมาแทนที่ได้

ดังนั้นเมื่อความสุขที่ได้รับจากกิเลสมันไม่แท้ นั่นหมายถึงวันหนึ่งสุขที่เราเคยคิด เคยคาดหวังว่าจะได้รับมันจะหายไป มันจะจางไป แม้ได้เสพเหมือนเดิมแต่มันจะไม่สุขเท่าเดิม เมื่อไม่สุขมันก็เริ่มจะมีทุกข์ มันทุกข์เพราะไม่ได้เสพสุขอย่างที่เคยได้ หรือไม่ได้เสพตามที่อยากได้

เมื่อเกิดทุกข์เพราะไม่ได้เสพสมใจจะมีสภาวะเกิดขึ้นได้สองกรณีแบบกว้างๆ 1. คือเห็นทุกข์จึงเห็นธรรม เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สุขจริง แต่เป็นสุขลวง กรณีนี้เกิดขึ้นได้น้อยถึงน้อยมาก และมักจะเกิดในกรณีที่ 2. คือการหาสุขลวงมาเสพเพิ่ม เมื่อคู่ของตนปรนเปรอกิเลสไม่ได้อย่างเดิม หรือเสพเท่าไหร่มันก็ไม่สุขเหมือนเดิม จึงแสวงหาคน หรือสิ่งอื่นๆที่จะมาเติมเต็มความสุขให้อิ่มเหมือนเดิม จึงเป็นเหตุที่มาของการนอกใจที่เห็นได้ทั่วไปในทุกวันนี้

ดังจะเห็นได้ว่า การประเมินว่าการมีความรักในแบบคู่รักนั้นสุขมากทุกข์น้อย หรือสุขมากพอที่จะยอมทนทุกข์นั้น เป็นการประเมินพลังของกิเลสที่ผิด เพราะกิเลสนั้นหลอกให้เราหลง หลงว่าเราเก่ง หลงว่าเรารู้ดี หลงให้เราเชื่อในคู่ครอง หลงให้เราเชื่อว่าตัวเองจะมั่นคง มันหลอกเรามาตั้งแต่แรก แต่เราก็ทำเป็นเก่งนึกว่าไม่โดนมันหลอก นึกว่าควบคุมมันได้ นึกว่าทุกอย่างเที่ยง นึกว่าทุกอย่างจะเป็นดังฝัน รู้ทั้งรู้ว่ารักแล้วก็ทุกข์ก็ยังจะหลงไปรักแบบคู่ครอง

ความรู้เหล่านี้ไม่ใช่ความรู้จริงๆ เป็นความรู้พื้นฐานตามสามัญของสังคมทั่วไป แต่ความรู้จริงนั้นหมายถึงรู้แจ้งในทุกลีลาของกิเลส ไม่ว่ากิเลสจะมาไม้ไหนก็สามารถโต้ตอบและทำลายกิเลสได้ นั่นคือสามารถใช้ปัญญามาหักล้างเหตุผลในการเสพกิเลสได้เสมอ จนถึงขั้นที่ว่าไม่ต้องสู้กับกิเลสเลย แค่ตั้งสติกิเลสก็กลัวหัวหดแล้ว ยังไม่ต้องพิจารณาธรรมใดๆกิเลสก็กระเจิงไปหมดแล้ว

ความรู้ลักษณะนี้คือความรู้แจ้งในกิเลส พอรู้ได้แบบนี้แล้วก็ไม่มีวันที่กิเลสจะมาหลอกได้ มันจะไม่รู้สึกว่าต้องไปมีคู่ครอง และไม่รู้สึกรังเกียจการมีคู่ครอง ไม่รักไม่ชัง ไม่ดูดไม่ผลัก แต่จะเห็นประโยชน์และโทษของทุกอย่างตามความเป็นจริงโดยที่ไม่มีกิเลสเข้ามายุ่งเกี่ยว แบบนี้เรียกได้ว่ารู้จริง

คนที่รู้จริงจึงไม่มีวันจะทำให้ชีวิตของตัวเองนั้นลำบากด้วยการมีคู่ครอง มีครอบครัว มีภาระ ที่ต้องแบกรับไว้ ส่วนคนที่ไม่รู้จริงนั้นก็จะหาเหตุผลต่างๆนาๆ เข้ามาทำลายความจริงเหล่านั้นและกลบมันด้วยความฝัน ความหวัง ความหลงที่เกิดจากพลังของกิเลส

– – – – – – – – – – – – – – –

26.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,933 views 0

ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส

ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส

การตรวจสอบกิเลสตั้งแต่ในระดับ 1-4 ที่ผ่านมานั้น จะไม่มีความหมายอะไรเลยถ้าหากว่าเราขาด “ความจริงใจ

ความจริงใจในที่นี้คือความจริงใจต่อตนเอง คือความจริง ที่เกิดขึ้นในใจ หรือการมองความจริงตามความเป็นจริงนั่นเอง ยอมรับความจริงว่าเกิดความอยากขึ้นในใจ มันอยากกินก็ยอมรับได้ มันอยากกินมากขึ้นก็ยอมรับได้ หรือความอยากกินมันลดลงไปก็รับรู้ได้

ความจริงใจคือคุณสมบัติที่จำเป็นมากในการเรียนรู้เรื่องของกิเลส เพราะกิเลสเป็นเรื่องภายในใจ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อน จึงต้องอาศัยความจริงใจนี่แหละเป็นตัวที่จะเปิดเผยหน้าตาของกิเลสให้เราเห็น

…อัตตาบังความจริงใจ

สิ่งที่จะบดบังความจริงใจได้อย่างดีที่สุดก็คืออัตตาของเรานี่เอง เพราะในส่วนกามมันชัดเจนอยู่แล้วว่าเรายังกินเนื้อ แต่ถ้าเราเลิกกินเนื้อแล้วมันมักจะมีอัตตาก้อนใหญ่ติดมาด้วย

อัตตานั้นเกิดจากอะไร? การเกิดจากอัตตานั้นมักจะเกิดมาในระหว่างที่เราจะออกจากความชั่ว การออกจากชั่วเราต้องยึดดี เช่นในกรณีของการจะมากินมังสวิรัติเราต้องเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งชั่ว เป็นสิ่งที่เบียดเบียน ไม่เมตตา ฯลฯ จึงจะสามารถทำให้เราออกจากชั่วได้สบายใจ นั่นหมายถึงย้ายอัตตาจากฝั่งกินเนื้อมาฝั่งเกลียดการกินเนื้อ เพียงแค่ย้ายฝั่งของอัตตาเท่านั้นแต่อัตตาก็ยังอยู่กับเราไม่ไปไหน

ทีนี้ถ้ามีคนมาถามกับเราว่า “ยังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ไหม” ด้วยความยึดดีของเรา จะตอบเขาได้ในกรณีเดียวว่าไม่อยาก แต่ในใจนั้นอยากหรือไม่อยากก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าตอบว่า “อยาก” ไม่ได้ เพราะความยึดดีมันมีมาก เราจะไม่ยอมเปิดใจไม่ยอมมองไปที่ความอยาก เพราะความชั่วความไม่ดีของการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่เราไม่ยอมรับ เราจึงใช้อัตตานี้เองบังความจริงที่เกิดขึ้นในใจไว้

ความจริงว่ากิเลสหรือความอยากยังอยู่นั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย แม้จะกินมังสวิรัติได้เป็นสิบยี่สิบปีก็ไม่ได้มีความหมายอะไรในเชิงของโลกุตระ เป็นเพียงแค่การสร้างกุศลโลกียะเท่านั้น เป็นความดีแบบโลกๆ ซึ่งเรื่องของการล้างกิเลสเป็นอีกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการกินมังสวิรัติ แต่การกินมังสวิรัติได้อย่างผาสุกนั้นเป็นผลจากการล้างความอยากในเนื้อสัตว์

ดังนั้นอัตตาที่เรามีนี่เองที่จะกั้นไม่ให้เราเข้าใจกิเลส ไม่เข้าใจธรรม แม้เราจะกินมังสวิรัติได้ทั้งชีวิตก็ไม่ได้หมายความว่าจะรู้เรื่องกิเลสอย่างถ่องแท้ เพราะไม่เคยเปิดใจยอมรับความอยากด้วยความจริงใจ

…สมถะวิธีกับการดับโดยอัตโนมัติ

สมถะวิธีนั้นเป็น วิธีการกินมังสวิรัติที่ใช้กันเป็นสากล การทำสมถะไม่ใช่แค่การนั่งสมาธิ เดินจงกรม แต่หมายถึงการกดข่มจิตให้เข้าไปอยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่นเรา ถือกรรมฐานว่า เนื้อสัตว์ไม่ดี มังสวิรัติดี เนื้อสัตว์เบียดเบียน ไม่เมตตา ทำร้ายสัตว์ โหดร้าย ทารุณ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นตรรกะ เป็นความรู้ เป็นเหตุผล ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกดข่มความชั่วหรืออาการอยากกินเนื้อสัตว์ไปได้ ลักษณะเหล่านี้เองคือการกดข่มด้วยสมถะ

เช่นเราไปกินข้าวกับเพื่อน เพื่อนสั่งเนื้อสัตว์มา เป็นเนื้อย่าง กลิ่นหอมน่ากิน ด้วยจิตใจที่เราฝึกกดข่มไว้มากแล้ว ทันทีที่เห็นเนื้อสัตว์เราจะสร้างความรังเกียจขึ้นมา สร้างความรู้สึกเหม็นเมื่อได้กลิ่น สร้างความรู้สึกว่ามันชั่วร้ายเบียดเบียนขึ้นมาโดยอัตโนมัติ กระบวนการเหล่านี้ผู้ที่ฝึกสติมาน้อยจะไม่รู้ตัว บางครั้งจะหลงไปด้วยว่ามีสติ

ลักษณะของความคิดอัตโนมัติเหล่านั้นเกิดจากเรามีสัญญาว่าเนื้อสัตว์ไม่ดี พอเห็นเนื้อสัตว์ก็ปรุงแต่งความคิดขึ้นมาทันทีว่ามันไม่ดีอย่างนั้น ชั่วอย่างนั้น เบียดเบียนอย่างนั้น เราจึงสามารถ “ตัด” หรือ “กดข่ม” ความอยากที่เกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ เป็นปกติ ทำได้โดยไม่รู้ตัว ทำได้อย่างธรรมชาติ เป็นลักษณะของสมถะวิธี เป็นเพียงวิธีที่ทำให้ความอยากสงบลงได้แต่ไม่สามารถทำให้ความอยากตายหรือสลายหายไปได้

…ความหลงผิดในสมถะวิธี

เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยากจริงๆ หากจะต้องบอกว่าการกินมังสวิรัติโดยปกติทั่วไปส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้สมถะวิธี การบอกกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่เพื่อการข่มหรือต้องการอวดโอ้แต่อย่างใด แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่ามันเป็นแค่วิธีหนึ่งในการกดข่มความชั่วเท่านั้น และวิธีเหล่านี้ไม่สามารถกดข่มได้ตลอดไป ถึงแม้ว่ามันจะเข้าใจง่ายและปฏิบัติได้ง่ายแต่ก็ไม่ใช่วิธีการล้างกิเลสแต่อย่างใด

สมถะวิธีกับการล้างกิเลสหรือที่เรียกว่าวิปัสสนานั้นเป็นคนละเรื่องกัน เมื่อวิธีการต่างกันผลที่ได้ก็จะต่างกันไปด้วย แต่เป็นเรื่องยากที่จะสังเกตเพราะผลที่เห็นได้ด้วยตาจะออกมาคล้ายๆกัน สุดท้ายแล้วไม่ว่าคนที่ใช้สมถะหรือวิปัสสนาก็จะสามารถกินมังสวิรัติได้เหมือนกัน คนทั่วไปก็จะมองและแยกออกได้ยากมาก

แต่ผลทางจิตใจของสมถะกับวิปัสสนาจะต่างกันออกไป เหมือนกับว่าทั้งสองวิธีถึงเป้าหมายเหมือนกันคือกินมังสวิรัติได้ตลอดแต่สภาพของจิตใจนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง การกดข่มด้วยสมถะวิธีจะทำให้เกิดความไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบาย อึดอัด กดดัน บีบคั้น ขุ่นมัว ลักษณะเหล่านี้ถ้าไม่สังเกตให้ดีหรือไม่ได้มีญาณปัญญาตรวจวัดก็จะไม่สามารถรับรู้ได้เลย นักมังสวิรัติที่ใช้สมถะวิธีจะบอกว่าชีวิตตนเองดีมีความสุข ทั้งหมดนี้เพราะอัตตามันมาบังไว้ มันจะตอบได้แบบเดียวคือมีความสุข เพราะอัตตามันสั่งให้คิดแบบนั้น ให้เชื่อมั่นแบบนั้น

สิ่งที่ต่างออกไปทางด้านผลของวิปัสสนาที่อยู่ในระดับผลสำเร็จก็คือ ความโปร่ง โล่ง เบาสบาย มีจิตผ่องใส ผุดผ่อง โดยเฉพาะความแววไว ไม่ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ใช้สมถะวิธีคือมีรูปแบบ ยึดมั่นถือมั่น อึดอัด กดดัน แข็ง ไม่ปรับตัวตามสถานการณ์ ยอมหักไม่ยอมงอ

เพราะสมถะวิธีนั้นจะใช้วิธีในการเร่งอัตตาฝ่ายยึดดี ให้ยึดมั่นในความดี สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนติดดี ติดดีทั้งๆที่ยังมีกามอยู่นั่นแหละ คือยังมีความอยากอยู่ สรุปแล้วความอยากก็ไม่ได้ล้างแถมยังติดดีอีก นี่คืออันตรายของความหลงยึดในสมถะวิธี

ผู้ที่ใช้สมถะวิธีจะเข้าใจว่าทุกอย่างจบที่การกินมังสวิรัติได้ และสร้างอัตตามาครอบไว้ว่าฉันสำเร็จแล้ว ฉันทำได้แล้ว แล้วยึดมั่นปักมั่นตัวเองไว้ที่จุดที่ตนเองนั้นคิดว่าดี สรุปก็คือสามารถกินมังสวิรัติได้แต่ก็มีอัตตาก้อนใหญ่เพิ่มมาด้วย

…หลงผิดกลับไปกินเนื้อสัตว์

มีผู้ที่ใช้สมถะวิธีจำนวนหนึ่ง ที่หันกลับไปกินเนื้อสัตว์ ตามที่เราได้รู้แล้วว่าสมถะวิธีนั้นคือการกดข่มความชั่ว เชิดชูความดี แต่กิเลสที่มีมันไม่ตาย ทีนี้วันหนึ่งกิเลสก็สะสมกำลังไปเรื่อยๆจนฝ่าด่านมังสวิรัติได้

ผู้ที่ใช้สมถะวิธีในการกินมังสวิรัติจะไม่สามารถทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้แน่นอนอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อกิเลสกำเริบจึงกลับไปกินเนื้อสัตว์ด้วยความยินดี และมักหลงไปว่านี่แหละคือความพอดี ไม่ทรมาน ไม่ลำบากตัวเองจนเกินไป เข้าใจผิดว่าเป็นทางสายกลาง แล้วก็ปักมั่นอยู่ที่ตรงนั้น ยึดดีอยู่แบบนั้น หลงว่าภาวะนั้นแหละคือการบรรลุธรรม ทั้งๆที่เป็นเพียงสภาวะของการตึงเกินไปแล้วปรับมาหย่อนเท่านั้นเอง เป็นเพียงระหว่างทางที่ไกลแสนไกลสู่เป้าหมายที่เรียกว่าการทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์

แต่ผู้หลงผิดจะมีความเชื่อความเข้าใจว่าเขาเหล่านั้นถึงเป้าหมายแล้ว ทั้งๆที่ยังเดินมาไม่ถึงครึ่งทางก็ปักมั่นที่ตรงนั้นเป็นจุดหมายแล้วไม่เดินทางต่อ กลับไปเสพกาม คือกลับไปกินเนื้อสัตว์ พร้อมกับอัตตาก้อนใหญ่อีกก้อนว่าต้องแบบนี้สิถึงจะพอดี ถึงจะเป็นทางสายกลาง

นี้เองคือลักษณะของผู้หลงผิดว่าบรรลุธรรม ซึ่งในความจริงแล้วจะค่อนข้างตกต่ำกว่าคนธรรมดาที่กินเนื้อสัตว์ด้วยซ้ำ เพราะคนที่กินเนื้อสัตว์ทั่วไปยังไม่ได้ปักมั่นว่านี่คือทางบรรลุธรรมหรือทางสายกลางอะไร คนกินเนื้อเขาก็รู้และเข้าใจว่าเนื้อเบียดเบียน แต่ก็ห้ามความอยากไม่ได้ แต่คนที่หลงผิดนี่จะกินเนื้อสัตว์ไปด้วยอัตตาที่หลงผิดยึดติดเข้าไปอีก ทำให้ต้องอยู่กับความหลงนั้นอีกนานแสนนาน

…มังสวิรัติกับศาสนาพุทธ

การตั้งกลุ่มมังสวิรัติวิถีพุทธนั้น ตั้งมาเพื่อการศึกษาเรื่องกิเลสโดยใช้มังสวิรัติเป็นโจทย์ในการฝึก ไม่ใช่เพื่อการกินมังสวิรัติโดยตรง การกินมังสวิรัตินั้นไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ต้องเป็นพุทธก็สามารถกินมังสวิรัติได้ ไม่ว่าจะเป็นคริสต์ อิสลาม พราหมณ์ หรือไม่มีศาสนา ก็สามารถกินมังสวิรัติหรือเลิกกินเนื้อสัตว์ได้

ดังนั้นศาสนาจึงไม่มีผลต่อความสามารถในการเลิกกินเนื้อสัตว์เลย เพียงแค่ใช้สามัญสำนึกของมนุษย์ทั่วไปก็สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว เพราะมนุษย์มีความยึดดี ถือดี มีจิตใจดี เมตตา สงสาร เพียงใช้ข้อมูลที่เผยแพร่โดยทั่วไปเกี่ยวกับการทรมานสัตว์ ข้อมูลทางสุขภาพ หรือภาพที่กดดันทางจิตวิญญาณ ก็สามารถทำให้คนหันมากินมังสวิรัติได้โดยไม่ต้องไปโยงเรื่องศาสนาให้มันลำบาก

ทุกวันนี้ศาสนาถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมืออ้างอิงถึงความดี เพื่อให้คนหันมากินมังสวิรัติเท่านั้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็ยังอยู่ในลักษณะของสมถะวิธี คือใช้ข้อมูล ใช้ตรรกะ ใช้ความคิด ใช้ความดี มากดข่มความชั่ว หากถามว่าดีไหม? ก็ตอบได้ว่าดีเยี่ยม แต่ก็ยังไม่ดีที่สุดเท่านั้นเอง

ศาสนาพุทธนั้นไม่ใช่ศาสนาที่เน้นสมถะวิธี แต่ก็มีการใช้สมถะวิธีเป็นเครื่องมืออยู่บ้าง ในส่วนสิ่งที่เน้นก็คือการทำลายกิเลส โดยใช้อริยสัจ ๔ เข้ามาเป็นหลักใหญ่ในการปฏิบัติ ซึ่งจะประกอบด้วยธรรมะย่อยๆอีกมากมาย ซึ่งในทำลายกิเลสนี้จำเป็นต้องเห็นตัวตนของกิเลสเสียก่อน การเห็นกิเลสนั้นจะต้องค้นให้เจอเหตุแห่งทุกข์ จากที่สุดแห่งทุกข์ ในกรณีของการเข้าถึงมังสวิรัติอย่างผาสุกก็คือการทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์

ความอยากกินเนื้อสัตว์นี้เป็นคือรากที่ควรใช้เพื่อพิจารณากิเลส เพราะไม่ตื้นเกินไปเหมือนการใช้เมตตาหรือใช้ความดี และไม่ลึกเกินไปเหมือนกับการจะไปพิจารณาอวิชชาตั้งแต่แรก คือมีความเหมาะสมพอดีในการเริ่มต้น ส่วนหนึ่งเพราะ “ความอยาก” เป็นสาเหตุที่แท้จริงในการพาเราให้ไปกินเนื้อสัตว์ ส่วนเราจะสามารถขยายหรือขุดค้นเหตุอื่นๆที่ซ้ำซ้อนกว่านี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำต่อไป

ดังนั้นหากไม่ได้เริ่มต้นที่ “ความอยาก” ก็ไม่มีวันที่จะทำลายกิเลสได้ หากไม่หยุดชั่วก็ไม่มีวันที่จะเกิดความดีที่แท้จริง ศาสนาพุทธนั้นไม่ได้เน้นการทำดีเท่ากับการหยุดทำชั่ว เพราะรู้ดีว่าการหยุดชั่วแล้วก็จะเกิดผลดีขึ้นเองไม่น้อยก็มาก

…ความจริงใจคือคุณสมบัติสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

การจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุขนั้น จึงจำเป็นต้องเพ่งเล็งไปที่การทำลาย “ความอยาก” ด้วย “ความจริงใจ” ในทุกๆขั้นตอนของการปฏิบัติธรรม ก็จะสามารถข้ามผ่านความอยากไปได้ในวันใดวันหนึ่ง

หากผู้ที่มองว่าเพียงเมตตาแล้วสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุขก็แล้วแต่จะพิจารณา แต่จะสรุปไว้ตรงนี้เพียงแค่ว่า มังสวิรัติทั่วโลกก็ใช้ความเมตตาหรือความดีนี่แหละในการเข้าถึงการเป็นมังสวิรัติ แต่ศาสนาพุทธจะทำลายกิเลสหรือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ และสุดท้ายเมื่อไม่มีความอยากก็เลยกลายเป็นมังสวิรัติไปเองโดยไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องกดข่ม ไม่ต้องบังคับตัวเอง ไม่ต้องอยาก ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องทรมาน และไม่ต้องมีอัตตาไว้ยึดให้มันหนัก

สุดท้ายนี้หากผู้ใดอยากลองเห็นความอยาก ก็ลองดูตัวเองอย่างจริงใจ ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจโดยไม่ต้องกดข่ม ปล่อยตัวเองไปตามธรรมชาติและรับรู้ด้วยสัญชาติญาณแบบซื่อๆว่ายังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ไหม ไม่ต้องมีความดี ไม่มีความชั่ว มีเพียงเรากับเนื้อสัตว์ตรงหน้าเท่านั้น เราจะยังอยากกินอยู่ไหม เราจะรู้สึกอะไรกับเนื้อสัตว์เหล่านั้นไหม เราจะเป็นอย่างไร

ก็ขอเชิญให้ทบทวนในการตรวจระดับ 1-4 ที่มีมาก่อนหน้านี้อีกครั้ง เพื่อให้เห็นกิเลสในตนเองอย่างแท้จริง เพื่อที่จะเริ่มต้นกันใหม่กับการล้างกิเลสอย่างแท้จริง

ติดตามต่อได้ที่

Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)

รวยเท่ากับซวย #3

December 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,032 views 0

รวยเท่ากับซวย #3

รวยเท่ากับซวย #3

…เมื่อความมั่งคั่งในทางโลก คือความซวยชั่วกัปชั่วกัลป์

คนที่เกิดมาพร้อมกับความรวยนั้นดีจริงหรือ?มีบุญวาสนาเป็นตัวผลักดันจริงหรือ?เรารู้กันหรือยังว่าสิ่งใดเป็นตัวผลักดันให้เกิดความมั่งคั่งตั้งแต่เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ว่าสิ่งนั้นคืออะไร

สิ่งที่ทำให้คนเกิดมารวยก็คือ “กุศล” กุศลโลกียะแบบชาวบ้านๆนี่แหละ เช่นไปทำทานด้วยเงิน ส่งเสริมคนอื่นด้วยเงิน ช่วยเหลือคนอื่นไว้ด้วยเงินและด้วยปัจจัยอันมาก พอตายแล้วเกิดมาก็แค่ได้รับผลแห่งกุศลที่ตัวเองทำไว้ ไม่ได้เกี่ยวกับบุญแม้แต่น้อย เพราะบุญเป็นเรื่องของการลดกิเลส

ทีนี้พอเกิดมารวยแล้วไม่รู้ที่มาของความรวยนั้นก็จะถล่มใช้เงินเหล่านั้นทำบาป เสพกิเลส เพราะคนรวยนั้นมีศักยภาพที่จะสนองกิเลสมากกว่าคนอื่น สะสมบาปเวรภัยไปเรื่อยๆ เมื่อไปทำทานอย่างไม่มีปัญญารู้เรื่องบุญก็ได้แต่กุศลมาสะสม ทำให้เมื่อตายไปก็จะเกิดมารวยอีก แล้วก็เกิดมาสนองกิเลสอีกหลายภพหลายชาติจนกว่าบาปจะสั่งสมมากพอเป็นวิบาก เป็นผลทำให้เกิดทุกข์ โทษ ภัยในวันใดวันหนึ่ง

เมื่อเกิดทุกข์โทษภัย ทำให้ชีวิตลำบากหรือเกิดในชาติที่ชีวิตลำบากยากจน พอเห็นคนอื่นรวยก็อิจฉาแล้วก็ขยันหาเงินอีก พอมีเงินก็เอาไปทำทานเพื่อกุศล จนรวยขึ้นมาแล้วก็ตาย เกิดมาเสพกุศลตัวเองรวยไปอีกชาติ ก็วนเวียนจนๆรวยๆอยู่เช่นนี้ วนอยู่ในโลกแบบนี้ชั่วกัปชั่วกัลป์

….เกิดมารวยมันก็เท่านั้น

เกิดมารวยมันก็เท่านั้นเอง มันไม่ได้ยืนยันว่าจะเป็นสุขมากกว่าเด็กชาวเขาที่วิ่งเล่นกันทุกวันโดยไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องเรียนพิเศษ ไม่ต้องแต่งตัวเรียบร้อย ไม่ต้องมีมารยาท ถ้าหากเราใช้เงินและความมั่งคั่งมาเป็นตัววัดความสุข เรากำลังมีความเห็นผิดอย่างรุนแรง เพราะเงินเป็นเพียงปัจจัยอำนวยความสะดวกแต่ซื้อความสุขไม่ได้

มีคนมากมายที่ไม่มีโอกาสสัมผัสกับความร่ำรวยแต่ก็ยังมีความสุขในชีวิตประจำวัน มีความสบายใจที่ไม่ต้องแบกภาระแบกกิเลสอันมากมายของเงิน แบบนี้สิเขาเรียกว่ามีบุญวาสนาบารมี เพราะเขามีการลดกิเลสมาอยู่แล้ว เขาสามารถมีความสุขได้ทั้งๆที่ไม่มีเงินมากมาย เพราะกิเลสเขาน้อย ชีวิตจึงไม่จำเป็นต้องลำบากหาเงินจำนวนมากเพื่อเลี้ยงชีพ ไม่ต้องดิ้นรนไขว่คว้าให้มันลำบากกาย ลำบากใจ เพราะไม่มีกิเลสหรือพลังแห่งบาปเป็นแรงผลักดัน

…รวยไม่ได้หมายความว่าทำบุญได้มากกว่า

การที่เรารวยไม่ได้หมายความว่าเราจะมีศักยภาพในการทำบุญมากกว่าคนอื่น การทำบุญหรือการลดกิเลสนั้นทุกคนไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ยากจนหรือรวย ก็สามารถที่จะเรียนรู้เรื่องลดกิเลสได้เหมือนกัน ในส่วนการทำกุศลเช่นนำเงินจำนวนมากไปบริจาคสร้างสถานที่หรือสนับสนุนโครงการต่างๆ นั้นก็เป็นกุศลอยู่บ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าคนจนจะทำกุศลไม่ได้ เพราะมีคนจนหลายคน ที่สร้างตัวเองให้เป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้ทุกคนสร้างความดี ทำให้คนในชุมชนทำดี แบบนี้มันกุศลมากกว่า เพราะความดีมันเกิดในจิตใจคน ไม่ใช่เพียงวัตถุสิ่งของ

เห็นไหมว่าการทำกุศลไม่จำเป็นต้องใช้เงินเลย เงินจะเป็นปัจจัยที่ด้อยค่าด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับการทำความดีของคน ดังจะเห็นได้ว่ามีคนนำเงินไปบริจาคให้กับผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจำนวนมากนั่นเพราะเขาเห็นว่าผู้ปฏิบัติดีเหล่านั้นจะสามารถใช้เงินให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่าเขา นั่นเป็นเพราะว่าความดีในจิตใจของคนนั้นมีแค่เหนือเงินนั่นเอง

….คนรวยติดสุข

ความรวยนี่เองที่จะทำให้เราอยู่กับทุกข์ชั่วกาลนาน เพราะคนที่รวยจะติดสุข ติดไปกับโลกธรรมอยู่เรื่อยไป จะไม่มีวันเห็นทุกข์ในโลกธรรม เพราะตัวเองนั้นยังติดสุขอยู่กับลาภ ยศ สรรเสริญ ที่เกิดจากความรวยของตน ชีวิตก็ติดอยู่ในภพของเทวดา มีคนหาของมาบำเรอ อยากได้อะไรก็หาได้ กลายเป็นเทวดาในร่างคน ติดภพ ติดสุข อยู่เช่นนี้ กอดความรวยของตนเองไว้หลงว่าเป็นสุข หลงว่าเป็นบุญ ทั้งๆที่เป็นเพียงกุศลหรือผลของความดีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับบุญ

คนที่เกิดมารวยหรือคนที่พยายามจะรวยนั้น โดยมากจะมีกิเลสหรือพรั่งพร้อมไปด้วยกามคุณอยู่เสมอ ใช้ชีวิตบำเรอกาม รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสอยู่ไม่ขาด ไปที่ไหนก็ต้องกินดี ไปที่ไหนก็ต้องนอนดี อยู่ในที่ดีๆ ติดสุขอยู่แบบนี้ ยินดีในความรวยอยู่แบบนี้ จิตจึงตั้งมั่นอยู่ในความรวย แล้วพยายามสร้างกุศลให้ตัวเองได้เกิดมารวยอีกต่อไปเรื่อยๆ

เมื่อมีความติดสุขก็ย่อมไม่เห็นทุกข์ เมื่อไม่เห็นทุกข์ก็ไม่มีทางเห็นธรรม คนที่รวยมากๆจะเข้าถึงธรรมได้ค่อนข้างยาก จะเข้าถึงก็ได้แค่เพียงวัด แค่พระ แต่จะไม่เข้าถึงใจที่เป็นทุกข์จริงๆ การที่เราจะบรรลุธรรมได้นั้นเราต้องไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ในกิเลสด้านใดด้านหนึ่ง แต่คนรวยจะไม่ยอมทุกข์เพราะว่าตนเองติดสุข จะให้ไปทุกข์นั้นเขาจะไม่เอา แต่ถ้าให้ไปทำกิจกรรมในวัดที่เสริมโลกธรรมอันนี้จะชอบ เช่นแต่งชุดขาวเป็นประธานกฐิน ออกหน้าออกตาในสังคม อันนี้มันก็เป็นกุศลที่อาจจะปนบาปไปด้วยเช่นกัน

….ความซวยชั่วกัปชั่วกัลป์

ความหลงติดในความรวย ในความสุขสบายนี้เอง จะทำให้เราหลงติดอยู่ในโลกนี้ ไม่ยอมสละไม่ยอมทิ้ง คนที่ยอมสละได้ทิ้งได้ย่อมเป็นคนมีบุญเป็นอันมากและเมื่อทิ้งแล้วย่อมไม่ใช่คนรวย ดังเช่นพระพุทธเจ้าที่ทรงสละทุกอย่างมาออกบวช แม้รองเท้าก็ไม่เอาเป็นอดีตคนรวยที่สละทุกสิ่งเพื่อสิ่งที่ดีกว่า

ถ้าท่านยังคงติดอยู่ในราชสมบัติติดอยู่ในความสบายก็คงจะไม่มีคำสอนเรื่องธรรมะมาถึงพวกเราจนถึงทุกวันนี้ คนรวยในปัจจุบันนี้ก็เช่นกัน หากยังหลงในความรวยอยู่ ยังยึดติดว่าต้องรวยก่อนจึงจะทำกุศลได้อยู่ ยังมีความเห็นผิดเป็นอันมากอยู่ ก็จะกอดเก็บและสะสมความรวยนั้นไว้ สร้างบาป เวร ภัยต่อตัวเอง เป็นคนขี้โลภที่กอดกิเลสไว้ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมสละความรวย ไม่ยอมจน คนที่จะพ้นทุกข์ได้ไม่ใช่คนรวย พระพุทธเจ้าท่านก็ทำให้ดูแล้ว แต่ต้องเป็นคนจน จนขนาดที่ว่าแทบไม่มีอะไรเป็นของตัวของตนเลย มีเพียงแค่บาตร จีวรและเครื่องบริขารอีกเล็กน้อยไว้ดำรงชีพเท่านั้นจึงจะทำให้ชีวิตเบา

เพราะยิ่งรวยก็ยิ่งต้องแบกภาระ ก็ยิ่งต้องหนัก แต่พอจนมันไม่ต้องแบกไม่ต้องรับผิดชอบ ที่จริงคนรวยนี่เองคือคนที่ติดสุข ติดกิเลส ติดสะดวกสบาย ก็เลยหากาม หาโลกธรรมมาบำเรอตัวเองจนรวยเพื่อที่จะได้เสพความสบายวนเวียนไปอยู่เช่นนี้ติดภพติดสุขอยู่ในโลกไปเช่นนี้อย่างไม่มีวันจบสิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

15.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ปล่อยเธอไป

December 7, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,355 views 0

ปล่อยเธอไป

ปล่อยเธอไป

…เพราะรักจึงเข้าใจและยอมรับ

ในวันที่การพลัดพรากได้มาถึง วันที่ต้องห่างกายหรือในวันที่ต้องห่างใจและคงจะห่างออกไปเรื่อยๆอย่างไม่มีวันกลับมา เราพร้อมจะรับมันไหมหากว่าวันเวลาเหล่านั้นได้มาถึงโดยที่เราไม่ได้คาดคิดไว้ว่ามันจะมาถึงเร็วขนาดนี้

คู่รักหลายคู่ที่คบกันอย่างจริงใจ ไม่มีคู่ไหนที่คิดว่าความสัมพันธ์นั้นจะต้องเสื่อมต้องสลาย ซ้ำยังเชื่อมั่นว่าเราและเขาจะต้องเจริญไปด้วยกัน จะต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน จะต้องร่วมสุขร่วมทุกข์ไปด้วยกัน เป็นคู่ชีวิตของกันและกัน

ความเชื่อเหล่านี้เป็นชุดความเชื่อทั่วไปของคนที่คิดจะรักกัน ผูกพันกัน สร้างครอบครัว ดำรงชีวิตร่วมกันมองชีวิตข้างหน้ามีเพียงความสวยงาม แต่กลับกลบความจริงไว้ใต้จิตสำนึกและไม่คิดจะยอมรับมัน

ความจริงนั้นก็คือเราต้องจากคนที่รักคนที่ชอบใจเป็นเรื่องธรรมดา ไม่จากเป็นก็จากตาย ถ้าจากตายนี่มันก็ง่ายหน่อย เพราะว่าไม่ซับซ้อน ตายแล้วก็จบไป เรื่องต่อจากนั้นก็ให้เป็นเรื่องของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนจากเป็นนั้นมีหลายสาเหตุ เช่น จากเพราะหมดรัก จากทั้งที่ยังรัก ฯลฯ

1).ตายจาก

ในวันใดวันหนึ่งเราก็ต้องตายจากโลกนี้ไป ตายจากสภาพเหล่านี้ไป เหลือไว้เพียงความทรงจำกับกรรมที่ได้ทำไว้ หากเราเป็นผู้ที่จากไปก็คงจะไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่ถ้าเราเป็นผู้ที่ยืนมองคนที่รัก มองคนที่หวงแหนกำลังจะจากไป หรือจากไปแล้วไม่ว่าด้วยอุบัติเหตุ ด้วยโรคร้าย ด้วยกรรมบันดาลต่างๆ เราจะสามารถยอมปล่อยวางได้ไหม เราจะวางความยึดมั่นถือมั่นในตัวเขาได้หรือไม่

ยามเมื่อที่คนรักจากไป ความเศร้าโศกเสียใจนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมชาติ หลายคนร้องให้คร่ำครวญ หลายคนกินไม่ได้นอนไม่หลับเป็นเวลานาน หลายคนมีอาการซึมเศร้าและวิถีชีวิตเปลี่ยนไปหลังจากเสียคนที่รัก อาการทั้งหมดเหล่านี้เป็นธรรมชาติที่เห็นได้ในโลกแต่กลับไม่ใช่ธรรมชาติของธรรมะ

การที่เราเศร้าโศกเสียใจหรือมีอาการอื่นๆ โดยรวมเรียกว่าเป็นทุกข์ เมื่อเป็นทุกข์เราก็ต้องค้นหาเหตุแห่งทุกข์ เมื่อค้นลงไปแล้วก็จะเจอกิเลส คือความยึดมั่นถือมั่น การที่เราทุกข์เพราะเราต้องพรากคนที่เรายึดมั่นถือมั่นไป ไม่ว่าจะยึดไว้ในสถานะใดก็ตาม เช่น ผู้นำครอบครัว คู่ชีวิต เพื่อนชีวิต ฯลฯ เราจะต้องเจ็บปวดและทุกข์ทรมานมากเท่าที่เรายึดไว้

แต่ถึงจะทุกข์เท่าไร การจากพรากกันด้วยความตายนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย ยอมรับได้ง่าย แม้ว่าเหตุการณ์จะดูบังเอิญและซับซ้อนเพียงใด แต่ในท้ายที่สุดก็คงต้องยอมรับว่าคนตายไม่มีวันฟื้นคืนกลับมาอย่างแน่นอน

การจะยอมปล่อยยอมวางความยึดมั่นถือมั่นในคนที่ตายจากไปแล้วนั้น เป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปที่หลายคนสามารถทำได้ไม่ยากไม่ลำบากเท่าไรนัก แต่ก็ยังมีบางคน บางความเชื่อ บางวัฒนธรรมที่หลงติดหลงยึดไม่ยอมปล่อยยอมวางแม้ร่างนั้นจะเป็นซากที่ไร้วิญญาณไปแล้วก็ตาม

2).จากเป็น

สิ่งที่เข้าใจและยอมรับยากกว่าการจากตายก็คือการจากทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังเห็นกันอยู่ ยังวนเวียนอยู่ในชีวิตของกันและกัน แต่ความสัมพันธ์นั้นได้ตายจากไปแล้ว สถานะของคู่รักนั้นได้ยุติลงไปแล้ว อาจจะเกิดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายหมดรักต่อกัน หรือความจำเป็นบางอย่างก็ได้

ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายหมดรักหมดความอยากในการเสพกิเลสร่วมกัน หมดความหมายในการร่วมเคียงคู่กัน นั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะปล่อยวาง เพราะทั้งสองรู้ดีว่าคู่ของตนในตอนนี้สนองกิเลสให้ตนไม่ได้ ทำให้ตนไม่พอใจ จึงไม่ยินดีที่จะเคียงคู่กัน ดังนั้นการเลิกรากันอย่างเต็มใจนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้นำมาซึ่งความทุกข์ใดๆ เพราะไม่ได้ยึดไว้ตั้งแต่แรกก็เลยไม่ต้องทุกข์เพราะไม่ได้ถือก็เลยไม่ต้องวาง อาจจะเพราะความสัมพันธ์ที่ไม่ตรงใจนั้นทำให้เขาทั้งคู่ได้เรียนรู้และยินดีที่จะไม่ยึดมั่นในคู่ของตน

ในตอนจบของความสัมพันธ์แบบนี้อาจจะจบด้วยความเข้าใจก็ได้ หรือจะจบด้วยการทะเลาะเบาะแว้งก็ได้เช่นกัน เพราะถึงแม้ว่าเราจะไม่มีการยึดซึ่งกันและกัน ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง บางครั้งเราอาจจะต้องทะเลาะกันด้วยเหตุที่ว่าเรายึดในตัวเองมากเกินไป

แต่ในกรณีการจากกันทั้งที่ยังรักกันหรือการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังคงรักยังคงผูกพันอยู่โดยที่อีกฝ่ายไม่ยินดีจะเคียงคู่กันอีกต่อไป จึงนำมาซึ่งปัญหาทางจิตใจมากมายไปจนถึงสุขภาพและสังคม หน้าที่การงาน กระทั่งในทุกองค์ประกอบของชีวิต

2.1).หมดรักจึงจากไป

เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดรักโดยที่อีกฝ่ายยังคงรักและผูกพันอยู่ ผู้ที่ถอนตัวจากความรักความหลงได้ก่อนก็เป็นผู้ที่เอาตัวรอดไปได้ เหลือทิ้งไว้แต่คนซึ่งยึดมั่นถือมั่นในความรัก เหมือนกับคนสองคนดึงหนังยางคนละฝั่ง คนที่ปล่อยทีหลังก็จะเป็นคนที่เจ็บ เราเจ็บเพราะเราไม่ปล่อย แต่เราจะปล่อยได้อย่างไรในเมื่อเรายังรักและผูกพันอยู่

ไม่ว่าจะถูกเลิกราไปด้วยกรณีใดๆก็ตาม เรามักจะเห็นคนที่ถูกทิ้งเป็นทุกข์โดยมีอาการคร่ำครวญ เศร้าโศกเสียใจ คับแค้นใจ เหตุนั้นเพราะหลงติดหลงยึด รากปลายสุดสายของความหลงผิดก็คืออวิชชา เป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท คือ มีสังขาร มีวิญญาณ มีนามรูป มีสฬายตนะ มีผัสสะ ต่อเนื่องกันไล่มาจนถึงมีเวทนา มีตัณหา มีอุปาทาน จึงเกิดเป็นภพเป็นชาติ จึงมีความตายซึ่งหมายถึงการพลัดพรากจากความรักนั้น และเกิดความทุกข์ต่างๆต่อมาเรื่อยๆนั่นเอง

การจะไปแก้ที่อวิชชานั้นเป็นเรื่องที่ทำทันทีไม่ได้ หลายคนเข้าใจผิด เข้าใจไปเพียงว่าแค่เรา”รู้”ก็สามารถดับทุกข์นี้ได้แล้ว เพราะเข้าใจด้วยภาษาว่าอวิชชาคือ “ความไม่รู้” จึงแก้ด้วยภาษาซึ่งนำคำว่า “รู้” เข้ามาคิดจะแก้อวิชชา จึงเกิดการฝึกสติให้เกิดการรู้ตัวทั่วพร้อมโดยเข้าใจว่าการรู้ตัวคือตัวดับทุกข์ ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่เลย เป็นการเข้าใจผิดอย่างรุนแรง เพราะความรู้นั้นหมายถึงวิชชา คือความรู้แจ้งในกิเลสนั้นๆอย่างถ่องแท้ ดังนั้นการจะดับทุกข์ได้ต้องดับที่กิเลส ไม่ใช่ดับจิตให้นิ่ง แต่เป็นการขุดค้นเหตุแห่งทุกข์ แล้วดับมันด้วยสัมมาอริยมรรค

กลับมายกตัวอย่างอาการของคนที่ยึดไว้(อุปาทาน)เสียก่อน เมื่อเรามีความยึดในคู่ครองของตนแล้วต้องถูกพรากจากไปแบบเป็นๆนั้น จะมีอาการแสดงออกมาได้หลากหลาย ทั้งซึมเศร้าเหงาหงอย กินไม่ได้นอนไม่หลับ โวยวายตีโพยตีพาย เป็นบ้า ฆ่าตัวตาย อาการทำร้ายตัวเองเบียดเบียนตนเองเหล่านี้เป็นผลมาจากความยึดทั้งสิ้น

และยังสามารถแสดงอาการทำร้ายคนอื่นได้ เช่นการหึงหวง แม้จะถูกเลิกราไปแล้ว แต่ก็ยังตามรังควานอดีตคนรักที่เขาหมดรักไป ในมุมที่ไม่รุนแรงก็คือการตามง้อ ไปขอร้องให้มอบความเห็นใจ ขอให้กลับมารักกัน ร้องไห้ฟูมฟายเรียกร้องความสนใจ ไปวนเวียนอยู่ในชีวิตเขา ซึ่งการกระทำเหล่านี้เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นในระดับหนึ่ง เราเบียดเบียนเพราะเราอยากได้เขามาเสพเหมือนก่อน เพราะเรายึดว่าถ้าได้เสพจึงจะเป็นสุข และต้องเสพคนเดิมด้วยนะ เพราะเรายึดมั่นถือมั่นคนเดิมไว้

ความหึงหวงแม้ยุติความสัมพันธ์ไปแล้ว ก็เป็นเรื่องที่มักเห็นได้ตามข่าวในหนังสือพิมพ์ คือฝ่ายหนึ่งเลิกราไปแล้ว แต่อีกฝ่ายหนึ่งยังจองเวร ประมาณว่า “ถ้าข้าไม่ได้ก็ไม่ต้องมีใครได้คนนี้ไป” จึงตามรังควาน กดดัน บีบคั้น ใส่ร้าย จนกระทั่งมีการทำร้ายตบตี จนถึงฆ่ากันก็มีให้เห็นกันเป็นเหมือนเรื่องปกติ ลักษณะนี้เกิดจากความยึดที่รุนแรง พอตนเองโดนพรากสิ่งที่รักไปก็ไม่ยอมให้ใครได้ไป มันจะเอามาเป็นของตนอยู่ฝ่ายเดียว จนถึงขั้นฆ่าเพื่อไม่ให้ใครมาเสพก็ยังได้ ฆ่าทั้งที่ยังรักยังยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละ แต่เพราะความโกรธมันมากกว่า โทสะมันแรง พอเราไม่ได้เสพสมใจโทสะมันก็ขึ้น ถ้ามันขึ้นไปเหนือความรัก เหนือหิริโอตตัปปะ เหนือศีลเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็จะมีการกระทบกระทั่งจนถึงการทำร้ายกันฆ่ากันก็เป็นเรื่องธรรมดาของกิเลส

ไม่ว่าจะทำอย่างไร คนที่ยึดมั่นถือมั่นก็ยังคงต้องทนทุกข์ จะบอกให้ปล่อยวาง ไม่ไปทุกข์ ไม่เอาตัวเองไปทุกข์โดยใช้ความคิด ความเห็น ความเข้าใจเดิมมันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันยึดไปแล้ว กิเลสมันเกิดไปแล้ว อัตตามันสร้างไปแล้ว เราจะมาดูสรุปในข้อ 4. ตอนท้ายบทกัน

2.2).จากกันทั้งที่ยังรัก

การจากกันโดยที่เขาไม่ได้รักเราอีกต่อไปแล้วนั้นก็ยังทำใจได้ง่าย เมื่อเทียบกับการที่ต้องจากกันทั้งที่ยังรักกัน เขาก็รักเรา และเราก็รักกัน แต่ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆทั้งหลายนั้นอาจจะไม่เอื้ออำนวยให้ดำเนินชีวิตคู่ต่อไป อาจจะเป็นไปได้จากสาเหตุทั้งเรื่องส่วนตัว ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและกรรม

การจากกันโดยที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดรัก อาจจะทำให้คนที่ต้องถูกทิ้งเสียใจ เสียดาย หรือกระทั่งโกรธได้ หมายถึงเกิดได้ทั้งดูดและผลัก คือพยายามจะดูดดึงเขาเข้ามาในชีวิตเหมือนเดิม และสภาพผลักด้วยความโกรธ ความน้อยใจ ความผิดหวัง หรือการงอน ทำให้ผลักเข้าออกจากชีวิต

แต่การจากทั้งที่สองฝ่ายยังรักกันนั้น ยากนักที่จะเกิดสภาพผลัก เพราะไม่ได้ทำผิดอะไรต่อกัน ยังคงรู้สึกดีต่อกัน ยังคงต้องการกันและกัน ดังนั้นการดูดดึงย่อมมีพลังรุนแรงเพราะไม่มีพลังผลักมาต้านหรือมาลดแรงของการดึงดูดกัน ซึ่งเป็นเรื่องยากแสนยากที่ตัดใจได้ ยากที่จะปล่อยวางได้

จะขอยกทศชาติของพระพุทธเจ้าบทหนึ่งมาเป็นตัวอย่างในกรณีนี้ ในมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นชาติที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญทานบารมี ในชาตินั้นท่านเองก็มีลูกและภรรยาที่ทั้งรักและผูกพันแต่ก็ต้องตัดใจมอบทั้งลูกและภรรยาให้ผู้อื่นทั้งๆที่ยังรักอยู่และภรรยาท่านเองก็ยังรักท่านอยู่ เป็นเรื่องยากสุดยากที่สุดจะจินตนาการ ยากจะเข้าใจ เป็นเรื่องที่คนธรรมดาไม่มีทางทำได้ต้องบารมีระดับพระพุทธเจ้าเท่านั้นถึงจะทำได้

ลดลงมาเป็นระดับที่เห็นได้โดยทั่วไปบ้าง ดังเช่นคนที่ครอบครัวห้ามไม่ให้คบกัน โดนสังคมกีดกันไม่ว่าจะพยายามอย่างไรก็เป็นไปไม่ได้เพราะหากคบกันต่อแล้วจะมีคนอื่นทุกข์อีกมากมายหรือเกิดทุกข์ที่คู่รักคู่นั้นเอง มีบางคู่ที่มีความยึดมั่นถือมั่นมากไม่สามารถยอมรับสภาพการที่ต้องถูกพรากทั้งที่ยังรักกันได้จนกระทั่งเลือกที่จะหนีตามกันหรือตัดสินใจอื่นๆเพื่อหนีจากทุกข์นั้น ถึงแม้คู่ที่ต้องถูกพรากขณะที่ยังรักกันจะสามารถยอมรับการพลัดพรากนั้นได้แต่ถึงกระนั้นก็ยังจะต้องทนทุกข์ทรมานจากความยึดมั่นถือมั่นอยู่เช่นกัน

3). มากกว่ารัก

ดูเหมือนว่าความรักนั้นจะมาพร้อมกับความทุกข์เสมอ แต่ความรักนั้นก็ยังมีมิติที่ล้ำลึกกว่ารักที่เราเห็นและเข้าใจ เป็นมากกว่ารักทั่วไป เป็นรักที่ไม่มีการผูกมัด ไม่มีความทุกข์ มีความหวังดีและจิตเมตตาอยู่ แต่ไม่มีความผิดหวัง เพราะไม่ยึดสิ่งใดไว้ให้ผิดหวัง เราจึงต้องเรียนรู้ในเรื่องที่มากกว่ารัก

ในส่วนของผู้ที่ต้องการความเจริญในทางธรรม เช่นเดียวกับตัวอย่างของพระพุทธเจ้า เราเองก็ต้องทำเช่นนั้นเหมือนกัน แต่จะไม่ยากเท่า ไม่ลำบากเท่า ผู้ที่จะต้องการทำลายกิเลสเพื่อข้ามพ้นสู่ความผาสุกที่แท้จริง จะต้องทำลายกิเลสทิ้งในขณะที่มีความรัก ในขณะที่ยังรักยังผูกพัน ในขณะที่ความรู้สึกว่ารักนั้นยังคงอยู่ ยังเหลือเยื่อใยต่อกันอย่างเต็มที่เท่านั้น

การทำลายกิเลสหรือการทำลายความยึดมั่นถือมั่นนั้นไม่ใช่การทำลายความรัก แต่เป็นการยกระดับของความรักจากรักแบบโลกีย์ ให้กลายเป็นรักในแบบโลกุตระ เป็นรักที่ยิ่งใหญ่ มีแต่ความเมตตา มีแต่การให้ ไม่คิดจะเอาอะไรกลับมา เป็นเพราะรักมากจนกระทั่งยอมปล่อยยอมวาง รักมากเสียจนยินดีสละทุกอย่างให้ มากจนยอมทนทรมานเพียรทำที่สุดแห่งทุกข์เพื่อที่จะได้มาซึ่งรักที่ใสบริสุทธิ์จากกิเลสและนำรักที่บริสุทธิ์นั้นมาให้กับคนที่รักและคนอื่นๆอีกมากมาย

เพราะรักมากและเห็นคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ของความรักมากกว่าการครองคู่ มากกว่าการยึดมั่นถือมั่น มากกว่าการจองเวรจองกรรมกันข้ามภพข้ามชาติ มากกว่าการกอดทุกข์ไว้ คือการปลดปล่อยตัวเราและผู้อื่นออกจากการจองเวรจองกรรม เป็นโอกาสเดียวที่เราจะสามารถเข้าถึงความสุขแท้ได้คือยอมรับและเข้าใจทุกสิ่ง

เพราะรักจึงเข้าใจและยอมรับ ไม่ว่าจะถูกทิ้งหรือจำใจจะต้องเลิกราก็ตาม สุดท้ายการปล่อยวางจะเกิดจากการเข้าใจทุกเหตุปัจจัยและยอมรับในทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ

ผู้ที่ยอมปล่อยสิ่งที่รักได้อย่างเป็นสุข ปล่อยวางได้อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น จะได้รับปัญญาใหม่ ได้รับความรู้เกี่ยวกับความรักชุดใหม่ ได้รักใหม่ที่ดีกว่าเก่า สุขกว่าเก่า สบายกว่าเก่า สงบเย็นกว่าเก่า เมตตากว่าเก่า รักมากกว่าเก่า

4).เหตุเกิดของความยึดมั่นในสิ่งที่เรียกว่าความรัก

เหตุทั้งหมดของเรื่องเหล่านี้คือการยึด แล้วมันยึดอย่างไร ยึดมาตั้งแต่ตอนไหน เราจะมาลองอธิบายปฏิจจสมุปบาทไปกับการยึดของความรักกัน

จิตเดิมแท้ของเรานั้นเป็นจิตใสไม่มีกิเลส แต่ด้วยความไม่รู้คืออวิชชา ไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นกิเลส จึงหลงสร้างสภาพปรุงแต่งทั้งกายวาจาใจ เมื่อมีการปรุงแต่งจึงเกิดวิญญาณคือธาตุรู้ เมื่อมีวิญญาณจึงมีนามรูปคือตัวรู้แล้วตัวที่ถูกรู้ เมื่อมีนามรูปจึงมีสฬายตนะ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนถึงขั้นตอนนี้อาจจะเข้าใจยากสักหน่อยด้วยภาษาด้วยพยัญชนะ ซึ่งเป็นการเกิดของร่างกายและจิตใจเรานี่เอง

เมื่อเรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วจึงเกิดมีผัสสะ คือมีสิ่งกระทบ เช่นตากระทบรูปเห็นคน จำได้ว่าคนแบบนี้เรียกว่าคนสวยเป็นที่นิยม จึงเกิดเวทนาคือมีความสุขที่ได้เห็นคนสวย เมื่อมีความสุขจึงเกิดตัณหาคือความอยากเสพคนสวยหรือความสวยนั้น เมื่อมีตัณหาจึงมีอุปาทานคือการยึดมั่น ว่าฉันชอบคนสวย ฉันอยากได้คนสวย ฉันสุขใจเมื่อมีคนสวย มันยึดเข้าตรงนี้เอง กิเลสกลายมาเป็นตัวเราของเราตรงนี้เอง

ความรักหรือการยึดมั่นถือมั่นในคู่ครองก็เช่นกัน เมื่อเขาล่อลวงเราด้วยอบายมุข บำเรอเราด้วยกามคุณ สนองเราด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ โลกีย์สุข ทำให้เราเสพสมในอัตตาของเรา ทำให้เราได้รับผัสสะต่างๆ ได้กระทบกับสิ่งต่างๆเกิดเป็นความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ในส่วนของคนคู่นั้นก็มักจะเกิดการเป็นสุขมากกว่า เมื่อเป็นสุขก็เลยมีตัณหาคือความอยากเสพความสุขนั้นอีก อยากเสพไปเรื่อยๆจึงเกิดความยึดหรืออุปาทาน มันยึดคู่รัก คนรัก อดีตคนรักไว้ก็ตรงนี้ เพราะได้เสพสมใจในกิเลสจึงยึดมั่นถือมั่นไว้ เกิดความยึดในการเสพสุขนั้นไว้ แต่มันไม่จบเพียงเท่านี้

การยึดนั้นทำให้เกิดภพ หรือที่อาศัย ในที่นี้คือสภาพที่จิตใจได้ดำรงอยู่ เช่นติดอยู่ในภพที่ว่าเขาจะเป็นของฉันเช่นนี้ตลอดไป เมื่ออาศัยอยู่ในภพเช่นนี้จึงมีชาติ คือการเกิด เกิดกิเลสซ้ำ เกิดความอยากได้อยากมีอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายที่จะเกิดต่อจากความยึดว่าสิ่งนั้นเป็นสุข

แต่เมื่อมีการเกิดก็ต้องมีการดับเป็นธรรมดา คือเมื่อเกิดแล้วก็จะค่อยๆแก่ลงไปชราลงไป หมายถึงรักนั้นไม่ได้สดใสเหมือนเมื่อก่อน มันเสื่อมลง มันน้อยลง แม้ได้เสพก็สุขน้อยลง เมื่อแก่แล้วก็ต้องตาย ความตายอาจจะตายจากกันจริงๆหรือหมายถึงความรักนั้นตายจากใจก็ได้ มันหายไปสลายไปไม่มีเหลือ ที่นี้คนที่ติดสุข ติดภพ ยึดมั่นถือมั่นในคู่รักก็จะเกิดเป็นความเศร้าโศก คร่ำครวญรำพัน เสียใจ สร้างความคับแค้นใจ และความทุกข์ทั้งหมดทั้งมวลในความรักที่มีกิเลสย่อมเกิดด้วยเหตุเช่นนี้

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น สิ่งนั้นจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี” ดังนั้นการจะดับปัญหาที่เกิดขึ้นคือต้องดับที่ความยึดมั่นถือมั่น การจะปล่อยวางได้อย่างแท้จริงต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่การจะทำลายความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ง่ายเพียงแค่ท่องว่าปล่อยวาง แต่เป็นการทำลายกิเลสซึ่งเป็นรากแห่งความยึดมั่นถือมั่นโดยใช้อริยสัจ ๔ เข้ามาเป็นพระเอกในภารกิจนี้ต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

6.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์