Tag: เกม

เกมลวงใคร?

August 17, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,369 views 1

เกมลวงใคร

เกมลวงใคร? : ความสนุก ความสุข ความน่าสนใจ ที่ถูกออกแบบมาให้ถูกต้องตรงใจตามกิเลส

คนเรานั้นเกิดมากับกองกิเลสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และโลกที่หมุนวนไปด้วยกิเลสก็มักจะสร้างสิ่งที่ยั่วเย้ามอมเมาขึ้นมาเรื่อยๆ เช่น การเล่น การแสดง การท่องเที่ยว การแข่งขัน ฯลฯ และเกมคือสิ่งที่รวมทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน

โดยธรรมชาติของกิเลส มันจะทำหน้าที่สร้างสิ่งที่จะดึงเราให้ลงต่ำ ดึงเราลงนรก ดึงลงอบายภูมิให้ลึกลงไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ทำให้เรารู้ตัว และให้เราเสียเวลา เสียเงิน เสียพลังงาน เสียสติปัญญาให้กับมันไปเรื่อยๆ

เกมในสมัยก่อน เราแค่นั่งเล่นอยู่หน้าจอ ปิดเครื่องก็จบกันไป แต่เกมสมัยนี้ดูดพลังของเรามากขึ้นไปอีก การนั่งเล่นหน้าจอเพียงแค่มอง คิดแล้วใช้มือกด ไม่ใช่สิ่งที่จะสาสมใจคนในยุคนี้อีกต่อไป เราต้องจ่ายมากขึ้น เพื่อเสพมากขึ้น นั่นคือเราต้องขยับ เดิน หรือทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งรางวัลที่เกมได้สร้างล่อกิเลสเราไว้

เกมแต่ละเกมนั้นถูกออกแบบมาเพื่อที่จะยั่วกิเลสของเราในทุกเหลี่ยมทุกมุม เพื่อที่จะให้ผู้เล่นเกิดความลุ่มหลงมัวเมาอยู่ในโลกลวงที่เขาสร้างขึ้นมา เกมในปัจจุบันนั้น ต้องจ่ายทรัพยากรเป็นอย่างมาก ทั้งเวลา เงิน สุขภาพ สติปัญญา สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผู้เล่นต้องเสียไปเพื่อแลกกับการได้เสพสุขจากเกม ไปตามลำดับที่เขาออกแบบมาให้ โดยที่เขาจะสร้างสิ่งลวงในโลกของเกมมาแลกเช่น ไอเทมใหม่ๆ ฉากใหม่ๆ ระบบใหม่ๆ ศัตรูใหม่ๆ ฯลฯ เพื่อที่จะล่อให้คนหลงติดตามมาเรื่อยๆ

ผู้ออกแบบจะจับจุดว่าคนเรานั้นมีความต้องการในอะไร แล้วก็สร้างสิ่งนั้นขึ้นมา เพื่อให้คนหลงว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่มีคุณค่า เป็นสิ่งที่ควรได้ เรียกว่าล่อกิเลสในคนให้ออกมาแสวงหา เช่น สร้างโอกาสได้ความร่ำรวยลวงๆ สร้างโอกาสในการได้อำนาจบารมีลวงๆ สร้างโอกาสในการได้ความเก่งลวงๆ ฯลฯ

แล้วเขาก็ออกแบบได้เก่งจริงๆนะ ออกแบบเกมได้น่าเล่นน่าลอง หลายคนเห็นก็เข้าไปตะครุบเลย บางคนเห็นเพื่อนเข้าไปตะครุบก็เข้าไปตะครุบบ้าง บางคนไม่สนใจแต่ก็โดนพลังของคนที่หลงตะครุบชักชวนให้ไปตะครุบตาม บางคนติดสังคม ก็ต้องเกาะตามกระแสกับเขาแล้วเมาไปด้วยกัน

ทีนี้เมื่อคนเล่นได้เสพสมกิเลสก็จะเกิดความสนุก จนกระทั่งเต็มใจที่จะจ่ายเงิน สุขภาพ เวลา สติปัญญาให้กับเกม ถ้าเปรียบกับทาสนี่ก็ยังไม่ใช่ เพราะทาสต้องโดนบังคับหรือเฆี่ยนตีและต้องทำงานที่ไม่อยากทำ แต่เกมนี่สร้างคนให้ยิ่งกว่าทาสอีก คือให้คนยอมเล่น ให้ยินดียอมเสียทรัพยากรเพื่อแลกมาซึ่งสิ่งลวงๆ ให้รู้สึกว่ามีอิสระในการเสพแต่จริงๆ ก็ถูกโซ่แห่งความอยากคล้องไว้อยู่

สิ่งลวงๆ คืออะไร? สิ่งลวงเหล่านั้นก็คือสิ่งที่เกมได้สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของคน เพราะเขารู้ว่าคนนั้นอยากได้อยากมี แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่มีจริงก็ตามที เพื่อแลกกับความสุขเพียงชั่วครู่ ที่คนนั้นได้เสพ ได้มี ได้ครอบครองอยู่ แต่สุขนั้นตั้งอยู่ไม่นานก็หายไป แม้ได้เสพแบบเดิมก็จะไม่สุขเหมือนอย่างเดิม เหมือนอย่างที่เราเอาเกมเก่าๆ มาเล่น มันจะไม่สุขเหมือนครั้งแรกๆ ถึงจะสุขแต่มันก็จะจางหายไปอย่างรวดเร็ว สุขนั้นไม่สามารถตั้งอยู่ได้นาน สุดท้ายก็จะเกิดอาการเบื่อ ซึ่งเป็นการเบื่อหน่ายแบบโลกๆ ซึ่งเกิดจากการเสพสิ่งเดิมจนเบื่อ

เมื่อเล่นเกมจนเบื่อก็พบว่า เล่นไปสุดท้ายก็ไม่ได้อะไร ได้แต่ความสุขจากการเสพชั่วครั้งชั่วคราว ดีไม่ดีไม่สุขเลยก็ว่าได้ และได้ความรู้มาอีกนิดหน่อย คือเกมนั้นเป็นอย่างนั้น เกมนี้เป็นอย่างนี้ แต่ก็เป็นความรู้ที่ไม่ได้พาให้ตนพ้นจากทุกข์ เป็นความรู้ที่ไม่ใช่สาระสำคัญของชีวิต

ถึงแม้คนจะรู้ว่าเกมทุกเกมเล่นแล้วก็จบดับไป แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าตนเองหลงเข้าไปเล่น หลงเข้าไปพัวพันยึดติดมันจนเสียทรัพยากรมากมายนั้นเพราะเหตุใด ทำไมตนเองจึงต้องเข้าไปเสพสิ่งนั้น ทั้งที่รู้ว่าสุดท้ายมันก็ไม่ได้ให้คุณค่าหรือมีสาระแท้อะไรในชีวิตเลย

แต่ก็อาจจะมีหลายคนแย้งว่า ฉันเล่นเกมแล้วได้ประโยชน์นะ ได้ฝึกสมอง ได้ออกกำลังกาย ฯลฯ มันก็จริงตามที่เขากล่าวอ้าง ซึ่งนี่เองคือความร้ายของกิเลส เพราะมันจะเอาประโยชน์บางอย่างมาล่อ เอาข้อดีมากลบข้อเสีย เอาเหตุผลต่างๆนาๆ มาอ้างอิงว่าเสพแล้วดี ถึงจะมีโทษบ้างแต่ก็มีประโยชน์อยู่มาก เหล่านี้คือลักษณะทั่วไปของกิเลสที่จะหลอกให้คนหลง คือเอาประโยชน์ลวงมาเคลือบโทษจริงไว้

ถ้าเราเอาข้อดีข้อเสียมาเปรียบเทียบกับกิจกรรมอื่น จะรู้เลยว่าประโยชน์ที่ได้นั้นน้อย ประโยชน์ที่เสียไปมีเยอะและโทษที่ได้ก็มีมากมาย เพียงแต่เราอยากเล่นเกม เราก็เลยหาข้อดีของมันมาเพื่อให้ได้เล่นเท่านั้น ซึ่งเรื่องข้อดีข้อเสียนี่ถ้าเอาไปเถียงกันก็ไม่จบ คนหลงเขาก็จะมองแต่ข้อดี ไม่มองข้อเสีย คนไม่หลงเขาก็เห็นข้อดีข้อเสียชัดเจน จึงเป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องนำไปพิจารณากันเอง

ส่วนคนที่ไม่ติดนั้นก็ดีแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไปแขวะคนที่เขาติดได้ เพราะกิเลสมันก็มีหลายเหลี่ยมหลายมุม เขาอาจจะติดเกมของเขา แต่เขาไม่ได้ติดเหล้า บุหรี่ พนัน หวย หุ้น กิน เกียรติ กาม ก็มีเหมือนกัน คนที่ไม่ติดเกมแต่ยังติดอบายมุขอื่นๆ มันก็เมาพอๆ กับติดเกมนั่นแหละ แต่มันเลือกเมากันคนละอย่าง ดังนั้นไม่ต้องไปยุ่งกันมาก มุ่งล้างความหลงติดหลงยึดของตัวเองให้ได้ก็พอ พระพุทธเจ้าตรัสว่าให้หมั่นทำนาของตน อย่าไปทำนาของคนอื่น

เราควรจะมองคนด้วยความเมตตาว่า เขาหลงติดหลงยึดเขาก็เป็นทุกข์นะ เขาต้องแสวงหามาเสพ หามาครอบครอง นี่มันทุกข์แต่เขาไม่รู้ เราบอกดีๆ ได้ก็บอกเขา ถ้าบอกแล้วจะโกรธกันก็ปล่อยวางไปก่อน แต่ไม่ใช่เอาอัตตาไปอัดเขาหรือไปข่มเขา ทำเหมือนได้ทีขี่แพะไล่ เห็นเขาหลงผิดก็รีบซ้ำเติมเขาเลย อันนี้มันจะเป็นคนพาลไปเสียเปล่าๆ

….

ลักษณะเด่นของเกมส่วนใหญ่นั้นคือการแข่งขัน การหาทางเอาชนะภารกิจต่างๆ ซึ่งในชีวิตจริง โลกก็มอมเมาให้เราวนอยู่แต่กับการแข่งขันอยู่แล้ว แต่คนก็ยังไม่สะใจ ไม่สาสมใจ ไม่ถูกใจ ต้องแสวงหาการแข่งขันอย่างอื่นมาเสพ ให้ชนะ ให้ได้ ให้มี ให้ดี ให้เลิศกว่าเขา ทั้งที่จริงเกมก็ไม่ใช่ชีวิตจริง แต่เรากลับไปจริงจังกับมัน ไปให้เวลาและทรัพยากรต่างๆ แก่มัน เป็นเหมือนโลกอีกโลกหนึ่ง ที่ซ้อนอยู่กับโลกนี้ เป็นกิเลสที่ลวงซ้อนกิเลสไปอีกทีหนึ่ง ซึ่งนี่ก็คือหนทางแห่งความมัวเมาที่หนักหนาที่สุดทางหนึ่ง

ใครที่หลงเข้าไปแตะไปเสพแล้ว ก็เรียนรู้โทษของมันแล้วก็ค่อยๆ ถอยออกมา อย่าให้ถึงขั้นหมกมุ่นมัวเมา เสียเวลา เสียงาน เสียเงิน เสียสุขภาพ เสียชีวิตกันไป

สรุปแล้วเกมนั้นก็ลวงตั้งแต่คนออกแบบเกม ให้หลงว่าการทำเกม การหาเลี้ยงชีพด้วยการทำสิ่งที่พาให้คนหลงมัวเมานั้นเป็นสิ่งดี ก็เลยออกแบบเกมที่น่าเล่น น่าสนใจ น่าสนุกมาลวงคนอีกทีหนึ่ง แล้วคนเล่นก็ลวงตัวเอง ลวงกันเอง พากันมัวเมาไปอีกต่อหนึ่ง ซึ่งเวลาที่เกิดปัญหาจากเกมขึ้นมา ในสังคมก็จะมีการโทษกันไปโทษกันมา คนเล่นผิดบ้าง เกมผิดบ้าง แต่ตัวการจริงๆ กลับลอยนวลพ้นข้อกล่าวหาเสมอ ตัวการที่ว่านั้นคือ…กิเลส

17.8.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เกมที่สนุกที่สุดในโลก

September 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,265 views 0

เกมที่สนุกที่สุดในโลก

เกมที่สนุกที่สุดในโลก: การปฏิบัติไตรสิกขา อธิบายเปรียบเทียบกับการเล่นเกมกรณีศึกษา การกินมังสวิรัติ

ถ้าพูดถึงเรื่องธรรมะ การปฏิบัติธรรม การล้างกิเลส ก็ดูจะเป็นเรื่องของคนมีอายุ คนใจบุญ คนปลงชีวิต คน…อะไรก็ว่าไป แต่ในบทความนี้จะมาพิมพ์เรื่องการปฏิบัติธรรมอธิบายโดยเปรียบเทียบกับการเล่นเกม เพื่อให้คนหนุ่มสาวในยุคนี้ ที่ผ่านการเล่นเกมมา ได้เข้าใจว่า การปฏิบัติธรรมนั้นเข้าใจง่ายกว่าที่คิด

หลายคนที่เคยเล่นเกมมา ก็จะคุ้นเคยกับระบบของการพัฒนาตัวละครที่เราเล่น เช่น ทักษะ กำลัง ปัญญา พัฒนาอาวุธชุดเกราะ การเดินทาง ไปจนถึงปราบศัตรูต่างๆ จนได้รับรางวัล ได้แต้ม ได้คะแนน ได้เงิน มาเพื่อพัฒนาตัวเองให้เก่งยิ่งๆขึ้น การปฏิบัติธรรมก็คล้ายๆกัน จะลองอธิบายโดยยกตัวอย่างดังนี้

…เกมมังสวิรัติ

เราจะเลือกเกมขึ้นมาเกมหนึ่ง จะเป็นเกมอะไรก็ได้ เช่น เกมขยัน เกมตื่นเช้า เกมเมตตา เกมลดน้ำหนัก เกมไม่โกรธ แต่ในบทความนี้จะยกตัวอย่างเป็นเกมมังสวิรัติ เพราะเล่นได้มากถึง 3 ครั้งต่อหนึ่งวันเลยทีเดียว

เมื่อเริ่มเกมก็จะมีตัวเอกคือตัวเรา และเป้าหมายของเกมก็คือกินมังสวิรัติให้ได้ มีวิธีฝึกฝนตัวเองโดยใช้สมถะและวิปัสสนา มีด่านและศัตรูต่างๆให้ต้องเผชิญด้วยการปฏิบัติไตรสิกขา มีกระบวนการเอาชนะแต่ละด่านด้วยจรณะ๑๕ เพื่อข้ามภพ ๓ คือแต่ละช่วงของด่านนั้นๆ

…สรุปเครื่องมือที่จะหยิบมาอธิบายในเบื้องต้น

สมถะ คืออุบายทางใจ ใช้เพื่อสร้างสมาธิ สร้างกำลัง ความสงบ พักผ่อนจิต เก็บสะสมพลังในการกดข่มกิเลสต่างๆ

วิปัสสนา คืออุบายทางปัญญา คือการพิจารณาให้เห็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของกิเลสตามความเป็นจริง

ไตรสิกขา คือการใช้ อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เข้ามาเพื่อขยับฐานหรือเปลี่ยนไปเล่นกับกิเลสที่ยากขึ้นเรื่อยๆ

จรณะ๑๕ คือ ข้อประพฤติปฏิบัติ เพื่อการบรรลุธรรม

ภพ๓ คือ กามภพ (สภาพที่ยังเสพกิเลสอยู่) รูปภพ ( อดกลั้นไม่ไปเสพกิเลสได้) อรูปภพ ( ไม่คิดจะไปเสพกิเลสแล้ว แต่ไม่โปร่งใจ)

จริงๆ แล้วมีเครื่องมือที่ต้องใช้ร่วมในการปฏิบัติธรรมหรือเล่นเกมสู้กับกิเลสนี้อีกมาก เพียงแต่จะยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพกว้างๆ ให้ได้ก่อน

….เริ่มเกมกันเลย

เมื่อเราได้ศึกษาจนมีความรู้ว่า การกินมังสวิรัตินั้นดี ไม่เบียดเบียนใคร เราจึงตั้ง “อธิศีล” คือ การตั้งข้อปฏิบัติสู่ความไม่เบียดเบียน เป็นการทำศีลที่มากกว่าที่ตัวเองเคยถืออยู่ในชีวิตปกติ เหมือนกับที่เรากำลังเลือกที่จะเข้าไปต่อสู้กับศัตรูในด่านแรก นั่นคือ บอสวัว(หัวหน้าศัตรูที่เป็นเนื้อวัว) หรือสู้กับความอยากกินเนื้อวัว

เมื่อเราเลือกที่จะเข้าไปสู้กับบอสวัว หรือสู้กับความอยากกินเนื้อวัว โดยการตั้งศีล ตั้งใจตั้งมั่นในศีลนี้แล้ว ก็ให้เราระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเราไม่ให้เข้าไปใกล้เนื้อวัวมากนัก และแม้จะต้องเข้าไปใกล้ก็ต้องรู้จักประมาณพลังใจของตัวเองให้ดี อย่าไปทำเก่ง ทำกล้า คิดว่าข้าแน่ ข้าทนไหว เช่น ชอบสเต็กมาก แล้วเพื่อนก็ชวนไปกินสเต็กก็ไปกับเขาด้วย สุดท้ายก็ทนไม่ไหว กิเลสส่งกองกำลังมากระซิบเบาๆ ว่า “ กินไปเถอะ ไหนๆเขาก็ตายมาแล้ว กินเขา เขาได้บุญนะ ขำๆ” สุดท้ายก็แพ้บอสวัวชิ้นนั้นไปจนได้

หากเราประมาณตัวเองให้ดีแล้ว ก็ให้สร้างความตื่นตัวในการที่จะลด ละ เลิกเนื้อวัวนั้น โดยใช้วิปัสสนา คือพิจารณาให้เห็นประโยชน์ในการออกจากเนื้อวัว ให้เห็นทุกข์ โทษ ภัยในการกินเนื้อวัว ให้เห็นว่ากิเลสที่อยากกินเนื้อวัวไม่ใช่ตัวเรา ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เห็นผลของกรรมจากการที่เรายังเสพยังติดเนื้อวัว แต่ถ้ามันเหนื่อย รู้สึกไม่ไหว หมดแรงพิจารณา ก็พักหรือสลับด้วยการทำสมถะ สะสมพลังด้วยการกำหนดจิตไว้ให้นิ่ง จะพุทโธ ยุบหนอพองหนอ หรือเดินจงกรม หรือจะประยุกต์ใช้วิธีอะไรก็แล้วแต่จะถนัด การทำสมถะจะสามารถช่วยให้เราวิปัสสนาได้ดีขึ้น

เมื่อทำอย่างตั้งมั่นด้วย “อธิจิต” คือไม่หวั่นไหว ไม่ล้มศีล และไม่เคร่งจนเครียด พิจารณาต่อเนื่องจนเกิดความศรัทธาในการลดการกินเนื้อวัว แม้จะยังมีความอยากอยู่ แต่ใจเริ่มจะเชื่อมั่นแล้วว่าลดเนื้อวัวนี่มันดีนะ เมื่อเกิดศรัทธาที่เต็มรอบ ก็จะนำมาซึ่งหิริ คือความละอายต่อบาป แม้จะเผลอกลับไปกินเนื้อวัวเพราะความอยากบ้าง ก็จะรู้สึกไม่ดีรู้สึกละอาย รู้สึกผิด เมื่อพัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ จะเข้าสู่สภาวะ โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาป ถึงระยะนี้จะไม่กล้าแตะเนื้อวัวแล้ว เพราะรู้โทษของมัน ถ้าเป็นภาพในเกม บอสวัวที่เรากำลังสู้อยู่ก็บาดเจ็บพอสมควรและมันเริ่มจะทำอะไรเราไม่ได้แล้ว แต่ก็ยังไว้ใจไม่ได้ เพราะถ้าปล่อยไว้มันก็พื้นตัวได้ เหมือนกับกิเลสที่สามารถสะสมกำลังจนทำให้เราอยากกลับไปเสพได้

ในระยะนี้เราจะสามารถข้ามผ่านกามภพ คือข้ามผ่านสภาวะที่เข้าไปเสพไปกินเนื้อวัว ขยับมาถึงรูปภพ คือไม่กินเนื้อวัวแล้ว แต่ถ้าเผลอไปคิดถึงก็อาจจะยังอยากกินอยู่ แต่ข่มใจไม่กินได้ ยอมไม่กินได้แม้ใจจะอยาก

เมื่อพัฒนาตัวเองด้วยวิปัสสนาและสมถะเข้าไปอีก จะก้าวเข้าถึงระดับ พหูสูต คือรู้แจ้งเรื่องกิเลสนี้มากแล้ว ตอนนี้จะเริ่มสวนกระแส รู้แล้วว่าการกินเนื้อวัวนี้ไม่ดี มั่นใจว่ากินเนื้อวัวไม่ดีอย่างเต็มใจ เมื่อทำต่อไปก็จะเข้าสู่ขั้นของวิริยารัมภะ คือการเพียรอย่างไม่หยุดยั้ง ลุยพิจารณากิเลสอย่างทุ่มโถมเอาใจใส่ เพื่อที่จะไล่ฆ่าความอยากเนื้อวัวที่มีเหลือให้หมดในระยะนี้ก็จะสามารถข้ามรูปภพได้ไม่ยากนัก แต่ก็ต้องมาไปพยายามกันต่อที่อรูปภพ คือความอยากกินเนื้อวัวที่หลงเหลือในวิญญาณ มีสภาวะเช่น ท่าทีภายนอกไม่อยาก ในใจก็ไม่อยาก แต่ทำไมไม่ได้กินแล้วมันขุ่นๆใจ ไม่โปร่งไม่โล่งนะ

พัฒนาต่อมาจนมาถึงสติ สติในที่นี้คือสติปัฏฐาน ๔ เป็นสติที่ใช้ชำแหละกิเลสออกเป็นชิ้นๆ จะเห็นได้เลยว่าเราอยากกินเนื้อวัวเพราะเราติดใจในอะไร ขุดให้ลึกถึงรากของกิเลสทีละตัวเลยว่า เราติดเพราะชอบรสสัมผัส หรือเราติดเพราะสังคมเขาว่ามันดี หรือจริงๆเราไม่ได้ติด แค่หลงไปตามชาวบ้านเขา หรือเรายังแอบซ่อนความอยากไว้ตรงไหนอีกนะ… สติปัฏฐาน ๔ คือกระบวนการที่จะทำให้เห็นกิเลส โดยใช้ปัญญาที่เป็นมรรคเข้าไปขุดค้นพิจารณาหารากของกิเลส เหตุแห่งทุกข์ หรือสมุทัย

แล้วก็จะเข้าสู่ภาวะของฌาน ๔ โดยเริ่มที่วิตกวิจารณ์ คิด วิเคราะห์ พิจารณากิเลสนั้นๆ ย้ำๆซ้ำๆ ให้เห็นคุณและโทษ ให้เห็นกิเลสที่ลึกลงไปอีก ในตอนนี้ก็เหมือนเราสู้กับบอสวัวในยกสุดท้าย ที่เรากำลังพยายามกำจัดถอนรากถอนโคนความอยากนั้นทิ้งให้หมด ตอนนี้เราต้องใช้ “อธิปัญญา” คือปัญญาที่มากกว่าที่เคยมี ไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถที่จะปราบศัตรูร้ายตัวนี้ได้ ให้พิจารณาซ้ำไปซ้ำมา จนกระทั่งเกิดปัญญาที่เป็นผล รู้แจ้งเห็นจริงในกิเลสนั้นๆ ซึ่งจะรู้ได้เอง

จึงเกิดความปีติ ดีใจ ฟูใจ ตื่นเต้น โปร่ง โล่ง เบา สบายจากการฆ่ากิเลสได้ และค่อยๆสงบลงมาเป็นความสุข อิ่มใจแบบนิ่งๆ จนสงบราบเรียบเข้าสู่สภาวะของอุเบกขา เหมือนฉากจบของด่านนั้นๆ เราข้ามภพสุดท้ายคืออรูปภพได้แล้ว เรากำจัดบอสวัว หรือความอยากในเนื้อวัวได้แล้ว

รางวัลที่เราได้คือความโปร่งโล่งสบายแม้ไม่ได้กินเนื้อวัว แม้จะมีเนื้อวัวมาอยู่ตรงหน้าก็เฉยๆ ไม่อยากกินอีกต่อไปแล้ว ไม่ต้องมาคอยกดข่ม พิจารณา เคร่งเครียด หรือดับความคิดอีกต่อไป เพราะกิเลสไม่มี ก็เลยไม่มีความอยาก พอไม่มีความอยาก ก็เลยไม่ต้องไปดับความอยาก ได้วิมุติมาเก็บสะสมเป็นพลังที่จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น

หลังจากนี้เราอาจจะต้องใช้เวลาในด่านบอสวัวหรือความอยากกินเนื้อวัวอีกสักระยะ เพื่อเก็บกิเลสเล็กๆไรๆ ที่ยังฝังอยู่ลึกๆ เป็นญาติพี่น้องของกิเลสที่เราได้กำจัดไป แต่จะไม่ยากเท่าตัวใหญ่ที่เรากำจัดมา เห็นก็ฆ่า เห็นก็กำจัด ขยายพื้นที่ตั้งอธิศีลให้ครอบคลุมที่ผลิตภัณฑ์จากเนื้อวัว ทำลายความอยากให้สิ้นเกลี้ยง

และด่านพิเศษที่จะปรากฏขึ้นมาหลังจากปราบบอสวัว หรือความอยากกินเนื้อวัว คือด่านของความติดดี คือเราจะไปเพ่งโทษ ไปรังเกียจคนที่กินเนื้อวัวอยู่ ก็ให้ใช้กระบวนการเดียวกันในการกำจัดอัตตาเหล่านี้ ซึ่งความยากนั้นก็ถือว่ายากกว่าบอสวัวเยอะ ถ้าทำสำเร็จจึงจะพ้นนรกจริงๆ

นั่นหมายถึงเมื่อเราปราบ “กาม” คือความอยากเสพเนื้อวัวแล้ว เราก็จะมาติดกับ “อัตตา” คือความไม่อยากเสพเนื้อวัวอยู่ ถ้าอยากรู้ให้ลองตัดเนื้อวัวให้ได้จริงๆ แล้วกลับไปเสพดู หรือไม่ก็ไปดูคนอื่นกิน มันจะมีอาการทุกข์ใจ อาการรังเกียจ ต้องฆ่าอัตตาพวกนี้ไปด้วย

เมื่อเราปราบทั้งกามและอัตตาแล้ว ก็จะเดินเข้าสู่ทางสายกลางแบบสบายๆ เพราะไม่โต่งไปในด้านใดด้านหนึ่ง เราไม่เสพเนื้อวัว และเราก็ไม่ได้รังเกียจเนื้อวัว หรือคนที่ยังเสพเนื้อวัว

ในตอนนี้เราปราบบอสวัวหรือความอยากกินเนื้อวัวสำเร็จแล้ว เราก็ไปเล่นด่านต่อไป คือตั้งศีลสู้กิเลสต่อไป ในด่านของเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา สัตว์เล็กสัตว์น้อย การเบียนเบียดอื่นๆต่อไป ยิ่งเราชนะไปเรื่อยๆ ตัวเราก็เองก็จะเก่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะการทำอธิศีล จะทำให้เราพ้นเวรภัยต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง อธิจิตจะทำให้เรามีสมาธิตั้งมั่น อดทนกับอะไรๆได้ดีขึ้น อึดขึ้น แกร่งขึ้น อธิปัญญาจะทำให้เราฉลาด เฉลียว ว่องไว รู้แจ้งในเรื่องกิเลสนั้นๆ และยังใช้ปัญญานั้นปรับเข้ามาในชีวิตประจำวันได้อีก

ดังจะเห็นได้ว่า เกมกำจัดกิเลส ก็คล้ายๆเกมที่เราเล่นกันอยู่ทุกวันนี่แหละ เพียงแต่คนสู้ คนแพ้ คนเจ็บ และคนชนะคือเรานี่เอง แต่มันก็น่าจะคุ้มค่าสำหรับเวลาที่เราให้ไปในการเล่นเกมนี้นะ

– – – – – – – – – – – – – – –

15.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์