Tag: ขัดเกลากิเลส

การมีความรัก เพื่อขัดเกลากิเลส

May 2, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,059 views 0

การมีความรัก เพื่อขัดเกลากิเลส

การมีความรัก

เพื่อขัดเกลากิเลส

ก็ตกอยู่ภายใต้กิเลส

…ตั้งแต่แรกแล้ว

= = = = = = = = = = =

การที่คนเราจะไปหลงสุขในการมีคู่ครองนั้นคงจะไม่แปลกอะไรสำหรับคนทั่วไป

แต่คนที่หันหน้ามาหาธรรม เข้ามาปฏิบัติธรรมแล้ว ยังมีทิศทางที่ไปสู่การมีคู่

โดยอ้างเหตุผลต่างๆนาๆ ให้การมีคู่มีน้ำหนัก มีคุณค่า มีเหตุมีผล น่าได้ น่ามี น่าเป็น

เป็นพลังของกิเลสที่พาให้หลงไป ให้หลงคิดว่าวิธีเรียนธรรมของตนนั้นดีเยี่ยม

เพราะได้ทั้งเสพสุขและปฏิบัติธรรมไปในตัว เป็นความโง่สุดโง่ที่หลงไปในกิเลส

โดนกิเลสจูงให้ไปเสพโดยที่คิดว่าตนเองนั้นเป็นผู้มีปัญญา สมดุลโลกและธรรม

กิเลสมันร้ายแบบนี้ มันชั่วแบบนี้ มันทำให้เราเป็นคนไร้เดียงสาที่คิดว่าตนฉลาดที่สุด

….ทั้งที่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงการล่อลวงของกิเลส อยู่ภายใต้การควบคุมของกิเลส

ทำให้จมอยู่ในความหลงผิด เชื่อในทางที่ผิด และเห็นทางที่ผิดเหล่านั้นเป็นทางที่ถูก

แล้วมันจะขัดเกลากิเลสได้อย่างไร ในเมื่อตนนั้นหลงอยู่ในกิเลส ขัดยังไงก็อยู่ในกิเลส

เหมือนคนที่คิดจะไปอาบน้ำขัดตัวโดยหวังความสะอาด แต่กลับลงไปขัดตัวในบ่อเก็บขี้

ขัดไปมันก็มีแต่เปื้อนขี้ปนเชื้อโรค แล้วมันจะสะอาดไหม? มันจะสุขไหม? มันจะดีไหม?

ท่านผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ก็ลองพิจารณากันดู ว่ามันจะคุ้มไหม?

มันจะได้มากกว่าเสียจริงไหม? ถ้าท่านเห็นว่าเป็นทางที่ไม่ควรก็พึงละเสีย พรากจากทางนั้นเสีย

อย่าได้เข้าใกล้ อย่าไปคลุกคลี อย่าปล่อยใจให้เผลอไปตามกลลวงของกิเลสที่คอยยั่วเย้า

แล้วเพียรพิจารณาให้เห็นโทษภัยตามความเป็นจริง ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้กันเถิด

– – – – – – – – – – – – – – –

2.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กินร่วมใจ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องทดลองกินเนื้อสัตว์

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,319 views 0

กินร่วมใจ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องทดลองกินเนื้อสัตว์

กินร่วมใจ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องทดลองกินเนื้อสัตว์

การตรวจสอบระดับที่ 3 ที่จะกระทุ้งให้เห็นกิเลสอย่างเด่นชัด แบบชัดแจ้งอยู่ในใจกันเลยทีเดียว การจะมาถึงระดับนี้ได้เราจำเป็นต้องผ่านในระดับ 1 และ 2 ด้วยใจที่โปร่งโล่งสบายมาก่อน หากอ่านและทดสอบตัวเองในระดับ 1,2 แล้ว ยังมีอาการขุ่นเคืองใจไม่ว่าจากกามหรืออัตตา ก็ถือว่ายังไม่ผ่าน

การที่เรายังไม่ผ่านด่านง่ายแล้วจะกระโดดมาเล่นด่านยากนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์อะไร นอกจากจะไม่สามารถจัดการกับกิเลสแล้วยังจะโดนกิเลสเล่นงานซ้ำอีก เพราะในด่านนี้ก็จะเข้าไปคลุกวงในกับกิเลสมากขึ้น เข้าไปใกล้มากขึ้น จนเรียกได้ว่าหลายคนคงจะไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้

สติปัฏฐานยังคงเป็นเครื่องมือที่จำเป็นมากสำหรับการตรวจจับสภาวะของกิเลสที่เกิดขึ้นในจิตใจ ใครที่มาถึงขั้นตอนนี้แบบกดข่มก็จะยิ่งเป็นภัยกับตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ธรรมะนั้นเหมือนดาบสองคมยิ่งลึกก็จะยิ่งเข้าใจยาก พอไม่สามารถเข้าใจได้ก็อาจจะเกิดการเพ่งโทษกันเกิดขึ้น แต่จริงๆแล้วเพราะเราไม่เข้าใจนัยสำคัญของธรรมนั้นต่างหาก

ขั้นตอนที่ 1).คำเตือน!!

ถ้ายังไม่ผ่านบททดสอบใจตัวเองในระดับที่ 1 , 2 ก็ไม่ควรจะอ่านบทความนี้ต่อ เพราะบทความนี้จะเป็นภัยมากถึงมากที่สุดต่อผู้ที่ยังไม่สามารถจัดการกับกิเลสได้

อีกประการหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการกินมังสวิรัติ บทความนี้อาจจะไม่เหมาะกับท่านเลย หากท่านต้องการให้บทความนี้สอนกินมังสวิรัติ เนื้อหาเหล่านั้นไม่มีอยู่ในบทความนี้ เพราะในบทความนี้เราจะสอนเฉพาะเรื่องกิเลสโดยใช้มังสวิรัติมาเป็นเครื่องมือในการขัดเกลากิเลส ซึ่งอาจจะไม่มีประโยชน์กับท่านที่ไม่ได้แสวงหาหนทางลด ละ เลิกการยึดมั่นถือมั่น

การทดสอบต่อไปนี้ทำเพื่อตรวจสอบให้เห็นว่ายังคงมีกิเลสเหลืออยู่ในจิตใจเท่านั้นไม่ใช่การกระทำที่ทำโดยทั่วไป ไม่ใช่ทำเป็นประจำ แต่กระทำเฉพาะผู้ที่ต้องการความมั่นใจว่าตนเองนั้นไม่ได้มีความอยากในเนื้อสัตว์จริงๆ เพื่อสร้างความมั่นใจอย่างแท้จริงแบบไม่ต้องคิดเอาเอง จินตนาการไปเอง เพราะทดสอบกันอยู่ตรงหน้า ถ้ากามและอัตตายังเกิดอยู่ก็ไปพิจารณาธรรมใหม่ แต่ถ้าไม่เกิดอะไรขึ้นรู้สึกเฉยๆก็จบกันไป

ขั้นตอนที่ 2).กินร่วมใจ

ในการกินที่ร่วมไปกับใจนั้นเป็นคำที่ยกมาเพื่อเปรียบเทียบกับการกินที่ใกล้ใจมากที่สุด เมื่อเรามั่นใจว่าเรารู้สึกว่าไม่อยากกินเนื้อสัตว์อย่างเต็มที่แล้ว จะมีอะไรมาทดสอบใจเราได้ดีเท่ากับ “การทดลองกิน” เมนูที่ชอบ สิ่งที่เคยติดในอดีต หรือสิ่งที่เคยฝันไว้ ที่เขาว่าดีว่าเลิศคือสิ่งไหน ถ้ามีโอกาส มีทุน มีปัจจัยที่เหมาะสม ก็ทดลองดูเลย ไม่ใช่สิ่งเสียหายที่เราจะลองทดสอบ

จะลองเคี้ยวให้ละเอียดสุดละเอียด สูดดมทุกกลิ่นที่มี สัมผัสทุกคำที่เคี้ยว ลิ้มรสทุกอย่างที่มีแล้วก็คายทิ้งไปก็ได้ เพียงแค่ได้สัมผัสสิ่งที่เคยยึด เคยติด เคยเป็นตัวเป็นตนของเรา เราสามารถจะรับมันเข้ามาและปล่อยมันทิ้งอย่างสบายใจได้หรือไม่ ทำโดยไม่ฝืน ไม่ลำบาก ให้รู้ดีในใจว่าจะทำอีกกี่ครั้งผลก็เหมือนเดิม ยังเฉยๆอยู่เหมือนเดิม ก็ถือว่าผ่านบททดสอบนี้

ขั้นตอนที่ 3). ตรวจสอบกาม

เมื่อเราได้ลองกินเนื้อไป หากเรายังไม่ผ่านพ้นความอยากกินเนื้อสัตว์ อาการจะออกตั้งแต่ก่อนจะหยิบชิ้นเนื้อเข้าปากอย่างรู้สึกได้ ให้ค่อยๆสังเกตตัวเองว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ถ้าคิดว่าไม่ไหวรู้ดีว่าในใจนั้นอยากกินก็ไม่ต้องไปกินให้เสียเวลา เพราะมันเห็นกิเลสชัดๆอยู่แล้ว ถือว่าสอบตกตั้งแต่ยังไม่เริ่ม

ส่วนผู้ที่ยังเฉยๆจนกระทั่งกินเข้าปากไปแล้วเคี้ยว ก่อนกินก็ไม่รู้สึกอะไรนะ แต่พอเคี้ยวกลับมีความสุข จะเริ่มเสียดายที่ต้องทิ้ง เสียดายรส อยากจะกลืนลงคอ อยากกินอีกคำ อยากกินอีกเรื่อยๆ แม้ว่าจะคายทิ้งไม่กลืนแต่ความอยากจะยังคงอยู่ มันจะหลอกหลอนให้จิตวนเวียนกลับไปคิดถึงเมนูเนื้อจานนั้น ไม่สามารถตัดให้ขาดไปจากใจได้

ความสุขนี่แหละคือตัววัดว่ายังเหลือความอยากอยู่เท่าไหร่ ถ้ารู้สึกสุขก็คือกามขึ้น ถ้าทุกข์ก็คืออัตตาขึ้น มันจะมีอยู่สองอย่างที่มักจะเกิดขึ้น ในกรณีที่ไม่เกิดทั้งสองอย่างก็คือภาวะของอุเบกขา คือเฉยๆ ในกรณีนี้ต้องมาตรวจกันอีกทีว่าเป็นอุเบกขาแบบเคหสิตเวทนา หรือเนกขัมมเวทนา ถ้าให้คนทั่วไปมากินก็อาจจะรู้สึกเฉยๆได้ เพราะตรวจใจตัวเองไม่เป็น รับรู้ความรู้สึกไม่ได้ ปากก็บอกว่าเฉยๆ แต่ในใจก็รู้สึกสุขอยู่เล็กๆ เช่นในกรณีที่เรากินจนอิ่มแล้ว ให้ของที่เราชอบมากินต่อเราก็ไม่อยากกิน เฉยๆ แบบนี้มันคือความเฉยๆแบบชาวบ้าน ไม่ใช่การบรรลุธรรมหรือพ้นความอยากอะไรเลย

ขั้นตอนที่ 4). ตรวจสอบอัตตา

เราสามารถเห็นอัตตาได้ตั้งแต่ยังไม่กินเนื้อสัตว์นั้นๆ คือจะมีความรังเกียจถ้าจะต้องกลับไปกิน แม้ใครจะบอกให้ลองกลับไปกินก็จะไม่ยินดีทดลองเพราะทั้งรังเกียจเนื้อสัตว์ รังเกียจการกินเนื้อสัตว์ และรังเกียจการที่ตัวเองจะได้ชื่อว่าเป็นมังสวิรัติที่ไปกินเนื้อสัตว์ มันจะทุกข์ใจตั้งแต่เริ่มคิด อันนี้ก็เป็นลักษณะของอัตตา

ความยึดมั่นถือมั่นยังเกิดได้ในระหว่างกินและหลังกิน แม้ว่าจะทำเพียงแค่เคี้ยวแต่ไม่กลืน แต่จะรู้สึกขยะแขยง ขุ่นใจ กระวนกระวายใจ ไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบายใจ ให้ลองอีกก็ไม่อยากลอง หรือถ้าอัตตาแรงจัดๆก็จะรังเกียจวิธีนี้ไปเลย

ในบางครั้งอัตตาคือตัวบังไม่ให้เห็นกามคือเรามีอัตตามากจนไปกดข่มกาม ไปกลบกามไว้ จริงๆเราอาจจะรู้สึกสุขที่ได้กินได้เคี้ยวนะ แต่ความยึดดีมันไม่ยอม มันจะสร้างเหตุผลขึ้นมาทันทีที่เรารู้สึกสุข ตบความสุขทิ้งไปโดยไม่รู้ตัว เรียกว่าไม่มีสติไม่รู้รับกิเลสตามความเป็นจริง การมีอัตตามากๆจะบังทุกสิ่งทุกอย่างและกลบมันไว้ภายใต้ภาพของคนดีเหมือนการกวาดฝุ่นเข้าไปซุกในพรม แน่นอนว่าในเวลาปกติเราจะไม่เห็นฝุ่นนั้น แต่ถ้าเปิดพรมออกมาก็คงจะฝุ่นคลุ้งกันเลยทีเดียว

อัตตาก็เหมือนกับพรมที่สามารถเอากามเข้าไปซุกข้างในได้อย่างแนบเนียน เราสามารถซ่อนความอยากไว้ในความยึดดีได้ ลักษณะเหล่านี้คือลักษณะเด่นของสมถะวิธี เป็นวิธีของฤๅษี ที่ใช้การกดข่มเข้าไปในภพ ใช้อัตตามากดกาม ไม่ให้กามได้แสดงอาการ ดังนั้นผู้ที่ใช้วิธีนี้จะทำให้การตรวจสอบความอยากทั้งหมดที่ทำมาไร้ประโยชน์ในทันที

ขั้นตอนที่ 5). สรุปผล

ในการตรวจสอบนี้จะได้ผลที่ค่อนข้างชัดว่าเรายังอยากกินอยู่หรือไม่ เรายังมีอัตตามากอยู่หรือไม่ ผู้ที่เรียนรู้กิเลสต้องทำลายกามไปพร้อมๆกับอัตตา ถ้าถามว่าทำลายกามหรือความอยากกินทั้งหมดก่อนแล้วค่อยมาทำลายอัตตาได้ไหมก็ต้องตอบว่าได้ แต่มันไม่ง่ายที่จะมาทำลายอัตตาทั้งหมดตอนท้าย ถ้าเราไม่ทยอยล้างตั้งแต่แรก อัตตานี่แหละจะเป็นตัวกั้นไม่ให้เราล้างอัตตา มันจะยึดดีถือดี ไม่ยอมให้เราทำอะไรกับมันง่ายๆ ใครมาสอนก็ไม่ฟัง ใครมาบอกก็ไม่เชื่อ เชื่อแต่ตัวเองเท่านั้น ฉันทำได้ ฉันเก่งที่สุด ฉันกินมังสวิรัติมาแล้วกว่า … ปี มันจะมีข้ออ้างและเหตุผลมากมายที่จะไม่ล้างอัตตา

ก็เหมือนกันกับคนที่ติดเนื้อสัตว์นั่นแหละ มันจะมีเหตุผลและข้ออ้างมากมายที่จะไม่ออกจากความอยากกินเนื้อสัตว์ แต่อัตตาจะต่างออกไปเพราะมีความยากมากกว่า นั่นเพราะโดยรวมมันอยู่ฝั่งดี เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์แล้ว แต่ถ้าสังเกตให้ดีคนที่มีอัตตามากๆจะก็จะไปเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ มักจะทำให้เกิดบรรยากาศที่กดดัน อึดอัด เพราะความยึดดีถือดีนั่นเอง

ผู้ปฏิบัติธรรมพึงทบทวนตนเองอยู่เสมอว่าเรานั้นอ่อนน้อมถ่อมตนหรือไม่ เรากำลังทำตัวใหญ่คับฟ้าหรือไม่ เพียงแค่กินมังสวิรัติได้เราถึงกับยกหางตัวเองว่าเป็นคนดีแล้วอย่างนั้นหรือ มีคนดีอีกมากมายที่เสียสละเพื่อสังคมและโลกแต่เขาไม่ได้กินมังสวิรัติและเขาก็ไม่เคยอวดตนว่าเขาเป็นคนดี แล้วเราทำดีได้เพียงเล็กน้อยยังกล้าอวดแบบนี้มันก็เหมือนที่เขาว่าแมงป่องมีพิษน้อยแต่อวดโอ้ชูหาง ส่วนงูมีพิษมากแต่ไม่แสดงออกง่ายๆ

อัตตาก็เช่นกัน จะทำให้เราภูมิใจในความดีอยู่ลึกๆ ถ้าใครชมก็จะฟูใจตาม แต่ถ้าใครด่าก็จะร้อนรน จากสภาพของเทวดาตกไปเป็นเดรัจฉานทันที คนดีที่ไม่ล้างอัตตาก็มีแต่จะเป็นภัยแก่ตนเองและผู้อื่น แต่ก็เป็นเรื่องยากสุดยากที่จะยอมรับว่าตัวเองมีอัตตา ใครเล่าจะยอมทิ้งคราบคนดี จะยอมลอกคราบแห่งความดีทิ้ง เมื่อไม่ยอมทิ้งมันก็ติดดียึดดีอยู่แบบนั้น มันก็เป็นความดีที่ไม่ดีที่สุดอยู่นั่นเอง

ติดตามต่อได้ที่

Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)

กินร่วมจาน : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมจานกับผู้อื่น

December 21, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,402 views 0

กินร่วมจาน : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมจานกับผู้อื่น

กินร่วมจาน : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมจานกับผู้อื่น

เป็นระดับที่สองต่อจาก “กินร่วมโต๊ะ” แต่ก็จะยากขึ้นกว่าเดิมมาก ยังคงต้องใช้พื้นฐานเดิมคือ ”สติสัมปชัญญะ”ความรู้ตัวพร้อมแบบทั่วไป และ “สติปัฏฐาน ๔” คือรู้ กาย เวทนา จิต ธรรม

ซึ่งสติทั่วไปนั้นเอาไว้รู้ตัวเพื่อไว้ใช้ในกรณีที่จะตัดสินใจใช้ขันติในการกดสภาพความอยากหรือใช้ธรรมอื่นใดเข้ามากด ลด ข่ม ตบอาการอยากนั้นๆก็ตามแต่เหตุการณ์ ส่วนสติปัฏฐานนั้นมีไว้เพื่อตรวจสอบและพิจารณาล้างกิเลส ทั้งนี้ทั้งนั้นการพิจารณาธรรมต้องมีสติที่สมบูรณ์พร้อมตลอดสายไม่ปัดอาการอยากทิ้งจนหายหมดเกลี้ยง ไม่ตบทิ้งด้วยตรรกะหรือเหตุผลใดๆจนไม่เหลือเชื้อให้พิจารณาธรรมได้ต่อ ถ้ามีสติไว้ตัดอาการอยากนั้นถือว่าเป็นสมถะวิธี แต่ถ้ามีสติตลอดจนถึงจบการพิจารณาธรรมถือว่าเป็นวิปัสสนาวิธี

ในกรณีของเราจะใช้ทั้งสมถะและวิปัสสนา แต่จะใช้วิปัสสนาเป็นตัวหลักและสมถะเป็นตัวเสริมในบางกรณี ซึ่งจะไม่ยกขึ้นมากล่าว แล้วแต่ว่าใครจะทนความอยากไหว ใครทนไหวก็ไม่ต้องกด ใครทนไม่ไหวก็ใช้สมถะกดไว้ก็ได้

ขั้นตอนที่ 1).คำเตือน!!

ในขั้นตอนนี้จะเริ่มมีความยากในการวิเคราะห์กิเลสขึ้นมา ผู้ที่ไม่เห็นว่ากิเลสคือเชื้อร้ายที่เป็นตัวผลักดันให้เรากินเนื้อสัตว์ ผู้ที่ไม่เห็นว่าการล้างกิเลสเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะต้องเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่ไม่เห็นว่าการล้างกิเลสสำคัญต่อการกินมังสวิรัติอย่างผาสุกและยั่งยืนควรละเว้นการอ่านต่อไปเพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง

จะไม่มีประโยชน์ใดเกิดขึ้นหากท่านไม่มีคุณสมบัติเบื้องต้นดังที่กล่าวเมื่อตอนต้นของบทความหรือไม่มีความต้องการในการเรียนรู้กิเลส หากท่านยังคงยินดีในการที่ท่านกินมังสวิรัติได้โดยไม่สนใจความอยาก ข้อความต่อจากนี้จะเริ่มเป็นภัยต่อทิฏฐิของท่านอย่างมาก

ขอให้ท่านประมาณกำลังสติของตัวเองให้พอดี เพราะไม่มีใครที่จะต้องรับผิดชอบความขุ่นเคืองใจของท่านนอกจากตัวท่านเอง จะขอย้ำอีกครั้งว่าบทความนี้ไม่เหมาะกับคนที่ต้องการจะกินมังสวิรัติ แต่เหมาะกับคนที่ต้องการเรียนรู้การลดกิเลสโดยใช้การกินมังสวิรัติมาเป็นโจทย์ หากท่านพิจารณาดีแล้วว่าเหมาะควรที่ตนเองจะเรียนรู้เรื่องกิเลสก็สามารถอ่านต่อไปได้ แต่หากพิจารณาเห็นว่าเรื่องราวอันยุ่งยากเหล่านี้ไม่เหมาะกับท่าน ท่านต้องการเพียงแค่กินมังสวิรัติเท่านั้น ก็ขอแนะนำให้ปิดบทความนี้เสีย

ขั้นตอนที่ 2).กินร่วมจาน

การกินร่วมจานนั้นหมายถึงเราต้องกินอาหารที่มีทั้งเนื้อสัตว์และผักในจาน ซึ่งโดยปกติแล้วเราก็จะใช้การเขี่ยผักเข้ามา เขี่ยเนื้อสัตว์ออกไปดังที่เรียกกันว่า”มังเขี่ย” หรือไม่ก็เป็นการที่เราต้องกินอาหารร่วมหม้อกับคนอื่นเช่นกรณีของต้มยำ ต้มจืด สุกี้ ชาบู หรืออะไรก็ตามที่มีเนื้อและผักร่วมกันโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในกรณีแยกหม้อจะขอยกไว้ในการกินร่วมโต๊ะแทนเพราะไม่ถือว่าเป็นการกินร่วมจาน ผลของการตรวจกิเลสออกมาจะไม่เหมือนกันเพราะวัตถุดิบคือเหตุการณ์ที่มีนั้นต่างกันออกไป จุดสังเกตในการตรวจสอบนี้คือเรารู้สึกอย่างไรเมื่อต้องไปข้องแวะกับเนื้อสัตว์หรือมีเนื้อสัตว์อยู่ในหม้อเดียวกัน เราแยกความอยากกินเนื้อสัตว์ออกจากการกินมังสวิรัติได้ไหม หรือเรายังคิดว่าการกินร่วมจานนั้นหมายถึงยังมีความอยากกินเนื้อสัตว์

เราจะใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นตัวขุดคุ้ยกิเลสของเรา หากผู้ใดที่ไม่มีสังคม ไม่มีโอกาสทดสอบในสถานการณ์เหล่านี้ ก็ขออภัยจริงๆที่ต้องบอกว่าท่านอาจจะกำลังมาผิดทาง เพราะการปฏิบัติธรรมของเราไม่ใช่การแยกตัวกับสังคม ยังคงต้องปฏิบัติไปพร้อมกับอยู่ในสังคม ให้ปนแต่ไม่เปื้อน หากท่านไม่มีกลุ่ม ไม่มีโอกาสในการทดสอบในด่านนี้ ก็ให้กลับไปทดสอบตัวเองในด่านก่อนในตอน “กินร่วมโต๊ะ” ท่านจะไปหาวิธีใดให้เกิดการกินร่วมโต๊ะโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่นก็ได้ ในโรงอาหารหรือในร้านค้าที่เป็นที่นิยมที่ต้องเห็นคนอื่นกินเนื้อสัตว์อย่างใกล้ชิด

หากว่าขาดผัสสะหรือสิ่งกระทบในการกระตุ้นกิเลสเหล่านี้ บทความทั้งหมดนี้จะกลายเป็นแค่นิยายบทหนึ่งที่ไม่มีความหมายอะไร เราจำเป็นต้องไปเจอกับเหตุการณ์เหล่านี้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่จำมาหรือท่องมา แต่เป็นการสัมผัสทุกความอยากของตัวเองด้วยร่างกายและจิตใจของตัวเองซึ่งจะเป็นปราการด่านแรกที่จำเป็นต้องผ่านหากจะเรียนรู้การล้างกิเลส

ขั้นตอนที่ 3). ตรวจสอบกาม

หากว่าเรากินร่วมหม้อหรือร่วมจานกับผู้อื่นแล้ว เรายังมีอาการเขี่ยเนื้อเข้าตัว แอบควานเนื้อสัตว์เข้าหาตัว หรือพยายามกินผสมโรงให้รู้สึกว่าเหมือนไม่ผิดในการกินเนื้อสัตว์ ท่านกำลังอยู่ในกามภพที่ลึกลับซับซ้อนกว่าเดิม เพราะในแบบตรงไปตรงมาก็คือทนความอยากไม่ไหวแล้วลองกินเลย แต่คนที่ไม่จริงใจกับตัวเองก็จะทำเป็นเนียนกินไป แบบนี้ยากจะบรรลุธรรมเพราะมีการกลบเกลื่อนไม่ให้ตัวเองและผู้อื่นเห็นความอยากแม้ว่าจะตักกินอยู่อย่างชัดเจน

ผู้ที่อยู่ในรูปภพ จะไม่ทำเนียนกินหรือพยายามจะกินอีกต่อไป แต่จะพยายามกดข่มอาการอยากไว้ในภพ ในสภาวะที่ตัวเองไม่กิน เพื่อให้ตัวเองไม่ไปกิน ใจนั้นอยากกินอยู่ เห็นเนื้อสัตว์ที่ปนกันก็ยังอยากกินอยู่ แต่ด้วยความยึดว่าต้องมังสวิรัติจึงหักห้ามใจได้ดีกว่าผู้ที่อยู่ในกามภพ ซึ่งแม้ว่าจะหักห้ามใจให้ไม่ไปหยิบกินได้นั้น ก็ยังมีความอยากอยู่เต็มใจ อยากชัดเจนจนได้ยินเป็นคำพูดปรุงแต่งอยู่ในใจว่า น่ากินนะ อยากกินนะ น่าอร่อยนะ

ผู้ที่อยู่ในอรูปภพ หรือภพที่ไม่มีรูปของความอยากให้เห็นเป็นตัวตนชัดๆแล้วก็จะไม่มีอาการอยากใดๆแสดงออกมา มีแต่อาการไม่ใส ไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบาย เพราะลึกๆในใจมันอยากกิน แต่มันไม่มีคำปรุงแต่งใดๆแล้ว กินชาบูมีเนื้ออยู่ในหม้อเต็มไปหมดก็สามารถลวกผักกินได้ หรือกินเมนูผักกับเนื้อก็สามารถเขี่ยผักมากินได้ แต่ในใจมันยังวนเวียนอยู่กับเนื้อสัตว์ มันยังมอง ยังจ้อง ยังรู้สึกเสียดาย มันไม่โล่ง ไม่ยอมทิ้งเนื้อสัตว์อย่างเต็มใจ ยังมีความอาลัยอาวรณ์อยู่

การพ้นสามภพนี้ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ในโจทย์นี้นั้นไม่ง่าย เพราะความที่เราเคยติดเนื้อสัตว์มามาก ความอยากมันยังมีอยู่มาก การกินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายถึงไม่อยากกินเนื้อสัตว์มันคนละเรื่องกัน ถ้าคนตีความผิดไปว่ากินมังสวิรัติได้คือไม่อยากกินเนื้อสัตว์ถือว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดจากความจริงไปหลายขุม เพราะการกินมังสวิรัติได้กับการดับความอยากในการกินเนื้อสัตว์เป็นคนละเรื่องกัน แม้ผลจะออกมาเหมือนกันคือไม่กินเนื้อสัตว์ แต่จิตใจข้างในจะต่างกันโดยสิ้นเชิง

ผู้ที่ยังวนเวียนอยู่ในสามภพนี้จะต้องทุกข์ทรมานจากความอยากเสพ แม้ได้เสพก็ทุกข์ แม้ไม่ได้เสพก็ทุกข์ ต้องกดข่มนั่งเขี่ยกินผักอย่างเศร้าหมอง หดหู่ เป็นมังสวิรัติที่ไม่สดใส ไม่เบิกบาน ไม่สดชื่น ไม่ใช่ทางบรรลุธรรม เป็นเพียงการใช้สมถะวิธีเข้ามากดข่มความอยากแล้วติดอยู่ในรูปภพ หรืออรูปภพเท่านั้นเอง

ขั้นตอนที่ 4). ตรวจสอบอัตตา

คนที่มีอัตตาแรงจะออกอาการรังเกียจตั้งแต่แรก คือตั้งแต่อ่านบทความนี้เลยว่าทำไมตัวเองต้องไปกินร่วมกัน มันมีน้ำซุป น้ำมันหอย น้ำปลา ฯลฯ คนพวกนี้จะกินมังสวิรัติได้แต่ไม่เห็นความอยาก ไม่มีปัญญารู้ในเรื่องของกิเลส เขาแค่กินมังสวิรัติได้ก็พอใจแล้ว และหลงยึดว่าต้องมังสวิรัติ 100% นั่นถึงจะเรียกว่าดีที่สุด

ซึ่งการที่สัตว์ใดจะกินแต่ผักทั้งชีวิตได้นั้นเป็นเรื่องธรรมดา วัวควายมันก็กินหญ้าทั้งชีวิตไม่เห็นมันจะบรรลุธรรมตรงไหน มันก็ยังเป็นวัวเป็นควายอยู่เหมือนเดิม เช่นเดียวกับคนกินมังสวิรัติโดยไม่มีปัญญา เขาก็กินกันไปได้นะ เพียงแต่ว่าไม่รู้เรื่องกิเลส แต่ก็จะรู้เกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปที่ใช้กดข่มความอยากเช่น สุขภาพ การเบียดเบียน เมตตา บุญ(กุศล) กรรม หรืออะไรก็ว่ากันไป การถือศีลแบบไม่มีปัญญาหรืองมงายนี่เองที่เรียกว่า ถือศีลอย่างอุปาทาน คือถือไว้อย่างยึดมั่นถือมั่น เป็นลักษณะของคนกินมังสวิรัติที่เคร่งและเครียด แต่ก็ไม่รู้สาระข้างใน รู้แต่มันไม่ดี มันเบียดเบียน ฯลฯแล้วก็ใช้ความรู้เหล่านั้นกดข่มความชั่วคือกดข่มการไปกินเนื้อสัตว์เอาไว้ เป็นลักษณะของสมถะวิธี เป็นการกดข่ม ไม่ใช่การล้างกิเลส

ดังนั้นคนที่มีอัตตาแรงก็จะไม่เห็นด้วยกับการทดสอบนี้ตั้งแต่แรก เพราะเห็นว่าไม่จำเป็น เขาเข้าใจเพียงแค่ว่ากินมังสวิรัติก็พอแล้วทำไมต้องมาทดสอบกิเลสกัน เขาจะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นและยังไร้สาระ นั่นเป็นเพราะจุดประสงค์ของคนไม่เหมือนกัน ใครที่อยากกินมังสวิรัติเพราะไม่อยากเบียดเบียนก็ไม่จำเป็นต้องทดสอบจิตใจแบบใดๆเลยก็ได้ ก็เพียงแค่กินมังสวิรัติไปก็เท่านั้น ส่วนคนที่อยากเรียนรู้เรื่องกิเลสนั้นก็จำเป็นจริงๆที่จะต้องมีโจทย์ในการขัดเกลากิเลสของเขาเหล่านั้น

คนที่มีอัตตาผ่อนลงมาบ้างก็จะยังมีความยินดีที่จะอ่าน แต่ก็ไม่ยินดีที่จะกินร่วมกับคนอื่น ไม่ยินดีที่จะกินมังเขี่ย หรือไม่ยินดีที่จะกินร่วมหม้อกับคนกินเนื้อสัตว์ จะมีอาการรังเกียจ ไม่ชอบใจ ไม่พอใจ ถ้าเป็นไปได้ก็จะขอแยกหม้อหรือไม่ไปกินร่วมกันหรือหาร้านที่กินแยกจานกันเลยก็จะดีกว่าจะพยายามผลักตัวเองเข้าสู้การกินร่วมโต๊ะดีกว่าต้องมากินร่วมจาน

ทั้งนี้เป็นเพราะอัตตาหรือความยึดดีในมังสวิรัติผลักให้เกิดอาการรังเกียจทั้งเนื้อสัตว์และคนกินเนื้อสัตว์เหล่านั้น ซึ่งคนกินมังสวิรัติจะหลงว่าอัตตาเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาของคนดี แต่ความจริงแล้วมันเรียกว่านรกคนดี เป็นนรกขุมที่หลอกให้คนที่นึกว่าตัวเองเป็นคนดียินดีที่จะเดินเข้าสู่นรกอันคือความเดือดเนื้อร้อนใจด้วยความยินดี

การที่เรายังมีอัตตาหรือความรังเกียจในเนื้อสัตว์หรือรังเกียจคนที่กินเนื้ออยู่ จะผลักดันให้เราสร้างบรรยากาศกดดัน ขุ่นมัว แสดงออกได้ทั้งทางกาย วาจา ใจ การคิดในใจเพียงว่าไม่ชอบไม่ยินดีที่จะร่วมจานก็สร้างทุกข์ให้กับตัวเองแล้ว มันเห็นทุกข์กันอยู่ชัดๆแต่คนมีอัตตาก็จะยินดีแบกทุกข์นี้ไว้เพราะหลงเข้าใจว่าฉันเป็นคนดี ฉันต้องทุกข์เมื่ออยู่กับคนที่ยังกินเนื้อ

ในมุมของการล้างกิเลส คนดีที่ติดดีนั้นก็ยังชั่วอยู่ดี มองไปก็ยังเป็นนรกเหมือนกับคนกินเนื้อสัตว์อยู่ดี แต่เป็นนรกคนละขุม อย่าไปแบ่งเลยว่าใครต่ำกว่าใครสูงกว่า เพราะนรกของใครก็ของมัน คนที่ติดดีอาจจะสร้างบาปเวรภัยได้มากกว่าก็ได้ อาจจะไปกดดันหรือระรานชีวิตคนอื่นได้มากกว่าคนกินเนื้อก็ได้ใครจะรู้

ถ้ายังรู้สึกว่าตนเองไม่พอใจที่จะต้องกินร่วมจาน ร่วมชาม ร่วมหม้อกับคนกินเนื้อแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลย เรากำลังติดอยู่ในอัตตา

ขั้นตอนที่ 5). สรุปผล

ในด่านนี้จะค่อนข้างยากขึ้นมาทั้งในด้านการตรวจใจและยากที่จะผ่านความอยากที่ละเอียดขึ้นและเข้ามากระแทกใกล้ขึ้น จากโจทย์ที่แล้วคือการกินร่วมโต๊ะ เนื้อสัตว์ก็ยังห่างออกไปคนละจาน แต่ครั้งนี้เราต้องกินร่วมจาน ตัวเราจะต้องเข้าใกล้เนื้อสัตว์เข้าไปอีก เป็นการบีบให้ตัวเองได้เห็นกิเลสอันคือกามและอัตตาที่ซ่อนอยู่ข้างใน

ผู้ที่ไม่ได้ฝึกปฏิบัติธรรมมาหรือไม่มีญาณปัญญาจะไม่สามารถจับสภาวะใดๆของจิตที่เกิดขึ้นได้เลย อยากก็ไม่รู้ ไม่อยากก็ไม่รู้ เรียกว่าไม่ละเอียดเรื่องจิตวิญญาณ การทดสอบนี้จึงไม่มีประโยชน์ใดๆกับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ฝึกและเรียนรู้เกี่ยวกับกิเลสมา

จริงอยู่ที่ว่าการกินมังสวิรัตินั้นดี แต่คนที่กินมังสวิรัติอาจจะไม่ได้ดีเสมอไป เรามักจะเห็นคนกินมังสวิรัติที่อุดมไปด้วยอัตตา ยึดดีถือดี ไปขัดแย้งกับชาวบ้านที่ยังกินเนื้ออยู่เป็นประจำ ชอบแสดงทัศนคติ เผยแพร่ความรู้โดยที่คนอื่นเขาไม่ต้องการ ไปยัดเยียด กดดัน บีบคั้นให้เขาเห็นดีในมังสวิรัติโดยใช้สมถะวิธี

ในความจริงแล้วเราต้องเข้าใจว่าปัญญาบารมีของคนเราไม่เท่ากัน เราบำเพ็ญมาไม่เท่ากัน บางคนใช้แค่สมถะวิธี เอาความดีไปกดข่ม แค่เห็นภาพสัตว์ตายก็สามารถหลุดออกมากินมังสวิรัติได้ บางคนต้องให้ข้อมูลวิจัย บางคนแม้จะมีทุกอย่างแต่เขาก็ยังไม่เลิกกินเนื้อสัตว์ แต่สุดท้ายทุกอย่างมันจะจบตรงเรื่องของกิเลสเพราะกิเลสนี่เองคือรากแห่งความอยาก เป็นตัวสร้างทุกข์แท้ๆ ที่พระพุทธเจ้าได้ค้นพบมาตั้งแต่กว่า ๒๖๐๐ ปีมาแล้ว

ดังนั้นถ้าชาวมังสวิรัติไม่เรียนรู้เรื่องกิเลสก็จะไม่ฉลาดในการสอนคนให้ถูกกับฐานะ ไม่สอนให้ถูกกับจริต จะพยายามยัดความรู้ตามที่ตัวเองได้เรียนมา ได้เห็นมา ใครหลุดมาได้จากภาพสัตว์ถูกทรมานก็ประกาศด้วยภาพสัตว์ตายอยู่แบบนั้น ใครหลุดมาด้วยข้อมูลทางการวิจัยก็แสดงข้อมูลทางการวิจัยอยู่อย่างนั้น ใครหลุดมาได้ด้วยเมตตาก็ประกาศเชิญชวนให้เมตตาอยู่แบบนั้น ยัดไปตามที่ตัวเองเห็นว่าดี พยายามจะเปรียบเทียบ อัดกระแทกให้เกิดจิตสำนึก ยัดข้อมูลเข้าไปเรื่อยๆ แต่จะไม่ฉลาดในการปรับข้อมูลตามจริตของผู้รับสาร ไม่รู้กาลเทศะ จะเป็นมังสวิรัติแบบแข็งๆ รู้อย่างเดียวว่าเนื้อหาสาระนี้ดี ฉันหลุดพ้นจากการสื่อสารแบบนี้ “ดังนั้นถ้าฉันทำแบบนี้เธอก็ต้องรับได้ ไม่อย่างนั้นเธอก็จะได้ชื่อว่าเป็นคนไม่ฉลาดเป็นคนจิตใจต่ำทราม” จากฉัน เพื่อนร่วมโลกผู้มีอัตตาหนาเตอะ

สรุปแล้วเรื่องกามมันก็เห็นไม่ยากเท่าไหร่ เพราะในส่วนของ ”ความอยาก” ถ้าได้พิจารณาตัวเองอย่างจริงใจมันก็จะเห็นชัด ส่วนอัตตาเป็นเรื่องยากสุดยากที่จะเห็น เพราะใครเล่าจะยอมรับว่าตัวเองมีอัตตา ใครจะยอมรับว่าตัวเองยึดดีถือดีในมังสวิรัติ หากไม่ได้เจอแบบทดสอบก็คงจะไม่รู้ และหลายคนถึงแม้จะมีบททดสอบมากมายในชีวิตก็ไม่รู้ เพราะไม่เคยเรียนเรื่องกิเลสมาก่อน จึงปล่อยเหตุการณ์ที่เข้ามาทดสอบเหล่านั้นให้ผ่านไปอย่างน่าเสียดาย

จึงขอหยิบยกพุทธพจน์บทหนึ่งมากล่าวไว้ “ วันคืนล่วงไปล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่

ติดตามต่อได้ที่

Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)

วิธีปล่อยวางความรัก

December 11, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 95,785 views 11

วิธีปล่อยวางความรัก

วิธีปล่อยวางความรัก

…ทั้งในทางโลกและในวิถีทางแห่งพุทธศาสนา

ในบทความนี้จะมาไขรหัสการปล่อยวางความรัก ว่าปล่อยวางอย่างไรจึงจะวางได้จริง บางคนยอมปล่อยแต่ไม่ยอมวาง ถึงอยากวางก็วางไม่ลง มันยังขุ่นใจหงุดหงิดใจอยู่ นั่นเพราะการปล่อยวางของเรานั้นยังไม่ทำจนถึงที่สุดแห่งความรู้แจ้งนั่นเอง

วิธีที่เราใช้เพื่อปล่อยวางความรักนั้นมีหลายวิธี แต่ในบทความนี้จะสรุปรวมมาให้แบบกว้างๆ 3 วิธี คือ 1).เปลี่ยนเรื่อง 2).ปัดทิ้ง 3). เข้าใจ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1). เปลี่ยนเรื่อง

วิธีที่ใช้กันโดยทั่วไปคือการหากิจกรรมทำ ท่องเที่ยวไปในที่ที่ไม่เคยไป ศึกษาเรื่องที่ไม่เคยรู้หรือแม้แต่การเน้นลงไปในเรื่องเดิมเช่น ชอบเที่ยวอยู่แล้วก็เที่ยวให้หนักขึ้น ก็เป็นการเปลี่ยนเรื่องที่ควรจะสนใจอยู่ให้ไปสนใจเรื่องใหม่ที่เรากำลังทำอยู่นั่นเอง

จะเรียกว่ากลบเกลื่อนก็ว่าได้ หลายกิจกรรมนั้นมีสิ่งที่ดีและไม่ดีสอดแทรกอยู่ เช่นถ้าเราไปหาแฟนใหม่ เราก็จะสามารถปล่อยวางแฟนเก่าได้ เพราะเราเลิกยึดแฟนเก่ามายึดแฟนใหม่แทน แต่ปัญหาไม่ได้ถูกแก้มันแค่ถูกกลบทำเป็นลืมเท่านั้น นี่คือตัวอย่างกิจกรรมที่ไม่ดี ส่วนกิจกรรมที่ดีเช่น เรากลับไปดูแลพ่อแม่และพบว่าความรักของท่านมีคุณค่ากับเรามากที่สุด ซึ่งทำให้เราปล่อยวางรักที่จากไปพร้อมกับอดีตคนรักได้ เพราะได้พบกับความรักที่ยิ่งใหญ่กว่า นี้เป็นตัวอย่างกิจกรรมที่ดี แต่ก็ยังอยู่ในลักษณะของการเปลี่ยนเรื่องอยู่ดี

การเปลี่ยนเรื่องเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุที่หลายคนนิยมใช้เพราะเข้าใจได้ง่ายและทำได้ง่าย ซึ่งถ้าทำแล้วเป็นกุศลก็ยังถือว่าดี แต่ก็ยังมีกิจกรรมที่เป็นอกุศลสร้างบาป เวร ภัยให้ตัวเองเช่น อกหักแล้วทำตัวเสเพล ใจแตก เที่ยวผับ เมาเหล้า บ้าผู้หญิง อย่างนี้มันก็เป็นการเปลี่ยนเรื่องที่พาลงนรกได้เช่นกัน

2).ปัดทิ้ง

ในมุมของการปัดทิ้งจะมีรายละเอียดค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่วิธีสามัญธรรมดาคือการพยายามไม่พูดถึง ไม่ใส่ใจ ใครทักก็ทำเฉยๆ เห็นภาพเก่าๆก็ทำลืมๆไป จนมาได้ศึกษาธรรมะบ้างจึงได้พบกับวิธีการทางธรรมซึ่งเรียกว่าสมถะวิธี

สมถะคืออุบายทางใจ มีไว้เพื่อพักจิตพักใจ ใช้กดข่ม ใช้ตบ ใช้แบ่งเบาผัสสะที่เข้ามา ผู้ที่ฝึกสมถะได้มากๆจะสามารถกดข่มอาการหวั่นไหวในใจจากอาการปล่อยแต่ยังไม่วางได้ ถึงกระนั้นก็ตามสมถะก็ยังมีขอบเขตของผลที่จะได้รับแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น โดยเราจะแบ่งสมถะออกเป็นสองวิธี

2.1).เจโตสมถะ

คือการใช้พลังกดข่มเอาดื้อๆนี่แหละ หรือที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าใช้สติ , รู้ , หรืออะไรก็ตามแต่ภาษาบัญญัติเป็นลักษณะของการย้ายจิตที่จมอยู่ ณ สภาพหนึ่งเปลี่ยนไปจมอยู่อีกสภาพหนึ่งโดยการปัดผลของผัสสะ(การกระทบ)นั้นทิ้ง ยกตัวอย่างเช่น แฟนเก่าเดินมาใจเราก็หวั่นไหวแต่ด้วยความที่เราฝึกสติมาเราก็รู้ตัวว่าจิตกำลังเกิดก็ปัดอาการเหล่านั้นทิ้งไปได้ทันที ลักษณะนี้คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณมันเกิดไปแล้วแต่ไปปัดทิ้งไม่นำมาพิจารณาต่อ จบเรื่องไปตรงนั้น ดับไปตรงนั้นแล้วเข้าใจว่าการดับมันเป็นแบบนั้น

จริงๆแล้วมันเป็นการดับที่ปลายเหตุ ซึ่งในขีดสูงสุดที่เจโตสมถะจะทำได้คือดับทุกอาการของเวทนาที่เกิด ดับไปจนถึงสังขารหรือกระทั่งสัญญาในลักษณะกึ่งอัตโนมัติ คือเมื่อมีผัสสะแล้วเกิดอาการจะสามารถดับได้ทันทีโดยไม่รู้ตัว อันนี้ก็เป็นคนที่มีพลังของเจโตสมถะเต็มที่ ลักษณะจะดูเหมือนว่ามีสติเต็มแต่หากมองในทางพุทธจริงๆแล้วจะพบว่าสติไม่เต็มเพราะถูกตัดความต่อเนื่องของสติขาดไปตั้งแต่ปัดทิ้งแล้ว

ข้อดีของเจโตสมถะคือไม่ต้องคิดมาก วิธีการเรียนรู้ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน สอนกันไม่นานก็จับหลักได้ มีสอนกันโดยทั่วไป เป็นวิธีที่มีมาก่อนพุทธศาสนาและจะมีไปจนตราบโลกแตก เอาเป็นว่าจะยุคไหนสมัยไหนก็มีวิธีแบบนี้

ข้อเสียของเจโตสมถะคือการใช้สติตัดอาการเหล่านั้นทิ้งเสีย จึงไม่สามารถเข้าสู่วิปัสสนาได้ แต่คนมักจะหลงว่านี่คือการวิปัสสนา ซึ่งจริงๆแล้วยังคงอยู่ในขีดของเจโตสมถะเท่านั้น การเข้าวิปัสสนานั้นต้องเริ่มที่ญาณ ๑ คือนามรูปปริจเฉทญาณ คือรู้แจ้งแยกรูปแยกนามได้ แต่วิธีของเจโตสมถะจะไม่รู้ในสิ่งเหล่านี้เลย รู้เพียงแค่ว่าจิตเกิดแล้วก็ทำให้มันดับไปเท่านั้นเอง เข้าใจการเกิดและดับเพียงเท่านั้น ไม่ได้ขุดค้นไปที่ต้นเหตุ กระทำเพียงแค่ปลายเหตุ

ซึ่งคนที่เก่งในเจโตสมถะมักจะหลงว่าตนเองนั้นบรรลุธรรมเพราะสามารถดับหลายสภาพจิตที่เกิดขึ้นในจิตได้แล้ว จะยกตัวอย่างอาจารย์ของพระพุทธเจ้าคืออุทกดาบส และอาฬารดาบส ซึ่งโดยรวมก็เป็นสายสมถะเช่นกัน ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ยืนยันแล้วว่าไม่บรรลุธรรม

ความเข้าใจที่ว่าสติมาปัญญาเกิดนั้นยังเป็นความเข้าใจที่อธิบายได้ยากและทำให้คนหลงลืมศีล มุ่งแต่ปฏิบัติสมถะซึ่งเป็นสายหลักของเจโตสมถะ เมื่อไม่กล่าวถึงศีล ไม่มีศีลในข้อปฏิบัติ ไม่ปฏิบัติไปเป็นองค์รวมทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ก็ย่อมไม่เกิดมรรคผล ไม่เป็นพุทธ ไม่เข้าใจในพุทธ ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องศีล สมาธิ ปัญญา หากเราฝึกเพียงสติแล้วหวังจะให้ปัญญาเกิด ปัญญาที่ได้จะเป็นปัญญาแบบโลกๆ ปัญญาแบบปล่อยวางทุกข์ที่อยู่ตรงหน้า เหมือนสภาพปล่อยก่อนหน้าที่จะถือ แต่ไม่มีปัญญารู้ว่าไปถือเพราะอะไร

การปล่อยวางความรักโดยใช้เจโตสมถะนี้จะไม่สามารถวางได้จริง พอเจอผัสสะเช่นแฟนเก่าเดินมา เขาแต่งงานใหม่ก็ต้องมาดับจิต ข่มจิต ปัดจิตตัวเองทิ้งเป็นรอบๆไป เจอหนักๆเข้าก็ไม่ไหวสติแตกได้เช่นกัน

2.2).ปัญญาสมถะ

เป็นลักษณะของผู้พิจารณาที่มีชั้นเชิงขึ้นมาบ้าง ใช้ปัญญาเข้ามาเสริมบ้าง แต่ก็ยังเป็นปัญญาทางโลก เป็นเหตุผลทางโลก เป็นสัจจะที่รู้กันในโลก ไม่ใช่สัจจะที่เกิดในใจ

ลักษณะของการใช้ปัญญาเข้ามาเสริมในเชิงของสมถะคือมีการใช้กรรมฐานเข้ามาพิจารณาร่วม ส่วนกรรมฐานจะเป็นอะไรนั้นก็แล้วแต่ว่าสำนักไหนจะหยิบยกธรรมใดขึ้นมาเป็นกรรมฐาน ยกตัวอย่างเช่น พอเราอกหักก็แล้วปล่อยวางไม่ได้ เขาก็จะแนะนำว่าเป็นเพราะเรายึดมั่นถือมั่นว่าตัวเราเป็นของเรา แต่สิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ใช้การพิจารณาธรรมอย่างนี้เข้ามาช่วย จะมีลักษณะเป็นรูปแบบที่ชัดเจนในการพิจารณา เป็นการใช้กรรมฐานในลักษณะเช่นเดียวกับ พุทโธ , ยุบหนอพองหนอ แต่จะนำบทธรรมะเข้ามาพิจารณาร่วมด้วย

โดยรวมแล้วปัญญาสมถะนั้นเหมือนจะดี มีสอนกันโดยมาก แต่ก็ยังเป็นลักษณะของการใช้เหตุผลเข้ามากดข่มความทุกข์ ใช้เหตุผลเข้ามาทำลายความยึดมั่นถือมั่น เอาสัจจะ เอาความรู้ เอาตรรกะ เอาปัญญาโลกียะ เข้ามากดจิตไว้ ซึ่งก็เป็นลักษณะของสมถะเช่นกัน

ข้อดีของปัญญาสมถะนั้นก็มีมาก เพราะเริ่มจะใช้เหตุผลในการพิจารณาออกจากทุกข์บ้างแล้ว ไม่ใช่การตบทิ้งเอาดื้อๆหรือหลงเข้าใจเพียงว่าการแก้อวิชชาก็แค่เพียงรู้ รู้ รู้ เท่านั้น จะเริ่มละเอียดในจิตมากขึ้น

ข้อเสียของปัญญาสมถะนั้นก็มีอยู่ เพราะยังไม่ถึงที่สุดแห่งธรรมแต่มักจะหลงว่าถึงที่สุดแห่งธรรม เพราะมีการใช้ธรรมเข้ามาพิจารณาความทุกข์ แต่ปัญหาคือล้วงไม่สุด ล้วงไม่ลึกถึงสมุทัย เจอแค่ปัญหาปลายๆก็พิจารณาเพียงปลายๆแล้วจบลงตรงนั้นคล้ายๆว่าเราพอเจอความยึดมั่นถือมั่นเราก็จะพิจารณาแค่ความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้เจาะลงไปในเหตุว่าความยึดมั่นถือมั่นนั้นเกิดจากอะไร

พอไม่ได้พิจารณาลงไปที่เหตุกิเลสก็ไม่มีทางดับ มันเพียงแค่ซ่อนตัวอยู่เพราะมีพลังของสมถะมากดไว้ ซึ่งตรงนี้จะทำให้คนหลงไปได้มาก จะมีสภาพเหมือนเข้าใจทั้งธรรมและเข้าใจทั้งทุกข์ ซึ่งโดยมากจะมีรูปแบบการพิจารณาที่เป็นแบบแผนชัดเจน ไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปตามกิเลสหรือความยึดมั่นถือมั่นเพราะไม่ได้ล้วงลึกไปที่เหตุ

เหมือนกับหมอที่เห็นว่าคนไข้น้ำมูกไหลก็สั่งจ่ายยาลดน้ำมูก ทั้งที่เหตุของน้ำมูกนั้นเกิดได้มากมายหลายสาเหตุ ซึ่งอาการที่น้ำมูกไหลนั้นเป็นปลายเหตุ ลักษณะของปัญญาสมถะจะเป็นเช่นนี้ เหมือนจะแก้ปัญหาได้ แต่ไม่ได้ดับไปที่รากของปัญหา

…. จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าวิถีแห่งสมถะไม่สามารถล้วงลึกไปถึงสมุทัยได้ เมื่อไม่ถึงสมุทัย ไม่เจอเหตุแห่งทุกข์ ก็ไม่มีวันที่จะเข้าถึงวิปัสสนา เพราะการวิปัสสนาที่แท้จริงจะต้องเริ่มกันที่นามรูปปริจเฉทญาณ คือรู้แจ้งแยกรูปแยกนามได้ จึงจะเรียกได้ว่ากระทำวิปัสสนา คือการเห็นว่ากิเลสมันเริ่มจากตรงไหน กิเลสตัวใดเป็นตัวผลักดันให้เกิดทุกข์

ซึ่งสมถะวิธีนี่เองคือตัวกั้นไม่ให้เราไปถึงสมุทัย โดยเฉพาะวิธีเจโตสมถะซึ่งจะตบทิ้งทุกๆผลของผัสสะที่เข้ามาทำให้ทุกข์ เมื่อตบเวทนา สังขาร สัญญา เหล่านั้นทิ้งไปแล้วก็ไม่เหลืออะไรให้ค้นหาเหตุแห่งทุกข์อีก ซึ่งขัดกับหลักของพระพุทธเจ้า ในบทของอาหาร ๔ ในข้อหนึ่งที่ว่า ผัสสาหาร หมายถึงคนเราต้องมีผัสสะเป็นอาหาร เป็นเครื่องค้ำจุนชีวิตเพื่อความเจริญทางจิตใจ ต้องรู้ในเวทนาที่เกิดขึ้นและค้นต่อไปว่าเวทนาสุข ทุกข์ เฉยๆเหล่านั้นเกิดเพราะเหตุใด มิใช่จิตเกิดสุข ทุกข์ เฉยๆ แล้วปัดทิ้ง ตบทั้ง ดับทิ้ง แบบนี้เป็นวิถีของฤๅษี

3). เข้าใจ

ก่อนที่เราจะเข้าใจสิ่งใดได้นั้นเราจะต้องเห็นทุกข์กับมันอย่างแจ่มแจ้งเสียก่อน ดังคำตรัสที่ว่า “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม” จะลองยกตัวอย่างการเห็นทุกข์แล้วเห็นธรรมในแบบโลกๆให้พอเห็นภาพกันโดยสังเขป

ครั้งหนึ่งได้กินยำไข่แมงดาแต่กลับมาพบว่าปวดหัวหายใจขัด ครั้งนั้นก็ยังไม่แน่ใจว่าผิดที่ไข่แมงดาหรือผิดที่เราเพราะคนอื่นกินก็ปกติดีมีแต่เราเป็น ก็เลยมีการลองครั้งที่สองครั้งนี้หายใจขัดเหมือนเดิม พูดไม่ค่อยได้ ปวดหัวตัวร้อน ยังไม่ชัดแต่ก็เริ่มมั่นใจขึ้นแล้วว่าไม่ได้ผิดที่ไข่แมงดาแน่ สุดท้ายก็เลยต้องลองให้ชัดกับยำไข่แมงดาครั้งที่สาม ครั้งนี้หายใจแทบไม่ออก หายใจได้ทีละสั้นๆ ปวดหัว เหงื่อออก หมดแรงไปทั้งตัว เลยมั่นใจว่านี่แหละ “ฉันแพ้ไข่แมงดา”

การกินสามครั้งจากคนละช่วงเวลาห่างกันนานนับปี ต่างสถานที่ทำให้เข้าใจว่าไข่แมงดาไม่ได้ผิดอะไร แต่เป็นเราเองที่ผิด ที่แพ้ไข่แมงดา หลังจากได้เห็นทุกข์จากความเจ็บปวดทรมานนั้น ก็ถามตัวเองว่าจะเอาอีกไหม อยากกินอีกไหม ครั้งหน้าอาจจะตายก็ได้นะ พอพิจารณาเข้ามากๆประกอบกับทุกข์จำนวนมากที่ได้รับจึงทำให้รู้สึกเข็ดขยาดกับไข่แมงดา

ทุกข์คืออาการแพ้ไข่แมงดา เหตุแห่งทุกข์คือเราอยากกินไข่แมงดาเพราะเขาว่าอร่อย ถ้าจะดับทุกข์ก็ไม่ต้องอยากกินไข่แมงดา ก็ใช้วิธีสำรวมกายวาจาใจไม่ให้ไปยุ่งกับไข่แมงดา

เมื่อพิจารณาดีแล้วจึงเกิดสภาพเข้าใจและยอมรับว่าไข่แมงดากับเราเข้ากันไม่ได้ เราจึงยอมไม่กินไข่แมงดาได้อย่างสบายใจ แม้ใครจะให้ฟรีก็ไม่กิน เพราะเรารู้แล้วว่ามันทุกข์มาก นี่คือตัวอย่างการวิปัสสนาแบบโลกๆทั่วไปที่ยกมาเพื่อจะพอให้จินตนาการภาพของการวิปัสสนาได้บ้าง

3.1) วิปัสสนา

วิปัสสนาคืออุบายทางปัญญา คือการทำให้รู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔ โดยใช้ปัญญาเข้ามาพิจารณาให้เห็นทุกข์ เห็นสมุทัย เห็นนิโรธ และเข้าใจวิถีแห่งสัมมาอริยมรรค

วิปัสสนานั้นต่างออกไปจากสมถะจนเรียกได้ว่าไปคนละทาง เพราะสมถะนั้นใช้การดับ ปัดทิ้ง ตบทิ้ง ส่วนวิปัสสนานั้นจะใช้เวทนาจากผัสสะนั้นมาเป็นวัตถุดิบในการพิจารณาหาสมุทัยต่อ ซึ่งแม้แนวทางปฏิบัติจะต่างกันมาก แต่หากผู้ใดที่สามารถเข้าใจได้ทั้งวิปัสสนาและสมถะก็จะสามารถเจริญได้ไว เพราะทั้งสองวิธีใช้เกื้อหนุนกันได้ ส่งเสริมกันได้ โดยใช้สมถะเป็นตัวพัก เป็นตัวลดปริมาณเวทนาที่เกิดจากสังขารได้ ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ให้พรากไม้ที่ชุ่มด้วยยางออกจากน้ำก่อนแล้วจึงค่อยเผา”

นั่นหมายถึงว่าในบางครั้ง บางผัสสะที่เข้ามาอาจจะมีกำลังแรงเกินกว่าที่เราจะรับไว้ เราก็ใช้สมถะตบทิ้งไปสัก 80 % เหลือไว้ 20% ไว้พิจารณาต่อก็ได้ เพราะหากเรารับไว้ทั้งหมดอาจจะเกิดอาการสติแตกได้ เมื่อคุมสติไม่อยู่ก็ไม่ต้องหวังจะพิจารณาอะไรแล้ว เพราะรากของการวิปัสสนานั้นก็ต้องเริ่มจากสติเช่นกัน แต่สตินี้ต้องเป็นสายต่อเนื่องไปจนพิจารณาจบ จะไม่กดทิ้ง ไม่ดับทิ้ง ไม่ทำเป็นลืม ไม่เปลี่ยนเรื่อง แต่เป็นการนำสิ่งกระทบนั้นๆมาพิจารณาจนเกิดปัญญาว่าเพราะเหตุใดเราจึงทุกข์กับสิ่งนั้น

3.2). วิปัสสนา…ค้นหาเหตุแห่งทุกข์

การวิปัสสนานั้นต้องเริ่มจากผัสสะ คือมีสิ่งกระทบยกตัวอย่างเช่น แฟนบอกเลิก วันเวลาผ่านไปไม่เจอกันก็ไม่มีอะไร แต่วันหนึ่งบังเอิญมาเจอ มีอาการตัวสั่น ตัวเย็น อยากมอง อยากสบตา อยากคุย ถ้ามีสติดีก็ให้จับตรงนี้ให้ชัดๆ ส่วนจะตบทิ้งหรือจะปล่อยก็ให้ประมาณตามกำลังที่จะทนไหว ถ้าเราเลือกไม่ทักทาย เราก็กลับมาพิจารณาต่อให้เห็นว่าทำไมมันยังเกิดอาการเหล่านี้อยู่ แน่นอนมันคือความยึดมั่นถือมั่น แต่ยึดในอะไรล่ะ? ณ ตอนนี้เราก็ต้องขุดค้นลงไปว่าเรายึดในอะไร หรือจะใช้วิธีจินตนาการก็ได้ ดูรูปเก่าก็ได้ จะเห็นว่าเมื่อเรานึกถึงเหตุการณ์ใดๆแล้วใจฟูก็นั่นแหละ เช่นดูรูปถ่ายตอนไปเที่ยวด้วยกันแล้วยังแอบมีความสุข ก็ให้ค้นลงไปอีกว่ามีความสุขเพราะอะไร เพราะในการเที่ยวครั้งนั้นเขาเอาใจ เขาจ่ายเงินให้หมด เขาดูแลเอาใจใส่เรายังกับเราเป็นเจ้าหญิง ยังไม่พอต้องขุดลงไปอีกว่าทำไมเราถึงพอใจและยินดีกับการที่เขาเอาใจใส่ เพราะเราอยากให้ใครมาดูแลใช่ไหม เพราะเราโลภใช่ไหม หรือเพราะเราอยากให้ใครเห็นความสำคัญของเรา ค้นไปค้นมาไปมั่นใจตรงที่ว่าเพราะเราชอบที่ใครมาเห็นความสำคัญของเรา แล้วทีนี้ก็ค้นไปอีกว่าทำไมเราจึงอยากให้ใครมาสนใจเรา ก็ไปเจอว่าตอนเด็กๆพ่อแม่ทำแต่งาน ไม่สนใจเราเลย จะค้นไปอีกก็ได้ เพราะจริงๆเราไม่เข้าใจพ่อแม่ เราทำอะไรเราก็อยากโชว์ อยากได้รับคำชมเมื่อไม่ได้ก็เลยน้อยใจ

เอาแค่ประมาณนี้แล้วกันนะ นี่คือกระบวนการหนึ่งของการวิปัสสนาคือการค้นไปที่เหตุ มันต้องเจอเหตุก่อนไม่ใช่ยังไม่เจอเหตุแล้วไปพิจารณา กิเลสมันจะไม่ตาย แล้วเหตุนี่ไม่ใช่เจอกันง่ายๆนะ ต้องใช้ปัญญาขุดค้นกันไปหลายรอบ บางทีเป็นเดือนเป็นปีกว่าจะเจอ บางคนทั้งชีวิตก็ไม่เจอ ถ้าจะให้ดีก็ให้กัลยาณมิตรหรือครูบาอาจารย์ช่วยไขให้ก็จะเร็วขึ้น

เอาอีกตัวอย่างหนึ่งแล้วกัน เช่นแฟนเราบอกเลิก ผ่านไปไม่เจอกันก็ไม่มีอะไร แต่วันหนึ่งบังเอิญมาเจอ มีอาการตัวชา ไม่อยากคุย ไม่อยากเจอ แต่เผลอก็มองทุกที ก็เก็บเรื่องมาพิจารณาต่อค้นไปในเหตุที่ทำไมเราจึงมีอาการทุกข์ หรืออาการที่จิตนั้นหวั่นไหว ทั้งๆที่เขาทิ้งเรา เราก็โกรธเขานะ แค้นเขาด้วย แต่ทำไมมันยังมองเขา ก็ค้นไปที่ปลายแรกคือโกรธ เราโกรธเพราะเขาทิ้งเรา เขาพรากเราออกจากสภาพที่เรายังสุข เหมือนกับเขาพรากความสุขของเราไปเราจึงโกรธเขา เหตุนั้นเพราะเรามีความสุขมากจนเราเผลอประมาท ทำให้เขาไม่พอใจในบางเรื่องจนเขาตัดสินใจเลิกกับเราก็เป็นได้ ทบทวนให้ดีในส่วนนี้ล้างโกรธให้ได้ก่อน

เมื่อล้างโกรธได้ จะล้างสภาพผลักได้ ซึ่งจะเหลือสภาพดูดคือรักและคิดถึง จะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองผิดเริ่มยอมรับผิด แต่อย่าเพิ่งรีบไปขอโทษ ให้พิจารณากิเลสลงไปต่อว่า เราไปรักไปคิดถึงเขาเพราะอะไร เพราะสิ่งใดเหตุการณ์ใดที่เขาทำกับเราอย่างที่ยกไว้ในตัวอย่างแรก ค้นให้สุดๆจะพบกับรากของกิเลสของตัวเอง แล้วล้างกิเลสของตัวเองให้ได้ก่อนจะกลับไปคุยกับเขาจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

จะเห็นได้ว่าการจะปล่อยวางได้นั้นต้องหาเหตุที่ไม่ยอมปล่อยวางก่อน เราไม่สามารถปล่อยวางได้เพียงพูดว่า ปล่อยวางเพราะมันจะไม่วางจริงจะวางได้แต่คำพูดได้แต่รูปข้างนอกส่วนข้างในใจนั้นยังคงร้อนรุ่มเพราะกิเลสยังไม่ได้ถูกล้างไป แม้จะกดข่มด้วยสมถะแต่ถ้าโดนยั่วต้องใกล้ชิดหรือเจอผัสสะที่แรงมากๆก็จะกดไม่ไหวสติแตกไปได้

อาจจะสงสัยว่าทำไมต้องทำขนาดนี้ ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะเรื่องกิเลสไม่ใช่เรื่องง่าย กิเลสนั้นมีทั้งหยาบ กลาง ละเอียด ถ้าเราไม่ฉลาดในการค้นหาต้นตอของกิเลสก็ไม่มีวันที่จะรักษาโรคร้ายนี้หาย มันจะยังคงแพร่เชื้อลุกลามทำลายร่างกายและจิตใจของเราไปเรื่อยๆเราต้องค้นให้เจอว่าเราไปยึดไว้เพราะอะไร จึงจะสามารถทำลายความยึดนั้นได้ เพราะถ้าไม่เห็นตัวกิเลสหรือเหตุแห่งทุกข์ การจะดับทุกข์นั้นไม่มีทางเป็นไปได้เลย

3.3).วิปัสสนา…พิจารณากิเลส

ทีนี้มาถึงขั้นตอนพิจารณา การวิปัสสนานั้นจะไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจน เพราะหลักการพิจารณาจะปรับเปลี่ยนไปตามกิเลสนั้นๆ บางเรื่องต้องหนักในเรื่องกรรม บางเรื่องต้องหนักในเรื่องไม่เที่ยง และในระดับต่างกันของกิเลสตัวเดียวกันก็ใช้การพิจารณาไม่เหมือนกัน เราไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าควรใช้ธรรมใดมากกว่าธรรมใดและใช้ธรรมไหนจึงจะเหมาะสม แต่ผู้พิจารณาควรรู้ด้วยตนเองว่าเรานั้นยึดติดในมุมใดมากก็ใช้ธรรมข้อนั้นแหละมาแก้กิเลสตัวนั้น คือการใช้ธรรมแก้ปัญหาให้ถูกจุด เหมือนกับการให้ยากำจัดเชื้อโรคร้ายที่ถูกตัวถูกตนโดยไม่มีผลกระทบไปถึงส่วนที่ดีอื่นๆในร่างกาย

หลังจากที่เราจับโจรหรือจับตัวกิเลสได้แล้ว เราก็จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการเจรจากับกิเลสหรือการพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของกิเลส โดยใช้หลักไตรลักษณ์ คือความทุกข์ของการมีกิเลสนั้นว่าถ้าเรายังมีกิเลสมันจะทุกข์อย่างไร ความไม่เที่ยงของกิเลสนั้นว่ามันไม่เที่ยงไปทางใดกิเลสมันเพิ่มหรือมันลด มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปแล้วมันเกิดใหม่อย่างไร ความไม่มีตัวตนของกิเลสนั้นว่าแท้จริงแล้วกิเลสนี้ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา กิเลสเป็นเพียงแขกที่แวะเข้ามาในบ้านเราแล้วยึดบ้านเราเป็นสมบัติของมันแล้วยังใช้เราให้ทำงานหาสิ่งของมาบำเรอกิเลส และด้วยความหลงผิดไปในบางสิ่งบางอย่างทำให้เรารับใช้กิเลสด้วยความยินดี ด้วยความสุขใจ ทั้งๆที่กิเลสไม่ใช่ของเราตั้งแต่แรก มันไม่ใช่สิ่งจำเป็นในชีวิตเรา

หลักการต่อมาคือการพิจารณาประโยชน์และโทษของกิเลส ว่าหากเราออกจากกิเลสนี้หรือทำลายกิเลสนี้เสียจะเกิดประโยชน์ใดบ้างในชีวิตเรา และหากว่าเรายังยึดมั่นในกิเลสนี้อยู่เรายังจะต้องรับทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียใดอีกที่จะเข้ามาในชีวิตเราในอนาคต จะสร้างภาระ สร้างความลำบากให้แก่เราอย่างไรบ้าง

และพิจารณาไปถึงเรื่องกรรมและผลของกรรม ให้เข้าใจก่อนว่ากิเลสนี้คือผลของกิเลสที่สั่งสมมาในชาติก่อนๆส่วนหนึ่งและในชาตินี้อีกส่วนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถทำลายได้เพียงแค่คิด แต่การพิจารณาไปถึงกรรมข้างหน้าที่จะต้องรับก็จะสามารถช่วยคลายความยึดมั่นถือมั่นได้ เช่นในตอนนี้ยังทำลายยากขนาดนี้ แล้วถ้าเราสะสมกิเลสมากเข้าไปอีกจะยากขนาดไหน แล้วยังมีผลกรรมที่จะเกิดจากการที่เราตามใจกิเลสนี้อีกมากมายในอนาคตที่เราต้องรับไว้ ต้องแบกไว้ เช่นหากเรายังคงเอาแต่ใจตัวเอง เราก็มักจะต้องแพ้ทางให้กับคนที่เอาใจเก่งแต่ไม่จริงใจอยู่เรื่อยไป เพราะเราหลงติดในความเสพสมใจในอัตตา พอมีคนมาสนองอัตตาได้ก็ยอมเขา สุดท้ายพอโดนพรากไปก็ต้องทุกข์ใจ

3.4).ตั้งศีล

วิธีที่จะเข้าถึงการปล่อยวางได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่คิดเอา แต่ต้องทดสอบด้วยตัวเอง เพียงแค่เราตั้งศีลหรือตั้งตบะไว้ง่ายๆว่าเราจะไม่หวั่นไหวในเรื่องเขา แล้วลองเปิดรูปเก่าๆ เปิดดูข้อความเก่า ค้นอดีตทั้งดีและร้ายทั้งหมดที่มี ถ้าอดีตยังเฉยๆอยู่ก็ลองจินตนาการอนาคตไปเลยว่าถ้าเขากลับมา ถ้าเขามาง้อ ถ้าเขาไปแต่งงาน หรือถ้าเขาตายเราจะหวั่นไหวหรือไม่การตรวจเวทนาทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบันนี้เป็นการตรวจเวทนา ๑๐๘ เป็นไปเพื่อการล้างกิเลสเท่านั้น

ผู้ปฏิบัติธรรม แม้ลมหายใจขัดเสี้ยวหนึ่งก็รู้สึกตัวแล้ว แม้กลืนน้ำลายก็รู้สึกตัว แม้จิตขุ่นเคืองก็รู้สึกตัว ความรู้สึกตัวนี้เองต้องใช้การฝึกสังเกตตัวเองให้มาก ผู้ฝึกสมถะมามากจะค่อนข้างรับรู้ได้ดีในการกระเพื่อมของจิตโดยผ่านการเปลี่ยนแปลงของร่างกายซึ่งเป็นตัวสะท้อนของใจ

เมื่อเราเห็นแล้วว่าเรายังหวั่นไหว เป็นเพราะเรามีกิเลส ก็ให้เราขุดค้นหารากของกิเลสดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ และพิจารณาไปตามธรรมที่ควรแก่กิเลสนั้น เมื่อพิจารณาไปแล้วจะค่อยๆ เจอกิเลสที่แอบอยู่ในซอกหลืบลึกไปเรื่อยๆ ในตอนแรกมันจะเจอแค่ตัวหยาบ พอพิจารณาได้ผลสำเร็จไปก็เหมือนกับผ่านไปด่านหนึ่งก็จะเจอด่านใหม่ไปเรื่อย ซึ่งต้องอาศัยผัสสะที่แรงขึ้นเรื่อยๆ จากดูรูปเก่า คิดถึงวันเก่า อาจจะต้องลองจินตนาการถึงการพบเจอ หรือถ้ามีโอกาสเจอกันก็ไปเจอไปทดสอบดูว่าเรายังเหลืออาการอะไรอีกไหม ซึ่งการทดสอบเหล่านี้อาจจะพลาดได้ถ้าไม่มีกัลยาณมิตรช่วยตรวจสอบ เพราะบางทีอัตตามันจะบังไม่ให้เราเห็นกิเลส ทั้งนี้กัลยาณมิตรควรมีธรรมระดับหนึ่ง ไม่ลำเอียงเพราะเป็นเพื่อนกัน แต่ให้มองตามความเป็นจริง

…สรุป

การวิปัสสนาที่ถูกตัวถูกตนของกิเลสนี้ ถ้าเพียรพิจารณาจนรู้ว่าคลายกิเลสได้จริง จะมีลักษณะอาการเป็นไปตามวิปัสสนาญาณ ๑๖ อย่างไม่ผิดเพี้ยน การทำลายกิเลสแต่ละตัวนั้นจะมีขั้นตอนไปตามญาณเหล่านั้น เปลี่ยนกิเลสตัวใหม่ก็ต้องนับหนึ่งใหม่

ความแตกต่างของสมถะกับวิปัสสนาคือสมถะจะได้อย่างมากแค่ “เคหะสิทตอุเบกขา” ซึ่งเป็นการวางเฉยอย่างทั่วไป แบบไม่ได้ใส่ใจ แบบไม่มีปัญญา แต่การวิปัสสนาจะได้ผลสูงสุดคือ “เนกขัมมสิตอุเบกขา” คือการอุเบกขาอย่างผู้รู้แจ้ง ที่ใช้ศีล สมาธิ ปัญญา ในการขัดเกลากิเลสจนเกิดผลเป็นสภาวะอุเบกขาแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นสภาวะอุเบกขาเหมือนกันแต่การรับรู้ภายในต่างกันอย่างเทียบกันไม่ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

10.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์