Tag: ชาวพุทธ
เมื่อถูกกล่าวหา ชาวพุทธควรทำอย่างไร?
พระพุทธเจ้าตรัสว่าเราพึงตั้งตนอยู่ในคุณธรรมสองประการคือ ๑. ความจริง ๒. ความไม่ขุ่นเคือง (พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๕๑๑)
เมื่อเราถูกกล่าวหาแล้วเราก็ควรจะแสดงให้เห็นถึงความจริง ถ้าเขาให้โอกาสเราพูด ให้โอกาสเราพิสูจน์ความจริงเราก็พิสูจน์ การพูดความจริงที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจความจริงให้ตรงกันนั้นเป็นสัมมาวาจา แต่ถ้าเขาไม่ให้โอกาสเราก็ต้องปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ยอมให้เขาเข้าใจผิด ทั้งนี้การตั้งตนอยู่ในความจริงก็คือ ผิดก็ยอมรับว่าผิดจริง ไม่ใช่รู้ตัวว่าผิดแล้วทำเฉไฉ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ มีมารยา แต่ถ้าคิดว่าถูกก็ควรรับฟังความเห็นที่แตกต่างบ้าง เพราะเราอาจจะไม่ได้ถูกไปทั้งหมด
และไม่ว่าเขาจะกล่าวหาอย่างไร สาวกของพระพุทธเจ้าไม่ควรแสดงความขุ่นเคืองใจ ไม่ว่าจะออกไปทางโกรธหรือน้อยใจ ประชดประชัน ฯลฯ หรือกระทั่งการโจมตีกลับ ชวนทะเลาะ แข่งดีเอาชนะ การกระทำเหล่านี้นอกจากไม่เป็นไปเพื่อความสุขแล้ว ยังทำให้เกิดความขัดแย้งลุกลามใหญ่โตได้
ชีวิตจะง่าย เมื่อไม่มีเนื้อสัตว์
ชีวิตจะง่าย เมื่อไม่มีเนื้อสัตว์
ชีวิตที่ตั้งอยู่บนความเรียบง่าย คือชีวิตที่กินใช้อย่างประหยัด พอเพียง ไม่นำสิ่งของหรือส่วนเกินใดๆ ที่ไม่จำเป็น เข้ามาเปลืองพื้นที่ในชีวิต เช่นเดียวกันกับชีวิตที่ไม่มีเนื้อสัตว์ มันช่างเรียบง่าย ประหยัด และยาวนาน
ผมได้ลองใช้ชีวิตอยู่บ้านต่างจังหวัด บ้านของผมอยู่ห่างจากบ้านอื่นๆ ราวสองร้อยเมตร ห่างจากชุมชนใกล้เคียงประมาณหนึ่งกิโลเมตร ที่บ้านยังไม่ได้นำไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเข้ามา มีเพียงไฟฟ้าที่ผลิตเองจากแผงโซล่าเซลล์ให้พอใช้สูบน้ำ,เปิดไฟ,ชาร์จโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์พกพาเท่านั้น ดังนั้นการจะหวังว่าจะได้ใช้ทีวี ตู้เย็น พัดลม ฯลฯ ในชีวิตประจำวันก็ลืมไปได้เลย
เมื่อผมได้มาทดลองอยู่อย่างประหยัด เรียบง่าย มีสิ่งอำนวยความสะดวกน้อย จึงมีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ในการหาสิ่งใดๆก็ตามมาปรนเปรอกิเลส
เนื้อสัตว์ก็เป็นวัตถุอีกชนิดที่มีอิทธิพลต่อจิตใจคนมาก ถึงขนาดว่าขาดกันไม่ได้ เป็นคุณค่า เป็นชีวิตจิตใจสำหรับใครหลายคนกันเลยทีเดียว แต่สำหรับผม เนื้อสัตว์ไม่ได้มีคุณค่าอะไรเลยในชีวิต เป็นเพียงวัตถุแท่งก้อนอ่อนนุ่มที่หากกินเข้าไปแล้ว ย่อยยาก เป็นโทษ เป็นเหตุแห่งโรค สร้างกลิ่นตัว ราคาแพง เน่าเสียง่าย เก็บรักษายาก และอีกหลายๆ ข้อเสียของเนื้อสัตว์เมื่อเทียบกับพืชผัก แม้มันจะทำให้อิ่มท้องและสร้างพลังงานได้ก็ตาม แต่ผมก็ไม่จำเป็นต้องเลือกพลังงานจากแหล่งเหล่านั้น ในเมื่อมีสิ่งที่มีคุณค่าและประโยชน์มากกว่าขายกันอยู่ทั่วไป
หากว่าผมยังหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์ ผมจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาพที่มีข้อจำกัดเช่นนี้ได้ เรื่องแรกคือการจัดเก็บเนื้อสัตว์ มันไม่สามารถวางไว้ในอุณหภูมิห้องได้ เพราะจะทำให้เน่าเสียและมีสัตว์อื่นมากินได้ง่าย ต่างกับผักที่ซื้อมาวางไว้เป็นอาทิตย์ยังคงสภาพเดิมได้ดีอยู่ เช่น ฟักทอง ผักกาดขาว กะหล่ำปลี มะเขือยาว หอมใหญ่ มันต่างๆ ฯลฯ ถ้าต้องการเสพเนื้อสัตว์เป็นประจำ นั่นหมายถึงต้องมีตู้เย็นหรือสร้างที่เก็บกักความเย็นเพิ่มให้มันวุ่นวายมากกว่าการเก็บผัก นี่คือเริ่มจะฟุ้งเฟ้อสิ้นเปลืองแล้ว
เรื่องที่สองคือหากไม่ได้คำนึงถึงการจัดเก็บ เลือกที่จะออกไปซื้อเนื้อสัตว์ทุกวัน ก็ยังเป็นค่าใช้จ่ายและการเสียพลังงานที่ไม่จำเป็นอยู่ดี เพราะเมื่อเทียบกับผัก ผมสามารถออกไปซื้อผักมาครั้งเดียวอยู่ได้เกือบครึ่งเดือน อย่างต่ำๆก็ หนึ่งสัปดาห์
เรื่องที่สามคือค่าใช้จ่ายต่อหนึ่งมื้อนั้น เนื้อสัตว์ยังไงก็มีค่าใช้จ่ายมากกว่าผัก และเมื่อเทียบมวลต่อน้ำหนัก หนึ่งกิโลกรัมของเนื้อสัตว์นั้นจะได้น้อยกว่ามวลของผัก คือซื้อผักหนึ่งกิโลกรัมจะดูได้เยอะกว่า ซึ่งเมื่อพิจารณาต่อไปอีกว่าการได้มาซึ่งเนื้อสัตว์หนึ่งกิโลกรัมต้องใช้อาหารสัตว์มากมายเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต่างจากผัก คือผักหนึ่งกิโลกรัม ก็มีอย่างมากแค่ปุ๋ยกับน้ำเท่านั้น เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ น้ำก็ต้องกิน พืชผักสัตว์ก็ต้องกิน อาหารเสริมสัตว์ก็ต้องกิน ไหนจะกระบวนการฆ่า ชำแหละอีก มีขั้นตอนยุ่งยากกันมากเลยทีเดียว ผักนี่เก็บมาเอารากล้างน้ำสลัดดินออกเขาก็เอามาขายกันแล้ว
เรื่องที่สี่คือเนื้อสัตว์ ผลิตเองไม่ได้ ถึงจะเลี้ยงเองแต่ชาวพุทธเขาก็จะไม่ฆ่าสัตว์กัน ไม่จ้างวานผู้อื่นฆ่าด้วย และไม่แกล้งทำเป็นมองไม่เห็นหากรับรู้ว่าผู้อื่นฆ่ามาด้วย ดังนั้นแม้จะเลี้ยงสัตว์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้เนื้อสัตว์เป็นผลผลิตทันทีเมื่อใจอยากเสพ คงจะต้องรอให้ฟ้าผ่ามันตาย หรือมันเดินไปโดนรถชนตายเอง หรืออะไรที่ทำให้มันตายของมันเองเท่านั้นถึงจะกินมันได้ , ต่างจากผักที่สามารถปลูกเองได้ โตเมื่อไหร่ก็กินได้ คิดอะไรไม่ออกก็ปลูกผักบุ้ง ปลูกง่ายโตไว และหากมีเวลาก็ปลูกธัญพืช และปลูกข้าวไว้กินเองได้ ผักหลายชนิดยิ่งตัดก็ยิ่งงอกออกมา บ้างก็ปักชำใหม่ได้ บางชนิดเก็บเกี่ยวแล้วก็หว่านใหม่ ได้ผลผลิตไม่จบไม่สิ้น
ถ้าชาวพุทธอยากกินเนื้อสัตว์ก็คงต้องเลี้ยงกันหลายร้อยตัว จะได้มีสัตว์ตายไปตามกรรมบ้างบางเวลา จะได้รอเสพโดยไม่ต้องให้ใครฆ่าเขามากิน แต่พอนึกถึงภาพนั้นก็ดูลำบากยุ่งยากขึ้นมาทันที
เมื่อผมพิจารณาด้วยเหตุปัจจัยดังนี้แล้ว การที่เรายังต้องการเสพเนื้อสัตว์อยู่นั้นจะสร้างความลำบากยุ่งยากให้กับชีวิตอย่างมาก ต้องมีสิ่งต่างๆมาเพิ่มเติมมากกว่าชีวิตที่กินผักเป็นหลัก อย่างน้อยๆ ตอนนี้ก็อยู่ได้สบายโดยไม่ต้องลากสายไฟเข้ามาให้เสียเงินเสียทองผมจึงยังไม่เห็นเลยว่าอะไรที่จะทำให้ชีวิตมันง่ายไปมากกว่าการที่เราไม่ต้องหาเนื้อสัตว์มากินอีก
หรือถ้าผู้ใดจะเห็นต่างก็สามารถเห็นเช่นนั้นได้ เพียงแต่ควรจะต้องอยู่บนเหตุปัจจัยเดียวกัน คือมีสิ่งอำนวยความสะดวกน้อย ถึงจะมีเงินก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปจ่ายเพื่อให้ตนเองได้เสพสมใจ แบบนั้นมันไม่ขัดเกลา การอยู่อย่างขัดเกลาคือมีสิ่งอำนวยความสะดวกพอประมาณ ให้มีแค่พอกินพอใช้ ไม่ให้ฟุ้งเฟ้อ ให้เกิดความเจริญทางจิตวิญญาณ ให้พอเกิดประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น
– – – – – – – – – – – – – – –
26.1.2559
การไม่กินเนื้อสัตว์กับศาสนาพุทธ
รวมบทความเกี่ยวกับข้อคิดเห็นที่ขัดแย้งเรื่องของการไม่กินเนื้อสัตว์กับศาสนาพุทธ
เป็นชุดบทความประยุกต์ความรู้ทางพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับการไม่กินเนื้อสัตว์ ซึ่งในปัจจุบันนั้นการไม่กินเนื้อสัตว์กลายเป็นเรื่องแปลก ทั้งที่ในอดีตสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชผู้มากอบกู้ศาสนาในช่วงต้น ในยุคนั้นก็ไม่นิยมกินเนื้อสัตว์กัน และมีข้อมูลว่าท่านเองก็เป็นมังสวิรัติด้วย ดังนั้นจากหลักฐานที่พอจะมีปรากฏคือชาวพุทธนั้นเขาไม่กินเนื้อสัตว์กันเป็นธรรมดา คือไม่กินกันเป็นปกติ เพราะไม่มีการฆ่าสัตว์ในพื้นที่ ก็เลยไม่มีให้กินกันอย่างเช่นทุกวันนี้
ซึ่งในปัจจุบันนี้มีการฆ่าสัตว์เป็นเรื่องธรรมดา ใครกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาก็เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา คนไม่กินเนื้อกลับเป็นเรื่องแปลก กลายเป็นว่ากลับหัวกลับหางจากสมัยอดีตที่ผ่านมา สิ่งนี้คือความเจริญหรือความเสื่อมของชาวพุทธกันแน่ ก็ลองมาศึกษากัน
บทความที่รวบรวมมานี้แต่ละบทความค่อนข้างยาว ประมาณ 2-3 หน้ากระดาษ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาและสมาธิพอสมควร แต่ละบทความมีเนื้อหาแตกต่างกันไปเพื่อวิเคราะห์ข้อคิดเห็น ข้อขัดแย้ง และปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้ผู้ที่สนใจได้ร่วมศึกษา
๑.การกินไม่มีโทษจริงหรือ การปฏิบัติธรรมของพุทธนั้นควรยุ่งเกี่ยวกับการกินหรือไม่ มีสาระสำคัญหรือไม่ (facebook : https://goo.gl/GF2IUs )
๒.ชาวพุทธ ควรกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาหรือไม่ อ้างอิงพระสูตรที่จะชี้ให้เห็นว่าสิ่งใดเป็นกุศลสิ่งใดเป็นกุศล (facebook : https://goo.gl/VG2MYU )
๓.การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ มีความเจริญในทางธรรมหรือไม่ ควรปฏิบัติหรือไม่ (facebook : https://goo.gl/q3NTH4 )
๔. กินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา ไม่บาป จริงหรือ? วิเคราะห์เกี่ยวกับคำว่า “บาป” คืออะไร ทำไมจึงบาป (facebook : https://goo.gl/HkH80y )
๕.การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่เป็นบุญจริงหรือ บุญคืออะไร เป็นบุญหรือไม่ ทำอย่างไรจึงเป็นบุญ (facebook : https://goo.gl/kSDWzK )
๖.พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ ความเห็นความเข้าใจของผู้เขียนที่ได้จากการปฏิบัติธรรม (facebook : https://goo.gl/GXAolv )
๗.การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑ ว่ากันด้วยเนื้อหาของศีลของเดียว ทุกวันนี้มีศีล หรือเสื่อมจากศีล (facebook : https://goo.gl/SK65K6)
๘.สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ความเห็นจาก “มิจฉาวณิชชา” ที่นำมาขยายกัน (facebook : https://goo.gl/FHtLs6)
๙.กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น การที่คนเราละเว้นเนื้อสัตว์ ไปกินผักกินหญ้านั้นสามารถหลุดพ้นได้จริงไหม (facebook : https://goo.gl/rYxhC9 )
๑๐. การไม่กินเนื้อสัตว์ แบบอุปาทานและสมาทาน การทำความดีที่มีความต่างในทางธรรม (facebook : https://goo.gl/guJLmO )
๑๑.สงครามอัตตา ใครเอาชนะคนนั้นแพ้ ใครยอมแพ้ก่อนคนนั้นชนะ บนสมรภูมิแห่งโลกีย์ที่ไม่มีวันจบสิ้น (facebook : https://goo.gl/syMTNR )
๑๒. สมรภูมิคนดี โจทย์ต่างๆที่จะเข้ามาทดสอบความดี ที่ว่าเป็นคนดีนั้นดีจริงแค่ไหน (facebook : https://goo.gl/5mNxZF )
บทวิเคราะห์ : ชาวพุทธควรกินเนื้อที่เขาฆ่ามาหรือไม่?
บทวิเคราะห์ : ชาวพุทธควรกินเนื้อที่เขาฆ่ามาหรือไม่?
เป็นข้อสงสัยกันมานานว่าแท้จริงแล้ว ชาวพุทธควรกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาหรือไม่ มีความเห็นที่แตกต่างกันมากมายในสังคม ทุกความเห็นล้วนฟังดูน่าเชื่อถือ แต่ความจริงที่สมควรทำตามหลักของศาสนาพุทธนั้นเป็นอย่างไร เราจะมาศึกษาจากบทความนี้กัน
ในบทความนี้จะไม่ลงไปในรายละเอียดของคำว่าบุญหรือบาป บรรลุธรรมหรือไม่บรรลุ ไม่กล่าวไปถึงเรื่องยิบย่อยในความเห็นต่างๆ แต่จะยกเพียงหลักใหญ่ๆของพุทธมาพิจารณาขอบเขตของกุศลและอกุศล คือจะชี้ชัดกันว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว โดยจะยกพระสูตรอ้างอิงทั้งหมด 3 สูตร คือโอวาทปาติโมกข์, มหาปเทส และกาลามสูตร
ซึ่งคำถามว่าการที่ชาวพุทธนั้นจะไปกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นเรื่องสมควรไหม? มีผู้ให้ความเห็นกันมากมายทั้งผู้ที่มีชื่อเสียง มีผู้คนนับถือ ซึ่งความเห็นเหล่านั้นก็คือความเห็น และในบทความนี้เราจะมาวิเคราะห์เรื่องนี้จากคำตรัสของพระพุทธเจ้ากันดูว่า ความจริงนั้นควรจะเป็นเช่นไร
โอวาทปาติโมกข์
เป็นหลักใหญ่ของศาสนาพุทธ เป็นองค์รวมทั้งหมด ขึ้นต้นด้วยการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส โดยลำดับ นั่นหมายถึงประการแรกท่านให้หยุดทำบาปหยุดทำชั่วทั้งหมด คือชั่วนี่ไม่ต้องทำเลย ทำแต่ความดี ไม่ใช่ชั่วบ้างดีบ้างนะ ทำครึ่งๆกลางๆ อันนั้นไม่พ้นทุกข์ ที่ถูกต้องไม่ควรมีบาปเลยแม้น้อย
จะหยิบยกข้อต่อมาคือ “ผู้ที่ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย”สมณะนั้นหมายถึงผู้สงบจากกิเลส คำว่าสมณะในพุทธศาสนาหมายถึงพระอริยะ ซึ่งหมายความว่าผู้ที่จะเป็นพระอริยะได้นั้นย่อมไม่ทำให้สัตว์ใดลำบากเลย ผู้ที่ยังมีส่วนร่วมในการทำให้สัตว์อื่นต้องได้รับความลำบากอยู่ ย่อมไม่ชื่อว่าเป็นผู้สงบเช่นนั้นเอง
และข้อสุดท้ายที่จะยกมาคือ “ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค”พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสให้สาวกจงกินไม่เลือก เห็นเป็นแค่การกิน สักแต่ว่ากินโดยไม่พิจารณาใดๆเลย แต่ท่านให้ประมาณในการกิน ให้รู้ว่ากินสิ่งใดแล้วเกิดกุศล ไม่เป็นโทษ ทำให้เกิดความเจริญ ทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ ซึ่งในที่นี้จะกล่าวแต่ในอาหารที่กินเพื่อเลี้ยงร่างกายเท่านั้น อาหารอื่นๆจะยกไว้
พระพุทธเจ้าและสาวกเป็นตัวอย่างของการเลือกกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่นในกรณีของสุกรมัทวะ อาหารมื้อสุดท้ายของท่าน ซึ่งจำเป็นต้องใช้สุกรมัทวะนี่เองเป็นตัวทำให้เกิดสิ่งที่ท่านประสงค์ ท่านจึงรับสุกรมัทวะนั้นไว้แต่ผู้เดียว และที่เหลือให้นำไปทิ้งอย่าให้สาวกอื่นได้ฉัน เพราะมันมีโทษ แต่ท่านจำเป็นต้องใช้โทษนั้นเพื่อประโยชน์ของท่าน มันมีความซ้อนในเหตุปัจจัย ดังนั้นพุทธวิสัยจึงเป็นเรื่องอจินไตย ไม่ควรคิดเอาเอง ถ้าหมกมุ่นคิดจะเป็นบ้าได้ เพราะมันเกินวิสัยที่คนทั่วไปจะเข้าใจ ให้ทำความเข้าใจตามเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น หรือตัวอย่างของพระสารีบุตร ในช่วงที่ท่านป่วย แม้ท่านจะได้รับยาแก้โรคนั้นมา แต่ท่านก็เห็นว่าควรจะเทยานั้นทิ้ง เห็นไหมว่าท่านไม่ได้ฉันทุกอย่างที่รับมา ท่านประมาณกุศลของท่าน เพราะท่านมีปัญญาเห็นว่ามีสิ่งที่ดีกว่า ท่านเลยไม่เอาสิ่งเหล่านั้นเท่านั้นเอง ถ้าใครจะเอ่ยอ้างว่า กินไม่เลือก กินโดยไม่พิจารณา คงจะไม่ใช่หลักปฏิบัติของพุทธแน่นอน
มหาปเทส
เป็นพระสูตรที่เอาไว้ใช้สำหรับตัดสินว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ด้วยการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย จึงทำให้มีหลายสิ่งสูญหาย บางสิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ ทั้งที่ไม่ตรงกับที่บัญญัติไว้บ้าง คาดเคลื่อนบ้าง เราจึงจะใช้หลักการนี้ตรวจสอบความถูกต้องของความเห็นนั้นๆว่าเป็นไปในทางพ้นทุกข์หรือไม่
และสูตรนี้เหมาะกับกลียุคเช่นนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะมีการตีความบัญญัติต่างๆให้เป็นไปในทางที่เอื้อต่อการที่กิเลสจะเติบโต มีการเลี่ยงบาลี หาช่องว่าง เช่นไม่ได้ตรัสไว้บ้าง ไม่มีระบุไว้บ้าง แปลความให้ผิดเพี้ยนบ้าง เป็นต้น พระสูตรนี้จึงเข้ามาอุดรอยรั่วเหล่านั้นได้สมบูรณ์ เว้นเสียแต่กิเลสนั้นไม่ยอมที่จะอุดรอยรั่วนั้น
ความตอนหนึ่งกล่าวว่า “สิ่งใดไม่ห้ามว่า ไม่ควร แต่สิ่งนั้นเข้ากับสิ่งไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นจึงไม่ควร” พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสว่า ไม่ควรกินเนื้อสัตว์ แต่ “เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา” นั้นมีเงื่อนไขที่เพิ่มเข้ามา เป็นอีกกรณีหนึ่ง คือมีการฆ่าซึ่งผิดหลักของพุทธอยู่ในนั้น การที่เราไปสนับสนุนเนื้อที่เขาฆ่ามานั้นย่อมส่งผลตรงต่อความไม่ควร คือไปสนับสนุนให้เขาฆ่า เอาเงินเอาความหลงผิดให้เขาเป็นแรงผลักดันในการฆ่าต่อ จึงเป็นสิ่งไม่ควร ซึ่งขัดกับหลักของพุทธที่ว่าเมื่อตนเองตั้งอยู่ในศีลในธรรมได้แล้ว ก็ควรจะชักชวนคนอื่นให้อยู่ในศีลธรรมนั้นด้วย การสนับสนุนเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาจึงเป็นความขัดแย้งต่อกุศลของเขา ขัดกับสิ่งที่ควร ดังนั้นจึงสรุปว่า “การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควร”
กาลามสูตร (เกสปุตตสูตร)
ในพระสูตรนี้เป็นสูตรที่จะใช้เพื่อทำความเห็นให้เป็นกลาง มองความจริงตามความเป็นจริง โดยใช้ปัญญาเข้าถึงการปฏิบัตินั้นๆจนรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ โดยไม่ให้รีบปักใจเชื่อ หรือยึดมั่นถือมั่นในคำกล่าวของใครต่อใครแม้คนผู้นั้นจะเป็นพระพุทธเจ้าก็ตามที
ในการวิเคราะห์พระสูตรนี้จะยกข้อความในพระไตรปิฎกเข้ามาประกอบในการอ้างอิง เพื่อความเป็นสากล เข้าใจตรงกันในหมู่ชาวพุทธ
๑.”พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย เราได้กล่าวคำใดไว้ว่า ดูกรกาลามชนทั้งหลาย มาเถอะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา … อย่าได้ยึดถือโดยนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย “
* * * ประการแรก ให้ตัดความสำคัญของแหล่งข้อมูลเสียก่อน เพราะมันจะหลอกเราได้ แต่ต้องรู้ว่าสิ่งใดเป็นอกุศล มีโทษ มีคนติเตียน ทำแล้วไม่เป็นประโยชน์ …กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานี่มันเป็นสิ่งดีไหม มีผลเสียไหม มันเบียดเบียนไหม ทุกวันนี้ยังมีคนติอยู่ไหม เป็นประโยชน์ยังไง
ในสมัยพุทธกาล มีหลักฐานอ้างอิงอย่างน้อยสองครั้งที่พระพุทธเจ้าโดนกลุ่มที่คิดต่างประณามว่า ท่านกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา เขาเหล่านั้นโพนทะนาไปทั่วเมือง เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ จนหมอชีวกไปถามพระพุทธเจ้าว่าจริงไหม ท่านก็ตอบว่า “เราถูกกล่าวตู่” ซึ่งท่านจะกินเนื้อนั้นโดยมีเงื่อนไขที่ค่อนข้างรัดกุมมาก คือไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ ในกรณีเนื้อที่ไม่ได้ฆ่ามาจะยกไว้ก่อนไม่กล่าวในบทความนี้ แต่เนื้อที่ถูกฆ่ามานั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะฉัน เพราะท่านตรัสไว้ชัดเจนว่า ผู้ประพฤติธรรมในศาสนาของท่านย่อมรังเกียจการฆ่า การผิดศีล การเบียดเบียน ย่อมไม่ทำเช่นนั้นหรือร่วมวงบาปกรรมนั้นด้วยเช่นกัน
ในอีกนัยหนึ่ง การที่กลุ่มที่เห็นต่างและต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของพระพุทธเจ้าออกมาประณามท่านว่ากินเนื้อสัตว์นั้น เป็นตัวยืนยันชัดอยู่แล้วว่าท่านไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เพราะถ้าท่านกิน จะประณามทำไมให้เสียเวลา ถ้าคนเขารู้ว่าท่านกินก็คงจะเป็นเรื่องปกติ แต่อันนี้มันไม่ใช่เรื่องปกติ เป็นเรื่องที่เขาจ้องจับผิดหาเรื่องมานาน แต่หาหลักฐานไม่ได้สักที พอมีหลักฐานนิดๆหน่อยๆก็ป่าวประกาศเลย ทั้งๆที่จริงท่านจะกินหรือไม่กินก็ไม่มีใครรู้ ดังนั้นจึงสรุปว่า การกินเนื้อจึงไม่ใช่เรื่องปกติของท่าน
ให้สังเกตว่าสมัยพุทธกาล คนที่กินเนื้อจะโดนประณาม แต่ในสมัยปัจจุบันกลับเป็นเรื่องที่ตีกลับแบบหน้ามือเป็นหลังมือ กลายเป็นสมัยนี้ใครกินเนื้อเป็นเรื่องธรรมดา ใครๆเขาก็ทำกัน แต่ถ้าใครลุกขึ้นมาประกาศว่าชาวพุทธไม่ควรกินเนื้อ คนนั้นจะโดนประณามทันที เรื่องนี้ก็น่าคิด…
๒.”พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความไม่หลง เมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ฯ
กา. เพื่อประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ไม่หลง ไม่ถูกความหลงครอบงำ
มีจิตไม่ถูกความหลงกลุ้มรุมนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จสิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่หลง ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ฯ
กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ”
* * * ประการที่สองคนผู้ไม่หลงย่อมชักชวนให้ผู้อื่นตั้งตนอยู่ในศีล แล้วคนที่ทำไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่สนใจใยดีทั้งๆที่ผู้อื่นยังทำผิดศีล ก็ยังสนับสนุนอยู่ เรียกว่าชักชวนให้ผู้อื่นเป็นอย่างนั้นหรือ … ไม่ใช่อยู่แล้ว เพราะคนที่หลงย่อมไม่สามารถชักชวนคนให้มีศีลได้ ไม่สามารถเอื้อให้คนมีศีลได้ ไม่สามารถสร้างชุมชนหรือสังคมให้มีศีลได้ เพราะถ้าเขามีศีลแล้วใครจะฆ่ามาให้กิน??
๓. “ดูกรกาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้น ปราศจากความโลภ ปราศจากความพยาบาท ไม่หลงแล้วอย่างนี้ มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกข์เหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีใจประกอบด้วยกรุณา … มีใจประกอบด้วยมุทิตา … มีใจประกอบด้วยอุเบกขาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔”
* * * ประการที่สาม สรุปกันตรงๆเลยพระอริยะไม่มีความเบียดเบียน ผู้ที่จะเป็นพระอริยะได้ย่อมไม่ดำรงอยู่อย่างเบียดเบียน เพราะเป็นอกุศลด้วย มีคนถือสาด้วย วกกลับไปติดอยู่ในประการแรก ที่สำคัญการส่งเสริมเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานี่มันคือการเมตตากรุณาต่อใครกัน? การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นความเมตตาไปทั่วทิศแก่สัตว์ทุกเหล่าเช่นนั้นหรือ? สัตว์จะยินดีในความเมตตากรุณาเช่นนั้นหรือ? ก็คงมีแต่คนที่หลงผิดเท่านั้นที่เข้าใจว่าสัตว์เหล่านั้นยินดีที่ได้ถูกฆ่าเพื่อกิน
….ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องกุศล อกุศล เรื่องดีและเรื่องชั่วเท่านั้น การใช้ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมนั้นแยกแยะดีชั่วเป็นพื้นฐานของความเจริญ สิ่งดีให้เข้าถึง สิ่งชั่วให้ละเว้น
สมัยก่อนนี้ไม่ได้มีพระไตรปิฎก สาวกแต่ละท่านมีโอกาสฟังธรรมของพระพุทธเจ้าไม่มากนัก อาจจะไม่ได้หลากหลายเท่าในปัจจุบันอย่างเราด้วย ซึ่งอาจจะทำให้ตกหล่นในบางเรื่องบางตอนไม่ได้รับรู้หลักเกณฑ์ระบุไว้แน่ชัดว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก แต่ท่านเหล่านั้นก็ได้ใช้ปัญญาของตัวเองพิจารณาลงไปว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ เป็นกุศล หรือสิ่งใดเป็นโทษ เป็นอกุศล ด้วยความเห็นที่มองโลกตามความเป็นจริง ไม่ใช่สิ่งที่ตนเองอยากให้เป็น
เรื่องกุศลกับอกุศล คนที่หลงจะแยกไม่ออก เขาจะแยกดีแยกชั่วไม่ได้ จะเห็นกงจักรเป็นดอกบัว ตีทิ้งกุศล กอดเก็บอกุศล จนบางครั้งถึงกับประณามสิ่งที่เป็นกุศล แล้วโอ้อวดความเห็นผิดของตนด้วยก็มี ความหลงนี่มันหลงได้ลึกและอันตรายตั้งแต่หลงในธรรม จนกระทั่งหลงว่าตนเองบรรลุธรรม และสิ่งเดียวที่จะชี้ชัดความจริงได้ มีเพียงแค่กุศล และอกุศล เป็นเรื่องสามัญของโลกที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนั้นไม่ดี เป็นเพียงแค่สมมุติสัจจะที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ยังไม่ต้องถึงขั้นปรมัตถสัจจะ ศาสนาพุทธไม่ได้ทิ้งสมมุติสัจจะ พระพุทธเจ้าท่านยังอนุโลมให้กับเรื่องบางเหตุการณ์ที่ผู้คนเขาถือสา ผู้คนเขาติเตียนมาเป็นข้อปฏิบัติและวินัยต่างๆ
ดังนั้นจะสรุปข้อธรรมทั้งหมดลงมาเพียงแค่ว่า “แยกดี แยกชั่ว” ให้ได้ก่อน แล้วสิ่งไหนดีให้เข้าถึงสิ่งนั้น และสิ่งไหนชั่วก็ให้ออกจากสิ่งนั้น ซึ่งเป็นข้อสรุปของกาลามสูตรในกรณีข้อมูลมีความขัดแย้ง สับสนในเนื้อหาและความหมายต่างๆ
– – – – – – – – – – – – – – –
7.10.2558