ข้อคิด

สละสิ่งของกับสละคู่ มันก็คล้าย ๆ กันนั่นแหละ

January 3, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 674 views 0

ทาน หรือการให้ การสละออก นี่มันมีลำดับของมันนะ มันต้องเริ่มจากของที่สละง่ายก่อน ของที่ยึดน้อย ๆ ไปเป็นลำดับ ต้องหัดพราก หัดสละจากของที่รักน้อย ๆ ก่อน เช่นทรัพย์สินเงินทองต่าง ๆ

อันนี้ถ้าเกิดและโตในเมืองไทย ถือว่าต้นทุนดี เพราะเมืองไทยยังมีการ “ทาน” ให้เห็นอยู่เป็นประจำ แม้แก่นศาสนาจะแทบไม่เหลือแล้ว แต่รูปรอยของการทำดียังคงอยู่ให้เห็นเป็นตัวอย่างที่ดีในปัจจุบัน

เราก็ต้องเริ่มจากการสละไปทีละเรื่อง แต่ละเรื่องจากมีความยากง่ายไม่เท่ากัน แต่ละคนก็ต่างกันไปอีก อยู่ที่ใครจะยึดอะไรไว้

เบื้องต้นก็เป็นสิ่งของนอกกาย ที่เรามีสิทธิ์ครอบครอง เราก็สละให้คนอื่นได้ใช้ประโยชน์ ไม่หวงไม่ยึดไว้ สุดท้ายแม้แต่คนที่เรารัก ก็ยังเป็นสิ่งที่อยู่นอกกาย ก็สามารถสละเป็นทานได้เช่นกัน

ทานบารมีที่สูงที่สุดในโลก พระพุทธเจ้าได้ทำไว้ในชาติของพระเวสสันดร คือให้ลูกเป็นทาน ให้ภรรยาเป็นทาน คนที่จะเข้าใจในทานระดับนี้ต้องเรียนรู้ทานในระดับต้น ๆ ก่อน ถึงจะพอเห็นภาพว่ามันยาก มันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ มันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ของจิตมนุษย์ที่สามารถสละได้แม้สิ่งที่ตนรักที่สุด

แต่ตอนนี้เราจะทำง่ายกว่า เพราะเรามีคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นแกนแล้ว เรียกว่ามีแผนที่ มีบทสรุป มี how to ให้สละสิ่งเหล่านี้กันได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องบำเพ็ญเท่าท่าน เพราะท่านทำมาหมดแล้ว แล้วสรุปมาสอนให้เราได้เรียนรู้

สิ่งของกับคู่ครอง มันจะต่างกันตรงน้ำหนักที่ยึดไว้ แต่รูปแบบการปฏฺิบัติคือ “ทาน” เหมือนกัน บางคนให้เขาสละเวลา สละเงินหาของใส่บาตรทุกเช้า เขาก็ทำได้ แต่ให้เขาสละคู่ครอง สละสิทธิ์ในการมีคู่อย่างเต็มใจ อันนี้น้อยคนที่น่าจะทำได้

ทานยิ่งสละมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีบารมีและเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นมากเท่านั้น ลดตัวตนได้มากเท่านั้น โดยเนื้อแก่นของทานแล้ว ไม่ใช่มูลค่าของวัตถุสิ่งเขา แต่เป็นจิตที่ยึดผูกพันคน สัตว์ สิ่งของเหล่านั้นไว้ เราก็ใช้องค์ประกอบของทานหรือการสละออกนี่แหละ เป็นอุบายในการพรากจากของที่เรารัก

ถ้ามันยึด มันจะยื้อ มันจะไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมให้เขา เรื่องคู่นี่มันสละกันยาก มันก็ต้องเริ่มจากทานสิ่งที่พอจะสละได้กันก่อน หัดแบบง่าย ๆ กันก่อน แล้วสั่งสมบารมีมาเรื่อย ๆ มันจะมีกำลังพอที่จะสละสิ่งที่รักมาก ๆ ไหว

มันต้องเป็นไปตามลำดับของมัน ง่าย กลาง ยาก ต้องฝึกฝนไปตามลำดับ ไม่ลัดขั้นตอน ถ้าลัดมาก กิเลสมันจะบีบคอให้กลับไปเสพ ต้องล้างความยึดไปตามลำดับ

…ส่วนสละโสดนั้นไม่เรียกว่าสละ ไม่เรียกว่าทาน เพราะเป็นการเอามาเพิ่ม ปัญหาไม่ลด ปัญญาไม่เพิ่ม เป็นภาษาเฉย ๆ พิมพ์ไว้กันคนแซว

การยอมพรากจากคู่ คือที่สุดของทุกข์ในการมีคู่

January 1, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 605 views 0

พิมพ์เรื่องคนโสดมาก็มาก ตอนนี้พิมพ์ในมุมคนคู่บ้าง เชื่อไหมว่าสุดท้ายเมื่อคนมีคู่เข้าใจธรรมะ เขาก็จะหันมาเป็นโสดกันทั้งนั้น

มีหลักฐานมากมายจากพระไตรปิฎก โดยเฉพาะพระเวสสันดรชาดก ซึ่งจะมีตอนหนึ่งที่มีการสละภรรยาเป็นทาน ในชาดกบทนี้ เป็นชาดกที่ผมรับรู้มาว่าคนข้องใจกันมาก ไม่เข้าใจว่าการสละลูก เมียเป็นทานคือการบำเพ็ญบารมีตรงไหน ซึ่งจริง ๆ มันก็เข้าใจยากจริง ๆ นั่นแหละ เป็นเรื่องเหนือโลก เหนือสามัญสำนึกของคนทั่วไปไปแล้ว

เชื่อไหมว่าถ้าเราบำเพ็ญไปเรื่อย ๆ คู่ครองของเราก็จะมีบารมีที่มากตามไปเรื่อย (เพื่อปราบเรานั่นแหละ) เขาจะมาแบบครบเลย หน้าตา ฐานะ การศึกษา นิสัย มารยาท ธรรมะ จะดีพร้อม งามพร้อม หรือถ้าไม่พร้อมก็จะมีจุดเด่นพิเศษที่เราพ่ายแพ้ ไม่ยอมปล่อยเพราะยึดสิ่งนั้นไว้

การปฏิบัติธรรมในเรื่องคู่ในบทจบก็คือ “เขาดีขนาดนี้ ยอมสละเขาได้ไหมล่ะ” มันจะยากก็ตรงนี้นี่แหละ คนก็งง จะสละทำไม ก็เขาเป็นคนดี เขาก็ดีกับเราขนาดนี้

เจอคู่ชั่ว ๆ นี่มันทิ้งกันไม่ยากหรอก ดีไม่ดีเขาก็ทิ้งเรา แต่เจอคู่ดีนี่มันทิ้งยาก ติดสวรรค์ ติดสุข ติดความเป็นเทวดา(มีอำนาจ มีคนบำเรอ) หรือไม่ก็ติดลาภ ยศ สรรเสริญ ฯลฯ

พอคนทำดี มันจะมีกุศลกรรมให้ได้รับ บางทีมันจะมาในรูปของคู่ครอง แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า แม้สิ่งนั้นจะเป็นลาภ แต่ก็เป็นลาภเลว ที่คนหลงดีใจได้ปลื้มกับมัน อยู่กับมัน แล้วก็แช่อยู่ในภพคู่ครองนั้น ๆ นานนนนนนนน…

ให้คิดก็คิดกันไม่ออกเลยนะ เจอคู่ดีสมบูรณ์ครบพร้อมจะออกยังไง จะถอนใจออกมายังไง ก็มีแต่จะเอาเขาเป็นที่พึ่งเท่านั้นแหละ ชีวิตติดเมถุน มันจะติดเสพความเป็นเทวดา ความเป็นคนพิเศษ ความมีอำนาจ มีการให้เกียรติ ให้ความรัก ความเอาใจ ความสำคัญ เป็นเครื่องร้อยรัดคนไว้กับทุกข์ เรียกว่าเมถุนสังโยค

แต่เชื่อไหม แม้จะดีแค่ไหน มันจะมีจุดพร่อง มีจุดพลาดเสมอ ทีนี้คนที่หลงจะมองข้ามจุดพร่องตรงนี้ไป แล้วไม่เอามาพิจารณาทุกข์ พอไม่เป็นทุกข์ มันก็ไม่เห็นโทษภัยอื่น ๆ ที่ตามมา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ เพราะมันเป็นกิเลสฝั่งติดสุข มันจะแกะยาก ถอนยาก

ไม่ต้องไปคิดถึงระดับพระเวสสันดรหรอก อันนั้นมันไกลไป ไม่ใช่ฐานะที่คนทั่วไปจะทำได้ แต่ก็ใช้หมวดทานมาเป็นกรรมฐานได้

เช่น คนดีนี่ใคร ๆ ก็อยากได้ใช่ไหม แล้วเราเอามาเก็บไว้คนเดียว คนอื่นเขาก็ไม่ได้ใช้ ถ้าเราสละออกไป คนอื่นเขาก็ดีใจ เพราะเราปล่อยคนดีคนหนึ่งกลับไปให้โลก เขาก็ไม่ต้องมาแย่งเรา ไม่ต้องผิดศีล

ยิ่งถ้าเราปล่อยเขาไปแล้วเขาไม่มีคู่ใหม่ ยิ่งดีใหญ่เลย เขาก็จะได้ใช้ชีวิตเอาไปทำประโยชน์อย่างอื่น ไม่ต้องบำเรอเรา ไม่ต้องบำเรอใครอีกให้เสียเวลาชีวิต

ที่สำคัญเราจะช่วยเขาได้ เราจะพาเขาเจริญได้ เพราะการผูกกันไว้นี่มันเจริญได้ยาก มันติดเพดาน มันมีอกุศลวิบากต่อกันมาก แต่ถ้าเราปล่อยได้ เขาจะเห็นเราเป็นตัวอย่าง อาจจะขัดข้องขุ่นใจบ้าง แต่เขาจะจำว่ามันมีสิ่งดีกว่าการอยู่เป็นคู่กันอยู่ในโลก นั่นก็คือการไม่อยู่เป็นคู่กันนั่นเอง

ยกตัวอย่างมาแล้วก็รู้สึกว่ายากโคตร ๆ แต่จะเป็นโสดอย่างผาสุกได้ต้องพิจารณาธรรมหมวดนี้เหมือนกัน มันจะเป็นกระบวนการหนึ่งในการก้าวเข้าสู่การเป็นโสดอย่างยั่งยืน มันต้องยินดีที่จะสละโควต้าของตัวเองที่จะมีคู่ไปให้คนอื่น

ไม่ต้องห่วงหรอก เราล่อลวงคนอื่นมาไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่วิบากกรรมเขาจะไม่มาเอาคืน ถึงจะตั้งจิตเป็นโสด แต่ก็จะมีผู้ท้าชิงอยู่นั่นแหละ

ดังนั้นอย่าไปกังวลเลยว่าจะไม่มีคู่ หรือจะสละไปแล้ว แล้วเขาจะหายไป เขาไม่หายไปไหนหรอก เขาก็วนเวียนมาอยู่นั่นแหละ ด้วยเหตุที่ทำบาปด้วยกันไว้มาก และถ้าเป็นคนดีจะมีอีกแรงหนึ่งคือเป็นที่รักของเขา เขาก็ยึดไว้

แท้จริงแล้วคู่ครองเป็นสภาพสมมุติที่คนยึดไว้ ความเป็นพ่อแม่ลูกยังดูจริงยิ่งกว่า แต่คนกลับไม่ค่อยยึดอาศัย ไม่ค่อยเห็นจะมีใครตั้งตนเป็นโสดเพื่อที่จะได้ใช้เวลาดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่าสักเท่าไหร่ จริง ๆ มันก็สมมุติเหมือนกันนั่นแหละ แต่ดันไปหลงสมมุติตัวที่มันตื้น มันเบียดเบียน มันเป็นบาป แล้วดันทิ้งสมมุติที่เป็นความเกื้อกูล เป็นกุศล

สรุปกันสั้น ๆ ว่า อาการทุกข์ที่เกิดเพราะไม่อยากพราก ไม่อยากสละจากคู่ นั่นแหละคือประตู ถ้ารู้แจ้งในทุกข์นี้ก็จบ จิตจะปล่อย จะยอมพราก สละได้ ทิ้งได้ ตามเหตุปัจจัย ไม่ยึดติดว่าคนคนนั้นเป็นคู่อีกต่อไป จะเข้าใจทั้งสัญญาแบบโลก ๆ กับการไม่ยึดสัญญาแบบโลก ๆ จะตัดสินใจตามกุศลเป็นหลัก

หัดพิมพ์มุมคนคู่ เอาไว้เท่านี้ก่อน ได้เหลี่ยมหนึ่งก็ยาวแล้ว ไว้วันหลังค่อยว่ากันใหม่

เราควรที่จะมีแง่คิดในเรื่องของความรักเป็นอย่างไร?

December 17, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 587 views 0

ถาม : เราควรที่จะมีแง่คิดในเรื่องของความรักเป็นอย่างไร?

ตอบ :  ในศีลข้อ 1 ภาคขยาย ได้กล่าวถึงประโยคที่ว่า มีความเมตตา มีความเกื้อกูล หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย อันนี้คือแง่คิดที่เป็นประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่นมากที่สุด เบียดเบียนน้อยที่สุด ความรักที่มีสภาวะเช่นนี้จะบาง เบา แต่กว้าง และลึกซึ้ง ไม่เหมือนความรักทั่วไป ที่หนัก(ใจ) (กิเลส)หนา แคบ(มักจะเกื้อกูลได้แค่วงแคบ ๆ เช่น คู่ครอง ลูก ฯลฯ) และไม่ลึกซึ้ง (เป็นความรักเสมอสัตว์ทั่วไป ไม่ประเสริฐ ไม่แปลก ไม่พิเศษ เป็นโลกีย์ทั่วไป)

เราไม่ควรที่จะมีความรักระหว่างหญิงชายอย่างนั้นหรือ?

December 17, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 743 views 0

ถาม : เราไม่ควรที่จะมีความรักระหว่างหญิงชายอย่างนั้นหรือ?

ตอบ : มีความรักในสิ่งใด ก็จะต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น ไม่ว่าจะคู่รัก ครอบครัว ประเทศหรือแม้กระทั่งรักในความเชื่อถือของตน ถ้าตอบตามแนวทางของพุทธ สภาพของการหลงรักก็คือสภาพของโมหะ หรือความหลง ในมุมของเป้าหมายในการปฏิบัติถือว่าไม่ควร แต่ในการปฏิบัติจะต้องเป็นไปตามลำดับคือ ค่อย ๆ ละ ความยึดมั่นถือมั่นไปโดยลำดับ เพราะแต่ละคนมีอินทรีย์พละไม่เท่ากัน จึงทำให้เข้าถึงธรรมได้ไม่เสมอกัน คนจะเข้าถึงสภาพที่พ้นจากความหลงรักได้โดยลำดับ ตามที่เขาได้ตั้งใจปฏิบัติ ดังนั้นการละเว้นจากความรักชายหญิงจึงเป็นเป้าหมายที่ควรปฏิบัติ ส่วนใครจะเข้าถึงสภาพที่ละหน่ายคลายได้อย่างผาสุก เป็นอีกประเด็นหนึ่ง