Tag: ขัดเกลากิเลส

กิเลสสอนรัก ธรรมะสอนรู้

February 7, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 10,598 views 2

กิเลสสอนรัก ธรรมะสอนรู้

กิเลสสอนรัก ธรรมะสอนรู้

กิเลสสอนว่า …หาคู่ดีไม่ได้ อยู่เป็นโสดดีกว่า มีคู่ดีนั้นเป็นสุขที่สุดในชีวิต

ธรรมะสอนว่า … ผู้รู้ย่อมประพฤติตนเป็นโสด ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ย่อมเศร้าหมอง

– – – – – – – – – – – – – – –

กิเลสจะเอาแต่สร้างเงื่อนไขให้ไปเสพสุขโลกีย์ จะมีคู่ยังต้องมีให้มันสุขยิ่งกว่าสุขเดิม ต้องมีให้เสพมากขึ้น พาให้ต้องการอย่างไม่รู้จักพอ โดยมีภาพฝันแบบอุดมคติไว้ว่าถ้าได้เสพอย่างนั้นอย่างนี้ ฉันจะต้องสุขแน่นอน ความเห็นของกิเลสหรืออธรรมมักจะเป็นไปในแนวทางนี้ คือต้องแสวงหาตามที่หลงติดหลงยึดมาเสพจึงจะเป็นสุข

ส่วนธรรมะจะสร้างข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส ไม่ให้กิเลสได้เสพสมใจ ชะลอ ต่อต้าน ผลักไส ทำลาย ไล่บดขยี้กำลังของกิเลสที่มี การประพฤติตนเป็นโสดคือการทำลายเหตุแห่งการไปมีคู่เรื่อยๆ จนหมดสิ้น ตั้งแต่ภายนอกจนไปถึงภายใน ภายนอกเราก็ไม่ไปยั่วกิเลสใคร ไม่แต่งตัวแต่งหน้า ไม่ทำให้ตนดูโดดเด่นล่อตาล่อใจใครไม่สื่อสารเรื่องที่จะพาให้รักใคร่ชอบพอกันในเชิงชู้สาว ภายในเราก็ล้างความใคร่อยากเสพสุขลวงจากการมีคู่ออกจากจิตใจเสีย กำจัดกิเลสออกจากจิตวิญญาณ โดยใช้ธรรมะเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว

เรามีสิทธิ์เลือกที่จะฟังคำสอนจากทางใดก็ได้ ไม่ว่าจะฟังกิเลสก็ตาม จะฟังธรรมะก็ตาม แต่ความแตกต่างนั้นคือผลที่จะได้รับ กิเลสนั้นพาให้เกิดความทุกข์ ความชั่ว ความเบียดเบียน โทษภัยสารพัด ความฉิบหายวายวอดทั้งชีวิตและจิตใจ ส่วนธรรมะจะพาให้เกิดความสุข ความดี ความเกื้อกูล ความเจริญงอกงามทั้งชีวิตและจิตใจเช่นเดียวกัน เรามีอิสระที่จะเลือก และเลือกตามที่เราเห็นว่าเหมาะควร แต่สิ่งที่เราเลือก จะเป็นตัวกำหนดสิ่งที่เราจะได้รับเช่นกัน

กิเลสคือความหลงว่าสิ่งผิดเป็นสิ่งถูก หลงว่ารู้ทั้งๆที่ตนเองไม่รู้ ธรรมะคือความจริงที่จะสอนให้รู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควรเพราะอะไรอย่างมีเหตุผล ผู้หลงมัวเมาย่อมจมอยู่กับการเสพสุขที่เต็มไปด้วยโทษภัยและการเบียดเบียน ส่วนผู้รู้ย่อมพาตนออกจากเหตุที่จะทำให้เป็นทุกข์เหล่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

29.1.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

December 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,985 views 1

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

ในทุก ๆ การตัดสินใจของชีวิตของคนที่ยังมีกิเลส ก็มักจะต้องเลือกระหว่างกิเลสหรือธรรมะ สองสิ่งนี้เป็นทางเลือกอิสระที่ให้ผลต่างกัน

กิเลสคือสิ่งที่จะพาให้ทุกข์ พาเสื่อม ห่างไกลความผาสุกในชีวิต ในขณะที่ธรรมะนั้นคือสิ่งที่จะพาให้พ้นทุกข์ นำความเจริญมาให้ และเข้าใกล้ความผาสุกที่ยั่งยืน

กิเลสและธรรมะนั้นไปด้วยกันไม่ได้ หากเราเลือกกิเลส เราก็จะต้องเสียธรรมะไป หากเราเลือกที่จะเสพสุขกับบางสิ่งบางอย่าง เราก็จะเสียโอกาสในการเข้าถึงธรรมเพราะมัวแต่สนใจสุขลวง เช่น นักบวชในพุทธศาสนาที่เลือกที่จะมีคู่ ก็ต้องสึกและเสื่อมจากธรรมเพื่อแลกกับการเสพโลกีย์สุข

ไม่มีอะไรได้มาโดยที่ไม่เสียอะไรไป เมื่อเราเลือกที่จะเสพโลกีย์สุขตามคำสั่งของกิเลส เราก็จะเสียโอกาสในการเข้าถึงโลกุตระสุขที่ปราศจากกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ปราชญ์พึงเห็นความสุขอันไพบูลย์ เพราะสละความสุขพอประมาณไซร้ เมื่อปราชญ์เห็นความสุขอันไพบูลย์ พึงสละความสุขพอประมาณเสีย

สุขจากกิเลสนั้นสุขน้อยทุกข์มาก หรือเรียกว่าเป็นสุขลวง ซึ่งการจะเห็นสุขแท้ที่ยั่งยืนนั้นต้องยอมสละสุขลวงจากกิเลส แต่การจะเห็นสุขแท้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีคำกล่าวว่า “นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” ถึงกระนั้นสุขแท้จริงเหล่านั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะสัมผัสมันได้ง่ายนัก เพราะถ้าหากสุขแท้นั้นเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้โดยทั่วไป รู้ได้โดยภาษา เข้าถึงได้โดยการเพ่งเพียรปฏิบัติ ทุกคนก็คงจะเห็นได้ว่าโลกุตระสุขนั้นมีค่ามากกว่าโลกีย์สุข(กิเลส)และยอมทิ้งโลกีย์สุขนั้นกันหมด ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ใช่แบบนั้นเลย เพราะมีแต่คนที่เมินเฉยต่อการแสวงหาโลกุตระสุข เพียงเพราะพอใจในโลกีย์สุขที่ตนมี

และถึงแม้ว่าเราจะเลือกธรรมะ ก็ใช่ว่าเราจะหมดกิเลส ไม่เหมือนกับตอนที่เราเลือกตามใจกิเลสแล้วเราจะเสียธรรมะ ซึ่งการปฏิบัติของพุทธศาสนามิใช่การนึกคิดเอาเองว่าถ้าทำจิตให้เป็นเช่นนั้น แล้วทุกอย่างจะเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่เราเข้าใจว่าเราเป็นพระอรหันต์แล้วจะเป็นพระอรหันต์จริงๆ แต่ต้องเป็นการปฏิบัติที่ลงไปล้างถึงเหตุแห่งทุกข์ โดยใช้หลักของอริยสัจ ๔ ซึ่งจะปฏิบัติชำระความเห็นผิดไปโดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย ลาดลุ่มไปโดยลำดับเหมือนฝั่งทะเล ไม่ชันเหมือนเหว

นั่นหมายความว่าถึงจะเรียนรู้เป็นพันเป็นหมื่นคัมภีร์ ท่องจำได้คล่องปากไม่มีตกหล่น หรือแม้จะเพ่งเพียรปฏิบัติจนแทบจะเรียกได้ว่าเอาชีวิตไปทิ้ง แม้จะเด็ดเดี่ยวจนถึงขั้นยอมตายถวายธรรม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้าถึงผลของธรรมะได้ หากยังมีความเห็นที่ตั้งไว้ไม่ตรง(มิจฉาทิฏฐิ)

การทำตามกิเลสแล้วเสื่อมจากธรรมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก แต่การทำตามธรรมะให้กิเลสเสื่อมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก มีแต่บัณฑิตเท่านั้นที่รู้ได้ ไม่ใช่สิ่งที่จะด้นเดาเอาได้ เพราะเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งยากจะเข้าใจเกินกว่าจะคิดคำนวณเอาเอง จึงมีแต่สาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีความรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ที่แท้จริงเท่านั้นที่จะไขความลับนี้ได้

ผู้ที่เลือกตามใจกิเลสอยู่เรื่อยๆ ก็ย่อมจะเสื่อมจะกุศลธรรมไปเรื่อยๆ และห่างไกลจากโอกาสในการเข้าถึงธรรมะที่พาล้างกิเลสไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน

และข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าให้ไว้เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสก็คือ “ศีล” ซึ่งศีลจะทำให้รู้ขอบเขตว่าสิ่งใดคือกิเลส สิ่งใดคือธรรมะ หากปราศจากศีลแล้ว ก็คงยากจะแยกแยะว่าสิ่งใดคือดี สิ่งใดคือชั่ว สิ่งใดที่ควร สิ่งใดไม่ควร ดังนั้นผู้ที่ไม่มีศีลจึงไม่มีโอกาสรู้ได้เลยว่าสิ่งใดคือกิเลส สิ่งใดคือธรรมะ ผู้เสื่อมจากศีล จึงเสื่อมจากความเป็นพุทธ และเสื่อมจากธรรมทั้งหลายทั้งปวงด้วยเช่นกัน

ศีลคือข้อปฏิบัติเบื้องต้นในการเข้าถึงการล้างกิเลส เมื่อผู้ปฏิบัติไม่มีศีล ก็ไม่มีไตรสิกขา ไม่มีการปฏิบัติที่ถูกตรงของพุทธ นั่นหมายถึงไม่มีการล้างกิเลส และไม่มีการหลุดพ้นจากกิเลส ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า หากเลือกธรรมะนั้นก็จำเป็นต้องมีศีลเป็นพื้นฐานด้วย ต่อให้อีกอ่านอีกกี่ล้านคัมภีร์ หรือนั่งนิ่งเป็นพรหมลูกฟัก อวดอ้างตนว่าเป็นผู้บรรลุธรรม หากปราศจากศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ก็คงจะเป็นเพียงแค่โมฆะบุรุษเท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

7.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความเห็นผิดควรปิดไว้ ความเห็นถูกให้เปิดเผย

October 8, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,622 views 1

ความเห็นผิดควรปิดไว้ ความเห็นถูกให้เปิดเผย

ความเห็นผิด ปิดไว้ ดีที่สุด

หากเผลอหลุด เอ่ยอ้าง อับอายเขา

หลงเมากาม เมาอัตตา ว่าตัวเรา

แล้วยึดเอา ว่าฉันนี้ ดีสุดเอย

– – – – – – – – – – – – – – –

คนที่เห็นผิด ก็จะเห็นถูกว่าเป็นผิด เห็นผิดว่าเป็นถูก ก็เลยมักจะนำเสนอสิ่งผิดด้วยความมั่นใจ เผยแพร่มันออกมาด้วยความเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นถูกต้อง เมื่อความเห็นผิดเหล่านั้นถูกประกาศไปสู่คนที่มีเห็นผิดด้วยกัน เขาเหล่านั้นย่อมกลืนกินกันเองด้วยความเห็นผิด และมัวเมาหลงผิดกันอยู่เช่นนั้น ภูมิใจกับความหลงผิดเช่นนั้น นำเสนอความเห็นผิดเช่นนั้นโดยมิได้รู้สึกอับอายแม้แต่น้อย

ส่วนคนที่เห็นถูก ก็จะเห็นผิดเป็นผิด เห็นถูกเป็นถูก แต่พอประกาศออกไปว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่นั้นเห็นและเข้าใจนั้นเป็นสิ่งผิด เมื่อคนเห็นผิดได้ยินดังนั้น ก็จะมองความถูกเป็นความผิดและมีข้อขัดแย้งในความเห็นเป็นเรื่องธรรมดา

คนเห็นผิดก็ขยันสร้างกรรมที่ผิด ส่วนคนเห็นถูกก็ต้องขยันที่จะเอาภาระ คอยแก้กลับสิ่งที่ผิดให้มันถูก คนหนึ่งสร้าง(ความเห็นผิด) คนหนึ่งทำลาย(ความเห็นผิด) มีอยู่คู่กันเช่นนี้ทุกยุคทุกสมัย

แล้วจะแยกอย่างไรในเมื่อคนเห็นผิดก็ประกาศความเห็นผิดของตน และคนที่เห็นถูกก็ประกาศความเห็นถูกของตน แล้วตกลงใครที่เห็นผิด ใครที่เห็นถูก แล้วเรากำลังมองในมุมไหน เราเห็นผิดหรือเราเห็นถูก แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเห็นถูก เพราะในเมื่อคนเห็นผิดก็จะเห็นความผิดของตนเป็นความถูกเสมอ ซึ่งเป็นปัญหาโลกแตกที่ทำให้คนทะเลาะกัน ทำร้ายกัน ฆ่ากันมามากมายแล้ว

ในกาลามสูตรได้สรุปเรื่องนี้ไว้ว่า อย่าพึ่งปักใจเชื่อง่ายๆ แต่ควรศึกษาและปฏิบัติสิ่งที่เห็นเหล่านั้นจนเกิดปัญญารู้ในตนว่าเป็นกุศลหรืออกุศล คือดีหรือชั่ว เป็นการเกื้อกูลหรือเบียดเบียน เป็นการสละออกหรือการสะสม เป็นไปเพื่อพรากหรือเพื่อผูก เป็นไปเพื่อลดกิเลสหรือสนองกิเลส เป็นไปเพื่อหลุดพ้นจากทุกข์หรือเป็นไปเพื่อทุกข์ชั่วกาลนาน

แต่ความหลงที่ร้ายกาจและรุนแรงที่สุดที่มีความซ้อนลึกจนยากที่จะแก้ นั่นคือการหลงว่าตนเองนั้นเป็นพระอริยะหรือพระอรหันต์ ซึ่งจะมีความซ้อนเข้าไปในวิถีปฏิบัติและปริยัติของลักษณะของศาสนาพุทธที่แยกได้ยากมาก ซึ่งเป็นความหลงที่แนบเนียนที่สุดที่จะมากวาดต้อนคนหลงผิดให้มัวเมาอยู่กับความเป็นโลกและความเป็นอัตตา

ซึ่งวิธีเดียวที่จะพ้นจากความหลงผิดที่สุดแสนจะเนียบเนียนเหล่านั้นได้ คือการทำความถูกให้เกิดในตน แล้วจะทำความถูกต้องได้อย่างไร ก็ต้องมีคนที่มีความเห็นที่ถูกต้องเป็นผู้ชี้ทางแล้วทีนี้ก็วนกลับมาเหมือนไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน…

แล้วตกลงใครที่มีความเห็นถูกต้องกัน ในเมื่อมองไปแล้วก็ดูเหมือนมีส่วนถูกด้วยกันทั้งนั้น อันนี้ก็สุดแล้วแต่บุญแต่กรรม ใครทำกรรมดีมามากก็มีโอกาสได้เข้าใกล้ความถูก ส่วนใครทำกรรมชั่วมามากก็มีโอกาสที่จะหลงมัวเมาในความผิด ยังรวมทั้งกรรมที่เคยเกื้อกูลคนที่ถูกต้องมาก็จะชักนำให้เจอคนที่ถูกต้อง และกรรมที่ไปเกื้อกูลคนที่ผิดก็จะชักนำให้เจอคนที่ผิด แต่ก็จะไม่รู้หรอกว่าคนไหนถูก คนไหนผิด จนกว่าจะได้ปฏิบัติตามจนมีความเห็นถูกนั้นขึ้นในตนเอง

ถ้าหาใครไม่ได้ก็ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งในยุคนี้ยังพอมีหลักฐานที่มีความถูกต้องเป็นส่วนมากให้ศึกษาอยู่ บทไหน หมวดหมู่ไหน ศึกษาให้มาก ให้หลากหลาย ถ้าสามารถทำได้ก็ทำตามที่ท่านแนะนำให้หมด สิ่งใดเป็นไปเพื่อความไม่เจริญในธรรม ทำให้ลุ่มหลงมัวเมาในกิเลสให้ละเว้น สิ่งใดขัดเกลากิเลสให้ศึกษา และทำใจในใจให้เห็นตรงกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้

เช่น ท่านบอกให้ภิกษุผู้บวชกับท่านถือศีล ๓ หมวด คือจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ถ้าเราเป็นฆราวาสแล้วรู้สึกว่าศีล ๕ ยังไม่ชัดเจน ก็ให้ศึกษาศีลใน ๓ หมวดนี้ในข้อที่พอจะกระทำได้โดยไม่ทรมานจนเกินไป ศึกษาและปฏิบัติให้จิตนั้นแนบแน่น แนบเนียนไปกับศีลเหล่านั้น ให้เกิดปัญญาเห็นจริงว่า ความพ้นทุกข์นั้นถูกตรงตามศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสจริงๆ ถือศีลแล้วพ้นทุกข์พ้นภัยจริงๆ ศีลประเสริฐจริงๆ ศีลวิเศษจริงๆ ศีลเยี่ยมยอดที่สุด …แต่ถ้าไม่ไหวก็ศึกษาและปฏิบัติในศีล ๕ ให้ได้ความเห็นในแนวทางนี้แล้วค่อยขยับจาก ๕ ๘ ๑๐ พร้อมๆกับศึกษาทางเลือกเสริมสู่ความเจริญใน ศีล ๓ หมวด และบัญญัติข้ออื่นๆ ไปพร้อมๆกันก็ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สาระของศีล

June 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,685 views 0

สาระของศีล

สาระของศีล

การมีศีลนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งในความเจริญของผู้แสวงหาหนทางสู่การพ้นทุกข์ แต่ในความเป็นศีลนั้นก็ยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละความเห็นความเข้าใจซึ่งมีทั้งการถือศีลแบบยึดมั่นถือมั่น บ้างก็เข้าใจความหมายของศีลผิดไป ซึ่งเหตุเหล่านั้นทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสาระแท้ของศีลได้

ผู้ปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ย่อมไม่ถือศีลเพียงเพื่อประโยชน์แห่งความสุขที่จะทำให้หลงวนเวียนเสพสุขอยู่ในภพนี้ แต่จะใช้ศีลเหล่านั้นเป็นเครื่องมือขัดเกลากิเลส เพื่อความหมดสิ้นซึ่งกิเลสเท่านั้น ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดเป้าหมายเดียวของเหล่าสาวกในพระพุทธศาสนา

เราจะจำแนกลักษณะของความเข้าใจในศีลออกมา 3 แบบคือ ถือศีล ทิ้งศีล ศึกษาศีล โดยมีรายละเอียดดังนี้

1).ถือศีล

การถือศีล รับศีลมาถือ นำมาปฏิบัติ เอามาใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะเห็นประโยชน์ของศีลว่าการมีศีลนั้นจะนำความสุขความเจริญมาให้ ทั้งยังป้องกันภัยต่างๆที่จะเข้ามาสู่ชีวิต และยังเป็นการสร้างกุศลให้กับชีวิตตนอีกด้วย

ผู้ที่ถือศีลนั้นจะมีทั้งแบบยึดอาศัยกับแบบยึดมั่นถือมั่น ผู้ที่ยึดอาศัยหรือการ “สมาทาน” นั้นก็จะใช้ศีลเป็นเครื่องประกอบในการทำคุณงามความ ใช้ศีลเพื่อความสุขความเจริญ แต่เมื่อเกิดความยึดดีถือดี เป็นความยึดมั่นถือมั่นในศีล หรือที่เรียกว่า “สีลัพพตุปาทาน” คือความยึดมั่นและงมงายในศีลและข้อปฏิบัติเป็นหนึ่งในอุปาทาน ๔

การถือศีลแบบยึดอาศัยกับยึดมั่นถือมั่นจะแตกต่างกันตรงที่ความตึงเครียด ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นจะถือศีลอย่างไม่ปล่อยวาง เคร่งเครียด, ยึดว่าศีลนั้นเป็นที่สุด, คนต้องมีศีลแบบนั้น, พระต้องมีศีลแบบนี้, ปฏิบัติแบบนี้จึงเรียกว่าถือศีล, ใครถือศีลได้มากข้อกว่าก็น่าเคารพกว่า, ฉันถือศีลได้เท่านั้นเท่านี้, ฉันไม่เคยทำศีลขาดหรือด่างพร้อย, มักจะมีอาการยกตกข่มผู้อื่นร่วมด้วย รวมทั้งมีอาการติดดีประกอบอยู่เพราะเหตุแห่งความยึดมั่นในศีลนั้น

ถึงแม้ว่าจะการยึดอาศัยศีลเพื่อสร้างความสุขความเจริญ หรือการยึดมั่นถือมั่นในศีลจนงมงาย แม้จะถือศีลได้ปกติแต่ไม่มีปัญญารู้แจ้งในกิเลสก็เรียกได้ว่าถือไปแบบนั้น“เหมือนกับมีเพชรและรู้ว่าเพชรมีค่าขายได้มีราคา แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเอาเพชรไปใช้ทำอะไรให้เกิดประโยชน์” เช่นนั้นก็ยังไม่ใช่การเข้าถึงคุณประโยชน์สูงสุดของศีลในพุทธศาสนา การถือศีลเพื่อความสุขความเจริญนี้ยังเป็นเพียงแค่ประโยชน์เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับแก่นสารสาระของศีล ดังนั้นคนที่ยึดเอาศีลเป็นเพียงประโยชน์เพื่อเสพสุขจากกุศลกรรม ย่อมยังไม่พบกับความพ้นทุกข์

2).ทิ้งศีล

ในข้อนี้จะยกตัวอย่างของความเห็นผิดในการถือศีล ซึ่งมีให้เห็นได้ในปัจจุบัน คือการทิ้งศีล ไม่มีศีล ไม่ปฏิบัติศีลซึ่งในส่วนของคนที่ยังไม่ถือศีลเพราะยังไม่มีปัญญาเห็นคุณประโยชน์ในศีลจะขอยกไว้ในฐานะที่เข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา

คนบางกลุ่มบางจำพวก ตีความหมายของศีลนั้นไปตามความเข้าใจของเขา เช่น ศีลคือความปกติ ดังนั้นรักษากายใจให้ปกติก็ถือว่ามีศีล สามารถบรรลุธรรมได้เหมือนกัน เมื่อเห็นผิดในกระบวรการปฏิบัติดังนั้นจึงไม่มีการศึกษาในสาระของศีลแต่ละข้อว่ามีไว้เพื่ออะไร เพราะในรายละเอียดของศีลแต่ละข้อนั้นถูกจำแนกให้ขัดเกลากิเลสในมุมที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าท่านได้แยกย่อยไว้ให้ค่อยๆเรียนรู้และปฏิบัติศีลไปโดยลำดับ มิใช่เพื่อการบรรลุธรรมในทันที

ยกตัวอย่างหนึ่งในสมัยพุทธกาลที่สาวกท่านหนึ่งจำศีลมากมายไม่ได้ เลยไปขอศีลจำนวนน้อยกับพระพุทธเจ้า ท่านก็ให้ไว้สามข้อ คือกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต คือมีกายวาจาใจที่ดีงามไม่ปนเปื้อนด้วยกิเลส ซึ่งเหมาะกับปัญญาของสาวกท่านนั้นเท่านั้น การที่เราจะรับศีลที่สั้นกระชับในระดับนี้มาปฏิบัติ อาจจะทำให้เกิดความหลงผิดเข้าข้างตนเองก็ได้ว่าฉันก็สุจริตทั้งสามอย่างนะเรียกว่าการปฏิบัติธรรมไม่สมฐานะ ปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวังเมื่อศึกษาพระไตรปิฎก เพราะใช่ว่าท่านทำได้แล้วเราจะทำได้ อินทรีย์พละมันต่างกัน ซึ่งมักจะทำให้คนที่ขี้เกียจปฏิบัติธรรมหาช่องทางให้ตนได้ศึกษาธรรมได้แบบง่ายๆสบายๆ เพราะความหลงผิดนั่นเอง

กลับมาที่การรักษาใจให้ปกติที่คนบางจำพวกถือเอาเป็นข้อปฏิบัติหรือศีล เมื่อศีลของเขาคือความปกติ เขาจึงมุ่งรักษาใจให้ปกติ โดยที่มักจะใช้วิธีสมถะเข้ามากดข่มจิตใจให้ปกติ เมื่อทำได้เช่นนั้นก็มักจะหลงผิดเข้าใจว่าศีลมีเพียงเท่านี้ ตีทิ้งศีลที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้อีกมากมาย โดยไม่รู้เนื้อหาสาระแท้ในแต่ละข้อทั้งนี้อาจจะเกิดจากความเห็นผิดหรือความขี้เกียจถือศีลมากๆก็ได้ จึงตีความหมายให้เป็นว่าถ้าทำเพียงเท่านี้ก็ไม่ต้องถือศีล ไม่ต้องมีศีล เพียงแค่รักษาใจให้บริสุทธิ์ตามที่เข้าใจก็ถือว่ามีศีลแล้ว

เราสามารถเข้าใจว่าศีลคือความปกติได้ แต่นั่นคือผลของการปฏิบัติจนเกิดความปกติ ไม่ใช่ทำให้เกิดความปกติขึ้นในจิตด้วยการพยายามกำหนดจิต เช่น เมื่อเราถือศีลกินมื้อเดียว เราจะทำอย่างไรให้กินมื้อเดียวได้ด้วยใจปกติ ไม่มีความอยากกินที่เกินมื้อ ไม่มีความร้อนรน ไม่มีความฟุ้งซ่าน ไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีความหดหู่ หรือลังเลสงสัยในศีลนี้ว่ามีคุณประโยชน์อย่างไร

หรือหากเรามองว่าศีลคือความพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ที่จะทำให้อยู่อย่างเป็นสุขไม่เบียดเบียนกัน ถ้าหมายถึงศีล ๕ นั้นก็คงใช่ แต่พอขึ้นมาถึงศีล ๘ หรือศีล ๑๐ ก็มักจะทำให้มนุษย์ในปัจจุบันขัดข้องใจที่จะถือศีลนั้นๆ โดยเฉพาะจุลศีลในข้อกินมื้อเดียว เรียกว่าหักความคิดตามสามัญสำนึกของคนทั่วไปทิ้งเลยทีเดียว การกินมื้อเดียวไม่ใช่เพียงแค่ข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส แต่ยังเป็นความพอดีสูงสุดในชีวิตด้วย แล้วพื้นฐานของมนุษย์นั้นอยู่ตรงไหน? ความไม่เบียดเบียนกันควรจะวัดจากจุดไหน? แล้วศีล ๑๐ เบียดเบียนตนและผู้อื่นน้อยกว่าศีล ๕ ไหม? ถ้าเบียดเบียนน้อยกว่าก็ควรจะให้ศีล ๑๐ เป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์สิ ในเมื่อศีลแต่ละข้อมีความยากง่ายและนัยสำคัญที่แตกต่างกันทำไมเราจึงไม่สามารถเข้าใจแก่นสารสาระเหล่านั้นได้?

อย่างที่ได้กล่าวมาตอนต้น เป้าหมายของการปฏิบัติธรรมในศาสนาพุทธนั้นมีเป้าหมายเดียวคือเป็นไปเพื่อความหมดสิ้นซึ่งกิเลส นอกเหนือจากนั้นไม่ใช่ประเด็นที่น่าสนใจ เพราะรู้ชัดว่าเมื่อกิเลสนั้นคลาย ความสงบสุขจะเกิดขึ้นมาเองโดยลำดับ ดังนั้นการถือศีลก็ย่อมเป็นไปเพื่อขจัดกิเลสที่หมักหมมในสันดาน มิใช่เพียงเพื่อความสุขความเจริญดังที่กล่าวไว้ในข้อแรก

ความปกตินั้นคือ “ผล” แต่คนสับสนกลับเอาผลมาเป็น “มรรค” พอปฏิบัติกลับหัวกลับหางกัน มันก็ผิดเพี้ยนไปหมด จนทำให้เข้าใจแก่นสารสาระของศีลผิด จึงนำมาซึ่งการทิ้งศีล มองศีลเป็นเพียงสิ่งพื้นฐานที่รู้จักแล้วก็วางได้ ปฏิบัติศีลเพียงแค่กายวาจาแต่ไม่เข้าใจ จนอาจหลงผิดถึงขั้นดูหมิ่นผู้มีศีลได้

เช่น หลงผิดเข้าใจไปว่าเราคือผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่นในศีล คนที่เคร่งศีลคือคนที่ยึดมั่นถือมั่น ยิ่งคนที่ถือศีลมากๆยิ่งจะถูกมองว่าบ้า โต่ง หรือตึงเกินไป เหตุหนึ่งเพราะตนเองไม่สามารถถือศีลเหล่านั้นได้ พอถือแล้วก็ทรมานจากฤทธิ์ของกิเลส เลยต้องหย่อนลงมา จึงเกิดความเห็นผิดว่าการถือศีลคือโต่ง ทั้งที่จริงๆแล้วนั่นคือสภาพของอัตตกิลมถะหรือการทรมานตนเองด้วยความยึดดี

ตอนแรกก็เห็นว่าศีลดีก็เลยพยายามถือศีล แต่พออินทรีย์พละไม่พอมันก็จะทรมาน พอทรมานก็ลดศีลหรือเลิกถือศีล มันก็สบายจากความหลุดพ้นในการทรมานตนด้วยความยึดดีเท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าการถือศีลเป็นสิ่งที่โต่ง แต่การถือศีลที่เกินกำลังนั้นเองคือสิ่งที่โต่ง แต่พอทิ้งศีลก็มักจะเข้าสู่ทางโต่งอีกทางคือไหลไปตามกามเลย ไปหลงเสพกาม แล้วก็ติดสุขจากกาม โดยมากจะกู่ไม่กลับเพราะเห็นผิดในการถือศีลไปแล้ว

ในศีลของนักบวชก็เช่นกัน เมื่อไม่เข้าใจสาระของศีล จึงเหลือแต่วินัย ในทุกวันนี้ศีล ๒๒๗ ข้อ คือพระวินัย ซึ่งในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าตรัสให้นักบวชในศาสนาของท่านถือศีล ๓ คือจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ซึ่งมีหลักฐานปรากฏอยู่มากมายในพระไตรปิฎก แต่นักบวชทุกวันนี้กลับไม่มีศีล มีแต่วินัย เพราะไม่เข้าใจสาระของศีล จึงทิ้งศีล คงไว้เพียงวินัย หากเราจะลองเอาศีล ๓ หมวดนี้มาตรวจสอบความถูกต้องในปัจจุบัน ก็จะพบว่าส่วนมากผิดศีล เพราะไม่เคยมีศีล ไม่เคยศึกษาในศีล ไม่เห็นประโยชน์ในศีลนั้น

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล ผู้มีศีลย่อมมีปัญญา” นั่นหมายถึงผู้ปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ย่อมไม่ทิ้งศีล และไม่ถือศีลอย่างงมงาย เพียรศึกษาให้เข้าถึงสาระแท้ของศีล

3).ศึกษาศีล

การมีศีลนั้นคือการศึกษาเพื่อที่จะละเว้นสิ่งที่ชั่ว เว้นขาดจากการเบียดเบียนตนและผู้อื่น เริ่มต้นจากการศึกษาประโยชน์ของศีลเพื่อถือศีลก่อนเป็นอันดับแรก แล้วถือศีลนั้นไว้เพื่อศึกษาสาระแท้ของศีล นั่นคือการศึกษากิเลสในตนผ่านการถือศีล

สาระแท้ของศีลนั้นมีไว้เพื่อเปิดประตูสู่การชำระกิเลส หากไม่มีศีลมากำหนด ก็ไม่สามารถมีสิ่งใดที่จะมาทำให้เราเห็นทุกข์จากกิเลสได้ ศีลนั้นคือหนึ่งในองค์ประกอบของการพ้นทุกข์ ซึ่งหากไม่เริ่มจากศีลก็ต้องเริ่มจากปัญญาที่พัฒนาจนเห็นประโยชน์ของการถือศีล ดังนั้นหากจะปฏิบัติธรรมสู่การพ้นทุกข์ ก็ต้องเริ่มจากศีลอยู่ดี ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกสาวกเสมอว่าเธอจงศึกษาในศีล ๓ หมวดดังที่ยกมาอธิบายก่อนหน้านี้

การศึกษาในศีลนั้นทำให้เห็นกิเลสอย่างไร? เมื่อเราถือศีล ศีลก็จะเป็นกำแพงไม่ให้เราไปเสพสิ่งเดิมๆที่เราเคยหลงติดหลงยึดได้ง่ายนัก อย่างน้อยก็เป็นกำแพงในใจ ซึ่งเมื่อศึกษาแรกๆ กำแพงก็จะไม่แข็งแรง เราก็มักจะปีนกำแพงออกไปเสพสุขในสิ่งที่ละเมิดศีลตามแรงยั่วของกิเลส เราก็ต้องใช้ไตรสิกขา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญานี่แหละในการสร้างความแข็งแกร่งของกำแพงศีล เจริญขึ้นไปจนถึงขั้นเกิดหิริโอตตัปปะ เริ่มจะไม่ผิดศีลด้วยความเต็มใจเพราะรู้สึกผิดละอายต่อบาป เจริญขึ้นไปอีกจนกระทั่งเพียรพิจารณากิเลสที่พยายามยั่วยวน ด้วยปัญญาที่ประกอบด้วยศีลและสติ จนกระทั่งเกิดปัญญารู้แจ้งกิเลส กระโดดไปอยู่อีกโลกหนึ่ง(โลกุตระ) ก็ถือว่าจบภารกิจในศีลนั้นๆ แล้วก็ขยับฐานไปถือศีลที่ยากขึ้นหรือศีลอื่นๆต่อไป

ศีลนั้นมีระดับยากง่ายที่ต่างกัน และในศีลหนึ่งๆยังมีการปฏิบัติไปตามลำดับหยาบ กลาง ละเอียด ควบคุมกาย วาจา ไปจนกระทั่งชำระกิเลสในจิตใจได้

ผู้ที่มีศีลแต่ไม่เข้าใจว่าศีลนั้นชำระกิเลสได้อย่างไร หรือเข้าใจผิดคิดเหมาเอาเองว่าการมีศีลนั้นคือการชำระกิเลส ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะการถือศีลโดยทั่วไปนั้นไม่ได้ล้วงลึกเข้าไปถึงใจ ไม่ไปถึงเหตุแห่งทุกข์ ไม่สามารถชำระกิเลสที่หมักหมมในสันดานได้ ไม่สามารถทำให้ละหน่ายคลายจากความอยากนั้นได้ โดยทั่วไปแล้วก็เหมือนกับคนที่ถือศีลเพื่อความสงบสุข ความดีงามดังที่ยกตัวอย่างในข้อแรก

ตัวตนของกิเลสนั้นจะสามารถเห็นได้จากการถือศีล ศีลคือเครื่องมือเดียวที่จะตีกรอบให้กิเลสนั้นถูกแสดงตัว เมื่อเห็นดังนั้นจึงใช้สติปัฏฐานเข้ามาพิจารณาตัวตนแท้ของกิเลสตั้งแต่ผัสสะเกิด เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิตว่ากิเลสใดหนอที่ปะปนอยู่ในจิตของเรา แล้วใช้ธรรมที่เหมาะที่ควรเข้าไปพิจารณาตามเหตุคือกิเลสนั้นๆ

การปฏิบัติศีลอย่างเข้าใจในกระบวนการ จะสามารถชำระกิเลสที่มีในจิตใจได้ ไม่ใช่ว่าเพียงแค่ควบคุมกาย วาจา อย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ดังนั้นผู้ปฏิบัติอย่างถูกตรงจนเกิดผล จึงมีสภาพของการถือศีลข้อนั้นๆอย่างปกติโดยที่ไม่ต้องพยายามกดข่ม ฝืนทน หรือมีความลำบากกายและใจใดๆเลย

– – – – – – – – – – – – – – –

24.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)