ข้อคิด
การวางเฉย
“การวางเฉย” บางครั้งก็ไม่ใช่สิ่งที่สมควรเสมอไป เพราะการวางเฉยนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุปัจจัย เช่นวางเฉยเพราะไม่อยากเสียลาภ ยศ สรรเสริญ เพราะการติหรือชมอะไรบางอย่างก็อาจจะทำให้เสียโลกธรรมเหล่านั้น
หรือวางเฉยเพราะโง่ ไม่รู้ว่าเรื่องใดควรติ เรื่องใดควรชม เลยทั้งไม่ชมไม่ติ อยู่เฉยๆดีกว่า พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง อะไรแบบนี้
หรือวางเฉยเพราะมีความเห็นผิด มีความเข้าใจว่าศาสนาพุทธต้องมีความเป็นกลางไม่เข้าข้างใคร ทำตัวเฉยๆดีที่สุด (มิจฉาทิฏฐิ)
การติและการชม
พระพุทธเจ้าตรัสแสดงบุคคล ๔ จำพวกคือ
๑. บุคคลผู้กล่าวติเตียนผู้ที่สมควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม แต่ไม่กล่าวชมผู้ที่ควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม
๒. บุคคลผู้กล่าวชมผู้ที่สมควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม แต่ไม่กล่าวติเตียนผู้ที่ควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม
๓. บุคคลผู้ไม่กล่าวติเตียนผู้ที่สมควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม และไม่กล่าวชมผู้ที่ควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม
๔. บุคคลผู้กล่าวติเตียนผู้ที่สมควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม และกล่าวชมผู้ที่สมควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม
โปตลิยะปริพาชก ได้ยินก็ทูลว่า ตนชอบใจ บุคคลประเภทที่ ๓ (ไม่ติในสิ่งที่ควรติ ไม่ชมในสิ่งที่ควรชม) เพราะเข้าใจว่าเป็นการปล่อยวาง,วางเฉย (อุเบกขา)
พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ชอบบุคคลประเภทที่ ๔ (ติในสิ่งที่ควรติ ชมในสิ่งที่ควรชม) เพราะมีความประณีตกว่า งามกว่า เพราะรู้กาลเทศะในการติและชม ปริพาชกได้ยินดังนั้นก็ทำความเห็นตามพระพุทธเจ้า กล่าวชมเชยพระพุทธเจ้าว่า “เหมือนหงายของที่คว่ำ, เปิดของที่ปิด, บอกทางแก่คนหลงทาง, เหมือนจุดไฟในที่มืด” และปฏิญาณตนว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
(พระไตรปิฎก เล่ม ๒๑ “โปตลิยสูตร ข้อ ๑๐๐)
ความชัดเจนในความเป็นพุทธ
ถ้ายังมีความเห็นดังเช่นว่า ศาสนาไหนก็สอนเหมือนกัน ทางขึ้นเขามีหลายทาง ทำให้เป็นคนดี พ้นทุกข์ ถึงนิพพานได้เหมือนกัน ความเห็นนั้นยังเป็นความตื้น ความไม่ชัดในสัจจะ ความไม่ชัดเจน ลังเล สงสัย มีความเห็นผิด
พระพุทธเจ้าตรัสชัดเจนว่า ทางพ้นทุกข์มีทางนี้ทางเดียว คือสัมมาอริยมรรค ศาสนาไหนที่ไม่มีมรรคก็ไม่มีผล และแม้ในทางแห่งมรรคนี้ มารก็มักจะมาล่อลวงให้หลงทางได้เช่นกัน นั่นหมายถึงในมรรคก็ยังมีความลวงอยู่ในผู้ที่ไม่ชัดเจน พาให้หลงทางกันไป
การหลุดพ้นจากกิเลสกับการทำความดีนั้นเป็นคนละเรื่องกัน การทำความดีนั้นไม่ได้หมายความว่าจะหลุดพ้นจากกิเลส แต่การหลุดพ้นจากกิเลสคือความดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
ความเป็นพุทธนั้นต้องชัดเจนในความรู้จริงว่า ความรู้ทั้งหมดทั้งมวลในโลกแม้จะมีมากมาย แต่สุดท้ายแล้วความรู้ที่จะสามารถพาให้พ้นทุกข์มีเพียงความรู้ในศาสนาพุทธเท่านั้น
ไม่ใช่รู้เพราะจำเขามา ฟังเขามา แต่เพราะศึกษาและปฏิบัติจนเห็นผลในตนว่านี่แหละ ทางนี้แหละ ทางอื่นไม่ใช่ ทางอื่นไม่เหมือนทางนี้ รู้ชัดในทางปฏิบัติทางนี้ และรู้ข้อดีข้อเสียในทางปฏิบัติทางอื่นว่าทำไมถึงไม่สามารถเข้าถึงมรรคผลอย่างพุทธได้
จะไม่มีความมัว ความไม่ชัด การเหมารวม ฯลฯ ว่าศาสนาอื่นใดหรือผู้ที่ไม่มีศาสนาจะสามารถเข้าถึงธรรมนี้ ได้ดังเช่นผู้ปฏิบัติจนสำเร็จมรรคผลโดยลำดับ
บทวิเคราะห์ : ไม่กินเนื้อสัตว์ไม่เป็นบุญจริงหรือ
บทวิเคราะห์ : ไม่กินเนื้อสัตว์ไม่เป็นบุญจริงหรือ
เป็นอีกหนึ่งประเด็นในปัจจุบันที่ยังมีข้อคิดเห็นที่ขัดแย้งว่าการที่เราไม่กินเนื้อสัตว์นั้น เป็นบุญจริงหรือไม่ แล้วจะเป็นบุญได้อย่างไร และที่สำคัญ “บุญ” คืออะไร?
บุญนั้นเป็นศัพท์เฉพาะของศาสนาพุทธ บุญไม่ใช่กุศล(ความดี) แต่บุญคือการชำระกิเลส และการชำระกิเลสนั้นมีเพียงความรู้ในศาสนาพุทธเท่านั้นที่จะทำได้ และที่สำคัญความรู้เหล่านั้นต้องเป็น “สัมมาทิฏฐิ”
หากเว้นจาก “สัมมาทิฏฐิ” แล้ว บุญหรือการชำระกิเลสนั้นไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นมาได้เลย ถึงจะทำดีแค่ไหนก็อยู่ในขอบเขตของกุศล แต่ไม่เป็นบุญ เพราะการทำดีนั้นไม่ได้หมายความว่าจะชำระกิเลสได้ การทำดี(กุศล) ไม่ว่าศาสนาไหนต่างก็สอนให้ทำดีเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งจะมีคำสอนแตกต่างกันไป แต่พุทธนั้นมุ่งเน้นการหยุดบาปเสียก่อนเป็นอันดับแรก บาปนั้นคือกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง และสิ่งที่จะมาชำระบาปเหล่านั้นก็คือ “บุญ”
ซึ่งการชำระกิเลสของพุทธนั้นเป็นเรื่องที่มีขั้นตอน เบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย มิใช่แค่เพียงตั้งใจทำตนเป็นคนดี ทำทาน มีน้ำใจ เสียสละเท่านั้น แต่ต้องลงไปกำจัดความหลงติดหลงยึดที่มีในจิตใจ การทำลายความหลงได้โดยลำดับนั้นเองที่เรียกว่า “บุญ”
สัมมาทิฏฐิ
คือความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ แล้วจะเห็นอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ จะยกสัมมาทิฏฐิ ข้อ ๑ ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง คือ “ทานที่ให้แล้วมีผล” (อัตถิ ทินนัง) มีผลอย่างไร ทำอย่างไรจึงเรียกว่ามีผล เป้าหมายเดียวของของศาสนาพุทธนั้นคือทำลายกิเลสจนสิ้นเกลี้ยง นั่นหมายความว่า ทานที่ทำไปแล้วนั้นต้องมีผลในการลดกิเลสจึงจะสัมมาทิฏฐิ ถ้าทานใดทำแล้วไม่มีผลลดกิเลส ก็ไม่เรียกว่ามีผล ไม่เป็นบุญ แต่ก็มีกุศลตามกรรมที่ทำไป
ไม่ใช่ว่าการทำทานทุกครั้งจะลดกิเลสได้ ส่วนใหญ่ทำทานไปก็เพิ่มกิเลส เพิ่มความหลงติดหลงยึดไปด้วยซ้ำ เช่น ทำทานไปแล้วก็ขอให้ฉันได้แบบนั้นแบบนี้ หรืออย่างน้อยๆก็ขอให้ฉันได้ความสุข ได้ทำความดี ได้เป็นคนดี แต่ก็ไม่ได้มีการลดความตระหนี่ถี่เหนียวที่เป็นกิเลสในใจลงไปเลย ทานนั้นจึงยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ ทำแล้วไม่มีผล (นัตถิ ทินนัง)
บุญกิริยาวัตถุ
หมายถึงเราจะสามารถทำให้เกิดบุญ (ชำระกิเลส) ด้วยกันทั้งหมด ๑๐ วิธี ซึ่งในการไม่กินเนื้อสัตว์นี้เอง จะถูกจัดอยู่ในหมวดของทาน (ทานมัย) คือการสละ ซึ่งการสละในที่นี้อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องเงินทอง วัตถุสิ่งของ แต่สามารถสละโอกาส สละสิทธิ์ สละเวลา สละสิ่งใดๆก็ตามที่เรามีโอกาสในการครอบครองให้ผู้อื่น
ซึ่งการไม่กินเนื้อสัตว์ก็คือการสละสิทธิ์ในการกินเนื้อสัตว์ เขามีเงินซื้อนะ หรือมีคนเอามาให้ด้วย เขาได้รับมาโดยชอบธรรม แต่เขาสละออก เขาไม่เอาไว้บำเรอตน เขาเอาคืนให้คนอื่น ซึ่งการสละตั้งแต่แรกก็คือการไม่เลือกที่จะกินเนื้อสัตว์เลย เหมือนกับแม่ที่สละสิทธิ์ในอาหารที่น่าอร่อยชิ้นหนึ่ง เพื่อเก็บไว้ให้ลูกของตน ส่วนตนเองยอมไม่กิน เพราะหวังจะให้ลูกของตนได้กินอาหารชิ้นนั้น จึงยอมสละสิทธิ์ในอาหารชิ้นที่ตนควรจะได้นั้น ทั้งๆที่กินไปก็ไม่มีใครรู้ กระบวนการนี้เรียกว่าทานเช่นกัน (สละความเห็นแก่ตัวออกไป)
แต่กระบวนการข้างต้นอาจจะไม่เป็น “บุญ” เลยก็ได้ เพราะ การเกิดบุญ (ชำระกิเลส) ได้นั้นต้องมีความเห็นที่ถูกตรง เห็นอะไร คือเห็นทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีปฏิบัติสู่การดับทุกข์ ในกรณีที่ยกตัวอย่างข้างต้น จะไม่เป็นบุญถ้าคุณแม่คนนั้น มีจิตลำเอียง รักใคร่ในลูกตนจนเกิดความเสียสละซ้อนขึ้นมา “อยาก” ให้ลูกได้กินของอร่อย ก็เรียกว่าการเสียสละธรรมดา เป็นคนดีตามที่โลกเข้าใจ แต่ไม่เป็นบุญเพราะไม่ได้มีการชำระกิเลส
ซึ่งถ้าจะให้เกิดบุญ ต้องมีรายละเอียดของจิต เช่น เห็นความอยากกินอาหารชิ้นนั้นของตน แล้วชัดเจนว่าเราไปติดกิเลสตัวไหน รูป รส กลิ่น สัมผัส? เมื่อเห็นว่าเราหลงติดหลงยึดในอาหารอาหารชิ้นนั้นแล้ว จะเลือกต่อต้านกิเลส โดยการสละออกก็ได้ คือไม่ให้อาหารกิเลส ไม่ตามใจกิเลส ต่อต้านกิเลส ใช้ตบะเผากิเลส ขัดขืน แข็งข้อ เช่นนี้จึงเรียกว่าเป็นบุญ คือสามารถชำระกิเลสได้โดยลำดับ ส่วนผลจะเป็นอย่างไร จะเก็บไว้ให้ลูกหรือจะเอาให้คนอื่นก็จะต้องพิจารณาต่อไป ซึ่งอาจจะไปติดกิเลสอีกตัวเช่นรักลูกตนจนไม่เผื่อแผ่คนที่ขาด เป็นต้น
บุญกิริยาวัตถุนั้นมีทั้งหมด ๑๐ ข้อ ทุกข้อสามารถปฏิบัติจนเกิดเป็นบุญหรือการชำระกิเลสได้ทั้งหมด แต่มีข้อแม้ว่าต้องสัมมาทิฏฐิ ถ้าทำทุกกิจกรรมแบบมิจฉาทิฏฐิก็ไม่เกิดบุญ ไม่มีการชำระกิเลสใดๆ
การไม่กินเนื้อสัตว์เป็นบุญอย่างไร
ดังที่ยกตัวอย่างมาในข้อก่อนหน้านี้ จะเห็นว่าการไม่กินเนื้อสัตว์นี้เอง เป็นการสละสิทธิโดยชอบธรรมที่สังคมเข้าใจว่าทุกคนกินเนื้อสัตว์ได้ไม่ผิดอะไร แต่ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์นั้นกลับเลือกที่จะสละสิทธิ์ที่ควรได้นั้น ไม่รับสิทธิ์นั้น แม้ว่าในทุกวันนี้ใครจะกินเนื้อสัตว์ยังไง แบบไหน เท่าไหร่ ก็ไม่มีใครสนใจ แต่ผู้ที่ไม่กินนั้นก็เลือกสละโอกาสนั้นทิ้งไปด้วยเหตุผลอันเป็นกุศลตามที่เขาเข้าใจ
เช่นเดียวกับตัวอย่างที่ยกมาก่อนหน้านี้ การไม่กินเนื้อสัตว์จะเป็นบุญก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเห็นของผู้ไม่กินนั้นว่าจะสามารถเข้าใจอย่างสัมมาทิฏฐิหรือไม่ ถ้าเข้าใจถูกก็เป็นบุญ (เกิดการชำระกิเลส) ถ้าเข้าใจไม่ถูกก็เป็นกุศล เป็นความดี เพราะเกิดการเสียสละซึ่งมีผลเจริญเช่นกัน เรียกได้ว่าแม้จะเข้าใจถูกหรือไม่เข้าใจก็มีผลดีทั้งนั้น
กรณีของการกินที่ไม่เป็นบุญ ไม่มีการชำระกิเลส คือการกินด้วยความเห็นว่าดี เป็นการเสียสละ ละเว้นชีวิตสัตว์ เพื่อสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งก็เป็นสิ่งดี แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำกันโดยทั่วไป ศาสนาหรือความเชื่อใดก็สามารถมีความเห็นเช่นนี้และสามารถละเว้นการกินเนื้อสัตว์ได้อย่างบริสุทธิ์ด้วยความมุ่งมั่นในการทำดีเหล่านี้
แต่ในกรณีของพุทธนั้นต่างออกไป ศาสนาพุทธพุ่งเป้าที่การชำระกิเลสในสันดานให้ออกจนหมด แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สนใจโลก ยกตัวอย่างง่ายๆ คือพุทธนั้นจะขุดลงไปที่รากของปัญหาคือกิเลสก่อน แล้วค่อยวกกลับมาใช้ความเห็นที่เป็นกุศลต่างๆดังที่เข้าใจกันโดยทั่วไปนั้น ทำความเห็นให้ตรงและปฏิบัติไปสู่การพ้นทุกข์ ซึ่งผลสุดท้ายของการปฏิบัติแบบพุทธนั้นมีภาพออกมาจะคล้ายๆกับคนไม่กินเนื้อสัตว์ทั่วไป
ยกตัวอย่างเช่น เรามีความอยากกินเนื้อสัตว์ เรารู้สึกถึงร่างกายที่แสดงอาการเมื่ออยากเนื้อสัตว์ หงุดหงิด งุ่นง่าน อยากจะได้เนื้อสัตว์มาเสพ รู้สึกว่าตนเองนั้นเป็นทุกข์มากเพราะความอยาก ตรวจลงไปในจิตก็พบว่ามันอยากเสพสัมผัส รส กลิ่น และที่สำคัญคือรูปร่างหน้าตาของเนื้อที่ชวนฝันนั้น เมื่อเห็นดังนั้น จึงใช้ความจริงตามความเป็นจริงเข้ามาต้านพลังกิเลสที่ชวนฝันนั้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่ออยากลิ้มรสก็พิจารณารสเนื้อดิบ เมื่ออยากได้กลิ่นย่างหอมๆก็พิจารณากลิ่นเลือด เมื่ออยากได้สัมผัสนุ่มๆก็ให้พิจารณาสัมผัสเนื้อเน่าจากศพสัตว์ ฯลฯ การพิจารณาอสุภะอย่างหยาบนี้จะช่วยลดความอยากที่รุนแรงลงมาได้
ข้อพิจารณาดังกล่าวนั้นเป็นเบื้องต้นเพื่อลดความกระหายอยากให้สงบลง ซึ่งเรื่องที่ควรจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณานั้นจะต้องเป็นเรื่องที่ค้านแย้งกับสิ่งที่ติด แล้วค่อยๆพิจารณาลงไปถึงกรรมและผลของกรรมหากยังติดเนื้อสัตว์นั้น ความเป็นประโยชน์หากออกจากความอยากนั้น ความเป็นโทษถ้ายังหลงอยู่ในความอยากนั้น รวมทั้งพิจารณาไตรลักษณ์ คือความสุขจากการกินเนื้อนั้นไม่เที่ยง ความอยากกินเนื้อเป็นทุกข์ และความสุขจากการกินเนื้อไม่มีตัวตนอยู่จริง เราปั้นรสสุขและความทุกข์เหล่านั้นขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาหลอกตัวเองจนหลงคิดไปเองว่ามันมีจริง ทั้งที่จริงแล้วรสสุขเมื่อได้เสพเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องจริง พิจารณาไปจนรอบถ้วนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ใคร่ครวญธรรมไปเรื่อยๆ จะสามารถลด “ความอยาก” ได้ ทำให้ความอยากนั้นจางคลายและดับไปได้
ในสภาวะสุดท้ายคือจิตนั้นแนบแน่นแนบเนียนไปตามไตรลักษณ์ คือเห็นเป็นเช่นนั้นจริงๆโดยไม่สงสัยใดๆอีก หมดความหลงในเนื้อสัตว์ เพราะรู้แจ้งชัดเจนในตนเองว่าแท้จริงแล้วสิ่งเหล่านั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ถึงจะไปเสพก็ไม่มีสุขหรือทุกข์ที่เกิดจากแรงของกิเลสเกิดขึ้นอีก ไม่มีทั้งรักทั้งชัง ไม่มีผลักไม่มีดูด หมดสิ้นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกัน ถือเป็นการสิ้นสุดภารกิจของการชำระกิเลสในเรื่องนั้น ซึ่งจะเกิดบุญโดยลำดับไปจนกระทั่งปฏิบัติไปถึงในตอนสุดท้ายจะเรียกว่า “สิ้นบุญสิ้นบาป” หมายถึง หมดหน้าที่ของบุญ คือไม่มีกิเลส(บาป)ให้ชำระในเรื่องนั้นๆอีกต่อไปแล้ว แล้วก็ไปปฏิบัติธรรมเรื่องอื่นต่อเช่น ขนม ของหวาน ฯลฯ
ดังจะเห็นแล้วว่า การปฏิบัติให้เกิดบุญหรือการชำระกิเลส มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ละเอียด ลึกซึ้ง ตั้งแต่การกำหนดรู้อาการของจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปของตนเอง การอ่านเวทนา การรู้จิตว่าปนเปื้อนไปด้วยกิเลสใด จนถึงการสร้างธรรมให้เจริญขึ้นในตนจนหมดความหลงติดหลงยึดในสิ่งนั้น สามารถไม่กินเนื้อสัตว์ได้อย่างปกติ นี่คือการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา
สรุปเกี่ยวกับข้อคิดเห็นที่ว่าการกินเนื้อสัตว์ไม่เป็นบุญ
ในเรื่องการไม่กินเนื้อสัตว์นี้ จะเป็นบุญหรือไม่เป็นบุญก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเห็นของผู้ปฏิบัติ ผู้ที่มีความเห็นที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ (สัมมาทิฎฐิ) ไม่ว่าจะคิด พูด ทำสิ่งใดก็ตาม ก็จะเป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อการชำระกิเลส นั่นหมายถึงเป็นบุญ ส่วนผู้ที่มีความเห็นผิด(มิจฉาทิฏฐิ) ทำให้ตายยังไงก็ไม่เป็นบุญ เพราะไม่เข้าใจว่า “บุญคืออะไร”…
– – – – – – – – – – – – – – –
15.10.2558
บทวิเคราะห์ : การกินไม่มีโทษจริงหรือ? การปฏิบัติธรรมให้เกิดความเจริญ สามารถละเว้นเรื่องอาหารการกินได้จริงหรือไม่?
บทวิเคราะห์ : การกินไม่มีโทษจริงหรือ? การปฏิบัติธรรมให้เกิดความเจริญ สามารถละเว้นเรื่องอาหารการกินได้จริงหรือไม่?
ความเห็นที่ว่าการไปยุ่งวุ่นวายกับการกินไม่ใช่เรื่องของนักปฏิบัติธรรมนั้น มักจะเป็นความเห็นที่มีการนำเสนอขึ้นมาในช่วงเทศกาลกินเจ แท้จริงแล้วศาสนาพุทธใส่ใจเรื่องการกินหรือไม่ หรือเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้ที่เข้าใจว่าการกินไม่มีผล เรามาลองศึกษาบทวิเคราะห์กันดู
มีความคิดเห็นของนักปฏิบัติธรรมบางคนที่เห็นว่าการกินนั้นไม่มีผลต่อการปฏิบัติธรรมบ้าง เลือกกินไปก็ไม่ได้ทำให้จิตใจเจริญบ้าง สนใจเรื่องกินก็ไม่บรรลุธรรมบ้าง แต่ในความเป็นจริงนั้น กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการขัดเกลาหนึ่งของผู้ที่บวชในพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้านี้ “ท่านให้ศึกษาการกินมื้อเดียว”
เปิดเรื่องมาก็เกี่ยวกับเรื่องกินแล้ว การกินมื้อเดียวนั้นอยู่ในจุลศีล ข้อ ๙ เป็นหลักปฏิบัติมาตรฐานในศาสนาพุทธของนักบวชทุกรูปที่พระพุทธเจ้าบวชให้ ถือเป็นศีลต้นกำเนิดของพุทธที่มีมาตั้งแต่แรก เป็นข้อปฏิบัติสู่ความเจริญ ต่างจากพระวินัยที่ถูกบัญญัติขึ้นมาทีหลัง
ท่านยังกำชับไว้ด้วยว่า การกินนี่ต้องประมาณให้ดีนะ (โภชเนมัตตัญญุตา) จะไปสักแต่ว่ากินแล้วกิเลสโตไม่ได้นะ เพราะกินอย่างพุทธคือต้องกินแล้วกิเลสลด กามลด อัตตาก็ลด กามคุณ ๕ เราก็ไม่หลง ความยึดมั่นถือมั่นเราก็ไม่ต้องมี ต้องประมาณให้เกิดความเจริญขึ้นในตน ให้เกิดการชำระกิเลส ให้เกิดกุศล ไม่ใช่แค่กินให้ชีวิตอยู่ไปวันๆ แบบนั้นใครเขาก็ทำกัน เพราะคนจะอยู่ได้ก็ต้องกินอาหารกันทุกคนอยู่แล้ว แต่การจะกินให้เกิดความเจริญนี่มีเฉพาะในพุทธเท่านั้น
พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับเหตุของการเกิดของตัณหา (ตัณหาสูตร) หนึ่งในนั้นคืออาหารที่ได้รับมา นั่นหมายความว่าการกินอาหารทุกวันนี่แหละ จะทำให้เกิดตัณหาได้ แล้วทีนี้คนที่เห็นว่าการกินไม่ใช่เรื่องของนักปฏิบัติธรรม ไม่มีผลต่อความเจริญ ประมาทในอาหาร สุดท้ายตัณหาก็แอบโตกันไปสิ เพราะไม่รู้เหตุของตัณหาว่าเกิดที่ใด พอไปยึดมั่นถือมั่นว่าฉันจะไม่ปฏิบัติเรื่องกิน ก็โดนกิเลสลากไปลงนรกหมด
พอตนเองไม่เท่าทันการเกิดของตัณหาในการกิน แล้วยังไม่ยินดีปฏิบัติธรรมในการกิน ก็เท่ากับเสียโอกาสในการล้างกิเลส เมื่อไม่ได้ตั้งศีลตั้งตบะเพื่อละเว้นอาหารที่จะก่อให้เกิดการกำเริบของตัณหา ถึงจะมีผัสสะแต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะ “เมื่อไม่ตั้งใจละเว้นก็ย่อมเท่ากับ เสพกามได้เท่าที่ใจต้องการโดยไม่มีขอบเขต” พอไม่มีขอบเขตก็เลยไม่มีการปฏิบัติใดๆ เกิดขึ้น จึงกลายเป็นการกินเพื่ออยู่ไปวันๆ โดยไม่รู้เท่าทันตัณหา ตัณหานั้นมีอยู่แต่การรู้การมีอยู่ของตัณหาต้องใช้การละเว้นจากสิ่งเหล่านั้นเพื่อที่จะได้เห็นตัณหา(ใช้อธิศีล) เมื่อไม่ยินดีละเว้นหรือปฏิบัติธรรมในเรื่องอาหารก็คือการปล่อยให้ตัณหาโตโดยไม่รู้ตัว
ซึ่งพระพุทธเจ้าให้ดับปัญหาที่เหตุ การปฏิบัติธรรมนั้นก็เพื่อดับทุกข์ ดับทุกข์ก็ต้องดับที่เหตุ ถ้าอาหารที่ได้มานั้นยังทำให้ตัณหาเกิดอยู่ก็ต้องปฏิบัติกันในเรื่องของอาหาร เพราะตัณหาที่เกิดจากอาหารก็ต้องมาจัดการที่อาหาร จะไปนั่งสมาธิ เดินจงกรมดับมันไม่ได้ ใจมันเกิดความหลงติดหลงยึดในอาหาร ไม่ใช่ว่าขี้เกียจนั่งขี้เกียจเดิน เหตุมันคนละตัวกัน ปัญหาเกิดที่ไหนต้องแก้ที่ตรงนั้น จึงเรียกได้ว่ารู้แจ้งสมุทัย รู้เหตุแห่งทุกข์
ท่านยังตรัสไว้ด้วยว่ากามนี่ให้ละก่อนเลย เพราะกามคือ ข้อปฏิบัติอย่างหยาบช้า (อาคาฬหปฏิปทา) คือ มันชั่วมาก หยาบมาก มีโทษมาก เบียดเบียนมาก ควรละเว้นให้ได้ก่อน คนที่หลงในกามจะมีความเห็นและคำกล่าวดังเช่นว่า “กามไม่มีโทษ” (๒๐,๕๙๖) ดังนั้นผู้ที่เห็นว่ากามไม่มีโทษย่อมตกลงไปในกาม จมสู่กาม มัวเมาในกาม ซึ่งกามในความหมายของพุทธศาสนานั้นกินความกว้างมาก โดยรวมคือการหลงเสพหลงสุข
จะยก “กาม” ที่เกี่ยวกับหัวข้อนี้คือ “กามคุณ ๕ ในอาหาร” เพื่อที่จะชี้ชัดกันว่า ผู้ที่ละเว้นการสำรวมในอาหารการกินนั้นจะมีความเห็นไปทางไหน
กามคุณ ๕ นั้นมีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เช่นเดียวกับกับอาหารนั้นก็มีกามคุณ ๕ แบบครบเครื่อง เรียกว่าเป็นกิเลสที่สัมผัสกันได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่รูปคืออาหารนั้นมีหน้าตาดีไหม น่ากินไหม เพียงแค่เห็นรูปสวยก็อยากกินสิ่งนั้นแล้ว, รสชาติ ของอาหารที่เขาว่าเด็ด ร้านไหนอร่อยต้องไปกิน ร้านไหนไม่อร่อยอยากจะขว้างทิ้ง , กลิ่นที่ยั่วยวนหอมหวาน พัดมาตั้งแต่ไหนทำให้เกิดความอยากกินเพียงแค่สูดกลิ่นเข้าไป, เสียง แค่ได้ยินเสียงผัด เสียงตะหลิวที่โดนกระทะ เสียงผัดดังซู่ซ่าก็ทำให้คิดถึงเมนูที่ชอบใจ เกิดอยากจะกินขึ้นมาทันที , สัมผัส ความกรอบ นุ่ม เย็น ร้อน ฯลฯ ทั้งหลายที่ชวนสัมผัส พากันจ่ายเงินซื้อมากินกันจนหนำใจ
เพียงแค่ยกตัวอย่างเรื่องกามหยาบๆเช่นนี้ ก็เห็นได้ชัดแล้วว่า อาหารนี่เป็นเหตุแห่งตัณหาอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงๆ แล้วยังไงล่ะ? ทีนี้คนที่ปฏิบัติธรรมแล้วตีทิ้งอาหารการกิน มองว่าการกินไม่มีผล เห็นว่าปฏิบัติเรื่องการกินไปก็ไม่เจริญ จะเป็นอย่างไร ….เขาก็โดนกิเลสตลบหลังเข้าสักวันนั่นแหละ เพราะประมาทต่อกาม เพราะกามนั้นล่อลวง กามทำให้ลุ่มหลง ทำให้ประมาทตามประสาของกิเลส
อะไรที่มันน่าใคร่น่าเสพคนเขาก็ไม่อยากจะพรากหรอก ก็หาสารพัดข้ออ้างที่แสนจะดูดีเพื่อให้เสพมันทุกวันนั่นแหละ เพราะมีตัณหา ก็เลยมีอุปาทาน แล้วก็จึงมีภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ไม่จบไม่สิ้น
มันจะจบได้อย่างไรในเมื่อตัณหาไม่ได้ถูกจัดการ ปล่อยไว้เป็นขยะหมักหมม เอาไปแอบซ่อนอยู่ในมุมหนึ่งของจิตใจ แม้วันนี้จะไม่เห็นโทษของมัน แต่วันหนึ่งก็จะรู้ได้เองว่ากามนั้นมีโทษมาก กามเป็นภัยมาก พระพุทธเจ้าจึงตรัสแสดงธรรมให้ปฏิบัติโดยลำดับคือให้จัดการกับกามเสียก่อน แล้วค่อยล้างความยึดมั่นถือมั่น ไม่ใช่ไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วไปมัวเมาเสพกาม อันนั้นมันวิปริตผิดพุทธ
– – – – – – – – – – – – – – –
13.10.2558