ข้อคิด

บทวิเคราะห์ : การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?

October 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,543 views 0

การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?

บทวิเคราะห์ : การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?

                มีข้อขัดแย้งกันในประเด็นของจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปในทางเจริญเมื่อไม่กินเนื้อสัตว์ บ้างก็ว่ามีผล บ้างก็ว่าไม่มีผล หรือถึงจะมีผลก็ไม่ใช่สาระสำคัญอะไร ไม่ใช่สิ่งที่น่าใส่ใจเอามาปฏิบัติ ซึ่งในความจริงแล้วมีผลหรือไม่มีผล เรามาลองวิเคราะห์กันดู

การไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาคือการไม่ส่งเสริมการเบียดเบียน” ความเห็นนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก เป็นสมการแบบแปรผันตามกัน เพราะการที่เราจะได้กินเนื้อสัตว์ก็มาจากการฆ่าในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นหลัก

ทีนี้คนจำนวนหนึ่งที่มีจิตเมตตา ได้รับรู้ถึงการเบียดเบียนที่โหดร้ายทารุณ จึงตั้งใจหยุดการบริโภคหรือหยุดสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสัตว์ ให้สังเกตตรงนี้ว่า จากเมตตานั้นพัฒนาเป็นกรุณา คือนอกจากสงสารแล้วยังลงมือทำด้วย ไม่ใช่ว่าสงสารแล้วยังกินเนื้อเขาอยู่ ซึ่งตรงนี้เป็น”ผล”ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว

มีคนบางพวกซึ่งอาจจะเมตตา แต่ไม่ได้กรุณาอะไร ไม่ได้คิดจะลงมือเปลี่ยนแปลงอะไรให้เกิดสิ่งดีขึ้น คือมีจิตสงสารแต่ก็ปล่อยวางทั้งๆที่ยังไม่ได้ทำอะไร ความเข้าใจเช่นนี้คือทางลัดของกิเลสนั่นเอง ถ้าถามว่าจิตเช่นนี้จะเจริญหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า “ไม่” เพราะสุดท้ายก็เสพกามเหมือนเดิม กินเนื้อสัตว์เหมือนเดิม เป็นปัญญากิเลสทั่วไปในสังคม ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็มีได้ ต่างจากกรณีแรกคือเมตตาแล้วกรุณา คือหยุดเสพกามอันเป็นเหตุให้เบียดเบียนนั้นด้วยจะเห็นได้ว่าการตั้งจิตดังเช่นว่า “ถ้าเลือกได้” จะไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาเลยตลอดชีวิตจึงเป็นเรื่องยากที่ไม่ได้ปฏิบัติกันโดยทั่วไป

การปฏิบัติธรรมให้จิตใจเจริญนั้นมีหลักคือละเว้นจากอกุศล เข้าถึงกุศล ดังนั้นผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจในสัตว์แล้วลงมือช่วย ย่อมมีผลเจริญขึ้นในจิตใจขึ้นมาบ้างแล้ว ต่างจากผู้ที่ไม่สามารถทำจิตเมตตาให้เจริญถึงขั้นลงมือละเว้นทั้งที่มีองค์ประกอบที่เอื้อให้ทำได้

นี่เป็นเพียงเรื่องของเมตตาที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ยังไม่ต้องเข้าหลักปฏิบัติในศาสนาอะไรที่ลึกซึ้ง ก็เห็นแล้วว่ามีผล และไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยทั่วไป เพราะทำได้ลำบาก ต้องใช้ความพยายามต้องอดทนอดกลั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความอดทนอดกลั้น(ขันติ) นั้นเป็นเครื่องเผากิเลสที่ดีอย่างยิ่ง การจะกล่าวว่าการอดทนไม่กินเนื้อสัตว์ไม่มีผลนั้น ย่อมไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้องนัก

การประมาทในกุศลแม้น้อย ก็ยังถือว่าเป็นความประมาทที่ยิ่งใหญ่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย จะกล่าวไปใยว่า เราจะสรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย อนึ่ง เราย่อมสรรเสริญความเจริญ ไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ ไม่สรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย

ความเจริญของจิตใจแม้เพียงเล็กน้อย สามารถพัฒนาไปเป็นความเจริญที่ยิ่งใหญ่ต่อไปได้ ผิดกับคนที่ไม่เห็นดีกับผู้ที่คิดจะนำความเจริญมาสู่จิตใจตน เขาย่อมตกลงสู่ความเสื่อม และยึดมั่นถือมั่นในความเห็นที่ต่อต้านการเข้าถึงกุศลธรรมนั้น จนปิดประตูในการทำกุศลเหล่านั้นเพราะเห็นว่าไม่มีค่า ไม่สำคัญ ไม่มีผล จนเสื่อมจากกุศลธรรมในเรื่องนั้นไปในที่สุด

ผู้ที่ไม่สามารถเห็น “ผล” ในการตั้งใจหยุดเบียดเบียน คือผู้ที่ไม่มีญาณปัญญารับรู้ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้ที่ยังมีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เพราะในความเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ) ในข้อแรกได้กล่าวไว้ว่า “ทานที่ทำแล้วมีผล” แล้วมีผลอย่างไรจึงจะสัมมาทิฏฐิ คือทานที่ทำแล้วนั้นมีผลในการลดกิเลส ลดความหลงติดหลงยึดได้

การจะมีสัมมาทิฏฐิไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องที่รับรู้กันโดยทั่วไป ไม่ใช่แค่อ่านตามแล้วจะเข้าใจได้ แต่ต้องมีญาณปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติอย่างถูกตรงนั้นอยู่ในตน ดังนั้นการที่ใครจะมีความเห็นว่า “การไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ไม่มีผลต่อความเจริญในจิตใจ” ก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ยังมีมิจฉาทิฏฐิ คือไม่สามารถรับรู้ได้ว่า สิ่งใดทำแล้วมีผล สิ่งใดทำแล้วไม่มีผล ทำอย่างไรจึงมีผล ทำอย่างไรจึงไม่มีผลเพราะไม่มีญาณรู้ในผลที่เกิดขึ้นได้

ความเห็นว่ากรรมและผลของกรรมมีผลนั้นเป็นหนึ่งในสัมมาทิฏฐิ ผู้ที่เห็นว่ากรรมที่ทำนั้นไม่มีผล ไม่เห็นว่าสิ่งใดที่ทำลงไปไม่ว่าจะดีหรือร้ายนั้นมีผล ก็จะทำให้เกิดความประมาท และร้ายยิ่งกว่าสำหรับผู้ที่รู้ว่ากรรมนั้นส่งผลเสีย เบียดเบียน เป็นทุกข์ แต่ก็ไม่คิดจะหยุดทำกรรมชั่วนั้นทั้งๆที่สามารถหยุดได้ คนเช่นนี้ไม่มีกำลังในการต้านความชั่วเลย สติก็ไม่มี ปัญญาก็ไม่มี จึงใช้ชีวิตโดยประมาท ปล่อยให้กรรมชั่วนั้นดำเนินต่อไป

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ ธรรม ๓ ประการนี้เป็นลักษณะของคนพาล ๑. ไม่เห็นว่าสิ่งที่เป็นโทษนั้นเป็นโทษ ๒.เมื่อเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นโทษแล้วไม่แก้กลับให้ถูกตามธรรม ๓. เมื่อผู้อื่นชี้ให้เห็นโทษ ก็ไม่ยอมรับรู้ตามธรรมนั้น “ ดังนั้นผู้ที่ได้รับรู้แล้วว่าสิ่งใดเบียดเบียน แต่ไม่พยายามหลีกเลี่ยงหรือละเว้น ทั้งยังทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ย่อมไม่สามารถเข้าถึงกุศลธรรม กลายเป็นคนพาลในที่สุด

จริงอยู่ที่ว่า ในหมู่ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์อาจจะมีผู้ที่ไม่ได้มีผลเจริญในจิตใจขึ้นมาเลย แต่ก็ไม่สามารถเหมาได้ว่าทุกคนนั้นไม่มีผล เพราะคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยความเห็นถูกตรงก็มี ดังนั้นการจะเหมาเอาว่าการไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่มีผล จึงเป็นความประมาทของผู้ที่กล่าวข้อความเช่นนี้

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ประมาทก็เหมือนกับคนที่ตายแล้ว เช่นเดียวกันกับคนที่คิดว่าการไม่กินเนื้อสัตว์ไม่มีผล เขาย่อมตายจากกุศลธรรมที่ควรจะเกิด ตายจากความเจริญที่ควรจะมี ตายจากความดีที่เคยเป็นมา

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ใช้ธรรมะหาเงิน

October 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,104 views 0

ที่ไหนเอาธรรมะไปหาเงิน ที่นั้นความเสื่อมได้เกิดขึ้นแล้ว

บำเรอความรัก ด้วยกิเลส คือความทุกข์

October 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,112 views 0

หากเราให้ความหมายของความรักด้วยการ…

บำเรอกันด้วยคำหวาน
บำเรอกันด้วยการเอาใจตามใจ
บำเรอกันด้วยเงินหรือวัตถุ
บำเรอกันด้วยเรือนร่าง
บำเรอกันด้วยการสมสู่
บำเรอกันด้วย … ฯลฯ

….เข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นคือตัวชี้วัดความรัก ก็เตรียมตัวได้เลยว่าความรักเช่นนั้นจะต้องพังลงในสักวันหนึ่ง และทิ้งไว้เพียงซากปรักหักพักที่ยากจะเก็บกู้ เป็นขยะในจิตใจที่สร้างทุกข์ไปอีกนานแสนนาน นานเท่าที่เคยได้สร้างสิ่งเหล่านั้นไว้

ความรักที่ไม่บำเรอกันนั้นต่างออกไป แม้ว่าในวันหนึ่งมันจะต้องเสื่อมสลายไปตามกาล แต่มันจะไม่มีซากอะไรหลงเหลืออยู่ให้ต้องเป็นทุกข์ เพราะไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมาตั้งแต่แรก

ใกล้กลียุคจิตใจคนวิปริต…

October 11, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,220 views 0

ใกล้กลียุคจิตใจคนวิปริต...

ใกล้กลียุค จิตใจคน วิปริต

สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด เลี่ยงศึกษา

มุ่งเสพกาม ยึดยั่วเย้า เมาอัตตา

เหมือนเป็นบ้า อวดมิจฉา ทิฏฐิตน

 

เห็นกงจักร เป็นดอกบัว นั่นหลงผิด

เห็นเบียดเบียน นั้นเป็นมิตร กับมรรคผล

อวดอ้างเกียรติ์ หยิ่งศักดิ์ศรี ทะนงตน

ยังเวียนวน อยู่ในโลก และอัตตา

– – – – – – – – – – – – – – –

บทขยาย

วันเวลาได้ผ่านจากยุคที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีความเจริญทางจิตใจสูงสุด ก้าวไปสู่ความเสื่อมอย่างที่สุดจนประมาณไม่ได้ ที่เรียกกันว่า “กลียุค” ซึ่งตอนนี้ก็เดินทางมาเพียงแค่กึ่งหนึ่ง กลับเห็นได้ว่าจิตใจของคนนั้นต่ำลงอย่างน่าใจหาย

ในยุคที่ผู้คนไม่สามารถแยกแยะถูกผิดดีชั่วได้ มีแต่เรื่องผลประโยชน์ ตามจิตใจที่โลภ โกรธ หลงทั้งหลาย ปล่อยให้มีการฆ่าสัตว์ได้โดยไม่มีความละอาย โกงบ้านโกงเมืองจนฉิบหาย มีชู้มีกิ๊กยั่วกามกันให้วุ่นวาย โกหกปกปิดซับซ้อนไร้ความจริงใจ เพราะลุ่มหลงมัวเมาในกิเลส และไม่เคยคิดจะศึกษาว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร สนใจเพียงแต่ฉันจะได้เสพอะไร ฉันจะได้ครอบครองอะไร ฉันจะได้เป็นอะไร ฯลฯ

คนส่วนใหญ่นั้นลุ่มหลงอยู่กับกาม อยากได้อยากเสพ ให้ชัดกันก็เรื่องกิน เป็นเรื่องที่แสดงว่าสังคมเสื่อมไปสู่กาม แต่ก็ไม่เคยมีใครตระหนัก ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้ร้านอาหารเกิดขึ้นมากมาย เมนูต่างๆล้วนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อมอมเมาคนผู้หลงในกาม ต้องอร่อย ต้องดูดี ต้องแปลกใหม่ ฯลฯ คนก็แห่กันไปเสพกามด้วยความเมา ตนเองเมายังไม่พอยังมาอวดชาวบ้าน เอามายั่วชาวบ้าน “นี่ฉันได้เสพกาม, ฉันสุขในกาม, พวกเธอจงมาเสพกามอย่างฉัน” เพราะมีความยึดว่ากามนั้นคือสุขของฉัน เป็นตัวฉัน ฉันต้องเสพกาม ฉันคือกาม เป็นตัวตนของกันและกันในที่สุด

แล้วก็หลงไปว่าการหลงในรสเสพรสสุขเหล่านั้นไม่เป็นไร ไม่ขัดขวางความเจริญ เราสามารถเสพกามไปได้ พร้อมๆกับปฏิบัติธรรมให้พ้นทุกข์ไปได้ อวดมิจฉาทิฏฐิให้เห็นกันชัดๆแบบไร้ยางอาย คือความเสื่อมของผู้ที่เห็นผิดเป็นถูก แล้วยกทิฏฐิตนเป็นใหญ่

เป็นสภาพที่เห็นผิดเป็นถูกโดยสิ้นเชิง มืดบอดอย่างไร้แสงใดๆจะเข้ามาทำให้ปัญญานั้นสว่างขึ้นมาได้ เพราะเห็นกงจักรเป็นดอกบัวไปแล้ว ก็หลงยึดเอาว่ากงจักรนั้นคือความเจริญ แท้ที่จริงแล้วมันเป็นความเสื่อม ยิ่งขยันยิ่งเสื่อม ยิ่งเผยแพร่ก็ยิ่งเลวร้าย และที่ร้ายที่สุดคือเห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นถูกต้องที่สุดในโลก เป็นเหมือนกับความเพี้ยนที่ซ้อนอยู่ในความเป็นพุทธ และแนบแน่นแนบเนียน จนคนจับไม่ได้ เป็นยิ่งกว่ามายากล ยิ่งกว่าภาพลวงตา เพราะมันคือมิจฉาทิฏฐิลวงใจ ก็เลยล่อลวงคนผู้ตาบอดให้หลงตามไปได้มากมาย

เมื่อถูกกิเลสครอบงำเข้ามากๆ จะไม่สามารถแยกดีแยกชั่วได้ จะมองเห็นว่าแม้ตนจะไม่เลิกเบียดเบียน ก็ยังสามารถเกิดปัญญารู้แจ้งบรรลุธรรมได้ นั่นคือสภาพที่เลี้ยงกิเลสไปด้วยแล้วปฏิบัติมิจฉามรรคไปด้วย คือหลงไปเข้าใจว่าการเบียดเบียนกับการรู้แจ้งในศาสนาพุทธนั้นไม่มีความเกี่ยวเนื่อง ไม่มีนัยสำคัญต่อกัน ทั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า พระอริยะหรือสาวกแท้ๆ ของท่านนั้น คือผู้ไม่เบียดเบียน

การเบียดเบียนนั้นมีหลายมิติ ทั้งแต่หยาบๆ เช่นมัวเมาในอบายมุข, ผิดศีล ๕ และละเอียดไปจนผิดในอธิศีลอื่นๆตามลำดับ ยกตัวอย่างการเบียดเบียนหยาบๆเช่นการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา เพราะไปมีความเกี่ยวเนื่องกับการฆ่า ถ้าจะให้ไม่เกี่ยวคือไม่ต้องเอามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตเลย ถ้ากินอยู่ก็เกี่ยว เอาตัวไปร่วม เอากรรมไปร่วม ยังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ และนั่นหมายถึงเบียดเบียนตนเองด้วยเช่นกัน หรือยกอีกตัวอย่างคือการกินเหล้าสูบบุหรี่ มันเป็นของไม่มีประโยชน์ ไม่จำเป็นต้องเอามาใส่ร่างกายให้มันเบียดเบียนตนเอง เสียสุขภาพ เสียเงิน เสียเวลา หาประโยชน์ไม่ได้ คนที่มีปัญญารู้ประโยชน์ในการหยุดเบียดเบียนตนเองก็มีทิศทางที่จะลด ละ เลิก ส่วนคนที่หลงในกิเลสก็จะมีข้ออ้างที่แสนจะสวยหรูเพื่อไม่ให้ตัวเองได้เลิก นี่เป็นเพียงการเบียดเบียนหยาบๆเท่านั้น

เมื่อโดนกิเลสหลอกเข้ามากๆ จนเสพติด ยึดติดเข้ามากๆ เมื่อมีคนมาทักว่าทำไมถึงไม่เลิก ทำไมยังเบียดเบียนตนและผู้อื่นอยู่ ทั้งที่มีเหตุปัจจัยให้เลิกได้โดยไม่เกิดผลเสีย ก็มักจะมีอาการตอบสนองที่รุนแรง มีการโต้กลับ เพราะยึดในเกียรติ์ ศักดิ์ศรี เพราะตนนั้นมีอัตตามาก ผู้ที่บรรลุธรรมจะมีภาวะของอุเบกขาเป็นพื้นฐาน ซึ่งมีลักษณะอยู่ข้อหนึ่ง คือ “มุทุ” หมายถึงหัวอ่อนดัดง่าย มีความแววไวในการปรับเปลี่ยนไปทางกุศล จะไม่ต้านทานสิ่งที่เป็นกุศล แต่จะน้อมไปทางกุศล ในทางที่ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น แม้สิ่งที่ได้ยินได้ฟังนั้นจะขัดกับสิ่งที่ตนเคยเข้าใจก็ตาม

เมื่อมีอัตตาจึงแข็ง ไม่มีอัตตาก็ไม่แข็ง โอนอ่อนพลิ้วไหวไปในทิศทางแห่งกุศล แต่ถ้ามีอัตตามากๆ จะไม่พลิ้วไหว จะยึด จะปักมั่น ทุกอย่างต้องปรับเปลี่ยนเข้ามาหาตัวฉัน โลกต้องหมุนรอบตัวฉัน ฉันถูกคนอื่นผิด ฉันเก่ง ฉันเยี่ยม ฉันดี ฉันเลิศ ทำให้ได้อย่างฉันหรือยัง ทำให้ได้อย่างฉันเสียก่อนแล้วค่อยมาติ ให้รู้บ้างว่าใครเป็นใคร … เป็นต้น

สรุปแล้วคนที่มีอัตตามากๆ แล้วยังหลงผิด คิดว่าจะมีมรรคผลได้โดยที่ไม่ลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าให้สร้างประโยชน์ตนและผู้อื่นให้ถึงพร้อม พวกเขาจึงยังคงหลงอยู่ในความเป็นโลก อยู่ในความเวียนวนของโลก เหมือนปลาตายที่ลอยไปตามน้ำ แล้วแต่ชะตากรรมจะซัดพาไป ไม่มีแรงขัดขืนโลก โดยมีอัตตาเป็นตัวปิดประตูตอกฝาโลงฝังตัวเองให้ยึดติดอยู่ในความเห็นที่ตัวเองเข้าใจเช่นนั้น ไปชั่วกาลนาน

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)