Tag: ดับกิเลส

ศีล สมาธิ ปัญญา ภาคปฏิบัติ

November 2, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,926 views 1

ศีล สมาธิ ปัญญา ภาคปฏิบัติ

Download ภาพขนาดเต็ม กดที่นี่

ศีล สมาธิ ปัญญา ภาคปฏิบัติ

การปฏิบัติธรรมนั้น ต้องประกอบไปด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา เป็นการปฏิบัติไปทั้งหมดภายในเวลาเดียวกันไม่แยกจากกัน ในศีลก็มีสมาธิและปัญญา ในปัญญาก็มีศีลและสมาธิ

พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้มีศีลย่อมมีปัญญา ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล และทั้งหมดทั้งมวลนั้นจะเป็นไปเพื่อกันและกัน หากเรานำมาแยกปฏิบัติ จะเกิดสภาพที่เรียกได้ว่าขาดๆเกินๆ เช่น…

…ถ้าปฏิบัติแต่ศีล ก็จะกลายเป็นคนเคร่งเครียดในศีล ถือศีลแบบยึดมั่นถือมั่น ถือโดยไม่มีปัญญา ไม่รู้สาระในศีล รู้แค่ว่าถือศีลแล้วดี ยิ่งถือศีลมากๆยิ่งดี กลายเป็นหลงงมงายในศีลไป

…ถ้าปฏิบัติแต่สมาธิ ก็จะกลายเป็นเหมือนฤาษี เข้าภพ เข้าฌาน เข้าภวังค์ สะสมพลังสติ เมาสติ เหมือนนักกล้ามที่ออกกำลังกายเพื่อกล้ามเนื้อ แต่ก็ไม่รู้จะเอาความแข็งแกร่งนั้นไปทำประโยชน์อะไร อย่างเก่งก็ดับความคิด ดับสัญญา แต่ดับกิเลสไม่เป็น

…ถ้าปฏิบัติแต่ปัญญา ก็จะกลายเป็นพวกฟุ้งซ่าน อ่านพระไตรปิฏกมากมาย จำได้พูดคล่องเหมือนนกแก้วนกขุนทอง แต่ไม่เข้าใจสาระ ไม่เข้าใจวิธีการปฏิบัติ รู้แค่ตามที่ได้ยินได้ฟังมา

จะเห็นได้ว่าถ้าเรามุ่งแต่ปฏิบัติตัวใดตัวหนึ่งก็จะทำให้หลงมัวเมาไปได้ และโดยส่วนมากผู้ที่หลงมัวเมามักจะไม่รู้ตัว และยึดมั่นถือมั่นในแนวทางที่ตนเองได้ปฏิบัติมา ทำให้การปฏิบัติธรรมไปสู่ความผาสุกนั้นเนิ่นช้าไปเรื่อยๆ เรามาลองดูว่าถ้าปฏิบัติแล้วขาดบางอย่างไปจะเป็นอย่างไร

…ถ้าขาดศีลก็จะฟุ้งไปไกล มักจะหลงว่าตัวเองบรรลุธรรม มีกำลังสติ สามารถตั้งจิตให้มั่น คงสภาพนั้นๆ เกิดสมาธิได้นาน แถมมีปัญญา คิดและเข้าใจไปเองว่าตนเองมีกำลังสติมาก และเข้าใจธรรมได้ขนาดนี้ ต้องบรรลุธรรมแน่เลย เข้ารกเข้าพงกันไปตามความฟุ้งซ่านของปัญญา

…ถ้าขาดสมาธิก็ยากที่จะเจริญในการปฏิบัติธรรม เหมือนคนอยากวิ่งมาราธอนแต่ร่างกายอ่อนแอ วิ่งไปได้สักพักก็หมดแรง แข่งงานไหนก็ไม่ถึงเส้นชัยกับเขาเสียที แม้จะสามารถถือศีลได้อย่างมีปัญญา แต่ถ้ากำลังสติน้อย ก็ยากที่จะเอาชนะกิเลส ยากที่จะดำเนินไปสู่ปัญญาที่เป็นผลได้

…ถ้าขาดปัญญาก็จะกลายเป็นเหมือนฤาษีที่เคร่งวินัย สามารถถือศีลที่ยากๆ และลำบากได้ง่ายๆ เพราะมีสติมาก แต่เป็นการถือศีลแบบยึดมั่นถือมั่น ถือศีลแล้วล้างกิเลสไม่เป็น ถือศีลไปอย่างนั้น ไม่รู้คุณค่า ไม่รู้สาระ ไม่รู้วิธีใช้ศีลให้เกิดปัญญา โดยมากแล้วจะมีรูปสวย ภาพลักษณ์ดูดี คนในสังคมนิยมชมชอบ เพราะจะดูนิ่งและสงบมาก แต่ถ้าให้สอนหรือถ่ายทอดก็จะสอนไม่เป็น ยิ่งสอนยิ่งงง พอโดนไล่ถามมากๆก็มักจะโกรธ หรือไล่ให้ไปปฏิบัติจะรู้เอง เพราะตนเองนั้นไม่ได้บรรลุธรรม ไม่ได้ดับกิเลส เมื่อดับกิเลสไม่เป็นก็ไม่สามารถสอนหรือบอกใครได้

แต่ถ้าคนที่ปฏิบัติถูกทาง การขาดตัวใดตัวหนึ่ง หรือปฏิบัติขาดๆเกินๆจะไม่เกิดขึ้น ศีล สมาธิ และปัญญา จะเสริมเติมกันเองตลอด ยกระดับขึ้นไปพร้อมๆกัน ไม่โต่งไปด้านใดด้านหนึ่งมากนัก เมื่อเห็นดังนี้แล้ว เรามาเข้าภาคปฏิบัติกันเลย

1). ปฏิบัติศีลด้วยปัญญาที่เป็นมรรค

ก่อนที่ใครสักคนจะปฏิบัติศีลนั้น เขาจำเป็นต้องมีปัญญาในเบื้องต้น ที่จะทำให้ยินดีที่จะปฏิบัติศีลนั้น เช่นเห็นคุณค่าของศีล เห็นว่าศีลนั้นดี เช่นถือศีลข้อ๑ ไม่ฆ่าสัตว์อย่างเคร่งครัด เพราะเห็นแล้วว่าศีลข้อนี้จะทำให้ตนไม่ทำบาป การถือศีลนั้นจึงต้องมีปัญญาร่วมด้วยเสมอ ส่วนคนไม่มีปัญญาก็จะไม่ถือศีลเพราะมองว่าศีลนั้นเป็นของไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ เหตุนั้นเพราะเขาเองไม่มีปัญญาพอที่จะเห็นสาระและประโยชน์ในศีลนั้นๆ

2). ปฏิบัติศีลด้วยสมาธิ

เมื่อตั้งศีล ถือศีล พร้อมเอาศีลมาปฏิบัติแล้ว จากนี้ก็ต้องใช้ความอึด ความอดกลั้น ความอดทน ใช้สติ ใช้ขันติ ให้เกิดสภาพของศีลอย่างต่อเนื่อง คือถือศีลอย่างมีสมาธิ ในขั้นตอนนี้ไม่ง่าย เพราะเปรียบได้กับการเข้าสมรภูมิรบ เช่นเราตั้งศีลว่าจะไม่กินกาแฟ เมื่อเราได้กลิ่นกาแฟ กิเลสก็มักจะหาเหตุผลให้เราไปเอากาแฟมากินเสมอ หรือนั่งอยู่เฉยๆ ก็อาจเกิดอาการอยากกาแฟขึ้นมาเลยก็ได้ สมาธิจะเข้ามาทำงานอย่างมากในช่วงนี้ ต้องอด ต้องทน ต้องฝืนต่อพลังของกิเลสในจิตใจ กดข่มมันไว้ ไม่ไปเสพสิ่งที่เราตั้งใจว่าจะละเว้นไว้ เราสามารถเพิ่มพลังสมาธิ หรือกำลังสติได้โดยการฝึกสมถะ

3).สมาธิไปสู่ปัญญา

เมื่อคงสภาพของสมาธิได้แล้ว จึงใช้ปัญญาเข้ามาพิจารณา หรือที่เรียกว่าวิปัสสนา คือการพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริง พิจารณาคุณประโยชน์ของการออกจากสิ่งที่เป็นภัย พิจารณาโทษของสิ่งที่เป็นภัย พิจารณากรรมและผลของกรรมหากเรายังไปเสพสิ่งที่เป็นภัย พิจารณาไตรลักษณ์ คือความอยากเสพนั้นทำให้เราทุกข์อย่างไร ความอยากเสพนั้นไม่เที่ยงอย่างไร มันไม่ได้เกิดตลอดใช่หรือไม่ มันเกิดแล้วมันก็ดับไป พิจารณาอนัตตา คือความไม่ใช่ตัวตนของทุกข์นั้น ความอยากไม่ใช่เรา กิเลสไม่ใช่เรา เรายึดมันมาเอง เราเป็นคนต้อนรับกิเลสเข้ามาในชีวิตเราเอง แท้จริงมันไม่ใช่เรา

4).ปัญญาที่เป็นผลเจริญ

เมื่อสามารถถือศีล อย่างมีสมาธิ และใช้ปัญญาที่เป็นมรรค คือทางเดิน คือกระบวนการ พิจารณาล้างกิเลส จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งที่ปัญญานั้นเต็มรอบ จะสามารถที่จะดับกิเลสนั้นได้อย่างสิ้นเกลี้ยงจะเกิดสภาวะของฌานไปตามลำดับ คือปีติ สุข อุเบกขา ซึ่งจะข้ามวิตกวิจารณ์ไป เพราะทำตั้งแต่ในข้อสามแล้ว ฌานนี้จะไม่เหมือนกับวิธีเข้าฌานนั่งสมาธิ เพราะเป็นฌานเพ่งเผากิเลส จะเกิดก็ต่อเมื่อได้ทำการล้างกิเลสจนเกิดปัญญาที่เป็นผล รู้แจ้งในกิเลสนั้นๆ ซึ่งการเกิดสภาพของฌานแรงหรือเบา ผ่านไปเร็วหรือตั้งอยู่นาน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่นความยากของกิเลสนั้นๆ หรือความเคยชินของการฆ่ากิเลส

5).ปฏิบัติไปจะค่อยๆยากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนมหาสมุทร ลาด ลุ่ม ลึก ไปตามลำดับ

การปฏิบัตินั้น ไม่ได้หมายความว่าจะทำทีเดียวบรรลุธรรมถึงวิมุตติได้เลย จะรู้แจ้งเข้าใจได้เลย แต่จะต้องทำไปตามลำดับ เกิดปัญญาไปตามลำดับ เพิ่มพลังสติไปตามลำดับ ปฏิบัติอธิศีล แปลว่า ยกระดับศีลไปเรื่อยๆ เพื่อปฏิบัติอธิจิต และอธิปัญญา การปฏิบัติเช่นนี้จะเจริญไปเรื่อยๆ แม้ว่าเราจะปฏิบัติศีลที่ยากขึ้น แต่มันจะไม่รู้สึกยากเหมือนกับตอนแรกที่เราเริ่มปฏิบัติธรรม

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าตอนแรกเราตั้งใจเลิกกาแฟเลย มันจะยากมาก มันจะตัดใจยาก มันจะทรมาน มันจะแพ้กิเลสอยู่เรื่อยไป แต่ถ้าเราหัดลดปริมาณการดื่มจากวันละสองแก้วเป็นวันละแก้ว ค่อยๆหัดละจากกินทุกวันเป็นสัปดาห์ละ 3 วัน เพิ่มวันที่ละให้เยอะขึ้นจาก 3..4..5.. วัน จนถึง 1 เดือน 2 เดือน สุดท้ายก็จะสามารถตัดสินใจเลิกได้ง่ายขึ้น เพราะเราปฏิบัติธรรมไปตามลำดับ เจริญไปตามลำดับ เก็บสะสมพลังสติ พลังปัญญาไปตามลำดับ

6).เมื่อถึงเป้าหมาย สามารถอนุโลมถอยกลับมาได้

เมื่อเราปฏิบัติจนสามารถล้างกิเลสนั้นได้จริง เรียกว่าถึงวิมุตติ จะมีสภาพรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงในความอยากนั้น จะไม่มีวันที่จะกลับไปอยากเสพอีก รู้โทษชั่วของการเสพสิ่งนั้น รู้ชัดว่าต้องปฏิบัติอย่างไรถึงจะสามารถทำลายกิเลสนั้นได้ จึงสามารถย้อนกลับไปสอนหรือแนะนำคนที่ยังไม่ผ่านกิเลสด่านนั้นได้ หรือกระทั่งสามารถอนุโลมกลับไปเสพได้ในบางกรณี โดยไม่เกิดบาป เพราะบาปคือการสั่งสมกิเลส ผู้ที่กำจัดกิเลสสิ้นเกลี้ยงแล้ว แม้จะกลับไปเสพก็ไม่บาปแต่อย่างใด แต่จะมีอกุศล หรือโทษภัยบางอย่างเช่น ถ้ากลับไปกินกาแฟ ก็ไม่ได้กินเพราะความอยาก ไม่ได้ติดใจในรสชาติ แต่มีเหตุจำเป็นต้องใช้สารที่ทำให้ตาสว่าง จึงยอมรับผลเสียต่อสุขภาพนั้นไป และถ้าไม่จำเป็นก็จะไม่กลับไปใช้วิธีนั้นอีก จะสามารถทำให้ปัญญาเจริญขึ้นไปได้อีก หาวิธีเลี่ยงสิ่งนั้นเก่งขึ้นอีกเรื่อยๆ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่ายิ่งเสพยิ่งทุกข์

ในขั้นตอนนี้ คนที่หลงว่าตนบรรลุธรรมมักจะเอาไปอวดอ้างว่าตนเองบรรลุธรรมแล้ว ไม่เกิดกิเลสแล้วจึงเสพได้ เสพไปจิตไม่เกิด ไม่คิดอะไร ความหลงในลักษณะนี้มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล วิธีตรวจสอบคือ เราต้องปฏิบัติตนให้เป็นผู้บรรลุธรรมเอง ก็จะทำให้รู้ความแตกต่างของคนที่หลงว่าตนบรรลุธรรม กับคนที่บรรลุธรรมจริง ได้ชัดเจนขึ้น จะประมาณได้เก่งขึ้นว่าแตกต่างกันอย่างไร อันไหนจริง อันไหนหลอก จะกระจ่างขึ้น แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะมีส่วนของวิบากกรรมที่อาจจะมาทำให้การประเมินผิดพลาดได้

เมื่อทุกสิ่งไม่เที่ยง และโลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ การจะไปสนใจคนอื่นนั้นเป็นการเสียเวลาเปล่าๆ สู้เอาเวลาที่มีมาเพ่งเพียรปฏิบัติให้ตนเองเกิดผลเจริญจะดีกว่า ส่วนใครจะของจริงของปลอมอย่างไรมันก็เรื่องของเขา บาปบุญของเขา อะไรดีเราก็ช่วยเหลือส่งเสริม อะไรไม่ดีเราก็ห่างเข้าไว้

7).ได้มาหนึ่ง แต่ต่อไปก็จะง่ายขึ้นเพราะทำเป็นแล้ว

เมื่อสามารถเข้าใจกระบวนการปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือการปฏิบัติไตรสิกขา คืออธิศีล อธิจิต อธิปัญญาแล้ว ความเข้าใจนี้หมายถึงเข้าใจตั้งแต่มรรคไปจนถึงผล เข้าใจตั้งแต่การเริ่มมีปัญญา มาปฏิบัติ จนทำลายกิเลสนั้น ก็จะสามารถนำกระบวนการนี้ไปทำลายกิเลสตัวอื่นๆได้ เพราะกิเลสทุกตัวก็ทำลายเหมือนกันนั่นเอง คือพิจารณาลงไปถึงที่เกิดแล้วใช้ปัญญาพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียต่างๆ เพื่อดับมัน

ในกรณีที่ทำลายกิเลสตัวใหญ่หรือตัวที่ติดมากได้แล้ว เราจะสามารถเก็บตัวเล็กตัวน้อยได้ง่ายขึ้น เช่นเราติดกาแฟแล้วทำลายความอยากกาแฟทิ้ง เราจะสามารถพิจารณาฆ่ากิเลสที่เกี่ยวเนื่องกับกาแฟได้ง่ายขึ้น เช่น ชา โกโก้ เพราะอยู่ในหมวดของความอยากในรส กลิ่น ของกินเล่น ซึ่งก็แล้วแต่ว่าใครจะติดสิ่งใดในมุมไหน ซึ่งเหลี่ยมมุมของกิเลสในแต่ละคนก็จะต่างกัน

8).พลาดไปกับกิเลสเป็นเรื่องปกติ

คนที่ตั้งใจปฏิบัติศีล เพื่อล้างกิเลสนั้น ถ้าปฏิบัติใหม่ๆมักจะมีอัตตาแรง แพ้ไม่เป็น แพ้แล้วชอบล้มเลิก แพ้แล้วชอบตีตัวเองซ้ำ โทษตัวเอง ทำทุกข์ทับถมตน อยากทำลายกิเลสไวๆ อยากให้เกิดผลมากกว่าที่ปฏิบัติ เข้าใจว่าการที่ตนเองปฏิบัตินั้นต้องผ่านกิเลสได้ พอผ่านไม่ได้ก็ทุกข์ อกหักอกพัง

บ้างก็เจ็บ ขยาด หนีไปเลียแผลกันอยู่นาน บ้างก็เลิกถือศีลนั้นไประยะหนึ่ง บ้างก็เลิกปฏิบัติธรรมไปเลย นั่นเพราะเราคาดหวังความสมบูรณ์แบบ คิดว่าทุกอย่างต้องสำเร็จดังใจ คิดว่าเราต้องทำได้ คิดว่าเราต้องไม่พลาด ทั้งๆที่ไม่ได้มองความจริงเลยว่ากิเลสเราช่างหนาและยิ่งใหญ่นัก การจะเอาชนะมันด้วยการคิดเอา จินตนาการเอานั้นเป็นไปไม่ได้เลย

การพลาดไปกับกิเลสแม้ว่าเราจะถือศีล อย่างตั้งมั่น มีสติอย่างเต็มเปี่ยม มันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิด เพราะถ้ากิเลสใดง่าย เราก็จะผ่านมันไปแบบไม่สนใจ ไม่รู้คุณค่า เมื่อผ่านกิเลสง่ายๆได้หมด สุดท้ายก็ต้องตั้งศีลที่ยากขึ้น หรือปฏิบัติอธิศีล เช่น จากกินสามมื้อ ก็หันมากินมื้อเดียว เมื่อถือศีลเกินฐานเดิม ความผิดพลาดก็มักจะมีเป็นเรื่องธรรมดา

การพ่ายแพ้กิเลสเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราจะไม่ล้มนาน และเราจะไม่แพ้ตลอดไป ถึงแม้ว่าเราจะแพ้ เราก็จะหน้าด้านสู้ ตั้งหน้าตั้งตาพิจารณาโทษของกิเลสนั้นต่อไปเรื่อยๆอย่างไม่ย่อท้อ

9).ฝึกสติแต่ไม่ปฏิบัติศีล

เรามักจะได้เห็นการฝึกสติ ที่ไม่ปฏิบัติศีลอยู่เป็นประจำ ดังที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น หากเราปฏิบัติ เจริญสติ แต่ไม่มีเป้าหมาย ก็เหมือนคนที่เพาะกล้ามแต่ไม่รู้จะเอากล้ามไปทำประโยชน์อะไร เหมือนมีดที่ลับคมดีแล้ว แต่ก็ไม่ได้เอาไปหั่นอะไร เหมือนคนที่เรียนรู้วิชามากมาย แต่ก็ไม่ได้เอาไปทำประโยชน์อะไร

การปฏิบัติศีลเหมือนการเข้าสมรภูมิรบ ผู้ที่ฝึกสติแต่ไม่สนใจศีล ก็เหมือนกับสิงห์สนามซ้อม หมูสนามจริง เพราะจริงๆแล้ว เราสามารถพัฒนากำลังสติของเราได้ระหว่างที่ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญาไปพร้อมๆกัน ซึ่งผู้ปฏิบัติอย่างถูกตรงจะสามารถรู้ถึงกำลังสติของตัวเองที่เจริญขึ้นมาได้ เป็นสัมมาสติ เป็นสติที่มีเพื่อการดับกิเลส ไม่ใช่การฝึกสติแบบฤาษีชีพราหมณ์ ซึ่งการฝึกสติหรือทำสมาธิสะสมพลังฌานเช่นนั้นมีมาก่อนศาสนาพุทธแล้ว เป็นการฝึกสติและสมาธิทั่วๆไป ที่มีอยู่คู่โลกตราบโลกแตก ไม่ได้พิเศษเหมือนสติแบบพุทธ หรือสัมมาสติ คือสติที่เป็นไปเพื่อการทำลายกิเลสเท่านั้น

ผู้ที่ฝึกมิจฉาสติมากอาจจะทำให้ไปหลงในฤทธิ์ ในคุณวิเศษ หรือหลงในมโนมยอัตตาของตัวเอง คือการที่จิตตัวเองปั้นภาพ หรือเสียง เหตุการณ์ อารมณ์ ความสุข ฯลฯขึ้นมาเอง เช่นการเห็นผี เห็นนรก เห็นสวรรค์ เป็นการปั้นที่เกิดมาจากกิเลส ดึงสัญญาที่เคยจำไว้ออกมาเป็นภาพ ภาพที่เห็นจะเห็นจริงๆ เสียงที่ได้ยินจะได้ยินจริงๆ แต่ไม่ใช่ของจริง จะรับรู้ได้อยู่คนเดียว เห็นเทวดา ผีสาง นรกสวรรค์ก็เป็นไปตามจินตนาการของคนนั้นคนเดียว กลายเป็นหลงว่าบรรลุธรรม หลงไปติดภพ ติดนิมิต ติดมโนมยอัตตา

คนเหล่านี้จะสามารถพบเหตุการณ์ที่คนอื่นไม่เห็นได้ แต่นั่นไม่ใช่สาระของการปฏิบัติธรรม เพราะกิเลสไม่ตาย อย่างมากก็ได้แค่กดข่มข้ามภพข้ามชาติ เหมือนอาจารย์ของพระพุทธเจ้า คืออุทกดาบส และอาฬารดาบส เข้าได้ถึงอรูปฌาน แต่ทั้งหมดเป็นฌานฤาษี ไม่ใช่ฌานแบบพุทธ ฌานพุทธต้องเกิดจากการเพ่งเผากิเลสเท่านั้น นอกนั้นเป็นสภาวะของการกดจิตให้ดำดิ่งลงไปในภพต่างๆทั้งสิ้น

10).ปฏิบัติศีลเกินกำลังสติ

ก่อนจะเข้าเรื่องว่าอะไรมากไปน้อยไปจะขอเกริ่นเรื่องทางสายกลางเสียก่อน ทางสายกลางของพุทธนั้นต้องเว้นจากทางโต่งสองด้าน คือเว้นจากกามสุขัลลิกะ และอัตตกิลมถะ ซึ่งเป็นบทแรกที่พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรม นั่นคือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

กามสุขัลลิกะ  คือการไปเสพสุขลวง ไปเสพสิ่งที่ทำให้เกิดความสุขและความสุขนั้นมาจากกิเลส ท่านให้เว้นจากทางนี้คือไม่ไปเสพสุขลวง

อัตตกิลมถะ คือการทรมานตนเองด้วยอัตตา คือมีความยึดดี ถือดี ท่านให้เว้นจากทางนี้เช่นกัน คือไม่ให้มีอัตตา

การจะปฏิบัติให้เข้าสู่ทางสายกลางนั้นต้องเว้นจากทางโต่งทั้งสองด้าน กามก็ไม่ไปเสพ อัตตาก็ไม่มี จึงจะเข้าสู่สภาวะของทางสายกลางหรือสัมมาอริยมรรคมีองค์ ๘

การปฏิบัติศีลเกินกำลังสติมักจะเกิดกับคนที่ประมาณไม่เก่ง คนที่โลภ คนที่ไม่เข้าใจการปฏิบัติศีล ก็มักจะถือศีลที่เกินกำลัง เช่นตัวเองอินทรีย์พละน้อย แต่ก็ฝืนไปถือศีลอพรหมจริยา ในระดับอธิศีล คือการไม่มีคู่ ประพฤติตนเป็นโสด ทีนี้ตอนตั้งศีลมันก็คิดเอาได้ แต่พอปฏิบัติจริงมันทำไม่ได้ จิตใจมันโหยหา อยากได้ใครสักคนมาครอบครอง ต้องพบกับความเหงา ความหดหู่ ยิ่งถือศีลยิ่งเก็บกด เพราะในใจอยากมีคู่ แต่มีปมในใจบางอย่างที่ต้องปกป้องตัวเองด้วยการโสด จึงเกิดทุกข์ภายในตัวเอง เข้าข่ายอัตตกิลมถะ(ทางโต่งไปด้านอัตตา)ยึดศีลนั้นว่าดี ทั้งๆที่ศีลนั้นเกิดฐานของตัวเองไปมาก เกินกำลังสติปัญญาของตัวเองไปมาก นอกจากจะไม่เจริญทางจิตใจแล้ว ยังกลายเป็นบาป เพราะมีการทรมานตัวเองด้วยการยึดดี ซึ่งเมื่อปฏิบัติไม่เป็นไปในทางสายกลาง โต่งไปทางด้านอัตตา ก็ไม่มีทางที่จะบรรลุธรรมได้

หรืออาจจะเปลี่ยนขั้วกลับไปทางกามสุขัลลิกะ (ทางโต่งด้านการเสพสุขลวง) ตบะแตก ทำลายศีลตัวเอง เข้าใจว่าถือศีลไปก็ทุกข์ ว่าแล้วก็ไปมีคู่มันซะเลย แต่ไปมีคู่จากความอยาก ความเก็บกด สุดท้ายก็จะเป็นภัยต่อตัวเองอยู่ดี เพราะแทนที่จะมีคู่ด้วยสภาพปกติ แต่กลับเป็นมีคู่ด้วยอาการอยากเสพอย่างรุนแรง มีอาการดูดดึงอย่างรุนแรง เพราะเป็นอาการที่ตีกลับจากทางโต่งด้านอัตตา

ผู้ที่เริ่มปฏิบัติธรรมควรปฏิบัติไปตามฐานของตัวเอง ให้เจริญไปตามลำดับ ค่อยเป็นค่อยไปเหมือนมหาสมุทรค่อยๆลาด ลุ่ม ลึกไปตามลำดับ ไม่ชันเหมือนเหว

11).ปฏิบัติกลับหน้าเป็นหลัง

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าการปฏิบัติธรรมของศาสนาพุทธนั้นเป็นไปตามลำดับ คือการละในสภาวะส่วนของกามสุขัลลิกะ หรือละการหลงเสพก่อน แล้วค่อยละฝั่งอัตตา

เช่นเมื่อเราติดกาแฟ ก็ควรจะทำลายความอยากเสพกาแฟก่อน ไม่ใช่ไปพิจารณาไม่ยึดมั่นถือมั่นตั้งแต่แรก เพราะถ้าพิจารณาล้างอัตตา ล้างความยึดมั่นถือมั่นก่อน มันก็จะเฉโกหรือฉลาดไปในทางกิเลส คือกลายเป็นไม่ยึดมั่นถือมั่นในการกินกาแฟ ว่าแล้วก็กลับไปกินกาแฟเหมือนเดิม แล้วหลงว่าตัวเองบรรลุธรรม

คือลักษณะที่ไม่ล้างกิเลสไปตามลำดับ เอาหลังมาหน้า เอาหน้าไปข้างหลัง ล้างอัตตาก่อนล้างกาม พอไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ไปเสพกามแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็ชั่วอยู่นั่นเอง

พระพุทธเจ้าท่านให้ละกิเลสนั้นทั้ง3ภพ คือละ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ไปตามลำดับ โดยใช้ไตรสิกขา คืออธิจิต อธิศีล อธิปัญญา ดังกระบวนการ 1-7 ที่ได้อธิบายไปข้างต้น

เราต้องละกามภพก่อน กามภพ คือสภาพที่ยังไปเสพ ไปติด ไปยึด ไปเอาสิ่งนั้นมาเป็นของตัว แล้วค่อยละรูปภพ คือสภาพที่ไม่ไปเสพแล้ว แต่ยังมีอาการอยากเสพที่เห็นได้ในจิตตัวเอง ซึ่งก็สามารถข่มใจไม่ให้ไปเสพไว้ได้ และสุดท้ายคืออรูปภพคือสภาวะที่มองไม่เห็นความอยากเป็นรูป ไม่เห็นการปรุงแต่งความอยากชัดๆแล้ว แต่เมื่อไม่ได้เสพจะหลงเหลืออาการขุ่นใจ ไม่สบายใจ โหยหา พะวง หรือจิตใจไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบายนั่นเอง เมื่อละสามภพนี้ไปตามลำดับ จึงจะสามารถพบกับวิมุตติได้

ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติธรรมแบบล้างอัตตา หรือล้างความยึดมั่นถือมั่นก่อน โดยที่ไม่ได้ล้างกาม คือการที่ยังไปเสพสมใจในสิ่งที่ชอบ หรือติดนั้นอยู่ จะเกิดสภาพบรรลุธรรมหลอกๆ หลงว่าตนบรรลุธรรมแล้วเสพได้ กลายเป็นพวกเฉโก ไม่บรรลุธรรม ไม่พ้นทุกข์ เพราะเอาหลังมาหน้า เอาหน้าไปข้างหลัง ปฏิบัติไม่ถูกวิธี

– – – – – – – – – – – – – – –

1.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

มังสวิรัติวิถีพุทธ ปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติ เพื่อการทำลายกิเลส

October 27, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,264 views 0

มังสวิรัติวิถีพุทธ ปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติ เพื่อการทำลายกิเลส

มังสวิรัติวิถีพุทธ ปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติ เพื่อการทำลายกิเลส

การกินมังสวิรัติในทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่มีให้เห็นอยู่บ้างในสังคมไทย ซึ่งกลุ่มคนกินมังสวิรัติมักจะเป็นกลุ่มคนจำนวนน้อย โดยที่คนส่วนใหญ่ต่างพากันชอบใจในรสของเนื้อสัตว์ แต่ในกลุ่มคนที่กินมังสวิรัติ ก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก บ้างก็กินเพื่อสุขภาพ บ้างก็กินเพราะประหยัด บ้างก็กินเพื่อภาพลักษณ์ บ้างก็กินเพราะยึดมั่นถือมั่น บ้างก็กินเพื่อลดกรรม บ้างก็กินเพราะเมตตา บ้างก็กินเพราะลดกิเลสฯลฯ

ผมได้ตั้งกลุ่มขึ้นมาในเฟสบุ๊ค โดยมีชื่อกลุ่มว่า Buddhism Vegetarian โดยให้มีชื่อไทยว่า “มังสวิรัติวิถีพุทธ

หลายคนคงจะสงสัยว่าการกินมังสวิรัติมันเป็นพุทธอย่างไร แล้วกินแบบไหนจึงจะเป็นวิถีพุทธ แล้วถ้ามังสวิรัติเป็นวิถีพุทธจริง ทำไมยังเห็นพระฉันเนื้อสัตว์อยู่เลย…

มังสวิรัติวิถีพุทธ ที่ตั้งกลุ่มขึ้นมาและหมายถึงนั้น คือการปฏิบัติธรรมด้วยการกินมังสวิรัติ โดยใช้วิถีทางของพุทธ คือ วิธีการทั้งหมดเป็นไปเพื่อลดกิเลส เพื่อดับกิเลส คือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นแนวทาง โดยมีสภาพหมดกิเลส หมดความอยากเสพเนื้อสัตว์ หมดความถือดี ยึดดี หลงตนเองว่าดีเหนือใครนั้นลงได้ ทั้งหมดนั้นคือการทำลาย กามและอัตตานั่นเอง

ซึ่งวิธีปฏิบัติที่จะนำมาใช้ก็เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และสอนไว้แล้วตั้งแต่ 2600 กว่าปีก่อน ไม่ใช่วิธีที่คิดขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่นำมาใช้กับกิเลสตัวหนึ่ง คือความอยากเสพเนื้อสัตว์เท่านั้น ดังนั้นกลุ่มจึงพุ่งเป้าไปที่การกำจัดกิเลสตัวนี้ เพราะเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ที่เข้าใจกระบวนการล้างกิเลส จะสามารถนำกระบวนการนี้ไปใช้ในกิเลสตัวอื่นๆที่ตนเองยังยึดมั่นถือมั่นต่อได้

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเพื่อการเริ่มต้น สำหรับผู้ที่ยังสงสัยว่าการปฏิบัติธรรมให้พ้นทุกข์ต้องทำอย่างไร การกำจัดกิเลสต้องทำอย่างไร สภาพที่พ้นจากกิเลสจะเป็นอย่างไร เราจะมาร่วมแบ่งปันวิธีการที่ได้ปฏิบัติมาไม่ว่าจะถูกทางหรือผิดทางก็จะช่วยแนะนำและชี้แจง แถลงไขให้ตรงกับเป้าหมายของกลุ่มคือการกินมังสวิรัติโดยใช้วิถีของพุทธเข้ามาเป็นองค์ประกอบหลัก

เหตุผลหนึ่งที่ต้องชี้ให้ชัดว่าเป็นวิถีพุทธนั้น เพราะการกินมังสวิรัติได้ ไม่ได้หมายความว่าจะลดกิเลสได้ หรือการที่กินมังสวิรัติเป็น ทำอาหารมังสวิรัติเป็น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะลดกิเลสเป็นเช่นกัน

คนที่กินมังสวิรัติได้นั้น อาจจะลดกิเลสได้จริง หรือลดไม่ได้ก็ได้ ซึ่งโดยส่วนมากก็จะเป็นสภาพที่กดข่มความอยากเอาไว้ ส่วนการทำลายความอยาก หรือล้างกิเลสนั้น จำเป็นต้องปฏิบัติตามวิถีพุทธเท่านั้น วิธีอื่นไม่มีทางทำได้

การกินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าจะได้พบกับนิพพาน ไม่ได้หมายความว่าจะกลายเป็นผู้ทรงศีล มีสัตว์กินพืชมากมายเช่น วัว ควาย มันก็กินหญ้าทั้งชีวิต ไม่กินเนื้อเลย แต่มันก็ไม่ได้บรรลุธรรมอะไร เช่นเดียวกัน ถ้าเรากินมังสวิรัติแบบไม่มีปัญญา ก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์กินพืชอื่นๆ

การเลือกกินมังสวิรัตินั้น เราต้องฝืน ต้องอดทนต่อกิเลส ที่สังคมมักจะบอกว่าเราเป็นสัตว์ที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ แต่แท้ที่จริงแล้ว เราเป็นเพียงแค่สัตว์ที่กินตามกิเลสเท่านั้น วัว ควาย กินหญ้าเพราะมันจำเป็นต้องกิน แต่เรากินเนื้อสัตว์มากมายโดยที่หลายครั้งไม่จำเป็นต้องกิน คนที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่พึงพิจารณาเอาเองว่าตนนั้นอยู่ในระดับไหน

ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงประโยชน์ในการกินมังสวิรัติได้ เพราะกิเลสจะรั้งเราไว้ไม่ให้เราทำในสิ่งที่ดี กิเลสมักจะดึงดูดสิ่งที่ชั่วเข้าหาตัว แม้จะมีคนบอกว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นเบียดเบียน แต่คนผู้มากด้วยกิเลสก็มักจะพยายามหาข้ออ้างมาให้ตนได้กินเนื้อสัตว์ได้อยู่ดี นี่คือพลังของกิเลสที่บดบังปัญญาของคน ทำให้คนไม่เอาดี ไม่เอาในสิ่งที่ดี

ถึงแม้ผู้มีปัญญาจะรู้คุณค่าในการกินมังสวิรัติและรู้โทษชั่วจากการกินเนื้อ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้าถึงชีวิตมังสวิรัติได้อย่างทันที ไม่สามารถตัดเนื้อสัตว์ทั้งหมดออกจากชีวิตได้อย่างทันที เพราะแรงของกิเลสนั้นผูกไว้มาก คนที่ผูกกิเลส สะสมกิเลสไว้มากก็จะแก้ยาก ต้องใช้ความเพียรมาก ต้องทุกข์ทรมานมากหากต้องเลิกเนื้อสัตว์ในทันที ส่วนคนที่มีกิเลสน้อย หรือเคยล้างกิเลสมาก่อนแล้ว ก็จะแก้ได้ง่าย เลิกกินเนื้อสัตว์ได้ง่าย

การกินมังสวิรัติวิถีพุทธนั้น เป้าหมายคือดับความอยากจนสิ้นเกลี้ยงตามลำดับของกิเลสที่มี ใครที่ติดเนื้อสัตว์ใดมากก็เสพไปก่อน ใครที่พอลดได้ก็ลองลดดู ใครที่พอละได้บ้างในช่วงเวลาหนึ่งก็ลองละดู ใครที่คิดว่าละแล้วยังปกติดี มีความสุขดีก็ให้เลิกเสพเนื้อสัตว์นั้นไปเลย

แต่การกินมังสวิรัติ หรือไม่กินเนื้อสัตว์ได้ยาวนานนั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถล้างกิเลสได้ ทั้งหมดที่ทำมาอาจจะเป็นเพียงการกดข่มกิเลสเท่านั้น วิธีทดสอบก็คือการกลับเข้าไปทดลองกินอีกครั้ง ถ้ากิเลสลดจริงๆ จะไม่รู้สึกสุขเหมือนอย่างเคย ดีไม่ดีจะทุกข์ด้วยซ้ำไป อาจจะทุกข์ด้วยอัตตา ทุกข์ด้วยความเข้าใจในกรรม หรือทุกข์ด้วยความยากลำบากในการกินเนื้อสัตว์นั้นก็ตาม แต่ที่แน่ๆ ถ้าผ่านแล้วจะไม่มีความยินดี เต็มใจ พอใจ สุขใจในการกินเนื้อสัตว์นั้นอีกต่อไป

…เมื่อเห็นดังนี้แล้วว่า การกินมังสวิรัติอย่างผาสุกและยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องศึกษาและปฏิบัติตามวิถีทางแห่งพระพุทธศาสนาสอดคล้องไปด้วย เพื่อดับความอยากให้สิ้นเกลี้ยง ไม่ใช่กดข่มกิเลสเอาไว้เท่านั้น แต่ต้องดับกิเลสให้สนิทเพื่อความไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นในชาตินี้ ชาติต่อไป และชาติอื่นๆสืบไป เป็นการเรียนรู้การกินมังสวิรัติข้ามภพข้ามชาติ เป็นนักมังสวิรัติตลอดกาลนับตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงวันสุดท้ายของจิตดวงนี้ เพื่อประโยชน์ตนเอง ประโยชน์ผู้อื่นและเพื่ออนุเคราะห์โลกให้เป็นไปด้วยความผาสุก

– – – – – – – – – – – – – – –

27.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ความตายมิอาจพราก…กิเลสและกรรมไปจากเราได้

October 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,710 views 0

ความตายมิอาจพราก...กิเลสและกรรมไปจากเราได้

ความตายมิอาจพราก…กิเลสและกรรมไปจากเราได้

การที่ชีวิตหนึ่งต้องพบกับการจากพรากจนถึงความตายนั้น ไม่ได้หมายถึงการสิ้นสุดของวิญญาณดวงนั้น ความตายเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนแปลงสภาพของร่างกายอันคือภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่ง ซึ่งมีกรรมเป็นผู้ดลบันดาลให้เกิด

กว่าจะตาย…

ยกตัวอย่างเช่น พอเราชอบกินเนื้อสัตว์ กินอาหารปิ้งย่างมากๆ ด้วยกิเลสของเราจึงสร้างกรรมอันเบียดเบียน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้เบียดเบียนย่อมมีโรคมากและอายุสั้น คนบางพวกที่กินเนื้อสัตว์มากจึงมีการป่วยด้วยโรคต่างๆ เช่นมะเร็ง นั่นคือสภาพหนึ่งของกรรมที่ส่งผล เป็นทั้งกรรมจากอดีตชาติคือกรรมจากกิเลสส่วนหนึ่ง กรรมจากผลที่ทำมาส่วนหนึ่ง และกรรมจากกิเลสที่ทำในชาตินี้อีกส่วนหนึ่งสังเคราะห์กันอย่างลงตัวจนเกิดเป็นสภาพของมะเร็ง

โรคที่เกิดขึ้นนั้นมาจาก “นาม” เข้าใจง่ายๆกันว่าอกุศลกรรม หรือพลังงาน หรือจะเข้าใจว่าบาปก็ได้ เพราะส่วนหนึ่งของการเบียดเบียนนั้นเกิดจากกิเลส เกิดจากความอยากเสพ พอมีความอยากเสพมากๆ ก็จะไม่คิดถึงศีลธรรม ไม่คิดว่าชีวิตคนอื่นหรือสัตว์อื่นต้องได้รับทุกข์ร้อนใจอะไร เพียงแค่ได้เสพสมใจตนเองเท่านั้น จึงยินดีในการเบียดเบียนผู้อื่น ยอมสร้างกรรมกิเลสนี้ได้ เพียงให้ได้มาซึ่งความสุขลวง

เมื่อผลของการกระทำหรือวิบากกรรมชั่วนั้นสะสมจนลงตัว เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม จึงสร้าง “รูป” ขึ้นมาให้เห็น รูปในที่นี้คือสิ่งที่เห็นได้ สัมผัสได้ รับรู้ได้ เช่น วัตถุ สิ่งของ ก้อนมะเร็ง หรือเหตุการณ์บางอย่างที่เข้ามาทำให้ร่างกายและจิตใจของเราเป็นทุกข์

แม้จะตายก็ยอมเสพ…

สังเกตได้ว่าแม้ว่าคนเราจะรู้ว่าการสูบบุหรี่จะนำมาซึ่งการเจ็บป่วยทุกข์ทรมาน เหล้าและสารเสพติดจะนำมาซึ่งภัยต่อสุขภาพ อุบัติเหตุ และการวิวาท หรือแม้แต่การกินเนื้อสัตว์ย่างจะมีผลให้ก่อเกิดมะเร็ง แต่เราก็ยังยินดีที่จะเสพสิ่งนั้น แม้ว่าจะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม เราก็ยังอยากจะเสพสิ่งนั้น ประมาณว่าขอตายก็ได้ เพียงแค่ให้ฉันได้เสพสมใจในสิ่งที่ฉันอยาก

มีชาวนาชาวไร่มากมายที่ต้องเสียชีวิตไปจากการสะสมของสารเคมีต่างๆในร่างกาย แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนจะมองเห็นว่าสารเคมีเป็นโทษ หลายคนแม้ได้เห็นการตายของคนใกล้ชิดจากสารเคมีกลับมองว่าไม่ใช่เพราะสารเคมี แม้คนตายนั้นเองก็ไม่ได้โทษสารเคมีที่ใช้เลย นั้นเพราะเขามีอัตตา ยึดมั่นถือมั่นว่าสารเคมีดี สารเคมีเป็นมิตรกับเขาทำให้เขามีผลผลิตและร่ำร่วยมันไม่มีทางฆ่าเขา เห็นไหมว่ากิเลสคนเรามันรุนแรงขนาดไหน ขนาดว่ามันจะฆ่าเราตาย มันฆ่าญาติ พี่น้อง มิตร สหายของเราให้ตายไปแล้ว เรายังไม่เกลียดมันเลย

ดังนั้นความตาย หรือการพิจารณาเพียงแค่ความตายนั้นจึงไม่อาจจะนำไปล้างกิเลสได้เสมอไป เพราะบางครั้งกิเลสของเราจะหนาถึงขั้นยอมตายได้เพียงเพื่อให้ได้เสพสิ่งนั้น

เราตาย กิเลสไม่ตาย

เห็นได้เช่นนั้นว่า แม้ความตายก็ไม่อาจจะพรากกิเลสได้ และเมื่อเราตายกิเลสเหล่านั้นจะหายไปไหน?

กิเลสจะสั่งสมลงในวิญญาณ อยู่ในอุปาทาน ฝังไว้ในรากลึกๆ อยู่ในนาม อยู่ในกรรมของเรา รอวันเวลา ที่วันใดวันหนึ่งเรามีโอกาสที่จะได้ร่างกาย ก็จะนำกิเลสและกรรมส่วนหนึ่งมาสังเคราะห์ให้เกิดเป็นร่างนั้นๆ ดังเช่น ผู้ที่มักเบียดเบียนมักนำความทุกข์มาให้ผู้อื่นสัตว์อื่นชีวิตอื่น ก็มักจะมีโรคมาก

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเสพติดการกินเนื้อสัตว์มาก นอกจากจะทำให้เกิดเป็นมะเร็งที่มาคร่าชีวิตเราแล้ว ยังสามารถให้ผลเป็นร่างกายที่อ่อนแอของเราในชาตินี้ด้วย นั่นเป็นผลที่มาจากการเบียดเบียนในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน

และเท่านั้นยังไม่พอ เมื่อเกิดมาเป็นสัตว์หรือมนุษย์แล้วกิเลสก็ยังมีอยู่ จึงต้องเสาะหาสิ่งที่ตัวเองอยากเสพต่อจากชาติที่แล้ว เช่นเคยเสพติดเนื้อสัตว์ พอชาตินี้ได้มากินเนื้อสัตว์ก็เสพติด แม้คนอื่นเขาจะบอกว่ามันทำให้เกิดทุกข์ โทษ ภัยอย่างไรก็ยังจะยินดีกินเนื้อสัตว์ ติดอยู่ในความอยากเสพเนื้อสัตว์ ออกไม่ได้ง่ายๆ

ต่างจากผู้ที่มีกิเลสเรื่องความอยากเสพเนื้อสัตว์เบาบางหรือล้างกิเลสแห่งความอยากเนื้อสัตว์นั้นได้แล้วเมื่อเขาได้ยินทุกข์ โทษ ภัยที่เกิดจากการกินเนื้อสัตว์ ก็สามารถสลัดความอยาก เลิกเสพเนื้อสัตว์นั้นได้โดยง่าย นี่คือลักษณะของความไม่มีกิเลสที่ติดมาเช่นกัน ให้สังเกตว่าเราสามารถหลุดจากสิ่งนั้นได้ง่ายหรือยาก ถ้าง่ายก็คือบุญบารมีเก่า แต่ถ้ายากแสนยากก็ให้พากเพียรกันต่อไป ผูกกิเลสมาเองก็ต้องมานั่งแก้กันเอง

แม้เราจะตาย แต่กรรมไม่ตายตามเรา

เมื่อเรามีกิเลส กิเลสก็มักจะพาเราไปเบียดเบียนผู้อื่น และผลที่ได้กลับมาคือความสุขเพียงชั่วครู่ กับกรรมที่ต้องรับไว้จากการเบียดเบียน พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเราว่า ไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับโดยที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งที่เราได้รับ เราทำมาแล้วทั้งนั้น

หลายคนอาจจะบอกว่าทำไมฉันต้องได้รับกรรมที่ฉันไม่เคยทำมาด้วย ชาตินี้ฉันยังไม่เคยทำใครเดือดร้อนขนาดนี้เลย!!

บางครั้ง บางเหตุการณ์ ก็อาจจะเกิดขึ้นจากผลกรรมในชาติก่อน สังเคราะห์รวมกันกับกรรมในชาตินี้ เช่นชาติก่อนเป็นคนชอบเบียดเบียนผู้อื่น สัตว์อื่น ชาตินี้ก็เลยต้องมารับกรรมด้วยร่างกายอ่อนแอ มีโรคมาก แถมในชาตินี้ก็ยังชอบกินเนื้อสัตว์ โปรดปรานเนื้อสัตว์ดิบ มักชอบเมนูสัตว์ที่สด เช่น ปลาสด ปูนึ่งสด ปลาหมึกสด กุ้งสด เมื่อกรรมเก่า รวมกับกรรมกิเลสใหม่ในชาตินี้ ก็จะสังเคราะห์ออกมาเป็นทุกข์ โทษ ภัยมากมาย อาจจะแสดงออกมาในรูปของโรคภัยไข้เจ็บ การสูญเสีย ปัญหาภาระหน้าที่การงาน หรือทุกข์ใดๆก็ได้ เพราะกรรมเป็นเรื่องอจินไตย อย่าไปเสียเวลาเดาผลของมันเลย รู้ไว้เพียงแค่ว่า เบียดเบียนคนอื่นแล้วต้องได้รับผลนั้นอย่างแน่นอน

กรรมนี้เองเป็นสมบัติที่จะติดตามเราไปทุกภพทุกชาติ ใครทำอะไรไว้ก็ต้องได้รับผลจนหมด จะหนักจะเบาก็ต้องรับไว้หมด ความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุดของกรรม เพราะเมื่อเกิดขึ้นมาใหม่ก็ต้องรับผลกรรมนั้นไปเรื่อยๆ ดังเช่นในคนที่คิดเห็นว่า “ชาตินี้ฉันไม่ได้ทำชั่ว ทำไมฉันต้องรับกรรมด้วย” ก็นั่นแหละ คือกรรมเก่าของเรา เราทำมาเอง ไม่อย่างนั้นมันไม่มีทางได้รับหรอก เพราะเคยชั่วมาก็ต้องรับกรรมชั่วของเรา

คนเราเวลาได้รับกรรมดีมักจะไม่นึกย้อนว่าตัวเองเคยทำดีมา เพียงแค่คิดว่า โชคดี ลาภลอย จึงไม่ทำเหตุหรือความดีที่จะทำให้เกิดสิ่งดีในชีวิตนั้นอีก แต่พอเกิดสิ่งร้ายที่มาจากกรรมชั่ว ก็มักจะหาคนผิด หาว่าคนอื่นผิด โทษดินโทษฟ้า แต่ไม่โทษตัวเอง คนพวกนี้ก็จะทุกข์สุดทุกข์ และเมื่อมัวแต่โทษผู้อื่นก็จะไม่หยุดทำชั่ว สร้างกรรมชั่วนั้นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุด นั่นเพราะเขาไม่ยอมรับกรรมชั่วที่ตนเคยทำมา เมื่อไม่ยอมรับก็ทำเหมือนมองไม่เห็น โกหกว่าไม่เคยทำมา เมื่อโกหก ก็ได้ทำชั่วไปแล้ว

ดังนั้นแม้เราจะเห็นว่าคนที่ทำดีจะตายไปจากอุบัติเหตุ หรือในเวลาที่เราคิดว่าไม่สมควรทั้งหลายนั้น ให้รู้ว่าเขาได้ใช้กรรมชั่วของเขาหมดไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ความดีที่เขาทำในชาตินี้ก็จะช่วยส่งเสริมเขาในชาติต่อไป ในการเกิดครั้งต่อไป

คนชั่วก็เช่นกัน แม้เราจะเห็นว่าคนชั่วบางคนตายจากไปอย่างง่ายดาย หรือยังไม่ได้รับกรรมอันสมควรก่อนจะตาย ให้รู้ว่าเขาได้ใช้กรรมชั่วของเขาหมดไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ความชั่วที่เขาทำในชาตินี้ก็จะทำให้เขาต้องทุกข์ทรมาน แม้จะเกิดอีกกี่ครั้งเขาก็ต้องรับกรรมที่เคยเบียดเบียนผู้อื่นไว้ และรับไปจนกว่าจะหมดกรรมนั้นๆ

เมื่อเห็นได้ดังนี้แล้ว ผู้ที่มีปัญญาก็จะพากเพียรทำแต่ความดี เพราะรู้ว่าสิ่งที่ดีที่เราได้รับนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากการทำดีในกาลก่อน เพื่อไม่ให้ดีนั้นพร่องลงไป และเพื่อที่จะใช้ความดีนี้สร้างกุศลต่อไป เขาจึงหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส โดยการล้างกิเลส ทำลายกิเลสอันเป็นเชื้อร้ายที่จะก่อกำเนิดสิ่งชั่ว นำมาซึ่งอกุศลกรรมต่างๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องลำบากทั้งในชีวิตนี้และชีวิตหน้า ดับกิเลสตอนนี้ก็สุขได้เลยตอนนี้ หมดกรรมจากกิเลสใหม่ไปเลยตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ต้องรอแบกกิเลสไปดับกันในภพหน้า ชาติหน้า ชีวิตหน้า

– – – – – – – – – – – – – – –

14.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่

September 20, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,717 views 0

เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่

เข้าวัดทำบุญนิสัยแย่

เรื่องนี้มักจะเป็นเรื่องที่ทำให้หลงเข้าใจผิด ทำให้พุทธศาสนิกชนที่ไม่ได้ศรัทธาอย่างจริงจังนึกสงสัยว่า การทำบุญและการเข้าวัดนั้นดีจริงหรือ ในเมื่อคนที่เข้าวัดทำบุญ ยังมีนิสัยที่โกรธ โลภ หลงมัวเมาอยู่เหมือนเดิม ดีไม่ดียังมีอาการเมาบุญเข้าไปอีก ทำให้หลายคนเกิดความลังเลสงสัย หรือแม้กระทั่งเสื่อมศรัทธาในศาสนา

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า คนที่เข้าวัดทำบุญส่วนใหญ่นั้น เป็นคนที่หาที่พึ่งทางจิตใจ เพราะจิตใจของเขาเหล่านั้นอ่อนแอ เปราะบาง สับสน วิตก กังวล สงสัย ไม่เข้าใจ วัดจึงเหมือนเป็นศูนย์รวมคนป่วยทางจิตใจและผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์ไปรวมกันมากมาย ทีนี้กุญแจของเรื่องนี้ก็คือ พระสามารถเป็นหมอที่จะรักษาจิตใจหรือให้ปัญญาแก่ผู้แสวงหาทางเดินของชีวิตได้หรือไม่ สามารถสอนให้คนเป็นคนดีได้หรือไม่

ถ้าพระของวัดนั้นๆ สอนแค่เรื่องทำบุญทำทาน ไม่สอนลดกิเลส คนที่ไปก็อาจจะกลายเป็นเมาบุญ แย่งกันทำบุญ เพราะกลัวตัวเองจะต้องตกนรก กลายเป็นดงผีเปรตโลภเสพบุญกันในวัดนั้นแหละ

มันไม่ผิดเลยถ้าพระที่วัดนั้นๆจะสอนธรรมแค่ระดับการทำทาน ถือศีลหรือทำสมถะในแบบทั่วไป นั่นเพราะท่านก็อาจจะเข้าใจแค่นั้น ซึ่งเอาเข้าจริงๆ พระก็คือคนธรรมดาที่ห่มผ้าเหลืองไปเรียนรู้ธรรมนั่นแหละ ส่วนท่านจะมีความรู้มากแค่ไหนก็อยู่ที่ความเพียรของท่าน ปัญญาที่ท่านมีไม่ได้มีเพราะผ้าเหลือง แต่มีเพราะความเพียรในการศึกษาเรื่องทางธรรมของท่าน แต่หลักสำคัญอยู่ที่ว่า ปัญญาและความรู้นั้น เป็นความรู้ที่สามารถพาลดกิเลส หรือทำได้แค่เยียวยาทุกข์ หรือจะกลายเป็นพาสะสมกิเลส ดังเช่นพระที่ใช้เดรัจฉานวิชาในทุกวันนี้

ดังจะเห็นได้ตามที่กล่าวมา อย่าว่าแต่คนไปวัดเลย พระในวัดก็อาจจะไม่ได้เก่งขนาดที่ว่าจะสอนให้คนพ้นทุกข์ ทีนี้คนทุกข์กับคนทุกข์มาอยู่ด้วยกันมันก็ทุกข์ไปด้วยกันนั่นแหละ มีแต่จะทุกข์น้อยทุกข์มากเท่านั้นเอง พระก็มีทุกข์มีกิเลสของพระ โยมก็มีทุกข์มีกิเลสของโยม ในเมื่อล้างกิเลสกันไม่เป็น ก็เลยพากันเสพกิเลสเพื่อจะได้เสพสุขพักหนึ่งเท่านั้น

การปฏิบัติสมถะทั้งหลาย คือการพานั่งสมาธิ เดินจงกรมนั้น หากได้ศึกษาและเรียนรู้ขอบเขตของการทำสมถะจะพบว่าเป็นการปฏิบัติที่มีเป้าหมายในการทำจิตให้นิ่ง กดข่มจิต ดับความคิด การทำสมถะนี้ ไม่สามารถทำให้บรรลุธรรมใดๆได้ ไม่สามารถทำให้ลดกิเลสได้

สามารถลองดูด้วยตัวเองก็ได้ เช่น วางขนมอร่อยๆที่ชอบไว้ตรงหน้า ทีนี้นั่งสมาธิเข้าภวังค์ไปเลย 1 ชั่วโมง 1 วัน 3 วัน 7 วัน แล้วออกมากิน ถามว่า ความอร่อยนั้นจะลดลงไหม? ความสุขจากเสพลดลงไหม? ไม่ลดลงหรอก เพราะความอร่อยถูกสร้างจากวิญญาณที่มีกิเลส เมื่อไม่ได้ดับกิเลส มันก็ยังรู้สึกอร่อยเหมือนเดิมนั่นแหละ

การทำสมถะคือการดับความคิด ดับจิต ถ้าเก่งมากก็ดับสัญญา คือดับความจำได้หมายรู้กันไปเลย แต่ไม่ได้ดับกิเลสนะ ศาสนาพุทธสอนให้ดับกิเลส ไม่ได้ดับความคิด ต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ใช่ทำตัวเป็นผู้ไม่รู้ ไม่ตื่น ผู้เฉยๆ

รู้ในที่นี้ คือรู้แจ้งเรื่องกิเลส ตื่นตัวไม่หลับใหลเมามายในอวิชชาหรือความโง่ที่พาให้หลงไปในกิเลส ผู้เบิกบานนั้นเกิดจากความปล่อยวางความเศร้ามองที่เกิดจากกิเลสในใจ

การปฏิบัติแบบพุทธต้องมีเป้าหมายแบบนี้ ไม่อย่างนั้นก็จะปฏิบัติกันไปผิดๆ จึงได้ผลแบบไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้จากคนเข้าวัดทำบุญมากมาย แต่นิสัยแย่ ขอลาไปปฏิบัติธรรม 7 วัน กลับมายังเอาเปรียบยังนินทาคนอื่นเหมือนเดิม นั่นเป็นเพราะเขาปฏิบัติมาผิดทาง สอนกันผิดทาง หรืออาจจะสอนถูก แต่คนผู้นั้นมีบาปมาก ไม่ตั้งใจเรียนก็อาจจะทำให้ฟังมาผิดๆ

ในสมัยพุทธกาลก็มีมาแล้ว มีคนที่ฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ตั้งนาน แต่ก็กลับไปแบบไม่ได้อะไร ขนาดมหาบุรุษที่เก่งที่สุดในจักรวาลให้สัจจะอยู่ตรงหน้าก็ยังไม่สามารถเข้าใจและเกิดปัญญาใดๆได้ เหตุการณ์ดังนี้ก็มีให้เห็นมาแล้ว

ดังนั้น การไปเข้าวัดทำบุญ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถทำให้กลายเป็นคนดีได้เลย ดังจะเห็นตัวอย่างในสังคมทุกวันนี้ คนที่เขาทำไม่ดี ทำชั่ว เขาก็ไปวัดทำบุญเหมือนกันกับเราใช่ไหม แต่ทำไมเขาก็ยังไม่หยุดทำชั่ว ไม่หยุดทำเลว ยังโกหก ปลิ้นปล้อน หลอกลวงอยู่เลย

แก่นแท้ของการไปเข้าวัดทำบุญก็คือไปพบปะครูบาอาจารย์ที่มีความสามารถในการสอนสั่งเราไปในทางที่ลด ละ เลิก การยึดมั่นถือมั่นได้ สามารถสอนให้เราล้างกิเลสได้ โดยสามารถบอกขั้นตอนได้อย่างละเอียดพิสดาร เข้าใจได้ไม่ยากนัก ไม่ซับซ้อน เราก็ไปพบท่าน ฟังสัจธรรมจากท่าน แล้วนำมาปฏิบัติจนเกิดผล คือกิเลสเราลดได้จริง นั่นแหละทางถูกที่ควร

แต่ถ้าใครไปวัดทำบุญ เพียงแค่ทำบุญ ใส่บาตร ฝึกสมถะ ก็เหมือนไปเอาแต่เปลือก แต่สะเก็ด เอาแต่ใบ เอาคุณค่าแค่บางส่วน ไม่ได้เอาแก่น เหมือนคนเข้าป่าไปหวังจะเอาแก่นไม้ แต่ก็เด็ดใบไม้กลับบ้านไป แล้วหลงเข้าใจว่าใบไม้นั้นเป็นแก่น แล้วมันจะเป็นคนดีได้อย่างไร….

– – – – – – – – – – – – – – –

20.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์