ธนาคารอวิชชาใต้อุปาทาน

November 13, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 876 views 0

ธนาคารอวิชชาใต้อุปาทาน

ธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นกระแสความรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำ ที่ค่อนข้างจะเป็นที่กล่าวถึง ในช่วงกลางปี พ.ศ.2562 มานี้ โดยเฉพาะการนำพาปฏิบัติของอาจารย์หมอเขียว ได้ทำให้จิตอาสาและผู้สนใจร่วมกันศึกษาเรียนรู้อย่างรวดเร็ว

ผมเห็นการทำธนาคารน้ำใต้ดินในระดับบุคคลแล้วก็นึกถึงการขุดค้นหาต้นตอของกิเลส การขุดรูลงไปโดยใช้แรงคนนั้นไม่ง่าย เป็นงานหนัก ยิ่งลึกก็ยิ่งขุดลำบาก ลงไปในหลุมแคบ ๆ อากาศไม่ถ่ายเท เต็มไปด้วยเศษฝุ่นเศษดิน แถมยังต้องยกดินที่ขุดออกขึ้นไปเทอีก เหมือนกับกิเลสที่ต้องขุดลงไปโดยลำดับ จากผิวตื้น ๆ กิเลสจะมีลำดับ มีชั้น มีความลึก มีมวลที่แตกต่างกัน ในการขุดจริงบางทีก็จะเจอก้อนหินใหญ่ ซึ่งทำให้งานยากลำบากขึ้น เช่นเดียวกับการขุดล้างกิเลส บางทีบางหลุมของอวิชชาก็ต้องเจองานหิน ต้องเจอกิเลสที่ทั้งหนา ทั้งใหญ่ ทั้งหนัก ซึ่งแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน แตกต่างกันไปตามวิบากกรรมหรือกิเลสที่ได้สั่งสมมา สั่งสมมามากก็ยาก สะสมมาน้อยก็ไม่ลำบากนัก

การทำธนาคารน้ำใต้ดินนั้น เป็นความมุ่งหมายที่จะทำจุดเติมน้ำลงไปถึงชั้นหินอุ้มน้ำและให้น้ำถ่ายเทไปยังพื้นที่รอบข้าง ไม่ท่วมขัง เช่นเดียวกับการล้างกิเลส ซึ่งจะต้องขุดผ่านชั้นของอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ๆ ก็ตาม ที่หลงติดหลงยึดไว้ โดยมีความมุ่งหมายที่จะขุดลงไปถึงชั้นอวิชชา คือความโง่ ความหลงในสิ่งลวง ความไม่รู้ดี ไม่รู้ชั่วอย่างแท้จริง และนำพาธรรมะเติมเข้าไปให้ถึงชั้นของอวิชชา จากเดิมที่ธรรมะนั้นไหลลงมากระทบ เหมือนฝนตกที่เทลงมา แม้จะกระหน่ำ หนัก หนา นาน สักเพียงใด น้ำฝนเหล่านั้นก็ไม่ได้ไหลไปยังที่ที่ควรจะไป แต่ก็ไหลทิ้งไปตามทาง ไปสู่แม่น้ำลำคลอง ลงทะเลต่อไป เช่นเดียวกับการล้างกิเลส ถ้าเราไม่เริ่มขุดชั้นของอุปาทานให้เป็นบ่อ เป็นจุด เป็นที่กำหนดหมายว่าฉันจะล้าง จะชำระ จะทำลาย จะทำสิ่งนั้น ๆ ให้บริสุทธิ์ ก็คงจะไม่มีจุดให้ธรรมะที่ได้รับนั้นเข้ามากระทบ ก็เป็นเพียงแค่สายน้ำชุ่มเย็นที่ไหลหลั่งรดลงมา ให้พื้นดินชุ่มชื้น แล้วก็จางหายไปนั่นเอง

การเรียนรู้และคลี่คลายชั้นของอุปาทานโดยลำดับ จะทำให้ธรรมะในเรื่องนั้น ๆ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังคำกล่าวของอาจารย์หมอเขียวที่ว่า “ปัญญาแห่งธรรม คือรางวัลของผู้บำเพ็ญ” เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ผลของการล้างกิเลสก็คือปัญญา คือการรู้แจ้งโทษชั่วของสิ่งนั้น นำมาซึ่งผลสืบเนื่องในอีกสองด้านคือ 1. นำปัญญานั้นไปชำระความโง่ของตนเอง (ทำลายอวิชชา) 2.นำปัญญานั้นไปช่วยเกื้อกูลผองชนให้พ้นจากทุกข์ ตามเหตุปัจจัยที่ตนได้เคยศึกษามา และต่อจากนั้นก็จะมีปัญญาที่เป็นผลตามมาอีก เหมือนน้ำที่ซึมผ่านชั้นหินอุ้มน้ำ แผ่ขยายไปรอบทิศทาง ทำให้ผืนดินชุ่มชื้น มีพลังชีวิต ต้นไม้เติบโตได้ดี เหล่าสัตว์มีกินมีใช้

ในมุมของการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ก็มีหลักการและความรู้เช่นว่า จะต้องขุดลงตรงไหน ตรงไหนถึงจะเป็นจุดรวม เป็นจุดที่เก็บและกระจายน้ำได้ การล้างกิเลสก็เช่นกัน จะต้องมีจุดที่กำหนดไว้ มีเรื่องที่กำหนดไว้ มีศีลเป็นขอบเขตกำหนดว่าจะต้องปฏิบัติตรงไหน เท่าไหร่ แค่ไหน… ส่วนฝนที่จะตกลงมานั้น ก็จะเป็นไปตามฤดูกาล คือเป็นไปตามวิบากกรรม ซึ่งจะกำหนดไม่ได้ แต่การรับน้ำฝนคือธรรมะนั้น สามารถกำหนดได้ เข้าถึงได้ ประมาณได้ คือการเข้าหาสัตบุรุษ สาวกของพระพุทธเจ้า ผู้รู้ธรรม มีธรรมที่พาพ้นทุกข์ได้จริง ฟังธรรม นำมาปฏิบัติตาม และสร้างองค์ประกอบแวดล้อมที่ดีให้กับตนเองตามคำกล่าวของอาจารย์หมอเขียว คือ “คบและเคารพมิตรดี ไม่โทษใคร ใจไร้ทุกข์ ทำดีเรื่อยไป ใจเย็นข้ามชาติ” ก็จะเป็นการทำธนาคารธรรมะที่สำเร็จ ยั่งยืน มีกินมีใช้ มีทุกข์น้อย พบสุขมาก เป็นความผาสุกให้ชีวิตตนและผู้อื่นได้อาศัยต่อไป

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

13.8.2562

รักแท้ เสียสละ ไม่ยึดยื้อรั้ง ให้เขามาเป็นของของเรา

May 19, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,455 views 0

รักแท้ เสียสละ ไม่ยึดยื้อรั้ง ให้เขามาเป็นของของเรา

ในบทความนี้ จะมานิยามความรัก ที่เรียกว่า “รักแท้” ในอีกมุมหนึ่งที่ต่างจากที่โลกของทำกัน ต่างจากที่เขาเป็นกัน ต่างจากที่เขาคิดกัน และเป็นความแท้ ที่จริงที่สุด ไม่ใช่รักที่ล่อลวงด้วยกิเลสแล้วหลงว่าเป็นรักแท้

รักแท้คือการเสียสละ ยอมสละออก ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ต้องมีใครมาบำรุงบำเรอหรือมาดูแล ไม่ต้องมีใครมาเป็นเหยื่อสังเวยเพื่อบูชาความรัก ไม่ต้องลวงเขามาเพื่อสนองกามตนเอง ไม่ต้องล่อเขามาเพื่อเติมอัตตาตัวเองให้เต็ม ยอมเป็นคนเต็มคน ไม่ต้องแสร้งว่าพร่อง เพื่อหาใครสักคนมาเติมเต็มชีวิตที่เต็มไปด้วยความอยากและความยึด

หากว่าเราสามารถเลือกที่จะสละออกไปตั้งแต่แรกเลย ก็จะยิ่งบริสุทธิ์ ถ้าการนำใครสักคนเข้ามาในชีวิตแล้วทำเป็นว่าจะเสียสละเพื่อเขา อันนั้นยังไม่ใช่การเสียสละ ยังไม่ใช่ความรักที่แท้ เพราะยังต้องใช้ใครสักคนมาเพื่อบำเรอการเสียสละของตน ยังต้องการคนรับการเสียสละจากตนอยู่ ยังต้องใช้บุคคลเพื่อสนองความต้องการเสียสละของตนอยู่ ซึ่งมักจะเป็นเล่ห์ลวงของกิเลส ที่จะใช้ความเสียสละจ่ายไปเพื่อจะได้สิ่งของหรือเหตุการณ์ที่จะมาสนองความอยากของตน เป็นอุบายของกิเลสที่จะแสร้งว่า “นี่ฉันจะเสียสละนะ ถ้าได้คนคนนี้มาเป็นคู่ครอง” มันยังมีเงื่อนไขในการเสียสละอยู่ คือ การได้เขามาครอบครอง ดังนั้นจึงไม่ใช่การเสียสละ แต่เป็นการ “เอา” มาเพื่อตนโดยวิธีการอันแนบเนียนยากที่จะสังเกตได้

ความรักที่แท้จริงนั้นไม่ทำร้าย ไม่เบียดเบียน พาให้เจริญ ไม่ทำให้หลง แต่ความรักโลกีย์หรือรักที่เต็มไปด้วยกิเลสนั้น กลับไปในทิศทางตรงกันข้าม แล้วยังสร้างมนต์สะกดให้หลงมัวเมาว่ารักนั้นไม่ทำร้าย รักนั้นไม่เบียดเบียน พากันทำดี พากันเจริญได้ พากันมีสติรู้แจ้ง อะไรก็ว่ากันไปตามแต่กิเลสจะสรรหาคำมาปรุงแต่งให้รักโลกีย์นั้นดูสวยงาม เลิศเลอ น่าจับต้อง ไม่เป็นพิษเป็นภัย เป็นของน่าได้น่ามี

ทุกสิ่งในโลกล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ดังนั้นจึงไม่ควรยึดสิ่งใดไว้เลย โดยเฉพาะเรื่องการเสียสละในความรัก เมื่อเรารู้แล้วว่ารักไม่เที่ยง รักเป็นทุกข์ และสุดท้ายรักนั้นก็ไม่มีตัวตน คือรักก็เป็นเพียงภาพลวงที่กิเลสสร้างขึ้นมา แท้จริงมันก็คือความหลงติดหลงยึดในสิ่งที่ตนชอบ พอยึดแล้วมันก็จะผูกเอาไว้ ติดเอาไว้ ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมคลาย ไม่ปล่อยวางเขาเสียที ไม่ปล่อยให้เขาเป็นไปในแบบของเขา ยังใช้อำนาจ วิธีการ อุบายต่าง ๆ เพื่อที่จะยื้อและรั้งเขาไว้ ไม่ให้ไปจากเรา ให้ลุ่มหลงในตัวเรา ให้สนใจแต่เรา ให้เป็นทาสรักของเราไปจนกว่าจะเสพสุขจนสาแก่ใจ สุดท้ายก็ใช้ความเป็นเรานี่แหละเป็นบ่วงผูกเขาไว้

และแน่นอนว่าบ่วงนั้นก็ย่อมไม่เที่ยงเช่นกัน คนเราก็มีอำนาจในตัวเอง มีธรรมะ มีกิเลส มีความเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรที่อยู่นิ่ง ๆ ตลอดไป ถ้าเขาพยายามศึกษาและปฏิบัติธรรมจนเจริญ บ่วงที่เราพยายามผูกไว้ก็ย่อมไร้อำนาจ แม้ว่าจะเป็นบ่วงที่เลิศยอดที่สุด รูปที่งาม มารยาทดีเยี่ยม ทรัพย์สินมหาศาล อำนาจหน้าที่ ลูกหลานบริวาร อุดมการณ์สร้างฝัน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนไร้ค่าเมื่อเทียบกับธรรมะ ดังนั้นถ้าเขาไม่เที่ยงไปในทิศทางเจริญ คนที่ยึดมั่นถือมั่นก็ย่อมจะต้องทุกข์จากการพลัดพราก แต่ถ้าเขาไม่เที่ยงไปในทางเสื่อมหรือในทิศทางของกิเลส บ่วงของเราก็ย่อมจะต้านทานอำนาจกิเลสของเขาไม่ไหวเช่นกัน เขาก็จะแหวกออกไปแสวงหาคนที่เขาจะได้เสพสุขมากกว่าเรา ตามฤทธิ์ของกิเลสที่เพิ่มขึ้นของเขา เมื่อเราไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ เขาก็จะจากไป ดังนั้น รักที่มีการยึดยื้อเหนี่ยวรั้งไว้ ย่อมไม่ใช่รัก แต่มันคือความหลง ซึ่งจะนำพาให้เกิดการทำร้าย การเบียดเบียน ความทุกข์ ความร่ำไร คร่ำครวญ หดหู่ ซึมเศร้า ฯลฯ ทั้งตนเองและผู้อื่น

เมื่อรู้แล้วว่ารักนั้นไม่เที่ยง ก็ย่อมไม่ควรยึดเอามาเป็นของตน คนที่เข้าใจสัจธรรม จะไม่แสวงหาผู้ใดมาเป็นคู่ของตน มาเป็นของของตน มาเป็นตัวเราของเรา เพราะรู้แล้วว่าสุดท้ายสิ่งเหล่านั้นคือสิ่งที่พาให้ทุกข์ แล้วท้ายที่สุดสิ่งนั้นก็ไม่ใช่สาระใด ๆ ที่สำคัญในชีวิตเลย สภาพคู่ครองไม่ใช่ที่พัก ไม่จำเป็นต้องแวะ ไม่ใช่ที่อาศัย ไม่จำเป็นต้องอยู่ สรุปคือไม่จำเป็นต้องมีในชีวิต ซึ่งจะเป็นไปตามทิศทางความเจริญตามที่พระพุทธเจ้าตรัส นั่นก็คือ ผู้ที่ประพฤติตนเป็นโสด คือบัณฑิต , คือคนที่ตั้งใจที่จะปฏิบัติตนให้เป็นโสดนั่นแหละคือผู้ที่เจริญ ส่วนคนที่ทำตรงข้าม ก็ต้องตกต่ำและเสื่อมลงไปตามสัจธรรม

ถ้าหากเราสามารถเสียสละได้จริง เสียสละได้ถึงจิตวิญญาณคือสละความโลภ ความอยากเอาชนะ ความหลงมัวเมาที่เคยยึดไปได้ ก็จะเหลือแต่ความแท้ของความรัก นั่นคือความหวังดี หวังให้เกิดประโยชน์แก่เขา เหลือแต่ความเมตตา ที่ไม่มีก้อนอัตตามาปน มีแต่รสแท้ ๆ ของความรัก ไม่มีหวานปรุงแต่ง เปรี้ยวแปลกปลอมปน ความขมขื่นที่ต้องยอมทน หรือความเผ็ดเร่าร้อนใด ๆ ให้แสบคันทุกข์ทรมาน มันจะมีแค่หวังดี มีเท่านั้นจริง ๆ ไม่มีหลอกล่อลวง หรือการตลบตะแลง หรือแม้กระทั่งการแลกเปลี่ยนใด ๆ คือหวังดีอยู่ฝ่ายเดียวนั่นแหละ คนอื่นจะดีหรือไม่ดีไม่ใช่เป้าหมาย แต่จิตของเราที่หวังดี เมตตา เกื้อกูลอยู่ตลอดนั่นแหละคือสภาพของผลที่เกิดจากการเสียสละกิเลสออกไปได้อย่างแท้จริง

เป็นความรักแท้ ที่มีแต่ให้ ไม่มีการเอา เป็นสภาพของความรักที่เที่ยงแท้ที่สุด ไม่ใช่เดี๋ยวก็รัก เดี๋ยวก็ชัง แต่จะเป็นรักอยู่แบบนั้น ไม่มีความชัง เป็นรักที่เบา สงบ ร่มเย็น ประณีต ลึกซึ้ง และขัดเกลาไปในทิศทางที่พาเจริญ ไม่ใช่การให้แบบสนองกิเลส ไม่ใช่การหวังดีให้เกิดความสุขที่หลงงมงาย หากแต่เป็นความหวังดี เมตตา เกื้อกูลให้เกิดความเจริญทางจิตวิญญาณ ให้พ้นทุกข์ ให้รู้จักโทษชั่วของกิเลส ให้รู้ภัยของวัฏสงสารที่พากันหลงมัวเมาในคู่ครอง จนต้องเวียนว่ายตายเกิดแสวงหาบุคคลที่จะมาเติมเต็มตนชาติแล้วชาติเล่า

รักแท้จะเกิดได้เพราะสละกิเลสออกไป กิเลสคือสิ่งแปลกปลอมในจิตวิญญาณ เหมือนหนามที่ฝังอยู่ เหมือนฝีที่อักเสบอยู่ใต้ผิวหนัง จึงทำให้เกิดหลุม เกิดช่องที่เหมือนจะต้องหาอะไรมาเติมเต็มตลอดเวลา เมื่อสละกิเลสออกไป จิตวิญญาณก็เป็นคนเต็มคน ไม่มีรูรั่ว ไม่มีแผลอักเสบใด ๆ ให้ต้องหายาวิเศษหรือคนพิเศษใด ๆ มารักษาใจหรือมาเติมใจให้เต็ม แต่ถ้ารักนั้นยังถูกควบคุมด้วยกิเลส ก็จะต้องพบกับความทุกข์ ความปวดร้าว เศร้าโศก เสียใจ ทุรนทุราย ไปจนชั่วนิจนิรันดร์

17.5.2562

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

มังฯมีเสน่ห์ตรงไหนฤา? ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

May 15, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,421 views 0

ให้สัมภาษณ์ในรายการ มังฯมีเสน่ห์ตรงไหนฤา? ของช่องบุญนิยมทีวี เกี่ยวกับความเห็นความเข้าใจที่มีต่อการไม่กินเนื้อสัตว์และที่มาที่ไปในการเลิกกินเนื้อสัตว์ครับ

โกงกิน

April 26, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,830 views 0

โกงกิน

ขึ้นชื่อว่าเป็นคนโกงกิน ย่อมเป็นที่น่ารังเกียจ ไม่น่าคบหา โดยเฉพาะคนที่ตั้งใจทำดี ย่อมไม่ยินดีในการโกงกิน แต่ถ้าในหมู่โจร คนชั่ว เขาย่อมยินดีในการโกงกิน ยอมชั่ว ยอมบาป เพียงเพื่อให้ตนได้ร่วมผลประโยชน์แห่งการโกงกินนั้น ๆ

โกงกิน หรือกินด้วยการโกงมา ขโมยเขามา ลักเขามา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำในทุกวัน จนกระทั่งในทุกมื้ออาหารของหลายคน ก็อาจจะสงสัยว่าฉันจ่ายเงินซื้ออาหารนี้มาโดยสุจริต งานก็งานสุจริต เงินก็เงินสุจริต แล้วจะเรียกว่าโกงกินได้อย่างไร?

ที่เรียกว่าโกงกินนั่นเพราะ ไปกินเนื้อ หนัง ส่วนประกอบของสัตว์ที่เขาไม่ได้เต็มใจให้ แต่เอาอำนาจที่เรียกว่าเงิน ไปติดสินบนคนอื่นหรือที่เรียกอย่างที่ดูเหมือนจะถูกต้องว่า “ซื้อ” เพื่อให้เขาข่มขืน เพาะ เลี้ยง กักขัง ลาก ทำร้าย ทรมาน ฆ่า ชำแหละมาเพื่อตน เพื่อให้ตนได้เสพสมอารมณ์หมายในกามรสของอาหารที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของดี เป็นสุข เป็นคุณค่า เป็นเครื่องค้ำจุนชีวิต ฯลฯ แม้งานหรือเงินที่ได้มาจะสุจริต แต่วิธีที่ได้เนื้อสัตว์มานั้น มันไม่สุจริตเลยแม้แต่น้อย

การค้าขายสัตว์ และค้าขายเนื้อสัตว์นั้นเป็นสิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรทำตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในมิจฉาวณิชชาสูตร ที่ไม่ควรทำนั่นเพราะการซื้อขายเนื้อสัตว์จะทำให้เกิดปศุสัตว์ ทำให้เกิดกระบวนการทรมานและฆ่าอย่างไม่จบไม่สิ้น และที่สำคัญแม้มนุษย์จะเป็นสัตว์ที่มีอำนาจอยู่เหนือสัตว์อื่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไปกำหนดว่าเราเป็นเจ้าของสัตว์ตัวนั้นตัวนี้ จะไปมีอำนาจเหนือชีวิตเขาไม่ได้ เพราะมันไปละเมิดสิทธิ์เขา มันโกงชีวิตเขา เขาไม่ได้เกิดมาเพื่อเรา แต่เราก็ยังไปสร้างความเชื่อเอาเองว่าสัตว์เกิดมาเพื่อเป็นอาหารจนฝังเป็นอุปาทาน กลายเป็นค่านิยม ความยึดมั่นถือมั่น กลายเป็นสิ่งปกติในสังคมไปแล้ว

การค้าชีวิตสัตว์อื่นนั้นบาปอย่างมาก ไม่มีใครอยากจะพบเจอ ดังเช่นสมัยก่อนมีการค้าทาส ไม่มีใครอยากเป็นทาส ไม่มีใครอยากจะเกิดมาเป็นสินค้า เป็นวัตถุบำเรอกาม บำเรออัตตา บำเรออำนาจของผู้อื่น แม้สมัยนี้ก็ยังมีการค้าขายมนุษย์ โดยที่เจ้าตัวไม่ยินดี คนส่วนมากมักจะรู้สึกโกรธ ชิงชัง รังเกียจ ดังเช่นข่าวว่า แม่ขายลูกบำเรอกามผู้อื่น อันนี้เขาแค่ขายเป็นบริการ ยังไม่ได้กักขัง หรือฆ่า คนยังโกรธขนาดนี้ แต่พอเปลี่ยนมาเป็นหมูที่ต้องถูกขังในกรงเหล็กแคบ ๆ ถูกข่มขืนด้วยกระบอกน้ำเชื้อ ถูกพรากลูกที่ตัวเองคลอดไป สุดท้ายถูกทำร้ายและฆ่า คนส่วนมากกลับรู้สึกเฉย ๆ อันนี้คือสภาพของความลำเอียงที่เกิดขึ้นในจิต เมื่อมีความลำเอียง การจะมีความเห็นที่ถูกต้อง การจะปฏิบัติตนไปสู่ความถูกต้องและผาสุกย่อมเป็นไปไม่ได้ ทางที่เขาไปนั้นย่อมบิดเบี้ยวและหลงทางเป็นธรรมดา

หรือเราจะลองนึกดูว่าเราเกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นจอมบงการ กำหนดทุกอย่างในชีวิต ต้องกินแบบนั้น ต้องออกกำลังกายแบบนี้ ต้องเรียนพิเศษทุกปี ต้องดีอย่างใจเขามั่นหมาย ดีไม่ดีจับคลุมถุงชนอีกด้วย พฤติกรรมอันนี้จะเป็นที่ชอบใจของเราไหม? เราจะยินดีกับชีวิตที่ถูกกดดันบีบคั้นด้วยความคาดหวังของคนอื่นไหม? ในเมื่อเราทุกคนต้องการมีชีวิตเป็นของตัวเอง มีอิสระ เลือกได้เอง ตัดสินใจได้เอง กำหนดอนาคตได้เอง แต่คนส่วนมากกลับไปยินดีในการกำหนดชีวิตสัตว์อื่น ให้สัตว์อื่นเป็นไปในแบบที่ตนต้องการ เกิดเป็นหมูก็ต้องใช้กรรม ต้องอยู่อย่างหมู ต้องโตอย่างหมู (ที่ตนกำหนดไว้เองว่ามันจะต้องเป็นแบบนั้น) สุดท้ายต้องถูกฆ่าให้ตายให้คนที่อยากกิน เขาซื้อไปกิน ไอ้ที่เบี้ยว ๆ แบบนี้ก็ยังคิดกันไปได้ ทีตัวเองไม่อยากโดน แต่พอสัตว์อื่นโดนก็กลับเมินเฉย ดีไม่ดียังยินดีให้เป็นแบบนั้นอีก เพราะตนเองหลงสุขหลงเสพในเนื้อเขา

จริง ๆ แล้ว การแก้ปัญหาการโกงกิน ก็ด้วยหลักการง่าย ๆ คือเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าเราต้องเป็นสัตว์นั้น เราก็เป็นทุกข์ เราไม่อยากเป็นทุกข์ เราก็ไม่ยินดีให้เขาเป็นทุกข์เช่นกัน ดังนั้น เมื่อเรามีอำนาจ เราก็จะไม่ใช้อำนาจเงิน บารมี ฯลฯ ของเราเพื่อไปสนับสนุนการเบียดเบียน เพื่อไม่ให้เรากลายเป็นผู้โกงกิน …โดยสุจริต (ตามความเห็นของเรา)

ที่สำคัญการโกงกินนี้มีผลระดับถึงขั้นฆ่ากันตาย ในโลกนี้จะมีอะไรร้ายแรงกว่าการฆ่ากันอีก เราเองก็ยังรักชีวิตเราที่สุด จะขายรถขายบ้านเพื่อรักษาชีวิตก็ยังทำกันได้ แม้สัตว์นั้นก็รักชีวิตของเขาเช่นกัน ดังนั้นการไม่กินเนื้อสัตว์หรือผลผลิตอื่น ๆ ที่ได้มาจากการเบียดเบียนสัตว์ก็จะเป็นกรรมดีที่ส่งผลไปเพิ่มพลังแห่งการไม่เบียดเบียน แต่ถ้าเรายังยินดีกินเนื้อเขาทั้ง ๆ ที่รู้ว่าการได้เนื้อนั้นมาไม่สุจริต ก็ต้องเตรียมใจรับวิบากร้ายความทุกข์ยากด้วยความยินดีเช่นกัน แต่มันก็เป็นไปไม่ได้หรอกที่เขาจะยินดีรับทุกข์นั้น จะยกคำตรัสของพระพุทธเจ้ามาปิดท้าย ท่านตรัสไว้ว่า “ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล คนเขลายังเข้าใจว่ามีรสหวาน, แต่บาปให้ผลเมื่อใด คนเขลาย่อมประสบทุกข์เมื่อนั้น.”

ดังนั้นคนเขลาก็ยังจะยินดีโกงกินกันอยู่เรื่อยไป และเข้าใจว่าสิ่งนั้นดี อร่อย มีคุณค่า ไม่บาป ไม่มีผลเสียต่อชีวิตตน ฯลฯ สุดท้ายพอวิบากกรรมซัด ก็ต้องเสร็จกันทุกรายไป นรกบนดินเลยแหละ เจ็บจริงทรมานจริง ทุกข์จริง ตายกันจริง ๆ ไปตามความเกี่ยวข้องของบาปที่ได้ร่วมทำมา

26.4.2562

ดิณห์ไอราวัณวัฒน์