Tag: อริยสัจ ๔

บทขยายธรรม ( ผ่าน พบ จบ จาก )

April 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,368 views 0

บทขยายธรรม ( ผ่าน พบ จบ จาก )

บทขยายธรรม ( ผ่าน พบ จบ จาก )

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าในชีวิตหนึ่งของคนเรานั้นผ่านผู้คนมากมาย พบกันคบหากันจนกระทั่งความสัมพันธ์นั้นจบลง แต่เรามักจะไม่ยอมให้มันจากไป ยังกอดเก็บมันไว้ตลอดมา

ในบทความนี้จะขยายธรรมเพิ่มเติมไว้สองเรื่องคือ

  1. ปฏิจจสมุปบาทแบบย่อและประยุกต์มาอธิบายผ่านเรื่องความรัก
  2. การเริ่มต้นหาทางแก้ไขสภาพความยึดมั่นถือมั่นในแบบของพุทธ

= = = = = = = = = = = = = =

1). เหตุของการเกิดไปจนกระทั่งดับ

เนื้อหาหลักของบทความผ่าน พบ จบ จาก นั้นได้สื่อถึง “สภาพที่กิเลสเข้ามาแต่ไม่สามารถสะบัดให้หลุดได้” สภาพเช่นนี้สามารถยกตัวอย่างมาอธิบายได้มากมาย แต่เพื่อความต่อเนื่องจะขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันด้วยเรื่องของความรัก

จิตเดิมแท้ของเรานั้นแม้ว่าจะผ่องใส แต่ก็ไม่มีปัญญา เวลาได้เสพสุขอะไรบางอย่าง เมื่อเกิดสุข ทุกข์ จึงติดใจหรือผลักไสสิ่งนั้น ซึ่งสุดท้ายจะรวมลงไปที่อุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่น) กลายเป็นภพ (ที่อาศัย) และชาติ (การเกิดของกิเลสและการเกิดขึ้นในโลกแบบทั่วๆไป)

เช่นเมื่อเราได้รับความสุขจากสิ่งที่เราเหมาเรียกว่าความรัก ไม่ว่าคำหวานพูดเอาใจ ไม่ว่าการสัมผัสลูบไล้ ไม่ว่าอารมณ์ที่สาสมใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราจะติดสุข เกิดเป็นอุปาทาน กลายเป็นภพคือเราติดสภาพว่าต้องเสพเช่นนั้นเสมอ จึงกลายเป็นชาติ คือการเกิดความรู้สึกว่าจะต้องไขว่คว้าหาสภาพนั้นๆมาเสพ

ถ้าได้เสพสมใจก็เพิ่มความอยาก(ตัณหา)และความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปอีก สะสมลงไปจนกลายเป็นภพและชาติที่จัดจ้านขึ้นไปอีก คืออยากได้เสพสิ่งที่ทำให้สุขมากกว่านี้อีก ก็เพิ่มกิเลสกันไปเช่นนี้

จนกระทั่งวันหนึ่งวิบากกรรมดลให้เกิดสภาพของการ “จบ” จะออกอาการเริ่มจากชรา คือความแก่ ในเรื่องความรักไม่ได้หมายถึงคนแก่ แต่หมายถึงสภาพของรักนั้นได้แก่และเสื่อมลง คือมันเสพก็ไม่สุขเหมือนก่อน ในระยะของความชรานี้เอง คือสภาพที่คนรักเริ่มเอือมระอา ทะเลาะกัน ไม่เข้าใจกัน งอนแต่ไม่ง้อ เป็นต้น

พอชราแล้วก็จะจบความรักนั้นที่สภาพของมรณะ คือตาย หรือ “จบ” ส่วนจะตายจากกันจริงๆ หรือความรักตายจนเลิกรากันนั้นก็คือจบเช่นกัน มรณะเช่นกัน คือสภาพที่เคยได้เสพนั้นได้ตายจากเราไปแล้ว

ทีนี้มัน “จบ” แต่มันไม่ “จาก” ก็ตรงที่กิเลสมันยังมีอยู่ ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ มันยังมีครบอยู่ แต่ไม่ได้เสพสิ่งที่เคยได้เสพ ก็จะเกิดอาการ โศกเศร้า คร่ำครวญรำพัน เสียใจ คับแค้นใจ ความทุกข์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็ด้วยเหตุเช่นนี้

ดังที่ได้กล่าวขยายธรรมะที่สอดแทรกอยู่ในบทความ ผ่าน พบ จบ จาก ด้วยการสรุปบางส่วนจากปฏิจจสมุปบาทมาอธิบายได้ดังนี้

2).การหาหนทางแก้ไขสภาพ ผ่าน พบ จบ แต่ไม่ยอมจาก

จะเห็นแล้วว่าทุกข์นั้นเกิดจากสภาพหลงสุขจนยึดมั่นถือมั่น เราไม่ต้องใช้ปัญญาใดๆในการหลงสุข แต่การจะออกจากความหลงสุขเหล่านั้นจำเป็นต้องใช้ปัญญา ในระดับของวิชชาหรือวิมุตติซึ่งเป็นแก่นแท้ของศาสนาพุทธเข้ามาทำลายความยึดมั่นถือมั่นนั้นเสีย

คนที่ทุกข์จากความรักจะพยายามสะบัด หลีกหนี กลบเกลื่อน ปัดทิ้ง กดข่ม โดยทั่วไปแล้วก็มักจะใช้วิธีสมถะ คือกดไม่ให้มันฟุ้งซ่าน ไม่ให้มันออกอาการ พยายามไม่ให้ทุกข์ด้วยหลากหลายวิธี แต่นั่นก็ยังเป็นวิธีทั่วไป ใช้กดภพ กดชาติได้ แต่ไม่สามารถทำให้ดับอย่างสิ้นเกลี้ยงได้

การแก้ไขสภาพจึงต้องใช้กระบวนการตามหลักใหญ่คืออริยสัจ ๔ คืออันดับแรกต้องเห็นทุกข์ สองคือต้องรู้เหตุแห่งทุกข์ ไม่เห็นเหตุก็แก้ทุกข์ไม่ได้ สามคือจะกระทำความดับเช่นไร สี่คือกระบวนการสู่ความดับทุกข์นั้นกระทำอย่างไร ผู้ที่พยายามจะหาทางออกจากทุกข์อย่างถาวรจึงจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้ธรรมให้กระจ่างแจ้ง

แล้วจะเรียนรู้อย่างไร เรียนอย่างไหน แบบไหนถึงจะถูก พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอวิชชาสูตรว่า การเรียนสัจจะของพุทธนั้นต้องเริ่มจากพบสัตบุรุษ (คนผู้มีธรรมแท้) จึงจะได้ฟังสัจธรรม (ธรรมที่พาพ้นทุกข์) เมื่อฟังด้วยจิตที่ไม่ลำเอียงไม่ผลักไส จึงจะเกิดศรัทธา เป็นศรัทธาที่เห็นพ้องด้วยปัญญา ไม่ใช่แค่เชื่อตามๆกันมา เมื่อเกิดศรัทธาจึงทำใจในใจโดยแยบคาย พิจารณาลงไปถึงที่เกิด ด้วยความมีสติสัมปชัญญะคือความรู้ตัวทั่วพร้อม จนสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำให้เจริญถึงความสุจริตทั้งกาย วาจา ใจ จึงจะเจริญต่อไปได้ถึงสติปัฏฐาน นำไปสู่โพชฌงค์ จนกระทั่งถึงวิชชาและวิมุตติก็ถือเป็นการจบภารกิจในกิเลสเรื่องนั้นๆ

ดังจะเห็นได้ว่า การปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระได้อย่างแท้จริงนั้น ไม่ใช่สภาพที่จะคิดเอาได้ ไม่ใช่จะนึกเอาเองได้ ไม่ใช่จะกดข่มเอาได้ ไม่ใช่ว่าไปฟังเสียงนกร้องไก่ขันแล้วจะบรรลุธรรมหลุดพ้นได้ แต่ต้องเริ่มจากเรียนรู้สัมมาทิฏฐิ การเรียนสัมมาทิฏฐิก็ต้องเรียนจากคนที่มีสัมมาทิฏฐิ

จากอวิชชาสูตรนั้นจะเห็นได้ว่ากว่าจะบรรลุธรรมตามกระบวนการของพุทธนั้นยากแสนยาก ไม่ใช่ว่าจะไปกดข่มเข้าภพแล้วบรรลุธรรมกันง่ายๆแบบฤๅษี กว่าจะพบสัตบุรุษต้องใช้เวลาเท่าไหร่ และถ้าเจอแล้วเราจะมีโอกาสได้ฟังหรือเรียนรู้สัจธรรมไหม ได้ฟังแล้วจะเชื่อไหม จะเห็นตามได้ไหม เข้าใจได้ไหม จะศรัทธาไหม ศรัทธาแล้วจะโยนิโสมนสิการได้ไหม(ทำใจในใจโดยแยบคายพิจารณาลงไปถึงที่เกิด) จะยอมพิจารณาตามไหม จะยอมค้นลงไปไหม หรือจะฟังผ่านๆแล้วไม่เอาไปย่อยต่อ ไม่ทบทวนต่อเลย โยนิโสมนสิการได้แล้วจะสามารถมีสติสัมปชัญญะให้ถึงพร้อมได้ไหม ทำให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราเป็นปกติ(เมื่อเจอผัสสะ)ได้ไหม ทำให้เกิดกาย วาจา ใจ สุจริตได้ไหม เจริญไปถึงสติปัฏฐาน ๔ เป็นไหม เข้าใจโพชฌงค์ไหม จะถึงวิชชาและวิมุตติไหม

การจะยอมจากได้จริงๆ มันไม่ได้ง่ายแค่ว่าเอาบทโพชฌงค์มาสวด เอาสติปัฏฐานมาแยกทำ หรือเอาธรรมะมาท่องจำนะ ถ้าทำได้อย่างนั้นจริงคนก็พ้นทุกข์กันหมดแล้ว แต่เพราะความจริงแล้วมันมีกระบวนการและขั้นตอนที่ละเอียดซับซ้อน และเป็นไปตามลำดับ

แล้วยังไงล่ะทีนี้ ทั้งยากทั้งซับซ้อนขนาดนี้ก็เลยศึกษาเอง สุดท้ายมันก็จะไปไม่รอดนั่นแหละ เพราะผิดจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เว้นเสียแต่ว่าท่านมีปัญญานั้นอยู่แล้ว มีของจริงอยู่แล้ว มันก็สามารถจะรู้ได้เองโดยที่ไม่ต้องมีใครสอน แต่ถ้ายังไม่เคยเรียน ยังไม่เคยรู้ ยังไม่เคยฟังใครสอน ยังไม่เคยพบสัตบุรุษ แล้วมันจะพ้นทุกข์ได้อย่างไรถ้าไม่เคยมีเหตุ(การเรียนรู้ที่ถูก) แล้วผล(การพ้นทุกข์ที่ถูก)มันจะเกิดได้อย่างไร

ในสัมมาทิฏฐิข้อหนึ่งว่าด้วยการเห็นสมณะ (ผู้สงบจากกิเลส) การเห็นสัตบุรุษหรือสมณะนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ เพราะต้องเห็นด้วยปัญญา ไม่ใช่เขาว่าคนนั้นอรหันต์คนนี้พระอริยะก็เชื่อตามเขาโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้อะไรเลย คนที่สัมมาทิฏฐิแม้จะยังมีกิเลสหมักหมมในสันดานแต่ก็จะมีญาณปัญญารู้ได้ เน้นคำว่าว่าญาณ “ปัญญา” มันไม่ใช่มั่วๆนะ มันมีเหตุมีผล มันต้องมีมรรคผล มันไม่ลึกลับ มันอธิบายได้ มันจึงเชื่อ ไม่ใช่แค่ว่าเขาปฏิบัติตามที่เราเชื่อว่าแบบนี้ใช่แล้วมันจะใช่นะ ระวังหลงอุปาทานกันไป บางทีมันพาไปลงนรกทั้งศิษย์และอาจารย์เลย ศิษย์ก็โง่ อาจารย์ก็เมาลาภ ยศ สรรเสริญ (โง่กว่า) ก็เลยเมาแต่งตั้งพระอริยกันในกลุ่มเต็มไปหมด แบบนี้ก็เป็นได้เช่นกัน

สรุปแล้วท่านที่พยายามทำแต่ไม่มั่นใจว่าทำถูกทางก็ให้หยุดเสีย เดินไปในทางตัน ถึงจะเดินไปจนสุดทางก็ต้องเดินวนกลับมาอยู่ดี วิธีแก้ทุกข์ที่เข้าใจนั้น ถ้ามันแก้ไม่ได้ เป้าหมายมันไม่มี มรรคผลมันไม่ชัดเจน มันไม่เห็น มันลังเลสงสัย ก็แนะนำให้เรียนรู้กันเพิ่มเติม เรียนรู้ให้มากอย่าเพิ่งไปยึดมั่นถือมั่นทางใดทางหนึ่ง เพราะถ้าไปยึดทางผิดมันก็เสียเวลาหลงทางเท่านั้นเอง เดินให้มันถูกทางถึงจะช้าแต่มันก็ถึง ดีกว่ารีบเดินเข้าป่า เข้ารกเข้าพง ยิ่งเดินยิ่งหลง

แล้วเราจะมีสัมมาทิฏฐิขึ้นมาได้อย่างไร? พระพุทธเจ้าตรัสเหตุแห่งสัมมาทิฏฐิไว้สองข้อ นั่นคือปรโตโฆสะและโยนิโสมนสิการ คือการเปิดใจและตั้งใจรับฟังสิ่งที่ต่างกับที่ตนเองเชื่อและยึดมั่นถือมั่น และการทำใจในใจโดยแยบคายลงไปถึงที่เกิด การทำใจในใจโดยแยบคายนี้ถ้าเป็นการฟังธรรมก็คือเอาธรรมนั้นมาย่อย มาพิจารณาว่าทำไมต้องเป็นเช่นนั้น สรุปให้เข้าใจง่ายก็เหมือนการทำความเข้าใจโดยไม่มีอคติ (แต่จริงๆล้ำลึกกว่านั้นมาก แต่อธิบายค่อนข้างยาก ขออภัยไว้ ณ ที่นี้)

จะสมมุติเหตุการณ์ดังเช่นว่า ตอนแรกเราไม่สัมมาทิฏฐิหรอก แต่บังเอิญว่าเจอพระอริยะ เราก็ไม่รู้จริงๆหรอกนะว่าใช่ไม่ใช่ ทีนี้ด้วยความที่เห็นรูปท่านสวยดูมีศีลมีธรรมก็เลยอยากลองของ หรือได้ยินว่าคนนี้มีดีนักหนา หรือได้ยินคนนี้อ้างว่าตนเองเป็นพระอริยะบ้าง พระอรหันต์บ้าง เลยชวนสนทนาธรรม แต่ด้วยจิตที่มีอติมานะเช่นนั้นเอง (ชอบข่มหรือดูหมิ่นผู้อื่น) พอเขาพูดอะไรมาเราก็ตั้งแง่ เพ่งโทษฟังธรรม จ้องจับผิด ฟังนะแต่ไม่ฟัง พยายามจะคิดหาข้อแย้ง เพราะไม่ตรงกับที่ตนเองเรียนรู้มา (คือที่รู้มามันมิจฉาทิฏฐิอยู่แล้ว เพราะถ้าสัมมาจริงมันจะรู้ทั้งมิจฉาและสัมมา มันจะไม่สงสัย)

พอตนเองมิจฉาแล้วยึดมั่นมิจฉาอยู่อย่างนั้นก็ทำได้แค่เถียงเอาชนะ เพราะที่เขาพูดนั้นไม่ตรงกับที่ตนเลย(มันไม่มีทางตรงอยู่แล้ว) และไม่มีใครที่จะยอมรับว่าตนมิจฉาง่ายๆเป็นแน่ จึงพลาดการเรียนรู้ไปอย่างน่าเสียดาย สุดท้ายแม้ว่าจะเถียงชนะหรือจะจำนนด้วยหลักฐานแต่ไม่เชื่อ ยังยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตนเชื่ออยู่ ก็จะได้รับมิจฉาทิฏฐิเพิ่มขึ้นพร้อมกับได้รับวิบากกรรมจากการเพ่งโทษพระอริยะไปเป็นสมบัติอีก ซวยไปสองต่อ

อันนี้แค่ขั้นปรโตโฆสะนะ โยนิโสมนสิการจะลึกลงไปอีก แต่จะยกไว้เพียงเท่านี้ก่อน ส่วนคนที่ยังมิจฉาทิฏฐิแต่เขามีปรโตโฆสะ คือตั้งใจฟังคนอื่น และมีโยนิโสมนสิการ คือเอาที่ได้ฟังนั่นไปพิจารณาในใจโดยแยบคาย เขาก็จะมีโอกาสได้เรียนรู้สัมมาทิฏฐิ และนี้เองคือจุดเริ่มต้นของสัมมาทิฏฐิ มันไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง แต่มันมีเหตุมีผลตามธรรมของมัน ไม่ใช่สิ่งบังเอิญ ไม่ใช่เรื่องเร้นลับอะไร

สรุปคือ คนที่ฟังคนอื่นและนำไปพิจารณาต่อก็จะเจริญไปถึงสัมมาทิฏฐิในสักวันหนึ่ง เพราะถ้าหยุดชั่ว ทำดีไปเรื่อยๆ มันก็จะวนเวียนไปเจอแต่คนดี ซึ่งก็คงมีบ้างหากจะมีพระอริยะวนเวียนผ่านไปผ่านมาในชีวิตโดยที่เราไม่รู้ แต่เพียงแค่เราไม่มีอัตตาที่จัดนัก ไม่มีความยึดมั่นถือมันที่มากนัก เราก็จะมีโอกาสได้เรียนรู้ในวันใดวันหนึ่ง

ต่างจากคนที่เก่งแล้ว เข้าใจแล้ว แต่ยังมิจฉาทิฏฐิ คนพวกนี้จะไม่มีวันเปิดใจฟังหรือตั้งใจฟังสิ่งที่ต่างจากตัวเองคิดเลย เพราะหลงว่าตนรู้แล้ว เข้าใจแล้ว ของตนนี่แหละแท้ ตนนี่แหละแน่ มันก็เลยหลงมิจฉาทิฏฐิกันเช่นนี้ แล้วโลกนี้อะไรมันจะมากกว่ากัน คนถูกหรือคนผิด

ทีนี้คนที่สัมมาทิฏฐิก็ต้องยืนยันว่าตนถูก มิจฉาทิฏฐิเองก็ยืนยันว่าตนถูก แล้วยังไงล่ะ เราจะมีปัญญาแยกอย่างไร จะจบบทความนี้ด้วยกาลามสูตรว่าด้วยเรื่องการอย่าเชื่อสิ่งใดๆง่ายเพียงแค่ได้ยินได้ฟังมา หรือเพราะเขามีชื่อเสียง หรืออีกหลายๆเหตุผล พระพุทธเจ้าได้ตรัสกำชับในตอนสุดท้ายว่า พึงพิจารณาเอาเองว่าสิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล ถ้าเป็นกุศลก็ให้เข้าถึงสิ่งนั้น ส่วนอกุศลให้ละเสีย

นั่นหมายถึง มันจะไม่รู้แต่แรกหรอก ก็ให้ลองปฏิบัติดู ถ้ามันถูกจริงชีวิตมันจะดีขึ้น มีแต่ความสุขความเจริญแม้ไม่ได้เสพอย่างเคย แต่ถ้าปฏิบัติแล้วชีวิตมันแย่ลงก็ให้ถอยออกมาแค่นั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

5.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

 

สมถะ-วิปัสสนา เมื่อใช้ตามแนวทางอริยสัจ ๔

March 8, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,360 views 0

สมถะ-วิปัสสนา เมื่อใช้ตามแนวทางอริยสัจ ๔

สมถะ-วิปัสสนา เมื่อใช้ตามแนวทางอริยสัจ ๔

สมถะและวิปัสสนานั้นเป็นสิ่งที่ปฏิบัติแตกต่างกัน ผลที่ได้ก็จะแตกต่างกัน เราจึงควรเรียนรู้ความต่างของสมถะและวิปัสสนาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สมถะ คือ การใช้อุบายให้เกิดความสงบใจ เข้ามาควบคุมใจ ซึ่งจะเป็นการกดข่ม ตัดรอบ ทำเป็นลืม เปลี่ยนเรื่อง คิดบวก ฯลฯ การกระทำให้จิตที่ฟุ้งซ่านนั้นดับไปโดยทันทีจะอยู่ในลักษณะของสมถะ

วิปัสสนา คือ การใช้อุบายให้เกิดปัญญา ให้มองเห็นความจริงตามความเป็นจริง โดยการคิดพิจารณาความจริง ให้จิตเกิดปัญญารู้แจ้งว่าความจริงที่ไม่ถูกปนเปื้อนด้วยกิเลสนั้นเป็นเช่นไรเจริญไปตามลำดับหยาบ กลาง ละเอียด ไม่ได้เป็นไปเพื่อความดับในทันที

สมถะ-วิปัสสนา สำหรับผู้ที่เข้าใจทั้งสองกระบวนการ จะบริหารการใช้อุบายเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ใช้สมถะกดกิเลสไม่ให้ออกฤทธิ์ก่อนแล้วใช้ช่วงเวลานั้นๆพิจารณาความจริงตามความเป็นจริงไป ถ้าไม่มีพลังของสมถะเลย แล้ววิปัสสนาอย่างเดียวก็จะช้า จะแพ้กิเลสจนท้อหรือกระทั่งเลิกพิจารณา ส่วนถ้าสมถะอย่างเดียวก็จะกดข่ม ตัดรอบกันอย่างเดียวจนไม่มีปัญญาใดๆเกิดขึ้น ได้เพียงความสงบเท่านั้น

และในบทความนี้เราก็จะมาไขความต่างของสมถะและวิปัสสนา เมื่อปฏิบัติตามแนวทางของอริยสัจ ๔

๑). ทุกข์

เมื่อมีทุกข์เกิดขึ้นนั้นก็หมายถึงเรามีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดสักสิ่งหนึ่งแล้วเราไม่ได้สิ่งนั้นมาเสพ ยกตัวอย่างเช่นมีคนมานินทาเราแล้วเราโกรธก็จะเป็นทุกข์ขึ้นมา

๑.๑ ). สมถะกับทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์นั้นก็จะเห็นความโกรธที่เกิดขึ้นนั้นเป็นตัวทุกข์

๑.๒ ). วิปัสสนากับทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์นั้นก็จะเห็นว่าการโกรธนั้นเป็นตัวทุกข์

๑.๓ ). สรุปทุกข์ ในมุมมองของสมถะและวิปัสสนานั้นจะเห็นแตกต่างกันอยู่บ้าง คือสมถะจะเห็นความโกรธเป็นทุกข์ แต่วิปัสสนาจะเห็นว่าการที่เราต้องมาลำบากโกรธจนลำบากกายลำบากใจนี่แหละเป็นทุกข์ ความต่างคือสมถะมักจะมองความโกรธเป็นเรื่องนอกตัวไม่ใช่ตัวเรา แต่วิปัสสนาจะมองความโกรธเป็นเรื่องที่เกิดจากภายในซึ่งจะมีผลต่อไปถึงสมุทัย

การมองว่าทุกข์นั้นไม่ใช่ตัวเราของเราตั้งแต่ตอนแรกจะทำให้เราไม่คิดจะสืบหาสาเหตุแห่งทุกข์นั้นต่อไป เพราะไป “คิด” ว่าทุกข์ไม่ใช่เรา ความโกรธไม่ใช่เรา โดยที่กิเลสนั้นยังไม่ได้ถูกทำให้แสดงตัวและชำระให้สิ้น นั่นหมายความว่าการกดข่มจะทำให้ไม่สามารถเข้าถึงประโยชน์สูงสุดของการเกิดทุกข์ได้

๒).สมุทัย

การเห็นทุกข์นั้นเป็นประตูแรกของการเห็นธรรม แต่การเห็นเหตุแห่งทุกข์นั้นจำเป็นต้องใช้ความเพียรและปัญญาที่มากกว่า ขึ้นชื่อว่าเหตุก็ต้องศึกษาให้เห็นเหตุซึ่งจะยากเย็นแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่ผูกปมกิเลสนั้นๆไว้

๒.๑ ).สมถะกับสมุทัย จะเห็นความโกรธนี่เองเป็นเหตุแห่งทุกข์ ทุกข์เพราะโกรธ ทุกข์เพราะคิดปรุงแต่ง ทุกข์เพราะมีตัวตน ทุกข์เพราะไม่มีสติ ฯลฯ

๒.๒ ).วิปัสสนากับสมุทัย จะค้นลงไปในความโกรธว่าสิ่งใดเป็นเหตุแห่งความโกรธนั้น แน่นอนว่าการมีอัตตานั้นคือปลายทาง แต่การวิปัสสนานั้นจะมองหาความจริงที่แท้จริงไปตามลำดับ ขุดค้นเหตุไปเรื่อยๆ เช่น โกรธเพราะเราเกลียดเขาอยู่แล้ว นั่นเพราะเขาเคยทำไม่ดีกับเรา คนอื่นนินทาเราไม่โกรธแต่คนนี้เราโกรธ ที่เขาเคยทำไม่ดีกับเราเราก็ฝังใจ ที่เขาทำไม่ดีนั้นไม่ดีจริงหรือไม่ แล้วถ้าไม่ดีจริงทำไมเราต้องถือสา ที่เราถือสาเพราะเรามีอคติอะไรอยู่แล้วรึเปล่า?

ซึ่งการหาเหตุนี้เองจะขุดค้นลงไปตามลำดับ ซึ่งจะไม่เจอเหตุแห่งทุกข์ตั้งแต่แรก จึงจำเป็นต้องใช้ไตรสิกขาเข้ามาช่วยกระทุ้งกระแทกให้เห็นเหตุให้ชัดขึ้น

๒.๓ ).สรุปสมุทัย ที่สมุทัยนี้เองจะเริ่มเห็นความต่างของสมถะวิธีและวิปัสสนาวิธีอย่างชัดเจน ในมิติของความลึกในการแก้ปัญหา สมถะจะมองปัญหาแค่ผิวเผิน ส่วนวิปัสสนานั้นจะขุดลงไปที่เหตุที่แท้จริง นั่นก็เพราะว่าถ้าหาเหตุแห่งทุกข์ไม่ได้ การเห็นความจริงตามความเป็นจริงนั้นก็เป็นไปไม่ได้เลย

๓).นิโรธ

นิโรธคือการดับทุกข์ การดับทุกข์นั้นสามารถดับได้หลายวิธี มีทั้งดับชั่วคราวและดับถาวร มีกลยุทธ์และวิถีทางในการดับหลายแบบ แต่จะสรุปคร่าวๆออกมาจากผลของสมถะและวิปัสสนาด้วยกันสองแนวทาง

๓.๑ ).สมถะกับนิโรธ เมื่อเห็นทุกข์ของความโกรธและเห็นว่าความโกรธ ความคิด การมีตัวตน การไม่มีสตินั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์ สมถะจึงดับทุกข์ด้วยการดับความคิด ดับการปรุงแต่ง การคิดว่าต้องไม่มีตัวตน หรือการใช้สติ ซึ่งการดับเช่นนั้นเป็นการดับแบบชั่วคราว ดับเฉพาะไฟที่ลุกขึ้นแต่ไม่ได้ดับเชื้อไฟ นี้เองคือความตื้นของสมถะที่ลงไปไม่ถึงเหตุ แต่ถึงกระนั้นการดับแบบชั่วคราวก็สามารถดับข้ามภพข้ามชาติได้ แต่ที่แน่นอนคือมันไม่ถาวร

๓.๒ ).วิปัสสนากับนิโรธ เมื่อเห็นความทุกข์ของความโกรธ และค้นเจอเหตุแห่งทุกข์แล้ว ยกตัวอย่างเช่นว่า จริงๆที่มีอคติจนเป็นเหตุแห่งความโกรธเมื่อได้รับการนินทาก็คือ คนคนนี้มีท่าทีหยิ่งในตอนแรกที่พบกันแล้วเราไม่ถูกใจ ดังนั้นเหตุแห่งทุกข์ก็คือความอยากได้รับการยอมรับ การเอาใจใส่จากคนอื่นนั่นเอง ซึ่งการจะทำให้กิเลสดับไปนั้น วิปัสสนาจะมาดับกันที่ตรงนี้ จะพิจารณาธรรมกันตรงที่เหตุ ใช้ไตรลักษณ์ก็ใช้ที่เหตุ ใช้กรรมและผลของกรรมก็ใช้ที่เหตุ ใช้การพิจารณาประโยชน์และโทษก็กระทำที่เหตุ ซึ่งเมื่อดับเหตุที่แท้จริงได้ จึงจะเป็นการดับที่แท้จริง ตามที่ควรจะเป็นจริงๆ

๓.๓ ).สรุปนิโรธ จะเริ่มเห็นได้ชัดแล้วว่าเมื่อระบุเหตุของปัญหาที่ต่าง ก็จะมีวิธีการแก้ปัญหาที่ต่าง ตรงนี้เองที่เป็นขีดจำกัดที่ว่าทำไมทำสมถะอย่างเดียวจึงไม่บรรลุธรรมหรือกลายเป็นฤๅษี เพราะสมถะไม่ได้ดับทุกข์ที่เหตุ แต่มักจะไปดับที่ผล ถึงแม้จะมีการหาเหตุแต่ก็มักจะเป็นหารวมๆ ใช้วิธีการเป็นรูปแบบ ซ้ำๆ ย้ำๆ เรียกได้ว่ากิเลสแบบไหนก็ใช้วิธีการเดิม ทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ทุกอย่างไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวเราของเรา มันก็ใช้ธรรมะเข้ามากดข่มเท่านั้นเอง เพราะแท้จริงแล้วการดับกิเลสในแต่ละอย่างนั้นมีความต่างในองค์ประกอบหลายๆอย่างอยู่ หลายคนก็หลายรูปแบบ เพราะแต่ละคนผูกปมสะสมกิเลสมาไม่เท่ากัน การแก้ไขปัญหาก็ต่างกัน ความยุ่งยากซับซ้อนก็ต่างกัน ดังนั้นเมื่อสมุทัยไม่ถึงเหตุ นิโรธก็ไม่ถึงผลตามแนวทางของพุทธ

๔). มรรค

มรรค คือวิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์อย่างถูกตรง ประกอบด้วยความเข้าใจ การคิด พูด ทำ เลี้ยงชีพ ความเพียร การระลึกรู้ และความเป็นสมาธิที่ถูกตรง เกิดปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์จะต้องประกอบด้วยมรรคทั้ง ๘ องค์ที่สมบูรณ์ครบพร้อม ซึ่งการจะเกิดมรรคทั้ง ๘ ได้ จะต้องกระทำมรรคในข้อ ๑-๗ อย่างถูกตรงจนกระทั่งเกิดเป็นสภาพของสัมมาสมาธิ ซึ่งหมายถึง ความเข้าใจ คิด พูด ทำ เลี้ยงชีพ ขยัน มีสติอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

๔.๑ ).สมถะกับมรรค ในเมื่อสมถะมองความโกรธ เพราะความคิด การปรุงแต่ง การมีตัวตน การไม่มีสติเป็นปัญหา ดังนั้นจึงต้องดับปัญหาเหล่านี้ ซึ่งมรรคของสมถะจะกลายเป็นดำดิ่งสู่ความสงบ การกดข่ม การตัดรอบ การวางเฉย การใช้ธรรมะหรือเหตุผลต่างๆมากระทำต่อความฟุ้งซ่านนั้นๆ เช่นความโกรธไม่ใช่เรา ความโกรธไม่เที่ยง มาเป็นเครื่องมือสะกดจิต จนจิตสงบจากกิเลสนั้นๆ เป็นสภาพที่ความโกรธสงบลงเพราะใช้อุบายทางใจเข้ามาบริหารและความคุม ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นไปตามสัมมาอริยมรรค เป็นเพียงวิถีทางทั่วไปตามแบบฉบับของสมถะซึ่งเป็นพื้นฐานของมนุษย์ในโลกอยู่แล้ว การทำสมถะนี้ไม่ว่าศาสนาใดก็ใช้กัน ซึ่งพุทธเองก็ใช้เป็นเครื่องอุปการะเหมือนกันแต่ไม่ได้ใช้เป็นหลักในการปฏิบัติ

๔.๒ ).วิปัสสนากับมรรค เมื่อเห็นตัวกิเลสที่ทำให้เกิดทุกข์แล้ว จึงทำการคิดพิจารณากิเลสนั้นๆไปตามความจริงที่เป็นจริง ไม่ใช่ตามกิเลส โดยใช้ศีลมาเป็นเครื่องชี้วัด ซึ่งในตอนแรกมันจะไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้ แต่จะเห็นโน้มเอียงไปตามกิเลส แม้ว่าจะมีสัมมาทิฏฐิแล้วก็ตาม ซึ่งการจะทำให้คิดได้ตามจริงนั้นก็ต้องอาศัยการพูด ทำ เลี้ยงชีพ ไปตามหลักแห่งความพ้นทุกข์ และพิจารณากิเลสนั้นๆโดยใช้ความเพียรและมีสติเป็นที่ตั้งเพื่อชำแหละกิเลสที่โผล่มาจากการใช้ศีลจับ เพื่อกระทำทิฏฐิให้ถูกตรงโดยลำดับ ทั้งหมดนี้เพื่อผลแห่งความคิดที่ถูกต้องถูกต้องให้ถึงพร้อม

วิปัสสนานี้เองเป็นความคิดอย่างแน่แท้ แต่เป็นการคิดที่สวนทางกับกิเลส เป็นการคิดที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ (สัมมาสังกัปปะ)ซึ่งมีคนจำนวนมากเข้าใจผิดว่าวิปัสสนาไม่ใช่การคิด การทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงนี่เองคือการคิด แต่มันอยู่ที่รายละเอียดว่าคิดอย่างไรจึงจะถูกทางพ้นทุกข์ ถ้าไม่คิดเลยก็กลายเป็นสมถะ

๔.๓ ).สรุปมรรค วิปัสสนานั้นไม่ได้ปฏิเสธการมีสติ หรือการคิด พูด ทำใดๆ เพราะจำเป็นต้องปฏิบัติมรรคทุกองค์อยู่แล้วเพื่อให้เกิดสัมมาสมาธิซึ่งเป็นผลจากการเห็นความจริงตามความเป็นจริง และยังไม่ได้ปฏิเสธการใช้สมถะเข้ามาร่วมในกระบวนการต่างๆเพื่อกดกิเลสไว้ เช่นมีความโกรธเราก็กดไว้ ก่อนที่เราจะตอบโต้ด้วยความโกรธ แต่จะไม่กดจะดับทั้งหมด เราจะยังต้องใช้เชื้อแห่งความโกรธที่เหลือมาเป็นเป็นต้นทางแห่งสมุทัย จนกระทั่งสามารถนำมาปฏิบัติตามมรรคได้

แต่มรรคของสมถะนั้นก็สามารถถึงสมาธิได้เหมือนกัน แต่ก็ยังเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะเกิดมาจากมิจฉามรรค นั่นเพราะทิฏฐิผิดรูปผิดรอยตั้งแต่แรก โดยเฉพาะผู้ที่เข้าใจว่าการดับ การไม่คิด การมีสติตลอดเวลาคือการพ้นทุกข์ เหล่านี้คือผู้หลงผิดไปติดสมถะทั้งสิ้น เพราะแท้จริงแล้วการดับหมายถึงการดับกิเลส ไม่ใช่การดับผลของกิเลส การไม่คิดหมายถึงไม่คิดตามกิเลส ไม่ใช่ไม่คิดอะไรเลย และถ้าเป็นความคิดที่ย้อนแย้งกิเลสยิ่งต้องคิด และการมีสตินั้นจำเป็นต้องมีในการวิปัสสนาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ตัวบรรลุธรรม เพราะหลักของวิปัสสนานั้นคือทำให้เกิดปัญญารู้เห็นจริงตามความเป็นจริง สติเป็นเสมือนเครื่องหล่อเลี้ยงที่จำเป็นต้องมี แต่ไม่ใช่ตัวที่จะทำให้เกิดปัญญา เพราะสิ่งที่ทำให้เกิดปัญญาก็คือสัมมาสังกัปปะที่เกิดจากสัมมาทิฏฐิเป็นตัวตั้ง มรรคทั้ง ๗ องค์ทำงานส่งเสริมกันจนกระทั่งเกิดสัมมาสมาธิเป็นองค์ที่แปด ซึ่งเป็นตัวจบของกิเลสนั้นๆหมายถึงเกิดสภาพของวิมุตติหรือการหลุดพ้นจากกิเลสอย่างถาวร

สัมมาสมาธิไม่ใช่การนั่งสมาธิ ไม่ใช่การกดข่มจิต หรือกระทำใดๆต่อจิตจนเกิดสภาพสมาธิ ลักษณะเหล่านี้เป็นวิธีของสมถะ ให้ผลเป็นสมาธิจริง แต่เป็นมิจฉาสมาธิ เป็นแบบทั่วไป ศาสนาใดก็ทำได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นพุทธ เพราะทางพ้นทุกข์พุทธนั้นมีทางเดียวคือ สัมมาอริยมรรค นั่นหมายถึงจะต้องถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์อย่างถาวรด้วย ไม่ใช่การดับอย่างชั่วคราว แม้จะดับได้ข้ามภพข้ามชาติแต่ถ้าไม่ถาวรก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งจะทำให้ติดภพ ติดสงบ ติดดีเข้าไปอีก กลายเป็นฤๅษีไปอีก เนิ่นช้าไปอีก ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ธรรมใดวินัยใดเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นวินัยนั้นไม่ใช่ของเราคถาคต

ดังนั้นการใช้สมถะเข้ามาช่วยกดข่มกิเลสในกรณีที่มีความรุนแรงมากนั้นก็สามารถทำได้และเป็นกุศล แต่หากจะตั้งสมถะเป็นเป้าหมายในการบรรลุธรรมก็ขอสรุปเลยว่าจะต้องวนเวียนติดสุขอยู่ในโลกอีกนานแสนนาน เพราะโดยหลักแล้วสมถะไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหาที่เกิดเลย เพียงแต่ทำปัญหาที่เกิดให้ดับและจบไปเท่านั้น จึงต้องวนเวียนเกิดดับๆอยู่เรื่อยไปเพราะเหตุยังไม่ดับนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

6.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทำไมต้องรักเธอ

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 11,879 views 8

ทำไมต้องรักเธอ

ทำไมต้องรักเธอ

… กรรมใดหนอที่พาให้เราต้องมาผูกพัน

หลายคนอาจจะเคยสงสัยว่าทำไมเราจึงต้องชอบคนนี้ ทำไมต้องรักคนนี้ ทำไมจึงต้องยอมให้กับคนนี้ กับคนอื่นเราก็ไม่เคยยอมขนาดนี้ ไม่เคยเผลอพลาดไปขนาดนี้ ต้องเป็นคนนี้เท่านั้นที่เราจะยอมให้ทำกับเราได้ขนาดนี้

เราได้เห็นเหตุแห่งความรักความหลงใหลกันมาแล้วในบทความก่อน ซึ่งแน่นอนว่าคนมีกิเลสก็ต้องพุ่งเข้าไปหาความรักเสมอ แสวงหาคู่หรือแสดงท่าทีพร้อมจะมีคู่เสมอ กิเลสนี่มันจะพยายามหามาเสพให้ได้ ซึ่งก็ได้ขยายกันมามากแล้ว

ในบทความนี้เราจะกล่าวกันในเรื่องของ “กรรมและผลของกรรม” เป็นสิ่งที่ยากจะอธิบาย เป็นเรื่องอจินไตย หลายคนมักจะพบว่าเราไปชอบคนที่เราไม่อยากชอบ เราไปรักคนที่ไม่ควรรัก เราไปหลงกับคนที่ไม่น่าหลง แม้ว่าเขาจะทำไม่ดีกับเราสักเท่าไร จะทิ้งเราไปนานแค่ไหน ทำไมเรายังต้องพลาดพลั้งกลับไปรักเขาทุกที เรามาลองไขรายละเอียดในเรื่องผลกรรมให้พอเห็นภาพกว้างๆกันดูว่าทำไมหนอ ทำไมต้องรักเธอ…

1). กรรมกิเลสในชาตินี้

กรรมนั้นคือการกระทำ ส่วนกรรมที่ไม่ดีนั้นเกิดมาจากอะไร ก็เกิดมาจากการที่เรามีกิเลส กิเลสก็สั่งให้เราไปทำกรรมแบบนั้นแบบนี้ ในหัวข้อก็จะชี้ให้เห็นถึงผลว่าทำไมเราจึงต้องรักต้องหลง จากเหตุแห่งกรรมกิเลสที่เราทำมาเอง

1.1). ทำไมเราจึงต้องรู้สึกชอบเมื่อแรกพบ … เราปรุงแต่งกิเลสไว้มากว่า คู่ในฝันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ พอมาเจอเข้าจริงๆ ก็จะพบว่าใช่เลย ซึ่งมันก็เป็นผลกรรมที่เราปรุงแต่งลักษณะคู่ในฝันตามกิเลสขึ้นมาเอง

1.2). ทำไมเราจึงต้องหลงหัวปักหัวปำ… ผลของการมีกิเลสคืออยากเสพอย่างไม่จบไม่สิ้น ความหลงนั้นเกิดขึ้นเพราะเราเข้าใจว่า เขาจะสามารถบันดาลสุขให้เราเสพได้ตลอดไป เราจึงจมอยู่กับความหลง เป็นผลกรรมที่เราต้องรับเพราะเรามีกิเลส

1.3). ทำไมเราจึงยอมให้เขากลับมาทุกครั้ง … คนที่คบหากันมานั้นก็จะร่วมกันบำรุงบำเรอกิเลสกันมาจนเสพติดรสสุขจากเสพเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เขาทิ้งเราไปมีคนอื่น แต่สุดท้ายเขากลับมาง้อเรา แม้ก่อนหน้านั้นเราจะทำใจแข็ง คิดไปว่าฉันจะไม่มีวันกลับไปแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังกลับไปจนได้ เหตุนั้นเพราะเรายังติดรสสุขเดิมๆอยู่ เช่นการดูแลเอาใจใส่ ฯลฯ

จะขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งอย่างตรงไปตรงมา คือเรื่องการสมสู่สมมุติว่าเราเคยมีคู่และสมสู่กันจนติดรสสุข ที่นี้เขาทิ้งเราไปแล้วด้วยเหตุอันใดก็ตาม แต่วันหนึ่งเขากลับมา ตอนแรกเราก็ใจแข็งนะ แต่สุดท้ายก็ยอมให้เขาเหมือนเดิม เหมือนกับคำที่เขาว่า “วัวเคยค้า ม้าเคยขี่” , “ถ่านไฟเก่า” ทั้งนี้ที่ยอมเพราะติดรสสุขของการสมสู่ กิเลสเรามาก เราเลยต้องรับผลกรรมจากกิเลสคือต้องยอมเขาไปเรื่อยๆ เพราะลึกๆเราก็ยังอยากเสพเขาอยู่เช่นกัน

และความกลัวเหงาก็เป็นอีกสาเหตุ ความพร่องในใจของคนจนต้องหาใครมาเติมตลอดเวลา มันอาจจะไม่ง่ายนักที่จะหาคนใหม่มาเติมเต็มในทันที ซึ่งถ้าคนเก่ากลับมาก็จะง่ายกว่า แต่ในประเด็นของความเหงาก็ไม่แน่ว่าจะทำให้กลับไปคบเสมอไป เพราะบางครั้งความทุกข์มันมากกว่าความเหงา หลายคนจึงสามารถยอมตัดใจได้แม้ว่าจะต้องทนเหงา ดังนั้นความเหงาจึงเป็นสาเหตุหนึ่งเท่านั้น ซึ่งมีน้ำหนักค่อนข้างน้อยแต่ก็ยังมีผลอยู่ เพราะความเหงานี่ไม่จำเป็นต้องให้คนเดิมมาสนองเสมอไป อาจจะเป็นคนใหม่ หรือใช้เพื่อน ครอบครัว กิจกรรมใดๆมาสนองความเหงาก็สามารถทำได้

…สรุปในหัวข้อ “กรรมกิเลส” นี้ก็หมายถึงกรรมใหม่ที่ทำกันในชาตินี้ในชีวิตนี้นี่แหละ ไม่ได้เป็นเรื่องซับซ้อนมากมายนัก เพราะมีหลักฐานที่เห็นได้ด้วยตา รับรู้ได้ด้วยใจ เป็นของใหม่ที่มีหลักฐานให้สืบสาวราวเรื่องให้เห็นผลของกรรมที่ทำในชาตินี้

คือถ้าเราขุดค้นกิเลสของเราดีๆ ค้นไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ ไปที่เหตุแห่งทุกข์แท้ๆ ก็จะสามารถเจอกับกิเลสตัวการที่สร้างกรรมให้เราต้องหลงรัก ปักใจ ไม่ยอมปล่อยยอมวาง แม้จะโดนทำร้ายก็ยังยอมให้เขาอยู่เรื่อยไปได้

2). กรรมเก่า

มาถึงเนื้อหาจริงๆของบทความนี้กันเสียที สิ่งที่เป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนยากที่จะขุดค้นหาสาเหตุลงไปได้นั้นคือกรรมเก่า

กรรมเก่าในที่นี้หมายถึงกรรมที่สะสมมาตั้งแต่ชาติก่อนๆ ที่สืบสาวราวเรื่องกันไม่ได้ในชาตินี้ นึกยังไงก็นึกไม่ออกว่าไปทำกรรมนั้นไว้ตอนไหน เราก็จะยกไว้ให้เป็นเรื่องของกรรมเก่า และกรรมเก่านี่เองเป็นพลังลึกลับที่ผลักดันให้ต้องไปรัก ไปหลง ยอมให้อภัยทุกครั้งแม้เขาจะทำผิด โดยที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับกิเลสที่มีในชาตินี้เลยก็เป็นได้

ผลของกรรมหรือวิบากกรรมนั้น เป็นผลจากที่เราเคยไปทำกรรมไว้ในชาติใดชาติหนึ่ง เช่นเดียวกับที่เรามีกรรมจากกิเลสในชาตินี้ ผลกรรมก็จะส่งผลในชาตินี้และชาติต่อไปอีกเป็นส่วนๆ ดังนั้นในชาตินี้เราก็ต้องรับวิบากกรรมของเราที่เคยทำมาในชาติก่อนๆด้วยเช่นกัน วิบากกรรมนี้อาจจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้ายก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราทำกรรมด้านใดมามาก

2.1). ทำไมเราจึงต้องรู้สึกชอบเมื่อแรกพบ …วิบากกรรมเก่านั้นจะส่งผลเหมือนแม่เหล็ก ดึงดูดสิ่งที่คู่ควรกับกรรมของเรามาให้เราเจอ เราจะไม่สามารถผลักไสหรือป้องกันได้ ต้องรับผลอย่างเดียวเท่านั้น ดังเช่นอาการหลงชอบตั้งแต่แรกเจอโดยไม่มีเหตุผล มีความรู้สึกแปลกประหลาดต่างจากคนอื่น

เราอาจจะเคยพบคนหน้าตาดี นิสัยดี ฐานะดี ฯลฯ แต่กลับรู้สึกไม่เหมือนพบกับคนคนนี้ วิบากกรรมจะยิงผลเข้ามาที่ใจตรงๆ โดยไม่สามารถป้องกันได้ด้วยสติ เพราะวิบากกรรมมันจะมาเหนือเมฆเสมอ มาเหนือกว่ากำลังสติปัญญาของเราเสมอ มันจะหลงของมันไปเองตั้งแต่แรก ส่วนจะสามารถรู้ตัวทีหลังได้นั้นก็เป็นอีกเรื่อง แต่ถ้าตราบใดที่วิบากกรรมยังส่งผลไม่หมด ก็จะไม่สามารถหนีได้ จะต้องพบกับความรักความหลงที่ไม่มีเหตุผลแบบนี้จนกว่าผลของกรรมจะสิ้นสุด

ยิ่งคนที่ปฏิบัติธรรมมาก มีภูมิธรรมสูง เวลาวิบากกรรมขั่วมาก็จะรุนแรงกว่าชาวบ้านทั่วไป เพราะกรรมชั่วนั้นมีหน้าที่หนึ่งคือกระแทกให้เกิดทุกข์ เมื่อเกิดทุกข์จึงค้นหาเหตุแห่งทุกข์ จนศึกษาการดับทุกข์ และดับทุกข์ด้วยวิถีทางดับทุกข์ที่ถูกตรง ดังนั้นคนที่มีกำลังสติมากๆ ผลกรรมที่บางเบาอาจจะไม่สามารถทะลุกำแพงสติปัญญาเข้ามาทำให้ทุกข์ได้ ดังนั้นเมื่อได้รับก็จะได้รับผลกรรมก้อนใหญ่ที่มีความรุนแรงมาก ทำให้กระวนกระวายมาก ทำให้หลงมากและสิ่งที่เกิดจะทะลุกำแพงสติและปัญญาที่มีทั้งหมด

วิบากกรรมจะทำให้นักปราชญ์รู้สึกหลงรักหลงชอบไปไม่ต่างจากความรู้สึกของคนธรรมดาทั่วไป แต่แน่นอนว่ามีวิบากกรรมชั่วก็ต้องมีวิบากกรรมดี คนที่ทำดีมามากก็จะสามารถหลุดจากสภาพหลงได้ในเวลาไม่นานนัก อาจจะหลงชอบอยู่สักพักหนึ่งแล้วอยู่ๆก็หลุดจากอาการเหล่านั้น นั่นเพราะผลกรรมชั่วได้ถูกชดใช้จนหมด คือถูกทำให้หลงรักแล้ว และเมื่อหมดวิบากกรรมชั่ว วิบากกรรมดีจึงส่งผลได้คือทำให้มีสติ ทำให้ตาสว่าง ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาเอง จนปล่อยจนคลายได้

2.2). ทำไมเราจึงต้องหลงหัวปักหัวปำ…กรณีของคนที่มีวิบากกรรมมากก็จะต้องผูกพันนานหน่อย จะไม่หลุดง่ายๆ จะหลงมัวเมาหัวปักหัวปำอยู่แบบนั้น สติปัญญาอะไรไม่ต้องถามถึง มันไม่มีหรอกเพราะวิบากกรรมมันจะแรงกว่าเสมอ ฝึกมาดีแค่ไหนก็จะกลายเป็นคนที่หลงในความรักคนหนึ่ง แทบไม่ต้องพูดถึงคนทั่วไปที่ไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรงเลย มัวเมาจากวิบากกรรมตัวเองแล้วยังต้องเมากิเลสตัวเองซ้อนเข้าไปอีก กลายเป็นหลงหัวปักหัวปำ

ถึงเขาจะทำไม่ดีกับเรา เราก็จะไม่ถือโทษนะ จริงๆมันอาจจะดูว่างี่เง่า เอาแต่ใจ ไม่มีเหตุผลในสายตาของคนอื่น แต่ในความเข้าใจของเรามันจะเข้าใจเขาได้ มันจะลำเอียงเพราะหลงรักเขา ที่ไปหลงรักเขามันก็มีพลังแห่งวิบากกรรมมาดล มันดลให้รักให้ปักมั่น เหมือนคนหูหนวกตาบอด ใครบอกก็ไม่ฟังเหมือนโดนมนต์สะกดอะไรสักอย่าง

แม้ว่าจะมีคนบอกว่าเขาหรือเธอคนนั้นไม่น่าทำให้หลงได้ขนาดนั้น ไม่เหมาะสม ไม่น่าคบหา หรือคนอื่นบอกว่าถ้าเป็นเขาก็ไม่คบหรอก เราได้ยินเขาพูดนะ เข้าใจด้วย รับฟังอย่างมีสติด้วย แต่ในใจเราจะไม่รู้สึกตามเขา เวลาฟังมันเข้าใจเหตุผลได้ทุกอย่าง แต่มันทำไม่ได้ มันฝืนไม่ได้ ผิดชอบชั่วดีรู้หมดทุกอย่างแต่ต้านทานอะไรไม่ได้เลย

นี้เองคือพลังของกรรมและผลของกรรม เมื่อเราทำกรรมอะไรไว้แล้วมันจะให้ผลเหมือนกับจับเราไปขึงแล้วยิงเป้าโดยที่ไม่อาจจะขัดขืน สั่งให้เราหลงงมงาย ให้เราจมอยู่กับทุกข์ใจแสนสาหัส เวลาที่คนต้องอยู่แบบไม่อยากเสพแต่หนีไม่ได้นี่มันทุกข์นะ ตัวเองก็ไม่ได้อยากรักอยากหลงสักเท่าไร แต่มันหนีไม่ได้ มันออกไม่ได้ มันไม่มีปัญญา มันจะตื้อไปหมดสุดท้ายก็มาหลงเขาเหมือนเดิมแม้จะทุกข์แค่ไหนก็ต้องวนกลับมาโดนอยู่ดี

วิธีเดียวที่จะพ้นวิบากกรรมชั่วที่ทำให้ต้องทนทุกข์อยู่คือการทำกรรมดีช่วย แน่นอนว่าผลกรรมชั่วก็ต้องรับ แต่กรรมดีก็ต้องรับเช่นกัน ดังนั้นเราจึงควรทำกรรมดีให้มากเพื่อไปเจือจางผลกรรมชั่วนั้นเสีย เพื่อให้เราไม่ต้องทนรับกรรมชั่วต่อเนื่องกันนานๆ ให้พอมีกรรมดีได้ส่งผลให้เกิดปัญญา ให้เห็นความจริง ให้โผล่ขึ้นมาหายใจได้บ้างหลังจากที่ถูกกรรมชั่วลากลงน้ำจนทุกข์ทรมาน

2.3). ทำไมเราจึงยอมให้เขากลับมาทุกครั้ง … คนที่มีกรรมผูกผันมาก แม้จะพยายามสะบัดก็จะสะบัดไม่หลุด หนีไม่ได้ ถึงจะพยายามหนีก็ต้องกลับมาหลงเหมือนเดิม ถึงเราจะยอมใจแข็งตัดใจทิ้งความสัมพันธ์นี้ไป สุดท้ายวิบากกรรมก็จะดลให้เขามาง้อ ให้เขามาแสดงอาการให้เรารู้ว่าเราสำคัญ คำพูดมากมายที่ตรงกับใจซึ่งทำให้เราใจอ่อน หรือไม่ก็เป็นเราที่วนกลับไปเสียเอง ยอมรับกรรมนั้นกลับมาซ้ำเติมเราอีกครั้งหนึ่ง

แม้เราจะไม่ได้รู้สึกอยากเสพสิ่งใดในตัวเขา แต่ก็จะมีเหตุผลบางอย่างที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อดูดดึงเขากลับมาไว้กับเราอีกครั้ง จริงๆแล้วเป็นการลากกลับมาของวิบากกรรม ผลของกรรมนั้นหากยังไม่ได้ถูกชดใช้จนหมด ก็จะไม่ปล่อยให้เราให้เราได้เป็นอิสสะ เรายังจะต้องจมและวนเวียนอยู่กับเขาหรือเธอซึ่งก็ไม่รู้ไปหลงใหลอะไรมากมาย หาเหตุผลก็ไม่ค่อยเจอ ข้อดีก็มีให้เห็นไม่มาก ก็เสียก็มากมาย แต่เรากลับไปขยายเนื้อความในข้อดีแล้วมักจะทำเป็นมองไม่เห็นข้อเสียนั้นเสียเอง

วิบากกรรมมันพาให้หลงไปแบบนี้ อะไรก็ป้องกันไม่อยู่ ได้แต่จำยอมรับผลกรรมด้วยใจที่เป็นสุข แน่นอนว่าในภาษานั้นพอจะยอมรับได้ แต่ในความจริงที่เกิดขึ้นมันจะยอมรับไม่ได้ ทำใจให้เป็นสุขไม่ได้ เพราะผลกรรมนั้นก็ดลให้เกิดความหลงผิด จนเกิดความทุกข์ ลืมธรรมะ ลืมเครื่องมือทุกอย่างที่เคยใช้เพื่อกำจัดทุกข์เหมือนกับคนไม่เคยฝึกปฏิบัติใจมาเลย

วิบากกรรมนั้นยังมีช่วงเวลาของการส่งผล บางคนเลิกกับคนรักที่เคยหลงยึดไว้หลายปีแล้ว แม้ว่าจะหันหน้าปฏิบัติธรรม หันมาทำดี หันมาสร้างกุศล แต่สุดท้ายกลับถูกกรรมดึงกลับไปให้ต้องไปมีคู่ ตอนแรกมันเหมือนจะหนีออกมาได้นะ มาพบธรรมะ มีกัลยาณมิตร เจอครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงแล้ว เห็นทางพ้นทุกข์ก็แล้ว แต่ยังถูกวิบากกรรมลากกลับไปให้หลงมัวเมาอีก

ตอนถูกลากกลับไปอีกทีมันจะลืมธรรมะหมดเลยนะ ลืมคำสอนครูบาอาจารย์ ลืมกัลยาณมิตร ลืมศีล ลืมสติ ลืมปัญญา หันกลับไปหลงแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ดีไม่ดีจะยอมลดศีลทิ้งธรรมไปเลย ยอมกลับไปมีรักดีกว่ามีธรรม

ที่เป็นเช่นนี้เพราะอะไร? นั่นก็เพราะเมื่อคนหันมาทำดี ทำกุศลกรรมเข้ามากๆ ศึกษาธรรมะมากๆ ผลกรรมในด้านดีจะส่งผลและดึงวิบากกรรมชั่วเข้ามา กล่าวกันแบบนี้อาจจะงง ว่าเอ๊ะ!ทำไมทำกรรมดีแล้วชั่วจึงมา นั่นเพราะว่าเวลาเราทำดีไปมากเข้า กรรมดีก็จะดึงวิบากกรรมชั่วมาให้เกิดผลที่ดีขึ้น คือดึงวิบากกรรมชั่วมาใช้ให้มันหมดไปอีกเรื่องหนึ่งชีวิตจะได้ดีขึ้น เมื่อวิบากกรรมชั่วนั้นส่งผลขึ้นมาก็จะทำให้หน้ามืดตามัว แม้ว่าจะอยู่กลางวงธรรม ห้อมล้อมด้วยมิตรสหายและครูบาอาจารย์ที่ถูกตรง แต่ก็สามารถหลุดออกจากวงโคจรไปได้เช่นกัน เพราะวิบากกรรมนั้นลากออกไปให้ได้ทำภารกิจ คือไปชดใช้กรรม

ถ้าถามว่าต้องใช้วิบากกรรมถึงไหนก็ยากจะตอบได้ เพียงแค่เข้าใจได้ว่าใช้เท่าที่ควรจะใช้ แต่มันจะไม่มากกว่าที่เราทำมาแน่นอน เมื่อใช้วิบากกรรมหมดก็จะรู้เอง มันจะหายโง่ มันจะมีเหตุการณ์ที่มาดลให้เกิดปัญญาเอง

แต่ทีนี้มันจะมีโอกาสพลาดอยู่ตรงที่ว่าคนดีที่กุศลกรรมนั้นลากอกุศลกรรมมาแล้ว ไม่ได้มีแค่ผลของกรรมอย่างเดียว ยังมีกิเลสรวมอยู่ด้วย สุดท้ายคนดีที่ทำดีมากๆแต่ล้างกิเลสไม่เป็นก็จะต้องจมไปกับชะตากรรม ต้องวนเวียนมีคู่ แต่งงาน มีลูก เลี้ยงลูก แบกภาระมากมายสะสมทุกข์และกรรมชั่วเพิ่มไปอีกชาติหนึ่ง

ซึ่งก็จะวนเวียนอยู่แบบนี้เป็นธรรมดาของโลก จะสังเกตว่าคนทำดีมากๆมักจะได้รับผลร้ายแปลกๆ มักจะได้ยินว่าคนดีไม่น่าได้รับสิ่งร้าย ไม่น่าตายไม่ดีเลย จริงๆแล้วสิ่งร้ายนั้นไม่ได้เกิดมาจากการทำดี แต่เกิดจากกรรมชั่ว จึงส่งผลเป็นสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิต สิ่งที่ไม่ดีนั้นเกิดขึ้นเช่นเดียวกับที่ยกตัวอย่างมาในข้างต้นคือมาเพื่อกระแทกให้เห็นกรรมชั่วที่ตัวเองทำไว้ จะได้ทำดีให้มากขึ้น หรือในกรณีคนดีบางคนก็เพียงแค่ตายใช้กรรมเพื่อเปลี่ยนภพไปสู่ภพที่ดีกว่า เช่นชาตินี้อาจจะเป็นคนจนมีภาระมาก เมื่อทำดีมากๆก็หมดกรรม ถูกทำให้ตายและเกิดใหม่เป็นคนที่พร้อมด้วยปัจจัยที่เอื้อต่อการทำดีมากขึ้นก็เป็นได้

ในกรณีเดียวกันที่คนทำดีเจอสิ่งไม่ดีนั้นเพราะวิบากกรรมลากสิ่งชั่วมาให้เรียนรู้ แต่ทีนี้คนดีส่วนมากแม้จะมีความดีมากแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีปัญญามากพอจะผ่านเรื่องเลวร้ายนั้นได้ บางคนก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับอกุศลกรรมที่ถูกดึงเข้ามา นั่นเพราะเขาไม่คบหาสัตบุรุษ ไม่มีครูบาอาจารย์ที่ถูกตรง ไม่มีกัลยาณมิตร ไม่มีธรรมที่จะพาให้ผ่านเรื่องเลวร้ายเหล่านั้นได้

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่าการที่จะก้าวเข้าสู่วิธีปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ หรือก่อนจะเข้าสัมมาอริยมรรคได้นั้นจะต้องพบกับกัลยาณมิตรเสียก่อน มรรคนั้นเหมือนกับดวงอาทิตย์แต่ก่อนอาทิตย์จะขึ้นเราจะต้องเห็นแสงอาทิตย์ก่อน เห็นแสงเงินแสงท่องที่ส่องมาก่อน คือต้องคบหาสัตบุรุษหรือมีกัลยาณมิตรที่รู้สัจจะแท้สู่การพ้นทุกข์เสียก่อน และพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อีกว่า มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดีเป็นทั้งหมดทั้งสิ้นของการพ้นทุกข์

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะเก่งกาจยิ่งใหญ่มาจากไหนก็หนีพลังของวิบากกรรมไม่พ้น หนีสิ่งที่ตัวเองเคยทำมาไม่พ้น เรายังคงต้องรับผลกรรมที่เราเคยทำมานั้นอย่างหลบเลี่ยงไม่ได้ แต่หากเราได้คบหากับมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี เขาเหล่านั้นก็จะพาเราสร้างกรรมใหม่ เป็นกรรมดีที่พาให้เจริญเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่พอจะเจือจางพลังแห่งวิบากกรรมชั่วให้ส่งผลเบาบางลงได้บ้าง

เหมือนกับเราผสมน้ำเปล่าใส่น้ำหวาน มวลของน้ำหวานยังมีอยู่เหมือนเดิม แต่ถ้าเรากินน้ำที่ผสมแล้วก็จะไม่รู้สึกหวานมากเหมือนกินน้ำหวานล้วนๆ วิบากกรรมดีและชั่วก็เช่นกัน แม้เราจะไม่สามารถทำให้หมดไปได้ แต่สามารถทำให้วิบากกรรมเหล่านั้นเจือจางได้ และทำให้เราสามารถชดใช้กรรมได้ในขีดที่ไม่ทุกข์มากนัก จะดีกว่าไหมหากเราสามารถเลือกที่จะผ่อนหนักเป็นเบาได้ เหล่านี้คือกรรมใหม่ที่เราเลือกได้ ชีวิตลิขิตเองได้ โดยการทำกรรมใหม่ซึ่งมีคุณค่ากว่าการจมอยู่กับกรรมเก่า

3). เราทำกรรมอะไรมาจึงต้องมาหลงมัวเมากันขนาดนี้

กว่าจะมาถึงชาตินี้เราเวียนว่ายตายเกิดกันมาหลายภพหลายชาติ เป็นคนดีคนเลวมามากมาย มีคู่มาก็มาก แม้ว่าชาตินี้จะไม่อยากมีคู่ก็ตาม วิบากกรรมก็จะดลให้อยากมีเพราะจริงๆเรามีสะสมมาหลายชาตินับไม่ถ้วน กรรมที่เคยผูกพันกันในแบบสามีภรรยาจึงถูกสร้างขึ้นมามากมาย ฝังลึกลงไปในจิตวิญญาณ

เมื่อเคยมีคู่มาหลายชาติ ก็ต้องมารับผลกรรมจากการมีคู่ที่เคยทำมาด้วย ไม่ใช่ว่าจะแค่ตัดใจแล้วหนีมันทำไม่ได้ วิบากกรรมจะดลให้หลงไปมีคู่เองเมื่อถึงเวลาอันควร ส่วนจะมากน้อยเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับว่าเราสะสมกรรมแห่งการมีคู่มากมากเท่านั้น นี่ยังไม่รวมวิบากกรรมจากการไปจีบเขา ไปหักอกเขา ไปทิ้งเขานะ มันต้องรับทั้งหมด ดังนั้นเราเกิดมาก็จะเจอลีลาทุกข์จากเรื่องคู่ต่างกันเพราะทำหลายรูปแบบ

ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิงบางคนหลงไปว่าฉันมีคนมาจีบเยอะ ฉันมีแฟนหลายคน ฉันมีเสน่ห์ ก็เมาโลกธรรมหลงไปบริหารเสน่ห์คุยกับคนนั้น เล่นหูเล่นตากับคนนี้ ปั่นหัวคนโน้น สารพัดลีลาที่จะใช้ยั่วคนอื่นไปทั่ว แม้แต่การมีแฟนหลายคนก็อย่าหลงดีใจไป ทั้งหมดนั้นเราจะต้องรับแน่นอน เราไปเป็นสิ่งที่กระตุ้นกิเลสให้ใคร เราจะต้องโดนเอาคืนในชาติใดชาติหนึ่งแน่นอน

เช่น ตายแล้วมาเกิดในร่างผู้ชาย พอโตได้ที่ถึงวัยกิเลสกำเริบก็พยายามจีบเขาไปทั่ว แต่ก็ทำยังไงก็โดนเขาหักอก โดนเขายั่วแต่ไม่ยอม โดนเขาทิ้งก็ยังหลงมัวเมาตื้อเขาอยู่ ต้องทนทุกข์อยู่แบบนั้น นี่ก็เกิดจากกรรมที่ทำมานั่นเอง

คนที่ไม่ชัดเจนเรื่องกรรม ไม่เชื่อในกรรมและผลของกรรม ก็จะสะสมกรรมชั่วไปเรื่อยๆ แล้วก็วนเวียนรับกรรมชั่วทุกข์ทรมานแสนสาหัสจนหันมาทำดีจนได้รับผลกรรมที่ดี เกิดมามีหน้าตาดีแต่แล้วก็เลือกทำกรรมชั่วไปทั่ว ก็ต้องวนมารับวิบากกรรมชั่วแบบนี้เรื่อยไป คนก็วนเวียนในวัฏสงสารแบบนี้ ทำดีทำชั่วสลับกันไปแบบนี้ แล้วก็ต้องมาคอยรับผลกรรมชั่วจนทุกข์ทรมานแบบนี้ มันเหนื่อยไหมล่ะ

4). การพาตนให้รอดพ้นกรรมเก่า

คนที่กิเลสหนามักจะต้องเวียนกลับไปเจอกับทุกข์เช่นนี้ เพราะยังมีเชื้อกิเลสเป็นตัวดูดดึง แม้จะอยู่ในกลุ่มมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี มีครูบาอาจารย์ที่สอนอย่างถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ ลดกิเลสได้จริง มีปัญญาจริง ถึงจะพยายามปฏิบัติจนมีความสงบ รูปสวย มีคนนับหน้าถือตา เป็นดังพ่อพระแม่พระ แต่สุดท้ายก็จะโดนวิบากกรรมลากกลับไปให้หลงรัก ให้มีคู่ ดังที่เห็นได้ทั่วไปในสังคมว่า คนที่ดีแสนดีแต่ทำไมเวียนกลับไปเสื่อมจากศีลธรรม

การที่เสื่อมจากศีลธรรมนั้นเพราะว่าแท้จริงแล้วไม่เคยมีธรรมนั้นจริงๆในตนเองต่างหาก ไม่มีปัญญาในตน ไม่มีสภาพรู้แจ้งกิเลสในตน ดังนั้นจึงมีกิเลสเป็นไส้ศึกทำให้ต้องแพ้พ่ายเมื่อผลกรรมยกทัพมาตี ถ้าเราไม่ใช่ของจริงถึงแม้จะอยู่ในหมู่คนดีก็จะต้องโดนพรากโดนจับแยกออกไปให้รับทุกข์

แต่คนที่มีสภาพรู้แจ้งกิเลสในเรื่องคู่จะต่างออกไป เพราะเข้าใจรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ทั้งหมดในเรื่องคู่ จึงไม่มีวิบากกรรมใดที่จะสามารถมากระแทกกระทั้นให้สละความโสดหรือไปหลงรักใครได้ เพราะเข้าสู่ภาวะของความเที่ยงในวิญญาณว่าไม่มีคู่นี่มันสุขที่สุดแล้ว

แต่ถึงกระนั้นก็ตามแม้ว่าจะเป็นผู้มีปัญญารู้แจ้งในกิเลส เขาเหล่านั้นก็ไม่ได้ปัญญามาด้วยความบังเอิญ แต่ได้มาจากการเผชิญกับความหลง ความรัก เรียนรู้สุขทุกข์ ล้มลุกคลุกคลานกันมามากมายเช่นเดียวกับคนกิเลสหนานั่นแหละ แต่สิ่งที่ทำให้เขาผ่านมาได้และเพียรพยายามจนไม่ต้องวนกลับไปทุกข์อีก คือการคบหาสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมได้ฟังสัจธรรมที่บริบูรณ์ เกิดศรัทธาและปฏิบัติตามจนพ้นทุกข์ได้นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

15.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,784 views 0

ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส

ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส

การตรวจสอบกิเลสตั้งแต่ในระดับ 1-4 ที่ผ่านมานั้น จะไม่มีความหมายอะไรเลยถ้าหากว่าเราขาด “ความจริงใจ

ความจริงใจในที่นี้คือความจริงใจต่อตนเอง คือความจริง ที่เกิดขึ้นในใจ หรือการมองความจริงตามความเป็นจริงนั่นเอง ยอมรับความจริงว่าเกิดความอยากขึ้นในใจ มันอยากกินก็ยอมรับได้ มันอยากกินมากขึ้นก็ยอมรับได้ หรือความอยากกินมันลดลงไปก็รับรู้ได้

ความจริงใจคือคุณสมบัติที่จำเป็นมากในการเรียนรู้เรื่องของกิเลส เพราะกิเลสเป็นเรื่องภายในใจ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อน จึงต้องอาศัยความจริงใจนี่แหละเป็นตัวที่จะเปิดเผยหน้าตาของกิเลสให้เราเห็น

…อัตตาบังความจริงใจ

สิ่งที่จะบดบังความจริงใจได้อย่างดีที่สุดก็คืออัตตาของเรานี่เอง เพราะในส่วนกามมันชัดเจนอยู่แล้วว่าเรายังกินเนื้อ แต่ถ้าเราเลิกกินเนื้อแล้วมันมักจะมีอัตตาก้อนใหญ่ติดมาด้วย

อัตตานั้นเกิดจากอะไร? การเกิดจากอัตตานั้นมักจะเกิดมาในระหว่างที่เราจะออกจากความชั่ว การออกจากชั่วเราต้องยึดดี เช่นในกรณีของการจะมากินมังสวิรัติเราต้องเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งชั่ว เป็นสิ่งที่เบียดเบียน ไม่เมตตา ฯลฯ จึงจะสามารถทำให้เราออกจากชั่วได้สบายใจ นั่นหมายถึงย้ายอัตตาจากฝั่งกินเนื้อมาฝั่งเกลียดการกินเนื้อ เพียงแค่ย้ายฝั่งของอัตตาเท่านั้นแต่อัตตาก็ยังอยู่กับเราไม่ไปไหน

ทีนี้ถ้ามีคนมาถามกับเราว่า “ยังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ไหม” ด้วยความยึดดีของเรา จะตอบเขาได้ในกรณีเดียวว่าไม่อยาก แต่ในใจนั้นอยากหรือไม่อยากก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าตอบว่า “อยาก” ไม่ได้ เพราะความยึดดีมันมีมาก เราจะไม่ยอมเปิดใจไม่ยอมมองไปที่ความอยาก เพราะความชั่วความไม่ดีของการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่เราไม่ยอมรับ เราจึงใช้อัตตานี้เองบังความจริงที่เกิดขึ้นในใจไว้

ความจริงว่ากิเลสหรือความอยากยังอยู่นั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย แม้จะกินมังสวิรัติได้เป็นสิบยี่สิบปีก็ไม่ได้มีความหมายอะไรในเชิงของโลกุตระ เป็นเพียงแค่การสร้างกุศลโลกียะเท่านั้น เป็นความดีแบบโลกๆ ซึ่งเรื่องของการล้างกิเลสเป็นอีกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการกินมังสวิรัติ แต่การกินมังสวิรัติได้อย่างผาสุกนั้นเป็นผลจากการล้างความอยากในเนื้อสัตว์

ดังนั้นอัตตาที่เรามีนี่เองที่จะกั้นไม่ให้เราเข้าใจกิเลส ไม่เข้าใจธรรม แม้เราจะกินมังสวิรัติได้ทั้งชีวิตก็ไม่ได้หมายความว่าจะรู้เรื่องกิเลสอย่างถ่องแท้ เพราะไม่เคยเปิดใจยอมรับความอยากด้วยความจริงใจ

…สมถะวิธีกับการดับโดยอัตโนมัติ

สมถะวิธีนั้นเป็น วิธีการกินมังสวิรัติที่ใช้กันเป็นสากล การทำสมถะไม่ใช่แค่การนั่งสมาธิ เดินจงกรม แต่หมายถึงการกดข่มจิตให้เข้าไปอยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่นเรา ถือกรรมฐานว่า เนื้อสัตว์ไม่ดี มังสวิรัติดี เนื้อสัตว์เบียดเบียน ไม่เมตตา ทำร้ายสัตว์ โหดร้าย ทารุณ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นตรรกะ เป็นความรู้ เป็นเหตุผล ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกดข่มความชั่วหรืออาการอยากกินเนื้อสัตว์ไปได้ ลักษณะเหล่านี้เองคือการกดข่มด้วยสมถะ

เช่นเราไปกินข้าวกับเพื่อน เพื่อนสั่งเนื้อสัตว์มา เป็นเนื้อย่าง กลิ่นหอมน่ากิน ด้วยจิตใจที่เราฝึกกดข่มไว้มากแล้ว ทันทีที่เห็นเนื้อสัตว์เราจะสร้างความรังเกียจขึ้นมา สร้างความรู้สึกเหม็นเมื่อได้กลิ่น สร้างความรู้สึกว่ามันชั่วร้ายเบียดเบียนขึ้นมาโดยอัตโนมัติ กระบวนการเหล่านี้ผู้ที่ฝึกสติมาน้อยจะไม่รู้ตัว บางครั้งจะหลงไปด้วยว่ามีสติ

ลักษณะของความคิดอัตโนมัติเหล่านั้นเกิดจากเรามีสัญญาว่าเนื้อสัตว์ไม่ดี พอเห็นเนื้อสัตว์ก็ปรุงแต่งความคิดขึ้นมาทันทีว่ามันไม่ดีอย่างนั้น ชั่วอย่างนั้น เบียดเบียนอย่างนั้น เราจึงสามารถ “ตัด” หรือ “กดข่ม” ความอยากที่เกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ เป็นปกติ ทำได้โดยไม่รู้ตัว ทำได้อย่างธรรมชาติ เป็นลักษณะของสมถะวิธี เป็นเพียงวิธีที่ทำให้ความอยากสงบลงได้แต่ไม่สามารถทำให้ความอยากตายหรือสลายหายไปได้

…ความหลงผิดในสมถะวิธี

เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยากจริงๆ หากจะต้องบอกว่าการกินมังสวิรัติโดยปกติทั่วไปส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้สมถะวิธี การบอกกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่เพื่อการข่มหรือต้องการอวดโอ้แต่อย่างใด แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่ามันเป็นแค่วิธีหนึ่งในการกดข่มความชั่วเท่านั้น และวิธีเหล่านี้ไม่สามารถกดข่มได้ตลอดไป ถึงแม้ว่ามันจะเข้าใจง่ายและปฏิบัติได้ง่ายแต่ก็ไม่ใช่วิธีการล้างกิเลสแต่อย่างใด

สมถะวิธีกับการล้างกิเลสหรือที่เรียกว่าวิปัสสนานั้นเป็นคนละเรื่องกัน เมื่อวิธีการต่างกันผลที่ได้ก็จะต่างกันไปด้วย แต่เป็นเรื่องยากที่จะสังเกตเพราะผลที่เห็นได้ด้วยตาจะออกมาคล้ายๆกัน สุดท้ายแล้วไม่ว่าคนที่ใช้สมถะหรือวิปัสสนาก็จะสามารถกินมังสวิรัติได้เหมือนกัน คนทั่วไปก็จะมองและแยกออกได้ยากมาก

แต่ผลทางจิตใจของสมถะกับวิปัสสนาจะต่างกันออกไป เหมือนกับว่าทั้งสองวิธีถึงเป้าหมายเหมือนกันคือกินมังสวิรัติได้ตลอดแต่สภาพของจิตใจนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง การกดข่มด้วยสมถะวิธีจะทำให้เกิดความไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบาย อึดอัด กดดัน บีบคั้น ขุ่นมัว ลักษณะเหล่านี้ถ้าไม่สังเกตให้ดีหรือไม่ได้มีญาณปัญญาตรวจวัดก็จะไม่สามารถรับรู้ได้เลย นักมังสวิรัติที่ใช้สมถะวิธีจะบอกว่าชีวิตตนเองดีมีความสุข ทั้งหมดนี้เพราะอัตตามันมาบังไว้ มันจะตอบได้แบบเดียวคือมีความสุข เพราะอัตตามันสั่งให้คิดแบบนั้น ให้เชื่อมั่นแบบนั้น

สิ่งที่ต่างออกไปทางด้านผลของวิปัสสนาที่อยู่ในระดับผลสำเร็จก็คือ ความโปร่ง โล่ง เบาสบาย มีจิตผ่องใส ผุดผ่อง โดยเฉพาะความแววไว ไม่ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ใช้สมถะวิธีคือมีรูปแบบ ยึดมั่นถือมั่น อึดอัด กดดัน แข็ง ไม่ปรับตัวตามสถานการณ์ ยอมหักไม่ยอมงอ

เพราะสมถะวิธีนั้นจะใช้วิธีในการเร่งอัตตาฝ่ายยึดดี ให้ยึดมั่นในความดี สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนติดดี ติดดีทั้งๆที่ยังมีกามอยู่นั่นแหละ คือยังมีความอยากอยู่ สรุปแล้วความอยากก็ไม่ได้ล้างแถมยังติดดีอีก นี่คืออันตรายของความหลงยึดในสมถะวิธี

ผู้ที่ใช้สมถะวิธีจะเข้าใจว่าทุกอย่างจบที่การกินมังสวิรัติได้ และสร้างอัตตามาครอบไว้ว่าฉันสำเร็จแล้ว ฉันทำได้แล้ว แล้วยึดมั่นปักมั่นตัวเองไว้ที่จุดที่ตนเองนั้นคิดว่าดี สรุปก็คือสามารถกินมังสวิรัติได้แต่ก็มีอัตตาก้อนใหญ่เพิ่มมาด้วย

…หลงผิดกลับไปกินเนื้อสัตว์

มีผู้ที่ใช้สมถะวิธีจำนวนหนึ่ง ที่หันกลับไปกินเนื้อสัตว์ ตามที่เราได้รู้แล้วว่าสมถะวิธีนั้นคือการกดข่มความชั่ว เชิดชูความดี แต่กิเลสที่มีมันไม่ตาย ทีนี้วันหนึ่งกิเลสก็สะสมกำลังไปเรื่อยๆจนฝ่าด่านมังสวิรัติได้

ผู้ที่ใช้สมถะวิธีในการกินมังสวิรัติจะไม่สามารถทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้แน่นอนอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อกิเลสกำเริบจึงกลับไปกินเนื้อสัตว์ด้วยความยินดี และมักหลงไปว่านี่แหละคือความพอดี ไม่ทรมาน ไม่ลำบากตัวเองจนเกินไป เข้าใจผิดว่าเป็นทางสายกลาง แล้วก็ปักมั่นอยู่ที่ตรงนั้น ยึดดีอยู่แบบนั้น หลงว่าภาวะนั้นแหละคือการบรรลุธรรม ทั้งๆที่เป็นเพียงสภาวะของการตึงเกินไปแล้วปรับมาหย่อนเท่านั้นเอง เป็นเพียงระหว่างทางที่ไกลแสนไกลสู่เป้าหมายที่เรียกว่าการทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์

แต่ผู้หลงผิดจะมีความเชื่อความเข้าใจว่าเขาเหล่านั้นถึงเป้าหมายแล้ว ทั้งๆที่ยังเดินมาไม่ถึงครึ่งทางก็ปักมั่นที่ตรงนั้นเป็นจุดหมายแล้วไม่เดินทางต่อ กลับไปเสพกาม คือกลับไปกินเนื้อสัตว์ พร้อมกับอัตตาก้อนใหญ่อีกก้อนว่าต้องแบบนี้สิถึงจะพอดี ถึงจะเป็นทางสายกลาง

นี้เองคือลักษณะของผู้หลงผิดว่าบรรลุธรรม ซึ่งในความจริงแล้วจะค่อนข้างตกต่ำกว่าคนธรรมดาที่กินเนื้อสัตว์ด้วยซ้ำ เพราะคนที่กินเนื้อสัตว์ทั่วไปยังไม่ได้ปักมั่นว่านี่คือทางบรรลุธรรมหรือทางสายกลางอะไร คนกินเนื้อเขาก็รู้และเข้าใจว่าเนื้อเบียดเบียน แต่ก็ห้ามความอยากไม่ได้ แต่คนที่หลงผิดนี่จะกินเนื้อสัตว์ไปด้วยอัตตาที่หลงผิดยึดติดเข้าไปอีก ทำให้ต้องอยู่กับความหลงนั้นอีกนานแสนนาน

…มังสวิรัติกับศาสนาพุทธ

การตั้งกลุ่มมังสวิรัติวิถีพุทธนั้น ตั้งมาเพื่อการศึกษาเรื่องกิเลสโดยใช้มังสวิรัติเป็นโจทย์ในการฝึก ไม่ใช่เพื่อการกินมังสวิรัติโดยตรง การกินมังสวิรัตินั้นไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ต้องเป็นพุทธก็สามารถกินมังสวิรัติได้ ไม่ว่าจะเป็นคริสต์ อิสลาม พราหมณ์ หรือไม่มีศาสนา ก็สามารถกินมังสวิรัติหรือเลิกกินเนื้อสัตว์ได้

ดังนั้นศาสนาจึงไม่มีผลต่อความสามารถในการเลิกกินเนื้อสัตว์เลย เพียงแค่ใช้สามัญสำนึกของมนุษย์ทั่วไปก็สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว เพราะมนุษย์มีความยึดดี ถือดี มีจิตใจดี เมตตา สงสาร เพียงใช้ข้อมูลที่เผยแพร่โดยทั่วไปเกี่ยวกับการทรมานสัตว์ ข้อมูลทางสุขภาพ หรือภาพที่กดดันทางจิตวิญญาณ ก็สามารถทำให้คนหันมากินมังสวิรัติได้โดยไม่ต้องไปโยงเรื่องศาสนาให้มันลำบาก

ทุกวันนี้ศาสนาถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมืออ้างอิงถึงความดี เพื่อให้คนหันมากินมังสวิรัติเท่านั้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็ยังอยู่ในลักษณะของสมถะวิธี คือใช้ข้อมูล ใช้ตรรกะ ใช้ความคิด ใช้ความดี มากดข่มความชั่ว หากถามว่าดีไหม? ก็ตอบได้ว่าดีเยี่ยม แต่ก็ยังไม่ดีที่สุดเท่านั้นเอง

ศาสนาพุทธนั้นไม่ใช่ศาสนาที่เน้นสมถะวิธี แต่ก็มีการใช้สมถะวิธีเป็นเครื่องมืออยู่บ้าง ในส่วนสิ่งที่เน้นก็คือการทำลายกิเลส โดยใช้อริยสัจ ๔ เข้ามาเป็นหลักใหญ่ในการปฏิบัติ ซึ่งจะประกอบด้วยธรรมะย่อยๆอีกมากมาย ซึ่งในทำลายกิเลสนี้จำเป็นต้องเห็นตัวตนของกิเลสเสียก่อน การเห็นกิเลสนั้นจะต้องค้นให้เจอเหตุแห่งทุกข์ จากที่สุดแห่งทุกข์ ในกรณีของการเข้าถึงมังสวิรัติอย่างผาสุกก็คือการทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์

ความอยากกินเนื้อสัตว์นี้เป็นคือรากที่ควรใช้เพื่อพิจารณากิเลส เพราะไม่ตื้นเกินไปเหมือนการใช้เมตตาหรือใช้ความดี และไม่ลึกเกินไปเหมือนกับการจะไปพิจารณาอวิชชาตั้งแต่แรก คือมีความเหมาะสมพอดีในการเริ่มต้น ส่วนหนึ่งเพราะ “ความอยาก” เป็นสาเหตุที่แท้จริงในการพาเราให้ไปกินเนื้อสัตว์ ส่วนเราจะสามารถขยายหรือขุดค้นเหตุอื่นๆที่ซ้ำซ้อนกว่านี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำต่อไป

ดังนั้นหากไม่ได้เริ่มต้นที่ “ความอยาก” ก็ไม่มีวันที่จะทำลายกิเลสได้ หากไม่หยุดชั่วก็ไม่มีวันที่จะเกิดความดีที่แท้จริง ศาสนาพุทธนั้นไม่ได้เน้นการทำดีเท่ากับการหยุดทำชั่ว เพราะรู้ดีว่าการหยุดชั่วแล้วก็จะเกิดผลดีขึ้นเองไม่น้อยก็มาก

…ความจริงใจคือคุณสมบัติสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

การจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุขนั้น จึงจำเป็นต้องเพ่งเล็งไปที่การทำลาย “ความอยาก” ด้วย “ความจริงใจ” ในทุกๆขั้นตอนของการปฏิบัติธรรม ก็จะสามารถข้ามผ่านความอยากไปได้ในวันใดวันหนึ่ง

หากผู้ที่มองว่าเพียงเมตตาแล้วสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุขก็แล้วแต่จะพิจารณา แต่จะสรุปไว้ตรงนี้เพียงแค่ว่า มังสวิรัติทั่วโลกก็ใช้ความเมตตาหรือความดีนี่แหละในการเข้าถึงการเป็นมังสวิรัติ แต่ศาสนาพุทธจะทำลายกิเลสหรือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ และสุดท้ายเมื่อไม่มีความอยากก็เลยกลายเป็นมังสวิรัติไปเองโดยไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องกดข่ม ไม่ต้องบังคับตัวเอง ไม่ต้องอยาก ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องทรมาน และไม่ต้องมีอัตตาไว้ยึดให้มันหนัก

สุดท้ายนี้หากผู้ใดอยากลองเห็นความอยาก ก็ลองดูตัวเองอย่างจริงใจ ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจโดยไม่ต้องกดข่ม ปล่อยตัวเองไปตามธรรมชาติและรับรู้ด้วยสัญชาติญาณแบบซื่อๆว่ายังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ไหม ไม่ต้องมีความดี ไม่มีความชั่ว มีเพียงเรากับเนื้อสัตว์ตรงหน้าเท่านั้น เราจะยังอยากกินอยู่ไหม เราจะรู้สึกอะไรกับเนื้อสัตว์เหล่านั้นไหม เราจะเป็นอย่างไร

ก็ขอเชิญให้ทบทวนในการตรวจระดับ 1-4 ที่มีมาก่อนหน้านี้อีกครั้ง เพื่อให้เห็นกิเลสในตนเองอย่างแท้จริง เพื่อที่จะเริ่มต้นกันใหม่กับการล้างกิเลสอย่างแท้จริง

ติดตามต่อได้ที่

Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)