ข้อคิด

รักข้างเดียว กับการเรียนรู้ความผิดหวังที่จะนำไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืน

July 14, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,532 views 1

รักข้างเดียว กับการเรียนรู้ความผิดหวังที่จะนำไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืน

รักข้างเดียว กับการเรียนรู้ความผิดหวังที่จะนำไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืน

ความรักข้างเดียว คือความอยากเสพที่ไม่มีวันสมหวัง เหมือนการเดินทางที่ไม่มีเป้าหมาย ยิ่งเดินก็ยิ่งไกล พยายามเข้าใกล้ก็ยิ่งห่างออกไป กับความหวังที่ค่อยๆ เลือนราง จางหาย และสลายไป

แต่หลังจากที่ความหวังเดิมถูกทำลายไปด้วยความจริงจนหมดสิ้น ความหวังใหม่ก็มักจะเริ่มต้นอีกครั้งกับใครอีกคนหนึ่ง เป็นวงจร เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป วนเวียนไปอย่างไม่จบสิ้น ดับแล้วก็เกิดใหม่ เกิดแล้วก็ดับ แล้วเราจะสามารถหลุดจากวงจรแห่งทุกข์นี้ได้อย่างไร ต้องได้รับรักดังใจหวังอย่างนั้นหรือจึงจะเรียกว่าพ้นทุกข์ หรือมีทางอื่นที่ดีกว่านั้น?

รักข้างเดียว คือสภาพที่มีแต่ผู้เสนอ แต่ไม่มีผู้สนอง มีแต่ผู้หยิบยื่นให้ แต่ผู้รับไม่ยินดีรับ เพราะสิ่งที่ให้นั้นอาจจะไม่ดีพอ ไม่มากพอ ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้ตามที่หวัง ไม่เป็นไปตามศีลธรรม แม้ผู้เสนอจะเป็นคนที่ดีแสนดี คิดดี พูดดี ทำดี แต่ถ้าไม่มีปัจจัยที่ผู้รับต้องการก็จะยังเป็นรักข้างเดียวไปตลอดกาล

เพราะการรับรักนั้นมีปัจจัยหลากหลายขึ้นอยู่กับผู้รับว่าต้องการอะไร นั่นหมายถึงเขามีความอยากอะไร เขาอยากได้อยากเสพอะไร เรามีพอบำเรอกิเลสของเขาหรือไม่ เราจะต้องพยายามอีกแค่ไหนที่จะแสดงตัวว่าสามารถสนองกิเลสเขาได้ เราต้องมีหน้าตารูปร่างที่งามแค่ไหนที่พอจะกระตุ้นกิเลสให้เขาหันมาอยากได้อยากเสพเรา เราต้องขยันทำงานสร้างตัวเองให้พัฒนาอีกเท่าไหร่ถึงจะมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุขไปพอบำเรอกิเลสของเขา จนเขายอมรับการสนองกิเลสจากเรา แล้วเราต้องทำอีกเท่าไหร่กว่าจะถมห้วงเหวแห่งความอยากนี้จนเต็ม

แม้จะประสบความสำเร็จในการล่อลวงให้เขาเห็นค่าของเรา จนเขาหันมาคบหาเรา เป็นเพื่อน เป็นแฟน เป็นสามีภรรยา แล้วมันเป็นยังไง? เขาจะอยู่กับเราตลอดไปไหม? เราจะยังคงต้องพยายามทำอย่างเดิมไปอีกใช่ไหม? ต้องเอาใจมากกว่าเดิม ต้องบำเรอมากกว่าเดิม ต้องระวังมากกว่าเดิม ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการคอยบำเรอกิเลสเขาเพียงเพื่อจะได้เสพสมใจในรสสุขบางอย่างที่ได้จากเขา

เราต้องคอยเป็นทาสสนองกิเลสเขาไปอีกนานเท่าไหร่ ต้องทำต่อไปแบบนี้อีกกี่ชาติ เขาไม่รับรักก็เป็นทุกข์ แม้เขาจะรับรักก็ใช่ว่าจะเป็นสุขเพียงอย่างเดียว เพราะยังมีวิบากกรรมและทุกข์ซ้อนเข้าไปในความสุขที่แสนหลอกลวงนั้นด้วย ทำไมเราจึงเฝ้าพยายามเติมเต็มสิ่งที่ไม่มีวันเต็ม กิเลสเป็นสิ่งที่เติมเท่าไหร่ก็ไม่มีวันพอ ไม่มีวันเต็ม ไม่มีวันที่จะสาสมใจ ต้องการไปเรื่อยๆ อยากไปเรื่อยๆ ทำไมเราจึงขยันทำในสิ่งที่ไม่มีคุณค่าและสร้างทุกข์ให้กับตนเองอยู่ เพียงเพื่ออยากได้ใครสักคนเข้ามาอยู่ข้างกาย

แม้จะดูเหมือนว่าเราต้องคอยบำเรอกิเลสเขาจนกว่าเขาจะรับรัก ดูเหมือนเขาเป็นผู้ร้าย ดูเหมือนเขาเป็นคนกิเลสหนา แต่ถ้ามองให้ชัด เรานี่เองที่เป็น “ทาสกิเลส” เราโดนกิเลสตัวเองหลอกให้ไปเบียดเบียนผู้อื่น ให้ไปทำทุกข์ทำชั่ว ไปยุ่งวุ่นวายกับชีวิตของผู้อื่นเพียงเพื่อจะได้นำเขามาเสพสมตามใจตนเอง

ผู้ร้ายตัวจริงของความผิดหวังช้ำรักไม่สมหวังก็คือตัวเราเอง ไม่ใช่ใครอื่น ต้นเหตุแห่งทุกข์คือความอยากได้อยากเสพของเราเอง เป็นกิเลสของเราเอง เรามัวแต่ไปหาสิ่งนอกกายมาบำเรอกิเลสตน ใช้ผู้อื่นเป็นเครื่องมือในการสนองความใคร่อยากของตน โดยเอาปัจจัยที่เรามีไปล่อลวงเขา ให้เขาหลง ให้เขาอยากเสพเรา เพื่อที่เราจะได้เสพสุขจากเขาอีกที เป็นความเห็นแก่ตัวที่แนบเนียนที่สุด เพราะมาในคราบของคนรักที่แสนดี คนที่เสียสละ คนที่ยอมเสมอเพียงเพื่อให้ได้รับความรัก

ความอยากของเราทำให้เราเห็นแก่ตัว ทำให้เราทำทุกอย่างเพื่อที่จะให้คนอื่นเห็นคุณค่า โดยไม่รู้เลยว่าสิ่งเหล่านั้นจะไปเพิ่มกิเลส สร้างทุกข์ให้กับเขาหรือไม่ แม้ความรักจะเป็นความสุขตามที่หลายคนเข้าใจ แต่มันก็เป็นเพียงรักที่เห็นแก่ตัว เป็นเหมือนยาพิษที่เคลือบไว้ด้วยน้ำตาล แม้จะหวานในตอนแรกแต่สุดท้ายก็ต้องทุกข์กันทุกรายไป

ความรักข้างเดียวนั้นดีแล้ว ดีกว่าที่เขาจะยอมมาคู่กับเราเพราะเราบำเรอกิเลสเขาได้ หรือเพราะเราสร้างความอบอุ่นมั่นใจให้เข้าได้ หรือด้วยเหตุผลที่แสนดีต่างๆนาๆที่ทำให้เขายอมหันมาคบเรา เพราะสิ่งเหล่านั้นทำให้เขาหลง ทำให้เขาเสียเวลา แทนที่เขาจะได้ใช้เวลาไปกับสิ่งที่เป็นกุศล แต่กลับต้องมาเมามายในสุขลวงกับคนกิเลสหนาอย่างเรา

ต้องขอบคุณเขาเสียด้วยซ้ำที่เขาขัดใจเรา ไม่ยอมตามใจเรา ให้เราได้เรียนรู้ความผิดหวังจากความอยากของเรา เพราะถ้าเราสมหวังไปเรื่อยๆ เราก็จะเป็นคนที่หลงมัวเมา หลงติดหลงยึดในสุขลวง สร้างทุกข์ให้ตนเองและผู้อื่นอย่างไม่จบไม่สิ้น คนที่เข้ามาขัดใจเรา สร้างกำแพงแห่งความสิ้นหวังให้เรา คือผู้ที่จะมาเปิดตาเราให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ส่วนเราจะยอมเห็นความจริงนั้นหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเรา หากกิเลสของเราหนาเราก็จะแสวงหาช่องทางที่จะได้เสพผู้อื่นต่อไป แต่หากเรามีปัญญาก็จะหยุดคิดว่าเราควรจะทำสิ่งใดต่อไป จะหาทางสนองกิเลสจนใครสักคนจนกระทั่งเขายอม หรือจะทำลายกิเลสในตนเองให้ไม่ต้องไปเบียดเบียนผู้อื่น

ความสุขจากการได้เสพกับความสุขที่ไม่จำเป็นต้องเสพนั้นต่างกันคนละโลก จินตนาการเอาไม่ได้ ให้คิดอย่างไรก็คิดไม่ออก เดาไม่ได้เลย คนทั่วไปก็เข้าใจว่าจะมีความสุขก็ต้องได้เสพสิ่งนั้น ต้องสมหวัง เขาต้องรับรัก ต้องได้เป็นคู่กัน แต่ความสุขเหล่านั้นเป็นเพียงของลวง ไม่ยั่งยืน จางหาย เปลี่ยนแปลงได้ จึงไม่ใช่แก่นสารสาระที่ควรยึดไว้

ส่วนความสุขที่ไม่ต้องเสพนั้นเกิดจากการทำลายความอยากในจิตวิญญาณจนสิ้นเกลี้ยง เกิดเป็นความสุข สงบจากกิเลส ไม่ต้องดิ้นรน ไม่ต้องไขว่คว้า ไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องทุกข์เมื่อไม่ได้มา เป็นสุขที่เกิดเพราะไม่ต้องมีทุกข์จากความอยากมากัดกร่อนใจ

ดังนั้น รักข้างเดียวจึงไม่ใช่เรื่องที่แย่เลย แต่เป็นประตูสู่การเรียนรู้ให้เห็นทุกข์จากความอยากของตัวเอง เป็นก้าวแรกสู่การพ้นทุกข์

ดีแล้วที่เรารักข้างเดียว ไม่ต้องชวนใครเข้ามาทำบาป ไม่ต้องดึงใครเข้ามาร่วมวงกิเลสเป็นบ่วงเวรบ่วงกรรมของกันและกัน ไม่ต้องสร้างความลำบากให้ใครมากกว่านี้ ไม่ต้องเบียดเบียนผู้อื่นด้วยความรักและความหวังดี ไม่ต้องให้เขามาทุกข์ทนเพราะความอยากที่แสนจะเห็นแก่ตัวของเรา ไม่ต้องให้เขามาหลงในคำลวงที่เราถูกลวงจากกิเลสมาอีกที

ดีแล้วที่เขาไม่รับรักเรา ดีแล้วที่ไม่ต้องผูกพันกันมากกว่านี้ ดีแล้วที่เป็นแค่เพื่อนกัน. . . ดีแล้วที่เราไม่ต้องคบกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

14.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

July 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 13,880 views 11

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

มังสวิรัติกับพระพุทธศาสนานั้นเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานานแสนนานว่า พระพุทธเจ้าท่านกินเนื้อสัตว์หรือไม่? ในบทความนี้ไม่มีหลักฐานทางวิชาการใดๆที่จะมาแสดง มีเพียงผลของการปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธศาสนาที่จะมายืนยันกันว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่กินเนื้อสัตว์

พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติว่าสาวกห้ามกินเนื้อสัตว์ แต่มีข้อแม้มากมายในการได้กินเนื้อสัตว์นั้นๆ เช่นเนื้อสัตว์ที่ห้ามกินอย่างเด็ดขาดสิบอย่างในมังสัง ๑๐ คือห้ามกินเนื้อ มนุษย์ ช้าง ม้า สุนัข งู สิงโต เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว หรือแม้แต่เนื้อสัตว์ที่เขาลากมา บังคับมา แล้วก็ฆ่ามา เป็นเนื้อที่มีบาป เป็นเนื้อสัตว์นอกพุทธ ดังนั้นจึงไม่ควรกินอยู่แล้ว อีกทั้งบัญญัติว่าสามารถกินเนื้อที่ไม่เห็นว่าเขาฆ่ามา ไม่ได้ยินว่าเขาฆ่ามา ไม่รังเกียจว่าเขาฆ่ามา ในข้อไม่รังเกียจนี้เองเป็นตัววัดหิริโอตตัปปะ เพราะเนื้อสัตว์ที่ถูกเบียดเบียนมาย่อมไม่เป็นที่น่ายินดีในหมู่สาวก เนื้อสัตว์ที่ได้มานั้นย่อมเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ

ซึ่งในทุกวันนี้เรียกได้ว่ายากนักที่จะหาเนื้อสัตว์ที่ไม่มีบาปบน เพราะเนื้อสัตว์ที่ขายอยู่ก็มีแต่เนื้อที่เขาฆ่ามาทั้งนั้น ใครๆก็รู้ว่ามันไม่ได้ตายเอง เขาเพาะเลี้ยงมา เขาจับมา เขาฆ่ามา แล้วเขาก็เอามาขายเรา เมื่อเรารู้ดังนี้ย่อมไม่ยินดีส่งเสริมให้เขาทำอาชีพที่เป็นบาปเหล่านั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ถึงการค้าขายที่ชาวพุทธไม่ควรทำ มีสองข้อที่เกี่ยวกันคือ ห้ามค้าขายชีวิต และห้ามค้าขายเนื้อสัตว์ นั่นหมายความว่าหากฝืนทำก็ไม่ใช่พุทธ เพราะพุทธไม่ส่งเสริมให้เบียดเบียนทั้งทางตรงและทางอ้อม

ในบทโอวาทปาติโมกข์ยังได้กล่าวว่า ผู้เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่เรียกว่าเป็นสมณะเลย สมณะนั้นคือผู้สงบจากกิเลส เป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เรารู้ในใจกันดีอยู่แล้วว่าการไม่กินเนื้อสัตว์คือการไม่มีส่วนในการเบียดเบียนสัตว์นั้น การยังกินเนื้อสัตว์อยู่เป็นการเบียดเบียนกันอย่างตรงไปตรงมา เพียงแต่เราไม่คิดจะสนใจที่ไปที่มาของเนื้อสัตว์เหล่านั้นเท่านั้นเอง

ถ้าหากเรายังยืนยันว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่สมควรแล้วล่ะก็ ความเห็นของเราก็จะไปขัดกับพระสูตรต่างๆอยู่เสมอ เช่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น แต่คนที่หลงว่าเนื้อสัตว์เป็นคุณค่าก็จะกินเนื้อสัตว์โดยหวังให้ร่างกายแข็งแรง ซึ่งขัดกับสัจจะของพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง ถ้าท่านตรัสแนวทางปฏิบัติไปสู่การพ้นทุกข์ ผู้ที่เห็นต่างจากพระพุทธเจ้าก็มีความเห็นที่ดำเนินไปสู่ความเป็นทุกข์เท่านั้นเอง

ความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ใช้หลักปฏิบัติของพระพุทธศาสนาเข้ามากำจัดความอยาก จากคนที่เคยหลงใหลชอบใจในรสของเนื้อสัตว์ เคยยึดมั่น เคยผูกพัน แต่ก็สามารถใช้กระบวนการของพุทธเข้ามากำจัดความอยากและความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้นได้

เมื่อหมดความอยากกินเนื้อสัตว์ ก็ไม่รู้สึกว่าเนื้อสัตว์มีคุณค่าแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องไปกินให้เมื่อย ไม่ต้องเบียดเบียนสร้างกรรมชั่วให้ต้องลำบากรับการมีโรคมากและอายุสั้นในภายหลัง ไม่ต้องคอยคิดปั้นแต่งเหตุผลใดๆที่จะทำให้การกินเนื้อสัตว์นั้นดูเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ต้องผูกภพผูกชาติกับเนื้อสัตว์ ไม่ต้องเป็นทาสเนื้อสัตว์อีกต่อไป

และยังมีปัญญารู้อีกด้วยว่า การกินเนื้อสัตว์ เป็นโทษ ทุกข์ ภัย ผลเสียอย่างไร มีปัญญาที่จะหลีกเลี่ยงละเว้น และอนุโลมบ้าง โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นใดๆ ให้ใจต้องเป็นทุกข์จากความอยากและไม่อยาก ไม่มีทั้งความทั้งความอยากกินเนื้อสัตว์ และไม่อยากกินเนื้อสัตว์ ไม่ใยดี ไม่สนใจ ไม่ให้คุณค่า มีเพียงประโยชน์และโทษตามความเป็นจริง โดยรวมเนื้อสัตว์ส่วนใหญ่นั้นเป็นโทษอยู่แล้ว เราจึงไม่เอาสิ่งที่เป็นโทษนั้นเขามาใส่ตัวด้วยใจที่เป็นสุข

นี่คือผลที่ปฏิบัติมาด้วยการชำระล้างความอยากกินเนื้อสัตว์ให้หมดไปจากจิตวิญญาณ ถือเป็นกิเลสระดับที่ไม่ยากไม่ลำบากนัก สาวกระดับกระจอกๆอย่างผมยังทำได้ แล้วผู้ที่มีบุญบารมีมากกว่าจะไม่ได้หรืออย่างไร แล้วพระพุทธเจ้าผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้งจะขนาดไหน ท่านรู้ทุกอย่างในโลก ท่านรู้ที่มาที่ไปของทุกเหตุปัจจัย ขนาดผมไม่รู้ถึงขนาดท่านก็ยังรู้เลยว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่ไม่ควรบริโภค เพราะค่าโดยรวมแล้วมีโทษมากกว่าประโยชน์ เรียกว่าได้รสสุขนิดหน่อย แต่เก็บสะสมอกุศลกรรมสร้างทุกข์ไปอีกนานแสนนาน

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาที่จะรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดเป็นสาระแท้ สิ่งใดเป็นสิ่งลวง เมื่อเราเห็นความจริงตามความเป็นจริงแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ เราก็ไม่ควรจะเอาโทษนั้นมาใส่ตัว หากว่าเราไม่มีกิเลส ก็คงจะไม่มีแรงต้านมากนัก แต่หากกิเลสมาก ก็คงจะคิดหาวิธีที่จะให้ได้เสพเนื้อสัตว์โดยไม่ต้องรู้สึกผิดหรือถูกกล่าวหาใดๆ

แม้แต่การกล่าวหาว่าพระพุทธเจ้าฉันเนื้อสัตว์ ก็ไม่สามารถพิสูจน์ข้อคิดเห็นเหล่านี้ได้เลย ไม่มีหลักฐานชี้ชัดใดๆเลยสักอย่างเดียว เรื่องราวทั้งหมดนั้นผ่านมากว่าสองพันห้าร้อยปีแล้ว สิ่งที่เหลือไว้มีเพียงคำสั่งสอนให้เพียรปฏิบัติจนเกิดปัญญารู้ขึ้นเอง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ควรเชื่อแต่แรก แต่ควรพิสูจน์ให้เห็นด้วยปัญญาของตนเองว่าเนื้อสัตว์นั้นควรละเว้นหรือควรบริโภค

ผู้ที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้นก็มีมากมายหลากหลาย มีอินทรีย์พละต่างกัน ผู้ที่สามารถตัดความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ก็มี ผู้ที่ยังหลงเมามายอยู่กับรสของเนื้อสัตว์ก็มี แต่หากมุ่งปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ก็เป็นสาวกในพระพุทธศาสนาทั้งนั้น แม้ว่าจะยังไม่สามารถละเว้นการเบียดเบียนทั้งหมดได้ แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ทิ้งคนเหล่านั้น เพราะพวกเขายังมีความดี ยังมีทิศทางในการลดละกิเลสอยู่ จึงไม่มีบัญญัติใดๆที่ระบุว่าห้ามกินเนื้อสัตว์อย่างชัดเจน มีเพียงข้อแม้ต่างๆตามที่ได้ระบุไว้ดังที่ยกตัวอย่างบางส่วนมาก่อนหน้านี้

คนที่อยากกินเนื้อสัตว์ก็จะหาช่องว่างในเนื้อหาและตัวอักษรเหล่านั้นให้ตัวเองได้กินเนื้อสัตว์ ส่วนคนที่ปฏิบัติจนลดและทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ก็จะไม่สงสัยใดๆอีกว่าควรจะกินเนื้อสัตว์หรือไม่กิน

การเลือกกินเนื้อสัตว์เป็นเจตนา ซึ่งเป็นกรรมของแต่ละคน ดังนั้นจึงควรพิจารณาอาหารเสียก่อนว่าเราควรจะทำกรรมนี้หรือเราจะเลี่ยงกรรมนี้ หากมีผักและเนื้อสัตว์อยู่ตรงหน้า เราจะเลือกเขี่ยสิ่งใดออก เราจะเลือกนำสิ่งใดเข้าปากเรา เราจึงควรใช้ปัญญาของเราพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ให้เห็นประโยชน์และโทษของมัน ควรเว้นจากสิ่งที่เป็นโทษ เข้าถึงสิ่งที่มีประโยชน์ จึงจะพบกับความผาสุก

ตราบใดที่เรายังกำจัดความหลงในเนื้อสัตว์ไม่ได้ เนื้อสัตว์เหล่านั้นก็จะยังคงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิตเรา มีอิทธิพลต่อเรา เป็นตัวกำหนดทุกข์และสุขของเรา เป็นเจ้านายของเรา เพราะเราไปยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้นจนเป็นเหตุให้ต้องทุกข์เมื่อไม่ได้เสพ เป็นสุขเมื่อได้เสพ วนเวียนอยู่ในสุขทุกข์แบบโลกๆอย่างไม่มีวันจบสิ้นเพราะเป็นทาสเนื้อสัตว์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :ข้อสรุปจากบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :กรณีการโต้แย้งต่างๆในบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

– – – – – – – – – – – – – – –

13.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ขอบคุณที่…ทิ้งฉันไว้กลางทาง

July 12, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,906 views 0

ขอบคุณที่...ทิ้งฉันไว้กลางทาง

ขอบคุณที่…ทิ้งฉันไว้กลางทาง ก่อนที่เราจะทำบาปแก่กันและกันมากไปกว่านี้

เรื่องราวของคู่รักบนเส้นทางอันยาวไกล ไม่มีใครรู้ว่าจุดหมายนั้นอยู่ที่ไหน เราอาจจะพอรู้ได้ว่าความสัมพันธ์นั้นมาถึงจุดไหนเมื่อผ่านสถานะของ เพื่อน คนรู้ใจ แฟน หรือสามีภรรยา ถึงแม้เราจะผ่านช่วงเหล่านั้นมาแล้วแต่การเดินทางของชีวิตคู่ก็ต้องดำเนินต่อไป จนกว่าจะถึงวันที่คนใดคนหนึ่ง จะถูกทิ้งไว้กลางทางเพียงลำพัง

เมื่อความสัมพันธ์ในรูปแบบคู่รักได้เกิดขึ้น ก็ต้องคอยประคองความสัมพันธ์ ไม่ให้มากเกินไป ไม่ให้น้อยเกินไป คอยเอาอกเอาใจรับใช้ เพื่อให้อีกฝ่ายพอใจ เป็นเหตุแห่งความสุขของกันและกัน เป็นตัวตนของกันและกัน เป็นสิ่งผูกมัดซึ่งกันและกัน เป็นบาปของกันและกัน จนสุดท้ายกลายเป็นอกุศลกรรมที่ผูกกันและกันไว้

แต่ถึงแม้จะเอาพยายามทำตัวเป็นคนดี คิดดี พูดดี ทำดี ก็ไม่ได้หมายความจะต้องได้รับสิ่งที่ดีตลอดเวลา คนเราทุกคนจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ผลของกรรมไม่ได้ผูกกันด้วยเรื่องดีเพียงอย่างเดียวมันยังมีเรื่องร้ายด้วย คนที่เข้ามาผูกพันจึงถูกเรียกว่า “คู่เวรคู่กรรม” เพราะเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ต้องมาคอยใช้หนี้บาปหนี้กรรมแก่กันและกัน

การพลัดพรากสร้างความทุกข์ให้กับคนที่ยึดมั่นถือมั่น การถูกทิ้งเป็นเพียงฉากละครฉากหนึ่งที่ผลของกรรมลิขิตไว้ เรามักจะเห็นว่ามีหลายเหตุการณ์ที่ไม่น่าเป็นไปได้ ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นสิ่งที่สมควรจะเกิดขึ้นแล้ว เพราะนั่นเป็นผลของกรรมที่เราทำมาเอง ไม่ใช่จากเหตุอื่นใด

เมื่อผลของกรรมได้พรากคนรักไปจากชีวิตรักในอุดมคติที่เคยฝัน ก็เหมือนกับม้าที่ถูกเปลี่ยนกลางศึก กลายเป็นม้าตัวเก่าที่ถูกทิ้งอย่างไรเยื่อใย ได้แต่มองเขาจากไปพร้อมกับม้าตัวใหม่ที่เขาชอบใจมากกว่า การถูกทำลายคุณค่าในตัวตน ทำลายความหวัง นั้นทำให้ผู้ยึดมั่นถือมั่นทุกข์แสนสาหัส

แต่ถ้าหากเราลองพิจารณาให้ดี การที่ความสัมพันธ์ใดๆ ถูกทำลายไปก่อนจะถึงฝั่งฝันนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ดีก็ได้ การที่เขาออกไปจากชีวิตเรา นอกจากเรื่องของวิบากกรรมซึ่งเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้แล้ว ก็มักจะเป็นเรื่องของกิเลสเป็นส่วนใหญ่

การที่คู่รักต้องพรากจากกันไปเพราะมีคนใหม่ก็มักจะเกิดจากการที่คนเก่าไม่สามารถสนองกิเลสให้ได้ พอคนกิเลสหนาไม่ได้รับการบำเรอให้เกิดสุขก็ต้องไปหาคนใหม่มาบำเรอตน ทำให้คนเก่าที่ไม่สามารถสนองกิเลสได้อย่างใจถูกทิ้งให้กลายเป็นอดีต

ซึ่งจริงๆก็เป็นเรื่องที่ดีแล้วที่เราถูกทิ้ง เราไม่ได้ถูกคนดีทิ้งไป แต่เราถูกคนกิเลสหนาทิ้งไป คนกิเลสหนาก็ชั่วตามปริมาณของกิเลสที่มี คนที่ทิ้งคู่รักที่บำเรอตนไม่ได้ไปหาคนใหม่เพื่อจะสนองตนเองได้มากกว่า คือคนที่เสพไม่เคยพอ นั่นหมายถึงการที่เขาทิ้งไปคือ คนชั่วหนึ่งคนหายไปจากชีวิตเรา เราก็ควรจะยินดีที่ได้พ้นจากภาระ ที่ต้องคอยสนองกิเลสแก่กันและกัน ไม่ต้องสะสมบาปกันไปให้ชีวิตมันทุกข์ไปมากกว่านี้

การที่นักรบเปลี่ยนม้ากลางศึก ม้าตัวเก่าที่ถูกทิ้งก็มีโอกาสไปทำประโยชน์ให้ตัวเอง ดูแลตัวเอง แต่ม้าตัวใหม่ก็ต้องไปทำบาปร่วมกันนักรบคนนั้น ไปเป็นเครื่องมือที่เอื้อให้ไปทำร้ายทำลายผู้อื่น เรียกได้ว่าไปร่วมบาปกันนั่นเอง

เพราะจริงๆแล้วเราไม่รู้หรอกว่าความเป็นคู่รักนั้นจะไปสิ้นสุดลงตรงไหนแบบใด เราต้องเวียนว่ายตายเกิดตามไปผูกพัน ไปรัก ไปทุกข์กันอีกกี่ชาติกว่าจะจบ ต้องได้อีกเท่าไหร่กว่าจะสมใจหมาย เหมือนกับการเดินทางที่ไม่มีจุดหมาย ไม่รู้ว่าต้องเสพสุขจากความเป็นคู่รักอีกแค่ไหนถึงจะพอ แม้จะทำได้เพียงแค่ยึดเขาไว้เป็นของตนแล้วก็หลงคิดไปว่าเขาจะต้องอยู่กับเราตลอดไป

ดีเสียอีกที่เขาทิ้งเราตั้งแต่วันนี้ เพราะเราได้รู้จุดจบ ได้เรียนรู้ว่าชีวิตคือความพลัดพราก คู่รักนั้นไม่ยั่งยืน มีแล้วเป็นทุกข์ และมันก็ไม่ได้เป็นตัวเป็นตนอะไรของเราเลย ขาดเขาเราก็ยังอยู่ได้ ยังกินได้ ยังนอนได้ ยังหายใจได้ จริงๆแล้วเขากับเราไม่เกี่ยวกันเลยด้วยซ้ำ เราไปหลงเอาเขามาผูกเป็นคู่ไว้เอง พอเขาทิ้งเราหนีไปเราก็เสียใจ ทั้งที่จริงๆแล้วเขาไม่ใช่ของของเราตั้งแต่แรก ไม่มีใครมีกันและกันตั้งแต่แรก มีแต่คนที่หลงว่าการมีคู่เป็นสุข แล้วก็มาเจอกันร่วมเสพสุขบำเรอกิเลส ชาติแล้วชาติเล่า สร้างบาป สร้างอกุศลกันมากมาย ยิ่งเสพยิ่งหิว ได้เท่าไหร่ก็ไม่เคยอิ่ม จึงต้องหาคนมาเสพเพิ่ม ทำร้ายคู่ชีวิต วนเวียนกันล้างแค้นเอาคืนกันไม่จบไม่สิ้น

จะดีไหมหากเราจะ ”ขอบคุณ” ที่เขาได้ทิ้งเราไว้ก่อนที่จะผูกพันกันไปมากกว่านี้ ก่อนที่เราจะทำบาปร่วมกันไปมากกว่านี้ ก่อนที่เราจะผูกภพผูกชาติกันไปมากกว่านี้

จะดีไหมหากเราจะใช้ “การถูกทิ้งครั้งนี้เป็นโอกาส” ในการเลิกผูกปม เลิกจองเวรจองกรรม เลิกไปผูกพันกับใครให้ต้องคอยมาแก้ มาคอยแบกทุกข์กันอีก

จะดีไหมหากเราจะใช้ “อิสระที่ได้กลับคืนมา” ในครั้งนี้ ศึกษาให้เห็นเหตุและผลของเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ให้รู้ลึกถึงความเป็นมาว่าทำไมเราจึงต้องทนทุกข์ขนาดนี้ เหตุแห่งทุกข์คืออะไร และจะดับทุกข์นั้นได้ไหม แล้วจะดับด้วยวิธีอะไร

เราไม่จำเป็นต้องแบกรับภาระใดๆอีก ไม่ต้องคอยสนองกิเลสใคร ไม่ต้องให้ใครมาบำเรอกิเลสเรา นั่นหมายถึงเราไม่ต้องสร้างบาปใดๆแก่กันและกันอีก การที่เราถูกทิ้งนั้น หากจะมีอะไรเกิดขึ้นมาอีกก็คงจะมีแต่เรื่องดี เพราะเราได้ใช้กรรมชั่วไปหมดแล้ว ถูกทิ้ง ถูกทำให้ทุกข์ไปแล้ว รับกรรมไปแล้ว ผลของกรรมนั้นก็หมดไป เราก็ไม่ต้องสร้างเพิ่ม ไม่ต้องพยายามหาเหาใส่หัว ไม่ต้องไปแกว่งเท้าหาเสี้ยนให้ต้องลำบากทีหลัง

สรุปได้ว่า ดีแล้วที่ทิ้งฉัน ขอบคุณที่ทิ้งกันไว้ที่ตรงนี้ ดีแล้วที่ไม่ต้องพากันไปลงนรกอีก ขอบคุณที่เข้ามาให้ได้ชดใช้กรรมชั่วที่เคยทำไว้ และเห็นใจจริงๆกับบาปครั้งนี้ที่เธอได้ทำไว้ เพราะเธอคงต้องได้รับมัน “เหมือนกับที่ฉันได้เคยทำชั่วไว้หนักหนาจนมีผลของกรรมให้ต้องทนทุกข์เพราะโดนทิ้งในชาตินี้เช่นกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

12.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

คู่ครองกับกรรมเก่า

July 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,573 views 0

คู่ครองกับกรรมเก่า

เจอคู่ครองไม่ดี อย่ามัวโทษแต่กรรมเก่า

กิเลสตัวต้นเหตุ มันซ่อนอยู่ในกรรมนั้น

………….

เมื่อเราได้รับทุกข์จากคนที่คบหากัน แล้วมีทีท่าว่าจะจับมือใครดมไม่ได้ว่าต้นเหตุมันมาจากใคร สุดท้ายก็โยนความผิดทั้งก้อนไปให้กรรมเก่าของเรานั่นแหละ เพราะเราเคยทำกรรมมาก็เลยต้องมารับผลกรรม

การยอมรับกรรมที่ตนเองทำมานั้นก็เป็นเรื่องดีเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ก็ยังดีไม่สุดถ้ายังไม่สืบสาวไปถึงต้นเหตุว่าเราทำกรรมอะไรมา เช่นการที่เราต้องมาทุกข์เพราะเรื่องคู่ นั้นก็เพราะเราเอาเขาเข้ามาในชีวิตเอง เราอยากได้อยากเสพเขาเอง ไม่ใช่กรรมเก่าแต่ปางก่อนที่ไหน กรรมในชาตินี้ของเราเองที่ตามใจกิเลสจนให้เขาเข้ามามีบทบาทในชีวิตจิตใจ เพราะเราหลงยึดเขาไว้เอง

เราไม่สามารถโทษกรรมเก่าได้เลยหากเราไม่โดนบังคับให้คบ ไม่โดนคลุมถุงชน หรือโดนเอาปืนกรอกปากบังคับให้แต่งงาน แต่เราโดนกิเลสมันหลอกให้หลงไปคบหา ไปแต่งงาน เพราะหวังจะได้เสพสุข

ผู้ร้ายตัวจริงมันคือกิเลสนี่เอง ถ้าเราเอาแต่โทษกรรมและยอมรับกรรมให้มันจบไป แน่นอนว่าผลของกรรมนั้นจะหมดไปในวันใดวันหนึ่ง แต่กิเลสตัวบงการมันไม่ได้หายไปกับผลของกรรมนั้นๆ มันอยู่กับเราตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ยังรอคอยโอกาสล่อลวงเราด้วยสุขหลอกๆ และทำให้เราเป็นทุกข์อยู่เสมอ

ดังนั้นถ้าโยนปัญหาทุกอย่างให้กรรมแล้วรู้ไม่ทันว่ากิเลสอยู่เบื้องหลัง ก็เหมือนกับการจับผู้ร้ายผิดตัว สุดท้ายกิเลสก็ลอยนวล และเราก็ต้องรับผลของกรรมนั้นไปโดยไม่รู้ไม่เห็นเหตุ รู้ได้แต่ผลของกรรมทำให้ทุกข์ รู้ได้แค่ทำไม่ดีกับคนนั้นคนนี้มาเลยต้องมารับกรรม แต่ไม่รู้ว่าเหตุอะไรที่ผลักดันให้ทำสิ่งที่ไม่ดีเหล่านั้น นั่นหมายถึงไม่รู้กิเลส ไม่รู้ไปถึงเหตุแห่งทุกข์ สุดท้ายก็ไม่รู้จะพ้นทุกข์ได้อย่างไร

– – – – – – – – – – – – – – –

2.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)