Tag: ความหลง

ฉันคือผู้หลุดพ้น

December 5, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,343 views 0

ฉันคือผู้หลุดพ้น

ฉันคือผู้หลุดพ้น

…ความหลงว่าบรรลุธรรม กรณีศึกษามังสวิรัติ

(*คำเตือน!! บทความนี้มีเนื้อหาที่จะไปกระแทกอัตตาของผู้ที่หลงว่าบรรลุธรรม ผู้ที่ไม่มั่นใจว่าจะสามารถรับสิ่งกระทบระดับนี้ไหวขอแนะนำว่าไม่ควรอ่าน ถ้าท่านฝืนอ่านแล้วเกิดอาการไม่พอใจก็สุดแล้วแต่บาปกรรมของท่านเอง)

สภาวะของการหลุดพ้นจากความอยากนั้นได้เรียบเรียงกันไว้หลายบทหลายตอนแล้ว ในบทความนี้จะมาขยายในมุมของความหลงกันบ้าง เพื่อที่นำจะความรู้เหล่านี้ไปใช้พิจารณาหาประโยชน์ที่แท้จริงของการกินมังสวิรัติด้วยเนื้อหาที่เข้มข้นทั้งหมด 9 ข้อ

1).กินมังสวิรัติไม่ลำบาก

มีหลายคนที่สามารถกินมังสวิรัติได้เองโดยที่ไม่ต้องใช้ความพยายามมาก แต่เขาเหล่านั้นไม่รู้ว่าเพราะอะไร เกิดมาจากอะไร การมีบารมีสะสมมาแบบนี้อาจจะเกิดจากการสะสมพลังเจโตสมถะมาหลายชาติก็ได้ เช่นในชาติที่เป็นฤๅษีก็กินผลไม้ รากไม้ ใบไม้ไป จนเกิดสภาวะเคยชินส่งผลมาถึงชาตินี้ก็สามารถกดข่มความรู้สึกได้ง่ายดายเหมือนกับว่าไม่ต้องพยายามใดๆเลย แต่เขาเหล่านี้จะไม่รู้จักกับความอยาก ไม่รู้จักกิเลส เพราะมันถูกกดลงไปก่อนที่จะรู้ตัวเป็นสภาพจิตกดข่มโดยอัตโนมัติเพราะเหตุที่สะสมมาหลายชาติ

2).เข้าใจว่ากินมังสวิรัติแล้วกิเลสลด

ตรงนี้เป็นความหลงที่ค่อนข้างหนัก เพราะการกินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าลดกิเลสเป็น และไม่ได้หมายความว่ากิเลสลด คนที่กินมังสวิรัติได้เป็นสิบๆปี อาจจะลดกิเลสไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เพียงแค่ข่มไว้ด้วยสัญชาติญาณปกติของมนุษย์คือเมื่อรับรู้ว่าการกินเนื้อสัตว์ไม่ดี เป็นบาป เบียดเบียน ก็รู้สึกว่าไม่อยากทำก็เลยใช้การอดทนไปตามธรรมชาติ เหมือนกับการที่เราอดทนไม่ต่อว่าใครที่มาดูถูกเรา มันก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะอดทนต่อสิ่งเร้า เป็นเรื่องธรรมดาไม่ได้เกี่ยวกับกระบวนการลดกิเลสแต่อย่างใด

คนที่กินมังสวิรัติแล้วลดกิเลสไม่เป็นจะไม่รู้ต้น ไม่รู้กลาง ไม่รู้ปลาย คือไม่รู้อะไรเลย รู้แค่กินมังสวิรัติแล้วดี แต่ไม่รู้ว่ากิเลสเริ่มเกิดจากตรงไหน ไม่รู้ว่ามันตั้งอยู่หรือซ่อนอยู่แบบใด และไม่รู้ว่ามันจบลงที่ใด ในพระไตรปิฏกมีการอธิบายเรื่องเจโตปริยญาณชัดเจนว่าต้องรู้ในทุกสภาวะจิต คือเกิดก็รู้ดับก็รู้ มีอยู่ก็รู้หายไปก็รู้ และรู้ได้ด้วยว่าเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงเท่าไหร่ นี้คือปัญญาของพุทธ คนที่ไม่มีปัญญาพุทธ จะเดาๆเอา มั่วเอา คาดคะเนเอาเอง แล้วมันก็เมาหมัดตัวเองเพราะดูสภาวะจิตตัวเองไม่ออก

คนที่ลดกิเลสได้จริงถ้าทำได้ถึงระดับดับจิตที่อยากให้สิ้นเกลี้ยงหรือสามารถดับกิเลสได้ จะดับวจีสังขารคือคำปรุงแต่งในใจได้ และดับไปถึงกายสังขารคือร่างกายจะไม่โหยหิว ไม่อยากกิน ไม่อร่อยตามไปด้วย คือถ้าดับกิเลสได้จริงมันจะไม่กินเป็นธรรมชาติเป็นเรื่องปกติ แต่ก็สามารถไปกินได้โดยการอนุโลมเป็นกรณีไป

3). การอนุโลมของผู้หมดกิเลส

สมมุติว่ามีหลวงปู่ท่านหนึ่งสามารถดับกิเลสเรื่องมังสวิรัติได้แล้ว แต่ลูกศิษย์ของท่านนั้นยังอินทรีย์พละอ่อนมาก ถ้าสอนให้กินมังสวิรัติเลยลูกศิษย์จะตายเพราะพลังไม่พอ จะทรมาน จะทุกข์ จะเข้าขีดของอัตตกิลมถะ ซึ่งเป็นทางโต่ง ท่านก็เลยไม่ได้เน้นหนักไปทางนั้นเพราะยังมีวิธีสอนให้ลดกิเลสอีกตั้งหลายทาง จึงยอมอนุโลมแบกวิบากบาปในการกินเนื้อสัตว์ตรงนี้ต่อไปเพื่อไม่ให้ศิษย์เครียด

หรือกรณีเอตทัคคะของพระพุทธเจ้าท่านหนึ่งสามารถกินข้าวเพียงหยิบมือเดียวแล้วมีกำลังอยู่ได้ทั้งวัน เป็นกุศล เป็นสิ่งที่ดี เบียดเบียนน้อย แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องทำเพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ยาก และผู้ที่อินทรีย์พละอ่อนจะตายกันเสียก่อน ท่านจึงอนุโลมไว้เพียงแค่กินข้าวมื้อเดียว ดีที่สุดในโลก

ตรงนี้เองที่คนมีกิเลสใช้เอามาตีกิน มาเหมาเอาว่าตนเองบรรลุธรรม อ้างว่าอนุโลม แล้วบอกว่าทำให้พอดีเป็นเรื่องที่เห็นได้ในทุกยุคทุกสมัย หากถามถึงมรรคผลคือวิธีปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์และสภาพพ้นทุกข์เป็นอย่างไรก็จะพบว่า “ไม่มี” และผู้หลงผิดที่มีกิเลสหนากว่านั้นก็บอกว่าจะ”ตนมีมรรคผล”แต่ไม่บอก ไม่ชี้แจง ไม่แถลง ไม่อธิบายให้ไปปฏิบัติเอาเองแล้วจะรู้

ซึ่งผิดกับผู้บรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาซึ่งจะมีหลักข้อหนึ่งคือ “ธรรมทาน ชนะทานทั้งปวง” เมื่อธรรมทานนั้นเป็นทานที่ดีที่สุด จะมีเหตุอันใดที่ผู้บรรลุธรรมนั้นจะไม่มอบทานนั้นแก่คนผู้ที่ยังมีความสงสัย เว้นเสียแต่เขาเหล่านั้นไม่มีธรรมนั้นในตนเอง พอไม่มีเลยไม่รู้ว่าจะให้อะไร

4).การรู้ประมาณ

การรู้จักประมาณในการบริโภคนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก มีหลายคนที่คิดว่ากินเนื้อกินผักมันก็เบียดเบียนเหมือนกัน อันนี้มันก็ถูกใครประโยคแต่ในสาระมันไม่ใช่ เพราะปริมาณมันต่างกัน

ทุกคนที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกนั้นเกิดมาพร้อมกับร่างกายที่ต้องคงสภาพด้วยการเอาธาตุอาหารมาเลี้ยง แต่เราจะเอาสิ่งใดมาเลี้ยงนั้นมีผลต่อชีวิตจิตใจเราด้วยเช่นกัน การรู้จักปัจจัยที่ส่งผล คือ บุญ บาป กุศล อกุศลนั้น จะทำให้เราวิเคราะห์การลงทุนใช้ชีวิตได้ดีขึ้น นักลงทุนที่ไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวปัจจัยหรือตัวแปรที่ส่งผลต่อชีวิตก็จะตีรวมๆ ว่าเบียดเบียนเหมือนกันหมดฟังแล้วมันก็ดูดีแต่ไม่ฉลาด

เพราะการที่เราใช้แต่ละสิ่งในการเข้ามาบำรุงร่ายกายเรานั้นให้ผลต่างกัน ทั้งในทางความรู้เชิงโลกเช่นกินเนื้อแล้วอาจจะเป็นมะเร็ง หรือกินผักแล้วถ่ายคล่อง หรือในทางธรรมคือบุญ บาป กุศล อกุศล คือการเบียดเบียนนี้สร้างทุกข์ หรือผลกระทบเท่าไร เช่นเรากินเนื้อวัว วัวเป็นสัตว์ที่มีบุญมาก มีพลังชีวิตมาก การจะฆ่าวัวมันจะเจ็บปวดทุกข์ทรมานมาก เราต้องรับกรรมส่วนนั้นมาด้วย

ในส่วนของการกินผัก ผักคือพืช พืชนั้นมีชีวิต แต่ไม่มีวิญญาณและเวทนา พืชไม่รู้สึกเจ็บ ไม่รู้สึกโกรธ ไม่แค้น ไม่อาฆาต สามารถเด็ดกิ่งไปชำได้ โตแล้วขยายพันธุ์ได้เรื่อยๆเพราะมันเป็นพืช ไม่ได้ใช้วิญญาณในการสังเคราะห์ร่างกาย แต่ใช้สัญญาในการสังเคราะห์เช่น เมื่อรดน้ำพืชจะดูดเอาน้ำไปสังเคราะห์รวมกับธาตุอื่นจนเป็นพลังงานขึ้นในตัว เกิดเป็นแป้ง เป็นเนื้อไม้หรืออื่นๆ ในกรณีของยางพืชที่ไหลออกเมื่อกรีดนั้นก็คือสัญญาที่มันรับรู้ว่าเมื่อลำต้นเป็นแผลก็ต้องหลั่งสารมาปิดแผล เป็นเช่นนี้เสมอมา ไม่มีพืชต้นไหนที่เคยงอนไม่ยอมหลั่งน้ำยาง หรือโกรธเราจนต้นเหี่ยวเฉาตายไปเอง แต่เป็นเพราะธาตุที่มาสังเคราะห์กันนั้นส่งผลให้มันโต ตรงไหนธาตุครบมันก็โตเหมือนกันหมด ไม่มีต้นไหนโตเอาใจเราเพราะรักเรา แต่มันโตเพราะได้ธาตุครบตามสัญญาที่มี

ดังนั้นเมื่อรู้ประมาณในเรื่องบุญบาปกุศลอกุศลแล้ว จึงใช้ความรู้เหล่านี้มาประมาณกรรมของตัวเอง ผู้มีปัญญาย่อมยึดอาศัยสิ่งที่ส่งผลต่อกรรมชั่วให้กับตัวเองน้อยที่สุด

ดังเช่นผู้ที่หมดกิเลสอย่างแท้จริง จะรู้ว่ากินเนื้อแล้วต้องทรมานร่างกายเช่นไร ได้รับผลกรรมเช่นไรบ้าง แต่บาปคือการสะสมกิเลสนั้นไม่มีแล้วเพราะไม่มีเชื้อกิเลสให้เพิ่ม กินเนื้อไปกิเลสก็ไม่เพิ่ม ดังนั้นจึงเหลือแต่กุศล อกุศลเท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นคนที่มีชีวิตปกตินั้นก็ไม่จำเป็นต้องอนุโลมกลับไปกินเนื้อให้มันลำบากกายลำบากกรรม ส่วนคนที่หลงว่าบรรลุธรรมแล้วจะกินเนื้อกินผักให้พอดีนั้นนี้มันยังเห็นผิดอยู่มาก เพราะเอาผิดมาเป็นถูก เอากรรมชั่วเข้ามาใส่ตนโดยไม่จำเป็น

ถ้าจะให้เปรียบก็คงเป็น ความคิดประมาณว่า แหม…ช่วงนี้ชีวิตมันดีเหลือเกิน กินมังสวิรัติมาได้เป็นเดือนมีแต่เรื่องกุศล ว่าแล้วก็ชั่วเสียหน่อย กินเนื้อให้ชีวิตมันมีกรรมชั่วเข้ามาเสียหน่อยเดี๋ยวมันไม่เป็นกลาง …อันนี้มันก็ประมาทอยู่มาก เห็นผิดอยู่มาก เพราะกรรมมันไม่ได้มีแค่ในชาตินี้ชาติเดียว มันยังมีของเก่าที่ยังไม่ส่งผลอยู่ ผู้ดับกิเลสได้จริงจะเห็นถึงผลกรรมที่หนักหนา และก่อนที่ท่านเหล่านั้นจะพิจารณาอนุโลมกลับไปกิน ท่านก็ยอมรับกรรมเหล่านั้นเพราะรู้ว่าแลกมาด้วยบางสิ่งซึ่งมีค่ากว่าจึงอนุโลมไปกิน

ไม่ใช่การตีกินของพวกหลงบรรลุธรรม ว่ากินเนื้อบ้างกินผักบ้าง ให้พอดีไม่ทรมาน ไม่ลำบาก การกินเนื้อสัตว์ไปก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับร่างกาย ไม่ได้เป็นกุศลใด ไม่ได้ช่วยให้ใครพ้นทุกข์ แถมตัวเองยังทำทุกข์ทับถมตัวเองไปเสียอีก

คนมีปัญญาจะสามารถรู้ได้ว่าเรารับมาเท่าไหร่ เราจ่ายออกไปเท่าไหร่ คือกินใช้เท่าไหร่ ทำประโยชน์ให้โลกมากเท่าไหร่ สิ่งไหนเป็นกำไรบุญ สิ่งไหนขาดทุน สิ่งไหนเป็นประโยชน์ สิ่งไหนเป็นโทษ แต่ถ้ามันหมดปัญญาขนาดเห็นว่าทำอะไรก็เบียดเบียนไปหมดแล้วไม่รู้จะหาทางออกยังไงเลยเบียดเบียนมันทุกอย่างนั่นแหละซึ่งใครจะคิดแบบนั้นก็คงช่วยไม่ได้

5).ปัญญากับมังสวิรัติ

การกินมังสวิรัติได้นั้นจำเป็นต้องศรัทธา มีปัญญาเป็นตัวเริ่ม คือเห็นความไม่ดีไม่งามของการกินเนื้อสัตว์ ปัญญาตรงนี้เป็นปัญญาตัวเริ่มไม่ใช่ตัวจบ เป็นปัญญาที่เป็นมรรคหรือเป็นทางเดินให้เราก้าวเข้าสู่การกินมังสวิรัติ

แต่ปัญญาที่เป็นมรรคนั้นไม่ได้หมายความว่าจะฉลาด รู้แจ้งทะลุปรุโปร่ง ก็รู้แค่เพียงว่ากินเนื้อสัตว์ไม่ดีด เป็นบาปกรรม ทำให้สุขภาพแย่ มันก็ได้เพียงแค่นั้น หลังจากกินมาได้สักพักจะนานเท่าไหร่ก็แล้วแต่ว่าจะกดข่มกิเลสไว้ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ถ้าล้างกิเลสไม่เป็นสุดท้ายจะหวนกลับไปกินเนื้อสัตว์

พอไม่ถึงผลที่แท้จริงมันจะเพี้ยนได้ปัญญาเฉโก ได้ปัญญาปนกิเลสไปแทน มันจะเข้าใจว่าปัญญาตัวนั้นคือตัวบรรลุธรรม จะเกิดสภาพหลอกๆเหมือนกับว่าปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในมังสวิรัติแล้วกลับมากินเนื้อได้อย่างเป็นสุข โดนกิเลสมันหลอกเข้าอย่างแนบเนียนที่สุด กิเลสผูกเข้ากับปัญญาเป็นเนื้อเดียวกัน พูดแล้วคนอื่นจะรู้สึกดูดีมีพลัง ฟังแล้วเหมือนคนบรรลุธรรม เหมือนคนหลุดพ้น จริงๆมันก็แค่พ้นจากทางสายกลางกลับไปเสพกามเท่านั้นเอง ทีนี้พอมาพูดให้คนที่มักกินเนื้อหรือกินมังสวิรัติไม่จริงจังกัน เขาก็จะเห็นดีด้วยชื่นชมกัน เพราะจริงๆแล้วก็ไม่มีใครอยากทรมานเพราะความอดอยากหรอก

การจะถึงผลที่แท้จริงถ้าเทียบอัตราส่วนก็สองต่อเส้นขนวัวทั้งตัว เป็นอัตราการประสบความสำเร็จที่ต่ำมาก เพราะไม่คบสัตบุรุษหรือผู้มีสัจจะแท้ กินมังสวิรัติเอาเอง เข้าใจธรรมเอาเอง คิดเอาเอง เดาเอาเอง พอได้เจอสภาวะหนึ่งก็หลงไปเองว่าบรรลุธรรม บางครั้งบางคนมีครูบาอาจารย์แต่ท่านเหล่านั้นกลับไม่ใช่สัตบุรุษ ไม่ใช่ผู้มีสัจจะ ไม่ใช่ผู้ดับกิเลสได้ ก็จะพากันเฉโก พากันหลงทางกันไปทั้งกลุ่มทั้งก้อนแบบนั้นเอง

เรื่องกิเลสนั้นเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ไขและขยายไว้อย่างละเอียดลออ ในบทของอวิชชา ๘ นั้นได้กล่าวไว้ว่า ถ้าไม่ได้คบหาสัตบุรุษย่อมไม่ได้ฟังสัจธรรม เมื่อไม่ได้ฟังสัจธรรมย่อมไม่เกิดศรัทธา เมื่อไม่เกิดศรัทธาย่อมไม่เกิดการพิจารณาลงไปถึงที่เกิด จึงไม่เกิดสติสัมปชัญญะ ไม่สำรวมตา หู ลิ้น จมูก กาย ใจ จนกระทั่งทำผิดทั้งกายวาจาใจ จนเกิดนิวรณ์ นำมาซึ่งอวิชชาในที่สุด

ดังนั้นเรื่องจะกินมังสวิรัติให้ถึงผลแท้จริงหรือการดับกิเลส โดยที่คิดเอาเอง ไม่มีครูบาอาจารย์ที่มีความรู้หรือมีสัจจะแท้ไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ถ้าเห็นว่าเป็นไปได้แม้ไม่มีคนสอนก็จะมีสองกรณี หนึ่งคือเพี้ยนหลงว่าบรรลุธรรม สองคือมีธรรมนั้นในตัวมาอยู่แล้วเคยดับกิเลสนั้นๆมาก่อนแล้วในชาติก่อนภพก่อนกำเนิดก่อน

6). ทางสายกลวง

ทางสายกลางนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ไม่ยากแต่กลับเป็นสิ่งที่คนหลงผิดกันมากที่สุด ทางสายกลางนั้นมาจากบทหนึ่งของคำสอนในพุทธศาสนา คำว่ากลางนั้นไม่ได้หมายถึงกินเนื้อบ้างกินผักบ้างให้พอดี แต่เป็นกลางอยู่บนกุศลสูงสุด กลางด้วยปัญญา ไม่ใช่กลางแบบสบายๆ กินก็ได้ไม่กินก็ได้ อันนี้ถ้าตามหลักเขาจะเรียกพวกติดกาม คือกามสุขัลลิกะ คือโต่งไปในด้านเสพ แล้วอีกด้านหนึ่งก็คือโต่งไปในด้านการทรมานตัวเองด้วยอัตตาหรืออัตตกิลมถะ เช่นการพยายามฝืนกินมังสวิรัติด้วยความทรมานกายและใจ

คนที่อยู่บนทางสายกลางนั้นจะไม่ไปเสพเนื้อสัตว์ แต่ก็จะไม่ทุกข์กับการไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ใช่กลางตามที่หลายคนเข้าใจ เพราะถ้าธรรมะมันง่ายขนาด 1+1 แล้วหารด้วย 2 เป็นกลาง พระพุทธเจ้าคงไม่ต้องลำบากถึงสี่อสงไขยกับแสนมหากัปหรอก ดังนั้นการเข้าใจคำว่าทางสายกลางจะคิดเอาเองไม่ได้นึกเอาเองไม่ได้ ต้องมีผู้ที่เข้าใจธรรมหรือบรรลุธรรมเป็นผู้ชี้แจงและแถลงให้เท่านั้น

คนที่เข้าใจว่าทางสายกลางคือไม่ยึดมั่นถือมั่นในมังสวิรัติจนเกินไปแล้วผ่อนมากินเนื้อนั้น ขอสรุปตรงนี้เลยว่าเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะเป็นเพียงการปรับจากอัตตกิลมถะเข้าสู่กามสุขัลลิกะเท่านั้น คือมันลำบากใจก็ผ่อนกลับมากินแล้วก็สบายๆ มันก็เป็นการสนองกิเลสแบบสามัญธรรมดา เหมือนกับคนทั่วไปที่หิวแล้วไปกินข้าว ไม่ได้พิเศษอะไร ไม่ได้บรรลุธรรมอะไร ไม่ได้มีสาระสำคัญใดๆ

7).กินมังเหยาะแหยะ

คนที่กินมังสวิรัติอย่างครึ่งๆกลางๆ กินบ้างไม่กินบ้าง กินเหยาะแหยะ กินมังสวิรัติแล้วก็กลับไปกินเนื้อ ไม่จริงจัง ไม่รู้สาระหรือประโยชน์ แม้ว่าจะกินมา 20 ปี 30 ปี หรือทั้งชีวิต ก็ไม่ก่อให้เกิดบุญเท่ากับผู้ที่ตัดสินใจเลิกเนื้อสัตว์ทั้งชีวิตเพียงแค่หนึ่งเดือน

จริงอยู่ที่ว่าคนที่กินมานานนั้นทำความดีมามาก โดยรวบยอดแล้วกุศลจะมาก แต่บุญเป็นอีกเรื่องหนึ่ง บุญนั้นคือการลดละกิเลส ดังนั้นจิตที่ตั้งใจว่าจะเลิกอย่างจริงจังนั้นหมายถึงความเข้มแข็งในจิตวิญญาณที่เข้มข้นจนกระทั่งตั้งตบะเลิกตลอดชีวิตเป็นความตั้งใจที่จะทำลายกิเลสนี้ให้สิ้นเกลี้ยง ถึงแม้ว่าจะทำจนถึงผลไม่ได้แต่ก็เป็นบุญที่มากกว่าในจิตวิญญาณที่มีความตั้งใจเช่นนั้นแล้ว

การบรรลุธรรมหรือการเข้าใจความจริงอย่างถ่องแท้ บรรลุสัจจะ เข้าใจโลก นั้นหมายถึงการตัดกิเลสจนสิ้นเกลี้ยง ไม่ใช่แค่ระดับลด ละ แต่ต้องอยู่ในระดับที่เลิกไปเลย เลิกอย่างถาวรไม่มีความคิดที่จะกลับมากินอีกแม้น้อย ดังนั้นต่อให้กินมังสวิรัติมาทั้งชีวิต กินมาหลายภพหลายชาติ แต่ถ้าจบเรื่องกิเลสไม่เป็นมันก็เท่านั้นเป็นกุศลเกิดประโยชน์แต่ไม่เป็นบุญเพราะลดกิเลสไม่เป็น

คนที่จะสามารถอนุโลมได้อย่างไม่มีบาปนั้นคือผู้บริสุทธิ์ด้วยศีลมังสวิรัติ คือกินอย่างรู้สาระ และกินได้อย่างปกติ ไม่ใช่กินแบบงมงาย กินแบบเขาพูดกันมาว่าดี หรือกินเพราะสงสาร แต่ต้องรู้ไปถึงประโยชน์ขั้นปรมัตถสัจจะด้วย จึงจะเรียกได้ว่าอนุโลม ถ้ายังไม่ถึงระดับนั้นจะเรียกว่าตีกิน เนียนกินตามกิเลสโดยหาข้ออ้างที่ทำให้ตัวเองดูฉลาดเพื่อให้ได้กินเนื้อสัตว์

ถ้าลองให้คนที่หลงว่าบรรลุธรรมแล้วกลับไปกินเนื้อสัตว์เลิกเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต กิเลสของเขามันก็หาข้ออ้างที่ดูฉลาดๆเหมือนคนกินเนื้อนั่นแหละ สุดท้ายคนที่หลงว่าบรรลุธรรมกับคนยังอยากกินเนื้อมันก็เหมือนๆกัน คนที่ยังอยากกินเนื้อยังดีเสียกว่าด้วยซ้ำเพราะว่ายังรู้ว่าตัวเองอยาก การรู้ว่ากินเพราะอยากก็เป็นความเจริญอยู่บ้าง แต่อยากกินแล้วไม่รู้ว่าอยากกินนี่ไม่รู้ว่าจะเปรียบกับอะไร

8). กินอยู่อย่างพอดี

หลายคนที่กินมังสวิรัติแล้วหย่อนลงมากินเนื้อสัตว์อาจจะเพราะพบว่าเป็นทางที่สุขกว่า พอดีกว่า เห็นผลดีกว่า ที่มันสุขเพราะมันมีกิเลสมันเลยสุข ถ้าคนไม่มีกิเลสไปกินเนื้อมันจะไม่มีมีรสสุขและเขาจะไม่ไปกินให้ลำบากกายลำบากใจตัวเอง

ทีนี้ผู้หลงบรรลุธรรมแล้วเสพทั้งเนื้อสัตว์และผักก็จะหลงยึดว่านี่คือสิ่งที่ดี ความพอดี ความสมดุลนี่เองคือสิ่งที่เรียกว่าพอดี มันต้องแบบนี้ ดูๆแล้วเหมือนว่าจะดีแต่ก็ไม่ต่างกับคนทั่วไปที่กินเนื้อสัตว์และกินผักสักเท่าไหร่ พูดมาก็จะเหมือนๆกัน สรุปว่ามังสวิรัติที่กินไปก่อนหน้านั้นมีอะไรเจริญขึ้นบ้าง ปัญญาในการเริ่มต้นมันมีนะ แต่ปัญญาในตอนจบมันไม่มี มันเสื่อมถอยกลายเป็นเหมือนคนกินเนื้อสัตว์ไปอย่างนั้น จะว่าสูงสุดคืนสู่สามัญมันก็ไม่ใช่ เพราะมันก็ไม่ได้ไปสูงอะไร แค่กินมังสวิรัติวัวควายมันก็กินได้ มันกินมาทั้งชีวิตก็ไม่เห็นมันจะเจริญอะไรขึ้นมา คนกินมังสวิรัติที่ไม่รู้สาระก็เช่นกัน กินผักกินหญ้าไปมันก็ดำรงชีวิตได้เหมือนกินเนื้อนั้นแหละ คนที่ไม่รู้สาระไม่รู้สัจจะเขาก็ไม่คิดมากกินเนื้อกินผักไปทำบาปทำกุศลไปตามประสาคนโลกียะ

ส่วนคนที่กินมังสวิรัติแล้วหาสาระไม่เจอ สุดท้ายก็จะเสื่อมลงมาเหมือนกับคนกินเนื้อกินผักทั่วๆไปนี่เอง จะว่าสูงกว่าคนกินเนื้อกินผักมันก็คงจะไม่ใช่ เพราะเวลาร่วงลงมามันจะมีอัตตาติดมาด้วย มันจะยึดดี หลงว่าดี หลงว่าฉันนี่บรรลุธรรม ฉันนี่เคยกินมังสวิรัติมาแล้วและพบว่ามันไม่พอดี ต้องกินเนื้อกินผักสิจึงจะพอดีอัตตานี้เองจะเป็นตัวกั้นไม่ให้ผู้หลงว่าบรรลุธรรมเข้าถึงสิ่งที่ดีสิ่งที่มีประโยชน์เพียงแค่เพราะมีอัตตาว่า “ฉันก็เคยมาแล้ว” ทำให้ต้องติดอยู่ในอวิชชามากกว่าผู้ที่กินเนื้อกินผักทั่วไปด้วยซ้ำ

9).มังสวิรัติบารมี

ถ้ามองกันแบบชาวบ้าน มองกันทั่วไปแล้วเวลาเราไปกราบไหว้พระทำบุญกับนักบวช คิดว่าใครน่าศรัทธากว่ากันระหว่างพระที่ละเว้นเนื้อสัตว์กินมังสวิรัติได้ กับพระที่กินเนื้อกินผัก เอาแค่ข้อมูลเท่านี้นะ ไม่ต้องคิดถึงข้อมูลอื่น ไม่ต้องคิดถึงชื่อเสียงบารมี เราก็มักจะมองว่าพระรูปที่ละเว้นเนื้อสัตว์ได้น่าเคารพกว่าจริงไหม

หรือถ้าให้ชัดเลย คือระหว่างพระที่ฉัน 2 มื้อกับมื้อเดียวนี่แบบไหนน่าศรัทธาน่าเคารพกว่ากัน เอาข้อมูลแค่นี้นะ มันก็น่าจะเป็นฉันมื้อเดียวจริงไหม เพราะทำได้ยากกว่า ขัดกิเลสมากกว่า อดทนมากกว่า

ทีนี้ด้วยความที่คนมีกิเลสมากก็จะหาข้ออ้างต่างๆนาๆเพื่อที่จะกลบกองกิเลสของตนไว้ให้ดูสวยงาม แต่ยิ่งทำก็เหมือนช้างตายแล้วเอาใบบัวมาปิด คนตาดีเขาก็มองออกว่านั่นคือกิเลสนะ กลิ่นมันออก ภาพมันฟ้อง แต่คนที่มีกิเลสก็พยายามจะปิดไว้แล้วบอกมันไม่ใช่ความอยากไม่ใช่กิเลส เราพอดี เราปล่อยวาง เราเพียงเลี้ยงธาตุขันธ์ อะไรก็ว่ากันไปตามแต่ความฉลาดของกิเลส

พอโดนไล่ไปมากๆคนมีกิเลสก็จะเริ่มทำลายบารมีของคนมีศีล ของคนที่ถือศีลมังสวิรัติ เช่นกินมังฯกินเนื้อมันก็เบียดเบียนเหมือนกันแหละ , คนเราทำลายกิเลสที่จิต จะกินก็ได้, กินด้วยจิตว่างก็ได้ , เรากินไปไม่ยึดมั่นถือมั่น คนกินมังฯสิยึดมั่นถือมั่น , กินผักทำลายโลก , กินผักทำให้คนอื่นลำบาก ฯลฯ อันนี้เป็นกลยุทธ์ของคนกิเลสหนาซึ่งพยายามจะดึงคนที่มีศีลลงต่ำ ทำให้การกินมังสวิรัติดูโง่ ดูไม่ดี ดูเป็นเรื่องธรรมดา ดูเป็นเรื่องงมงาย ดูเป็นเรื่องไม่จำเป็นหากอยากจะบรรลุธรรมหรือบรรลุอะไรก็ตามแต่จะเรียก

ว่ากันตามจริงเรื่องกิเลสในความอยากกินเนื้อสัตว์นี่มันเป็นกิเลสหยาบๆ ในระดับรุนแรงเพราะต้องเบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น ถ้ายังละ ยังวางไม่ได้ก็อย่าพึ่งไปคิดบรรลุธรรมให้มันลำบากเลย เดี๋ยวมันจะยิ่งเพี้ยนไปไกล เพราะหลงว่าบรรลุธรรมมันก็หนักหนาพออยู่แล้ว อย่าไปเพิ่มบาปให้กับตัวเองอีกเลย

พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนมีปัญญาย่อมมีศีล คนมีศีลย่อมมีปัญญา ดังนั้นคนที่ละเว้นศีลก็ยากที่จะมีปัญญา เพราะศีลนี้เองคือสิ่งที่ขัดเกลาปัญญา ปัญญาคือสิ่งที่ทำให้เราคิดถึงศีล และศีลสมาธิปัญญานั้นเป็นไปในทางเดียวกัน เป็นก้อนเดียวกัน ไม่แยกกันปฏิบัติ ไม่ขาดออกจากกัน

หากจะบอกว่าไม่มีศีลก็มีปัญญาได้ หรือมีสติก็มีปัญญาได้ มันก็เดาเอา มั่วเอา ปฏิบัติไม่ครบองค์ประกอบ ฟังเขามา ยืมเขามา แล้วก็หลงบรรลุธรรมตามเขา คือหลงกันไปทั้งสายทั้งคณะนั่นแหละ คล้ายๆกับธุรกิจขายตรงบางเจ้าที่อุปโลกน์ยศ ตำแหน่ง ชื่อเสียงขึ้นมา เพื่อปลุกเร้าให้คนหลงยึดหลงอยากได้นั่นแล เรื่องทางธรรมก็เช่นกัน ยศ สภาวะ ตำแหน่ง ระดับธรรมมันก็ปั้นขึ้นมาเป็นแบบโลกๆได้ อธิบายได้ อ้างอิงได้ ทำวิจัยได้ เชื่อถือได้ ยอมรับได้ แต่แค่มันไม่ตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนเท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

2.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ส่งต่อความรัก

November 26, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,745 views 0

ส่งต่อความรัก

ส่งต่อความรัก

จริงๆแล้วที่เราทุกข์เพราะความรักนี่มันก็ไม่ใช่เพราะเรารักเขามากหรอกนะ แต่เป็นเพราะเราหลงรักตัวเองมากกว่า เพราะว่าเราหลงคิดว่าทุกอย่างต้องเป็นของเรา ทุกคนต้องเป็นอย่างที่เราหวัง ทุกอย่างต้องเป็นอย่างที่เราฝัน

พอคนหลงรักตัวเองมากก็เลยไม่สามารถรักใครได้จริง มองเห็นแต่ความต้องการของตัวเองไม่เห็นใจใคร ไม่ยินดีที่จะให้ใครมุ่งแต่จะเอาท่าเดียวเพราะหลงรักตัวเองมากเกินไป แล้วหลงไปเรียกสิ่งนั้นว่าความรักอีก ทั้งที่มันเป็นความหลง

ความรักนั้นมีมิติที่หลากหลายและกว้างใหญ่กว่าการรักแค่ตัวเอง รักแค่คู่ของตน รักแค่ในครอบครัว รักชุมชน รักประเทศ รักโลก คนที่ลดความหลงในความรักตัวเองได้ก็จะสามารถรักคนอื่นได้มากขึ้น กว้างขึ้น ไกลขึ้น นานขึ้น นานขนาดว่าทะลุชาติภพกันเลยทะลุผ่านกาลเวลาเกิดมามอบความรักให้กับคนอื่นอยู่ทุกชาติ

ผู้ที่สามารถส่งต่อความรักให้กับผู้อื่นได้นั้นคือผู้ที่ไม่เก็บความรักไว้กับตัว ก็คือไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่พวกของตน จึงสามารถที่จะให้กับใครก็ได้ ใครสักคนที่เขาต้องการ

– – – – – – – – – – – – – – –

แรงบันดาลใจจากเพลง ส่งต่อความรัก [pass the love forward] – บอย โกสิยพงษ์ | version [จัง-หวะ-จะ-เดิน]

(https://www.youtube.com/watch?v=xgiW8aek7A0)

และบทความ “อกหัก”

– – – – – – – – – – – – – – –

26.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

สวยสมัยนิยม

November 21, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,890 views 0

สวยสมัยนิยม

สวยสมัยนิยม

…ความสวยงามที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัยตามกิเลสของคน

ในแต่ละยุคสมัยนั้นคนเรามักมีนิยามความสวยต่างกันไป เช่นยุคเรเนซองส์เขาก็มักจะมองผู้หญิงอวบอ้วนสมบูรณ์ว่าสวย แต่ในยุคสมัยนี้กลับไม่คิดเช่นนั้น การที่เรามองและวิจารณ์ไปว่าสิ่งใดสวยหรือไม่สวย น่าดูหรือไม่น่าดูนั้น มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนอย่างมาก

เช่นในยุคสมัยหนึ่งของจีน นิยมใส่รองเท้าดัดเท้าให้เล็ก โดยมีเหตุผลต่างๆนาๆ ทำให้เชื่อว่าเป็นสิ่งที่สวยและดูดี เมื่อมีคนคิดว่าสวยก็กลายเป็นแฟชั่น ค่านิยม หลายคนทำตามด้วยความหลง หลงไปว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนี้มีคุณค่า สิ่งนี้สังคมยอมรับ ทั้งๆที่เป็นเรื่องของกิเลสที่ปรุงแต่งกันไปเอง หากคนสมัยนี้มองกลับไปแล้วก็คงต้องสงสัยว่าทำกันไปได้อย่างไร ทั้งลำบาก ทั้งเจ็บ ทั้งทรมาน และที่สำคัญ มันไม่เห็นสวยตรงไหนเลย

นี่คือความคิดที่ผิดยุคผิดสมัย หากเราคิดว่าไม่สวยในสมัยนั้น ณ ที่ตรงนั้นของจีน เราก็จะเป็นคนตกยุค แต่ถ้าใครมาทำสิ่งนั้นในสมัยนี้ก็จะกลายเป็นคนหลงยุค

ในยุคนี้ก็มีความสวยที่สมัยนี้นิยมเหมือนกันในกรณีเรื่องเท้าในยุคนี้ก็มีเติมแต่งกันด้วยการใส่รองเท้าส้นสูง ที่เพิ่มความสูงและความสวยงาม รวมทั้งการทาเล็บเท้าด้วยสีต่างๆ ทั้งที่ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ไร้สาระและไม่จำเป็นทำให้ชีวิตลำบาก เสียเงิน เสียสุขภาพและเสียเวลา แต่คนที่หลงว่ามันทำให้สวย หลงในความสวยก็ยังยินดีจะหา จะเอาสิ่งเหล่านั้นเขามาในชีวิตตนเหมือนสมัยที่จีนทำการดัดเท้าเพราะเชื่อว่ามันสวย

ยังมีความเข้าใจเรื่องความสวยอีกมากมายในยุคนี้ที่เป็นเรื่องตลกที่ทุกคนให้ความสำคัญอย่างจริงจังจนเรื่องไร้สาระกลายเป็นเรื่องจำเป็น เช่นการแต่งหน้าแต่งตาที่ดูจะสิ้นเปลืองแต่คนก็ยังยอมเอาเงินไปซื้อ การยอมฉีดสารเคมีต่างๆเพื่อให้ได้มาซึ่งความแต่งตึง การศัลยกรรมที่ดูแล้วยังไงก็น่าจะเจ็บปวดแต่ทำไมคนถึงยอมแลก หรือแม้แต่การแต่งตัวจนโป๊จนเกือบเปลือยสร้างค่านิยมโชว์เนื้อหนังซึ่งจริงๆ เนื้อหนังก็เป็นของสามัญที่ทุกคนก็มีแต่กลับสร้างให้เป็นเรื่องแปลกและน่าดู แม้จะดูเพี้ยนสุดๆแต่คนในยุคนี้ก็ยังทำกันไปได้

หากคนในอนาคตมองย้อนกลับมาก็อาจจะสงสัยและงงๆว่าคนในยุคนี้ทำไปได้อย่างไร ทั้งการแต่งหน้า ทั้งศัลยกรรม ทั้งการล่อลวงด้วยเนื้อหนัง ท่วงท่า ลีลาทั้งหลาย พวกเขาเป็นสุขกับของหยาบ กิเลสหยาบอย่างนี้ได้อย่างไร ทำไมคนยุคนี้ถึงได้ปรุงแต่งกิเลสกันออกมาได้แบบนี้ นี่คือสภาพที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไม่มีสิ่งใดคงทนถาวร แม้แต่เรื่องของความเชื่อในเรื่องความสวยงาม

…เราหลงในความสวยนั้นอย่างไร?

คนส่วนใหญ่นั้นหลงมัวเมาไปกับความสวยงามตามยุคสมัย เชื่อปักใจว่าสิ่งเหล่านั้นคือความสวย คือคุณค่า คือความสุข สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่กิเลสหลอก เรียกว่าเป็นอุปาทานหมู่ ซึ่งหลายคนก็ยินดีที่จะแต่งหน้า แต่งตัว ฉีดสารพิษ รวมไปถึงศัลยกรรมตกแต่งให้ร่างกายตัวเองเป็นไปตามความนิยมในยุคสมัยนั้น

กิเลสที่หลอกเราอยู่นั้นหากกล่าวกันกว้างๆก็คืออวิชชา แต่การรับรู้ว่ามันคือความไม่รู้หรือความหลงนั้นไม่สามารถช่วยให้เราเห็นกิเลสได้ ซึ่งจะยกตัวอย่างของรูปแบบและกิเลสที่ฝังอยู่ในความอยากสวยอยากงามกันด้วยกิเลสใน 4 หมวดหมู่ นั่นคือ อบายมุข กามคุณ โลกธรรม และอัตตา

อบายมุข … เป็นความหลงในความสวยในระดับมัวเมา เมามายไปกับการทำให้เกิดความสวยเช่น คนที่เสพติดศัลยกรรม เสพติดการแต่งหน้า ต้องซื้อเสื้อผ้าทุกอาทิตย์ ต้องไปสปา ต้องไปเข้าคอร์สเสริมความงาม เหล่านี้เป็นความหลงกับความสวยในระดับหยาบ ในระดับที่ต่ำ อยู่ในขุมนรกที่ลึกที่สุด ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา

กามคุณ … คือการหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ทั่วไป ซึ่งในกรณีของความงามนั้นก็คือผิวงาม เสียงงาม กลิ่นงาม เอาง่ายๆว่าโดยรวมขอให้ดูดีไว้ก่อน ผู้ที่ติดกิเลสในระดับของกามนั้นจะมัวเมาน้อยกว่าระดับอบายมุข ซึ่งจะไม่เน้นการเสริมความงามที่ต้องทรมาน หรือเติมแต่งจนลำบาก แต่ยังมีความอยากแต่ง อยากสวย ซึ่งถ้าบำรุงบำเรอกิเลสมากๆ ก็จะเสื่อมลงไปสู่อบายมุขได้เช่นกัน

โลกธรรม … คือการหลงไปในโลก ในเรื่องของโลก เช่นสังคมเขาว่าต้องสวยแบบนี้ ต้องงามแบบนี้ ต้องหุ่นดีแบบนี้ก็เชื่อตามเขา เขาว่าอย่างไรก็ตามเขา พอไม่เป็นเหมือนอย่างเขาก็จะไม่มีความมั่นใจ คนที่ถูกกิเลสในระดับโลกธรรมจูงไปนั้น จะไม่มีความอยากสวยเป็นส่วนตัวสักเท่าไรนัก แต่ความกลัวว่าคนอื่นจะมองว่าไม่สวยนั้นยังรุนแรงอยู่ โลกธรรมยังเป็นแรงผลักดันให้กิเลสโตไปถึงขั้นอบายมุขได้เช่นกัน เพราะคนที่สนใจเสียงคนรอบข้างได้ ก็อาจจะโดนสังคมพาลงไปสู่อบายมุขได้เช่นกัน

อัตตา … คือรากแท้ของกิเลส คือความหลงว่าต้องสวย หลงว่าเกิดมาแล้วต้องงาม ต้องดูดีจึงจะมีคุณค่า รวมถึงความรู้สึกมั่นใจลึกๆว่าฉันสวย ฉันดูดี ฉันมีคนนิยม คือมีตัวเราของเรา ความรู้สึกเหล่านี้ทั้งหมดคือสิ่งที่ยึดไว้ให้ตัวเรานั้นยังแสวงหาการเติมเต็มความสวยความงามให้คงอยู่ตลอด ซึ่งแท้จริงแล้วกิเลสนี้คือต้องการการยอมรับ ต้องการความสนใจ ต้องการมีตัวตน พอมีต้องการมีตัวตนก็เลยสร้างตัวตน เกิดมาเป็นคนสวย แม้ไม่สวยก็จะทำให้สวย จนยึดเป็นตัวเป็นตนต่อไปอีกที ยึดมั่นถือมั่นกันไม่ปล่อยไม่วาง ก็เลยต้องเกิดมาเสพความสวยที่ตัวเองยึดไว้กันไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว

…เราจะออกจากความหลงนั้นอย่างไร

ความหลงในความสวยนั้น หากเรายังไม่เห็นสิ่งนั้นว่าเป็นกิเลส ไม่เห็นว่าเป็นภัย ยังคงเห็นว่าการปรุงแต่งให้ความสวยนั้นคงอยู่หรือสวยยิ่งขึ้นเป็นความสุข เป็นความจำเป็นในชีวิต ก็จะไม่สามารถออกจากกิเลสได้

ในขั้นแรกต้องศึกษาให้รู้จริงด้วยใจตัวเอง ยอมรับด้วยใจตัวเองว่าความอยากสวยเหล่านี้ล้วนเป็นกิเลส ล้วนเป็นสิ่งเศร้าหมอง ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และไม่มีตัวตนอยู่จริง สิ่งที่เราเห็นทั้งหมดนั้นคือตัวตนที่เราสร้างขึ้นมาเองทั้งนั้น จริงๆแล้วความสวยไม่มีอยู่ เหมือนกับความสวยที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยนั่นแหละ

เมื่อเห็นความอยากสวยนั้นเป็นกิเลสก็ให้เพียรพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงว่าความอยากสวยนั้นเป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นประโยชน์อย่างไรหากจะทำลายความอยากสวย จะมีกรรมอะไรบ้างที่เราต้องรับหากยังยึดติดกับความสวยเหล่านั้น

เพียรพยายามไปจนกระทั่งปัญญานั้นเต็มรอบก็จะสามารถดับกิเลสนั้นๆได้เอง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหากเราได้เพียรพิจารณาอย่างถูกตัวถูกตรงกิเลส คือติดกิเลสตัวไหนก็พิจารณาตัวนั้น อบายมุข กามคุณ โลกธรรม พิจารณาไล่มาเรื่อยๆจะจบที่อัตตาเอง

เมื่อพิจารณาจนหมดความยึดมั่นถือมั่นในความสวย ก็จะสามารถออกจากนรกแห่งความสวย หลุดจากวงจรของความสวยสมัยนิยม ไม่ต้องทุกข์เพราะความไม่สวย ไม่ต้องมารับกรรมจากความสวย ไม่ต้องสนใจเรื่องไร้สาระเหล่านี้อีกต่อไป เมื่อไม่มีเหตุให้ทุกข์ก็ไม่เป็นทุกข์ และความหมดทุกข์นั่นเองก็คือความสุขที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

20.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

รักให้เป็นสุข

November 20, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,555 views 1

รักให้เป็นสุข

รักให้เป็นสุข

….การทำให้ใครมารักนั้นไม่ยาก แต่การจะรักใครสักคนนั้นยากมาก

คงจะปฏิเสธได้ยากหากจะบอกว่า “ความรัก” นั้นคือสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของแต่ละชีวิต ความรักนั้นมีรูปแบบและมิติที่หลากหลาย แต่ถ้าหากแบ่งออกเป็นสองส่วนก็จะได้เป็นรักคนอื่นและรักตัวเอง ในบทความนี้จะมาขยายกันในหัวข้อรักให้เป็นสุขในเรื่องของการรับรักและการให้รัก

….การทำให้ใครมารักนั้นไม่ยาก

เป็นเรื่องจริงแน่แท้หากจะบอกว่าการทำให้ใครสักคนมารักนั้นไม่ยาก แต่รายละเอียดนั้นกลับไม่มีสิ่งใดจริงเลย การจะทำให้ใครสักคนมารัก มายอมรับ มาสนใจ มาลุ่มหลงในตัวเรานั้นก็เพียงแค่สนองกิเลสให้สาสมใจของเขาเท่านั้นเอง

เป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายที่สุดและเป็นเรื่องที่ลวงโลกมากที่สุดที่คนหลงติดหลงยึดกันข้ามภพข้ามชาติ เพราะในความเป็นจริงแล้ว “เราไม่มีวันสนองกิเลสของใครได้ตลอดไป” แม้วันนี้เราจะสนองได้ แต่วันหนึ่งความไม่เคยพอของกิเลสก็จะทำให้สภาพของความรักลวงๆที่เกิดจากความเสพสมใจนั้นเปลี่ยนแปลงไปหรือที่เรียกกันว่า”ไม่เที่ยง

เราไม่มีวันสนองกิเลสใครให้เขาสมใจได้ตลอดไป แม้กระทั่งตัวเราก็ตาม เราเองไม่มีวันที่จะสนองกิเลสตัวเองได้ตลอดไป วันหนึ่งเราจะต้องพบเจอกับการพราก การจากไปจากสภาพที่เคยยินดี ดังประโยคที่ว่า เมื่อเกิดมาแล้ว การแก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา กิเลสก็เช่นกันเมื่อเกิดความอยากขึ้นมาแล้วสภาพที่ถูกพรากจากความเสพสมใจนั้นเป็นเรื่องธรรมดา

ไม่ใช่ว่ากิเลสนั้นตาย แต่เป็นความสามารถในการสนองกิเลสนั้นตาย ดังเช่นความรัก แม้วันนี้เราจะสามารถสนองกิเลสคนที่เราเลือกมาเป็นคู่ด้วยคำหวาน คำสัญญา ความมั่นคง ความมั่งคั่งด้วยฐานะ ชื่อเสียง การงาน หรือแม้กระทั่งความฝัน แต่วันหนึ่งเราก็ต้องเสียความสามารถที่จะสนองกิเลสเหล่านี้ไป เหลือทิ้งไว้แต่คนมีกิเลสสองคนที่โหยหาอยากเสพไม่เคยพอ

และการที่เราเสนอสิ่งเหล่านี้เพื่อได้ความรักมานั้นเปรียบเสมือนการซื้อ ซึ่งไม่ใช่การซื้อด้วยเงินแต่เป็นการล่อซื้อด้วยการสนองกิเลส จนกว่าอีกฝ่ายจะยอมใจอ่อน น้ำลายไหล ยอมขายตัวมาเพื่อเสพกิเลสที่อีกฝ่ายล่อ

รักที่เกิดจากการบำรุงบำเรอกิเลสจึงไม่ต่างจากการซื้อขายตัว แต่เป็นการซื้อขายที่ดูดีในแบบที่สังคมยอมรับหรือจะเรียกให้ถูกว่า “หลงไป”และวันใดวันหนึ่งเมื่อการซื้อขายจ่ายค่าบำรุงไม่เป็นไปดังที่คาดหวังก็จะเกิดการบาดหมาง การเลิกรา หรือการเปลี่ยนแปลงใดๆก็ตามเกิดขึ้น

คนบางคนนั้นมีคุณสมบัติในการสนองกิเลสคนอื่นติดมาตั้งแต่เกิดเช่น ความสวยความหล่อ และด้วยความหลงระเริงไปตามโลกว่าต้องแต่งตัวดีบ้าง ต้องมีคู่ครองบ้าง ทำให้เขาหรือเธอใช้กามคุณที่มีติดตัวมาแต่กำเนิดนั้นล่อลวงเหล่าคนที่หลงในกิเลสให้เข้ามาติดกับดักเหมือนดังเหยื่อติดเบ็ดที่เขาใช้ล่อปลา คนที่หลงไปในรูป หลงไปในกามคุณก็มักจะยอมตกเป็นเหยื่อเพื่อที่จะได้เสพความสวยความหล่อเหล่านั้น

ความรักที่ดีนั้นย่อมไม่เกิดจากการล่อลวงด้วยกิเลส แต่เป็นการยอมให้กับคุณงามความดี ซึ่งจะตรงข้ามกับการสนองกิเลส รักแบบนี้มีอยู่ไม่มากนัก และโดยมากก็ยังเป็นรักที่เห็นแก่ตัว เพราะยังมีความอยากเอามาครอบครองเอามาเป็นของตัวของตนอยู่นั่นเอง

การทำให้ใครสักคนมารักด้วยการสนองกิเลส หรือการทำให้ใครสักคนมารักด้วยความดีนั้น มีสภาพไม่เที่ยงทั้งสองกรณี แม้รักนั้นจะใสสะอาดบริสุทธิ์แค่ไหน แต่การที่รักนั้นจะอยู่ยั่งยืนตลอดการไม่แปรเปลี่ยนนั้น เป็นไปไม่ได้เลย

ความรักนั้นไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็ตาม หากมันไม่เที่ยงแล้วผู้ที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรักนั้นจะไม่มีวันพบกับความสุขแท้ได้เลย คงจะได้พบเพียงสุขลวงๆที่ล่อให้เขาและเธอได้เสพติดความรักที่เหมือนกับมายานั้นเพื่อได้รับทุกข์ทรมานแสนสาหัสตลอดไป

….แต่การจะรักใครสักคนนั้นยากมาก

การจะรักใครสักคนนั้น ในความเข้าใจสามัญธรรมดาก็มองว่ามักจะเป็นเรื่องง่ายเพียงแค่เราพบคนที่เราถูกใจ คนที่พร้อมจะทุ่มเท เราก็มักจะเรียกสิ่งนั้นว่าความรักได้แล้ว แต่ชื่อของมันจริงๆก็คือ “ความหลง

เรามักถูกทำให้หลงเข้าใจผิดเกี่ยวกับความรัก ว่าความรักเป็นสิ่งที่ต้องได้รับมา ได้มาเสพ ได้มายึด จนกระทั่งไปหาคู่ หาแฟน หาคนมาแต่งงาน มีครอบครัวให้ชีวิตต้องพบกับความลำบากทุกข์กายทุกข์ใจแบกเคราะห์กรรม แบกกิเลส แบกของตัวเองยังไม่พอยังต้องลำบากไปแบกของคู่ ของลูกหลาน ของญาติมิตรอื่นๆอีกด้วย ทั้งหมดนี้เกิดจากความหลงผิดไปว่าความรักเป็นเรื่องของการมีคู่ เป็นเรื่องของการสมสู่ เป็นเรื่องของคนสองคน เป็นเรื่องของครอบครัว ฯลฯ

ความรักนั้นมีรายละเอียดและความยิ่งใหญ่มากกว่าการได้มาเสพความเป็นคู่ การมีแฟน หรือการแต่งงานมากนัก เรามักมองความรักกันได้แค่ในมุมแคบๆ รักกันอยู่แค่วงแคบๆ

แม้แต่การรักในวงแคบนั้นก็ยังเป็นความรักที่ผิด ผิดไปจากทางแห่งความสุขแท้ การจะรักใครสักคนแล้วสนองกิเลสเขา หรือเอาเขามาบำเรอกิเลสตัวเองเพื่อความสุขลวงนั้นทำได้ง่าย แต่ความรักที่จะเป็นไปเพื่อความสุขแท้นั้นทำได้ยากยิ่ง

เพราะรักที่เป็นไปเพื่อความสุขแท้นั้น ต้องเกิดจากการไม่สนองกิเลส เพราะกิเลสเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ ยิ่งสนองกิเลสเท่าไหร่ก็จะยิ่งห่างไกลจากความสุขแท้เท่านั้น

สุขที่ได้จากการเสพกิเลสนั้นคือสุขลวง สุขที่ไม่เที่ยง สุขที่แปรผันไปตามโลก เป็นสุขแบบโลกๆ ไม่ยั่งยืน ไม่ถาวร ทำให้เป็นทุกข์ ดังนั้นหากจะรักใครสักคนอย่างแท้จริงนั้นต้องให้เขาได้พบกับความสุขแท้และยั่งยืนนั่นคือการลดกิเลส

การลดกิเลสไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องที่จะทำความเข้าใจหรือคิดคำนวณเอาเองได้ แต่ต้องใช้การเพียรพยายามศึกษาและปฏิบัติ และต้องทำอย่างถูกต้องถูกตรง โดยมีครูบาอาจารย์ที่มีสัจจะแท้อยู่ด้วย ไม่เช่นนั้นสิ่งที่เข้าใจว่ากิเลสลด อาจจะเป็นการเพิ่มกิเลสก็เป็นได้

ความรักที่เจริญจากการลดกิเลสนั้น จะเป็นความรักที่ยั่งยืน นำมาซึ่งความสุขแท้ จะเป็นความรักที่ค่อยๆปล่อย ค่อยๆคลายจากความยึดมั่นถือมั่นด้วยความยินดี ยินดีที่จะได้ให้แม้จะไม่มีอะไรตอบแทน แม้จะไม่มีคำขอบคุณ แม้จะไม่มีใครเห็นคุณค่า แม้จะไม่มีโอกาสได้แสดงถึงความรักนั้นก็ยังยินดี เพราะรักที่แท้คือการให้โดยไม่เอา ไม่เอาอะไรเลย มีแต่จิตที่คิดจะให้อยู่ฝ่ายเดียว ให้จนหมดตัวหมดตน เป็นการให้ที่เป็นบุญเป็นกุศลที่สุดในโลก

แต่การจะให้ความรักแท้ที่นำมาซึ่งความสุขแท้ ที่เรียกว่าการลดกิเลสนั้นไม่ใช่ว่าจะให้ได้ทันที เพราะสิ่งที่เราจะสามารถให้ได้คือสิ่งที่เรามี หากตัวเราเองไม่มีการลดกิเลส ไม่มีความรู้ในการลดกิเลส ไม่มีวิธีการลดกิเลสอย่างถูกต้องแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะให้ หรือถ่ายทอดวิธีสร้างความสุขแท้ให้กับผู้อื่นได้

การที่เราจะเป็นผู้มีรักแท้นั้นจึงจำเป็นต้องทำตนให้เป็นผู้ลดกิเลสได้จริง ทำลายกิเลสได้จริงๆ จึงจะเรียกได้ว่ามีของจริง เมื่อมีของหรือมีธรรมนั้นในตัวจริงๆก็จะสามารถให้ความรู้ ความเข้าใจ วิธีการเหล่านี้กับผู้อื่นได้ ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้เราสามารถรักใครได้จริงๆ รักได้แบบไม่หวังอะไร รักได้อย่างบริสุทธิ์ รักได้อย่างไม่มีโทษ

เรามักเข้าใจผิดว่าเรานั้นมีรักแท้ แต่ถ้าสังเกตดีๆ รักของเราที่มีให้กับคนอื่นนั้น คือรักที่เห็นแก่ตัว เป็นรักที่จะเอาบางสิ่งบางอย่างมาเสพ เช่นรักแฟน ก็อยากเสพทั้งการสมสู่ ทั้งการดูแลเอาใจใส่ ทั้งหน้าตาทางสังคม ทั้งชื่อเสียงลาภยศ ,รักพ่อแม่ ก็เพราะพ่อแม่เอาใจเลี้ยงดู , รักลูก ก็เพราะมองลูกเป็นของของตน เรามีการเสพบางสิ่งบางอย่างโดยใช้นามแห่งความรักเสมอ เรียกได้ว่ามีผลประโยชน์กับความรักอยู่นั่นเอง

รักที่แท้นั้นจะสามารถพิสูจน์ได้ในยามที่สภาพสุขที่เคยเสพได้พรากจากไป เช่นแฟนที่เคยคิดว่าจะดูแลเรา วางแผนกันว่าจะแต่งงานในเร็วๆนี้ แต่มาประสบอุบัติเหตุเป็นอัมพาตเสียก่อน เรายังจะสามารถที่จะรักหรือให้ได้โดยไม่คิดจะเอาอะไรอยู่รึเปล่า เมื่อสิ่งที่เราเคยได้เสพหายไป เรายังจะยินดีให้โดยที่ตัวเองไม่ได้รับอะไรกลับคืนมารึเปล่า

ผู้ที่สามารถมีความยินดีที่จะให้ได้แม้จะไม่ได้รับอะไรเลย จะเป็นผู้ที่ได้รับที่แท้จริง ได้รับโอการในการให้ที่มีคุณค่า เป็นผู้ที่มีรักแท้ เป็นรักที่เสียสละ ไม่ครอบครอง ไม่แสวงหา ไม่ผลักไส ไม่ดูดดึง ไม่ได้รักเพราะมีผลประโยชน์ แต่รักเพราะเข้าใจว่าความรักนั้นเป็นสิ่งที่ดี

ผู้ที่สามารถรักใครได้โดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ไม่เอาสิ่งใดมาเสพอีก จะเป็นผู้ที่สามารถรักใครก็ได้ในโลก รักได้ทั้งคนสัตว์และสิ่งอื่นๆ เป็นความรักที่นำมาแต่ความสุข รักกันข้ามภพข้ามชาติ ข้ามความลำบากทุกข์ทรมานแสนสาหัสก็เพื่อจะได้มอบความรักแก่คนอื่น

เหมือนดังที่พระพุทธเจ้าได้ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงความรักที่ทนทุกข์ทรมาน บำเพ็ญเพียรอยู่กว่าสี่อสงไขยกับหนึ่งแสนกัป เพื่อที่จะส่งต่อความรัก หรือการให้วิธีทำลายกิเลสซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ นำมาซึ่งความสุขแก่จิตวิญญาณดวงหนึ่งอย่างแท้จริง

เรายังไม่ต้องทำถึงขนาดพระพุทธเจ้าหรอก เพียงแค่หัดรักให้เป็น การรักเป็นคือการรักให้มีความสุข การมีความสุขแท้เกิดจากการลดกิเลส นั่นก็คือถ้าเราพากันลดกิเลส เราก็จะรักกันเป็น รักคนอื่นได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่รักตัวเองโดยใช้คนอื่นมาสนองความอยากโดยอ้างว่าเป็นความรักอย่างในทุกวันนี้

– – – – – – – – – – – – – – –

19.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์