Tag: พระเทวทัต

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

September 29, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,095 views 0

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

หลายครั้งที่เราคงจะเคยคิดสงสัยว่า การดำเนินชีวิตไปในแต่ละวันของเรานั้นได้เกิดสิ่งดีสิ่งชั่วอย่างไร แล้วอย่างไหนคือความดี อย่างไหนคือความชั่ว ดีแค่ไหนจึงเรียกว่าดี ชั่วแค่ไหนจึงเรียกว่าชั่ว

ความดีนั้นคือการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นและยังสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นได้ในเวลาเดียวกัน ส่วนความชั่วนั้นคือการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น สร้างสมความสุขลวง เพิ่มกิเลส สะสมกิเลสในตัวเองและยังเป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้อื่นได้เพิ่มกิเลส

เราสามารถยกตัวอย่างของคนดีที่มีคุณภาพที่สุดในโลกได้ นั่นก็คือพระพุทธเจ้า และรองลงมาก็คือพระอรหันต์ จนถึงอริยสาวกระดับอื่นๆ ซึ่งก็จะมีความดีลดหลั่นกันมามาตามลำดับ ในส่วนของคนชั่วนั้น คนที่ชั่วที่สุดก็คงเป็นพระเทวทัตที่สามารถคิดทำชั่วกับคนที่ดีที่สุดในโลกได้ รองลงมาที่พอจะเห็นตัวอย่างได้ก็จะเป็น คนชั่วในสังคมที่คอยเอารัดเอาเปรียบเอาผลประโยชน์ของตัวเอง มากกว่าผลประโยชน์ของส่วนรวม

แล้วเราเป็นคนดีหรือคนชั่ว?

การที่เราเข้าใจว่าดีที่สุด ชั่วที่สุดอยู่ตรงไหนเป็นการประมาณให้เห็นขอบเขต แต่ที่ยากกว่านั้นก็คือ “เราอยู่ตรงไหน” เรากำลังอยู่ในฝั่งดี หรือเราคิดไปเองว่าเราดี แต่แท้ที่จริงเรายังชั่วอยู่

ดีของแต่ละคนนั้นอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้าเราเป็นคนเข้าวัดทำบุญ เราก็จะบอกว่าลูกหลานที่เข้าวัดทำบุญนั้นเป็นคนดี แต่ถ้าเราเป็นหัวหน้าโจรที่เต็มไปด้วยกิเลส เราก็มักจะมองลูกน้องที่ขโมยของเก่งว่าดี มองว่าคนที่ขโมยของมาแบ่งกันคือคนดี เรียกได้ว่าคนเรามักจะมองว่าอะไรดีหรือไม่ดี จากการที่เขาได้ทำดีอย่างที่ใจของเราเห็นว่าดีนั่นเอง

การมองหรือการวัดค่าของความดีด้วยความคิดของผู้ที่มีกิเลสนั้น มักจะทำให้ความจริงถูกบิดเบือนไปตามความเห็นความเข้าใจที่ผิดของเขา เช่น บางคนเห็นว่าการเอาเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ ไปไหว้เจ้าว่าดี นั่นคือดีตามความเห็นความเข้าใจของเขา แต่อาจจะไม่ได้ดีจริงก็ได้

ดังนั้นการวัดค่าของความดีนั้นจึงต้องใช้ “ศีล” ซึ่งเป็นเครื่องมือเดียวที่พอจะอ้างอิงถึงความดีความชั่วได้ เพราะคนมีปัญญาย่อมมีศีล คนมีศีลย่อมมีปัญญา ศีลนั้นเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เราไปทำชั่วทำบาปกับใคร ดังนั้นคนที่เห็นว่าการไม่ทำความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นเป็นสิ่งดี เขาเหล่านั้นย่อมเห็นประโยชน์ของการถือศีล

หากเราจะหามาตรฐานของคำว่าดีนั้น ก็คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะความพอใจในศีลนั้นแตกต่างกัน บางคนบอกว่าทุกวันนี้ตนไม่ถือศีลก็มีความสุข เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนยินดีถือศีล ๕ ก็เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนบอกอย่างน้อยต้องถือศีล ๑๐ จึงจะเรียกว่าดี ด้วยความยินดีในศีลต่างกัน ปัญญาจึงต่างกัน ผลดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน ดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน

ถ้าเราอยู่ในหมู่คนที่เที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เขาก็มักจะบอกว่า การหาเลี้ยงชีวิตตนเองได้เป็นสิ่งดีแล้ว เขาสามารถหาเงินมากินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวเตร่ได้โดยไม่ต้องเดือดร้อนพ่อแม่หรือครอบครัว เขาก็เห็นว่าเป็นสิ่งดีแล้ว

ในมุมของคนที่เลิกเที่ยวและเสพสุขจากอบายมุข ก็มักจะมองว่า การได้ทำบุญทำทาน ถือศีล ๕ เป็นสิ่งดี การได้เกิดมานับถือศาสนาเป็นสิ่งดี แต่การเที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เป็นการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ทำให้ตัวเองต้องลำบากกาย เสียเงิน เสียเวลา และทำให้คนที่บ้านเป็นห่วง ทุกข์ใจ ไม่สบายใจ

ดังนั้นจะหามาตรฐานของความดีนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่หากจะถามว่าสิ่งใดเป็นฐานต่ำสุดของความไม่เบียดเบียนก็จะสามารถตอบได้ว่าฐานศีล ๕ และจะลดการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นลงมาเรื่อยๆ เมื่อปฏิบัติศีลที่สูงยิ่งๆขึ้นไป

คนที่เฝ้าหาและรักษามาตรฐานความดีให้เข้ากับสังคม เสพสุขไปกับสังคม จะต้องพบกับความเสื่อมลงเรื่อยๆ เพราะโลกมักถูกมอมเมาด้วยกิเลส เราผ่านมาถึงกึ่งพุทธกาล และกำลังจะดำเนินไปสู่กลียุค มาตรฐานของความดีก็จะค่อยๆ ลดระดับลงมาตามความชั่วของคน

จะเห็นความเสื่อมนี้ได้จากพระในบางนิกาย บางลัทธิ มักเสื่อมจากธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เสื่อมจากบทบัญญัติที่ได้กำหนดไว้เพื่อการละหน่ายคลายกิเลส เช่น ท่านให้ฉันวันละมื้อ แต่พระบางพวกก็สู้กิเลสไม่ไหว เมื่อมีคนมีกิเลสมากๆรวมตัวกันก็เลยกลายเป็นคนหมู่มาก กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ ว่าแล้วก็กลายเป็นพระฉันวันละสองมื้อ หรือบางวัดก็แอบกินกันสามมื้อเลยก็มี

ดังนั้นการจะเกาะไปกับค่ามาตรฐาน ก็คือการกอดคอกันลงนรก เพราะคนส่วนมาก ยากนักที่จะฝืนต่อต้านกับพลังของกิเลส มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถต่อกรกับกิเลสได้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้เปรียบไว้เหมือนกับ “จำนวนเขาโค เมื่อเทียบกับเส้นขนโคทั้งตัว” การที่เราทำอย่างสอดคล้องไปกับสังคม ไม่ได้หมายความว่ามันจะดี หากสังคมชั่ว เราก็ต้องไปชั่วกับเขา แม้เขาจะบอกหรือหลอกเราว่าสิ่งชั่วนั้นมันดี แต่บาปนั้นเป็นของเรา ทุกข์เป็นของเรา เรารับกรรมนั้นคนเดียว ไม่ได้แบ่งกันรับ เราชั่วตามเขาแต่เรารับกรรมชั่วของเราคนเดียวไม่เกี่ยวกับใคร ดีก็เช่นกัน เราทำดีของเราก็ไม่เกี่ยวกับใคร

ดังเช่นการดื่มเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มมอมเมาทั้งหลาย เรารู้ดีว่าผิดศีลข้อ ๕ อย่างแน่นอนเพราะนอกจากจะทำให้หลงมัวเมาไปกินแล้วยังทำให้มัวเมาไร้สติตามไปด้วย แต่ด้วยโฆษณาทุกวันนี้จากสื่อหลายช่องทาง โดยเฉพาะจากคนรอบข้างที่ว่าเหล้าดีอย่างนั้น เหล้าดีอย่างนี้ กินเหล้าแล้วทำให้มีความสุข เพลิดเพลิน ไปกับบรรยากาศเสียงเพลงและสุรา เราถูกมอมเมาและทำให้เสื่อมจากศีลด้วยคำโฆษณา คำอวดอ้าง คำล่อลวงทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้หลงว่าสิ่งนั้นดี เสพสิ่งนั้นแล้วจะสุข ใครๆเขาก็เสพกัน นิดๆหน่อยๆไม่เป็นไรหรอก นี่คือลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยกิเลสของสังคมและคนรอบข้าง รวมทั้งกิเลสของตนเองด้วย

หรือเครื่องดื่มที่ไม่ได้ทำให้ร่างกายมัวเมา แต่มีกระบวนการทำให้จิตใจมัวเมาเช่น ชาหลายๆยี่ห้อ มักจะใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเข้ามาเร่งให้คนเกิดกิเลส จากคนปกติที่ไม่เคยอยากกินชายี่ห้อนั้น ก็สามารถทำให้กิเลสของเขาเพิ่มจนอยากกินได้ โดยการกระตุ้นล่อลวงไปด้วยลาภ เช่น แจกวัตถุสิ่งของที่เป็นที่นิยม ที่คนอยากได้อยากมีกัน เพื่อมอมเมาให้คนหลงในการเสี่ยง การพนันเอาลาภ ก็เป็นการเพิ่มกิเลสให้กับคนหมู่มาก การเพิ่มกิเลสหรือการสะสมกิเลสนั้นเป็นบาป ผู้กระตุ้นให้เกิดกิเลสนั้นย่อมเป็นเหตุแห่งบาป เป็นความชั่ว ทำให้คนเสื่อมจากความปกติที่เคยมี กลายเป็นแสวงหาลาภในทางไม่ชอบ เป็นลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยการตลาด และผู้ประกอบการที่ละโมบ

เมื่อการชักจูงด้วยลาภเริ่มที่จะไม่สามารถกระตุ้นกิเลสของคนได้ ก็จะเริ่มกระตุ้นกิเลสทางอื่นเช่น กระตุ้นกาม หรือกามคุณ เช่น กระตุ้นรูป ดังเช่นชาหลายยี่ห้อที่บอกกับเราว่า กินแล้วสวย กินแล้วหุ่นดี กินแล้วไม่อ้วน เหล่าคนผู้มีกิเลสหลงในรูปหลงในร่างกายหรือความงามก็จะถูกดึงให้ไปเป็นลูกค้าได้โดยง่าย ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นกับชีวิตเลย ไม่ได้สร้างให้เกิดความสุขแท้เลย แต่เรากลับหลงมัวเมาไปตามที่เขายั่วกิเลสของเรา แล้วเรากลับหลงว่ามันดี หลงว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ดี แต่จริงๆแล้วมั่นชั่ว มันพาเพิ่มกิเลส มันไม่ได้พาลดกิเลส เมื่อสังคมสิ่งแวดล้อมพาเพิ่มกิเลสแล้วเราคล้อยตามไป มันก็ชั่ว ก็บาป ก็นรกไปด้วยกันนั่นแหละ

กิเลสนั้นมีต้นกำเนิดเดียวกัน หากเราเพิ่มกิเลสให้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง กิเลสเรื่องอื่นๆก็มักจะเพิ่มตามไปด้วย ดังนั้นการเพิ่ม กระตุ้น หรือสะสมกิเลสไม่ว่าจะเรื่องใด ก็เป็นทางชั่วทั้งสิ้น

ไม่ทำบาปแล้วทำไมต้องทำบุญ

หลายคนมักพอใจในชีวิตของตน ที่หลงคิดไปว่าตนนั้นไม่ทำบาป หลงเข้าใจไปว่าไม่ชั่ว แล้วทำไมต้องทำบุญ แค่ไม่ชั่วก็ดีอยู่แล้วนี่…

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความคิด คำพูด การกระทำของเราไม่เป็นบาป… ในเมื่อเราไม่รู้ ไม่มีตัววัด ไม่มีใครมาบอก เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราไม่ชั่ว เราไม่บาป การที่เราคิดเอาเองว่าเราไม่บาปนั้นจะถูกต้องได้อย่างไร

มีคนหลายคนบอกว่าฉันไม่ชั่ว แม้ฉันจะเลิกงานไปกินเหล้าฟังเพลง ฉันก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร แต่พอบอกไปว่าเบียดเบียนตัวเองนะ…. ก็มักจะต้องจำนน ถึงแม้ว่าจะพยายามเถียงว่าเบียดเบียนตัวเองก็เป็นเรื่องของเขา ก็จะโดนความชั่วอีกข้อ ก็คือมีอัตตา ยึดตัวเราเป็นของเรา สรุปว่าเพียงแค่คิดเข้าข้างตัวเองยังไงก็หนีไม่พ้นบาปไม่พ้นความชั่ว

คนเราเวลาชั่วมากๆก็มักจะมองไม่เห็นดี ไม่เข้าใจว่าดีเป็นเช่นไร เพราะโดนความชั่ว โดนบาป โดนวิบากบาปบังไม่ให้เห็นถึงความชั่วนั้น จึงหลงมัวเมาในการทำชั่ว แล้วเห็นว่าเป็นสิ่งดี หรือที่เรียกว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

แม้ว่าในชีวิตนี้เราเกิดมาจะไม่ทำชั่วเลย เป็นฤาษีนั่งอยู่ในเรือน มีคนเอาของกินมาถวาย แต่นั่งสมาธิอยู่อย่างนั้นทั้งชีวิต ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร นั่นก็คือชั่วอยู่ดี เพราะตนเองไม่ได้หาเลี้ยงชีพ ทั้งยังกินบุญเก่า คือให้เขาเอาของมาให้ เรียกได้ว่าเกิดชาติหนึ่งไม่ทำชั่วเลย แต่ก็กินบุญเก่าไปเรื่อยๆ

เหมือนคนที่มีเงินฝากในธนาคาร ไม่ได้ฝากเงินเพิ่ม แต่ก็ถอนเงินและดอกเบี้ยมากินใช้เรื่อยๆ ใช้ชีวิตแบบนี้หมดไปชาติหนึ่ง กินบุญเก่าไปเปล่าชาติหนึ่ง เกิดมาเป็นโมฆะไปชาติหนึ่ง เกิดมาทำตัวไร้ค่าไปชาติหนึ่งแล้วก็ตายไป เป็นต้นไม้ต้นหนึ่งยังดีกว่าเป็นคนที่เกิดมาไม่ทำประโยชน์กับใคร ต้นไม้มันดูดน้ำดูดธาตุอาหารในดินมายังสร้างเป็นดอกผลให้สัตว์อื่นได้กิน

และการจะดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนนั้น ต้องหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ชั่วนั้นต้องหยุดทำก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงทำดีเติมเข้าไป ให้กุศลได้ผลักดันไปสู่การทำจิตใจให้ผ่องใส ผ่องใสจากความมัวเมาของกิเลส ปราศจากความอยากได้อยากมี ซึ่งการจะทำจิตใจให้ผ่องใสได้นั้น จำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้รู้ธรรมมาสอน จะนึกคิดเอาเองไม่ได้ และการจะได้เจอครูบาอาจารย์นั้น ต้องทำดี ทำกุศลที่มากเพียงพอ ที่ความดีนั้นจะผลักดันเราไปพบกับครูบาอาจารย์ผู้มีบุญบารมีนั้นได้ และการจะเติมบุญกุศลให้เต็มจนเป็นฐานในการขยับสู่การทำจิตใจให้ผ่องใสนั้น ต้องอุดรูรั่วที่เรียกว่าความชั่วเสียก่อน หากทำดีไม่หยุดชั่ว ก็เหมือนเติมน้ำในโอ่งที่รั่ว เติมไปก็หาย ทำดีไปก็แค่ไปละลายชั่วที่เคยทำ แล้วชั่วที่เคยทำก็จะมาฉุดดีที่พยายามทำอีก ดังนั้น การจะทำให้ชีวิตมีความสุขอย่างยั่งยืน คือการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ซึ่งเป็นการกระทำที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แยกจากกัน

คนติดดี

คนทั่วไปมักจะมองว่าคนดีนั้นอยู่ในสังคมยาก เพราะอาจจะติดภาพของคนติดดีมา คนที่ติดดี ยึดดี ต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข จะไม่สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขนัก เพราะสังคมทุกวันนี้มักไม่มีความดีให้เสพ มีแต่ความวุ่นวาย แก่งแย่งชิงดี ชิงเด่น หลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ คนติดดีเมื่ออยู่ในสังคมที่มีแต่ความชั่วเช่นนี้ก็มักจะหงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ทำให้เกิดอาการหม่นหมอง เป็นทุกข์ เพราะไม่ได้เสพดีดังที่ตนเองหวัง

ความติดดีนั้นมีรากมาจากอัตตา คือความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจะเรียกคนติดดีว่าคนดีนั้น ก็พอจะเข้าใจได้ในสังคม แต่จะให้เรียกว่าคนดีแท้นั้นก็คงจะไม่ใช่ เพราะคนที่ติดดีนั้น พึ่งจะเดินมาได้เพียงครึ่งทาง เขาเพียงละชั่ว ทำดีมาได้บ้าง แต่ยังไม่สามารถทำจิตใจตนเองให้ผ่องใสจากความยึดมั่นถือมั่นได้ จึงเกิดเป็นทุกข์

การเป็นคนดีนั้นไม่ได้หมายความว่า เราจะได้รับแต่สิ่งที่ดี เราจะได้สิ่งดีก็ได้ จะได้รับสิ่งไม่ดีก็ได้ แต่เราจะต้องรับรู้ให้ได้ว่า สิ่งดีที่เราได้รับเกิดจากการที่เราทำดีมา และสิ่งไม่ดีที่เราได้รับ เกิดจากชั่วที่เราเคยทำมาก่อน ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ทำดี หรือจากภพก่อนชาติก่อน กรรมเก่าก่อนก็ตามมันไม่จำเป็นว่าทำดีแล้วต้องเกิดดีให้เห็นเสมอไป เพราะเรื่องกรรมเป็นเรื่องอจินไตย(เรื่องที่ไม่ควรคิดคาดคะเน เดา หรือคำนวณผล) เราทำดีอย่างหนึ่งเราอาจจะได้ดีอีกอย่างหนึ่งก็ได้ หรือดีนั้นอาจจะสมไปชาติหน้าภพหน้าก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ตอนเด็กๆเราได้ของขวัญจากผู้ใหญ่ ทั้งๆที่เราไม่เคยทำดีให้ผู้ใหญ่หรือใครๆขนาดนั้นเลย นั่นก็เป็นผลแห่งกรรมที่เราเคยทำมา ถ้าสงสัยก็อาจจะลองเปรียบเทียบกับเด็กที่เขาจนๆเกิดมาไม่มีจะกินก็ได้ ไม่ใช่ทุกคนหรอกนะ ที่จะได้จะมีในสิ่งของหรือความรัก เพราะถ้าหากเขาไม่เคยได้ทำกรรมดีเหล่านั้นมา เขาก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับกรรมดีนั้นเหมือนอย่างคนอื่นที่เขาทำมา

ซึ่งเหล่าคนติดดีมักจะหลงเข้าใจว่าทำดีแล้วต้องได้ดี เมื่อคนติดดีได้รับสิ่งร้ายก็มักจะไม่เข้าใจ สับสน สงสัยในความดีที่ตนทำมา เมื่อไม่ได้รับคำตอบที่ดีพอให้คลายสงสัยในเรื่องของกรรม ก็มักจะเสื่อมศรัทธาในความดี กลับไปชั่วช้าต่ำทราม เพราะความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนในเรื่องกฎแห่งกรรม ซ้ำยังทำดีด้วยความหวังผล เมื่อไม่ได้ดีดังหวัง ก็มักจะผิดหวัง ท้อใจ และเลิกทำดีนั้นไปนั่นเอง

ยังมีคนติดดีอีกมากที่หลงในความดีของตัวเอง ซึ่งก็มักจะเป็นเรื่องปกติ เมื่อเราสามารถลด ละ เลิก สิ่งที่เป็นภัย มาหาสิ่งที่ดีได้แล้ว เมื่อมองกลับไปยังสิ่งชั่วที่ตนเคยทำมาก็มักจะนึกรังเกียจ เพราะการจะออกจากความชั่ว ต้องใช้ความยึดดี ติดดีในการสลัดชั่วออกมา เมื่อสลัดชั่วออกจากใจได้แล้วก็ยังเหลืออาการติดดีอยู่ ซึ่งทำให้เกิดอาการถือดี หลงว่าตนดี ยกตนข่มท่าน เอาความดีของตนนั้นไปข่มคนที่ยังทำชั่วอยู่ เพราะลึกๆในใจนั้นยังมีความเกลียดชั่วอยู่และไม่อยากให้คนอื่นทำชั่วนั้นต่อไป

การจะล้างความติดดีนั้น จำเป็นต้องใช้ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาให้มาก ให้เห็นว่าคนที่ยังชั่วอยู่นั้น เราก็เคยชั่วมาก่อนเหมือนกันกับเขา กว่าเราจะออกจากชั่วได้ก็ใช้เวลาอยู่นาน และก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะใช้วิธีเดียวกับเราออกจากชั่วนั้นได้ เพราะคนเรามีการผูกการยึดกิเลสมาในลีลาที่ต่างกัน เหมือนกับว่าแต่ละคนก็มีเงื่อนกิเลสในแบบของตัวเองที่ต้องแก้เอง ดังนั้นการที่เราจะออกจากความติดดีก็ไม่ควรจะไปยุ่งเรื่องกิเลสของคนอื่นให้มาก แต่ให้อยู่กับกิเลสของตัวเองว่าทำไมฉันจึงไปยุ่งวุ่นวาย ไปจุ้นจ้านกับเขา ทำไมต้องกดดันบีบคั้นเขา ถึงเขาเหล่านั้นจะทำชั่วไปตลอดชาติก็เป็นกรรมของเขา เราได้บอกวิธีออกจากชั่วของเราไป แล้วเราก็ไม่หวังผล บอกแล้วก็วาง ทำดีแล้วก็วาง ผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับตัวเขา จะเกิดดีเราก็ยินดี จะไม่เกิดดีเราก็ไม่ทุกข์

และคนที่ดีที่หลงมัวเมาในความดี หรือติดสรรเสริญ โลกธรรม อันนี้เรียกว่าชั่ว เป็นดีที่สอดไส้ไว้ด้วยความชั่ว มีรากจริงๆมาจากความชั่ว ความดีที่เกิดถูกสร้างมาจากความชั่วในจิตใจ จะเห็นได้จากคนทำบุญทำทานเพื่อหวังชื่อเสียง ทำดีหวังให้คนนับหน้าถือตา ทำดีหวังให้คนเคารพ แบบนี้ไม่ดี ยังมีความชั่วอยู่มาก ไม่อยู่ในหมวดของคนที่ติดดี

การเป็นคนดีนั้นไม่จำเป็นว่าคนอื่นเขาจะมองเราว่าเป็นคนดีเสมอไป ขนาดว่าพระพุทธเจ้าดีที่สุดในจักรวาล ก็ยังมีคนที่ไม่ศรัทธาในตัวท่านอยู่เหมือนกัน แล้วเราเป็นใครกัน เราดีได้เพียงเล็กน้อยจะไปหวังว่าจะมีคนมาเชิดชูศรัทธาเรา เราหวังมากไปรึเปล่า… โลกธรรม สรรเสริญ นินทา มันก็ยังจะต้องมีตราบโลกแตกนั่นแหละ ไม่ว่าจะคนดีหรือคนชั่วก็ต้องมีคนสรรเสริญ นินทา ดังนั้นเราอย่าไปทำดีเพื่อมุ่งหวังให้ใครเห็นว่าเราดี จงทำดีเพื่อให้เราดี ให้เกิดสิ่งที่ดีในตัวเรา เท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

29.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ทำไมเธอไม่เลิกทำบาป ทำไมเธอไม่ทำดีทำไมเธอไม่ปล่อยวาง

September 21, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,723 views 0

ทำไมเธอไม่เลิกทำบาป ทำไมเธอไม่ทำดีทำไมเธอไม่ปล่อยวาง

ทำไมเธอไม่เลิกทำบาป ทำไมเธอไม่ทำดี ทำไมเธอไม่ปล่อยวาง

หลายครั้งในชีวิต เราคงจะเคยสงสัย ว่าทำไมพวกเขาเหล่านั้นจึงไม่เลิกทำบาป ไม่หาอะไรดีๆในชีวิตทำ ไม่อยู่กับปัจจุบัน จมอยู่แต่ในอดีตและวาดฝันล่องลอยไปแต่ในอนาคต และเคยสงสัยไหมว่า ในหลายๆครั้งไม่ว่าเราจะทำอย่างไร จะพูดอย่างไร จะแนะนำอย่างไร ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เขาก็ยังคงทำบาปเหมือนเดิม ยังใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ยังเศร้าหมองอยู่เหมือนเดิม….นอกจากจะไม่ดีขึ้นแล้วยังอาจจะแย่ลง และอาจจะเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ผิดใจกันเข้าไปอีก

….ปัญหา

เรามักจะรู้สึกขัดอกขัดใจเมื่อเจอกับคนหรือเหตุการณ์เหล่านี้…

นักโทษที่ต้องโทษจำคุกอยู่นาน เมื่อพ้นโทษมาแล้ว แต่ก็ยังมาก่อคดีอยู่อีก ,นักการเมืองที่มีประวัติโกงแม้ว่าจะโดนจับได้แล้ว แต่ก็ยังจะหาทางโกงอยู่อีก , คนที่รู้ว่าฆ่าสัตว์ผิดศีล ไม่ดีเป็นบาป แต่ก็ยังตบยุงอยู่อีก , คนที่ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขอโทษขอโพยกันไปแล้ว บอกว่าจะแก้ไข แต่ก็ยังทำผิดอยู่อีก ,คนที่รู้ว่าการกินเหล้าเสพสิ่งเสพติดของมึนเมา นั้นเป็นบาป แต่ก็ยังกินอยู่อีก ,คนที่มัวเมายึดมั่นถือมั่นอยู่กับสิ่งที่ตัวเองชอบจนเริ่มสะสมทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียในชีวิตของตนเอง แต่ก็ยังหลงมัวเมาอยู่อีก …ฯลฯ

หรือการที่ใครสักคนหนึ่งใช้ชีวิตไปวันๆ อยู่ไปวันๆ ไม่ทำอะไรให้ชีวิตมันดีขึ้น เขาไม่ทำเรื่องชั่วหนักๆแล้วนะ แต่เราก็ยังเห็นว่ามันไม่ดี เราก็อยากให้เขาลุกขึ้นมาทำชีวิตของตัวเองให้ดี เช่น ขยันเรียนเพิ่ม,หาความรู้ในการทำงานเพิ่ม,ออกกำลังกายรักษาสุขภาพ,หากิจกรรมจิตอาสาช่วยเหลือสังคม ทำบุญบริจาคทรัพย์ แบ่งปันแรงงาน ฯลฯ

หรือแม้แต่การที่ใครสักคนจะใช้ชีวิตไปอย่างไร้จุดหมาย เศร้าโศกเสียใจกับอดีตที่ผ่านมา เศร้าหมองจากการสูญเสียสิ่งสำคัญ จมอยู่กับทุกข์ อยู่กับอดีต ซึมเศร้าเหงาหงอย

แล้วจะต้องแก้ปัญหาอย่างไร

….การที่เรารู้สึกหงุดหงิดใจ ว่าทำไมคนเหล่านั้นถึงไม่ปรับปรุงตัวไปในทางที่ดี นั่นแหละคือเรามีอาการ “ติดดี” อาการติดดี ยึดดี ถือดี ต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข พอไม่เกิดดีตามที่ใจคิดก็จะเป็นทุกข์ ซึ่งในขณะที่เราติดดียึดดี เราก็มักจะไปคาดหวัง ไปแนะนำ ไปบีบคั้น ไปหาสารพัดวิธีมาให้เขาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เราต้องการ พอเขาไม่เปลี่ยนหรือทำไม่ได้อย่างใจเรา เราก็ทุกข์ ร้อนใจ หงุดหงิด สุดท้ายก็กลายเป็นเราเองที่ไม่ปล่อยวาง

บางทีเราเห็นทางแก้นะ แล้วพยายามจะไปฝืนกิเลส พยายามจะไปล้วงกิเลส จะไปชี้ขุมทรัพย์ให้เขาเห็นว่าการที่เขาทุกข์ สับสน เศร้าหมอง ยังทำบาป ไม่ทำดีอยู่นั้น เป็นเพราะเขาอาจจะยึดติดในสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่พอเราไปพูดแบบนี้เขาอาจจะไม่พอใจเราก็ได้ เพราะพลังกิเลสเขามากกว่าพลังความดีของเรา

สิ่งที่เราพูดเป็นสิ่งดีนะ เขาก็ยอมรับและเห็นด้วยว่าเป็นสิ่งดี แต่เขาไม่เอา ไม่ทำ ไม่ต้องมาบอก ไม่ต้องมาสอน อยากจะทำก็ทำไป ฉันไม่ทำก็เรื่องของฉันฉันยินดีจะเสพกิเลสนี้ต่อไป ยินดีที่จะทำชั่ว ยินดีที่จะไม่ทำดี ยินดีที่มัวเมาเศร้าหมองต่อไป ฉันมีความสุขในแบบของฉันปล่อยฉันเป็นในแบบของฉัน อยากสอนก็ไปสอนคนอื่น…ทีนี้ถ้าเราปล่อยวางความติดดียึดดีถือดีไม่ทันละก็ มีโอกาสได้ผิดใจกันอย่างแน่นอน เพราะยิ่งเขาถอย เราก็จะยิ่งยัดยาแรงมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้มีโอกาสกระทบกระทั่งกันด้วยความยึดมั่นถือมั่นของแต่ละฝ่ายมากขึ้น

ดูสิว่ากิเลสมันรุนแรงได้ขนาดนี้ มีพลังขนาดสะท้อนพลังดี สะท้อนพลังบุญที่จะพาลดกิเลส ถ้าจิตใจของเขาเต็มไปด้วยกิเลสแบบนี้ ต่อให้อีกกี่สิบผู้วิเศษมาบอก มาสอน มาแนะนำ ก็เอาไม่อยู่หรอก จะยัดให้ตายก็ยัดไม่เข้า ดีแค่ไหนเขาก็ไม่เอา ก็เขามีกิเลสอยู่เต็มหัวใจแล้วยังจะมีที่ว่างตรงไหนให้บุญเข้าไปแทรก

ถ้าเป็นแบบนี้ก็ต้องยอมปล่อยวาง ปล่อยให้เขาทำบาปทำชั่ว หรือใช้ชีวิตไปวันๆ ซึมเซาหม่นหมองไปเรื่อยๆ ยอมปล่อยเขาไป แม้ว่าทางที่เขาไปจะเป็นนรกก็ตาม วันใดที่เขาทุกข์เกินทน เมื่อเขาสะสมความชั่วที่เขาทำจนสุกงอม วิบากบาปจะส่งผลให้เขาได้รับทุกข์ทรมานแสนสาหัส

เหมือนดังพระเทวทัตปองร้ายพระพุทธเจ้า หาวิธีทำร้ายทำลายพระพุทธเจ้าสารพัด แต่สุดท้ายตัวเองโดนธรณีสูบจนร่างแหลก เจ็บปวดทรมานจนกระทั่งสำนึกบาปของตน จึงตั้งจิตขอเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง พระพุทธเจ้าท่านได้พยากรณ์ว่า หลังจากที่พระเทวทัตต้องรับกรรมทุกข์ทรมานในนรกชั่วกัปชั่วกัลป์พระเทวทัตจะทำดีบำเพ็ญเพียรจนได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ใดองหนึ่งในอนาคต …เห็นไหมว่าขนาดคนที่ชั่วสุดชั่วอย่างพระเทวทัต สุดท้ายก็จะเปลี่ยนมาเป็นคนดี ดีขนาดพระปัจเจกพุทธเจ้าเชียวนะ แต่ก็ต้องทนรับใช้กรรมไปก่อน อีกนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้ที่กว่าจะหมดวิบาก

เมื่อเราทำชั่วที่สุด เดี๋ยวก็ต้องกลับมาทำดีอยู่ดีนั่นแหละ เหมือนเดินไปเจอทางตันสุดท้ายมันก็ต้องกลับมาที่จุดเริ่มต้นกันใหม่ เดินผิดทางเดินถูกทางไปเรื่อยๆ เมื่อทำดีไปเรื่อยๆชาติใดชาติหนึ่งก็จะเจอวิธีพ้นทุกข์ เลิกทำบาป ทำแต่ความดี ทำจิตใจปล่อยวางความเศร้าหมองได้ บรรลุธรรมกันได้สักชาติหนึ่งละนะ

คนที่เราคาดหวังว่าจะช่วยเขาหรือหวังจะให้เขาดีขึ้นก็เช่นกัน ถึงแม้เราจะไม่สามารถช่วยได้ วันใดวันหนึ่งเขาก็จะทำทุกข์ไปเรื่อยๆจนได้รับวิบากกรรม เขาก็จะเข้าใจได้เองว่าสิ่งที่เขาทำมันบาปมันไม่ดี ถึงแม้จะสำนึกในชาตินี้ไม่ได้ ก็อาจจะไปสำนึกในชาติหน้าก็ได้ เพราะบุญบาป วิบากกรรมมันก็ตามติดตัวเป็นสมบัติของเขาไปนั่นแหละ วันใดวันหนึ่งเขาก็ต้องบรรลุธรรมแน่นอน

ส่วนเรานั้น เมื่อได้ทำหน้าที่มิตรที่ดี คอยแนะนำ ช่วยแก้ปัญหาเท่าที่จะทำได้แล้ว ถึงแม้เขาจะไม่ทำตามที่เราหมาย ก็ให้ปล่อยวางเสีย คือให้ทำดีแล้ววางดีตรงนั้นเลย ทำดีเสร็จก็จบไป จะเกิดสิ่งที่ดีหรือไม่ดีก็ไม่ใช่เรื่องของเรา เพราะการจะเกิดสิ่งดีหรือเขาสามารถฟังเราจนแก้ปัญหาได้นั้น เกิดจากหลายปัจจัย คือบุญบาปของเรา บุญบาปของเขา สังเคราะห์กันให้เกิดผล ซึ่งอาจจะเป็นดี ร้าย หรือไม่เกิดอะไรเลยก็ได้วันหนึ่งถ้าเขาเข้าใจที่เราบอก เราก็ค่อยแนะนำเขาอีกทีก็ได้

…คนบาปคนหลงมัวเมาเป็นเรื่องธรรมดา

การที่คนจะเห็นกงจักรเป็นดอกบัวนั้น ในยุคนี้ก็ดูจะเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเป็นยุคที่เต็มไปด้วยการส่งเสริมกิเลส เรามีการทำการตลาดเป็นกิจกรรมส่งเสริมกิเลส ทำให้คนอยากมี ทำให้คนอยากได้ ทำให้คนไม่รู้ดีรู้ชั่ว เช่น เราเริ่มนุ่งน้อยห่มน้อย เริ่มจะไม่สงวนร่างกายเพราะเราหลงไปว่าดี เข้าใจไปว่าการอวดเนื้อหนังเป็นสิ่งดี คนส่วนใหญ่ก็หลงตามไปด้วยนะว่าดี แท้จริงแล้วนั่นเป็นบาป เป็นอกุศล เป็นทุกข์แท้ๆเลยทีเดียว

ทุกวันนี้เราเองก็ยังแทบจะแยกไม่ออกว่าสิ่งใดที่ชั่วหรือดีแท้ต่อชีวิตเรา บางครั้งสิ่งที่เขาว่าดี แต่ทำไมพอเราเอามาใช้ เอามาเสพกลับเกิดทุกข์ โชคดีที่เรายังมีหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบว่าสิ่งใดดีสิ่งใดชั่ว โดยใช้ธรรมะหรือศีลของพระพุทธเจ้าเป็นหลักยึด

….ลองเป็นคนบาปดูบ้างไหม

ตอนที่เห็นคนอื่นทำบาป ไม่ทำดี หลงมัวเมา เป็นทุกข์ เราก็มักจะเห็นได้ง่าย แนะนำได้ง่าย แต่พอมาเป็นที่ตัวเราเองเรากลับแก้ไม่ได้ เช่น ให้เราถือศีล ๕ เราก็ทำแทบไม่ได้แล้ว ถามว่าศีลดีไหม ก็ดี แต่ทำไม่ได้ นี่แหละคือพลังกิเลสที่มาต้านไว้ คนที่เขาสู้กิเลสไม่ได้ก็แบบนี้แหละ ไม่ว่าจะพยายามยังไงมันก็จะไม่อยากสู้ จะไปเสพท่าเดียว ไม่คิดด้วยว่ากิเลสคือความทุกข์ เข้าใจว่าการได้เสพสมใจคือความสุข กอดกิเลสไว้อย่างนั้นยึดกิเลสเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ยึดเป็นตัวเป็นตน

ถ้าเรายังรู้สึกว่าเราเก่ง แล้วคนอื่นต้องทำได้อย่างเรา ก็ลองไปหาคนที่เก่งกว่า หรือลองถือศีลที่ยากขึ้น เช่น ศีล ๘ ศีล๑๐,กินมังสวิรัติ กินจืด กินมื้อเดียว ไม่แต่งตัวไม่แต่งหน้า แล้วเราก็จะรู้ว่าจริงๆแล้วเราก็ไม่ใช่คนดีสักเท่าไหร่หรอก เรายังมีกิเลสอีกมาก แค่เรามองไม่เห็นตัวเองเท่านั้นเอง เรามัวแต่เอาตาไปมองคนอื่น ไม่เคยมองตัวเอง ทั้งๆที่ควรจะแก้กิเลสของตัวเองก่อนแล้วค่อยไปแก้คนอื่น งานตัวเองยังไม่เสร็จเลย ชอบรีบไปวิจารณ์งานคนอื่น

บาปคือการสั่งสมกิเลส ศีลเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นกิเลสที่เหลืออยู่ได้ชัดเจน ตราบใดที่เราถือศีลแล้วยังทุกข์จากการถือศีล นั่นแหละคือเรามีกิเลส มีบาป

….เมื่อเริ่มเข้าใจมากขึ้นแล้ว

ทุกคนอยากทำดี อยากเป็นคนดี อยากเป็นที่รักของคนอื่น ไม่มีใครที่อยากทำบาป อยากเศร้า อยากหลง อยากมัวเมา เพียงแค่เขาไม่รู้ว่ามันเป็นบาป และถึงเขาเหล่านั้นจะรู้ว่ามันไม่ดี ก็ไม่สามารถที่จะหยุดความอยากนั้นไว้ได้ เพราะแรงแห่งกิเลสนั้นมักจะมีพลังรุนแรงกว่าความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอยู่เสมอ จะบอกว่าการไม่ทำบาปดีไหม หลายคนก็ตอบว่าดี เรารู้กันทุกคน แต่ทำกันไม่ได้ มันฝืนใจ มันทรมาน ไปเสพกิเลสแล้วมีความสุขมากกว่า ใครจะอยากมาอดทนฝืนทวนกระแสกิเลส มาล้างกิเลสกันล่ะ

ทุกวันนี้เราอยู่กับสังคมและโลกในยุคมอมเมากิเลส แม้ว่าเราจะทำบุญทำทาน แต่ก็ยังไม่รู้ตัวว่าทุกวันนี้เราได้สะสมกิเลสเข้าไปทุกวัน เราอยากกินของอร่อยมากกว่าเดิมใช่ไหม , เราแต่งหน้าจัดแต่งตัวโป๊กว่าเดิมใช่ไหม , เราใช้เงินเก่งกว่าเดิมใช่ไหม ,เราอยากได้อยากมีมากขึ้นใช่ไหม, เรามีความอดทนน้อยลงใช่ไหม , เราโกรธกันง่ายขึ้นใช่ไหม , เราให้อภัยกันน้อยลงใช่ไหม นี่แหละพลังแห่งการร่วมกันสั่งสมกิเลสบนโลกใบนี้ ทุกคนต่างช่วยกันเสพ ช่วยกันเติมกิเลสให้แก่กันและกันอย่างไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้น

เรื่องกิเลสไม่ดีทุกคนก็รู้ แต่ปัญหาคือไม่รู้จะทำอย่างไรกับมัน ไม่มีใครพาล้าง พาฆ่า พาทำลายกิเลส เรื่องการชำระกิเลสเหล่านี้ต้องให้ผู้ที่ทำเป็นสอนเท่านั้น จะคิดเอาเอง นึกเอาเอง มั่วเอาเองไม่ได้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า การที่เราจะบรรลุธรรมหรือล้างกิเลสได้ เราต้องพบกับสัตบุรุษ คือคนผู้มีสัจจะแท้ มีธรรมที่สวนกระแสโลก มีโลกุตตรธรรมอยู่จริง ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสอนได้ ไม่ได้หมายความว่าแค่บวชเป็นพระจะสอนได้ ไม่ได้หมายความว่าเข้าใจธรรมะปฏิบัติธรรมแล้วจะสอนได้ แต่ต้องเป็นคนที่ล้างกิเลสเป็นจึงจะสอนได้

วิธีที่จะพบสัตบุรุษนั้นไม่จำเป็นต้องไปค้นหา ไม่ต้องไปตรวจค้นสืบค้นจากที่ไหน เพราะถึงจะหาแทบพลิกแผ่นดินยังไงก็จะหาไม่เจอ แต่ที่ต้องทำคือทำดีไปมากๆ อดทนทำดีไปอย่างตั้งมั่น ทำบุญทำทาน ทำงานอย่างเต็มที่ ทำหน้าที่อย่างเต็มใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติศีลให้เคร่งครัด แต่ไม่เครียดจนทรมาน ลดการเบียดเบียน ลดเนื้อกินผัก หาทางทำดีไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็จะได้พบเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

21.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์