ข้อคิด

รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีล

July 3, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,610 views 0

รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีล

รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีล

โลกปัจจุบันนี้ได้ดำเนินผ่านยุคที่พุทธศาสนารุ่งเรืองที่สุดจนกระทั่งมาถึงกึ่งกลางพุทธกาล หลายสิ่งเปลี่ยนผันไปความชั่วกลายเป็นสิ่งดีในสายตาผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ความดีก็ดูเหมือนว่าจะไร้ค่าลงไปทุกที ทุกวันนี้เราสามารถทำสิ่งที่ชั่วได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดบาปอะไรด้วยเหตุผลประมาณว่าใครๆเขาก็ทำกัน จนสิ่งชั่วนั้นกลายเป็นค่านิยม เป็นความเข้าใจ เป็นมาตรฐาน สิ่งเดียวที่สามารถแยกดีแยกชั่วที่แท้จริงได้นั่นก็คือ “ศีล

ศีลเป็นตัวกำหนดขอบเขตอย่างชัดเจนว่าสิ่งใดเบียดเบียนสิ่งใดไม่เบียดเบียน ศีลมีตั้งแต่ระดับที่ปฏิบัติไม่ยากจนเกินไปคือศีล ๕ จนกระทั่งถึงศีลระดับสูงอีกมากมาย ซึ่งนั่นหมายถึงหากต้องการขัดเกลาตนเองให้เป็นผู้ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นก็ต้องศึกษาในศีล

ศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้นเป็นของที่ประเสริฐที่สุด เป็นสัจจะที่ถูกกล่าวออกมาจากบุรุษที่เก่งที่สุดในโลก เป็นความดีที่คัดสรรค์มาแล้ว เราไม่ควรจะตัดหรือบัญญัติใหม่ หรือกล่าวว่าศีลแต่ละข้อนั้นก็เหมือนๆกัน หรือเห็นว่าศีลเป็นเพียงพื้นฐานของการปฏิบัติธรรม ผู้ที่กล่าวเช่นนั้นอาจจะยังไม่เข้าใจแก่นสารสาระของศีล ไม่เข้าใจวิธีปฏิบัติศีล ไม่เข้าใจกระบวนการของไตรสิกขา ไม่รู้จักการชำระล้างกิเลส ไม่เข้าถึงแก่นของพุทธ

สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ศีล หิริโอตตัปปะ

สติกับศีลนั้นทำงานต่างกัน สตินั้นไม่ใช่ตัวแยกดีแยกชั่ว แต่เป็นตัวรู้ว่าขณะนั้นเกิดสภาวะใดในจิตใจขึ้น เป็นเพียงตัวรู้เฉยๆ ส่วนศีลคือตัวแยกเลยว่าสิ่งใดคือดี สิ่งใดชั่ว ถ้าอยู่ในศีลคือดี ผิดศีลคือชั่ว ส่วนความรู้สึกผิดกลัวต่อบาปที่เกิดขึ้นเรียกว่าหิริโอตตัปปะ เป็นสภาพของจิตที่เจริญมาจากการศึกษาศีล

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราถือศีล ๕ ไม่ฆ่าสัตว์ ในตอนแรกเราก็อาจจะยังตบยุงอยู่เพราะหิริโอตตัปปะยังไม่เจริญถึงขั้นสกัดขั้นไม่ให้ทำบาปได้ ส่วนสติสัมปชัญญะก็จะเป็นตัวรู้ว่าถูกยุงกัด ยุงกัด เจ็บ เจ็บ โกรธ โกรธ นี่คือระดับสติทั่วไป ถ้าจับได้ก็อาจจะสามารถข่มใจได้บ้าง หรือแม้จะมีสติก็อาจจะตบยุงได้ เพราะสภาวะที่จะมากั้นไม่ให้ลงมือทำบาปจริงๆจะเริ่มที่ขั้นของโอตตัปปะคือละอายต่อบาปจนไม่กล้าทำบาปแล้ว ส่วนหิรินั้นแค่เกรงกลัว ทำให้บางทีก็มีตามใจกิเลสแอบตบบ้าง แต่ตบไปแล้วก็จะรู้สึกผิด และถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔ จะระลึกรู้ไปถึงจิตที่มีกิเลสปน จะรู้ลึกไปถึงเหตุปัจจัยในการเกิดความโกรธ ว่ากิเลสใดที่ทำให้ตัดสินใจจะตบยุง และรู้ไปถึงธรรมที่จะมาขัดกิเลสนั้นๆ

ตัวอย่างที่สอง เราหัดกินมังสวิรัติ แม้จะเห็นคุณในการไม่เบียดเบียนสัตว์ทางอ้อมจนกระทั่งอธิศีลเพิ่มขึ้นมาในขอบเขตของศีลข้อ ๑ นั่นคือเรามีปัญญารู้แล้วว่ากินมังสวิรัติไม่เบียดเบียนอย่างไร กินเนื้อสัตว์เบียดเบียนอย่างไร เรียกว่าแยกดีแยกชั่วได้แล้ว เมื่อปฏิบัติไปต้องกระทบกับเมนูเนื้อสัตว์ สติเป็นเพียงตัวรู้ว่าเกิดอาการอะไรขึ้นในจิต แต่ศีลจะเป็นตัวกำหนดขอบเขตของดีและชั่ว ถ้าดีคืออดทนถือศีลต่อไป ถ้าชั่วก็ข้ามกำแพงศีลธรรมไปกินตามกิเลส

ตัวอย่างที่สาม ถ้าเราไม่ถือศีลกินมื้อเดียว ก็เรียกได้ว่ายังไม่ได้เริ่มแยกดีแยกชั่ว ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการกินหลายมื้อนั้นมีโทษภัยอย่างไร เข้าใจว่ามาตรฐานต้องสามมื้อ อันนี้เกิดจากไม่มีปัญญาศึกษาในสาระของศีล พอไม่รู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่วก็ไม่ถือศีล เพราะฉะนั้นถืงจะมีสติแค่ไหนแต่ถ้ายังแยกดีแยกชั่วไม่ได้ ก็ยังกินสามมื้อเหมือนปกติ แม้จะกินไปอย่างมีสติรู้ตัวอย่างเต็มที่เคี้ยวข้าวทีละคำอย่างช้าๆ ค่อยๆ กลืน แต่ก็ไม่มีปัญญารู้ว่ากินสามมื้อชั่วอย่างไร กินมื้อเดียวดีอย่างไร

เมื่อเราศึกษาไปจะพบว่าสภาวธรรมแต่ละอย่างนั้นมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน แต่ทำคนละหน้าที่กัน เราจึงควรศึกษาให้เห็นสภาวะเหล่านั้นในตน ไม่เช่นนั้นก็อาจจะต้องงงกับสมมุติโลกที่หลากหลาย เช่นคำว่า “สติ” คำเดียว เขาครอบคลุมทุกอย่างเลยก็มี หรือแม้แต่เข้าใจว่าถ้ารู้ธรรม จำธรรมได้ ก็สามารถบรรลุธรรมได้ ความเห็นเหล่านั้นเกิดจากการไม่ศึกษาธรรมให้ถ่องแท้ ไม่เข้าใจไตรสิกขา ไม่รู้ความสัมพันธ์ของศีล สมาธิ ปัญญา ไม่คบบัณฑิต ไม่มีกัลยาณมิตร

รู้ดีรู้ชั่วด้วยศีลกับลูกหมูสามตัว

ในบทความนี้ก็จะยกตัวอย่างประกอบภาพไว้สามตัวอย่าง ซึ่งก็แนะนำให้ดูภาพประกอบบทความและค่อยๆทำความเข้าใจไปควบคู่กัน ในตัวอย่างแรกคือหมูดำ ที่ใช้ชีวิตไปสบายๆ ไม่ยินดีถือศีล ตัวอย่างที่สองคือหมูขาว ที่ถือศีลเพื่อความดีงาม ป้องกันความชั่ว และตัวอย่างสุดท้ายคือหมูชมพูที่ศึกษาศีลเพื่อที่จะชำระกิเลสไปโดยลำดับ

คนไม่มีศีล(หมูดำ)

คนที่ไม่มีศีล ก็ไม่ต้องทุกข์ร้อนลำบากใจอะไร ไม่ต้องมีอะไรขัดใจเมื่อตนเองอยากได้อยากเสพสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่น เหมือนปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำแต่ไม่เห็นน้ำ คือแม้จะจมอยู่ในกองกิเลสแต่ก็ไม่รู้ตัวว่าอยู่ในกองกิเลส จึงใช้ชีวิตโดยประมาท โดยไม่รู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว

ศีลเป็นเครื่องวัดกิเลสที่ดีมาก เมื่อเราถือศีลก็จะสามารถเห็นพลังของกิเลสที่จะทำลายศีลนั้นๆ ด้วยเหตุผลที่น่าเชื่อถือต่างๆนาๆ แม้กระทั่งเหตุผลที่ทำลายคุณค่าของศีลก็อาจถูกสร้างขึ้นมาจากกิเลสได้เช่นกัน

เมื่อศีลคือเครื่องทรมานสำหรับคนกิเลสหนา เขาเหล่านั้นจึงไม่ถือศีล ไม่ศรัทธาศีล ไม่ยินดีศึกษาในศีล เพราะความขยาดทุกข์ที่จะต้องเจอเมื่อถือศีล ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะถือศีลได้ เพราะกิเลสนั้นจะเป็นมารที่มาคอยขัดขวาง ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่างถูกตรงมักจะไม่มีวิธีการจัดการกับกิเลส สุดท้ายก็ทิ้งศีลและยึดกิเลสไว้แทน การไม่ถือศีลจึงเป็นเรื่องง่ายกว่าสำหรับพวกเขา

และเมื่อไม่มีศีล ก็ไม่มีอะไรเข้ามาแยกดีแยกชั่ว จึงมักจะใช้ตรรกะของตนเข้ามาเป็นตัวกำหนดว่าอะไรดีอะไรชั่ว ไม่ได้ใช้หลักการของพระพุทธเจ้า แต่เปลี่ยนมาใช้หลักกู เมื่อไม่เห็นตามพระพุทธเจ้าก็คือคนที่มีความเห็นผิด เมื่อเขามีความเห็นความเข้าใจที่ผิด ก็จะคิดผิดตามไปด้วย ดังนั้นหลักการตัดสินดีชั่วก็จะผิดแปลกตามไปด้วยเช่นกัน

คนถือศีล (หมูขาว)

คนที่ถือศีล คือคนที่มีศรัทธาและปัญญาเห็นคุณค่าของศีล แต่ก็มักจะถือศีลอย่างงมงาย เข้าใจว่าศีลนั้นเป็นเพียงแค่กฎ เป็นข้อบังคับไม่ให้ทำชั่ว โดยมีการปฏิบัติศีลในลักษณะของการกดข่มความชั่ว ใช้ศีลเป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้ทำชั่ว ให้อยู่ในกรอบของความดีงาม

ซึ่งคนเหล่านี้ก็ถือว่าเจริญแล้ว เพราะพยายามละเว้นสิ่งที่จะเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เพราะแยกดีแยกชั่วได้บ้างแล้ว สิ่งใดชั่วก็ควรจะละเว้น สิ่งใดที่ดีก็ควรจะทำ แต่ก็ยังมีความลำบากในการถือศีล เพราะต้องคอยกดข่มความอยาก อดทนข่มใจเพื่อไม่ให้ผิดศีล จึงมีข้อจำกัดในการถือศีล เพราะถือศีลแต่ไม่ได้ชำระกิเลส เพียงแค่ใช้ศีลเป็นกรอบแห่งความดีงามและป้องกันสิ่งชั่วเท่านั้น

คนที่ถือศีลจะสามารถรู้ได้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่วและรู้ว่ายังมีศีลที่ละเว้นสิ่งที่ชั่วอีกมาก ซึ่งเขาอาจจะทำได้หรือไม่ได้ก็ได้ แต่ก็สามารถเห็นขอบเขตพรมแดนที่แบ่งแยกดีชั่วได้แล้ว

สรุปสองหมู คือทางโต่งสองด้าน

ทั้งหมูดำและหมูขาว คือแนวทางที่มีโอกาสจะลำเส้นเข้าไปในทางโต่งได้ง่าย หมูดำผู้ที่ไม่ยินดีในการถือศีลก็มักจะ โต่งไปทางกาม ไปติดสุขจากการเสพ เพราะไม่มีศีลมาเป็นตัวคอยขัดขวาง จึงสามารถทำชั่วได้โดยไม่มีขอบเขต ชั่วก็ไม่รู้ว่าชั่ว มักจะจมไปกับกามและห่างไกลจากทางสายกลางไปเรื่อยๆ

หมูขาวคือผู้ยินดีในการถือศีล แม้ว่าตนเองจะไม่ไปทำชั่วแล้ว แต่ก็มักจะมีทิศทางที่โต่งไปในด้านของอัตตา ไปในแนวทางการถือศีลอย่างยึดมั่นถือมั่น ถือศีลอย่างตึงเครียด กดดัน บีบคั้น จนสร้างความทุกข์ทรมานให้กับตนเอง ก็เป็นทางโต่งอีกด้านหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าจะอยู่บนพื้นฐานของความดี แต่ก็ยังเป็นความดีที่สร้างทุกข์ให้ตนเองอยู่ ซึ่งการทำทุกข์ให้ตนเองก็คือชั่ว ชั่วก็คือกิเลส และนั่นก็คือทางโต่งอีกด้าน

คนศึกษาศีล (หมูชมพู)

คนที่ศึกษาและปฏิบัติศีลอย่างถูกตรง จะรู้วิธีถือศีลให้เกิดความเจริญ ไม่โต่งไปทั้งด้านกามและอัตตา คือไม่ทิ้งศีลเพื่อไปเสพอย่างมัวเมา และไม่ยึดมั่นถือมั่นในศีลจนทุกข์ทรมาน

ผู้ที่ศึกษาศีลจะใช้ศีลเป็นตัวกำหนดกรอบในการชำระกิเลส ใช้ศีลเป็นเขตในการปฏิบัติธรรม ด้วยพื้นฐานของปัญญาที่เห็นคุณค่าของศีลนั้นๆ หรือเรียกว่าเป็นไปตามอินทรีย์พละ เมื่อถือศีลแล้วก็จะค่อยๆชำระกิเลสไปด้วยสติปัญญาที่ตนมี ใช้กำลังจิตในการข่มอาการของกิเลสที่จะกำเริบ ใช้สติในการรู้ตัวตนของกิเลสเพื่อที่จะทำลาย และใช้ปัญญาเข้ามาพิจารณาโทษภัยของกิเลสนั้นๆ จนทำลายกิเลสไปได้โดยลำดับ

เมื่อถือศีลจนชำระกิเลสในขอบเขตหนึ่งได้ ก็จะขยายเพิ่มศีลในส่วนอื่นๆต่อไป ในส่วนเดิมก็ไม่ต้องทำแล้วเพราะกิเลสหมดแล้ว ก็ขยับไปทำอธิศีลหรือสร้างขอบเขตในการปฏิบัติธรรมขึ้นมาใหม่ เช่นตอนนี้ถือศีล ๕ ได้โดยไม่ลำบากใจแล้วนะ ก็ขยับฐานศีลขึ้นไปจากฐานเดิม เช่นมังสวิรัติ คือนอกจากไม่ฆ่าเองแล้วยังไม่สนับสนุนให้ใครฆ่าอีกด้วย ไม่เบียดเบียนทั้งทางตรงทางอ้อม พอขยับฐานก็ต้องตั้งมั่นในศีล ศึกษาศีลไปพร้อมๆกับ สร้างอธิจิตและอธิปัญญา ไตรสิกขาจึงเป็นการศึกษาที่ไปด้วยกันเป็นกระบวน ไม่แยกปฏิบัติ เมื่อแยกปฏิบัติจึงไม่เรียกว่าไตรสิกขา เมื่อไม่ใช้ไตรสิกขาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าให้ศึกษาเพื่อการพ้นทุกข์ แล้วจะเอาผลสำเร็จมาจากไหน

ดังนั้นการศึกษาและปฏิบัติธรรมควรเริ่มต้นจากศีล โดยเรียนรู้กระบวนการปฏิบัติของไตรสิกขา เพื่อความเจริญก้าวหน้า ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ถือศีลอย่างงมงาย แต่เป็นผู้ถือศีลเพื่อชำระกิเลส

– – – – – – – – – – – – – – –

2.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เวลากับใจคน : กรรม กาล ความรัก และไตรลักษณ์

July 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,686 views 0

เวลากับใจคน : กรรม กาล ความรัก และไตรลักษณ์

เวลากับใจคน : กรรม กาล ความรัก และไตรลักษณ์

เวลากับใจคน (https://www.youtube.com/watch?v=zzcv706q54I)

นั่งหาข้อมูลเกี่ยวกับความเห็นความเชื่อกันนานๆ ก็มักจะหัวร้อน เลยเปิดเพลงคลอไปเรื่อยๆ จนยูทูบสุ่มมาเจอเพลงนี้ ถ้าฟังผ่านๆก็เป็นเพลงตามสมัยธรรมดาละนะ แต่ผมฟังแล้วสะดุดประโยคที่ว่า “ เหตุและผลของเวลา เปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นไป แล้วนับประสาอะไรกับใจคน

ได้ยินดังนั้นก็คิดทันทีว่าถ้าอธิบายให้คนเมืองที่ยังวนเวียนอยู่ในห้วงแห่งความรักด้วยวิธีนี้น่าจะเหมาะ แม้เพลงนี้จะเป็นเพลงที่ฟังดูแล้วให้อารมณ์ผิดหวังช้ำรักอย่างโหยหวน แต่ก็มีความเข้าใจโลกอยู่บ้าง จึงลองหยิบมาอธิบายประยุกต์กับธรรมะกันดู

…………………………………………………..

เนื้อหาในเพลงนี้แสดงสภาวะของ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา คือเห็นความเปลี่ยนแปลงที่แน่นอน ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากผลของกรรมที่ส่งผลผ่านกาลเวลาไปเรื่อยๆ เมื่อเราได้เสพสุข หมายถึงเรากำลังได้รับผลของกรรมดีที่เราทำมา ผ่านไปวันแล้ววันเล่าจนกระทั่งผลของกรรมดีชุดนั้นหมดลง ก็จะไม่ได้รับสุขเหมือนเคย และเมื่อหลงติดในสุขนั้นก็จะทำให้เกิดทุกข์

เมื่อเกิดทุกข์จากการไม่ได้เสพสิ่งดี ก็มักจะโวยวายเรียกร้องหาความยุติธรรมบนความเข้าใจที่หลงผิด เพราะทุกอย่างที่ได้รับนั้นก็เกิดจากสิ่งที่เราทำมา สิ่งใดที่ไม่ได้ก็เพราะไม่ได้ทำมา สิ่งเหล่านั้นยุติธรรมสมเหตุสมผลในตัวมันอยู่แล้ว มีเพียงผู้ที่หลงผิดเท่านั้นที่มักจะบอกว่ากฎแห่งกรรมไม่ยุติธรรม นั่นเพราะมีความโลภอยากได้มากกว่าตนทำมา

ต่อมากเมื่อเข้าใจเรื่องของกรรมมากขึ้นก็พยายามทำดีสร้างกุศลเพื่อจะได้เสพผลใหม่ พอผลของกรรมดีส่งผลก็มักจะหลงสุข ยึดติดในสุขนั้นแล้วประมาทต่อกิเลสจนสร้างเชื้อทุกข์ สร้างบาปสร้างอกุศลกลายเป็นกรรมชั่วใหม่ที่จะรอให้ผลชั่วต่อไปในอนาคต ด้วยเหตุเหล่านี้จึงเกิดสภาพของความไม่เที่ยงเพราะผลของกรรมที่เปลี่ยนแปลง ไม่มีผลของกรรมใดที่จะไม่มีวันหมดผล ได้รับแล้วก็หมด หมดแล้วก็ต้องมาสร้างใหม่ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันแบบนี้

เมื่อเวลาหมุนไปเรื่อยๆ ผลของกรรมที่ได้รับก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และในแต่ละวันเราก็สร้างกรรมใหม่ไปเรื่อยๆ แม้เราจะใช้ชีวิตเหมือนเดิมทุกวัน แต่ผลที่ได้รับมันจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะในชีวิตของเรามีเหตุและปัจจัยหลายอย่างให้เกิดเหตุการณ์อย่างหนึ่งขึ้นมา ทั้งกรรมเก่าของเรา กรรมในปัจจุบันของเรา กรรมของผู้อื่น กรรมของโลก สังเคราะห์รวมกันเกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ต่างๆ มีฉาก มีนักแสดง มีบทพูด ฯลฯ ดังที่เราได้เห็นนั่นเอง

ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นและพยายามทำดีเพื่อให้ตนได้รับแต่ผลของกรรมดีมาเสพ เพราะกลัวความทุกข์จากผลกรรมชั่วหรือการกระทำที่ไม่ดีของตนนั้น จึงมักจะต้องเป็นทุกข์จากความยึดมั่นถือมั่นในผลดีที่จะต้องเกิดกับตน อกหักอกพังเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ดีมาเสพสมใจ บางครั้งทำดีแต่กลับได้รับกรรมชั่ว และจะต้องทนทุกข์ไปอีกนานเพราะความไม่แจ่มแจ้งในเรื่องกรรมและผลของกรรม

ไม่ว่าดีและร้ายที่เกิดขึ้น ก็เหมือนน้ำที่หมุนเวียนอยู่ในโลก น้ำทะเลระเหยไปเป็นเมฆ เมฆกลั่นตัวเป็นฝน ตกลงดินไหลลงแม่น้ำจนถึงทะเล ระเหยไปเป็นเมฆ มันเป็นน้ำเหมือนเดิมแต่สถานะของมันไม่เที่ยง แปรผันอยู่ตลอดเวลา กรรมดีกรรมชั่วก็เช่นกัน มันสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียน ถูกสร้างขึ้นมาและรับผลให้จบลงไป สลับไปมาทั้งดีและร้าย ดังนั้นวิถีแห่งโลกียะจึงยึดเอาเป็นสาระไม่ได้

และการคงอยู่เช่นนี้แหละคือความทุกข์ มีทั้งทุกข์ที่เลี่ยงได้และเลี่ยงไม่ได้ แต่การดำรงอยู่ยังไงก็ต้องทนทุกข์ ยิ่งมีกิเลสก็ยิ่งทุกข์ และยิ่งทุกข์มากขึ้นเมื่อเสียของรัก เพราะไม่ได้เสพสุขอย่างเดิม

เพราะความจริงแล้วทุกสิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะยึดมั่นถือมั่นได้เลย กิเลสไม่ใช่ตัวตนของเรา ความอยากและรสสุขเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่มีจริง เป็นเพียงสิ่งที่เราหลงสร้างขึ้นมาเอง จึงไม่มีอะไรที่ควรยึดและหลงเอามาเป็นตัวเป็นตนเลย

. . . เรากำลังยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เป็นทุกข์และเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาว่ามันเป็นความสุขของเรา เป็นความภูมิใจของเรา เป็นคุณค่าของเรา และที่แย่ที่สุดคือเรายึดสิ่งที่เป็นทุกข์และเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะมาเป็นตัวตนของเรา

จึงเห็นได้ว่าการอยากครอบครองความรัก ความหลงผิดที่เข้าใจว่าหากมีคู่ที่ดีจะได้เสพสุขได้เท่าที่ใจต้องการ หรือแม้แต่ความอยากในการมีคู่ครองก็ตาม สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ว่างเปล่า ไม่มีค่า ไม่มีสาระ มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้เป็นทุกข์ และเป็นเพียงภาพลวงของกิเลสที่หลอกให้เราหลงยึดมั่นจนสิ่งลวงเหล่านั้นเป็นกลายเป็นตัวเราของเราเท่านั้นเอง

. . . คนที่คิดว่าตนเองนั้นหลุดพ้น ลองสังเกตกรรมของตัวเราดีๆ เช่นชาตินี้ต้องรับกรรมอะไรจากเรื่องคู่บ้าง ต้องทุกข์ขนาดไหนจากเรื่องคู่บ้าง นั่นแหละคือส่วนกรรมที่เราอาจจะต้องรับต่อไป หากเชื้อทุกข์หรือกิเลสยังไม่ดับไป การที่ไม่มีคู่ หรือยังโสดไม่ได้หมายความว่าไม่มีกิเลส

หากกิเลสยังอยู่ ก็ยังเป็นเชื้อให้เกิดความทุกข์ในชาตินี้หรือชาติต่อๆไปอีก ถึงแม้จะเข้าใจว่าตนเองกำจัดกิเลสไปได้แล้ว ก็ยังสามารถศึกษาเพื่อเพิ่มเติมปัญญาเข้าไปได้อีก เผากิเลสที่หลงเหลือเศษไปอีก เผาไปเรื่อยๆ ให้มันยิ่งสร้างปัญญาที่เห็นโทษในการมีคู่ตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น สะสมปัญญานี้เป็นอริยทรัพย์เก็บไว้ป้องกันตัวเองจากความทุกข์ในชาติหน้าภพหน้า

. . . จะได้ไม่ต้องมาทนทุกข์แบบในชาตินี้อีก

– – – – – – – – – – – – – – –

30.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กิเลสมาก ค่าใช้จ่ายเยอะ

June 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,645 views 0

กิเลสมาก ค่าใช้จ่ายเยอะ

กิเลสมาก ค่าใช้จ่ายเยอะ

ทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ มักหมดไปกับการสนองกิเลส

สิ่งที่จำเป็นก็ดูเหมือนจะถูกแต่งแต้มจนเกินความจำเป็น

กลายเป็นว่าเอาสิ่งที่ไม่จำเป็นเข้ามาเป็นความจำเป็น

มัวเมาเสพสุขไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็น เพราะหลงในสุขลวงนั้น

ทำงาน หาเงินมาได้เท่าไหร่ ก็ต้องจ่ายภาษีให้กับกิเลส

เสียเวลา เสียสุขภาพ เสียโอกาส ก็เพื่อบำเรอให้กับกิเลส

โดนขึ้นภาษีเท่าไหร่ก็ไม่เคยเรียกร้อง ขอแค่ให้ได้เสพสุข

เป็นทาสที่แสนดี ไม่เคยแข็งข้อ ไม่เคยอู้งาน ขยันจ่ายภาษี

แถมยังยินดี ว่าตัวฉันนี้มีปัญญาหาเงินมาใช้ ( ให้กิเลส )

ไม่ต้องไปคอยขอเงินใคร ( แต่ขอเสพสุขจากกิเลส )

มีอิสระทางการเงิน ไม่เป็นทาสใคร ( แต่เป็นทาสกิเลส )

– – – – – – – – – – – – – – –

28.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

คู่แบบไหนดี?

June 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,215 views 0

คู่แบบไหนดี?

คู่แบบไหนดี?

เมื่อหลายวันก่อน ระหว่างรอนัดพบกับเพื่อน ผมได้เข้าไปที่ร้านหนังสือ เพื่อจะดูว่ามีหนังสืออะไรน่าสนใจบ้าง หนึ่งในหนังสือที่หวังไว้ก็คือการ์ตูนพุทธประวัติของบุคคลในสมัยพุทธกาล

ผมตั้งใจหยิบหนังสือพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรขึ้นมาอ่าน ก็คิดว่าจะซื้อเล่มนี้ แต่ก่อนจะเอาไปจ่ายเงินก็เหลือบไปเห็นหนังสือการ์ตูนประวัติของพระนางพิมพาด้วย เลยหยิบมาคู่กันเพราะน่าจะมีประโยชน์

บางทีการศึกษาจากตัวหนังสือมันก็ทำให้มึนอยู่ไม่น้อย การพักมาอ่านการ์ตูนบ้างก็เป็นการรับข้อมูลข่าวสารที่ผ่อนคลายเข้าใจง่าย อีกทั้งเนื้อหาโดยรวมก็ยังมีทิศทางที่ศึกษาได้อยู่

หนังสือสองเล่มนี้เป็นสภาพของ “คู่” ทั้งสองเล่ม เรื่องหนึ่งเป็นคู่ที่มีเพื่อเรียนรู้รักและการจากพราก อีกเรื่องหนึ่งเป็นคู่ที่พากันไปเจริญ

ชีวิตของผมนั้นโชคดีที่ได้เรียนรู้พื้นฐานมาทั้งสองแง่มุม แน่นอนว่าความเข้มข้นไม่เท่ากับเรื่องของบุคคลสำคัญเหล่านั้น แต่ก็พอจะทำให้เข้าใจได้

สุดท้ายหลังจากได้เรียนรู้จากทั้งสองมุมมอง ผมกลับเห็นดีกับในลักษณะคู่ของพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรมากกว่า เพราะพากันเจริญอย่างเดียว ไม่ต้องมาสร้างวิบากกรรมอะไรแก่กันและกัน อย่างมากก็ชวนกันไปหลงกิเลส แต่ก็ไม่ได้ทำร้ายกันและกันเหมือนกับคู่ของพระพุทธเจ้าและพระนางพิมพา

การทำร้ายกันและกันนั้นอาจจะดูเป็นคำที่ร้ายแรง แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นเช่นนั้น เพราะทำให้อีกฝ่ายทุกข์ด้วยความรัก ทุกข์เพราะเมตตา ทุกข์เพราะหึงหวง ทุกข์เพราะต้องคอยแบกกันและกัน ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อสะสมบารมีให้เต็มรอบ เพื่อที่จะตรัสรู้ต่อไป

ซึ่งนั่นเป็นหน้าที่ของพระพุทธเจ้า หน้าที่ของพระโพธิสัตว์ที่จะเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก แต่ไม่ใช่หน้าที่ของสาวก ซึ่งคู่ของพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ความเป็นคู่นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคู่ครอง เป็นเพื่อนก็พากันเจริญได้ และจริงๆก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่ จะเป็น 3 , 4 , 5 …. ร่วมวงกันแค่ไหนก็ได้แล้วแต่จะผูกกรรมกันมา

สมัยยังกิเลสหนา ผมเองก็เคยใช้พุทธประวัติของพระพุทธเจ้าในมุมหนึ่งของการครองคู่ มาเป็นเหตุผลให้เรามีข้ออ้างในการจะมีคู่เช่นกัน แต่พอศึกษาไปเรื่อยๆ ชำระกิเลสไปเรื่อยๆจึงรู้ว่าที่เราเห็นและเข้าใจนั้นเป็นเพียงความเห็นของกิเลสที่พยายามจะหาข้ออ้างที่สุดแสนจะฉลาด โดยพยายามไปเปรียบเทียบว่าพระพุทธเจ้าทำได้ ฉันก็น่าจะทำได้บ้าง

ทั้งที่จริงแล้วเราก็เท่านี้ บุญบารมีก็แค่นี้ จะไปเทียบกับใครได้ เอาตัวรอดยังแทบไม่ได้เลย ดังนั้นเมื่อศึกษาอย่างถี่ถ้วนแล้วจึงรู้ว่าการมีคู่ครองนั้นไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นเลยสำหรับสาวกในพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่ฟุ่มเฟือยและจะพาฉุดรั้งไม่ให้พบกับความพ้นทุกข์ด้วยซ้ำไป

สุดท้ายจึงพบว่าคู่แบบอัครสาวกทั้งสองนี่แหละคือคู่ปฏิบัติธรรมที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด อย่างน้อยสองคน ก็ยังมีเพื่อนที่คอยตรวจสอบ คอยแนะนำกันได้แล้ว เราไม่จำเป็นต้องไปหาใครมาเสพแล้วอ้างว่าจะพากันเจริญในธรรมเลย เพียงแค่หาเพื่อนปฏิบัติธรรม หากัลยาณมิตร ไม่ว่าจะเพศเดียวกันหรือต่างเพศ แต่ถ้าจะให้ดีก็เพศเดียวกันจะได้ไม่ต้องลำบากใจ ดังเช่นคู่ของพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรถ้าได้ศึกษานิทานชาดกก็จะเห็นว่าท่านเป็นเพื่อนกันมาหลายชาติ ช่วยเหลือกัน เกื้อกูลกัน พากันเจริญ

ทุกวันนี้ผมไม่สงสัยเกี่ยวกับเรื่องของคู่ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่าไม่มีนั้นดีที่สุด ส่วนเรื่องของพระพุทธเจ้าและพระนางพิมพา ก็เป็นเรื่องตามเหตุปัจจัยของท่าน ผมไม่กล้าที่จะพยายามเปรียบเทียบหรืออ้างอิงสิ่งใดเพื่อที่จะหาเหตุผลในการไปมีคู่ได้อีก เพราะรู้ว่าการสะสมบารมีของท่านนั้นไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะทำตาม เพราะไม่ใช่วิสัยที่เราจะเข้าใจเหตุปัจจัยทั้งหมดได้ แต่เป็นเรื่องที่ควรจะศึกษาให้เห็นทุกข์จากผลของการศึกษาของท่าน

นั่นหมายถึงเราไม่ต้องบังอาจไปทำตามกระบวนการที่ท่านทำมา เพียงแค่เอาความรู้ที่ท่านตรัสรู้แล้วมาปฏิบัติก็เพียงพอแล้ว ซึ่งท่านก็ตรัสไว้เสมอว่าให้ลด ละ เลิก การเสพสุขจากการมีคู่ และให้ดีที่สุดคือไม่ต้องไปมีคู่ ซึ่งท่านไม่เคยสอนให้ไปมีคู่ ไม่เคยบอกให้ทำตามที่ท่านทำ แต่ให้ศึกษาในสิ่งที่ท่านสอน

ซึ่งหากตอนนี้จะแนะนำใครสักคนที่หลงผิดคิดว่ามีคู่รักแล้วจะพาให้เจริญพัฒนาไปด้วยกันได้ ผมก็อยากให้เขาศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรบ้าง เรื่องราวนั้นจะต่างกันไปโดยสิ้นเชิง แน่นอนว่าหนทางสู่ความพ้นทุกข์ก็ง่ายตามไปด้วย เพราะระดับผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างเราคงไม่บังอาจเอาอย่างพระพุทธเจ้า เพราะเพียงแค่ทำตามที่ท่านสอนก็เรียกได้ว่าหืดขึ้นคอแล้ว จะให้ไปสะสมบารมีตามท่านนั้นก็คงจะทำไม่ไหว ดับทุกข์ที่ตนให้ได้ก่อนจะดีกว่าแล้วค่อยว่ากันต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

28.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)