Tag: ไลฟ์โค้ช

กรณีศึกษา ไลฟ์โค้ชที่ไม่มีศีล

July 8, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,234 views 0

ช่วงก่อนนี้มีเรื่องราวในสังคมเกี่ยวกับไลฟ์โค้ชที่ทำงานไม่โปร่งใส ไม่ทำงานไปตามที่ตนได้ประกาศไว้ มีอาการหมกเม็ด ไม่ชัดเจน สังคมจึงพากันจับตาในประเด็นนี้ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในโลกโซเชียล เป็นอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย

เรื่องราวเงียบหายไปพร้อมข้อกังขาราว ๆ 1 สัปดาห์ ไลฟ์โค้ชผู้ถูกกล่าวหาจึงได้มาแจ้งหลักฐาน ซึ่งในหลักฐานนี้เอง ก็ได้เป็นตัวมัดตัวเองอีกทีว่า เขาพูดไม่จริง

ก่อนหน้านี้ไม่กี่สัปดาห์ เขายังประกาศอยู่เลยว่าได้รับเงินบริจาคราว ๆ 8 แสน ซึ่ง ตัวเลขในบันทึกของบัญชีกลับไม่เป็นไปแบบนั้น ตัวเลขรวมที่แจ้งในบัญชีประมาณ 1.3 ล้าน แต่ก็ยังมีประเด็นอื่นที่หนักกว่า

คือในใบบันทึกรายการ ต้นเดือนเมษายน มีบันทึกว่าถอนเงินมาประมาณ 200,000 บาท ในการถอน 4 ครั้ง ใน 2 วัน และ 3 วันต่อมามีการโอนเงินรวม 1 ล้าน เข้าบัญชีของไลฟ์โค้ช ผู้นั้น ทั้งหมดนี้คือกิจกรรมในเดือนเมษายน

ซึ่งดูจากการเบิกถอนก็ 1.2 ล้านเข้าไปแล้ว แม้เงินตั้งต้นในบัญชีเดิมจะมีเกือบแสน แต่ 8 แสน กับ 1.1 ล้าน ก็ยังมีส่วนต่างที่มากอยู่

ปัญหาก็คือเรื่องศีลธรรม การที่เมืองไทยมีคนที่ไม่มีศีลธรรม แต่มีอิทธิพลในโลกโซเชียลอยู่นั้น จะเป็นพลังที่ชักนำคนไปสู่ทางเสื่อม ยิ่งคนไม่มีศีลธรรมเด่นดังเท่าไหร่ยิ่งเสื่อมไวเท่านั้น

ซึ่งจากหลักฐานนั้น เขาก็รู้อยู่แล้วว่าเงินมันเกินล้าน เพราะมันมีการทำกิจกรรมโอนเงิน แล้วใครจะเข้าไปจัดการบัญชีเขาได้ ก็มีแต่เขานั่นแหละ แต่เขาก็เลือกที่จะไม่พูด พูดไม่หมด พูดไม่จริง อันนี้เขาก็ฟ้องตัวเองอยู่แล้วว่าเขาไม่มีศีล

คนจะแสวงหาความเจริญก็ควรจะเลือกคบคนมีศีล ให้คนมีศีลได้เป็นผู้นำ และหมั่นตรวจสอบความจริงกันด้วยใจปรารถนาดี ว่าเขาหรือเธอเหล่านั้นยังมั่นคงในศีลธรรมอยู่ไหม

แรก ๆ อาจจะไม่รู้ ไม่รู้ก็คือไม่รู้ ก็คบกันไป ศึกษากันไป ตรวจสอบกันไป แต่พอได้ผลชัด ได้หลักฐานชัด ว่าคิดไม่ซื่อ จิตไม่ตรง ประพฤติชั่ว ก็เลิกคบกันไป เป็นการสร้างมงคลในชีวิตคือห่างไกลคนพาล

คนพาลซื่อ ๆ แสดงออกกันชัด ๆ ยังพอรู้ได้ง่าย แต่คนพาลหมกเม็ดเน่าในอันนี้รู้ยาก พาหลง ร้ายลึกยิ่งกว่านักเลงหัวไม้

ก็หยิบกรณีนี้มาวิจารณ์กันไว้ ใครจะเข้าไปคบหากับคนไม่มีศีลก็เป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่ในมุมมองของผม ผมก็ไม่เอาด้วยหรอก แล้วใครไปเชื่อมต่อกับคนชั่ว ผมก็ไม่เอาด้วยเหมือนกัน เหมือนคนดีมาหาเรา แต่คนนั้นยังคบกับคนชั่ว อันนี้แปลก ๆ แสดงว่ามันมีอะไรไม่ชอบมาพากล เขาดีจริงหรือเปล่า? หรือเขาแกล้งดี? ถ้าคบคนพาลอยู่ คนอื่นเขาจะไม่ไว้วางใจ ก็ต้องยอมรับกรรมไป

สัมมาศูนย์บาท มิจฉาค่าตัวแพง

July 3, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 798 views 0

สมัยศึกษาแรก ๆ แสวงหาหนทางธรรมใหม่ ๆ ผมก็เคยหลงไปหลงมาอยู่เหมือนกัน เพราะโลกนั้นร้ายลึก ทางหลงมากกว่าทางรู้ มันก็เป็นธรรมดาที่จะพลาดท่าเสียเวลาไป

แรก ๆ ก็สนใจศึกษาจากที่มันคล้าย ๆ ไลฟ์โค้ช แต่เขาอิงศาสนาพุทธเยอะ เขาก็เอาพุทธมาประยุกต์ แรก ๆ ยังไม่ดังก็สอนฟรีอยู่บ้าง แต่หลัง ๆ มีบริวารก็เริ่มเก็บเงินมากขึ้นและแพงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นหลักหมื่น หลักแสน

ตอนนั้นผมก็ไม่ได้มีเงินมากขนาดที่จะเอาไปใช้จ่ายในเรื่องนี้ แล้วมันก็ตะหงิด ๆ ในใจด้วยว่า แบบนี้มันไม่ควรนะ ก็เลยแสวงหาทางอื่นไปเรื่อย ๆ

จนพบครูบาอาจารย์ที่สอนฟรี ให้กินฟรี ที่พักฟรี รักษาฟรี มีแต่การแบ่งปัน ไม่มีเรื่องมารยาทสังคมเรื่องเงินให้ต้องมาเกรงใจ คือไม่มีการเรี่ยไรทั้งทางตรงทางอ้อม ไม่มีการเรียกร้องให้บริจาคตามกำลังศรัทธาให้ลำบากใจ แถมยังต้องตั้งกติกากันอีกว่าถ้าจะช่วย ห้ามเกินที่กำหนด

พอศึกษาตาม ผ่านมาหลายปี ผมก็พบว่าถูกแล้ว ดีแล้วที่เราไม่ไปจ่ายเงินเรียนธรรมะ ดีแล้วที่เราไม่ไปสนับสนุนคนไม่ดี เพราะจากที่เราเห็น ยิ่งนานไป เขาก็จะยิ่งแสวงหาโลกธรรม หาชื่อเสียง หาเงิน ล่าบริวาร ตรงข้ามกับพุทธะทุกอย่าง ถ้าเราตามไปก็ไปนรกนั่นแหละ

เพราะพระพุทธเจ้าและสาวกท่านก็สอนฟรี ไม่ได้เก็บเงิน แม้สาวกที่เป็นฆราวาสก็สอนกันฟรี เรื่องธรรมะไม่มีใครเขาเอามาหากิน ธรรมทานเป็นของประเสริฐ ไม่ใช่ของซื้อขาย ก็เป็นอันเข้าใจว่าที่ถูกต้อง ค่ารวม ๆ ถ้าจะพากันเจริญคนสอนต้องพึ่งตัวเองได้ แล้วแสดงความจริงให้เห็นเลยว่าธรรมะเนี่ยไม่เรียกร้องจากใคร มีแต่ให้

แต่คนมิจฉา เขาก็จะรู้ทางหนีทีไล่ เขาจะไม่เอาภาพพุทธสาวกมาใส่ เขาก็จะตั้งชื่อของเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ สร้างบริบทขึ้นมาใหม่ แล้วก็เอาธรรมะมาหากิน พอเวลามีคนติ เขาก็จะมีทางหนี ทางเลี่ยง ตามที่เขาคิดไว้ว่าหนีได้

โดยสัจจะแล้วไม่มีใครหนีได้ กรรมทำแล้วต้องรับ ใครเอาธรรมะมาหากินนั้นบาปทั้งสิ้น เอามาหาเงินนี่หยาบร้ายมาก ขนาดทุกวันนี้ยังมีคนห่มจีวรเพื่อมาหาเงิน ทุกวันนี้มันเละไปหมดแล้ว ทำลายศาสนากันด้วยความโลภ สำคัญคือผู้ที่ตั้งตนเป็นแกนหลักที่มีอำนาจบริหารไม่จัดการ แสดงว่าเน่าในกันหมดแล้ว

ก็มีเหมือนกัน คนที่เคยรู้จักกัน เขาก็ไปหลงกับผู้แสวงหาในทางผิดเหล่านั้น ผมก็ไม่ได้ไปยุ่งอะไรกับเขาหรอก มันก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละคนที่จะเลือกชีวิตไปในเส้นทางไหน เลือกที่จะศรัทธาใคร เลือกที่จะทำตามใคร

เราก็เลือกได้แต่เส้นทางของตัวเอง ว่าเราจะทำตามครูบาอาจารย์นี่แหละทำตามท่าน ทำงานฟรี ช่วยคนฟรี ฝึกเสียสละให้หมดใจ อย่าไปเอาอะไรมาแลกแม้รอยยิ้มและคำขอบคุณ

ผมว่าคนที่เขาเก็บเงินคนที่มาปรึกษานี่เขาใจร้ายมากเลยนะ คนเขาทุกข์มาแล้ว เรายังจะไปเก็บเงินเขา ให้เขาลำบากเพิ่มขึ้นไปอีก มันจะซ้ำเติมกันไปถึงไหนนั่น แม้เขาจะยินดีจ่าย แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่จะมีกำลังจ่าย

ช่วยคนฟรีดีกว่า คัดกันด้วยศีลธรรมนี่แหละ จะช่วยใครก็แค่ดูทรงว่าตั้งใจปฏิบัติไหม มีศีลไหม ทำความดีเสียสละอะไรมาบ้าง ถ้ามีพื้นฐานดี มันก็น่าจะช่วยกันไม่ยาก แต่ถ้าแบบศีลไม่มี อัตตาจัด รู้ทุกเรื่อง เก่งทุกอย่าง เถียงทุกคำ แบบนี้เอาไว้ก่อน เราน่าจะยังมือไม่ถึง คงต้องขอยอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม มีศีลตั้งใจปฏิบัติธรรมแล้วค่อยมาว่ากัน

ความบริสุทธิ์ใจคือตัวแปรความสำเร็จของไลฟ์โค้ช

July 3, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,617 views 0

ไลฟ์โค้ช ถ้าว่ากันตามความเข้าใจทั่วไปก็คือคนให้คำปรึกษาเกี่ยวกับชีวิตนั่นแหละ ส่วนจะจำแนกแจกแจง กำหนดสัญญายังไงก็แล้วแต่ภาษา แต่การปฏิบัติก็คือให้คำปรึกษาเกี่ยวกับชีวิต

แม้ว่าไลฟ์โค้ช จะเป็นคำใหม่ที่มีมาในสังคมไทยไม่นานนัก แต่ผู้ที่ทำงานในฟังชั่นของไลฟ์โค้ชนั้นมีมานานแล้ว เพียงแต่คำว่าไลฟ์โค้ช อาจจะถูกมองเป็นวิชาชีพก็ได้ ก็แล้วแต่ใครจะนิยามศัพท์

ไลฟ์โค้ชหรือผู้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับชีวิต ก็จะเอาความรู้ความสามารถที่ตัวเองมีนี่แหละ มาใช้ในการแนะนำผู้อื่น ซึ่งจะเป็นได้จริง ทำได้จริง และทำได้ยาวนานแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ใจ

บางครั้งคำแนะนำก็เหมือนลูกกวาด อมไปก็หวาน สุดท้ายฟันผุ น้ำตาลเกิน หรือไม่บางคำก็พาเคลิ้ม พาเมา พาหลง ก็หลงยินดีตามคำลวง สุขได้ชั่วคราว สุดท้ายก็ต้องกลับมาทุกข์หนัก

ดังนั้นการจะแนะนำใคร ผู้ที่แนะนำนั้นจะต้องทำได้จริงเสียก่อน พ้นทุกข์เรื่องนั้น ๆ ให้จริง มั่นคง ยั่งยืน ยาวนานเสียก่อน เพื่อเป็นหลักชัยที่ปักมั่นเป็นตัวอย่างที่ไม่ผิดและให้คำแนะนำที่ไม่ผิด

ต่อมาคือการช่วยเหลืออย่างจริงใจ มีเมตตา และปล่อยวางได้ ว่ากันตรง ๆ ว่าการช่วยเหลือคนอย่างจริงใจที่สุดคือพ้นจากมิจฉาอาชีวะ คือไม่เป็นมิจฉาชีพ

ในมิจฉาอาชีวะ ๕ ในข้อสุดท้ายคือการยังพัวพันกับการมีลาภแลกลาภ ในลาภแลกลาภนั้นก็ยังมิติที่หยาบไปจนถึงละเอียด ในแบบหยาบก็เช่นเล่นการพนันแลกลาภ กลางก็เช่นยังทำงานหาเงิน และละเอียดเช่น การทำดีแลกดี

จริง ๆ การพ้นจากมิจฉาอาชีวะ ในฆราวาสนั้นทำได้ยาก แต่สามารถพ้นได้ง่ายหากเป็นนักบวช ดังนั้นไลฟ์โค้ช ที่ประสบความสำเร็จสูงจึงอยู่ในรูปของนักบวช เพราะพ้นจากการรับลาภก็จะมีพลังในการช่วยคนได้มากขึ้น

แต่ก็มีฆราวาสที่เป็นผู้แสดงธรรมอยู่เหมือนกัน ในสมัยพุทธกาลก็มี “จิตตคหบดี” เป็นเอตทัคคะด้านธรรมกถึก ฝ่ายฆราวาส แต่แม้จะเป็นฆราวาสก็พ้นจากการมีลาภแลกลาภได้โดยใช้สังคมสาธารณะโภคี

เกริ่นมาตั้งนาน อาจจะมีคนสงสัยว่ารับปรึกษาชีวิตแล้วมันยังไง? ก็คนเขาต้องหาเงิน ต้องกินต้องใช้ มันแปลกอะไร?

การช่วยคนอื่นแล้วได้ลาภมาแลก ไม่ว่าจะเงิน การสนับสนุนต่าง ๆ ชื่อเสียง คำขอบคุณ ฯลฯ จะทำให้การประมวลผลในการช่วยเหลือ บิดเบี้ยว ไม่ตรง อคติ ลำเอียง อันเนื่องด้วยเหตุแห่งลาภสักการะเหล่านั้น

แม้จะหวังลาภนิดเดียวมันก็จะเบี้ยวได้ ข้อคิดหรือธรรมที่แสดงจะไม่ผ่องแผ้ว ไม่บริสุทธิ์ เจือด้วยกิเลส ปนด้วยความอยาก แทรกด้วยความยึด มันก็จะเป็นการให้คำปรึกษาเชิงหวังผล หวังลาภ ถึงแม้ว่าทฤษฎีจะถูกต้อง พูดได้ตรงตามหลักฐานอ้างอิง แต่พลังมันจะไม่เต็ม เพราะใจไม่บริสุทธิ์ ยังหวังได้ลาภจากคนอื่นอยู่

ผมเองไม่ได้ต่อต้านการมีอยู่ของไลฟ์โค้ช แต่อยากจะส่งเสริมให้ทำอย่างบริสุทธิ์ใจ ให้พ้นจากลาภแลกลาภ ช่วยคนไม่ต้องหวังอะไร ไม่ต้องขอบริจาคตามศรัทธา ไม่ต้องเอาอะไรทั้งนั้น แม้ทางตรง และทางอ้อม

จะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการให้คำปรึกษาคนเท่าที่จะเป็นไปได้จริงตามปัญญาบารมีของแต่ละท่าน

แต่ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ ก็อย่าพยายามฝืนกับภารกิจนี้เลย เพราะทำไปกิเลสก็โตไป ทำแลกลาภ แลกชื่อเสียง แลกบริวารต่อไป มันจะยิ่งเสื่อมไปเรื่อย ยิ่งพากันหลงไปเรื่อย จะวนเวียนทั้งคนให้คำปรึกษาและรับคำปรึกษา กอดคอกันเศร้าหมอง เป็นทุกข์ในที่สุด

ไลฟ์โค้ช

July 2, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 970 views 0
ไลฟ์โค้ช
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีกระแสสังคมเกี่ยวกับคำว่า ไลฟ์โค้ช ก็เลยไปลองหาข้อมูลเพิ่มเติม
ก็ดูเหมือนว่าไลฟ์โค้ช จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของ “ครูบาอาจารย์” คือการตั้งตนเป็นที่พึ่ง แต่ลักษณะเด่นของไลฟ์โค้ช คือมีการเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินค่อนข้างมาก และดูเหมือนจะเป็นความพยายามที่จะผลักดันให้ดูเด่นดูดังขึ้นมา
ถ้าจะเอาลักษณะงานของไลฟ์โค้ช มาจับ ก็จะเหมือนกับผู้นำจิตวิญญาณหรือผู้นำศาสนา ผู้สอนศาสนาทั่ว ๆ ไปนั่นแหละ แต่ก็เป็นคำที่ปรุงขึ้นมาใหม่ให้เหมาะกับฐานะ เพราะไลฟ์โค้ชส่วนใหญ่ก็เป็นคนทั่วไป ไม่ใช่นักบวช
จริง ๆ คนที่ตั้งตนเป็นไลฟ์โค้ช ก็มีมาทุกยุคทุกสมัยนั่นแหละ เพียงแต่ว่า คนคนนั้นจะ “จริง” ได้สักเท่าไหร่ คือเป็นจริง ได้จริง ตามที่พูดไหม และพาปฏิบัติตามได้จริงเช่นนั้นไหม
เหมือนกับที่เขาว่าทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี แต่ปัญหาก็คือ ศาสนาใดล่ะ ที่จะเข้าถึงความดีได้จริง ๆ และความดีจริง ๆ นั้นคืออะไร แต่ละศาสนาก็จะมีนิยามแตกต่างกัน
แต่ในท้ายที่สุด มันก็จะมาตันตรงที่ว่า แล้วสิ่งนั้นพาให้พ้นทุกข์ไหม ซึ่งจะมีศาสนาเดียวที่สอนเรื่องนี้คือศาสนาพุทธ
แม้ในศาสนาพุทธก็จะมีคำสอนที่แตกต่างกัน ความเชื่อที่แตกต่างกัน การปฏิบัติที่แตกต่างกัน ซึ่งก็ต้องพิสูจน์กันไปว่าลัทธิหรือคำสอนใด พาพ้นทุกข์ได้จริง ๆ
การเชื่อเอา ถือเอาว่าท่านนั้นท่านนี้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ตัวยืนยันว่าท่านเหล่านั้นปฏิบัติถูกต้องจริง ว่ากันชัด ๆ ว่าต่อให้คนเขาว่ากันว่าท่านเป็นอรหันต์ก็ใช่ว่าจะจริงตามที่คนเขาว่า
เพราะความจริงเหล่านั้นจะพิสูจน์ได้ด้วยการปฏิบัติตาม จนเข้าถึงสภาพตามที่กล่าวอ้างได้จริง มีขั้นตอน มีลำดับ มีความจริงที่ตรงกัน ไม่ใช่ว่าครูบาอาจารย์จริงอยู่คนเดียว ลูกศิษย์นั่งงง หรือไม่ก็กลายเป็นจริงคนละจริง ฟุ้งซ่านความจริงไปคนละเรื่อง
สิ่งสำคัญคือ คนที่ตั้งตนเป็นไลฟ์โค้ช หรือครูบาอาจารย์นั้น จะสอนเรื่องใดก็ต้องทำเรื่องนั้นให้ได้ก่อน เช่นจะสอนเกี่ยวกับชีวิต ก็ต้องเอาชีวิตตัวเองให้มันพ้นทุกข์ก่อน ไม่ใช่สอนไปตามบทเรียน จำเขามาเป็นทอด ๆ แบบนี้สุดท้ายจะกลายเป็นภัยแก่ตนและผู้อื่น เพราะทำให้คนเข้าใจผิดว่าตนเองได้จริง แล้วพอเขาเรียนไปก็เข้าใจผิด ๆ ตาม เพราะถ้าปฏิบัติไม่ได้จริง เวลาสอนมันจะเบี้ยวบาลี สุดท้ายคนที่ซวยที่สุด ก็คือคนสอนนั่นแหละ เพราะสอนสิ่งที่ตัวเองไม่มีมันผิดศีล แถมสอนผิดก็เป็นบาปยกกำลังจำนวนคนที่สอนไปเลย
พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า คนจะบรรลุธรรมได้นั้น ต้องเจอสัตบุรุษ แล้วเข้าไปศึกษาตาม ดังนั้นการที่ใครสักคนจะหาที่พึ่ง ก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไร เป็นธรรมดาของคนดีที่เราต้องไปค้นหาคนที่จะพาให้เราเจริญขึ้น แต่สุดท้ายจะเจอครูจริงครูปลอมก็อยู่ที่วิบากกรรมและความพากเพียรทำดีลดกิเลส
ถ้าทำดีมาก พยายามถือศีลลดชั่วได้มาก ก็จะได้เห็นความจริงไว ได้เห็นความจริงที่ว่าสิ่งนั้นมันไม่จริง ไม่พ้นทุกข์ และถ้าไปถูกทางก็จะได้เห็นความจริงที่ถูกต้องว่า ปฏิบัติตามแล้วได้ผลจริง พ้นทุกข์จริง
ส่วนคนที่ไม่ถือใครเป็นครูบาอาจารย์ ให้ละไว้ในฐานที่เข้าใจ ว่ายังไม่เข้ารอบ ยังไม่เริ่ม ยังถืออัตตาตนเองเป็นใหญ่อยู่ เก่งจนไม่ศรัทธาใคร เขาก็จะโง่เท่าเดิม ฉลาดเท่าเดิมของเขาอยู่แบบนั้น (แต่จริง ๆ มันจะโง่ไปเรื่อย ๆ เพราะกิเลสมันจะเพิ่ม) ก็ให้เขาวนเวียนอยู่กับความเก่งของตนจนกว่าจะแสวงหาทางใหม่ที่มันพ้นทุกข์