รักแท้ ในมุมมองของดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
รักแท้ ในมุมมองของดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
มีคำถามเข้ามา ประมาณว่าผมเขียนบทความเรื่องความรักนี่มาก็มากมาย แล้วเคยมีรักแท้แบบชายหญิง บ้างไหม?
ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ผมคิดว่า น่าจะเป็นคำถามของหลายคน เพราะความจริงผมเองก็ไม่เคยเปิดเผยเรื่องเหล่านี้เลย ในบทความนี้ก็จะมาตอบข้อมูลบางส่วนของประสบการณ์ความรักของผม
ตอบ … ความรักระหว่างชายหญิง ผมก็เคยมีครับ เคยรัก เคยมีแฟนเหมือนกับคนทั่วไปนั่นแหละครับ แต่จะให้ผมเรียกมันว่ารักแท้ไหม? ส่วนตัวผมคิดว่าไม่ครับ และผมไม่เชื่อด้วยครับว่าความรักที่ผูกพันด้วยความเป็นหญิงและชายในโลกใด ๆ จะมีรักแท้ นิยามของคำว่า “รักแท้” ของผมตอนนี้มันสะอาด บริสุทธิ์กว่าที่จะเอาเรื่องชาย – หญิง มาปนครับ ผมเชื่อว่ารักที่มีกิเลสปนเป็นส่วนประกอบ ไม่สามารถเรียกว่ารักแท้ได้ครับ มันเป็นเพียงความหลงเท่านั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ผมจะมาขยายนิยาม คำว่า “รักแท้” ในหลาย ๆ มุมให้อ่านกันครับ
1.รักแท้อบายภูมิ รักแท้ผีเปรต
เป็นรักแท้แบบแปะป้ายให้คนเข้าใจผิด เป็นรักปลอม ๆ ที่แม้จะดูออกได้ง่าย ก็ยังทำให้คนจำนวนหนึ่งหลงไปได้ เช่นหลงไปรัก ไปคบหา ไปแต่งงานกับคนชั่ว พวกหลอกลวง ฯลฯ หรือแม้แต่การเข้ามารักเพื่อทรัพย์สิน ยศศักดิ์ ชื่อเสียง ความสุข ฯลฯ ก็เป็นความรักแท้แบบหลอก ๆ เพราะใช้ “สิ่ง” ต่าง ๆ เป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งสิ่งที่จ่ายไปไม่ใช่ความรัก อารมณ์ หรือทัศนคติใด ๆ แต่มักจะเป็นเปลือกที่ห่อหุ้มคนเหล่านั้นไว้ คนที่เขาหลงไปรัก ไปคบหา ไปแต่งงาน ทุกคนก็หลงว่าเป็นรักแท้กันหมด ถ้าเขาจะนิยามว่ารักแท้เป็นอย่างไร? เขาก็จะบอกว่าต้องเป็นแบบที่เขามีนั่นแหละคือรักแท้ ตอนนั้นเขาหลงเชื่อแบบนั้นจริง ๆ พอโดนกิเลสหลอก มันก็เห็นของเก๊กลายเป็นของแท้ได้จริง ๆ
2.รักแท้โลกียะ
รักแท้โลกียะ คือรักโง่บริสุทธิ์ คือความหลงมัวเมาแบบไม่ลืมหูลืมตา หลงยึดมั่นถือมั่นว่าเขาเป็นของเรา แล้วก็เสพสุขกับความ “ได้ดั่งใจ” ในหลากหลายมิติ ทั้งในมุมของกาม และในมุมของอัตตา ในมุมกามก็ได้เสพรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสก็หลงสุขใจ ยินดีในรสนั้น ๆ ว่าถ้ามีให้เสพตลอดไปนี่แหละจึงเรียกว่ารักแท้ ในมุมอัตตา เช่น ได้ควบคุม ได้บงการ ได้ทาส ได้ผู้ซื่อสัตย์ ที่จะคอยรัก คอยเอาใจ คอยดูแล คอยบำเรอตนตลอด หรือแม้กระทั่งรักตนตลอดไป ไม่ยอมเปลี่ยนไปไหน ยึดมั่นถือมั่นแต่เฉพาะตน ไม่หันไปมองใคร ดูแลกันจนแก่เฒ่า รักกันจนวันตาย บูชาความรักที่มีฉันเป็นศูนย์กลาง อันนี้คนเขาก็เรียกกันว่ารักแท้เหมือนกัน
รักแท้ในมุมโลกียะนี้ เรียกได้ว่า แค่มีศีล ๕ ก็ประเสริฐนักหนาแล้ว เป็นสิ่งที่คนแสวงหามาครอบครอง ใครเขามีรักก็อยากให้รักคงอยู่นาน ๆ ให้คู่ของเขามั่นคง ตลอดไป ไม่เปลี่ยนแปลง อันนี้ก็เป็นความเห็นผิด เป็นความวิปลาสของจิตในความรักแบบโลกียะ ที่พอใจอยู่กับสุขลวงเพียงเท่านี้ แม้จะมีสุขน้อยทุกข์มาก เพียงแค่ได้เสพสุข ได้ยินดีพอใจในสุขแม้น้อยนั้น คนเขาก็ยังเรียกว่ารักแท้กัน
3.รักแท้กัลยาณธรรม
ขยับดีขึ้นมาหน่อย จากรักแท้แบบโลกียะ หรือแบบโลก ๆ ทั่วไป พอขยับฐานขึ้นมาก็จะกลายเป็นรักแบบคนดี แบบคนมีศีลมีธรรม คือพยายามจะพากันเจริญ พยายามจะพราก พยายามปฏิบัติศีล ประพฤติพรหมจรรย์ พยายามที่จะละเว้นจากการสมสู่ พากันเข้าวัด ปฏิบัติธรรม แบบนี้คนในสังคมโลกีย์ เขามองเข้ามา เขาก็ไม่อยากได้ เพราะมันได้เสพน้อย รสมันไม่จัดเท่าแบบโลกีย์ แบบนี้มันจะจืดลงมา ทั้งรสกามและรสอัตตา แต่มันก็ยังมีอยู่ ถึงแม้จะมีความอยากความยึดปนอยู่เช่นนั้น หลายคนก็ยังนิยามรักห่วย ๆ แบบนี้ว่ารักแท้ได้เหมือนกัน
ทำไมถึงเรียกว่าห่วย? เพราะมันยังทุกข์อยู่ยังไงล่ะ เพราะดีกว่านี้มันยังมีอยู่ยังไงล่ะ เพราะสิ่งที่ดีกว่ามันดีกว่านี้จนเทียบกันไม่ได้เลย รักแบบนี้ถึงจะยังมีอยู่ ก็ยังเป็นหนามในใจ ยังผูกพัน ยังยึดมั่น ยังดึงรั้น ยังอยากได้ดั่งใจอยู่ ที่สำคัญ นิยามรักแท้แบบนี้ ยังคงต้องอาศัยสภาพของคนคู่อยู่ คือยังต้องมีคู่ถึงจะเรียกว่ารักแท้ ต้องมีตัวกระทบ ต้องมีตัวบำเรอความสมบูรณ์แบบ ต้องมีสิ่งที่จะมายืนยันว่ารักฉันนี่แท้ ฉันประคองรักให้เจริญได้ มันต้องมีคู่มาเป็นหลักฐาน ไม่มีคู่เขาไม่เรียกว่ารักแท้ สรุปก็คือมันก็ต้องมีใครสักคนหนึ่ง ที่ซวยสุด ๆ ต้องมารับบทเจ้าชาย เจ้าหญิง ประคองรักอันหาสาระแท้ไม่ได้นี้ ไปด้วยกัน ทั้ง ๆ ที่ในมุมของความผาสุกแท้ในชีวิต ในความเห็นของบัณฑิต การมีคู่ไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจเลย ซ้ำยังเป็นดงขวากหนามให้กับทางแห่งความเจริญของชีวิตอีกด้วย ต้องคอยเติมรัก ต้องคอยประคอง ต้องคอยเอาใจ ต้องคอยดูแล สิ่งนี้คนทั่วไปเรียกว่าสุข เขาเรียกว่ารักแท้ แต่บัณฑิตจะเรียกว่าทุกข์ เรียกว่าภาระ เรียกว่าความหลง
ความรักทั้ง 3 ข้อแรกจะจัดอยู่ในฝั่งของโลกียะ แต่ก็มีระดับของความหยาบ ไปจนละเอียดแตกต่างกันออกไป
4.รักแท้โลกุตระ
รักกันจนมาถึงขั้นนี้ได้ ต้องเรียกว่า “รักเหนือโลก” เป็นรักแท้แบบที่คนทั่วไปไม่รู้จักแล้ว ส่วนใหญ่เขาไม่เรียกว่ารักแท้กันด้วยซ้ำ ทั้งที่จริง โดยความบริสุทธิ์แล้ว สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรค่าอย่างยิ่งต่อคำนิยามว่า “รักแท้”
รักแท้โลกุตระมีสภาพเป็นเช่นไร? มันเป็นรักที่ไม่มีบุคคลมาคอยรองรับความแท้ แต่มันแท้ในตัวของมัน เป็นรักที่ใส ๆ ปราศจากอคติ ลำเอียง ไม่เทไปให้ใครคนใดคนหนึ่งมากเกินไป ไม่ผลักใครคนใดคนหนึ่งจนเกินงาม คืออยู่ในขีดที่ให้เพื่อการขัดเกลาเพื่อความเจริญ แต่ไม่เลยไปจนถึงอกุศลหรือบาปใด ๆ จะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น จากในพระไตรปิฎกมีการกล่าวถึงจิตของพระพุทธเจ้านั้นเสมอกันแม้ในพระราหุล (ลูกชาย) หรือพระเทวทัต (ผู้ที่อาฆาต จองเวรพระพุทธเจ้ามาหลายชาติ) ตลอดจนคนอื่น ๆ (จากบท:อุปาลีเถราปทาน)
ความรักที่ไม่หวั่นไหว ไม่เปลี่ยนแปลง เที่ยงแท้ แน่นอน ยั่งยืนตลอดกาล ก็เห็นจะมีแต่รักที่ไร้กิเลสเท่านั้น ส่วนรักอื่น ๆ ที่ยังปนด้วยความโลภ โกรธ หลง เต็มไปด้วยตัวเราเป็นของเราแบบนี้ ตัวเธอเป็นของฉัน เราเป็นของกันและกัน รักพวกนี้ก็เป็นของเก๊ ไม่เที่ยงแท้ แปรเปลี่ยน เวียนกลับ ไม่มั่นคงเป็นธรรมดา แม้จะแปะป้ายว่ารักแท้ ผูกโบว์สวยสด ยกขึ้นหิ้ง เชิดชูให้เป็นผู้มีรักแท้ยอดเยี่ยมของโลก แต่ถ้าจิตใจเขายังเหลือเชื้อกิเลส กิเลสแปลว่า ไม่เอาธรรมะ แปลว่าไม่เอาสิ่งดี เดี๋ยววันหนึ่งมันก็แปรกลับ เป็นทุกข์ เป็นทิ้ง เป็นสารพัดเป็นที่จะเป็นเหตุให้คนที่ยึดมั่นถือมั่นได้เป็นทุกข์ เศร้าโศก คร่ำครวญ รำพัน ฯลฯ อยู่ร่ำไป
ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของรักโลกุตระ “ความไม่เบียดเบียน” ต่างจากรักหัวข้ออื่นที่ยกมาก่อนหน้านี้ เพราะมันจะมีความเบียดเบียนปนอยู่ในชีวิตจิตใจด้วยเสมอ ความเบียดเบียนนี้คืออะไร คือมีแล้วทำให้ทุกข์ กังวล ระแวง หวั่นไหว กลัว เกลียด สารพัดอารมณ์หม่นหมองที่จะเกิดขึ้น แต่รักโลกุตระ ที่ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นใคร ๆ เลย ก็จะไม่มีอารมณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น เพราะความรักนั้นไม่ได้เทลงไปที่ไหนเป็นพิเศษ ตรงไหนต้องการก็ให้เท่าที่เป็นกุศล เต็มก็หยุด สุดก็พอ แล้วก็ปล่อยวางไปตามที่ควรมีควรได้
พอคนพัฒนามาถึงรักโลกุตระ จะพ้นพันธนาการจากสภาพยึดมั่นถือมั่นหรือสำคัญมั่นหมายในความเป็นคู่โดยสมบูรณ์ คือจิตไม่ไปยึดถือสิ่งนั้นอีกต่อไป เพราะรู้ว่ามีจิตที่ดีกว่า เบากว่า สบายกว่า เป็นประโยชน์กว่าแบบเดิม แบบเทียบกันไม่ได้ ไม่มีใครเวียนกลับไปสนใจรักปลอม ๆ รักโง่ ๆ หรือรักห่วย ๆ อีกต่อไป อันนี้มันก็เป็นผลของการปฏิบัติ จะเดาเอาก็คงไม่ได้ เดาก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่มีทางมีความเห็นตามนี้ได้ แม้จะมีตัวอย่างจากพระพุทธเจ้าหรือพระเถระต่าง ๆ ก็ใช่ว่าคนดี ๆ เขาจะยินดีทำตามนิยามความรักแบบนี้ เขาก็ไปยึดถือเอาแต่ที่เขาพอใจนั่นแหละ ว่าดี ว่าเลิศ ว่าถูก ว่าใช่ ว่าจริง
ความแท้ในมุมของความรักในโลกนี้จริง ๆ คือ ไม่มีใครเป็นของของเราได้ตลอดไป และสภาพรักในใจเราไม่สามารถดำรงอยู่ในค่าเดิมได้ตลอดไป อันนี้คือความจริงที่แท้ที่สุด เพราะมันคือความ “ไม่เที่ยง” ความไม่เที่ยงนี่แหละจริง พอคนไปยึดกับสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้น ๆ คือไปยึดกับความรักที่คิดว่าแท้นั้น แล้วมันแปรเปลี่ยน มันก็เป็นทุกข์ นั่นเพราะเราไปมีตัวตน ไปยึดว่าเราต้องสุขเพราะแบบนั้น เขาต้องเป็นของเราแบบนั้นถึงจะสุข เราต้องมีกันและกันแบบนั้นถึงจะใช่ พอมันไม่ใช่ตัวตนที่ตนยึด มันแปรเปลี่ยนไป มันก็ทุกข์ เพราะมันหลงยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นสภาพของเรา
สุดท้ายใครพอใจแบบไหนก็ทำไป ก็ให้เวลาและความทุกข์ได้ตอบว่าจริง ๆ แล้ว ในความแท้นั้น สิ่งใดเล่า เป็นสิ่งที่แท้กว่ากัน สิ่งใดน่าอาศัยกว่ากัน สิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อตนเองมากกว่ากัน สิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสัตว์อื่นมากกว่ากัน ก็คงต้องศึกษากันไปตามทางของแต่ละคน
26.11.2562
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
รักอย่างไร? รักอย่างสัมมาทิฏฐิ รักอย่างถูกต้องถูกตรง สู่การพ้นทุกข์
รักอย่างไร? รักอย่างสัมมาทิฏฐิ รักอย่างถูกต้องถูกตรง สู่การพ้นทุกข์
ความเห็นในความรักนั้นแตกต่างกันไปตามความเข้าใจของแต่ละคน แต่ในทางพุทธศาสนา ทางที่ถูกต้องนั้นมีทางเดียว มีทิศเดียว ไม่มีทางอื่น ความเห็นที่ถูกต้องถูกตรงก็มีทิศทางเดียว คือเดินไปสู่ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าในเรื่องความรักก็คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในเรื่องความรัก ในเรื่องคนคู่ ครอบครัว ญาติ ชุมชน ชาติหรือแม้กระทั่งโลกนี้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าเข้าไปยึดไว้เลย
ความเห็นเกี่ยวกับความรักนั้น แต่ละคนก็ว่ากันไปตามที่ตนชอบ ตามที่ตนว่าถูก อันนั้นก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่ใครจะเชื่อ แต่ถ้าเราจะศึกษาว่ารักแบบใดเป็นรักที่ถูกต้อง ถูกตรงสู่ทางพ้นทุกข์ เป็นรักที่สัมมาทิฏฐิแล้วล่ะก็ จะยกเนื้อหาสำคัญมาให้ศึกษากัน
จุลศีลกับความรัก
ในหลักจุลศีล ถือเป็นหลักปฏิบัติอย่างละเอียดของชาวพุทธ โดยหลักการแล้วเป็นของนักบวช แต่หลักปฏิบัติในจุลศีลข้อนี้ ก็ได้ปรากฏอยู่ในข้อธรรมหมวดอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งเนื้อหานั้นได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ
“ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางสาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่” ให้สังเกตว่าศีลข้อนี้จะมีอยู่ 2 ส่วนในการปฏิบัติ คือ ไม่ทำ และ ทำ , ไม่ทำ คือไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ทำ คือเห็นใจและลงมือช่วยสัตว์อื่น สัตว์นั้นหมายรวมตั้งแต่สัตว์เดรัจฉานไปจนถึงมนุษย์
ความรักในหลักพุทธ ในเชิงแนวคิดหลัก ๆ ภาพรวมก็ประมาณนี้ คือไม่ไปเบียดเบียนเขา แล้วช่วยสิ่งเสริมเขาให้เกิดสิ่งดีที่พาเจริญขึ้น ทีนี้เรามาศึกษากันต่อว่าอะไรคือการเบียดเบียน ความรักแบบไหนคือการเบียดเบียน
ถ้าความรักของพุทธ (รักโลกุตระ) คือการปฏิบัติไปสู่ความเมตตาเกื้อกูล ไม่เบียดเบียนกัน โดยมีหลักคือการลดความโลภ โกรธ หลง สิ่งที่ตรงข้ามกันนั้นก็คือความรักในรูปแบบที่เบียดเบียน (รักโลกียะ) คือ พากันเพิ่มความโลภ โกรธ หลง และ ความรักที่เบียดเบียนที่เห็นได้ชัดและมีมากที่สุดก็คือการจับคู่ของคนอยากมีคู่สองคนมารวมกัน
ความรัก ที่ต้องพากันครองคู่อันนี้หยาบที่สุด ต้องเอาคนมาเสพ มาประทังความอยาก มีการเบียดเบียนสารพัดอย่าง ตั้งแต่การล่อลวงให้หลง ให้ปัญญาอ่อนลงไป ยั่วย้อมมอมเมา ให้กิเลสโตขึ้น ให้เกิดความอยากได้อยากครอบครอง ไปจนถึงต้องเอาอีกฝ่ายมาบำเรอตน ไม่ว่าจะกาม ทรัพย์สิน แรงกาย เวลา ปัญญา ฯลฯ ก็ต้องเอามาเทให้ตน แทนที่จะให้เขาเอาองค์ประกอบในชีวิตที่มีไปทำประโยชน์อื่นที่มากกว่า กลับเห็นแก่ตัว ลวงเขามาไว้ทำเพื่อตน เพื่อสนองกามตน เพื่อสนองอัตตาตนเอง
กามในมิติที่รู้กันโดยกว้างในสังคมก็คือการสมสู่ แต่กามก็ไม่ได้หมายเพียงแค่การสมสู่ เพราะการยินดีในการมองก็เป็นกาม การได้มองทุกวัน ได้เห็นเขายิ้ม ได้เห็นท่าทีลีลาอาการต่าง ๆ แล้วยินดี ก็เป็นกาม การได้ยินเสียงแล้วยินดีก็เป็นกาม ได้ยินเสียงเพราะ ๆ ของเขา แล้วชื่นใจ ก็เป็นกาม การยินดีในกลิ่นของเขาก็เป็นกาม เขาใส่น้ำหอมมาแล้วยินดี ชอบใจ ถูกใจในกลิ่นนั้นก็เป็นกาม การยินดีในการสัมผัสก็เป็นกาม การที่เขามาจับ แตะ ควงแขน สารพัดสัมผัส แล้วยินดี ก็เป็นกาม ถ้าไม่ได้เสพกามตามที่ติด ก็จะเกิดอาการทุกข์ ขุ่นข้องหมองใจ ฯลฯ จะเห็นได้ว่าการมีคู่ก็จะมีความยินดีในกามในหลายอิริยาบถ ซึ่งมันก็ไม่ได้ซ่อนลึกซึ้งอะไรหรอก มันก็เห็นกันอยู่ชัด ๆ นั่นแหละ เพียงแต่คนไม่รู้ว่านี่เป็นกาม
อัตตาเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ลึกลับ ซับซ้อน และถูกปิดบังโดยกิเลส แม้แสดงอยู่ก็ใช่ว่าจะมองเห็นได้ เช่น ความเชื่อ ศักดิ์ศรี อำนาจ(ความสำคัญในตนเองว่ามี) การมีคู่นั้น จะมีอัตตาร่วมด้วยเป็นแรงหลักเสมอ กามเป็นตัวเคลื่อน(ให้เห็นอาการ) อัตตาเป็นแรงส่งอยู่ภายใน
ในมุมของอำนาจ เช่น สำคัญตนว่ามีอำนาจ สำคัญตนว่าใหญ่กว่า เจ๋ง เก๋า แน่ ครอบครองได้ ควบคุมได้ ก็เลยแสดงอาการเช่น พูด กอด จูบ หรือแสดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของใด ๆ ที่แสดงถึงความเหนือกว่า ต่อหน้าคนอื่นก็ตามหรือต่อหน้าคู่ก็ตาม เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนมีอำนาจ ตนสามารถควบคุมได้ อันนี้มันก็เป็นอาการของอัตตา ที่แสดงออกด้วยกาม
ในมุมของความเชื่อ เช่น เชื่อว่าชีวิตจะสมบูรณ์ก็ต้องมีครอบครัวที่ดีมีลูก หรือเชื่อว่าฉันจะสามารถมีคู่ครองแล้วพากันเจริญในธรรมได้ เป็นต้น อันนี้เป็นความเชื่อ แต่เป็นความเชื่อที่ไม่พาพ้นทุกข์ เพราะมันตรงข้ามกับที่พระพุทธเจ้าตรัส คือ “คนที่ประพฤติตนเป็นโสดเขาก็รู้กันว่าเป็นบัณฑิต ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ย่อมเศร้าหมอง” คือทิศทางมันไม่ไปด้วยกันกับที่พระพุทธเจ้าตรัส
เรามีอิสระที่จะเชื่อและทำอะไรก็ได้ เพียงแต่ว่าสิ่งนั้นมันถูกต้องหรือเปล่า แล้วจะถูกต้องตามหลักของใคร หลักของฉัน หลักของใคร หรือหลักของพระพุทธเจ้า ก็เลือกหลักกันเอาว่าจะปักหลักไหน แล้วก็พิสูจน์ความจริงกันไปว่ามันจะพ้นทุกข์หรือทุกข์จริง เศร้าหมองจริง อย่างที่พระพุทธเจ้าว่ามาหรือไม่
การยึดมั่นถือมั่นคืออัตตา เช่นเมื่อได้รู้แล้วว่ามันไปคนละทางกับทางพ้นทุกข์ ก็ยังจะดื้อ จะรั้น จะลองพิสูจน์ ซึ่งมันก็ไม่แปลก มันเป็นอาการของอัตตาที่เชื่อว่า ข้าแน่ ข้าเก่ง ข้าทำได้ และลึก ๆ ข้าก็คิดว่า แนวคิดของข้าเจ๋งกว่าพระพุทธเจ้าอีกด้วย
ในอัตตาเรื่องคู่นี้มักจะซ่อนกามไว้เสมอ คือจริงๆ ตนน่ะ อยากเสพกาม อยากสมสู่ แต่เอาเป้าอื่นมาล่อไว้ เอามาบังไว้ เอามาลวงไว้ให้ดูโก้ ๆ ดูเท่ ๆ ทำเป็นจะดูแลเขาไปตลอด ทำเป็นอยากแต่งงาน อยากมีครอบครัว ทำเป็นมีอุดมการณ์ แต่จริง ๆ อยากจะสมสู่กับคนที่หวังเท่านั้นแหละ ส่วนอุดมการณ์ หรืออัตตานั้นก็ปั้นขึ้นมาลวงคู่ตรงข้ามเฉย ๆ ดีไม่ดีลวงจิตตัวเองไปด้วย หลงเชื่อไปจริง ๆ ว่าตนอยากมีครอบครัว ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ ตนแค่อยากเสพกาม ดังจะปรากฏผลเป็นการผิดศีลข้อ ๓ ที่เห็นกันโดยทั่วไป เพราะมันเสพแล้วมันไม่พอ มีแฟนคนเดียวมันไม่พอ แต่งงานแล้วมันไม่พอ อุดมการณ์มันกินไม่ได้ มันเสพไม่พอสุข สุดท้ายก็ต้องยอมผิดศีลผิดธรรม ไปตามอุดมกามของตนต่อไป
พรหมวิหารกับความรัก
ธรรมะอีกหมวดที่มักจะถูกยกขึ้นมาเมื่อกล่าวถึงเรื่องความรัก คือพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
เมตตาคือมีจิตที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลเขา กรุณาคือลงมือช่วยเขา ( คือว่ากรุณา หมายถึงทำให้ ลงมือทำให้ เช่น กรุณาส่ง คือช่วยส่งให้หน่อย หรือกรุณาให้ทาง คือช่วยหลีกทาง เป็นลักษณะที่มีกายกรรมเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงมโนกรรม ไม่ใช่แค่คิด แต่ต้องลงมือทำด้วย)
สองข้อแรกจะสอดคล้องกับจุลศีล คือมีจิตที่จะช่วยและลงมือกระทำ มุทิตาคือมีจิตยินดี ในสิ่งที่เกิดขึ้น อุเบกขาคือปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น สรุปหลักของพรหมวิหารคือ เห็นใจ คิดที่จะเกื้อกูลและลงมือช่วย ได้ผลอย่างไรก็ยินดีไปตามนั้น และปล่อยวางในท้ายที่สุด แม้สิ่งที่คิดหรือช่วยทำนั้นจะเกิดผลสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ตามที
จะเห็นว่าจริง ๆ แล้วพรหมวิหาร ไม่ได้เกี่ยวกับความรักในเชิงชู้สาวเลย หรือแม้กระทั่งครอบครัว ญาติ สังคม ประเทศชาติก็ไม่ใช่ เพราะมันไม่ได้เล็กแค่นั้น ธรรมหมวดนี้หมายถึงจิตที่เมตตากว้างไกลไม่มีประมาณซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุก ๆ เหตุการณ์ ในชีวิต
สรุปได้ว่า แนวทางความรักของพุทธนั้น ไม่ได้กระจุกอยู่ที่จุดเล็ก ๆ อย่างคู่ครอง คู่รักใด ๆ ดังนั้น ความรักที่ถูกต้องจึงเป็นคำที่ห่างไกลจากความอยากจะไปมีคู่อย่างมาก ไกลลิบ ๆ ไกลสุดลูกหูลูกตา เพราะความรักของพุทธนั้นกระจายออกไปโดยไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ความรักแบบคู่ครองนั้น กระจุกอยู่โดยยึดมั่นถือมั่นว่า ความเชื่อของฉันคือแบบนี้ ความสุขของฉันคือแบบนี้ เขาคนนี้คือความสุขของฉัน และความถูกต้องของฉันคือแบบนี้
ว่าแล้วก็แยกกันไปตามความเห็น ความเห็นแบบหนึ่งก็ไปแบบหนึ่ง ความเห็นอีกแบบก็ไปอีกแบบ ไม่ต้องเสียเวลามานั่งเถียงหรือทะเลาะอะไรกัน ต่างคนก็ต่างศึกษากันไป คนที่ศึกษาปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าโดยหลักฐานก็จะพบว่ามีความทุกข์น้อย มีความผาสุกมาก ตลอดจนไม่มีทุกข์เลยก็มี ส่วนคนที่เห็นต่างก็ไปทางอื่น จะเรียกชื่อทางว่าอะไรก็แล้วแต่ ทางแห่งรักที่ถูกตรงก็ได้ ทางแห่งรักที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ได้ จะเปลี่ยนปกไปยังไงก็ได้ แต่ถ้าเนื้อในมันเน่า มันพาหลง มันเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น มันก็จะต้องเป็นทุกข์อยู่อย่างนั้นไปตลอดกาล
18.11.2562
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
โสดดีหรือมีคู่ – ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
ผมได้ร่วมโครงการเก็บข้อมูลเพื่อการวิจัย โครงการโสดดีหรือมีคู่ โดยจิตอาสาแพทย์วิถีธรรม ครับ ล่าสุดก็มีผลงานออกมาเผยแพร่กันมากมายทีเดียว เป็นแนวคิดของคนที่ปฏิบัติตนให้เป็นโสด ตามแนวทางของพุทธศาสนา ด้วยวิธีการสอนแบบแพทย์วิถีธรรม ก็ติดตามกันได้ครับ เนื้อหาด้านล่างก็ยกมาสำรองไว้ แต่ในหน้าหลักจริง ๆ ก็จะเป็นหน้า โสดดีหรือมีคู่ ครับ
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ ชื่อเล่น: ดิน เพศ:ชาย อายุ:36 ปี สถานภาพ:โสด (เคยมีแฟน)
รู้จักและปฏิบัติตามหลักแพทย์วิถีธรรมมาแล้วเป็นระยะเวลา:6 ปี
ก่อนพบแพทย์วิถีธรรม ท่านมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการอยู่เป็นโสดหรือมีคู่อย่างไร?
ตั้งแต่เด็กจนโตขึ้นมา ก็ศึกษาธรรมะทั่ว ๆ ไป ความคิดไม่เคยเปลี่ยนไปเลย คือ การอยู่เป็นโสด ไม่เคยมีในหัว ไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าดีอย่างไร ไม่สนใจ ไม่ใช่เป้าหมาย แน่นอนว่าความเชื่อก็ต้องเป็นด้านตรงกันข้าม คือเชื่อว่ามีคู่แล้วชีวิตมันจะเป็นสุขแน่นอน อย่างน้อยก็ได้สุขจากสารพัดเสพ
จริง ๆ ในการมีคู่มันก็ทุกข์อยู่ แต่สุขลวงมันก็บังไว้ ให้หลง ให้งง ให้แสวงหา ให้ยึดติดอยู่แบบนั้น ไม่ละ ไม่หน่าย ไม่คลาย นั่นเพราะยังไม่เห็นทุกข์ที่เป็นของแท้ของจริง แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วจะเป็นทุกข์แสนสาหัสอยู่ก็ตาม แต่ด้วยความมืดบอด ตามองเห็น แต่ปัญญาไม่มี จึงไม่เห็นความจริงตามความเป็นจริง อีกทั้งธรรมะโลก ๆ จนถึงกระทั่งกลุ่มที่ศึกษา ก็ไม่มีพลังในการส่งเสริมการเป็นโสด ไม่สอนให้เห็นโทษภัยของการมีคู่ แม้ธรรมะที่แสดงอยู่ในโลกตามที่ได้รู้ เมื่อศึกษาดูก็ไม่ได้รู้สึกถึงโทษภัยใด ๆ เลย
หลังพบแพทย์วิถีธรรม ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร?
มาเข้าค่ายครั้งแรกเป็นค่ายสุขภาพ แต่เมื่อได้ยินอาจารย์หมอเขียว ยกธรรมะในหมวดของการอยู่เป็นโสดและคนคู่ โดยยกพระไตรปิฎกมาอ้างอิง ก็ได้รู้มากขึ้น ได้เข้าใจถึงน้ำหนักที่มากขึ้น ได้ความชัดเจนอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อน
แต่ถึงกระนั้นความอยากมีคู่ก็ไม่ได้หายจางไปไหน ความรู้ยังคงเป็นเพียงแค่ความรู้ ไม่ใช่ความเข้าใจตามจริง ก็ยังมีจิตแสวงหาอยู่ สมัยนั้นก็นั่งหน้าเวที อาจารย์ก็แสดงธรรมเรื่องคู่ ใจก็คิดถามอาจารย์ว่า แล้วมีได้ไหม? แล้วมีได้ไหม? ว่าแล้วก็หาทางจนได้ มันมีช่องเล็ก ๆ ให้มุดเข้าไป เป็นช่องอนุโลมของเด็กน้อย เราก็คิดว่าเราไม่ไหวหรอกชาตินี้ ขอมีก่อนแล้วกันนะ เอาฐานนี้แหละ
ไป ๆ มา ๆ เจอของจริงเลย คือต้องเจอทุกข์จากความรักจริง ๆ ใช้เวลาเกือบ 2 ปีกว่าจะเข้าใจ ว่าความทุกข์ที่แท้จริงคืออะไร ประโยชน์ที่แท้จริงคืออะไร อะไรคือการเกื้อกูล อะไรคือการเบียดเบียน อะไรคือความรักที่แท้จริง อะไรคือความลวงของกิเลส แต่กว่าจะผ่านมันมาได้ก็ไม่ได้ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนผ่านสงความมา แขนขาด ขาขาด จากการรบไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งในสองปี เล่นจริง รักจริง เจ็บจริง ทุกข์จริง เรียกว่าสาหัส แต่ก็ทำให้ได้เข้าใจทุกกระบวนการของกิเลสในเรื่องความรัก ตั้งแต่เกิดยันดับ จะเรียกว่าคุ้มค่าไหม? ก็ไม่หรอก เพราะถ้าเราไม่หลงไปแบบนั้นมันก็ดีกว่า เพราะอะไรที่ทำไปแล้วมันก็จะกลายเป็นวิบากกรรม มันก็ต้องรับ มันก็ต้องทนใช้
สุดท้ายก็พบว่าที่พระพุทธเจ้าตรัส ที่ครูบาอาจารย์สอน นี่แหละจริงที่สุด ผาสุกที่สุด ทางอื่นไม่สุขเลย ทุกข์ไม่จบไม่สิ้น ตอนนี้เราปฏิบัติจนได้ปัญญามาแล้ว เราก็ไม่ต้องไปโง่แสวงหาทุกข์มาใส่ตัวแล้ว มันก็สบายไป
ท่านมีการปฏิบัติต่อไปอย่างไร?
การปฏิบัติต่อจากนี้ ก็ตั้งใจว่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่นอย่างแท้จริง ให้ได้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป คือตนเองก็ยินดีในการอยู่เป็นโสด ยินดีในธรรมที่พาให้คนเป็นโสด และยังส่งเสริมผู้อื่นให้ยินดีและปฏิบัติตนในการอยู่เป็นโสด หรือถ้าอยู่เป็นคู่ ก็ให้มีศิลปะในการพราก ในการปฏิบัติเพื่อความละหน่ายจากคลายจากความยึดมั่นในความผูกพันธ์ ในบทละครที่หลงไปเล่น เพราะจริงๆ แล้ว สถานะคู่คือสถานะสมมุติที่คนปั้นกันขึ้นมาเอง จริง ๆ มันไม่มีอะไรหรอก คนเต็มคน จะไม่ต้องการแสวงหาคนอื่นมาเติม และยังสามารถเผื่อแผ่แบ่งปันโดยไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือสำคัญมั่นหมายว่านี่เป็นเรา นี่เป็นของเรา นี่เป็นคนของเรา นี่คนรักเรา นี่ญาติเรา นี่เพื่อนสนิทเรา ฯลฯ มันจะเป็นอิสระจากสภาพยึดจะเสพสิ่งดีจากบุคคลหนึ่ง ๆ
และเพื่อการเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้อื่น ก็จะพยายามรักษาระยะห่างกับเพศตรงข้ามที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิต ไม่ให้สนิทเกินไป ไม่ให้หวั่นไหวจนเกินเลย โดยใช้ปัญญาของเรานี่แหละ ในการตรวจจับอาการที่ดูเหมือนจะเป็นอกุศล ถ้ามีแนวโน้มว่าท่าจะไม่ดีก็ถอยออกมา หรือคบหาในระยะที่ไม่ใกล้จนเป็นอกุศลในใจเขา
เลิกกินเนื้อสัตว์ดีอย่างไร
เลิกกินเนื้อสัตว์แล้วดียังไง? เป็นคำถามที่หลายคนอาจจะติดค้างในใจ เพราะดูเผิน ๆ แล้วมันก็ดูเหมือนไม่ได้ประโยชน์อะไร แถมอดกินเนื้อสัตว์ที่ชอบอีกต่างหาก
หลายความเห็น หลายเหตุผล ผมเคยพิมพ์เป็นบทความ เผยแพร่กันแล้วในเว็บไซต์แห่งนี้ ใครสนใจก็ไปติดตามอ่านกันได้ใน หมวดหมู่ : มังสวิรัติ ได้ครับ แต่ในบทความนี้จะมานำเสนอ ประโยชน์ 3 ประการในการเลิกกินเนื้อสัตว์ของหมอเขียว ดร.ใจเพชร กล้าจน กันครับ
เลิกกินเนื้อสัตว์ได้โชค 3 ชั้น (หมอเขียว ดร. ใจเพชรกล้าจน)
1.ได้ร่างกายที่แข็งแรง ความเจ็บป่วยน้อยลง
2.ได้จิตใจที่เป็นสุข
3.มีสิ่งดีๆเกิดขึ้นในชีวิต มีสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิตมากขึ้น สิ่งเลวร้ายในชีวิตน้อยลง
มาตรวจตามประเด็น ที่อาจารย์หมอเขียวได้พบ ว่าผมได้สัมผัสสิ่งใดบ้าง
1.ได้ร่างกายที่แข็งแรง ความเจ็บป่วยน้อยลง
– อันนี้จริงตามที่อาจารย์ว่า เพราะนอกจากจะแข็งแรงขึ้น หายโรคไวขึ้น แล้วน้ำหนักยังลดอีก น้ำหนักผมลดจากประมาณ 100 เหลือ เฉลี่ย 65 หรือจนกระทั่ง 60 ในบางที น้ำหนักที่ลงขนาดนี้ ความรู้ในโลกทำไม่ได้ง่าย ๆ นะ แต่การเลิกกินเนื้อสัตว์ทำได้ พอน้ำหนักลงแล้วอย่างอื่นก็ดีขึ้นเป็นเงาตามตัว การฟื้นฟูตัวเองก็ดีขึ้น กลิ่นตัวก็ไม่แรงเหมือนสมัยก่อน แถมยังคล่องตัวขึ้นกว่าเดิมด้วย อาการขาเบียดจากไขมันอันมากมายได้หายไปหมด เรียกว่าทั้งแข็งแรงขึ้น เจ็บป่วยน้อยลงจริง ๆ
2.ได้จิตใจที่เป็นสุข
– จิตใจที่เป็นสุขเกิดขึ้นจริง ๆ มันคือความสบายใจ ที่เราไม่ต้องเบียดเบียนสัตว์ มันคือความยินดี ภูมิใจ มั่นใจว่านี่แหละคือความประเสริฐของมนุษย์ นี่คือคุณค่าของความเป็นคน คือความไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น คือความเกื้อกูลสัตว์ ความมีอยู่ของเราไม่เป็นภัยต่อสัตว์อื่น เรามีชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อสัตว์อื่นจริง ๆ พอมันเป็นแบบนี้จิตใจมันก็ผ่องใส ไม่หม่นหมอง ไม่ต้องมีตราบาป ไม่ต้องทำบาปเพราะเห็นแก่กินอีกต่อไป
3.มีสิ่งดีๆเกิดขึ้นในชีวิต มีสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิตมากขึ้น สิ่งเลวร้ายในชีวิตน้อยลง
– ตั้งแต่ปฏิบัติธรรมตามอาจารย์หมอเเขียวมา ก็เกิดสิ่งดี ๆ ในชีวิตมากมาย เจอเหตุการณ์ร้ายก็มีคนมีช่วยไวมาก ไม่เคยต้องลำบากนาน ไม่ต้องทนทุกข์นาน มีเหตุการณ์ดี ๆ ในชีวิตเกิดมากมาย คนที่เคยเข้าใจผิดก็หันมาเข้าใจ มายอมรับ มาศรัทธา มาสนับสนุน มาเป็นกำลังให้ ปัญญาที่เคยทึบ หลงโง่ หลงทุกข์ ก็ค่อย ๆ สว่าง กระจ่างขึ้น กำจัดความโง่ทนทุกข์ได้โดยลำดับ
สรุปแล้วก็เห็นดี เห็นควรตามที่อาจารย์หมอเขียวกล่าวไว้จริง ซึ่งข้อดีในการกินมังสวิรัติอาจจะมากกว่า ถ้ายกมาตรวจสอบกันก็อาจจะขยายผล ขยายประโยชน์ได้มากกว่านี้
อ่านเนื้อหาของอาจาย์หมอเขียวฉบับเต็มที่ : เลิกกินเนื้อสัตว์ได้โชค 3 ชั้น