Tag: สนองกิเลส

เจ็บแล้วไม่จำ

January 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,336 views 0

เจ็บแล้วไม่จำ

เจ็บแล้วไม่จำ

…แม้จะไม่สมหวังในความรัก แต่ก็ยังจะพยายามเพื่อให้ได้รักมา

ผู้คนมากมายต่างแสวงหาความรัก โหยหาคนรัก คนดูแล คนเอาใจ คนที่จะมาครองคู่ คนที่จะมาอยู่ร่วมกัน แม้ว่าเส้นทางนั้นจะเต็มไปด้วยความยากลำบาก ต้องทนทุกข์ทรมานเพื่อให้ได้มา แต่ทำไมพวกเขาถึงยังไม่ท้อ ไม่หมดหวัง ไม่เคยเลิกล้มความตั้งใจเหล่านั้นเลย

…แรงผลักดันจากกิเลส

สิ่งที่ผลักดันให้เราพยายามเพื่อที่จะให้ได้มานั้นก็คือ “กิเลส” เจ้ากิเลสนี้เองที่เป็นตัวสร้างกำลังผลักดันให้กับเรา โดยเผาพลาญกำลัง สติ ปัญญา ของเราไปเพื่อใช้กับเรื่องเหล่านี้

คนที่หลงแสวงหาความรักจะสูญเสียศักยภาพไปส่วนหนึ่ง เพราะต้องเอากำลังความคิดและเวลาไปเสียให้กับการคิดในเรื่องของความรัก ยิ่งคิดก็ยิ่งอยากได้ ยิ่งคิดก็ยิ่งเป็นทุกข์ แต่ก็ไม่สามารถที่จะเลิกคิดได้ เพราะมันมีความอยากมีความต้องการ ที่มันต้องการมากขนาดนั้นเพราะมันหลงว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสุข

กิเลสนี้เองทำให้เราคิด ทำให้เราพูด ทำให้เราเดินไปหาความรัก เหมือนกับตุ๊กตาหุ่นเชิดที่ถูกจูงให้ทำตามกิเลส ไม่มีโอกาสได้คิดและทำด้วยตัวเอง มีแต่ต้องทำตามคำสั่งของกิเลสเท่านั้น

…ความรัก(กิเลส) อันยิ่งใหญ่

เรามักจะได้เห็นภาพความรักที่ดูเหมือนจะยิ่งใหญ่ ทุ่มเท เสียสละ อดทดเพื่อที่จะได้มาซึ่งความรัก ยอมรอคอย ดูแล เอาใจใส่ รักใคร่ เกื้อกูล ประคบประหงม เลี้ยงดู ฯลฯ สิ่งที่ดูเหมือนจะวิเศษและน่าประทับใจในทางโลกเหล่านี้ จริงๆก็เกิดมาจากความยิ่งใหญ่ของกิเลส กิเลสนั้นทำให้ดูเหมือนว่าเรามีความรักที่ยิ่งใหญ่

แต่ความเป็นจริงมันคือความอยากที่ยิ่งใหญ่ ความกระสันอยากได้อยากเสพ ต้องการมาครอบครองด้วยความรู้สึกอันแกร่งกล้าและรุนแรงทำให้คนสามารถทำอะไรที่ดูพิเศษพิสดารได้อย่างไม่น่าเชื่อ สิ่งที่แสดงนั้นเป็นเพียงละครที่กิเลสสั่งให้เล่นเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองต้องการและใคร่อยากเสพ แม้ว่าจะเล่นบทเหล่านั้นได้ดีแค่ไหน ซาบชึ้งประทับใจเรียกน้ำตาผู้ชมแค่ไหน สุดท้ายก็เป็นเพียงแค่บทที่กิเลสได้เขียนไว้เท่านั้นเอง

ความรักแท้จริงนั้นไม่ได้หวือหวา ไม่ได้พิเศษ ไม่ได้แสดงความยิ่งใหญ่ด้วยสัญลักษณ์ใดๆ แต่เป็นความเบาสบาย เรียบง่าย ผ่อนคลาย ยิ่งใหญ่เพียงแค่ในนามธรรมและไม่แสดงออกเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนนัก

….ความอิจฉา

ภาพของคนที่รักกันเป็นคู่รักกัน พลอดรักกันมีกิจกรรมต่างๆร่วมกัน มีลูกด้วยกันนั้น เป็นสิ่งที่เพิ่มพลังให้กับความอยากได้อยากมี

คนที่ยังไม่มีก็เกิดอาการอิจฉาริษยา อยากได้อยากมีแบบเขาบ้าง หลงคิดไปว่าถ้าได้แบบเขาแล้วเราจะมีความสุข นั่นเราโดนเขาหลอกแล้ว เขาก็แสดงให้เราเห็นเฉพาะตอนเขามีความสุขนั่นแหละ ตอนเขาทุกข์เขาไม่ประกาศหรอก คนที่บูชาความรักนั้นจะไม่พูดข้อเสียของการมีคู่รักเลย เขาจะส่งเสริมให้คนมีคู่ ให้คนมีลูก เพราะเขาหลงสุขในความรักนั้น

แต่คนที่ขยาดในความรักจะทำตรงกันข้าม คือประณามความรัก รังเกียจความรัก ซึ่งตรงนี้คนที่เขาอยากมีความรักก็จะไม่ค่อยได้สนใจเท่าไหร่ เพราะคนเรามักจะเลือกสนใจตามสิ่งที่กิเลสผลักดันให้สนใจ ถึงแม้ว่าจะมีคนมาบอกว่าความรักทุกข์อย่างนั้นอย่างนี้ แต่คนที่หลงไปกับความรักก็จะไม่รับสารเหล่านี้

ในทางกลับกันก็จะมุ่งไปในทางที่กิเลสต้องการ คือการใฝ่หาคู่รัก เพราะตนเห็นว่าคนรอบข้างและหลายคนในสังคมนั้นดูมีความสุข ไม่ว่าจะมีคนชี้ให้เห็นความจริงที่เกิดขึ้นในอีกมุมหนึ่งของความรักขนาดไหน แต่พวกเขาก็ยังคงยินดีที่จะศรัทธาและอิจฉาในความสุขลวงของความรักเหล่านั้น

…รักได้แต่หยุดรักไม่เป็น

อาการเจ็บแล้วไม่จำนั้นเกิดจากเราไม่สามารถปล่อยวางความอยากได้ เหมือนกับคนที่สามารถรักได้ แต่หยุดความรักไม่เป็น

การที่เราจะหลงใหลในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หลงแบบหัวปักหัวปำ ทุ่มเทถวายชีวิต เทิดทูนบูชารักนั้นเป็นเรื่องง่าย แทบไม่ต้องใช้สมองเลย แค่ปล่อยให้กิเลสนำพาก็สามารถทำได้ แต่เรื่องของการหยุดหรือการปล่อยวางซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับกิเลสย่อมทำได้ยาก เพราะกิเลสนี่เองจะพาเราไปเสพสุข แม้ว่าข้างหน้าจะเป็นกำแพงมันก็จะผลักเรากระแทกกำแพงนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เหมือนกับเรามีกำแพงกุศล กำแพงศีลธรรม มากั้นไว้เพื่อไม่ให้เราไปทำบาป ไม่ให้เราสะสมกิเลส แต่กิเลสก็จะพาเราไปทำลายกำแพงเหล่านั้นจนสิ้นซาก ใช้ความอยากมาหลอกล่อความสนใจไม่ให้เรารู้สึกเจ็บปวด บังไม่ให้เราเห็นความจริง ให้เราหมกมุ่นกับความรัก ให้เราเดินหน้าลุยต่อไปแม้ปลายทางจะเป็นเหวนรกที่ไร้ที่สิ้นสุด ใช้สุขลวงมาล่อให้เราทุกข์จริงไปชั่วกัปชั่วกัลป์

เมื่อหยุดรักไม่เป็นมันก็จะกลายเป็นคนที่โหยหาความรัก แม้ไม่สำเร็จกับคนหนึ่งก็จะไปเริ่มใหม่กับอีกคนหนึ่ง หรือหลายคนพร้อมกัน เกิดเป็นอาการที่เรียกว่า “คนเจ้าชู้” เพราะมีความโลภ อยากได้หลายๆอย่างมาครอบครองในเวลาเดียวกัน เพราะหยุดเสพไม่ได้จึงต้องพยายามสะสมเพื่อหามาเสพ เป็นเหมือนรถที่ไม่มีเบรกขับตรงไปบนถนนแห่งหายนะโดยที่ไม่สามารถถอนคันเร่งได้

กิเลสมันก็ผลักดันเราอยู่แบบนี้ โดยใช้คำที่สวยหรูว่าในนามแห่งความรัก ฉันจะยินดีเฝ้าตามจีบ เฝ้าตามง้อและเอาใจ อดทน รอคอย จนกว่าที่ฉันจะได้เธอมาเสพสมใจ ถึงแม้จะไม่ได้ ฉันก็จะพยายามต่อไปเพราะฉันมีรักแท้ (กิเลสแท้ๆ)

…อยากได้สิ่งที่ไม่มีวันได้

ความอยากนั้นยังไม่ได้หมายถึงเฉพาะคนรักเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการจะเอาสิ่งที่รักด้วย เช่นเราไปชอบดารา นักแสดง คนมีชื่อเสียง เราก็ติดตามเขา พอชีวิตเขาไปเจอเหตุการณ์นั้นเหตุการณ์นี้เราก็มีอารมณ์ร่วมไปกับเขา ไปอยากดูรูปเขา อยากฝันถึงเขา อยากให้เขาได้เจอสิ่งดีๆ คอยเสพความเป็นเขาอยู่ห่างๆเอาเขามาเป็นอัตตา เป็นตัวตนของเรา เป็นสุขเป็นทุกข์ของเรา

ทีนี้มันจะมีเหตุการณ์ที่ไม่ถูกใจเรา เราก็จะเริ่มขุ่นใจ ไม่พอใจ เพราะไม่สมดังใจเรา เราเริ่มจะอยากได้ในสิ่งที่ไม่มีวันได้ แม้มันจะไม่เกี่ยวข้องกับเราก็ตาม เป็นเหมือนกับหมามองเครื่องบิน เมื่ออยากได้แต่ไม่มีวันได้นี่มันก็จะต้องทนทุกข์กับความอยาก ความไม่พอใจ ความไม่สมใจอยู่เรื่อยไป

…ความเพียรที่พาให้หลงผิด

ความเพียรพยายามเพื่อให้ได้มาซึ่งความรักนี้แม้ในทางโลกเขาจะชื่นชมความพยายาม ดังที่หลายคนได้ประกาศในงานแต่งงาน เช่นตามจีบมา 10 ปี รอคอยมาหลายปี เอาใจมาหลายปี พิสูจน์รักกันมาหลายปี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถ้าได้ยินได้ฟังดูแล้วอาจจะรู้สึกน่าประทับใจ ดูมีความมั่นคงในความพยายาม

แต่ความพยายามทั้งหมดนั้นเป็นความพยายามที่ผิดทาง เป็นมิจฉาวายามะ เป็นความเพียรที่ไม่พาพ้นทุกข์ เพียรหาเรื่องใส่ตัว เป็นโสดก็ดีอยู่แล้ว ยังไปหาใครเข้ามาเสพให้เป็นภาระของชีวิต เพียรแบบนี้มันจะพาลงนรก พาให้เป็นทุกข์ทรมาน

ความเพียรที่ผิดนั้นเกิดจากอะไร? ความผิดเหล่านั้นเริ่มเกิดจากความเห็นความเข้าใจที่ผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิ เมื่อมีความเห็นผิดก็จึงมีความเพียรที่ผิดตามไปด้วย ก็เลยตั้งหางเสือมุ่งตรงไปทางทิศของนรกอย่างเพียรพยายามไม่ลดละ สุดท้ายจึงถึงนรก(ความเดือดเนื้อร้อนใจ) ได้ทุกข์ ได้ภาระ ได้กิเลสมาครอบครอง

เมื่อเราเพียรด้วยความหลงผิดจนได้คู่มาครอบครอง จะพบว่านอกจากจะต้องสนองกิเลสของตัวเองแล้วยังต้องสนองกิเลสของคู่อีก พอเราเริ่มจะใช้ร่างกายและจิตใจของคู่ครองสนองตัณหาความใคร่อยากใดๆจนเบื่อแล้วเราก็เริ่มจะเห็นนรก เริ่มเห็นเป็นภาระ แต่ในระยะที่ได้มาเสพเราจะไม่เพียรแล้ว เหมือนเรือที่ทอดสมออยู่กลางนรกมันก็จมอยู่ในนรกกันทั้งคู่นั่นเอง

เพราะต้องคอยสนองกิเลสของตัวเองและคู่ แค่กิเลสตัวเองก็แทบจะไม่ไหวอยู่แล้ว ยังต้องมาบำรุงบำเรอกิเลสของคู่อีก ไหนจะมีพ่อตาแม่ยาย ญาติโกโหติกาอะไรต่อมิอะไรเข้ามาเสริมกิเลสกันอีก ดีไม่ดีมีลูกเพิ่มขึ้นมา ต้องสนองกิเลสลูกอีก ตอนเด็กๆมันก็น่ารักดีอยู่หรอก แต่พอเริ่มโตแล้วก็เริ่มจะอยากได้อยากมี เราก็ต้องมารับผิดชอบสนองกิเลสของลูกด้วย

นี่เห็นไหม คนเราเพียรพยายามเพื่อให้ได้ทุกข์มาครอบครอง เป็นความเพียรที่ผิด ความเพียรที่เกิดจากความหลง เป็นความเพียรที่โดนกิเลสลากไปตั้งแต่แรก มันเลยเพี้ยนแบบนี้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีคนอีกมากมายหลายพันล้านที่มีความเพียรขยันทำทุกข์เพราะเห็นว่าทุกข์เหล่านั้นเป็นสุข เหมือนเห็นกงจักรเป็นดอกบัว

แต่ก็ช่างเถอะนะสุดท้ายทุกคนก็ต้องเรียนรู้ที่สุดแห่งทุกข์ ผู้ที่หลุดจากขุมนรกทุกคนไม่มีใครไม่เคยพลาด ไม่มีใครไม่เคยผิด ไม่มีใครไม่เคยพาตัวเองให้ทุกข์ สุดท้ายเมื่อทำผิดจนทุกข์เกินจะทน เจ็บปวดทรมานจากความทุกข์ คนก็จะเลิกทำสิ่งที่ผิดแล้วหันมาทำสิ่งที่ถูกเอง ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม

– – – – – – – – – – – – – – –

26.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

รวยเท่ากับซวย #3

December 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,877 views 0

รวยเท่ากับซวย #3

รวยเท่ากับซวย #3

…เมื่อความมั่งคั่งในทางโลก คือความซวยชั่วกัปชั่วกัลป์

คนที่เกิดมาพร้อมกับความรวยนั้นดีจริงหรือ?มีบุญวาสนาเป็นตัวผลักดันจริงหรือ?เรารู้กันหรือยังว่าสิ่งใดเป็นตัวผลักดันให้เกิดความมั่งคั่งตั้งแต่เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ว่าสิ่งนั้นคืออะไร

สิ่งที่ทำให้คนเกิดมารวยก็คือ “กุศล” กุศลโลกียะแบบชาวบ้านๆนี่แหละ เช่นไปทำทานด้วยเงิน ส่งเสริมคนอื่นด้วยเงิน ช่วยเหลือคนอื่นไว้ด้วยเงินและด้วยปัจจัยอันมาก พอตายแล้วเกิดมาก็แค่ได้รับผลแห่งกุศลที่ตัวเองทำไว้ ไม่ได้เกี่ยวกับบุญแม้แต่น้อย เพราะบุญเป็นเรื่องของการลดกิเลส

ทีนี้พอเกิดมารวยแล้วไม่รู้ที่มาของความรวยนั้นก็จะถล่มใช้เงินเหล่านั้นทำบาป เสพกิเลส เพราะคนรวยนั้นมีศักยภาพที่จะสนองกิเลสมากกว่าคนอื่น สะสมบาปเวรภัยไปเรื่อยๆ เมื่อไปทำทานอย่างไม่มีปัญญารู้เรื่องบุญก็ได้แต่กุศลมาสะสม ทำให้เมื่อตายไปก็จะเกิดมารวยอีก แล้วก็เกิดมาสนองกิเลสอีกหลายภพหลายชาติจนกว่าบาปจะสั่งสมมากพอเป็นวิบาก เป็นผลทำให้เกิดทุกข์ โทษ ภัยในวันใดวันหนึ่ง

เมื่อเกิดทุกข์โทษภัย ทำให้ชีวิตลำบากหรือเกิดในชาติที่ชีวิตลำบากยากจน พอเห็นคนอื่นรวยก็อิจฉาแล้วก็ขยันหาเงินอีก พอมีเงินก็เอาไปทำทานเพื่อกุศล จนรวยขึ้นมาแล้วก็ตาย เกิดมาเสพกุศลตัวเองรวยไปอีกชาติ ก็วนเวียนจนๆรวยๆอยู่เช่นนี้ วนอยู่ในโลกแบบนี้ชั่วกัปชั่วกัลป์

….เกิดมารวยมันก็เท่านั้น

เกิดมารวยมันก็เท่านั้นเอง มันไม่ได้ยืนยันว่าจะเป็นสุขมากกว่าเด็กชาวเขาที่วิ่งเล่นกันทุกวันโดยไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องเรียนพิเศษ ไม่ต้องแต่งตัวเรียบร้อย ไม่ต้องมีมารยาท ถ้าหากเราใช้เงินและความมั่งคั่งมาเป็นตัววัดความสุข เรากำลังมีความเห็นผิดอย่างรุนแรง เพราะเงินเป็นเพียงปัจจัยอำนวยความสะดวกแต่ซื้อความสุขไม่ได้

มีคนมากมายที่ไม่มีโอกาสสัมผัสกับความร่ำรวยแต่ก็ยังมีความสุขในชีวิตประจำวัน มีความสบายใจที่ไม่ต้องแบกภาระแบกกิเลสอันมากมายของเงิน แบบนี้สิเขาเรียกว่ามีบุญวาสนาบารมี เพราะเขามีการลดกิเลสมาอยู่แล้ว เขาสามารถมีความสุขได้ทั้งๆที่ไม่มีเงินมากมาย เพราะกิเลสเขาน้อย ชีวิตจึงไม่จำเป็นต้องลำบากหาเงินจำนวนมากเพื่อเลี้ยงชีพ ไม่ต้องดิ้นรนไขว่คว้าให้มันลำบากกาย ลำบากใจ เพราะไม่มีกิเลสหรือพลังแห่งบาปเป็นแรงผลักดัน

…รวยไม่ได้หมายความว่าทำบุญได้มากกว่า

การที่เรารวยไม่ได้หมายความว่าเราจะมีศักยภาพในการทำบุญมากกว่าคนอื่น การทำบุญหรือการลดกิเลสนั้นทุกคนไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ยากจนหรือรวย ก็สามารถที่จะเรียนรู้เรื่องลดกิเลสได้เหมือนกัน ในส่วนการทำกุศลเช่นนำเงินจำนวนมากไปบริจาคสร้างสถานที่หรือสนับสนุนโครงการต่างๆ นั้นก็เป็นกุศลอยู่บ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าคนจนจะทำกุศลไม่ได้ เพราะมีคนจนหลายคน ที่สร้างตัวเองให้เป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้ทุกคนสร้างความดี ทำให้คนในชุมชนทำดี แบบนี้มันกุศลมากกว่า เพราะความดีมันเกิดในจิตใจคน ไม่ใช่เพียงวัตถุสิ่งของ

เห็นไหมว่าการทำกุศลไม่จำเป็นต้องใช้เงินเลย เงินจะเป็นปัจจัยที่ด้อยค่าด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับการทำความดีของคน ดังจะเห็นได้ว่ามีคนนำเงินไปบริจาคให้กับผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจำนวนมากนั่นเพราะเขาเห็นว่าผู้ปฏิบัติดีเหล่านั้นจะสามารถใช้เงินให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่าเขา นั่นเป็นเพราะว่าความดีในจิตใจของคนนั้นมีแค่เหนือเงินนั่นเอง

….คนรวยติดสุข

ความรวยนี่เองที่จะทำให้เราอยู่กับทุกข์ชั่วกาลนาน เพราะคนที่รวยจะติดสุข ติดไปกับโลกธรรมอยู่เรื่อยไป จะไม่มีวันเห็นทุกข์ในโลกธรรม เพราะตัวเองนั้นยังติดสุขอยู่กับลาภ ยศ สรรเสริญ ที่เกิดจากความรวยของตน ชีวิตก็ติดอยู่ในภพของเทวดา มีคนหาของมาบำเรอ อยากได้อะไรก็หาได้ กลายเป็นเทวดาในร่างคน ติดภพ ติดสุข อยู่เช่นนี้ กอดความรวยของตนเองไว้หลงว่าเป็นสุข หลงว่าเป็นบุญ ทั้งๆที่เป็นเพียงกุศลหรือผลของความดีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับบุญ

คนที่เกิดมารวยหรือคนที่พยายามจะรวยนั้น โดยมากจะมีกิเลสหรือพรั่งพร้อมไปด้วยกามคุณอยู่เสมอ ใช้ชีวิตบำเรอกาม รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสอยู่ไม่ขาด ไปที่ไหนก็ต้องกินดี ไปที่ไหนก็ต้องนอนดี อยู่ในที่ดีๆ ติดสุขอยู่แบบนี้ ยินดีในความรวยอยู่แบบนี้ จิตจึงตั้งมั่นอยู่ในความรวย แล้วพยายามสร้างกุศลให้ตัวเองได้เกิดมารวยอีกต่อไปเรื่อยๆ

เมื่อมีความติดสุขก็ย่อมไม่เห็นทุกข์ เมื่อไม่เห็นทุกข์ก็ไม่มีทางเห็นธรรม คนที่รวยมากๆจะเข้าถึงธรรมได้ค่อนข้างยาก จะเข้าถึงก็ได้แค่เพียงวัด แค่พระ แต่จะไม่เข้าถึงใจที่เป็นทุกข์จริงๆ การที่เราจะบรรลุธรรมได้นั้นเราต้องไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ในกิเลสด้านใดด้านหนึ่ง แต่คนรวยจะไม่ยอมทุกข์เพราะว่าตนเองติดสุข จะให้ไปทุกข์นั้นเขาจะไม่เอา แต่ถ้าให้ไปทำกิจกรรมในวัดที่เสริมโลกธรรมอันนี้จะชอบ เช่นแต่งชุดขาวเป็นประธานกฐิน ออกหน้าออกตาในสังคม อันนี้มันก็เป็นกุศลที่อาจจะปนบาปไปด้วยเช่นกัน

….ความซวยชั่วกัปชั่วกัลป์

ความหลงติดในความรวย ในความสุขสบายนี้เอง จะทำให้เราหลงติดอยู่ในโลกนี้ ไม่ยอมสละไม่ยอมทิ้ง คนที่ยอมสละได้ทิ้งได้ย่อมเป็นคนมีบุญเป็นอันมากและเมื่อทิ้งแล้วย่อมไม่ใช่คนรวย ดังเช่นพระพุทธเจ้าที่ทรงสละทุกอย่างมาออกบวช แม้รองเท้าก็ไม่เอาเป็นอดีตคนรวยที่สละทุกสิ่งเพื่อสิ่งที่ดีกว่า

ถ้าท่านยังคงติดอยู่ในราชสมบัติติดอยู่ในความสบายก็คงจะไม่มีคำสอนเรื่องธรรมะมาถึงพวกเราจนถึงทุกวันนี้ คนรวยในปัจจุบันนี้ก็เช่นกัน หากยังหลงในความรวยอยู่ ยังยึดติดว่าต้องรวยก่อนจึงจะทำกุศลได้อยู่ ยังมีความเห็นผิดเป็นอันมากอยู่ ก็จะกอดเก็บและสะสมความรวยนั้นไว้ สร้างบาป เวร ภัยต่อตัวเอง เป็นคนขี้โลภที่กอดกิเลสไว้ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมสละความรวย ไม่ยอมจน คนที่จะพ้นทุกข์ได้ไม่ใช่คนรวย พระพุทธเจ้าท่านก็ทำให้ดูแล้ว แต่ต้องเป็นคนจน จนขนาดที่ว่าแทบไม่มีอะไรเป็นของตัวของตนเลย มีเพียงแค่บาตร จีวรและเครื่องบริขารอีกเล็กน้อยไว้ดำรงชีพเท่านั้นจึงจะทำให้ชีวิตเบา

เพราะยิ่งรวยก็ยิ่งต้องแบกภาระ ก็ยิ่งต้องหนัก แต่พอจนมันไม่ต้องแบกไม่ต้องรับผิดชอบ ที่จริงคนรวยนี่เองคือคนที่ติดสุข ติดกิเลส ติดสะดวกสบาย ก็เลยหากาม หาโลกธรรมมาบำเรอตัวเองจนรวยเพื่อที่จะได้เสพความสบายวนเวียนไปอยู่เช่นนี้ติดภพติดสุขอยู่ในโลกไปเช่นนี้อย่างไม่มีวันจบสิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

15.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

รวยเท่ากับซวย #1

December 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,914 views 0

รวยเท่ากับซวย #1

รวยเท่ากับซวย #1

…เมื่อความร่ำรวย ไม่ได้นำมาซึ่งความสุขและโชคดีเสมอไป

การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมยุคทุนนิยมในปัจจุบัน ผู้คนต่างก็พากันใฝ่หาความมั่งคั่งร่ำรวยเป็นเป้าหมายตั้งแต่เกิดไปจนตายว่าต้องร่ำรวยจึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นภารกิจที่ผูกมัดให้เราต้องแสวงหา ไขว่คว้าเพียงเพื่อจะร่ำรวย

แล้วเราร่ำรวยไปทำไม? เป็นคำถามที่ดูตลกสิ้นดี คำตอบนั้นมีมากมายรองรับไว้ตั้งแต่เราเกิดมาแล้ว เช่น จะได้สบาย จะได้กินใช้ตามต้องการ จะได้ไม่ลำบากตอนแก่ฯลฯ

แล้วเราต้องร่ำรวยขนาดไหน? มาถึงคำถามนี้หลายคนก็จะเริ่มตอบตามฐานะ ตามฝันของแต่ละคน เช่นตอนนี้ยังไม่ได้ล้านก็เอาล้านก่อน ได้ล้านมาแล้วแต่เดี๋ยวจะเอาสิบล้านว่าจะพอ พอได้สิบล้านเห็นเป้าร้อยล้านว่าจะคว้ามาก่อน สรุปง่ายๆว่าหาเท่าที่กิเลสจะนำพานั่นแหละ

….ความมั่งคั่งกับกิเลส

ขึ้นชื่อว่ากิเลสนี่มันไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีขอบเขตและมันไกลออกไปเป็นอนันต์ การได้มาซึ่งเงินหรือความมั่งคั่งเป็นเพียงแค่ฉากหน้า แต่กิเลสที่มีทั้งอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา นั้นเป็นฉากหลังที่ยิ่งใหญ่และอลังการ ไม่มีวันที่คนจะพอใจกับการสนองกิเลสด้วยเงิน มันไม่มีวันจบสิ้นแม้จะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เงินคืออสรพิษ” แต่ถึงอย่างนั้นศาสนาพุทธก็ไม่ได้ปฏิเสธความมั่งคั่งที่มาโดยธรรม เพียงแค่ให้รู้จักบริหารความมั่งคั่งเพราะถ้าสะสมมากเกินไปมันจะกลายเป็นพิษ ดังเช่นในฐานของศีล ๑๐ ก็จะมีเรื่องของเงินเข้ามาอย่างชัดเจน นั่นหมายถึงถ้าอยากให้ชีวิตมีความสุขก็อย่าไปยุ่งกับเงินมากนัก

ถึงกระนั้นก็ตามในฐานของศีล ๑๐ นั้นเป็นฐานะที่สูงมาก การจะมาถึงได้ต้องลดกิเลสมาตามลำดับจากศีล ๕ ศีล ๘ จนมั่นใจว่าถือศีลได้อย่างปกติเสียก่อนจึงจะขยับฐานมาศีล ๑๐ ไม่ใช่ว่าเห็นว่าศีล ๑๐ ดีแล้วจะเลิกรับเงินทุกอย่างแล้วทำตัวยากจนต้องทนทุกข์ทรมานจากกิเลส อยากได้ อยากมี อยากกิน อย่างคนอื่นเขาแต่อดไว้เพราะถือศีล อันนี้ก็เรียกว่าถือศีลไม่เหมาะสมตามฐานะ

ความเป็นพิษของความมั่งคั่งนั้นก็คือการเสพอย่างเกินพอดี คิดเพียงแค่ว่าตนหามาได้มากก็มีสิทธิ์ใช้มาก แปลกันตรงตัวก็คือหาเงินได้มากก็เอามาสนองกิเลสได้มาก สนองกิเลสมากมันก็บาปมาก ทางไปนรก(ความเดือดเนื้อร้อนใจ) ก็เปิดกว้างมากเช่นกัน

….รวยแล้วมันซวยยังไง

หลายคนอาจจะบอกว่ารวยก่อนถึงจะดี ในบทความนี้เราไม่ได้ปฏิเสธเงินเสียทีเดียว แต่เราปฏิเสธความรวยซึ่งหมายถึงการมีเกินพอดี คำว่ารวยนั้นแสดงถึงสภาพเหลือกินเหลือใช้ นั่นก็แสดงถึงความล้น ความเฟ้อ ความไม่พอดีอยู่แล้ว

ทีนี้เมื่อเรามีมาก เราก็อยากใช้มาก เพราะกิเลสเราโตตามไปพร้อมกับเงินด้วย สมมุติว่ามีคนคนหนึ่งตอนเขาจน เขากินข้าวจานละ 50 บาทก็ยังว่าแพง แต่ตอนเขารวย กินอาหารมื้อกลางวันมื้อเดียว 1,000 บาทก็ยังว่าคุ้มค่า ดูสิกิเลสมันหลอกได้ถึงขนาดนี้ มันเอารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสมาหลอกขายเขา เขาก็หลงเชื่อเห็นไหม ตอนเขาจนเขายังฉลาดกว่าตอนรวยเลยนะ เพราะเห็นว่าของที่คนรวยกินเข้าไปนั้นมันทั้งแพงทั้งน้อย แม้อร่อยแต่ก็ไม่คุ้มค่าเงิน คนรวยเขากล้ากินได้ยังไง ตอนจนมันจะเห็นคุณค่าเงิน 50 บาทว่ามาก จึงใช้เงินอย่างประหยัด แต่พอตอนเขารวยนี่มันกินได้หมดเลยนะ มันไม่ต้องคิดอะไรเพราะมันจ่ายได้หมด มันเห็นคุณค่าเงิน 1,000 บาทว่าน้อย เห็นไหมมันเริ่มโง่แล้ว

ค่าอาหารที่แพงขึ้นไปคือราคาของกิเลส ราคาของกามคุณที่เขาแต่งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ราคาของโลกธรรมที่เขายกยอปอปั้นว่าดีว่ายอด ราคาของอัตตาที่เราหลงไปให้คุณค่าว่ามันดี ราคาที่จ่ายไปนี่คือค่ากิเลสล้วนๆ คือความโง่บริสุทธิ์บนความรวยนี่เอง ถ้าได้ลองล้างกิเลสเรื่องอาหารจนหมดจะพบความจริงว่า ทั้งหมดนี้มันก็เท่านั้นเอง ข้าวมื้อละ 1,000 บาทกับมื้อละ 50 บาท มันก็อิ่มเท่ากัน ก็เท่านั้นเอง

การใช้เงินเป็นนี่ไม่ได้หมายความว่าใช้เงินตามฐานะอย่างที่เข้าใจกันเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการใช้เงินอย่างพอเหมาะพอควรให้เหมาะสมกับสิ่งที่จ่ายเงินซื้อไป ดังเช่นเรื่องที่ยกตัวอย่างนั้น คนเรากินเพื่อดำรงชีวิตอยู่แต่คนมีกิเลสนั้นดำรงชีวิตอยู่เพื่อกิน จึงต้องเสียเงินมากมายให้กับการกินที่สิ้นเปลือง ซึ่งก็มักจะมีคำพูดที่ดูดีเหตุผลที่สวยหรูจากกิเลสมารองรับ

ในมุมของความเป็นภัยนี่ก็มาก ความรวยจะเรียกคนที่ไม่จริงใจเข้ามาใกล้กับชีวิตเราเยอะมาก มีการฆ่ากันเพราะความรวยกันมาก็เยอะ คดีดังๆก็มีให้เห็นหลายคดีจนมีคำถามว่ารวยแล้วยังไง? สุดท้ายก็โดนเขาฆ่าแล้วเอาเงินไปใช้ มันตายเพราะความรวยแท้ๆ

ความรวยยังเป็นภัยในมุมของการบริหารงาน เช่นหากประเทศอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำสุดขีด เรามีโรงงานอยู่ซึ่งต้องแบกรับค่าใช้จ่ายรายเดือนสูงมาก เราบริหารไม่ผิดพลาดตามหลักการเลยนะ แต่สุดท้ายการเงินฝืดเคืองจนจำเป็นต้องลดสวัสดิการบางอย่างของพนักงาน แล้วเราดันรวย มีภาพรวยติดอยู่ในใจพนักงาน คือมีดีแค่ความรวยนี่แหละ เรื่องอื่นไม่ค่อยเด่น เพราะวันๆเอาแต่ทำตัวรวย ขับรถหรูไปกินอาหารแพงๆ เขาก็จะจ้องเราเหมือนกับฝูงหมาป่าจ้องลูกแกะนั่นแหละ ส่วนจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ลองจินตนาการกันดูว่าถ้าบริษัทที่เรากำลังทำงานถูกลดสวัสดิการ ลดเงินเดือน แต่ผู้บริหารยังใช้ชีวิตหรูหราตามปกติ เราจะรู้สึกอย่างไร

คนรวยที่เก็บกักทรัพย์ไว้ไม่สละออกนั้นก็ยากที่จะพบกับความสุข ในฆราวาสธรรม ๔ คือธรรมของผู้ครองเรือน ก็มี “จาคะ” หมายถึงการเสียสละแบ่งปัน ซึ่งจะใช้ลดความยึดมั่นถือมั่น ความตระหนี่ถี่เหนียวของของรวยนี้เอง

เมื่อมีทรัพย์แต่ไม่ได้บริหารทรัพย์ให้ไปเป็นไปในทางกุศล ไม่ได้ทำให้เกิดบุญ แต่นำไปสนองตัณหา นำไปเสพที่กิเลสสั่งนั้นก็จะกลายเป็นบาป นั่นหมายถึงว่ายิ่งรวยก็จะยิ่งมีศักยภาพในการทำบาปสูงเท่านั้น นำมาซึ่งสิ่งอกุศลมากมาย

….การบริหารความรวยไม่ให้ซวย

ในสมัยพุทธกาลนั้นก็มีเศรษฐีมากมายที่ทำทาน เปิดโรงทาน แจกของแจกอาหารทุกวัน ซึ่งเป็นลักษณะของผู้ศรัทธาในการทำทาน เป็นการบริหารทรัพย์ที่มีมากให้เกิดประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่เกิดบุญกุศลเท่านั้น ยังสามารถทำให้ตนเองนั้นพ้นภัยไปได้ด้วย

ยกตัวอย่างในยุคนี้เช่นกรณีของบิล เกตส์เมื่อครั้งหนึ่งเคยมีปัญหาที่ทำให้ชื่อเสียงและความมั่นคงในชีวิตตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย เขาได้ใช้การบริจาคเงินตั้งมูลนิธิขึ้นมาและผ่านพ้นวิกฤตินั้นไปได้ ด้วยผลแห่งการทำทานนั้นเอง

ในกรณีเช่นนี้ ถ้าตามหลักของ CSR (Corporate Social Responsibility : ความรับผิดชอบต่อสังคม)ก็ยังเป็นระดับปลายเหตุ เหมือนกับที่บริษัทยักษ์ใหญ่มากมายถล่มทรัพยากรธรรมชาติ กดขี่พนักงาน ลดคุณภาพสินค้า ขายสินค้าราคาแพง สุดท้ายเอารายได้ส่วนหนึ่งมาจัดกิจกรรมสังคมให้ดูดีหรือกลบเกลื่อนชื่อเสียงที่ไม่ดี ไม่ใช่ทานที่ให้ตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิตหรือตั้งแต่ต้นสายปลายเหตุ แต่ก็ยังถือว่าเป็นการบริหารความรวยไม่ให้ซวยได้ระดับหนึ่ง

ซึ่งในกรณีนี้ถ้าเราสมมุติกิจกรรมเป็น 10 ส่วน ทำบาปทำอกุศลไปซะ 9 ส่วน ทำดีเอากำไรมาทำทานเสีย 1 ส่วน มันก็ดูดีใช่ไหม แต่มันจะทานพลังบาปอกุศลของ 9 ส่วนนั้นไม่ได้นานหรอก วันหนึ่งหากยังไม่หยุดเอาเปรียบลูกค้า พนักงาน สังคมสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ได้มาซึ่งกำไร ก็ไม่มีทางจะต้านผลแห่งบาปที่ทำสะสมไว้ได้ สุดท้ายก็ซวยอยู่ดี

การบริหารความรวยที่ดีที่สุดคือการไม่รวย หรือการไม่ปล่อยให้ตนเองรวยจนถึงขีดที่เป็นภัย มีเท่าไหร่ก็ขจัดออก ปัดออก ยกตัวอย่างของประธานาธิบดีที่จนที่สุดในโลก “โฮเซ มูฮิกา” ที่มอบรายได้ต่อเดือนของตนกว่า 90% ให้กับการกุศล โดยใช้ชีวิตอย่างพอเพียงอยู่ในบ้านไร่ของเขากับภรรยา เรียกได้ว่าเป็นการบริหารความรวยอย่างชาญฉลาด เพราะนอกจากปัดภัยจากเงินที่จะเข้ามาหาตัวแล้ว ยังสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นด้วย

ในทางพุทธศาสนายังมีวิธีการบริหารที่ดีกว่านั้น คือทำงานฟรี คือไม่รับความรวยไว้ตั้งแต่แรกเลย เมื่อไม่ได้รับมาก็ไม่ต้องมานั่งบริหาร ไม่ต้องมาคอยลำบากเพราะความรวย และใช้การบริหารชีวิตและสังคมด้วยระบบสาธารณโภคี คือใช้ของส่วนกลาง ไม่มีของส่วนตัว พึ่งพาอาศัยกัน เลี้ยงดูกันและกัน สร้างประโยชน์แก่กันและกันแบบฟรีๆ

….การบริหารความรวยที่ผิด

ลองมายกตัวอย่างการบริหารความรวยที่ผิดบ้าง มีตัวอย่างมากมายให้เห็นเช่น ในระดับทั่วไป คนที่มีเงินมีทองก็สวมใส่ทอง เอาเงินมากมายใส่กระเป๋าด้วยความอยากแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตนรวย ทีนี้พอเตะตาบางคนที่เขามีความโลภมากๆเข้าก็มักจะเกิดการกระชากสร้อย ปล้นจี้ ขโมย อันนี้เป็นระดับชาวบ้านทั่วๆไป

ลองขยับขึ้นมาเป็นเรื่องของที่อยู่อาศัยบ้าง คนรวยก็มักจะตกแต่งบ้านประดับบ้านด้วยสิ่งของราคาแพง บ้านจะใหญ่และโดดเด่นกว่าคนอื่น เพราะคนรวยที่หลงเมาในกิเลสก็จะพยายามทำตัวให้คนอื่นรู้ว่าตนรวย ทีนี้พอโดดเด่นก็จะเป็นเป้าสายตา แล้วก็จะกลายเป็นเป้าหมายของโจรเข้าในวันใดวันหนึ่ง ความสูญเสียทรัพย์สินหรือชีวิตก็จะตามมา

ลองเปลี่ยนมาเป็นการบริหารงานบ้างดังเช่นกิจการที่มีการเติบโต ผู้บริหารจึงขยายกิจการออกไปเพื่อหวังกำไรให้มากขึ้น แต่เมื่อมีสาขามากขึ้นภาระก็มากขึ้น ต้องทำยอดขายมากขึ้น ปัญหาก็มากขึ้น ทั้งที่ชีวิตจริงๆก็ดีอยู่แล้ว แทนที่จะนำทรัพยากรมาพัฒนาสวัสดิการภายในต่างๆให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่กลับขยายให้ใหญ่แต่มีคุณภาพแบบทั่วๆไป เป็นลักษณะการบริหารความรวยที่ผิดที่เห็นได้โดยทั่วไปลองคิดดูก็ได้หากบริษัทจะบอกกับคุณว่าปีนี้ไม่มีโบนัสเพราะบริษัทจะนำเงินไปลงทุนขยายกิจการ จะรู้สึกอย่างไร

ลองมาดูในมุมของการบริหารเงินกันบ้าง หลายคนเอาเงินไปลงทุนในธุรกิจต่างๆที่มีความเสี่ยง ยกตัวอย่างเช่นลงทุนในตลาดหุ้นในลักษณะระยะสั้น สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า ซึ่งมีการแปรผันอย่างรวดเร็วและคาดเดาผลได้ยาก และแม้จะใช้คำว่า “การลงทุน” แต่ก็มีคุณสมบัติเหมือนการพนันอย่างไม่ผิดเพี้ยน คือมีการลงทุนและหวังให้ทุนเพิ่มมากกว่าที่ลงโดยมีโอกาสลดลงเช่นกัน ไม่ต่างอะไรกับการเล่นพนันอื่นๆ เพียงแค่ใช้ข้อมูลทางผลประกอบการและเศรษฐกิจเป็นตัวอ้างอิงที่ใช้เล่นกันไม่ต่างกับลูกเต๋าหรือไพ่ เมื่อเป็นการพนันจึงกลายเป็นการบริหารความรวยที่มีผิดไปจากทางที่ควรจะเป็นกุศล

การบริหารความรวยที่ผิดนั้นไม่ได้มาจากเหตุอะไรมาก ส่วนใหญ่ก็มาจากโลกธรรม คือความโลภ ความอยากได้การชื่นชม อยากให้มีคนยอมรับ อยากอยู่ในตำแหน่งสูงสุด อยากมีความสุข สนองอัตตา ก็เพียงแค่นั้น

….การประกอบอาชีพอย่างพุทธ

การได้มาซึ่งความร่ำรวยนั้นต้องไม่ได้มาจากการพนัน การขโมย การแย่งชิง การเอาเปรียบ ฯลฯ ความรวยที่สุจริตนั้นมาจากการประกอบอาชีพที่สุจริต และอาชีพที่สุจริตนั้นมีอยู่ในพระไตรปิฏก อยู่ในสัมมาอริยมรรคข้อหนึ่งที่ว่า “สัมมาอาชีวะ” เป็นคำที่ผู้คนต่างเข้าใจกันเพียงว่าเลี้ยงชีพชอบ แล้วอย่างไรจึงชอบ อาชีพใดจึงดี เราจะไปขยายกันต่อในบทความต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

13.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ให้อภัยใจแข็ง

December 5, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,118 views 0

ให้อภัยใจแข็ง

ให้อภัยใจแข็ง

…เมื่อการให้อภัยไม่ได้หมายถึงการกลับมาเคียงคู่กันเสมอไป

การใช้ชีวิตไปพร้อมกับการมีคู่รักก็คงต้องกระทบกันมากบ้างน้อยบ้างเหมือนลิ้นกับฟันอยู่ด้วยก็ต้องกระทบกันเป็นธรรมดา เมื่อคนสองคนที่มีความเข้าใจ ความคิดเห็น ความต้องการที่ต่างกันมาอยู่ร่วมกันแล้วความไม่ลงตัวย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดาเช่นกัน

หากการทะเลาะเบาะแว้งนั้นเกิดจากเรื่องที่พอจะตกลงปรับความเข้าใจกันได้ ก็มักจะให้อภัยกันได้ง่าย ยอมให้กันได้ง่าย แต่หากเหตุแห่งการไม่พอใจกันนั้นเกิดขึ้นเพราะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำปัญหามือที่สามเข้ามาในชีวิตคู่ เช่นมีกิ๊ก คบชู้ มีเมียน้อยผัวน้อย การจะให้อภัยจนถึงการตัดสินใจต่อจากนั้นจะเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนขึ้นมาทันที

อย่างที่เรารู้กันว่าการคบชู้นั้นผิดศีลข้อที่ ๓ ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงต่อคนที่รักกัน ไว้ใจกัน เชื่อใจกัน ถึงขั้นที่สามารถทำลายศรัทธา ทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจทั้งหมดที่เคยมีมาได้เพียงแค่รับรู้เรื่องราวการผิดศีลนั้น เมื่อมีผู้ผิดศีลจึงมีผู้ถูกเบียดเบียน และผู้ถูกเบียดเบียนด้วยกายวาจาและใจนั้นก็มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจเลือกกรรมที่จะรับต่อไป

1).ไม่ให้อภัย

คนที่ถูกคู่รักทำลายความเชื่อมั่นที่เคยมี นั้นมีสิทธิ์ที่จะเลือกไม่ให้อภัย ไม่ยกโทษ ไม่เผาผี ไม่ต้องมาพบมาเจอกันอีกเลยในชาตินี้ เหตุเกิดจากความเจ็บปวดความทุกข์ทรมานที่โดนหักหลัง โดนทำลายความไว้ใจ ถูกทำให้กลายเป็นคนไม่มีคุณค่า ฯลฯ

พอเราเสียสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นไว้หรือเสียคู่ของเราให้กับคนอื่นไป คือการพลัดพรากจากของรัก เสียสิ่งที่รักไป แม้ว่าเขาจะกลับมาขอคืนดี ยอมเลิกกับชู้ แต่สิ่งที่รักนั้นไม่ใช่ตัวบุคคลเพียงอย่างเดียวยังหมายรวมถึงความเชื่อใจ ความสบายใจ ความอบอุ่นใจที่ได้ใกล้ชิดกัน เมื่อเสียสิ่งเหล่านี้ไป ก็จะเกิดอาการขุ่นเคืองไม่พอใจ โกรธ ผูกโกรธ อาฆาต พยาบาท ได้ตามระดับความรุนแรงของกิเลส

หากถามว่าเรามีสิทธิ์ที่จะไม่ให้อภัยไหม ในเมื่อสิ่งที่เขาทำกับเราช่างดูโหดร้ายเหลือเกิน ก็จะตอบว่ามีสิทธิ์ที่จะเลือกกรรมนั้น แต่หากพิจารณาดีๆแล้วอภัยทานนั้นเป็นทานที่มีกุศลมาก เป็นบุญมาก นั่นเพราะเป็นทานที่มีผลต่อการตัดกิเลส คือตัดความโลภ โกรธ หลง

2).ให้อภัย

การที่เราให้อภัยนั้นหมายถึงเราได้ยอมลดความโกรธที่มี ยอมทำลายความหลงที่มีในตัวเขา ทำลายความหลงติดหลงยึดว่าคู่รักต้องดีต่อกันเสมอ ยอมรับความจริงใหม่ที่เกิดขึ้นและเข้าใจว่าอดีตที่เราได้รับไปนั้นเกิดจากกรรมที่เราทำมาเอง เป็นสิ่งที่เราทำมาทั้งหมด อภัยทานคือทานที่ไม่เป็นภัยแก่ใครเลย เมื่อเราดับความโลภโกรธหลงได้ เราก็จะไม่ทำร้ายตัวเองด้วยการสั่งสมกิเลส และจะไม่ไปทำร้ายใจใครด้วยกิเลสของเราเช่นกัน

คนที่เขาผิดศีลนั้นทำร้ายได้แม้กระทั่งคนที่ไว้ใจกัน เขาก็ทำบาปมากพอแล้ว ทำชั่วมากพอแล้ว การที่เราจะไปซ้ำเติมเขาจึงเป็นสิ่งที่ไม่ทำเสียเลยจะดีกว่า แม้ว่าเขานั้นจะมาทำร้ายจิตใจของเราก็ตาม เพราะเรารู้ตามจริงว่าการที่เขามาทำร้ายจิตใจของเรานั้นเป็นเพราะกรรมของเราดลให้เขาทำเช่นนั้นกับเรา ถ้าเราไม่เคยทำกรรมชั่วมามันก็ไม่มีทางได้รับ เพราะฉะนั้นเราจึงยินดียอมให้อภัยและรับกรรมนั้นเป็นของตนเองโดยไม่โทษใคร

เมื่อเราให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธเคืองกับเขาแล้วแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม ตอนที่เขาได้นอกใจเราและเรื่องเปิดเผยออกมาแล้ว เรามีสิทธิ์ที่จะได้รับสถานะโสดกลับมาเป็นของเราอีกครั้ง ความโสดเป็นสมบัติที่มีค่าของเรา และเราก็มีสิทธิ์ที่จะไม่รับความโสดนั้นกลับมาเช่นกัน

ในกรณีเมื่อเราให้อภัยจนหมดใจแล้ว คือไม่โกรธ ไม่แค้น ไม่อาฆาต ไม่ผูกโกรธ ไม่พยาบาท ไม่มีความขุ่นเคืองใจใดๆ ยอมรับกรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เมื่ออดีตคนรักมาขอร้องให้ช่วยให้อภัยเขาและกลับมาคบกันเหมือนเดิม ในส่วนของการให้อภัย เราสามารถให้อภัยได้หมดใจ แต่ในส่วนของการกลับมาคบกันเหมือนเดิมเราสามารถเลือกที่จะกลับไปคบหาหรือไม่กลับไปคบหากันเหมือนเดิมก็ได้

2.1).ให้อภัยใจอ่อน

มีหลายคนที่เลือกให้อภัยกับอดีตคู่รักที่ได้พลั้งพลาดเผลอตามกิเลสไปให้ผิดศีล แล้วยังใจอ่อนรับเขากลับเข้ามาในชีวิต ซึ่งการยอมให้เขากลับเข้ามาในชีวิตนั้นไม่ใช่ความต่อเนื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เป็นการตัดสินใจใหม่ซึ่งเราได้เลือกตัดสินใจบนพื้นฐานจากข้อมูลเก่าที่มี เพราะเราเห็นดังเช่นว่า เขาน่าจะปรับปรุงตัวได้ เขาน่าจะสำนึกผิดแล้วไม่ทำอีก เขาน่าจะเข็ด น่าจะขยาดกับความผิดนี้ ในส่วนนี้เป็นเพราะความใจอ่อน เห็นใจเขา เมตตาเขา เห็นเขาอ้อนวอนแล้วสงสารอยากให้โอกาส ซึ่งถ้าพิจารณาจากข้อมูลเท่านี้ก็อาจจะทำให้ผิดพลาดได้ เพราะเราเองก็ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วสาเหตุที่เขานอกใจคืออะไร อาจจะมีเหตุผลร้อยแปดพันเก้าที่ใช้ในการเป็นข้ออ้าง

ถ้าเรามองไม่ทะลุถึงเหตุที่แท้จริง ถ้าความรักยังบังตาอยู่ เราก็จะไม่สามารถเห็นกิเลสที่ผลักดันเขาได้ ซึ่งตรงนี้เองเป็นเชื้อร้ายที่สามารถกลับมากำเริบเมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อการให้อภัยหรือการกลับมาคบกันไม่ได้มีผลไปลดกิเลสของเขา ความใจอ่อนในครั้งนี้อาจจะเป็นบทเริ่มของละครเรื่องเก่าที่นำมาเล่าใหม่ก็ได้

ในอีกมุมหนึ่งของความใจอ่อน คือมันอ่อนที่ตัวเราเอง อ่อนที่กิเลสเราเอง เรารู้ว่าเขาผิดศีลแล้วนะ เขาชั่วแล้วนะ แต่เราก็ยังรักเขา หวงเขา อยากได้เขากลับมา แม้เขาจะเคยทำผิดพลาดขนาดไหน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรที่เขาอ้างมา แต่ด้วยความอยากได้เขาคืนมา เราก็พร้อมจะยอมใจอ่อนให้เขากลับมาเสมอเพียงแค่เขาแสดงท่าทีสำนึกผิดให้รู้สึกสมใจเราสักนิดหนึ่ง ภาษาชาวบ้านก็เรียกว่า “ถ้ามาง้อสักหน่อยก็จะยอมคืนดี

หลายคนที่เวลาอดีตคนรักทำผิด ในช่วงแรกมักจะโกรธรุนแรง มีท่าทีผลักไส ทำท่าจะไม่เอา ไม่คบ ไม่อยากเจอ ทำเก๊ก มีฟอร์ม ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของการ “งอน” ซึ่งจะมีความรุนแรงกว่าการงอนทั่วไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสุดท้ายก็จะพ่ายแพ้ด้วยการ “ง้อ” สรุปได้ว่าสุดท้ายก็ท่าดีทีเหลว ใจอ่อนตั้งแต่แรกแต่ก็ทำใจแข็งไปอย่างงั้นๆให้ดูดีเท่านั้นเอง

ในมุมนี้จะเป็นตัวเราเองที่ชักศึกเข้าบ้าน อย่างที่กล่าวอ้างมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ถ้าไม่สามารถดับเหตุหรือกิเลสที่เขาไปนอกใจได้ ผลหรือการนอกใจก็อาจจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ก็ได้ และส่วนมากเราจะใจอ่อนด้วยสาเหตุนี้เพราะเราเองก็มีกิเลสมาก อยากเสพเขาอยู่มาก ไม่สนใจว่าเขาจะชั่วจะเลวแค่ไหนขอให้ได้เสพเขาเป็นพอ เรากำลังเอาเขามาสนองกิเลสของเรา ซ้ำร้ายคนที่เราเอามานั้นยังเป็นคนบาป คนที่ทำชั่ว คนที่ห้ามใจตัวเองไม่ได้ ทั้งเราทั้งเขาก็กิเลสหนามันก็จะกลับมาเสพกันได้อยู่พักหนึ่งแล้วสุดท้ายมันก็จะมีเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่พอใจกัน จนเป็นเหตุให้มีคนใหม่หรือเลิกรากันอยู่ดี

ถ้าถามว่าการให้อภัยดีไหม ก็ตอบเลยว่าดีที่สุดในโลก แต่การกลับมาคบกันนั้นดีไหม ก็จะตอบว่าแล้วแต่เหตุปัจจัย ซึ่งโดยน้ำหนักแล้วคนที่นอกใจนั้นเป็นคนไม่ดี แล้วเรายังจะเสียดายคนไม่ดีไปทำไม จะเอาคนชั่ว คนบาปกลับมาในชีวิตทำไม

เราสามารถเป็นเพื่อนกับเขาได้ในระยะที่เหมาะสม พอให้เกิดกุศล ให้มีระยะห่างที่ตัวเราปลอดภัย สบายใจ ไม่เดือดร้อน ไม่กังวล หากจำเป็นต้องใกล้ก็ให้ระวังใจตัวเองไว้ให้ดีๆ อย่าไปพลั้งเผลอใจอ่อนเพราะเขามาง้อหรือเราอยากเสพเขาด้วยอารมณ์ชั่ววูบ

การที่เราใจอ่อนรับเขากลับเข้ามาในความสัมพันธ์ใดหรือในระยะใดก็ตาม ตัวเราเองได้กำหนดกรรมที่เราจะได้รับไว้ล่วงหน้าแล้ว ดังนั้นในอนาคตเราจึงต้องรับกรรมนี้ไม่มากก็น้อย ซึ่งจะสุขน้อยทุกข์มาก หรือทุกข์มากจนทุกข์เกินทนนั้นก็สุดแล้วแต่กรรมจะบันดาล

2.2).ให้อภัยใจแข็ง

ในกรณีที่เขาทำผิดแล้วสำนึกผิดมาขออภัย เราสามารถให้อภัยเขาได้หมดใจ ไม่คิดแค้น แต่ไม่เอากลับเขาเข้ามาในชีวิตก็ได้ ซึ่งในมุมนี้คนจะมองเหมือนกับว่าเราไม่ให้อภัย ทั้งที่จริงการให้อภัยกับการรับเขากลับเข้ามาเป็นคนละเรื่องกัน

การที่เราให้อภัยเพราะเรามีจิตเมตตา ทั้งยังเห็นโทษของการจองเวร มีจิตพยาบาทผูกโกรธกันต้องมาชดใช้กันหลายภพหลายชาติ ซ้ำร้ายกิเลสที่เกิดขึ้นยังเป็นสิ่งน่ารังเกียจ เราจึงให้อภัยเพื่อตัวเราและผู้อื่น

และด้วยเหตุที่เรารักตัวเรามาก เราจึงไม่เปิดโอกาสให้เขาได้กลับมาทำร้ายเราอีก แม้จะดูมีความเสี่ยงน้อย แม้จะเหมือนว่าเขาจะสำนึกผิด ยอมรับผิดทุกอย่าง แม้จะดูเหมือนว่ามันจะไม่เกิดอีก แต่เราก็จะไม่ยอมเสี่ยงอีกเลย ก็คือการไม่กลับไปคบหาเป็นคนรัก ไม่เสี่ยงเพราะไม่ได้เล่นในเกมพนันครั้งนี้ เมื่อไม่เสี่ยงก็ไม่ต้องทุกข์เพราะกลัวจะเสียไป และไม่ต้องทุกข์ในยามเสียไป ความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะการพรากในการตัดสินใจครั้งนี้อาจจะเป็นความทุกข์ที่น้อยกว่าทุกข์ในอนาคตมากนัก

เมื่อได้มองเห็นทุกข์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นแล้ว เราก็ปิดประตูทุกข์ ปิดทางทุกข์ไปเลยเสียดีกว่า ยอมให้ตัวเองเสียเขาไปวันนี้ดีกว่าต้องทุกข์ทรมานในวันหน้า เป็นความรักตัวเอง รักกรรมตัวเอง ไม่ทรมานตัวเองด้วยความอยาก ไม่เอาเขากลับมาเสพเพียงเพราะกลัวจะเสียเขาไป หรือเพราะเสียงของคนรอบข้าง

ความใจแข็งนี้นอกจากรักตัวเองแล้วยังรักอดีตคนรักอีก เพราะว่าแทนที่เราจะเปิดโอกาสให้เขากลับมาทำชั่วทำบาปกับเรา เรากลับปิดโอกาสนั้น ไม่ยอมให้เขาทำบาปทำชั่วกับเรา ถือว่าเป็นการช่วยเขาไม่ให้ทำเลวไปมากกว่านี้ หยุดบาปของเขาตั้งแต่ตอนนี้ ให้เขาได้สำนึก ให้เขาได้รับบทเรียน ให้เขาได้เรียนรู้จักการสูญเสีย ให้เขาได้รู้จักกรรม อันเป็นผลจากการกระทำของเขา เป็นความใจแข็งที่เต็มไปด้วยความเมตตา มองทะลุไปถึงบาปบุญกุศลอกุศลที่ซ่อนอยู่อีกมากมายในความใจแข็งนี้

หากเขาต้องการจะชดใช้ หรือแก้ตัว ก็ให้อยู่ในสถานะเพื่อน คนใกล้ชิด คนรู้จักหรือคนสนับสนุนอะไรก็ได้ที่อยู่ในระยะที่เหมาะสม ที่เราจะไม่เผลอไปทำบาปกับเขา และไม่ใกล้จนเขาเข้ามาทำบาปกับเรา บาปนั้นคือการเพิ่มกิเลส ถ้าเราใกล้กันแล้วกิเลสเพิ่มก็บาป เช่นการใกล้กันมากแล้วกลับไปใจอ่อนคบกันนี่มันก็เป็นบาป เพราะตอนแรกเรามีศีลที่จะไม่คบคนชั่วเป็นคนรัก แต่พอใกล้มากๆเราก็เกิดอาการอยากเสพสิ่งที่เขาเสนอให้หรืออยากเสพสิ่งที่เขามีแล้วเราก็ยอมลดศีลของเรา ยอมคบเขาดีกว่าถือศีล ยอมชั่วไม่ยอมอด ยอมบาปเพื่อที่จะได้เสพ

ความใจแข็งนี้หากเกิดเพราะความพยาบาท ความโกรธ นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าให้อภัยอย่างเต็มที่ เราจึงต้องล้างใจเราให้ดี ล้างกิเลสเราให้เกลี้ยงเสียก่อน แบ่งเรื่องเป็นสองเรื่องให้ชัดเจน คือเรื่องให้อภัยกับเรื่องกลับมาคบหากัน เพราะถ้าไม่ชัดเจน จะหลงไปว่าตนให้อภัยแต่ไม่กลับมาคบเพราะหลงว่าพิจารณาดีแล้ว แต่สุดท้ายพอเขามาง้อเข้ามากๆ ทำดีกับเรามากๆ เราก็ใจอ่อน อันนี้แสดงว่าเราไม่ชัดเจนตั้งแต่แรก เราไม่ได้ล้างใจตั้งแต่แรก การที่เราไม่กลับมาคบตั้งแต่ตอนแรกนั้นเพราะเรายังไม่ให้อภัย ไม่ใช่ให้อภัยใจแข็ง

ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดความผิดคาดมากมาย หลายคนทำท่าเหมือนว่าใจแข็งปล่อยเวลาผ่านไปเป็นปีสองปี… ก็อาจจะกลับไปคบหากันได้เพราะว่าไม่ได้ล้างกิเลส แค่อยู่ในสภาพกดข่มไว้ วันดีคืนดีกิเลสเรากำเริบเราก็จะคิดใจอ่อน จนยอมให้อภัยกับเขาโดยไม่มีเหตุผลและกลับไปเสพเขาเอง เพราะมันอดอยากปากแห้งมานาน การอดโดยไม่ล้างกิเลสจะเกิดความทรมานสะสมสุดท้ายจะตบะแตก เหมือนกับคนที่โกรธอดีตคู่รักมาหลายปี พูดให้ใครฟังก็มีแต่ข้อเสีย สุดท้ายกลับไปคบกับเขาเอาเฉยๆ ซึ่งก็ทำให้คนรอบข้างหลายคนงงเป็นไก่ตาแตก เหตุการณ์แบบนี้ก็มีให้เห็นโดยทั่วไป

นั่นหมายถึงว่าหากเรายังไม่ล้างกิเลสของตัวเอง ยังไม่รู้จักกิเลสของตัวเอง ยังไม่รู้ ไม่ยอมรับว่ากิเลส เป็นความอยากที่ชั่วแค่ไหน เลวแค่ไหน นำความทุกข์ความฉิบหายให้ชีวิตแค่ไหน เราก็จะยังคงยินดีในการมีกิเลส สะสมบาป สะสมกรรมชั่วต่อไป แล้วก็ต้องมารับกรรมที่ตัวเองได้ก่อนไว้อย่างไม่มีวันจบสิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

3.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์