ข้อคิด
ปล่อยวาง เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น
ปล่อยวาง เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น
คำว่าปล่อยวางนั้นมักจะเป็นคำที่นิยมใช้เมื่อชีวิตเจอกับอุปสรรคที่เป็นดั่งกำแพง ไม่สามารถทำอะไรได้ ทำได้แค่ปล่อยวางเท่านั้น การปล่อยวางตามความเข้าใจเช่นนี้เป็นสมมุติที่ใช้กันโดยทั่วไปในสังคม แต่สำหรับการปฏิบัติธรรมนั้นยังมีมิติหนึ่งที่ล้ำลึกกว่า
การปล่อยวางในทางธรรมนั้นไม่จำเป็นต้องรอให้ชีวิตไปเจอกับปัญหาและอุปสรรค แต่เป็นการปล่อยวางกิเลสตัณหาตั้งแต่ปัญหาเหล่านั้นยังไม่มาถึงโดยใช้ศีลเป็นเครื่องกั้นให้เห็นอุปสรรค แล้วปฏิบัติไตรสิกขาเพื่อที่จะปล่อยวางปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อถือศีล
การที่เราจะปล่อยวางได้อย่างแท้จริงนั้น เราต้องรู้ก่อนว่าเรายึดมั่นถือมั่นในอะไร ถ้าไม่รู้ว่าตนเองถืออะไรไว้ ก็จะไม่สามารถปล่อยวางสิ่งเหล่านั้นได้ เพราะกิเลสนั้นเป็นเหมือนยางเหนียวติดแน่นไปกับจิตใจเรา มองดูเผินๆก็จะเป็นเหมือนตัวเราของเรา เหมือนเปลือกที่ห่อหุ้มเรา แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เรา
ถ้าเราไม่รู้ว่ายึดมั่นถือมั่นอะไรไว้ การปล่อยวางนั้นก็คงจะเป็นได้แค่ วาทกรรมที่ดูดีเท่านั้น เพราะกิเลสตัวเองยังไม่มีปัญญาเห็นแล้วจะเอาปัญญาที่ไหนไปปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น
ดังนั้นถ้าจะปล่อยวางได้อย่างแท้จริง อันดับแรกต้องรู้ไปถึงเหตุก่อนว่าถืออะไรไว้ ไอ้ที่ไปหลงสุขหลงเสพมันไปหลงตรงไหน ติดอะไร เพราะอะไร สุขยังไง เมื่อเห็นเหตุแล้วก็ค่อยทำความจริงให้แจ่มแจ้งท่ามกลางความลวงของกิเลส ให้มันพ้นสงสัยกันไปเลยว่าที่เราไปหลงสุขอยู่นั้นมันลวง ความจริงคือมันไม่มีสุขเลย
เมื่อเห็นจริงได้ดังนั้น สุดท้ายเราก็จะปล่อยจะคลายได้ด้วยปัญญาของตัวเอง เพราะไม่รู้ว่าจะเอาความฉลาดของกิเลสที่ไหนไปยึดสุขลวงเหล่านั้นไว้อีก กลายเป็นสภาพปล่อยวางเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นในกิเลสนั้น เป็นการปล่อยวางอย่างพุทธ ไม่ใช่การปล่อยวางที่ปากแต่ยังหนักใจแบบที่ประพฤติและปฏิบัติกันโดยทั่วไป
– – – – – – – – – – – – – – –
17.12.2558
การบริหารชีวิตเพื่อความเจริญในทางโลกและทางธรรม ประหยัดกิเลสลด ลงทุนกิเลสเพิ่ม
การบริหารชีวิตเพื่อความเจริญในทางโลกและทางธรรม ประหยัดกิเลสลด ลงทุนกิเลสเพิ่ม
การใช้ชีวิตที่เรียกได้ว่าเจริญไปในทางโลกคือความไม่ขัดสนในปัจจัย ๔ แต่ก็ไม่ฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น และความเจริญในทางธรรมคือสามารถใช้ชีวิตทำกิจกรรมการงานไปพร้อมๆกับลดกิเลสได้
ในความเข้าใจของคนทั่วไปนั้น มักจะแสวงหารายได้ที่เพิ่มมากขึ้นให้มาจุนเจือชีวิตและความต้องการของตน หลายคนประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน และทางออกของเขาเหล่านั้นก็คือการหารายได้เสริม ลงทุน เก็งกำไร หรือช่องทางอื่นๆเพิ่มเติม
ความต้องการเหล่านั้นโดยมากเกิดจากกิเลส เป็นความต้องการที่ไม่มีวันสิ้นสุด ไม่รู้ว่าปลายทางของมันอยู่ตรงไหน แม้เราจะพยายามหาเงินมาเติมเต็มเท่าไหร่ แต่ความอยากกลับพุ่งทะยานออกไป คว้าสิ่งใหม่ๆมาเติมอยู่เรื่อยๆ
รายได้ในปัจจุบันของเราไม่พอจริงหรือ? ทำไมคนที่รายได้ต่ำกว่าเราเขายังมีชีวิตอยู่ได้ นั่นหมายความว่าจริงๆแล้วรายได้เราพอ แต่ใจเราไม่พอ เมื่อใจเราไม่พอ ถึงจะมีรายได้เข้ามาเพิ่มเติมเท่าไหร่ก็จะไม่มีวันพอที่จะสนองต่อตัณหาของคนที่หนาไปด้วยกิเลส
ประหยัดกิเลสลด
การประหยัดจะมีทิศทางที่ขัดกับกิเลส เมื่อเรารู้สึกอยากได้อยากเสพอะไร ให้เราตั้งใจไว้เลยว่าเราจะประหยัด ไม่ซื้อไม่กินสิ่งที่ฟุ่มเฟือย ก็จะเป็นการต่อต้านกิเลส ซึ่งจะมีผลทำให้กิเลสนั้นลดลงได้
ความประหยัดต่างจากความตระหนี่ ขี้งก ขี้เหนียว ประหยัดคือกินใช้เท่าที่จำเป็น ตระหนี่คือควรกินควรใช้แล้วไม่ยอมใช้ให้เกิดประโยชน์
การประหยัดนี้เองจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เป็นการบริหารต้นทุนชีวิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยให้มีรายได้เท่าเดิม แต่รายจ่ายลดลง ทำให้มีเงินเหลือเก็บมากกว่าเดิม เกิดประโยชน์ทั้งในทางโลกและทางธรรม
แต่โดยมากแล้ว คนมักจะไม่แก้ปัญหาที่การประหยัด ไม่แก้ปัญหาที่ตัวเอง กลับไปแก้ปัญหาโดยการแสวงหาเงินเพิ่ม ไปแก้ปัญหาที่องค์ประกอบภายนอก
ลงทุนกิเลสเพิ่ม
เมื่อใจคนเราไม่รู้จักพอ ก็มักจะแสวงหางานเพื่อให้ได้เงินมาเพิ่ม ถ้ามักง่ายหน่อยก็ลงทุนบ้าง เก็งกำไรบ้าง เล่นพนันบ้าง ซื้อหวยบ้าง ฯลฯ ซึ่งก็มักจะเข้าขีดของอบายมุขอยู่เนืองๆ
เพราะมีความเห็นว่า ต้องให้มีรายได้มากขึ้น เพื่อนำมาปรนเปรอ “ความอยาก” ที่ทำให้มีรายจ่ายมากขึ้น ดังนั้นทุกครั้งที่ทำงานหรือลงทุนแล้วได้เงินมาแก้ปัญหาการเงินจากความอยากที่ฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น นั่นหมายความว่ากิเลสจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะยิ่งสนองกิเลสเท่าไหร่ กิเลสก็ยิ่งโตเท่านั้น แม้จะไม่สนองกิเลส อดทน กดข่มโดยไม่เข้าใจความจริงว่าความอยากเหล่านั้นสร้างโทษอย่างไร กิเลสก็จะโตเช่นกัน สุดท้ายก็จะเกิดสภาพที่เรียกว่าตบะแตก
การลงทุนลงแรงที่กิเลสไม่เพิ่มก็มีเช่นกัน ในกรณีที่ว่าปัจจัยสี่นั้นไม่พอเลี้ยงชีวิต ก็จำเป็นต้องออกไปหางานทำเพิ่ม เอาภาระเพิ่ม เหนื่อยเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้เงินมาดำรงชีวิต ในกรณีนี้เป็นกุศล เพราะออกจากความขี้เกียจ ไปสู่ความขยันที่จะพาให้ชีวิตเจริญขึ้น
แต่โดยมากในสังคมนั้น คนมักจะไม่พอใจกับรายได้ของตน แต่ก็ไม่คิดว่าจะต้องประหยัด ซึ่งมักจะหาทางออกด้วยการทำงานเพิ่ม ลงทุนเพิ่ม เสี่ยงดวงเล่นพนันเพิ่ม เพื่อให้ได้เงินมาจับจ่ายใช้สอยสิ่งที่จะมาสนองตัณหาของเขาเหล่านั้น
การมีรายได้มาก หรือมีความร่ำรวย ไม่ใช่สาระของชีวิต แต่การที่ชีวิตจะมีคุณค่า มีสาระนั้น คือการเลี้ยงชีพบนความถูกต้อง ใช้จ่ายอย่างเหมาะสม ไม่ยอมให้ตัณหาครอบงำ และใช้วันเวลาที่มีอยู่ในโลกนี้ทำลายความหลงติดหลงยึดของตน พร้อมกับสร้างประโยชน์กลับคืนให้สังคมและโลก นี้จึงเรียกว่าเกิดมามีคุณค่า มีประโยชน์ ไม่เกิดมาตายเปล่า
– – – – – – – – – – – – – – –
1.12.2558
เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส
เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส
ในทุก ๆ การตัดสินใจของชีวิตของคนที่ยังมีกิเลส ก็มักจะต้องเลือกระหว่างกิเลสหรือธรรมะ สองสิ่งนี้เป็นทางเลือกอิสระที่ให้ผลต่างกัน
กิเลสคือสิ่งที่จะพาให้ทุกข์ พาเสื่อม ห่างไกลความผาสุกในชีวิต ในขณะที่ธรรมะนั้นคือสิ่งที่จะพาให้พ้นทุกข์ นำความเจริญมาให้ และเข้าใกล้ความผาสุกที่ยั่งยืน
กิเลสและธรรมะนั้นไปด้วยกันไม่ได้ หากเราเลือกกิเลส เราก็จะต้องเสียธรรมะไป หากเราเลือกที่จะเสพสุขกับบางสิ่งบางอย่าง เราก็จะเสียโอกาสในการเข้าถึงธรรมเพราะมัวแต่สนใจสุขลวง เช่น นักบวชในพุทธศาสนาที่เลือกที่จะมีคู่ ก็ต้องสึกและเสื่อมจากธรรมเพื่อแลกกับการเสพโลกีย์สุข
ไม่มีอะไรได้มาโดยที่ไม่เสียอะไรไป เมื่อเราเลือกที่จะเสพโลกีย์สุขตามคำสั่งของกิเลส เราก็จะเสียโอกาสในการเข้าถึงโลกุตระสุขที่ปราศจากกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ปราชญ์พึงเห็นความสุขอันไพบูลย์ เพราะสละความสุขพอประมาณไซร้ เมื่อปราชญ์เห็นความสุขอันไพบูลย์ พึงสละความสุขพอประมาณเสีย”
สุขจากกิเลสนั้นสุขน้อยทุกข์มาก หรือเรียกว่าเป็นสุขลวง ซึ่งการจะเห็นสุขแท้ที่ยั่งยืนนั้นต้องยอมสละสุขลวงจากกิเลส แต่การจะเห็นสุขแท้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีคำกล่าวว่า “นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” ถึงกระนั้นสุขแท้จริงเหล่านั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะสัมผัสมันได้ง่ายนัก เพราะถ้าหากสุขแท้นั้นเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้โดยทั่วไป รู้ได้โดยภาษา เข้าถึงได้โดยการเพ่งเพียรปฏิบัติ ทุกคนก็คงจะเห็นได้ว่าโลกุตระสุขนั้นมีค่ามากกว่าโลกีย์สุข(กิเลส)และยอมทิ้งโลกีย์สุขนั้นกันหมด ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ใช่แบบนั้นเลย เพราะมีแต่คนที่เมินเฉยต่อการแสวงหาโลกุตระสุข เพียงเพราะพอใจในโลกีย์สุขที่ตนมี
และถึงแม้ว่าเราจะเลือกธรรมะ ก็ใช่ว่าเราจะหมดกิเลส ไม่เหมือนกับตอนที่เราเลือกตามใจกิเลสแล้วเราจะเสียธรรมะ ซึ่งการปฏิบัติของพุทธศาสนามิใช่การนึกคิดเอาเองว่าถ้าทำจิตให้เป็นเช่นนั้น แล้วทุกอย่างจะเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่เราเข้าใจว่าเราเป็นพระอรหันต์แล้วจะเป็นพระอรหันต์จริงๆ แต่ต้องเป็นการปฏิบัติที่ลงไปล้างถึงเหตุแห่งทุกข์ โดยใช้หลักของอริยสัจ ๔ ซึ่งจะปฏิบัติชำระความเห็นผิดไปโดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย ลาดลุ่มไปโดยลำดับเหมือนฝั่งทะเล ไม่ชันเหมือนเหว
นั่นหมายความว่าถึงจะเรียนรู้เป็นพันเป็นหมื่นคัมภีร์ ท่องจำได้คล่องปากไม่มีตกหล่น หรือแม้จะเพ่งเพียรปฏิบัติจนแทบจะเรียกได้ว่าเอาชีวิตไปทิ้ง แม้จะเด็ดเดี่ยวจนถึงขั้นยอมตายถวายธรรม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้าถึงผลของธรรมะได้ หากยังมีความเห็นที่ตั้งไว้ไม่ตรง(มิจฉาทิฏฐิ)
การทำตามกิเลสแล้วเสื่อมจากธรรมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก แต่การทำตามธรรมะให้กิเลสเสื่อมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก มีแต่บัณฑิตเท่านั้นที่รู้ได้ ไม่ใช่สิ่งที่จะด้นเดาเอาได้ เพราะเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งยากจะเข้าใจเกินกว่าจะคิดคำนวณเอาเอง จึงมีแต่สาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีความรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ที่แท้จริงเท่านั้นที่จะไขความลับนี้ได้
ผู้ที่เลือกตามใจกิเลสอยู่เรื่อยๆ ก็ย่อมจะเสื่อมจะกุศลธรรมไปเรื่อยๆ และห่างไกลจากโอกาสในการเข้าถึงธรรมะที่พาล้างกิเลสไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน
และข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าให้ไว้เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสก็คือ “ศีล” ซึ่งศีลจะทำให้รู้ขอบเขตว่าสิ่งใดคือกิเลส สิ่งใดคือธรรมะ หากปราศจากศีลแล้ว ก็คงยากจะแยกแยะว่าสิ่งใดคือดี สิ่งใดคือชั่ว สิ่งใดที่ควร สิ่งใดไม่ควร ดังนั้นผู้ที่ไม่มีศีลจึงไม่มีโอกาสรู้ได้เลยว่าสิ่งใดคือกิเลส สิ่งใดคือธรรมะ ผู้เสื่อมจากศีล จึงเสื่อมจากความเป็นพุทธ และเสื่อมจากธรรมทั้งหลายทั้งปวงด้วยเช่นกัน
ศีลคือข้อปฏิบัติเบื้องต้นในการเข้าถึงการล้างกิเลส เมื่อผู้ปฏิบัติไม่มีศีล ก็ไม่มีไตรสิกขา ไม่มีการปฏิบัติที่ถูกตรงของพุทธ นั่นหมายถึงไม่มีการล้างกิเลส และไม่มีการหลุดพ้นจากกิเลส ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า หากเลือกธรรมะนั้นก็จำเป็นต้องมีศีลเป็นพื้นฐานด้วย ต่อให้อีกอ่านอีกกี่ล้านคัมภีร์ หรือนั่งนิ่งเป็นพรหมลูกฟัก อวดอ้างตนว่าเป็นผู้บรรลุธรรม หากปราศจากศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ก็คงจะเป็นเพียงแค่โมฆะบุรุษเท่านั้นเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
7.12.2558
โสด ไม่เบียดเบียน
โสด ไม่เบียดเบียน
สัตว์โลกนั้นเบียดเบียนกันด้วยความอยากเป็นธรรมดา เพื่อที่เราจะเบียดเบียนกันได้อย่างสบายใจ เราจึงสร้างความลวงขึ้นมาบดบังความจริง ดังเช่นว่าการมีครอบครัวเป็นสุข เพื่อปิดบังความจริงที่ว่าการมีครอบครัวนั้นเบียดเบียน คับแคบ เป็นทุกข์ แต่ก็ต้องทำเพราะเหตุแห่งความอยากนั้นเอง
เมื่อเราอยากได้อยากเสพอะไรมากๆ เราจะพยายามหาข้อดีของมัน พยายามปั้นแต่งประโยชน์ต่างๆนาๆ เพื่อที่จะได้เสพสิ่งนั้นโดยไม่ต้องรู้สึกผิด ซึ่งเป็นธรรมชาติของกิเลสที่จะสร้างความลวงให้คนหลงผิดติดยึดในสิ่งที่เป็นภัยต่อชีวิตมากขึ้น
แท้จริงแล้วการมีครอบครัวนั้นคือความเบียดเบียน เป็นความคับแคบ เป็นบ่วงที่คล้องคอไว้ เป็นภาระของชีวิต แม้เราจะพยายามปั้นข้อดีมากมายของการมีครอบครัว แต่ความจริงก็คือความจริง ว่าการมีครอบครัวนั้นไม่สบายเท่าความเป็นโสด
เมื่อเราอยู่เป็นโสด เราก็ไม่จำเป็นต้องเบียดเบียนทรัพย์สิน ร่างกาย เวลา และจิตใจของใคร เราต่างอยู่เป็นอิสระในพื้นที่ที่เรามี ไม่ไปก้าวก่ายชีวิตใครโดยไม่จำเป็น
แต่เมื่อเรามีครอบครัว เราก็จำเป็นต้องเบียดเบียนทรัพย์สิน ร่างกาย เวลา และจิตใจของกันและกัน พากันเสพสุขตามกิเลสก็เป็นการพากันไปทางเสื่อม ทะเลาะเบาะแว้งกันก็เป็นการพากันทำชั่ว การมีครอบครัวจึงกลายเป็นเบียดเบียนกันอย่างเลี่ยงไม่ได้
ซึ่งเรามักจะเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เป็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด เมื่อถูกชี้โทษของการมีครอบครัวให้เห็นดังนี้แล้ว กิเลสข้างในก็ยังจะสามารถสร้างเหตุผลที่สวยงามและประโยชน์มากมายของการมีครอบครัวขึ้นมาได้ ทั้งหมดนั้นเพราะเรามีความอยาก คือตัณหา คือความแส่หา คือความใคร่อยากเสพ พออยากเสพสุขมากๆ แล้วมีคนมาบอกว่าสิ่งนั้นเป็นโทษเป็นภัย …ด้วยกำลังจิตที่น้อย ต่อต้านกิเลสไม่ไหวจึงไม่สามารถทำใจในใจพิจารณาตามให้ทันว่าเหตุเกิดแห่งความทุกข์นั้นคือที่ใด
เมื่อได้รับข้อมูลว่าการมีครอบครัวเป็นทุกข์ แทนที่จะพิจารณาไปถึงที่เกิดว่า “ความอยากของเรานี้สร้างทุกข์” แต่มักจะเห็นและเข้าใจว่า “การถูกห้ามไม่ให้มีครอบครัว และการถูกชี้โทษนี่แหละเป็นทุกข์” ซึ่งเป็นการมองปัญหาคนละจุด กรณีแรกคือการมองกิเลสเป็นปัญหา กรณีที่สองคือมองธรรมะเป็นปัญหา พอมองธรรมะเป็นสิ่งผิด สุดท้ายก็เลยจับมือกับกิเลส ถล่มธรรมะจนสิ้นซาก ตอกตะปู ปิดฝาโลง ฝังความเจริญในทันที
แค่มีความอยากก็เบียดเบียนตนเองด้วยความเห็นผิดมากพออยู่แล้ว การที่เราจะไปหาคนผู้โชคร้ายมาสนองความอยากของเรา มาสนองความเชื่อที่ผิดของเรา นั่นยิ่งเป็นการเบียดเบียนที่มากกว่า
น่าสงสารว่าที่คู่ครองที่ต้องมาแบกรับความอยากปริมาณมหาศาลของเรา เพราะแค่กิเลสของตัวเองก็มากมายพออยู่แล้ว ยังต้องมาบำรุงบำเรอกิเลสของกันและกันอีก นี่มันจะพาชั่วเบียดเบียนกันเข้าไปใหญ่
ดังนั้นการเป็นประพฤติตนให้เป็นโสดจึงเป็นสุขที่สุด เพราะไม่ต้องเบียดเบียนตนเองด้วยความเห็นผิด ไม่ต้องเบียดเบียนผู้อื่นด้วยกิเลสของเรา และไม่ไปสร้างตัวอย่างของความสุขที่หลอกลวงให้สังคมและโลกได้หลงผิดตามๆกันไปอีกด้วย
– – – – – – – – – – – – – – –
1.12.2558