ข้อคิด

กิเลสนอนก้น

January 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,103 views 1

กิเลสนอนก้น

กิเลสนอนก้น

…เมื่อการปฏิบัติธรรม ไม่ได้ทำให้เจริญไปถึงข้างในจิตใจ

เคยคิดสงสัยกันหรือไม่ ว่าแท้จริงแล้วผลของการปฏิบัติธรรมนั้นจะเป็นเช่นไร ที่เขาว่ายิ่งกว่าสุขเป็นแบบไหน แล้วแบบที่ทำอยู่จะให้ผลเช่นไร การปฏิบัติของพุทธแท้จริงแล้วเป็นอย่างไรในเมื่อมีหลากหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีนั้นก็มีเหตุผลมีที่อ้าง แล้วเราจะปฏิบัติตามแบบไหน ทางไหนคือทางที่พาพ้นทุกข์

ก่อนจะเข้าเรื่องก็มาเรียนรู้เรื่องกิเลสกันก่อน ซึ่งจะขอเปรียบกิเลสดังโคลนในแก้วน้ำ โดยปกติเราก็จะมีโคลนและมีน้ำที่เปรียบดังจิตอยู่ในแก้ว เมื่อมีการกระทบจนเกิดการสั่นไหว โคลนที่นอนก้นอยู่ก็จะกระจายตัวทำให้น้ำขุ่นเหมือนดังจิตที่ขุ่นมัว

วิธีที่จะทำให้โคลนเหล่านั้นสงบนิ่ง คือใช้วิธีของการทำสมถะ หรืออุบายทางใจเข้ามากดข่มจิตใจด้วยวิธีต่างๆมากมาย ในกรณีนี้ก็คือทำให้น้ำที่ขุ่นนั้นใสนั่นเอง และเรามักจะได้ยินคำเรียกน้ำที่ใสจากตะกอนโคลนนั้นว่า “จิตว่าง” ว่างจากอะไร? ว่างจากความคิด ว่างจากการปรุงแต่งหรือสภาพที่โคลนนั้นฟุ้งไปทั่วแก้ว เมื่อจิตว่างจากโคลนที่ฟุ้งแล้วจึงค่อยคิด นี่คือวิธีที่พบเห็นและปฏิบัติกันโดยทั่วไป

วิถีทางของสมถะจะให้ความสนใจโคลนที่ฟุ้งอยู่ในน้ำ มุ่งประเด็นไปที่ความฟุ้งซ่าน ความคิดต่างๆ ดังนั้นการใช้สมถะในวิถีทางต่างๆเช่นเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือแบบประยุกต์เช่น ขยับตัวเพื่อรู้ ใช้ธรรมะเข้ามาตบความคิด ใช้ไตรลักษณ์เข้ามาตบความฟุ้งซ่าน กำหนดรู้ รู้ตามจิต รู้ตามความคิด รู้นามรูปโดยใช้ตรรกะ หรือวิธีใดๆที่วนอยู่ในรูปแบบหนึ่งๆ เพื่อให้หลุดพ้นออกจากจิตที่เป็นทุกข์นั้นๆ เป็นวิธีการฝึกสมถะทั้งแบบหลับตาและลืมตาที่ใช้กันโดยทั่วไป จนบางครั้งอาจจะทำให้หลงเข้าใจไปว่าการฝึกสมถะเหล่านั้นคือการวิปัสสนา

! ต้องขออภัยจริงๆ ที่บทความนี้อาจจะดูเหมือนไปข่มการทำสมถะด้วยวิธีต่างๆ แต่ก็จำเป็นจะต้องชี้ให้เห็น เพราะจะมีผลไปถึงการปฏิบัติ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าสมถะไม่ดี มันดีและเป็นสิ่งที่เพิ่มกำลังให้กับการวิปัสสนาด้วย แต่การนำสมถะขึ้นมาเป็นการปฏิบัติหลักเพื่อการพ้นทุกข์จากกิเลสนั้นจะทำให้หลงติดภพ

และเมื่อเข้าใจว่า “ความว่าง “คือ “จิตที่ว่างจากความคิด” หรือสภาพที่โคลนสงบ ไม่ฟุ้ง น้ำใส เหมือนจิตที่ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่คิด ไม่กังวล ไม่โกรธ มีสติ สงบ ฯลฯ เป็นความเข้าใจที่ยังไม่ถูกกับหลักของพุทธเสียทีเดียว เพราะอยู่ในขีดของสมถะหรือการปฏิบัติแบบฤๅษีทั่วไปเท่านั้น

เพราะถึงแม้น้ำในแก้วจะใส แต่ถ้ามีกิเลสนอนก้นอยู่แล้วเราจะเรียกว่าจิตว่างได้อย่างไร ความคิดที่ออกมาตอนฟุ้งหรือตอนสงบก็ปนเปื้อนไปด้วยกิเลสอยู่ดี แม้น้ำนั้นจะใสแต่ก็จะมีโคลนปนอยู่ในน้ำอยู่ดี สภาพที่ไม่คิด ไม่ปรุงแต่ง แม้จะดูเหมือนว่าสงบแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกิเลส

ศาสนาพุทธเป็นไปเพื่อการชำระล้างกิเลสจนดับกิเลส ไม่ใช่เพียงแค่การดับความคิด หยุดปรุงแต่งหรือดับสัญญาใดๆทิ้งอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว แต่หากเป็นการชำระกิเลสที่ปนเปื้อนอยู่ในความคิด ในสัญญา ในจิตวิญญาณนั้นให้หมดไป เปรียบดังผู้ที่สามารถนำโคลนออกจากแก้วได้ เมื่อโคลนน้อยลงก็จะฟุ้งกระจายน้อยลง ขุ่นน้อยลง จนกระทั่งเอาโคลนออกได้หมด แม้แก้วจะถูกเขย่าแรงเพียงใดก็จะไม่มีอะไรฟุ้ง ไม่ขุ่น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เป็นน้ำใสๆอยู่เช่นเดิม

1). การปฏิบัติธรรมในปัจจุบัน

วิถีทางปฏิบัติธรรมในปัจจุบันนั้นมีมากมายหลากหลายวิธี แม้ว่าจะมีรายละเอียดต่างกันไปในการปฏิบัติแต่ละแบบ แต่โดยส่วนมากนั้นจะมีทิศทางไปในทางเดียวกันคือการใช้สมถะ หรือการใช้อุบายเข้ามาบริหารใจให้เกิดสภาพจิตนิ่ง จิตว่าง สงบ หยุดคิด หยุดตัดสิน หยุดทุกข์ ฯลฯ

กิเลสนั้นเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก เข้าใจได้ยาก และทำลายได้ยาก แม้ว่าเราจะเห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเห็นกิเลส การที่เราสามารถดับทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการดับความคิดที่ปรุงแต่งใดๆ ให้เกิดจิตที่สงบหรือที่เขาเรียกกันว่า”จิตว่าง”ได้ แต่นั่นไม่ใช่ความสงบหรือความว่างแบบพุทธ เพราะนั่นคือความสงบจากสมถะ

การดับสภาพทุกข์หรือสุขที่เกิดขึ้นในใจด้วยอุบายใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นนั่งสมาธิ เดินจงกรม เพ่งกสิณ อยู่กับปัจจุบันใช้การพิจารณาไตรลักษณ์ เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เข้ามากระทำต่อความฟุ้งซ่านนั้นคือการวิถีของสมถะทั้งสิ้น

แม้การปฏิบัติเหล่านั้นจะสามารถควบคุมร่างกายไม่ให้แสดงอาการ ควบคุมวาจาไม่ให้เปล่งออกมา หรือแม้กระทั่งควบคุมใจไม่ให้คิด ไม่ให้ปรุงแต่งใดๆโดยใช้สติควบคุมไว้ ก็ยังไม่ใช่วิถีทางปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง เพราะต้องมาคอยควบคุม คอยกด คอยข่ม คอยดับ สิ่งปรุงแต่งทั้งกาย วาจา ใจเอาไว้เสมอ

ซึ่งโดยทั่วไปสมถะจะเน้นการฝึกสติ เพิ่มกำลังสติ ให้มีสติตลอดเวลา ฝึกสติจนมีสติอัตโนมัติ การฝึกสติเหล่านั้นเป็นการฝึกสติความรู้ตัวทั่วพร้อมทั่วไป และใช้สติเหล่านั้นไปกระทำต่อความคิด ความทุกข์ ความสุขที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการ รู้ ดับ ตบ กดข่ม ฯลฯ เพื่อให้เกิดความสงบ

แต่ถ้าหากเราสามารถปฏิบัติอย่างถูกตรงจนสามารถชำระล้างกิเลสได้ด้วยปัญญา ก็ไม่ต้องมาคอยกด ข่ม ดับ หรือต้องรู้ตัวทั่วพร้อมตลอด เพราะไม่มีกิเลสเกิดขึ้น เมื่อไม่มีกิเลสเกิด ก็ไม่มีตั้งอยู่ และไม่มีดับไป เพราะมันดับสิ้นเกลี้ยงไปตั้งแต่แรกแล้ว ดังนั้นเมื่อสามารถทำลายกิเลสเรื่องใดๆได้จริงจะไม่มีสภาพเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของกิเลสเรื่องนั้นๆอีก

2). ธรรมไม่ถึงธรรม

เมื่อหลงเข้าใจไปว่าวิธีฝึกสติแบบสมถะคือวิธีการพ้นทุกข์ อาจจะหลงเข้าใจไปอีกว่า เมื่อฝึกสติได้ถึงระดับหนึ่งจะบรรลุธรรมระดับนั้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นความเห็นความเข้าใจที่ผิดไปจากหลักของพุทธ เพราะการบรรลุธรรมนั้นจะเกิดจากการตัดสังโยชน์ คือกิเลสที่ผูกมัดไว้ทั้ง ๑๐ ระดับ แม้ว่าจะสะสมสติแบบสมถะมากเท่าไหร่ ก็ไม่ได้เกี่ยวกับการตัดกิเลสเหล่านี้เลย เพราะสังโยชน์แต่ละตัวนั้นมีวิธีการแก้ปัญหาที่ต่างกันไป มีความซับซ้อนต่างกัน มีความยากต่างกัน ไม่ได้ใช้วิธีเดียวกัน

แต่ด้วยความเห็นความเข้าใจตามวิบากกรรมที่แตกต่างของแต่ละคน ทำให้ความเข้าใจในธรรมนั้นต่างกันออกไป บางคนพอใจที่สามารถทำให้แก้วที่ขุ่นไปด้วยโคลนนั้นใสในพริบตา บางคนพอใจที่ดูและรู้การขุ่นและตกตะกอนของโคลน แล้วก็เข้าใจว่าเหล่านั้นคือวิธีพ้นทุกข์ที่ถูกต้อง เมื่อเขาเชื่อและหลงยึดเช่นนั้น ใจก็จะไม่แสวงหาทางอื่น มองวิธีนั้นเป็นวิธีหลัก ไม่สนใจจัดการกับโคลนที่อยู่ข้างใต้ เหมือนกับว่ามองไม่เห็นโคลน หลายครั้งเราได้ยินคำว่ากิเลส แต่ไม่มีใครพูดถึงวิธีทำลายกิเลส แม้จะได้ยินได้ฟังแต่ก็ไม่สามารถเอาไปปฏิบัติได้จริง ยิ่งปฏิบัติยิ่งหลง ยิ่งทำยิ่งงง ไปๆมาๆจะเพี้ยนไปเสียอีก

3). ปฏิบัติธรรมผิดทาง หลงทางจนตาย (ไปอีกหลายชาติ)

คาดเคลื่อนของความเข้าใจเกี่ยวกับการเริ่มต้นปฏิบัติและปริยัตินั้นมีอยู่ไม่มากก็น้อย การเข้าใจว่าปริยัติหรือเรียนรู้ธรรมมาก่อนนั้นก็ไม่ถูกเสียทีเดียว แต่การเข้าใจว่าปฏิบัติมาก่อนนั้นจะผิดไปค่อนข้างมาก เหมือนกับคนที่ไม่มีแผนที่ ไม่รู้ทาง แต่ก็จะเดินเข้าป่า ปฏิบัติไปก็จะหลง มัวเมา หนักเข้าก็หลงว่าบรรลุธรรม

หลายคนเข้าใจว่าตนเองมีอาจารย์ แต่ก็ไม่ได้ดูให้ดีว่าอาจารย์ของตนนั้นเคยเดินทางหรือเปล่า เข้าใจการปฏิบัติธรรมจริงหรือเปล่า พอติดตามคนผิดก็เข้าป่าเข้ารกเข้าพงหลงทางกันทั้งอาจารย์ทั้งศิษย์ กลายเป็นกลุ่มก้อนมิจฉาทิฏฐิให้เห็นกันอยู่โดยทั่วไป

หลักตัดสินพระธรรมวินัยก็มีอยู่ ลักษณะผู้ที่บรรลุธรรมในศาสนาก็มีอยู่ แต่ครูบาอาจารย์บางพวกจะหลีกเลี่ยงการอ้างอิงจากตำรา สร้างลัทธิ สร้างชุดความเชื่อขึ้นมาใหม่ ถึงแม้จะเป็นเช่นนี้เราก็สามารถใช้หลักธรรมของพระพุทธเจ้าตรวจสอบได้ เช่น ธรรมเหล่านั้นเป็นไปเพื่อลดกิเลสหรือไม่ เป็นไปเพื่อการพรากหรือไม่ เป็นไปเพื่อการมักน้อย ไม่สะสม กล้าที่จะจนหรือไม่ เป็นไปเพื่อสะสมบริวาร ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขหรือไม่ เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนหรือไม่ เป็นคนประหยัดหรือฟุ้งเฟ้อ เป็นคนขี้เกียจหรือขยัน ฯลฯ (สามารถหาดูได้เพิ่มเติมจาก หลักตัดสินธรรมวินัย ๘ ,เป้าหมายการประพฤติพรหมจรรย์ ๙ ,วรรณะ๙)

การเข้าถึงธรรมะนั้นไม่ได้เริ่มจากการปฏิบัติก่อน พระพุทธเจ้าไม่เคยตั้งเงื่อนไขให้ใครมาปฏิบัติก่อน ท่านมักจะเทศน์โปรดก่อนเสมอทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น และท่านยังได้ตรัสสอนไว้ว่า คนจะสามารถถึงวิมุตหรือสภาพหลุดพ้นจากกิเลสได้ ต้องเริ่มต้นจากการคบหาสัตบุรุษที่บริบูรณ์ นั่นคือต้องหาครูบาอาจารย์ที่รู้จริงเสียก่อน เป็นผู้มีธรรมนั้นในตนจริงๆ เมื่อมีธรรมที่พาพ้นทุกข์ได้จริง ก็สามารถสอนให้เราพ้นทุกข์ได้จริง ลดกิเลสได้จริง ทำลายกิเลสได้จริง

เมื่อได้เจอสัตบุรุษแล้วเราจึงจะได้ฟังสัจธรรม หลังจากเราได้ฟังสัจธรรมและเข้าใจ จึงจะเกิดศรัทธา ซึ่งศรัทธาตรงนี้เกิดจากปัญญา เพราะรู้ได้เองว่าธรรมที่ได้ฟังนั้นเป็นของจริง พาพ้นทุกข์ได้จริง พาลดกิเลสได้จริง เมื่อเกิดศรัทธาก็จะเริ่มปฏิบัติตาม เกิดการทำใจในใจที่แยบคาย คือการพิจารณาธรรมที่ได้ฟังนั้นเข้าสู่ใจ ไม่ใช่ฟังหูซ้ายทะลุหูขวาหรือฟังธรรมแบบผ่านๆ แต่จะนำไปคิดพิจารณาในใจตามสภาวะของตัวเองได้ และจะเกิดสติสัมปชัญญะต่อไป เกิดการสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดความสุจริตทั้งกาย วาจา ใจ ต่อไปจนกระทั่งเกิดสติปัฏฐาน ๔ ดำเนินต่อไปที่โพชฌงค์ ๗ และถึงวิชชาและวิมุตติโดยลำดับ(อวิชชาสูตร)

จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติธรรมสู่การพ้นทุกข์ต้องเริ่มจากการหาสัตบุรุษที่บริบูรณ์เสียก่อน ไม่อย่างนั้นปฏิบัติไปก็ฟุ้งเฟ้อ เนิ่นช้า ติดอยู่ในกิเลส ในภพ ในอัตตา สารพัดทางจะติดได้ เพราะคนที่เห็นผิด ก็จะพาเราไปแวะที่นั่น หลงที่นี่ ก็หลงกันไปทั้งหมู่คณะ เป็นมิจฉาทิฏฐิกันไปทั้งก้อน ซึ่งความหลงมันอาจจะไม่ได้เกิดแค่ชาติเดียว มันจะหลงตามกันไปเรื่อยๆ ตามกรรมที่ก่อไว้

คนที่หลงจะไม่สามารถรู้ได้ว่าตัวเองหลงหรือเห็นว่าตนเองมิจฉาทิฏฐิ ด้วยความหลงนั้นก็จะดลให้เขาได้เชื่อและปฏิบัติในทางที่เขาหลงอยู่เช่นนั้น เมื่อเขาสอนธรรมที่ไม่ได้พาให้ลดกิเลส กล่าวแต่ธรรมที่พาเพิ่มกิเลส ให้เสพสุข ให้ร่ำรวย ให้ยึดมั่นถือมั่น เขาเหล่านั้นก็จะสะสมพลังแห่งมิจฉาทิฏฐิที่จะบดบังความจริงสู่การพ้นทุกข์เข้าไปอีก

ดังนั้นจะสรุปได้ว่า โดยทั่วไปเราไม่มีทางปฏิบัติเองจนถึงผลได้ ต้องเจอครูบาอาจารย์ที่รู้ทางจริงๆเท่านั้น การหาของจริงในของลวงนั้นยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร การจะเจอสัตบุรุษที่บริบูรณ์ไม่ใช่เรื่องง่าย การจะได้ฟังสัจธรรมนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และการปฏิบัติจนถึงผลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หากเรายังต้องเสียเวลากับการปฏิบัติที่พาให้หลงทางอีกมันจะช้าเข้าไปใหญ่

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ธรรมใดวินัยใดเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นวินัยนั้น ไม่ใช่ของเราคถาคต” คำว่าช้าในที่นี้คือไปหลงวนอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ เมื่อเราติดอยู่ในความเห็นผิด ยิ่งปฏิบัติก็จะยิ่งไกลจากพุทธ ยิ่งขยันก็จะยิ่งโง่ขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งยึดมั่นถือมั่นขึ้นเรื่อยๆ อาจจะทำให้ต้องเสียเวลาไปชาติหนึ่ง เป็นโมฆะบุรุษ เกิดมาตายไปเปล่าๆไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

4). สติ แท้จริงคืออะไร

ดังที่เห็นในอวิชชาสูตร จะเห็นได้ว่า สติสัมปชัญญะ และสติปัฏฐาน ๔ ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งเดียวกัน นี่ยังไม่รวมสติรู้ตัวแบบทั่วไปด้วยนะ หลงฝึกสติผิดเพี้ยนกันไปใหญ่

สติไม่ใช่เครื่องเตือน แต่เป็นเครื่องมือที่ทำให้เรารู้ตัว ซึ่ง สติสัมปชัญญะคือการทำให้มีการรู้ตัวทั่วพร้อม รู้ตัวว่าอะไร รู้ตัวว่ามีกิเลส รู้ตัวว่าโกรธ สตินี้ทำหน้าที่แค่นี้

ส่วนเครื่องเตือนใจนั้นคือ หิริ โอตตัปปะ หิรินั้นคือความละอายต่อบาป เมื่อเราโกรธแล้วมีหิริ สติจะทำงานต่อให้เราละอายต่อความโกรธของตัวเอง ส่วนโอตตัปปะคือความเกรงกลัวต่อบาป เมื่อมีโอตตัปปะซึ่งจะเหนือกว่าหิริ เราจะมีอาการสะดุ้งกลัวต่อบาป พอมีสติรู้ตัวว่าโกรธเราจะไม่กล้าโกรธ กลัวว่าจะสะสมบาป เพราะความโกรธคือบาป มันจะสงบลงแบบนี้ ผลเหล่านี้ไม่ใช่การทำงานของสติ แต่เป็นการทำงานของหิริโอตตัปปะ

ถ้ามีสติเฉยๆ แต่ไม่มีหิริโอตตัปปะมันจะไม่เกิดอะไรขึ้น เช่นรู้ว่ากำลังกินเนื้อสัตว์ แต่ไม่มีความละอายต่อบาปหรือความเกรงกลัวต่อบาป มันก็กินไปแบบนั้นแหละ ไม่รู้สึกผิดชอบชั่วดีอะไร กินไปมันก็มีความสุขตามกิเลสไปแบบนั้นเอง รู้ตัวว่ากินนะ แต่ก็แค่รู้ตัว ไม่เกี่ยวกับการพ้นทุกข์ใดๆ

หิริโอตตัปปะไม่ได้เริ่มจากสติ แต่เริ่มจากศีล ผู้มีศีลจะมีสติ แต่คนมีสติไม่จำเป็นต้องมีศีลนั้นๆ การเกิดหิริโอตตัปปะนั้นเป็นความเจริญที่งอกเงยมาจากการปฏิบัติศีลอย่างถูกตรง

สติปัฏฐาน ๔ นั้นจะทำงานต่างจากสติที่รู้ตัวทั่วพร้อม ซึ่งจะทำงานเป็นเครื่องมือ ตรวจจับ วิเคราะห์ วิจัยแยกแยะกิเลส จนถึงหาธรรมมาทำลายกิเลสนั้นๆ

ส่วนสติทั่วไปเป็นความรู้ตัวแบบสัญชาติญาณไม่ต้องฝึกก็ได้ แค่สงบๆแล้วให้ร่างกายจับการเปลี่ยนแปลงของภายในหรือภายนอกเช่น มีลมพัดมากระทบหน้า มีเหงื่อออกเล็กน้อยที่หลัง สติแบบนี้เหมือนเวลาที่วัวกำลังกินหญ้าแล้วเราเดินเข้าไป วัวจะหยุดกินและมองเรา เป็นสติระดับทั่วไปที่มีคนหลงไปฝึกปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์กันมากอยู่ในลักษณะของการทำสมถะ ซึ่งสติแบบนี้ไม่จัดอยู่ในกระบวนการเพื่อบรรลุธรรมแต่อย่างใด สรุปง่ายๆว่าฝึกไปก็ไม่พ้นทุกข์

5). สติมาปัญญาเกิด

ความเข้าใจที่ว่า “สติมาปัญญาเกิด” นั้น จะเป็นไปได้ในกรณีเดียวคือ ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ อย่างถูกตรงเท่านั้น ปัญญาจึงจะเกิด นอกเหนือจากนี้เป็นไปไม่ได้ ปัญญาที่หมายถึงในที่นี้คือปัญญาสู่การพ้นทุกข์ ไม่ใช่ปัญญาแบบโลกีย์ ไม่ใช่แค่โคลนตกตะกอนน้ำใสจึงเห็นความจริง ปัญญาของพุทธไม่ใช่ปัญญาแค่นั้น

ส่วนสติมาปัญญาเกิดแบบทั่วๆไป ปัญญาที่จะเกิดได้นั้นก็จะเกิดได้เท่าที่ระดับที่มีกิเลสอยู่ มีกิเลสเท่าไหร่ก็ส่งผลให้มีปัญญาได้เท่านั้น ไม่สามารถมีได้มากกว่านั้น เหมือนกับคนที่คิดตอนโกรธกับคิดตอนไม่โกรธมันก็ต่างกันเป็นธรรมดา แต่ก็จะมีขอบเขตของปัญญาที่จำกัดเพราะยังมีกิเลสมาบงการอยู่

คำว่า”สติมาปัญญาเกิด”นั้นเป็นธรรมสั้นๆที่สามารถตีความได้หลากหลาย หากไม่ได้ถูกขยายเพื่อเป็นไปในทางลดกิเลสแล้ว ธรรมนั้นย่อมผิดเพี้ยนจากทางพ้นทุกข์ไปได้ เรามักจะชอบอ่านหรือจำธรรมสั้นๆ เพราะไม่ต้องใช้ความเพียรมาก ไม่ต้องทำความเข้าใจมาก แต่สิ่งที่อันตรายคือการตีความที่ผิดซึ่งจะส่งผลมาสู่การปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนไป

การเข้าใจว่า สติมาปัญญาเกิด ส่งผลให้คนพยายามฝึกสติ สะสมสติ หรือมุ่งเน้นผลแห่งการเพิ่มสติอย่างมัวเมา ทั้งที่จริงแล้วการฝึกสติแบบสมถะ หรืออาจจะไปถึงขั้นมิจฉาทิฏฐินั้นไม่สามารถทำให้กิเลสลดลงได้

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ศีลคือแม่ ปัญญาคือพ่อ” นั่นหมายถึงศีลคือตัวขัดเกลา เลี้ยงดูจิตวิญญาณของเราให้เข้ารูปเข้ารอยไม่หลงไปในกิเลสมากจนเกินไป และปัญญานั้นหมายถึงปัญญาในการเข้าสู่มรรค คือปัญญารู้ว่าควรจะถือศีลนั้นๆ เมื่อปฏิบัติศีลด้วยสัมมาอริยมรรคถึงที่สุดแล้วจึงจะกลายเป็นปัญญาที่เป็นผล คือปัญญาในระดับที่หลุดพ้นจากกิเลสของศีลในเรื่องนั้นๆ

เรามักได้ยินว่า ศีล สมาธิ ปัญญา หรือถ้าเป็นในไตรสิกขาก็จะเป็น อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา หมายความว่าเมื่อเราปฏิบัติศีลด้วยความตั้งมั่น(สมาธิ)จึงจะถึงปัญญาได้ หรือถ้าอธิบายในมุมไตรสิกขาก็คือเมื่อเราปฏิบัติศีลที่ยากขึ้น ก็ต้องมีพลังใจที่มากขึ้น และใช้ปัญญาที่มากขึ้น เพื่อที่จะได้ปัญญาที่เป็นผลเจริญ(ภาวนา)

สตินั้นเป็นสิ่งที่เราควรจะมีตลอดเวลาอยู่แล้ว ส่วนสติปัฏฐาน ๔ จะทำงานในระหว่างที่เริ่มกระบวนการถือศีล และปฏิบัติจนกระทั่งเกิดปัญญา เป็นเครื่องมือในการทำให้เกิดปัญญา และเมื่อปฏิบัติศีลจนเกิดผลในเรื่องนั้นๆแล้วก็ไม่ต้องใช้สติปัฏฐานกับเรื่องนั้นต่อ เพราะทำได้เจริญถึงผลแล้วแบบนี้จึงจะเรียกได้ว่าสติมาปัญญาเกิด

แต่การฝึกสติในทุกวันนี้มักจะเป็นเป็นไปในแนวทางสมถะ แม้จะตั้งชื่อว่าฝึกสติปัฏฐาน ๔ แต่ก็กลับกลายเป็นการฝึกสมถะ ทั้งนี้เพราะสมถะนั้นเข้าใจได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก เห็นผลได้ง่าย แถมยังมีทางแวะให้หลงกันไปตามกิเลสอีก เช่นไปเห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นผี เห็นเทวดา ก็เห็นกันไปตามที่กิเลสของใครจะปรุงเอาได้ เป็นสิ่งที่กิเลสหลอกให้ถือเป็นจริงเป็นจัง

6). ปัญหาของสติที่ไม่มีศีลและปัญญา

และการฝึกแต่สติโดยไม่สนใจที่จะศึกษาศีลและปัญญา มีปลายทางคือนักสมถะที่เก่ง กดข่มได้เก่ง แม้ว่าแก้วน้ำจะขุ่นไปด้วยโคลน แต่ก็สามารถทำให้โคลนนั้นตกตะกอนได้ในพริบตา แต่จะให้เอาโคลนออกจากแก้วนั้นทำไม่ได้ เพราะวิถีแห่งสมถะไม่ได้สอนวิธีเอาโคลนออกจากแก้วไว้ ได้แค่เพียงทำเป็นมองไม่เห็นโคลน มองเพียงว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วแบบนี้มันจะเป็นผู้ไกลจากกิเลสไหม? จะหมดกิเลสได้อย่างไร? ในเมื่อยังไม่มีวิธีจัดการกับกิเลส

ความซวยของการการฝึกแต่สตินี้ มันเริ่มจากการยึดมั่นถือมั่น พอเรายึดแล้วก็จะเริ่มไม่ฟังวิธีอื่น เริ่มไม่อยากทำความเข้าใจและพิจารณาหนทางอื่น เพราะยึดมั่นถือมั่นไปแล้วว่าการฝึกสติ หรือการมีสตินี้คือทางพ้นทุกข์ ถ้ายึดในสิ่งที่ถูกคงไม่มีปัญหา แต่มายึดในสิ่งที่ไม่ถูกเสียทีเดียว แถมยังยึดถือจนมั่นใจว่าใช่แน่ๆ จึงเกิดอัตตาขึ้นมา เริ่มจะมีความถือตัว ยกตนข่มท่าน ไม่ฟังธรรมอื่น ปิดประตูเข้าภพไปอย่างน่าเสียดาย และจะติดสุขในอารมณ์ของสมถะไปอีกนานแสนนาน

การมีสติแต่ไม่มีศีลและปัญญานี่มันจะมึนๆนะ พอเข้าเรื่องธรรมก็จะไม่รับ พอเข้าเรื่องศีลก็จะไม่รับ คือไม่รับทั้งปัญญาทั้งศีล ตีทิ้งหมด สรุปก็คือพอเห็นว่าการมีสติรู้ตัวคือทุกสิ่งทุกอย่างก็จะไม่รับสิ่งอื่น ทั้งที่ก็ยังไม่เข้าใจเรื่องสติแต่ก็ยึดมั่นถือมั่นไปแล้ว ถ้าเราเข้าใจเรื่องสติจริงๆ เราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นเรื่องสติเลย คนที่เข้าใจเรื่องอะไรจริงๆจะไม่มีอัตตาในเรื่องนั้น แต่คนที่ไม่เข้าใจจริงๆจะมีอัตตาเพราะความหลง

7). การแก้ปัญหากิเลสนอนก้น

การชำระกิเลส หรือทำลายกิเลสที่ปนเปื้อนอยู่ในจิตวิญญาณนั้น ไม่สามารถใช้สมถะในการทำลายได้ เพราะสมถะนั้นทำได้แค่เพียงกด ข่ม ดับ อย่างเก่งก็ดับไปโดยไม่รู้ตัว แต่ก็แค่ดับอาการปลายเหตุที่เกิดมาเท่านั้น กิเลสที่นอนก้นนั้นยังมีอยู่ ยังกองอยู่ แต่จะทำอย่างไรล่ะ?

อย่างแรกคือต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อนว่าเรากำลังปฏิบัติสมถะหรือวิปัสสนา อย่าให้ชื่อมาเป็นตัวทำให้เราสับสนเพราะบางทีเขาก็เรียกสมถะเป็นวิปัสสนา บางคนปฏิบัติสมถะแล้วเข้าใจว่าตนเองเป็นวิปัสสนาก็มี บางคนหลงเข้าใจไปอีกว่าบรรลุธรรมทั้งที่ทำแค่สมถะ มันต้องเข้าใจสิ่งที่กำลังทำให้ได้ก่อนแล้วจึงตั้งหลักใหม่

ไม่ใช่ปฏิบัติไปผิดทางแล้วหวังว่าจะมีแสงสว่างปลายทาง หากเราปฏิบัติไปอย่างมิจฉาทิฏฐิ ปลายทางเหล่านั้นมันก็เป็นทางตันเท่านั้นเอง สุดท้ายถึงจะเพียรพยายามแค่ไหนก็ไปได้แค่สุดทางตันแล้วก็ต้องเดินกลับมาอยู่ดี กว่าจะรู้ตัวก็เสียเวลาไปกี่ภพกี่ชาติก็ไม่รู้

มันไม่ได้อยู่ที่ปฏิบัติธรรมไปถึงขั้นไหน อย่างไร แต่มันอยู่ที่ปฏิบัติผิดหรือปฏิบัติถูก เพราะถ้าปฏิบัติผิดมันก็มีสภาพบรรลุธรรมผิดๆหลอกเราอยู่เหมือนกัน หน้าตาอาจจะดูดี ดูสงบ น่าเคารพ แต่กิเลสนอนก้นหนาเตอะก็มี คนที่ปฏิบัติแต่สมถะจะไม่สามารถตรวจใจได้ละเอียดนัก อย่างมากก็ไปติดที่อรูปภพ แม้จะละกามภพ คือไม่ไปเสพ ละรูปภพคือไม่คิดไม่ปรุงแต่ง แต่การละอรูปภพนั้นต่างออกไป ไม่สามารถทำลายกิเลสนี้ได้เพียงแค่กดข่มอย่างแน่นอน สุดท้ายก็จะค้างเติ่งอยู่ที่ฤๅษีนั่นแหละ รูปสวยแต่กิเลสหนา จะเอาไหมแบบนั้น?

ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรทำคือกลับมามองตัวเองตามความเป็นจริงเสียก่อน แล้วค่อยแสวงหาสัตบุรุษ ถ้าคิดว่าชีวิตนี้มันหายากหาเย็นหาไม่เจอก็ลองละเว้นความชั่วให้มาก ทำความดีเพิ่มขึ้น ทำจิตใจให้ผ่องใสอย่าไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดมากนัก สิ่งใดที่คิดแล้วเป็นอกุศลมากๆก็พยายามปล่อยวาง ละทิ้งหรือจะกดข่มไปก่อนก็ได้

วันหนึ่งเมื่อเจอกับสัตบุรุษ เจอครูบาอาจารย์ที่ถูกที่ควร เจอคนที่รู้ทางมีแผนที่ ค่อยขยับเดินหน้าเพียรปฏิบัติอย่างจริงจังก็ยังไม่สาย เพราะถึงจะช้า แต่ก็ยังดีกว่าเดินหลงทาง เพราะการเดินหลงทางนั้นหมายถึงต้องเสียเวลามากขึ้นไปอีก

– – – – – – – – – – – – – – –

5.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

โคลนก้นแก้ว

January 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,094 views 0

โคลนก้นแก้ว

โคลนก้นแก้ว

Introduction : บทบรรยายภาพ

มีแก้วใบหนึ่ง มันถูกวางไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ วางหงายอยู่แบบนั้น ฝนตกก็รับน้ำฝน มีโคลนกระเด็นใส่มาบ้างก็รับโคลน แต่โคลนนี่มันหนัก มันจึงตกไปอยู่ก้นแก้ว เมื่อสะสมโคลนมากเข้าก็ทำให้แก้วนั้นเก็บส่วนที่เป็นน้ำได้น้อยลง

และแม้ว่าน้ำจะแห้งไปแล้ว แต่โคลนก็ยังอยู่ รอวันที่ฝนตกอีกครั้งโคลนจึงจะละลาย แต่ถึงแม้จะละลายมันก็ยังอยู่ในแก้วอย่างนั้น คอยรับน้ำใหม่และโคลนใหม่ต่อไป ซึ่งก็เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ

บทที่ ๑ แก้วใบแรกกับหมูดำ

หมูดำมีชีวิตอยู่ในแก้วที่เต็มไปด้วยโคลน ยินดีกับการอยู่ในแก้วใบนั้น เวลาที่แก้วใบนั้นสั่นไหวเพราะอะไรบางอย่างมากระทบ โคลนก็จะกระจายตัวออก เกิดเป็นน้ำโคลนขุ่นๆ

หมูดำมักจะหงุดหงิดทุกครั้งที่โคลนขุ่น แต่ก็ยังใช้ชีวิตอยู่ในแก้วที่เต็มไปด้วยโคลนนั้น มันมองว่าโคลนเป็นเรื่องธรรมดาและเข้าใจว่าการที่โคลนขุ่นกระจายเมื่อมีอะไรมาทำให้แก้วขยับไปมาหรือสั่นไหวนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาที่โคลนจะขุ่นเช่นกัน

หมูดำจึงอยู่ในแก้วที่เต็มไปด้วยโคลนขุ่นเช่นนั้นต่อไป ยินดีรับสุขและทุกข์แบบนั้นต่อไปเพราะมันเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา

บทที่ ๒ แก้วใบที่สองกับหมูขาว

หมูขาวมีชีวิตอยู่ในแก้วที่เต็มไปด้วยโคลนเช่นกัน แต่กลับไม่ยินดีที่โคลนจะฟุ้งกระจาย มันจึงศึกษาหาวิธีที่จะทำให้โคลนไม่ฟุ้งกระจาย ซึ่งโคลนที่ฟุ้งกระจายเป็นเหตุให้มันต้องหงุดหงิดทุกครั้งที่เป็นแบบนั้น

หมูขาวมีวิธีมากมายที่จะทำให้โคลนหยุดฟุ้ง และสามารถทำให้โคลนตกตะกอนทุกครั้งที่มีอะไรมากระทบแก้วหรือทำให้แก้วสั่นไหวมันฝึกฝนที่จะอยู่ร่วมกับโคลนที่ฟุ้งเหล่านั้นโดยการพยายามควบคุมการฟุ้งกระจายของโคลนให้ได้ มันเก่งถึงขนาดที่ว่าหยุดการสั่นไหวของแก้วเพื่อไม่ให้โคลนฟุ้งเลยก็ได้

แน่นอนว่ามันสามารถทำได้จริง มันจึงมีความสุขอยู่ในแก้วที่มีน้ำใสแต่เต็มไปด้วยโคลนก้นแก้วได้ เพราะมันเข้าใจและยอมรับว่าการที่โคลนฟุ้งก็เป็นเรื่องธรรมดา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันจึงเรียนรู้วิธีการทำให้โคลนเหล่านั้นหยุดฟุ้งกระจายด้วยเหตุนี้เอง

แต่หมูขาวบางตัวกลับไม่ใช้วิธีเหล่านั้นในการหยุดโคลนที่ฟุ้ง มันเฝ้าดูการขยับตัวของโคลน จนกระทั่งฟุ้งกระจาย และสุดท้ายก็สงบลง หมูขาวพวกนี้มองว่าการฟุ้งของโคลนเป็นเรื่องธรรมดาเช่นกัน แต่ไม่จำเป็นต้องไปหยุดมัน เพียงแค่ดูแล้วรู้ตามความจริงว่ามัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป พวกมันก็จะรู้สึกเป็นสุขที่ได้รู้อยู่เช่นนี้ มองดูโคลนที่ฟุ้งและตกตะกอนเช่นนี้แล้วเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา

หมูขาวทั้งสองตัวเลยยินดีอยู่กับแก้วที่เต็มไปด้วยโคลนเช่นนี้ เพราะแม้ว่าจะเกิดการฟุ้งกระจายของโคลนแต่มันก็สามารถทำให้ตกตะกอนได้ หรือถึงจะทำไม่ได้ มันก็เพียงแค่ดูแล้วรู้ความเป็นไปของโคลนเหล่านั้น ไม่ไปหงุดหงิดกับโคลน มันจึงมีความสุขอยู่กับแก้วที่เต็มไปด้วยโคลนนอนก้น

บทที่ ๓ แก้วใบที่สามกับหมูเด็ก

หมูเด็กมีชีวิตอยู่ในแก้วใบที่สาม แก้วของมันมีโคลนเหมือนกับแก้วใบอื่น แต่มันไม่ยินดีในการอยู่ในแก้วที่เต็มไปด้วยโคลนนั้น

หมูเด็กเข้าใจว่าการที่โคลนฟุ้งนั้นเกิดเพราะมีโคลน ถ้าไม่มีโคลนถึงจะมีอะไรมาทำให้แก้วสั่นไหวสักเท่าไรโคลนก็จะไม่ฟุ้งกระจายให้ต้องหงุดหงิดใจ

หมูเด็กมีวิธีการจัดการกับโคลนให้ตกตะกอนเช่นเดียวกับหมูขาว แต่มันรู้ว่าวิธีเหล่านั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ต้นเหตุคือโคลนต่างหาก มันจึงศึกษาโคลน เหตุใดจึงมีโคลนเข้ามาในแก้ว แล้วจะกำจัดโคลนออกจากแก้วได้อย่างไร

เป็นคำถามที่แทบจะหาคำตอบไม่ได้เพราะไม่มีใครคิดจะเอาโคลนออกจากแก้วเลย หมูตัวอื่นต่างยินดีที่จะใช้ชีวิตอยู่ในแก้วที่เต็มไปด้วยโคลน

วันหนึ่งหมูเด็กได้เจอนกกระจอกที่บินผ่านมา นกกระจอกผู้เห็นโลกกว้างได้แนะนำเกี่ยวกับโคลน เหตุที่มาของโคลน การกำจัดโคลน และวิธีปฏิบัติสู่การกำจัดโคลนอย่างถูกวิธี และยังบอกอีกด้วยว่าถ้าหมูเด็กสามารถกำจัดโคลนได้หมดก็จะมีสิทธิ์ที่จะคว่ำแก้วใบนั้น ไม่ต้องรับทั้งน้ำและโคลนอีกต่อไป

หมูเด็กได้ฟังคำแนะนำและเห็นด้วยกับนกกระจอก เพราะรู้แน่ชัดในตัวเองแล้วว่าโคลนนี่แหละที่ทำให้ตัวเองหงุดหงิด ไม่มีความสุข จึงพากเพียรปฏิบัติตามคำแนะนำของนกกระจอกจนกระทั่งวันหนึ่งมันสามารถกำจัดโคลนเหล่านั้นได้จนหมดสิ้น

เมื่อไม่มีโคลนในแก้ว หมูเด็กก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ในแก้วได้อย่างมีความสุข ไม่มีทุกข์ใดๆเกิดขึ้นอีก แน่นอนว่ามันเองก็ไม่ได้ยึดติดความความสุขในแก้วนั้นจึงถอยออกมามองน้ำใสในแก้วอยู่ห่างๆ แม้ว่าจะมีสิ่งที่มากระทบให้แก้วสั่นไหว มันก็จะไม่ได้รับผลนั้นอีกต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

3.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ฉันผิดตรงไหน

January 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,299 views 0

ฉันผิดตรงไหน

ฉันผิดตรงไหน

…เมื่อความรักได้ผ่านพ้นไป ทิ้งไว้เพียงแค่คำถาม ที่ไม่รู้คำตอบ

ในบางครั้งเราอาจจะได้ยินเรื่องราวของความรักที่จบไปอย่างไม่มีเหตุผล บางคู่คบกันมาเนิ่นนานกลับต้องมาเลิกรากันด้วยเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง หรือกระทั่งบางคู่ที่ต้องเลิกกันโดยไม่รู้สาเหตุของปัญหาที่แท้จริง ทิ้งไว้เพียงความสงสัย มีแต่คำถามที่ไม่มีคำตอบ ท่ามกลางความเงียบงันนั้น เสียงในใจกลับดังก้องขึ้นมาว่า” ฉันผิดตรงไหน?

1). ผิดที่ใคร?

ท่ามกลางความสับสนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลายคู่ที่เลิกรากันโดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจรับไว้ เมื่อเกิดเหตุการณ์อันนี้พิศวงงงงวยเหล่านั้น จึงมักจะพยายามคิดหาคำตอบว่ามันเกิดจากอะไรด้วยเหตุผล ด้วยตรรกะ ด้วยข้อมูลที่รับรู้มา เป็นวิธีคิดที่ใช้กันโดยทั่วไป

และโดยทั่วไปคนเรามักจะไม่มองความจริงตามความเป็นจริง เมื่อใช้ความคิดที่ยังมีกิเลสปน แม้ว่าจะมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมก็จะไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้ ซึ่งจะเห็นเพียงความจริงตามที่กิเลสกำหนดให้เห็นเท่านั้น จึงกลายเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ใครผิด ใครเริ่มต้นก่อน ใครทำให้รักของเราต้องเปลี่ยนไป เป็นไปในทิศทางของกิเลสของเรา

เรามีกิเลสมาก ความจริงก็จะบิดเบี้ยวมากตามไปด้วย กิเลสยังสร้างความจริงลวงขึ้นมาเสริมจากเหตุการณ์จริงได้อีก เช่นคู่รักทำอย่างหนึ่ง แต่เราไปตีความว่าเขาทำอีกอย่างหนึ่ง แล้วปั้นจินตนาการต่อฟุ้งกระจายจนความลวงเป็นความจริงขึ้นมาได้ ปั้นจิตให้เป็นตัวเป็นตนขึ้นมาได้ เรียกว่า “มโนมยอัตตา” คือการปรุงแต่งจิตใจ สร้างภาพมายา ขึ้นเป็นตัวเป็นตนแล้วยึดว่าเป็นของจริง ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนสองคนคุยกันไม่รู้เรื่องเพราะเห็นความจริงไม่ตรงกัน

เมื่อมีความเห็นต่างเราก็มักจะเชื่อไปในทางที่เราคิด เราเห็น เราเข้าใจ เราเลือกเชื่อในสิ่งที่เห็นแต่มักจะมองไม่เห็นสิ่งที่เป็นจริงๆ เพราะแท้จริงแล้วมีพลังอำนาจบางอย่างที่อยู่เหนือกว่าสิ่งที่เห็นและเข้าใจนั่นคือกรรมและกิเลส

2). ผิดที่เขา?

ความผิดเกิดขึ้นจากคนอื่นอย่างชัดเจนก็อาจจะเข้าใจได้ไม่ยาก แต่หากความผิดพลาดนั้นเกิดจากความเข้าใจของเราที่มองเห็นว่าเขาทำผิดนั้นก็จะเป็นเรื่องที่ยาก

เพราะหากเราไปตัดสินว่าใครผิดใครถูกด้วยความเชื่อหรือความเห็นของเราที่ยังมีกิเลสหนาอยู่นั้น ผลของการตัดสินมันก็จะผิดตามไปด้วย ซึ่งโดยมากแล้วคนจะไม่ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำผิด ถึงจะยอมรับก็รับครึ่งเดียวแต่เวลาคนอื่นทำผิดก็เพิ่มโทษมากขึ้นกว่าความเป็นจริง มองว่าคนอื่นผิดเป็นหลัก ไม่มองพยายามมองหาสิ่งผิดในตนเอง ผลักภาระในกรรมนี้ให้คนอื่น ไม่ยอมรับกรรมนี้เป็นของตน

การมองว่าความผิดมาจากคนอื่นนั้นเป็นเพราะเรามีอัตตาและไม่เข้าใจในเรื่องกรรม ในส่วนของการมีอัตตาคือเรามักจะเชื่อว่าเราถูกเสมอ เราไม่เคยผิด คนอื่นผิด ถึงเราผิดเราก็ผิดไม่มาก คนอื่นผิดมากกว่า เราเป็นคนดี เราดีพร้อมทุกอย่างแล้ว ทำทุกอย่างดีแล้ว แต่เขาไม่ทำดีเหมือนเรา

อัตตา หรือความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตนเหล่านี้ คือการยึดศักดิ์ศรี ยึดความถูกต้อง ยึดความเป็นใหญ่มาเป็นตัวตนของเราด้วย เมื่อเรามีอัตตามาก เราก็จะเชื่อมั่นมาก แต่เป็นความเชื่อมั่นที่เคลือบด้วยกิเลส เป็นกิเลสแท้ๆ ยิ่งเชื่อก็ยิ่งผิด ยิ่งยึดก็ยิ่งบาป

เมื่อไหร่ที่เราเชื่อมั่นว่าเราถูกเขาผิดมากเข้า ก็จะทำให้ความเข้าใจในเรื่องกรรมผิดเพี้ยนไปด้วย อัตตานี้เองคือตัวบังทุกอย่างไว้ และโยนความผิดให้คนอื่น ตั้งตนเป็นผู้ถูกกระทำ เอาดีเข้าตน เอาชั่วใส่คนอื่นอย่างแนบเนียน

3). ผิดที่เรา?

คนที่สามารถก้าวข้ามอัตตาได้ก็จะมีโอกาสจะกลับมามองที่ตนเอง การที่เราไม่เพ่งโทษหรือไม่โยนความผิดให้คนอื่นนั้นเป็นสิ่งที่สมควรอยู่แล้ว

ทุกอย่างนั้นมีเหตุในการเกิดและปัญหาของคู่รัก ก็ต้องมีเราเป็นส่วนร่วมในเหตุนั้นด้วยเช่นกัน แต่จะเริ่มตั้งแต่ตอนไหนแล้วสิ่งใดเป็นปัจจัยให้เกิดก็อาจจะทราบได้ยาก เพราะบางครั้งเราอาจจะไม่มีโอกาสได้ปรับความเข้าใจ ได้แลกเปลี่ยน ได้ไขปัญหาต่างๆร่วมกัน

แม้ว่าเราเองจะยอมรับความผิดพลาดทั้งหมดกลับมาที่ตัวเรา มองตัวเราว่าเป็นคนผิด มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาโดยไม่โทษคนอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถหายคลางแคลงใจจากคำถามที่ว่า “ฉันผิดตรงไหน?”

แต่การยึดมั่นถือมั่นว่าเราผิดนั้นก็เป็นอัตตาอีกเช่นกัน แต่จะซับซ้อนกว่าในแบบโยนความผิดไปให้คนอื่นเขา ซึ่งคนที่ยึดมั่นถือมั่นว่าตนผิดและยินดีรับผิด ยอมอมทุกข์นั้นก็เหมือนคนที่ทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ยึดว่าฉันผิดจึงจะดี ยึดว่าฉันต้องรับทุกข์ทุกอย่างไว้เองจึงจะดี

การยอมรับว่าเราผิดนั้นไม่จำเป็นต้องยึดจนทรมานร่างกายและจิตใจของตัวเอง เพียงแค่ยอมรับให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงว่าเราผิดพลาดตรงไหน นิสัยใดบ้างที่ไม่ส่งผลดี สิ่งใดที่ทำลงไปแล้วเป็นโทษมากกว่าประโยชน์ ก็ยอมรับผิดไปตามจริง แต่ไม่จำเป็นต้องแบกทุกข์และความผิดนั้นไว้เป็นตัวเป็นตนของเรา

เพราะการทำผิดนั้นไม่ได้หมายความว่า ชีวิตที่เหลือต้องทุกข์ระทมขมขื่น แต่การทำผิดนั้นก็หมายถึงการทำผิดครั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องเอาความผิดในครั้งก่อนมากำหนดความผิดในครั้งต่อไป เพราะถ้าเรารู้สาเหตุจากความผิดพลาดจริงๆแล้วแก้ไขมันได้ ความผิดแบบเดิมก็จะไม่เกิดอีกในครั้งต่อไป

4). ผิดที่เราก็ได้นะ…

ในการยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างคู่รัก มักจะไม่ได้ชัดเจนและสามารถมองออกได้ง่ายว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เริ่มต้นจากตรงไหน ปัญหาสะสมมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และด้วยความเป็นคู่รัก จึงมักจะมีการแสดงออกที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากกว่าที่คนทั่วไปแสดงออก บางครั้งอาจจะเหมือนยอมรับแต่ในใจก็ไม่ยอมรับ บางครั้งเหมือนจะไม่ยอมรับแต่จริงๆก็ยอมรับแล้วแต่ไม่กล้าบอกเพราะกลัวจะเสียฟอร์ม

การยอมรับผิดโดยการประชดประชันนั้นเป็นความซับซ้อนของกิเลส เราแสดงออกว่าเรายอมรับผิดแต่ในใจเรากลับมองว่าคนอื่นผิด แต่เราเลือกที่จะไม่พูดไปเพราะเหตุปัจจัยต่างๆที่มีผลให้เราไม่ยอมแสดงออก การประชดแบบนี้จะทำให้ปัญหายุ่งยากซับซ้อนเข้าไปอีก

หรือหลายคนที่ใช้วิธีเงียบ ปกปิดความรู้สึก ทำเสมือนว่ายอมรับผิด นิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว แต่ถ้าในใจไม่ได้รู้สึกว่าความผิดพลาดเหล่านั้นเกิดจากตนเอง ยังคงเชื่อมั่นว่าตนถูกคนอื่นผิด ก็เหมือนการกดข่มปัญหาไว้ไม่ให้แสดงตัวออกมา ปล่อยให้มันสะสมรอวันระเบิดในโอกาสต่อไป

แต่ในบางครั้งที่ปัญหานั้นมีแนวโน้มที่จะลุกลาม การยอมรับผิด ยอมเป็นคนดีรับทุกอย่างไว้เอง เพื่อไม่ให้มีการกระทบกระทั่งหรือบาดหมางกันไปมากกว่านี้ก็เป็นเรื่องที่เป็นกุศลอยู่บ้าง แม้ในใจจะไม่ได้ยอมรับเสียทีเดียว แต่หากทำไปเพื่อไม่ให้เหตุการณ์นั้นลุกลามบานปลายสร้างปัญหามากกว่านี้ก็เป็นเรื่องที่สมควรจะยอม

5). ผิดที่กรรม?

กรรมคือสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอนและยุติธรรมที่สุดในโลก เราไม่มีวันที่จะได้รับสิ่งใด เหตุการณ์ใด ความรู้สึกใด โดยที่เราไม่ได้ทำสิ่งนั้นมา สิ่งที่เราได้รับไม่ว่าจะเป็นการถูกเข้าใจผิด การทอดทิ้ง การเลิกรา ล้วนเป็นสิ่งที่เราทำมาแล้วทั้งนั้น

เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลของกรรมของเรา ซึ่งผลของกรรมนี้เองเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะมาไม้ไหน เมื่อไหร่ สิ่งที่เจออาจจะเป็นสิ่งที่ทำในชาตินี้ก็ได้ ชาติก่อนก็ได้ หรือชาติก่อนๆย้อนหลังไปอีกสิบชาติ ร้อยชาติ พันชาติก็ได้ นั่นเพราะผลกรรมที่เราทำไว้ยังไม่ได้ถูกชดใช้จนหมด เราจึงต้องมาคอยชดใช้กรรมที่เราทำไว้นั่นเอง

หลายคนรู้นิยามของกรรม แต่ไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่ชัดเจน รู้ตามทฤษฏีว่าทุกอย่างที่ได้รับเราทำมา แต่เวลาเจอสิ่งที่ทำให้ไม่ถูกใจ ทำให้ไม่พอใจ ทำให้ขัดข้องใจหรือสงสัย ก็จะรู้สึกว่ากรรมไม่ยุติธรรม ฉันไม่ควรได้รับกรรมนี้ บ่นคนนู้นด่าคนนี้ มีแต่คนอื่นไม่ดีไปหมด ลืมมองกลับมาว่าทั้งนี่เป็นกรรมของเราเอง เราทำมาเอง ทั้งหมดเป็นผลงานของเราเองเรานี่แหละตัวแสบเลย ยิ่งได้รับกรรมที่ทำให้เจ็บปวดรวดร้าวมากเท่าไหร่ นั่นก็หมายถึงเราก็เคยทำสิ่งที่เลวร้ายมามากกว่านั้น เพราะเราจะได้รับเพียงส่วนหนึ่งที่เราทำ ไม่ใช่ทั้งหมดในทีเดียว

เช่นเดียวกับรักร้าวที่ไร้คำตอบ การเลิกราที่ไม่มีบทสรุป เราก็ทำมาเอง ในชาติใดชาติหนึ่งเราก็เคยไม่ถูกใจใครแล้วก็ทิ้งเขาเอาตัวรอดมาคนเดียวโดยไม่สนใจความรู้สึกของเขาเช่นกัน นั่นก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เราไม่สามารถหาคำตอบได้เลยว่าความรักที่จืดจาง หรือกระทั่งรักที่พังทลายลงไปนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร

กรรมจะดลให้เราได้รับทุกข์อย่างที่เราเคยทำมา ให้เราอยู่กับความขุ่นข้องหมองใจว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ให้เราสงสัยและทุกข์ไปเรื่อยๆ จมอยู่กับทุกข์จากความไม่ปล่อยวางในเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะเราไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน และเราเองก็ไม่มีปัญญาที่จะรู้คำตอบที่ชัดเจนนั้นด้วย

แต่เมื่อกรรมให้ผลจนหมด จะเหมือนฟ้าเปิด เหมือนเมฆฝนหายไป เราจะสามารถเข้าใจคำตอบของเรื่องราวต่างๆได้เองโดยที่ไม่ต้องมีใครบอก เข้าใจกรรมและผลของกรรมได้เอง ซึ่งอาจจะมีสิ่งกระตุ้นหรือไม่มีก็ได้เช่นกัน

ซึ่งการจะทำให้ผลกรรมหมดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเริ่มจากการยอมรับความผิดพลาดของตัวเองด้วยใจจริงเสียก่อน ยอมรับว่าตัวเราคือส่วนหนึ่งของปัญหา และพยายามแก้ไขสิ่งไม่ดีเหล่านั้นด้วยการทำดีให้มากเท่าที่จะทำได้ เมื่อกรรมชั่วนั้นส่งผลให้เราทุกข์ ให้เราโง่ ให้เราจมอยู่กับปัญหา กรรมดีก็จะส่งผลให้เราสุข ให้เรามีปัญญา ให้เราออกจากปัญหาได้เช่นกัน ดังนั้นการทำดีจะช่วยทำให้ปัญหาได้คลี่คลายเร็วขึ้น ได้คำตอบในชีวิตที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

คำตอบนั้นอาจจะไม่มีคำตอบใดๆเลยก็เป็นได้ อาจจะเป็นคำตอบสั้นๆง่ายๆว่า มันจบไปแล้วเราจะแบกไว้ทำไม ว่าแล้วจิตใจก็โปร่งโล่งสบายจากการไม่ต้องมานั่งรอคอยคำตอบที่ไม่มีวันจะได้รับ

แต่บางครั้งกรรมก็ซับซ้อนกว่าที่คิด คือสามารถทำให้เราหลงว่าบรรลุธรรมได้ หลงว่าหลุดพ้นได้ จะมีอาการเพี้ยนๆที่เป็นไปในทิศทางเพิ่มกิเลส แต่เจ้าตัวจะเข้าใจว่ามีความสุข เช่นมีความสุขกายสบายใจที่ได้โยนความผิดให้กับคนอื่นด้วยใจเป็นสุข …อาการจะขัดๆเพี้ยนๆแบบนี้ ปากก็บอกว่าเป็นสุข แต่การกระทำจะสร้างบาป มันขัดกันไปมา ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นไปเพื่อล้างกิเลส ในกรณีหมดกรรมชั่วจริงๆ คำตอบจะเป็นไปในทางกุศล เป็นไปในทางลดกิเลสอย่างเดียว

ผลของกรรมนั้นเป็นเรื่องอจินไตย เป็นเรื่องที่ไม่ควรคิดคำนวณ เราไม่สามารถรู้ได้ว่าสุดท้ายกรรมจะผ่านพ้นตอนไหน อย่างไร สิ่งที่เราทำได้เพียงแค่การทำดีให้มาก และการทำดีที่มีผลมากที่สุดก็คือการดับกิเลสซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งหมดนั้นเสีย

ถ้าเราชัดเจนเรื่องกรรม เราจะไม่กล่าวโทษหรือแม้แต่จะคิดโทษใครเลย จะไม่มีใครผิดเลยนอกจากเรา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเราทำมาเองทั้งนั้น เราจะยินดีรับกรรมนั้นใจที่เป็นสุข เข้าใจและยอมรับสิ่งที่ตัวเองทำมาด้วยความยินดี เพราะได้รับกรรมชั่วแล้ว กรรมนั้นก็หมดไป ชีวิตเราก็จะดีขึ้นเพราะใช้หนี้ไปอีกเรื่อง

6). ผิดที่กิเลส

ตัวการแห่งทุกข์ทั้งหมดก็คือกิเลส กิเลสไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ความอยากเหล่านั้นแท้จริงไม่ใช่ส่วนหนึ่งในชีวิตเรา แต่เพราะความโง่ ความไม่รู้ของเราจึงนำกิเลสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต รับกิเลสเข้ามาเป็นตัวเป็นตนของเรา แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าฉันคือกิเลส กิเลสคือฉัน เป็นเนื้อเดียวกันอย่างแยกไม่ออก

เมื่อเรามีกิเลส เราก็จะไปสร้างกรรมชั่วตามแต่กิเลสจะผลักดัน ยกตัวอย่างเช่น มีคนมาชอบเรา แต่เราไม่ชอบเขาเพราะเขาจนและหน้าตาไม่ดี นั่นคือเขาไม่สามารถผ่านมาตรฐานสนองกิเลสของเราได้ คู่ของเราต้องมีความสามารถในการสนองกิเลสของเรามากกว่านี้ นี่คือเรากำลังใช้กิเลสของเราในการวัดคุณค่าของคนแล้ว ซึ่งเมื่อเราทำกรรมเช่นนี้ การที่เราจะได้รับผลกรรมในแนวทางที่ว่า ถึงแม้เราจะดีแสนดีแต่เขาก็ไม่หันมาสนใจเราเลยก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

หรือ เราคบกันแฟนคนหนึ่ง ด้วยความที่เขามาจีบเรา เราก็ใช้โอกาสเอาแต่ใจ เรียกร้องสิ่งต่างๆ ซึ่งเรากำลังเพิ่มกิเลสของเราและกำลังทำให้คนอื่นทุกข์ นี่ก็เป็นกรรมชั่วที่เราทำเช่นกัน ซึ่งการที่เราจะได้รับผลกรรมในแนวทางที่ว่า ไม่ว่าเราจะสนองกิเลสของคู่รักเท่าไหร่ เขาก็ไม่เคยพอ แถมเอาแต่ใจมากขึ้นอีกด้วย ถ้าจะเกิดเรื่องแบบนี้ในชีวิต ก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

เพราะเรามีกิเลสเราจึงสร้างกรรมชั่ว และเรานั่นเองก็ต้องมาคอยรับผลกรรมชั่วที่เราทำไว้ คนที่มีความเห็นความเข้าใจว่าคนเราเกิดมาชาติเดียวใช้ชีวิตให้เต็มที่ ก็จะขยันสนองกิเลส เพิ่มกิเลส ขยันทำชั่ว แล้วก็จะได้มาซึ่งผลกรรมชั่ว ซึ่งจะกลายเป็นสมบัติติดตัวของเขาต่อไปทั้งในชาตินี้ ชาติหน้า และชาติอื่นๆต่อไป

คนที่ไม่ชัดเจนเรื่องกรรม ก็จะไม่รู้ในเรื่องกิเลส แม้จะเป็นทุกข์อยู่ก็จะไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นกิเลส ต้องจมอยู่กับความเศร้าหมองอยู่อย่างนั้น แม้จะมีคนมาบอกทางแต่ก็เหมือนมองไม่เห็น ได้ยินก็เหมือนไม่ได้ยิน กรรมมันส่งผลแบบนี้ มันบังตาแบบนี้ นี่คือผลกรรมชั่วจากการที่เรามีกิเลส มันบังได้แม้กระทั่งการเห็นทางพ้นทุกข์

ดังนั้นการที่เรามามัวถามคำถามว่าฉันผิดตรงไหน? เลิกกับฉันเพราะอะไร? เป็นการหาคำตอบที่ปลายเหตุ ถึงแม้ว่าเขาจะบอกแต่ก็อาจจะไม่ใช่ความจริง ถึงแม้จะเป็นความจริงก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเข้าใจตามที่เขาเข้าใจ กรรมจะบังให้ทุกอย่างคลาดเคลื่อน ให้เราทุกข์ ให้เราจมอยู่กับคำถาม ที่ไม่มีวันที่จะสามารถเข้าใจและยอมรับในคำตอบนั้นได้

เราจึงควรกลับมาที่เหตุของปัญหาทั้งหมด เหตุของกรรมชั่วที่ดลบันดาลให้เราต้องพบกับความทุกข์แสนสาหัส กรรมชั่วเหล่านั้นก็มาจากกิเลส ดังนั้นการจะพาตัวเองให้พ้นจากคำถามต่างๆ ให้พ้นจากกรรมชั่วเหล่านั้นคือการทำกรรมดีขึ้นมาใหม่ โดยการทำลายเหตุแห่งกรรมชั่วอันคือกิเลสให้สิ้นซาก

– – – – – – – – – – – – – – –

30.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เมื่อรักขม

January 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,746 views 0

เมื่อรักขม

เมื่อรักขม

…เมื่อความรักที่เคยหอมหวาน กลับกลายเป็นความทุกข์ระทมขมขื่น

จะมีสิ่งใดในโลกบ้าง ที่เที่ยงแท้ ไม่ผันแปร คงที่คงทนได้อยู่ตลอดกาล แม้แต่ความรักที่อ้างนักอ้างหนาว่ายิ่งใหญ่ มั่นคง บริสุทธิ์ก็ยังต้องเปลี่ยนแปลงไปในวันใดก็วันหนึ่ง แล้วเราจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้อย่างไร ลองมาศึกษาข้อคิดเห็น 9 ข้อดังต่อไปนี้กันเลย

1). แรกรักก็ว่าหวาน

คนเราเมื่อได้เสพสมใจตามกิเลสก็จะมีความสุข เมื่อคนที่เรารักสามารถปรนเปรอกิเลสของเราได้ จนอิ่มหนำสำราญ โลกของเราก็จะสวยงามเหมือนว่าเป็นสีชมพู อะไรๆก็สวยงามดูดีไปหมด เพราะเรากำลังอยู่ในสภาพแห่งความหลงสุข

จะมีใครบ้างที่ไม่ชอบให้คนมาตามใจ ดูแล เอาใจ ปรนนิบัติ รับใช้ ฯลฯ แต่จะมีใครบ้างที่จะเห็นเบื้องหลังของสิ่งที่เราได้มา ความสุขที่เราได้รับนี่มันไม่ใช่ของฟรีนะ ไม่ใช่ว่าบังเอิญได้มาฟรี แต่มันมีค่าใช้จ่ายของมันอยู่เหมือนกัน ซึ่งการได้มาหรือเสียไป ไม่ได้มาจากแค่เพียงสิ่งที่อยู่ในลักษณะที่เป็นรูปธรรมอย่างเงินทอง แต่อยู่ในลักษณะของนามธรรมคือกุศลและอกุศลด้วย

สิ่งที่ผลักดันให้เรารู้สึกสุขส่วนหนึ่งก็มาจากกุศลหรือความดีที่เราเคยทำไว้ตั้งแต่ชาติก่อนจนมาถึงชาตินี้เช่นเราดูแลคู่ครองดี เขาก็ดูแลเรากลับดี แต่ความสุขที่เกิดไม่ได้มาจากกุศลเพียงอย่างเดียว มันยังมาจากแรงแห่งบาปด้วย

บาปคืออะไร? บาปก็คือการสนองกิเลส การสะสมกิเลส เช่นเรารู้สึกว่ารักนั้นหวาน มีความสุขเพราะมีรัก เหตุนั้นเพราะคู่รักของเรา เอาใจ ตามใจเรา เราอยากได้อะไรเขาก็ให้ เราอยากกินอะไรก็ได้กิน นี่มันคือสุขจากการเสพกิเลส มันหลอกเราให้เรารู้สึกหวานแบบนี้

2). รสหวานที่ไร้ความหมาย

แต่เราได้เสพสุขไปนานๆแล้ว ความหวานมักจะลดลง เกิดจากเหตุสองส่วนนั่นคือ 1).เราชินชากับความหวาน 2). ความหวานนั้นลดลงจริงๆ

เมื่อเราได้เสพสุขจากสิ่งใดบ่อยๆแล้ว เราก็มักจะเกิดอาการชินชา ด้านชา เบื่อที่จะได้รับการเสพแบบเดิมๆ ถึงแม้คู่ครองจะบำรุงบำเรอกิเลสด้วยมาตรฐานเท่าเดิม แต่เราก็จะรู้สึกไม่อิ่มเหมือนเดิม ไม่สุขเหมือนเดิม ไม่หวานเหมือนเดิม เหมือนกับคนที่กินจนอ้วน ก็จะเพิ่มปริมาณอาหารต่อมื้อมากขึ้นเรื่อยๆ กิเลสก็เช่นกัน ถ้าเราเลี้ยงกิเลสให้อ้วน แล้วเราไม่สนองมันด้วยอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา ที่มากกว่าเดิมนั้น มันก็จะรู้สึกเบื่อ ชินชา เป็นทุกข์ อยากเสพมากขึ้น ความหวานเดิมๆจึงไร้ความหมาย

ในกรณีของความหวานที่ลดลงก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะแรกรักเราก็มักจะต้องทุ่มเทสนองกิเลสของอีกฝ่าย เพื่อที่จะใด้อีกฝ่ายมาสนองกิเลสให้กับตัวเรา ยอมพลีกายให้เรา ยอมบำเรอเราด้วยทรัพย์สินเงินทอง แต่พอเราได้เสพในสิ่งที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการสมสู่ การแต่งงาน การมีลูก การมีฐานะที่มั่นคง แรงผลักดันที่ทำให้เราไปสนองคู่ของเราหรือที่เรียกว่าความหวานนั้นก็จะลดลงเป็นธรรมดา เหมือนกับนักวิ่งเมื่อเขาเหล่านั้นถึงเป้าหมายที่หวังไว้เขาก็จะหยุดวิ่งเป็นธรรมดา

เช่นเดียวกันกับในเรื่องของคู่ ถ้าเขาได้รับการสนองกิเลสในสิ่งที่เขาต้องการจนเขามั่นใจแล้วว่า เขาจะได้สิ่งนั้นแน่นอน เขาก็จะลดความหวานลง ยกตัวอย่างเช่น ผู้ชายคนหนึ่งที่ต้องการมีแฟนเพื่อสนองความใคร่ เขาจึงใช้กำลังส่วนหนึ่งในการเฝ้ารอ ทุ่มเท เอาใจ ดูแล เอาใจใส่ สนองกิเลสของเธอผู้โชคร้ายคนนั้น จนกระทั่งวันหนึ่งได้กระตุ้นกิเลสของเธอจนพุ่งพล่านด้วยการพาไปดินเนอร์สุดหรู พร้อมคำหวานที่คัดสรรมาอย่างดี ตบท้ายด้วยแอลกอฮอล์ที่พาให้สติกระเจิดกระเจิง สุดท้ายเมื่อเธอเห็นว่าชายคนนี้ช่างเหมาะจะมาเป็นคนที่มาสนองกิเลสของเธอในอนาคตต่อไป เธอจึงยอมพลีกายให้เขา เมื่อเขาได้สมสู่จนมั่นใจว่าผู้หญิงคนนั้นไม่มีวันพรากไปจากเขา เขาจึงลดการบำเรอกิเลสเธอลง หันกลับมาใช้พลังงานเหล่านั้นสนองกิเลสของตัวเองแทน

3). น้ำพริกถ้วยเดิม

แม้ว่าทั้งคู่จะเป็นคนดีที่มีความเสมอต้นเสมอปลายต่อกัน แต่ในความจริงนั้นไม่มีสิ่งใดที่ตั้งอยู่ได้นาน ความรักก็เช่นกัน แม้จะไม่มีปัจจัยใดๆเข้ามาเป็นสิ่งกระทบ แต่ความหวานก็จะค่อยๆลดน้อยถอยลงตามกาลเวลา ตามความเคยชิน จากคนที่รักสุดรักในวันแต่งงาน ค่อยๆกลายเป็นเพื่อน กลายเป็นญาติ กลายเป็นคนรู้จัก จนกระทั่งอาจจะกลายเป็นคนที่ไม่อยากรู้จักกันเลย

นั่นเพราะความอยากเสพมันได้จางคลายลงไป ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของโลก ถึงแม้เราจะพยายามปรุงรสชาติให้ชีวิตรักมันสุดเผ็ดเด็ดสะท้านสักเท่าไร ความหวานเมื่อครั้งแต่งงานใหม่ๆก็ไม่มีวันที่จะกลับมา มันจะเปลี่ยนสภาพไป ค่อยๆจืดจาง และสลายหายไปในที่สุด

คู่รักที่คงสภาพคู่อยู่ได้ จึงมักจะมีความสัมพันธ์ในลักษณะของเพื่อนกันเสียมากกว่า เพราะถึงจะพยายามปรุงแต่งให้ดูเหมือนว่ารักกันเพียงใด แต่ในใจมันจะไม่สุขเหมือนก่อนแล้ว

4). เมื่อรักขม

หากเราสามารถยอมรับความเปลี่ยนแปลงของความรักที่เกิดขึ้นได้กันทั้งคู่ ก็คงจะไม่มีปัญหาอะไรในชีวิตคู่ เพราะต่างฝ่ายต่างยอมรับในความสุขที่จืดจางลง ลดน้อยลง ไม่ว่าจะในด้านรูปธรรม เช่น รูปร่าง หน้าตา ฐานะ สมรรถภาพทางเพศ หรือด้านนามธรรม เช่นความรู้สึกที่มันไม่อยากเสพเหมือนตอนสมัยแต่งงานหรือจีบกันใหม่ๆ

ความขมนั้นเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังติดรสหวาน และยอมรับไม่ได้กับรสชาติชีวิตรักที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อไม่ได้เสพสมใจตามความเคยชิน หรือไม่ได้เสพตามที่ต้องการมากขึ้นก็จะทำให้เกิดความรู้สึกทุกข์ การที่ทุกข์นั้นเกิดเพราะเรายึดติดในความหวาน ยึดมั่นถือมั่นว่าชีวิตรักจะต้องหวานดังใจเราตลอดไป

5). ทนทุกข์ระทมขมขื่น

เมื่อเราไม่ได้เสพอย่างที่กิเลสต้องการ ความทุกข์ก็จะเริ่มเกิดขึ้น เมื่อไม่สามารถระบายออกหรือหามาเสพเพิ่มได้ก็จะเริ่มอึดอัด กดดัน ทรมาน ยิ่งต้องอดทนเป็นแบกความทุกข์นั้นเป็นเวลานานก็ยิ่งทุกข์ระทมขมขื่น ความทุกข์เหล่านี้เป็นความทุกข์แบบโลกๆ เป็นแบบชาวบ้าน ไม่ใช่ทุกข์ที่ทำให้เห็นธรรมได้ชัดเจนเท่าไรนัก เพราะเป็นทุกข์จากความอยากเสพแล้วไม่สามารถหามาเสพได้

หากใครฝืนอดทนทุกข์แบบนี้เพราะหวังพบกับความสุขนั้นก็ต้องบอกเลยว่ายาก เพราะการทนทุกข์เพื่อบรรลุธรรมจะเป็นอีกอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ใจเราอยากสมสู่คู่ครอง แต่เราได้ศึกษามาแล้วว่าการเว้นจากการสมสู่ เป็นศีลที่เป็นบุญเป็นกุศลมาก แม้คู่ครองจะพร้อมสนองกิเลสของเรา แต่เราก็จะไม่ตามใจกิเลสของเรา ยอมทนทุกข์เพื่อเป็นบุญกุศล แบบนี้ต่างหากคือการเห็นทุกข์จึงเห็นธรรมที่แท้จริง คือการมีให้เสพแต่ไม่ไปเสพด้วยกำแพงศีลธรรม

แต่การทนทุกข์โดยที่ไม่เห็นกิเลส ไม่เข้าใจกิเลส ไม่เข้าใจว่าตัวเองทุกข์เพราะมีความอยาก เพราะตัวเองไม่ยอมรับความจริงว่าในปัจจุบันรักนั้นไม่ได้หวานเหมือนก่อนแล้วเราจึงทุกข์ พอไม่เห็นกิเลสแล้วเราก็มักจะไปโทษคู่ครองหรือคนอื่นว่าสนองกิเลสเราไม่ได้เหมือนเดิม ไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ตอนแต่งงาน ไม่มั่นคง ไม่เสมอต้นเสมอปลาย หลอกลวง ฯลฯ

ความทุกข์แบบนี้คือการสะสมกิเลสเข้าไปอีก เพิ่มโลภ โกรธ หลงเข้าไปอีก ห่างไกลธรรมยิ่งขึ้นอีก จึงทำให้จิตใจวนเวียนอยู่กับความทุกข์ระทมขมขื่น หาทางออกก็ไม่ได้ มองไปทางไหนก็มีแต่ทุกข์ เพราะเหตุแห่งทุกข์ไม่ดับ ทุกข์จึงเกิดอยู่นั่นเอง

6). หนีอะไรก็หนีได้ แต่หนีกรรมไม่พ้น

เมื่อต้องฝืนทนกล้ำกลืนกับชีวิตรักที่ขาดความหวาน โดยที่ไม่เข้าใจว่าทุกข์เหล่านั้นเกิดจากปริมาณความอยากของตัวเองที่เกินความเป็นจริง ก็จะแสวงหาทางที่ผิด นั่นคือการหนีออกจากคู่ครอง

การหนีหรือตีจากนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งวิธีเลิกกันตรงๆหรือวิธีกดดันให้อีกฝ่ายเลิก ต่างก็เป็นวิธีที่เห็นได้ทั่วไป แต่ไม่ว่าวิธีเหล่านั้นจะเป็นวิธีที่ทำให้การเลิกราเป็นไปด้วยดีหรือสวยหรูแค่ไหน ก็เป็นหนทางที่ไม่เป็นผลดีทั้งนั้น

เราเองเป็นคนต้อนรับเขาเข้ามาในชีวิตเอง วันนั้นเราก็ตัดสินใจเอง ไม่ว่าจะแฟนหรือสามีภรรยา เราดูแล เอาใจ บำรุงบำเรอกิเลสเขาเอง แต่พอมาวันนี้เขาเริ่มจะไม่หวานสมใจเรา เราขัดใจเรา ทำร้ายจิตใจเรา เราก็จะไล่เขาออกจากชีวิต มันแก้ปัญหาแบบนี้ไม่ได้นะ เพราะวิธีการแก้ปัญหาแบบนี้จะกลับกลายเป็นผลร้ายเพิ่มกรรมชั่วในชีวิตเข้าไปอีก

ผลกรรม อันคือความทุกข์ใจจากความไม่หวานสมดังใจนี่แหละคือสิ่งที่เราต้องรับ เพราะเราหลงไปรับเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเอง หลงไปรับเป็นแฟน หลงไปแต่งงานเอง ก็ต้องรับกรรมในส่วนนี้ทั้งหมด จะหนีไม่ได้ กล้าทำก็ต้องกล้ารับ ความสุขความทุกข์หากยังยินดีกับทางโลกอยู่ก็ต้องรับมันอย่างนี้เรื่อยไป

ทีนี้พอเราจะไปทิ้งเขา มันก็สร้างกรรมใหม่ให้เราอีกคือ “เราทิ้งเขา” ซึ่งอาจจะส่งผลให้ในวันใดวันหนึ่งหรือชาติใดชาติหนึ่งในอนาคตข้างหน้า เราอาจจะต้องถูกทิ้งทั้งที่ยังรักยังหวงแหนอยู่ก็เป็นได้ ซึ่งในมุมนี้หลายคนก็คงเคยเจอว่าทำไม ฉันเองก็ดีแสนดี แต่เขายังมาทิ้งฉันได้ลงคอ กรรมมันจะเป็นในลักษณะนี้ มันจะมากระแทกให้เห็นถึงสิ่งที่เราเคยไปทำเลวร้ายมา ซึ่งจะเหมือนกับที่ทำก็ได้ จะต่างไปจากที่ทำก็ได้แล้วแต่เหตุปัจจัยที่เหมาะที่ควร

ดังนั้นเราก็ควรจะก้มหน้ารับกรรมที่เราก่อไว้ต่อไป อย่าไปเพิ่มกรรมชั่วขึ้นมาใหม่ เพราะของเก่าที่ทำไว้ก็ทำให้ทุกข์ระทมขมขื่นสุดจะทนอยู่แล้ว แต่นั่นแหละคือผลกรรมแห่งความอยากมีคู่ครอง เป็นกรรมที่ทำในชาตินี้และได้ผลในชาตินี้ เร็วทันใจไม่ต้องรอชาติหน้า

7). ขยาดยาขม

ถึงแม้ว่าหลายคนอาจจะตัดสินใจเลิกรา หรือมีโอกาสให้เลิกราด้วยเหตุอันควร เช่นคู่ครองไปคบชู้ ไม่ซื่อสัตย์ หรือกระทำเหตุที่ผิดศีลธรรมในครอบครัว ก็เป็นโอกาสที่เราจะสามารถเลิกราได้โดยไม่เกิดกรรมชั่วแต่อย่างใด ซึ่งโดยรวมจะเป็นผลดีเสียมากกว่า

กล่าวคือหากคู่ครองผิดศีล คนผิดศีลก็เป็นคนไม่ดี โดยเฉพาะศีลข้อสาม ในฐานของคนทั่วไปรับรู้กันดีว่าถ้าต่ำกว่าศีล ๕ ระดับนี้ก็ถือว่าเป็นคนไม่เต็มคน หรือเรียกได้ว่าตกต่ำไปถึงภูมิของเดรัจฉาน เพราะโดยสามัญสำนึกแล้วคนเราไม่ควรจะต่ำกว่าศีล ๕ จึงจะสามารถดำรงชีวิตได้เป็นสุข ในกรณีที่ผิดศีลข้อ ๓ นั้นจะค่อนข้างเป็นกรรมที่รุนแรงเพราะทำร้ายใจคู่ครอง ทำลายความสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจ ทำให้คู่ครองเกิดทุกข์มาก ดังนั้นจึงเป็นคนชั่ว

เมื่อเป็นคนชั่วเราก็ไม่ควรให้เขามาใกล้เรามาก ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในมงคล ๓๘ ในข้อแรกว่าด้วยการไม่คบคนพาล เมื่อเราพบว่าคู่ครองของเราเป็นคนพาล เราจึงมีสิทธิ์ที่จะเลิกราอย่างถูกต้องได้ทั้งทางโลกและทางธรรม

แต่ไม่ว่าเราจะเลิกรากับคนรักด้วยสาเหตุที่ว่าเขาไม่หวานเหมือนก่อนหรือเขาทำผิดต่อความรักก็ตามแต่ เราอาจจะมีอาการขยาดความรักติดมาด้วย เราจะมองความรักในมุมติดลบ ระวังตัว ขลาดกลัว ระแวง ซึ่งเป็นลักษณะของอาการผลักไสความรัก เป็นความยึดมั่นถือมั่นในอีกมุมหนึ่ง

ซึ่งความขยาดนี้เองก็ยังไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ เพราะแท้จริงแล้วเราไม่ได้เกลียดความรัก แต่เราเกลียดที่ความรักไม่เป็นดังใจเราหมาย เมื่อเราไปขยาดความรักแล้วเข้าใจว่าตนเองไม่อยากมีรักเพราะรักทำให้เป็นทุกข์เพราะไม่ได้เสพสมใจจึงเป็นความเข้าใจที่ยังผิดเพี้ยนอยู่

เพราะความเข้าใจนี้เอง ยังไม่ได้ล้างกิเลสในฝั่งของการดูด หรือความสุขจากความรัก แต่เอาการเกลียดความรักหรือเอาอัตตามากลบไว้ ลักษณะจะเหมือนคนไม่ต้องการความรัก เหมือนไม่สนใจ เหมือนไม่แคร์ แต่แท้ที่จริงมันอยากอยู่ในใจลึกๆ แล้วมันจะทรมานเพราะความอยากนี่แหละ

แถมความขยาดนี่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่พลาดไปมีรักอีกครั้งนะ แต่คนที่ขยาดจะตั้งสเปคไว้สูงขึ้น เช่นคบกับคนเก่าทั้งจนและขี้เกียจเลยเลิกกัน สุดท้ายก็ตั้งเป้าว่าคนใหม่จะต้องรวยและขยัน เป้าใหม่นี่มันกิเลสเพิ่มขึ้นมานะ กับคนแรกเราไม่อยากเสพเขาขนาดนี้ แต่กับคนใหม่นี่เราอยากเสพทั้งลาภและยศของเขาด้วย พอกิเลสมันเพิ่มทุกข์มันก็จะเพิ่ม มันอันตรายตรงนี้นี่แหละ

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งเช่น แฟนเก่ามีนิสัยเจ้าชู้ไม่เอาใจ จึงทำให้เข็ดขยาดในการมีรัก ตั้งกำแพงขวางกั้นไว้ไม่ให้คนเข้ามารัก วันหนึ่งมีพระเอกขี่ม้าขาว เต็มไปด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ ทั้งรวย ทั้งหล่อ ทั้งเอาใจเก่ง เรื่องทางลบก็ไม่มี ด้วยคุณสมบัติเหล่านั้นจึงผ่านกำแพงที่ตั้งไว้ได้อย่างง่ายดาย เหมือนพระเอกขี่ม้าขาวที่กางปีกบินข้ามกำแพงเข้ามาในใจแบบงงๆ ไม่รู้เหมือนกันว่าจริงๆแล้วเขาข้ามมาหรือเรายกกำแพงออกให้เขาเข้ามา แต่สุดท้ายก็มักจะเจอหนักกว่าเดิมเพราะหนีกรรมเก่ามา เจอคนใหม่ก็มักร้ายกว่าเก่า ซ้ำร้ายยังอาจจะเจอตอนที่อยู่ในสภาพที่แต่งงานมีลูกแล้ว พระเอกค่อยๆเปลี่ยนร่างเป็นผู้ร้าย เจ้าชู้ เอาแต่ใจ โมโหร้าย และอีกมากมายแล้วแต่กรรมของเราจะบันดาล

8). หวานเป็นลม ขมเป็นยา

สิ่งที่เราควรจะทำเมื่อรักที่หวานเปลี่ยนเป็นขมนั้นไม่ใช่การจมอยู่กับความทุกข์ แต่เป็นการเพ่งมองไปที่ทุกข์ เพื่อหาเหตุแห่งทุกข์ หาหนทางดับทุกข์ ด้วยวิถีทางแห่งการดับทุกข์

เพราะแท้จริงแล้วความขมหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่งของกรรมที่เราทำมาไม่ว่าจะเป็นกรรมที่เกิดจากกิเลสในชาตินี้หรือชาติก่อนๆ คู่ครองของเราคือคนที่มีหนี้บาปหนี้บุญกันมา คือคนที่จะต้องมาชดใช้กรรม การตัดสินใจเลิกราเขาโดยไม่มีเหตุร้ายแรงนั้นไม่ใช่การหนีกรรมที่ถูกที่ควรแต่การจะพ้นจากกรรมที่เป็นหนี้กันอยู่ก็คือการทำดีต่อกันให้มาก

เพราะเราเป็นหนี้เขา เราจึงต้องจ่ายหนี้ แต่หนี้ตรงนี้ไม่ใช่ตัวเงินแต่เป็นกุศล ซึ่งเป็นนามธรรม ส่วนเราจะทำสิ่งใดที่เป็นรูปธรรมเพื่อการใช้หนี้ก็ได้ เช่น การดูแลเอาใจใส่เขา หรือดูแลทุกคนที่มีส่วนในทุกข์ของเรา ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ การพาเขาศึกษาธรรม การพาเขาทำดี ไม่พากันสนองกิเลส พากันลดกิเลส จนถึงขั้นพากันล้างกิเลสเลยก็ยิ่งดี

กรรมชั่วทั้งหมดที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นเพราะกิเลสของเรา หากเราล้างกิเลสได้ก็จะเป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นความดีที่ดีที่สุด เพราะการล้างกิเลสนั้นหมายถึงการตัดภพ ตัดชาติของความอยากที่จะเกิดอีกต่อไปในอนาคต เช่นเราทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ มากินมังสวิรัติ เราก็จะไม่ชวนเขาไปกินเนื้อย่าง ไปแสวงหาเมนูเนื้อสัตว์ที่อร่อย นั่นหมายถึงเราไม่พาเขาสะสมกิเลสเพิ่ม ซึ่งหากเราทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ลดขนม ลดกาแฟ ลดการแต่งตัว ลดการแต่งหน้า ลดการท่องเที่ยว ลดการสะสม ฯลฯ เราก็จะพ้นจากกรรมกิเลสไปเรื่อยๆ

เมื่อเราทำดีไปเรื่อยๆ และจนกระทั่งกรรมชั่วในเรื่องนั้นๆ ได้ถูกใช้จนหมด เมื่อกุศลมากกว่าอกุศล ก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เราหลุดจากความทุกข์ระทมขมขื่นนั้นได้ เช่น คู่ครองเป็นคนดีขึ้น ,คู่ครองตายจากไป ,คู่ครองหนีไปมีคนใหม่ หรือเหตุการณ์ใดๆก็ตามที่ทำให้เราไม่ต้องทนทุกข์อยู่เช่นเคย

การล้างกิเลสที่ดีที่สุดนั้นก็คือการล้างความยึดมั่นถือมั่นในความรัก ในความคาดหวังว่ารักจะต้องหอมหวานสวยงามตลอดไปซึ่งเป็นเหตุหนึ่งของความทุกข์ที่เกิดขึ้นเมื่อรักนั้นเปลี่ยนแปลง หากเราสามารถเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส คือใช้โอกาสแห่งทุกข์นี้พิจารณาความยึดมั่นถือมั่นของเราจนกระทั่งทำลายกิเลสเหล่านั้นได้ ก็จะไม่เกิดทุกข์อีก แต่จะยังคงเหลือทุกข์ที่ยังต้องแบกภาระไว้ เช่นดูแลคู่ครอง ดูแลพ่อแม่ของคู่ครอง ดูแลลูก ซึ่งกรรมเหล่านี้ก็เป็นผลจากกิเลสที่เรายังต้องแบกรับไว้เช่นกัน

9). ไม่ติดหวานก็ไม่ต้องขม

ความสุขความทุกข์ในความรักนั้นก็เป็นสิ่งที่วนเวียนเกิดขึ้นสลับกันไปมา ตราบใดที่เรายังคงหลงอยู่ในโลกธรรม หลงสุขอยู่ในโลกดังที่เห็นและเป็นอยู่ เราจะต้องพบกับความหวานและความขม สลับสับเปลี่ยนวนไปมาไม่รู้จบ

หากเรายังมีความต้องการความหวาน ยังติดหวาน หรือยังต้องการความรัก เราก็จะแสวงหาความรักของเราต่อไปเรื่อยๆ แม้ไม่ได้เสพสมใจก็จะหาต่อไป แม้ว่าจะแก่และตายไปก็จะสร้างร่างใหม่ขึ้นมาเพื่อหาความรักมาเสพอยู่เหมือนเดิม เพราะเราหลงติดสุขอยู่ในความหวานเหล่านั้น เราจึงต้องเกิดมาเสพความหวานนั้นอย่างไม่มีวันจบสิ้น

ซึ่งดังที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าความหวานนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวที่เราจะได้รับ เราต้องได้รับรักที่ขมขื่นด้วย เรื่องโลกมันก็เป็นแบบนี้ กรรมมันก็ส่งผลให้สุขให้ทุกข์อยู่แบบนี้ หากเราไม่หลงติดสุขอยู่ในรสสุขลวงเหล่านั้นเราก็ไม่ต้องรับทุกข์ที่จะเกิดขึ้น

เพราะไม่ติดรสสุขในกิเลส ก็เลยเห็นแต่ทุกข์เมื่อความหวานไม่มีค่าให้หลงอีกต่อไป ไม่มีรสอะไรอีกต่อไป สิ่งที่เหลือคือทุกข์อย่างเดียว ทุกข์จริงๆไม่มีสุขปนเลย “พอล้างกิเลสได้จริงจะเห็นความจริงตามความเป็นจริง” ว่าการครองคู่นั้นไม่มีสุขใดๆอยู่เลย แต่ถ้าเรายังมีกิเลสอยู่ก็จะเห็นสุขลวงนั้นเป็นสุขจริง จึงเผลอลำเอียงเข้าข้างกิเลสไป หลงไปตามที่กิเลสล่อ มองไม่เห็นความจริงตามความเป็นจริง

เราไม่รับทั้งหวานและขม ไม่เอาทั้งสุขและทุกข์ ด้วยภาษานั้นเราอาจจะเข้าใจว่ามันไม่สุข แต่เมื่อเราไม่ติดกับโลกธรรม ไม่ติดอยู่ในสุขและทุกข์ เราจะได้สุขที่เหนือกว่า สุขกว่า สุขตลอดเวลา สุขเรียบๆ สุขเบาๆ สุขสบายๆ สุขจากการไม่เสพ เพราะเห็นทุกข์ โทษ ภัยผลเสียที่เกิดขึ้นจากกรรมและเห็นผลของกรรมอย่างชัดแจ้ง จึงรู้ชัดเจนในใจว่า ไม่เสพนี่แหละสุขที่สุดแล้ว

แต่สุขจากการไม่เสพการครองคู่นั้นทำได้ยากยิ่ง เป็นความพยายามที่ทวนกระแสโลกอย่างรุนแรง ในขณะที่คนพากันมีความรัก มีหนังรัก มีเพลงรัก มีภาพคู่รัก มีงานแต่งงาน และสารพัดข้อดีของการมีคู่รักตลอดจนการมีครอบครัว มีช้อมูลมากมายประดังเข้ามาเสริมพลังกิเลสของเราอยู่เสมอ

เราจะทนได้อย่างไร เราจะผ่านมันได้อย่างไร เราจะมีพลังพิจารณาโทษของมันได้อย่างไร ในเมื่อรสหวานแห่งความรักนั้นยากจะต้านทาน มีผู้คนมากมายใฝ่ฝันและหลงกันไปเป็นเรื่องปกติ เราจะสามารถเป็นปลาที่ว่ายน้ำทวนกระแสแห่งกิเลสที่รุนแรงแบบนี้ไหวไหม หรือเราจะยอมลอยตามกิเลสไปอีกครั้งหนึ่ง

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “คนจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร” ความเพียรนี้เองคือคุณสมบัติที่จะพาเราว่ายทวนกระแสของกิเลสไปได้ เพียรลดกิเลส ลดความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องรัก ในเรื่องคู่ครอง พิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงว่าทั้งหมดที่เราหลงนั้นมีทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียอย่างไร การออกจากสิ่งเหล่านั้นจะมีประโยชน์อย่างไร เพียรพิจารณาเช่นนี้ซ้ำไปซ้ำมา วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า ด้วยความเพียรลดกิเลสอย่างไม่ลดละนี้เอง ที่จะพาเราข้ามกิเลสนี้ไปได้

– – – – – – – – – – – – – – –

28.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์