Tag: สมถะ

แก้กรรม ทำได้จริงหรือ?

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,359 views 0

แก้กรรม ทำได้จริงหรือ?

แก้กรรม ทำได้จริงหรือ?

ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน แนวคิดในการแก้กรรมหรือการแก้ไขสิ่งที่ทำผิดพลาดโดยใช้ไสยศาสตร์ เวทมนต์ หรือพิธีกรรมที่ชวนให้ฉงนสงสัยในเหตุและผลต่างๆก็มีให้เห็นอยู่เสมอ เป็นความเห็นผิดที่จะอยู่คู่โลกตราบโลกแตก ไม่มีวันจะหมดไปและไม่มีวันจะเลือนหายไป

การที่พิธีกรรมเหล่านี้ยังคงอยู่นั่นเป็นเพราะ มนุษย์บางพวกไม่ได้เข้าใจในเรื่องกรรมและไม่มีปัญญาพอจะแยกแยะสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือสิ่งที่เป็นโทษได้ จึงหมายเอาเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย ไม่ต้องคิด เพียงแค่ใช้ศรัทธาก็สามารถพ้นทุกข์ได้มาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ หรือให้เรียกง่ายๆว่าอยากพ้นทุกข์แต่มักง่ายนั่นเอง

ความมักง่ายหรือความขี้เกียจแสวงหาทางพ้นทุกข์หรือไม่ยอมเรียนรู้เรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์นั้นก็นับว่าเป็นความขี้เกียจ ซึ่งความขี้เกียจนี้เองก็เป็นหนึ่งในลักษณะของอบายมุข เมื่อหลงติดในอบายมุขก็เท่ากับเวียนว่ายวนไปมาอยู่ในนรก ดังนั้นการจะจมอยู่ในวิธีแก้กรรมอย่างไสยศาสตร์ เวทมนต์ หรือพิธีกรรมต่างๆที่เป็นไปในแนวทางของเดรัจฉานวิชาจึงเป็นเรื่องที่จะคงอยู่ตราบชั่วนิรันดร์

…เดรัจฉานวิชา

การแก้กรรมที่อวดอ้างในสรรพคุณ ต่างๆ โดยใช้วิธีทางไสยศาสตร์ เช่น น้ำมนต์ สักยันต์ สวดมนต์แก้กรรม ร่ายมนต์ พิธีแก้บน ทำนายฝัน ดูดวง ดูดาว ดูฤกษ์ ดูโหงวเฮ้ง ดูฮวงจุ้ย ทำนายทายทักให้ไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ซึ่งเป็นกิจกรรมที่พาให้หลงมัวเมาในเดรัจฉานวิชา (ดูเพิ่มเติมได้จาก “มหาศีล”)

เดรัจฉานวิชา คือวิชาที่ทำให้เกิดความโง่ เกิดความมัวเมาหลงผิด เป็นวิชาที่สร้างจากความโง่เพื่อใช้กับคนโง่อีกที คือการแก้กรรมที่เป็นมิจฉาทิฏฐิเต็มตัว ไม่มีทางพ้นทุกข์ และไม่มีทางที่กรรมจะถูกแก้ไปได้

แต่บางครั้งเราอาจจะเห็นว่ามีผลสำเร็จในบางคน นั่นเป็นเพราะสิ่งที่เรียกว่ามโนมยอัตตา คือการที่จิตปรุงแต่งบางสิ่งให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเอง เหมือนกับการสะกดจิต สภาพอาการนั้นเป็นได้ทั้งนามธรรมและรูปธรรม ในนามธรรมเช่นสามารถหายป่วยจากโรคเองได้ ซึ่งเป็นเพราะเราไปสั่งจิตให้หายโรคและโรคเหล่านั้นมักจะเป็นโรคทางจิต เช่น ซึมเศร้า ส่วนโรคทางกายภาพนั้นแค่พลังของจิตคงจะทำให้หายทันทีได้ยาก แต่การที่จิตปั้นปรุงแต่งความแข็งแรงก็มีผลเช่นกัน ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องของจิตวิญญาณทั่วไป เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปซึ่งการทดลองทางวิทยาศาสตร์ก็มีผลในเรื่องนี้อยู่ไม่ต้องใช้ไสยศาสตร์ก็สามารถเห็นผลนี้ได้

ในทางรูปธรรม มโนมยอัตตายังสามารถสร้างให้เราเห็นภาพ ได้ยินเสียง ได้กลิ่น เช่นเห็นผี เห็นเทวดา เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นภาพพระพุทธรูป หรือจนกระทั่งทำให้ร่างกายปรุงแต่งท่าทางออกมาเป็นสภาพที่เรียกว่าของขึ้น บังคับตัวเองไม่ได้ ร้องไห้ ร่ายรำ เต้นแร้งเต้นกา เหล่านี้คือสภาพของมโนมยอัตตาที่รุนแรงจนปั้นจิตให้เป็นรูปร่างท่าทางได้ สภาพเหล่านี้คือสภาพที่ไร้สติทั้งสิ้น

การสังเกตวิธีที่ผิดไปจากพุทธหรือหันหัวไปในทิศตรงข้ามสู่การพ้นทุกข์ คือดูว่าสำนักหรือลัทธินั้นทำเพื่ออะไร ถ้าทำเพื่อสะสมบริวาร เพื่อล่อลวงคนเป็นอันมาก เพื่อลาภ เพื่อความมั่งคั่ง เพื่อยศ เพื่อสรรเสริญ เพื่อบารมี เพื่อให้มีคนมีบำรุงบำเรอตนเอง ลักษณะที่เป็นไปเพื่อเพิ่มกิเลสตนเองและผู้อื่นเหล่านี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการพราก เพื่อการไม่มี เพื่อความไม่สะสม เพื่อความมักน้อยกล้าจน เพื่อการลดกิเลสแล้วก็ให้พึงพิจารณาไว้ว่าวิธีเหล่านี้ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์

ทั้งนี้เดรัจฉานวิชาเองก็เป็นวิชาที่ผิดสัมมาอาชีวะอยู่แล้ว เพราะผิดในข้อที่ว่าด้วยการล่อลวงอย่างเต็มๆ หลอกลวงเต็มๆ แถมยังทำให้คนไม่เชื่อในเรื่องกรรมอีก ผิดจากทางพุทธไปไกล ไม่พาให้พ้นทุกข์ แถมยังสร้างสุขลวงและทิ้งทุกข์จริงๆไว้อีก

…เรามีกรรมเป็นของของตน

หลักใหญ่ในเรื่องกรรมข้อแรกว่าด้วย เรามีกรรมเป็นของของตน นั้นหมายถึงกรรมของเรา ใครมายุ่งไม่ได้ คนที่จะไปแก้กรรมให้คนอื่นนั้นเป็นไปไม่ได้ การที่เราจะไปยุ่งกับกรรมของคนอื่นโดยใช้พลังจิต อำนาจต่างๆ หรือไสยศาสตร์ต่างๆนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะกรรมเป็นของใครของมัน การที่จะเกิดผลดีผลร้ายก็เพราะกรรมของเขา ไม่ใช่ว่าเราไปสวดมนต์อ้อนวอนแล้วกรรมของเขาจะเปลี่ยนไปได้ ต่อให้มีคนเป็นล้านมานั่งสวดมนต์ขอพรให้คนคนหนึ่งหายป่วยก็ไม่มีวันที่เขาจะหายป่วยจากการสวดมนต์ของคนล้านคนได้ แต่เพราะเขาเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเขาเองกรรมเขาจึงเปลี่ยน

การที่เราไปรู้กรรมคนอื่น ไปเห็นกรรมของคนอื่นดังที่เจ้าสำนักหลายๆที่อวดอ้างนั้นบางทีก็เป็นมโนมยอัตตา คือจิตปั้นแต่งขึ้นมาเอง มโนไปเอง ส่วนจะถูกต้องหรือไม่ก็ตามบาปกรรมที่ทำไว้ร่วมกัน ถ้ามีวิบากบาปมากก็จะดลให้หลงไปในสิ่งผิดร่วมกัน ถ้าคนมีบุญก็จะทำให้ทายไม่ถูก ไม่ตรง ผิดเพี้ยน ทำให้คนนั้นไม่หลงมัวเมาในสิ่งผิด

ทั้งนี้การเดาใจ หรือการทายใจยังเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าห้ามมิให้สาวกกระทำ แม้จะเป็นพลังอิทธิปาฏิหาริย์หรืออาเทสนาปาฏิหาริย์ที่มีจริงในตน เห็นจริง รู้จริง แต่ก็ห้ามไม่ให้ใช้ เพราะการเดาใจหรือทายใจนั้นเอง หรือการกระทำใดๆโดยใช้อิทธิปาฏิหาริย์ จะทำให้คนไม่สนใจเชื่อในเรื่องกรรม ไม่เข้าใจเรื่องกรรม จะหลงไปเชื่อในบุคคลที่ใช้พลังเหล่านี้แทน ซึ่งไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าจึงไม่สรรเสริญการกระทำเช่นนี้

…กรรมตามทัน

เรื่องกรรมนี่จริงๆเราไม่ต้องกลัวหรอก กรรมไม่ใช่เรื่องเลวร้ายแต่เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจว่า ไม่ว่าสิ่งดีหรือสิ่งร้ายที่เราทำเราจะต้องได้รับผลของกรรมนั้นอย่างแน่นอน เมื่อรู้และเข้าใจดังนี้แล้วก็ไม่ต้องกลัวกรรมตามทัน เพราะโดนแน่นอน ยังไงก็หนีไม่พ้น

ถ้าทำกรรมดีมากก็ได้รับดีมาก ถ้าทำกรรมชั่วมากก็ได้รับชั่วมาก ก็เป็นเหตุเป็นผลที่ยุติธรรมดีอยู่แล้วที่เราจะได้รับสิ่งดีหรือสิ่งชั่วเท่าที่เราทำมา เราไม่มีทางรับดีหรือชั่วได้มากกว่าที่เราทำมา สิ่งที่เราได้รับแม้จะดูเหมือนว่าเราไม่ได้ทำมา แต่นั่นคือผลงานที่เราทำมาเอง สิ่งที่เกิดขึ้นคือภาพสะท้อนจากความดีความชั่วที่เราเคยทำมา

เช่นเราไปซื้ออาหารแล้วมีคนมาแซงคิว เราก็ไม่พอใจ โกรธ โมโห แท้จริงเราก็โมโหความชั่วที่ตัวเองเคยทำมานั่นแหละ แค่ตัวเองได้รับผลกรรมชั่วที่ตนเคยทำมาก็ไม่เป็นมีอะไร คนที่ไม่เข้าใจเรื่องกรรมก็จะไปโกรธ โมโหคนอื่น มองว่าคนอื่นผิด ทั้งๆที่ตัวเองนั่นแหละคือคนผิด ตัวเองทำมาทั้งนั้น มันเป็นเพียงละครฉากหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าฉันเคยทำตัวเลวร้ายขนาดไหน โดยดึงใครสักคนที่มีวิบากกรรมร่วมกันมาแสดงบทเก่าที่เราเคยเล่นให้เราดูเท่านั้นเอง

สิ่งดีสิ่งร้ายที่เราเห็นในทุกวันนี้คือผลกรรมจากที่เราได้ทำมาทั้งนั้น เป็นกรรมของเรา เป็นของของเรา ไม่ใช่ของใคร ความชั่วความดี ทั้งหมดที่เห็นคือภาพสะท้อนตัวเราทั้งสิ้น กรรมมันตามทันอย่างนี้ มันไล่หลังเราแบบนี้ ส่วนจะหนักจะเบาก็แล้วแต่ใครจะทำมามากมาน้อยต่างกันไป

วิธีที่จะหนีกรรมที่ตามทันก็มีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะพ้นกรรมที่ตามมา เพียงแค่ว่าพอจะทำให้ทุกข์น้อยลงได้บ้าง เช่นเรามีกรรมชั่วอยู่สัก 10 ส่วน แต่เรามีกรรมดี 2 ส่วน แบบนี้เราก็ต้องเจอชั่วมากดีน้อย แต่ถ้าเราขยันทำกรรมดีมากๆ กลายเป็นดี 20 ส่วน แบบนี้แม้เราจะได้รับสิ่งชั่วที่เราทำ แต่ก็อาจจะถูกขั้นด้วยความดี ไม่ชั่วต่อเนื่อง ไม่ชั่วนาน ไม่ทุกข์นาน เพราะมีกรรมดีมาช่วยไว้

กรรมนี้ต้องได้รับทั้งหมดนะ ไม่ใช่ว่าไม่รับ แต่เรารับกรรมดีมากกว่า เพราะเราทำดีมากกว่า ส่วนกรรมชั่วรับแล้วก็หมดไป บางคนทำดีมากๆ ได้รับกรรมชั่วไม่นานก็หลุดพ้นจากสภาพนั้นแล้ว เช่นรถเสียแต่ไม่นานก็มีคนมาช่วยไว้ เห็นไหมแบบนี้มันได้รับทั้งกรรมชั่วและกรรมดีมาคานกันไว้ไม่ให้มันชั่วหรือทุกข์หนักจนเกินไป ในเมื่อกรรมชั่วมันตามเราทัน ดังนั้นเราก็ทำดีให้มากเช่นกันเพราะเรารู้ดีว่ากรรมดีมันก็วิ่งตามทันเหมือนกรรมชั่วนั่นเอง

จะดีไหมถ้าเรามีกรรมดีเข้ามาช่วยในยามที่ทุกข์ให้พอหายใจหายคอบ้าง ให้พอพ้นทุกข์ได้บ้าง ถ้าสนใจสร้างกรรมดีก็เรียนรู้กันต่อในบทต่อไป…

…การแก้กรรมอย่างพุทธ

การแก้กรรมอย่างพุทธนั้น หมายถึงการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส การแก้ไขสิ่งที่ผิดไม่ใช่การทำสิ่งที่ผิดให้หายไป แต่เป็นการทำสิ่งที่ผิดให้เป็นสิ่งที่ถูก

เช่นเราไปพูดจาไม่ดีกับเพื่อนคนหนึ่ง นี่เราสร้างกรรมชั่วไว้แล้ว เราพูดด้วยกิเลสของเราเพราะเราโมโหเขา ทีนี้พอความโกรธมันสงบลงเราก็สามารถเลือกได้กว้างๆสองอย่าง คือจะอยู่เฉยๆหรือจะทำดี ถ้าอยู่เฉยๆก็ไม่ต้องทำอะไร รอรับกรรมเก่าที่ทำไป แต่ถ้าทำดีเช่น เราเริ่มจากใจคือพิจารณาดีๆว่าเราไปพูดไม่ดีกับเขาทำไม เพราะเราโกรธใช่ไหม เราโกรธเพราะเราไม่ได้สมใจใช่ไหม เพราะเราเอาแต่ใจใช่ไหม เราผิดที่เราเองเพราะกิเลสเราเอง

ทีนี้พอสำนึกผิดแล้วมันก็มีอีกจุดให้ตัดสินใจคืออยู่เฉยๆหรือจะทำดี ถ้าอยู่เฉยๆก็ไม่ต้องทำอะไร รอรับกรรมเก่าที่ทำไป แต่ถ้าทำดีเช่น เราก็ไปขอโทษเขา อันนี้เราแก้กรรมได้ส่วนหนึ่ง คือไม่ให้กรรมชั่วเก่ามันดำเนินต่อไป ตัดไฟแต่ต้นลม เป็นการทำกรรมดีใหม่ขึ้นมา

แน่นอนว่ากรรมชั่วที่ไปพูดจาไม่ดีกับเขา เราก็ยังคงต้องรอรับอยู่เช่นกัน แต่เรามีกรรมดีก้อนใหม่ที่เราทำด้วยคือไปขอโทษเขา นี้เราลิขิตกรรมตัวเองได้ เขียนกรรมใหม่ให้ตัวเองได้ แก้กรรมตัวเองได้แบบนี้ เราหยุดให้ไม่ให้มันชั่วไปมากกว่านี้ได้แบบนี้ เราทำดีแล้วก็ถือว่าดีแล้ว ส่วนเขาจะให้อภัยเราหรือไม่ก็เป็นผลจากการทำชั่วที่เราเคยได้ทำไป เราก็ยินดีรับกรรมนั้น แต่เราก็ไม่ย่อหย่อนที่จะทำกรรมดีเพิ่ม ถึงเขาไม่ให้อภัยเราก็ทำตัวให้ดี อย่าให้เกิดเรื่องไม่ดีอีก พยายามไม่ให้เราไปทำบาปกับใครอีก

แต่การแก้กรรมโดยการทำดีกลบความชั่วนี่มันไม่มีทางหมดหรอก แล้วก็ยังไม่ใช่วิธีการหลักของพุทธอีกด้วย ถือว่าเป็นวิธีการทั่วไปที่เข้าใจได้ไม่ยากและกระทำกันโดยทั่วไป สำหรับการทำดีเพื่อละลายความชั่วนั้น กว่าเราจะเป็นคนดี กว่าจะเห็นชั่วก็ผ่านมาตั้งกี่ปี ความชั่วที่เราทำก่อนที่จะรู้ตัวว่าเราเป็นคนนิสัยไม่ดีมันสะสมมาตั้งเท่าไร แล้วความดีที่จะทำต่อไปก็ยังไม่ใช่ความดีที่แท้หรือเป็นความดีที่บริสุทธิ์เสียอีก ดังนั้นการจะหวังใช้กรรมให้มันหมดๆไป นี่มันไม่วันเป็นไปได้ พระพุทธเจ้าท่านทำดีขนาดไม่มีใครเปรียบได้ก็ยังคงมีกรรมตามทันให้เห็นอยู่

ดังนั้นการทำดีกลบความชั่วจึงไม่ใช่หลักใหญ่ของพุทธศาสนา เพราะตราบใดที่เรายังมีกิเลสอยู่ เราก็จะสร้างบาปกรรมไปเรื่อยๆตราบชั่วนิรันดร์ ก็คือต้องทำดีทำชั่วสับกันไปมาอย่างไม่มีวันจบสิ้น พอเราทำดีมากๆ ชีวิตเราดีเราก็ประมาทจนไปทำชั่ว พอเราทำชั่วมากๆ เราก็ทุกข์ทนมานจนไปทำดี มันก็วนอยู่ในโลกแบบนี้ตลอดกาล

สุดท้ายวิธีแก้กรรมที่ดีที่สุดก็คือการล้างกิเลส การทำลายกิเลสให้สิ้นเกลี้ยง เพราะกิเลสคือเหตุแห่งทุกข์ คือต้นตอที่ผลักดันให้เราไปสร้างกรรมชั่วต่างๆ ถ้าเราล้างกิเลสใดได้ ก็ปิดประตูนรกในเรื่องนั้นๆไปได้เลย ดับกิเลสเรื่องนั้นไปก็ไม่ต้องสร้างกรรมจากกิเลสในเรื่องนั้นอีก

แต่ถึงการล้างกิเลสจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้าถึงทางเลือกนี้ได้ง่าย ใครกันจะยอมล้างกิเลสที่ตนเองหวงสุดหวง รักสุดรัก ใครจะยอมปล่อยสิ่งที่รัก สิ่งที่ชอบ สิ่งที่หวงแหนลงได้ วิถีทางแก้กรรมอย่างพุทธจึงเป็นทางที่ทรมานกิเลสอย่างที่สุด ต้องเผชิญกับทุกข์สุดทุกข์จากอาการลงแดงของกิเลส ไม่ต่างอะไรกับคนที่ต้องพยายามเลิกยาเสพติด

และไม่ได้หมายความว่าถ้าเรายินดีจะล้างกิเลสแล้วเราจะสามารถทำได้เอง การล้างกิเลสไปจนถึงการดับกิเลสมีวิธีขั้นตอนที่ซับซ้อนและละเอียดลออ ดังจะเห็นได้ว่าในยุคปัจจุบันนี้แทบจะหาคนที่พูดถึงเรื่องล้างกิเลสกันไม่ได้ จึงพูดได้แค่เรื่องทำดีให้มาก ทำชั่วให้น้อย แต่ไม่ได้สอนวิธีที่ทำให้จิตใจผ่องใสจากกิเลส มีสอนกันอย่างมากก็แค่สมถะวิธีกดข่มความคิด ตบความคิด ดีดความฟุ้งซ่าน ไม่ให้เป็นทุกข์เพราะความคิดของตัวเองก็เท่านั้น

เมื่อไม่มีใครสอนวิธีการดับทุกข์ที่เหตุ หรือการล้างกิเลส ก็ไม่มีใครสามารถเข้าถึงสภาพที่ทุกข์ดับได้อย่างแท้จริง เมื่อทุกข์ดับไม่ได้ ไสยศาสตร์ เวทมนต์ เดรัจฉานวิชาต่างๆก็จะสามารถเข้ามาแทรกได้โดยง่าย เพราะเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย ไม่ต้องใช้ปัญญา ไม่ต้องใช้ความเพียร ไม่ต้องลำบาก เพียงแค่ใช้ศรัทธาและกำลังทรัพย์ก็สามารถแก้กรรมด้วยเดรัจฉานวิชาตามที่เขาอวดอ้างได้แล้ว

ซึ่งเหตุนี้เองจึงมีการเข้าใจเรื่องแก้กรรมกันผิด เพราะเหตุจากความเสื่อมของคน ในยุคที่ศาสนาพุทธนั้นไม่ได้ถูกสั่งสอนอย่างถูกตรง ในยุคที่เต็มไปด้วยกิเลสตัณหา ในยุคที่เต็มไปด้วยสิ่งบำรุงบำเรอกิเลส เมื่อศีลธรรมเสื่อมไปจากคน คนก็จึงเสื่อมไปจากศาสนา ปัญญาก็เลยเสื่อมไปจากคน ความเป็นพุทธแท้ๆจึงเสื่อมไปจากคน ความเสื่อมทั้งหลายจึงเกิดด้วยประการเช่นนี้

– – – – – – – – – – – – – – –

23.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,643 views 0

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

การที่เราจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างผาสุก ปราศจากธุลีละอองความอยากใดๆในจิตวิญญาณนั้นหากเราไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่างถ่องแท้และไม่ได้เข้าถึงธรรมนั้นด้วยใจตัวเองก็คงยากที่จะพบกับความสุขแท้

สติปัฏฐานคือช่วงหนึ่งของเส้นทางสู่ความผาสุกที่เราจำเป็นต้องเดินผ่าน เป็นขั้นตอนของการตรวจจับและพิจารณาธรรมเพื่อทำลายกิเลส เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากและจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเรียนรู้ไว้ หากไม่มีกระบวนการของสติปัฏฐานแล้วการทำลายกิเลสก็จะกลายเป็นเรื่องเพ้อฝันเท่านั้น

สติปัฏฐานนั้นคือกระบวนการที่ต้องทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มจนจบ ตั้งแต่ กาย เวทนา จิต ธรรม ครบองค์ประกอบเหมือนเครื่องจักรที่ตัด พับ ต่อ ประกอบ กล่องให้สมบูรณ์เพียงแค่ใส่วัตถุดิบเข้าไป สติปัฏฐานนั้นก็เช่นกันมีการทำงานเป็นองค์รวมไม่แยกกันปฏิบัติ ต้องปฏิบัติร่วมกันอย่างต่อเนื่องเป็นระบบที่มีกระบวนการที่สอดคล้องกันไป

สติปัฏฐานนั้นต่างจากสติสัมปชัญญะหรือความรู้ตัวทั่วพร้อมโดยทั่วไป เพราะทำหน้าที่คนละแบบ สติปัฏฐานไม่ใช่เพื่อความรู้ตัว แต่เป็นการนำความรู้ตัวที่เกิดจากสติสัมปชัญญะเข้ามาเป็นอาหารสู่การรู้กิเลส จับกิเลส วิเคราะห์กิเลส และทำลายกิเลส ดังนั้นหากใครยังเข้าใจความต่างของสติทั้งสองอย่างไม่ได้และไม่เข้าใจการทำงานของสติปัฏฐาน ก็ยากที่จะเข้าใจธรรมะที่เกิดในตน เพราะสติปัฏฐานนี่เองคือกระบวนการที่จะทำให้เห็นธรรมะที่เกิดในตนเองอย่างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

สติปัฏฐานนั้นจำเป็นต้องเรียนรู้ไปรวดเดียวจนจบครบกระบวน ไม่ใช่การแยกปฏิบัติทีละตัว จำเป็นต้องเรียนรู้ทุกตัวแต่ไม่ได้หมายความว่าต้องค่อยๆเรียนรู้ไปตามลำดับทีละขั้น เพราะสติปัฏฐานไม่ใช่การฝึกวิชา ไม่ใช่ระดับชั้น จึงไม่ต้องฝึกทีละขั้นแล้วเลื่อนชั้นไปศึกษาตัวต่อไป แต่ต้องเข้าใจองค์รวมทั้งหมดเพราะธรรมแต่ละตัวนั้นทำหน้าที่ต่างกันแต่ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการชำระล้างกิเลส

สติปัฏฐาน ๔

ธรรมนี้คือทางเอกเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งการหลุดพ้นจากกิเลส ในบทความนี้ก็จะขยายและประยุกต์ให้กับผู้ฝึกกินมังสวิรัติเพื่อล้างกิเลสโดยเฉพาะ แต่ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกิเลสตัวอื่นๆได้เช่นกัน

ในกรณีนี้จะยกตัวอย่างเพื่อผู้ที่ยังติดในรสชาติของเนื้อสัตว์ ยังหลงในเนื้อสัตว์ ยังคงมีความสุขกับการกินเนื้อสัตว์อยู่ ทั้งในกรณีที่เราตั้งใจกินมังสวิรัติและไม่ได้กินมังสวิรัติอย่างจริงจัง

1). กายในกาย

เมื่อเราเห็นเนื้อสัตว์หากเรายังมีความอยากอยู่ เราก็จะรับรู้ได้ถึงอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เป็นอาการที่จิตวิญญาณสังเคราะห์ขึ้นมาเช่น น้ำลายไหล ตัวสั่น มือสั่น กลืนน้ำลาย น้ำย่อยไหล หายใจผิดจังหวะ อาการเหล่านี้คืออาการของความอยากที่สะท้อนให้เห็นจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เพราะนามหรือพลังงานข้างในจิตใจเปลี่ยนแปลง จึงสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปคือการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เราจึงจำเป็นต้องมีสติให้พร้อมเพื่อจับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายนี้เพื่อให้เห็นใจที่เปลี่ยนไปแม้จะเป็นการสั่นสะเทือนเพียงเล็กน้อยก็ตาม

เมื่อเรากินเนื้อสัตว์หากเรายังมีความอยากอยู่ อาการที่เกิดกับร่างกายชัดๆเลยคือจะยังมีความอร่อย จะยังมีรสอร่อยอยู่ รสอร่อยนั้นไม่มีอยู่จริง แต่เป็นรสชาติของวิญญาณที่มีกิเลสของเราสังเคราะห์ขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาเอง จิตของเราปั้นรสอร่อยเหล่านั้นขึ้นมาเองให้ร่างกายของเราได้สัมผัสแล้วหลอกเราซ้อนอีกทีว่าเนื้อสัตว์อร่อย

เมื่อเราคิดถึงเนื้อสัตว์ หากเรายังมีความอยากอยู่ จะเกิดอาการกับร่างกายคือมีอาการหิวกระหายเนื้อสัตว์ โหยหวนคิดถึงเนื้อสัตว์ มีอาการน้ำย่อยหลั่ง กลืนน้ำลาย น้ำลายไหล หิว หมดแรง ออกอาการต่างๆเพื่อให้กระตุ้นให้เรากลับไปกินเนื้อ

อาการที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้ คืออาการภายนอกที่สะท้อนให้เห็นภายในคือจิตใจที่เปลี่ยนแปลง เป็นลักษณะเมื่อผัสสะเข้ามากระทบกระแทกแล้วจิตใจของเราให้หวั่นไหวจนสั่งร่างกายให้หวั่นไหวตาม ผู้ที่มีสติจับอาการของร่างกายและจิตใจที่เปลี่ยนแปลงได้จะนำผลนี้ไปสู่ขั้นตอนต่อไป

2). เวทนาในเวทนา

เมื่อเราจับอาการของจิตใจที่เกิดจากการกระทบร่างกายได้จะพบว่าอาการที่เปลี่ยนแปลงนั้น เกิดได้สามลักษณะคือ สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ นั่นคือเกิดเวทนาอย่างไรนั่นเอง แต่เวทนาเพื่อการล้างกิเลสนั้นถูกแบ่งเป็นสองลักษณะใหญ่ๆที่ต้องเรียนรู้หากว่าเราต้องการความผาสุกอย่างยั่งยืน

เคหสิตเวทนา

หรือความมีเวทนาอย่างชาวบ้าน หมายถึงการเกิดสุข ทุกข์ เฉยๆ แบบทั่วไป ไม่ว่าชาวบ้าน นักบวช ผู้ทรงศีลก็สามารถเกิดเวทนาแบบชาวบ้านได้ เช่นเมื่อเราอยากกินเนื้อสัตว์แล้วไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เราก็จะเกิดทุกข์แบบชาวบ้านทั่วไป คือทุกข์เพราะไม่ได้กินของที่อยากกิน หรือการที่เราได้ไปกินเนื้อสัตว์แล้วเกิดสุข ก็เป็นความสุขแบบชาวบ้านทั่วไป หรือแม้กระทั่งอาการเฉยๆแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์อย่างที่หลายคนเข้าใจว่าตัวเองกินมังสวิรัติได้นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นความเฉยๆแบบชาวบ้าน คือตัวเองไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ยินดีในเนื้อสัตว์ เกลียดเนื้อสัตว์แล้วไม่ไปกินก็ไม่ได้เป็นทุกข์อะไร

ประเด็นนี้เองที่ทำให้คนกินมังสวิรัติหลายคนเข้าใจผิดว่าตนเองล้างกิเลสได้หรือบรรลุธรรม เพียงเพราะความเฉยๆ แต่ทั้งหมดนี้มันเป็นความเฉยหรืออุเบกขาแบบชาวบ้าน เหมือนกับคนที่ไม่กินผัก ถ้าไม่มีผักในมื้ออาหารก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ชาวมังสวิรัติที่ใช้การกดข่มก็เช่นกัน เมื่อทำให้ตัวเองเกิดความรู้สึกว่าเนื้อสัตว์ไม่ใช่อาหาร แม้จะไม่มีเนื้อสัตว์อยู่ในมื้ออาหาร หรือไม่ได้กินเนื้อสัตว์เป็นสิบยี่สิบปีก็จะไม่เกิดทุกข์อะไร เพราะรู้สึกเฉยๆกับการไม่กินเนื้อสัตว์ ทั้งหมดนี้เป็นเวทนาแบบชาวบ้าน เป็นเรื่องทั่วไป เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็มีได้

คนกินมังสวิรัติแบบไม่เข้าใจเรื่องล้างกิเลสหากยังมีความอยากในเนื้อสัตว์มากอยู่ เมื่อได้กินเนื้อสัตว์ก็จะเกิดสุข ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ก็จะเกิดทุกข์ หรือในกรณีคนที่ยึดติดในมังสวิรัติมากๆ ถ้าได้กินผักก็จะเกิดสุข ไม่ได้กินผักก็จะเกิดทุกข์ เป็นความรู้สึกสุข ทุกข์แบบทั่วไป แบบเป็นชาวบ้าน เป็นสามัญ เป็นเรื่องธรรมของโลก

เนกขัมมสิตเวทนา

คือการมีเวทนาแบบนักบวช นักบวชในที่นี้ไม่จำเป็นต้องโกนผมห่มผ้า แต่หมายถึงคนที่ใช้ศีลในการขัดเกลากิเลส บวชใจให้อยู่ในธรรม นั่นหมายถึงจะเป็นใครก็ได้ ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงเนกขัมมสิตเวทนา ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือเป็นนักบวชก็มีสิทธิ์ที่จะศึกษาธรรมด้วยกันทั้งนั้น อนึ่งการมีเวทนาแบบเนกขัมมะนี่เองคือทางสู่การพ้นทุกข์

การที่เราจะมีเนกขัมมสิตเวทนานั้นจะต้องเริ่มต้นจากการถือศีล การยึดอาศัยศีลมาเพื่อขัดเกลากิเลส ใช้ศีลมาเป็นเครื่องมือตรวจจับกิเลส ผู้ที่ไม่มีศีล ไม่ตั้งตบะ ไม่มีความตั้งใจที่จะลด ละ เลิกความยึดมั่นถือมั่นจะไม่มีวันเข้าถึงเนกขัมมสิตเวทนาได้เลย เนกขัมมสิตเวทนานั้นจะเป็น ความสุข ทุกข์ เฉยๆในอีกมิติหนึ่งซึ่งต่างออกไปจากเคหสิตเวทนา แม้จะได้ชื่อว่าเฉยๆหรืออุเบกขาเหมือนกัน แต่สภาพภายในจิตใจนั้นก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง นี้เองคือนัยสำคัญว่าทำไมศีล สมาธิ ปัญญาต้องปฏิบัติไปพร้อมกันเป็นองค์รวม ไม่แยกกันปฏิบัติ

ความทุกข์ที่เกิดขึ้นหลังจากเราถือศีลก็คือ เมื่อเราเห็นเนื้อสัตว์ มันจะทุกข์เพราะว่าต้องอดทนอดกลั้นไม่ไปกิน แม้จะมีมาวางตรงหน้าเราก็ต้องทน ซึ่งยิ่งเรามีความอยากมากเท่าไหร่ เราก็จะทุกข์มากเท่านั้น การถือศีลนี้เองจะทำให้เราเป็นทุกข์และเห็นทุกข์ไปเรื่อยๆ แต่นี่เองคือการ “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม” เราจะใช้ความทุกข์นี้แหละในการพิจารณาหาสาเหตุแห่งทุกข์ต่อไปในขั้นตอนของจิตในจิต

ความสุขที่เกิดจากเนกขัมมสิตเวทนา จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อปราศจากกิเลส ในส่วนของความสุขที่เกิดขึ้นตอนทนไม่ไหวกลับไปกินเนื้อสัตว์นั้นก็เป็นเคหสิตเวทนาซึ่งจะต่างกันออกไป เนกขัมมสิตเวทนานั้นจะมีสุขแม้จะไม่ได้เสพและจะเกิดขึ้นในจังหวะของการทำลายกิเลสได้

เมื่อทำลายกิเลสได้ความสุขจะสงบลงเป็นอุเบกขา ลักษณะของเนกขัมมสิตอุเบกขาจะแตกต่างกับเคหสิตอุเบกขาอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ จะเรียกว่าคนละโลกก็ว่าได้ โลกหนึ่งเป็นโลกียะ อีกโลกหนึ่งคือโลกุตระ เนกขัมมสิตอุเบกขาเป็นมิติของโลกุตระ ซึ่งจะเป็นความปล่อยวางจากความอยาก สงบเย็น โปร่ง โล่ง สบาย แม้ว่าจะไม่ได้กินผักก็ไม่ทุกข์ แม้จะต้องกินเนื้อก็ไม่ทุกข์ สภาพที่มองเห็นโดยทั่วไปจะคล้ายๆกับคนธรรมดา แต่จะไม่ธรรมดาตรงที่ว่าจะไม่มีความทุกข์ใดๆเกิดขึ้นในใจอีกเลย แม้จะต้องกินผักไปตลอดชีวิตก็ไม่ทุกข์ เห็นเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ เห็นคนกินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ มันจะไม่มีเรื่องอะไรให้ใจเป็นทุกข์หรือขุ่นมัวได้เลย นี่คือสภาวะของเนกขัมมสิตอุเบกขา

การที่เราจะถึงเป้าหมายคือเนกขัมมสิตอุเบกขาได้นั้นต้องเริ่มจากศีล ศีลนั้นคือการเพ่งเล็งเข้าไปที่ความอยากกินเนื้อสัตว์ เข้าไปที่ความติดยึดในเนื้อสัตว์ เพื่อที่เราจะได้ออกจาความอยากกินเนื้อสัตว์ด้วยปัญญา ศีลที่ควรตั้งไว้นั้นคือละเว้น “ความอยาก” ในการกินเนื้อสัตว์ นั้นหมายถึงไม่ให้มีความอยากเกิดขึ้นทั้งในกาย วาจา ใจ แม้จะเล็กน้อยเพียงเสี้ยวธุลีก็ไม่ให้มีความอยากเกิดขึ้น นั่นหมายถึงการดับกิเลสคือความอยากกินเนื้อสัตว์อย่างสิ้นเกลี้ยง

…หลักการรับรู้เวทนา

การที่เราจะสามารถรับรู้เวทนาได้ชัดเจนเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามองทุกอย่างตามความเป็นจริงแค่ไหน เรามีความจริงใจกับตัวเองมากเท่าไร อยากกินก็รู้สึกว่าอยากกิน เกลียดก็รู้ว่าเกลียด ยอมรับตามตรงว่ายังมีกิเลสเหลืออยู่ตามจริง มีมากก็ยอมรับว่ามาก มีน้อยก็ยอมรับว่าน้อย ไม่ใช่ว่ามีมากแล้วพยายามกดข่มบอกตัวเองไว้ว่าฉันไม่อยาก ฉันไม่อยากแบบนี้จะบรรลุธรรมช้าจนถึงไม่สามารถเข้าใจธรรมใดได้เลยเพราะหากไม่มีความจริงใจต่อตัวเองก็ยากที่จะได้เห็นหน้าตาจริงๆของกิเลส

คนกินมังสวิรัติที่ยึดดีหลายคนมักจะกดข่มความอยากไว้ ทำเป็นมองไม่เห็น ทำเหมือนไม่มี ยอมรับไม่ได้ว่าตัวเองยังอยาก รู้สึกรังเกียจหากต้องยอมรับการมีอยู่ของความอยากในตัวเอง แต่ถึงจะกดข่มด้วยความคิดเช่นนั้นก็ตาม กิเลสที่มีอยู่ก็ไม่ได้หายไปไหน ไม่ได้ลดลงหรือสลายไปแต่อย่างใด มันจะซ่อนตัวแล้วแอบไว้จนกว่าวันที่จิตใจจะกล้าค้นหามันจริงๆ หรือจนกระทั่งวันที่มันคิดว่าความอยากนั้นแข็งแกร่งพอจะทำลายความเป็นมังสวิรัติได้ วันนั้นแหละคือวันที่มันจะออกมา แม้ว่าจะกดข่มไว้เท่าไหร่ แต่สุดท้ายก็จะแพ้พลังกิเลสอยู่ดี

ดังนั้นเราจึงควรรับรู้ความทุกข์ สุข เฉยๆ ตามความเป็นจริงโดยไม่เอาความคิด ความรู้ หรือตรรกะใดไปกดข่มความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพราะความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้เองคือกุญแจที่จะไขประตูสู่ร่างจริงของกิเลสเพื่อให้เราได้ต่อสู้และเพียรพยายามต่อไป

3). จิตในจิต

เมื่อเราตั้งศีลและเกิดเวทนาขึ้นในใจแล้ว เช่นเราเกิดความทุกข์เพราะความอยากกินเมนูเนื้อสัตว์ที่อยู่ตรงหน้า มันเป็นเมนูที่เราเคยชอบ กลิ่นมันช่างเย้ายวนใจ สัมผัสที่เคยเคี้ยว รสที่เคยลิ้มลองมันยังอยู่ในใจ เมื่อเราไม่ได้กินสิ่งที่อยากกินเราจึงเกิดทุกข์

ในขั้นตอนของจิตในจิตคือเอาทุกข์ สุข เฉยๆนั้นมาชำแหละว่าเราเกิดเวทนานั้นเพราะกิเลสตัวไหน เราไม่สามารถทำลายกิเลสได้ด้วยการบอกว่ามันคือกิเลสแล้วตบมันทิ้งด้วยสมถะวิธี แต่ต้องแยกกิเลสออกมาเป็นส่วนๆ เพื่อใช้ธรรมที่เหมาะกับกิเลสนั้นๆพิจารณาให้ถูกตัวถูกตน

ในกรณีที่ยกตัวอย่างมานั้นจะเห็นว่าเรามีกิเลสหลายตัวรวมอยู่ในความทุกข์นั้นๆ เราทุกข์เพราะเราไม่ได้เสพ แต่ต้องตั้งสติดีๆให้เห็นว่าเรายึดติดกิเลสตัวใดมากที่สุด กิเลสตัวไหนที่อันตรายที่สุด เช่นเห็นหน้าตาของเมนูเนื้อสัตว์ก็ยังเฉยๆ ได้กลิ่นก็ยังเฉยๆ แต่พอคิดถึงรสที่เคยลิ้มลองเท่านั้นแหละ สติหลุดลอยไปเลย เกิดความอยากแล้วก็เป็นทุกข์ขึ้นมาทันทีเพราะอยากกินแต่ฝืนไม่กิน ดังนั้นในกรณีนี้ตัวรสชาติและรสสัมผัสคือกิเลสที่เราควรจะแยกมาจัดการก่อนเป็นอันดับแรก

การที่เราติดรสชาติและรสสัมผัสนั้นเกิดจากกิเลสในหมวดของกามคุณ ๕ การติดรสสัมผัส เช่น ติดความเย็น ร้อน อ่อน แข็งของวัตถุที่เอาเข้าปาก ในกรณีของเนื้อสัตว์ก็จะเป็นความเหนียวนุ่มของเนื้อนั้นๆ และติดรสชาติ เช่น เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ขม เผ็ด ฯลฯ ของเนื้อสัตว์นั้น

เมื่อเราเห็นกิเลสและค้นไปในรากของความยึดมั่นถือมั่นจนเป็นที่มั่นใจแล้วว่า ความรู้สึกนี่แหละคือกิเลสที่เราติดยึด เราก็จะนำสิ่งที่ได้มานั้นไปสังเคราะห์ต่อในกระบวนการของธรรมในธรรม

4). ธรรมในธรรม

เมื่อเราจับตัวกิเลส หรือตัวการที่ทำให้เกิดทุกข์มาได้แล้ว ในกรณีที่ยกตัวอย่างก็จะเป็นการติดในรสสัมผัสและรสชาติ เราก็จะหาธรรมะที่ถูกที่ควรมาเจรจากับกิเลสเหล่านี้ ให้ตัวเราได้ยอมละหน่ายคลายจากความยึดมั่นถือมั่นจากกิเลสเหล่านี้

เช่นเราอาจจะเลือกเน้นไปในรสสัมผัสก่อนว่า ความอยากกินอยากสัมผัสเนื้อสัตว์นั้นทำให้เกิดทุกข์เกิดโทษอย่างไร มีประโยชน์อะไรบ้างถ้าเราจะออกจากสิ่งนี้หรือไม่ติดในสิ่งนี้ ความติดในรสสัมผัสนี่มันก็ไม่เที่ยงใช่ไหม เรากินบ่อยๆมันก็เบื่อใช่ไหม มันไม่ได้สุขทุกครั้งที่กินใช่ไหม แล้วมันก็ไม่ใช่ตัวตนของเราอีกด้วยเพราะจริงๆแม้เราจะไม่ต้องสัมผัสเนื้อนั้นๆเราก็ยังสามารถได้ความสุขจากการขบเคี้ยวสิ่งอื่นๆ (ในกรณีนี้ใช้เฉพาะต้องการเบี่ยงออกไปหาสิ่งที่เป็นภัยน้อยกว่า) เราติดรสสัมผัสเราไม่ได้ติดเนื้อสัตว์ เพียงแค่เราหาอย่างอื่นคล้ายๆกันมาแทนแล้วพิจารณาประโยชน์ไปเรื่อยๆก็จะทำให้ลดเนื้อสัตว์ได้

รวมทั้งการพิจารณาข้อมูลอื่นๆเสริมไปก็ได้เช่น เอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาเสริม เอาข้อมูลทางการวิจัยมาเสริม เอาอสุภะหรือภาพจำพวกสัตว์ถูกทรมานหรือสัตว์ตายมาเสริมก็จะเพิ่มพลังในการพิจารณาออกจากกิเลส เพราะตอนนี้เราจับตัวกิเลสได้คาหนังคาเขาแล้ว และมั่นใจว่าเป็นตัวนี้แน่ๆ เราก็ใช้ธรรมะนี่แหละเข้าถล่มสู้กับความยึดมั่นถือมั่นอย่างไม่ต้องยั้งมือได้เลย

ในมุมของการติดรสชาติก็ทำคล้ายๆกันจะขอยกตัวอย่างการเห็นธรรมของการติดรสชาติในกรณีหนึ่ง คือปลาหมึกปิ้งกับเห็ดออรินจิปิ้ง เราอาจจะเป็นคนที่ชอบกินปลาหมึกปิ้ง พอพิจารณากิเลสดีแล้วก็รู้ได้ว่า เราติดใจในรสชาติของปลาหมึกปิ้ง ถ้าปลาหมึกไม่ราดน้ำจิ้มก็ไม่อร่อย ปลาหมึกจะอร่อยหรือไม่อร่อยอยู่ที่ความสดและน้ำจิ้ม และร้านค้าปลาหมึกมักโฆษณาว่าน้ำจิ้มรสเด็ด ตอนนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับความติดรสของตัวเองเท่านี้

จนกระทั่งเมื่อเราได้ลองกินเห็ดออรินจิย่างจิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ด เราจึงเริ่มไม่แน่ใจว่าเราติดรสน้ำจิ้มหรือติดรสปลาหมึกที่จิ้มน้ำจิ้ม เราจึงลองเปลี่ยนจากปลาหมึกมาเป็นเห็ดออรินจิแล้วจิ้มน้ำจิ้มรสเดิม แล้วเราก็พบว่าเรายังมีความสุขอยู่เหมือนเดิม เราจึงได้ค้นพบว่าเราสามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องกินปลาหมึกปิ้ง ไม่ต้องเบียดเบียนปลาหมึก แค่ใช้เห็นออรินจิปิ้งมาแทน

การเห็นธรรมในกรณีนี้คือความมั่นใจว่าเราติดน้ำจิ้มไม่ได้ติดปลาหมึก เราจึงเต็มใจที่จะเลิกกินปลาหมึกและหาเห็ดมาแทนปลาหมึกและใช้น้ำจิ้มรสเดิมโดยไม่ต้องพิจารณาธรรมอะไรให้มากมาย นี่เป็นลักษณะการวิเคราะห์จิตในจิตต่อเนื่องมาธรรมในธรรมอีกนิดหน่อยก็จบกระบวน เลิกกินปลาหมึกปิ้งได้อย่างสบายใจ เพราะรู้ชัดแจ้งในวิญญาณว่าไม่ได้ติดปลาหมึกปิ้งแต่ติดน้ำจิ้ม ก็เลยไม่ต้องไปฆ่าความอยากกินปลาหมึกปิ้ง แต่ก็ต้องกลับไปทำโจทย์ของความอยากในรสชาติของน้ำจิ้มอีกทีหนึ่ง หรือจะเก็บความอยากกินเนื้อสัตว์ให้หมดก่อนแล้วค่อยกลับมาจัดการเรื่องการติดรสชาติก็ยังไม่สาย เพราะการกินเนื้อสัตว์นั้นบาปกว่าและหยาบกว่าการติดรสของอาหาร

ในเรื่องของความติดยึดในเนื้อสัตว์นั้นยังมีการติดได้ในกิเลสอีกหลายมิติ เช่น อบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา และในหลายลีลาของกิเลสเช่น โลภ โกรธ หลง การวิเคราะห์หรือหาสาเหตุในขั้นตอนจิตในจิตก็จะต่างกันออกไป การใช้ธรรมมาแก้ในขั้นตอนของธรรมในธรรมก็จะต่างออกไปเช่นกัน

….แต่ถึงแม้ว่าเราจะทุ่มเทสุดชีวิตสุดปัญญาก็ตาม กิเลสอาจจะไม่ได้ตายหรือสลายหายไปง่ายๆ ซึ่งการพ่ายแพ้ต่อกิเลสก็เป็นเรื่องธรรมดา ถึงเราจะเพียรอย่างเต็มที่ก็แค่อาจจะทำให้กิเลสลดกำลังหรืออ่อนแอลงไปบ้างเท่านั้น แต่เราก็จะไม่ยอมแพ้ เพียรพยายามต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเราก็ใช้สติปัฏฐานตั้งแต่กาย เวทนา จิต ธรรม นี่แหละ ตรวจจับกิเลสแล้วทำลายมันไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งกิเลสจะยอมถอยและตายไปเอง

ผู้ที่เข้าใจกระบวนการของสติปัฏฐานแล้วจะไม่กลัวการกระทบของกิเลส จะไม่ผลักไส ไม่กดข่ม ไม่ตบกิเลสให้ดับลงในทันทีเพราะรู้ดีว่าการดับด้วยสมถะวิธีนั้นไม่ยั่งยืน เป็นเพียงการกดข่มเท่านั้น แต่จะบุกตะลุยเข้าสู้กับกิเลส เจอกิเลสที่ไหนก็จับมาพิจารณาได้หมด แสวงหาผัสสะที่จะมาเป็นอาหารของตนเอง ถ้ายิ่งเก่งก็จะยิ่งกล้าในการเข้าไปรวมหมู่รวมกลุ่มกับสังคม เป็นนักมังสวิรัติที่ชำแหละและล้างกิเลสเป็น จึงต้องใช้สังคมและมิตรสหายเป็นเครื่องมือหรือเหตุการณ์ที่จะเข้ามากระทุ้งให้เห็นกิเลส ด้วยสติปัฏฐาน จับกาย ดูเวทนา วิเคราะห์จิต สังเคราะห์ธรรม ไปเรื่อยๆ ซึ่งก็จะเก็บสะสมความเจริญไปได้เรื่อยๆจนวันหนึ่งกิเลสหมดก็จะสามารถรู้ได้เองจากการทดสอบความอยาก หรือการทดสอบการหลุดพ้นจากกิเลสด้วยใจของตัวเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

19.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,923 views 0

ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส

ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส

การตรวจสอบกิเลสตั้งแต่ในระดับ 1-4 ที่ผ่านมานั้น จะไม่มีความหมายอะไรเลยถ้าหากว่าเราขาด “ความจริงใจ

ความจริงใจในที่นี้คือความจริงใจต่อตนเอง คือความจริง ที่เกิดขึ้นในใจ หรือการมองความจริงตามความเป็นจริงนั่นเอง ยอมรับความจริงว่าเกิดความอยากขึ้นในใจ มันอยากกินก็ยอมรับได้ มันอยากกินมากขึ้นก็ยอมรับได้ หรือความอยากกินมันลดลงไปก็รับรู้ได้

ความจริงใจคือคุณสมบัติที่จำเป็นมากในการเรียนรู้เรื่องของกิเลส เพราะกิเลสเป็นเรื่องภายในใจ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อน จึงต้องอาศัยความจริงใจนี่แหละเป็นตัวที่จะเปิดเผยหน้าตาของกิเลสให้เราเห็น

…อัตตาบังความจริงใจ

สิ่งที่จะบดบังความจริงใจได้อย่างดีที่สุดก็คืออัตตาของเรานี่เอง เพราะในส่วนกามมันชัดเจนอยู่แล้วว่าเรายังกินเนื้อ แต่ถ้าเราเลิกกินเนื้อแล้วมันมักจะมีอัตตาก้อนใหญ่ติดมาด้วย

อัตตานั้นเกิดจากอะไร? การเกิดจากอัตตานั้นมักจะเกิดมาในระหว่างที่เราจะออกจากความชั่ว การออกจากชั่วเราต้องยึดดี เช่นในกรณีของการจะมากินมังสวิรัติเราต้องเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งชั่ว เป็นสิ่งที่เบียดเบียน ไม่เมตตา ฯลฯ จึงจะสามารถทำให้เราออกจากชั่วได้สบายใจ นั่นหมายถึงย้ายอัตตาจากฝั่งกินเนื้อมาฝั่งเกลียดการกินเนื้อ เพียงแค่ย้ายฝั่งของอัตตาเท่านั้นแต่อัตตาก็ยังอยู่กับเราไม่ไปไหน

ทีนี้ถ้ามีคนมาถามกับเราว่า “ยังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ไหม” ด้วยความยึดดีของเรา จะตอบเขาได้ในกรณีเดียวว่าไม่อยาก แต่ในใจนั้นอยากหรือไม่อยากก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าตอบว่า “อยาก” ไม่ได้ เพราะความยึดดีมันมีมาก เราจะไม่ยอมเปิดใจไม่ยอมมองไปที่ความอยาก เพราะความชั่วความไม่ดีของการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่เราไม่ยอมรับ เราจึงใช้อัตตานี้เองบังความจริงที่เกิดขึ้นในใจไว้

ความจริงว่ากิเลสหรือความอยากยังอยู่นั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย แม้จะกินมังสวิรัติได้เป็นสิบยี่สิบปีก็ไม่ได้มีความหมายอะไรในเชิงของโลกุตระ เป็นเพียงแค่การสร้างกุศลโลกียะเท่านั้น เป็นความดีแบบโลกๆ ซึ่งเรื่องของการล้างกิเลสเป็นอีกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการกินมังสวิรัติ แต่การกินมังสวิรัติได้อย่างผาสุกนั้นเป็นผลจากการล้างความอยากในเนื้อสัตว์

ดังนั้นอัตตาที่เรามีนี่เองที่จะกั้นไม่ให้เราเข้าใจกิเลส ไม่เข้าใจธรรม แม้เราจะกินมังสวิรัติได้ทั้งชีวิตก็ไม่ได้หมายความว่าจะรู้เรื่องกิเลสอย่างถ่องแท้ เพราะไม่เคยเปิดใจยอมรับความอยากด้วยความจริงใจ

…สมถะวิธีกับการดับโดยอัตโนมัติ

สมถะวิธีนั้นเป็น วิธีการกินมังสวิรัติที่ใช้กันเป็นสากล การทำสมถะไม่ใช่แค่การนั่งสมาธิ เดินจงกรม แต่หมายถึงการกดข่มจิตให้เข้าไปอยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่นเรา ถือกรรมฐานว่า เนื้อสัตว์ไม่ดี มังสวิรัติดี เนื้อสัตว์เบียดเบียน ไม่เมตตา ทำร้ายสัตว์ โหดร้าย ทารุณ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นตรรกะ เป็นความรู้ เป็นเหตุผล ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกดข่มความชั่วหรืออาการอยากกินเนื้อสัตว์ไปได้ ลักษณะเหล่านี้เองคือการกดข่มด้วยสมถะ

เช่นเราไปกินข้าวกับเพื่อน เพื่อนสั่งเนื้อสัตว์มา เป็นเนื้อย่าง กลิ่นหอมน่ากิน ด้วยจิตใจที่เราฝึกกดข่มไว้มากแล้ว ทันทีที่เห็นเนื้อสัตว์เราจะสร้างความรังเกียจขึ้นมา สร้างความรู้สึกเหม็นเมื่อได้กลิ่น สร้างความรู้สึกว่ามันชั่วร้ายเบียดเบียนขึ้นมาโดยอัตโนมัติ กระบวนการเหล่านี้ผู้ที่ฝึกสติมาน้อยจะไม่รู้ตัว บางครั้งจะหลงไปด้วยว่ามีสติ

ลักษณะของความคิดอัตโนมัติเหล่านั้นเกิดจากเรามีสัญญาว่าเนื้อสัตว์ไม่ดี พอเห็นเนื้อสัตว์ก็ปรุงแต่งความคิดขึ้นมาทันทีว่ามันไม่ดีอย่างนั้น ชั่วอย่างนั้น เบียดเบียนอย่างนั้น เราจึงสามารถ “ตัด” หรือ “กดข่ม” ความอยากที่เกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ เป็นปกติ ทำได้โดยไม่รู้ตัว ทำได้อย่างธรรมชาติ เป็นลักษณะของสมถะวิธี เป็นเพียงวิธีที่ทำให้ความอยากสงบลงได้แต่ไม่สามารถทำให้ความอยากตายหรือสลายหายไปได้

…ความหลงผิดในสมถะวิธี

เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยากจริงๆ หากจะต้องบอกว่าการกินมังสวิรัติโดยปกติทั่วไปส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้สมถะวิธี การบอกกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่เพื่อการข่มหรือต้องการอวดโอ้แต่อย่างใด แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่ามันเป็นแค่วิธีหนึ่งในการกดข่มความชั่วเท่านั้น และวิธีเหล่านี้ไม่สามารถกดข่มได้ตลอดไป ถึงแม้ว่ามันจะเข้าใจง่ายและปฏิบัติได้ง่ายแต่ก็ไม่ใช่วิธีการล้างกิเลสแต่อย่างใด

สมถะวิธีกับการล้างกิเลสหรือที่เรียกว่าวิปัสสนานั้นเป็นคนละเรื่องกัน เมื่อวิธีการต่างกันผลที่ได้ก็จะต่างกันไปด้วย แต่เป็นเรื่องยากที่จะสังเกตเพราะผลที่เห็นได้ด้วยตาจะออกมาคล้ายๆกัน สุดท้ายแล้วไม่ว่าคนที่ใช้สมถะหรือวิปัสสนาก็จะสามารถกินมังสวิรัติได้เหมือนกัน คนทั่วไปก็จะมองและแยกออกได้ยากมาก

แต่ผลทางจิตใจของสมถะกับวิปัสสนาจะต่างกันออกไป เหมือนกับว่าทั้งสองวิธีถึงเป้าหมายเหมือนกันคือกินมังสวิรัติได้ตลอดแต่สภาพของจิตใจนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง การกดข่มด้วยสมถะวิธีจะทำให้เกิดความไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบาย อึดอัด กดดัน บีบคั้น ขุ่นมัว ลักษณะเหล่านี้ถ้าไม่สังเกตให้ดีหรือไม่ได้มีญาณปัญญาตรวจวัดก็จะไม่สามารถรับรู้ได้เลย นักมังสวิรัติที่ใช้สมถะวิธีจะบอกว่าชีวิตตนเองดีมีความสุข ทั้งหมดนี้เพราะอัตตามันมาบังไว้ มันจะตอบได้แบบเดียวคือมีความสุข เพราะอัตตามันสั่งให้คิดแบบนั้น ให้เชื่อมั่นแบบนั้น

สิ่งที่ต่างออกไปทางด้านผลของวิปัสสนาที่อยู่ในระดับผลสำเร็จก็คือ ความโปร่ง โล่ง เบาสบาย มีจิตผ่องใส ผุดผ่อง โดยเฉพาะความแววไว ไม่ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ใช้สมถะวิธีคือมีรูปแบบ ยึดมั่นถือมั่น อึดอัด กดดัน แข็ง ไม่ปรับตัวตามสถานการณ์ ยอมหักไม่ยอมงอ

เพราะสมถะวิธีนั้นจะใช้วิธีในการเร่งอัตตาฝ่ายยึดดี ให้ยึดมั่นในความดี สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนติดดี ติดดีทั้งๆที่ยังมีกามอยู่นั่นแหละ คือยังมีความอยากอยู่ สรุปแล้วความอยากก็ไม่ได้ล้างแถมยังติดดีอีก นี่คืออันตรายของความหลงยึดในสมถะวิธี

ผู้ที่ใช้สมถะวิธีจะเข้าใจว่าทุกอย่างจบที่การกินมังสวิรัติได้ และสร้างอัตตามาครอบไว้ว่าฉันสำเร็จแล้ว ฉันทำได้แล้ว แล้วยึดมั่นปักมั่นตัวเองไว้ที่จุดที่ตนเองนั้นคิดว่าดี สรุปก็คือสามารถกินมังสวิรัติได้แต่ก็มีอัตตาก้อนใหญ่เพิ่มมาด้วย

…หลงผิดกลับไปกินเนื้อสัตว์

มีผู้ที่ใช้สมถะวิธีจำนวนหนึ่ง ที่หันกลับไปกินเนื้อสัตว์ ตามที่เราได้รู้แล้วว่าสมถะวิธีนั้นคือการกดข่มความชั่ว เชิดชูความดี แต่กิเลสที่มีมันไม่ตาย ทีนี้วันหนึ่งกิเลสก็สะสมกำลังไปเรื่อยๆจนฝ่าด่านมังสวิรัติได้

ผู้ที่ใช้สมถะวิธีในการกินมังสวิรัติจะไม่สามารถทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้แน่นอนอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อกิเลสกำเริบจึงกลับไปกินเนื้อสัตว์ด้วยความยินดี และมักหลงไปว่านี่แหละคือความพอดี ไม่ทรมาน ไม่ลำบากตัวเองจนเกินไป เข้าใจผิดว่าเป็นทางสายกลาง แล้วก็ปักมั่นอยู่ที่ตรงนั้น ยึดดีอยู่แบบนั้น หลงว่าภาวะนั้นแหละคือการบรรลุธรรม ทั้งๆที่เป็นเพียงสภาวะของการตึงเกินไปแล้วปรับมาหย่อนเท่านั้นเอง เป็นเพียงระหว่างทางที่ไกลแสนไกลสู่เป้าหมายที่เรียกว่าการทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์

แต่ผู้หลงผิดจะมีความเชื่อความเข้าใจว่าเขาเหล่านั้นถึงเป้าหมายแล้ว ทั้งๆที่ยังเดินมาไม่ถึงครึ่งทางก็ปักมั่นที่ตรงนั้นเป็นจุดหมายแล้วไม่เดินทางต่อ กลับไปเสพกาม คือกลับไปกินเนื้อสัตว์ พร้อมกับอัตตาก้อนใหญ่อีกก้อนว่าต้องแบบนี้สิถึงจะพอดี ถึงจะเป็นทางสายกลาง

นี้เองคือลักษณะของผู้หลงผิดว่าบรรลุธรรม ซึ่งในความจริงแล้วจะค่อนข้างตกต่ำกว่าคนธรรมดาที่กินเนื้อสัตว์ด้วยซ้ำ เพราะคนที่กินเนื้อสัตว์ทั่วไปยังไม่ได้ปักมั่นว่านี่คือทางบรรลุธรรมหรือทางสายกลางอะไร คนกินเนื้อเขาก็รู้และเข้าใจว่าเนื้อเบียดเบียน แต่ก็ห้ามความอยากไม่ได้ แต่คนที่หลงผิดนี่จะกินเนื้อสัตว์ไปด้วยอัตตาที่หลงผิดยึดติดเข้าไปอีก ทำให้ต้องอยู่กับความหลงนั้นอีกนานแสนนาน

…มังสวิรัติกับศาสนาพุทธ

การตั้งกลุ่มมังสวิรัติวิถีพุทธนั้น ตั้งมาเพื่อการศึกษาเรื่องกิเลสโดยใช้มังสวิรัติเป็นโจทย์ในการฝึก ไม่ใช่เพื่อการกินมังสวิรัติโดยตรง การกินมังสวิรัตินั้นไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ต้องเป็นพุทธก็สามารถกินมังสวิรัติได้ ไม่ว่าจะเป็นคริสต์ อิสลาม พราหมณ์ หรือไม่มีศาสนา ก็สามารถกินมังสวิรัติหรือเลิกกินเนื้อสัตว์ได้

ดังนั้นศาสนาจึงไม่มีผลต่อความสามารถในการเลิกกินเนื้อสัตว์เลย เพียงแค่ใช้สามัญสำนึกของมนุษย์ทั่วไปก็สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว เพราะมนุษย์มีความยึดดี ถือดี มีจิตใจดี เมตตา สงสาร เพียงใช้ข้อมูลที่เผยแพร่โดยทั่วไปเกี่ยวกับการทรมานสัตว์ ข้อมูลทางสุขภาพ หรือภาพที่กดดันทางจิตวิญญาณ ก็สามารถทำให้คนหันมากินมังสวิรัติได้โดยไม่ต้องไปโยงเรื่องศาสนาให้มันลำบาก

ทุกวันนี้ศาสนาถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมืออ้างอิงถึงความดี เพื่อให้คนหันมากินมังสวิรัติเท่านั้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็ยังอยู่ในลักษณะของสมถะวิธี คือใช้ข้อมูล ใช้ตรรกะ ใช้ความคิด ใช้ความดี มากดข่มความชั่ว หากถามว่าดีไหม? ก็ตอบได้ว่าดีเยี่ยม แต่ก็ยังไม่ดีที่สุดเท่านั้นเอง

ศาสนาพุทธนั้นไม่ใช่ศาสนาที่เน้นสมถะวิธี แต่ก็มีการใช้สมถะวิธีเป็นเครื่องมืออยู่บ้าง ในส่วนสิ่งที่เน้นก็คือการทำลายกิเลส โดยใช้อริยสัจ ๔ เข้ามาเป็นหลักใหญ่ในการปฏิบัติ ซึ่งจะประกอบด้วยธรรมะย่อยๆอีกมากมาย ซึ่งในทำลายกิเลสนี้จำเป็นต้องเห็นตัวตนของกิเลสเสียก่อน การเห็นกิเลสนั้นจะต้องค้นให้เจอเหตุแห่งทุกข์ จากที่สุดแห่งทุกข์ ในกรณีของการเข้าถึงมังสวิรัติอย่างผาสุกก็คือการทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์

ความอยากกินเนื้อสัตว์นี้เป็นคือรากที่ควรใช้เพื่อพิจารณากิเลส เพราะไม่ตื้นเกินไปเหมือนการใช้เมตตาหรือใช้ความดี และไม่ลึกเกินไปเหมือนกับการจะไปพิจารณาอวิชชาตั้งแต่แรก คือมีความเหมาะสมพอดีในการเริ่มต้น ส่วนหนึ่งเพราะ “ความอยาก” เป็นสาเหตุที่แท้จริงในการพาเราให้ไปกินเนื้อสัตว์ ส่วนเราจะสามารถขยายหรือขุดค้นเหตุอื่นๆที่ซ้ำซ้อนกว่านี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำต่อไป

ดังนั้นหากไม่ได้เริ่มต้นที่ “ความอยาก” ก็ไม่มีวันที่จะทำลายกิเลสได้ หากไม่หยุดชั่วก็ไม่มีวันที่จะเกิดความดีที่แท้จริง ศาสนาพุทธนั้นไม่ได้เน้นการทำดีเท่ากับการหยุดทำชั่ว เพราะรู้ดีว่าการหยุดชั่วแล้วก็จะเกิดผลดีขึ้นเองไม่น้อยก็มาก

…ความจริงใจคือคุณสมบัติสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

การจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุขนั้น จึงจำเป็นต้องเพ่งเล็งไปที่การทำลาย “ความอยาก” ด้วย “ความจริงใจ” ในทุกๆขั้นตอนของการปฏิบัติธรรม ก็จะสามารถข้ามผ่านความอยากไปได้ในวันใดวันหนึ่ง

หากผู้ที่มองว่าเพียงเมตตาแล้วสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุขก็แล้วแต่จะพิจารณา แต่จะสรุปไว้ตรงนี้เพียงแค่ว่า มังสวิรัติทั่วโลกก็ใช้ความเมตตาหรือความดีนี่แหละในการเข้าถึงการเป็นมังสวิรัติ แต่ศาสนาพุทธจะทำลายกิเลสหรือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ และสุดท้ายเมื่อไม่มีความอยากก็เลยกลายเป็นมังสวิรัติไปเองโดยไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องกดข่ม ไม่ต้องบังคับตัวเอง ไม่ต้องอยาก ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องทรมาน และไม่ต้องมีอัตตาไว้ยึดให้มันหนัก

สุดท้ายนี้หากผู้ใดอยากลองเห็นความอยาก ก็ลองดูตัวเองอย่างจริงใจ ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจโดยไม่ต้องกดข่ม ปล่อยตัวเองไปตามธรรมชาติและรับรู้ด้วยสัญชาติญาณแบบซื่อๆว่ายังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ไหม ไม่ต้องมีความดี ไม่มีความชั่ว มีเพียงเรากับเนื้อสัตว์ตรงหน้าเท่านั้น เราจะยังอยากกินอยู่ไหม เราจะรู้สึกอะไรกับเนื้อสัตว์เหล่านั้นไหม เราจะเป็นอย่างไร

ก็ขอเชิญให้ทบทวนในการตรวจระดับ 1-4 ที่มีมาก่อนหน้านี้อีกครั้ง เพื่อให้เห็นกิเลสในตนเองอย่างแท้จริง เพื่อที่จะเริ่มต้นกันใหม่กับการล้างกิเลสอย่างแท้จริง

ติดตามต่อได้ที่

Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)

กินร่วมใจ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องทดลองกินเนื้อสัตว์

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,467 views 0

กินร่วมใจ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องทดลองกินเนื้อสัตว์

กินร่วมใจ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องทดลองกินเนื้อสัตว์

การตรวจสอบระดับที่ 3 ที่จะกระทุ้งให้เห็นกิเลสอย่างเด่นชัด แบบชัดแจ้งอยู่ในใจกันเลยทีเดียว การจะมาถึงระดับนี้ได้เราจำเป็นต้องผ่านในระดับ 1 และ 2 ด้วยใจที่โปร่งโล่งสบายมาก่อน หากอ่านและทดสอบตัวเองในระดับ 1,2 แล้ว ยังมีอาการขุ่นเคืองใจไม่ว่าจากกามหรืออัตตา ก็ถือว่ายังไม่ผ่าน

การที่เรายังไม่ผ่านด่านง่ายแล้วจะกระโดดมาเล่นด่านยากนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์อะไร นอกจากจะไม่สามารถจัดการกับกิเลสแล้วยังจะโดนกิเลสเล่นงานซ้ำอีก เพราะในด่านนี้ก็จะเข้าไปคลุกวงในกับกิเลสมากขึ้น เข้าไปใกล้มากขึ้น จนเรียกได้ว่าหลายคนคงจะไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้

สติปัฏฐานยังคงเป็นเครื่องมือที่จำเป็นมากสำหรับการตรวจจับสภาวะของกิเลสที่เกิดขึ้นในจิตใจ ใครที่มาถึงขั้นตอนนี้แบบกดข่มก็จะยิ่งเป็นภัยกับตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ธรรมะนั้นเหมือนดาบสองคมยิ่งลึกก็จะยิ่งเข้าใจยาก พอไม่สามารถเข้าใจได้ก็อาจจะเกิดการเพ่งโทษกันเกิดขึ้น แต่จริงๆแล้วเพราะเราไม่เข้าใจนัยสำคัญของธรรมนั้นต่างหาก

ขั้นตอนที่ 1).คำเตือน!!

ถ้ายังไม่ผ่านบททดสอบใจตัวเองในระดับที่ 1 , 2 ก็ไม่ควรจะอ่านบทความนี้ต่อ เพราะบทความนี้จะเป็นภัยมากถึงมากที่สุดต่อผู้ที่ยังไม่สามารถจัดการกับกิเลสได้

อีกประการหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการกินมังสวิรัติ บทความนี้อาจจะไม่เหมาะกับท่านเลย หากท่านต้องการให้บทความนี้สอนกินมังสวิรัติ เนื้อหาเหล่านั้นไม่มีอยู่ในบทความนี้ เพราะในบทความนี้เราจะสอนเฉพาะเรื่องกิเลสโดยใช้มังสวิรัติมาเป็นเครื่องมือในการขัดเกลากิเลส ซึ่งอาจจะไม่มีประโยชน์กับท่านที่ไม่ได้แสวงหาหนทางลด ละ เลิกการยึดมั่นถือมั่น

การทดสอบต่อไปนี้ทำเพื่อตรวจสอบให้เห็นว่ายังคงมีกิเลสเหลืออยู่ในจิตใจเท่านั้นไม่ใช่การกระทำที่ทำโดยทั่วไป ไม่ใช่ทำเป็นประจำ แต่กระทำเฉพาะผู้ที่ต้องการความมั่นใจว่าตนเองนั้นไม่ได้มีความอยากในเนื้อสัตว์จริงๆ เพื่อสร้างความมั่นใจอย่างแท้จริงแบบไม่ต้องคิดเอาเอง จินตนาการไปเอง เพราะทดสอบกันอยู่ตรงหน้า ถ้ากามและอัตตายังเกิดอยู่ก็ไปพิจารณาธรรมใหม่ แต่ถ้าไม่เกิดอะไรขึ้นรู้สึกเฉยๆก็จบกันไป

ขั้นตอนที่ 2).กินร่วมใจ

ในการกินที่ร่วมไปกับใจนั้นเป็นคำที่ยกมาเพื่อเปรียบเทียบกับการกินที่ใกล้ใจมากที่สุด เมื่อเรามั่นใจว่าเรารู้สึกว่าไม่อยากกินเนื้อสัตว์อย่างเต็มที่แล้ว จะมีอะไรมาทดสอบใจเราได้ดีเท่ากับ “การทดลองกิน” เมนูที่ชอบ สิ่งที่เคยติดในอดีต หรือสิ่งที่เคยฝันไว้ ที่เขาว่าดีว่าเลิศคือสิ่งไหน ถ้ามีโอกาส มีทุน มีปัจจัยที่เหมาะสม ก็ทดลองดูเลย ไม่ใช่สิ่งเสียหายที่เราจะลองทดสอบ

จะลองเคี้ยวให้ละเอียดสุดละเอียด สูดดมทุกกลิ่นที่มี สัมผัสทุกคำที่เคี้ยว ลิ้มรสทุกอย่างที่มีแล้วก็คายทิ้งไปก็ได้ เพียงแค่ได้สัมผัสสิ่งที่เคยยึด เคยติด เคยเป็นตัวเป็นตนของเรา เราสามารถจะรับมันเข้ามาและปล่อยมันทิ้งอย่างสบายใจได้หรือไม่ ทำโดยไม่ฝืน ไม่ลำบาก ให้รู้ดีในใจว่าจะทำอีกกี่ครั้งผลก็เหมือนเดิม ยังเฉยๆอยู่เหมือนเดิม ก็ถือว่าผ่านบททดสอบนี้

ขั้นตอนที่ 3). ตรวจสอบกาม

เมื่อเราได้ลองกินเนื้อไป หากเรายังไม่ผ่านพ้นความอยากกินเนื้อสัตว์ อาการจะออกตั้งแต่ก่อนจะหยิบชิ้นเนื้อเข้าปากอย่างรู้สึกได้ ให้ค่อยๆสังเกตตัวเองว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ถ้าคิดว่าไม่ไหวรู้ดีว่าในใจนั้นอยากกินก็ไม่ต้องไปกินให้เสียเวลา เพราะมันเห็นกิเลสชัดๆอยู่แล้ว ถือว่าสอบตกตั้งแต่ยังไม่เริ่ม

ส่วนผู้ที่ยังเฉยๆจนกระทั่งกินเข้าปากไปแล้วเคี้ยว ก่อนกินก็ไม่รู้สึกอะไรนะ แต่พอเคี้ยวกลับมีความสุข จะเริ่มเสียดายที่ต้องทิ้ง เสียดายรส อยากจะกลืนลงคอ อยากกินอีกคำ อยากกินอีกเรื่อยๆ แม้ว่าจะคายทิ้งไม่กลืนแต่ความอยากจะยังคงอยู่ มันจะหลอกหลอนให้จิตวนเวียนกลับไปคิดถึงเมนูเนื้อจานนั้น ไม่สามารถตัดให้ขาดไปจากใจได้

ความสุขนี่แหละคือตัววัดว่ายังเหลือความอยากอยู่เท่าไหร่ ถ้ารู้สึกสุขก็คือกามขึ้น ถ้าทุกข์ก็คืออัตตาขึ้น มันจะมีอยู่สองอย่างที่มักจะเกิดขึ้น ในกรณีที่ไม่เกิดทั้งสองอย่างก็คือภาวะของอุเบกขา คือเฉยๆ ในกรณีนี้ต้องมาตรวจกันอีกทีว่าเป็นอุเบกขาแบบเคหสิตเวทนา หรือเนกขัมมเวทนา ถ้าให้คนทั่วไปมากินก็อาจจะรู้สึกเฉยๆได้ เพราะตรวจใจตัวเองไม่เป็น รับรู้ความรู้สึกไม่ได้ ปากก็บอกว่าเฉยๆ แต่ในใจก็รู้สึกสุขอยู่เล็กๆ เช่นในกรณีที่เรากินจนอิ่มแล้ว ให้ของที่เราชอบมากินต่อเราก็ไม่อยากกิน เฉยๆ แบบนี้มันคือความเฉยๆแบบชาวบ้าน ไม่ใช่การบรรลุธรรมหรือพ้นความอยากอะไรเลย

ขั้นตอนที่ 4). ตรวจสอบอัตตา

เราสามารถเห็นอัตตาได้ตั้งแต่ยังไม่กินเนื้อสัตว์นั้นๆ คือจะมีความรังเกียจถ้าจะต้องกลับไปกิน แม้ใครจะบอกให้ลองกลับไปกินก็จะไม่ยินดีทดลองเพราะทั้งรังเกียจเนื้อสัตว์ รังเกียจการกินเนื้อสัตว์ และรังเกียจการที่ตัวเองจะได้ชื่อว่าเป็นมังสวิรัติที่ไปกินเนื้อสัตว์ มันจะทุกข์ใจตั้งแต่เริ่มคิด อันนี้ก็เป็นลักษณะของอัตตา

ความยึดมั่นถือมั่นยังเกิดได้ในระหว่างกินและหลังกิน แม้ว่าจะทำเพียงแค่เคี้ยวแต่ไม่กลืน แต่จะรู้สึกขยะแขยง ขุ่นใจ กระวนกระวายใจ ไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบายใจ ให้ลองอีกก็ไม่อยากลอง หรือถ้าอัตตาแรงจัดๆก็จะรังเกียจวิธีนี้ไปเลย

ในบางครั้งอัตตาคือตัวบังไม่ให้เห็นกามคือเรามีอัตตามากจนไปกดข่มกาม ไปกลบกามไว้ จริงๆเราอาจจะรู้สึกสุขที่ได้กินได้เคี้ยวนะ แต่ความยึดดีมันไม่ยอม มันจะสร้างเหตุผลขึ้นมาทันทีที่เรารู้สึกสุข ตบความสุขทิ้งไปโดยไม่รู้ตัว เรียกว่าไม่มีสติไม่รู้รับกิเลสตามความเป็นจริง การมีอัตตามากๆจะบังทุกสิ่งทุกอย่างและกลบมันไว้ภายใต้ภาพของคนดีเหมือนการกวาดฝุ่นเข้าไปซุกในพรม แน่นอนว่าในเวลาปกติเราจะไม่เห็นฝุ่นนั้น แต่ถ้าเปิดพรมออกมาก็คงจะฝุ่นคลุ้งกันเลยทีเดียว

อัตตาก็เหมือนกับพรมที่สามารถเอากามเข้าไปซุกข้างในได้อย่างแนบเนียน เราสามารถซ่อนความอยากไว้ในความยึดดีได้ ลักษณะเหล่านี้คือลักษณะเด่นของสมถะวิธี เป็นวิธีของฤๅษี ที่ใช้การกดข่มเข้าไปในภพ ใช้อัตตามากดกาม ไม่ให้กามได้แสดงอาการ ดังนั้นผู้ที่ใช้วิธีนี้จะทำให้การตรวจสอบความอยากทั้งหมดที่ทำมาไร้ประโยชน์ในทันที

ขั้นตอนที่ 5). สรุปผล

ในการตรวจสอบนี้จะได้ผลที่ค่อนข้างชัดว่าเรายังอยากกินอยู่หรือไม่ เรายังมีอัตตามากอยู่หรือไม่ ผู้ที่เรียนรู้กิเลสต้องทำลายกามไปพร้อมๆกับอัตตา ถ้าถามว่าทำลายกามหรือความอยากกินทั้งหมดก่อนแล้วค่อยมาทำลายอัตตาได้ไหมก็ต้องตอบว่าได้ แต่มันไม่ง่ายที่จะมาทำลายอัตตาทั้งหมดตอนท้าย ถ้าเราไม่ทยอยล้างตั้งแต่แรก อัตตานี่แหละจะเป็นตัวกั้นไม่ให้เราล้างอัตตา มันจะยึดดีถือดี ไม่ยอมให้เราทำอะไรกับมันง่ายๆ ใครมาสอนก็ไม่ฟัง ใครมาบอกก็ไม่เชื่อ เชื่อแต่ตัวเองเท่านั้น ฉันทำได้ ฉันเก่งที่สุด ฉันกินมังสวิรัติมาแล้วกว่า … ปี มันจะมีข้ออ้างและเหตุผลมากมายที่จะไม่ล้างอัตตา

ก็เหมือนกันกับคนที่ติดเนื้อสัตว์นั่นแหละ มันจะมีเหตุผลและข้ออ้างมากมายที่จะไม่ออกจากความอยากกินเนื้อสัตว์ แต่อัตตาจะต่างออกไปเพราะมีความยากมากกว่า นั่นเพราะโดยรวมมันอยู่ฝั่งดี เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์แล้ว แต่ถ้าสังเกตให้ดีคนที่มีอัตตามากๆจะก็จะไปเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ มักจะทำให้เกิดบรรยากาศที่กดดัน อึดอัด เพราะความยึดดีถือดีนั่นเอง

ผู้ปฏิบัติธรรมพึงทบทวนตนเองอยู่เสมอว่าเรานั้นอ่อนน้อมถ่อมตนหรือไม่ เรากำลังทำตัวใหญ่คับฟ้าหรือไม่ เพียงแค่กินมังสวิรัติได้เราถึงกับยกหางตัวเองว่าเป็นคนดีแล้วอย่างนั้นหรือ มีคนดีอีกมากมายที่เสียสละเพื่อสังคมและโลกแต่เขาไม่ได้กินมังสวิรัติและเขาก็ไม่เคยอวดตนว่าเขาเป็นคนดี แล้วเราทำดีได้เพียงเล็กน้อยยังกล้าอวดแบบนี้มันก็เหมือนที่เขาว่าแมงป่องมีพิษน้อยแต่อวดโอ้ชูหาง ส่วนงูมีพิษมากแต่ไม่แสดงออกง่ายๆ

อัตตาก็เช่นกัน จะทำให้เราภูมิใจในความดีอยู่ลึกๆ ถ้าใครชมก็จะฟูใจตาม แต่ถ้าใครด่าก็จะร้อนรน จากสภาพของเทวดาตกไปเป็นเดรัจฉานทันที คนดีที่ไม่ล้างอัตตาก็มีแต่จะเป็นภัยแก่ตนเองและผู้อื่น แต่ก็เป็นเรื่องยากสุดยากที่จะยอมรับว่าตัวเองมีอัตตา ใครเล่าจะยอมทิ้งคราบคนดี จะยอมลอกคราบแห่งความดีทิ้ง เมื่อไม่ยอมทิ้งมันก็ติดดียึดดีอยู่แบบนั้น มันก็เป็นความดีที่ไม่ดีที่สุดอยู่นั่นเอง

ติดตามต่อได้ที่

Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)