เกมลวงใคร?
เกมลวงใคร? : ความสนุก ความสุข ความน่าสนใจ ที่ถูกออกแบบมาให้ถูกต้องตรงใจตามกิเลส
คนเรานั้นเกิดมากับกองกิเลสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และโลกที่หมุนวนไปด้วยกิเลสก็มักจะสร้างสิ่งที่ยั่วเย้ามอมเมาขึ้นมาเรื่อยๆ เช่น การเล่น การแสดง การท่องเที่ยว การแข่งขัน ฯลฯ และเกมคือสิ่งที่รวมทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน
โดยธรรมชาติของกิเลส มันจะทำหน้าที่สร้างสิ่งที่จะดึงเราให้ลงต่ำ ดึงเราลงนรก ดึงลงอบายภูมิให้ลึกลงไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ทำให้เรารู้ตัว และให้เราเสียเวลา เสียเงิน เสียพลังงาน เสียสติปัญญาให้กับมันไปเรื่อยๆ
เกมในสมัยก่อน เราแค่นั่งเล่นอยู่หน้าจอ ปิดเครื่องก็จบกันไป แต่เกมสมัยนี้ดูดพลังของเรามากขึ้นไปอีก การนั่งเล่นหน้าจอเพียงแค่มอง คิดแล้วใช้มือกด ไม่ใช่สิ่งที่จะสาสมใจคนในยุคนี้อีกต่อไป เราต้องจ่ายมากขึ้น เพื่อเสพมากขึ้น นั่นคือเราต้องขยับ เดิน หรือทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งรางวัลที่เกมได้สร้างล่อกิเลสเราไว้
เกมแต่ละเกมนั้นถูกออกแบบมาเพื่อที่จะยั่วกิเลสของเราในทุกเหลี่ยมทุกมุม เพื่อที่จะให้ผู้เล่นเกิดความลุ่มหลงมัวเมาอยู่ในโลกลวงที่เขาสร้างขึ้นมา เกมในปัจจุบันนั้น ต้องจ่ายทรัพยากรเป็นอย่างมาก ทั้งเวลา เงิน สุขภาพ สติปัญญา สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผู้เล่นต้องเสียไปเพื่อแลกกับการได้เสพสุขจากเกม ไปตามลำดับที่เขาออกแบบมาให้ โดยที่เขาจะสร้างสิ่งลวงในโลกของเกมมาแลกเช่น ไอเทมใหม่ๆ ฉากใหม่ๆ ระบบใหม่ๆ ศัตรูใหม่ๆ ฯลฯ เพื่อที่จะล่อให้คนหลงติดตามมาเรื่อยๆ
ผู้ออกแบบจะจับจุดว่าคนเรานั้นมีความต้องการในอะไร แล้วก็สร้างสิ่งนั้นขึ้นมา เพื่อให้คนหลงว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่มีคุณค่า เป็นสิ่งที่ควรได้ เรียกว่าล่อกิเลสในคนให้ออกมาแสวงหา เช่น สร้างโอกาสได้ความร่ำรวยลวงๆ สร้างโอกาสในการได้อำนาจบารมีลวงๆ สร้างโอกาสในการได้ความเก่งลวงๆ ฯลฯ
แล้วเขาก็ออกแบบได้เก่งจริงๆนะ ออกแบบเกมได้น่าเล่นน่าลอง หลายคนเห็นก็เข้าไปตะครุบเลย บางคนเห็นเพื่อนเข้าไปตะครุบก็เข้าไปตะครุบบ้าง บางคนไม่สนใจแต่ก็โดนพลังของคนที่หลงตะครุบชักชวนให้ไปตะครุบตาม บางคนติดสังคม ก็ต้องเกาะตามกระแสกับเขาแล้วเมาไปด้วยกัน
ทีนี้เมื่อคนเล่นได้เสพสมกิเลสก็จะเกิดความสนุก จนกระทั่งเต็มใจที่จะจ่ายเงิน สุขภาพ เวลา สติปัญญาให้กับเกม ถ้าเปรียบกับทาสนี่ก็ยังไม่ใช่ เพราะทาสกต้องโดนบังคับหรือเฆี่ยนตีและต้องทำงานที่ไม่อยากทำ แต่เกมนี่สร้างคนให้ยิ่งกว่าทาสอีก คือให้คนยอมเล่น ให้ยินดียอมเสียทรัพยากรเพื่อแลกมาซึ่งสิ่งลวงๆ ให้รู้สึกว่ามีอิสระในการเสพแต่จริงๆ ก็ถูกโซ่แห่งความอยากคล้องไว้อยู่
สิ่งลวงๆ คืออะไร? สิ่งลวงเหล่านั้นก็คือสิ่งที่เกมได้สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของคน เพราะเขารู้ว่าคนนั้นอยากได้อยากมี แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่มีจริงก็ตามที เพื่อแลกกับความสุขเพียงชั่วครู่ ที่คนนั้นได้เสพ ได้มี ได้ครอบครองอยู่ แต่สุขนั้นตั้งอยู่ไม่นานก็หายไป แม้ได้เสพแบบเดิมก็จะไม่สุขเหมือนอย่างเดิม เหมือนอย่างที่เราเอาเกมเก่าๆ มาเล่น มันจะไม่สุขเหมือนครั้งแรกๆ ถึงจะสุขแต่มันก็จะจางหายไปอย่างรวดเร็ว สุขนั้นไม่สามารถตั้งอยู่ได้นาน สุดท้ายก็จะเกิดอาการเบื่อ ซึ่งเป็นการเบื่อหน่ายแบบโลกๆ ซึ่งเกิดจากการเสพสิ่งเดิมจนเบื่อ
เมื่อเล่นเกมจนเบื่อก็พบว่า เล่นไปสุดท้ายก็ไม่ได้อะไร ได้แต่ความสุขจากการเสพชั่วครั้งชั่วคราว ดีไม่ดีไม่สุขเลยก็ว่าได้ และได้ความรู้มาอีกนิดหน่อย คือเกมนั้นเป็นอย่างนั้น เกมนี้เป็นอย่างนี้ แต่ก็เป็นความรู้ที่ไม่ได้พาให้ตนพ้นจากทุกข์ เป็นความรู้ที่ไม่ใช่สาระสำคัญของชีวิต
ถึงแม้คนจะรู้ว่าเกมทุกเกมเล่นแล้วก็จบดับไป แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าตนเองหลงเข้าไปเล่น หลงเข้าไปพัวพันยึดติดมันจนเสียทรัพยากรมากมายนั้นเพราะเหตุใด ทำไมตนเองจึงต้องเข้าไปเสพสิ่งนั้น ทั้งที่รู้ว่าสุดท้ายมันก็ไม่ได้ให้คุณค่าหรือมีสาระแท้อะไรในชีวิตเลย
แต่ก็อาจจะมีหลายคนแย้งว่า ฉันเล่นเกมแล้วได้ประโยชน์นะ ได้ฝึกสมอง ได้ออกกำลังกาย ฯลฯ มันก็จริงตามที่เขากล่าวอ้าง ซึ่งนี่เองคือความร้ายของกิเลส เพราะมันจะเอาประโยชน์บางอย่างมาล่อ เอาข้อดีมากลบข้อเสีย เอาเหตุผลต่างๆนาๆ มาอ้างอิงว่าเสพแล้วดี ถึงจะมีโทษบ้างแต่ก็มีประโยชน์อยู่มาก เหล่านี้คือลักษณะทั่วไปของกิเลสที่จะหลอกให้คนหลง คือเอาประโยชน์ลวงมาเคลือบโทษจริงไว้
ถ้าเราเอาข้อดีข้อเสียมาเปรียบเทียบกับกิจกรรมอื่น จะรู้เลยว่าประโยชน์ที่ได้นั้นน้อย ประโยชน์ที่เสียไปมีเยอะและโทษที่ได้ก็มีมากมาย เพียงแต่เราอยากเล่นเกม เราก็เลยหาข้อดีของมันมาเพื่อให้ได้เล่นเท่านั้น ซึ่งเรื่องข้อดีข้อเสียนี่ถ้าเอาไปเถียงกันก็ไม่จบ คนหลงเขาก็จะมองแต่ข้อดี ไม่มองข้อเสีย คนไม่หลงเขาก็เห็นข้อดีข้อเสียชัดเจน จึงเป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องนำไปพิจารณากันเอง
ส่วนคนที่ไม่ติดนั้นก็ดีแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไปแขวะคนที่เขาติดได้ เพราะกิเลสมันก็มีหลายเหลี่ยมหลายมุม เขาอาจจะติดเกมของเขา แต่เขาไม่ได้ติดเหล้า บุหรี่ พนัน หวย หุ้น กิน เกียรติ กาม ก็มีเหมือนกัน คนที่ไม่ติดเกมแต่ยังติดอบายมุขอื่นๆ มันก็เมาพอๆ กับติดเกมนั่นแหละ แต่มันเลือกเมากันคนละอย่าง ดังนั้นไม่ต้องไปยุ่งกันมาก มุ่งล้างความหลงติดหลงยึดของตัวเองให้ได้ก็พอ พระพุทธเจ้าตรัสว่าให้หมั่นทำนาของตน อย่าไปทำนาของคนอื่น
เราควรจะมองคนด้วยความเมตตาว่า เขาหลงติดหลงยึดเขาก็เป็นทุกข์นะ เขาต้องแสวงหามาเสพ หามาครอบครอง นี่มันทุกข์แต่เขาไม่รู้ เราบอกดีๆ ได้ก็บอกเขา ถ้าบอกแล้วจะโกรธกันก็ปล่อยวางไปก่อน แต่ไม่ใช่เอาอัตตาไปอัดเขาหรือไปข่มเขา ทำเหมือนได้ทีขี่แพะไล่ เห็นเขาหลงผิดก็รีบซ้ำเติมเขาเลย อันนี้มันจะเป็นคนพาลไปเสียเปล่าๆ
….
ลักษณะเด่นของเกมส่วนใหญ่นั้นคือการแข่งขัน การหาทางเอาชนะภารกิจต่างๆ ซึ่งในชีวิตจริง โลกก็มอมเมาให้เราวนอยู่แต่กับการแข่งขันอยู่แล้ว แต่คนก็ยังไม่สะใจ ไม่สาสมใจ ไม่ถูกใจ ต้องแสวงหาการแข่งขันอย่างอื่นมาเสพ ให้ชนะ ให้ได้ ให้มี ให้ดี ให้เลิศกว่าเขา ทั้งที่จริงเกมก็ไม่ใช่ชีวิตจริง แต่เรากลับไปจริงจังกับมัน ไปให้เวลาและทรัพยากรต่างๆ แก่มัน เป็นเหมือนโลกอีกโลกหนึ่ง ที่ซ้อนอยู่กับโลกนี้ เป็นกิเลสที่ลวงซ้อนกิเลสไปอีกทีหนึ่ง ซึ่งนี่ก็คือหนทางแห่งความมัวเมาที่หนักหนาที่สุดทางหนึ่ง
ใครที่หลงเข้าไปแตะไปเสพแล้ว ก็เรียนรู้โทษของมันแล้วก็ค่อยๆ ถอยออกมา อย่าให้ถึงขั้นหมกมุ่นมัวเมา เสียเวลา เสียงาน เสียเงิน เสียสุขภาพ เสียชีวิตกันไป
สรุปแล้วเกมนั้นก็ลวงตั้งแต่คนออกแบบเกม ให้หลงว่าการทำเกม การหาเลี้ยงชีพด้วยการทำสิ่งที่พาให้คนหลงมัวเมานั้นเป็นสิ่งดี ก็เลยออกแบบเกมที่น่าเล่น น่าสนใจ น่าสนุกมาลวงคนอีกทีหนึ่ง แล้วคนเล่นก็ลวงตัวเอง ลวงกันเอง พากันมัวเมาไปอีกต่อหนึ่ง ซึ่งเวลาที่เกิดปัญหาจากเกมขึ้นมา ในสังคมก็จะมีการโทษกันไปโทษกันมา คนเล่นผิดบ้าง เกมผิดบ้าง แต่ตัวการจริงๆ กลับลอยนวลพ้นข้อกล่าวหาเสมอ ตัวการที่ว่านั้นคือ…กิเลส
17.8.2559
ทางสายกลาง? : แน่ใจแล้วหรือว่าที่ยืนอยู่นั้นคือตรงกลาง
ทางสายกลาง? : แน่ใจแล้วหรือว่าที่ยืนอยู่นั้นคือตรงกลาง
คำว่า “ทางสายกลาง” เป็นคำที่คนมักจะยกกันขึ้นมาพูด เมื่อต้องการแสดงความเห็นต่อสิ่งที่ตนเองรู้สึกว่า ตึงหรือหย่อนเกินไป
ทางสายกลาง เป็นคำที่มักจะได้ยินกันโดยทั่วไป ตั้งแต่คนไม่นับถือศาสนาไปจนถึงคนเคร่งศาสนาเลยก็ว่าได้ เมื่อมีคนที่มีความเห็นแตกต่างกันยกคำว่า “ทางสายกลาง” ขึ้นมาพูด แล้วจริงๆ ทางสายกลางนี่มันคือตรงไหน? มันเป็นอย่างไร? ในเมื่อจุดยืนของแต่ละคนนั้นต่างกัน คนไม่นับถือศาสนาเขาก็พูดถึงทางสายกลาง คนเคร่งศาสนาก็พูดถึงทางสายกลาง แล้วมุมมองที่เขามองเห็นทางสายกลางนั้นจะเป็นทางเดียวกันจริงหรือ?
ถ้าเราพิจารณากันจริงๆ แล้ว ทางสายกลางนั้นคือวิถีปฏิบัติของพุทธ ไม่ใช่เพียงแค่มุมมอง แต่เป็นการใช้ชีวิตด้วย ไม่ใช่ว่าเราจะมองทุกอย่างเป็นกลางๆ ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป แล้วมันจะพ้นทุกข์ได้ เพราะบางทีมุมที่มองนั้น ก็มองออกมาจากมุมของตัวเอง มุมที่ตนเองพอใจ สบายใจ กลายเป็นทางสายกลางของฉัน ฉันก็กลางของฉัน ฉันก็พ้นทุกข์ของฉัน กลางของเราไม่เหมือนกัน แบบนี้มันก็เลยกลางเป็น “ทางสายกู” เป็นมาตรฐานกู เอาตามใจกู ซึ่งก็คือ “อัตตา” นั่นเอง
คนเราจะสร้างภาพให้ดูดี ยกธรรมะให้ดูขลังแค่ไหน สร้างบริวารมากมายเท่าไหร่ หรือมีคนเคารพศรัทธาสักเพียงใดก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเอา “ทางสายกู” มาเป็นมาตรฐานของพุทธได้ เพราะทางสายกูนี่มันรู้อยู่คนเดียว คนอื่นไม่รู้ด้วย ว่าตกลงหลุดพ้นจริงหรือไม่ หรือแค่ยกวาทกรรมที่ดูดีขึ้นมาอ้าง เพื่อให้ได้เสพสมใจโดยไม่มีคนกล้าติติง
ศาสนาพุทธนั้นมีมาตรฐานอยู่แล้วโดยลำดับ ตั้งแต่ ศีล ๕ ๘ ๑๐ จนถึงจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลและพระวินัยอีกกว่า ๒๒๗ และ ๓๑๑ ข้อ ที่เป็นส่วนของนักบวช ซึ่งจะรู้กันดีว่า ศีล ๑๐ นั้นสูงกว่าศีล ๘ และศีล ๘ นั้นสูงกว่าศีล ๕ ไปตามลำดับ
ผู้ที่เข้าถึงทางสายกลางอย่างแท้จริงในเบื้องต้น จะมีศีล ๕ เป็นปกติทั้งกาย วาจา ใจ พัฒนาขึ้นไปอีกเป็นมีศีล ๘ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องปฏิบัติ ไม่ต้องกดข่ม ไม่ต้องระวัง ไม่ต้องคอยตั้งสติ เพราะมันไม่มีเหตุคือกิเลสเกิดขึ้นมาให้ศีลขาด ความเป็นปกติของผู้มีศีลสมบูรณ์เป็นเช่นนี้ นี่คือทางสายกลางในระดับของศีล ๘
แต่แน่นอนว่าศีล ๘ ก็ยังไม่ใช่กลางที่สุดของศาสนาพุทธ แต่ก็มีส่วนที่กลางแล้ว ถูกต้องแล้ว พัฒนามาโดยลำดับ และศึกษาต่อไปจนมีศีลหรือทำสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ทุกข้อได้โดยไม่ทุกข์ ไม่ลำบาก ไม่ทรมานตน เพราะรู้ดีในตนว่า ศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสนี้ดีที่สุด รู้ว่าการปฏิบัติตามศีลนี้เป็นเหตุให้ถึงพร้อมด้วยความสุข โภคทรัพย์ วรรณะ และเป็นประตูสู่การเข้าถึงนิพพาน มาตรฐานทางสายกลางของพุทธจึงวัดในเบื้องต้น สังเกตได้ในเบื้องต้นด้วยศีล ถ้ามีศีลแล้วชีวิตมันทุกข์ มันลำบาก ยังไม่เห็นดีเห็นควรตามศีลนั้นๆ ยังมีข้อขัดแย้งที่เป็นไปในทางอกุศล แสดงว่ามันยังไม่กลาง มันยังจมกิเลสอยู่ ยังโดนกิเลสดึงไว้อยู่ ยังไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาถือศีลเพื่อศึกษาและปฏิบัติได้
นี่คือมาตรฐานที่รู้กัน เข้าใจกัน มองเห็นกันได้ ยอมรับกันได้ในพุทธบริษัทว่านี่แหละ คือมาตรฐานร่วมที่จะใช้บ่งบอกว่าสิ่งใดที่เป็นลักษณะของความเจริญ เป็นไปเพื่อกุศล ยับยั้งอกุศล ก็คงจะมีแต่ศีลนี่แหละที่พอจะเห็นเป็นภาพเดียวกันได้ เพราะสภาวะที่ลึกๆ หลังจากนั้นล้วนเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก อีกทั้งคนที่ต่ำกว่าจะไม่เข้าใจคนที่สูงกว่า ซึ่งบางคนก็ถือโอกาสมั่วนิ่ม โมเมว่าตนเป็นพระอริยะหรือเป็นพระอรหันต์ซะเลย จะได้ไม่มีใครกล้าตำหนิหรือกล้าแย้ง หรือในพวกคนที่หลงผิดด้วยใจซื่อๆ ว่าตนเองบรรลุธรรมก็มี พอไม่มีสิ่งที่จะมาตรวจสอบสภาวธรรมกันจริงๆ ก็เลยมีอรหันต์เก๊ พระอริเยอะกันเต็มบ้านเต็มเมือง
ศีลนี้เองจะทำให้เรารู้ว่าผู้ใดที่เจริญแล้ว อยากตรวจสอบง่ายๆ ก็ลองเอาศีล ๕ ไปปฏิบัติดู ถ้าไหวก็ ๘, ๑๐ ต่อไปจนถึงพระพุทธเจ้าตรัสอะไรก็ทำหมดนั่นแหละ ถ้าอยู่บนทางสายกลางจริง มันจะไม่มีทุกข์เลย มันจะมีปัญญาเห็นตามด้วยว่า “อ๋อ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ดีอย่างนี้นี่เอง ทำแล้วมันดีแบบนี้นี่เอง” จะมีความเห็นที่เป็นไปในทางเดียวกับที่พระพุทธเจ้าตรัสโดยไม่มีข้อสงสัยหรือข้อขัดแย้งใดๆ และถ้ามีความเห็นถูกตรงในการปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์จริงๆ มันจะไม่ตีกลับ ไม่เบือนหน้าหนีสิ่งดีงามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ จะพยายามปฏิบัติตนเองให้พัฒนาจนเข้าถึงธรรมนั้นๆ มันจะไม่หาช่องไว้เสพสุข ไม่หาจุดบอด ไม่เบี้ยวบาลี มีแต่จะทำไปเพื่อเป็นกุศลอย่างเดียว ถ้าจะปรับก็ปรับเพื่อกุศลมากกว่า อนุโลมในบางกรณีที่เกิดประโยชน์มากกว่าเท่านั้น
ผู้ที่อยู่ในทางสายกลางอย่างสมบูรณ์โดยไม่มีวันเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งก็มีแต่พระอรหันต์เท่านั้น ส่วนพระเสขะอื่นๆ ท่านก็เอียงไปในส่วนที่ท่านยังหลงอยู่ แต่ท่านเหล่านั้นก็รู้แล้วว่าตรงไหนที่เรียกว่า “ทางสายกลาง” ไม่ใช่เอา “ทางสายกู” ขึ้นมาอ้าง เหมือนกับคนที่หลงทางในทางธรรม…
14.8.2559
คู่กรรม (สอบถาม)
ผมเคยพิมพ์เรื่องกรรมกับเรื่องคู่ไว้ แต่ก็ไม่ได้หมายความที่เราทนความอยากที่จะมีคู่ไม่ได้นั้นเป็นเพราะผลกรรมเก่าทุกคน เพราะจริงๆ มันมีกรรมใหม่ร่วมด้วย
ถ้ายังไม่เคยได้รับรู้ธรรมะ ไม่เคยรู้มาก่อนว่าการมีคู่นั้นเป็นเหมือนบ่วง ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันเป็นทางที่ตรงกับข้ามกับการเป็นบัณฑิต(ผู้รู้ธรรม) แล้วไปมีคู่นั้น ก็เรียกว่าโดนโลกมอมเมา เป็นเพราะแรงกรรมส่วนหนึ่ง แรงกิเลสในขณะนั้นส่วนหนึ่ง หรือจะเรียกว่าผลของกรรมมันบังปัญญาที่เคยมี ให้ปัญญานั้นต่ำกว่ากิเลสก็เลยไปมีคู่
แต่คนที่มาศึกษาธรรมะแล้ว ได้มารู้โทษของการมีคู่แล้ว ได้รู้แล้วว่าทางหลุดพ้นจริงๆ สุดท้ายทุกคนก็จะเป็นโสด ฯลฯ คือรู้แล้วว่าอะไรดี อะไรชั่ว แล้วดันไปเลือกมีคู่ อันนี้จะโมเมอ้างกรรมเก่าไม่ได้แล้วครับ เพราะคุณมีโอกาสตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกเอาธรรมะหรือเอากิเลส พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจทำกรรมของแต่ละคนนั้นขึ้นอยู่กับมีกิเลสหรือไม่มีกิเลสเท่านั้นแหละ
ถ้าคนมีของเก่ามามาก แล้วได้รู้ธรรมจะหลุดได้ง่ายครับ แต่ถ้าไม่มีนี่อาจจะจมยาวเลย มีคู่ มีลูก มีหลานอะไรกันไปตามเรื่องตามราว
ประเด็นนี้มีใครสนใจจะเสริม หรือสอบถามอะไรเพิ่มเติมไหมครับ? คิดว่าวันหนึ่งจะเรียบเรียงบทความนี้ขึ้นมาใหม่ครับ
แม่หวังให้เจ้า…
แม่หวังให้เจ้า…
เมื่อแม่ให้กำเนิดลูกขึ้นมาแล้ว แม่หวังอะไรในตัวลูก? ถ้าเป็นยุคปัจจุบันส่วนใหญ่ก็คงจะหวังให้ลูกมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เจริญก้าวหน้ากันไปตามสมมุติโลก แต่ในบทความนี้เราจะยกความหวังของแม่ในสมัยพุทธกาลมาเล่ากัน
หญิงชาวพุทธผู้มีศรัทธาตั้งมั่น เธอวอนขอให้ลูกซึ่งเป็นที่รักของเธอ ว่าจะเป็นฆราวาสก็ดี จะออกบวชก็ดี ก็จงทำตนให้เป็นพระอรหันต์ เพราะหากแม้ว่าลูกจะเป็นพระเสขะ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี ถึงกระนั้นลูกก็ยังจะต้องเผชิญอันตรายจากลาภสักการะและชื่อเสียง ที่ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย ซึ่งเป็นภัยต่อการบรรลุความผาสุกที่แท้จริง(สรุปความจาก ปุตตสูตร พระไตรปิฎก เล่ม ๑๖ ข้อ ๕๗๐)
จะเห็นได้ว่า แม่สมัยพุทธกาลนั้นหวังให้ลูกเป็นพระอรหันต์อย่างเดียวเลย แต่ไม่ได้หวังให้ลูกเป็นอรหันต์เพื่อให้ลูกได้รับการเคารพ ได้รับชื่อเสียง ได้รับความสบาย ได้โลกีย์ทรัพย์อะไรทำนองนั้นเลย เพียงแต่หวังให้ลูกนั้นพ้นภัยอันตรายจากลาภสักการะและชื่อเสียง คือให้ลูกอยู่เป็นสุข ซึ่งการจะเข้าถึงความสุขที่สุดในโลกก็คือให้ลูกนั้นเพียรพยายามศึกษาจนเป็นพระอรหันต์นั่นเอง
ส่วนแม่ในสมัยปัจจุบันก็เป็นไปตามกำลังศรัทธาของแต่ละคน ศรัทธามากก็จะชัดเจนว่าไม่มีอะไรดีกว่าการส่งเสริมให้ลูกเป็นพระอรหันต์อีกแล้ว ถ้าศรัทธาน้อยก็จะโดนกระแสโลกีย์พาไป จนผลักดันลูกให้เป็นเจ้าคนนายคนบ้าง เป็นผู้มั่งคั่งบ้าง เป็นผู้มีชื่อเสียงบ้าง เป็นผู้มีอำนาจบ้าง ซึ่งก็เป็นไปตามความหลงติดหลงยึดของแม่แต่ละคน
โดยพื้นฐานนั้น สิ่งที่แม่พึงให้ลูกก็คือปัจจัยสี่ แต่จะให้ดี ให้เลิศ ให้ประเสริฐก็คือให้ลูกได้มีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาที่มากยิ่งขึ้น ยิ่งนำพาให้ลูกได้สิ่งนั้นมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นผลดีมากเท่านั้น ให้เหตุเหล่านั้นเจริญไปถึง ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาในระดับอริยะเลยยิ่งดี และดีที่สุดคือส่งเสริมให้ลูกเป็นพระอรหันต์นั่นแหละ พอเป็นอรหันต์แล้วลูกจะทำอะไรต่อก็เรื่องของลูก แต่ลูกจะไม่เป็นทุกข์แน่นอน
แต่กระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ที่พ่อแม่จะส่งเสริมให้ลูกมีความเจริญทางด้านจิตใจได้ ถ้าตัวเองยังไม่รู้จักความเจริญนั้นจริงก็ยังไม่สามารถแนะนำสิ่งที่ดีกว่าที่ตนรู้จักให้ลูกได้ การจะทำให้ลูกนั้นเจริญด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญานั้น จึงต้องทำสิ่งนั้นให้มีในตนก่อน หรือถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็พาลูกไปพบกับสัตบุรุษ ไปพบกับคนที่รู้ธรรมะ มีธรรมนั้นในตนจริง เข้าใจอริยสัจ อย่างแจ่มแจ้งและทำตนเองให้หมดกิเลสได้จริง แล้วให้โอกาสเขาได้ฟังสัจธรรม ได้ศึกษาเรียนรู้ และนำธรรมเหล่านั้นมาปฏิบัติจนลูกได้เกิดความเจริญเหล่านั้นขึ้นในตน
หน้าที่ของลูกก็เช่นกัน ดูแลพ่อแม่ด้วยปัจจัยสี่อันพอประมาณ แต่ถ้าถามว่าต้องดูแลพ่อแม่แค่ไหนถึงจะได้ชื่อว่า “ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่” พระพุทธเจ้าท่านตรัสเปรียบไว้ว่า ต่อให้แบกพ่อแม่ไว้บนบ่าทั้งสองข้างตลอดร้อยปี คอยเช็ดล้างทำความสะอาดให้ คอยนวดคอยดูแล มอบสมบัติ ปราสาท ราชวังให้ ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าได้ตอบแทนคุณแล้ว แต่ท่านบอกว่า ลูกที่สามารถพาให้พ่อแม่มีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ที่เจริญขึ้นนั่นแหละ คือลูกที่ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่แล้ว
มันกลับหัวกลับหางกับทางโลกเขาเลยนะ ทางโลกเขาถือเอาวัตถุสิ่งของเป็นสำคัญ ส่วนทางธรรมนี่วัตถุก็เอาแค่พอเลี้ยงชีพ แต่ให้น้ำหนักในด้านความเจริญของจิตใจมากกว่า เราไม่จำเป็นต้องสมดุลโลกธรรมหรอก เพราะโลกที่มีแต่กิเลสเป็นตัวนำนั้นมีแต่ทุกข์ เกิดมากี่ชาติก็แสวงหาแต่ความเจริญทางโลก ไม่เคยยอมปล่อยยอมวางเสียที แม่ก็คลอดมาชาติแล้วชาติเล่า แทนที่จะศึกษาหาความรู้ที่จะทำให้แม่ไม่ต้องลำบากอีก ก็ไม่สนใจใยดีในการศึกษาหาความรู้ในการพ้นทุกข์ แต่กลับไปแสวงหาแต่สิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ ก็เลยพากันวนเวียนกันอยู่ในโลก วนอยู่กับวัตถุสิ่งของ วนอยู่กับความสุขลวง วนอยู่กับอุดมการณ์ทั้งหลาย กอดโลกไม่ยอมปล่อย ก็เลยทำให้แม่ลำบากไปทุกชาติ เกิดแล้วก็เกิดอีก ไม่มีจุดจบ ไม่มีเป้าหมายในการหยุดแสวงหา ไม่มีความพอใจในเรื่องโลก
พอตนเองไม่สร้างความเจริญให้ตน ไม่นำพาความเจริญให้พ่อแม่ ไม่พากันลดกิเลส ตนเองก็ต้องเป็นทุกข์ พ่อแม่ก็ต้องเป็นทุกข์ วันเวลาผ่านไปก็มีแต่กิเลสเพิ่มขึ้นทุกวัน ได้สมใจก็เพิ่มกิเลส ไม่ได้สมใจก็เพิ่มกิเลส มันก็พากันทุกข์ชั่วกัปชั่วกัลป์นั่นแหละ ดังนั้นตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ลูกที่ทำให้พ่อแม่เจริญด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญานั้น คือผู้ที่ตอบแทนบุญคุณแล้ว นั่นคือธรรมเหล่านั้นเอง ที่จะทำให้ตนเองและพ่อแม่พ้นทุกข์ไปโดยลำดับ จนถึงขั้นไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดเพราะแรงแห่งกิเลสตัณหาอีกต่อไป
ดั้งนั้น ไม่ว่าแม่จะหวังอะไรก็ตามแต่ แม้ท่านจะไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ หน้าที่หลักของลูกก็คือการนำพาความเจริญมาสู่จิตวิญญาณของแม่ โดยการทำตนให้เป็นตัวอย่าง เป็นการทำดีที่ตน ทำให้เกิดในตน ให้แม่ได้เห็นคุณค่าของความดีนั้น เห็นคุณค่าของการลดกิเลส แม้จะยากเย็นขนาดไหนก็ต้องทำ ถึงจะขนาดจะเรียกว่าทำดีให้คนตาบอดเห็นได้ก็ต้องทำ เพราะเป็นคุณประโยชน์ที่สุดที่ลูกจะพึงทำให้กับแม่ได้แล้ว และผู้ที่กระทำคุณเหล่านั้นได้ ก็ถือได้ว่าได้ตอบแทนบุญคุณแม่แล้วนั่นเอง
11.8.2559