นรกของสัตว์เลี้ยง

September 16, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,119 views 1

นรกของสัตว์เลี้ยง

นรกของสัตว์เลี้ยง

ในสังคมปัจจุบันเรามักจะนิยมเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะด้วยประโยชน์อะไรก็ตามแต่ สัตว์เหล่านั้นก็จะมาอยู่ในความดูแลของเรา ในชีวิตของเรา ในกรรมของเรา

การช่วยเหลือสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยากนั้นเป็นกุศลกรรม เป็นเมตตาธรรมที่ดี เช่นช่วยสัตว์ที่บาดเจ็บ ช่วยสัตว์จากโรงฆ่าสัตว์ แต่การเอาสัตว์มาเลี้ยงกลับกลายเป็นโทษ เพราะเราเอาสัตว์มายึดไว้เป็นของตัวของตน คือเป็นอัตตา หรือโอฬาริกอัตตา เป็นความยึดในระดับหยาบ ยึดในสิ่งที่มีรูปร่าง เช่น คน สัตว์ วัตถุ สิ่งของ เมื่อยึดมั่นถือมั่นแล้วความทุกข์จะไม่เกิดเป็นไม่มี

เมื่อเกิดเหตุการณ์ ไม่ปกติ ดังเช่นน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา สัตว์เลี้ยงกลับสร้างปัญหาไม่น้อยให้กับใครหลายๆคน ใครเลี้ยงสัตว์ตัวเล็กดูแลง่ายก็รอดไป แต่ก็ยังมีปัญหาเช่น งูที่เลี้ยงหลุดออกมา จระเข้หลุดออกมา หรือมีภาระต้องขนย้ายสัตว์เลี้ยงไปอยู่ที่ต่างๆซึ่งไม่สะดวกเลย

การเลี้ยงสัตว์นำมาซึ่งการผูกกรรม ผูกภพ ผูกชาติด้วยกัน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสัตว์ที่เราเลี้ยงนั้น เคยเป็นอะไรมาในชาติก่อน เขาอาจจะเคยเป็นคนในครอบครัว คนรัก คนสนิท หรือศัตรูคู่แค้นก็ได้ เพราะถ้าไม่มีกรรมผูกกันมา ในชาตินี้เราก็คงจะไม่มาผูกกันต่อ ซึ่งอ่านดูแล้วอาจจะรู้สึกดี รู้สึกว่าได้ใกล้ชิดกับคนคุ้นเคย แต่จริงๆมันไม่ดี ลองให้เราสลับไปเป็นสัตว์เลี้ยงดูบ้างไหมล่ะ…

การเกิดเป็นสัตว์นั้น คือการเกิดในภพของเดรัจฉาน เพื่อการชดใช้วิบากกรรมที่ทำไป สัตว์จะไม่สามารถทำกุศลได้มากนัก ไม่สามารถมีปัญญาได้มากนัก จะมีขอบเขตการเรียนรู้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ภารกิจจริงๆคือการชดใช้กรรม ต้องทุกข์ ต้องทรมาน ต้องลำบาก และตายไป จนกว่าจะหมดกรรมนั้นๆจึงจะได้เกิดเป็นคนอีกครั้ง

การที่เราเอาเขามาเลี้ยง เขาก็จะมีชีวิตสุขสบาย แทนที่วิบากกรรมเขาจะลด เขากลับเพิ่มความสุขในภพของเดรัจฉาน ติดสุขในภพเดรัจฉาน เมื่อวิบากกรรมไม่ได้ชดใช้ในชาตินี้ ถึงแม้จะตายไป เขาก็ต้องเกิดเป็นเดรัจฉานซ้ำๆ ไปจนกว่าจะใช้วิบากกรรมหมด

ดังนั้นการนำสัตว์มาเลี้ยง จะทำให้เขาพ้นทุกข์ช้า แทนที่เราจะปล่อยให้เขาเผชิญชีวิตตามบาปบุญที่เขาทำมา เรากลับนำเขามาร่วมวิบากกรรมกับเรา ด้วยความหลง ด้วยความเสน่หา ด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่าสัตว์นี้เป็นของฉัน เป็นเพื่อนของฉัน เป็นลูกของฉัน ก็อุปโลกน์กันไปตามแต่กิเลสจะนำพากลายเป็นการเพิ่มกิเลสทั้งคนและสัตว์เลี้ยง ผูกกรรมกันด้วยการสะสมกิเลส พากันไปนรกทั้งคู่

บางครั้งเรามักจะนำเขามาเลี้ยงเพราะความรักความสงสาร แต่ความจริงถ้าเราปล่อยเขาอยู่แบบนั้นเขาก็อยู่ของเขาได้ ถึงแม้เขาจะตายมันก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับเขา เพราะตายแล้วก็หมดกรรมไปอีกเรื่อง ถ้ายังไม่หมดวิบากก็กลับไปเกิดเป็นสัตว์ใหม่อยู่ดี เราเองนั่นแหละที่เข้าไปยุ่งกับเขา ไปพยายามมีส่วนในกรรมของเขา โดยถือเอาตัวเราเป็นใหญ่ พยายามที่จะไปกำหนดชะตาชีวิต ไปกำหนดกรรมของคนอื่น ทั้งๆที่ไม่ใช่หน้าที่ของเราเลย

สัตว์ใดไม่ได้มาหาเรา ไม่ได้มาให้เราช่วย ก็ให้เราปล่อยวางไว้ เพราะรู้ดีว่ากรรมก็เป็นแบบนี้ เขาก็ต้องทนทุกข์แบบนั้น เพราะกรรมที่เขาทำมา เขาเบียดเบียน คดโกง มัวเมา เสพอบายมุขมาเท่าไหร่ เขาจึงต้องตกไปอบายภูมิแบบนั้นเราเข้าใจดี ซึ่งเราก็จะมองเขาด้วยเมตตา แต่ก็จะไม่เอาภาระ เพราะการเอาภาระนี้นอกจากทำให้เราเองลำบากแล้วยังทำให้เขาพ้นทุกข์ช้าอีกด้วยเสียประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

แต่ถ้าสัตว์ใดบาดเจ็บ ทุกข์ทรมานอยู่ตรงหน้า ก็ให้พิจารณาหาทางช่วยให้เขาพ้นทุกข์ ให้เขาสบาย หายเจ็บป่วย เมื่อหมดหน้าที่อันสมควรก็ไม่ต้องไปแบกเขาเอาไว้ ปล่อยเขาไปตามบาปบุญของเขา ถ้าเขามีบุญจริงก็จะมีคนมาดูแลเขาต่อไปเอง

การเลี้ยงสัตว์ยังนำมาซึ่งการทำฟาร์มสัตว์เลี้ยง เพาะพันธุ์สัตว์ ค้าขายสัตว์เลี้ยง ซึ่งผิดตามหลักของพุทธ ในบทของมิจฉาวณิชชา ๕ พระพุทธเจ้าท่านว่า ชาวพุทธไม่ควรค้าขายสัตว์ เป็นการค้าขายที่ผิด ดังนั้นการที่เราเลี้ยงสัตว์ก็จะทำให้คนอื่นอยากเลี้ยงตาม พอมีคนอยากเลี้ยงมากๆก็เกิดเป็นธุรกิจขายสัตว์ เป็นบาปทั้งคนเลี้ยงคนขาย

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะดูเหมือนใจจืดใจดำ แต่การที่เราจะคิดได้แบบนี้ เราต้องเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม เข้าใจภาพรวมของวัฏสงสาร เข้าใจอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จนเห็นทุกการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสภาวะที่เปลี่ยนรูปไปเท่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

16.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

รักที่มากกว่า

September 15, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,990 views 0

รักที่มากกว่า

รักที่มากกว่า

คำว่ารักเป็นคำที่คนนิยม มีการตีความหมายของคำว่ารักออกมาหลายแง่ หลายมุม หลายนิยาม หลายความเข้าใจ จนยากที่จะเข้าใจว่ารักจริงๆเป็นเช่นไร

แม้จะเคยได้พบกับความรัก แต่รักของเรากับเขาก็อาจจะไม่เหมือนกัน ทั้งๆที่เราก็รักกัน แต่ทำไมมันไม่เหมือนกัน เพราะเรานิยามต่างกัน? เพราะเราเข้าใจต่างกัน? หรืออาจจะเป็นเพราะว่าเรามีกิเลสที่ต่างกัน…

คำว่า “รัก” นั้นอาจจะเป็นดอกไม้ หรือมีดที่ฉาบไว้ด้วยน้ำผึ้งก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะใช้มัน ซึ่งความรักนั้นถ้าแบ่งตามใจคน ก็คงจะอวดอ้างว่ารักของตนนั้นยิ่งใหญ่ บริสุทธิ์ เป็นรักแท้หาที่ใดเปรียบได้ แต่ถ้าแบ่งตามกิเลสเราก็จะเห็นได้ชัดจากการกระทำที่ออกมา โดยไม่ต้องไปคิดวิเคราะห์หรือหลงไปในคำพูดที่เป็นคำลวง

รักหยาบๆ ….. เป็นรักที่หามาเสพเพื่อตน ใช้คำว่ารักเพื่อที่จะได้ใครสักคนมาบำรุงบำเรอกิเลสตัวเอง

เช่น จริงๆก็ไม่ได้ชอบเขามากหรอก แต่เขาหล่อและรวย คิดว่าน่าจะดูแลเราได้เลยคบกันไป

…หรือเช่น ชอบเขามาก ก็เลยใช้คำว่ารัก ป้อนคำหวาน ในนามแห่งความรัก ทำดีไปจนกว่าเขาจะยอมให้เสพสมใจ

…หรือเช่น เราก็ไม่ได้ชอบเขาหรอก แต่บังเอิญว่าเหงา อยากหาคนมาบำเรอความใคร่เลยคบกันไป

…หรือเช่น ชอบเขามาก อยากได้เขามาเป็นของตัว จนสามารถยอมใช้ร่างกายตัวเองแลกกับการมีเขาไว้ในชีวิต

…หรือเช่น เขาก็ไม่ได้นิสัยดีอะไรมากมายหรอก แต่ทำงานเก่งขยันเอาใจเราทุกอย่าง เราคบเขาไว้ก็ดีก็เลยบอกรักเขาเพื่อให้เขาทำอย่างที่เราอยากเสพไปเรื่อยๆ

ความรักที่เกิดจากเหตุเหล่านี้ก็เป็นเรื่องหยาบ เรื่องกาม เรื่องหน้าตา เรื่องสังคม เรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นรักที่วนเวียนอยู่กับการเสพกิเลส เสพโลกธรรม ยากจะหาความสุขเพราะจิตคิดแต่จะเอา ไม่วันใดก็วันหนึ่งก็ต้องพบกับความพราก ความไม่ได้ ความเสียไปแบบไม่หวนกลับ คนที่มีรักแบบนี้ยังต้องทนทุกข์อยู่มากตามความหนาของกิเลส ตามความอยากได้อยากมี

รักดีๆ….. เป็นความรักที่เกิดจากการเกื้อกูลกันมา พึ่งพากันและกัน สนับสนุนช่วยเหลือดูแล คนที่มีความรักแบบนี้จะลดการอยากได้อยากมีในกันและกันในระดับหยาบลงไปแล้ว แต่จะมีสภาพเหมือนเพื่อน เหมือนพี่น้อง จะเริ่มเข้าใจสาระแท้ของคำว่ารักได้มากขึ้น เริ่มจะมองเห็นคุณค่าแท้ในตัวคนมากขึ้น มองข้ามกาม คือความหล่อสวย มองข้ามโลกธรรม คือความรวย มีชื่อเสียง มีตำแหน่งการงานดี เหล่านี้ไปได้บ้างแล้ว จึงทำให้รักที่มีนั้นค่อนข้างราบรื่น ไม่หวือหวา เป็นไปเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน

รักที่มากกว่า…. เป็นความรักที่เสียสละ คำว่าเสียสละ คือสละโดยที่ไม่หวังจะได้อะไรกลับมา เรามักจะถูกทำให้สับสนเมื่อเห็นภาพพ่อบุญทุ่มเสียสละให้ผู้หญิงคนหนึ่งตลอด นั่นอาจจะเป็นเพราะเขามีแผนเพื่อที่จะเสพผู้หญิงคนนั้นในสักวันหนึ่ง เป็นความหยาบที่ซ้อนเข้าไปในการเสียสละ

การเสียสละที่แท้จริง คือการยอมลำบาก ยอมทน ยอมเจ็บ ยอมเหนื่อย เพื่อคนที่รักได้

เช่น แม้คนรักจะต้องตกงานหรือพิกลพิการ แต่ก็ยังดูแลกันไปไม่ทิ้งกัน ไม่โกรธ แม้สิ่งที่เคยมีเคยได้จะไม่มีอีกต่อไป แต่ก็ยังดูแลด้วยความรักและเข้าใจในกรรมที่เขาทำมา

เช่น แม้จะโดนต่อว่า ดุด่าจากฝ่ายตรงข้าม ก็ยอมเจ็บ ยอมโดนด่าโดยไม่โกรธเคือง ยอมให้อภัย สละความโกรธออกไป เพื่อที่จะไม่ไปส่งเสริมกิเลสของตนเองและคู่ครอง

หรือเช่น ยอมสละให้เขาไปกับคนใหม่ที่เขาถูกใจ โดยที่ไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาต เข้าใจและยอมปล่อยเขาไปตามที่เขาอยากจะไป

รักแท้ …. ความรักที่แท้จริงนั้น เป็นความรักที่เข้าใจทุกอย่าง เข้าใจว่าฉันก็เป็นแบบนี้ เธอก็เป็นแบบนั้น เรามีกรรมเป็นของตัวเอง ฉันก็มีของฉัน เธอก็มีของเธอ แต่จะทำอย่างไรเราจึงจะสามารถกุศลสูงสุดได้?

รักที่แท้คือการยอมปล่อย ยอมให้คู่ของตนเป็นไปตามกรรมที่เขาควรจะเป็น ไม่คิดจะเอาเขามาเสพ ไม่แม้แต่อยากจะได้รับสิ่งดีจากเขา ไม่ต้องการคำหวาน คำปลอบโยน กำลังใจ อ้อมกอด หรืออนาคตใดร่วมกัน ไม่คิดจะเอาเขามาผูกไว้ด้วยการคบหาเป็นแฟน หรือการแต่งงาน ที่เราเห็นชัดแล้วว่าจะนำมาซึ่งความทุกข์

ยอมแม้แต่จะไม่ไปรักเขา ยอมให้จิตเราเลิกผูกพันกับเขา ยอมให้เราเลิกยึดมั่นถือมั่นในตัวเขา แม้ว่าเขาหรือเธอคนนั้นจะเป็นดั่งเนื้อคู่ที่ผูกภพผูกชาติกันมานานแสนนาน แต่ก็จะยอมที่ปล่อยความสัมพันธ์นี้ให้เป็นอิสระ ให้เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีกิเลสใดๆมาเจือปนให้หม่นหมอง

ไม่หลงรัก ไม่ผลักไส ไม่ดูด ไม่ผลัก ไม่รัก ไม่เกลียด ไม่ชอบ ไม่ชัง ก็คงจะเหลือสาระแท้ เหลือแต่ประโยชน์ เหลือแต่กุศลร่วมกันเท่าที่พอจะทำได้ เป็นรักที่เข้าใจถึงสาระแท้ของชีวิตว่าควรจะต้องทำอะไรให้พ้นทุกข์ เข้าถึงความสุขแท้

เป็นรักที่นำมาซึ่งที่สุดของประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน เพราะตนเองก็ไม่ต้องมาทุกข์ยากลำบากเพราะวิบากกรรมของคู่ครอง เพราะแค่วิบากกรรมของตัวเองก็หนักจะแย่อยู่แล้ว ไหนจะกิเลสของตัวเองอีก และประโยชน์ท่าน ก็คือ สามารถเอาเวลาที่เคยไปทำเรื่องไร้สาระมาสร้างประโยชน์กับคนผู้อื่น สังคม สิ่งแวดล้อม ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

รักแท้ที่เกิดนี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการเสพสมใจในชาตินี้ภพนี้ แต่เป็นไปเพื่อกุศล เป็นประโยชน์ทั้งในชาตินี้ ชาติหน้า และชาติอื่นๆต่อไป

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็คงจะรู้แล้วว่าตัวเองพอใจอยู่ที่รักแบบไหน ความรู้สึกนั้นแหละคือระดับกิเลสของตัวเอง หนาบ้าง บางบ้างแล้วแต่ใครจะขัดกิเลสกันมาเท่าไหร่

– – – – – – – – – – – – – – –

15.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่?

September 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,102 views 0

ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่?

ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่?

ถาม: ปัจจุบันมีภิกษุพยายามสร้างประโยชน์ให้สังคมด้วยการกระทำให้เป็นรูปธรรมเช่นการให้ความรู้ญาติโยมในการประอาชีพทางการเกษตร การเป็นผู้นำในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสังคมมีการเดินขบวนเรียกร้องการใช้พื้นที่วัดทำนาเองเพื่อนำเงินเข้าวัด เป็นต้นซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันของญาติโยมบางคนก็ว่าควรทำ บางคนก็ว่าไม่ควรทำคุณดิณห์มีความเห็นอย่างไรเมื่อเอาหลักพระพุทธศาสนามาเป็นตัวตั้งในการวิเคราะห์ขอบคุณล่วงหน้าครับ

ตอบ: เขาทำดี ก็ดีแล้วนี่ครับ 🙂

ขอยกคำตรัสพระพุทธเจ้ามาอ้างอิงก่อนแล้วกันนะ “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราจักเตือนเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด นี่เป็นวาจาครั้งสุดท้ายของตถาคต”

การมีชีวิตอยู่เพื่อความผาสุกที่แท้จริงนั้น ต้องทำทั้งประโยชน์ตัวเอง คือขัดเกลา เพียรล้างกิเลสในใจตน ประกอบการงานเลี้ยงชีพ งานของพระคือศึกษาธรรมะและช่วยคนให้พ้นทุกข์ ฯลฯ และประโยชน์ท่าน คือ ประโยชน์ทั้งด้านรูปธรรมและนามธรรม คือ กิจกรรมการงานและการให้ความช่วยเหลือเพื่อคลายความทุกข์ ความลำบากของหมู่มิตร สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

เราจะมาเน้นตรง “ประโยชน์ท่าน” เพราะประโยชน์ท่านนี่แหละคือส่วนหนึ่งในการบรรลุธรรม คนที่ปฏิบัติธรรมถูกตรงก็จะมีความเมตตามากขึ้นเมื่อพากเพียรลดกิเลส ยิ่งหมดกิเลสก็ยิ่งเมตตาอยากช่วยคน อยากช่วยชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ในทางเดียวกันก็จะต้องใช้สังคมสิ่งแวดล้อมเป็นตัวขัดเกลากิเลสอัตตาของตัวเองให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป และแม้ท่านเหล่านั้นหมดกิจตนคือการล้างกิเลสแล้ว การช่วยเหลือผองชนก็ยังเป็นหน้าที่ของท่านอยู่ดี เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่อยู่กับสังคม อยู่ในสังคมแต่ไม่ปนไปกับสังคม ไม่ไปเสพกิเลสร่วมกับเขาและยังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้

ในบทโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ คือ ให้หยุดทำชั่ว ทำแต่ความดี และทำจิตใจให้ผ่องใส

จะสังเกตได้ว่า หยุดชั่ว นั้นมาก่อนทำดี เราต้องหยุดชั่วเสียก่อนจึงจะทำดี ไม่อย่างนั้นก็เหมือนเติมน้ำในโอ่งที่รั่ว ไม่เต็มสักที ถ้าท่านเหล่านั้นมองว่าบ้านเมืองกำลังเกิดสิ่งชั่ว ท่านไปหยุดความชั่วนั้น ก็เป็นการหยุดชั่วที่ดีแล้วนี่

หรือท่านเห็นว่าหมู่บ้าน สังคม ชุมชนกำลังย่ำแย่ กำลังเป็นทุกข์ เป็นหนี้ การที่ท่านออกมาช่วยพัฒนาชุมชนก็จะช่วยลดความชั่วอันเกิดจากความทุกข์ ที่จะนำมาซึ่งการลักขโมยได้ ก็เป็นการหยุดชั่วที่ดีแล้วนี่

หรือแม้แต่ท่านหยุดการทะเลาะเบาะแว้งด้วยการเอาภาระมาเป็นของตน ก็อาจจะดีกว่าปล่อยให้ชาวบ้านทะเลาะกัน ด่าว่ากัน ทำร้ายกัน ฆ่ากัน ก็เป็นการหยุดชั่วที่ดีแล้วนี่

เราต้องสังเกตเอาเองว่า ท่านทำเพื่อลาภ ยศ ชื่อเสียง เงินทองหรือไม่ ท่านทำเพื่อตัวเองหรือไม่ ถ้าท่านเข้าไปทำเรื่องทางโลกเพื่อคนอื่น ไม่ใช่เพื่อตัวเอง มันก็ไม่ได้เสียหายอะไรมากนี่

ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับปัญญาของแต่ละท่านที่จะประมาณว่าทำสิ่งนั้นไปแล้วจะเกิดกุศลมากน้อยเท่าไหร่ เพราะบางทีเหตุการณ์ที่มันจะได้โดยไม่เสียมันไม่มี ต้องยอมเสียบ้าง เพื่อที่จะได้มากกว่า ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์หนึ่งถ้าไม่ทำอะไร จะเกิดอกุศล 20 แต้ม (อกุศลเพราะดูดาย ไม่ทำอะไรทั้งที่ทำได้) แต่ถ้าทำจะได้กุศล 80 แต้ม และอกุศล 40 แต้ม (ทำดี แต่ก็ไปทำให้คนอื่นเดือดร้อนเพิ่มขึ้น) ….ถ้าเทียบกันแล้วอกุศลมันก็ดูมากกว่าใช่ไหม แต่ผลรวม หรือค่ากุศลสุทธิมันได้กำไร ท่านก็อาจจะตัดสินใจลงทุนทำกิจกรรมนั้นๆก็ได้ ซึ่งเราเองหากไม่เคยฟังเหตุผล ไม่เคยถามท่าน ก็อย่าพึ่งไปตัดสินท่านเลย บางทีท่านประมาณเก่งกว่าเราเยอะ

การประมาณของพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้น จะเข้าใจยากเกินกว่าที่คนมีกิเลสหนาจะเข้าใจ เพราะท่านคิดในพื้นฐานของคนที่ขัดเกลากิเลส มีกิเลสน้อย หรือไม่มีกิเลสเลย มันไม่มีทางที่เราจะเข้าใจท่านเหล่านั้นได้เพียงแค่ใช้การคิดวิเคราะห์ไปเอง ทำได้อย่างมากแค่รอดูผลเท่านั้น เพราะจะเข้าไปยุ่งก็เสี่ยงนรกเปล่าๆ หากท่านเป็นพระอลัชชีที่คิดแต่จะหลอกลวงต้มตุ๋นก็รอดไปบ้าง แต่ถ้าท่านเป็นพระที่ปฏิบัติดี การเพ่งโทษครั้งหนึ่งคงจะพาเราลงนรกไปได้นานข้ามภพข้ามชาติเชียวละ

เราจำเป็นต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า เราเกิดมาเพื่อทำกุศลกรรม ก็คงจะดีถ้าในชีวิตมีทางให้เลือกชัดเจนว่าทางไหนคือดี ทางไหนคือชั่ว แต่ด้วยกรรมที่เราทำมาจะทำให้หนทางสู่ความดีแท้นั้นลึกลับซับซ้อน บางครั้งจำเป็นต้องเสี่ยง บางครั้งก็หลงผิดเห็นชั่วเป็นดี เห็นดีเป็นชั่ว ต้องใช้ปัญญาเท่าที่มีประมาณเอาเองว่าทำอย่างนั้นจะดีไหม ทำอย่างนี้จะดีไหม พระก็คนเหมือนเรานั่นหละ มีกรรมเหมือนเรา มีเหตุที่ต้องตัดสินใจเหมือนเรา เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งการทำกุศลที่มากกว่า ในบางครั้งอาจจะจำเป็นต้องยอมเสียบ้าง ยอมสละบ้าง ยอมถูกด่าบ้าง แต่เพื่อกุศลที่มากกว่า เพื่อสิ่งดีที่มากกว่า ในบางครั้งเราก็ยังยอมทำเลยใช่ไหม?

พระพุทธเจ้าท่านมีหลักในการใช้สังเกตการปฏิบัติของพระที่ปฏิบัติดีไว้ นั่นคือ เป้าหมายการประพฤติพรหมจรรย์ ๙ ได้แก่..ไม่ใช่เพื่อหลอกลวงคน ไม่ใช่เพื่อเกลี้ยกล่อมคน ไม่ใช่เพื่อลาภ สักการะ สรรเสริญ ไม่ใช่เพื่ออวดตนเป็นเจ้าลัทธิ ไม่ได้อยากให้คนรู้จักเราดังที่เราอวดอ้าง เป็นไปเพื่อความสำรวม เพื่อละกิเลส เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส

ถ้าพระท่านใดยังถือเอาเป้าหมายเหล่านี้เป็นกรอบการดำเนินกิจกรรมใดๆแล้วล่ะก็ ปล่อยท่านทำไปเถอะ อย่าไปยุ่งกับท่านเลย นรกกินหัวเปล่าๆ

– – – – – – – – – – – – – – –

14.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

การบำรุงศาสนาอย่างยั่งยืน

September 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 13,461 views 0

การบำรุงศาสนาอย่างยั่งยืน

การบำรุงศาสนาอย่างยั่งยืน

ศาสนานั้นเป็นที่พึ่งทางจิตใจของใครหลายคน คนที่นับถือศาสนาก็จะทำทำนุบำรุงศาสนานั้นๆด้วยการเผยแผ่ การสร้างวัดวาอาราม การสนับสนุนผู้ที่เขาเห็นว่าปฏิบัติดีซึ่งก็เป็นการสนับสนุนส่งเสริมศาสนาที่ดีทางหนึ่ง

ดังเช่นในศาสนาพุทธ พุทธศาสนิกชน ทั้งหลายมักจะพากันใช้เวลาช่วงหนึ่งเข้าวัด นั่งสมาธิ ถือศีล เดินจงกรม ฟังธรรม และมักบริจาคทานช่วยเหลือในส่วนต่างของศาสนา เช่น สร้างวัด สร้างพระ แม้จะไม่ได้ช่วยเป็นแรงเงิน ก็มักจะช่วยกันบอกต่อหรือไม่ก็ช่วยเป็นแรงกาย

จนบางครั้งวัดได้กลายเป็นที่ยึดเหนียวจิตใจของคนเหล่านั้นไปแล้ว ในบางคนถึงกับยึดมั่นถือมั่นเข้าใจว่าการบำรุงศาสนาที่ได้บุญมากคือการสร้างวิหารทาน ธรรมทาน อภัยทาน …

ความเข้าใจเรื่องบุญกับอานิสงส์…

ซึ่งตรงจุดนี้เราต้องแยกคำว่าบุญกับอานิสงส์กันเสียก่อน การทำทานนั้นจะมีผล ก็คือประโยชน์ หรือมีอานิสงส์มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับทานนั้นไปสู่ที่ใด การให้ทานกับคนมีศีลก็มีอานิสงส์มากกว่าให้ทานกับสัตว์ นั้นเพราะว่าคนมีศีลจะสามารถนำทานเหล่านั้นไปสร้างประโยชน์ได้มากกว่าสัตว์ การทำทานให้ผู้รับที่ต่างกันจนกระทั่งวิหารทาน ธรรมทาน อภัยทาน จึงมีอานิสงส์หรือประโยชน์ต่างกันจึงทำให้กุศลที่ได้รับนั้นต่างกันมากตามสิ่งที่ทำไปด้วย

ทีนี้มาถึงคำว่าบุญ บุญนั้นคือการสละออก หรือการสละกิเลสออกไป หลายครั้งที่เรามักจะได้เห็นคำว่า โกยบุญ ,บุญใหญ่ , บุญหล่นทับ ถ้าแปลกันแบบตรงไปตรงมาก็คงจะเป็น,โกยการสละออก? การสละออกครั้งใหญ่? การสละออกหล่นทับ? พิมพ์ไปก็เริ่มจะงงไป เพราะเราเองไม่เคยให้ความกระจ่างกับคำว่าบุญ , กุศล , อานิสงส์เลย

เราลองมาแปลคำว่า โกยบุญ บุญใหญ่ และบุญหล่นทับให้ตรงตามความหมายของการสละออก ,คำว่าโกยบุญ คือ รีบเก็บเกี่ยวโอกาสในการสละกิเลส เช่น มีคนตกทุกข์ได้ยาก มีญาติมิตรลำบาก ก็ไม่ดูดายรีบหาทางช่วย ,คำว่าบุญใหญ่นั้น คือโอกาสในการสละครั้งยิ่งใหญ่ เช่น สละทรัพย์ สละอวัยวะ สละชีวิต , ส่วนบุญหล่นทับ คือ โอกาสพิเศษในการสละออก เช่น มีคนจะมาขอคู่ครองคนรักของเราไปอยู่ด้วย เรายกให้เขาได้ไหม? ทั้งหมดนี่พยายามแปลงให้เข้าท่าที่สุดแล้วนะ

เมื่อเราไม่เข้าใจความหมายของคำว่า บุญ , กุศล , อานิสงส์ ก็จะทำให้เราหลง เมาบุญ ไม่รู้ว่าสิ่งใดคือเหตุสิ่งใดคือผล ไม่รู้ต้นไม่รู้ปลาย รู้แต่เขาบอกว่าทำแล้วดี ทำดีแต่มักไม่ถูกที่ถูกทาง ทำดีผิดไปจากที่ควร ทำดีแบบมิจฉาทิฏฐิ

ความเสื่อมของศาสนา…

ในประวัติศาสตร์ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ทุกอย่างจะเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แม้แต่อินเดียที่ได้ชื่อว่าเป็นถิ่นกำเนิดของศาสนาพุทธ แต่ตอนนี้กลับสูญสลายหายไปจนเกือบหมด หลักฐานใดๆก็แทบจะไม่มีเหลือ วัดวาอารามที่เคยสร้างเมื่อสมัยต้นพุทธกาล กลับกลายเป็นแค่กองหินกองดิน คัมภีร์พระไตรปิฏกถูกเผาทำลาย สูญหาย หรือถูกบิดเบือนไป พระสงฆ์ถูกฆ่า เดรัจฉานวิชาเข้ามาแทนที่ เกิดการแบ่งกลุ่มแบ่งแยกพวก กำเนิดลัทธิต่างๆมากมาย จนแทบจะจับหลักไม่ได้ว่าทางไหนคือทางที่ถูกที่ควรต่อการปฏิบัติตาม

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต และจะเกิดขึ้นในอนาคตที่กำลังจะใกล้กลียุคเข้าไปทุกวัน เราทั้งหลายบำรุงพระพุทธศาสนา เพียงแค่รูปภายนอก คือ วัดวาอาราม โบสถ์สถูป เรียนท่องจำพระไตรปิฏก ถวายปัจจัยแก่สงฆ์ เหล่านี้คือการปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนที่เห็นได้โดยทั่วไป ทั้งหมดนี้ดี แต่ไม่ยั่งยืน ไม่เที่ยง แปรผันได้ตลอดเวลา

เช่น วัด โบสถ์ อาคาร พระพุทธรูป ที่เราร่วมบุญร่วมก่อสร้าง วันหนึ่งก็ต้องมาพังทลายเพราะแผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม มีคนขโมย หรือกระทั่งผลจากสงคราม เมื่อเราไปยึดมั่นถือมั่นในวัตถุเหล่านั้น ใจเราก็พลอยจะพังทลายไปด้วย

เช่น คำสั่งสอนบางประการที่ได้ยินมา ที่เขาอ้างว่ามันคือพระธรรม แต่ขัดกับการปฏิบัติจริง ไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ได้จริง พอเราไปยึดมั่นในคำสอนที่ผิดหรือถูกบิดเบือนเหล่านั้น ก็จะทำให้เรายิ่งหลง ยิ่งทุกข์ ยิ่งโง่ ยิ่งเกิดความเดือดร้อนในชีวิต

เช่น ผู้บวชเป็นพระบางรูป เราก็หลงไปทำบุญ ไปศรัทธา ไปกราบไหว้ ไปปฏิบัติตาม สุดท้ายก็กลายเป็นพระทุศีล โกหก หลอกลวง สร้างลัทธิ ใช้เดรัจฉานวิชา อลัชชี เป็นผู้ที่หากินในคราบของพระ ถ้าเรายังยึดมั่นถือมั่น เราก็จะต้องหลงโง่ตามไปต่อเรื่อยๆ แม้เราจะเคยเลื่อมใสศรัทธา แต่พอหมดศรัทธาก็อาจจะเป็นเหตุให้เราทุกข์ โกรธ อาฆาต เสื่อมศรัทธาต่อบุคคลที่บวชเป็นพระ

ทำบุญทำทานให้ถูกที่ มีอานิสงส์ดียิ่งนัก…

การทำบุญทำทาน นอกจากจะเป็นการทำเพื่อสละกิเลสออกจากใจแล้ว ยังต้องมีปัญญารู้ว่าผลหรืออานิสงส์นั้นจะเกิดสิ่งใดด้วย เพราะศรัทธาของพุทธนั้น คือศรัทธาที่เกิดจากปัญญา มิใช่ศรัทธาที่หลงงมงายดั่งเช่นศรัทธาในแบบพ่อมดหมอผีฤาษีหมอดู แต่เป็นเพราะเรารู้ว่าการศรัทธาในสิ่งนั้นจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อเราและผู้อื่นอย่างแท้จริง

เช่น เราทำบุญสร้างโบสถ์ เราทำด้วยใจที่สละรายได้ สละอาหารมื้อพิเศษ สละของที่อยากได้ให้กับวัด แต่วัดนั้นขึ้นชื่อเรื่องเครื่องรางของขลัง การสร้างวัตถุฟุ่มเฟือย เป็นไปเพื่อความบันเทิงและชื่อเสียง ก็ให้เราช้าไว้ก่อน ลองดูว่าวัดไหนที่ยังขาดปัจจัยบ้าง เช่นบางวัดไม่มีศาลา ไม่มีโบสถ์ เราก็ควรจะส่งเสริมวัดนั้นๆประโยชน์หรืออานิสงส์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อเราให้ผู้ที่ขาด มากกว่าให้ผู้ที่มีพร้อม

เช่น เราทำบุญช่วยเผยแพร่ธรรมะ แต่ธรรมะนั้น เป็นธรรมะที่ไม่พาพ้นทุกข์ พาให้สะสม พาให้หลงผิด พาให้เพิ่มกิเลส เพิ่มความโลภ โกรธ หลง เพิ่มอัตตา เราก็ช่วยเผยแพร่ด้วยใจเสียสละนะ แต่สิ่งที่เราช่วยเผยแพร่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ดังนั้นประโยชน์หรืออานิสงส์ย่อมไม่เกิด และอาจจะทำให้ผู้รับหลงงมงายเข้าไปอีกด้วย ซึ่งกรรมนั้นแหละจะกลับมาให้ท่านหลงผิด หลงทางในธรรมไปด้วย

เช่น เราทำบุญทำทานให้ผู้บวชเป็นพระ เรายินดีสละทรัพย์ สละโอกาสที่จะซื้อของที่ชอบให้พระรูปนั้น แต่พระรูปนั้นก็ไม่ได้นำปัจจัยของเราไปสร้างสิ่งดีงามอะไร ในขณะเดียวกัน พระอีกวัดกำลังสร้างโรงเรียนให้เด็กในชุมชน การทำทานให้พระรูปนั้นจะได้อานิสงส์มากกว่า เพราะท่านได้นำทรัพย์ที่เราสละไปสร้างประโยชน์ให้กับชุมชม เป็นกุศลหลายชั้น ชั้นแรกคือเราให้พระ ชั้นที่สองคือพระนำไปสร้างประโยชน์ ชั้นที่สามคือเด็กๆ ได้มีที่เรียน ชั้นที่สี่คือชุมชนพัฒนา ชั้นที่ห้า หก เจ็ด ฯลฯ… ดังจะเห็นได้ว่าการบริจาคทานแก่พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ช่วยเหลือชุมชน ปลดทุกข์ให้ชาวบ้าน ทำกิจของตนเองคือการศึกษาธรรม ล้างกิเลสและกิจกรรมของผู้อื่น คือช่วยเหลือคนและชุมชน จะได้รับอานิสงส์มากกว่าการบริจาคให้พระที่ไม่ทำประโยชน์อะไรให้กับชุมชน

การทำบุญทำทานที่คิดแค่ว่า “ ทำๆไปเถอะ ขำๆ อย่าคิดมาก” ได้ยินได้ฟังแล้วอาจฟังดูดี ดูปล่อยวาง แต่ก็อาจจะเข้าใจแบบไม่มีปัญญาก็ได้ ชาวพุทธจึงควรทำบุญทำทานส่งเสริมคนดี วัดดี พระดี ให้คนดีเหล่านั้นได้มีกำลังทำดีต่อไป เพื่อให้เกิดสังคม สิ่งแวดล้อมที่ดี (คำว่าดีในที่นี้ คือดีในทางสวนกระแส ไม่ไปตามกิเลส ขัดกิเลส ล้างกิเลส)

การส่งเสริมศาสนาพุทธอย่างยั่งยืน….

ดังจะเห็นได้ว่า การทำบุญให้เกิดการสละอย่างแท้จริงนั้นยาก และการจะให้เกิดอานิสงส์มากนั้นก็ยาก แถมสิ่งเหล่านั้นก็ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนสภาพ ถูกบิดเบือนได้ตลอดเวลา

อ่านมาถึงตรงนี้คงจะมีคำถามกันแล้วว่า แล้วเราจะส่งเสริมศาสนาอย่างไรจึงจะทำให้ศาสนาคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน …

ความเป็นพุทธนั้น ไม่ได้ถูกเก็บไว้ในวัตถุ ไม่ได้เก็บไว้ในวัด ไม่ได้เก็บไว้ในคัมภีร์พระไตรปิฏก ไม่ได้เก็บอยู่ในคนที่บวชเป็นพระ ความเป็นพุทธ หรืออริยทรัพย์ที่แท้จริงนั้นถูกเก็บไว้ในวิญญาณของแต่ละคน เป็นที่เก็บธรรมะที่ไม่มีวันจะเสื่อมสลาย ไม่มีวันพังทลาย ไม่มีวันถูกบิดเบือน

การส่งเสริมศาสนาพุทธอย่างยั่งยืนนั้น เราจึงควรสร้างความเป็นพุทธะ คือความรู้แจ้งเข้าใจในกิเลสนั้นๆ โดยผ่านการศึกษาธรรมะ และการปฏิบัติ จนเกิดสภาพการรู้เห็นความจริงตามความเป็นจริงในตน กลายเป็นอริยทรัพย์ติดไปข้ามภพข้ามชาติ ไม่ว่าจะไปเกิดที่ไหน ชาติไหน ภพไหน ก็จะมีสภาพนั้นติดตัวไปด้วย จะสามารถปลดเปลื้องกิเลสนั้นๆได้ง่าย เป็นการเก็บความเป็นพุทธไว้ในวิญญาณ ไว้ในกรรม เมื่อเรามีสร้างกรรมที่เข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องใดๆแล้ว ผลของกรรมก็คือเราไม่ต้องไปเสพ ไปยึดมั่นถือมั่น ไปทุกข์ เพราะเรื่องนั้นๆอีก ก็จะเกิดสภาพแบบนี้ไปทุกๆชาติ แม้ในชาตินี้ที่ยังไม่ตายก็ตาม

ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถพัฒนาจิตใจตัวเองให้เลิกกินเนื้อสัตว์หันมากินมังสวิรัติได้แล้ว วันพรุ่งนี้เราก็จะกินมังสวิรัติอย่างมีความสุข ไม่ว่าเดือนหน้า ไม่ว่าปีหน้าก็จะเป็นอย่างนี้ ดังนั้นชาติหน้าก็จะเป็นเช่นนี้เหมือนกัน เพราะเราสร้างกรรมดีแบบนี้ เราก็เลยมีสภาพรับกรรมดีแบบนี้ไปเรื่อย

พระพุทธเจ้าได้ตรัส เกี่ยวกับอริยทรัพย์ไว้ใน หัวข้อ อริยทรัพย์ ๗ คือทรัพย์แท้อันประเสริฐ ได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา

ดังนั้นถ้าเราปฏิบัติและเก็บสะสม พัฒนาสภาวะต่างๆ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น ก็ไม่ต้องกลัวเลยว่า เกิดชาติไหนชีวิตจะลำบาก เพราะปฏิบัติได้ในชีวิตนี้ ก็เกิดดีจนเห็นได้ในชีวิตนี้ แถมยังส่งให้ไปปฏิบัติต่อในชีวิตหน้า ดังที่จะเห็นได้ว่า คนเราเกิดมาดีเลว ร่ำรวยยากจน แข็งแรงมีโรค มีโอกาสไร้โอกาส ฯลฯ แตกต่างกัน เหล่านี้คือผลมาจากกรรมคือทรัพย์ที่เก็บสะสมมาแตกต่างกัน ดังจะเห็นได้จากตัวเราตอนนี้

เมื่อเข้าใจเรื่องกรรมได้ชัดแจ้ง ก็จะไม่สงสัยเลยว่าต้องทำอย่างไรจะบำรุงศาสนาพุทธได้อย่างยั่งยืน เพราะเป็นเรื่องที่ง่ายมาก ก็คือทำดีให้เกิดในตัวเรานี่แหละ ลด ละ เลิกการยึดมั่นถือมั่นในกิเลสของเราไปเรื่อยๆ เก็บสะสมอริยทรัพย์ไปเรื่อยๆ ล้างกิเลสไปเรื่อยๆ หยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสไปเรื่อยๆ นี่แหละคือการรักษาศาสนาพุทธที่ดีที่สุด

– – – – – – – – – – – – – – –

14.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์