Tag: อกุศล

ชาตินี้ ชาติหน้า

September 18, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,754 views 0

ชาตินี้ ชาติหน้า

ชาตินี้ ชาติหน้า

คงจะมีบางครั้ง ที่เรามักจะสงสัย ชาติหน้ามันมีจริงหรือ? แล้วชาติหน้าจะเป็นอย่างไร? หรือมันไม่มีจริง เราเกิดกันมาแค่ครั้งเดียวจริงๆหรือ? เราเกิดมาแล้วต้องใช้ชีวิตให้สุดๆก่อนตายจริงหรือ? แม้ไม่เคยสงสัย แต่หลายคนก็มักจะมีความเชื่อไปในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเชื่อว่าเกิดมาครั้งเดียว หรือชาติหน้ามีจริง ก็ไม่รู้หรอกว่ามันเป็นอย่างไร มีที่มาอย่างไร แล้วต่อไปจะเป็นอย่างไร ในบทความนี้เราจะมาแบ่งปันความรู้กัน

อดีต…จนถึงปัจจุบัน

ก่อนจะมีชาตินี้ ก็ต้องมีอดีตชาติ หรือชาติก่อน …. คนธรรมดาสามัญอย่างเราจะให้นึกไปถึงชาติก่อนก็คงจะนึกไม่ออก ถึงจะไปถามผู้รู้ ก็ไม่รู้อยู่ดีว่าเรื่องที่เขาบอกเรามา มันจริงหรือเขาคิดไปเอง การจะรู้ว่าชาติก่อนเราเป็นอย่างไรนั้น ไม่ยากเลย ก็แค่ดูนิสัยในชาตินี้ ดูสังคมสิ่งแวดล้อม ดูผู้คนรอบข้างของเราในชาตินี้

ถ้านิสัยในชาตินี้เราเป็นอย่างไร ชาติก่อนเราก็เป็นอย่างนั้น เหมือนวันนี้เรายังชอบกินไอติม พรุ่งนี้ก็จะยังชอบอยู่ดี วันต่อๆไปก็ยังจะชอบอยู่ดี นิสัยหรือสันดานที่เรามีนี่แหละ คือสิ่งที่แสดงถึงชาติก่อนของเรา สังคมสิ่งแวดล้อมผู้คนรอบข้างนั้นสะท้อนถึงบุญบารมีที่เราเคยสร้างมา เช่นเราอยู่ในสังคมที่พาให้หลงมัวเมาในกิจกรรมอะไรสักอย่าง นั่นก็เพราะเราเคยพากันมัวเมาก่อนแล้ว เหมือนดังที่เราสนุกกับการเที่ยวเล่นวันนี้ อีกไม่นานเราก็จะพยายามหาทางชวนเพื่อนไปเที่ยวเล่นกันอีก เพราะเราเสพติดการเที่ยวเล่น

กรรมที่เราทำจะนำพามาซึ่ง นิสัย เหตุการณ์ ความคิด ปัญญา รูปร่าง หน้าตา ฐานะ ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ถ้าใครรู้สึกว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรมก็ขอให้ลองพิจารณาดูว่าอีกทีว่า เป็นเพราะเราไปทำอะไรมารึเปล่า เราถึงได้เจอเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกข์ ให้ลำบาก ให้เดือดร้อน ทรมาน แตกต่างจากคนอื่นเขาเหลือเกิน

คำว่าอดีตนั้นหมายรวมถึงอดีตที่เราจำไม่ได้ เช่น ในชาติก่อนภพก่อน หรืออดีตเมื่อปีก่อน เดือนก่อน วันก่อน อดีตเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ เมื่อกระทำสิ่งใดแล้วก็กลายเป็นอดีต กลายเป็นกรรม เราจึงต้องมาแก้ไขกันในปัจจุบัน

มองภาพรวม อดีต….ปัจจุบัน….อนาคต

คงจะมีบางครั้งที่เราอยากรู้ว่าตายแล้วเราจะไปไหน ไปสู่อนาคตแบบไหน ก็ลองดูกันว่าที่ผ่านมาในอดีต ตั้งแต่ที่เราเกิดมา เราได้ทำอะไรไว้บ้าง เคยลองสรุปบัญชีกรรม จัดระเบียบกิเลสตัวเองบ้างไหมว่า ที่ผ่านมากิเลสของเราเพิ่มขึ้น หรือกิเลสของเราลดลง เราทำสิ่งที่เป็นกุศลมาก หรือทำอกุศลมากกว่ากันแน่

การทำทานด้วยเงิน ไม่ใช่เหตุปัจจัยที่ส่งผลขนาดที่ว่าทำให้เราได้เกิดในชาติที่ดีภพที่ดี เพราะกรรมยุติธรรมเสมอ เราทำทานไป 1,000 บาท ชาติหน้าเราก็ควรจะได้แค่ประมาณ 1,000 บาท หรืออะไรที่ใกล้เคียงกันไม่ใช่หวังไปว่าจะถูกหวย จะได้ลาภลอย หวังจะให้ไปเกิดในตระกูลร่ำรวยหรือหวังเกินกว่าสิ่งที่ตัวเองได้ทำ

หรือแม้แต่การปฏิบัติ ดังเช่น การนั่งสมาธิ เดินจงกรม สวดมนต์แบบไม่เข้าใจความหมาย ก็ไม่ได้ทำให้บรรลุหรือหลุดพ้นอะไร ถ้าเรายังคงทำแค่ในลักษณะของสมถะ คือการกำหนดจิตไปไว้ที่ใดที่หนึ่ง ไม่ให้ใจวอกแวก สงบนิ่ง ติดจิต ตบความคิดทิ้ง อย่างดีที่สุดเราก็จะได้ความสงบในตอนนั้น หรืออย่างมากก็เป็นแบบฤาษี ก็เหมาะสมกับกรรมที่ทำมาแล้วนี่ แค่นั่งสมาธิจะไปหวังอะไรกับการบรรลุมรรคผล

แต่สิ่งที่ซ้อนเข้าไปกับการทำกิจกรรมใดๆ ยกตัวอย่างเช่น การทำทาน ก็คือการทำทานนั้นมีผลเพื่อสละกิเลสหรือไม่? ถ้าทำเพื่อความไม่ได้ไม่มี ไม่หวังอะไร ให้เพื่อลดความตระหนี่ ความขี้งกขี้เหนียว ตรงนี้ก็ถือเป็นบุญ และการนั่งสมาธิถ้าใช้การวิปัสสนาเข้ามาร่วมให้เห็นรากของปัญหา เห็นต้นเหตุของกิเลสที่ยึดมั่นถือมั่นอยู่ แล้วหมั่นพิจารณาจนรู้ความจริงตามความเป็นจริง ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นบุญ

บุญนี้เองคือตัวที่จะมาตัดกับกิเลส เมื่อเราลดกิเลสได้ในวันนี้ วันพรุ่งนี้ก็จะไม่มีกิเลสตัวนั้นๆ จะเดือนหน้า ปีหน้า ชาติหน้าก็จะไม่มีกิเลสตัวนั้นๆมาทำให้ชีวิตต้องลำบากในอนาคต

เมื่อเราได้เข้าใจความจริงในแต่ละการกระทำที่เราได้ทำไปแล้ว ก็จะสามารถคำนวณบัญชีกรรมของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น ว่าเราสร้างกุศล อกุศลไปแค่ไหน เราลดกิเลสได้แค่ไหน หรือไม่เคยลดเลยมีแต่สะสมเพิ่ม ยิ่งแก่ยิ่งเฮี้ยน ยิ่งเสพ ยิ่งยึดมั่นถือมั่น ยิ่งอัตตาเยอะ

ปัจจุบัน…ไปสู่อนาคต

การเลือกที่จะคิด พูด ทำ ภายใต้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น จะเป็นตัวตัดสินอนาคตของเรา เช่น มีคนมีตำหนิเรา เรามีสองทางเลือกที่ชัดเจน คือทำกุศล หรืออกุศล ส่วนลีลา ท่าทางที่จะออกไปก็แล้วแต่ใครจะปรุงแต่ง

ในทางกุศล เช่น เราไม่โกรธตอบยินดีรับฟังด้วยใจที่เป็นสุข ถามเขาว่าเราควรจะเริ่มแก้ไขตรงไหนดี ฯลฯ

ในทางอกุศล เช่น โกรธ อาฆาต พยาบาท ผูกโกรธ ไม่เชื่อ ไม่ฟัง เพ่งโทษ ด่าตอบ ทำร้าย ฯลฯ

ทางไปนรกหรือสวรรค์ มันก็อยู่กับปัจจุบันนี่แหละ ถ้าเราไปทางกุศลมันก็ไปสวรรค์ คิดอกุศลมันก็ไปนรก สุขทุกข์มันก็มีให้เห็นอยู่ตรงนี้ ทำกันตรงปัจจุบันนี่แหละ เพราะอดีตมันแก้ไม่ได้ และอนาคตก็คือผลของปัจจุบันอยู่ดี

ในแต่ละวันจะมีเหตุการณ์ให้เราเลือกทำสิ่งที่เป็นกุศลหรืออกุศลตลอด ตั้งแต่ตอนตื่นนอน เราขี้เกียจไหม , เดินทาง เราแย่งเราเบียดคนอื่นไหม , ทำงาน เราเอาเปรียบบริษัทไหม เราแอบอู้งานไหม เราโกรธใคร นินทาใครไหม ,เวลากินอาหาร เราเลือกกินของที่ชอบแต่ไม่มีประโยชน์ หรือกินของที่มีคุณค่าต่อร่างกาย, เรากลับมาบ้านเราพูดดีกับคนในครอบครัวไหม ฯลฯ

ช่วงเวลาเหล่านี้แหละคือช่วงเวลาที่จะตัดสินอนาคต คือช่วงเวลาที่จะปฏิบัติธรรม ปฏิบัติกันไปในชีวิตประจำวันเลย โดยไม่ต้องรอไปวัด ไปทำบุญ ไปนั่งสมาธิ ไปสวดมนต์ เพราะกุศล อกุศล บุญ บาป เกิดได้ทุกวินาทีในชีวิต ผู้ไม่ประมาทพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่า ทุกวินาทีเป็นวินาทีแห่งบุญ เราสามารถสร้างนรกสวรรค์ขึ้นมาด้วยตัวเราเองได้ทุกขณะ แม้ครั้งนี้จะพลาดไป ก็ยังมีครั้งหน้า โอกาสหน้า หรือชาติหน้า ถ้าเราไม่ประมาทเราก็พยายามทำกุศลในทุกเหตุการณ์ให้ได้

….คำว่าชาติหน้านั้นหมายรวมไว้ถึงการเกิดของกิเลสครั้งหน้า การเกิดเหตุการณ์ครั้งหน้า หรือชีวิตหน้าด้วย เช่น ถ้าเรายังมีกิเลสที่หลงในรสของไอติม เมื่อเจอไอติมครั้งต่อไปก็ยังต้องมีอาการอยากกินอีก แม้จะรู้สึกเบื่อไปเองก็อย่าเผลอคิดไปว่ากิเลสตาย แต่จริงๆแล้วกิเลสแค่เปลี่ยนไปเสพของอร่อยชนิดอื่นแทนแค่นั้นเอง

ชีวิตหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ให้พฤติกรรมของตัวเองในชาตินี้เป็นตัวพยากรณ์ ไม่ต้องให้ใครมาบอกหรอกว่าจะไปที่ไหน เป็นอย่างไร เรารู้ดีอยู่แก่ใจว่าเราทำอะไรมา เราเบียดเบียนผู้อื่นแค่ไหน หรือสร้างประโยชน์ให้สังคมเท่าไหร่ เราก็รู้ชัดเจนอยู่ในตัวเอง

จริงๆแล้วชาติหน้าก็ไม่ต่างกันกับชาตินี้เท่าไหร่หรอก อะไรที่เรายึดติดมา เราก็ยังยึดติดเหมือนเดิม เหมือนละครเรื่องเก่าที่เปลี่ยนคนแสดงใหม่ เป็นอย่างนี้มาแล้วทุกชาติ ซ้ำไปซ้ำมา วนเวียนไม่มีจบสิ้น หลงโง่มาเกิดแล้วแบกความโง่ไปจนตาย ก็ต้องเรียนรู้กันต่อไปจนกว่าจะเกิดปัญญา จนกว่ากิเลสจะตาย

– – – – – – – – – – – – – – –

17.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่?

September 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,102 views 0

ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่?

ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่?

ถาม: ปัจจุบันมีภิกษุพยายามสร้างประโยชน์ให้สังคมด้วยการกระทำให้เป็นรูปธรรมเช่นการให้ความรู้ญาติโยมในการประอาชีพทางการเกษตร การเป็นผู้นำในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสังคมมีการเดินขบวนเรียกร้องการใช้พื้นที่วัดทำนาเองเพื่อนำเงินเข้าวัด เป็นต้นซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันของญาติโยมบางคนก็ว่าควรทำ บางคนก็ว่าไม่ควรทำคุณดิณห์มีความเห็นอย่างไรเมื่อเอาหลักพระพุทธศาสนามาเป็นตัวตั้งในการวิเคราะห์ขอบคุณล่วงหน้าครับ

ตอบ: เขาทำดี ก็ดีแล้วนี่ครับ 🙂

ขอยกคำตรัสพระพุทธเจ้ามาอ้างอิงก่อนแล้วกันนะ “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราจักเตือนเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด นี่เป็นวาจาครั้งสุดท้ายของตถาคต”

การมีชีวิตอยู่เพื่อความผาสุกที่แท้จริงนั้น ต้องทำทั้งประโยชน์ตัวเอง คือขัดเกลา เพียรล้างกิเลสในใจตน ประกอบการงานเลี้ยงชีพ งานของพระคือศึกษาธรรมะและช่วยคนให้พ้นทุกข์ ฯลฯ และประโยชน์ท่าน คือ ประโยชน์ทั้งด้านรูปธรรมและนามธรรม คือ กิจกรรมการงานและการให้ความช่วยเหลือเพื่อคลายความทุกข์ ความลำบากของหมู่มิตร สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

เราจะมาเน้นตรง “ประโยชน์ท่าน” เพราะประโยชน์ท่านนี่แหละคือส่วนหนึ่งในการบรรลุธรรม คนที่ปฏิบัติธรรมถูกตรงก็จะมีความเมตตามากขึ้นเมื่อพากเพียรลดกิเลส ยิ่งหมดกิเลสก็ยิ่งเมตตาอยากช่วยคน อยากช่วยชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ในทางเดียวกันก็จะต้องใช้สังคมสิ่งแวดล้อมเป็นตัวขัดเกลากิเลสอัตตาของตัวเองให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป และแม้ท่านเหล่านั้นหมดกิจตนคือการล้างกิเลสแล้ว การช่วยเหลือผองชนก็ยังเป็นหน้าที่ของท่านอยู่ดี เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่อยู่กับสังคม อยู่ในสังคมแต่ไม่ปนไปกับสังคม ไม่ไปเสพกิเลสร่วมกับเขาและยังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้

ในบทโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ คือ ให้หยุดทำชั่ว ทำแต่ความดี และทำจิตใจให้ผ่องใส

จะสังเกตได้ว่า หยุดชั่ว นั้นมาก่อนทำดี เราต้องหยุดชั่วเสียก่อนจึงจะทำดี ไม่อย่างนั้นก็เหมือนเติมน้ำในโอ่งที่รั่ว ไม่เต็มสักที ถ้าท่านเหล่านั้นมองว่าบ้านเมืองกำลังเกิดสิ่งชั่ว ท่านไปหยุดความชั่วนั้น ก็เป็นการหยุดชั่วที่ดีแล้วนี่

หรือท่านเห็นว่าหมู่บ้าน สังคม ชุมชนกำลังย่ำแย่ กำลังเป็นทุกข์ เป็นหนี้ การที่ท่านออกมาช่วยพัฒนาชุมชนก็จะช่วยลดความชั่วอันเกิดจากความทุกข์ ที่จะนำมาซึ่งการลักขโมยได้ ก็เป็นการหยุดชั่วที่ดีแล้วนี่

หรือแม้แต่ท่านหยุดการทะเลาะเบาะแว้งด้วยการเอาภาระมาเป็นของตน ก็อาจจะดีกว่าปล่อยให้ชาวบ้านทะเลาะกัน ด่าว่ากัน ทำร้ายกัน ฆ่ากัน ก็เป็นการหยุดชั่วที่ดีแล้วนี่

เราต้องสังเกตเอาเองว่า ท่านทำเพื่อลาภ ยศ ชื่อเสียง เงินทองหรือไม่ ท่านทำเพื่อตัวเองหรือไม่ ถ้าท่านเข้าไปทำเรื่องทางโลกเพื่อคนอื่น ไม่ใช่เพื่อตัวเอง มันก็ไม่ได้เสียหายอะไรมากนี่

ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับปัญญาของแต่ละท่านที่จะประมาณว่าทำสิ่งนั้นไปแล้วจะเกิดกุศลมากน้อยเท่าไหร่ เพราะบางทีเหตุการณ์ที่มันจะได้โดยไม่เสียมันไม่มี ต้องยอมเสียบ้าง เพื่อที่จะได้มากกว่า ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์หนึ่งถ้าไม่ทำอะไร จะเกิดอกุศล 20 แต้ม (อกุศลเพราะดูดาย ไม่ทำอะไรทั้งที่ทำได้) แต่ถ้าทำจะได้กุศล 80 แต้ม และอกุศล 40 แต้ม (ทำดี แต่ก็ไปทำให้คนอื่นเดือดร้อนเพิ่มขึ้น) ….ถ้าเทียบกันแล้วอกุศลมันก็ดูมากกว่าใช่ไหม แต่ผลรวม หรือค่ากุศลสุทธิมันได้กำไร ท่านก็อาจจะตัดสินใจลงทุนทำกิจกรรมนั้นๆก็ได้ ซึ่งเราเองหากไม่เคยฟังเหตุผล ไม่เคยถามท่าน ก็อย่าพึ่งไปตัดสินท่านเลย บางทีท่านประมาณเก่งกว่าเราเยอะ

การประมาณของพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้น จะเข้าใจยากเกินกว่าที่คนมีกิเลสหนาจะเข้าใจ เพราะท่านคิดในพื้นฐานของคนที่ขัดเกลากิเลส มีกิเลสน้อย หรือไม่มีกิเลสเลย มันไม่มีทางที่เราจะเข้าใจท่านเหล่านั้นได้เพียงแค่ใช้การคิดวิเคราะห์ไปเอง ทำได้อย่างมากแค่รอดูผลเท่านั้น เพราะจะเข้าไปยุ่งก็เสี่ยงนรกเปล่าๆ หากท่านเป็นพระอลัชชีที่คิดแต่จะหลอกลวงต้มตุ๋นก็รอดไปบ้าง แต่ถ้าท่านเป็นพระที่ปฏิบัติดี การเพ่งโทษครั้งหนึ่งคงจะพาเราลงนรกไปได้นานข้ามภพข้ามชาติเชียวละ

เราจำเป็นต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า เราเกิดมาเพื่อทำกุศลกรรม ก็คงจะดีถ้าในชีวิตมีทางให้เลือกชัดเจนว่าทางไหนคือดี ทางไหนคือชั่ว แต่ด้วยกรรมที่เราทำมาจะทำให้หนทางสู่ความดีแท้นั้นลึกลับซับซ้อน บางครั้งจำเป็นต้องเสี่ยง บางครั้งก็หลงผิดเห็นชั่วเป็นดี เห็นดีเป็นชั่ว ต้องใช้ปัญญาเท่าที่มีประมาณเอาเองว่าทำอย่างนั้นจะดีไหม ทำอย่างนี้จะดีไหม พระก็คนเหมือนเรานั่นหละ มีกรรมเหมือนเรา มีเหตุที่ต้องตัดสินใจเหมือนเรา เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งการทำกุศลที่มากกว่า ในบางครั้งอาจจะจำเป็นต้องยอมเสียบ้าง ยอมสละบ้าง ยอมถูกด่าบ้าง แต่เพื่อกุศลที่มากกว่า เพื่อสิ่งดีที่มากกว่า ในบางครั้งเราก็ยังยอมทำเลยใช่ไหม?

พระพุทธเจ้าท่านมีหลักในการใช้สังเกตการปฏิบัติของพระที่ปฏิบัติดีไว้ นั่นคือ เป้าหมายการประพฤติพรหมจรรย์ ๙ ได้แก่..ไม่ใช่เพื่อหลอกลวงคน ไม่ใช่เพื่อเกลี้ยกล่อมคน ไม่ใช่เพื่อลาภ สักการะ สรรเสริญ ไม่ใช่เพื่ออวดตนเป็นเจ้าลัทธิ ไม่ได้อยากให้คนรู้จักเราดังที่เราอวดอ้าง เป็นไปเพื่อความสำรวม เพื่อละกิเลส เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส

ถ้าพระท่านใดยังถือเอาเป้าหมายเหล่านี้เป็นกรอบการดำเนินกิจกรรมใดๆแล้วล่ะก็ ปล่อยท่านทำไปเถอะ อย่าไปยุ่งกับท่านเลย นรกกินหัวเปล่าๆ

– – – – – – – – – – – – – – –

14.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ทำบุญหวังผล

September 1, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,724 views 0

ทำบุญหวังผล

ทำบุญหวังผล

ชาวไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังคงมีวิถีชีวิตที่สอดร้อยไปด้วยวิถีแห่งความดีงาม เมื่อมีเหตุการณ์อะไรไม่ว่าจะดีหรือร้าย ก็มักจะไปทำกุศลโดยการบริจาคทาน ตามวัดวาอาราม ทำงานจิตอาสา บริจาคเงินเผื่อแผ่แก่สังคม ฯลฯ และในสังคมทั่วไปไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ หากที่ใดใกล้วัดก็จะได้พบเห็นการทำบุญตักบาตรเกื้อกูลพระสงฆ์ซึ่งเป็นภาพที่เห็นได้เป็นประจำในทุกเช้า เป็นเรื่องที่ดีที่ยังมีให้เห็นได้อยู่ในสังคมไทย

แต่การทำบุญนั้น ใครเล่าจะรู้ว่าจะได้อานิสงส์เท่าไหร่อย่างไร สิ่งใดเล่าเป็นตัววัด จะรับรู้ได้อย่างไรว่าบุญนั้นจะเกิดผล ผู้ที่ทำบุญส่วนมากกลับมีความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไปจากหลักคำสอนของศาสนาพุทธ คือทำบุญแล้วมักจะหวังผล หวังให้เกิดสิ่งที่ดีกับตน หวังให้ตนได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ให้สมใจ ขอลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ขอสวรรค์วิมาน ขอเทวดาคุ้มครอง ขอนิพพาน ขออะไรก็ขอกันไป โดยมีสิ่งของเครื่องบรรณาการไปแลกหรือติดสินบน เพื่อให้ตัวเองนั้นได้คาดหวังว่าจะมี เทวดา ฟ้า สวรรค์ หรืออะไรมาดลบันดาลให้เกิดสิ่งดีในชีวิตตน

เป็นการเอาโลกียะทรัพย์ คือวัตถุ สิ่งของ ไปแลกโดยหวังสิ่งที่มากกว่า เช่นทำบุญไป 100 บาท หวังว่าจะถูกหวยรางวัลที่หนึ่ง หรือคนอีกพวกก็มักจะทำบุญด้วย วัตถุ สิ่งของ เพื่อหวังไปแลกอริยทรัพย์ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ทั้งสองกรณีอยู่แล้วที่จะเอาของไร้ค่าไปแลกกับของมีค่า เป็นไปไม่ได้ที่จะลงทุนน้อยแต่ได้กลับมามาก

ศาสนาพุทธสอนให้เราเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม การที่เราทำสิ่งใดนั้น เราย่อมได้รับผลของมัน นั่นหมายความว่า ถ้าอยากได้ อยากเป็น อยากมีอะไร ต้องทำเอาเอง ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ไม่ว่าจะลาภ ยศ สรรเสริญ สุข สวรรค์ วิมาน นิพพาน ฯลฯ ถ้าอยากจะได้ ต้องทำเอาเอง ต้องปฏิบัติเอาเอง ไม่ใช่การเฝ้าร้องขอ วิงวอน บนบาน ขอพร กับใครหรืออะไรทั้งสิ้น

อ่านไปแล้วอาจจะรู้สึกว่าโหดร้าย แต่ความจริงก็เป็นเช่นนั้น เพราะกฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ เราจะได้รับสิ่งที่เราไม่ได้ทำได้อย่างไร ในเมื่อเราไม่ได้ทำอะไรมา เราก็ไม่สมควรได้รับสิ่งนั้น ความยุติธรรมเช่นนี้ก็ดีแล้วไม่ใช่หรือ?

ผู้ที่มัวเฝ้าหวัง เฝ้าขออะไรก็ตาม แท้จริงแล้วเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจกฎแห่งกรรม ไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่ถ่องแท้ ไม่กระจ่างแจ้งเรื่องกรรม เขาเหล่านั้นจึงงมงายในสิ่งลี้ลับ สิ่งมหัศจรรย์ เทพ เทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไปจนถึงไสยศาสตร์ เดรัจฉานวิชาต่างๆ

การขอหรือการหวังใดๆนั้นอาจจะได้หรือไม่ได้ก็ได้ แต่การเกิดสิ่งที่หวังนั้นไม่ได้เกิดจากการร้องขอของเราเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าเราไม่เคยทำสิ่งดีมาก่อนก็ไม่มีวันได้สิ่งดี เหมือนกับการหยอดกระปุกสะสมเงิน ถ้าเราไม่เคยหยอดกระปุกเลย ถึงเราจะพยายามแงะแกะเขย่าเท่าไหร่ ก็ไม่มีวันที่เงินจะร่วงลงมา

ดังนั้นการที่เราขอแล้วได้นั้น ไม่ได้หมายความเทพเทวดาหรืออะไรในสถานที่นั้นศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นเพราะตัวของเรามีกุศลเก่าที่เก็บไว้ ความคาดหวังอย่างตั้งมั่นในการได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น ทำให้เราได้เบิกทุนกุศลเก่าที่เก็บไว้ในคลังกุศลของเรามาใช้อย่างไม่รู้ตัว จะสังเกตได้ว่าเวลามีคนบนบานศาลกล่าว หรือไปทำบุญขอนั่นขอนี่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มักจะมีทั้งคนสมหวังและไม่สมหวัง นั่นก็เพราะคนที่สมหวังเขาทำกุศลสะสมมามากเวลาเขาอยากได้อะไรเขาก็เบิกได้ ส่วนคนที่ไม่ได้ก็ไปเห็นคนที่เขาได้ ก็เข้าใจไปว่าสิ่งนั้นศักดิ์สิทธิ์ และเกิดความโลภ ก็เลยหวังให้ตนขอได้บ้าง สุดท้ายก็ไม่ได้อะไร…เพราะตนไม่เคยทำกุศลกรรมนั้นมา เมื่อไม่มีกรรม ก็ไม่มีผลของกรรม เพราะกฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ

แล้วต้องทำบุญแบบไหน?…

เราหลงไปกับการทำบุญที่เป็นความเข้าใจที่ผิด เป็นมิจฉาทิฎฐิ ซึ่งเป็นทางที่ตรงข้ามกับสิ่งที่ถูกที่ควร เมื่อเข้าใจผิดก็จะห่างไกลกับความสุขแท้ไปเรื่อยๆ เราควรมีความเข้าใจที่ถูกที่ควรเสียก่อน คือ มีความเข้าใจที่พาพ้นทุกข์ พาลดกิเลสเสียก่อน จึงเรียกได้ว่าสัมมาทิฏฐิ การให้เพื่อเป็นไปสู่การสั่งสมกิเลส ไม่ใช่ทางที่ถูกที่ควรเลย

ดังที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ตอนหนึ่งเกี่ยวกับสัมมาทิฏฐิว่า “ทานที่ให้แล้ว มีผล ( อัตถิ ทินนัง)“ มีผลอะไร? คือมีผลไปลดกิเลส ลดความละโมบ ลดการสะสม ลดความตระหนี่ถี่เหนียว ลดการเอาแต่ได้ ลดความเอาแต่ใจ ลดความยึดมั่นถือมั่น ฯลฯ ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์ จึงเป็นความเข้าใจที่ถูกที่ควร หรือสัมมาทิฏฐิ

ดังนั้น เมื่อเราทำทาน เราจึงต้องเข้าใจว่า ทานนี้เราให้ไปเพื่อลดกิเลสของเรา ลดความอยากได้อยากมีของเรา จึงจะเป็นบุญที่แท้จริง สร้างกุศลอย่างเต็มที่ ไม่มีบาปหรืออกุศลใดมาหักล้างให้เสียประโยชน์ไปเปล่าๆ

เมื่อเราได้เข้าใจว่าทำการทำทานของเราได้เกิดผลลดกิเลสแล้ว นั่นก็คือทานนั้นสำเร็จถูกต้องตามสัมมาทิฏฐิ เป็นความสมบูรณ์ของทานนั้นๆแล้ว ส่วนกุศลหรืออานิสงส์จากการทำบุญที่จะเกิดตามมานั้น จะเป็นอย่างไรให้เป็นเรื่องของเขา จะเกิดสิ่งที่ดีก็ได้ ไม่เกิดก็ได้ เพราะเราเมื่อเราทำทาน เราก็ได้รับสิ่งประเสริฐที่สุดคือการลดกิเลส เป็นสมบัติของเราแล้ว

ถ้าอย่างนั้นให้ทานแล้วต้องไม่หวังผล?..

จะตอบในแง่เดียวมันก็ไม่ใช่.. การให้ทานนั้น เราควรจะรับรู้ว่าผลจะเกิดอะไร เช่นเราให้สิ่งของกับคนๆหนึ่งไป แล้วรู้ผลว่าเขาจะไปสร้างประโยชน์ต่อได้ อันนี้ก็คือเราหวังผล คือให้เกิดผลดีกับเขา แต่เราไม่หวังผลเพื่อให้เกิดกิเลสใดๆในใจเราเพิ่ม

หรือถ้าเราไปทำทานแล้ว รู้ผลว่าเขาจะไปทำชั่ว เอาไปทำสิ่งไม่ดี เราก็รู้ผลนั้นๆ จึงระงับการให้ทาน เพราะทานนั้นจะเป็นไปเพื่ออกุศล แต่ใจเราไม่ได้ติดยึดเรื่องการให้แล้ว เรายินดีที่จะให้ แต่ถ้าให้ไปแล้วมันเกิดอกุศลมากกว่ากุศลเราก็ไม่ให้ จิตตรงนี้ก็เป็นทานแล้ว คือไม่ให้ เพื่อจะไม่ส่งเสริมโอกาสที่เขาไปสร้างบาปสร้างอกุศลเพิ่ม เป็นการไม่ให้ เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดี เพื่อหวังไปชะลอหรือขัดกิเลสเขา ไม่ให้เขามีกิเลสเพิ่ม

การทำทานนั้น ควรทำอย่างมีปัญญา คือควรรู้ว่าเราทำแล้วเราจะได้อะไรบ้าง ได้กุศลหรืออกุศล เป็นไปเพื่อบุญหรือบาป เป็นการลดกิเลสหรือสั่งสมกิเลส จะเกิดสิ่งที่ดีหรือให้ผลที่ร้าย เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เราจึงทำทานเพื่อลดกิเลสของเราและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นด้วยในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นการสร้างประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน พาตนเองและสังคมเจริญไปด้วยกัน เป็นบุญ เป็นกุศลอย่างแท้จริง

– – – – – – – – – – – – – – –

1.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ทำไมเธอไม่เป็นดังที่ฉันหวัง

August 31, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,376 views 0

 

ทำไมเธอไม่เป็นดังที่ฉันหวัง

ทำไมเธอไม่เป็นดังที่ฉันหวัง

คงจะมีหลายครั้งหลายเหตุการณ์ในชีวิต ที่เราหมายมั่นตั้งความหวังไว้ว่า เมื่อเราลงมือทำบางสิ่งลงไปแล้ว สิ่งนั้นจะเปลี่ยนแปลง พัฒนาไปตามที่เราคาดหวังไว้ แต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น กลายเป็นเหมือนกับว่าเราพยายามที่ทำให้น้ำทะเลจืด พยายามทำไปอยู่อย่างนั้นโดยไม่เข้าใจความเป็นจริง…

อาจจะเพราะทำกรรมอะไรเอาไว้…

คงจะเหมือนกันกับตอนที่เรายังเป็นเด็ก พ่อแม่ของสอนสั่ง แนะนำสิ่งที่ดีให้กับเรา แต่เราก็ยังจะดื้อ ไม่ทำตาม ไม่เชื่อฟังในสิ่งที่ดี ก็จะเอาแต่สิ่งที่กิเลสของตัวเองต้องการ จนถึงเวลาที่ผลของกรรมสุกงอม เราจึงได้รับผลของกรรมนั้น พ่อแม่อาจจะไม่ได้มาดื้อกับเราเหมือนที่เราไปดื้อกับท่านก็ได้ แต่อาจจะส่งคนบางคน สิ่งบางสิ่ง เหตุการณ์บางเหตุการณ์ ที่ทำให้เราต้องทุกข์กับความดื้อรั้น เอาแต่ใจของสิ่งๆนั้น ซึ่งอาจจะมาในรูปของ คนในครอบครัว คนรัก เพื่อน ลูกน้อง สิ่งของ หรือเหตุการณ์อื่นๆก็ได้เหมือนกัน เป็นอะไรก็ได้ เดาไปก็ไม่ถูก แต่เมื่อเวลาถูกกระทำกลับก็จะสามารถรับรู้ได้ด้วยตัวเองได้บ้าง

ขึ้นชื่อว่ากรรมแล้ว ไม่มีทางผ่านพ้นไปโดยที่เราไม่ได้รับผลนั้นอย่างแน่นอน ยิ่งถ้าชาตินี้เราไปทำกับใครไว้ ไม่ต้องกลัวเลยว่าจะไม่ได้รับ เราได้สิทธิ์นั้นแน่นอน แล้วกรรมเขายังใจดีแบ่งให้เรารับไปในชาติหน้า และชาติอื่นๆสืบไปด้วย จึงเรียกได้ว่า การทำกรรมดีหรือกรรมชั่วครั้งเดียว ก็สามารถนอนรอรับผลกันได้จนคุ้มข้ามชาติกันเลย

ในเวลาที่เหมาะสม กรรมก็จะดึงคู่เวรคู่กรรมของเราเข้ามา หรือที่ใครหลายๆคนอาจจะเรียกว่าเนื้อคู่ก็ได้ เป็นคนที่ทำให้เราสุขหรือทุกข์ได้รุนแรงกว่าคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น ในเหตุการณ์แบบเดียวกัน คนทั่วไปทำอะไรกับเราแบบหนึ่ง เราไม่ถือสา แต่พอเป็นคนนี้ทำกับเรา เรากลับถือสา คิดมาก ถ้าเป็นเชิงคู่รักที่เคยเสพสมกิเลสร่วมกันมา ก็จะมีลักษณะเป็นเหมือนเหตุการณ์ที่คนอื่นเขาจีบเราแทบตาย เราไม่สนใจ แต่คนนี้พูดไม่กี่ประโยค เรากลับหลงใหล ลักษณะแบบนี้แหละที่เรียกว่าตัวเวรตัวกรรม เจอแล้วก็ให้พึงระวังตั้งสติกันไว้ดีๆ เพราะกรรมจะลากเขาเหล่านั้นเข้ามาใช้เวรใช้กรรมด้วยกันต่อ อาจจะเป็นคนมาร่วมรัก คนที่ได้รักแค่ฝ่ายเดียว คนที่เข้ามารัก หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน หรือคนใดๆที่มีจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในชีวิตของเราก็ได้

กรรมส่วนหนึ่งก็มาจากกิเลสของเรานี่แหละ ด้วยความที่เราอยากจะสนองกิเลสของเรา ก็เลยไปทำสิ่งที่ไม่ถูกใจใครหลายๆคนไว้มาก เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม กรรมเหล่านั้นก็จะส่งผลมาเป็นเหตุการณ์ที่พาให้ขัดใจเรา ทำให้เราทุกข์ แต่เราก็ไม่สามารถหนีออกไปได้ เรายังต้องวนอยู่กับทุกข์เหล่านั้นโดยไม่เห็นทางออก แม้จะมีคนมาบอกแนะนำ เราก็จะไม่ฟัง ถึงฟังก็ไม่เข้าใจ จนบางครั้งพาลไปสร้างกรรมใหม่ ไม่พอใจคนที่หวังดี ไม่พอใจคนที่มาแนะนำทางออกให้เราด้วย ซึ่งเป็นธรรมดาของคนที่หลงในกิเลส เมื่อเวลาที่มีคนมาพูดขัดใจ ขัดกับกิเลสของเรา เราก็มักจะไม่พอใจ ไม่สนใจ ด้วยเหตุนั้นเราก็เลยต้องทนทุกข์ไปจนกว่าจะรับวิบากกรรมชุดนั้นหมด

กรรมที่เราได้รับนั้น เป็นเพียงภาพเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เราเห็นสิ่งที่เราได้ทำมา ที่เราเคยทำชั่วมาตั้งแต่ชาติไหนๆก็ตาม เป็นสิ่งที่เราต้องรับเพราะเราทำมา แต่โลกก็ไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น เรายังสามารถทำกุศล เพื่อที่จะละลาย ลด บรรเทาอกุศล หรือความทุกข์ โทษ ภัย ที่เกิดขึ้นได้ …หากยังรู้สึกทุกข์ มืดมัว ปวดหัว หาทางไปไม่เจอ ก็ให้ทำดีมากๆ ทำดีไปเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลาหมดวิบากกรรมชุดนั้นๆ ก็จะมีเหตุการณ์ที่พาหลุดจากสภาพนั้นเอง อาจจะเกิดปัญญาเข้าใจก็ได้ หรือเขาอาจจะเปลี่ยนแปลงในทางที่ก็ได้ จะเป็นอะไรก็ได้ แต่จะพ้นจากสภาพของทุกข์ที่เคยแบกเอาไว้

ดังนั้นการล้างกรรมที่ดีที่สุด ก็คือการล้างกิเลส เพราะเมื่อเราหมดกิเลสนั้นๆ เราก็จะไม่สร้างวิบากบาปต่อไปอีก และกุศลยังสามารถไปละลายวิบากบาปที่เคยทำในอดีตให้เบาบางได้อีกด้วย เรียกว่าปิดประตูนรกกันไปเลย

เมื่อเราจมอยู่กับความคาดหวัง ฝนลมๆแล้งๆ….

ความคาดหวังกับความผิดหวังเป็นของคู่กัน คงเพราะเรามีความฝัน อุดมคติ ความมั่นใจ ความยึดดีถือดี ว่าสิ่งดีจะต้องเกิดเมื่อเราคิดดีพูดดีทำดี แต่ในความเป็นจริง ดีนั้นอาจจะไม่เกิดก็ได้ เมื่อดีไม่เกิดสมใจ คนติดดีก็เลยเป็นทุกข์ บางคนก็ถึงกับฝันลมๆแล้งๆ หลอกตัวเองไปวันๆว่าสิ่งที่ดีจะต้องเกิด โดยไม่ได้เข้าใจเหตุปัจจัยที่ทำให้ดีนั้นเกิด เหมือนคนที่เฝ้าฝันว่าวันหนึ่งจะสร้างชีวิตให้ยิ่งใหญ่ แต่ก็ยังมัวแต่นอนฝันอยู่บนเตียง

การที่เราไปเฝ้าฝันให้เขาหรือใครเปลี่ยนนั้น เป็นการเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไปจากเรื่องกรรมที่ถูกที่ควร เพราะการที่เขาจะเปลี่ยนได้นั้น จะเกิดจากกรรมของเขาเอง ไม่ได้เกิดจากการที่เราคิดหวัง ฝันไป หรือจะไปบอกให้เขาแก้ไข ไปช่วยเขาแก้ไข โดยมีความคาดหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่าเขาจะแก้ไขเพราะเขาก็มีกรรมของเขา เขาก็เป็นอย่างนั้น เราจะอยากให้เขาเป็นอย่างที่เราหวัง เราก็จะผิดหวัง แล้วเราก็ทุกข์ เหมือนอย่างที่หลวงพ่อชาท่านได้สอนไว้ว่า เราอยากให้เป็ดมันเป็นไก่ มันก็ทุกข์ เพราะเป็ดมันก็เป็นเป็ด มันจะเป็นไก่ตามใจเราไปไม่ได้

จะไปแก้เขานี่มันยาก ลองกลับมาแก้ตัวเราก่อนดีไหม…

เมื่อเราไม่สามารถทำให้เขาเปลี่ยนแปลงได้ เราก็จะลองกลับมาแก้ตัวเองกันดู เพื่อที่จะได้เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงที่ฝืนธรรมชาติ หรือฝืนกิเลสของตัวเองนั้น มันยากขนาดไหน เรามาลองปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆในชีวิตกันดู เช่น ตื่นให้เช้าขึ้น ,นอนให้พอดี ,ศึกษาแต่สาระหรือสิ่งที่มีประโยชน์ ,กินแต่สิ่งที่มีประโยชน์ , ทำงานบ้านเป็นประจำ, เลิกสิ่งฟุ่มเฟือย, เลิกสิ่งที่ทำให้หลงมึนเมา ในแบบหยาบๆ ก็คือ เหล้า เบียร์ ยาเสพติด ฯลฯ หรือจะขยับขึ้นมาก็เลิกหลงเมามายในสิ่งที่หลงอยู่เช่น ชอบฟังเพลง ชอบดูกีฬา ชอบเล่นพนันชอบดูละคร ชอบเที่ยวกลางคืน ชอบไปตระเวนกินของอร่อย บ้าดารา ฯลฯ,,,

ถ้ายังรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงโดยลดสิ่งไร้สาระพวกนี้มันง่ายไป ก็ลองถือศีล ๕ ดู และยกระดับของศีลขึ้นไปเรื่อยๆ เป็น ศีล ๘ ศีล ๑๐ ไปจนถึงนำจุลศีลบางข้อที่พอจะปฏิบัติได้มาใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะศีลเหล่านี้เป็นไปเพื่อความสุข เพื่อการพ้นทุกข์ เป็นสิ่งที่ดีเลิศ เป็นสิ่งที่เยี่ยมยอดที่สุดในโลก

แล้วเราก็จะเห็นว่า…เป็นอย่างไรล่ะ เราเองก็ยังเปลี่ยนแปลงไปทำสิ่งที่ดีไม่ได้เลย ถึงแม้จะรู้อยู่เต็มอกว่าทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่ดี แต่ความคิดหรือกิเลสข้างในมันจะค้านแย้งตลอดเวลา มีหลายๆเหตุผลที่เราจะไม่ยอมทำดี เช่น ก็แค่อยากเป็นคนธรรมดาที่มีความสุข , ไม่ได้เคร่งขนาดนั้น , แค่อยากมีชีวิตที่ดี ….ฯลฯ แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั่นแหละ เป็นวิธีปฏิบัติสู่ชีวิตที่ดี ที่เราเองก็ทำไม่ได้แถมยังปฏิเสธ พร้อมทั้งหาเหตุผลมากมายที่จะไม่ทำดีเหมือนกัน

จะเห็นว่าการจะแก้ตัวเรานี่ยังทำได้ยากเลย จะทำตัวเราให้เป็นคนดีว่ายากแล้ว การไปแก้คนอื่นนั้นยากกว่า เพราะการจะไปแก้คนอื่นหรือไปสั่งสอน ไปแนะนำคนอื่นนั้น จำเป็นต้องทำตัวเองให้เรียนรู้และเข้าใจในเรื่องนั้นๆอย่างถ่องแท้เสียก่อน ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรก่อน แล้วสอนผู้อื่นภายหลัง จึงไม่มัวหมอง” เข้าใจกันง่ายๆว่า ทำตัวเองให้ได้ก่อนเถอะ แล้วค่อยไปสอนคนอื่น

เมื่อเห็นดังนี้แล้วว่า ต้องทำตัวเองให้ดีก่อน จึงจะสามารถช่วยคนอื่นได้ เราก็พยายามทำตัวให้ดี ลดอบายมุข หยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสไปเรื่อยๆเมื่อเราทำดีมากๆ เวลามีคนที่เขามาทำสิ่งไม่ดีกับเรา เขาก็จะได้รับวิบากกรรมแรงกว่าทำสิ่งไม่ดีกับเราในสมัยเมื่อเรายังชั่วอยู่ เมื่อได้รับวิบากกรรมแรง ก็จะเกิดทุกข์แรง เมื่อเกิดทุกข์แรง ก็จะสามารถเข้าใจได้เร็ว ดังคำที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม

ดังนั้น การที่เราพยายามทำดี ประพฤติตัวเป็นคนดี ก็เพื่อที่จะช่วยเขาทางอ้อม คือเร่งให้เขาได้รับ ทุกข์ โทษ ภัย จากการที่เขายังยึดมั่นในสิ่งไม่ดีให้เร็วขึ้น จะได้เห็นทุกข์ เข้าใจทุกข์ เลิกทำชั่วให้เกิดทุกข์ จะได้พ้นทุกข์ได้ไวขึ้น จากที่เคยต้องจมอยู่หลายปี ถ้าเราทำดีมากๆ เขาอาจจะหลุดจากสภาพดื้อรั้นนั้นได้ในเวลาไม่กี่เดือน โดยเฉพาะคนที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน เช่น คนในครอบครัว คนรัก เพื่อนร่วมงาน คนที่มีความสัมพันธ์ในชีวิตกับเรามากๆ จะได้รับผลกระทบนี้โดยตรง

จนผู้ที่ได้ทดลองทำดีสามารถเห็นผลได้ด้วยตัวเองว่า เมื่อเราเปลี่ยน ทุกคนก็จะเปลี่ยนตาม โดยที่แทบจะไม่ต้องพูด บอกกล่าว ชี้แจง แถลง บังคับใดๆ กับคนเหล่านั้นเลย เขาจะเห็นดีตามเรา และเกิดศรัทธาจนเขาอาจจะทดลองที่จะเปลี่ยนตามเราดูบ้าง หรือในบางกรณี คนที่ร้ายกับเราก็อาจจะหลุดพ้นชีวิตเราไปเลยก็ได้ เพราะเราได้ใช้วิบากบาปที่ต้องมาทนใช้กรรมร่วมกันนั้นหมดไปแล้ว เมื่อเขาเองไม่คิดจะร่วมกุศลกับเรา เขาก็จะไปตามทางที่กิเลสเขาชี้นำ ในส่วนนี้ถ้าช่วยเขาได้ก็ช่วยไป ถ้าช่วยไม่ได้ก็ปล่อยเขาไป

แต่ถ้าเราคิดว่าเราทำดีแล้วไม่เกิดดี นั่นก็เพราะว่าเรายังทำดีไม่มากพอ ก็ให้พยายามทำดีไปเรื่อยๆ อย่าไปหวังผล วันหนึ่งจะพบการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีเอง กรรมจะจัดสรรช่องให้เราออกไปพบสิ่งที่ดี มีสิ่งดีในชีวิตเข้ามา แม้แต่คนรอบข้างก็อาจจะเปลี่ยนไปเพราะพลังแห่งความดี หรือกุศลที่เราทำมานั่นเอง

หรือในอีกกรณีคือการทำดีที่ไม่เข้าใจถึงผลแห่งความดี คือทำดีในความเข้าใจที่โลกเข้าใจ แต่ผิดไปจากทางของพุทธ คือผิดสัมมาทิฏฐิ เมื่อผิดไปจากความคิดเห็น ความเข้าใจ ความเชื่อที่ถูกที่ควร ก็มีแต่จะพาไปนรกเท่านั้น กลายเป็นดีที่ทำไปนั้น ไม่ได้ดีตามจริง เพียงแค่เป็นดีที่เขาบอกกันมา แต่ไม่ใช่สาระแท้ ไม่ได้พาพ้นทุกข์ ไม่ได้พาลดกิเลส จึงมีกุศลเพียงน้อยนิด หรือบางทีก็อาจจะกลายเป็น “ทำบุญได้บาป” มาแทนก็เป็นได้

ดังนั้น ในเรื่องของความดี จำเป็นต้องศึกษาจากผู้รู้ มีเพื่อนที่คอยช่วยแนะนำในทางที่ถูกที่ควร เพราะความดีที่ถูกตามหลักของพุทธนั้น จะคิดเอาเองไม่ได้ เข้าใจเองไม่ได้ ต้องมีผู้รู้มีแสดงให้เห็นเท่านั้น เป็นสัจจะของพระพุทธเจ้าว่า ถ้าคนจะบรรลุธรรม หรือจะปฏิบัติชีวิตไปสู่การพ้นทุกข์ ต้องคบหาสัตบุรุษเสียก่อน สัตบุรุษก็คือบัณฑิตที่มีสัจจะแท้ มีธรรมนั้นๆในตัวเอง ปฏิบัติจนเข้าใจแจ่มแจ้ง รู้จริงเรื่องกิเลส เกิดปัญญารู้แจ้งในตัวเอง แล้วจึงสามารถถ่ายทอด สอน แนะนำ คนอื่นได้

– – – – – – – – – – – – – – –

31.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์