Tag: ความเป็นกลาง
การจัดการกับความชิงชังรังเกียจ ในคนที่เข้ามาจีบ
ความเกลียดก็คือความไม่ชอบที่สะสมจนมีดีกรีที่เข้มข้นขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่รำคาญ ไปจนถึงอาฆาตมุ่งร้าย การสะสมความชัง คือการสะสมบาปให้ตัวเอง ให้ระลึกไว้ว่า ยิ่งโกรธ ยิ่งเกลียดใคร ก็ยิ่งสร้างบาป สร้างขยะ ผลักจิตวิญญาณของตนเองให้จมลงสู่ความเป็นคนพาลลึกยิ่งขึ้นโดยลำดับ
ถ้าเกลียดมาก มันก็ผูกมาก มันคือสภาพคู่ของรักและชัง มันจะเป็นเครื่องพาวน พาหลง เดี๋ยวก็เป็นฝ่ายจีบ เดี๋ยวก็เป็นฝ่ายถูกจีบ หลงเล่นอินกับบทบาทวนไปวนมาแบบนี้ไม่รู้จบเพราะความเสพในรสของความชอบความชัง การจะออกจากอารมณ์ติดลบที่ขุ่นมัวเหล่านี้ก็มีเพียงการปฏิบัติไปสู่ความเป็นกลางของจิต คือไม่ชอบ และไม่ชัง
ความชังนั้นมีรสสุขในคนโง่ เคยเห็นไหมที่คนเขาไม่ชอบใคร แล้วเขาตั้งวงนินทาว่าร้ายกัน ดุเด็ดเผ็ดมัน นั่นแหละ ความชังมันมีรสให้คนหลงเสพ หลงว่าชังแล้วเป็นสุข ทั้ง ๆ ที่มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย การโกรธ เกลียด ชิงชัง ให้ร้าย นินทา ไม่ใช่วิถีที่จะพาให้ใครไปพ้นทุกข์ได้เลย
การยับยั้งความชัง คือไม่ให้อาหารมัน คือไม่สร้างความชังเพิ่ม ไม่ต้องไปชักชวนใครให้ไปชังเขาเพิ่ม ให้รับรู้ตามจริงว่าเขาก็เป็นคนแบบนั้น เขาก็เป็นของเขาอย่างนั้น แล้วก็เลิกยุ่งไป ห่างไป หรือถ้าเขาดูจะเป็นคนใจกว้างพอที่เราจะพูดบอกได้ ก็ลองพูด ลองแจ้งเขาว่าที่เขาทำนี่มันเบียดเบียนเราอย่างไร มันทำให้เราต้องระวัง เป็นอยู่ไม่ผาสุกอย่างไร ก็ปรับภาษาเอาตามที่เหมาะ แต่ถ้าพูดไม่ได้หรือพูดแล้วไม่ดีขึ้น ก็ให้ทำตัวเองให้ดี ถือศีลให้มากขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้าอยากห่างไกลคนผิดศีล ก็ให้มีศีล ดังนั้นถ้าอยากห่างไกลคนมาจีบ ก็ตั้งตนเป็นคนโสดให้มันมั่น ๆ แน่น ๆ พยายามลดสิ่งที่จะดึงดูดเขา เท่าที่จะทำไหว โดยภาพรวมแล้ว ในเรื่องคู่ชู้สาว กามจะเป็นกิเลสที่เด่นชัดขึ้นมา ดังนั้นการแต่งตัวให้เหมาะสม ไม่แต่งเติมความสวยงาม ไม่แสดงความสำคัญว่าตนงามหรือดูดี ไม่มัวเมาในร่างกายของตน คนธาตุเดียวกันย่อมจะดึงดูดกัน เราก็เปลี่ยนตัวเองไปเป็นธาตุที่เจริญขึ้น สูงขึ้น ถ้าปฏิบัติศีล ๕ อยู่ก็พยายามขยับขึ้นไปศีล ๘ จะพ้นภัยมากขึ้น เพราะมันก็จะแตกต่างกันไปโดยธรรม ไม่เข้ากัน ไม่เหมาะกัน เดี๋ยวเขาก็จะหายไป
การพิจารณาออกจากความชัง คือการพิจารณาประโยชน์ของการที่เขามาจีบที่มีต่อตัวเรา เช่น เราก็จะได้หัดล้างอัตตา ได้ล้างความน่ารังเกียจในใจเรา ซึ่งมันแอบเหม็นเน่าอยู่ในใจเรา แล้วเราไม่ยอมล้าง การเข้ามาจีบของเขาก็เป็นเพียงแค่เครื่องกระทุ้ง เหมือนมือที่มาเปิดถังขยะเปียก ที่หมักหมมเหม็นเน่ามานาน กลิ่นเหม็นที่คลุ้งหรือความทุกข์ไม่ได้มาจากคนเปิด แต่มาจากการหมักขยะเปียกหรืออัตตาของเรานั่นแหละ
พิจารณาโทษของความชังของเรา ว่าจะทำให้เกิดทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียต่อตนเองอย่างไรบ้าง เช่น ชังเขาไป เราก็ไม่เจริญ เราจะยิ่งต่ำลงไปอีก และในมุมของการพิจารณากรรม การชังยังสร้างวิบากร้ายผูกเวรผูกกรรมกับเขาไว้อีก ต้องเจอแบบนี้อีกหลายภพหลายชาติจะเอาอีกหรือ? ทุกข์ซ้ำ ๆ นี่มันสุขอย่างไร?
พิจารณาไตรลักษณ์ว่า ที่เขามาจีบนี่มันไม่เที่ยง เดี๋ยวมาแล้วเดี๋ยวก็ไป เขาไม่จีบไปถึงชาติหน้าหรอก อย่างเก่งก็ได้แค่ตามจีบแค่ชาตินี้ ก็ทน ๆ เอา แล้วการจะไปยึดให้มันเที่ยงคือให้มันผาสุกแบบตลอดเวลานี่มันเป็นไปไม่ได้ ชีวิตมันจะเป็นอะไรก็ได้ มีคนมาจีบก็ได้ ไม่มาจีบก็ได้ มันจะเป็นทุกข์เพราะว่ามันยึดสภาพที่เป็นสุข ยึดสวรรค์ และให้เข้าใจว่าเขามาจีบนี่เขาเป็นทุกข์นะ ไม่ใช่เราต้องเป็นทุกข์ ที่เราทุกข์เพราะเรายึด แต่ถ้าเราไม่ยึดว่าจะมาจีบหรือไม่มา ยังไงก็ได้ ก็เหลือแค่เขาที่เป็นทุกข์ เพราะเขาอยากได้เรา เขาก็ต้องเสียเวลาเสียสมองไปปรุงเรื่องไร้สาระมาจีบเรา อันนี้ก็น่าเห็นใจเขา เราก็ต้องเมตตาเขา ใจกว้างให้มาก ๆ ให้เข้าใจเขา ยอมรับความจริงว่าเป็นกรรมที่เราทำมา เราก็ต้องชดใช้ โดยผ่านสิ่งที่เขาแสดง เรากระทบแล้วเราก็รับทราบ เห็นใจ เข้าใจ วางใจ เพราะเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ก็ยึดไว้เป็นตัวตนหรือเป็นสุขเป็นทุกข์ของเราไม่ได้เลย จะไปกำหนดว่าเจอแบบนี้ฉันจะรักเท่านี้ หรือเจอแบบนี้ฉันจะเกลียดเท่านั้น มันก็ไม่มีวันจะเป็นอย่างนั้นตลอดไป แม้อยากจะยึดมั่นถือมั่น แต่มันก็จะเปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าเราจะโกรธเกลียดชังชิงแค่ไหน สุดท้ายมันก็จะสลายหายไปอยู่ดี เหตุการณ์เป็นแค่สมมุติ บาปหรือความชิงชังเป็นของจริง
เราก็ต้องขยันพิจารณาธรรมที่ได้ฟังและศึกษามานี่แหละซ้ำ ๆ ไม่เข้าใจก็ไปอ่าน ไปฟัง ไปถามใหม่ แล้วเอามาประมวลผลให้เหมาะกับกิเลสตัวเอง วันหนึ่งถ้าปัญญาถึงรอบ วิบากที่กั้นไว้หมด ขยันตักออกเดี๋ยวมันก็หมดของมันเอง แต่ถ้าไม่เอากิเลสออก มันก็เหม็นเน่าอยู่อย่างนั้น เขามาจีบทีไรก็ขุ่นข้องหมองใจไปทุกที
5.2.2563
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
ประพฤติตนเป็นโสด คือความเป็นกลาง
ได้ไปเห็นความเห็นที่คนเขามองว่าการปฏิบัติตนเป็นโสด มันจะออกไปทางโต่ง ๆ ตามความเห็นของเขา อ่านแล้วก็เห็นใจเขา เพราะจริง ๆ ประพฤติตนเป็นโสดนั้น คือความเป็นกลาง เป็นทางพ้นทุกข์อย่างหาทางอื่นไม่ได้เลย
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “คนที่เขาประพฤติตนเป็นโสด คนเขาก็รู้กันว่าเป็นบัณฑิต” นั่นหมายถึงก็มีแต่คนที่มีปัญญาเท่านั้นแหละ ที่จะตั้งตนอยู่ในความเป็นโสด ท่านยังตรัสไปต่ออีกว่า “ส่วนคนเขลาฝักใฝ่ในเมถุนย่อมเศร้าหมอง” นั่นก็หมายถึงคนที่เขาไม่มีปัญญา หรือที่เรียกกันว่าคนโง่ คนหลง เขาก็จะเศร้าหมองเพราะหมกมุ่นอยู่กับเรื่องการอยู่เป็นคู่ ๆ อยู่กับเรื่องคนคู่
ท่านยังตรัสไว้ใน พระไตรปิฎก เล่ม 25 ข้อ 29 ไว้อีกว่า “บุคคลผู้มีความเกษม ไม่มีเวร ไม่มีภัย เราเรียกว่า เป็นบัณฑิต”
คนที่ประพฤติตนเป็นโสดนี่ทำไมถึงเป็นบัณฑิต แล้วทำไมบัณฑิตถึงไม่มีภัย นั่นก็เพราะการประพฤติตนเป็นโสด จะไม่สร้างเวรแค่ใคร ไม่มีภัยแก่ใคร เพราะไม่ทำให้ใครหลงรัก หรือหลงชัง ไม่ไปเป็นข้าศึกในวัฏสงสารอันยาวนานของเขา ออกจากวังวนแห่งการหลงสุขหลงเสพ อันเป็นธรรมชาติของสัตว์ทั่วไป
การที่คนเข้าไปรักกัน ไปแสดงความรักกันนั้น ก็ยังสร้างเวรสร้างภัยให้แก่กันอยู่ ด้วยการมอมเมาด้วยกาม ด้วยตัณหา ด้วยราคะ ด้วยอัตตา ก็ตาม ดังนั้นผู้ที่สร้างเวรสร้างภัย จะเรียกว่าเป็นบัณฑิตก็ไม่ใช่ จะเรียกว่าตั้งตนอยู่บนทางสายกลางก็ไม่ใช่ จะเรียกว่าปฏิบัติสู่ความเจริญก็ไม่ใช่
ทางสายกลางในมิติของคนโสดคนคู่นั้น จะอยู่ตรงการประพฤติตนเป็นโสด ส่วนทางโต่งสองด้านนั้น หนึ่งคือฝั่งของการหลงไปในทิศของกาม จะหลงใหลหมกมุ่นใคร่อยากในเรื่องคู่ครอง สองคือทิศของอัตตา จะเป็นความยึดดี ถือดี หลงดี จนเกิดความชังขึ้นในจิต อธิบายง่าย ๆ ว่าเกลียดความรัก เหม็นความรักอะไรทำนองนี้ เห็นเขารักกันก็จะไม่ชอบใจ อันนี้เป็นทางโต่งในทิศของอัตตา
แต่บัณฑิตที่ประพฤติตนเป็นโสดนั้น จะเห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นว่าเขาติดกามก็เห็นใจเขา เพราะเขาหลงไปสุข ไปเสพกับสิ่งลวง เห็นกงจักรเป็นดอกบัว แล้วก็มัวเมาอยู่กับกาม เขาก็ให้ค่ามัน ให้ความสำคัญกับมันเป็นธรรมดา แค่เขาหลงเขาก็ทุกข์พออยู่แล้ว มันก็น่าเห็นใจ
ส่วนทิศอัตตานี่ก็น่าสงสารอีก เขาจะยึดดีจนอึดอัด กดดัน บีบคั้น มีแต่รังสีอำมหิต เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นด้วยความยึดดี มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรใครเลย ทำลายทั้งตัวเอง และคนรอบข้าง ดีไม่ดี ตบะแตก อดทน อดกลั้นการมีคู่ไหมไหว กลับไปหาฝั่งกามก็มีเยอะเหมือนกัน ก็คล้าย ๆ พวกทำเป็นเก๊ก แล้วสุดท้ายใจแตก ก็น่าเห็นใจเขา
ความจริงมันก็ไม่มีอะไรน่ายึด เพียงแต่มันจะมีจุดอาศัยที่พอดี เป็นกลาง เป็นความเบาสบาย ถ้าทั้งสองฝั่งคือพื้นที่ที่มีไฟลุกเผาใจอยู่ทุกวี่วัน การประพฤติตนเป็นโสดจนหลุดพ้นจากความอยากมีคู่ก็คือตรงกลางระหว่างนรกทั้งสองฝั่ง เป็นแดนสวรรค์ของจิตที่พ้นจากความเดือดเนื้อร้อนใจ
ก็อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านว่า บัณฑิตคือผู้ที่มีความเกษมสำราญในธรรม ไม่มีเวรไม่มีภัยแก่ใคร ใครจะมีคู่ก็เข้าใจ ใครจะชังการมีคู่ก็เข้าใจ แต่ก็จะทำงานของตนต่อไปคือเผยแพร่สิ่งที่ดี ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ทำกุศลให้ถึงพร้อม” เมื่อมีความรู้ ก็ควรจะแบ่งปันแจกจ่ายเป็นธรรมทาน เก็บไว้ หวงไว้ ซ่อนไว้ ไม่แบ่งแจก ก็เหมือนพรามห์ผู้เห็นผิดในโลหิจจสูตร ที่เห็นว่าผู้บรรลุธรรมนั้นไม่ควรเปิดเผยธรรม
พระพุทธเจ้ายังตรัสไว้อีกว่า ธรรมะของท่าน ยิ่งเปิดเผย ยิ่งเจริญ แต่คนที่เขาไม่มีปัญญาเขาจะไม่ชอบใจหรอกนะ เขาจะค้านแย้ง ดังที่ท่่านได้ตรัสไว้ว่า ธรรมที่พาพ้นทุกข์ อสัตบุรุษจะไม่ยินดี ไม่ชอบใจ ให้พาออกจากกาม ออกจากอัตตานี่เขาจะไม่เอา เขาจะแย้ง มันก็เป็นธรรมดาของโลก ที่จะมีความเห็นทั้งสองทางมาค้านกัน
ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิดต่าง จะเข้าใจว่าทางสายกลางกลางกามก็เป็นสิทธิ์ที่พึงทำได้ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะทำตามใจของตน และผลกรรมก็เป็นสิทธิ์ที่ทุกคนพึงได้รับเช่นกัน ทำดีก็ได้รับผลดีสะสมไว้ ทำชั่วก็ได้รับผลชั่วสะสมไว้ ก็ให้อิสระในการเลือกกันเองว่าจะทำอะไรแบบไหน
การวางเฉย
“การวางเฉย” บางครั้งก็ไม่ใช่สิ่งที่สมควรเสมอไป เพราะการวางเฉยนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุปัจจัย เช่นวางเฉยเพราะไม่อยากเสียลาภ ยศ สรรเสริญ เพราะการติหรือชมอะไรบางอย่างก็อาจจะทำให้เสียโลกธรรมเหล่านั้น
หรือวางเฉยเพราะโง่ ไม่รู้ว่าเรื่องใดควรติ เรื่องใดควรชม เลยทั้งไม่ชมไม่ติ อยู่เฉยๆดีกว่า พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง อะไรแบบนี้
หรือวางเฉยเพราะมีความเห็นผิด มีความเข้าใจว่าศาสนาพุทธต้องมีความเป็นกลางไม่เข้าข้างใคร ทำตัวเฉยๆดีที่สุด (มิจฉาทิฏฐิ)
การติและการชม
พระพุทธเจ้าตรัสแสดงบุคคล ๔ จำพวกคือ
๑. บุคคลผู้กล่าวติเตียนผู้ที่สมควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม แต่ไม่กล่าวชมผู้ที่ควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม
๒. บุคคลผู้กล่าวชมผู้ที่สมควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม แต่ไม่กล่าวติเตียนผู้ที่ควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม
๓. บุคคลผู้ไม่กล่าวติเตียนผู้ที่สมควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม และไม่กล่าวชมผู้ที่ควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม
๔. บุคคลผู้กล่าวติเตียนผู้ที่สมควรติตามจริงในเวลาที่เหมาะสม และกล่าวชมผู้ที่สมควรชมตามจริงในเวลาที่เหมาะสม
โปตลิยะปริพาชก ได้ยินก็ทูลว่า ตนชอบใจ บุคคลประเภทที่ ๓ (ไม่ติในสิ่งที่ควรติ ไม่ชมในสิ่งที่ควรชม) เพราะเข้าใจว่าเป็นการปล่อยวาง,วางเฉย (อุเบกขา)
พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ชอบบุคคลประเภทที่ ๔ (ติในสิ่งที่ควรติ ชมในสิ่งที่ควรชม) เพราะมีความประณีตกว่า งามกว่า เพราะรู้กาลเทศะในการติและชม ปริพาชกได้ยินดังนั้นก็ทำความเห็นตามพระพุทธเจ้า กล่าวชมเชยพระพุทธเจ้าว่า “เหมือนหงายของที่คว่ำ, เปิดของที่ปิด, บอกทางแก่คนหลงทาง, เหมือนจุดไฟในที่มืด” และปฏิญาณตนว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
(พระไตรปิฎก เล่ม ๒๑ “โปตลิยสูตร ข้อ ๑๐๐)
กะลา 3 ใบ
กะลา 3 ใบ
ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม โดยการใช้การกินมังสวิรัติมาเป็นโจทย์และสามารถประยุกต์ใช้กับกิเลสอื่นๆได้ (* เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจปฏิบัติธรรม )
การปฏิบัติธรรมตามแนวทางของศาสนาพุทธนั้นดำเนินไปเพื่อ “ความเป็นกลาง ไม่โต่งไปทางด้านกามและอัตตา” คือไม่ไปเสพตามกิเลสและไม่ทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ซึ่งในบทความนี้จะมาอธิบายความแตกต่างของการปฏิบัติธรรมโดยใช้มังสวิรัติกับการกินมังสวิรัติโดยทั่วไป
กะลา…
กะลา 3 ใบ จะถูกแทนด้วยสภาวะสามแบบ ใบแรก ก็คือกามในเนื้อสัตว์ การมีความอยากกินเนื้อสัตว์ ที่ยังไปกินเนื้อสัตว์นั้นๆอยู่ ยังไม่สามารถเลิกเนื้อสัตว์ได้
ใบที่สอง จะเป็นอัตตาในเนื้อสัตว์ คือความยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นั้นจำเป็นต่อชีวิต เนื้อสัตว์มีประโยชน์ ไม่กินเนื้อสัตว์จะป่วย กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ต้องมีเนื้อสัตว์ หรือความยึดในมิติอื่นๆ เช่นยึดในกามคุณ คือติดรสชาติของเนื้อสัตว์ หรือยึดในโลกธรรม คือเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่แสดงความอุดมสมบูรณ์ของชีวิต ยิ่งกินเนื้อที่คนเขาว่าดีเท่าไหร่คนอื่นก็จะยิ่งชื่นชมและอิจฉามากเท่านั้น
ส่วนใบที่สาม จะเป็นอัตตาในมุมยึดดี เป็นความรู้สึกว่าฉันเป็นคนดี ฉันไม่เบียดเบียนสัตว์ เป็นความยึดมั่นถือมั่นว่าเราไม่ควรเบียดเบียนสัตว์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งวัตถุดิบทางตรงและสังเคราะห์ หรือยึดมั่นถือมั่นจนกระทั่งไม่ยอมให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของเซลล์สัตว์เข้ามาร่วมในอาหารที่กิน ซึ่งอาจจะมีโลกธรรมเข้ามาเป็นแรงผลักดันในการยึดเช่น อยากได้ชื่อว่าเป็นคนดี อยากให้คนชม อยากให้คนนับถือ
…ซึ่งกะลา 3 ใบนั้นแท้จริงแล้วก็คือภพที่คนเข้าไปติดไปยึดอยู่นั่นเอง เราจะมาอธิบายภาพกันต่อไปเพื่อให้เห็นรายละเอียดของความต่างระหว่างคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ คนที่เลิกกินเนื้อสัตว์ และคนที่ปฏิบัติธรรม
ก). คนที่ยังกินเนื้อสัตว์
คนที่ยังมีความอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ โดยทั่วไปแล้วก็มักจะต้องกินตามความอยาก จะอยู่ในกามภพของเนื้อสัตว์ คือยังไปเสพ ไปติด ไปยึดในการกินเนื้อสัตว์อยู่ ถ้าแบบหยาบๆก็คือเสพติดเนื้อสัตว์ขนาดว่าต้องตระเวนหาเนื้อที่เขาว่าดีมากิน ร้านไหนดีก็ตามไปกิน ถ้าแบบกลางๆ ก็คนกินเนื้อสัตว์ทั่วไป อย่างดีหน่อยก็พวกรักสุขภาพที่กินผักมากกว่ากินเนื้อสัตว์
ถึงแม้ว่าจะเป็นคนที่เห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ แต่ถ้ายังอยากกินเนื้อสัตว์จนต้องไปกินอยู่ก็ยังถือว่าอยู่ในภพนี้ ยังไม่ตัดให้ขาด ยังวนเวียนอยู่ในการกินเนื้อสัตว์ แม้จะเลิกกินได้เป็นสิบปียี่สิบปี แล้ววนกลับมากินด้วยความอยากก็ถือว่ายังไม่สามารถทำลายกามภพได้
คนส่วนมากในสังคมปัจจุบันจะอยู่ในภพนี้ แม้ว่าเขาจะเห็นโทษหรือไม่เห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ก็ตาม ภาพที่เห็นก็คือยังกินเนื้อสัตว์อยู่ แต่สิ่งที่ซ่อนไว้ข้างใต้นั้นก็คืออัตตาที่หลงว่าการกินเนื้อสัตว์ดี การกินเนื้อสัตว์เป็นสุข เมื่อมีการยึดมั่นถือมั่นนี้ จึงส่งผลให้เกิดการพาตัวเองไปเสพเนื้อสัตว์ตามที่ใจอยาก
ข). คนที่เลิกกินเนื้อสัตว์
เมื่อเห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์มากเข้า คนบางพวกจึงหันมาลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจ พยายามที่จะเลิกกินเนื้อสัตว์นั้นเสียทั้งหมด ซึ่งหลายคนก็สามารถผ่านพ้นกามภพนั้นได้ นั่นหมายถึงไม่ไปกินเนื้อสัตว์อีกเลย
กระบวนการเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติธรรมแต่อย่างใด แต่เป็นสามัญสำนึกหรือการยึดดีถือดีโดยธรรมชาติของคน เป็นความดีทั่วไปที่เข้าใจได้ไม่ยากว่าการกินเนื้อสัตว์คือการทำสิ่งไม่ดีทางอ้อม อยากทำดีก็เลิกกินเนื้อสัตว์มันก็เท่านี้
ความอยากให้เกิดดีนั้นคือหมายให้เกิดผล แต่เหตุคือจะต้องเลิกกินเนื้อสัตว์ ด้วยแรงบันดาลใจอะไรก็ได้เช่น ไม่อยากเบียดเบียน สงสารสัตว์ รักษาสุขภาพ ฯลฯ แต่ภาพสุดท้ายที่ได้จากการเลิกกินเนื้อสัตว์คือจะได้ภาพคนดีติดมาไม่มากก็น้อย ซึ่งถ้าใครพอใจในจุดนี้ก็มักจะจบที่ตรงนี้ กินมังสวิรัติได้ กินเจได้สมบูรณ์ก็จบไป ไม่ศึกษาต่อ เพราะได้อยู่ในภพคนดีที่ตนต้องการแล้ว
การเกิดภพเช่นนี้ไม่ใช่การทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ แต่เป็นการกดข่มความอยากกินเนื้อสัตว์ไว้ด้วยความยึดดี เหมือนเอากะลาคนดีมาครอบความชั่วไว้ มันก็จะเห็นแต่ความดี ส่วนที่ซ่อนอยู่นั้นไม่รู้ ซึ่งความยึดดีถือดีนี้จะสามารถกดข่มความอยากจนมิดเลยก็ได้
การกดข่มด้วยความยึดดีจะเปลี่ยนสภาพกามในเนื้อสัตว์มาเป็นกามในผัก แต่จะพัฒนาจนปรุงแต่ง รูปร่าง กลิ่น สี รส ของอาหารให้เหมือนเนื้อสัตว์ได้ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสังเคราะห์ สิ่งเหล่านี้คือหลักฐานว่าความอยากไม่ตาย เพียงแต่กดมันไว้ด้วยความยึดดี พอมันอยากแต่ไม่ได้กินสิ่งที่อยากมันก็สร้างสิ่งทดแทนมาเท่านั้นเอง ซึ่งสมัยนี้สิ่งทดแทนเหล่านี้หาได้ง่ายและราคาไม่แพงจนเกินไป
ทีนี้ปัญหามันก็จะอยู่ที่ความยึดดีนี่แหละ ถามว่าคนที่อยู่ในภพเช่นนี้เลิกกินเนื้อสัตว์ทั้งชีวิตได้ไหม? ก็จะบอกเลยว่าได้ เพราะเวลายึดดีถือดีนี่มันยึดกันข้ามภพข้ามชาติได้เลย บางคนเกิดมาชาตินี้แค่คิดก็สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ได้เลย อาการแบบนี้คือมีพลังกดข่มสะสมมามาก
แต่ถ้าถามเรื่องกิเลสก็จะไม่รู้ชัดแจ้ง ถามเรื่องความอยากก็จะไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะไม่ได้ใช้ปัญญาในการทำลายกิเลส แต่ใช้พลังสมถะ พลังจิต พลังเจโต อัตตาฝ่ายดีในการกดข่มความอยาก จึงเกิดสภาพ กดดัน อึดอัด ไม่โปร่ง ไม่โล่ง เจ้าระเบียบ ไม่ปล่อยวาง ติดดียึดดี เต็มไปด้วยกฎ ไม่ยืดหยุ่น แข็งกร้าว เอาแต่ใจ หมกมุ่น ถือตัวถือตน โดนด่าไม่ได้ โดนดูถูกไม่ได้รังเกียจคนกินเนื้อ รังเกียจที่ต้องกินเนื้อสัตว์ ทุกข์เมื่อเห็นเมนูเนื้อสัตว์ฯลฯ
ยิ่งคนที่มีอัตตามากและฝึกสมถะมามากจะสามารถกดกามภพ คือไม่ไปเสพ กดรูปภพ คือไม่คิดจะเสพ ลงได้แบบไม่ทันรู้ตัว คือกดข่มแบบอัตโนมัติ เป็นไปตามสัญชาติญาณ เอาง่ายๆว่าจะดูสงบไม่หวั่นไหวเหมือนผู้บรรลุธรรมกันเลยทีเดียว ทั้งที่จริงๆแล้วเป็นสภาพของจิตที่กดข่มความชั่วโดยอัตโนมัติแล้วสติไม่ทันรู้ตัวก็หลงว่าตัวเรานั้นพ้นจากอัตตาได้เช่นกันบางทีหลงเข้าใจว่าการกระบวนการทำงานของจิตเหล่านั้นคือสติไปด้วย ทั้งๆที่สภาวะใดๆที่ทำโดยอัตโนมัติและไม่มีปัญญานั้นไม่มีสติเป็นองค์ประกอบทั้งนั้น
จึงขอยืนยันเลยว่าการลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจได้ทั้งชีวิต ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติธรรมที่ถูกแนวทางพุทธแม้แต่นิดเดียว แม้ผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรม ไม่มีศาสนา หรือมิจฉาทิฏฐิที่เสื่อมที่สุดในโลกก็สามารถที่จะไม่กินเนื้อสัตว์ได้
ค). คนที่ปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรม โดยใช้วิถีปฏิบัติของพุทธศาสนาเข้ามาเรียนรู้กิเลส โดยใช้การลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติเข้ามาเป็นโจทย์ในการฝึกปฏิบัตินั้นจะต่างออกไปจากการใช้ความยึดดีเข้ามากลบความชั่ว
เพราะการปฏิบัติที่ถูกต้องไปโดยลำดับนั้น จะให้ผลคือการทำลายทีละภพไปตามลำดับตั้งแต่เลิกกินเนื้อสัตว์ ทำลายความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ และทำลายความติดดี ยึดดีถือดีว่าฉันเป็นคนที่เลิกกินเนื้อสัตว์
นั่นคือการทำลายแต่ละภพที่จิตได้ยึดมั่นถือมั่นไว้โดยลำดับ ซึ่งจะต่างไปจากการกดข่ม เพราะมีขั้นตอนและกระบวนการที่เป็นไปโดยลำดับตั้งแต่หยาบ กลาง ละเอียด ไม่ได้ใช้อัตตาเข้ามากดข่มความชั่วแล้วเลิกกินเนื้อสัตว์ในทันที
ผลที่แตกต่างจากวิธีที่ใช้อัตตาเข้ามาช่วยในการเลิกกินเนื้อสัตว์ คือมีความยืดหยุ่น มีปัญญารู้แจ้งในโทษชั่วของความอยากกินเนื้อสัตว์ รู้เหลี่ยมรู้มุมของกิเลสที่เจอมา ไม่สุขไม่ทุกข์ใดๆ แม้ว่าจะต้องกินเนื้อสัตว์ หรือไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่นใดๆอีก
แต่โดยสามัญแล้วจะไม่ไปกินเนื้อสัตว์ เพราะมีปัญญารู้ว่ากินแล้วจะเกิดผลร้ายอย่างไร ไม่ใช่การไม่ไปกินเพราะความยึดดีถือดีด้วยอัตตา สภาพสุดท้ายจะเหมือนคนที่กินมังสวิรัติทั่วไป
…
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงความต่าง ซึ่งสุดท้ายแล้ว ก็แล้วแต่ว่าใครจะสนใจและพอใจที่จะอยู่ในภพแบบไหน บางคนยังอยากเสพ บางคนยังยินดีกับการยึดดี ชอบเป็นคนดี หรือจะเรียนรู้การทำลายภพก็สามารถเลือกเอาได้ตามกำลังศรัทธา
– – – – – – – – – – – – – – –
27.2.2558