Tag: ความรัก

บทขยายธรรม ( ผ่าน พบ จบ จาก )

April 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,374 views 0

บทขยายธรรม ( ผ่าน พบ จบ จาก )

บทขยายธรรม ( ผ่าน พบ จบ จาก )

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าในชีวิตหนึ่งของคนเรานั้นผ่านผู้คนมากมาย พบกันคบหากันจนกระทั่งความสัมพันธ์นั้นจบลง แต่เรามักจะไม่ยอมให้มันจากไป ยังกอดเก็บมันไว้ตลอดมา

ในบทความนี้จะขยายธรรมเพิ่มเติมไว้สองเรื่องคือ

  1. ปฏิจจสมุปบาทแบบย่อและประยุกต์มาอธิบายผ่านเรื่องความรัก
  2. การเริ่มต้นหาทางแก้ไขสภาพความยึดมั่นถือมั่นในแบบของพุทธ

= = = = = = = = = = = = = =

1). เหตุของการเกิดไปจนกระทั่งดับ

เนื้อหาหลักของบทความผ่าน พบ จบ จาก นั้นได้สื่อถึง “สภาพที่กิเลสเข้ามาแต่ไม่สามารถสะบัดให้หลุดได้” สภาพเช่นนี้สามารถยกตัวอย่างมาอธิบายได้มากมาย แต่เพื่อความต่อเนื่องจะขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันด้วยเรื่องของความรัก

จิตเดิมแท้ของเรานั้นแม้ว่าจะผ่องใส แต่ก็ไม่มีปัญญา เวลาได้เสพสุขอะไรบางอย่าง เมื่อเกิดสุข ทุกข์ จึงติดใจหรือผลักไสสิ่งนั้น ซึ่งสุดท้ายจะรวมลงไปที่อุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่น) กลายเป็นภพ (ที่อาศัย) และชาติ (การเกิดของกิเลสและการเกิดขึ้นในโลกแบบทั่วๆไป)

เช่นเมื่อเราได้รับความสุขจากสิ่งที่เราเหมาเรียกว่าความรัก ไม่ว่าคำหวานพูดเอาใจ ไม่ว่าการสัมผัสลูบไล้ ไม่ว่าอารมณ์ที่สาสมใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราจะติดสุข เกิดเป็นอุปาทาน กลายเป็นภพคือเราติดสภาพว่าต้องเสพเช่นนั้นเสมอ จึงกลายเป็นชาติ คือการเกิดความรู้สึกว่าจะต้องไขว่คว้าหาสภาพนั้นๆมาเสพ

ถ้าได้เสพสมใจก็เพิ่มความอยาก(ตัณหา)และความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปอีก สะสมลงไปจนกลายเป็นภพและชาติที่จัดจ้านขึ้นไปอีก คืออยากได้เสพสิ่งที่ทำให้สุขมากกว่านี้อีก ก็เพิ่มกิเลสกันไปเช่นนี้

จนกระทั่งวันหนึ่งวิบากกรรมดลให้เกิดสภาพของการ “จบ” จะออกอาการเริ่มจากชรา คือความแก่ ในเรื่องความรักไม่ได้หมายถึงคนแก่ แต่หมายถึงสภาพของรักนั้นได้แก่และเสื่อมลง คือมันเสพก็ไม่สุขเหมือนก่อน ในระยะของความชรานี้เอง คือสภาพที่คนรักเริ่มเอือมระอา ทะเลาะกัน ไม่เข้าใจกัน งอนแต่ไม่ง้อ เป็นต้น

พอชราแล้วก็จะจบความรักนั้นที่สภาพของมรณะ คือตาย หรือ “จบ” ส่วนจะตายจากกันจริงๆ หรือความรักตายจนเลิกรากันนั้นก็คือจบเช่นกัน มรณะเช่นกัน คือสภาพที่เคยได้เสพนั้นได้ตายจากเราไปแล้ว

ทีนี้มัน “จบ” แต่มันไม่ “จาก” ก็ตรงที่กิเลสมันยังมีอยู่ ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ มันยังมีครบอยู่ แต่ไม่ได้เสพสิ่งที่เคยได้เสพ ก็จะเกิดอาการ โศกเศร้า คร่ำครวญรำพัน เสียใจ คับแค้นใจ ความทุกข์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็ด้วยเหตุเช่นนี้

ดังที่ได้กล่าวขยายธรรมะที่สอดแทรกอยู่ในบทความ ผ่าน พบ จบ จาก ด้วยการสรุปบางส่วนจากปฏิจจสมุปบาทมาอธิบายได้ดังนี้

2).การหาหนทางแก้ไขสภาพ ผ่าน พบ จบ แต่ไม่ยอมจาก

จะเห็นแล้วว่าทุกข์นั้นเกิดจากสภาพหลงสุขจนยึดมั่นถือมั่น เราไม่ต้องใช้ปัญญาใดๆในการหลงสุข แต่การจะออกจากความหลงสุขเหล่านั้นจำเป็นต้องใช้ปัญญา ในระดับของวิชชาหรือวิมุตติซึ่งเป็นแก่นแท้ของศาสนาพุทธเข้ามาทำลายความยึดมั่นถือมั่นนั้นเสีย

คนที่ทุกข์จากความรักจะพยายามสะบัด หลีกหนี กลบเกลื่อน ปัดทิ้ง กดข่ม โดยทั่วไปแล้วก็มักจะใช้วิธีสมถะ คือกดไม่ให้มันฟุ้งซ่าน ไม่ให้มันออกอาการ พยายามไม่ให้ทุกข์ด้วยหลากหลายวิธี แต่นั่นก็ยังเป็นวิธีทั่วไป ใช้กดภพ กดชาติได้ แต่ไม่สามารถทำให้ดับอย่างสิ้นเกลี้ยงได้

การแก้ไขสภาพจึงต้องใช้กระบวนการตามหลักใหญ่คืออริยสัจ ๔ คืออันดับแรกต้องเห็นทุกข์ สองคือต้องรู้เหตุแห่งทุกข์ ไม่เห็นเหตุก็แก้ทุกข์ไม่ได้ สามคือจะกระทำความดับเช่นไร สี่คือกระบวนการสู่ความดับทุกข์นั้นกระทำอย่างไร ผู้ที่พยายามจะหาทางออกจากทุกข์อย่างถาวรจึงจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้ธรรมให้กระจ่างแจ้ง

แล้วจะเรียนรู้อย่างไร เรียนอย่างไหน แบบไหนถึงจะถูก พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอวิชชาสูตรว่า การเรียนสัจจะของพุทธนั้นต้องเริ่มจากพบสัตบุรุษ (คนผู้มีธรรมแท้) จึงจะได้ฟังสัจธรรม (ธรรมที่พาพ้นทุกข์) เมื่อฟังด้วยจิตที่ไม่ลำเอียงไม่ผลักไส จึงจะเกิดศรัทธา เป็นศรัทธาที่เห็นพ้องด้วยปัญญา ไม่ใช่แค่เชื่อตามๆกันมา เมื่อเกิดศรัทธาจึงทำใจในใจโดยแยบคาย พิจารณาลงไปถึงที่เกิด ด้วยความมีสติสัมปชัญญะคือความรู้ตัวทั่วพร้อม จนสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำให้เจริญถึงความสุจริตทั้งกาย วาจา ใจ จึงจะเจริญต่อไปได้ถึงสติปัฏฐาน นำไปสู่โพชฌงค์ จนกระทั่งถึงวิชชาและวิมุตติก็ถือเป็นการจบภารกิจในกิเลสเรื่องนั้นๆ

ดังจะเห็นได้ว่า การปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระได้อย่างแท้จริงนั้น ไม่ใช่สภาพที่จะคิดเอาได้ ไม่ใช่จะนึกเอาเองได้ ไม่ใช่จะกดข่มเอาได้ ไม่ใช่ว่าไปฟังเสียงนกร้องไก่ขันแล้วจะบรรลุธรรมหลุดพ้นได้ แต่ต้องเริ่มจากเรียนรู้สัมมาทิฏฐิ การเรียนสัมมาทิฏฐิก็ต้องเรียนจากคนที่มีสัมมาทิฏฐิ

จากอวิชชาสูตรนั้นจะเห็นได้ว่ากว่าจะบรรลุธรรมตามกระบวนการของพุทธนั้นยากแสนยาก ไม่ใช่ว่าจะไปกดข่มเข้าภพแล้วบรรลุธรรมกันง่ายๆแบบฤๅษี กว่าจะพบสัตบุรุษต้องใช้เวลาเท่าไหร่ และถ้าเจอแล้วเราจะมีโอกาสได้ฟังหรือเรียนรู้สัจธรรมไหม ได้ฟังแล้วจะเชื่อไหม จะเห็นตามได้ไหม เข้าใจได้ไหม จะศรัทธาไหม ศรัทธาแล้วจะโยนิโสมนสิการได้ไหม(ทำใจในใจโดยแยบคายพิจารณาลงไปถึงที่เกิด) จะยอมพิจารณาตามไหม จะยอมค้นลงไปไหม หรือจะฟังผ่านๆแล้วไม่เอาไปย่อยต่อ ไม่ทบทวนต่อเลย โยนิโสมนสิการได้แล้วจะสามารถมีสติสัมปชัญญะให้ถึงพร้อมได้ไหม ทำให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราเป็นปกติ(เมื่อเจอผัสสะ)ได้ไหม ทำให้เกิดกาย วาจา ใจ สุจริตได้ไหม เจริญไปถึงสติปัฏฐาน ๔ เป็นไหม เข้าใจโพชฌงค์ไหม จะถึงวิชชาและวิมุตติไหม

การจะยอมจากได้จริงๆ มันไม่ได้ง่ายแค่ว่าเอาบทโพชฌงค์มาสวด เอาสติปัฏฐานมาแยกทำ หรือเอาธรรมะมาท่องจำนะ ถ้าทำได้อย่างนั้นจริงคนก็พ้นทุกข์กันหมดแล้ว แต่เพราะความจริงแล้วมันมีกระบวนการและขั้นตอนที่ละเอียดซับซ้อน และเป็นไปตามลำดับ

แล้วยังไงล่ะทีนี้ ทั้งยากทั้งซับซ้อนขนาดนี้ก็เลยศึกษาเอง สุดท้ายมันก็จะไปไม่รอดนั่นแหละ เพราะผิดจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เว้นเสียแต่ว่าท่านมีปัญญานั้นอยู่แล้ว มีของจริงอยู่แล้ว มันก็สามารถจะรู้ได้เองโดยที่ไม่ต้องมีใครสอน แต่ถ้ายังไม่เคยเรียน ยังไม่เคยรู้ ยังไม่เคยฟังใครสอน ยังไม่เคยพบสัตบุรุษ แล้วมันจะพ้นทุกข์ได้อย่างไรถ้าไม่เคยมีเหตุ(การเรียนรู้ที่ถูก) แล้วผล(การพ้นทุกข์ที่ถูก)มันจะเกิดได้อย่างไร

ในสัมมาทิฏฐิข้อหนึ่งว่าด้วยการเห็นสมณะ (ผู้สงบจากกิเลส) การเห็นสัตบุรุษหรือสมณะนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ เพราะต้องเห็นด้วยปัญญา ไม่ใช่เขาว่าคนนั้นอรหันต์คนนี้พระอริยะก็เชื่อตามเขาโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้อะไรเลย คนที่สัมมาทิฏฐิแม้จะยังมีกิเลสหมักหมมในสันดานแต่ก็จะมีญาณปัญญารู้ได้ เน้นคำว่าว่าญาณ “ปัญญา” มันไม่ใช่มั่วๆนะ มันมีเหตุมีผล มันต้องมีมรรคผล มันไม่ลึกลับ มันอธิบายได้ มันจึงเชื่อ ไม่ใช่แค่ว่าเขาปฏิบัติตามที่เราเชื่อว่าแบบนี้ใช่แล้วมันจะใช่นะ ระวังหลงอุปาทานกันไป บางทีมันพาไปลงนรกทั้งศิษย์และอาจารย์เลย ศิษย์ก็โง่ อาจารย์ก็เมาลาภ ยศ สรรเสริญ (โง่กว่า) ก็เลยเมาแต่งตั้งพระอริยกันในกลุ่มเต็มไปหมด แบบนี้ก็เป็นได้เช่นกัน

สรุปแล้วท่านที่พยายามทำแต่ไม่มั่นใจว่าทำถูกทางก็ให้หยุดเสีย เดินไปในทางตัน ถึงจะเดินไปจนสุดทางก็ต้องเดินวนกลับมาอยู่ดี วิธีแก้ทุกข์ที่เข้าใจนั้น ถ้ามันแก้ไม่ได้ เป้าหมายมันไม่มี มรรคผลมันไม่ชัดเจน มันไม่เห็น มันลังเลสงสัย ก็แนะนำให้เรียนรู้กันเพิ่มเติม เรียนรู้ให้มากอย่าเพิ่งไปยึดมั่นถือมั่นทางใดทางหนึ่ง เพราะถ้าไปยึดทางผิดมันก็เสียเวลาหลงทางเท่านั้นเอง เดินให้มันถูกทางถึงจะช้าแต่มันก็ถึง ดีกว่ารีบเดินเข้าป่า เข้ารกเข้าพง ยิ่งเดินยิ่งหลง

แล้วเราจะมีสัมมาทิฏฐิขึ้นมาได้อย่างไร? พระพุทธเจ้าตรัสเหตุแห่งสัมมาทิฏฐิไว้สองข้อ นั่นคือปรโตโฆสะและโยนิโสมนสิการ คือการเปิดใจและตั้งใจรับฟังสิ่งที่ต่างกับที่ตนเองเชื่อและยึดมั่นถือมั่น และการทำใจในใจโดยแยบคายลงไปถึงที่เกิด การทำใจในใจโดยแยบคายนี้ถ้าเป็นการฟังธรรมก็คือเอาธรรมนั้นมาย่อย มาพิจารณาว่าทำไมต้องเป็นเช่นนั้น สรุปให้เข้าใจง่ายก็เหมือนการทำความเข้าใจโดยไม่มีอคติ (แต่จริงๆล้ำลึกกว่านั้นมาก แต่อธิบายค่อนข้างยาก ขออภัยไว้ ณ ที่นี้)

จะสมมุติเหตุการณ์ดังเช่นว่า ตอนแรกเราไม่สัมมาทิฏฐิหรอก แต่บังเอิญว่าเจอพระอริยะ เราก็ไม่รู้จริงๆหรอกนะว่าใช่ไม่ใช่ ทีนี้ด้วยความที่เห็นรูปท่านสวยดูมีศีลมีธรรมก็เลยอยากลองของ หรือได้ยินว่าคนนี้มีดีนักหนา หรือได้ยินคนนี้อ้างว่าตนเองเป็นพระอริยะบ้าง พระอรหันต์บ้าง เลยชวนสนทนาธรรม แต่ด้วยจิตที่มีอติมานะเช่นนั้นเอง (ชอบข่มหรือดูหมิ่นผู้อื่น) พอเขาพูดอะไรมาเราก็ตั้งแง่ เพ่งโทษฟังธรรม จ้องจับผิด ฟังนะแต่ไม่ฟัง พยายามจะคิดหาข้อแย้ง เพราะไม่ตรงกับที่ตนเองเรียนรู้มา (คือที่รู้มามันมิจฉาทิฏฐิอยู่แล้ว เพราะถ้าสัมมาจริงมันจะรู้ทั้งมิจฉาและสัมมา มันจะไม่สงสัย)

พอตนเองมิจฉาแล้วยึดมั่นมิจฉาอยู่อย่างนั้นก็ทำได้แค่เถียงเอาชนะ เพราะที่เขาพูดนั้นไม่ตรงกับที่ตนเลย(มันไม่มีทางตรงอยู่แล้ว) และไม่มีใครที่จะยอมรับว่าตนมิจฉาง่ายๆเป็นแน่ จึงพลาดการเรียนรู้ไปอย่างน่าเสียดาย สุดท้ายแม้ว่าจะเถียงชนะหรือจะจำนนด้วยหลักฐานแต่ไม่เชื่อ ยังยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตนเชื่ออยู่ ก็จะได้รับมิจฉาทิฏฐิเพิ่มขึ้นพร้อมกับได้รับวิบากกรรมจากการเพ่งโทษพระอริยะไปเป็นสมบัติอีก ซวยไปสองต่อ

อันนี้แค่ขั้นปรโตโฆสะนะ โยนิโสมนสิการจะลึกลงไปอีก แต่จะยกไว้เพียงเท่านี้ก่อน ส่วนคนที่ยังมิจฉาทิฏฐิแต่เขามีปรโตโฆสะ คือตั้งใจฟังคนอื่น และมีโยนิโสมนสิการ คือเอาที่ได้ฟังนั่นไปพิจารณาในใจโดยแยบคาย เขาก็จะมีโอกาสได้เรียนรู้สัมมาทิฏฐิ และนี้เองคือจุดเริ่มต้นของสัมมาทิฏฐิ มันไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง แต่มันมีเหตุมีผลตามธรรมของมัน ไม่ใช่สิ่งบังเอิญ ไม่ใช่เรื่องเร้นลับอะไร

สรุปคือ คนที่ฟังคนอื่นและนำไปพิจารณาต่อก็จะเจริญไปถึงสัมมาทิฏฐิในสักวันหนึ่ง เพราะถ้าหยุดชั่ว ทำดีไปเรื่อยๆ มันก็จะวนเวียนไปเจอแต่คนดี ซึ่งก็คงมีบ้างหากจะมีพระอริยะวนเวียนผ่านไปผ่านมาในชีวิตโดยที่เราไม่รู้ แต่เพียงแค่เราไม่มีอัตตาที่จัดนัก ไม่มีความยึดมั่นถือมันที่มากนัก เราก็จะมีโอกาสได้เรียนรู้ในวันใดวันหนึ่ง

ต่างจากคนที่เก่งแล้ว เข้าใจแล้ว แต่ยังมิจฉาทิฏฐิ คนพวกนี้จะไม่มีวันเปิดใจฟังหรือตั้งใจฟังสิ่งที่ต่างจากตัวเองคิดเลย เพราะหลงว่าตนรู้แล้ว เข้าใจแล้ว ของตนนี่แหละแท้ ตนนี่แหละแน่ มันก็เลยหลงมิจฉาทิฏฐิกันเช่นนี้ แล้วโลกนี้อะไรมันจะมากกว่ากัน คนถูกหรือคนผิด

ทีนี้คนที่สัมมาทิฏฐิก็ต้องยืนยันว่าตนถูก มิจฉาทิฏฐิเองก็ยืนยันว่าตนถูก แล้วยังไงล่ะ เราจะมีปัญญาแยกอย่างไร จะจบบทความนี้ด้วยกาลามสูตรว่าด้วยเรื่องการอย่าเชื่อสิ่งใดๆง่ายเพียงแค่ได้ยินได้ฟังมา หรือเพราะเขามีชื่อเสียง หรืออีกหลายๆเหตุผล พระพุทธเจ้าได้ตรัสกำชับในตอนสุดท้ายว่า พึงพิจารณาเอาเองว่าสิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล ถ้าเป็นกุศลก็ให้เข้าถึงสิ่งนั้น ส่วนอกุศลให้ละเสีย

นั่นหมายถึง มันจะไม่รู้แต่แรกหรอก ก็ให้ลองปฏิบัติดู ถ้ามันถูกจริงชีวิตมันจะดีขึ้น มีแต่ความสุขความเจริญแม้ไม่ได้เสพอย่างเคย แต่ถ้าปฏิบัติแล้วชีวิตมันแย่ลงก็ให้ถอยออกมาแค่นั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

5.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

 

เสพแต่สุข ทุกข์ไม่เอา

April 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,581 views 0

เสพแต่สุข ทุกข์ไม่เอา

พอได้เสพหลงเป็นสุขไม่ระวัง พอทุกข์ขังเกลียดชิงชังรีบผลักไส

จิตใจโลภหวังแต่เสพไม่เอาภัย ความจริงไซร้สุขและทุกข์อยู่คู่กัน

 

คนเราเวลาได้เสพสุขมักจะประมาท ไม่ทันระวังภัยที่จะเป็นผลตามมา

อย่างเช่นในเรื่องของการมีคู่หรือที่เข้าใจกันไปว่าความรัก

ตอนได้รักมักจะเสพแต่สุข ไม่ระวังตัว ไม่ศึกษาธรรมะ ไม่เข้าใจความจริง

หลงวนเวียนอยู่กับการเสพกามและอัตตาจนมัวเมา

เมื่อหมดวิบากกรรมชุดที่ได้เสพนั้นๆ ก็จะต้องถูกพราก ไม่มีให้เสพสุขเหมือนเดิม

คนเหล่านั้นก็จะทุกข์ ทรมาน โศกเศร้า คร่ำครวญ รำพัน ร้องไห้ เสียใจ

พอตอนเสพสุขมันมัวเมา ก็เสพอย่างไม่ลืมหูลืมตา

พอเป็นทุกข์ขึ้นมา ตาก็ไม่ได้สว่างอะไร แค่เสียของรักแล้วฟูมฟาย

จมอยู่ในกามและอัตตา(ที่ไม่ได้เสพ) เช่นเคย

คนเรานี่มันจะเอาแต่ได้ มันจะเอาแต่สุข พอมันทุกข์มันจะไม่เอา

พยายามจะหนี กดข่ม ปัดทิ้ง เปลี่ยนเรื่อง หาสุขอื่นมาเติม

มันก็วนอยู่อย่างนั้นเอง ถ้าไม่ไปสร้างเหตุให้มันทุกข์แต่แรกก็ไม่ต้องลำบาก

…แต่ใครเล่าจะสนใจ เพราะเวลาสุขจากการได้เสพกามและอัตตา

ธรรมะมันหายไปหมด ศีลธรรมมันเสื่อมไปหมด ทิ้งศีล ทิ้งธรรมกันไปเลย

สร้างเหตุแห่งทุกข์ แล้วผลมันก็ต้องทุกข์ นรกจึงเกิดด้วยเหตุอย่างนี้เอง

 

– – – – – – – – – – – – – – –

5.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทำไมไม่ลงเอย

March 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,067 views 0

ทำไมไม่ลงเอย

ถาม : มีความรักแล้วจบลงด้วยการเลิกราทุกครั้ง คนที่รักไปแต่งงานกับคนอื่น มีวิบากกรรมอะไร ทำไมถึงไม่ได้ลงเอย

ตอบ : เพราะไม่ได้มีกรรมร่วมกัน ก็เลยไม่ได้ลงเอย คนที่ไม่ได้ร่วมเวรร่วมกรรมกันมาจนมีพลังงานที่พอเหมาะ คือไม่มีนามธรรมที่สมเหตุสมผล จึงไม่เกิดรูปธรรม คือไม่เกิดเหตุการณ์นั้นๆขึ้น

ถ้าตอบตามแบบทั่วไปก็จะตอบได้ว่าสะสมบุญบารมีร่วมกันมาไม่มากพอ แต่จริงๆแล้วการคู่กันจนกระทั่งได้แต่งงานนั้นคือ “บาปและอกุศล” ดังนั้นถ้ามองตามความจริง คนที่ได้คบหาดูใจกัน จนกระทั่งแต่งงานมีลูกด้วยกันนี่แหละคือคนที่มีเวรมีกรรมต่อกันจะต้องมาใช้หนี้กันและกัน แต่ในระหว่างใช้หนี้เก่าก็สร้างหนี้ใหม่เพิ่ม ดังนั้นจึงต้องมีครอบครัวผูกมัดไว้เพื่อใช้หนี้กรรมอย่างไม่จบไม่สิ้น

จะขอตอบขยายเพิ่มเติมเพื่อไขข้อข้องใจอื่นๆดังนี้

1). กรรม

ผลของกรรมเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะออกมาแบบไหน ส่วนเราไปทำกรรมอะไรไว้ ในชาตินี้ก็คงพอจะนึกย้อนได้ แต่ของเก่าก็อย่าไปเดาให้เสียเวลา ให้รู้ชัดๆแค่ว่าสิ่งนี้แหละ ฉันทำมาเอง ฉันเป็นคนทำแบบนี้มา ก็แค่รับสิ่งที่ตัวเองทำมาก็เท่านั้นเอง

กรรมที่เห็นนั้นมีความซ้อนของกรรมดีและกรรมชั่วปนกันอยู่ หลายคนอาจจะมองว่าการไม่ได้แต่งงานเกิดจากกรรมชั่ว ซึ่งนั่นก็ไม่แน่เสมอไป แต่ที่แน่นอนคือกรรมชั่วทำให้เกิดความทุกข์ ส่วนการไม่ได้แต่งงานนั่นแหละคือกรรมดี เพราะทำให้เราแคล้วคลาดจากการผูกมัดด้วยบ่วงกรรมถึงแม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตามที

ในความไม่ดีมันก็มีสิ่งดีซ่อนอยู่ ดังนั้นหากจะเหมาว่าเป็นกรรมชั่วทั้งหมดก็คงจะไม่ใช่

2). ทุกข์จากการเสียของรัก

เมื่อสูญเสียสภาพของคู่รัก หรือคนที่หมั้นหมายว่าจะแต่งงานไป ก็คือการเสียของรัก ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของโลกที่เราทุกคนจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักและหวงแหน

ถึงจะได้คบหาหรือแต่งงานไป สุดท้ายก็อาจจะต้องเสียไปในวันใดวันหนึ่งอยู่ดี ไม่ตายจากไป ความรักนั้นก็อาจจะตายจากไปแทนก็ได้ ซึ่งการยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆก็ตาม แม้ว่าจะรักและดูแลดีแค่ไหน แต่สุดท้ายเราก็จะต้องเสียมันไป

ความทุกข์ที่เกิดขึ้น นั้นเกิดจากสภาพที่ไม่ได้เสพของรักอย่างเคย ซึ่งเกิดจากการเสพติดหรือการยึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้นมาเป็นของตนแล้วหมายว่าจะได้เสพสิ่งนั้นตลอดไป พอโดนกรรมของตัวเองแย่งของรักไปก็ทุกข์ใจ โวยวาย ร้องห่มร้องไห้กันไปไม่ต่างอะไรจากเด็กโดนแย่งของเล่น

3). คุณค่าในตน

ความทุกข์จากการสูญเสียแท้จริงแล้วมาจากความพร่อง เราจึงใช้สิ่งอื่น หรือคนอื่นเข้ามาเติมเต็มความพร่องในชีวิตจิตใจของเราเอง อย่างเช่นว่าเราเหงา เราก็เลยอยากหาใครสักคนมาอยู่เป็นเพื่อน หรือว่าเราอยากสบายเราก็เลยอยากหาใครสักคนที่จะฝากชีวิตไว้ฯลฯ

ซึ่งความพร่องเหล่านี้เองทำให้เราพยายามหาสิ่งอื่นมาเติมเต็มตัวเอง แต่ความจริงแล้วไม่มีวันที่จะหาใครที่พอเหมาะพอดีกับอัตตาของตัวเองได้ เว้นแต่ตนเองเท่านั้น ไม่มีใครสามารถทำให้เรามีความสุขได้ตลอดไป แม้จะหาคนที่หมายมั่นได้ดั่งใจ แต่สุดท้ายวันหนึ่งเสียไปก็ต้องเสียใจอยู่ดี

ดังนั้นการแก้ปัญญาจึงควรเพิ่มคุณค่าในตนเอง สรุปง่ายๆเลยว่าใช้การเพิ่มอัตตาเข้ามาบดบังพื้นที่ ที่เคยว่างเว้นให้คนอื่นเข้ามาเติมเต็มชีวิต คือทำให้ชีวิตตนเองนั้นเต็มไปด้วยคุณค่าและความเป็นตัวของตัวเองเสียก่อน ดังคำว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” อย่าไปหาคนอื่นมาเป็นที่พึ่งของเรา อย่าเอาเขามาสนองกิเลสของเรา ใช้อัตตาของเรานี่แหละทำเราให้เป็นคนที่เต็มคน

และต่อมาเมื่ออัตตาเต็มก็จะกลายเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเอง แข็งแกร่ง อดทน แล้วตอนนั้นก็ค่อยจัดการกับอัตตาในตัวเองต่อ จนกระทั่งกำจัดอัตตาหมดก็ถือว่าจบภารกิจในเรื่องคู่

4). อย่าหลงตามสังคม

ที่มาของคุณค่าลวงๆก็มาจากคำลวงในสังคมนี่แหละ ที่หลอกกันต่อๆมาว่าคนมีครอบครัวถึงจะมั่นคง คนมีคู่ถึงจะมีคุณค่า เรามักจะได้ยินคำว่า “ไม่มีใครเอา” หรือเข้าใจโดยสามัญว่าคนที่มีอายุสัก 30 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ได้แต่งงานคือคนที่กำลังจะขึ้นคานเพราะไม่มีใครเอา

ความเห็นความเข้าใจแบบโลกๆนี้เป็นความเข้าใจที่มาจากกิเลส มาจากความไม่รู้ มาจากความหลงผิด มาจากความโง่ ในความจริงแล้วเราควรจะสรรเสริญความโสด แต่คนผู้หนาไปด้วยกิเลสจะไม่เป็นแบบนั้น เพราะความโสดจะทำให้ไม่ได้เสพ ไม่ได้สมสู่ ซึ่งเขาเหล่านั้นก็จะบอกว่าการแต่งงานมีคู่นี่แหละดี เพราะตนเองจะได้เสพอย่างไม่ต้องรู้สึกผิดเพราะใครๆก็ทำกัน

สังคมอุดมกิเลสแบบนี้ก็จะมีความคิดไปในทางสะสมกิเลส สนองกิเลส สร้างวิบากบาป พาลงนรก ถ้าเรายังตามสังคมไปโดยไม่มีปัญญาก็จะเสื่อมไปตามเขาเป็นแน่ แต่ถ้ายึดพระรัตนตรัยเป็นหลักไม่ปล่อยให้ชีวิตตกร่วงไปตามสังคมก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ

5). ความเบื่อแบบโลกๆ

ความรู้สึกเบื่อกับปัญหา หรือเบื่อความรักจนไม่ยอมหาความรัก อย่าคิดว่านั่นคือกิเลสตาย เพราะความเบื่อนั้นก็แค่ความเบื่อแบบโลกๆ ที่มีเหตุผลอื่นเป็นตัวกดข่มความอยากหรือยังไม่ถึงเวลาที่ควรของกิเลสนั้นๆ

ตัณหา(ความอยาก)เมื่อไม่ได้แสดงอาการจะสั่งสมลงไปเป็นอุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่น) เก็บเป็นพลังบาปไว้อย่างนั้น เมื่อเจอคนที่ถูกใจจากคนที่เคยเบื่อๆก็อาจจะอยากมีความรักก็เป็นได้

ซึ่งในสภาพของการทำลายกิเลสนั้น จะต้องทำลายตอนที่มีความอยาก ไม่ใช่ปล่อยให้ความอยากสงบจนเป็นอุปาทานแล้วบอกว่าเบื่อหรือบอกว่ากิเลสตาย สภาพนี้เองที่ทำให้คนที่เจ็บจากความรัก คนป่วย คนแก่ ฯลฯ ดูเหมือนว่าจะไม่สนใจความรักทั้งๆที่ทั้งหมดนั้นเป็นความเบื่อแบบโลกๆเท่านั้นเอง

คนที่แต่งงานแล้วเบื่อครอบครัวก็เช่นกัน เพราะมันได้เสพจนเบื่อแล้วมันก็เลยเกิดอาการเบื่อแบบโลกๆ บางครั้งอาจจะทำให้เราหลงไปว่าเราไม่ได้ยึดติดกับความรักแล้ว เลยทำให้ไม่ศึกษาเรื่องกิเลสให้ถ่องแท้ เกิดมาชาติหน้าก็มีคู่อีกแล้วก็เบื่ออีกเป็นแบบนี้วนไปมาเรื่อยๆ

6). ขอบคุณความโสด

ความโสดดำรงสภาพได้จนทุกวันนี้ ต้องขอบคุณทุกคนที่ผ่านมานะ คนที่เข้ามาคบหา คนที่เข้ามาบอกว่าจะแต่งงานกัน แม้ว่าสุดท้ายเลิกราหรือหนีไปแต่งงานกับคนอื่นก็ตาม

นั่นคือโอกาสที่เราจะไม่ต้องไปรับเวรรับกรรม ไม่ต้องไปทำบาป ไปสะสมบาป คอยสนองกิเลส ไม่ต้องเอาใครมาผูกเวรผูกกรรมกันอีกไม่ต้องมีสิ่งไม่ดีร่วมกันอีกเลย

แต่ที่เราไม่ขอบคุณความโสดเพราะเรามีกิเลสมาก กิเลสจะบังคุณค่าของความโสดจนมิด เรียกว่าโสดไร้ค่าไปเลยทีเดียว ถ้าได้ลองล้างกิเลสของความอยากมีคู่จนหมดจะรู้ได้เองว่า ความโสดนี่แหละคือคุณค่าแท้ๆที่เหลืออยู่ ส่วนความรู้สึกสุขของคนมีคู่นี่มันของเก๊ มันคือสุขลวงๆ ที่เอามาหลอกคนโง่ให้ทุกข์ชั่วกัปชั่วกัลป์

– – – – – – – – – – – – – – –

30.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ดอกไม้กับความรัก

February 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,117 views 0

ดอกไม้กับความรัก

ดอกไม้กับความรัก

ย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อน สมัยที่ผมยังเป็นเด็กประถม เด็กน้อยคนหนึ่งที่ชอบปลูกต้นไม้….

หน้าบ้านของผมมีพื้นที่โล่งๆ เป็นทุ่งกว้างแต่ก็ไม่มีอะไรนอกจากกอหญ้าและวัชพืชทั้งหลาย พื้นที่ของมันกว้างขนาดมองทะลุไปอีกซอยได้เลยทีเดียว สำหรับเด็กคนหนึ่งนั่นคือสนามเด็กเล่นที่ใหญ่มาก

ผมใช้เวลากับทุ่งแห่งนั้นอยู่บ่อยครั้ง มีครั้งหนึ่งที่ผมไปเจอต้นไม้ต้นหนึ่ง หน้าตาไม่คุ้นสักเท่าไรนัก แต่สิ่งที่น่าสนใจของมันคือดอก เป็นช่อที่มีลักษณะแปลกประหลาดกว่าต้นหญ้าและดอกไม้ทั่วไปที่ขึ้นอยู่แถวนั้น บนพื้นที่กว้างใหญ่แห่งนี้มีเพียงต้นนี้ต้นเดียว

เมื่อรู้สึกถูกอกถูกใจต้นไม้ที่มีดอกสวยแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนก็จึงเกิดความอยากได้ ผมจำได้ว่าสุดท้ายก็ไปขุดต้นไม้ต้นนั้นกลับมาใส่กระถางที่บ้าน ทั้งๆที่ระยะของต้นไม้กับบ้านห่างกันไม่ถึงร้อยเมตร

แม้ว่าจะเป็นเด็กแต่ผมก็เคยเห็นดอกไม้มามากมายจากหนังสือ แต่ในหนังสือกับความจริงไม่เหมือนกัน พอเราเจอสิ่งที่แตกต่าง ไม่ทั่วไป ดูโดดเด่น เราก็มักจะสนใจสิ่งนั้น

สุดท้ายต้นไม้ที่มีดอกแปลกใจถูกใจผมต้นนั้น ด้วยความที่ไม่รู้วิธีดูแลหรืออาจจะขุดมาแล้วต้นบอบช้ำ ต้นไม้ก็ค่อยๆเหี่ยว ร่วงโรยและตายจากไปในที่สุด แน่นอนว่าผมเสียใจที่ต้องเสียมันไป

….เป็นเรื่องง่ายๆที่เข้าใจได้ไม่ยาก ผู้ใหญ่ก็คงจะมองว่าเอามาทำไม ปล่อยมันโตอยู่แบบนั้นก็ได้ดูทุกวันแล้ว ทำไมต้องเอามาครอบครอง มันก็เป็นแค่ต้นไม้ต้นหนึ่งในทุ่งกว้างเท่านั้นเอง ถ้าไม่อยากได้ก็ไม่ต้องขุด ต้นไม้ก็ไม่ต้องตาย อาจจะเติบโตและแพร่พันธุ์มากขึ้นก็ได้ แต่สำหรับผมในตอนนั้นมันไม่ได้ง่ายแบบนั้น ต้นไม้ต้นนั้นเป็นความหวัง เป็นความสุข เป็นทุกอย่าง

….ความรักก็เช่นกัน

แม้ว่าคนอื่นจะมองว่าไม่น่าจะหลงและเมามายกับความรักได้ขนาดนี้แต่คนที่มีแต่ความอยากได้อยากครอบครองจนเต็มหัวใจ ต่อให้มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าเท่าไหร่ก็คงจะมองไม่เห็น หรือจะเรียกให้ถูกคือไม่อยากมอง อยากได้รักนั้นมาเก็บไว้กับตัวอย่างเดียว มองความรักเป็นเรื่องที่ต้องได้มา ต้องได้ครอบครอง ต้องได้เป็นเจ้าของโดยไม่สนใจผลจะเป็นอย่างไร ขอให้ได้พรากจากจุดที่เขาอยู่มาเป็นของเราก็พอ

ต้นไม้จะเติบโตและงดงามก็ต่อเมื่อมันอยู่ในจุดที่มันควรจะอยู่ คนก็เช่นกัน เขาหรือเธอจะสามารถแสดงคุณค่าและความหมายของชีวิตได้ก็ต่อเมื่อพบที่ที่ควรจะอยู่ สิ่งที่ควรจะทำ ซึ่งนั่นหมายถึงเขาจะต้องค้นหาความหมายเหล่านั้นด้วยตัวเอง มันไม่ได้หมายความว่าการที่เรามีสิ่งดี เป็นคนดี มีเงิน มีตำแหน่ง มีชื่อเสียง มีความรู้ มีธรรมะ แล้วจะสามารถนำใครเข้ามาในชีวิตได้เสมอไป

มันเหมือนกับที่ผมมั่นใจว่าจะดูแลต้นไม้ที่ขุดมาได้ ผมมีทั้งดิน ปุ๋ย น้ำ แสงแดด มีทุกอย่างที่คิดว่าจะทำให้มันเติบโตและงดงาม แต่ความจริงได้ทำลายความเชื่อของผมลงอย่างสิ้นเชิง ต้นไม้จะโตและงดงามได้ก็ต่อเมื่อมีปัจจัยที่เหมาะสม ไม่ได้หมายความว่ามีมากจะดี แต่ต้องมีให้เหมาะสม

เช่นเดียวกับความรักความห่วงใย แม้ว่าเราจะมีสิ่งที่ดีมอบให้กับใครได้มากมายแต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเหมาะสม เขาจะมีความสุข อบอุ่น สบายใจก็ต่อเมื่อได้รับสิ่งที่เหมาะสมเท่านั้น เราไม่มีวันประมาณให้สิ่งใดเหมาะสมกับคนอื่นได้ถูกต้องเสมอไป

แต่ด้วยความอวดเก่ง อวดดี ยึดดีถือดี ก็มักจะคิดว่าฉันนี่แหละจะสามารถดูแลเขาได้ ฉันนี่แหละจะสามารถทำให้เขามีความสุขได้ ฉันนี่แหละจะทำให้เขาเก่งและเจริญก้าวหน้ายิ่งกว่านี้ได้ ฉันนี่แหละจะมาเป็นคนที่ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น … คนที่เห็นผิดจะมีความเข้าใจในแนวทางนี้

แท้จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องครอบครองใครเลย ไม่จำเป็นต้องนำใครเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของชีวิต เพราะเขาเหล่านั้นก็ดำเนินชีวิตไปอย่างดีที่สุดที่เขาควรจะเป็นแล้ว การพยายามฝืนให้ใครสักคนเข้ามาในชีวิตจะต้องพบกับทุกข์ ทุกข์ และทุกข์ที่ปนเปไปกับสุขลวงเล็กน้อยที่ทำให้เราเห็นว่าดี ได้รับแค่สุขน้อยทุกข์มาก สุขลวงทุกข์แท้

ถ้าเราไม่มีความอวดเก่งอวดดี ไม่ถือว่าเราเป็นคนสำคัญ เราก็คงจะไม่นำใครเข้ามาในชีวิต เราจะอยู่อย่างเจียมเนื้อเจียมตัวว่าเราไม่สามารถเข้าไปทำให้ชีวิตของใครดีขึ้นได้จริงๆหรอก

เหมือนกับเรื่องของผมและต้นไม้ หากผมเองไม่มีความหลง ไม่มีความอวดเก่ง คิดไปเองว่าตัวเองจะดูแลต้นไม้ต้นนั้นได้ ก็คงจะระวังมากกว่านี้ คงไม่ไปขุดต้นไม้ต้นนั้นมาไว้ที่บ้านตัวเอง คงจะปล่อยต้นไม้ให้ออกดอกไปแบบนั้น คอยชมและดูแลมันอยู่ห่างๆตามที่มันควรจะเป็น ปุ๋ยที่เรามีก็สามารถเดินไปใส่ให้ต้นไม้ต้นนั้นได้ ใส่บนพื้นดินที่มันงอกอยู่ และเอาน้ำมารดบนพื้นดินที่ไม่ได้เป็นของเรา เพราะเราแค่เพียงอยากเห็นต้นไม้นั้นออกดอกงดงาม ไม่ได้อยากให้มันเป็นของเรา

ความรักก็เช่นกัน เราไม่จำเป็นต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในชีวิตใครเลย ถึงแม้เราจะรักและห่วงใยเขาแค่ไหน เราก็เพียงแค่คอยช่วยเหลืออยู่ห่างๆ คอยช่วยในแบบที่เขาเป็น ไม่ใช่แบบที่เราอยากให้เป็น ดูแลและแนะนำในบริบทของเขา ในความเข้าใจแบบของเขา อย่าพยายามเอาความรักและความดีไปทำให้เขาเปลี่ยนไป ถ้าเขาจะเปลี่ยนแปลงเพราะเห็นสิ่งที่ดีในตัวเราเขาก็จะเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาเอง

ถ้าเขาเห็นว่าความคิดที่เขามี ชีวิตที่เขาเป็น หรือสิ่งที่เขาเชื่อมั่นนั้นไม่ได้ทำให้เขาเป็นสุขหรือทำให้ชีวิตดีขึ้น และเห็นว่าความรักความห่วงใยที่เรามอบให้นั้นเป็นสิ่งที่ดี เขาก็จะมารับจากเราเอง ถ้าเราคือที่ที่เขาจะสามารถเติบโตได้ดีที่สุด เขาก็จะมาเอง

แต่ถึงแม้ว่าเขาจะยินดีมารับความรักและความห่วงใยจากเรา ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องรับเขาเข้ามาไว้ในชีวิต เพราะรู้ดีว่าเขาจะเติบโตขึ้นได้ก็เพราะตัวเขาเอง ไม่ใช่เพราะตัวเรา การเอาตัวเขามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเราจะทำให้เขาไม่เติบโตตามที่เขาควรจะเป็น

ดังที่กล่าวมาทั้งหมด จึงให้ความหมายของความรักนั้นว่า การยินดีที่จะให้โดยที่ไม่ครอบครอง ให้แต่สิ่งที่ดีโดยที่ไม่หวังผล ยอมไม่เอาสิ่งใดกลับมา ยอมแม้แต่จะไม่ได้รับคำขอบคุณ ยอมแม้ว่าจะไม่มีใครเห็นคุณค่า ยอมแม้ว่าจะไม่มีเราอยู่ในความทรงจำของเขา ยอมแม้แต่จะไม่มีโอกาสได้ให้สิ่งดีๆเหล่านั้น

…..จนถึงตอนนี้ผมก็ไม่เคยเห็นต้นไม้ต้นนั้นอีกเลย มันกลายเป็นแค่อดีต กลายเป็นแค่ความทรงจำ ให้เราได้เรียนรู้ว่าเราไม่ควรจะหยิบฉวยสิ่งใดมาเป็นของตนเลย …ความรักก็เช่นกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

9.2.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)