Tag: เสแสร้ง

เห็บศาสนา เปรต เทวดา

April 12, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 816 views 0

ไม่ว่าศาสนาไหนก็ล้วนแต่มีโลกธรรมอันหอมหวานทั้งสิ้น ศาสนาพุทธก็เช่นกัน คนที่เข้ามาปฏิบัติอยู่ในสำนักก็มักจะได้โลกธรรม ได้ลาภสักการะ บริวาร ซึ่งเป็นสิ่งหอมหวานยั่วยวนกิเลสคนชั่วยิ่งนัก

จึงมีคนชั่วที่แสร้งปลอมปนเข้ามาเพื่อเสพผลเหล่านั้น สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชก็มีการชำระ จับพระทุศีล พวกบวชล่าโลกธรรม ออกไปจากศาสนา จนบัดนี้ผ่านมาสองพันกว่าปี คนเหล่านี้ได้กระจายแทรกซึม เสพผลประโยชน์อยู่ในทุกที่ที่มีโลกธรรม แทรกเข้าไปเสพ ซึมอยู่ภายใน กัดกิน ทำให้ติดเชื้อร้าย ทำให้เสื่อม เหมือนเห็บที่มากัดกินเลือดสัตว์

นิยามศัพท์ : เห็บศาสนา คือพวกที่มาใช้ศาสนาสนองกิเลสตน, เปรต คือพวกขี้โลภ เอาแต่ได้, เทวดา(โลกีย์) คือพวกบ้าอำนาจ ชอบสั่ง เอาแต่ใจ มุ่งร้าย กำจัดคนที่ขัดขวาง

โดยธาตุแล้ว คนพวกนี้จะมีลักษณะขี้โลภ เอาแต่ได้ เดี๋ยวอยากนั่น เดี๋ยวอยากนี่ แต่พวกเขามักจะมีศิลปะ ไม่แสดงออกชัดเจน โดยเฉพาะต่อหน้าคนใหม่จะยิ่งสร้างภาพว่าตนเป็นพ่อพระแม่พระ เป็นเทวดาที่น่านับถือ เป็นผู้ใจบุญ เป็นต้น แต่ในใจมักใหญ่ใฝ่สูง ต้องการอำนาจ ลาภ ยศ สรรเสริญ บริวาร ฯลฯ

ตอนเข้ามาแรก ๆ มักจะเสแสร้ง และสร้างภาพลักษณ์จนทำให้คนอื่นเข้าใจผิด หลงไว้ใจ หลงเชื่อใจ แต่ถ้าปล่อยให้มีอำนาจนานไป จะเริ่มเอาแต่ใจ กดดันคนอื่น บ้าอำนาจ เผด็จการ บีบคั้น กดดัน เดี๋ยวสั่งคนนั้น สั่งคนนี้ สั่งได้แม้กระทั่งครูบาอาจารย์ คือจะเริ่มตีตนเสมอ คิดว่าตนเป็นคนสำคัญ คิดว่าคนอื่นจะต้องฟังแต่ตน ต้องเกรงใจตน เพราะตนสำคัญตนผิด และจะใช้โอกาสต่าง ๆ ในการมีบทบาทในองค์กรขึ้นเรื่อย ๆ จะเห็นได้ชัดว่าพยายามทำตัวเด่น มีบทบาท เรียกร้องความสนใจ พยายามทำตนให้เป็นจุดสนใจ พอโดนติ จะไม่พอใจ ขุ่นใจ โกรธ ตัดพ้อ โจมตีกลับ ฯลฯ ถ้าถูกกล่าวหาจะทำเหมือนถ่อมตัว แก้ตัว ปัดไปปัดมา หรือไม่ก็หาเรื่องผู้กล่าวหากลับ ไม่ชี้แจงตามจริง ไม่แก้ไขปัญหา จะพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงต่าง ๆ

คนพวกนี้มักจะมีลักษณะเด่นคือ ไม่ปฏิบัติตามกฎ มักจะแหกกฎ ด้วยอำนาจของตน ไม่ทำตามวัฒนธรรม เช่น เขาถือศีล มุ่งล้างกิเลสกันเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนพวกนี้ก็จะใช้เล่ห์กล สร้างสภาพที่เหมือนจะไม่เอื้ออำนวยให้ทำ สร้างข้อจำกัดเทียม ไม่ยอมทำ ไม่ปฏิบัติตาม ซ้ำร้ายจะกลายเป็นปฏิบัติตรงข้ามกับหมู่กลุ่มด้วย เช่นกลุ่มเขาพากันไปลดกิเลส แต่คนพวกนี้จะพาไปเพิ่มกิเลส หมู่เขาพาลดกาม คนพวกนี้เขาจะพาเพิ่มกาม ซึ่งจะมีอีกฝั่งคือฝั่งอัตตา คือดีเกินไป เช่นกรณีของพระเทวทัตที่ขอวัตถุ 5 กับพระพุทธเจ้า อันนั้นก็พวกเห็บศาสนาสายอัตตา ส่วนพวกที่ต่ำกว่ามาตรฐานก็เห็บศาสนาสายกาม

ล่าบริวาร คือลักษณะเด่นชัดของเห็บศาสนา เมื่อบ้าอำนาจ ก็ต้องอยากได้คนมาสนองมาก ๆ อยากได้คนมาเป็นแขนเป็นขา (แต่ตนเองจะทำตนเป็นสมอง) หาคนที่ทำให้ได้ดั่งใจตนต้องการ ความเอาแต่ใจของเทวดาเปรตเหล่านี้คือ จะใช้อำนาจบีบให้คนทำตามใจ โดยใช้ “บุญ” มาเป็นของแลกเปลี่ยน

พ่อครูสมณะโพธิรักษ์เคยออกหนังสือชื่อ “ค้าบุญคือบาป” ที่แจกแจงรายละเอียดของลักษณะผีบุญเหล่านี้ไว้ ซึ่งลักษณะโดยสรุปคือจะเอาคำว่า “บุญ” มาล่อหลอกให้คนอื่นทำตามที่ตนหวัง ทำแล้วเป็นบุญใหญ่ ทำแล้วจะได้บุญ ทำบุญให้หมู่กลุ่ม(แต่ตามคำสั่งตน) เห็บศาสนา มักจะไม่ใช่รุ่นหัวเจาะ ไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง แต่จะมาแทรกซึมและใช้โลกธรรมที่องค์กรมี นำไปหลอกล่อคนให้ทำตามใจตนเอง โดยอ้างนโยบายองค์กรบ้าง อ้างครูบาอาจารย์บ้าง อ้างบุญบ้าง โดยลักษณะเด่นคือจะมีแนวโน้มไปในทางกดดันมาเพื่อสนองกิเลสตน สนองความได้ดั่งใจตน

ทำไมจึงกำจัดออกได้ยาก? นั่นก็เพราะคนพวกนี้มักจะเกาะเกณฑ์ขั้นต่ำ คือมีคุณสมบัติขั้นต่ำที่สุดเท่าที่จะต่ำได้ เพราะจะได้หาของยั่วกิเลสมาเสพได้มาก ๆ ถ้าไปเกาะขีดบน ถือศีลเข้ม ๆ จะแทบไม่เหลือวัตถุกามให้เสพ ดังนั้น เขาก็จะมักจะเกาะอยู่ขั้นต่ำของกลุ่ม พวกเขาเฉโกพอที่จะรู้ว่าควรจะทำตัวอย่างไรให้จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน พอถูกถามก็พูดจาเบี้ยวไปเบี้ยวมา หรือไม่ก็กล่าวหาผู้ถามกลับ เป็นการปกป้องตนเองด้วยมารยา และโดยมากคนพวกนี้มักจะสะสมอำนาจ ล่าบริวาร จึงใช้อำนาจนั่นแหละ เป็นตัวกันไม่ให้คนมาติ ให้คนเข้าถึงได้ยาก ไม่ให้คนตรวจสอบ พอใครจะมากล่าวหา มาทำร้าย ก็จะถูกบริวารที่ตนได้มอมเมาไว้เล่านั้นกันเอาไว้ ไม่ให้มาถึงตัว ดังนั้นการกำจัดคนพวกนี้ออกจึงยากมาก เพราะพวกเขามักจะสร้างเกราะที่หนาเอาไว้ป้องกันตัว และที่สำคัญคือเขาก็จะทำดีไปเรื่อย คือทำดีตามที่โลกถือสา เอาความดีนี้แหละไว้เป็นเกราะ และไว้หลอกคน เพราะอาศัยดีนี้จึงทำให้คนเข้าใจผิด หลงไปเคารพได้มาก แต่จะให้ทำดีเหนือดี ให้ลดละเลิกล้างกิเลส คนพวกนี้เขาจะไม่ทำ

มุ่งสู่นรกอันเป็นอนันต์ เหล่าเห็บศาสนา เปรตเทวดาเหล่านี้ มีโอกาสสูงมากที่จะทำอนันตริยกรรม คือกรรมหนักในข้อที่ว่าทำให้หมู่เพื่อนนักปฏิบัติธรรมแตกแยกกัน เพราะด้วยเหตุแห่งความบ้าอำนาจ และกลัวคนจะจับผิด คนพวกนี้จะรู้ตัวว่าใครที่มีกำลังมากพอที่จะกำจัดตนเอง จึงมักจะใช้อำนาจ บารมี บริวาร หรือเหตุปัจจัยที่มีในการกำจัดศัตรูแห่งเส้นทางอำนาจของตนก่อน

ดังที่ได้กล่าวมาข้างตน เห็บศาสนามักจะมักใหญ่ใฝ่สูง อยากเด่นอยากดัง อยากได้รับการเคารพ อยากเป็นคนสำคัญ ดังนั้น พวกเขาจะไม่ยอมให้ใครข้ามหน้าข้ามตา ถ้าอยู่ในองค์กรก็จะพยายามขึ้นเป็นเบอร์ต้น ๆ และกำจัดเสี้ยนหนาม คือกำจัด ข่ม ป้ายสี คนที่ไม่ทำตามตน ต่อต้านตน ที่ขวางทางตน นั่นก็หมายความว่า คนพวกนี้ก็จะพยายามทำทุกอย่างให้ตนคงสถานะไว้ได้ ถึงแม้จะต้องกำจัดคนอื่นออกไปก็ตามที

และโดยมากแล้วศัตรูของคนชั่วก็คือคนดีนั่นแหละ แต่จะทำอย่างไร ถึงจะเล่นงานคนดีได้ มันก็ต้องทำลายดีในคนคนนั้นเสีย ลักษณะเด่นอันหนึ่งของกลุ่มเห็บศาสนาคือการตั้งกลุ่มนินทา สร้างข่าวลือ ปั้นข่าว ใส่ไข่ ใส่สี ให้มีรสเด็ดจัดจ้าน เพื่อทำลายชื่อเสียงของอีกฝ่าย ต่อให้ดีแค่ไหน มาเจอรวมพลคนพาล ร่วมกันผิดศีลข้อ ๔ คือโกหก ปั้นเรื่อง ยุคนนั้นทะเลาะคนนี้ ให้คนแตกความสามัคคีกัน ใครเจอเข้าไป ถ้าไม่มีของจริง ก็เสร็จทุกรายไป คือจะโดนกลืนด้วยข่าวจริง(5%) ใส่ไข่อีก (95%) เป็นต้น สุดท้ายก็ทำคนดีให้เป็นคนร้ายได้ในที่สุด สร้างชื่อเสียงด้านลบให้คนอื่น ทำให้เขาผิดใจกัน แตกแยกกัน เสื่อมศรัทธาต่อกัน สำเร็จอนันตริยกรรมในที่สุด ขุดฝังตัวเองในนรกสำเร็จ เกิดมาตายเปล่าไปอีกหนึ่งชาติเป็นผลที่คนเหล่านี้จะได้รับ

พอกำจัดคนดีมีศีลออกไปให้พ้นทางได้แล้ว ตัวเองก็จะได้บ้าอำนาจ เสพอำนาจได้อย่างไม่มีใครขัดอยู่ในกลุ่มนั้น ๆ กลายเป็นเห็บศาสนาสมบูรณ์แบบ ไม่มีวันเจริญ มีแต่ความเสื่อม เต็มไปด้วยกิเลส ซึ่งเป็นภาระกลุ่มที่ต้องแบก เป็นจุดอ่อนของกลุ่ม เป็นรูรั่วของกลุ่ม เป็นเชื้อร้ายของกลุ่ม ที่เหมือนมะเร็งที่จะลุกลามกัดกินเนื้อดีส่วนอื่น ๆ ไปเรื่อย ๆ

หากไม่กำจัดเห็บศาสนาออก ก็ต้องแบกความหนักเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ แบกคนทุศีล แบกคนมีอนันตริยกรรม ซึ่งคนพวกนี้ไม่มีวันเจริญ กลายเป็นภาระ กลายเป็นวิบากกรรมของกลุ่มที่ไม่ชัดเจนในความเป็นคนพาลในคน ที่จะต้องแบกไว้ให้มันลำบาก ให้เสื่อม ให้เมื่อย ให้หนัก ให้เสียเวลาเปล่า ๆ

น้ำหนักของความรู้สึกในการห่างไกลคนพาล

February 28, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 706 views 0

จากชิคุจฉสูตร จะมีตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าเปรียบโทษของการเข้าไปคบหา เข้าไปชิดใกล้คนพาล มีความเน่าในตน ผิดศีล ฯลฯ ว่าเหมือนกับการเข้าไปใกล้งูที่อยู่ในบ่อขี้ แม้ไม่กัดแต่ถ้าไปใกล้ก็จะทำให้เหม็นได้

คนทั่วไปถ้าไม่ได้ศึกษาและปฏิบิติธรรม เขาจะไม่เข้าใจน้ำหนักที่ควรจะห่างไกลคนพาลเหล่านี้ เขาก็คิดว่าไม่เป็นโทษขนาดนั้นล่ะมั้ง ไม่อันตราย ไม่ถึงขนาดต้องห่างไกลหรอกน่า หรือไม่ก็ทำเป็นไม่รู้จัก ไม่สนใจความเป็นภัยของคนพาลไปเลย

การที่พระพุทธเจ้าจะยกอะไรขึ้นมาเปรียบเทียบนั้น ท่านก็มักจะยกสิ่งที่มีน้ำหนักใกล้เคียงกันเพื่อเปรียบเทียบให้รู้สึก ให้เข้าใจ ให้พอเห็นภาร่วมกันได้ง่ายขึ้น

คนพาลนั้นก็เหมือนกับงูในบ่อขี้ ทั้งอันตราย ทั้งเหม็น แม้ไม่กัดแต่มาเข้าใกล้ก็เหม็น มงคลสูตรที่ว่า ห่างไกลคนพาลนั้น คือต้องมีปัญญาเข้าถึงสภาวะว่าคนพาลเป็นโทษดังนี้ คือเหมือนความอันตรายของงู และเหม็นเหมือนขี้

รู้สึกอย่างไรกับงู ก็รู้สึกกับคนพาลนั้นใกล้เคียงกัน คืออันตราย เป็นภัย ไม่น่าเข้าใกล้ ไม่น่าเข้าไปยุ่งใด ๆ แม้มันจะมีหรือไม่มีพิษ หรือแม้จะกัดหรือไม่กัดก็ตาม คนทั่วไปเขาก็จะไม่อยากเข้าไปใกล้งู อันนี้คือสภาพจิตของคนที่คนใจภัยของคนพาล ก็จะห่างคนพาลไว้ เพราะพิษภัยอันตรายเหล่านั้น

ส่วนบ่อขี้ หรือขี้นี่ก็เป็นอะไรที่คนส่วนใหญ่รังเกียจอยู่แล้ว ยิ่งงูตกถังขี้ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เพราะปกติขี้มันก็อยู่ของมันอย่างนั้น จะเหม็นโชยขึ้นมาก็เพราะมีอะไรไปเขี่ยหรือทำให้ขยับ แต่ถ้ามีงูไปตกถังขี้แล้วเลื้อยมาทางเรา ก็คล้าย ๆ จะกลายเป็นขี้เดินได้ ทั้งอันตรายทั้งน่ารังเกียจ

ความเห็น ความเข้าใจและชื่อเสียงที่ไม่ดีของคนพาลเช่นกัน ก็เหมือนกับขี้นั่นแหละ คนทั่วไปรังเกียจอย่างไร กับความเน่าในของคนพาลก็มีน้ำหนักเท่านั้นเช่นกัน

ถ้าเห็นความพาลในคนพาล เห็นการโทษของการผิดศีลในคนผิดศีล เห็นความเน่าในตนของคนเสแสร้งได้ชัดเจนแจ่มแจ้งจริง ๆ จะเข้าใจน้ำหนัก ว่าควรจะรักษาระยะห่างในการคบหาเท่าไหร่จึงจะดี ควรจะห่างไปไกลเท่าไหร่ถึงจะปลอดภัย

มันก็เป็นเรื่องง่ายที่เข้าใจได้ยากมากถึงยากที่สุด เพราะคนพาลนั้นรู้ไม่ได้ง่าย ๆ ส่วนมากก็จะเสแสร้งแกล้งทำตัวเป็นคนดี หลอกคน ถึงขนาดว่าขี้ที่เปื้อนก็ยังเป่ามนต์ให้หอมได้ เป็นของวิเศษได้ แบบนั้นก็มีเหมือนกัน

แต่บางคนเขามีวิบากกรรมที่ต้องหลง เพราะเคยไปส่งเสริมมามาก มีกรรมก็ต้องรับกรรม แต่เมื่อรู้แล้ว ชัดแล้ว เห็นความเป็นพาล เห็นความผิดศีลเน่าในแล้ว ก็ควรจะถอยห่างออกมา

การเลือกคบคน (ชิคุจฉสูตร)

February 27, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,988 views 1

การเลือกคบคน (ชิคุจฉสูตร)

พระพุทธเจ้าได้ให้หลักการเลือกคบคนไว้หลายหลักหลายประเด็น ในชิคุจฉสูตรนี้ (พระไตรปิฎก เล่ม 20 ข้อ 466) จะแบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. คนที่น่าเกลียด ไม่ควรคบ 2. คนที่ไม่ควรใส่ใจ ไม่ควรคบ 3.คนที่น่าคบหา

1).คนที่น่าเกลียดเป็นอย่างไร? คือคนที่ทำผิดศีลเป็นประจำ ทำผิดจากคุณงามความดีที่ตนได้ประกาศไว้ มีใจสกปรก เน่าใน ปฏิบัติตนไม่ดี มีกิจกรรมที่ลึกลับปิดบัง ไม่ใช่ผู้ที่ปฏิบัติดีแต่บอกคนอื่นว่าเป็นคนที่ปฏิบัติดีแล้ว ไม่ใช่คนที่มุ่งปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ แต่บอกคนอื่นว่าตนนั้นมุ่งปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ เต็มไปด้วยความอยาก เป็นเหมือนคราบสกปรกเหนียวหนืดกลิ่นเหม็นกำจัดได้ยาก พระพุทธเจ้าบอกว่าคนแบบนี้ “ควรเกลียด”(คือไม่ไปยินดีในสิ่งที่เขาเป็น) ไม่ควรคบหา ไม่ควรเข้าไปใกล้ แม้นั่งใกล้ยังสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตน แม้เราจะไม่ได้ทำตัวแย่เหมือนเขาก็ตาม แต่ชื่อเสียงด้านไม่ดีของเขา นิสัยที่ไม่ดีของเขา จะทำให้คนเข้าใจเราว่าคบคนชั่ว ก็เป็นเหมือนกับคนชั่วนั้น ทำให้คนเข้าใจผิดไปได้ เหมือน พระพุทธเจ้าเปรียบเสมือนงูตกถังขี้ ถ้าเราเข้าใกล้ แม้มันจะไม่กัดเรา แต่ไปใกล้ชิดกัน ก็ทำให้เปื้อนขี้ได้

พระพุทธเจ้าท่านได้เตือนไว้ให้ระวัง คนผิดศีล คนที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมแต่สร้างภาพว่าปฏิบัติเหล่านี้ แม้เราจะมีภูมิคุ้มกัน ไม่ได้ทำชั่วอย่างเขา แต่เข้าไปใกล้ ไปคบหา ไปพูดคุย ก็จะทำให้มีภัยเกิดแก่ตัวเอง คนเช่นนี้จริง ๆ ก็รู้ได้ยาก เพราะเขาจะจะแสร้งว่าตนเป็นคนดี ปกปิดบิดเบือนความจริง เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านว่า “เน่าใน” อ้าว แล้วอย่างนี้เขาเน่าในแล้วเราจะไปรู้ได้อย่างไร ก็ต้องคอยสังเกตกันไปว่าเขาดีจริงอย่างที่เขากล่าวอ้างไหม เช่นอ้างว่าจะช่วยสืบสานศาสนา เข็นกงล้อธรรมจักร แต่เขาได้ลดกิเลสไหม ได้ปฏิบัติตนเพื่อลดกามหรืออัตตาไหม ถ้าไม่ใช่ก็แปลว่าตอแหล เพราะการสืบสานศาสนาคือการลดความโลภ โกรธ หลง ถึงจะคงเนื้อแท้ของศาสนาไว้ได้ หรือคนที่มีการงานลึกลับปิดบัง ทำอะไรก็จะต้องแอบคิดแอบทำ ทำกิจกรรมด้วยกันแต่ก็แอบเสพผลประโยชน์มาเพื่อตน ยักยอกประโยชน์ไว้ที่ตนหรือกลุ่มของตน ไม่ชี้แจงให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบทั้งหมด พวกนี้ก็ฝังอยู่ในหลาย ๆ กลุ่มที่มีผลประโยชน์มาก มีโลกธรรมมาก

การจะรู้จักคนผิดศีลหรือคนเน่าในนี้ได้ จะต้องใช้แว่นคือธรรมะในการส่อง การเรียนรู้ปริยัติและปฏิบัติจะทำให้สามารถรู้จักความเป็นพาลในคนพาลเหล่านี้ได้ เพราะโดยทั่วไปในสังคมนั้น คนพาลมักจะแสร้งว่าตนเป็นคนดีเสมอ ที่เจ็บปวดกันมามากมายก็เพราะหลงเชื่อคนเหล่านี้นี่แหละ แต่ก็ผิดที่เราเองที่ดูเขาไม่ออก คนพาลมีมากมายกว่าคนดีอยู่ ยังไงชีวิตก็ต้องเจอ เพียงแต่เราจะรู้ทันหรือไม่ทันเขาเท่านั้นเอง ซึ่งพอคบหาคนพาลไป แม้เขาจะแสร้งทำเป็นคนดีได้ แต่ไม่นานเขาก็จะหลุดทำชั่ว ผิดศีล เริ่มจะเน่าใน(มีความเห็นผิด) เมื่อรู้แล้ว จึงไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ แต่ถ้าหากเราไม่มีปัญญา เราไม่รู้ทันกลอุบายของเขา เราก็ติดกับดักเขาเลย แย่น้อยที่สุดก็เหมือนงูตกถังขี้เลื้อยผ่าน แต่ถ้ามันกัดขึ้นมาก็ยิ่งแล้วใหญ่ ทั้งเจ็บปวด ทั้งเหม็น ทั้งติดเชื้อ เอาจริง ๆ แค่ถังเก็บขี้หรือบ่อขี้ก็ไม่มีคนอยากเข้าใกล้อยู่แล้ว ยิ่งเป็นงูยิ่งไม่น่าเข้าใกล้ไปใหญ่ เป็นภาษาที่นำมาสื่อสภาวะ คือบ่อขี้และงูน่าเกลียด ไม่น่าคบ ไม่น่าใกล้ ยิ่งรู้สึกว่าน่าห่างไกลสองสิ่งนี้เท่าไหร่ กับคนพาลเช่นนี้ก็ควรจะรู้สึกอยากห่างไกลเท่านั้นเช่นกัน การห่างไกลสิ่งที่เน่าเหม็นและอันตราย คือความปลอดภัยและเป็นอยู่ผาสุก พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสไว้ว่า การห่างไกลคนพาลคือมงคลชีวิตนั่นเอง

2).คนที่ไม่ควรใส่ใจเป็นอย่างไร? ในพระไตรปิฎกจะใช้ภาษาว่า “คนที่ควรวางเฉย” แต่จะปรับมาเป็นภาษาที่น่าจะปฏิบัติได้ง่ายขึ้น แต่สภาวะใกล้เคียงกัน วางเฉย คือไม่เอาภาระ ไม่ต้องหยิบขึ้นมา ไม่ต้องไปสนใจ จึงปรับคำเป็นคนที่ไม่ควรใส่ใจ

คนที่เราไม่ควรใส่ใจ คือคนที่ขี้โกรธ อะไรนิดอะไรหน่อยก็น้อยใจ  ถูกต่อว่า ตำหนิ ติเตือนแม้เล็กแม้น้อยก็โกรธ หงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ เจ้าคิดเจ้าแค้น อาฆาต พยาบาท โกรธแบบเน่าในหมักหมม สะสมความโกรธเกลียด ชิงชังอยู่เสมอ คนเช่นนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ว่าไม่ควรไปยุ่ง ไม่ควรไปคบ ไม่ควรแม้จะไปนั่งใกล้ ๆ คบไปก็พาให้เจอแต่เรื่องน่าปวดหัว เดี๋ยวก็ด่าคนนั้น เดี๋ยวนินทาคนนี้ ไป ๆ มา ๆ ก็วนมาด่าเรา นินทาเรานี่แหละ จะคบหาหรือเข้าใกล้ไป ก็มีแต่พลังลบ พลังกิเลสพุ่งพล่านเต็มไปหมด เคยเจอไหม คนที่ถูกติหรือมีคนทำไม่ถูกใจนิดเดียว แผลเล็กนิดเดียว แต่เอามาขยายกันใหญ่เท่าตึก และแม้เหตุการณ์จะจบไปนานแล้วก็ตาม เขาก็มักจะพูดต่อไปยาวทั้งจำนวนครั้งและความยาวนาน คนแบบนี้อยู่ด้วยก็ซวยเปล่า ๆ คนพวกนี้ท่านเปรียบเหมือนบ่อขี้ ถ้ามีไม้ไปกวนหรือมีอะไรไปกระทบ ก็จะส่งกลิ่นเหม็นฟุ้ง ดังนั้นหากเจอคนที่เดี๋ยวก็โกรธคนนั้น เดี๋ยวก็ถือสาคนนี้ เอาง่าย ๆ ว่า ถ้าเขามักจะสนใจแต่ความผิดของคนอื่น ก็ให้ห่าง ๆ ไว้ เพราะคนโกรธนี่เขาจะไม่มองตัวเอง ไม่แก้ปัญหาที่ตัวเอง เขาจะมุ่งแก้ปัญหาที่คนอื่น วันใดวันหนึ่งเขาก็จะมุ่งมาแก้ปัญหาที่เรา แม้บางทีความจริงมันจะไม่ใช่ปัญหาก็ตามที น่าปวดหัวไหมล่ะ?

การไม่ใส่ใจ การวางเฉยต่อท่าทีของผู้ที่มักโกรธ ก็เปรียบเหมือนการไม่ให้อาหารความชั่ว แม้เขาโกรธมา เราไม่ส่งเสริม(ไม่กอดคอไปนรกด้วยกัน) ไม่ผลักไส(เดี๋ยวจะเข้าตัว) แค่เราไม่ใส่ใจ ไม่ต้องไปเพิ่ม ไม่ต้องไปยุ่ง ไม่ต้องเอาภาระ คนขี้โกรธสอนกันไม่ได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะตอนที่เขากำลังโกรธ หงุดหงิด หรือกำลังนินทาใคร ตอนนั้นพลังของกิเลสกำลังพลุ่งพล่าน จึงไม่ใช่เวลาที่ธรรมะจะเติบโตได้ แม้มีธรรมที่เลิศยิ่งกว่าน้ำทิพย์ ราดรดลงไปก็เหมือนราดน้ำไปบนเหล็กร้อนแดงฉาน น้ำก็จะระเหยหายไปหมดนั่นแหละ เสียเวลาเปล่า ๆ ดังนั้นอย่าไปใส่ใจคนขี้โกรธ

3).คนที่น่าคบหาเป็นคนอย่างไร? คือ เขาเหล่านั้นเป็นคนที่มีศีล ประพฤติตามธรรม ไม่เบียดเบียน กล่าวแต่ธรรมที่พาพ้นทุกข์ พูดเรื่องที่พาให้ละ หน่าย คลาย จากความโลภโกรธหลง ท่านว่าถ้าเจอคนอย่างนี้ ให้เข้าไปคบหา ไปศึกษา ไปใกล้ชิด เพราะแม้ว่าเราจะปฏิบัติตนได้ไม่ถึง ไม่เป็น ไม่เหมือนอย่างคนมีศีลเหล่านั้นก็ตาม แต่เราก็จะมีชื่อเสียงที่ดีกระจายไปไกล ว่าเราคบคนดี เราคบคนมีศีล มีคนปฏิบัติถูกตรงเป็นมิตร ก็จะเป็นพลังบวกที่จะดึงดูดสิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิต คนดีเขาก็จะไม่ระแวงเพราะเราก็คบคนที่ดีมีศีล เป็นการยืนยันธรรมะในตัวเราอีกชั้นหนึ่ง นอกจากเราจะพยายามทำดีแล้ว เรายังคบหาคนดีอีก มันจะเต็มรอบ รูปจะสวย จะเป็นกุศลสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้

แต่ถ้าเราไปคบคลผิดศีล คนเน่าใน คนตอแหล เสแสร้ง แกล้งทำ และคนขี้โกรธ คนเหล่านี้ก็ทำให้เราเสียชื่อเสียงบ้าง สร้างปัญหาให้เราบ้าง คนอื่นเขาจะระแวงเรา ไม่มั่นใจในตัวเรานัก ทำอะไรก็ขัดข้องเพราะมีศรัทธาที่ไม่เต็มต่อกัน ความไม่มั่นใจจะดลให้เกิดความผิดพลาดและเสื่อมศรัทธาต่อกันได้ เพราะมีการคบหาคนพาลเป็นเหตุนั่นเอง

พระพุทธเจ้ายังสรุปไว้ในตอนท้ายว่า “บุรุษคบคนเลว ย่อมเลวลง คบคนที่เสมอกัน ย่อมไม่เสื่อมในกาลไหนๆ คบคนที่สูงกว่า ย่อมพลันเด่นขึ้น เพราะฉะนั้น จึงควรคบคนที่สูงกว่าตน ฯ”

จะเห็นได้ชัดเลยว่าท่านให้เลือกคบคน ท่านก็ไม่ได้บังคับ ให้อิสระ อยากเลวก็คบคนเลว ถ้าจะประกันความผาสุกก็ให้คบหาคนที่เสมอกัน แล้วถ้าอยากได้ความเจริญรุ่งเรือง ก็ให้คบคนที่สูงกว่า มีศีลมากกว่า มีใจที่พ้นทุกข์ได้มากกว่า ก็จะมีความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรมเด่นขึ้นมาทันที ดังนั้น ท่านจึงและนำให้คบหาคนที่สูงกว่าไว้ในชีวิต

เพราะคนที่ไม่คบคนสูงกว่า ไม่มีคนสูงกว่าให้ศรัทธา ไม่นับถือว่าใครสูงกว่าตน คนพวกนี้ก็มีอยู่เหมือนกัน แต่เขาจะไม่มีวันเจริญไปมากกว่าที่เขาเคยเป็นมา เรียกกันง่าย ๆ ว่า “โง่เท่าเดิม” ธรรมะหรือความเจริญในศาสนาพุทธนั้นจะเรียนรู้เองไม่ได้ มันจะติดเพดานกิเลส ต้องมีคนที่สูงกว่าคอยชี้นำเป็นลำดับ ๆ  ไปตามฐานของแต่ละคน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอวิชชาสูตร(เล่ม 24 ข้อ 61) ว่าผู้ที่พ้นทุกข์ได้นั้นต้องเริ่มจากการคบหาสัตบุรุษ คือผู้ที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ที่รู้ธรรมรู้ทางปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ และทำความพ้นทุกข์ พ้นกิเลส พ้นกาม พ้นอัตตา พ้นความมัวเมาในสิ่งเสพติดต่าง ๆ ตั้งแต่หยาบไปจนละเอียดโดยลำดับ เป็นที่นำพาไป การสัตบุรุษจึงเป็นต้นเหตุแห่งความเจริญทางธรรม

จากเนื้อหาในชิคุจฉสูตร (พระไตรปิฎก เล่ม 20 ข้อ 466 )  จะสรุปความได้ว่า เราจะต้องเลือกคบคน คนที่คบแล้วเป็นภัยก็อย่าไปคบหา อย่าไปสนิท อย่าไปนั่งใกล้ คนเหล่านี้มีแต่จะสร้างความฉิบหาย มีแต่จะทำความเดือดร้อนให้แก่เรา และเราควรจะแสวงหาคนดีมีศีล เพื่อคบหาและศึกษาเพื่อความเจริญ เพื่อความพ้นทุกข์และความไม่เสื่อมของเรา การพรากจากคนพาลและการเข้าใกล้คนดี คือประโยชน์ตนเองและประโยชน์ผู้อื่นในเวลาเดียวกัน

27.2.2563

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

 

พาลหลงหรือพาลแสร้งว่าเป็นบัณฑิต

February 25, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 716 views 0

มีผู้อ่านเขาถามเข้ามาในประเด็นเกี่ยวกับคนพาลที่แสร้งว่าตนเป็นบัณฑิตนั้น เป็นไปได้ไหมว่าเขาจะหลงหรือเข้าใจผิดไปเองว่าตนเข้าใจถูก คือมีอวิชชาบังตา ไม่รู้ตัวว่าเป็นคนพาล

ตอบ เป็นไปได้

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “คนพาลที่รู้ตัวว่าเป็นคนพาลยังเป็นบัณฑิตได้บ้าง แต่คนพาลที่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิตนั่นแหละ เรียกว่า คนพาลแท้

ยากนักที่คนพาลจะรู้ตัวว่าตนเป็นคนพาล และยิ่งกว่านั้นความพาลที่สะสมความเก่ง จะแปลงผลเป็นความอวดดีจนกระทั่งสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ผู้รู้ หรือผู้บรรลุธรรมได้

กรณีของการแสร้งทำนั้น มีทั้งแบบแสร้งทั้งที่รู้กับแบบแสร้งทั้งที่ไม่รู้ คือหลงโดยสมบูรณ์ แต่อาการแสร้งนั้นจะปรากฏเมื่อกระทบกับสิ่งที่พอใจหรือไม่พอใจ จะเห็นอาการสะบัดของจิต แต่ด้วยความหลง จากแสร้งว่าไม่มี ไม่เห็น ไม่เป็น

เพราะเวทนาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน ไม่ว่ายังไงถ้ามีกิเลส มันจะต้องทุกข์/สุข เมื่อได้กระทบสิ่งที่ไม่ชอบใจและชอบใจแน่นอน

สภาพที่ผู้ถามถามมานั้น คืออาการของผู้ที่กำลังถูกวิบากหนึ่งใน ๑๑ ข้อ ของผู้ที่เพ่งโทษพระอริยะเล่นงาน คือ หลงบรรลุธรรม

ผู้ที่เพ่งโทษติเตียนพระอริยะจะมีวิบากหลายประการที่จะสร้างอาการทุกข์อย่างแสนสาหัสที่แตกต่างกันไป

การหลงบรรลุธรรม คืออาการที่คนคนนั้นเข้าใจว่าตนปฏิบัติถูกต้อง มีมรรคผล มีความเจริญ แม้แต่หลงบรรลุว่าตนเองเป็นอรหันต์ หรือใหญ่กว่าพระพุทธเจ้าก็มี เป็นเรื่องธรรมดาของคนหลงที่จะมีมิติของความหลงเป็นอนันต์

สมัยพุทธกาลก็เคยมีนักบวชที่หลงว่าตนบรรลุ แต่สมัยนั้นมีพระสารีบุตรช่วยแก้กลับให้ คือคนหลงบรรลุธรรมนี่เขาจะเก่ง จะแน่ จะมั่นใจมาก ๆ แถมข่มคนอื่นด้วย ยากที่จะปราบ ต้องระดับอัครสาวกไปช่วยถึงจะเอาอยู่ คือแน่เหมือนอัครสาวกเลย ถ้าไม่มีภูมิธรรมที่ถูกต้องจะไม่เห็นจุดผิด

สมัยนี้ก็มีเยอะที่หลงว่าตนเองเป็นอรหันต์ ตนก็เชื่ออย่างนั้น ลูกศิษย์ก็เชื่ออย่างนั้น แต่ไม่ได้เป็นจริง ๆ หรอก เขาหลงของเขา เขาไม่มีมรรคผลอะไรเลย แค่สิ่งเสพติดหยาบ ๆ เขายังเลิกไม่ได้เลย จะฝันไปถึงสวรรค์นิพพานมันก็เกินไป แต่คนส่วนใหญ่แม้ไม่ใช่ลูกศิษย์ก็เชื่อว่าเขาบรรลุ มันเป็นวิบากบาปของคนในยุคนี้ที่จะต้องหลงตามคนเห็นผิด (ซึ่งมีเคสแบบนี้เยอะมาก)

ไม่ต้องถึงระดับเกจิหรอก เอาคนธรรมดาทั่วไปที่ศึกษาธรรมะนี่แหละ ก็มีพวกโมฆะบุรุษอยู่เยอะ เพราะเรียนธรรมะเอาไว้ข่มผู้อื่นและเอาไว้กันคนดูถูกหรือนินทา และส่วนใหญ่พวกนี้จะเฮี้ยน เป็นเหมือนจอมยุทธไปรบกับเขาไปเรื่อย เลอะเทอะไปเรื่อย ถ้ามีบารมีก็อาจจะรวมคนเป็นสำนักขึ้นมาได้ แต่กระนั้นก็จะทำเพื่อเด่น ดัง ใหญ่ ล่าบริวาร ไม่ได้พาลดกิเลส

ดังนั้นสภาพหลงเพราะถูกอวิชชาครอบงำมีจริงไหม จึงสรุปว่ามี จริง ๆ ไม่ว่าจะหลงแบบรู้หรือแบบไม่รู้ตัวก็อวิชชาทั้งนั้นแหละ ความหลงจะทำให้มีอาการแสร้งทำแทรก เพราะไม่รู้จริง ไม่บรรลุจริง พอถูกถามเข้ามาก ๆ จะโกรธ อึดอัด ขุ่นเคืองใจ แต่จะเสแสร้งแกล้งทำว่าไม่ได้เป็นแบบนั้นบ้าง บอกว่าเป็นการปรุงท่าทีลีลาด้วยจิตว่างบ้าง คือจะอ้างก็อ้างได้หมดแหละ อ้างตามภาษาพระอรหันต์กันเลย แต่ทุกข์ที่มันเกิดชัด ๆ ในใจเขา เขาจะไม่ยอมรับ ด้วยเหตุผลนี้ถึงบอกว่ามันจะมีอาการแสร้งอยู่ แต่คนอื่นเขาจะรู้ได้ยาก คนที่มีภูมิสูงกว่าจะมองเห็นได้ คนที่ภูมิต่ำกว่าจะมองเห็นบิดเบี้ยวไป และตัวเองนั่นแหละรู้ชัดว่าตัวเองตอแหล แต่จะไม่ยอมรับ ไม่ฉลาดในอาการกิเลสนั้น ๆ เพราะไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้อริยสัจ ๔ มันเลยเหมือนจะไม่ทุกข์ เหมือนไม่มีกิเลส แต่กิเลสมีอยู่ ครอบงำอยู่ แต่ไม่รู้จักนั่นเอง

ในยุคสมัยนี้ก็ต้องบอกว่าถูกพาลแท้ครอบงำไปหมดแล้ว มีแต่ชื่อว่าอรหันต์ ถ้าอยากจะพิสูจน์ก็ปฏิบัติตามไปให้เต็มที่เลย จะรู้ว่าไม่พ้นทุกข์ พากเพียรยังไงก็จะไม่พ้นทุกข์ เพราะไปเอาคนพาลเป็นอาจารย์ การเอาอสัตบุรุษเป็นอาจารย์ไม่มีวันพาไปพ้นทุกข์ได้ แม้ท่านเหล่านั้นจะมีป้ายแปะไว้ว่าพระอรหันต์ก็ตามที

ที่ผมกล้าพิมพ์เพราะว่าผมชัดในทางปฏิบัติ อย่าหาว่าเพ่งโทษกันเลยนะ บางเรื่องมันก็ต้องชี้โทษช่วยคนที่เขาสับสนบ้าง ถ้าใครปฏิบัติถูก จะเห็นการปฏิบัติที่ผิด คือเห็นสัมมาทิฎฐิว่าเป็นสัมมาทิฎฐิ เห็นมิจฉาทิฎฐิว่าเป็นมิจฉาทิฎฐิ ไม่มัว ไม่สับสน

มันจะมีญาณเป็นตัวประกันปัญญาอยู่หลายเรื่อง เช่น ญาณที่จะแยกแยะธรรมะโลกุตระหรือกัลยาณธรรม หรือความเห็นอย่างสัมมาทิฎฐิในข้อที่ว่า รู้ว่าใครเป็นสัตบุรุษที่จะพาพ้นทุกข์ได้

ทั้งหมดนี้เดาเอาไม่ได้ คิดตามเฉย ๆ ก็ไม่ได้ ต้องศึกษาจนล้างกิเลสให้ได้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ก็จะชัดในทางปฏิบัติ เมื่อเอาการปฏิบัติของตนเองไปเทียบกับที่มีอยู่ส่วนใหญ่ในโลก จะพบความจริงว่า มันไม่เหลืออยู่อีกต่อไปแล้ว คนที่ทำได้ ถ้าได้ศึกษากันสักพักจะชัดเจนเลยว่าใครเป็นใคร ใครเป็นบัณฑิต ใครเป็นคนพาล ไม่ต้องเดา ไม่ต้องมัว ไม่พลาดไปเพ่งโทษให้เสี่ยงนรกเปล่า ๆ เพียงแค่ปฏิบัติตัวเองให้ถูกเท่านั้น จะเห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นผิดเป็นผิด เห็นถูกเป็นถูก

แต่ก็เอาเถอะ คนพาลเขาก็พูดหรือกล่าวแบบนี้ได้เช่นกัน เรื่องของใครก็เรื่องของใคร วัดกันที่ใจเรานั่นแหละ ถ้าใจเรากระทบกับเรื่องใด ๆ ที่เคยติดหรือตั้งใจฝึกปฏิบัติแล้วไม่ทุกข์ไม่สุข พ้นสัญญาที่เคยหลงยึดไว้ กระทบแล้วกระทบอีกใจก็ยังนิ่ง ไม่กระเพื่อม หรือหวั่นไหวแม้เล็กน้อยเป็นใช้ได้ เมื่อได้ดังนั้นแล้วมองกลับไปยังการปฏิบัติในโลก จะชัดเองใครเป็นยังไง เพราะเราได้ผลกับตัวแล้ว กระทบก็แล้ว กระแทกก็แล้ว ยังไม่ทุกข์ มันก็ชัดที่สุดแล้ว

สรุปทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้าไม่ตั้งใจปฏิบัติจนถึงผลเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะดูคนไม่ออกหรอก เพราะเราจะไม่มีญาณปัญญา ไม่มีตาที่เหนือโลก ไว้แยกแยะ นั่นเพราะเรายังไม่ทำตัวเองให้ถึงโลกุตระ เมื่อไม่ถึงโลกุตระ ก็จะมีความรู้อยู่โลกเดียวคือโลกียะ มีความรู้จำกัด ดังนั้น โลกที่ซ้อนกันอยู่ในปัจจุบัน(จิตที่แตกต่าง) แม้มีอยู่ก็จะมองไม่เห็น จะมองเห็นหรือรู้ได้ก็เฉพาะเท่าที่ตนเองมี ตนเองเป็นอยู่เท่านั้น