Tag: ลดกิเลส

การใช้จ่ายกุศลอย่างสุรุ่ยสุร่าย

July 6, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,107 views 0

กรรมคือสิ่งที่ทำลงไปแล้ว จะให้ผลแน่นอนไม่วันใดก็วันหนึ่ง ผลของกรรมจะดลให้ได้รับสิ่งดี สิ่งร้าย ตามที่ได้ทำมา ซึ่งคนเรามีสิทธิ์ที่จะเลือกทำกรรม แต่ผลที่จะได้รับนั้น ก็จะได้ตามกุศลกรรม(ทำดี)หรืออกุศลกรรม(ทำชั่ว)ที่ทำมา

อธิบายให้เห็นภาพแบบหยาบ ๆ คือ กว่าจะได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นยากแสนยาก ต้องทำความดีสะสมมามาก แต่การจะใช้ความเป็นมนุษย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่าย

คนส่วนมาก ถูกกิเลสครอบงำ ก็เอาชีวิตและจิตวิญญาณ ไปทุ่มเทให้กับกิเลส อบายมุข เหล้า บุหรี่ การพนัน เที่ยวเล่น สิ่งเสพที่เสพไปแล้วติดใจทั้งหลาย เอาไปเทให้กับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เอาไปบำเรออัตตา อันนี้เรียกว่าความฟุ้งเฟ้อ พอถึงจุดหนึ่ง มันจะหมด ดีที่ทำมามันมีวันหมด อย่างที่เขาเรียกว่า “หมดบุญ” แต่จริง ๆ คือกุศลกรรมที่ทำมามันหมด มันไม่เหลือ เพราะเอาไปเผากับกิเลสหมด

ถ้าแบบกลาง ๆ ก็พวกที่หันมาทำดีบ้าง แต่ไม่ลดกิเลส ยังเสพ ยังติด ยังหลงมาก ก็เหมือนพวกหาเช้ากินค่ำ ทำดีสร้างกุศลประคองชีวิตกินใช้ไปวัน ๆ แม้จะทำดีมาก แต่ก็ยังมีรูรั่วที่ใหญ่ ทำดีเท่าไหร่ ก็ไหลไปกับกิเลส

ส่วนแบบละเอียดคือหันมาปฏิบัติธรรม มุ่งมาลดกิเลสแล้ว แต่ก็ยังใช้กุศล ใช้โอกาสที่ตัวเองมีไปกับเรื่องข้างนอก ไปกับสิ่งไร้สาระ เช่น ใช้โอกาส ใช้อำนาจ ใช้บารมีตัวเองไปเพื่อให้ตัวเองได้เสพสมใจในผลต่าง ๆ โดยประมาท คือไม่รู้ว่าทุกอย่างนั้นมีต้นทุน

เช่นการเข้าหาครูบาอาจารย์ ยิ่งเป็นท่านที่ถูกตรงด้วยแล้ว เป็นสาวกจริงแล้ว พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าการได้พบ ได้เข้าถึง ได้ศึกษาตามสาวกที่ถูกตรงเป็นสิ่งที่เยี่ยมยอดที่สุด (อนุตตริยสูตร)

แล้วที่นี้สิ่งที่เยี่ยมยอดนี่มันจะมีราคาแพงไหม? มันก็แพงมากกว่าสิ่งที่มีขายอยู่ในโลกนั่นแหละ แพงจนประเมินค่าไม่ได้ ต่อให้รวยที่สุดในโลกก็ใช่ว่าจะเข้าถึงได้ แต่จะสามารถพบเจอเข้าถึงได้จากความดีที่สะสมมา นั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายในการพบสาวกพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เงิน แต่เป็นกุศลวิบาก (ผลของการทำดี)

ทีนี้บางคนพบแล้วก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ คือจ่ายน่ะจ่ายไปแล้ว แต่ไม่ได้ใช้สิทธิ์เหล่านั้นเพื่อการพ้นทุกข์ ก็เอาสิทธิ์เหล่านั้น ไปพูดเล่นบ้าง คุยเล่นบ้าง ถามเรื่องชาวบ้านบ้าง พูดแต่เรื่องตัวเองบ้าง หรือไม่ก็ที่เลวร้ายคือ เข้าหาท่านเพื่อแสวงหาโลกธรรม อยากเด่นอยากดัง อยากเป็นที่สนใจ อยากมีอำนาจ อยากมีบริวาร อยากเป็นคนสำคัญ เป็นแม่ทัพ เป็นนั่นเป็นนี่ ลักษณะพวกนี้ ครูบาอาจารย์ท่านเปรียบว่า “ทำดีมาแล้วเอาไปเทให้หมามันกิน

คือทำดีมาจนมีโอกาสแล้ว กลับไม่ทำประโยชน์ใส่ตัว ไม่สร้างองค์ประกอบในการลดกิเลส ไม่ถามเพื่อลดกิเลส ฯลฯ สุดท้ายตนเองก็ไม่ได้สร้างสิ่งดีแท้ให้ตนจากโอกาสนั้น ๆ พอวันหนึ่งที่กุศลวิบากหมด ก็จะหมดรอบ จะเกิดเหตุให้ต้องพรากจากครูบาอาจารย์ ในลีลาต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงได้เหมือนเดิม

ก็ต้องวนกลับไปจน คือจนโอกาส จนความดี จนมิตรดี เพราะเวลามีโอกาสกลับไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ เอาไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ถึงเวลาหมด มันก็หมด แล้วก็ต้องเสียเวลามาทำสะสมใหม่ อีกหลายต่อหลายชาติ

นั่นก็เพราะ พระพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้า ค่าตัวแพงสุด ๆ เลยเชียวล่ะ (ค่าตัวของความดีงาม)

ไม่ลดกิเลส จะไม่ทันพวกทำดีเอาหน้า พวกสร้างภาพ

June 11, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 541 views 0

วันนี้อาจารย์หมอเขียวพูดถึง คนที่ผิดศีลจะมีวิบาก(ผล) ให้ได้ข้อมูลผิด เช่น เห็นพวกทำดีเอาหน้าแล้วดูไม่ออก คือไม่เห็นความชั่วที่ซุกแอบซ่อนในการทำดีของเขา

ผมก็เคยพลาดมา แต่เราตั้งใจปฏิบัติศีล จึงได้เห็นข้อมูลจริง ว่าเขาผิดศีล ไม่ได้ขยันอย่างจริงใจ คือทำดีสร้างภาพ หวังลาภสักการะ ฯลฯ ซุกซ่อนกิเลสภายใน

ทีนี้ใช่ว่าเราออกมาได้ แล้วเราก็จะเฉย ๆ เราก็ช่วยคนอื่นโดยการเผยแพร่ข้อมูล ลักษณะของคนพาล และรูปรอยของคนผิดศีลนั่นแหละ ก็คงจะไม่ได้ประจานกันตรง ๆ เพราะชนกับคนพาลจะมีแต่เสีย แล้วเจตนาเราไม่ได้หวังจะช่วยคนพาล แต่จะช่วยคนดีที่ยังไม่รู้ทันคนชั่ว

เชื่อไหมว่า คนที่ปิดบังหรือไม่เปิดเผยความจริง ส่วนใหญ่ที่เข้ามาในชีวิต ไม่นานเขาจะหลุดความจริงออกมา ผมเคยตั้งจิตว่าขอให้ได้รู้ว่าใครเป็นใคร เท่านั้นแหละ พาลเป็นพาล บัณฑิตเป็นบัณฑิตเลย

พาลคือไม่ได้จริงอย่างที่พูด พูดอย่างทำอีกอย่าง พูดเกินความจริงที่ตนมี เช่นบรรลุขั้นนั้นขั้นนี้ แต่ชีวิตจริงยังไปจีบหญิงอยู่เลย แบบนี้เรียกพวกเน่าใน ทุศีล สร้างภาพว่าสวยงาม แต่ข้างในไม่ได้มีจริง บางทีเขาก็พูดเอาโก้ ๆ หลอกคน เพราะหลงโลกธรรม

ธรรมะนั้นเป็นของสูง คือมีลาภสักการะมาก มีสรรเสริญมาก คนชั่วเขาก็จะเข้ามาเอาประโยชน์ตรงนี้เหมือนกัน คือเข้ามาแล้วทำให้ดูเหมือนขยันทำดี ขยันเอาธรรม ขยันสนทนาธรรม บางทีเขาซ่อนกิเลสเขาไว้ แต่ไม่แสดงออก แล้วก็แอบเสพไป สร้างภาพไป

ด้วยความที่ผมทำดีมามาก เลยได้ข้อมูลค่อนข้างเยอะ ที่จะช่วยไม่ให้หลงไปคบคนผิดหรือคนพาลนาน พอเราได้ข้อมูลว่าเขาผิดศีล ไม่จริงอย่างที่พูด เราก็ไม่คบ มันก็ง่าย ๆ แค่นี้

แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสื่อสารให้คนอื่นได้รู้อย่างเรา แม้จะพูดไปเต็มปาก ก็ใช่ว่าเขาจะเชื่อได้ เพราะถ้าเขาทำดีมาไม่มากพอ ปฏิบัติศีลเจริญในธรรมได้ไม่มากพอ เขาจะไม่เห็นความชั่วที่แอบไว้ในความดีที่คนชั่วนำเสนอ

ก็สรุปกันง่าย ๆ ว่าโดนเขาสร้างภาพลวงให้หลงไว้นั่นแหละ สุดท้ายแม้เราพูดไป แล้วเขาไปศรัทธาคนที่ขยันทำดีแต่ไม่จริงใจมากกว่าเรา เขาก็จะเพ่งโทษเรา แทนที่จะช่วยเขา ก็กลายเป็นว่าเขาจะกลับมาเพ่งโทษถือสาเราอีก

ส่วนใหญ่ผมไม่ค่อยเสี่ยงแลกนักหรอก ถ้าดู ๆ แล้วคนเขาไม่ได้ศรัทธาเรามากพอ มันจะได้ไม่คุ้มเสีย บางคนเขาก็ทำเหมือนศรัทธาเรา แต่พอไปได้ยินคนนินทาเรื่องเรา กลับไม่มาถามเราสักคำว่า “เรื่องจริง ๆ” มันเป็นอย่างไร เราก็รู้เราว่าเขาเชื่อทางนั้น เราก็ไม่พูด เพราะพูดไปมันก็จะไปสู้กับสิ่งที่เขาศรัทธามันจะพังเปล่า ๆ

บางทีถ้าพยายามจะสื่อเต็มที่แล้วเขาไม่เข้าใจ มันก็ต้องวาง ให้ทุกข์ได้สอนเขา เราพ้นจากคนพาลแล้วเราจะทุกข์อะไร เราไม่คบ ไม่สื่อสารกับคนพาล ไม่อนุเคราะห์คนพาลให้มันลำบากชีวิตหรอก

การบริหารชีวิตเพื่อความเจริญในทางโลกและทางธรรม ประหยัดกิเลสลด ลงทุนกิเลสเพิ่ม

December 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,874 views 0

ประหยัดกิเลสลด ลงทุนกิเลสเพิ่ม

การบริหารชีวิตเพื่อความเจริญในทางโลกและทางธรรม ประหยัดกิเลสลด ลงทุนกิเลสเพิ่ม

การใช้ชีวิตที่เรียกได้ว่าเจริญไปในทางโลกคือความไม่ขัดสนในปัจจัย ๔ แต่ก็ไม่ฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น และความเจริญในทางธรรมคือสามารถใช้ชีวิตทำกิจกรรมการงานไปพร้อมๆกับลดกิเลสได้

ในความเข้าใจของคนทั่วไปนั้น มักจะแสวงหารายได้ที่เพิ่มมากขึ้นให้มาจุนเจือชีวิตและความต้องการของตน หลายคนประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน และทางออกของเขาเหล่านั้นก็คือการหารายได้เสริม ลงทุน เก็งกำไร หรือช่องทางอื่นๆเพิ่มเติม

ความต้องการเหล่านั้นโดยมากเกิดจากกิเลส เป็นความต้องการที่ไม่มีวันสิ้นสุด ไม่รู้ว่าปลายทางของมันอยู่ตรงไหน แม้เราจะพยายามหาเงินมาเติมเต็มเท่าไหร่ แต่ความอยากกลับพุ่งทะยานออกไป คว้าสิ่งใหม่ๆมาเติมอยู่เรื่อยๆ

รายได้ในปัจจุบันของเราไม่พอจริงหรือ? ทำไมคนที่รายได้ต่ำกว่าเราเขายังมีชีวิตอยู่ได้ นั่นหมายความว่าจริงๆแล้วรายได้เราพอ แต่ใจเราไม่พอ เมื่อใจเราไม่พอ ถึงจะมีรายได้เข้ามาเพิ่มเติมเท่าไหร่ก็จะไม่มีวันพอที่จะสนองต่อตัณหาของคนที่หนาไปด้วยกิเลส

ประหยัดกิเลสลด

การประหยัดจะมีทิศทางที่ขัดกับกิเลส เมื่อเรารู้สึกอยากได้อยากเสพอะไร ให้เราตั้งใจไว้เลยว่าเราจะประหยัด ไม่ซื้อไม่กินสิ่งที่ฟุ่มเฟือย ก็จะเป็นการต่อต้านกิเลส ซึ่งจะมีผลทำให้กิเลสนั้นลดลงได้

ความประหยัดต่างจากความตระหนี่ ขี้งก ขี้เหนียว ประหยัดคือกินใช้เท่าที่จำเป็น ตระหนี่คือควรกินควรใช้แล้วไม่ยอมใช้ให้เกิดประโยชน์

การประหยัดนี้เองจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เป็นการบริหารต้นทุนชีวิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยให้มีรายได้เท่าเดิม แต่รายจ่ายลดลง ทำให้มีเงินเหลือเก็บมากกว่าเดิม เกิดประโยชน์ทั้งในทางโลกและทางธรรม

แต่โดยมากแล้ว คนมักจะไม่แก้ปัญหาที่การประหยัด ไม่แก้ปัญหาที่ตัวเอง กลับไปแก้ปัญหาโดยการแสวงหาเงินเพิ่ม ไปแก้ปัญหาที่องค์ประกอบภายนอก

ลงทุนกิเลสเพิ่ม

เมื่อใจคนเราไม่รู้จักพอ ก็มักจะแสวงหางานเพื่อให้ได้เงินมาเพิ่ม ถ้ามักง่ายหน่อยก็ลงทุนบ้าง เก็งกำไรบ้าง เล่นพนันบ้าง ซื้อหวยบ้าง ฯลฯ ซึ่งก็มักจะเข้าขีดของอบายมุขอยู่เนืองๆ

เพราะมีความเห็นว่า ต้องให้มีรายได้มากขึ้น เพื่อนำมาปรนเปรอ “ความอยาก” ที่ทำให้มีรายจ่ายมากขึ้น ดังนั้นทุกครั้งที่ทำงานหรือลงทุนแล้วได้เงินมาแก้ปัญหาการเงินจากความอยากที่ฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น นั่นหมายความว่ากิเลสจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะยิ่งสนองกิเลสเท่าไหร่ กิเลสก็ยิ่งโตเท่านั้น แม้จะไม่สนองกิเลส อดทน กดข่มโดยไม่เข้าใจความจริงว่าความอยากเหล่านั้นสร้างโทษอย่างไร กิเลสก็จะโตเช่นกัน สุดท้ายก็จะเกิดสภาพที่เรียกว่าตบะแตก

การลงทุนลงแรงที่กิเลสไม่เพิ่มก็มีเช่นกัน ในกรณีที่ว่าปัจจัยสี่นั้นไม่พอเลี้ยงชีวิต ก็จำเป็นต้องออกไปหางานทำเพิ่ม เอาภาระเพิ่ม เหนื่อยเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้เงินมาดำรงชีวิต ในกรณีนี้เป็นกุศล เพราะออกจากความขี้เกียจ ไปสู่ความขยันที่จะพาให้ชีวิตเจริญขึ้น

แต่โดยมากในสังคมนั้น คนมักจะไม่พอใจกับรายได้ของตน แต่ก็ไม่คิดว่าจะต้องประหยัด ซึ่งมักจะหาทางออกด้วยการทำงานเพิ่ม ลงทุนเพิ่ม เสี่ยงดวงเล่นพนันเพิ่ม เพื่อให้ได้เงินมาจับจ่ายใช้สอยสิ่งที่จะมาสนองตัณหาของเขาเหล่านั้น

การมีรายได้มาก หรือมีความร่ำรวย ไม่ใช่สาระของชีวิต แต่การที่ชีวิตจะมีคุณค่า มีสาระนั้น คือการเลี้ยงชีพบนความถูกต้อง ใช้จ่ายอย่างเหมาะสม ไม่ยอมให้ตัณหาครอบงำ และใช้วันเวลาที่มีอยู่ในโลกนี้ทำลายความหลงติดหลงยึดของตน พร้อมกับสร้างประโยชน์กลับคืนให้สังคมและโลก นี้จึงเรียกว่าเกิดมามีคุณค่า มีประโยชน์ ไม่เกิดมาตายเปล่า

– – – – – – – – – – – – – – –

1.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ยึดดี & เพ่งโทษ : หนทางแห่งความเสื่อมที่ขวางกั้นโอกาสแห่งการหลุดพ้น

July 25, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,972 views 0

ยึดดี & เพ่งโทษ : หนทางแห่งความเสื่อมที่ขวางกั้นโอกาสแห่งการหลุดพ้น

ยึดดี & เพ่งโทษ : หนทางแห่งความเสื่อมที่ขวางกั้นโอกาสแห่งการหลุดพ้น

กรณีศึกษา : ผู้ที่กินเนื้อสัตว์ และผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์

ประสบการณ์จะสร้างให้คนเรามีความยึดมั่นถือมั่นที่แตกต่างกัน และแต่ละคนก็มักจะมองว่าสิ่งที่ตนยึดไว้นั้นเป็นสิ่งดี จึงก่อเกิดเป็นความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งทำให้ไม่ยินดีจะรับรู้ในสิ่งอื่นที่แตกต่างจากที่ตนยึดไว้ และมักจะกลายเป็นการเพ่งโทษความเห็นที่แตกต่าง

ความยึดดีจะปิดกั้นการเรียนรู้โดยสมบูรณ์ ทำให้ไม่ฟัง ไม่ศึกษา ไม่เรียนรู้ในความคิดเห็นที่แตกต่างจากที่ตนเองยึดไว้ สิ่งใดที่คล้ายกับสิ่งที่ตนยึดไว้ก็มักจะเห็นดีด้วย แต่สิ่งใดที่ต่างออกไปหรือมีความหมายตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตนเองยึดไว้ว่าดี ก็มักจะมีการกระทบกระทั่ง เอาชนะกันด้วยความยึดดี มีการโอ้อวด ข่มเหง ดูหมิ่น ดูถูก ซึ่งเป็นลักษณะของการเพ่งโทษ คือทำให้ผู้อื่นหมดคุณค่า กล่าวหาว่าผู้อื่นผิด และสิ่งที่ตนเองยึดไว้นั้นถูกและดี

คนเราโดยส่วนมากแล้ว มักจะไม่มีใครยอมรับว่าตนเองรู้ไม่รอบ และมักจะปักมั่นในความเห็นว่าตนเองถูก สิ่งที่ตนเรียนรู้และเข้าใจมานั้นถูกต้อง เมื่อคนเสพความดีความถูกต้องที่เขาเข้าใจว่าดีนั้นไปเรื่อยๆก็จะเริ่มยึด กลายเป็นอัตตา ว่าตัวฉันเป็นแบบนั้นแบบนี้ ยึดมั่นถือมั่นว่าดีแท้ต้องเป็นแบบที่ตนเองยึดไว้ ใครทำไม่ได้เท่าที่ฉันเรียกว่าดี ก็ยังไม่ดี ใครว่าดีของฉันชั่ว คนนั้นคือคนชั่วไม่มีปัญญา และความยึดดีนี้เอง เป็นเหตุแห่งความเสื่อม เพราะมีโอกาสที่จะทำให้ไปเพ่งโทษผู้อื่นอีกมากมาย

การเพ่งโทษนั้นไม่มีคุณประโยชน์ใดๆเลย ในขั้นหยาบๆก็จะแสดงความอวดรู้ของตนเองมา หรือแม้แต่การเพ่งโทษในจิตก็ยังมีวิบากร้ายแรงอยู่ดี พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า คนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ส่วนบัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ดังนั้นผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมไม่เพ่งโทษใคร ส่วนผู้ที่เพ่งโทษนั้นก็คงจะหนีไม่พ้นคนพาล

การเพ่งโทษนั้นมีวิบากร้ายแรงหลายอย่าง อย่างที่หยาบที่สุดที่พอจะเห็นได้ทั่วไปก็คือไม่ได้รับความรู้นั้น ผู้ที่เพ่งโทษฟังธรรมหรือเรียนรู้สิ่งใดไปก็มีจิตเพ่งโทษไป ย่อมไม่สามารถเข้าถึงแก่นสารสาระของความรู้นั้นๆได้ ในส่วนของวิบากบาปก็มีมากมายหลากหลายตามน้ำหนักของกรรมที่ได้ทำ

ดังนั้นผู้ที่เพ่งโทษจึงไม่ได้รับความรู้ใหม่ๆ ซึ่งในความรู้เหล่านั้นก็อาจจะมีความรู้ที่จะพาให้หลุดพ้นปนอยู่ด้วย เมื่อเขาเหล่านั้นมีการยึดดีและเพ่งโทษผู้อื่นอยู่ ก็ย่อมจะเป็นคนพาลที่ยึดเอาแต่สิ่งที่ตนเองเห็นและเข้าใจว่าดีเช่นนั้น เมื่อเป็นคนพาลก็ย่อมมองไม่เห็นทางหลุดพ้น ดังนั้นการจะหลุดพ้นด้วยการยึดดีและเพ่งโทษผู้อื่นจึงเป็นไปไม่ได้เลย

ในบทความนี้เราจะมายกตัวอย่างในกรณีศึกษา ที่มักจะเป็นประเด็นในสังคมคือการเพ่งโทษกันระหว่างผู้ที่กินเนื้อสัตว์และผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์

ผู้ที่กินเนื้อสัตว์ – ยึดชั่วเกลียดดี

ผู้ที่ยังกินเนื้อสัตว์นั้นก็มักจะมีความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ มองเนื้อสัตว์ว่าเป็นของดี จึงมักจะเลี่ยงการละเว้นเนื้อสัตว์โดยหาเหตุผลมากมายเพื่อให้ตนเองนั้นได้กินเนื้อสัตว์

คือยังมีการยึดชั่วอยู่ แต่หลงว่าชั่วนั้นเป็นของดี หลงว่าการเบียดเบียนเป็นสิ่งดีที่ทำได้โดยไม่ผิด ถึงแม้ผิดก็จะยอมรับผลเพราะการได้เสพนั้นยังทำให้เป็นสุขอยู่ เมื่อตนเองนั้นยึดชั่วแล้วก็มักจะไม่อยากให้ใครมาบอกว่าชั่ว จะพยายามหาเหตุผลมารองรับว่าชั่วนั้นคือดี ปกป้องว่าสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นคือสิ่งดี

ทีนี้มันดีแค่ในความคิด แต่ความจริงมันไม่ดี เพราะยังเบียดเบียนอยู่ ยังเสพอยู่ ดังนั้นการจะทำให้สิ่งที่ไม่ดี ดูดีขึ้นมาได้จึงต้องทำลายความดีของสิ่งดี นั่นคือทำลายความดีของการไม่กินเนื้อสัตว์นั่นเอง

ผู้ที่ยึดชั่วจะพยายามทำให้ชั่วของตนนั้นเป็นเรื่องดีโดยการทำให้ความดี เช่นการลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก กลายเป็นเรื่องที่ไร้สาระ ไม่มีแก่นสาร เพื่อที่จะทำให้ชั่วของตนนั้นไม่มีข้อเปรียบเทียบ ซึ่งเมื่อยึดมั่นถือมั่นในชั่วว่าเป็นดีเข้ามากๆแล้ว จะเริ่มปกป้องอัตตาของตัวเอง โดยการเถียง ดูหมิ่น โอ้อวด คุณวิเศษต่างๆที่ตนเข้าใจว่ามีดีกว่าคนที่ลดเนื้อสัตว์

ภาพที่เห็นได้ชัดคือการกล่าวหาผู้ที่เลิกกินเนื้อสัตว์ด้วยคำหยาบ คำดูถูกต่างๆนาๆ ที่เห็นได้ทั่วไปในสังคม เป็นการเพ่งโทษคนที่ทำดี เพราะคนที่เขาเลิกกินเนื้อสัตว์ เลิกเบียดเบียนสัตว์ เขาก็มีดีในเรื่องนั้นของเขา เขาก็ทำประโยชน์ได้จริงในส่วนนั้นของเขา แล้วคนที่ยึดชั่วจะทนไม่ไหว เพราะมันดีกว่าที่ตนทำได้ และตนเองก็ไม่อยากที่จะไปทำแบบนั้น จึงต้องพยายามทำลายความดีของการลดเนื้อกินผักเหล่านั้นเสีย

ผลที่ออกมาคือการเพ่งโทษ ดูถูกดูหมิ่น สร้างวิบากบาปให้ตัวเอง แม้เราด่าว่าคนชั่วก็บาปแล้ว แต่นี่เราด่าว่าคนดีที่เขาละเว้นเนื้อสัตว์ได้จริง แทบไม่ต้องเดาเลยว่าชีวิตจะเจอเรื่องซวยแบบไหนบ้าง เพราะการเพ่งโทษคนดีมีแต่จะนำความฉิบหายเข้ามาในชีวิตแต่ความยึดชั่วจะทำให้หลงว่าการลดเนื้อกินผักเป็นความไม่ดี จึงกลายเป็นมัวเมาในการเพ่งโทษคนดี เข้าใจไปว่าตนเองเป็นคนดีกำลังสอนคนชั่ว แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นคนยึดชั่วที่กำลังพยายามทำลายคุณความดีของคนอื่น

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจนมีปัญญา แม้จะมีผู้ที่คิดต่างจากที่ตนเข้าใจก็จะไม่ไปเบียดเบียนและทำร้าย ถึงแม้เขาจะทำสิ่งดีในสิ่งที่ตนเองทำไม่ได้ก็จะมีมุทิตาจิต ยินดีกับความดีนั้นด้วย ซึ่งจะไม่ได้ออกมาในแนวทางพาล เกเร ดูถูกดูหมิ่นหรือเพ่งโทษใคร

ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ – ยึดดีเกลียดชั่ว

เปลี่ยนมาในมุมของคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์บ้าง คนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็เป็นคนที่ดีในส่วนที่ไม่เบียดเบียนสัตว์แล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นคุณความดีเรื่องหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด

บางครั้งคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์จะหลงยึดดี หลงว่าคนดีจะต้องทำแบบที่ตนเองทำทั้งหมด หลงว่าคนที่ดีแท้จะต้องเป็นแบบตน ต้องคิดแบบตน ต้องเข้าใจแบบตน ซึ่งกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่นว่าคนดีนั้นจะต้องดีแบบตนเอง คนจะเรียกว่าดีได้ต้องลดเนื้อสัตว์ได้

ทีนี้พอหลงยึดดีเข้าแล้วมันจะเริ่มมองตนเองใหญ่ เพราะตนเองทำดีได้ และมองคนที่ทำดีไม่ได้แบบตนเองเล็ก เพราะเขาทำแบบเราไม่ได้ ซึ่งตรงนี้เองจะเป็นความซวยของคนดีที่ยึดดีเพราะมีโอกาสที่จะไปเพ่งโทษคนชั่วได้

คนที่ชั่วนั้นเขาอาจจะชั่วแค่ในเรื่องยังกินเนื้อสัตว์ แต่ค่ารวมๆเขาดีมาก อาจจะดีกว่าคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยซ้ำ เช่น เขามีศีลมีธรรม กินมื้อเดียว เว้นขาดจาการสมสู่ มีน้ำใจ มีจิตอาสา แต่เขายังกินเนื้อสัตว์อยู่ ทีนี้คนที่ยึดดีในการไม่กินเนื้อสัตว์ก็เอาความดีของตนไปข่มเขา ไปดูหมิ่นเขา ทั้งที่เขาชั่วอยู่เรื่องเดียว เรื่องอื่นเขาดีหมด ก็จะกลายเป็นความซวยของคนที่ยึดดี

เหมือนกับการไปเปรียบเทียบว่าช้างกระโดดไม่ได้ ช้างจึงไม่เก่งเท่ากระต่าย ซึ่งถ้ามองแต่เรื่องกระโดด ช้างมันก็ด้อยกว่ากระต่ายจริงๆ แต่ค่ารวมๆแล้วช้างเหนือกว่ากระต่ายมาก ซึ่งคนที่ยึดดีแต่ในเรื่องการไม่กินเนื้อสัตว์อย่างเดียว โดยไม่มององค์ประกอบอื่นๆร่วมด้วย จะทำให้เกิดการเพ่งโทษ ดูถูก ดูหมิ่น ผู้อื่น

และถึงแม้เขาจะไม่มีคุณความดีอะไรเลยก็ตาม ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะเอาความดีของเราไปข่มเหงรังแกเขา แต่เพราะความยึดดีของเรา เป็นอัตตาของเรา จึงทำให้เราอยากอยู่เหนือผู้อื่น เมื่ออยากเหนือผู้อื่นจึงพยายามกดผู้อื่นลงต่ำด้วยคุณความดีที่มีในตน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย

ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ – ยึดดีเกลียดดีที่ต่างออกไป

ความยึดมั่นถือมั่นนั้นยังมีมิติในการยึดที่หลากหลาย บางคนยึดว่าต้องสมบูรณ์แบบ บางคนยึดว่าต้องยิ่งกว่าสมบูรณ์แบบ เมื่อไม่ได้สมตามที่ใจหมายก็จะเป็นทุกข์และขุ่นเคืองใจ

การเพ่งโทษคนที่ยังกินเนื้อสัตว์นั้นก็ไม่สร้างผลดีอะไรกับชีวิต นับประสาอะไรกับการเพ่งโทษคนดีที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยกัน เพราะในหมู่คนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ ก็ยังมีมิติของการละเว้นการเบียดเบียนที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็ใช้วัตถุเป็นตัวตั้ง บ้างก็ใช้ความเหมาะสมในชีวิตประจำวันเป็นตัวตั้งบ้างก็ใช้เจตนาเป็นตัวตั้ง

ซึ่งแต่ละคนก็มักจะมีความยึดดีและมองสิ่งที่ตนเองทำนั้นว่าดีที่สุดเยี่ยมที่สุด ฝ่ายที่เอาวัตถุเป็นที่ตั้งก็มักจะละเว้นไปจนถึงระดับไม่ยุ่งเกี่ยวใดๆกับสัตว์เลย ซึ่งมักจะเอนเอียงไปทางตึง ผู้ที่เอาความเหมาะสมเป็นที่ตั้งก็จะเอาความพอดีในชีวิตเป็นหลัก อันไหนเริ่มตึงก็จะไม่เอา ซึ่งมักจะเอนเอียงไปทางหย่อน ส่วนผู้ที่ใช้เจตนาเป็นตัวตั้ง คือการละเว้นกรรมชั่วที่มาจากเจตนาจะเบียดเบียนโดยมีแรงผลักดันจากความอยากได้อยากเสพในเนื้อสัตว์นั้น

ถ้าตามสมมุติโลกก็จะมองว่าการเป็นมังสวิรัติบริสุทธิ์ ไม่เสพ ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์เป็นที่สุด แต่ถ้ามองจากทางธรรมแล้ว จะมีเจตนาที่คิดจะละเว้นเป็นที่สุดโดยมุ่งกำจัดความอยากภายในตนเป็นหลักโดยที่ไม่ได้เน้นไปทางรูปภายนอกมากนัก

ทีนี้เวลาจะใช้วัดกุศลอกุศลตามหลักของพุทธจะใช้หลักของการลดกิเลสเป็นหลัก หมายถึงมาตรวัดคนดีของพระพุทธเจ้าคือต้องเป็นคนที่ลดความอยากได้จริง เอากิเลสที่ลดได้จริงมาเป็นสิ่งวัดความดีงาม

หากยกตัวอย่างเปรียบเทียบ การไม่กินเนื้อสัตว์โดยไม่ลดกิเลสก็คล้ายกับฤๅษีที่สามารถนั่งสมาธิได้เป็นเดือนเป็นปี ผู้คนให้ความเคารพยำเกรง มีรูปลักษณ์สวยงาม ถึงแม้จะมีรูปที่สวยเช่นนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นพุทธเลย เพราะความเป็นพุทธที่แท้จริงนั้นคือการทำให้หลุดพ้นจากกิเลสได้ ดังนั้นขีดที่ตัดความถูกต้องของพุทธคือการลดกิเลสได้จริง ไม่ใช่การทำร่างกายให้บริสุทธิ์ แต่เป็นการทำใจให้บริสุทธิ์จากกิเลส

แต่ในเมื่อทุกคนมีกรรมต่างกัน มีความเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งก็มักจะยึดเอาแนวทางของตนว่าดีที่สุด เมื่อเกิดการยึดดีขึ้นก็ย่อมจะมีการดูถูก จับผิด ดูหมิ่น เพ่งโทษผู้ที่ปฏิบัติไม่เหมือนกับแนวทางของตน ซึ่งก็เรียกว่าเป็นความฉิบหายของคนดีที่หลงผิดไปยึดดี เพราะการเพ่งโทษกันเองในหมู่คนดีที่ละเว้นสิ่งชั่วได้แล้ว มีแต่จะสร้างหายนะให้แก่ผู้ที่มีจิตเช่นนั้น

ในหมู่คนที่ทำความดีนั้นก็มักจะมีการแข่งดี เอาชนะกันด้วยความดี ซึ่งก็เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นในดีเช่นกัน เมื่อเกิดความอยากเอาชนะ อยากแข่งขัน อยากได้รับการยอมรับ อยากได้รับการยกย่องชื่นชม ก็จะพยายามทำดีให้เหนือกว่าคนอื่น เมื่อเกิดความอยากเหนือกว่าผู้อื่นก็จะเริ่มมีจิตที่จะข่มหรือเพ่งโทษผู้อื่นตามไปด้วย ซึ่งก็จะกลายเป็นเหตุให้คนดีเหล่านั้นสร้างจิตอกุศล สร้างวิบากบาปให้กับตนเอง

การอยู่ในหมู่ของคนดีจึงต้องระวังมากเป็นพิเศษ ต้องระวังว่าตนเองจะมีจิตที่ลามก ไปโอ้อวด ดูหมิ่น ถือตัว ยกตนข่มท่าน ลบหลู่คุณคน แข่งดีเอาชนะ มีจิตเพ่งโทษกันและกัน ซึ่งเป็นเหตุที่จะสร้างวิบากบาป นำมาซึ่งความเสื่อมให้กับคนดีที่มีจิตเหล่านั้น ทำให้เสื่อมจากศีล เสื่อมจากธรรม เสื่อมจากความสุขความเจริญทั้งหลาย เปลี่ยนทิศทางเวียนกลับไปนรกก็เป็นได้

. . . บทสรุปของบทความนี้ คงจบลงตรงที่ ให้มุ่งทำดี แต่อย่ายึดดี เพราะการยึดมั่นถือมั่นไม่มีทางพ้นทุกข์ และไม่ควรมีจิตคิดเพ่งโทษผู้อื่น แม้เขาจะคิดเห็นไม่เหมือนเรา แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องตีทิ้ง ลองฟังเขาบ้าง ลองศึกษาเขาบ้าง อย่าเพิ่งรีบเชื่อและไม่เชื่อ ให้ใช้ปัญญาค่อยๆพิจารณาประโยชน์ของสิ่งนั้น ถ้าสิ่งที่เขาพูดมีประโยชน์ให้พยายามเข้าถึงคุณประโยชน์นั้น ถ้าสิ่งที่เขาพูดเป็นโทษก็ให้ละเว้นจากสิ่งนั้นเสีย เราค่อยตัดสินใจหลังจากพิจารณาสิ่งที่ได้รับฟังมาตามความเป็นจริงด้วยใจที่ปราศจากอคติลำเอียงก็ยังไม่สาย ดีกว่าที่เราจะรีบตัดสินผู้อื่นด้วยความยึดดีของเรา

– – – – – – – – – – – – – – –

23.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)