ข้อคิด

ไปแต่ผู้เดียว เด็ดเดี่ยวเหมือนนอแรด

December 1, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,234 views 0

ระหว่างค้นหาพระไตรปิฎกในหมวดคนคู่ ก็มาเจอ “ขัคควิสาณสูตร ที่ ๓” (25,296) ในภาพรวม ท่านกล่าวเปรียบถึงถ้าเจอกับสภาพที่ไม่ดี อยู่คนเดียวจะดีกว่า ซึ่งแน่นอนว่า ถ้ามันแย่ เราก็ต้องห่าง แต่อะไรล่ะที่มันไม่ดี แล้วอะไรที่มันดี ที่ควรใกล้ ในบทนี้มีทั้งไปแต่ผู้เดียว และเก็บเกี่ยวคนดีมาเป็นเพื่อน จะยกเป็นช่วง ๆ มาลองวิเคราะห์กันครับ

“พ.ความเยื่อใยย่อมมีแก่บุคคลผู้เกี่ยวข้องกัน ทุกข์นี้ย่อมเกิดขึ้นตามความเยื่อใย บุคคลเล็งเห็นโทษอันเกิดแต่ความเยื่อใย พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรดฉะนั้น”

… ส่วนนี้จะทำให้เห็นภาพรวมของสภาพไม่ดี เป็นทุกข์ เป็นบาป เป็นอกุศล คนที่มีปัญญาเห็นโทษดังนั้น ให้ละออกเสีย มีของไม่ดี อย่ามีเลยดีกว่า

“พ.บุคคลข้องอยู่แล้ว ด้วยความเยื่อใยในบุตรและภริยา เหมือนไม้ไผ่กอใหญ่เกี่ยวก่ายกัน ฉะนั้นบุคคลไม่ข้องอยู่เหมือนหน่อไม้ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น”

… ถ้ามองไผ่กอใหญ่ก็จะเห็นถึงความวุ่นวาย ลมพัดมาก็เสียดสีกันบ้าง ชนกันบ้าง เสียงดัง เหมือนกับเรื่องคู่มันวุ่นวาย ถ้าใครยังไม่มี ยังไม่ถึงวัย ยังเป็นหน่อไม้อยู่ ก็ไม่ต้องไปมี ไม่ต้องไปยุ่ง ไปคนเดียว ฉายเดี่ยวเหมือนนอแรด

“พ.ถ้าว่าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน ผู้เที่ยวไปร่วมกันได้ มีปรกติอยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ไซร้ พึงครอบงำอันตรายทั้งปวง เป็นผู้มีใจชื่นชม มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น หากว่าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน ผู้เที่ยวไปร่วมกันได้ มีปรกติอยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ไซร้พึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียว”

… แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ส่งเสริมให้ไปคนเดียวตลอด ไม่ได้ให้หลีกหนีผู้คน ถ้าเจอคนดี มีปัญญา พาทำกรรมดี ก็ให้อยู่ร่วมกัน พึ่งพากัน แต่ถ้าหาคนมีปัญญาไม่ได้ ไปคนเดียวเถอะ โดดเดี่ยวดั่งนอแรด

“พ.เราย่อมสรรเสริญสหายผู้ถึงพร้อมด้วยศีลขันธ์เป็นต้น พึงคบสหายผู้ประเสริฐสุด ผู้เสมอกัน กุลบุตรไม่ได้สหายผู้ประเสริฐสุดและผู้เสมอกันเหล่านี้แล้ว พึงเป็นผู้บริโภคโภชนะไม่มีโทษเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรดฉะนั้น”

… พระพุทธเจ้าท่านแนะนำให้คบคนมีศีล คนที่เก่งกว่า มีศีลมากกว่า มีปัญญามากกว่า หรือผู้ที่เสมอกัน แต่ถ้าชีวิตนี้มันอับจนหนทาง ไม่มีบารมี ไม่เจอคนที่สูงกว่า ไม่เจอคนเสมอกัน ก็อยู่กินใช้สิ่งที่ไม่เป็นโทษ คือใช้ชีวิตไม่หลงระเริงไปตามกิเลส แล้วก็เด็ดเดี่ยวดั่งนอแรดกันไป

จะเห็นได้ว่า ในศาสนาพุทธไม่ได้มีคำสอนมิติเดียว ใช่ว่าจะให้หนีผู้คนออกป่าหาความสงบไปเสียหมด อันนั้นมันคือกรณีที่หมดปัญญา หมดบารมีหาคนเก่งกว่าไม่ได้แล้วเท่านั้น ถึงจะปลีกตัวออกไปคนเดียว ถ้าหาคนเก่งกว่าหรือเสมอกันได้ ท่านก็ให้อยู่เกื้อกูลกัน พึ่งพากัน อันนี้เป็นปัญญาของพุทธที่ต่างจากฤๅษี ถ้าสายฤๅษีนี่เข้าถ้ำไปคนเดียวเลย สายพุทธนี่จะหาคนมีปัญญาแล้วร่วมกันทำกุศล

จริง ๆ ยุคนี้ก็มีครูบาอาจารย์อยู่มาก แต่ส่วนใหญ่ก็เห็นผิด หลงป่ากันไปเยอะ ถ้าเอามาเทียบพระไตรปิฎกหลาย ๆ บทจะเห็นว่ามีความขัดแย้งสูง แต่ถ้าเอาบางบทมา มันก็ดูเหมือนจะใช่ ในความจริงแล้วยังมีครูบาอาจารย์ที่มีความสามารถมากอยู่ แต่การจะไปอยู่ผู้เดียวทั้ง ๆ ที่มีคนเก่งอยู่ นั่นก็สื่อให้เห็นว่าเขาไม่มีปัญญารู้ว่าใครเก่งกว่าเขา ไม่เห็นใครเก่งเสมอเขา เขาก็ฉายเดี่ยวไปเหมือนนอแรดตาบอดกันเลยล่ะนั่น คือปฏิบัติถูกบางบท แต่ภาพรวมไม่ครบทุกบท

แต่ก็ห้ามกันไม่ได้หรอก วิบากกรรมเขาเป็นแบบนั้น การได้เห็นพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลกที่มนุษย์จะพึงเห็นได้เลยนะเอ้อ (อนุตตริยสูตร) ดังนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดา

 

เมื่อมีมาร มุ่งมาท้าทายความเป็นโสด

November 30, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,219 views 0

เมื่อมีมาร มุ่งมาท้าทายความเป็นโสด : “ความอยากมีคู่ครอง” กับดักเพื่อฆ่าบัณฑิตบนเส้นทางธรรม

ถ้าใครมีคำถามประมาณว่า พยายามประพฤติตนเป็นบัณฑิต พยายามปฏิบัติตนให้เป็นคนโสด แต่ก็มีผู้เข้ามาท้าชิง จนปวดหัว ไม่รู้จะทำอย่างไร พรากก็แล้ว ห่างก็แล้ว ยังตามจีบ ตามคุย ตามหา จะทำอย่างไรให้การตัดสินใจต่าง ๆ เป็นไปในทางที่ดีงาม

ก็เป็นคำถามที่ดีนะครับ เพราะคนส่วนมาก แม้จะตั้งใจปฏิบัติให้ตนเป็นบัณฑิต ตั้งใจอยู่เป็นโสด แต่ส่วนใหญ่ พอเจอโจทย์เข้าจริง ๆ จะหลงไปเลย ไม่มีสติยั้งคิดที่จะมาถามหรือแสวงหาคำตอบอะไรหรอก คำตอบของเขามักจะเป็นไปสองทางคือ ถูกใจหรือไม่ถูกใจ ถ้าถูกใจก็ไปกับเขาเลย ถ้าไม่ถูกใจก็อาจจะลองดู ๆ กันไป หรือไม่ก็ผลักเขาออกไปเพราะไม่ถูกใจเท่านั้นเอง

ทีนี้คนที่ตั้งใจก็เหลือไม่เยอะหรอก คนส่วนน้อยในโลกเท่านั้นแหละ ที่จะตั้งใจปฏิบัติตนเป็นโสดได้จริง ๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะผ่าวังน้ำวนโลกีย์ที่หมุนอย่างรุนแรงด้วยกำลังของกามและอัตตาในสังคมปัจจุบัน จะตอบคำถามโดยไล่เป็นประเด็น ๆ ไปนะครับ

  1. ผู้มาด้วยความกำหนัดกล้า

เมื่อเราตั้งจิตตั้งใจที่จะอยู่เป็นโสด ก็เป็นธรรมดาที่จะมีโจทย์เข้ามากระทบในชีวิตประจำวัน ผู้ที่มานั้น ก็ใช่ว่าจะมาอย่างไร้ศักยภาพ ฟ้าจะส่งผู้ที่มีความสามารถเข้ามาท้าทายเรา เหมือนมีอัศวินใส่เกราะขี่ม้าขาวมาพร้อมอาวุธครบมือมาท้าทายอยู่หน้าบ้าน คนที่จะเข้ามาเจอเรานี้ มักจะมีองค์ประกอบที่เราจะแพ้ทางโดยธรรมชาติ เพราะเขาคัดมาแล้ว ต้องแบบนี้ คนนี้เท่านั้นที่จะปราบความไม่จริงใจในความโสดของเราได้ หมายจะเอาชนะเราให้ได้แน่ ๆ ไม่ได้มาเพื่อแพ้ ให้ทำความเข้าใจไว้ได้เลยว่าประมาทไม่ได้ แม้หนึ่งการสบตาหรือรอยยิ้มเพียงแค่ครั้งเดียว เป้าหมายในการมีอยู่ของเขาก็แน่นอน ทำให้เราเกิดความอยากที่จะไปมีคู่

  1. มารไม่มา บารมีไม่มี

การประพฤติตนเป็นโสดนั้น ไม่ได้หมายความเป็นโสดอยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ หลบ ๆ เลี่ยง ๆ แบบกลัว ๆ แต่สามารถตั้งใจเป็นโสดได้แม้จะมีสิ่งยั่วย้อมมอมเมาที่น่าใคร่น่าเสพขนาดไหนเข้ามาปะทะ ก็ยังตั้งใจที่จะอยู่เป็นโสดได้ แม้จิตหวั่นไหวก็ใจแข็งสู้ มันจะไม่ง่ายเหมือนคิดเอา เพราะจริง ๆ แล้ว เขามาเพื่อชนะ เราก็ต้องปราบมารนี่แหละ เพื่อที่จะเพิ่มกำลังของเรา แม้ในตอนแรกอินทรีย์พละ หรือกำลังของเรายังไม่สูง แต่ถ้าเราตั้งมั่นพากเพียร เราจะพบเลยว่า ตัวเราที่ผ่านโจทย์นี้มา จะเป็นตัวเราอีกคนที่เหนือกว่าตัวเราที่เคยเป็นอย่างเทียบไม่ได้ กำลังใจ กำลังปัญญาจะเพิ่มขึ้นมหาศาลแทบจะเปรียบได้ว่า ปราบอัศวินผู้ช่ำชองในการรบได้เพียงแค่กระดิกนิ้วเท่านั้น อันนี้เป็นผลของการปราบมาร เล่ากันไว้ก่อน จะได้มีเป้าหมาย

  1. มารทุบหม้อข้าวลุย

โดยธรรมชาติของมาร เวลาเราตั้งใจจะสู้จริง ๆ มันก็จะเอาจริงเหมือนกัน มันจะจริงจังตามความจริงใจในธรรมะของเราเลย ยิ่งถ้าเราตั้งใจปฏิบัติตนเป็นโสดด้วยนะ เรียกว่าแทบจะไม่มีอะไรเหลือให้มารเสพเลย มันจะยอมหรือ? มันก็ทุบหม้อข้าวลุยล่ะทีนี้ หมายถึงมันก็ทุ่มหมดตัวเหมือนกัน เราก็ทุ่มหมดใจเหมือนกัน มารในที่นี้ไม่ใช่อัศวินขี่ม้าขาวนะ แต่เป็นความอยากมีคู่ในใจเรานี่แหละ ที่จะเสกอัศวินขึ้นมา ถ้าไม่มีจิตอยากมีคู่นะ ถึงจะมีโคตรอัศวินขี่ม้าขาวเป็นร้อย ก็ได้แค่เดินวนไปวนมาหน้าบ้านเราเท่านั้นแหละ เพราะไม่มีทางเข้ามาตีได้ สะพานไม่มีเขาจะข้ามมาได้อย่างไร อย่าไปทอดสะพานให้เขาเข้ามาตีแล้วกัน ยิ่งถ้าใหม่ ๆ ชักสะพานออกเลย ไม่ต้องไปยุ่ง อย่าไปพัวพันมาก เรื่องคู่นี่ไม่ใช่ง่าย รบแพ้แล้วมักจะแพ้หลุดลุ่ยเลย

  1. หมู่มิตรดี ชีวีผาสุก

เวลาเจอข้าศึกมาบุก การจะสู้คนเดียวมันก็ดูจะลำบาก ควรจะมีพันธมิตรร่วมสู้ด้วย การสร้างพันธมิตรหรือหมู่มิตรดีนั้น ก็ใช่ว่าจะสร้างกันตอนข้าศึกบุกทันนะ มันต้องขยันสร้างกันไว้แต่เนิ่น ๆ คือมีเวลาก็เข้าไปคบหาหมู่มิตรดีที่ตั้งใจปฏิบัติตนเป็นโสดไว้  ให้เน้นคนที่มีกำลังใจกำลังปัญญามาก ๆ เช่นทนการยั่วเย้าได้มาก ๆ หรือ มีปัญญาเถียงสู้กิเลสได้เก่ง ๆ ยิ่งได้ครูบาอาจารย์ที่ท่านพ้นเรื่องนี้แล้วยิ่งเป็นกำลังสำคัญเลยแหละ เรียกว่ากำลังเสริมระดับกองทัพ ยกทัพมาตีคนสองคนไม่รอดหรอก การสานพลังกับหมู่มิตรดี ก็คือเข้าไปคบคุ้น ช่วยกันทำดี หมั่นสนทนาธรรม ฟังธรรม หมั่นเข้าหาปรึกษาครูบาอาจารย์ จะทำให้เรามีความมั่นคงขึ้น ไม่มีทางถูกตีแตกได้ง่าย ๆ ไม่หวั่นไหวได้ง่าย ๆ เพราะมีที่พึ่งที่ถูก เป็นที่พึ่งที่พาพ้นทุกข์

*Key success factor หนึ่งเดียวของการพาตนเองเป็นโสดอย่างผาสุก ก็คือหมู่มิตรดีนี่แหละ ถ้าคบผิดกลุ่ม ไปคบหาของปลอม ไม่ได้มีธรรมะจริง ไม่มีของจริง ไม่หลุดพ้นจริง ไม่รอด 100% แต่ถ้าคบกับกลุ่มที่จริง ยังมีโอกาสรอดขึ้นมาตามความพากเพียร ถ้าคบผิดกลุ่มปิดประตูบรรลุธรรมไปได้เลย

  1. กิจตน กิจท่าน

เวลาเจอข้าศึกบุก หรือมีคนมาจีบ ให้ตั้งเป้าหมายให้ถูก เรียงลำดับความสำคัญให้ถูก กำลังจิตและปัญญาเรามีจำกัด ไม่ควรเทไปในจุดที่ยังไม่สมควร นั่นคือควรลำดับงานที่สมควรทำก่อน งานที่ควรทำเป็นอันดับแรกคือล้างความอยากมีคู่ในตัวเองเสียก่อน เอาให้เด็ดขาดเสียก่อน อย่าพึ่งไปคิดเมตตาเขาหรือไปช่วยอะไรเขา เอาตัวเองให้รอดก่อน เดี๋ยวไม่งั้นมันจะกลายเป็นการทอดสะพาน ชักศึกเข้าบ้าน ไปช่วยเขา สุดท้ายเขามาแทงเราตาย อันนี้มันก็ผิด เราต้องจัดการศึกในตัวเราก่อน อย่าเพิ่งไปเปิดศึกข้างนอก พระพุทธเจ้าได้สอนพระอานนท์ไว้ว่า เวลาเจอเพศตรงข้าม ก็ไม่ต้องมอง ถ้าจำเป็นต้องมองก็ไม่ต้องพูด ถ้าจำเป็นต้องพูด ก็ให้ตั้งสติ พูดอย่างสำรวม อย่าให้ความอยากความหลง ความยินดีพอใจปลื้มใจในเพศตรงข้ามแทรกเข้ามาครอบงำจิตใจได้  จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าสอนให้ปฏิบัติที่ตนก่อน เรื่องคนอื่นอย่าเพิ่งไปคิด

  1. ความอยากมีคู่คือเชื้อร้าย

ในท้ายที่สุด เราก็จะพบว่า ศัตรูที่แท้จริงก็อยู่แค่ภายในใจของเราเอง คือกิเลสที่มันสิงเราอยู่นี่แหละ เหมือนถูกผีสิง ความอยากมีคู่มันอยู่ในใจเรา มันเป็นเชื้อร้ายที่คอยดึงสิ่งต่าง ๆ เข้ามา ความปลื้มใจ ความยินดีพอใจต่าง ๆ เป็นสิ่งที่มันเสกสร้างขึ้นมาทั้งนั้น อารมณ์สุขจากความอยากมีคู่ ความยินดีพอใจในการมีคู่ คือสิ่งที่กิเลสนั้นสร้างขึ้นมาหลอกให้เราหลงว่ามันเป็นสุข หลอกให้เราหลงวนอยู่ในโลกนี้ ในความสงสารนี้ เป็นสิ่งที่กักขังเราไว้จากอิสรภาพอันยิ่งใหญ่ ความเป็นอิสระจากความอยากมีคู่นั้นหากจะลองยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้พอเห็นภาพ ก็เหมือนคนที่ถูกขังในคุกแคบ ๆ อันมืดมิดหนาวเหน็บอยู่หลายสิบปีแล้วต่อมาถูกปล่อยออกมาพบทุ่งกว้าง ลมพัดเย็น และอบอุ่น  เป็นความสบายใจ ความปลอดภัยที่ไม่มีวันจะพบได้หากยินดีที่จะดำรงอยู่ในคุก กิเลสมันก็หลอกเราว่า ในคุกนี้แหละดี เป็นสุข อย่างน้อยก็มีอาหารให้กินเลี้ยงชีพ มันก็เอาความอยาก เอารสยินดีพอใจในคนคู่นั่นแหละ มาเป็นอาหารให้เราเสพดำรงชีวิตไป นั่นเพราะเรามีอัตตายึดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีพ ถ้าเราไม่ยึดความอยากมีคู่ คุกคนคู่นั้นย่อมพังทลายลง อาหารทิพย์นั้นรสดีสูงค่ากว่าอาหารคุกคนคู่มากนัก อย่างที่ไม่มีใครหลุดพ้นคุกคนคู่แล้ว เวียนกลับไปกินอาหารคุกอีกเลย

  1. สำรวมกายใจ

เมื่อรู้แล้วว่าต้องทำอะไร สิ่งใดที่เป็นภาพลวง สิ่งใดที่เป็นเป้าหมายที่ควรทำลาย ให้สำรวมระวังกายใจทั้งหมด โจทย์จะผ่านมาทางการกระทบ ด้วยหน้าตาลีลา ด้วยน้ำเสียง ด้วยคำหวาน ด้วยสัมผัส ฯลฯ สารพัดสิ่งที่เข้ามากระทบ โดยหลักแรก เราก็ต้อง สงบ สำรวม ไม่หวั่นไหว ดำรงสติให้ตั้งมั่นก่อน เมื่อมีสติแล้วจับให้ได้ว่าแต่ละครั้งที่กระทบ มันมีอาการใจฟู อิ่มใจ พอใจอะไรไหม เมื่อเห็นอาการก็พิจารณาวิจัยหาสาเหตุว่ามันมีจิตไปชอบสิ่งใดลีลาใด จับเหตุนั้นให้ได้ จับโจรให้ได้ก่อน ส่วนจะการลงโทษเป็นอีกขั้น ต้องใช้ปัญญาครูบาอาจารย์ร่วมด้วย เพราะปัญญาเราจะไม่พอ ถ้าปัญญาเราพอ เราจะไม่หวั่นไหว ถ้าเราหวั่นไหวแสดงว่ามันสู้ไม่ได้ ต้องใช้คำสอนคำแนะนำจากครูบาอาจารย์หรือมิตรดีที่ท่านพ้นเรื่องคู่เข้ามาช่วย จะเป็นการอ่านทบทวนธรรม จะฟัง  หรือจะเป็นการปรึกษาก็ได้ทั้งนั้น เอายังไงก็ได้ให้มีปัญญาไปเถียงกิเลส แน่นอนว่าไม่ง่าย มันต้องมีกำลังจิตพอที่จะกดไม่ให้ฟุ้งซ่าน และปัญญาที่คมพอจะตัดความโง่ที่ไปหลงผิด ที่ไปหลงปลื้มกับรสสุขลวงของกิเลสนั้นได้

มาถึงขั้นตอนนี้ ก็ต้องยอมรับว่าการปฏิบัติธรรมนั้นไม่ใช่เอาสมบูรณ์แบบ ทุกคนพลาดกันได้เป็นธรรมดา แต่พลาดแล้วต้องตั้งสติสำรวม อย่าพลาดซ้ำพลาดซ้อน หรือปล่อยให้พลาดจนไหลร่วงตกหล่นไปคบหากัน ไปแต่งงานมีลูกกัน เพราะความจริงมันมีเวลาให้พิจารณาโดยลำดับ แพ้ก็สู้ พลาดก็สู้ แก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาดพลั้งเผลอไปทุกวัน กำลังมันจะมากขึ้น แต่ถ้ายอมแพ้กิเลสทุกวัน ก็มีแต่จะเสื่อมถอยตกร่วงไปเรื่อย ๆ

  1. เมตตามหานิยม

อย่างที่กล่าวกันไว้ก่อนหน้านี้ ว่ากิเลสจะทุบหม้อข้าว ดังนั้นมันจะงัดทุกเหลี่ยมทุกมุมของอวิชชาที่มันมีออกมาโชว์ ให้เราเห็นว่าเราโง่แค่ไหน เราหลงแค่ไหน ให้พยายามตั้งสติเพียรพิจารณาล้างความหลงผิดไปโดยลำดับอย่างพากเพียร อย่าโทษเขา อย่าโทษใคร อย่าโทษตัวเอง ให้มีเมตตาต่อตัวเอง ให้เข้าใจว่าทำชั่วมามาก หลงมานานมาก มันมีคราบสกปรกเกรอะกรังมาก มันก็ต้องใช้เวลา ธรรมะหรือแม้แต่เหตุการณ์ที่พิสดารอย่างมากในการชำระล้าง อย่าโกรธแค้นตัวเองที่ทำชั่วมามาก ให้ทำความเข้าใจว่ากิเลสมันก็พาให้โง่ ให้หลงไปแบบนั้น แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาพากเพียรล้างไป

อย่าไปโกรธเขาที่เขาพยายามที่จะเข้ามาจีบ มาหว่านล้อมเรา เพราะเขาไม่เข้าใจว่าความสุขแท้คืออะไร เขาก็แค่เล่นตามบทบาทของเขา เพื่อที่จะเอาชนะใจเรา เขามีความหลงผิดของเขา เราควรทำใจให้เมตตาเขา อย่าไปโกรธ อึดอัน ขุ่นเคืองใจในความไร้เดียงสาของเขา เมื่อเราล้างกิเลสไปโดยลำดับ เราจะยิ่งเห็นความจริงไปเรื่อย ๆ เราจะเห็นการจีบ การดูแลเอาใจ จะเห็นความจริง คือกิเลสต่าง ๆ ที่แทรกอยู่ในลีลา อาการ คำพูด มารยาเหล่านั้นที่เขาแสดงออกมา ในเบื้องต้นเราจะชัง ซึ่งเป็นธรรมชาติของลำดับขั้นตอนในการปฏิบัติธรรม มันจะต้องชังความชั่วก่อน ถึงจะล้างความชั่วได้ พอล้างความชั่วได้ ที่เหลือคือล้างความยึดดี ซึ่งก็ต้องจับความชัง แล้วล้างไปพร้อม ๆ กับความรู้สึกหวั่นไหว ไม่เป็นสุขอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น

อย่าโกรธใครเขาที่ไม่เข้าใจเรา ในการปฏิบัติตนเป็นโสด ถ้าเขาจะไม่เข้าใจ ก็ถูกของเขา พอมาถึงจุดหนึ่งมันจะเหนือการรับรู้อย่างสามัญของโลกไปแล้ว แม้เขาจะเข้าใจอยู่บ้างว่า ศาสนาพุทธก็พากันยินดีในความเป็นโสด แต่เขาไม่เข้าใจหรอกว่าความเป็นโสดนั่นแหละคือความยินดี เต็มใจ พอใจ สุขใจ ถ้าเขาคิดเอาเอง ถ้าเป็นเขา เขาก็เป็นทุกข์ เขาจะไม่เข้าใจหรอกว่าการตั้งตนอยู่บนความโสดนั้นผาสุกอย่างไร มันเป็นเหมือนดินแดนอันเป็นทิพย์ที่เข้าไปได้เฉพาะผู้ที่ปฏิบัติตนตั้งอยู่ในคุณอันสมควรแล้วเท่านั้น ดังนั้นก็เป็นธรรมดาที่คนรอบข้างจะไม่เข้าใจ ให้เมตตาเขา อย่าไปถือสาเขา

  1. ปล่อยวางอย่างลูกหลานพระโพธิสัตว์

เมื่อเราทำงานของเราเสร็จ เราล้างความอยากมีคู่ของเราได้สำเร็จจนไม่เหลือแม้เศษฝุ่น หรือเศษเสี้ยวแห่งความหวั่นไหวใด ๆ ในใจเลย เราก็จะเหลือแต่งานนอก คือช่วยเหลือผู้อื่น

ด้วยกำลังของปัญญาที่เราสะสมมา จะทำให้เราเห็นมากกว่าที่เคยเห็น คือมีตาทิพย์ หูทิพย์ จะได้เห็นได้ยินความจริงตามความเป็นจริง นี่กิเลส นี่มารยา นี่ทุกข์ ปนอยู่ในชีวิตประจำวันของเพื่อนมนุษย์ เป็นสิ่งที่เราไม่เคยได้เห็นก่อนหน้านี้ จะสามารถเป็นผู้จำแนกอาการกิเลสและรู้วิธีแก้ตามประสบการณ์เท่าที่เราเคยได้ทำมา เราทำมาเท่าไหร่เราก็เก่งเท่านั้น แม้เราจะเก่งน้อยที่สุดของผู้มีปัญญาพ้นความอยากมีคู่ แต่ก็ความเก่งนั้นก็ยังห่างไกลกับคนที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างมากจนเทียบกันไม่ได้ นั่นหมายถึงเราจะสามารถเริ่มนำมาความรู้มาช่วยคนได้

คนที่เราช่วยแบบผ่านมาผ่านไปก็ไม่ค่อยมีปัญหา แต่คนที่เข้ามาจีบเรานี่แหละ เราจะช่วยอย่างไร กรรมเป็นของของเรา เราทำมา เราก็ต้องรับ ชาติใดชาติหนึ่งก็ไปหลับหูหลับตาจีบคนที่ไม่สมควรจีบแบบนี้แหละ ก็ทำความเข้าใจตรงนี้ ว่าแล้วก็ช่วยแนะนำเขาเท่าที่ปัญญาตัวเองมี หรือไม่ก็แนะนำคำสอนของครูบาอาจารย์ ก็ช่วยไปโดยสังเกตไปโดยลำดับว่าพาเขาลดกิเลสได้ไหม พาเขาคลายความอยากจะเข้าหาเราได้ไหม

ถ้าทำสำเร็จ นั่นก็เพราะความดีมันสังเคราะห์กันพอดี เขาก็ทำดีมามาก เราก็มีปัญญาพอจะช่วยเขา และที่สำคัญเขายอมให้เราช่วย มันจึงสำเร็จ

แต่โดยมากมันจะไม่สำเร็จ พอเมตตาไปแล้ว ลงมือช่วยไปแล้ว มันไม่สำเร็จ จะทำอย่างไร? ขั้นตอนนี้คือตอนจบของการปฏิบัติธรรม คือปล่อยวางให้ได้ ทำดีเต็มที่ สุดความสามารถแล้ว มันไม่ได้ผล งานที่ต้องทำมันก็เหลือแค่เลิกทำงานเท่านั้นเอง การปล่อยวางเป็นองค์ประกอบของหนึ่งที่สำคัญของนักปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การผลักดันช่วยเขาไปเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่เขายังไม่พร้อม เขายังไม่ถึงวาระที่จะเข้าใจธรรมะจากเรา เขายังไม่ถึงเวลาที่เขาควรจะพ้นทุกข์ เขายังมีอกุศลวิบากที่ต้องใช้ เขายังมีบาปที่ต้องหลงต่อไป ให้เราทำความเข้าใจแล้วปล่อยวาง

ซึ่งก็ไม่ต้องกังวลอะไร ไม่ต้องห่วงใคร เพราะแม้ว่าเราจะไม่สามารถที่จะช่วยเขาไว้ได้ แต่เขาจะจำสิ่งที่เราสอน สิ่งที่เราทำให้ดู สิ่งที่เราอยู่ให้เป็นตัวอย่าง แล้วพอเขาทุกข์มาก ๆ จากบาป จากอกุศลกรรมของเขา เขาจะระลึกได้ แล้วเขาจะหันมาทำตาม การที่เขาได้ให้โอกาสเราได้ช่วยเขา มันก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะทำให้กันได้แล้ว เราจะได้ทำหน้าที่เท่าที่ฟ้าให้เราทำ ความสำเร็จไม่ใช่สมบัติของเรา สมบัติของเรามีเพียงความผาสุก สงบเย็น แม้จะไม่สามารถช่วยใครได้ก็ตามที แท้ที่จริงเราก็ได้ช่วยไปแล้วนั่นแหละ เราได้ลงมือไปแล้ว เราได้ทำมันก็สำเร็จเท่าที่เราทำ แต่ผลสำเร็จที่สมบูรณ์แบบนั้นเป็นของเขา ของโลก เป็นส่วนของคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สมบัติของเรา เราจึงไม่ได้สิ่งนั้น ก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร เพราะเราไม่ได้ปฏิบัติธรรมมาเพื่อจะเอาอะไร แม้จะเอาการได้ช่วยเราก็ไม่เอา เราก็ทำหน้าที่ไปตามธรรม เขาให้ทำ เราก็ทำเต็มที่ เราไม่ให้ทำ เราก็ปล่อยวางให้เต็มที่ แค่นี้ก็สุขที่สุดหาอะไรเปรียบได้แล้ว

สรุป… ความดีงามที่สุดคือทำตนเองให้พ้นความอยากมีคู่ให้ได้นั่นแหละ ดีที่สุด สมบูรณ์และเป็นไปได้มากที่สุด ส่วนเรื่องที่ปฏิบัติต่อคนอื่นให้เกิดกุศล ก็ทำไปตามความรู้ของตนตามที่ได้ศึกษามาจากพระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์ท่านต่าง ๆ และพร้อมวางใจ เพราะโลกนี้ พร่องอยู่เป็นนิจ จะหาความสำเร็จที่สมบูรณ์ไม่ได้เลย

30.11.62

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

รักแท้ ในมุมมองของดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

November 27, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,015 views 1

รักแท้ ในมุมมองของดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

มีคำถามเข้ามา ประมาณว่าผมเขียนบทความเรื่องความรักนี่มาก็มากมาย แล้วเคยมีรักแท้แบบชายหญิง บ้างไหม?

ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ผมคิดว่า น่าจะเป็นคำถามของหลายคน เพราะความจริงผมเองก็ไม่เคยเปิดเผยเรื่องเหล่านี้เลย ในบทความนี้ก็จะมาตอบข้อมูลบางส่วนของประสบการณ์ความรักของผม

ตอบ … ความรักระหว่างชายหญิง ผมก็เคยมีครับ เคยรัก เคยมีแฟนเหมือนกับคนทั่วไปนั่นแหละครับ แต่จะให้ผมเรียกมันว่ารักแท้ไหม? ส่วนตัวผมคิดว่าไม่ครับ และผมไม่เชื่อด้วยครับว่าความรักที่ผูกพันด้วยความเป็นหญิงและชายในโลกใด ๆ จะมีรักแท้ นิยามของคำว่า “รักแท้” ของผมตอนนี้มันสะอาด บริสุทธิ์กว่าที่จะเอาเรื่องชาย – หญิง มาปนครับ ผมเชื่อว่ารักที่มีกิเลสปนเป็นส่วนประกอบ ไม่สามารถเรียกว่ารักแท้ได้ครับ มันเป็นเพียงความหลงเท่านั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ผมจะมาขยายนิยาม คำว่า “รักแท้” ในหลาย ๆ มุมให้อ่านกันครับ

1.รักแท้อบายภูมิ รักแท้ผีเปรต

เป็นรักแท้แบบแปะป้ายให้คนเข้าใจผิด เป็นรักปลอม  ๆ ที่แม้จะดูออกได้ง่าย ก็ยังทำให้คนจำนวนหนึ่งหลงไปได้ เช่นหลงไปรัก   ไปคบหา ไปแต่งงานกับคนชั่ว พวกหลอกลวง ฯลฯ หรือแม้แต่การเข้ามารักเพื่อทรัพย์สิน ยศศักดิ์ ชื่อเสียง ความสุข ฯลฯ ก็เป็นความรักแท้แบบหลอก ๆ เพราะใช้ “สิ่ง” ต่าง ๆ  เป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งสิ่งที่จ่ายไปไม่ใช่ความรัก อารมณ์ หรือทัศนคติใด ๆ แต่มักจะเป็นเปลือกที่ห่อหุ้มคนเหล่านั้นไว้ คนที่เขาหลงไปรัก ไปคบหา ไปแต่งงาน ทุกคนก็หลงว่าเป็นรักแท้กันหมด ถ้าเขาจะนิยามว่ารักแท้เป็นอย่างไร? เขาก็จะบอกว่าต้องเป็นแบบที่เขามีนั่นแหละคือรักแท้ ตอนนั้นเขาหลงเชื่อแบบนั้นจริง ๆ  พอโดนกิเลสหลอก มันก็เห็นของเก๊กลายเป็นของแท้ได้จริง ๆ

2.รักแท้โลกียะ

รักแท้โลกียะ คือรักโง่บริสุทธิ์ คือความหลงมัวเมาแบบไม่ลืมหูลืมตา หลงยึดมั่นถือมั่นว่าเขาเป็นของเรา แล้วก็เสพสุขกับความ “ได้ดั่งใจ” ในหลากหลายมิติ ทั้งในมุมของกาม และในมุมของอัตตา ในมุมกามก็ได้เสพรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสก็หลงสุขใจ ยินดีในรสนั้น ๆ ว่าถ้ามีให้เสพตลอดไปนี่แหละจึงเรียกว่ารักแท้ ในมุมอัตตา เช่น ได้ควบคุม ได้บงการ ได้ทาส ได้ผู้ซื่อสัตย์ ที่จะคอยรัก คอยเอาใจ คอยดูแล คอยบำเรอตนตลอด หรือแม้กระทั่งรักตนตลอดไป ไม่ยอมเปลี่ยนไปไหน ยึดมั่นถือมั่นแต่เฉพาะตน ไม่หันไปมองใคร ดูแลกันจนแก่เฒ่า รักกันจนวันตาย บูชาความรักที่มีฉันเป็นศูนย์กลาง อันนี้คนเขาก็เรียกกันว่ารักแท้เหมือนกัน

รักแท้ในมุมโลกียะนี้ เรียกได้ว่า แค่มีศีล ๕ ก็ประเสริฐนักหนาแล้ว เป็นสิ่งที่คนแสวงหามาครอบครอง ใครเขามีรักก็อยากให้รักคงอยู่นาน ๆ ให้คู่ของเขามั่นคง ตลอดไป ไม่เปลี่ยนแปลง อันนี้ก็เป็นความเห็นผิด เป็นความวิปลาสของจิตในความรักแบบโลกียะ ที่พอใจอยู่กับสุขลวงเพียงเท่านี้ แม้จะมีสุขน้อยทุกข์มาก เพียงแค่ได้เสพสุข ได้ยินดีพอใจในสุขแม้น้อยนั้น คนเขาก็ยังเรียกว่ารักแท้กัน

3.รักแท้กัลยาณธรรม

ขยับดีขึ้นมาหน่อย จากรักแท้แบบโลกียะ หรือแบบโลก ๆ ทั่วไป พอขยับฐานขึ้นมาก็จะกลายเป็นรักแบบคนดี แบบคนมีศีลมีธรรม คือพยายามจะพากันเจริญ พยายามจะพราก พยายามปฏิบัติศีล ประพฤติพรหมจรรย์ พยายามที่จะละเว้นจากการสมสู่ พากันเข้าวัด ปฏิบัติธรรม แบบนี้คนในสังคมโลกีย์ เขามองเข้ามา เขาก็ไม่อยากได้ เพราะมันได้เสพน้อย รสมันไม่จัดเท่าแบบโลกีย์ แบบนี้มันจะจืดลงมา ทั้งรสกามและรสอัตตา แต่มันก็ยังมีอยู่ ถึงแม้จะมีความอยากความยึดปนอยู่เช่นนั้น หลายคนก็ยังนิยามรักห่วย ๆ แบบนี้ว่ารักแท้ได้เหมือนกัน

ทำไมถึงเรียกว่าห่วย? เพราะมันยังทุกข์อยู่ยังไงล่ะ เพราะดีกว่านี้มันยังมีอยู่ยังไงล่ะ เพราะสิ่งที่ดีกว่ามันดีกว่านี้จนเทียบกันไม่ได้เลย รักแบบนี้ถึงจะยังมีอยู่ ก็ยังเป็นหนามในใจ ยังผูกพัน ยังยึดมั่น ยังดึงรั้น ยังอยากได้ดั่งใจอยู่ ที่สำคัญ นิยามรักแท้แบบนี้ ยังคงต้องอาศัยสภาพของคนคู่อยู่ คือยังต้องมีคู่ถึงจะเรียกว่ารักแท้ ต้องมีตัวกระทบ ต้องมีตัวบำเรอความสมบูรณ์แบบ ต้องมีสิ่งที่จะมายืนยันว่ารักฉันนี่แท้ ฉันประคองรักให้เจริญได้ มันต้องมีคู่มาเป็นหลักฐาน ไม่มีคู่เขาไม่เรียกว่ารักแท้ สรุปก็คือมันก็ต้องมีใครสักคนหนึ่ง ที่ซวยสุด ๆ ต้องมารับบทเจ้าชาย เจ้าหญิง ประคองรักอันหาสาระแท้ไม่ได้นี้ ไปด้วยกัน ทั้ง ๆ ที่ในมุมของความผาสุกแท้ในชีวิต ในความเห็นของบัณฑิต การมีคู่ไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจเลย ซ้ำยังเป็นดงขวากหนามให้กับทางแห่งความเจริญของชีวิตอีกด้วย ต้องคอยเติมรัก ต้องคอยประคอง ต้องคอยเอาใจ ต้องคอยดูแล สิ่งนี้คนทั่วไปเรียกว่าสุข เขาเรียกว่ารักแท้ แต่บัณฑิตจะเรียกว่าทุกข์ เรียกว่าภาระ เรียกว่าความหลง

ความรักทั้ง 3 ข้อแรกจะจัดอยู่ในฝั่งของโลกียะ แต่ก็มีระดับของความหยาบ ไปจนละเอียดแตกต่างกันออกไป

4.รักแท้โลกุตระ

รักกันจนมาถึงขั้นนี้ได้ ต้องเรียกว่า “รักเหนือโลก” เป็นรักแท้แบบที่คนทั่วไปไม่รู้จักแล้ว ส่วนใหญ่เขาไม่เรียกว่ารักแท้กันด้วยซ้ำ ทั้งที่จริง โดยความบริสุทธิ์แล้ว สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรค่าอย่างยิ่งต่อคำนิยามว่า “รักแท้

รักแท้โลกุตระมีสภาพเป็นเช่นไร?  มันเป็นรักที่ไม่มีบุคคลมาคอยรองรับความแท้ แต่มันแท้ในตัวของมัน เป็นรักที่ใส ๆ ปราศจากอคติ ลำเอียง ไม่เทไปให้ใครคนใดคนหนึ่งมากเกินไป ไม่ผลักใครคนใดคนหนึ่งจนเกินงาม คืออยู่ในขีดที่ให้เพื่อการขัดเกลาเพื่อความเจริญ แต่ไม่เลยไปจนถึงอกุศลหรือบาปใด ๆ จะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น จากในพระไตรปิฎกมีการกล่าวถึงจิตของพระพุทธเจ้านั้นเสมอกันแม้ในพระราหุล (ลูกชาย) หรือพระเทวทัต (ผู้ที่อาฆาต จองเวรพระพุทธเจ้ามาหลายชาติ) ตลอดจนคนอื่น ๆ (จากบท:อุปาลีเถราปทาน)

ความรักที่ไม่หวั่นไหว ไม่เปลี่ยนแปลง เที่ยงแท้ แน่นอน ยั่งยืนตลอดกาล ก็เห็นจะมีแต่รักที่ไร้กิเลสเท่านั้น ส่วนรักอื่น ๆ ที่ยังปนด้วยความโลภ โกรธ หลง เต็มไปด้วยตัวเราเป็นของเราแบบนี้ ตัวเธอเป็นของฉัน เราเป็นของกันและกัน รักพวกนี้ก็เป็นของเก๊ ไม่เที่ยงแท้ แปรเปลี่ยน เวียนกลับ ไม่มั่นคงเป็นธรรมดา แม้จะแปะป้ายว่ารักแท้ ผูกโบว์สวยสด ยกขึ้นหิ้ง เชิดชูให้เป็นผู้มีรักแท้ยอดเยี่ยมของโลก แต่ถ้าจิตใจเขายังเหลือเชื้อกิเลส กิเลสแปลว่า ไม่เอาธรรมะ แปลว่าไม่เอาสิ่งดี เดี๋ยววันหนึ่งมันก็แปรกลับ เป็นทุกข์ เป็นทิ้ง เป็นสารพัดเป็นที่จะเป็นเหตุให้คนที่ยึดมั่นถือมั่นได้เป็นทุกข์ เศร้าโศก คร่ำครวญ รำพัน ฯลฯ อยู่ร่ำไป

ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของรักโลกุตระ “ความไม่เบียดเบียน” ต่างจากรักหัวข้ออื่นที่ยกมาก่อนหน้านี้ เพราะมันจะมีความเบียดเบียนปนอยู่ในชีวิตจิตใจด้วยเสมอ ความเบียดเบียนนี้คืออะไร คือมีแล้วทำให้ทุกข์ กังวล ระแวง หวั่นไหว กลัว เกลียด สารพัดอารมณ์หม่นหมองที่จะเกิดขึ้น แต่รักโลกุตระ ที่ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นใคร ๆ เลย ก็จะไม่มีอารมณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น เพราะความรักนั้นไม่ได้เทลงไปที่ไหนเป็นพิเศษ ตรงไหนต้องการก็ให้เท่าที่เป็นกุศล เต็มก็หยุด สุดก็พอ แล้วก็ปล่อยวางไปตามที่ควรมีควรได้

พอคนพัฒนามาถึงรักโลกุตระ จะพ้นพันธนาการจากสภาพยึดมั่นถือมั่นหรือสำคัญมั่นหมายในความเป็นคู่โดยสมบูรณ์ คือจิตไม่ไปยึดถือสิ่งนั้นอีกต่อไป เพราะรู้ว่ามีจิตที่ดีกว่า เบากว่า สบายกว่า เป็นประโยชน์กว่าแบบเดิม แบบเทียบกันไม่ได้ ไม่มีใครเวียนกลับไปสนใจรักปลอม ๆ รักโง่ ๆ หรือรักห่วย ๆ อีกต่อไป อันนี้มันก็เป็นผลของการปฏิบัติ จะเดาเอาก็คงไม่ได้ เดาก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่มีทางมีความเห็นตามนี้ได้ แม้จะมีตัวอย่างจากพระพุทธเจ้าหรือพระเถระต่าง ๆ ก็ใช่ว่าคนดี ๆ เขาจะยินดีทำตามนิยามความรักแบบนี้ เขาก็ไปยึดถือเอาแต่ที่เขาพอใจนั่นแหละ ว่าดี ว่าเลิศ ว่าถูก ว่าใช่ ว่าจริง

ความแท้ในมุมของความรักในโลกนี้จริง ๆ คือ ไม่มีใครเป็นของของเราได้ตลอดไป และสภาพรักในใจเราไม่สามารถดำรงอยู่ในค่าเดิมได้ตลอดไป อันนี้คือความจริงที่แท้ที่สุด เพราะมันคือความ “ไม่เที่ยง” ความไม่เที่ยงนี่แหละจริง พอคนไปยึดกับสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้น ๆ คือไปยึดกับความรักที่คิดว่าแท้นั้น  แล้วมันแปรเปลี่ยน มันก็เป็นทุกข์ นั่นเพราะเราไปมีตัวตน ไปยึดว่าเราต้องสุขเพราะแบบนั้น เขาต้องเป็นของเราแบบนั้นถึงจะสุข เราต้องมีกันและกันแบบนั้นถึงจะใช่ พอมันไม่ใช่ตัวตนที่ตนยึด มันแปรเปลี่ยนไป มันก็ทุกข์ เพราะมันหลงยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นสภาพของเรา

สุดท้ายใครพอใจแบบไหนก็ทำไป ก็ให้เวลาและความทุกข์ได้ตอบว่าจริง ๆ แล้ว ในความแท้นั้น สิ่งใดเล่า เป็นสิ่งที่แท้กว่ากัน สิ่งใดน่าอาศัยกว่ากัน สิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อตนเองมากกว่ากัน สิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสัตว์อื่นมากกว่ากัน ก็คงต้องศึกษากันไปตามทางของแต่ละคน

26.11.2562

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

รักอย่างไร? รักอย่างสัมมาทิฏฐิ รักอย่างถูกต้องถูกตรง สู่การพ้นทุกข์

November 19, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,015 views 0

รักอย่างไร? รักอย่างสัมมาทิฏฐิ รักอย่างถูกต้องถูกตรง สู่การพ้นทุกข์

ความเห็นในความรักนั้นแตกต่างกันไปตามความเข้าใจของแต่ละคน แต่ในทางพุทธศาสนา ทางที่ถูกต้องนั้นมีทางเดียว มีทิศเดียว ไม่มีทางอื่น ความเห็นที่ถูกต้องถูกตรงก็มีทิศทางเดียว คือเดินไปสู่ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าในเรื่องความรักก็คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในเรื่องความรัก ในเรื่องคนคู่ ครอบครัว ญาติ ชุมชน ชาติหรือแม้กระทั่งโลกนี้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าเข้าไปยึดไว้เลย

ความเห็นเกี่ยวกับความรักนั้น แต่ละคนก็ว่ากันไปตามที่ตนชอบ ตามที่ตนว่าถูก อันนั้นก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่ใครจะเชื่อ แต่ถ้าเราจะศึกษาว่ารักแบบใดเป็นรักที่ถูกต้อง ถูกตรงสู่ทางพ้นทุกข์ เป็นรักที่สัมมาทิฏฐิแล้วล่ะก็ จะยกเนื้อหาสำคัญมาให้ศึกษากัน

จุลศีลกับความรัก

ในหลักจุลศีล ถือเป็นหลักปฏิบัติอย่างละเอียดของชาวพุทธ โดยหลักการแล้วเป็นของนักบวช แต่หลักปฏิบัติในจุลศีลข้อนี้ ก็ได้ปรากฏอยู่ในข้อธรรมหมวดอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งเนื้อหานั้นได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

“ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางสาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่” ให้สังเกตว่าศีลข้อนี้จะมีอยู่ 2 ส่วนในการปฏิบัติ คือ ไม่ทำ และ ทำ  , ไม่ทำ คือไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ทำ คือเห็นใจและลงมือช่วยสัตว์อื่น สัตว์นั้นหมายรวมตั้งแต่สัตว์เดรัจฉานไปจนถึงมนุษย์

ความรักในหลักพุทธ ในเชิงแนวคิดหลัก ๆ ภาพรวมก็ประมาณนี้ คือไม่ไปเบียดเบียนเขา แล้วช่วยสิ่งเสริมเขาให้เกิดสิ่งดีที่พาเจริญขึ้น ทีนี้เรามาศึกษากันต่อว่าอะไรคือการเบียดเบียน ความรักแบบไหนคือการเบียดเบียน

ถ้าความรักของพุทธ (รักโลกุตระ) คือการปฏิบัติไปสู่ความเมตตาเกื้อกูล ไม่เบียดเบียนกัน โดยมีหลักคือการลดความโลภ โกรธ หลง สิ่งที่ตรงข้ามกันนั้นก็คือความรักในรูปแบบที่เบียดเบียน (รักโลกียะ) คือ พากันเพิ่มความโลภ โกรธ หลง และ ความรักที่เบียดเบียนที่เห็นได้ชัดและมีมากที่สุดก็คือการจับคู่ของคนอยากมีคู่สองคนมารวมกัน

ความรัก ที่ต้องพากันครองคู่อันนี้หยาบที่สุด ต้องเอาคนมาเสพ มาประทังความอยาก มีการเบียดเบียนสารพัดอย่าง ตั้งแต่การล่อลวงให้หลง ให้ปัญญาอ่อนลงไป ยั่วย้อมมอมเมา ให้กิเลสโตขึ้น ให้เกิดความอยากได้อยากครอบครอง ไปจนถึงต้องเอาอีกฝ่ายมาบำเรอตน ไม่ว่าจะกาม ทรัพย์สิน แรงกาย เวลา ปัญญา ฯลฯ ก็ต้องเอามาเทให้ตน แทนที่จะให้เขาเอาองค์ประกอบในชีวิตที่มีไปทำประโยชน์อื่นที่มากกว่า กลับเห็นแก่ตัว ลวงเขามาไว้ทำเพื่อตน เพื่อสนองกามตน เพื่อสนองอัตตาตนเอง

กามในมิติที่รู้กันโดยกว้างในสังคมก็คือการสมสู่ แต่กามก็ไม่ได้หมายเพียงแค่การสมสู่ เพราะการยินดีในการมองก็เป็นกาม การได้มองทุกวัน ได้เห็นเขายิ้ม ได้เห็นท่าทีลีลาอาการต่าง ๆ แล้วยินดี ก็เป็นกาม การได้ยินเสียงแล้วยินดีก็เป็นกาม ได้ยินเสียงเพราะ ๆ ของเขา แล้วชื่นใจ ก็เป็นกาม การยินดีในกลิ่นของเขาก็เป็นกาม เขาใส่น้ำหอมมาแล้วยินดี ชอบใจ ถูกใจในกลิ่นนั้นก็เป็นกาม การยินดีในการสัมผัสก็เป็นกาม การที่เขามาจับ แตะ ควงแขน สารพัดสัมผัส แล้วยินดี ก็เป็นกาม ถ้าไม่ได้เสพกามตามที่ติด ก็จะเกิดอาการทุกข์ ขุ่นข้องหมองใจ ฯลฯ จะเห็นได้ว่าการมีคู่ก็จะมีความยินดีในกามในหลายอิริยาบถ ซึ่งมันก็ไม่ได้ซ่อนลึกซึ้งอะไรหรอก มันก็เห็นกันอยู่ชัด ๆ นั่นแหละ เพียงแต่คนไม่รู้ว่านี่เป็นกาม

อัตตาเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ลึกลับ ซับซ้อน และถูกปิดบังโดยกิเลส แม้แสดงอยู่ก็ใช่ว่าจะมองเห็นได้ เช่น ความเชื่อ ศักดิ์ศรี อำนาจ(ความสำคัญในตนเองว่ามี) การมีคู่นั้น จะมีอัตตาร่วมด้วยเป็นแรงหลักเสมอ กามเป็นตัวเคลื่อน(ให้เห็นอาการ) อัตตาเป็นแรงส่งอยู่ภายใน

ในมุมของอำนาจ เช่น สำคัญตนว่ามีอำนาจ สำคัญตนว่าใหญ่กว่า เจ๋ง เก๋า แน่ ครอบครองได้ ควบคุมได้ ก็เลยแสดงอาการเช่น พูด กอด จูบ หรือแสดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของใด ๆ ที่แสดงถึงความเหนือกว่า ต่อหน้าคนอื่นก็ตามหรือต่อหน้าคู่ก็ตาม เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนมีอำนาจ ตนสามารถควบคุมได้ อันนี้มันก็เป็นอาการของอัตตา ที่แสดงออกด้วยกาม

ในมุมของความเชื่อ เช่น เชื่อว่าชีวิตจะสมบูรณ์ก็ต้องมีครอบครัวที่ดีมีลูก หรือเชื่อว่าฉันจะสามารถมีคู่ครองแล้วพากันเจริญในธรรมได้ เป็นต้น อันนี้เป็นความเชื่อ แต่เป็นความเชื่อที่ไม่พาพ้นทุกข์ เพราะมันตรงข้ามกับที่พระพุทธเจ้าตรัส คือ “คนที่ประพฤติตนเป็นโสดเขาก็รู้กันว่าเป็นบัณฑิต ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ย่อมเศร้าหมอง” คือทิศทางมันไม่ไปด้วยกันกับที่พระพุทธเจ้าตรัส

เรามีอิสระที่จะเชื่อและทำอะไรก็ได้ เพียงแต่ว่าสิ่งนั้นมันถูกต้องหรือเปล่า แล้วจะถูกต้องตามหลักของใคร หลักของฉัน หลักของใคร หรือหลักของพระพุทธเจ้า ก็เลือกหลักกันเอาว่าจะปักหลักไหน แล้วก็พิสูจน์ความจริงกันไปว่ามันจะพ้นทุกข์หรือทุกข์จริง เศร้าหมองจริง อย่างที่พระพุทธเจ้าว่ามาหรือไม่

การยึดมั่นถือมั่นคืออัตตา เช่นเมื่อได้รู้แล้วว่ามันไปคนละทางกับทางพ้นทุกข์ ก็ยังจะดื้อ จะรั้น จะลองพิสูจน์ ซึ่งมันก็ไม่แปลก มันเป็นอาการของอัตตาที่เชื่อว่า ข้าแน่ ข้าเก่ง ข้าทำได้ และลึก ๆ ข้าก็คิดว่า แนวคิดของข้าเจ๋งกว่าพระพุทธเจ้าอีกด้วย

ในอัตตาเรื่องคู่นี้มักจะซ่อนกามไว้เสมอ คือจริงๆ ตนน่ะ อยากเสพกาม อยากสมสู่ แต่เอาเป้าอื่นมาล่อไว้ เอามาบังไว้ เอามาลวงไว้ให้ดูโก้ ๆ ดูเท่ ๆ ทำเป็นจะดูแลเขาไปตลอด ทำเป็นอยากแต่งงาน อยากมีครอบครัว ทำเป็นมีอุดมการณ์ แต่จริง ๆ อยากจะสมสู่กับคนที่หวังเท่านั้นแหละ ส่วนอุดมการณ์ หรืออัตตานั้นก็ปั้นขึ้นมาลวงคู่ตรงข้ามเฉย ๆ ดีไม่ดีลวงจิตตัวเองไปด้วย หลงเชื่อไปจริง ๆ ว่าตนอยากมีครอบครัว ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ ตนแค่อยากเสพกาม ดังจะปรากฏผลเป็นการผิดศีลข้อ ๓ ที่เห็นกันโดยทั่วไป เพราะมันเสพแล้วมันไม่พอ มีแฟนคนเดียวมันไม่พอ แต่งงานแล้วมันไม่พอ อุดมการณ์มันกินไม่ได้ มันเสพไม่พอสุข สุดท้ายก็ต้องยอมผิดศีลผิดธรรม ไปตามอุดมกามของตนต่อไป

พรหมวิหารกับความรัก

ธรรมะอีกหมวดที่มักจะถูกยกขึ้นมาเมื่อกล่าวถึงเรื่องความรัก คือพรหมวิหาร ๔  คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

เมตตาคือมีจิตที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลเขา กรุณาคือลงมือช่วยเขา ( คือว่ากรุณา หมายถึงทำให้ ลงมือทำให้ เช่น กรุณาส่ง คือช่วยส่งให้หน่อย หรือกรุณาให้ทาง คือช่วยหลีกทาง เป็นลักษณะที่มีกายกรรมเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงมโนกรรม ไม่ใช่แค่คิด แต่ต้องลงมือทำด้วย)

สองข้อแรกจะสอดคล้องกับจุลศีล คือมีจิตที่จะช่วยและลงมือกระทำ มุทิตาคือมีจิตยินดี ในสิ่งที่เกิดขึ้น อุเบกขาคือปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น สรุปหลักของพรหมวิหารคือ เห็นใจ คิดที่จะเกื้อกูลและลงมือช่วย ได้ผลอย่างไรก็ยินดีไปตามนั้น และปล่อยวางในท้ายที่สุด แม้สิ่งที่คิดหรือช่วยทำนั้นจะเกิดผลสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ตามที

จะเห็นว่าจริง ๆ แล้วพรหมวิหาร ไม่ได้เกี่ยวกับความรักในเชิงชู้สาวเลย หรือแม้กระทั่งครอบครัว ญาติ สังคม ประเทศชาติก็ไม่ใช่ เพราะมันไม่ได้เล็กแค่นั้น ธรรมหมวดนี้หมายถึงจิตที่เมตตากว้างไกลไม่มีประมาณซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุก ๆ เหตุการณ์ ในชีวิต

สรุปได้ว่า แนวทางความรักของพุทธนั้น ไม่ได้กระจุกอยู่ที่จุดเล็ก ๆ อย่างคู่ครอง คู่รักใด ๆ ดังนั้น ความรักที่ถูกต้องจึงเป็นคำที่ห่างไกลจากความอยากจะไปมีคู่อย่างมาก ไกลลิบ ๆ ไกลสุดลูกหูลูกตา เพราะความรักของพุทธนั้นกระจายออกไปโดยไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ความรักแบบคู่ครองนั้น กระจุกอยู่โดยยึดมั่นถือมั่นว่า ความเชื่อของฉันคือแบบนี้ ความสุขของฉันคือแบบนี้ เขาคนนี้คือความสุขของฉัน และความถูกต้องของฉันคือแบบนี้

ว่าแล้วก็แยกกันไปตามความเห็น ความเห็นแบบหนึ่งก็ไปแบบหนึ่ง ความเห็นอีกแบบก็ไปอีกแบบ ไม่ต้องเสียเวลามานั่งเถียงหรือทะเลาะอะไรกัน ต่างคนก็ต่างศึกษากันไป คนที่ศึกษาปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าโดยหลักฐานก็จะพบว่ามีความทุกข์น้อย มีความผาสุกมาก ตลอดจนไม่มีทุกข์เลยก็มี ส่วนคนที่เห็นต่างก็ไปทางอื่น จะเรียกชื่อทางว่าอะไรก็แล้วแต่ ทางแห่งรักที่ถูกตรงก็ได้ ทางแห่งรักที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ได้ จะเปลี่ยนปกไปยังไงก็ได้ แต่ถ้าเนื้อในมันเน่า มันพาหลง มันเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น มันก็จะต้องเป็นทุกข์อยู่อย่างนั้นไปตลอดกาล

18.11.2562

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์