Tag: ศรัทธา

การทำทาน เจาะจงหรือไม่เจาะจง

July 21, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,663 views 0

คำถามที่สองจากบทความการเลิกรับใช้คนชั่ว “การทำบุญแบบไม่เจาะจงหน่อยค่ะ

ตอบ : การทำบุญที่เขาหมายถึงคงหมายถึง “ทาน” คือการสละออก

เขาก็สงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้เพราะคงจะไม่ชัดเจนในผล ว่าการทานแบบกระจุกหรือกระจายนั้นให้ผลแตกต่างกันอย่างไร

จะยกตัวอย่างที่ใหญ่ที่สุดในศาสนาพุทธ คือการตัดสินใจประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้า

หลังจากท่านตรัสรู้แล้ว ได้มีจิตหนึ่งเกิดขึ้นว่า สอนไปก็เหนื่อยเปล่า ท่านก็จะปรินิพพานเลย ว่าแล้วก็มีท้าวสหัมบดีพรหมมาขอให้ท่านแสดงธรรมโปรดสัตว์ โดยให้ข้อมูลส่วนหนึ่งว่า

“ขอพระสุคตจงทรงแสดงธรรมเถิด สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยมีอยู่ ย่อมจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์ทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักยังมีอยู่”

จะเห็นได้ว่ากลุ่มเป้าหมายคือผู้ที่มีธุลีในดวงตาน้อย ไม่ใช่สัตว์ทั้งหมดในโลก นั่นหมายความว่าพุทธมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนคือผู้ที่มีปัญญาพร้อมที่จะเรียนรู้ธรรม (มีกิเลสน้อย)

เช่นเดียวกับการให้ทาน ทานคือการสละเพื่อขัดความหลงติดหลงยึดอันนี้เป็นกิจตน ส่วนการกระจายผลของทานไปยังสิ่งที่สมควรนั้นเป็นกิจท่าน

การขัดกิเลส มันก็มีแต่เรากับกิเลสของเรานี่แหละ ไม่มีคนอื่น ไม่เจาะจงอย่างอื่น เจาะจงแต่กิเลสตัวเอง

ส่วนกิจท่านหรือประโยชน์ท่าน คือการประมาณการกระทำนั้น ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะชีวิตคนเรานั้นมีต้นทุนต่อหนึ่งการกระทำเสมอ

ในอนุตตริยสูตรกล่าวถึงการบำรุงที่เลวและการบำรุงที่ยอดเยี่ยม การบำรุงที่ยอดเยี่ยมคือบำรุงพระพุทธเจ้าและสาวก ส่วนการบำรุงที่เลว คือบำรุงแล้วไม่พาพ้นทุกข์ ก็ที่เหลือทั้งหมดในโลก

ก็ต้องเลือกเอาเองว่าเรามีน้ำอยู่ 1 ถัง เราจะเอาไปรดพืชผัก หรือจะเอาไปรดวัชพืช มันก็เป็นสิทธิ์ที่เราจะเลือกและพิสูจน์ผลนั้น

พระพุทธเจ้าท่านรู้แจ้งแล้ว ท่านก็เอาผลมาบอกว่า บำรุงพระพุทธเจ้าและสาวกจะให้อานิสงส์มาก อันนี้คือลักษณะเจาะจง หรือระบุกลุ่มทานที่ให้ผลมาก

แต่จะไปกระจายอีกทีในกลุ่ม เช่นกรณีที่พระพุทธเจ้าไม่รับผ้าที่พระนางปชาบดีโคตมี ผู้เป็นแม่เลี้ยง นำมามอบให้ แต่ท่านก็แนะนำว่าให้ไปให้แก่หมู่สงฆ์ อันนี้คือการกระจาย

เพราะเวลาศรัทธาใครแล้วจะจิตมันจะปักมั่นที่ผู้นำกลุ่มนั้น ๆ เลยต้องกระจายเพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นอีกทีหนึ่ง

สรุปคือต้องเจาะจงให้ถูกกลุ่มแล้วกระจายแจกจ่ายไปในกลุ่มนั้น ๆ

ถ้าไม่เจาะจงให้ถูกกลุ่มตั้งแต่แรก รับรอง ถึงจะให้ทานแบบไม่เจาะจงก็ไม่พ้นทุกข์หรอก

การตอบคำถามในหมวดที่คนยึดมาก ๆ

July 14, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,138 views 0

วันนี้มีคนมาถามคำถามเกี่ยวกับการไม่กินเนื้อสัตว์ในพระพุทธศาสนา เป็นบทความเก่าที่ผมได้พิมพ์ไว้หลายปีแล้ว

หลัง ๆ มานี้ผมหมดฉันทะ คือหมดความยินดีในการตอบคำถามเหล่านั้น เพราะโดยมากมักจะปักธงเชื่อของเขาอยู่อย่างนั้น การถามส่วนมากก็เพียงเพื่อจะข่มหรือแข่งดีเอาชนะเท่านั้นเอง

ซึ่งผมก็ไม่ได้เห็นประโยชน์อะไรกับการเสียเวลาไปตอบคนที่เขาไม่ได้ศรัทธา ไม่ได้น้อมใจไปสู่การไม่เบียดเบียน มันก็เมื่อยเปล่า ๆ เหมือนตำน้ำพริกลงแม่น้ำ เพราะจริง ๆ ในบทความก็พิมพ์ตอบไว้หมดแล้ว เพียงแต่ถ้าเขาจะหาเรื่องติเรื่องเพ่งโทษ เขาก็หากันได้หมดนั่นแหละ

ถ้าวัดกันในพุทธระดับโลกจริง ๆ เขาก็ไม่กินเนื้อสัตว์กันครับ มีแต่ไทยกลุ่มใหญ่นี่แหละที่ยังกิน แล้วก็อ้างตนว่าถูก คือถ้าเถียงกันไปกันมานี่มันเสียเวลาน่ะครับ ให้สัจจะพิสูจน์ดีกว่า ว่าทำแล้วพ้นทุกข์จริงไหม?

ว่ากันจริง ๆ นะ คนที่เขาปล่อยวางได้ เขาไม่มาเถียงสู้ผมหรอก คนอัตตาจัดเขาอ่านสิ่งที่ขัดกับตนเอง เขาก็อารมณ์ขึ้น มันก็ยึดดี อยากสั่งสอน อยากแสดงตนว่าข้าแน่ ข้าถูกต้อง เขาก็มาแสดงตัวของเขานั่นแหละว่าเขายังวางความเห็นที่แตกต่างไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่โลกนี้ใครก็เห็นแตกต่างกันทั้งนั้น

ส่วนตัวผมก็ไม่ค่อยถือสาเท่าไหร่ เพราะเข้าใจว่าโลกมันก็เป็นแบบนี้แหละ แต่เราก็จะโฟกัสเฉพาะกลุ่มคนที่เราพูดได้ สื่อสารได้ ศรัทธากัน เราไม่ใช่นักโต้วาที เอาวาทะธรรมไปเถียงเอาชนะกันเสียที่ไหน อันนั้นมันนักเลงธรรมคุยกัน เขาชอบก็ปล่อยเขา เราก็ทำแบบของเราไป

ก็เว้นเสียแต่ว่าคนที่มาติดตามผมบ่อย ๆ เห็นแล้วยกมาถาม ผมก็จะตอบให้ตามที่รู้ครับ หรือมีคนถามมาแล้วผมเห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่ติดตามผมอยู่ ก็จะนำมาตอบกันครับ

ไลฟ์โค้ช กับการแสวงหาโลกธรรม

July 2, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,145 views 0

ในยุคนี้เราอาจจะได้ยินคำว่า Influencer หรือ ผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียล ซึ่ง Influencer โดยส่วนมากอาจจะไม่ใช่ไลฟ์โค้ช แต่ในความเป็นไลฟ์โค้ช ก็มีองค์ประกอบของ Influencer อยู่ในตัว

สรุปในภาษาง่ายว่า Influencer มีความสามารถในการจูงจมูกคน เช่น โพสรูปของกิน ก็ทำให้คนอยากกินตามได้มาก ให้ความเห็นอะไรก็ทำให้คนคล้อยตามได้มาก แม้จะไม่ได้เรียกตัวเองว่าไลฟ์โค้ช แต่โดยฟังชั่นการทำงานก็มีการเหนี่ยวนำคนไปในจุดใดจุดหนึ่ง แต่จะต่างกันตรงไม่ตั้งตนให้เป็นที่พึ่ง
กรณีของไลฟ์โค้ช โดยส่วนมากนั้นจะชัดเจนว่า ฉันเป็นพี่เลี้ยง ฉันเป็นที่พึ่ง ฉันเป็นผู้ช่วยเธอได้ ซึ่งมีทั้งการให้ข้อมูลโน้มน้าวและความเป็นผู้มีอิทธิพลต่อผู้ศรัทธามากเช่นกัน

ว่ากันตรง ๆ ในโลกที่เต็มไปด้วยกิเลส ใครก็อยากเด่นอยากดัง อยากได้เงินมาก ๆ อยากได้การยอมรับ อยากมีตัวตนในสังคม ดังนั้นไลฟ์โค้ช ที่ไม่ได้ลดกิเลส ไม่มีธรรม จึงหลงไปกับกระแสโลกธรรม แสวงหา ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และบริวาร
ตามที่ผมได้ศึกษามา ส่วนใหญ่เขาก็จะพยายามสร้างเนื้อหาที่จะจับใจคนดู จับหูคนฟัง แต่ด้วยความรู้หรือวาทะศิลป์ที่มี มันจึงมีข้อจำกัด ดังนั้นการนำความรู้อื่น ความเข้าใจของคนอื่นมาหลอมรวมกับตัวเอง แล้วสื่อสาร จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายและได้ผลดี เหมือนกับไป copy ของดี แล้วมา paste ใส่ตัวเองแล้วนำเสนอยังไงอย่างนั้น เรียกง่าย ๆ ว่า ลอกงานมาขาย

หลายปีก่อน อาจจะมีใครเห็นว่ามีคนคนหนึ่งที่เด่นดังมาจากการนำสารพัดคำคมมาเผยแพร่เป็นของตัวเอง ซึ่งเขาก็เด่นได้อยู่ช่วงหนึ่ง สุดท้ายก็ดับไป เพราะเป็นแค่กระแส ไม่ใช่ความจริง

ยุคนี้ก็มีเหมือนกันที่ไลฟ์โค้ช หลายคนนำธรรมะเข้ามาประยุกต์ นำมาใช้นำเสนอข้อมูลของตน ซึ่งดูเผิน ๆ มันก็ดี ดูน่าศรัทธา เขาก็เอามาใช้เพราะรู้ว่ากลุ่มลูกค้าในไทยส่วนใหญ่เขาศรัทธาศาสนาพุทธ เขาก็เอาหลักการพุทธเนี่ยมานำเสนอ ปรุงแต่งให้ขลุกขลิก ใส่ภาพลักษณ์ตนเองเข้าไป
จริง ๆ ธรรมะมันก็ดีนั่นแหละ แต่ปัญหาคือเจตนาที่จะธรรมนั้นมาใช้ เอามาใช้เพื่ออะไร เอามาใช้เพื่อหากิน แลกเงิน แลกชื่อเสียงหรือไม่ เรื่องนี้ดู ๆ ไปสักพักก็จะชัดขึ้นเรื่อย ๆ บางคนไม่ได้หาเงินจากการรับคำปรึกษา แต่เอาโลกธรรมหรือความเด่นดังไปส่งเสริมสินค้าแบบอื่น หรือแม้กระทั่งเอาธรรมะมาสอนเพื่อเสพความยิ่งใหญ่ของตน อยากให้คนเคารพดั่งเทพเทวดา อยากเป็นคนสำคัญ ทั้งหมดนี้ก็ล้วนไปนรกทั้งสิ้น

พระพุทธเจ้าตรัสถึงหลักตัดสินธรรมวินัย โดยภาพรวมคือเป็นไปเพื่อการคลายจากกิเลส ลดกิเลส ดับกิเลส การจากพราก มักน้อย กล้าจน ใจพอเพียง ยอดขยัน เลี้ยงง่าย ฯลฯ

คือ ใครจะธรรมะมาพูดก็ได้ อันนี้เราห้ามไม่ได้ แต่เราก็ดูได้ว่าที่เขาพูดเขาเสนอ ตัวเขาเป็นไปตามหลักเหล่านี้หรือไม่ เขาน้อมใจคนให้เป็นไปตามหลักเหล่านี้หรือไม่ ไม่ใช่พูดธรรม ยกข้อธรรมมาแสดง แล้วก็ทำตรงกันข้าม พูดธรรมะซะโก้หรู แต่เอามาหาเงิน หาบริวาร อันนี้มันก็ไม่ใช่
ไลฟ์โค้ชบางคนนี่ยิ่งทำไปยิ่งดังก็ยิ่งรวยเอา ๆ มันก็ห่างจากหลักพุทธไปเรื่อย ๆ แม้เขาจะเอาหลักพุทธไปพูดปน แต่ตัวตนเขาไม่ใช่ เขาก็แค่เอาธรรมะไปหากินเท่านั้นเอง

จริง ๆ มันก็เป็นตัวที่บอกอยู่แล้วว่าเขาไม่จริง เขาเป็นไลฟ์โค้ชที่แนะนำไปสู่ความจริงที่พ้นทุกข์ไม่ได้ เพราะแค่ตัวเขายังเอาตัวไม่รอดเลย หลงเข้าสู่กระแสโลกธรรมแล้วก็หมุนวนลอยไปกับแรงของกระแสคลื่นกิเลสเหล่านั้น

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ลาภสักการะที่พระเทวทัตมี จะเป็นตัวฆ่าพระเทวทัตเอง ไลฟ์โค้ชที่เห็นผิดก็เช่นกัน ยิ่งเด่น ยิ่งดัง ก็จะเป็นเหตุในการทำลายตัวเองได้เท่านั้น แล้วเราก็จะได้เห็นความจริงที่บิดเบี้ยวชัดเจนยื่งขึ้น

การเพิ่มศรัทธา

June 23, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 712 views 0

วันก่อนได้คุยกับกลุ่มเพื่อนนักปฏิบัติธรรม มีประเด็นของความศรัทธาที่มีต่อกัน ว่าจะเพิ่มได้อย่างไร ต้องทำงานร่วมกัน?

ผมก็ให้ความเห็นว่า การจะเพิ่มศรัทธาได้แท้จริง มั่นคง ยืนยาวนั้น ต้องล้างกิเลสอย่างเดียว ถ้าล้างกิเลสได้จะมีอินทรีย์พละเพิ่มขึ้น ศรัทธาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบนั้น

การทำงานจะทำให้เพิ่มศรัทธาแก่กันได้ไหม?

เพิ่มได้ แล้วก็ลดได้เหมือนกัน คนมาใกล้กันจะเป็นได้ทั้งสองทิศทางคือเพิ่มศรัทธาต่อกันและเสื่อมศรัทธาต่อกัน ก็อยู่ที่ธาตุของคนนั้นจะเป็นธาตุของบัณฑิตหรือธาตุของคนพาล

ถ้าเป็นธาตุบัณฑิตก็จะศรัทธาคนได้ง่าย ส่วนถ้าเป็นธาตุคนพาลทำงานกับใครก็เสื่อมศรัทธาเขาไปหมด เพ่งโทษ นินทา ถือสา ฯลฯ

แต่การทำงานจะสร้างกุศล คือความดี คือกรรมดี ที่จะเป็นพลังส่งผลไปสู่สิ่งที่ดี ดั้งนั้น การทำงานร่วมกันก็เป็นองค์ประกอบที่จะสร้างศรัทธาให้กับผู้ที่มีจิตที่ดี

ส่วนคนพาล ให้ห่างไว้ ไม่ต้องไปทำงานด้วย ยิ่งทำด้วยยิ่งเสื่อม ยิ่งเชื่อมยิ่งต่ำ เหมือนทำนาบาป หว่านข้าวไปเท่าไหร่มีแต่หญ้าขึ้น ไม่ได้ผล เสียเวลา เสียทุน เสียแรงงาน ได้ทุกข์ โทษ ภัย เป็นผล มีความเสื่อมเป็นกำไร

ดังนั้นการจะเพิ่มศรัทธาหรือทำความเจริญ ก็ต้องขยันร่วมทำงานทำกุศลร่วมกับบัณฑิต คือผู้ที่พยายามปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์และได้ผลโดยลำดับ จะไม่เสื่อมศรัทธา เพราะเป็นนาบุญ หว่านน้อยได้น้อย หว่านมากได้มาก ตามความเพียร มีผลเป็นทิพย์ เป็นความผาสุก เบิกบาน แจ่มใส