Tag: ศรัทธา
ผู้ใหญ่พาทำ
จากประสบการณ์ที่ได้ตามศึกษาจากครูบาอาจารย์มา จะพบได้ว่า ท่านเหล่านั้นได้สร้างองค์ประกอบที่จะ “เอื้อ” ให้ผู้คนได้เข้ามาร่วมบำเพ็ญกันได้อย่างงดงามและแนบเนียนสุด ๆ
กิจกรรม การงานใด ๆ ที่สร้างขึ้นมานั้น แน่ละ ดูเผิน ๆ ก็เป็นกุศล แต่เนื้อในคือการสร้างองค์ประกอบที่จะให้เกิด “บุญ” ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างระหว่างการปฏิบัติธรรมหรือทำดีในแบบทั่ว ๆ ไป คือใช้องค์ประกอบของกิจกรรมในการชำระกิเลส
ถ้าแบบโลกีย์ทั่วไป เขาก็ไปรวมกันทำดี ทำกุศล สะสมความดี หวังผลดี หวังสวรรค์วิมาน หวังโชคดีต่าง ๆ ในชีวิต คือไปทำดีแล้วยังมีหวัง ยังมีฝัน ยังเป็นลาภแลกลาภ ยังเป็นมิจฉาอาชีวะ
แต่ถ้ามาแบบโลกุตระ จะดีแบบให้หมดหวังกันไปสักที ดีแบบให้เลิกหวัง ด้วยองค์ประกอบของคำสอนที่แตกต่างกัน ในนิยามของคำว่า “บุญ” ก็ตาม ที่หมายถึงการชำระกิเลส ดังนั้น กิจกรรมการงานต่าง ๆ จึงมีจุดมุ่งหมายต่างกันกับกลุ่มหรือลัทธิทั่วไป
เพราะท่านสอนให้เราสละ สละกันเป็นลำดับ เท่าที่ทำได้ เท่าที่ทำไหว องค์ประกอบมีอยู่ กิจกรรมการงานนั่นไง ท่านก็สร้างไว้ให้ เราก็เข้าไปร่วม ไปลด ไปเลิก ไปสละ ไปทำความดีแบบไม่ต้องหวัง ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น ไปทำบุญ ไม่ใช่ไปเอาบุญ ไปชำระกิเลส ไม่ใช่ไปเอากิเลสเพิ่ม
ไม่ใช่การทำดีเพื่อการหวังใหญ่หวังโต อำนาจ บารมี ลาภ ยศใด ๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ท่านสอนให้สละออก อย่าไปหวง อย่าไปหวัง
ผมเห็นแล้วก็ศรัทธา เพราะที่อื่นไม่มีแบบนี้ ที่อื่นเขาไม่เป็นแบบนี้ เขาสอนต่างกัน ทิศทางไปต่างกัน เราไม่ไปสวรรค์ เราไม่เมากุศล เรามุ่งเอากิเลสของเราออก เป็นอันดับแรก ปฏิบัติตามแบบนี้แล้วรู้สึกว่าตนเองเจริญมากขึ้น ผ่อนคลาย เบาสบายมากขึ้น
หลายปีที่ผ่านมาเรียกว่ายกเรื่องปวดหัวออกได้หลายเรื่องมาก ๆ แสดงว่าวิธีของท่านมีผล ทำตามแล้วมีผล
สัมมาทิฏฐิ อย่างหนึ่งที่เป็นจริงคือ “พิธีที่ทำแล้วมีผล” คือทำตามแล้วกิเลสมันลดล้างจางคลายได้จริง อาจารย์เคยบอกว่าพระโพธิสัตว์จะสร้างองค์ประกอบให้ผู้คนได้ฝึกลดกิเลสได้เก่งตามบารมี ผมฟังแล้วก็รู้สึกศรัทธามาก การที่คนจะฉลาดในการลดกิเลสตัวเองก็ว่าประเสริฐแล้ว แต่การที่จะมีปัญญาในการพาคนพ้นทุกข์นั้นเหนือไปกว่านั้น
เก่งที่สุดก็คือพระพุทธเจ้า แต่เกิดมาชาตินี้ก็ไม่เจอพระพุทธเจ้า แต่อย่างน้อยได้เกิดมาเจอครูบาอาจารย์ก็คุ้มค่าแล้ว เราก็ทำตามท่านไป ท่านทำให้เราดู เราก็ศึกษาตามที่ผู้ใหญ่พาทำ
สวัสดีปีใหม่ ด้วยของขวัญจากปีเก่า
การจะมีปีใหม่ที่ดีนั้น การมีต้นทุนที่ดีจากปีเก่าก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ เรียกว่า บุญเก่า, กุศลกรรมเก่า ตามที่ทำมา
ของขวัญจากปีเก่า เป็นสิ่งที่ผมได้มาจากค่ายพระไตรปิฏกครั้งที่ 27 หลังจากที่ผมขึ้นสอบสภาวธรรม อาจารย์ได้ให้สิ่งที่สำคัญมาก ๆ กับชีวิตผม
ผมพูดในประเด็นเกี่ยวกับความไม่ประสบความสำเร็จในการช่วยคน อจ. หมอเขียวได้สรุปให้ว่า…
ไม่ว่าเราจะเก่งแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าเขาไม่ศรัทธา จะสอนกันไม่ได้ คนเรามีจริตที่ต่างกัน ถ้าไม่ใช่ธาตุเดียวกันจะไปด้วยกันไม่ได้ อาจารย์ยกตัวอย่างว่าแม้จะเป็นเอกทัคคะ ก็ใช่ว่าจะสอนลูกศิษย์อีกสายให้บรรลุธรรมได้ คนเขาจะเลือกคนที่เป็นครูบาอาจารย์ของเขาเอง จะข้ามสายกันไม่ได้
เช้าวันต่อมา อาจารย์ยังสังเคราะห์เรื่องศรัทธาให้เพิ่มว่า คนที่ศรัทธา จะไม่ถือสา คือ ไม่ว่าเราจะทำอะไรผิดไปบ้าง คนที่ศรัทธาเขาจะไม่ถือสาเรานั่นเอง ส่วนคนที่เขาไม่ศรัทธาน่ะหรอ? ทำถูกก็ว่าทำผิด ทำดีก็ว่าทำไม่ดี เก่งแค่ไหนก็ห่วยในสายตาของเขานั่นแหละ
ผมได้ธรรมหมวดนี้แล้วเข้าใจทันทีเลย ว่าที่เราเสียพลังงานไปมากมายในแต่ก่อนนั้นไม่ได้มีประโยชน์อะไร คนที่เขาไม่ศรัทธานี่ไม่ใช่งานของเรานะ เราไม่ต้องขยันทำ เราเอาภาระแค่คนที่ศรัทธาเราก็พอ มันมีเพดาน มันมีข้อจำกัดที่ไม่มีวันจะฝ่าไปได้อยู่
แล้วศรัทธาแบบไหนล่ะ? ผมก็เอาศรัทธาที่ตัวเองมีกับอาจารย์มาวัดนี่แหละ ตลอดเวลาเกือบ 7 ปีที่รู้จักอาจารย์มา ผมไม่เคยรู้สึกว่ามีอาการเพ่งโทษถือสาใด ๆ เลย มีแต่การน้อมใจเอาประโยชน์ การปรับใจให้ไปตามในทิศที่ท่านสอน งานเพ่งโทษไม่ใช่งานของผม ไม่ใช่งานของคนที่จะปฏิบัติสู่ความผาสุก สรุป ถ้าได้ประมาณนี้ค่อยเอาภาระก็ได้ ไม่สาย
แล้วผมก็ไม่ได้รีบนะ ไม่ได้มีจิตคิดจะสั่งสอนใคร แบบศิษย์อาจารย์ ใครมาถามก็ตอบไปเท่าที่รู้ ไม่ได้คิดจะสร้างอะไร
แต่ก่อนก็ยอมรับว่ารีบไปบ้าง คือประเมินศรัทธาเขาพลาด ให้เครดิตเขามากไป ส่วนใหญ่ผมจะประเมินเขาสูงเกินความจริงทั้งนั้น มันก็เลยพลาด แต่ปัจจุบันนี่ ไม่ต้องกังวลเลย ใช้เวลากับธรรมะเป็นตัววัด คนศรัทธาจะไม่หวั่นไหวในกาลเวลา คนศรัทธาจะไม่หวั่นไหวในธรรม ดูกันไปนาน ๆ ตามที่พระพุทธเจ้าว่า ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์คน
ผมก็จะใช้ความรู้จากของขวัญที่ได้มาจากปีก่อน ดำเนินชีวิตไปในปีใหม่ ผมเชื่อว่าปีใหม่จะเป็นปีที่ดีกว่าเดิม เพราะเราพัฒนาขึ้น รู้มากขึ้น โง่น้อยลง โจทย์จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ไม่ย่ำอยู่กับที่
สิ่งที่ได้รับมา เป็นกรรมฐานที่ทรงพลังมาก ๆ จนคิดว่าการดำเนินไปตามทางนี้แหละดี จะยิ่งได้ฝึกฝน ยิ่งได้บำเพ็ญ ที่สำคัญคือคนที่เข้ามาเกื้อกูลกัน จะเป็นคนจริงใจมากขึ้น และคนไม่จริงใจ จะกระเด็นออกไปเร็วยิ่งขึ้น นั่นก็ทำให้ปี 2563 นี้คงไม่ต้องมีเรื่องให้เมื่อยหัวมากนัก
สวัสดีปีใหม่ทุกท่านครับ ขอให้เป็นวันเริ่มต้นปีที่ดี ตั้งจิตตั้งใจที่จะทำสิ่งดี เพื่อเป็นต้นทุนสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน มั่นคง และถาวรกันครับ
หลงทาง ขยันทำเรื่องโง่ เมื่อ 6 ปีก่อน
เหตุจากคุยกับเพื่อนเก่าอีกเหมือนกัน ก็คุยกันถึงเรื่องที่ตอนนี้เราศึกษากับใครอยู่ ก็หวนคิดถึงสมัยก่อน ตอนยังศึกษาธรรมะโลกีย์
ธรรมะทั่วไปนี่ ถ้าเขาปฏิบัติไม่ได้ผลจริง มันจะเป็นแค่ภาษา ไม่มีพลังที่จะเหนี่ยวนำให้คนพ้นทุกข์ได้ แม้ได้ฟังก็อาจจะยินดี แต่พอเจอโจทย์จริง ๆ จะเอาไม่อยู่
เมื่อ 6 ปีก่อน ผมก็ศึกษาจากที่เขาสอน ๆ กันให้เป็นโสดนั่นแหละ เขาก็สอนตามทฤษฎี ผ่านเวลามานาน ก็เห็นว่าลูกศิษย์เขาเริ่มไปมีคู่ ไปแต่งงาน เราก็เข้าใจนะว่าทำไมมันเป็นอย่างนั้น เพราะมันเป็นแค่ทฤษฏีไง เขาปฏฺิบัติไม่ถึงขั้นเห็นทุกข์จริง เขาก็ไม่เลิกมีคู่กันหรอก
มันจะไม่มีพลัง เหนี่ยวนำไปหาความโสด ไม่มีพลังเหนี่ยวรั้งไม่ให้คนไปมีคู่ จะมีแต่ความรู้ แต่ไม่มีปัญญาเห็นโทษภัยที่แท้จริง ไปหาดูเถอะในลัทธิไหน จะมีพลังดึงให้ลูกศิษย์อยู่เป็นโสดได้ ดีไม่ดีไปอวยพรตอนเขาแต่งงานกันอีก
แล้วสมัยนั้นผมก็ขยันเหลือเกิน ไปร่วมงาน ร่วมกิจกรรมกับเขา ไม่พ้นทุกข์หรอก ถ้าตามแนวคิดของพระพุทธเจ้า คือ ยิ่งทำยิ่งเสื่อม ยิ่งขยันบำรุง ขยันเข้าหาในกลุ่ม ลัทธิ ครูบาอาจารย์ ที่ไม่จริง จะเสื่อมไปเรื่อย ๆ ดูได้จากกิเลสที่โต
ก็มีคนที่ผมรู้จัก พอถึงเวลาที่เขาอยากมีคู่ เขาก็ไม่ปรึกษาเราหรอก เขาก็ไปเข้าหาพระที่เขาศรัทธา แล้วยังไงล่ะ สุดท้ายจบที่ไปแต่งงาน
บางทีพระหรือนักบวชนี่ก็ไม่ใช่ว่าจะพ้นความอยากมีคู่นะ วินัยมันคลุมไว้เฉย ๆ แต่ถ้าจิตอยากมีอยู่นะ มันจะไม่มีพลังในการชักนำไปสู่สิ่งที่ดี มันจะเอื้อต่อการเสพสมใจตามกิเลส คนที่เขารู้โทษชั่ว เขาจะไม่ชักนำคนไปมีคู่ หรือให้ยินดีในการมีคู่ เขาจะแสดงโทษของการมีคู่ให้ศึกษาเท่าที่ทำได้ สุดท้ายพูดแล้วเขาไม่ฟังก็ต้องวางไป
ภาษานี่มันหลอกกันได้ วกไปเวียนมา ดีไม่ดีใช้ภาษาว่าตนเองมีสภาวะธรรมหลอกซ้อนไปอีก เหมือนจะดี เหมือนจะได้ ต้องดูกันนาน ๆ พระพุทธเจ้าให้ดูกันนาน ๆ อย่าเพิ่งรีบปักใจเชื่อว่าคนนั้นคนนี้มีปัญญา
ถ้าผิด ถึงจะตั้งใจปฏิบัติตามไป เชื่อตามไป มันจะไม่พ้นทุกข์ ไม่พ้นโง่ ไม่พ้นชั่ว มันจะกลับหัวไปทางเสื่อม ศีล 5 ก็ไม่มี เสื่อมไปถึงขั้นอบายมุขก็ได้
ถ้าปฏิบัติแล้วเจริญ ศีลจะเป็นตัววัดที่รู้กันได้เป็นสากล ไม่ต้องโม้กันมากว่าบรรลุธรรมขั้นไหน ๆ เอาแค่ศีลที่เห็นได้ด้วยตาง่าย ๆ นี่แหละ ทำให้ได้ก่อน เป็นเบสิค ถ้าเจริญจริงจะถือศีลได้สบาย ๆ ไม่ทุกข์ เหมือนกับการอยู่เป็นโสดได้สบาย ๆ ไม่ทุกข์ มีคนมายั่วก็ไม่ไหลไปตามเขา ไม่หวั่นไหว ความสบายใจคือตัววัดภายใน เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ ปัญญาคือตัวรู้รอบถ้วนในลีลากิเลสเรื่องนั้น ๆ คนปฏิบัติได้แล้วจริง ๆ จะมีศีลเป็นที่อาศัย เพราะเป็นจุดที่ดีที่สุดของชีวิตแล้ว อย่างที่เขาเรียกกันว่า มีศีลเป็นปกติ
เวลามีคนมาถามว่าปฏิบัติทางไหนดี ผมไม่กล้าแนะนำสายอื่นหรอก ผมก็ต้องแนะนำสายที่พ้นทุกข์สิ จะไปแนะนำสายที่ปฏิบัติแล้วไม่พ้นทุกข์ได้อย่างไร มันบาปนะ ถ้าจะถามว่าผมรู้ได้อย่างไร คุณลองไปปฏิบัติดูเอง ถ้าผิดมันจะไม่ลดทุกข์ ไม่ลดความหลง อะไรที่ติดอยู่มันจะติดอยู่แบบนั้นแหละหนักหนาพิศดารขึ้นเรื่อย ๆ และที่สำคัญ มันจะเบียดเบียนตนเองและสัตว์อื่นอีกต่างหาก
ปล.แนะนำ : หมอเขียว, สมณะโพธิรักษ์
ศรัทธา
ศรัทธา
คนไม่มีศรัทธา พาตัวเองออกจากศาสนา
คนศรัทธาน้อย พาเงินเข้าวัด
คนศรัทธาดี พาธรรมเข้าสังคม
คนศรัทธามาก พากิเลสออกจากตน
คนศรัทธาเต็ม ชี้ทางนำกิเลสออกจากผองชน
. . . . . . . . . . . . . . . . . .
คนไม่มีศรัทธาจะไม่พาตัวเองเข้าหาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และจะมีทิศทางที่จะห่างออกไปจากศาสนา ห่างออกไปจากศีลธรรม มักจะมีชุดความเชื่อของตนเอง ศีลธรรมของตนเอง ยึดตนเองเป็นที่ตั้งแห่งการตัดสินใจ
คนศรัทธาน้อยจะพาเอาลาภสักการะเข้าสู่ศาสนา มีเงินก็บริจาคเงิน มีที่ก็บริจาคที่ พาตัวเองเข้าวัดฟังธรรม ซึ่งหากขาดปัญญาแล้ว ศรัทธานั้นมักจะเป็นภัยแก่ตน คือไปศรัทธาอลัชชีผู้มักมาก หลอกล่อเอาลาภสักการะเข้าสู่ตน หลอกให้บริจาคทรัพย์ เวลา แรงงาน กระทั่งชีวิตให้แก่ตน
คนศรัทธาดีพอได้ศึกษาธรรมะบ้างแล้ว ก็จะมีความอยากเผยแพร่สิ่งดีๆให้กับคนอื่น ในขั้นหยาบๆมักมาในรูปของการเชิญชวนให้ทำทาน หรือให้ไปศรัทธาในอาจารย์ที่ตนนับถือ ในแบบทั่วๆไปก็คือการแจกจ่ายข้อมูลธรรมะ ตามคำบอกเล่า ตามหลักฐาน ตามที่มีที่อ้างต่างๆ มักจะเป็นธรรมะที่จำมา ซึ่งมักจะหลงผิดว่าเป็นการแจกจ่ายธรรมทาน ทั้งที่จริงแล้วเป็นเพียงผู้ที่ทำหน้าที่สื่อเท่านั้น ธรรมทานจะให้ได้ก็ต่อเมื่อมีคุณสมบัติเหล่านั้นในตนจริงๆ หากผู้ใดไม่มีธรรมนั้นในตนจริงแล้วเอามาแจกจ่าย ก็เป็นเพียงผู้ที่มีส่วนช่วยในการจำและกระจายข้อมูลเท่านั้น
คนศรัทธามากจะเข้ามาปฏิบัติที่ตนอย่างจริงจัง คือแสวงหาหนทางที่จะพาตนเองให้พ้นไปจากทุกข์ให้ได้ ซึ่งความศรัทธามากนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถปฏิบัติจนถึงผลได้ ขึ้นอยู่กับวิถีปฏิบัติที่ศรัทธาอยู่นั้นถูกต้องหรือผิดทาง ถ้าผิดทางศรัทธาที่มากนั้นก็จะพาไปเข้ารกเข้าพงเข้าป่าหลงทางกันไป แต่ถ้าถูกทางก็จะสามารถทำลายกิเลสที่ตนเองหลงติดหลงยึดโดยลำดับจนสามารถเปลี่ยนอธรรมในตนให้เป็นธรรมะได้ จึงเรียกว่าเป็นผู้สร้างธรรมะให้มีในตนได้อย่างแท้จริง ก็จะสามารถเป็นผู้แจกจ่ายธรรมทานนั้นๆ เท่าที่ตัวเองปฏิบัติมาได้โดยไม่ผิดสัจจะ
คนศรัทธาเต็มจะมีความเห็นว่ากิเลสนั้นเป็นสิ่งชั่วจึงล้างกิเลสออกจากตนจนสิ้นเกลี้ยง ทั้งยังชักชวนให้ผู้อื่นออกจากกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์นั้น รวมทั้งยังกล่าวสรรเสริญคุณในกิจกรรมการงานใดๆก็ตามที่พาให้ลดกิเลส ลดการเบียดเบียน ซึ่งผู้ที่มีคุณดังนี้ก็จะสามารถชี้ทางให้คนอื่นออกจากกิเลสได้ เพราะได้ทำสิ่งที่ควรทำก่อนแล้วจึงสอนผู้อื่น ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “บัณฑิตพึงตั้งตนในคุณธรรมอันสมควรก่อน จึงค่อยพร่ำสอนผู้อื่นภายหลัง จักไม่มัวหมอง”
– – – – – – – – – – – – – – –
1.12.2558