Tag: ศีล

จะรู้ได้อย่างไร ว่ากิเลสมากหรือน้อย

June 22, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,605 views 0

จะรู้ได้อย่างไร ว่ากิเลสมากหรือน้อย

จะรู้ได้อย่างไร ว่ากิเลสมากหรือน้อย

ในปัจจุบันเรามีวิธีบริหารจิตใจไม่ให้เกิดความทุกข์มากมาย มีกิจกรรมปฏิบัติธรรมหลากหลายที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์คนทุกจริตตามกรรมของแต่ละคน เราสามารถเห็นคนดีมีศีลธรรมปะปนอยู่ในชีวิตประจำวันของเราได้เป็นเรื่องปกติ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ที่ว่าดีนั้น ดีแค่ไหน?

วิธีตรวจว่าตนเองว่าดีจริงหรือไม่นั้นก็ไม่ยาก เพียงแค่นำศีลเข้าไปใช้ในชีวิตประจำวัน หากดีจริงชีวิตจะไม่ทุกข์ไม่ติดขัด ถือศีลได้อย่างปกติ แต่ถ้าไม่ดีจริง มันจะติดขัด จะมีเหตุให้ผิดศีล เกิดทุกข์ หดหู่ ไม่เบิกบานกระทั่งเลิกถือศีลไปเลยก็ได้

เพียงแค่ศีล ๕ ที่เข้าใจกันโดยทั่วไปก็สามารถจะทำให้ตนเองนั้นรู้ตัวได้ว่าเราดีจริงแล้วหรือยัง เรายังมีเหตุให้ผิดศีลอยู่หรือไม่ กิเลสนั้นเองคือเหตุที่ทำให้ผิดศีล ถ้าไม่มีกิเลสก็จะไม่มีข้ออ้างใดๆให้ทำผิดศีลเลย แม้ว่าจะไม่ได้ผิดศีลในระดับศีลขาด แต่ความขุ่นข้องหมองใจนั้นก็เรียกได้ว่ายังผิดอยู่ในระดับของใจ เพราะศีลนั้นต้องชำระกิเลสตั้งแต่ภายนอกไปจนถึงภายใน ตั้งแต่กาย วาจา ไปจนถึงใจ

หากมีศีลเพียงแค่คุมกายวาจา แต่ใจนั้นยังปรุงแต่งเชื้อทุกข์อยู่แม้จะเห็นหรือไม่เห็นก็ตาม จนทำให้เกิดความไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบาย ไม่เบิกบาน หดหู่ หงุดหงิด ฯลฯ ก็เรียกได้ว่ายังชั่วอยู่

การมีศีลได้นั้นจะต้องมีปัญญา พระพุทธเจ้าเปรียบปัญญาและศีลเป็นสิ่งที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงศีลนั้นๆได้ เพราะจำเป็นต้องมีปัญญาที่มากพอจะเอื้อมถึงคุณประโยชน์ของศีลนั้นด้วย

ยกตัวอย่างเช่น เราเจอคนดีคนหนึ่ง ดูท่าทีเป็นนักปฏิบัติธรรมมาก พูดอะไรเป็นธรรมะหมด ก็เลยลองเสนอสิ่งดีๆที่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์กับเขาและเขายังไม่ได้รู้ถึงประโยชน์นั้น เช่นบอกว่าลองกินมังสวิรัติดูสิ ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพและไม่เบียดเบียนด้วย ถ้าเขามีปัญญามากพอ เขาจะสนใจถือศีลนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสามารถศึกษาศีลจนเกิดปัญญาที่เป็นผลได้ทันที

หรือในอีกตัวอย่างหนึ่งเช่น เราเจอคนดี มีศีลธรรม เราก็ลองเสนอสิ่งดีๆเหมือนเดิม ทีนี้ลองเสนอศีลที่ยากขึ้นเช่น กินจืด , กินมื้อเดียว , เป็นโสด ฯลฯ ลองดูว่าเขาจะรับไหวไหม มีเหตุผลของกิเลสมากมายที่จะทำให้คนปฏิเสธการมีศีล แม้ว่าจะเป็นเหตุผลที่ดูดีและน่าเชื่อถือแค่ไหน นั่นแหละพลังแห่งความชั่วที่อยู่ในตนมันกำลังขัดขวางทางเจริญ

ทีนี้ก็ลองเอาตัวอย่างทั้งหมดมาปรับใช้กับตัวเอง การที่เราคิดว่าเราเป็นคนดีแล้ว เราดีจริงหรือ? แล้วเราดีแค่ไหน? เรายังปนชั่วอยู่ไหม? ลองเอาศีลนี้มาปฏิบัติดูซิ ถ้าทำได้ก็เอาศีลที่ยากมาปฏิบัติอีก พระพุทธเจ้าท่านให้ผู้บวชในศาสนาของท่านศึกษา จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ถ้าเป็นนักบวชก็สามารถปฏิบัติได้ทุกข้อ แต่ถ้าเป็นฆราวาสก็เลือกข้อที่เหมาะสมหรือจะเริ่มจากศีล ๕, ๘, ๑๐ หรือจะชอบแบบผสมก็ได้ แต่อย่าไปผสมให้เลี่ยงสิ่งที่ติด ควรจะศึกษาศีลที่ทำให้ตัวเองเห็นกิเลส ศีลใดถือแล้วเฉยๆก็ถือไปอย่างนั้น แล้วเพิ่มศีลอื่นๆไปเข้าอีก

อย่างเช่นการกินมื้อเดียวนี่ใช่ว่าแค่นักบวชเท่านั้นที่ทำได้ ฆราวาสก็ทำได้ มีคนพิสูจน์มาแล้วมากมายว่าสามารถกินมื้อเดียวแล้วมีพลังใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ซึ่งโดยมากจะเกิดศักยภาพมากกว่าปกติ ไม่มีข้อจำกัดใดๆในการถือศีลนอกจากกิเลส

ศีลในหมวดของอาหารตั้งแต่ ลดเนื้อกินผัก กินจืด กินมื้อเดียว เลิกกินขนมและสิ่งฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย คือหมวดศีลที่ปฏิบัติได้ทุกคนทั้งนักบวชและฆราวาส นั่นหมายถึงทุกคนสามารถปฏิบัติธรรมได้บนพื้นฐานเดียวกัน คือจะเจอกิเลสที่มีลักษณะและลีลาคล้ายๆกันนั่นเอง

หากการมีศีลเกิดจากปัญญา การไม่มีศีลก็คือไม่มีปัญญาเช่นกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

21.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

รักด้วยใจ

June 22, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,479 views 0


รักด้วยใจ

ต่อให้ หน้าตาไม่ดี ฐานะไม่ร่ำรวย

ทำงานต่ำต้อย ไร้การยอมรับ

เขาก็รักอยู่ดี…

…ถ้าความรักเป็นเรื่องของจิตใจจริงล่ะก็ แล้วทำไมยังหลงเสพสุขกับเปลือกนอกอยู่?

ทำไมจึงยังหลงสมมุติโลกว่าต้องเป็นแฟนกันหรือแต่งงานกัน? เป็นเพื่อนกันไปไม่ได้อย่างนั้นหรือ?

…………………..

การที่เราจะรู้ได้ว่าเรารักด้วยใจจริงหรือไม่นั้น ต้องทดสอบด้วยการปลดเปลื้องสิ่งที่ไม่จำเป็นออก ในกรณีที่เราไปรักคนอื่น เราอาจจะต้องค้นใจตัวเองว่า คนดีมีตั้งมากมาย เราไปรัก ไปหลง ไปเสพอะไรกับเป้าหมายคนนี้อยู่ ถ้าเขาหน้าตาไม่ดีล่ะ บ้านจนล่ะ ทำงานที่ดูแล้วไม่น่าเจริญล่ะ เป็นคนที่ผู้อื่นไม่ยอมรับล่ะ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังเป็นคนจิตใจดีนะ เรายังจะรักเขาอยู่หรือไม่ หรือเรายังต้องการปัจจัยพื้นฐานเพื่อเสพสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่

ถ้ามีคนมารักเราก็ลองดูซิว่าเขามาเสพอะไรจากเรากันแน่ คุณสมบัติพื้นฐานทางโลกีย์นั้นอาจจะลดได้ยาก แต่เราก็สามารถใช้ศีลเข้ามาคัดกรองได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราหน้าตาดีเราก็เลิกแต่งตัวแต่งหน้าเสีย ถ้าเราฐานะดีเราก็สร้างนิสัยประหยัดอดออม ถ้าเราหน้าที่การงานดีก็หัดออกไปทำงานฟรี ทำงานจิตอาสาบ่อยๆ หรือถ้าเราเป็นคนที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับมาก ก็ให้เราลดความหลงในตัวตน เช่น ยอมเป็นผู้น้อยสำหรับใครสักคน ยกตัวอย่างเช่น ยอมยกพระพุทธเจ้าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และน้อมรับคำสอนและวิธีปฏิบัติของท่านมาใช้

วิธีที่ยกตัวอย่างมานี้ก็ทำเพื่อที่จะคลายข้อสงสัยว่า แท้จริงแล้วเขารักเราที่ใจหรือรักเปลือกที่ห่อหุ้มเราอยู่ เปลือกแห่งโลกีย์นั้นมีดูเหมือนสิ่งที่น่าได้น่ามี คนเขลาย่อมเข้าใจว่ามีรสหวาน ซึ่งคงไม่มีใครอยากรับเอาคนที่หวังจะเสพสุขแค่เปลือกเข้ามาในชีวิตแน่นอน

แต่เราก็มักจะหลงทำในทิศทางตรงกันข้าม เมื่อมีใครที่เราชอบเข้ามาในชีวิต เราก็จะเริ่มแต่งตัว ทำตัวเองให้ดูดี พรั่งพร้อมไปด้วยกาม ลาภ ยศ สรรเสริญ ทั้งหลายเพื่อให้เขาเข้ามาสนใจ เราใช้ความเป็นโลกีย์ล่อเหยื่อที่เราอยากเสพเข้ามาในชีวิต แล้วเราจะได้พบกับคนที่รักด้วยใจได้อย่างไร?

เราสามารถใช้ข้ออ้างว่าการคบกันก็ควรมีความเหมาะสมกันบ้าง นั่นหมายถึงความต้องการพื้นฐานทางโลกีย์ ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าเรามีมาตรฐานในการยอมรับการสนองกิเลสขั้นต่ำได้มากน้อยเท่าไหร่ และนั่นก็หมายความว่าเรายังมีกิเลสเท่าไหร่ ถ้ามีมากก็ต้องการมาก ถ้ามีน้อยก็ต้องการน้อย

การรักที่ใจอย่างแท้จริงนั้น จะมองข้ามเปลือกแห่งโลกีย์ที่ห่อหุ้มอยู่ จะสามารถข้ามผ่านสมมุติโลกที่หลอกให้เราหลงเสพหลงติดหลงยึด ไม่ว่าจะเป็นการคบหากันเป็นแฟนหรือคู่แต่งงาน ซึ่งจะก้าวข้ามสิ่งที่ไร้สาระเหล่านั้นไปเสีย เหลือแต่คุณค่าแท้จริงของจิตวิญญาณดวงหนึ่งที่ควรได้รับความรัก

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ไม่มีสิ่งใดในโลกที่ไม่สมควรได้รับความรักเลย เราจึงควรเพิกถอนความหลงติดหลงยึดในตัวบุคคล กระจายความรักออกไปโดยไม่ต้องมีกรอบใดๆมาขวางกั้นพลังแห่งเมตตาอันไม่มีประมาณนี้

– – – – – – – – – – – – – – –

22.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การกินมื้อเดียว

March 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,620 views 0

การกินมื้อเดียว : ความเห็นความเข้าใจในเบื้องต้นสู่การศึกษาศีลกินมื้อเดียว

การกินมื้อเดียวนั้นเป็นศีลข้อหนึ่งในพุทธศาสนา ซึ่งอยู่ในจุลศีลและจัดอยู่ในศีลที่เรียกว่าศีลเคร่ง (ธุดงควัตร) ซึ่งการกินมื้อเดียวนี้ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของพระหรือนักบวชเท่านั้น ศีลแต่ละข้อที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติมานั้นเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ ดังนั้นการกินมื้อเดียวจึงเหมาะกับทุกคนที่ต้องการพ้นทุกข์

ในบทความนี้ก็จะขยายเนื้อหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการกินมื้อเดียวมาทั้งหมด ๙ ข้อ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ

๑). ความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับการกินมื้อเดียว

แม้ว่าในเมืองไทยจะเป็นสังคมพุทธโดยส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการกินมื้อเดียวอยู่มาก มักจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องของพระ ฆราวาสไม่เกี่ยว เข้าใจไปว่าคนใช้พลังงานกินมื้อเดียวไม่ได้ เข้าใจไปว่ากินมื้อเดียวแล้วจะไม่มีแรง เข้าใจไปว่ากินมื้อเดียวแล้วจะหิว เข้าใจไปว่าร่างกายจะขาดสารอาหาร

ความเข้าใจเหล่านี้เป็นไปตามวิสัยของกิเลส และประกอบกับไม่มีปัญญาหาข้อมูลเกี่ยวกับการกินมื้อเดียวให้กระจ่างแจ้งจึงทำให้การกินมื้อเดียวนั้นเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยาก ดูลำบาก ทรมานตัวเอง ทำร้ายตัวเอง ฯลฯ ทั้งที่จริงแล้วการกินมื้อเดียวนี้คือความสมบูรณ์และความพอดีสูงสุดในชีวิต

๒). ประโยชน์ของการกินมื้อเดียว

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับประโยชน์ของการกินมื้อเดียวไว้ 5 ข้อด้วยกันคือ เจ็บป่วยน้อย ลำบากกายน้อย เบากายเบาใจ มีกำลัง เป็นอยู่ผาสุก การจะเกิดประโยชน์ทั้งหมดนี้ได้นั้นจะต้องกระทำให้ถึงที่สุดของศีลนั้นๆคือศึกษาศีลจนเกิดปัญญาขึ้นมาก็จะเข้าใจตามที่พระพุทธเจ้าตรัสได้

ซึ่งคนที่ฝึกใหม่หรือเริ่มหัดกินมื้อเดียวก็จะยังไม่สามารถเข้าถึงปัญญาเหล่านี้ได้ และยังต้องเสียพลังงานให้กับกิเลสอยู่มาก จึงทำให้การกินมื้อเดียวไม่เกิดประสิทธิภาพ ทั้งนี้ประโยชน์ของการกินมื้อเดียวสามารถขยายมาอธิบายทางโลกได้เพิ่มอีกเช่น ประหยัด มีเวลาว่างเพิ่มขึ้น ไม่ต้องเป็นภาระมาก ไม่ต้องกินมาก เหมือนรถที่เติมน้ำมันน้อยแต่วิ่งได้มากกว่ารถที่เติมน้ำมันเต็มถัง

๓). การกินมื้อเดียวแบบกดข่ม

การกินมื้อเดียวได้นั้น ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักของพุทธเสมอไป เพียงแค่ใช้การกดข่มก็สามารถกินมื้อเดียวได้ทั้งปีทั้งชาติแล้ว โดยเฉพาะคนที่กินมื้อเดียวแบบเหยาะแหยะ คือกินข้าวมื้อเดียวนะแต่ต่อจากนั้นก็ตามด้วยน้ำปานะ นม ขนม เป็นระยะๆ ใส่พลังงานให้ร่างกายเป็นระยะ ทั้งที่จริงแล้วการกินครั้งเดียวต่อวันก็ให้พลังงานมากพอที่จะทำงานหนักทั้งวันได้

ซึ่งการกินแบบกดข่มหรือใช้สมถะเข้ามากดไว้ จะทำให้สามารถกินมื้อเดียวได้ไม่ยาก แต่ก็จะไม่มีปัญญารู้ในเรื่องกิเลส เพราะไม่ได้สนใจกิเลส รู้แค่กินได้กับกินไม่ได้ ดังนั้นจึงมีเป้าหมายคือต้องกดข่มจิตให้กินมื้อเดียวได้เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น บางคนในระหว่างที่บวชพระก็กินมื้อเดียวได้ แต่พอสึกออกมาก็เลิกกินมื้อเดียว นั่นเพราะในช่วงที่บวชก็กดข่มไว้ แต่พอเลิกบวชไม่มีศีลมาบังคับก็เลิกกินมื้อเดียวไปด้วย ทั้งนี้เพราะไม่มีปัญญาเห็นคุณค่าของการกินมื้อเดียว และใช้การกินมื้อเดียวแบบกดข่มจึงทำให้ “ได้แค่กินมื้อเดียว” แต่ก็ไม่มีความเจริญทางธรรม

๔). การกินมื้อเดียวโดยใช้กิเลสล่อ

เราสามารถกินมื้อเดียวได้โดยใช้กิเลสล่อ เช่นมักมากในกาม อยากสวยและหุ่นดี เราก็ลดมื้อมากินมื้อเดียวก็สามารถทำได้กันมากมาย หรือมักมากในโลกธรรม อยากได้รับคำสรรเสริญเยินยอว่าทำได้ ก็พยายามกินมื้อเดียวเพื่อจะได้เสพโลกธรรม จะได้มีคนชม จะได้มีหน้ามีตา จะได้รับการยกย่องว่าทำได้

หรือใช้อัตตาเข้ามาเป็นเหตุ คือฉันทำได้ ฉันจะกินมื้อเดียว คนอื่นทำได้ฉันก็ทำได้ มันมีความยึดดีถือดีมาเป็นพลังขับดันให้ทำ ซึ่งนั่นหมายถึงเอาการกินมื้อเดียวมาเป็นตัวเป็นตน จะว่าดีมันก็ไม่ดีแท้ เพราะต้องมาล้างอัตตาที่หนาเตอะอีกที โดยเฉพาะคนที่ใช้อัตตาเข้ามากินมื้อเดียวจนยึดดีถือดี มักจะติดดีจนไม่สามารถเรียนรู้การล้างกิเลสได้เลย เพราะยึดว่าตนทำได้แล้ว ฉันเก่งแล้ว จึงไม่ฟังใคร ซึ่งจริงๆแล้วการกินมื้อเดียวโดยใช้อัตตาเข้ามา อาจจะเป็นแค่การกลบปมด้อยก็ได้ ซึ่งจะผูกปมซับซ้อนกับโลกธรรมและกามอีกทีก็เป็นได้

ทั้งนี้ทั้งนั้นการกินมื้อเดียวโดยมีกิเลสอื่นๆมาร่วม จะยิ่งทำให้ปัญหามากขึ้น เพราะลำพังความอยากกินหลายมื้อก็เป็นกิเลสที่จัดการยากอยู่แล้ว ยังเอากิเลสอื่นๆมากดมาข่ม เอามาบังปัญหาที่แท้จริงไว้อีก มันก็จะยากขึ้นอีก

๕). การศึกษาศีลในข้อกินมื้อเดียว

การถือศีลในหลักของพุทธไม่ใช่การถือแบบงมงาย ถือแบบเป็นตัวเป็นตน แต่การถือศีลนั้นๆ เรายึดถือไว้เพื่อศึกษาเกี่ยวกับกิเลสในศีลนั้นๆ เช่นศีลกินมื้อเดียวนี้ เป็นการชี้ให้เห็นว่าเรามีความอยากกินหลายมื้อมากเพียงใด เราจำเป็นต้องถือศีลให้เคร่ง แต่ไม่เครียด คือไม่ถือแบบเหยาะแหยะจนวนเวียนกลับไปกินหลายมื้อบ่อยๆ และไม่เครียดจนเกินกำลังที่จะทำได้

เมื่อฝึกอดทนบ้าง ฝึกฝืนบ้างก็จะเริ่มเห็นลีลาของกิเลสที่จะคอยให้เหตุผลกล่อมเรา เพื่อให้เรากลับไปกินหลายมื้อ ซึ่งในระยะแรกมักจะแยกกิเลสกับตัวเองไม่ออก กิเลสกับตัวเราหลอมรวมเป็นอัตตา เราจึงต้องใช้ปัญญาศึกษาศีลนี้ให้เห็นกิเลสแบบนี้ และศึกษาไปจนเห็นวิธีที่จะทำให้กิเลสเหล่านี้จางคลายไปตามลำดับ เรียกว่าการใช้ไตรสิกขา

ทั้งหมดเพื่อการข้ามกิเลสสามภพ คือข้ามกามภพ รูปภพ และอรูปภพ สามภพนี้ลีลาของกิเลสจะมีความรุนแรงต่างกัน ในกามภพก็คือ แม้ว่าจะถือศีลแต่ก็ยังแพ้ให้กับกิเลสกลับไปกินหลายมื้ออยู่

ในรูปภพหมายถึงข้ามกามภพมาได้แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะข้ามได้สมบูรณ์ แต่ในขีดของรูปภพคือไม่ไปกิน แต่ยังมีความอยากกินปรุงอยู่ในใจ โดยสามารถรับรู้ความอยากได้

ส่วนอรูปภพเราจะไม่สามารถจับรูปของความอยากกินได้แล้ว จะไม่มีการปรุงแต่งจิตเป็นคำพูดใดๆ มีแต่อาการขุ่นมัว ไม่โปร่ง ไม่ใสเท่านั้น อาการเหล่านี้เบาบางและจางหายได้รวดเร็วมาก ถ้าคนเก่งสมถะมากๆแล้วสังเกตไม่ดีอาจจะกดข่มไปโดยอัตโนมัติแล้วหลงไปว่าข้ามอรูปภพก็ได้ ทั้งนี้อรูปภพนี่เองคือด่านสุดท้ายของการชำระกิเลสที่เรียกว่ายากสุดยาก ต้องอาศัยญาณหยั่งรู้กิเลสมาก ต้องใช้อินทรีย์พละมากในการเห็นหรือจับกิเลสที่อยู่ในภพนี้

๖). ข้อปฏิบัติในการกินมื้อเดียว

การหัดกินมื้อเดียวนั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่เห็นประโยชน์ก็ให้หาความรู้เพื่อให้ได้ปัญญาที่เป็นพลังในการเริ่มต้น เพื่อที่จะเข้าถึงศีลให้ได้ก่อน เพราะถ้าจิตใจไม่มีความยินดี ไม่เห็นประโยชน์ คือไม่มีฉันทะ ก็จะไม่สามารถศึกษาศีลนี้ได้นาน

เมื่อเห็นประโยชน์จากการกินมื้อเดียวแล้ว เราก็จะเริ่มถือศีลอย่างตั้งมั่นตามฐานที่เรามี ซึ่งควรจะเริ่มจากเล็กน้อย เช่น 1 วันต่อสัปดาห์ แต่ถ้ารู้สึกว่าไหว ไม่ทุกข์จนเกินไปก็เพิ่มวันไปเรื่อยๆพัฒนามาเป็น 1 สัปดาห์ต่อเดือน 1 เดือน 3 เดือน ครึ่งปี หนึ่งปี จนกระทั่งตลอดชีวิต ผู้ที่หัดใหม่จะไม่สามารถดำรงสภาพของศีลนั้นๆได้นานนัก จะมีเหตุแห่งกิเลสทำให้ศีลนั้นต้องขาดอยู่เสมอ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาเพราะการที่เราเริ่มมาศึกษาศีล เราก็ย่อมไม่รู้เรื่องกิเลสเป็นธรรมดา จึงมักจะพ่ายแพ้ให้กับกิเลสเป็นธรรมดาเช่นกัน

เพื่อให้ได้ผลที่แน่นอน เราจำเป็นต้องมีผู้รู้หรือกัลยาณมิตรที่จะมาคอยชี้นำเป้าหมายไปตามลำดับ เพราะการปฏิบัติธรรมในศาสนาพุทธนั้นต้องกระทำไปโดยลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ไม่ใช่เพื่อบรรลุธรรมในทันที การถือศีลกินมื้อเดียวก็เช่นกัน ในศีลเดียวนี้เองจะมีระดับความละเอียดของมันไปตามภพของกิเลส ซึ่งการกินมื้อเดียวได้ ไม่ได้หมายความว่าหมดกิเลส การดับกามภพได้ไม่ได้หมายความว่าจะดับกามภพได้ตลอดกาล นั่นหมายถึงว่าแม้จะกินมื้อเดียวได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะบรรลุผลในการศึกษาศีลแต่อย่างใด

ดังที่กล่าวไว้ตอนต้น ว่าเราสามารถถึงผลในการกินมื้อเดียวได้หลายวิธี แต่การปฏิบัติที่ถูกทางพุทธนั้นมีอยู่ทางเดียว และไม่ปนเปื้อนด้วยกิเลสใดๆ รวมทั้งยังมีความรู้แจ้งในกิเลสเป็นผลที่จะได้รับอีกด้วย

๗). สภาวะของผู้ที่กินมื้อเดียวที่ยังมีความเห็นไม่ถูกต้อง

ในปัจจุบันนั้นมีผู้กินมื้อเดียวอยู่มากมายเช่นกัน ทั้งนักบวชและฆราวาส รวมถึงผู้ถือศีลในวันพระ ทั้งนี้ความรู้สึกทุกข์ใจเพราะไม่ได้เสพหลายมื้อ ความรู้สึกว่าต้องอดทนอดกลั้นเพื่อดำรงศีลนั้นไม่ให้ขาด ความรู้สึกว่าต้องทำเพราะเป็นกุศล การทำตามเขาเพราะเขาว่ามันเป็นสิ่งดี หรือแม้แต่การทำตามศีลนั้นเพราะพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้โดยไร้ปัญญาเช่นกัน

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในกาลามสูตรว่าอย่าเชื่ออะไรง่ายนัก แต่ให้เข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ ละเว้นสิ่งที่เป็นโทษ นั่นหมายถึงผู้ที่จะเข้าถึงศีลนั้นๆ จะต้องใช้ปัญญาของตัวเองพิจารณาเอาเองว่าดีจริงหรือไม่ ถ้าดีจริงก็ให้เข้าไปทดลองทำ แต่ถ้าเห็นไม่ดี ไม่เป็นกุศลก็ให้ห่างออกมา ทั้งนี้ทั้งนั้นศีลที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้เป็นศีลเพื่อความพ้นทุกข์อยู่แล้ว เป็นคำที่กล่าวไว้ดีแล้ว เราจึงควรพิจารณาหาประโยชน์เพื่อเข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้วยใจที่เป็นสุขให้ได้

ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถเข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ทันทีเพราะขึ้นอยู่กับขอบเขตของอินทรีย์พละของเรา ถ้าคนเห็นผิดมาก แม้เขาเอาของไม่มีประโยชน์มาล่อก็ยังเห็นว่ามีประโยชน์ไปตามที่เขาล่อลวง ในทางกลับกันแม้ว่าจะมีสิ่งดีมาเสนอให้ เป็นสิ่งที่ดีแท้ แต่อินทรีย์พละเราไม่มากพอ ปัญญาเราไม่ถึง เราก็จะไม่เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ดังที่เขาว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว” เพราะในเมื่อแนะนำสิ่งดีให้แล้วไม่ยินดี มันก็จะไปยินดีในสิ่งชั่วนั่นเอง

การถือศีลที่ยังรู้สึกว่าต้องทรมาน อยากกินก็ไม่ได้กินนั้น เป็นการถือศีลที่ยังเป็นแบบยึดมั่นถือมั่น เป็นศีลอุปาทาน เพราะไม่มีปัญญารู้แก่นสารสาระในศีลนั้น จึงถือศีลไปตามประเพณีโดยที่ไม่ได้รู้เลยว่าตัวปัญหาที่ทำให้ทุกข์แท้จริงแล้วคือกิเลส ไม่ใช่การไม่ได้กิน

ความเห็นความเข้าใจของผู้ที่ยังเห็นผิดอยู่จะเป็น “กินหลายมื้อสิเป็นสุข กินมื้อเดียวเป็นทุกข์” คือถือศีลแต่ไม่ได้เห็นตามศีล ยังเห็นไปตามโลก เห็นไปตามกิเลสอยู่ ส่วนจะถือศีลด้วยเหตุผลใดนั้นไม่ใช่สาระสำคัญเท่าความเห็นที่มีต่อศีล

๘). สภาวะของผู้ที่กินมื้อเดียวได้อย่างถูกต้องแต่ยังไม่พ้นจากความอยาก

คนที่กินมื้อเดียวได้ตามทิศทางของการลดกิเลสจะต้องเห็นกิเลสที่ถูกบังคับให้แสดงขึ้นมาโดยศีลเสียก่อน ในสมัยที่เรายังกินสามมื้อ กินไปก็ไม่รู้สึกผิดอะไร แต่พอเราถือศีลกินมื้อเดียว แล้วเราไปกินสามมื้ออีก เราก็จะรู้สึกผิด ความรู้สึกเหล่านี้คือหิริโอตตัปปะ ซึ่งถ้าคนถือศีลแล้วยังไม่มีหิริโอตตัปปะก็ยังไม่ถือว่าเจริญ

แต่สิ่งเหล่านั้นก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าถูกทางหรือผิดทางชัดนัก เพราะขึ้นอยู่กับเป้าหมาย ถ้าเป้าหมายคือถือศีลเพราะเขาว่ากันว่าดี อันนี้ยังไม่มีปัญญา แต่ถ้าถือศีลแล้วเห็นกิเลสตัวเอง เห็นความอยากกินหลายมื้อของตัวเอง เห็นว่าความอยากของตัวเองนี่แหละคือต้นเหตุที่ทำให้ทุกข์ ไม่ใช่การถือศีลทำให้ทุกข์ การเห็นกิเลสนี้เองคือประตูด่านแรก

ในด่านที่สองคือต้องมั่นใจว่าความอยากนี้แหละเป็นกิเลสที่ต้องทำลายอย่างแท้จริง ต้องทำลายกิเลสนี้เท่านั้นจึงจะพ้นทุกข์ได้ ไม่ใช่เลิกถือศีลจะหายทุกข์ แต่ต้องกำจัดความอยากกินเกินความจำเป็นนี้ให้สิ้นซากเท่านั้น นี่คือความปักมั่นในระดับที่สอง

เมื่อผ่านสองด่านเราจะเห็นศัตรู เห็นสมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ชัดแล้ว ทีนี้เราจะต้องถือศีลอย่างตั้งมั่น ไม่ถือศีลแบบลูบๆคลำๆ เหยาะแหยะ คือเอาให้ตึงไปเลย การอนุโลมค่อยทำทีหลังก็ได้ แต่ตอนนี้ต้องเอาตัวเองให้รอดก่อน เฆี่ยนกิเลส บี้กิเลสให้มันตาย ถือศีลอย่างตั้งมั่นก็จะสามารถเห็นกิเลสที่ละเอียดลงไปได้ตามลำดับ และพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงโดยลำดับ จะสามารถทำลายกามและอัตตาที่ซ่อนอยู่โดยใช้ศีลเป็นเครื่องตรวจจับกิเลสนั้นๆได้

ความเห็นความเข้าใจในระดับนี้จะเป็น “ กินมื้อเดียวก็น่าจะเป็นสุขอย่างที่เขาว่า แต่กินหลายมื้อมันก็ยังสุขอยู่นะ ” คือจะอยู่ในสภาพที่เห็นดีกับการถือศีลนี้แล้ว แต่ยังไม่ถึงผล ยังมีกิเลสเข้ามาทำให้ความเห็นยังเป็นไปในแนวทางของกิเลสอยู่

๙). สภาวะของผู้ที่กินมื้อเดียวได้อย่างเป็นปกติสุข

เมื่อใช้ไตรสิกขา ศึกษาอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา จนสามารถก้าวข้ามกามภพ รูปภพ อรูปภพได้ตามลำดับจึงจะถึงผลของการศึกษาศีลนั้นๆ เรียกว่าจบการศึกษาศีลนั้น จบกิเลสในเรื่องๆนั้น ก็จะได้อินทรีย์พละเพิ่มขึ้นมาจากการหลุดพ้นจากกิเลส มีกำลัง มีปัญญา มีสติ ฯลฯ ที่เพิ่มมากขึ้น

ยิ่งถ้าคนที่สามารถชำระกิเลสในระดับของการกินมื้อเดียวได้ การกินมังสวิรัติหรือการกินจืดจะง่ายไปเลยในทันที เรียกว่าเก็บสิ่งที่ยากก่อนแล้วค่อยวกไปเก็บสิ่งที่ง่ายก็จะทำได้ไม่ยาก ทั้งนี้ทั้งนั้นการทำสิ่งที่ยากก่อนได้นั้น จะทำได้เฉพาะผู้มีบุญบารมีเก่าเท่านั้น ส่วนคนที่ไม่เคยทำมาเลย ถ้าฝืนจะทำให้ทรมานมาก ซ้ำร้ายกิเลสก็ไม่ตาย กามก็เพิ่ม อัตตาก็หนาขึ้นอีก ดังนั้นการถือศีลควรจะประมาณกำลังของตัวเองด้วยว่าไหวหรือไม่

คนที่กินมื้อเดียวได้อย่างปกติสุขนั้น จะไม่มีความรู้สึกว่าจะต้องกินหลายมื้ออีกเลย จะเกิดความสบายใจขึ้นในชีวิตว่าเรานี้กินวันละมื้อก็อยู่ได้ ประหยัดอาหารไปมาก ประหยัดเงินก็มาก แถมความอยากกินหลายมื้อก็ไม่มีให้ทุกข์ทรมานจิตใจ ดูคนอื่นเขากินหลายมื้อไปก็ได้ ร่วมโต๊ะกับเขาก็ได้ แต่ไม่กินกับเขาโดยที่ไม่มีความทุกข์ใจใดๆแม้น้อย ให้ไปกินหลายมื้อก็ไม่กินเพราะรู้ว่ามันจะทรมานร่างกาย เพราะมันเกินพอดี สิ่งที่เกินพอดีก็จะกลับมาเบียดเบียนร่างกายทำให้เกิดทุกข์ทางกาย แต่ทุกข์ใจนั้นไม่มีแล้ว สะอาดจากกิเลส หมดความอยากที่จะมาทำให้จิตใจเป็นทุกข์อีกต่อไป

ความเห็นความเข้าใจจะเปลี่ยนไปจากตอนแรกโดยสิ้นเชิง คนทั่วไปเขาจะเข้าใจว่า “กินหลายมื้อสิเป็นสุข กินมื้อเดียวเป็นทุกข์” ส่วนคนที่บรรลุผลของศีลจะเข้าใจว่า “กินมื้อเดียวสุขที่สุดในโลก กินหลายมื้อสิเป็นทุกข์” มันจะกลับหัวกลับหางกันแบบนี้เลย

การอนุโลมนั้นเป็นไปในบางกรณีหากประมาณแล้วว่ากุศลนั้นมากกว่าอกุศล ซึ่งการประมาณกุศล-อกุศลจะต้องเรียนรู้โลกไปตามลำดับ การประมาณนั้นจะไม่เที่ยง บางครั้งก็จะขาดๆเกินๆ แต่สภาวะสุขสงบจากการไม่ต้องกินหลายมื้อนั้นเที่ยงแท้ ถาวร ไม่เวียนกลับ ไม่กำเริบ ยั่งยืนตลอดกาล เหล่านี้คือผลจากการปฏิบัติตามหลักของพุทธ

– – – – – – – – – – – – – – –

7.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทำไมเธอไม่กินมังสวิรัติ?

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,622 views 0

ทำไมเธอไม่กินมังสวิรัติ?

ทำไมเธอไม่กินมังสวิรัติ?

…เป็นคำถามที่ยังสงสัย หรือเป็นเราเองที่กำลังหลงลืมอะไรไป?

หลายคนที่สามารถลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจได้ดี มักจะมีคำถามลึกๆอยู่ในใจว่า ลดเนื้อกินผักมันยากตรงไหน กินเนื้อสัตว์มันดีตรงไหน แล้วกินผักมันไม่ดีอย่างไร ในเมื่อมีข้อมูลมากมายมายืนยันว่ากินผักแล้วดี ทำไมเธอถึงยังไม่เลิกกินเนื้อสัตว์

ท่ามกลางความสงสัย เขาเหล่านั้นก็มักจะกระหน่ำโถมใส่ข้อมูลในด้านดีของมังสวิรัติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพความโหดร้ายของการฆ่าสัตว์ บทความที่ทำให้ตระหนัก ข้อมูลวิจัยและข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ทั้งในด้านสุขภาพและด้านจิตใจ ในสมัยนี้เราก็มักจะใช้ เฟสบุ๊ค เว็บบอร์ด เว็บไซต์ ฯลฯ เป็นเครื่องมือในการให้และกระจายข้อมูลกัน แต่ยิ่งทำก็ยิ่งไม่เข้าใจและกลับยิ่งสงสัย คนบางส่วนหันมากินมังสวิรัติก็จริง แต่ทำไมคนอีกมากมายกลับไม่สนใจ ไม่ใยดี แม้ว่าเราจะเสนอข้อมูลให้เขาเหล่านั้นได้เห็นผ่านช่องทางที่เรามีเท่าไหร่แต่เขาก็ยังไม่ยินดีที่จะมากินมังสวิรัติ

ทำไม? เพราะอะไร? หรือเขาไม่เมตตาเหมือนเรา ไม่อดทนเหมือนเรา ไม่มีศีลเหมือนเรา หรือเป็นเราเองที่กำลังหลงเข้าใจอะไรบางอย่างผิดไป….

1).หรือเป็นเราเองที่เข้าใจผิด

บางครั้งเมื่อเราทำอะไรได้ง่ายจนเกินไป เราก็มักจะมองข้ามรายละเอียดหลายๆอย่างไป หลงคิดว่าทุกคนต้องเข้าใจเหมือนเรา เห็นเหมือนเรา ทำได้เหมือนเรา เราเริ่มที่จะเอาตัวเองหรือกลุ่มของตนเป็นมาตรฐานในการวัดคน จึงเริ่มก่อเกิดอัตตาทั้งในตัวเราเองและอัตตาในกลุ่มของเรา

จนกระทั่งเราหลงเข้าใจไปว่าการกินมังสวิรัตินั้นเป็นปกติของชีวิตเป็นมาตรฐานที่สังคมของเราส่วนใหญ่ทำได้ เราก็จะยิ่งสงสัยมากขึ้นไปอีกเมื่อเห็นคนมีความสุขกับการกินเนื้อสัตว์ และแม้เราจะพยายามบอกหรือถ่ายทอดมากเท่าไหร่ก็ยังไม่มีผล ถึงจะมีผลก็เป็นผลที่กดดันเขา บีบคั้นเขา ใช้ความดีเข้าไปอัดกระแทกจนคนกินเนื้อสัตว์หวาดผวา

ในความจริงแล้วยุคสมัยนี้เราต้องยอมรับว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นเรื่องปกติ การลดเนื้อกินผักเป็นเรื่องไม่ปกติ คนปกติเขาไม่ทำกัน ไม่มีใครอยากพรากจากความอร่อยของเนื้อสัตว์ คนจำนวนมากแม้ได้เห็นภาพสัตว์ตาย ข้อความที่ร้องขอหรือกระตุ้นจิตสำนึก จนกระทั่งได้รับข้อมูลวิจัยมากมาย แต่ก็ไม่สามารถที่จะเลิกเนื้อสัตว์ได้

คนที่เลิกได้ก็เลิกได้ แต่คนที่เลิกไม่ได้ก็คือเลิกไม่ได้ และไม่คิดจะเลิกกินเนื้อสัตว์ หากเราเอาความดีความชั่วความเมตตามาวัด เราก็จะได้ผลที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริง เพราะแท้จริงแล้วไม่มีใครอยากทำชั่วหรืออยากเบียดเบียนคนอื่น แต่เพราะกิเลสอันคือความอยากเสพในตัวเขา กระตุ้นให้เขาอยากกิน ให้เขาแสวงหา ให้เขาหลงวนเวียนอยู่กับเนื้อสัตว์

2). ใจเขาใจเรา

เมื่อเรามีกิเลส การจะเลิกเบียดเบียนนั้นทำได้ยาก ถึงแม้จะแค่ในขั้นลดก็ยังทำได้ยากเช่นกัน ถ้าเราลองเข้าใจในเรื่องกิเลสให้มากอีกสักนิดก็จะไม่มีคำถามว่าทำไมคนอื่นไม่หันมากินมังสวิรัติ มากินผักลดเนื้อกัน เพราะเข้าใจในเรื่องกิเลสจึงจะสามารถปล่อยวางได้ ไม่ตั้งคำถาม ไม่กดดัน ไม่บีบคั้นใครๆ

หากเรามองว่าการกินมังสวิรัติเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเราแล้วมัวแต่มองไปยังคนที่กินเนื้อแล้วรู้สึกว่าตนเองนั้นทำได้ดีกว่า เก่งกว่า เมตตากว่า เบียดเบียนน้อยกว่า ความรู้สึกเหล่านี้จะก่อตัวเป็นอัตตาทำให้เราเป็นคนยึดดีและติดดีในที่สุด

ให้เราลองพิจารณาถึงคนที่มีศีลสูงกว่า เบียดเบียนน้อยกว่า ยกตัวอย่างเช่น พระที่ฉันอาหารมื้อเดียว ท่านก็เบียดเบียนโลกน้อยกว่าเราจริงไหม เพราะปกติเรากินตั้งสามมื้อเสียทั้งเงินเสียทั้งเวลาในการกิน แต่ท่านกินมื้อเดียวก็สามารถเอาเวลาที่ไม่ได้กินมื้ออื่นมาทำประโยชน์ได้มากขึ้น เหลืออาหารให้คนอื่นมากขึ้น เพราะไม่ได้เอาอาหารมาบำเรอตัวเองจนเกินความจำเป็น

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่ากินมื้อเดียวนี่ดีที่สุดในโลกนะ และการกินมื้อเดียวนี่มีประโยชน์มากนะ ทำให้เจ็บป่วยน้อย ลำบากกายน้อย เบากายเบาใจ มีกำลัง เป็นอยู่ผาสุก (กกจูปมสูตร) เห็นไหมมีแต่ประโยชน์ทั้งนั้นเลย ก็เหมือนกับการที่เราอยากให้คนอื่นหันมากินมังสวิรัตินั่นแหละ เราก็มองว่าเป็นสิ่งดี เป็นกุศล มีประโยชน์

ทีนี้เราลองมาดูบ้างถ้ามีคนยื่นสิ่งที่มีประโยชน์กว่าการกินสามมื้อ มาเสนอให้เรากินมื้อเดียวนี้ เราจะเอาไหม? เราจะเห็นดีกับเขาไหม? เราจะทำตามเขาไหม? ถึงสิ่งนั้นจะดีแต่มันก็ทำได้ไม่ง่ายเลยใช่ไหม?

ก็เหมือนกับที่เราไปอยากให้คนอื่นเขามากินมังสวิรัติเหมือนเรานั่นแหละ ถ้าเราเริ่มเห็นแล้วว่ากิเลสมันเป็นแบบนี้ มันทำงานแบบนี้ มันดื้อด้านแบบนี้ มันจะหาเหตุผลมากมายเพื่อไม่ให้เข้าถึงสิ่งที่ดี ถึงแม้ว่าจะมีสิ่งที่มีประโยชน์มาอยู่ตรงหน้ามันก็จะไม่เอาแบบนี้

เราก็จะเข้าใจคนที่ยังติดกับการกินเนื้อสัตว์อยู่ได้โดยไม่สงสัย เพราะเข้าใจว่าเรื่องกิเลสเป็นเรื่องยาก ฐานใครก็ฐานมัน เขาทำได้เท่านั้นมันถูกตามกิเลสของเขาอย่างนั้น เราทำได้ขนาดนี้เรายังไม่อยากพัฒนาไปมากกว่านี้เลย

3). เจียมตัว

เมื่อเราเข้าใจเรื่องกิเลสเราก็จะมีแนวโน้มที่อ่อนนุ่มลง ไม่ถือตัวถือตน ไม่อวดดิบอวดดี อ่อนน้อมถ่อมตน เป็นมังสวิรัติที่เจียมตัว ไม่กดดันใคร ไม่บีบคั้นใคร ไม่เสนอให้ใครขุ่นใจ มีการประมาณที่ดีให้เหมาะกับจิตใจของผู้ฟัง

การอ่อนน้อมถ่อมตนนี้เองคือคุณสมบัติของผู้เมตตา เป็นผู้มีธรรมะในตนเพราะไม่มีอัตตา ไม่ยกตนข่มท่านให้ใครมัวหมอง มีแต่จิตเมตตาให้ทั้งสัตว์และคนที่ยังมีกิเลส เข้าใจว่าสัตว์นั้นก็ต้องรับกรรมของเขา และเข้าใจว่าคนนั้นก็ต้องสู้กับกิเลสไปตามฐานที่เขามี จะให้เขาทำเกินกำลังที่เขามีมันจะไม่ไหว เขาจะทรมานจนกระทั่งไม่ทำเสียเลยยังจะดีกว่า

ความทรมานจากความยึดดีถือดีนี้เองคือ อัตตกิลมถะ หรือทางโต่งในด้านอัตตา ไม่เป็นไปในทางสายกลาง หากเราเองยังมีความยึดดีถือดีจนไปทำให้ใครลำบากใจอยู่นั้นก็ไม่สามารถเรียกว่าอยู่บนทางสายกลาง แม้ว่าเราจะสามารถออกจากความอยากกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว แต่ถ้ายังมีอัตตา ยึดว่าตนทำได้ทำไมคนอื่นทำไมได้ ทำไมเขาไม่เมตตา ทำไมเขาไม่เลิกเบียดเบียน มันก็ยังสร้างความทุกข์ทรมานให้กับตนเองและผู้อื่นอยู่ดีนั่นเอง

ดังนั้นนักมังสวิรัติที่เข้าใจในเรื่องมังสวิรัติจริงๆก็จะเป็นผู้ที่เข้าใจผู้อื่น เพราะเข้าใจว่ากิเลสเป็นแบบนี้ ก็จะเจียมตัวปฏิบัติตนเองในแนวทางลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจต่อไปโดยไม่สงสัยและไม่ไปยุ่งวุ่นวายในการปฏิบัติของคนอื่น

– – – – – – – – – – – – – – –

7.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)