ความตายมิอาจพราก…กิเลสและกรรมไปจากเราได้
ความตายมิอาจพราก…กิเลสและกรรมไปจากเราได้
การที่ชีวิตหนึ่งต้องพบกับการจากพรากจนถึงความตายนั้น ไม่ได้หมายถึงการสิ้นสุดของวิญญาณดวงนั้น ความตายเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนแปลงสภาพของร่างกายอันคือภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่ง ซึ่งมีกรรมเป็นผู้ดลบันดาลให้เกิด
กว่าจะตาย…
ยกตัวอย่างเช่น พอเราชอบกินเนื้อสัตว์ กินอาหารปิ้งย่างมากๆ ด้วยกิเลสของเราจึงสร้างกรรมอันเบียดเบียน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้เบียดเบียนย่อมมีโรคมากและอายุสั้น คนบางพวกที่กินเนื้อสัตว์มากจึงมีการป่วยด้วยโรคต่างๆ เช่นมะเร็ง นั่นคือสภาพหนึ่งของกรรมที่ส่งผล เป็นทั้งกรรมจากอดีตชาติคือกรรมจากกิเลสส่วนหนึ่ง กรรมจากผลที่ทำมาส่วนหนึ่ง และกรรมจากกิเลสที่ทำในชาตินี้อีกส่วนหนึ่งสังเคราะห์กันอย่างลงตัวจนเกิดเป็นสภาพของมะเร็ง
โรคที่เกิดขึ้นนั้นมาจาก “นาม” เข้าใจง่ายๆกันว่าอกุศลกรรม หรือพลังงาน หรือจะเข้าใจว่าบาปก็ได้ เพราะส่วนหนึ่งของการเบียดเบียนนั้นเกิดจากกิเลส เกิดจากความอยากเสพ พอมีความอยากเสพมากๆ ก็จะไม่คิดถึงศีลธรรม ไม่คิดว่าชีวิตคนอื่นหรือสัตว์อื่นต้องได้รับทุกข์ร้อนใจอะไร เพียงแค่ได้เสพสมใจตนเองเท่านั้น จึงยินดีในการเบียดเบียนผู้อื่น ยอมสร้างกรรมกิเลสนี้ได้ เพียงให้ได้มาซึ่งความสุขลวง
เมื่อผลของการกระทำหรือวิบากกรรมชั่วนั้นสะสมจนลงตัว เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม จึงสร้าง “รูป” ขึ้นมาให้เห็น รูปในที่นี้คือสิ่งที่เห็นได้ สัมผัสได้ รับรู้ได้ เช่น วัตถุ สิ่งของ ก้อนมะเร็ง หรือเหตุการณ์บางอย่างที่เข้ามาทำให้ร่างกายและจิตใจของเราเป็นทุกข์
แม้จะตายก็ยอมเสพ…
สังเกตได้ว่าแม้ว่าคนเราจะรู้ว่าการสูบบุหรี่จะนำมาซึ่งการเจ็บป่วยทุกข์ทรมาน เหล้าและสารเสพติดจะนำมาซึ่งภัยต่อสุขภาพ อุบัติเหตุ และการวิวาท หรือแม้แต่การกินเนื้อสัตว์ย่างจะมีผลให้ก่อเกิดมะเร็ง แต่เราก็ยังยินดีที่จะเสพสิ่งนั้น แม้ว่าจะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม เราก็ยังอยากจะเสพสิ่งนั้น ประมาณว่าขอตายก็ได้ เพียงแค่ให้ฉันได้เสพสมใจในสิ่งที่ฉันอยาก
มีชาวนาชาวไร่มากมายที่ต้องเสียชีวิตไปจากการสะสมของสารเคมีต่างๆในร่างกาย แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนจะมองเห็นว่าสารเคมีเป็นโทษ หลายคนแม้ได้เห็นการตายของคนใกล้ชิดจากสารเคมีกลับมองว่าไม่ใช่เพราะสารเคมี แม้คนตายนั้นเองก็ไม่ได้โทษสารเคมีที่ใช้เลย นั้นเพราะเขามีอัตตา ยึดมั่นถือมั่นว่าสารเคมีดี สารเคมีเป็นมิตรกับเขาทำให้เขามีผลผลิตและร่ำร่วยมันไม่มีทางฆ่าเขา เห็นไหมว่ากิเลสคนเรามันรุนแรงขนาดไหน ขนาดว่ามันจะฆ่าเราตาย มันฆ่าญาติ พี่น้อง มิตร สหายของเราให้ตายไปแล้ว เรายังไม่เกลียดมันเลย
ดังนั้นความตาย หรือการพิจารณาเพียงแค่ความตายนั้นจึงไม่อาจจะนำไปล้างกิเลสได้เสมอไป เพราะบางครั้งกิเลสของเราจะหนาถึงขั้นยอมตายได้เพียงเพื่อให้ได้เสพสิ่งนั้น
เราตาย กิเลสไม่ตาย
เห็นได้เช่นนั้นว่า แม้ความตายก็ไม่อาจจะพรากกิเลสได้ และเมื่อเราตายกิเลสเหล่านั้นจะหายไปไหน?
กิเลสจะสั่งสมลงในวิญญาณ อยู่ในอุปาทาน ฝังไว้ในรากลึกๆ อยู่ในนาม อยู่ในกรรมของเรา รอวันเวลา ที่วันใดวันหนึ่งเรามีโอกาสที่จะได้ร่างกาย ก็จะนำกิเลสและกรรมส่วนหนึ่งมาสังเคราะห์ให้เกิดเป็นร่างนั้นๆ ดังเช่น ผู้ที่มักเบียดเบียนมักนำความทุกข์มาให้ผู้อื่นสัตว์อื่นชีวิตอื่น ก็มักจะมีโรคมาก
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเสพติดการกินเนื้อสัตว์มาก นอกจากจะทำให้เกิดเป็นมะเร็งที่มาคร่าชีวิตเราแล้ว ยังสามารถให้ผลเป็นร่างกายที่อ่อนแอของเราในชาตินี้ด้วย นั่นเป็นผลที่มาจากการเบียดเบียนในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน
และเท่านั้นยังไม่พอ เมื่อเกิดมาเป็นสัตว์หรือมนุษย์แล้วกิเลสก็ยังมีอยู่ จึงต้องเสาะหาสิ่งที่ตัวเองอยากเสพต่อจากชาติที่แล้ว เช่นเคยเสพติดเนื้อสัตว์ พอชาตินี้ได้มากินเนื้อสัตว์ก็เสพติด แม้คนอื่นเขาจะบอกว่ามันทำให้เกิดทุกข์ โทษ ภัยอย่างไรก็ยังจะยินดีกินเนื้อสัตว์ ติดอยู่ในความอยากเสพเนื้อสัตว์ ออกไม่ได้ง่ายๆ
ต่างจากผู้ที่มีกิเลสเรื่องความอยากเสพเนื้อสัตว์เบาบางหรือล้างกิเลสแห่งความอยากเนื้อสัตว์นั้นได้แล้วเมื่อเขาได้ยินทุกข์ โทษ ภัยที่เกิดจากการกินเนื้อสัตว์ ก็สามารถสลัดความอยาก เลิกเสพเนื้อสัตว์นั้นได้โดยง่าย นี่คือลักษณะของความไม่มีกิเลสที่ติดมาเช่นกัน ให้สังเกตว่าเราสามารถหลุดจากสิ่งนั้นได้ง่ายหรือยาก ถ้าง่ายก็คือบุญบารมีเก่า แต่ถ้ายากแสนยากก็ให้พากเพียรกันต่อไป ผูกกิเลสมาเองก็ต้องมานั่งแก้กันเอง
แม้เราจะตาย แต่กรรมไม่ตายตามเรา
เมื่อเรามีกิเลส กิเลสก็มักจะพาเราไปเบียดเบียนผู้อื่น และผลที่ได้กลับมาคือความสุขเพียงชั่วครู่ กับกรรมที่ต้องรับไว้จากการเบียดเบียน พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเราว่า ไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับโดยที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งที่เราได้รับ เราทำมาแล้วทั้งนั้น
หลายคนอาจจะบอกว่าทำไมฉันต้องได้รับกรรมที่ฉันไม่เคยทำมาด้วย ชาตินี้ฉันยังไม่เคยทำใครเดือดร้อนขนาดนี้เลย!!
บางครั้ง บางเหตุการณ์ ก็อาจจะเกิดขึ้นจากผลกรรมในชาติก่อน สังเคราะห์รวมกันกับกรรมในชาตินี้ เช่นชาติก่อนเป็นคนชอบเบียดเบียนผู้อื่น สัตว์อื่น ชาตินี้ก็เลยต้องมารับกรรมด้วยร่างกายอ่อนแอ มีโรคมาก แถมในชาตินี้ก็ยังชอบกินเนื้อสัตว์ โปรดปรานเนื้อสัตว์ดิบ มักชอบเมนูสัตว์ที่สด เช่น ปลาสด ปูนึ่งสด ปลาหมึกสด กุ้งสด เมื่อกรรมเก่า รวมกับกรรมกิเลสใหม่ในชาตินี้ ก็จะสังเคราะห์ออกมาเป็นทุกข์ โทษ ภัยมากมาย อาจจะแสดงออกมาในรูปของโรคภัยไข้เจ็บ การสูญเสีย ปัญหาภาระหน้าที่การงาน หรือทุกข์ใดๆก็ได้ เพราะกรรมเป็นเรื่องอจินไตย อย่าไปเสียเวลาเดาผลของมันเลย รู้ไว้เพียงแค่ว่า เบียดเบียนคนอื่นแล้วต้องได้รับผลนั้นอย่างแน่นอน
กรรมนี้เองเป็นสมบัติที่จะติดตามเราไปทุกภพทุกชาติ ใครทำอะไรไว้ก็ต้องได้รับผลจนหมด จะหนักจะเบาก็ต้องรับไว้หมด ความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุดของกรรม เพราะเมื่อเกิดขึ้นมาใหม่ก็ต้องรับผลกรรมนั้นไปเรื่อยๆ ดังเช่นในคนที่คิดเห็นว่า “ชาตินี้ฉันไม่ได้ทำชั่ว ทำไมฉันต้องรับกรรมด้วย” ก็นั่นแหละ คือกรรมเก่าของเรา เราทำมาเอง ไม่อย่างนั้นมันไม่มีทางได้รับหรอก เพราะเคยชั่วมาก็ต้องรับกรรมชั่วของเรา
คนเราเวลาได้รับกรรมดีมักจะไม่นึกย้อนว่าตัวเองเคยทำดีมา เพียงแค่คิดว่า โชคดี ลาภลอย จึงไม่ทำเหตุหรือความดีที่จะทำให้เกิดสิ่งดีในชีวิตนั้นอีก แต่พอเกิดสิ่งร้ายที่มาจากกรรมชั่ว ก็มักจะหาคนผิด หาว่าคนอื่นผิด โทษดินโทษฟ้า แต่ไม่โทษตัวเอง คนพวกนี้ก็จะทุกข์สุดทุกข์ และเมื่อมัวแต่โทษผู้อื่นก็จะไม่หยุดทำชั่ว สร้างกรรมชั่วนั้นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุด นั่นเพราะเขาไม่ยอมรับกรรมชั่วที่ตนเคยทำมา เมื่อไม่ยอมรับก็ทำเหมือนมองไม่เห็น โกหกว่าไม่เคยทำมา เมื่อโกหก ก็ได้ทำชั่วไปแล้ว
ดังนั้นแม้เราจะเห็นว่าคนที่ทำดีจะตายไปจากอุบัติเหตุ หรือในเวลาที่เราคิดว่าไม่สมควรทั้งหลายนั้น ให้รู้ว่าเขาได้ใช้กรรมชั่วของเขาหมดไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ความดีที่เขาทำในชาตินี้ก็จะช่วยส่งเสริมเขาในชาติต่อไป ในการเกิดครั้งต่อไป
คนชั่วก็เช่นกัน แม้เราจะเห็นว่าคนชั่วบางคนตายจากไปอย่างง่ายดาย หรือยังไม่ได้รับกรรมอันสมควรก่อนจะตาย ให้รู้ว่าเขาได้ใช้กรรมชั่วของเขาหมดไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ความชั่วที่เขาทำในชาตินี้ก็จะทำให้เขาต้องทุกข์ทรมาน แม้จะเกิดอีกกี่ครั้งเขาก็ต้องรับกรรมที่เคยเบียดเบียนผู้อื่นไว้ และรับไปจนกว่าจะหมดกรรมนั้นๆ
เมื่อเห็นได้ดังนี้แล้ว ผู้ที่มีปัญญาก็จะพากเพียรทำแต่ความดี เพราะรู้ว่าสิ่งที่ดีที่เราได้รับนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากการทำดีในกาลก่อน เพื่อไม่ให้ดีนั้นพร่องลงไป และเพื่อที่จะใช้ความดีนี้สร้างกุศลต่อไป เขาจึงหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส โดยการล้างกิเลส ทำลายกิเลสอันเป็นเชื้อร้ายที่จะก่อกำเนิดสิ่งชั่ว นำมาซึ่งอกุศลกรรมต่างๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องลำบากทั้งในชีวิตนี้และชีวิตหน้า ดับกิเลสตอนนี้ก็สุขได้เลยตอนนี้ หมดกรรมจากกิเลสใหม่ไปเลยตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ต้องรอแบกกิเลสไปดับกันในภพหน้า ชาติหน้า ชีวิตหน้า
– – – – – – – – – – – – – – –
14.10.2557
แบ่งปันประสบการณ์ เลิกกาแฟ เลิกชา เลิกดื่มเพื่อสนองกิเลส
แบ่งปันประสบการณ์ เลิกกาแฟเลิกชา เลิกดื่มเพื่อสนองกิเลส
สมัยก่อนผมเป็นคนที่ติดกาแฟมาก เพราะรู้สึกว่ามันช่วยให้กระชุ่มกระชวยเวลาทำงาน ซื้อกาแฟมาเป็นกระปุก วางไว้ข้างโต๊ะทำงานพร้อมกับกระติกต้มน้ำร้อน พร้อมเสมอเมื่อผมต้องการกาแฟ
ตอนนั้นผมกินกาแฟผสมกับโกโก้ ชอบมากๆ เพราะได้ความหอมหวานขมผสมปนเปกันไปในตัว กินทุกวัน วันละ 3 แก้ว แก้วหนึ่งจะใส่กาแฟสอง น้ำตาลสอง โกโก้หนึ่ง น้ำร้อนเทใส่แล้วชงกินกันไป เช้าหลังตื่น กลางวันหลังอาหาร และกลางคืนช่วงหัวค่ำ และทำงานไปจนถึงเที่ยงคืนกว่าๆ ซึ่งตอนนั้นอยู่ในช่วงรับงานอิสระ
ถ้าเรากินกาแฟแล้วมีความสุขอยู่อย่างนั้นได้ตลอดไปก็คงจะดีใช่ไหม? เราคงจะไม่มีวันเลิกเสพมันใช่ไหม?
แล้ววันหนึ่งผมก็ได้พบกับอาการปวดตามข้อ ซึ่งรู้ได้ด้วยตัวเองทันทีว่าน่าจะเกิดจากกาแฟ หลังจากพยายามหาเหตุอยู่นานก็มั่นใจว่าเป็นกาแฟแน่ๆ เพราะมีเพื่อนบอกว่าเคยเป็นอาการเดียวกัน จึงค่อยๆลดปริมาณของกาแฟ และเพิ่มปริมาณโกโก้เข้าไปแทน
แต่อาการนั้นก็ยังไม่หมดไป เหมือนกับกาแฟมันสะสมจนเป็นภัยแล้ว แม้จะเติมเข้าไปเพียงน้อยนิดก็ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดเหล่านั้นได้ ผมจึงตัดสินใจที่จะเลิกกาแฟอย่างเด็ดขาดโดยพยายามเลิกโกโก้ไปด้วย
ซึ่งวิธีที่ใช้นั้นคือเลิกกาแฟแต่ไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการดื่ม จึงหันมาดื่มชา ในช่วงแรกก็มีอาการคิดถึงกาแฟอยู่บ้าง แต่สุดท้ายก็สามารถเลิกกาแฟได้ หันมาติดชาแทน แสวงหาซื้อชาแบบต่างๆมาลอง โดยให้ชาที่ดื่มนั้นมีราคาไม่แพง หาได้ง่าย เพราะผมดื่มชาต่อวันเยอะมาก ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นคนดื่มน้ำบ่อย ก็ดื่มชากันทั้งวันนั่นแหละ
และมีอยู่วันหนึ่งซึ่งชาหมด และตอนนั้นผมกำลังติดงาน จะขับรถออกไปซื้อมันก็รู้สึกเสียเวลา ผมจึงได้พบกับทุกข์ของอาการติดชา พิจารณาต่อไปว่าถ้าเราไม่เสพติดชาขนาดนี้เราก็คงไม่ต้องทุกข์เพราะความอยากเวลาที่มันขาด มันพรากจากเราไป เมื่อคิดได้ดังนั้นก็ตัดสินใจเลิกชา
วิธีเลิกชาของผมก็เหมือนกับตอนเลิกกาแฟ คือหาอะไรมาทดแทนชาและคงพฤติกรรมการดื่มน้ำให้มากไว้เหมือนเดิม จึงใช้วิธีตัดใบเตยที่บ้านมาต้มกิน เพราะเคยมีประสบการณ์ที่เคยกินน้ำใบเตยสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำได้ว่ามันหอม และหวานเพราะน้ำตาล ในกรณีของผมจะไม่ใส่น้ำตาล เอาแต่กลิ่นให้ได้ความรู้สึกคล้ายๆชา
เมื่อได้ต้มน้ำใบเตยแทนชาแล้วรู้สึกว่าชีวิตดีขึ้นมาก สุดท้ายก็เลิกเสพติดชาได้ หันมาติดน้ำใบเตยแทน ก็พบกับความยากลำบากที่ต้องเดินไปตัดใบเตยมาต้มกิน ซึ่งจริงๆมันไม่ได้ยากเลย เพียงแค่เดินออกจากบ้าน เดินวนไปไม่ถึงสิบเมตร ก็สามารถนำใบเตยที่ปลูกไว้มาต้มกินได้
แต่ตอนนั้นมันคิดได้เองนะว่า ถ้ากินน้ำใบเตยได้ก็กินน้ำเปล่าได้แล้ว สุดท้ายก็เลิกต้มน้ำใบเตยกิน หันมากินน้ำเปล่าที่อุณหภูมิห้อง ในห้องทำงานจะมีขวดน้ำ 6 ลิตรซึ่งจะเอาไว้เติมใส่แก้ว กินน้ำวันหนึ่งก็ตก 3-5 ลิตร บางวันร้อนๆก็กินทั้ง 6 ลิตร
สุดท้ายก็เลิกกาแฟได้ เลิกชาได้ เลิกน้ำใบเตยได้ เคยกลับไปลองกินกาแฟครั้งหนึ่งพบว่ามันไม่รู้สึกสุข ไม่รู้สึกยินดีที่ได้กินเหมือนแต่ก่อนแล้ว และเมื่อพอกินเข้าไปก็ได้พบโทษจากกาแฟ นั่นคือนอนไม่หลับทั้งคืน สมัยก่อนเรากินหลายแก้วต่อวันก็ยังหลับได้ปกตินะ ตอนนี้ไม่ไหวแล้วเหมือนว่าร่างกายมันดูดซึมดีขึ้น มันเลยได้สารจากกาแฟไปเต็มๆ ก็ตาค้างกันไป
กระบวนการทั้งหมดนี้เกิดขึ้นก่อนจะได้เรียนรู้การปฏิบัติธรรม เป็นการลด ละ เลิกโดยการเห็นทุกข์โทษภัยตามธรรมชาติ เป็นลักษณะของธรรมะที่มีในตัวเองอยู่แล้ว เพียงแค่ต้องรอทุกข์มากระตุ้นเท่านั้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะใช้วิธีดังนี้ได้ แต่ก็ได้แบ่งปันไว้เผื่อว่าใครจะลองเอาไปประยุกต์ใช้ดู
ถ้าใครกินกาแฟอยู่แล้วคิดว่าตัวเองไม่ติดกาแฟ ก็ลองพรากจากมันดูสักระยะ ก็อาจจะเห็นความอยาก เห็นกิเลสที่หาเหตุผลต่างๆนาๆที่จะกลับไปเสพกาแฟ นั่นแหละคือเราเสพติด พอติดแล้วมันก็ต้องทุกข์ ส่วนจะเห็นทุกข์วันใดนั้นก็สุดแล้วแต่บุญแต่กรรม
– – – – – – – – – – – – – – –
14.10.2557
เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ
เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ
คำว่าทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้จักกันอยู่แล้ว ไม่มีใครเกิดมาไม่พบกับทุกข์ ทุกคนที่อยู่บนโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องพบกับทุกข์ เป็นสัจจะ เป็นความจริงแท้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ทุกข์นั้นมีอยู่สองส่วน หนึ่งทุกข์ที่เลี่ยงไม่ได้ และสองคือทุกข์ที่เลี่ยงได้นั่นก็คือทุกข์จากกิเลสนั่นเอง เราจะมากล่าวถึงทุกข์จากกิเลสกัน
ทุกข์นั้นจะเกิดได้ก็เพราะมีเหตุ เหตุแห่งทุกข์ นั้นพระพุทธเจ้าเรียกว่า “สมุทัย” และเหตุแห่งทุกข์นั้นแท้จริงแล้วอยู่ข้างในตัวเรา
(1). ด่านแรก ทุกข์อยู่ข้างใน…
ด่านแรกของการเห็นเหตุแห่งทุกข์เลยก็คือมันอยู่ที่ตัวเรา ใครที่พบเจอกับความทุกข์แล้วมัวแต่มองหาคนผิด มองหาผู้ที่ทำให้ตนทุกข์ มองหาคนรับผิดชอบในทุกข์นั้น เป็นคนที่มองไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์ เพราะทุกข์นั้นเกิดจากใจของตัวเอง เกิดจากกิเลสของตน เกิดจากกรรมของตน การจะรู้เหตุแห่งทุกข์ได้จึงต้องยอมรับว่าทุกข์นั้นเกิดจากตนเองก่อนเป็นอันดับแรก
(2). ด่านที่สอง ทุกข์ที่เห็นอาจจะไม่ใช่เหตุแห่งทุกข์
ทุกข์ที่เห็นนั้น มักจะเป็นผลสุดท้ายของการไม่ได้เสพสมใจ แต่หลายคนไปเข้าใจผิดว่าความทุกข์นั้นคือเหตุแห่งทุกข์ เช่นเราถูกเพื่อนสนิทนินทา เราโกรธเพื่อน แล้วเรารู้สึกว่าโกรธเป็นทุกข์ เราจึงเห็นว่าความโกรธคือเหตุแห่งความทุกข์ ซึ่งจริงๆแล้วความโกรธนั้นเป็นผลที่ปลายเหตุแล้ว จะไปดับความโกรธนั้นก็ได้ก็เรียกว่าดี แต่ก็ถือว่าไม่ได้ดับเหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง
มีหลายลัทธิพยายามที่จะดับความคิด ดับเวทนา ดับความสุข ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการได้กระทบสิ่งต่างๆที่เข้ามาในชีวิตประจำวัน โดยพยายามทำการดับสิ่งที่เกิดขึ้น ดับจิตที่เป็นทุกข์ ซึ่งก็เป็นการดับปลายเหตุที่ดีวิธีหนึ่ง แต่ก็เหมือนมองเหตุที่ปลายเหตุเพียงอย่างเดียวไม่ได้เข้าไปค้นที่ต้นเหตุ มองเพียงว่าจิตใจที่สั่นไหวนั้นคือเหตุเท่านั้น เหมือนกับเกิดแผ่นดินไหว เขาเหล่านั้นมักมองปัญหาคือแผ่นดินไหว บ้านเรือนพังทลายคือปัญหา เขาต้องหยุดการพังทลายหรือพยายามสร้างบ้านที่ป้องกันแผ่นดินไหวได้ แต่ผู้ที่ค้นหาเหตุจริงๆ คือเข้าไปค้นหาว่าแผ่นดินไหวจากสาเหตุใด แผ่นดินเคลื่อนเพราะอะไร อากาศร้อนเย็นมีผลหรือไม่ ค้นหาไปถึงนามที่ทำให้เกิดรูปคือแผ่นดินนั้นเคลื่อนไหวได้ และดับเหตุนั้นจึงจะเป็นการดับทุกข์ที่เหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง
มีหลายลัทธิที่มองว่าทุกข์นั้น เป็นเพียงสิ่งที่ผ่านมาผ่านไปตามกฎของไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง จริงอยู่ว่าทุกข์ที่เกิดนั้น มันเกิดขึ้นมา มันตั้งอยู่ และมันก็ดับไป เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ผู้ที่เข้าใจเช่นนี้จะสามารถปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในทุกข์ที่เกิดได้ดีระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถดับเหตุแห่งทุกข์ได้ เสมือนกับผู้ที่มองแผ่นดินไหว บ้านเรือนพังทลายด้วยจิตใจว่างๆ แล้วก็สร้างใหม่ แล้วก็พังใหม่ แล้วก็สร้างใหม่ แล้วก็พังใหม่ เกิดดับ เกิดดับเช่นนี้ตลอดไป ด้วยพวกเขาเหล่านั้นไม่รู้วิธีดับทุกข์ที่เหตุ เมื่อไม่ได้เข้าไปดับเหตุแห่งทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสก็ต้องเกิดขึ้นอยู่เรื่อยไป แม้จะดับไปตามกฎ แต่ก็จะเกิดขึ้นมาใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
(3). ด่านที่สาม ขุดค้นเหตุแห่งทุกข์
เมื่อเราเห็นได้ว่า การค้นหาเหตุแห่งทุกข์โดยการดูแค่ผิวเผินนั้นไม่สามารถทำลายเหตุแห่งทุกข์ได้อย่างแท้จริง เราจึงต้องมาค้นหาว่าเหตุแห่งทุกข์นั้นอยู่ตรงไหนกันแน่
ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนนินทาเรา เราก็โกรธเพื่อน ความเข้าใจทั่วไปจะดับความโกรธที่เกิดตรงนี้ แต่ในความจริงแล้ว ความโกรธ (โกธะ)คือกิเลสปลายทาง เป็นสภาพทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการไม่ได้ครอบครองสมใจ ไม่ได้มาอย่างใจหมาย เราจึงแสดงอาการโกรธเหล่านั้นออกไป อันเกิดจากความโลภ ความอยากได้ อยากครอบครองเกินความจำเป็นจริง เกินจากความจริง(โลภะ) คือเราอยากให้เพื่อนทุกคนพูดดีกับเรา การที่เราอยากให้ทุกคนพูดดีกับเรานั้นเพราะเราเสพติดคำพูดดีๆอยากฟังสิ่งดีๆ (ราคะ) ทั้งหมดนี้มีรากมาจากความหลง(โมหะ) หลงไปว่าการได้เสพคำพูดดีๆ จะนำมาซึ่งความสุขให้ตน เป็นต้น
ลำดับของกิเลสที่จะเห็นได้จากละเอียดไปหยาบคือ…
โมหะ เพราะเราหลงติดหลงยึดในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเราจะอยากเสพสิ่งนั้น เป็นรากที่ละเอียดที่สุด แก้ยากที่สุด
ราคะ เราอยากเสพสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เกิดจากเราหลงชอบหลงยึดสิ่งนั้น พอเสพก็ติด ยิ่งเสพก็ยิ่งจะอยากเสพเพิ่มอีก
โลภะ เมื่อเราชอบสิ่งนั้นอยากเสพสิ่งนั้น ก็จะพยายามหามาปรนเปรอกิเลสตัวเอง จนเกิดการสะสม หามามากเกินความจำเป็น หวง ไม่ยอมให้ใครเพราะกลัวตัวเองจะไม่ได้เสพ
โกธะ เป็นกิเลสปลายเหตุ เกิดขึ้นเมื่อไม่ได้เสพสมใจอยาก เมื่อมีคนพรากสิ่งที่อยากเสพไปรุนแรง เป็นไฟที่ทำลายได้ทุกอย่าง
การวิเคราะห์พิจารณาหาเหตุแห่งทุกข์นี้ ต้องใช้กระบวนการของสติปัฏฐาน๔ คือกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เข้ามาวิเคราะห์กิเลสเหล่านี้ ซึ่งสติปัฏฐาน๔ นี้ต้องปฏิบัติทุกองค์ประกอบไปพร้อมกัน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นก้อนเดียวกัน เป็นกระบวนการเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกมาใช้เป็นตัวๆอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจได้
เมื่อปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน๔ อย่างถูกต้องจึงจะมีสิทธิ์ได้เห็นไปถึงเหตุแห่งทุกข์อันคือความหลงติดหลงยึดในกิเลสใดๆได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะพิจารณาครั้งเดียวก็เห็นได้ทุกอย่าง เพราะกิเลสนั้นลึกลับซับซ้อน จนบางครั้งเราอาจจะต้องให้เหตุการณ์นั้นๆเกิดขึ้นหลายที หรือพิจารณาซ้ำๆในจิตใจอย่างหนักเพื่อที่จะทำให้เห็นเข้าไปถึงเหตุแห่งทุกข์นั้น
การวิเคราะห์กิเลสเหล่านี้บางครั้งสติปัญญาที่เรามีอาจจะไม่สามารถทำเหตุแห่งทุกข์ให้กระจ่างได้ การมีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี คือมีครูบาอาจารย์ที่คอยชี้แนะ มีเพื่อนกัลยาณมิตรที่คอยแนะนำ ก็จะช่วยให้สติ ช่วยให้เกิดปัญญาที่มากขึ้นกว่าขอบเขตที่เราเคยมีได้
(4). ด่านที่สี่ เหตุแห่งทุกข์เกิดจากการหลงในกิเลส
ความหลงในกิเลสนั้นมีมิติที่หลากหลาย หากเราเข้าใจเพียงแค่ว่าหลง แต่ไม่รู้ว่าหลงในอะไร ก็ยากที่จะแก้ไปถึงเหตุได้ เพราะถ้าไม่รู้สาเหตุว่าหลงในอะไร ก็คงจะไม่สามารถดับทุกข์ได้ เพราะการดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ เมื่อดับไม่ถูกเหตุ ทุกข์ก็ไม่ดับ เราจะมาลองดูเหตุแห่งทุกข์ อันคือความหลงยึดในกิเลสสี่ตัวนี้กัน
(4.1). อบายมุข
คือกิเลสขั้นหยาบที่พาให้คนหลงไป สามารถหลงจนไปนรก ไปเดรัจฉานได้เลย คือความหลงในอบายมุขต่างๆ เช่นเที่ยวเล่น เที่ยวกลางคืน เล่นพนัน หวย หุ้น เสพสิ่งมึนเมาทั้งหลายไม่ว่าจะสุรา บ้าดารา กิจกรรมหรือสิ่งต่างๆที่ทำให้จิตใจมัวเมา เที่ยวดูการละเล่น ดูละคร ดูหนัง ดูทีวี เพื่อความบันเทิงใจ คบคนชั่ว พาไปทางเสื่อม พาให้เล่นพนัน พาให้มัวเมา พาให้เป็นนักเลง พาให้หลอกลวงผู้อื่น พาให้คดโกง และความเกียจคร้านการงาน
คนส่วนมากมักจะติดในอบายมุขจนดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา ผู้ที่พยายามทำตัวกลืนไปกับสังคมโดยใช้ค่ามาตรฐานของสังคมเป็นตัววัดความดี จะถูกกิเลสมวลรวมของคนส่วนใหญ่ลากไปลงนรก หรือที่เรียกว่าอุปาทานหมู่ คือสังคมคิดไปเองว่ากิเลสเหล่านั้นเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องที่ใครๆก็เสพกัน ทั้งๆที่เป็นอบายมุข เป็นกิเลสหยาบที่พาให้ชีวิตเดือดร้อน เมื่อเสพอบายมุขก็จะยิ่งนำพากิเลสตัวอื่นที่หยาบเข้ามา เสพมากๆก็ติด พอไม่เสพก็โกรธไม่พอใจ เป็นทุกข์
(4.2). กามคุณ
คือความหลงในกิเลสที่พาให้อยากเสพใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เช่นชอบแต่งตัวสวย ชอบคนหน้าตาดี อาหารอร่อย กลิ่นที่หอม เสียงไพเราะ เตียงที่อ่อนนุ่ม หรือกระทั่งเรื่องการเสพเมถุน ทั้งหมดนี้อยู่ในหมวดของการหลงในกาม เมื่อเราหลงติดในกามเหล่านี้ ก็จะพาให้เราอยากเสพกามตามที่เราติด พอเสพมากๆก็พาสะสม พอไม่ได้เสพสมใจก็โกรธเป็นทุกข์
(4.3). โลกธรรม
โลกธรรมคือกิเลสที่ละเอียดที่ฝังอยู่ในคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียะสุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ก็เป็นสภาพของโลกธรรม เมื่อคนหลงในลาภก็จะสะสมมาก หลงในยศก็จะไต่เต้าเพื่อหายศหาตำแหน่ง หลงในสรรเสริญก็จะพยายามทำตัวให้เป็นที่น่าสนใจ อยากให้คนยอมรับ เชิดชูบูชา หลงในโลกียะสุขก็จะแสวงหาสุขในทางโลก สุขที่วนอยู่ในโลก เมื่อเสพสิ่งเหล่านี้มากเข้า ก็จะเริ่มสะสม เริ่มหวงลาภ ยศ สรรเสริญ สุข พอไม่ได้หรือเกิดสภาพของความเสื่อมทั้งหลายก็จะโกรธ เป็นทุกข์ เสียใจ
(4.4). อัตตา
อัตตาคือกิเลสที่ละเอียดที่สุดที่คนหลงยึดไว้ ไม่ว่าจะอบายมุข กามคุณ โลกธรรม สุดท้ายก็ต้องมาจบที่อัตตา เป็นเสมือนรากของกิเลส ส่วนที่เหลือนั้นเหมือนกิ่งก้านใบของกิเลสเท่านั้น ผู้ที่ดับอัตตาได้ก็จะเข้าสู่อนัตตา เป็นภาษาที่พูดกันได้ง่ายแต่ทำได้ยากยิ่ง
อัตตานั้นคือความยึดมั่นถือมั่น เรายึดมั่นถือมั่นตั้งแต่คน สัตว์ วัตถุสิ่งของ หรือสิ่งที่เป็นรูปเป็นร่างจับต้องได้ เรายึดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของเรา เราอยากครอบครอง วัตถุ คน สัตว์ สิ่งของเหล่านี้มาเป็นตัวตนของเราซึ่งจะสะท้อนออกไปอีกทีในรูปของ อบายมุข กาม โลกธรรม เช่นเราอยากคบหาคนผู้นั้นไว้เพราะเขารวย เพราะเขามีชื่อเสียง เพราะเขามีอำนาจ หรือเรายึดว่าคนต้องกินเนื้อสัตว์ คนเป็นสัตว์กินเนื้อเพราะเราหลงในกาม หลงติดในรสชาติรสสัมผัส เมื่อเราจะกำจัดกามเหล่านั้นแล้วก็ต้องมากำจัดอัตตาไปพร้อมๆกันด้วย
เรายังสามารถที่จะติดรูปที่สำเร็จด้วยจิตของตัวเองได้อีก เช่นการคิดฝัน ปั้นจินตนาการไปเองว่าคนนั้นพูดแบบนั้นคนนั้นพูดแบบนี้ คนนั้นเขาคิดกับเราแบบนั้น เขาจะทำกับเราแบบนี้ หลงไปว่าการเสพอบายมุขนั้นเป็นสุข หลงไปว่าการเสพกามนั้นเป็นสุข หลงไปว่าการเสพโลกธรรมนั้นเป็นสุข เป็นสภาพที่จิตสร้างความสุขหลอกๆขึ้นมาหลอกตัวเอง หรือถ้าหนักๆก็จะเป็นพวกเห็นผี เข้าทรงกันไปเลย ทั้งหมดนั้นเป็นสภาพที่จิตนั้นปั้นขึ้นมาเป็นรูปให้เราได้เห็น จึงเรียกว่ารูปที่สำเร็จด้วยจิตเป็นกิเลสของเราเองที่สร้างความรู้สึกสุข ชอบใจ พอใจ สร้างเป็นภาพ เป็นเสียงขึ้นมาให้เราได้ยิน ทั้งๆที่จริงแล้วมันไม่มี แต่เราไปยึดไว้และหลงเสพสิ่งที่ไม่มีเหล่านั้น ในเมื่อสิ่งนั้นไม่มีจริง ไม่ใช่ของจริง ไม่เที่ยง สุดท้ายเมื่อไม่ได้เสพสมใจก็จะเป็นทุกข์
อัตตายังอยู่ในสภาพไร้รูป หรือที่เรียกว่า อรูปอัตตา เช่น ความเห็น ความเข้าใจ ศักดิ์ศรี ความรู้ ฯลฯ เราก็ไปหลงยึดสิ่งเหล่านี้ไว้ เช่น เราเข้าใจธรรมแบบนี้ เราก็ยึดสิ่งนี้เป็นตัวตนของเรา พอใครมาพูดไม่เหมือนที่เราคิด ไม่เหมือนที่เราเข้าใจ เราก็จะมีอาการขัดข้องใจ ไม่พอใจ โกรธ เพราะเราไม่ได้เสพสมอัตตา คือต้องการให้คนอื่นมาทำให้ได้ดังใจเราหมาย หรือทำตามอัตตาเรานั่นเอง
….เมื่อได้รู้กิเลสทั้งหมดนี้แล้ว เราจึงควรใช้เวลาพิจารณากิเลสในตัวเองอย่างแยบคาย ทำให้เห็น ทำให้ชัดเจนว่าเราติดในกิเลสตัวไหน ปนกับตัวไหน มีรากมาจากตัวไหน การค้นหารากของกิเลสไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย กิเลสบางตัวอาจจะใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปี หรือทั้งชีวิตอาจจะไม่สามารถเห็นเลยก็ได้ถ้าไม่พากเพียร และไม่คบมิตรที่ดี
(5). ด่านที่ห้า ดับเหตุแห่งทุกข์นั้นเสีย
เมื่อเห็นเหตุแห่งทุกข์แน่ชัดแล้ว เห็นตัวการของกิเลสแน่ชัดแล้ว ก็ให้เพียรพยายามทำให้ถึงความดับ โดยใช้มรรควิธี ก็คือการปฏิบัติมรรคทั้ง ๘ นั่นแหละ จะใช้สมถะ วิปัสสนาก็ได้ จะใช้สัมมัปปธาน ๔ ก็ได้ จะใช้โพชฌงค์๗ ก็ได้ จะใช้จรณะ๑๕ ก็ได้ จะใช้ทั้งโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ก็ได้ หรือจะใช้ธรรมใดตามที่ถนัดก็ได้ เพราะธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้นเป็นไปเพื่อการละกิเลส เพื่อการล้างกิเลส เพื่อการดับกิเลสอยู่แล้ว
การจะค้นเจอเหตุแห่งทุกข์นั้นว่ายากแล้ว การดับทุกข์ที่เหตุนั้นยากยิ่งกว่า เพราะต้องใช้ความเพียรพยายาม ใช้อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เข้ามาเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทำที่สุดแห่งทุกข์ คือการดับทุกข์นั้นอย่างสิ้นเกลี้ยงโดยการดับกิเลสนั้นนั่นเอง
สรุป…
การที่เราต้องมาหาเหตุแห่งทุกข์อย่างยากลำบากนี้ เพราะพระพุทธเจ้าได้ชี้ขุมทรัพย์ไว้ว่า ดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ แต่บางครั้งเรามักจะมองเหตุแห่งทุกข์นั้นตื้นเกินไป เหมือนกับเราที่เราอยากกำจัดหญ้า แต่ก็ทำแค่เพียงตัดหญ้าที่มันยาวพ้นดินออกมา บ้างเก่งกว่าก็ว่าขุดรากถอนโคนหญ้านั้นไปเลย แต่สุดท้ายหญ้าก็จะขึ้นมาใหม่ เหมือนกับกิเลสนั้นกลับมาโตใหม่อีกครั้ง
ผู้มีปัญญาย่อมขุดรากถอนโคนกิเลสทั้งหมด ทั้งตัดหญ้า ขุดรากถอนโคน และนำดินมาเผา ทำลายเมล็ดหญ้าที่ยังหลงเหลืออยู่ในฝืนดินซึ่งเป็นเมล็ดนี้เองเป็นแหล่งเกิดของหญ้า เหมือนกับตัณหา ถ้าเรายังดับตัณหาคือความอยากไม่ได้ ความอยากเหล่านั้นก็จะค่อยๆเติบโต เหมือนกับผืนดินที่เต็มไปด้วยเมล็ดหญ้า หากไม่กำจัดเมล็ดออก ก็มีแต่จะต้องมาคอยตัดหญ้า ขุดรากถอนโคนหญ้ากันทุกชาติไป
ดังนั้นผู้มีปัญญาพึงกำจัดทุกข์จากเหตุแห่งทุกข์ เผากิเลสเหล่านั้นด้วยไฟแห่งฌาน ให้ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสนั้นสลายไป ทำลายกามภพ ทำลายรูปภพ ทำลายอรูปภพของกิเลสนั้น ไม่ให้มีแม้เสี้ยวอารมณ์ความอยากที่เกิดภายในจิต แม้จะตรวจด้วยอรูปฌานสักกี่ครั้งก็ไม่พบความอยากในจิตอีก เมื่อนั้นแหละที่เขาเหล่านั้นจะได้พบกับสภาวะที่เรียกว่า “สัญญาเวทยิตนิโรธ” คือการดับกิเลสที่อยู่ในสัญญาอย่างสิ้นเกลี้ยง ถือเป็นการสิ้นสุดการต่อสู้กับกิเลสนั้น ได้รับชัยชนะที่ทำได้ยาก เป็นสิ่งที่บัณฑิตต่างสรรเสริญ
– – – – – – – – – – – – – – –
13.10.2557
โปรตีนเกษตรและเนื้อสัตว์เทียมกับการกินมังสวิรัติ
โปรตีนเกษตรและเนื้อสัตว์เทียมกับการกินมังสวิรัติ
ตั้งแต่กินมังสวิรัติมาปีกว่าๆ ต้องยอมรับตรงๆว่าไม่เคยใช้โปรตีนเกษตรหรือเนื้อสัตว์เทียมมาทำอาหารเองเลย เหตุผลนั้นมีหลายส่วนด้วยกัน ส่วนหนึ่งก็คือพยายามจะใช้ของที่หาซื้อได้ทั่วไปมาทำอาหาร และอีกส่วนหนึ่งคือผมเองก็ไม่ได้อยากกินเนื้อสัตว์แล้ว เลยไม่ต้องลำบากไปหาสิ่งเทียมเนื้อสัตว์มากินให้ยุ่งยาก และเหตุปัจจัยอื่นๆอีกยิบย่อยที่ทำให้ไม่สนใจวัตถุดิบเหล่านั้น
ผ่านช่วงเทศกาลเจครั้งแรกของปีนี้ ผมได้กินกะเพราเป็ดเจ ซึ่งเป็นเนื้อสัตว์เทียม เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้ว จึงคิดได้ว่าการใช้โปรตีนเกษตรแทนเนื้อสัตว์ก็สามารถที่จะทดแทนรสสัมผัสได้อย่างดีเยี่ยม จะว่าคล้ายก็คล้าย จะว่าเหมือนก็เหมือน
โปรตีนเกษตรที่หมายถึงนั้น คือวัตถุดิบที่เป็นชิ้น เป็นก้อน ไม่ได้มีรูปทรงที่ชัดเจนว่าเป็นอะไร ส่วนเนื้อสัตว์เทียมนั้น คือวัตถุดิบที่ถูกสร้างให้เป็นรูปร่างเสมือนเนื้อสัตว์ปกติเช่น ปลาเค็มเทียม หมูเทียม กุ้งเทียม สเต็กเทียม ซึ่งมีเจตนาเพื่อให้ระลึกถึงเนื้อสัตว์นั้นได้อย่างชัดเจน โดยรวมแล้วจะเรียกว่าโปรตีนเกษตรเหมือนกัน แต่ระดับในการสนองกิเลสนั้นจะต่างกัน
สำหรับคนที่ไม่ได้มีปรุงแต่งรสสัมผัสจนมันละเอียดล้ำลึก ก็จะไม่ได้ให้ความสำคัญกับวัตถุดิบมากนัก ขอแค่มีหน้าตาและรสสัมผัสเหมือนเนื้อสัตว์ที่เคยกินก็พอ
ส่วนผู้ที่ติดในรสชาติหรือรสสัมผัสอันหลากหลายของเนื้อสัตว์ มักจะต้องพบกับความผิดหวังเมื่อได้กินเนื้อสัตว์เทียม เพราะรสชาติและรสสัมผัสนั้นไม่มีทางสู้เนื้อสัตว์จริงที่มีความหลากหลายในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสได้อยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นการยากสำหรับผู้ที่หลงใหลในเนื้อสัตว์จะหันมากินมังสวิรัติ กินเจ โดยใช้โปรตีนเกษตรหรือเนื้อสัตว์เทียมได้
อนุโลม…
การใช้โปรตีนเกษตรและเนื้อสัตว์เทียม แม้จะดูตลกและทำให้เกิดความสงสัยในมุมมองของคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ ว่าคนจะมาลดเนื้อกินผักแล้วทำไมยังต้องมากินเนื้อสัตว์เทียม?
เราจำเป็นต้องเข้าใจว่า โดยปกติแล้วมนุษย์เรามีกิเลสหนา การจะหักดิบมากินพืชผักทันทีเลยนั้น เขาทำไม่ได้ เมื่อทำไม่ได้ จึงมีคนคิดสร้างแหล่งโปรตีนและเนื้อสัตว์เทียมเพื่อมารองรับผู้ที่ยังมีความอยากเสพรสชาติและรสสัมผัสที่เหมือนเนื้อสัตว์แต่ไม่ต้องฆ่าสัตว์ ทำให้สามารถลดการเบียดเบียนสัตว์อื่นได้ดีเช่นกัน
ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ที่คิดจะลดการเบียดเบียนผู้อื่นนั้นย่อมมีจิตใจที่ดี ส่วนผู้ที่ยังเบียดเบียนสัตว์อื่นอยู่แม้จะรู้ว่าการเบียดเบียนนั้นจะทำให้สัตว์นั้นทุกข์ทรมานและนำอกุศลกรรมมาสู่ตนเอง แต่ก็ยังไม่เห็นโทษภัยในการเบียดเบียน ยังไม่คิดจะเลิกเบียดเบียน ยังยินดีที่จะเบียดเบียนเพื่อให้ตนได้เสพสมใจในกิเลส เขาจึงควรมีจิตศรัทธาในผู้ที่พยายามทำดี อย่าได้เผลอไปเพ่งโทษคนที่พยายามลด ละ เลิก การเบียดเบียนเลย เพราะจิตอกุศลนั้นเองจะนำภัยมาสู่ตน
ในตอนนี้ผมกลับมองว่า จริงๆแล้ว โปรตีนเกษตรกับเนื้อสัตว์เทียมมันก็ดีในระดับหนึ่งนะ คิดไปแบบง่ายๆว่า ถ้าคนทั้งโลกหันมากินโปรตีนเกษตร หรือเนื้อสัตว์เทียมได้ ก็จะไม่มีการเลี้ยงสัตว์ เพาะพันธุ์สัตว์ ฆ่าสัตว์ และวันหนึ่งโปรตีนสังเคราะห์เหล่านั้นก็จะมาแทนที่เนื้อสัตว์ได้ ซึ่งทั้งหมดนี่ก็เป็นแค่เรื่องที่ได้แค่ฝันเอา
ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเรากินโปรตีนเกษตรไปเรื่อยๆ เสพเนื้อสัตว์เทียมไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการล้างความอยากเสพเนื้อสัตว์ เมื่อกินเนื้อสัตว์เทียมและเริ่มติดใจในรสชาติ แล้วก็จะเกิดความอยากกินเนื้อสัตว์จริงๆขึ้นมาในวันใดวันหนึ่ง เพราะกิเลสนั้นจะโตขึ้นเรื่อยๆจนไม่สามารถกดข่มความอยากได้ไหว
เมื่อกลับไปกินเนื้อสัตว์จึงพบว่ามันสนองกิเลสได้มากกว่ากินเนื้อสัตว์เทียม คิดได้เช่นนั้นความเสื่อมก็เริ่มเข้ามา เพราะตอนที่กินมังสวิรัติ กินเจนั้น กินด้วยความกดข่ม กดกิเลสตัวเองไว้ เกิดทุกข์ ทรมาน จากการกดข่มนั้นๆ จนเมื่อตบะแตกไปเสพเนื้อสัตว์เข้าจริงๆ คราวนี้จะกลับมากินโปรตีนเกษตรหรือเนื้อสัตว์เทียมยากแล้ว เพราะกิเลสมันมากกว่าเดิม มันเริ่มคิดแล้วว่าเนื้อสัตว์จริงๆอร่อยกว่าโปรตีนเกษตรหรือเนื้อสัตว์เทียมมาก ว่าแล้วก็เสื่อมจากธรรมที่มี เสื่อมจากศีลที่ตั้งไว้
โดยสรุปแล้วผมเองก็ยังมองว่าโปรตีนเกษตรและเนื้อสัตว์เทียมก็ยังเป็นทางเลือกที่ผู้สนใจหันมากินมังสวิรัติสามารถกินได้ แต่จะให้ดีกว่านั้น ยั่งยืนกว่านั้น คือการล้างความอยากเสพเนื้อสัตว์นั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้ได้ยาก เข้าใจได้ยาก ทำได้ยาก
ต่างจากการกดข่มความอยากซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้กันทุกคน เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะสามารถกดข่มสิ่งที่ตัวเองคิดว่าไม่ดีไว้ แต่การกดข่มนั้นไม่ยั่งยืน ไม่สามารถทำลายความอยากได้ สุดท้ายพออยากเข้ามากๆก็จะกลับไปเสพ เสพแล้วก็เลิก เลิกแล้วก็เสพ ต้องมารอให้กิเลสเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปและเกิดขึ้นมาใหม่ วนไปวนมาแบบนี้ไม่รู้จบ
– – – – – – – – – – – – – – –
12.10.2557