Tag: ขยัน

หลงทาง ขยันทำเรื่องโง่ เมื่อ 6 ปีก่อน

December 14, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 586 views 0

เหตุจากคุยกับเพื่อนเก่าอีกเหมือนกัน ก็คุยกันถึงเรื่องที่ตอนนี้เราศึกษากับใครอยู่ ก็หวนคิดถึงสมัยก่อน ตอนยังศึกษาธรรมะโลกีย์

ธรรมะทั่วไปนี่ ถ้าเขาปฏิบัติไม่ได้ผลจริง มันจะเป็นแค่ภาษา ไม่มีพลังที่จะเหนี่ยวนำให้คนพ้นทุกข์ได้ แม้ได้ฟังก็อาจจะยินดี แต่พอเจอโจทย์จริง ๆ จะเอาไม่อยู่

เมื่อ 6 ปีก่อน ผมก็ศึกษาจากที่เขาสอน ๆ กันให้เป็นโสดนั่นแหละ เขาก็สอนตามทฤษฎี ผ่านเวลามานาน ก็เห็นว่าลูกศิษย์เขาเริ่มไปมีคู่ ไปแต่งงาน เราก็เข้าใจนะว่าทำไมมันเป็นอย่างนั้น เพราะมันเป็นแค่ทฤษฏีไง เขาปฏฺิบัติไม่ถึงขั้นเห็นทุกข์จริง เขาก็ไม่เลิกมีคู่กันหรอก

มันจะไม่มีพลัง เหนี่ยวนำไปหาความโสด ไม่มีพลังเหนี่ยวรั้งไม่ให้คนไปมีคู่ จะมีแต่ความรู้ แต่ไม่มีปัญญาเห็นโทษภัยที่แท้จริง ไปหาดูเถอะในลัทธิไหน จะมีพลังดึงให้ลูกศิษย์อยู่เป็นโสดได้ ดีไม่ดีไปอวยพรตอนเขาแต่งงานกันอีก

แล้วสมัยนั้นผมก็ขยันเหลือเกิน ไปร่วมงาน ร่วมกิจกรรมกับเขา ไม่พ้นทุกข์หรอก ถ้าตามแนวคิดของพระพุทธเจ้า คือ ยิ่งทำยิ่งเสื่อม ยิ่งขยันบำรุง ขยันเข้าหาในกลุ่ม ลัทธิ ครูบาอาจารย์ ที่ไม่จริง จะเสื่อมไปเรื่อย ๆ ดูได้จากกิเลสที่โต

ก็มีคนที่ผมรู้จัก พอถึงเวลาที่เขาอยากมีคู่ เขาก็ไม่ปรึกษาเราหรอก เขาก็ไปเข้าหาพระที่เขาศรัทธา แล้วยังไงล่ะ สุดท้ายจบที่ไปแต่งงาน

บางทีพระหรือนักบวชนี่ก็ไม่ใช่ว่าจะพ้นความอยากมีคู่นะ วินัยมันคลุมไว้เฉย ๆ แต่ถ้าจิตอยากมีอยู่นะ มันจะไม่มีพลังในการชักนำไปสู่สิ่งที่ดี มันจะเอื้อต่อการเสพสมใจตามกิเลส คนที่เขารู้โทษชั่ว เขาจะไม่ชักนำคนไปมีคู่ หรือให้ยินดีในการมีคู่ เขาจะแสดงโทษของการมีคู่ให้ศึกษาเท่าที่ทำได้ สุดท้ายพูดแล้วเขาไม่ฟังก็ต้องวางไป

ภาษานี่มันหลอกกันได้ วกไปเวียนมา ดีไม่ดีใช้ภาษาว่าตนเองมีสภาวะธรรมหลอกซ้อนไปอีก เหมือนจะดี เหมือนจะได้ ต้องดูกันนาน ๆ พระพุทธเจ้าให้ดูกันนาน ๆ อย่าเพิ่งรีบปักใจเชื่อว่าคนนั้นคนนี้มีปัญญา

ถ้าผิด ถึงจะตั้งใจปฏิบัติตามไป เชื่อตามไป มันจะไม่พ้นทุกข์ ไม่พ้นโง่ ไม่พ้นชั่ว มันจะกลับหัวไปทางเสื่อม ศีล 5 ก็ไม่มี เสื่อมไปถึงขั้นอบายมุขก็ได้

ถ้าปฏิบัติแล้วเจริญ ศีลจะเป็นตัววัดที่รู้กันได้เป็นสากล ไม่ต้องโม้กันมากว่าบรรลุธรรมขั้นไหน ๆ เอาแค่ศีลที่เห็นได้ด้วยตาง่าย ๆ นี่แหละ ทำให้ได้ก่อน เป็นเบสิค ถ้าเจริญจริงจะถือศีลได้สบาย ๆ ไม่ทุกข์ เหมือนกับการอยู่เป็นโสดได้สบาย ๆ ไม่ทุกข์ มีคนมายั่วก็ไม่ไหลไปตามเขา ไม่หวั่นไหว ความสบายใจคือตัววัดภายใน เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ ปัญญาคือตัวรู้รอบถ้วนในลีลากิเลสเรื่องนั้น ๆ คนปฏิบัติได้แล้วจริง ๆ จะมีศีลเป็นที่อาศัย เพราะเป็นจุดที่ดีที่สุดของชีวิตแล้ว อย่างที่เขาเรียกกันว่า มีศีลเป็นปกติ

เวลามีคนมาถามว่าปฏิบัติทางไหนดี ผมไม่กล้าแนะนำสายอื่นหรอก ผมก็ต้องแนะนำสายที่พ้นทุกข์สิ จะไปแนะนำสายที่ปฏิบัติแล้วไม่พ้นทุกข์ได้อย่างไร มันบาปนะ ถ้าจะถามว่าผมรู้ได้อย่างไร คุณลองไปปฏิบัติดูเอง ถ้าผิดมันจะไม่ลดทุกข์ ไม่ลดความหลง อะไรที่ติดอยู่มันจะติดอยู่แบบนั้นแหละหนักหนาพิศดารขึ้นเรื่อย ๆ และที่สำคัญ มันจะเบียดเบียนตนเองและสัตว์อื่นอีกต่างหาก

ปล.แนะนำ : หมอเขียว, สมณะโพธิรักษ์

โง่-ขยัน (สุดยอดแห่งความฉิบหาย)

April 19, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,706 views 0

โง่-ขยัน (สุดยอดแห่งความฉิบหาย)

วันนี้ผมซึ้งเรื่องหนึ่งคือ ความขยันของคนโง่นี่แหละ เป็นอะไรที่แย่ที่สุดแล้ว

คือตนเองก็ไม่รู้ดีรู้ชั่ว ไม่รู้ถูกผิด เข้าใจว่าที่ตนทำนั้นถูกทั้งที่ผิด(โง่) แต่ก็มีความตั้งใจที่จะทำสิ่งนั้นต่อไป เพราะเข้าใจว่าสิ่งนั้นถูก ความขยันที่มีจึงกลายเป็นการขุดหลุมฝังตัวเองลงไปในความโง่ที่ลึกลับซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

แน่นอนว่าคนโง่นั้นก็มักจะไม่โง่อยู่คนเดียว ซึ่งมักจะแจกจ่ายความโง่ของตัวเองไปให้กับคนอื่นด้วย ก็เลยกลายเป็นช่วยกันขุดให้ลึกลงไปอีก ทั้งหมดนั้นคือลักษณะของการเติบโตของมิจฉาทิฏฐิ

พระพุทธเจ้าตรัสไว้เกี่ยวกับสามสิ่งที่ไม่ควรเปิดเผย หนึ่งในนั้นคือมิจฉาทิฏฐิ ทีนี้ใครล่ะจะรู้ว่าตนเองมิจฉาทิฏฐิ ยิ่งโง่ยิ่งไม่เห็นมิจฉาทิฏฐิ จะไปเข้าใจว่าตนเองสัมมาทิฏฐิด้วยซ้ำ

คนมีปัญญายังพอเห็นมิจฉาทิฏฐิในตนบ้าง นั่นหมายถึงมีส่วนของสัมมาทิฏฐิที่มารู้ในส่วนมิจฉาในตนบ้างแล้ว

แต่คนที่มิจฉาทิฏฐิแล้วยังหลงว่าตนเป็นสัมมาทิฏฐิอีก เรียกว่าโง่ซ้ำโง่ซ้อน แล้วดันเป็นคนขยันอีก ทีนี้เป็นอย่างไร? เขาก็จะทำสิ่งที่เขาเห็นผิดนั่นแหละให้มันยิ่งขึ้นๆ ให้มันกระจายออกไปมากขึ้น เพราะเขาหลงว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งดี

มีบทหนึ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับเรื่องที่จะเกิดในอนาคต ซึ่งเปรียบเทียบกับกลองศึกชื่ออานกะ คือในอดีตนั้นมีกลองชื่ออานกะ แต่ต่อมาก็ได้มีการซ่อมบำรุงปรับปรุงแก้ไขจนความเป็นกลองอานกะเดิมนั้นไม่มีเหลืออยู่ มีเพียงชื่อเท่านั้นที่ยังอยู่ ส่วนเนื้อในนั้นได้ถูกเปลี่ยนเป็นของใหม่ไปหมดแล้ว

ซึ่งท่านก็เปรียบกันตรงๆว่าพุทธในสมัยต่อมานั้นจะเหมือนกลองอานกะ คือมีแต่ชื่อ แต่เนื้อในไม่เหมือนเดิมแล้ว คนจะไปฟังธรรมะที่แต่งขึ้นใหม่โดยครูอาจารย์ แต่จะไม่ฟังธรรมะเก่าซึ่งเป็นเนื้อแท้ของศาสนา ซึ่งมีความลึกซึ้ง รู้ตามได้ยาก คำสอนที่แท้จึงค่อยๆ เลือนหายไปในที่สุด

ระวังไว้เถอะ พวกธรรมะง่ายๆ ปฏิบัติได้ง่ายๆ เข้าใจได้ง่ายๆ เข้าถึงได้ง่ายๆ ได้เป็นพระอริยะ พระอรหันต์กันง่ายๆ เหมือนกับได้รับตำแหน่ง supervisor เมื่อทำยอดขายถึงเป้าเท่านั้นเท่านี้

แม้แต่ภาษาสำเนียงท่าทางที่เหมือนพุทธแต่ก็อาจจะไม่ใช่พุทธ ดังกรณีของกลองอานกะ คือรูปนอกน่ะเหมือนทุกอย่าง คำสอนก็เหมือน การปฏิบัติก็เหมือน ดูคล้ายๆก็น่าจะเหมือน แต่เนื้อในไม่มีของเดิมแล้วก็มี

ขยายคำว่า ธรรมะง่ายๆ

คำว่า “ง่าย” ในที่นี้คือ “มักง่าย” คือเอาที่ตนสะดวกนั่นแหละ เพราะถ้าตามที่ผมศึกษานี่เรียกว่าไม่ง่าย หืดขึ้นคอกันเลยทีเดียว

ตัวตรวจวัดก็คือศีลที่ต้องปฏิบัติ ศีล ๕ ก็พอเข้าใจได้ง่ายหน่อย ศีล ๘ ๑๐ จนถึงนักบวชก็ต้องปฏฺิบัติจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ในส่วนวินัย สองร้อยกว่าข้อนั้นก็ต้องปฏิบัติด้วย และทั้งหมดต้องอยู่ในแนวทางของมรรค 8 คือกาย วาจา ใจต้องมุ่งไปทางตรงข้ามกับกิเลส

ถ้าเอาศีลไปจับปุ๊ปจะ รู้เลยว่าอันไหนมักง่าย อันไหนทำตามที่พระพุทธเจ้าให้ศึกษา เพราะศีลและวินัยต่างๆ จะเป็นตัวบีบให้ทำในสิ่งที่จะพาไปพ้นทุกข์อยู่แล้ว ถ้าไม่ทำตามศีลมันก็นอกกรอบเท่านั้นเอง

และพวกมักง่าย ก็จะมีอุบายที่จะตีกิน ไม่ทำตามศีลด้วยวาทะเท่ๆ คือมีคำพูดให้ดูดีแม้ตนเองจะไม่ปฏิบัติตามศีล หรือเอาภาวะของพระอรหันต์มาตีกิน (พระอรหันต์ พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เอาผิด) คือไปหลอกคนอื่นว่าตนเองเป็นอรหันต์แล้วจะทำอะไรก็ได้ บางทีหลอกก็ไม่รู้ว่าตัวเองหลอกก็มี คือเข้าใจผิดว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ก็มี ในสมัยพุทธกาลก็มีเยอะที่เข้าใจผิดไปเอง(หลงว่าบรรลุธรรม)