Tag: อินทรีย์พละ
ความเห็นในการละสิ่งที่เป็นภัย (ลฑุกิโกปมสูตร)
อ่านพระไตรปิฎกเจอบทที่น่าสนใจ สรุปมาอ่านกัน
เมื่อพระพุทธเจ้าได้กล่าวว่า “จงละสิ่งนี้” ก็จะมีผู้ที่เห็นต่างกันออกไป โมฆบุรุษบางคน ก็มักจะเห็นว่า จะมาขัดเกลาอะไรกันนักกันหนา กับเรื่องเล็กน้อยแค่นี้ต้องทำด้วยหรือ เมื่อไม่เห็นควรตามนั้นจึงไม่ยอมละ ทั้งยังไม่พอใจ
บางพวกสนใจศึกษาแต่อินทรีย์พละอ่อนก็มองว่าสิ่งที่ท่านให้ละนั้นเป็นสิ่งที่ยาก แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย ก็ยังยากที่จะละสิ่งนั้น
บางพวกสนใจศึกษาแต่มีิอินทรีย์พละมากก็มองว่าสิ่งที่ท่านให้ละนั้นสามารถทำ ได้โดยง่าย จึงทำได้โดยไม่ยากไม่ลำบาก แม้เรื่องยากกว่านี้ก็ทำได้
(ความตอนหนึ่งของ ลฑุกิโกปมสูตร)
…………………………………….
จะเห็นได้ว่าการละสิ่งใดได้ยากหรือง่ายนั้นเกิดจากอินทรีย์พละที่สะสมมา ซึ่งแต่ละคนมีต้นทุนที่ปฏิบัติมาต่างกัน คนทำมามากก็มีมาก คนทำมาน้อยก็มีน้อย บางคนมีน้อยถึงขั้นหลงผิดไม่พอใจพระพุทธเจ้าก็ยังมี
คนที่มีมากเขาก็ละสิ่งที่เป็นภัยได้ง่าย เช่น ศึกษากันไม่นานก็สามารถถือศีลยากๆได้ ส่วนคนที่มีน้อยแค่เจอศีลง่ายๆเขาก็หงายแล้ว
เรื่องแข่งบุญแข่งวาสนามันแข่งกันไม่ได้ ดังนั้นปฏิบัติธรรมอย่าเปรียบเทียบกับใคร อย่าคิดว่าคนนั้นคนนี้ทำได้แล้วเราจะทำได้ โดยเฉพาะการศึกษาพระไตรปิฎกจะเห็นว่าบรรลุธรรมกันง่ายๆ แค่ฟังไม่กี่ประโยคก็บรรลุแล้ว
ซึ่งนั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำได้ ถึงแม้เราจะอ่านพระไตรปิฎกทั้งหมดก็ใช่ว่าจะเข้าใจหรือบรรลุธรรมใดๆได้ ดังนั้นปฏิบัติธรรมอย่าไปเปรียบเทียบกับใคร อย่าไปลอกใคร ให้เอากระบวนการปฏิบัติเป็นหลักส่วนได้มรรคผลอย่างไรเป็นเรื่องของแต่ละคน
ไม่เช่นนั้นก็จะท้อมากเมื่อเห็นเพื่อนกัลยาณมิตรก้าวหน้าไปไกลแต่เรากลับยัง อยู่ที่เดิม นั่นเพราะมีเหตุปัจจัยต่างกัน มีอินทรีย์พละต่างกัน และอาจจะมีทิฏฐิที่ต่างกัน ซึ่งตรงนี้ต้องศึกษาและตรวจสอบให้ดี
ความรักกับวิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์
ความรักกับวิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์
ในโลกนี้ทุกชีวิตต่างล้วนดำเนินไปเพื่อความพ้นทุกข์ ทุกคนบนโลกต่างก็เป็นผู้ศึกษาธรรม แม้เขาเหล่านั้นจะไม่รู้ตัว แต่การเรียนรู้ทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตก็คือการเรียนรู้ธรรมะ
ความรัก ในบทความนี้หมายถึงรักที่อยากครอบครอง อยากมีคู่ อยากเป็นครอบครัว ยังเป็นรักที่มี “ความอยาก” เป็นแรงผลักดันอยู่
การพ้นทุกข์ ในที่นี้มีเพียงเป้าหมายเดียวคือการหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลส ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ และอำนาจของกิเลสในบทความนี้นั้นก็หมายถึง “ความอยากมีความรัก”
ในบทความนี้แบ่งวิถีทางออกเป็นสี่หัวข้อ โดยแบ่งออกเป็นทุกข์มากและทุกข์น้อยและในทุกข์มากและทุกข์น้อยนั้นก็มีทั้งผู้ที่มีอินทรีย์ คือ ศรัทธา ความเพียร สติ ความตั้งมั่น ปัญญาที่มากน้อยแตกต่างกัน
ในวิถีทางแห่งทุกข์มากนั้นหมายถึงการมีภาระ มีวิบากที่ต้องแบก นั่นคือผู้ที่เลือกเรียนรู้สู่การพ้นทุกข์โดยการมีคู่ และทางที่ทุกข์น้อยนั้นหมายถึงคนที่เลือกเรียนรู้สู่การพ้นทุกข์ด้วยความโสดโดยมีเป้าหมายสุดท้ายก็คือการพ้นทุกข์ด้วยการทำลายความอยาก นั่นหมายถึงความโสดที่หมดความอยากในการมีคู่
จะเห็นว่าบทความนี้มีแต่เรื่องของ “ทุกข์” เพราะศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาที่ศึกษาในเรื่องของทุกข์ หลักอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นหัวใจของศาสนา เริ่มต้นมาข้อแรกก็ว่าด้วยเรื่องทุกข์แล้ว และจะทุกข์ไปตราบเท่าที่เรายังมีกิเลสอยู่ ดังนั้นเราจึงมาศึกษาความรักกับความเป็นทุกข์นั้น
แม้ว่าในสังคมปกตินั้นจะมองว่าการได้ครองคู่นั้นเป็นสุขอย่างหนึ่งในชีวิต แต่ในความจริงแล้วสิ่งนั้นกลับเป็นทุกข์อย่างยิ่งในมุมมองของธรรมะ ซึ่งการที่เราเห็นทุกข์ว่าเป็นสุขนั้นก็เพราะกิเลสทำให้หลง ทำให้เราเห็นกงจักรเป็นดอกบัวได้
วิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์จากความรักในบทความนี้มี 4 หัวข้อดังนี้
1)วิถีทางที่ทำให้ทุกข์มากและพ้นทุกข์ยาก
ทางที่ทำให้ทุกข์มากนั้นเกิดขึ้นจากความอยากที่รุนแรง เต็มไปด้วยกิเลสปริมาณมาก จึงทำให้ต้องแสวงหาความรักมาบำเรอตนเอง ในกรณีก็คือการหาคู่ครอง
มีเหตุผลมากมายในการจะมีคู่ครอง ในมุมของการเสพสมทั่วไปก็จะเป็นเรื่องของการอยากมีคนให้สมสู่กัน เรื่องกามคุณ คือมีหน้าตาดี รูปสวย เสียงเพราะ ฯลฯ เรื่องโลกธรรม เช่น มีฐานะ มีการงานดี มีชื่อเสียงสังคมยอมรับ มีความสามารถในการบำเรอสุขให้ตน ฯลฯ และในมุมของอัตตาเช่น ฉันชอบคนนี้ ฉันชอบแบบนี้ ฯลฯ
หรือแม้แต่ในมุมของคนที่ใช้ข้อคิดเห็นต่างๆ เข้ามาเป็นเหตุผลดีๆเพื่อให้ตนได้มีคู่โดยไม่ต้องรู้สึกผิดบาปเช่น การได้พากันเจริญ, มีคนคอยขัดเกลาอุ้มชูกัน, ดูแลกันไปปฏิบัติธรรมกันไป,หรือตรรกะใดๆที่คิดว่ามีคู่แล้วจะดีกว่าเป็นโสด
ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม การครองคู่นั้นคือสิ่งที่กั้นไม่ให้เราบรรลุธรรมได้ง่ายนัก เพราะต้องคอยสนองกิเลสของกันและกัน เป็นภาระของกันและกัน สร้างวิบากกรรมร่วมกันให้ต้องมาคอยชดใช้กันทีหลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องแบกรับไว้และทำให้ทุกข์มาก ซึ่งทุกข์จากความอยากได้ความรักก็ทุกข์มากพออยู่แล้ว ยังต้องทุกข์เพราะต้องคอยรับวิบากกรรมหลายๆอย่างจากการมีคู่อีก
แม้ว่าการมีคู่ในตอนแรกนั้นจะดูเหมือนเป็นสุข แต่สิ่งนั้นก็ไม่ยั่งยืน ไม่ถาวร เมื่อคนกิเลสหนาสองคนมาเจอกัน ก็อาจจะเอาใจกันเพื่อให้ได้เสพในบางสิ่งบางอย่างของอีกฝ่ายได้สักพัก แต่วันหนึ่งทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนแปลง เมื่อกิเลสที่มีนั้นไม่ได้ถูกลด และมีความต้องการให้ถูกสนองมากขึ้น แต่ความสามารถหรือความพอใจของอีกฝ่ายที่จะต้องมาคอยบำเรอกิเลสเรานั้นกลับลดลง และวันนั้นเองนรกก็จะมาเยือน
เหมือนกับเทวดาที่ตกสวรรค์ การที่คนมีคู่เขาก็ยังสามารถเสพสุขได้เหมือนอยู่ในสวรรค์ นั่นเพราะเขามีกุศลมาก จึงมีลาภ ยศ สรรเสริญ จนเมาสุขอยู่เช่นนั้น ซึ่งเทวดาที่แท้จริงก็คือคนที่ติดอยู่ในสุขเช่นนั้น คนที่ติดสุขติดภพเทวดานั้นจะไม่สามารถปฏิบัติหรือเจริญในธรรมใดๆได้ เพราะเขาจะไม่เห็นโทษของกิเลส จะเห็นแต่ประโยชน์ของการมีคู่ แต่การหลงมัวเมาอยู่กับการเสพเช่นนั้นก็จะทำให้กุศลกรรมที่ทำมาหมดไปในวันใดวันหนึ่ง เพราะไม่มีวิบากกรรมใดที่ได้รับแล้วจะไม่หมดไป การที่เขาได้เสพสุขอยู่กับการมีคู่ก็เช่นกัน สิ่งเหล่านั้นมีวันหมด และในขณะเดียวกันวิบากบาปก็รอที่จะส่งผลอยู่เสมอ เมื่อถึงจุดนั้นก็จะกลายเป็นเทวดาที่ตกลงมาจากสวรรค์ ต้องพบกับความทุกข์และเจ็บปวดอีกมากมาย
ดังนั้นเมื่อเทียบกับคนโสด คนมีคู่จึงต้องประสบทุกข์อย่างมาก จึงจัดคนที่มีคู่อยู่ในหมวดของทุกข์มาก
และคนที่มีคู่นั้น หากเป็นคนที่มีอินทรีย์อ่อน คือมี ศรัทธาน้อย ความเพียรน้อย สติน้อย ความตั้งมั่นน้อย ปัญญาน้อย ก็ยากนักที่จะสามารถจะหลุดพ้นจากกิเลสที่มีกำลังมากได้ซึ่งก็ต้องวนเวียนเรียนรู้ทุกข์ที่มากไปพร้อมๆกับการพัฒนาอินทรีย์พละของตนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหลุดพ้นจากกิเลส
สิ่งที่ทำให้หลุดพ้นได้ยากเพราะตนเองนั้นก็มีกิเลสหนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยังต้องมาคอยสนองกิเลสของคู่ครองอีก แล้วทีนี้การหลุดพ้นจากทุกข์คือการทำลายกิเลสจนสิ้นเกลี้ยง แต่วิถีการเรียนรู้ธรรมะกลับเป็นไปในแนวทางเพิ่มกิเลส ดังนั้นจึงทำให้หลุดพ้นได้ช้า เป็นทุกข์มาก
ซึ่งกว่าจะหลุดพ้นได้ก็ต้องวนเวียนทุกข์ไปเรื่อยๆ ความอยากมีคู่ก็รุนแรง ทุกข์ก็ยอมทนเพื่อให้ได้เสพ แม้ว่าความรักจะพังทลายกี่ครั้งก็ยังไม่เข็ด ยังอยากมีความรัก ยังอยากมีคู่ไปเรื่อยๆ ยินดีเสพสุขลวงและทนทุกข์ต่อไปจนกว่าจะสามารถมีปัญญาถึงระดับที่เห็นว่าทุกข์นั้นเกิดเพราะความอยากได้
และถึงแม้ว่าจะเป็นคู่ที่พากันลดละกิเลส เช่น ในเรื่องของการสมสู่เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถตัดขาดได้ทันที เพราะวิบากกรรมจะเหนี่ยวรั้งไว้ แม้จะตัดทันทีก็มีกรรมแบบหนึ่งคืออาจจะไปเบียดเบียนคู่ถ้าเขายังมีความอยากอยู่ จะไม่ตัดก็มีกรรมแบบหนึ่งคือยังต้องไปสมสู่สนองกิเลส ซึ่งเป็นการเพิ่มกิเลสกันอยู่อีก ซึ่งไม่ว่าจะทำอย่างไรก็จะถูกพันไว้ด้วยความมีคู่นั่นเอง
2)วิถีทางที่ทำให้ทุกข์มากแต่พ้นทุกข์ไว
คนที่มีกิเลสมากและหลงไปมีคู่ แต่กลับพ้นทุกข์ไว คือผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้า มีศรัทธามาก มีความเพียรมาก มีสติมาก มีความตั้งมั่นมาก มีปัญญามาก แม้จะหลงไปมีคู่จนเกิดทุกข์ที่มาก แต่ก็สามารถจะหลุดพ้นจากกิเลสได้ไว ทำลายความอยากที่จะมีคู่ได้ด้วยอินทรีย์ที่แก่กล้านั้นเอง
ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีคู่ครองเจอปัญหาในชีวิตคู่ซึ่งทำให้ทุกข์มาก จึงใช้ทุกข์นั้นเอง เป็นเหตุในการพิจารณาธรรมเพื่อหลุดพ้นจากความอยากนั้น มองเห็นเหตุแห่งทุกข์ตามจริง คือเรานั้นเองที่สร้างการผูกมัดนี้มาจนเป็นทุกข์ “ถ้าเราไม่อยากมีคู่” ก็ไม่ต้องเจอปัญหานี้ตั้งแต่แรก ด้วยอินทรีย์ที่มากจึงสามารถเข้าใจความจริงตามความเป็นจริง จนหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสได้ไม่ยากนัก
สภาพของการหลุดพ้นอาจจะเกิดเพราะเรื่องไม่กี่เรื่อง ไม่ต้องทนทุกข์นาน อาศัยเหตุเพียงเล็กน้อยก็สามารถนำมาศึกษาเพื่อความพ้นทุกข์ได้
แต่แม้จะทำลายความอยากมีคู่ได้แล้ว คนที่หลงไปมีคู่ก็จะต้องมีวิบากกรรมที่ต้องคอยมารับภาระในคู่ครอง ซึ่งการอยู่ด้วยกันโดยปราศจากความหลง หรือไม่มีกิเลสเป็นตัวหลอกแล้ว ชีวิตคู่จะไม่มีความสุขลวงๆที่เคยมีอีกเลย สิ่งที่เหลือจะมีแต่ความจริงตามความเป็นจริง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีแต่เรื่องที่ทำให้เป็นภาระนั่นเอง
3)วิถีทางที่ทำให้ทุกข์น้อยแต่พ้นทุกข์ยาก
เมื่อการมีคู่นั้นคือทุกข์มาก ความโสดที่ยังมีกิเลสนั้นเองก็คือทุกข์น้อย ที่น้อยกว่าเพราะไม่ต้องไปคอยสนองกิเลสใครให้ต้องมาคอยรับวิบากกรรมที่มากั้นขวางไม่ให้บรรลุธรรมและสร้างทุกข์ใดๆทีหลัง
แม้จะเป็นคนโสดแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกิเลส คนโสดหลายคนนั้นมีการตั้งความหวังไว้ว่า วันหนึ่งฉันจะเจอคนที่ฝันไว้ คนโสดพวกนี้แม้ในตอนเป็นโสดจะยังทุกข์จากความอยากอยู่บ้าง แต่เมื่อวันหนึ่งที่วิบากกรรมเข้ามา ทำให้ได้พบกับ “ตัวเวรตัวกรรม” ก็อาจจะเปลี่ยนวิถีทางไปปฏิบัติในทางทุกข์มากก็เป็นได้
คนโสดที่คิดว่าจะโสดนั้น อาจจะมีหลายเหตุปัจจัยที่ทำให้เลือกเป็นโสด แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังดีกว่าคนมีคู่เพราะมีทุกข์น้อย แม้ว่ากิเลสที่มีอยู่ในตนนั้นจะไม่มากพอที่จะผลักดันให้ไปแสวงหาคู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถกำจัดกิเลสซึ่งเป็นเชื้อทุกข์ออกจากใจได้
โดยเฉพาะคนโสดที่มีอินทรีย์อ่อน ก็จะโสดไปแบบไม่เห็นโทษของความอยากในการมีคู่ เป็นโสดแบบไม่ได้พิจารณาธรรม เป็นโสดแบบไม่เห็นกิเลส ส่วนหนึ่งเพราะแรงกิเลสของเขาเหล่านั้นไม่ได้แสดงออกมาอย่างชัดเจน จึงทำให้จับได้ยากและขาดการมุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อการหลุดพ้น
คนโสดเช่นนี้จึงพ้นทุกข์อย่างแท้จริงได้ยาก แม้ว่าจะมีทุกข์น้อยแต่ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ก็ยังเรียกว่าเชื้อแห่งทุกข์นั้นยังไม่ตาย ซึ่งกิเลสก็มีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นได้ เมื่อคนโสดที่อินทรีย์พละอ่อนนั้นได้เข้าไปอยู่ในสังคมที่ส่งเสริมการมีคู่ บอกว่าการมีคู่นั้นดี บอกว่าการมีคนคอยสนองกิเลสให้นั้นเป็นสุข คนโสดที่มีอินทรีย์พละน้อยจึงมีโอกาสที่จะทนพลังของกิเลสไม่ไหว รับเอากิเลสนั้นมาเป็นของตน ค่อยๆสะสมกิเลส เพิ่มความอยากจนกระทั่งไปเวียนกลับไปอยากมีคู่ได้ในวันใดก็วันหนึ่ง
ดังนั้นคนที่โสดอยู่และไม่ได้รู้สึกว่าอยากมีคู่มาก จึงควรพัฒนาอินทรีย์พละของตนโดยการคบหาผู้รู้ธรรมที่พาไปสู่ความพ้นทุกข์ ศึกษาธรรมที่พาให้ทำลายความอยากมีคู่ และนำธรรมเหล่านั้นมาพิจารณาลงไปถึงต้นเหตุของความอยากคือกิเลส เพียรพิจารณาความจริงตามความเป็นจริง โดยใช้สติมาจัดการชำแหละให้เห็นกิเลสด้วยความตั้งมั่น และใช้ปัญญาที่มีพิจารณาธรรมเข้าไป จนเกิดผลเจริญไปโดยลำดับ
4). วิถีทางที่ทำให้ทุกข์น้อยและพ้นทุกข์ไว
คนที่เลือกเป็นโสดและยังมีกิเลสอยู่ แต่ด้วยความที่มีอินทรีย์มาก จึงสามารถที่จะหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสได้ไม่ยากไม่ลำบากนัก
ยกตัวอย่างเช่น คนโสดที่เห็นคนมีคู่ทะเลาะกัน เห็นความทุกข์ของผู้อื่น และนำทุกข์เหล่านั้นมาพิจารณาทำลายกิเลสในตน ด้วยอินทรีย์ที่มาก จึงสามารถทำให้หลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสได้เพียงแค่ใช้เหตุปัจจัยที่เล็กน้อย เหมือนกับใช้เชื้อเพลิงไม่มากก็สามารถทำให้เกิดไฟกองใหญ่ เผากิเลสให้เป็นจุลได้
…..สรุปแล้วทั้งสี่วิถีทางนั้นเป็นทางเลือกที่ถูกกำหนดไว้ด้วยปริมาณกิเลสและอินทรีย์ของแต่ละคน ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถเลือกสิ่งใดได้อย่างอิสระ แต่จะต้องปฏิบัติไปตามกรรมที่ทำมา ใครทำกรรมมาแบบใดก็ต้องไปในวิถีทางแบบนั้น และกรรมใหม่ที่ทำนั้นก็จะเป็นจุดเริ่มของวิถีทางในอนาคตต่อไป
– – – – – – – – – – – – – – –
12.5.2558
การปฏิบัติร่วมกันของสมถะและวิปัสสนา
การปฏิบัติร่วมกันของสมถะและวิปัสสนา
โดยทั่วไปแล้วเรามักจะได้ยินความสัมพันธ์ของสมถะและวิปัสสนากันไปต่างๆนาๆ บ้างก็ว่าต้องคู่กันเสมือนขาทั้งสองข้างต้องก้าวไปด้วยกัน แต่จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ เราจะมาขยายกันในบทความนี้ด้วย 8 หัวข้อที่จะมาเสนอข้อมูลในหลายๆ ประเด็น
1).สมถะและวิปัสสนา
สมถะนั้นเป็นการใช้อุบายต่างๆเข้ามาควบคุมใจ ไม่ว่าเราจะใช้วิธีนั่งสมาธิ เดินจงกรม สร้างตัวรู้ เจริญสติ เพ่งกสิณ หรือใช้การคิดบวกหรือพิจารณาธรรมเพื่อ “กด” ให้เกิดสภาพนิ่งของใจ ไม่ว่าจะอุบายเช่นไรแต่ถ้ากระทำไปเพื่อให้เกิดความสงบใจ นั้นคือสมถะทั้งสิ้น
ส่วนวิปัสสนานั้นเป็นอุบายทางปัญญา ที่จะทำให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง ไม่ใช่ตามที่กิเลสอยากให้เป็น
สมถะนั้นมีอยู่คู่โลกนานแล้ว ต่างจากวิปัสสนาซึ่งเป็นวิธีของพุทธโดยตรง หากจะกล่าวว่าสิ่งใดถูกตรงก็คือวิปัสสนา แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ตีทิ้งสมถะ เพราะสามารถใช้เป็นอุปการะได้ คือเป็นเครื่องช่วยให้เจริญวิปัสสนาให้ดีขึ้นได้ แต่จะช่วยอย่างไรจะไปขยายกันในข้อต่อไป
2).สมถะอย่างเดียวทำได้ไหม
ตอบว่าได้ แต่ถ้าจะให้บรรลุธรรมตามแนวทางของพุทธนั้นตอบว่าไม่ได้
เมื่อเราทำแต่สมถะเราก็จะได้ผลแบบสมถะ (มิจฉาผล) ทางของสมถะคืออุบายทางใจ ยิ่งทำยิ่งสงบ ยิ่งทำยิ่งติดภพ จมดิ่งเข้าไปในความมืด ดับความคิด ดับสัญญา ดับไม่เหลืออะไรเลย สภาพของผู้ทำสมถะนั้นมักจะมีภาพลักษณ์ที่ดูสงบต่อสถานการณ์ได้ดี
ถ้าในยุคสมัยก่อนก็จะเรียกว่าฤๅษี แต่ตอนนี้ไม่มีภาพเช่นนั้นแล้ว เพราะเปลี่ยนรูปกันมาอยู่ในผู้ปฏิบัติธรรม ทั้งฆราวาสทั้งนักบวชก็มีฤๅษีปนอยู่มาก ซึ่งมรรค(วิถีการปฏิบัติ)ของเขาเหล่านั้นมักจะหนักไปในทิศทางของทำสมาธิ การระลึกรู้ หรือวนเวียนอยู่กับการควบคุมกดข่มจิตใจให้เกิดสภาพสงบ
3).วิปัสสนาอย่างเดียวทำได้ไหม
ตอบว่าได้ ซึ่งวิปัสสนานี้เองเป็นกระบวนการโดยตรงของพุทธอยู่แล้ว
เราสามารถวิปัสสนาเพียงอย่างเดียวได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งสมถะเลย หากเรามีเจโตหรือพลังของจิตที่เคยสะสมไว้มากพอ เรียกได้ว่าสามารถพิจารณาทำลายกิเลสได้ด้วยปัญญาล้วนๆจนถึงปลายทางได้เลย เพราะถ้ามีปัญญาเต็มรอบมันก็ไม่ต้องไปกดข่มกิเลสให้เสียเวลา ชักดาบออกมาแล้วเชือดทิ้งได้ทันที
แต่ถ้าเรากำลังน้อย อินทรีย์พละอ่อน ก็อาจจะเหมือนเอาไม้จิ้มฟันไปสู้กับช้าง สมถะจะเข้ามาเติมเต็มในจุดนี้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้สมถะกดข่มได้เสมอไป เพราะมีองค์ประกอบอื่นที่ส่งผลเช่น กรรมและผลของกรรม หรือเหตุการณ์ที่เกินกำลังมากไป
สภาพของคนที่วิปัสสนาแต่ไม่มีกำลังมากพอก็เหมือนกับนักมวยผู้มีทักษะที่เก่งแต่ไม่ฝึกซ้อมร่างกาย ดังนั้นการจะเอาชนะกิเลสนั้นก็ยากหน่อย แต่ก็มีโอกาสถึงเป้าหมาย ต่างจากสมถะอย่างเดียวแม้จะเอาดีแค่ไหนก็ไม่ได้ทำให้บรรลุธรรมใดๆ
4).อะไรสำคัญกว่ากัน
ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จะเห็นว่าน้ำหนักของวิปัสสนามากกว่าเพราะมีมรรคผลในแบบพุทธอย่างชัดเจน แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถจะสรุปได้ว่าอะไรสำคัญกว่ากันได้ชัดเจนเสมอไป
เราไม่สามารถบอกได้ว่าต้องใช้สมถะกดก่อนแล้วค่อยวิปัสสนาจึงจะถูก อันนี้มันก็ผิดสำหรับคนอินทรีย์พละแก่กล้า เพราะถ้าเขาไปเสียเวลาสมถะ เขาก็พ้นทุกข์ช้า และผิดไปจากสัจจะของพระพุทธเจ้านั่นคือธรรมใดวินัยใดเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า
และถ้าบอกว่าใช้แต่วิปัสสนา สุดท้ายก็ถึงอยู่ดี มันก็ถูก แต่ถ้ามันทำให้ช้า มันก็ผิด เพราะเมื่อปฏิบัติถึงระดับหนึ่ง ศึกษาสามอย่างคืออธิศีล อธิจิต อธิปัญญาไประดับหนึ่ง อินทรีย์พละที่มีอยู่มันจะเริ่มไม่พอ เพราะศีลที่ยากขึ้นจะต้องใช้จิตที่มากขึ้นและปัญญาที่มากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นผู้มีอินทรีย์พละแก่กล้าแม้ว่าจะวิปัสสนาได้ไวในช่วงแรก สามารถชำแหละกิเลสจนรู้แจ้งเห็นจริงได้ แต่ก็อาจจะไม่สามารถใช้ต่อกรกับกิเลสทุกตัวได้
ดังนั้นการจะสรุปว่าอะไรสำคัญกว่าคงต้องประเมินตามสถานการณ์ เพราะแต่ละคนมีกรรมเป็นของตน มีกิเลสของตัวเอง จึงต้องใช้วิธีและสัดส่วนในการแก้ของตนเอง ไม่ใช่ว่าจะมาสรุปว่าต้องสมถะมากกว่าหรือวิปัสสนามากกว่า ความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ทำให้บรรลุธรรมได้ไว แต่ความว่องไวในการปรับความพอดีของสมถะและวิปัสสนาต่างหากจึงทำให้เจริญ
5).กลยุทธ์ในการรับมือกับผัสสะ
เมื่อมีผัสสะหรือสิ่งที่เข้ามากระทบทาง หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ การรับมือกับผัสสะโดยทั่วไปอย่างไม่ต้องศึกษากันเลยก็คือใช้สมถะกดข่มความคิดไม่ดีไว้ ถ้าเก่งขึ้นมาหน่อยก็เป็นสมถะจากการศึกษาธรรมะ เจริญสติบ้าง สร้างตัวรู้บ้าง ใช้ข้อธรรมะบ้าง ก็เอาไว้กดข่ม ดับความฟุ้งซ่าน ดับความคิดนั่นเอง
สมมุติว่ามีเหตุการณ์ดังเช่นว่า คนมานินทาเราทั้งต่อหน้าและลับหลัง สมถะในระดับสามัญสำนึก จะกดไว้ด้วยการรักษาภาพลักษณ์ สงบสยบความเคลื่อนไหว ถ้าเป็นผู้ศึกษาธรรมก็จะมีท่าของสมถะมากขึ้นในการตบผัสสะนั้นๆทิ้งเช่น บริกรรม ยุบหนอ พองหนอ , พุทโธ ,ตั้งสติรู้ไปที่ร่างกาย หรือใช้ข้อธรรมเข้ามาตบว่า ทุกสิ่งไม่เที่ยง มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ไม่ใช่ตัวเราของเรา สมถะจะทำงานในลักษณะนี้
ส่วนวิปัสสนานั้นจะต่างออกไปเพราะการวิปัสสนาได้นั้นต้องมีพื้นฐานของสติที่สมบูรณ์อยู่แล้ว นั่นหมายถึงว่าคนที่สามารถทำวิปัสสนาในระหว่างเกิดผัสสะนั้น เขามีอินทรีย์พละแกร่งพออยู่แล้ว จึงสามารถชำแหละกิเลส คือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ของการนินทาได้ตรงนั้น ขณะนั้น จนกระทั่งสามารถทำให้เจริญถึงขั้นรู้แจ้งเห็นจริงได้จนทำลายกิเลสกันทั้งๆที่ถูกนินทาอยู่นั่นแหละ
ซึ่งผลของวิปัสสนานั้นเมื่อเกิดปัญญารู้แจ้งจริงๆแล้วก็ถือว่าจบ คำนินทาเหล่านั้นแม้จะมีก็เหมือนไม่มีอีกต่อไป มาอีกเป็นกองทัพก็เฉยๆ จะต่างกับสมถะตรงที่ว่าสมถะจะใช้การกด เมื่อปริมาณผัสสะมากเข้าๆ ก็จะเกินกำลังที่จะกดได้ ซึ่งแต่ละคนจะมีขอบเขตในการกดที่จำกัด ที่นี้พอสายสมถะโดนผัสสะกระทุ้งเอามากๆ สุดท้ายก็จะออกอาการที่เรียกว่าตบะแตกนั่นเอง
ดังนั้นกลยุทธ์ในการรับมือกับผัสสะเมื่อเข้าใจสมถะและวิปัสสนาจึงควรใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่น ถ้าเรื่องนี้เริ่มเกินกำลังก็ให้กดไว้ก่อน ปัดทิ้งไปก่อน ปล่อยวางไปก่อน แล้วค่อยเก็บไปวิปัสสนาทีหลังก็ได้ แต่ถ้ามีกำลังมากพอ เจอผัสสะกระทบแล้วไม่ถึงกับออกอาการมาก เช่นโดนนินทาต่อหน้าแล้วยังเฉยๆ แต่ยังมีความไม่สบายใจ อึดอัดบ้างก็ให้ทำวิปัสสนาไปเลย ไม่ต้องไปข่ม เพราะมันจะเสียเวลาและเสียของสดไป นั่นเพราะการจะรู้ถึงกิเลสได้ต้องเผชิญกับผัสสะสดๆ กระทบกันสดๆ แม้ว่าเราจะสามารถระลึกย้อนได้แต่ก็ไม่ใช่ของสด เป็นของแห้ง พอใช้แทนกันได้แต่ไม่ดีเท่าสิ่งที่มากระทบสดๆ
6).การประมาณกำลัง
การใช้สมถะและวิปัสสนาไม่ได้ใช้เพื่อรับผัสสะหรือรับมือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันในชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ปฏิบัติธรรมนั้นจะใช้ศีลเข้ามาช่วยในการศึกษากิเลส ซึ่งจะต้องใช้สมถะและวิปัสสนาในกระบวนการเหล่านี้เช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่นว่า เราตั้งใจว่าจะลดเนื้อกินผักให้ได้มากที่สุด เมื่อเราตั้งศีลนี้ขึ้นมา ผัสสะจะมากกว่าคนที่ไม่ได้ตั้งศีล ศีลจะทำหน้าที่เป็นตัวชี้ให้เห็นถึงกิเลสที่ควรกำจัด เช่น เราไปกินข้าวกับเพื่อนร่วมงาน เรายังจะลดเนื้อกินผักได้ไหม ความอยากเราเกิด เรารู้ตัวไหม แล้วอยากขึ้นมาเราจะทำอย่างไร จะกดข่มความอยากคงสภาพรูปสวยด้วยสมถะไปก่อนดีไหม หรือมีแรงพอจะวิปัสสนาเลยไหม หรือจะเอาไว้ก่อน ยอมแพ้กิเลสไปก่อน
ธรรมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นเอง สติมาปัญญาไม่ได้มาเองโดยอัตโนมัติ ถ้าเป็นปัญญาจากสภาพกิเลสสงบมันก็ใช่ แต่อธิปัญญานั้นต้องสร้างเอง จะมีผลได้ก็ต้องสร้างเหตุเอง หลักของวิปัสสนาคือการสร้างปัญญาให้เจริญขึ้นในจิตใจ ถ้าเอาแต่กดข่มด้วยสมถะ ปัญญาก็จะไม่เกิดเพราะไม่ได้วิปัสสนาต่อ ถ้าไม่ขยันวิปัสสนาไม่ติดกามก็ติดภพอยู่แบบนั้น
ยกตัวอย่างที่สองให้เห็นการประมาณที่ชัดขึ้น นั่นคือศีลที่ยากมากขึ้น เช่นเราตั้งใจจะถือศีลกินมื้อเดียว เราไม่เคยทำมาก่อนเลย แต่เราเห็นว่าศีลนี้ดีนะ เขาว่าดี พระพุทธเจ้าก็ว่าดี แม้เราจะยังไม่เห็นได้ชัดอย่างเขาว่ามันดีอย่างไร แต่เบื้องต้นเราก็ว่าดี อันนี้เรียกว่ามีปัญญาที่เป็นมรรค แต่เมื่อถึงเวลาจริงมันไม่มีปัญญาพอที่จะกินมื้อเดียวนะ คือมันรู้ว่าดีแต่มันกินไม่ได้ มันจะไปกินหลายมื้ออยู่เรื่อย ใช้สมถะกดก็แล้ว ทุกอย่างไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนก็แล้ว สุดท้ายก็ตบะแตก ว่าแล้วก็ปล่อยวางศีล เดินตามกิเลสไปกินหลายมื้อเหมือนเดิมเฉยๆอย่างนั้น
แบบนี้เรียกว่าเกินกำลัง เพราะประมาณกำลังของกิเลสต่ำเกินไป ถ้าสมถะกดไม่ลงก็แทบจะไม่ต้องพูดถึงวิปัสสนา เพราะเมื่อพ่ายแพ้ให้กับกิเลสมากๆมันจะท้อได้เหมือนกัน วิปัสสนาไปมันก็แพ้กิเลสเท่านั้นเอง และมันไม่ได้ง่ายขนาดว่าพิจารณากันครั้งเดียวผ่าน มันต้องใช้เวลาขึ้นอยู่กับว่าทำสะสมมาเท่าไหร่ ไม่ใช่ว่ากดข่มด้วยสมถะเก่งแล้วจะสามารถถือศีลนี้ได้เสมอไป แม้จะถือได้ด้วยสมถะแต่ถ้าไม่ทำวิปัสสนามันก็ไม่มีปัญญา มันก็ถือศีลแบบถือไว้อย่างนั้น ถือแบบงมงาย ถือแบบกดข่มเท่านั้นเอง
7). ผลของความพอดีจากสมถะและวิปัสสนา
ความพอดีของสมถะและวิปัสสนาที่ตอบสนองต่อผัสสะหรือสิ่งที่เข้ามากระทบคือเกิดความเจริญสูงสุด ความเจริญนี้ไม่ได้หมายถึงสามารถกดข่มได้อย่างยอดเยี่ยมหรือพิจารณาทีเดียวเกิดปัญญารู้แจ้ง แต่หมายถึงประสิทธิภาพสูงสุดที่จะสามารถทำได้ของคนนั้นๆ บางคนมีปัญญาต่อกิเลสในเรื่องนั้นๆ 50% การรักษาสภาพที่พอดีพอเหมาะสูงสุดอาจจะหมายถึง สมถะ 0 วิปัสสนา 100 หรือสมถะ 80 วิปัสสนา 20 ก็เป็นได้ และการเจริญจาก 50% ไปสู่ 51% ก็อาจจะเป็นความเจริญสูงสุดที่คนผู้นั้นทำได้ ณ เวลานั้นก็เป็นได้
เพราะศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้กระทำความดับในทันที แต่สอนให้เกิดปัญญาไปตามลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด โดยใช้ไตรสิกขาคืออธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เข้ามาเพื่อช่วยก้าวข้ามกิเลสสามภพ คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ ซึ่งสภาพของกิเลสในแต่ละภพนี้เองก็คือความหยาบ กลาง ละเอียดไปโดยลำดับ
เราไม่สามารถใช้สมถะในการทำลายภพของกิเลสเหล่านี้ได้ เพราะสมถะทำได้อย่างมากก็แค่กดข่ม แต่จะสามารถกดข่มได้กี่ภพกี่ชาตินั้นไม่รู้ ส่วนตัวที่จะทำลายภพชาติของกิเลสจริงๆนั้นคือวิปัสสนา ดังนั้นเมื่อปฏิบัติอย่างถูกตรง ประมาณกำลังให้เหมาะก็จะมีทิศทางที่จะเจริญไปเรื่อยๆจนกระทั่งถึงผลสุดท้ายคือสภาพหลุดพ้นจากกิเลสหรือวิมุตติในที่สุด
8). สับสนสมถะวิปัสสนา
ในปัจจุบันมีความสับสนในวิธีการปฏิบัติของสมถะและวิปัสสนาอยู่มาก ทั้งในส่วนของบัญญัติภาษาและในส่วนของการปฏิบัติ
ในส่วนของบัญญัติภาษา มีอยู่มากที่เรียกสมถะของตนว่าวิปัสสนา ตั้งชื่อว่าวิปัสสนาแบบนั้นแบบนี้ แต่พอปฏิบัติก็ใช้การกดข่มจิตเข้ามาเป็นหลักในการปฏิบัติ หรือทั้งสมถะและวิปัสสนาของเขาก็เป็นแค่สมถะ แต่ไปแตกวิธีปฏิบัติสมถะว่านั่งสมาธิ แล้วหมายเอาว่าการใช้ธรรมเข้ามาพิจารณากดข่มกิเลสนั้นเป็นวิปัสสนา คือถ้าอยู่ในแนวทางของอุบายทางใจนั่นก็คือสมถะทั้งหมด จะตั้งชื่ออย่างไรก็แล้วแต่ แต่โดยสัจจะมันก็สมถะอยู่ดี
ถามว่าทำได้ไหม มันก็ทำได้ แต่ก็น่าจะเรียนรู้ความต่างของสมถะและวิปัสสนา ไม่ใช่ปฏิบัติแต่สมถะและสมถะ แบบนี้มันก็พากันไปติดภพเท่านั้นเอง วิปัสสนาก็ยังเข้าใจไม่ได้ แล้วยังเข้าใจผิดไปอีก แบบนี้จะติดอีกนานแสนนาน
ในส่วนของการปฏิบัตินั้นมีความสับสนอยู่มากเช่นเดียวกับบัญญัติภาษา บางคนก็กล่าวหาว่าการคิดนั้นผิด ทั้งๆที่วิปัสสนานั้นเป็นการคิดพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญา ซึ่งโดยมากจะเป็นสายสมถะที่กระทำแต่การหยุดคิดแล้วหมายเอาการหยุดคิดนั้นเป็นวิปัสสนา มันก็เลยสับสนเช่นนี้
ถ้าหนักๆเข้าก็ข่มว่าวิปัสสนานั้นเอาแต่คิด ยิ่งคิดยิ่งฟุ้งซ่าน ซึ่งมันก็ถูกอย่างที่เขาว่า แต่ถ้าจะบอกว่าผิดทางนั้นก็ตอบว่าไม่ใช่ เพราะวิปัสสนาไม่ใช่ภพของการกดข่ม ไม่ได้ทำเพื่อความสงบอย่างสมถะ คนที่ติดสมถะและไม่มีปัญญาวิปัสสนาก็จะไม่เข้าใจการชำแหละกิเลสด้วยปัญญาจากความฟุ้งเหล่านั้น ที่มันฟุ้งซ่านเพราะมันมีกิเลส วิปัสสนานั้นกระทำต่อกิเลส ไม่ได้กระทำต่อความฟุ้งซ่านดังเช่นสมถะวิธี
เมื่อผู้ทำสมถะไม่ได้เรียนรู้วิปัสสนาก็จะไม่เข้าใจและพากันตีทิ้งวิปัสสนา เข้าไปติดภพ ติดสงบ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติเพราะสภาพสงบของสมถะมันสบายจริงๆ มันไม่ต้องคิด ไม่ต้องเอาภาระ ไม่ต้องอะไรมาก เหมาะจะเอาไว้พักจิต ซึ่งสรุปแล้วมันก็เป็นเพียงแค่อุบายทางใจเอาไว้พักเมื่อคิดพิจารณาทำลายกิเลสด้วยวิปัสสนาจนหัวร้อนนั่นแหละประมาณว่าเป็นที่พักริมทางเมื่อต้องเดินทางไกล
ทีนี้บางคนติดสบายก็หมายเอาสมถะเข้ามาเป็นทางปฏิบัติ หนักเข้าก็หมายว่าเป็นทางบรรลุธรรม ตีทิ้งวิปัสสนาไปเลยก็มีเหมือนกัน ถ้าจะยืนยันกันก็มีหลักฐานมากมายในยุคพุทธกาล ในสมัยนั้นพระพุทธเจ้าเทศน์โปรดหลายท่านไม่กี่ประโยคก็บรรลุธรรมได้ นั่นเพราะท่าน “คิด” พิจารณาตามโดยแยบคาย เห็นไหม คนที่มีอินทรีย์พละแก่กล้าไม่จำเป็นต้องใช้สมถะเลย
บางคนที่เข้าใจสมถะและวิปัสสนาอย่างผิวเผิน พอปฏิบัติมันก็แยกไม่ออก ปนเปกันไป ทำสมถะอยู่แต่ก็เข้าใจว่าทำวิปัสสนา หรือพวกที่วิปัสสนาก็เรียนรู้เพียงทฤษฏี คือรู้โดยภาษานะว่าวิปัสสนาเป็นอย่างไร แต่พอปฏิบัติก็กลายเป็นสมถะหมด
– – – – – – – – – – – – – – –
5.4.2558
อดีต อนาคต ปัจจุบัน: ตรวจความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั้งหมดในทุกช่วงเวลา
อดีต อนาคต ปัจจุบัน: ตรวจความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั้งหมดในทุกช่วงเวลา
หลังจากที่เราได้ผ่านการทดสอบจิตใจตัวเองตั้งแต่ระดับ 1-3 มาแล้ว ก็ยังเหลือการทดสอบอีกขั้นหนึ่งซึ่งเรียกว่าการตรวจเวทนา ๑๐๘ ซึ่งจะขออธิบายโดยย่อสำหรับการตรวจกิเลสในระดับนี้
การตรวจเวทนา ๑๐๘ เป็นการตรวจสภาวะ ทุกข์ สุข เฉยๆ ที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ต่างกันสองแบบคือแบบเคหสิตะหรือแบบชาวบ้าน และแบบเนกขัมมะหรือแบบนักบวช โดยตรวจผ่านสามช่วงเวลาคืออดีต อนาคต และปัจจุบัน
อธิบายกันให้ง่ายขึ้นคือการที่เรานึกย้อนไปในอดีตในสิ่งที่เราเคยยึดติด เคยชอบใจ เคยถูกใจแล้วเรายังเหลือสุข ทุกข์อยู่อีกไหม และนึกไปถึงอนาคตต่อว่าถ้าเราได้เสพสิ่งนั้นสิ่งนี้เราจะเป็นสุขอยู่ไหม ถ้าเราไม่ได้เสพเราจะเป็นทุกข์ไหม นี่คือลักษณะของการตรวจเวทนาในอดีตและอนาคต
เมื่อเราคิดถึงอดีตและอนาคต สภาวะของความสุข ทุกข์ เฉยๆ จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่นเราคิดถึงเมนูที่เราชอบในอดีต เราก็ไม่ได้กินในปัจจุบันนะ แต่น้ำลายมันอาจจะไหล มันเกิดความอยากขึ้นในปัจจุบัน ในอนาคตก็เช่นกันหากเราคิดถึงเมนูอาหารที่เราติดยึดมากๆ อาจจะทำให้เรามีน้ำลายไหล เกิดอาการอยากกินขึ้นในปัจจุบันนี้เลย
ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นของจริง สุข ทุกข์ที่เกิดนั้นเป็นของจริง ไม่ใช่สิ่งลวง เป็นกิเลสจริงๆที่แสดงตัวออกมา แม้จะคิดย้อนไปในอดีตหรือจินตนาการไปในอนาคตแต่สุข ทุกข์ เฉยๆที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน
1.1) วิธีการตรวจอดีต
จากที่ยกตัวอย่างมา เราก็สามารถคิดย้อนไปในเหตุการณ์ต่างๆสมัยที่เรายังกินเนื้อสัตว์ เมนูที่เคยชอบ เหตุการณ์ที่เคยกินต่างๆ ทุกเมนูเนื้อสัตว์ที่เคยอยู่ในความทรงจำ เราก็คิดถึงมันและตรวจอาการตัวเองด้วยสติปัฏฐาน ๔ ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ก็จะมีอาการเกิดขึ้นเอง เช่นตอนนี้เราเลิกเนื้อสัตว์ได้ 100% แล้วนะ แต่พอคิดย้อนไปถึงตอนกินหมูกระทะกับเพื่อนแล้วมันน้ำลายไหล พอคิดไปถึงเนื้อสัตว์ที่จิ้มน้ำจิ้มเข้าปากแล้วมันก็ยังรู้สึกมีความสุข อันนี้ก็ถือว่ายังมีกิเลสซ่อนอยู่ พอเห็นกิเลสเราก็ใช้สติปัฏฐาน ๔ นี่แหละเป็นตัวพิจารณาหาสาเหตุของกิเลสนั้นๆต่อไป
1.2) วิธีการตรวจอนาคต
ในอนาคตก็จะคล้ายๆอดีต แต่จำเป็นต้องใช้การจินตนาการออกไปล่วงหน้าโดยใช้ข้อมูลในอดีตหรือหาใหม่ในปัจจุบันเป็นวัตถุดิบในการปรุงแต่ง เช่นเราไปดูกระทู้พาชิมอาหาร เราจะได้ข้อมูลในปัจจุบัน หากปัจจุบันมีอาการสุขขึ้นมาจากการได้เห็นเมนูเนื้อสัตว์ก็พิจารณาหากิเลสไป แต่หากยังไม่เจอเราก็ใช้การจินตนาการต่อไปว่าถ้าเราได้กินเนื้อสัตว์แบบเขานะ ถ้าเราได้ลิ้มรสจานนั้นจานนี้นะ ถ้าจินตนาการไปแล้วอาการสุขมันออกนั่นแหละกิเลสมันแสดงตัวออกมาแล้ว นี้คือการหากิเลสในอนาคต
….วิธีการตรวจเวทนาเหล่านี้เป็นวิธีของผู้ที่ต้องการบรรลุธรรมไว ต้องการจะหลุดพ้นจากความอยากไว เป็นวิธีของคนขยัน และมักจะมีคนเข้าใจวิธีนี้ผิดว่าเป็นการคิดฟุ้งไปไกลโดยไม่จำเป็น แต่แท้ที่จริงแล้ววิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้กันอย่างปกติในคนที่เข้าใจเรื่องล้างกิเลส เพราะสุดท้ายการล้างกิเลสใดๆก็ต้องมาจบด้วยตรวจสอบเวทนา ๑๐๘ กันอยู่ดี
เราสามารถใช้เวทนา ๑๐๘ ได้ตั้งแต่แรกเริ่ม โดยทำไปพร้อมๆกับแบบทดสอบระดับที่ 1-3 เลยก็ได้ คือไปเจอเหตุการณ์เหล่านั้นมาแล้วก็กลับมาใช้เวลาคิดย้อนกลับไปอีก ตรวจหากิเลสซ้ำไปอีกหลายๆครั้ง นี่เองคือลักษณะนิสัยที่ต้องใช้ความเพียรมาก ถ้าคนทั่วไปก็จะปล่อยให้มันผ่านไปเพราะถือว่ามันจบไปแล้ว แต่ผู้มีความเพียรนอกจากจะไม่ปล่อยให้ผัสสะหายไปแล้วยังสามารถนำผัสสะเหล่านั้นกลับมาใช้ตรวจกิเลสของตัวเองได้ใหม่อีกครั้งด้วย
2) สรุปเรื่องเวทนา ๑๐๘
คนที่ตรวจเวทนา ๑๐๘ ตรวจ อดีต อนาคต ปัจจุบันดีแล้ว ตรวจหลายรอบแล้ว ไม่ว่าจะหาเมนูเนื้อสัตว์น่ากินแค่ไหนก็เฉยๆ ไม่ทุกข์ ไม่สุข แม้จะลองกินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ไม่สุข รู้สึกเฉยๆ แถมยังมีปัญญารู้ด้วยว่ากินเนื้อเป็นอกุศลอย่างไร แม้ว่าจะไม่ทุกข์แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่รู้คุณรู้โทษ ผู้ซึ่งหมดความรู้สึกสุขทุกข์จากความอยากจะอยู่ในสภาพที่เป็นอิสระจากกิเลส
เนกขัมมสิตอุเบกขานั้นคือเป้าหมายของการปฏิบัติธรรมหรือการล้างกิเลสเป็นการปล่อยวางกิเลสอย่างนักบวช หมายถึงผู้ปฏิบัติธรรมที่รู้และเข้าใจกระบวนการล้างกิเลสอย่างถ่องแท้ รู้แจ้งทุกขั้นตอนในการล้างกิเลส รู้ว่ากิเลสลดอย่างไร และหมดไปอย่างไรได้อย่างชัดเจน
2.1) อดีตและอนาคต
เมื่อเข้าถึงภาวะอุเบกขา ก็จะจบเรื่องของอดีตและอนาคต คือไม่ต้องไปคิดเรื่องความอยากย้อนไปในอดีตหรือไม่ต้องคิดต่อไปแล้วว่าหลังจากนี้จะมีเมนูเนื้อสัตว์ใดๆที่จะมาทำให้เกิดความอยากได้อีก มีคนเขาว่าอร่อยแค่ไหน ก็ไม่มีทางที่จะกลับไปอยากกินอีกต่อไปแล้ว คือจะเป็นคนที่ไม่มีทั้งอดีตและอนาคตของกิเลสในเรื่องของความอยากกินเนื้อสัตว์ อยู่กับปัจจุบันที่ไม่มีกิเลส จึงกลายเป็นผู้อยู่กับปัจจุบันเป็นปกติ โดยไม่ต้องพยายามใดๆ
2.2) อดีต
รู้ในส่วนของอดีตคือรู้ว่าอดีตเราทำบาปมาเท่าไหร่ ทำอกุศลมาเท่าไหร่ ตรงนี้ก็จะรับรู้และยอมรับวิบากกรรมเหล่านี้ไว้ ในส่วนของอดีตนี้เองก็มีความไม่เที่ยงในตัวของมัน คือมีอกุศลกรรมเก่าที่เราทำไว้ และมันจะค่อยๆถูกชดใช้ไปเรื่อยๆ จะถูกเปลี่ยนมาสร้างเป็นทุกข์ โทษ ภัยให้เราเรื่อยๆ และที่มันไม่เที่ยงนั้นก็หมายถึงว่ามันมีการเปลี่ยนแปลง เช่นวันที่เราเลิกกินเนื้อสัตว์เรามีอกุศลอยู่ 100% แต่พอเวลาผ่านไปเราก็ใช้ชีวิตไปพร้อมกับใช้วิบากกรรมไปเรื่อยๆ มันก็จะลดลงมาโดยลำดับ
2.3) อนาคต
และรู้ในส่วนของอนาคต คือรู้ว่าต่อจากนี้ไม่มีการสะสมบาปต่อไปอีกแล้ว ไม่มีการล้างกิเลสต่อไปอีกแล้ว สิ้นบุญสิ้นบาปกันไป เหลือแต่กุศลและอกุศล ในสองส่วนนี้ก็ไม่เที่ยงเช่นกัน กุศลก็สามารถเพิ่มได้เรื่อยๆ เช่นวันนี้เรามีกุศล 100% แต่ผ่านไปหนึ่งปีเราละเว้นเนื้อสัตว์ไปเรื่อยๆกุศลก็เพิ่มโดยลำดับ
และอกุศลก็เป็นส่วนที่ไม่เที่ยงเช่นกัน ในบางครั้งบางโอกาสอาจจะมีเหตุที่จำเป็นให้เราต้องอนุโลมกลับไปกินเนื้อ แต่การอนุโลมนั้นก็อยู่บนพื้นฐานของกุศลและอกุศล เช่นถ้าเรากินเนื้อเราจะรอดชีวิต สามารถไปสร้างกุศลได้อีก 100 หน่วย แต่ถ้าต้องกินเนื้อจะเป็นอกุศล 10 หน่วย ถ้าปล่อยตายก็ไม่ได้อะไรเลย อันนี้ผู้ที่พ้นความอยากกินเนื้อสัตว์ก็จะสามารถกินได้โดยไม่มีบาป เพราะไม่ได้อยากกิน แต่กินเพราะพิจารณาดีแล้วว่าถ้ารอดตายไปจะทำกุศลได้มากกว่า เป็นกุศลมากกว่า ในกรณีนี้ก็จะคล้ายกับอรหันต์จี้กงที่กินเหล้าสอนคน เพราะท่านได้ประเมินแล้วว่ามันมีกุศลมากกว่าหากใช้วิธีนี้
คนที่สามารถรู้แจ้งในอดีต รู้แจ้งในอนาคต รู้แจ้งในเรื่องอดีตและอนาคตได้ จะพ้นความกังวลหลายอย่างในชีวิตไปได้ เพราะคนที่ตั้งใจจะเลิกตลอดชีวิต จะเลิกนับเวลาว่าตัวเองกินมังสวิรัติมาตั้งแต่เมื่อไหร่และไม่สนใจว่าจะต้องกินไปถึงเมื่อไหร่ เพราะไม่มีทั้งอดีตและอนาคต มีแต่ปัจจุบันคือไม่กิน และจะเป็นปัจจุบันแบบนี้ไปเรื่อยๆ คือไม่กินเนื้อสัตว์ไปเรื่อยๆ เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน
ซึ่งจะเป็นสภาพผลของการปฏิบัติศีล หรือที่เรียกกันว่ามีศีลเป็นปกติในชีวิต นั่นคือสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างปกติ และมีความสุขโดยไม่ต้องระวังและเคร่งเครียดมาก เพราะรู้ชัดแจ้งว่าตนเองไม่ได้อยากกินเนื้อสัตว์ ส่วนจะเผลอไปกินโดยไม่รู้นั้นก็แค่เลิกกินหรือถอยออกมาตามที่เห็นสมควร แต่จะไม่ทุกข์ ไม่กลับไปจมในอัตตาใดๆ เพราะรู้ดีว่าการกินเนื้อสัตว์ด้วยความอยากกับการกินแต่ไม่อยากนั้นต่างกันอย่างไร
ผู้ที่บรรลุธรรมจะมีสภาพเหมือนคนธรรมดาที่ไม่ได้เคร่งเครียด เหมือนไม่ได้ถือศีล แต่จะมีศีลไว้ยึดอาศัย ไม่ใช่ว่าสำเร็จวิชาเข้าใจธรรมแล้วทิ้งศีลกลับไปกินเนื้อ ที่ต้องยกตัวอย่างนี้เพราะมีบุคคลบางพวกมักตีกิน ใช้สภาวะสุดท้ายเข้ามาหลอกคนอื่นว่าตนเองนั้นบรรลุธรรมแล้วเลยไม่ยึดมั่นถือมั่นจึงถือว่ากลับไปกินเนื้อสัตว์ได้
ดังนั้นหากจะยืนยันว่าคนที่เข้าใจเรื่องความอยาก รู้แจ้งเรื่องกิเลสจริงนั้นจึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ยาก ดูได้ยาก สังเกตได้ยาก และเข้าใจได้ยาก ไม่สามารถใช้ตรรกะทั่วไปเข้ามาอธิบายสภาวะของจิตใจได้อย่างชัดเจน ทำได้เพียงอธิบายด้วยภาษาเท่าที่ทำได้เท่านั้น การที่เข้าใจและเข้าถึงได้ยากนั้นไม่ใช่ว่าอธิบายธรรมไม่ได้ แต่หมายถึงยากที่คนทั่วไปจะเข้าถึงธรรมที่เป็นโลกุตระ คนที่บรรลุธรรมจริงๆจะสามารถพูดได้ ขยายได้ ชี้แจงได้ แสดงธรรมให้เข้าใจได้ง่ายได้ แต่ปัญหาคือคนฟังจะไม่เข้าใจหรือเข้าใจได้ยากเพราะไม่มีสภาพของธรรมนั้นในตนเอง จึงเกิดช่องว่างแบบนี้ให้คนเอาไปตีกินว่าตนเองบรรลุธรรมนั่นเอง
สรุป
การตรวจเวทนานี้เองคือด่านสุดท้ายของการตรวจสอบกิเลสทั้งหมด ซึ่งเราจำเป็นต้องแม่นยำในเรื่องของสติปัฏฐาน ๔ ไม่เช่นนั้นเราก็จะตรวจหากิเลสไม่เจอ ถึงกิเลสจะแสดงอาการอยู่ก็มองไม่เห็น เพราะกิเลสนั้นมีสามระดับ คือหยาบ กลาง ละเอียด และอยู่ในลักษณะสามภพ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ การจะเห็นกิเลสที่ละเอียดก็ต้องผ่านชั้นของกิเลสกลางมาก่อน และก่อนจะเห็นกิเลสกลางก็ต้องผ่านกิเลสหยาบมาก่อน และกิเลสที่อยู่ในระดับความละเอียด ส่วนใหญ่จะอยู่ในลักษณะของอรูปภพ คือไม่มีรูปมีร่างให้เห็นแล้ว บางครั้งก็แทบจะไม่มีอาการใดๆให้เห็นเด่นชัดเลย มีเพียงอารมณ์ขุ่นมัวเล็กน้อยเท่านั้น
ผู้ที่ปฏิบัติธรรมมาถูกทางก็จะมีอินทรีย์พละแกร่งกล้าขึ้นเรื่อยๆ และสามารถเรียนรู้ถึงกิเลส หยาบ กลาง ละเอียดได้ตามลำดับกำลังของตน การที่เราจะเริ่มต้นจากกิเลสละเอียดนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นมีไว้เพื่อขัดเกลากิเลสไปตามลำดับ คือ หยาบ กลาง ละเอียด มีความลาด ลุ่ม ลึกไปตามลำดับเหมือนมหาสมุทร ไม่ชันเหมือนเหว
ผู้ที่เรียนรู้การล้างกิเลสก็ให้ทบทวนไปตามลำดับของการตรวจสอบ 1-3 จนกระทั่งใช้การตรวจเวทนา ๑๐๘ นี้เป็นเครื่องมือในการตรวจหากิเลส ถ้าเจอก็พิจารณาโทษไป ถ้าไม่เจอก็ค้นหาต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งจะมั่นใจได้เอง จะรู้ได้เองว่าเราพ้นจากความอยากแล้ว ไม่มีอดีตและอนาคตใดทำร้ายเราได้อีกแล้ว เราพ้นจากกิเลสทั้งสามภพแล้ว
เมื่อมั่นใจได้เช่นนี้ก็อาจจะมีผัสสะมาทดสอบบ้าง ซึ่งก็ตรวจใจซ้ำเข้าไปอีก ถ้าตรวจแล้วตรวจอีกยังไงก็ไม่เจอความอยากก็ขอแสดงความยินดีด้วย
ติดตามต่อได้ที่
Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)