Tag: กุศล

บทวิเคราะห์ : ชาวพุทธควรกินเนื้อที่เขาฆ่ามาหรือไม่?

October 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,437 views 0

บทวิเคราะห์ : ชาวพุทธควรกินเนื้อที่เขาฆ่ามาหรือไม่?

บทวิเคราะห์ : ชาวพุทธควรกินเนื้อที่เขาฆ่ามาหรือไม่?

เป็นข้อสงสัยกันมานานว่าแท้จริงแล้ว ชาวพุทธควรกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาหรือไม่ มีความเห็นที่แตกต่างกันมากมายในสังคม ทุกความเห็นล้วนฟังดูน่าเชื่อถือ แต่ความจริงที่สมควรทำตามหลักของศาสนาพุทธนั้นเป็นอย่างไร เราจะมาศึกษาจากบทความนี้กัน

ในบทความนี้จะไม่ลงไปในรายละเอียดของคำว่าบุญหรือบาป บรรลุธรรมหรือไม่บรรลุ ไม่กล่าวไปถึงเรื่องยิบย่อยในความเห็นต่างๆ แต่จะยกเพียงหลักใหญ่ๆของพุทธมาพิจารณาขอบเขตของกุศลและอกุศล คือจะชี้ชัดกันว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว โดยจะยกพระสูตรอ้างอิงทั้งหมด 3 สูตร คือโอวาทปาติโมกข์, มหาปเทส และกาลามสูตร

ซึ่งคำถามว่าการที่ชาวพุทธนั้นจะไปกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นเรื่องสมควรไหม? มีผู้ให้ความเห็นกันมากมายทั้งผู้ที่มีชื่อเสียง มีผู้คนนับถือ ซึ่งความเห็นเหล่านั้นก็คือความเห็น และในบทความนี้เราจะมาวิเคราะห์เรื่องนี้จากคำตรัสของพระพุทธเจ้ากันดูว่า ความจริงนั้นควรจะเป็นเช่นไร

โอวาทปาติโมกข์

เป็นหลักใหญ่ของศาสนาพุทธ เป็นองค์รวมทั้งหมด ขึ้นต้นด้วยการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส โดยลำดับ นั่นหมายถึงประการแรกท่านให้หยุดทำบาปหยุดทำชั่วทั้งหมด คือชั่วนี่ไม่ต้องทำเลย ทำแต่ความดี ไม่ใช่ชั่วบ้างดีบ้างนะ ทำครึ่งๆกลางๆ อันนั้นไม่พ้นทุกข์ ที่ถูกต้องไม่ควรมีบาปเลยแม้น้อย

จะหยิบยกข้อต่อมาคือ “ผู้ที่ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย”สมณะนั้นหมายถึงผู้สงบจากกิเลส คำว่าสมณะในพุทธศาสนาหมายถึงพระอริยะ ซึ่งหมายความว่าผู้ที่จะเป็นพระอริยะได้นั้นย่อมไม่ทำให้สัตว์ใดลำบากเลย ผู้ที่ยังมีส่วนร่วมในการทำให้สัตว์อื่นต้องได้รับความลำบากอยู่ ย่อมไม่ชื่อว่าเป็นผู้สงบเช่นนั้นเอง

และข้อสุดท้ายที่จะยกมาคือ “ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค”พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสให้สาวกจงกินไม่เลือก เห็นเป็นแค่การกิน สักแต่ว่ากินโดยไม่พิจารณาใดๆเลย แต่ท่านให้ประมาณในการกิน ให้รู้ว่ากินสิ่งใดแล้วเกิดกุศล ไม่เป็นโทษ ทำให้เกิดความเจริญ ทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ ซึ่งในที่นี้จะกล่าวแต่ในอาหารที่กินเพื่อเลี้ยงร่างกายเท่านั้น อาหารอื่นๆจะยกไว้

พระพุทธเจ้าและสาวกเป็นตัวอย่างของการเลือกกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่นในกรณีของสุกรมัทวะ อาหารมื้อสุดท้ายของท่าน ซึ่งจำเป็นต้องใช้สุกรมัทวะนี่เองเป็นตัวทำให้เกิดสิ่งที่ท่านประสงค์ ท่านจึงรับสุกรมัทวะนั้นไว้แต่ผู้เดียว และที่เหลือให้นำไปทิ้งอย่าให้สาวกอื่นได้ฉัน เพราะมันมีโทษ แต่ท่านจำเป็นต้องใช้โทษนั้นเพื่อประโยชน์ของท่าน มันมีความซ้อนในเหตุปัจจัย ดังนั้นพุทธวิสัยจึงเป็นเรื่องอจินไตย ไม่ควรคิดเอาเอง ถ้าหมกมุ่นคิดจะเป็นบ้าได้ เพราะมันเกินวิสัยที่คนทั่วไปจะเข้าใจ ให้ทำความเข้าใจตามเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น หรือตัวอย่างของพระสารีบุตร ในช่วงที่ท่านป่วย แม้ท่านจะได้รับยาแก้โรคนั้นมา แต่ท่านก็เห็นว่าควรจะเทยานั้นทิ้ง เห็นไหมว่าท่านไม่ได้ฉันทุกอย่างที่รับมา ท่านประมาณกุศลของท่าน เพราะท่านมีปัญญาเห็นว่ามีสิ่งที่ดีกว่า ท่านเลยไม่เอาสิ่งเหล่านั้นเท่านั้นเอง ถ้าใครจะเอ่ยอ้างว่า กินไม่เลือก กินโดยไม่พิจารณา คงจะไม่ใช่หลักปฏิบัติของพุทธแน่นอน

มหาปเทส

เป็นพระสูตรที่เอาไว้ใช้สำหรับตัดสินว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ด้วยการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย จึงทำให้มีหลายสิ่งสูญหาย บางสิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ ทั้งที่ไม่ตรงกับที่บัญญัติไว้บ้าง คาดเคลื่อนบ้าง เราจึงจะใช้หลักการนี้ตรวจสอบความถูกต้องของความเห็นนั้นๆว่าเป็นไปในทางพ้นทุกข์หรือไม่

และสูตรนี้เหมาะกับกลียุคเช่นนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะมีการตีความบัญญัติต่างๆให้เป็นไปในทางที่เอื้อต่อการที่กิเลสจะเติบโต มีการเลี่ยงบาลี หาช่องว่าง เช่นไม่ได้ตรัสไว้บ้าง ไม่มีระบุไว้บ้าง แปลความให้ผิดเพี้ยนบ้าง เป็นต้น พระสูตรนี้จึงเข้ามาอุดรอยรั่วเหล่านั้นได้สมบูรณ์ เว้นเสียแต่กิเลสนั้นไม่ยอมที่จะอุดรอยรั่วนั้น

ความตอนหนึ่งกล่าวว่า “สิ่งใดไม่ห้ามว่า ไม่ควร แต่สิ่งนั้นเข้ากับสิ่งไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นจึงไม่ควร” พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสว่า ไม่ควรกินเนื้อสัตว์ แต่ “เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา” นั้นมีเงื่อนไขที่เพิ่มเข้ามา เป็นอีกกรณีหนึ่ง คือมีการฆ่าซึ่งผิดหลักของพุทธอยู่ในนั้น การที่เราไปสนับสนุนเนื้อที่เขาฆ่ามานั้นย่อมส่งผลตรงต่อความไม่ควร คือไปสนับสนุนให้เขาฆ่า เอาเงินเอาความหลงผิดให้เขาเป็นแรงผลักดันในการฆ่าต่อ จึงเป็นสิ่งไม่ควร ซึ่งขัดกับหลักของพุทธที่ว่าเมื่อตนเองตั้งอยู่ในศีลในธรรมได้แล้ว ก็ควรจะชักชวนคนอื่นให้อยู่ในศีลธรรมนั้นด้วย การสนับสนุนเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาจึงเป็นความขัดแย้งต่อกุศลของเขา ขัดกับสิ่งที่ควร ดังนั้นจึงสรุปว่า “การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควร

กาลามสูตร (เกสปุตตสูตร)

ในพระสูตรนี้เป็นสูตรที่จะใช้เพื่อทำความเห็นให้เป็นกลาง มองความจริงตามความเป็นจริง โดยใช้ปัญญาเข้าถึงการปฏิบัตินั้นๆจนรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ โดยไม่ให้รีบปักใจเชื่อ หรือยึดมั่นถือมั่นในคำกล่าวของใครต่อใครแม้คนผู้นั้นจะเป็นพระพุทธเจ้าก็ตามที

ในการวิเคราะห์พระสูตรนี้จะยกข้อความในพระไตรปิฎกเข้ามาประกอบในการอ้างอิง เพื่อความเป็นสากล เข้าใจตรงกันในหมู่ชาวพุทธ

๑.”พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย เราได้กล่าวคำใดไว้ว่า ดูกรกาลามชนทั้งหลาย มาเถอะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา … อย่าได้ยึดถือโดยนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย “

* * * ประการแรก ให้ตัดความสำคัญของแหล่งข้อมูลเสียก่อน เพราะมันจะหลอกเราได้ แต่ต้องรู้ว่าสิ่งใดเป็นอกุศล มีโทษ มีคนติเตียน ทำแล้วไม่เป็นประโยชน์ …กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานี่มันเป็นสิ่งดีไหม มีผลเสียไหม มันเบียดเบียนไหม ทุกวันนี้ยังมีคนติอยู่ไหม เป็นประโยชน์ยังไง

ในสมัยพุทธกาล มีหลักฐานอ้างอิงอย่างน้อยสองครั้งที่พระพุทธเจ้าโดนกลุ่มที่คิดต่างประณามว่า ท่านกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา เขาเหล่านั้นโพนทะนาไปทั่วเมือง เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ จนหมอชีวกไปถามพระพุทธเจ้าว่าจริงไหม ท่านก็ตอบว่า “เราถูกกล่าวตู่” ซึ่งท่านจะกินเนื้อนั้นโดยมีเงื่อนไขที่ค่อนข้างรัดกุมมาก คือไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ ในกรณีเนื้อที่ไม่ได้ฆ่ามาจะยกไว้ก่อนไม่กล่าวในบทความนี้ แต่เนื้อที่ถูกฆ่ามานั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะฉัน เพราะท่านตรัสไว้ชัดเจนว่า ผู้ประพฤติธรรมในศาสนาของท่านย่อมรังเกียจการฆ่า การผิดศีล การเบียดเบียน ย่อมไม่ทำเช่นนั้นหรือร่วมวงบาปกรรมนั้นด้วยเช่นกัน

ในอีกนัยหนึ่ง การที่กลุ่มที่เห็นต่างและต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของพระพุทธเจ้าออกมาประณามท่านว่ากินเนื้อสัตว์นั้น เป็นตัวยืนยันชัดอยู่แล้วว่าท่านไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เพราะถ้าท่านกิน จะประณามทำไมให้เสียเวลา ถ้าคนเขารู้ว่าท่านกินก็คงจะเป็นเรื่องปกติ แต่อันนี้มันไม่ใช่เรื่องปกติ เป็นเรื่องที่เขาจ้องจับผิดหาเรื่องมานาน แต่หาหลักฐานไม่ได้สักที พอมีหลักฐานนิดๆหน่อยๆก็ป่าวประกาศเลย ทั้งๆที่จริงท่านจะกินหรือไม่กินก็ไม่มีใครรู้ ดังนั้นจึงสรุปว่า การกินเนื้อจึงไม่ใช่เรื่องปกติของท่าน

ให้สังเกตว่าสมัยพุทธกาล คนที่กินเนื้อจะโดนประณาม แต่ในสมัยปัจจุบันกลับเป็นเรื่องที่ตีกลับแบบหน้ามือเป็นหลังมือ กลายเป็นสมัยนี้ใครกินเนื้อเป็นเรื่องธรรมดา ใครๆเขาก็ทำกัน แต่ถ้าใครลุกขึ้นมาประกาศว่าชาวพุทธไม่ควรกินเนื้อ คนนั้นจะโดนประณามทันที เรื่องนี้ก็น่าคิด…

๒.”พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความไม่หลง เมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ฯ

กา. เพื่อประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ไม่หลง ไม่ถูกความหลงครอบงำ

มีจิตไม่ถูกความหลงกลุ้มรุมนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จสิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่หลง ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ฯ

กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ”

* * * ประการที่สองคนผู้ไม่หลงย่อมชักชวนให้ผู้อื่นตั้งตนอยู่ในศีล แล้วคนที่ทำไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่สนใจใยดีทั้งๆที่ผู้อื่นยังทำผิดศีล ก็ยังสนับสนุนอยู่ เรียกว่าชักชวนให้ผู้อื่นเป็นอย่างนั้นหรือ … ไม่ใช่อยู่แล้ว เพราะคนที่หลงย่อมไม่สามารถชักชวนคนให้มีศีลได้ ไม่สามารถเอื้อให้คนมีศีลได้ ไม่สามารถสร้างชุมชนหรือสังคมให้มีศีลได้ เพราะถ้าเขามีศีลแล้วใครจะฆ่ามาให้กิน??

๓. “ดูกรกาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้น ปราศจากความโลภ ปราศจากความพยาบาท ไม่หลงแล้วอย่างนี้ มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกข์เหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีใจประกอบด้วยกรุณา … มีใจประกอบด้วยมุทิตา … มีใจประกอบด้วยอุเบกขาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔”

* * * ประการที่สาม สรุปกันตรงๆเลยพระอริยะไม่มีความเบียดเบียน ผู้ที่จะเป็นพระอริยะได้ย่อมไม่ดำรงอยู่อย่างเบียดเบียน เพราะเป็นอกุศลด้วย มีคนถือสาด้วย วกกลับไปติดอยู่ในประการแรก ที่สำคัญการส่งเสริมเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานี่มันคือการเมตตากรุณาต่อใครกัน? การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นความเมตตาไปทั่วทิศแก่สัตว์ทุกเหล่าเช่นนั้นหรือ? สัตว์จะยินดีในความเมตตากรุณาเช่นนั้นหรือ? ก็คงมีแต่คนที่หลงผิดเท่านั้นที่เข้าใจว่าสัตว์เหล่านั้นยินดีที่ได้ถูกฆ่าเพื่อกิน

….ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องกุศล อกุศล เรื่องดีและเรื่องชั่วเท่านั้น การใช้ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมนั้นแยกแยะดีชั่วเป็นพื้นฐานของความเจริญ สิ่งดีให้เข้าถึง สิ่งชั่วให้ละเว้น

สมัยก่อนนี้ไม่ได้มีพระไตรปิฎก สาวกแต่ละท่านมีโอกาสฟังธรรมของพระพุทธเจ้าไม่มากนัก อาจจะไม่ได้หลากหลายเท่าในปัจจุบันอย่างเราด้วย ซึ่งอาจจะทำให้ตกหล่นในบางเรื่องบางตอนไม่ได้รับรู้หลักเกณฑ์ระบุไว้แน่ชัดว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก แต่ท่านเหล่านั้นก็ได้ใช้ปัญญาของตัวเองพิจารณาลงไปว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ เป็นกุศล หรือสิ่งใดเป็นโทษ เป็นอกุศล ด้วยความเห็นที่มองโลกตามความเป็นจริง ไม่ใช่สิ่งที่ตนเองอยากให้เป็น

เรื่องกุศลกับอกุศล คนที่หลงจะแยกไม่ออก เขาจะแยกดีแยกชั่วไม่ได้ จะเห็นกงจักรเป็นดอกบัว ตีทิ้งกุศล กอดเก็บอกุศล จนบางครั้งถึงกับประณามสิ่งที่เป็นกุศล แล้วโอ้อวดความเห็นผิดของตนด้วยก็มี ความหลงนี่มันหลงได้ลึกและอันตรายตั้งแต่หลงในธรรม จนกระทั่งหลงว่าตนเองบรรลุธรรม และสิ่งเดียวที่จะชี้ชัดความจริงได้ มีเพียงแค่กุศล และอกุศล เป็นเรื่องสามัญของโลกที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนั้นไม่ดี เป็นเพียงแค่สมมุติสัจจะที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ยังไม่ต้องถึงขั้นปรมัตถสัจจะ ศาสนาพุทธไม่ได้ทิ้งสมมุติสัจจะ พระพุทธเจ้าท่านยังอนุโลมให้กับเรื่องบางเหตุการณ์ที่ผู้คนเขาถือสา ผู้คนเขาติเตียนมาเป็นข้อปฏิบัติและวินัยต่างๆ

ดังนั้นจะสรุปข้อธรรมทั้งหมดลงมาเพียงแค่ว่า “แยกดี แยกชั่ว” ให้ได้ก่อน แล้วสิ่งไหนดีให้เข้าถึงสิ่งนั้น และสิ่งไหนชั่วก็ให้ออกจากสิ่งนั้น ซึ่งเป็นข้อสรุปของกาลามสูตรในกรณีข้อมูลมีความขัดแย้ง สับสนในเนื้อหาและความหมายต่างๆ

– – – – – – – – – – – – – – –

7.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การลดกิเลส ความดีที่เข้าใจได้ยาก

July 31, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,903 views 1

การลดกิเลส ความดีที่เข้าใจได้ยาก

การลดกิเลส ความดีที่เข้าใจได้ยาก

หากเราจะกล่าวกันถึงเรื่องลดกิเลสนั้น ก็เป็นเสมือนเรื่องนามธรรมที่มองไม่เห็น เป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจ เป็นเรื่องที่ถูกลืมไปแล้วในสังคมพุทธบ้านเรา

เรามักจะมองเห็นการทำดีที่เป็นรูปธรรมได้ชัดเจน ใครทำดีก็ทำไปตามที่สังคมเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี แต่การลดกิเลสกลับเป็นเรื่องที่ดูมีคุณค่าน้อย ดูเป็นเรื่องอุดมคติ มองไม่เห็น วัดไม่ได้ ไม่เหมือนการทำดีตามสังคมนิยมทั่วไปที่เห็นภาพกันได้ชัดเจนเลยว่าใครทำอะไร เท่าไหร่ อย่างไร…

(ต้องขออภัยที่ในบทความนี้ต้องยกตัวอย่างการปล่อยปลา ซึ่งผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาให้กระทบใคร การปล่อยปลาช่วยเหลือปลาก็เป็นสิ่งดีถ้าปลานั้นได้รับความทุกข์ทรมานอยู่ ซึ่งการช่วยเหลือเกื้อกูลสัตว์เป็นสิ่งที่ดีสามารถทำได้ เป็นสิ่งที่เป็นกุศล แต่กระนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้สนับสนุนในการซื้อขายชีวิตสัตว์เพราะเป็นมิจฉาวณิชชาหรือการค้าขายที่ชาวพุทธไม่ควรทำ)

หากเราจะเปรียบเทียบการทำดีในมุมที่สังคมเข้าใจกับการลดกิเลส ก็จะยกตัวอย่างในกรณีการปล่อยปลา คนที่คิดว่าการปล่อยปลาดีนั้น เขาก็จะนำปลามาปล่อย ปล่อยตัวเดียวคนก็ยินดีประมาณหนึ่ง ปล่อยเป็นล้านตัวคนก็ร่วมยินดีกันยกใหญ่ เข้าใจตามประสาสังคมว่าเป็นบุญใหญ่ ความดีแบบนี้มันเห็นได้ง่าย ผู้คนเข้าใจ ร่วมยินดี ให้ความเคารพ

แต่ถ้ามาเรื่องลดกิเลส เราอาจจะไม่ได้ซื้อหรือหาปลามาปล่อยลงแม่น้ำเหมือนคนอื่นเขา แต่เราปล่อยให้ปลาใช้ชีวิตไปตามธรรมชาติของมัน ไม่ซื้อ ไม่จับ ไม่กินมัน คือละเว้นการกินเนื้อปลาตลอดชีวิตเพราะรู้ว่าความอยากกินเนื้อปลานั้นยังผลให้ต้องเบียดเบียนปลา และเบียดเบียนตนเองด้วยอกุศลกรรมและทุกข์จากความอยากกิน สุดท้ายจึงกลายเป็นคนที่ไม่กินปลา

ความดีที่เห็นและที่เป็น

หากจะถามว่าเราสามารถเห็นความดีแบบไหนได้ง่าย โดยส่วนมากเขาก็จะตอบว่าปล่อยปลาล้านตัว เขาไม่มาสนใจคนที่เลิกกินเนื้อปลาหรอก เพราะมันเป็นรูปธรรม มันชัดเจน เข้าใจง่าย

แต่หากจะถามว่าอะไรเป็นความดีมากกว่า ก็ต้องตอบว่าการลดกิเลส เพราะการลดความอยากได้นั้นคือการปฏิบัติสู่หนทางสู่การพ้นทุกข์ การทำลายกิเลสจนสิ้นเกลี้ยงเป็นเป้าหมายของศาสนาพุทธ แม้จะทำได้แค่เรื่องเดียวก็เป็นเรื่องที่มีกุศลมากแล้ว เป็นความดีมากแล้ว

ความชั่วที่เห็น

หากจะถามว่าเราจะเห็นสิ่งชั่วแบบไหนได้ง่าย โดยส่วนมากเขาก็จะตอบว่าปล่อยปลาล้านตัว คนที่ช่างสังเกตก็จะมองว่าแล้วหาปลามาจากไหน จับมาหรือเพาะพันธุ์มา แล้วจะทำให้ระบบนิเวศเสียไหม แล้วทำไมไม่เลิกกินปลาเสียเลย เห็นบางคนปล่อยปลาแล้วก็ไปกินปลาต่อ ซึ่งการทำดีแบบโลกๆก็คงจะหนีไม่พ้นสรรเสริญและนินทา

ส่วนการทำลายความอยากจะไม่สามารถเห็นสิ่งชั่วได้เลย เพราะไม่ไปเบียดเบียนให้มันชั่ว ไม่ยุ่งกับสัตว์อื่นให้ต้องมีอกุศลกรรมใดๆ แม้จะไม่ได้ดีโดดเด่นอะไร แต่เพียงแค่ไม่มีชั่วปนอยู่เลยก็เพียงพอแล้ว และไม่ต้องได้รับสรรเสริญนินทามาก จนเสี่ยงต่อการเกิดสิ่งชั่วขึ้นอีก

ความจริงที่ปรากฏ

การปล่อยปลา หรือการทำดีที่เข้าใจกันโดยทั่วไปเช่น การสละทรัพย์สร้างวัตถุ การสละแรงงาน ฯลฯ เหล่านั้นมีความไม่แน่นอน นั่นหมายถึงไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา อาจจะมีเหตุปัจจัยให้ทำได้หรือไม่ได้ก็ได้ ดังนั้นการทำความดีตามที่โลกเข้าใจนั้น ยังมีข้อจำกัดที่มาก ไม่สามารถทำได้ทุกวัน

แต่การละเว้นปลานั้น เป็นความดีที่ทำได้ทุกวัน ทุกมื้ออาหาร โดยเฉพาะคนที่ทำลายกิเลสได้จริง เขาก็จะดีของเขาไปทุกวันเช่นนั้น ไม่ต้องรอโอกาส ไม่ต้องมีเวลาพิเศษ ไม่ต้องสละทรัพย์ใดๆเพื่อความดี แต่เป็นการสละกิเลสเพื่อความดี ความดีก็จะคงอยู่กับตัวเขาไปเช่นนั้น ทุกวัน ทุกเวลา และสามารถละเว้นสิ่งอื่นๆได้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างความดีในตนสะสมไปอีก

ความจริงตามความเป็นจริง

หากเอาความดีตามที่โลกเข้าใจนั้นก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องทางรูปธรรม เข้าวัด ปล่อยปลา ทำทาน สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล สร้างวัด ฯลฯ แต่ในทางพุทธศาสนาแล้ว เราไม่ได้มุ่งเน้นด้านวัตถุหรือรูปธรรมมากนัก แต่จะเน้นหนักไปทางด้านจิตใจหรือเรื่องนามธรรมเป็นส่วนใหญ่

ความดีสูงสุดที่มนุษย์ควรจะกระทำคือการชำระกิเลส การปฏิบัติตนให้พ้นจากกิเลส ที่เป็นเหตุแห่งความชั่วทั้งปวง ดั้งนั้นความเป็นพุทธจึงไม่ได้มุ่งเน้นการทำดีเป็นอันดับแรก แต่เอาการหยุดชั่วมาเป็นสิ่งแรกที่มนุษย์สมควรทำ การจะหยุดชั่วได้นั้น จะต้องหยุดที่กิเลส ถ้ายังมีกิเลสอยู่ก็จะยังชั่วอยู่ เมื่อหยุดชั่วได้หมดก็จะเป็นความดีไปในตัว แต่กระนั้นท่านก็มิได้บอกให้หยุดชั่วแล้วอยู่เฉยๆ แต่ให้เพียรทำดีด้วย คือสร้างประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่นไปด้วย สุดท้ายแล้วคือหมั่นทำจิตใจของตนให้ผ่องใสจากกิเลสอื่นๆที่ยังหมักหมมในจิตใจให้หมดสิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

28.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความหมายของบุญ

July 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,046 views 0

บุญ

บุญ

บุญ…ไม่ใช่การได้มาหรือการสะสม

บุญ…คือการสละออก

ชำระกิเลสออกจากใจ

……………………………….

คำว่า “บุญ” ในทุกวันนี้ถูกใช้งานอย่างสะเปะสะปะจนมีความหมายที่ทำให้ชวนงง กลายเป็น ทานบ้าง กลายเป็นกุศลบ้าง กลายเป็นกรรมบ้าง กลายเป็นอานิสงส์บ้าง

แต่ก็ยังมีบ้างที่แปลคำว่าบุญ ว่าเป็นการชำระกิเลสในสันดาน เป็นการขจัดกิเลสออก แต่นั่นก็เป็นเพียงสัญญาที่จำภาษาได้เท่านั้น เวลาใช้กันจริงกลับเอาคำว่าบุญไปใช้แทนกุศลกรรมบ้าง ไปแทนทานบ้าง ไปแทนคำอื่นๆจนผิดนิยาม ผิดธรรมกันไปหมดเปรียบเหมือนว่ารู้จักว่าสิ่งนี้คือจอบ เรียนรู้มาว่าจอบเอาไว้ขุดดิน แต่ถึงเวลาใช้จริงกลับเอาจอบไปตักน้ำ สรุปคือในทางทฤษฏีถูก แต่ในทางปฏิบัติผิด

เมื่อบุญถูกให้ความหมายผิด แล้วการปฏิบัตินั้นจะเป็นบุญแท้จริงได้อย่างไร? เมื่อเรายึดเอาสิ่งที่เข้าใจนั้นเป็นหลักแล้ว บันทึกลงเป็นสัญญาแล้ว แต่สัญญานั้นผิดไปจากสัจจะ แม้มันจะถูกตามสมมุติที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ แต่มันผิดไปจากทางพ้นทุกข์ เรายังจะยึดมั่นถือมั่นในสัญญาเดิมอยู่อีกหรือ? ในเมื่อคนส่วนใหญ่เขาก็เข้าใจเช่นนั้นแต่ก็ไม่ได้พ้นทุกข์

บุญคือการชำระกิเลสออก ไม่ใช่การสะสมหรือได้อะไรมาเลย มีแต่นำออกไป เสียกิเลสออกไปจากตัวเรา สละความชั่วออก ส่วนความดีจะเรียกว่ากุศล ทำดีแล้วเก็บสะสมผลดีไว้เรียกว่ากุศลกรรม การทำทานครั้งหนึ่งอาจจะเกิดกุศลแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดบุญ เพราะบุญต้องชำระกิเลส ทานใดที่ไม่ได้มีผลในการชำระกิเลสก็ไม่เกิดบุญ ยิ่งการทำทานโดยหวังจะได้ลาภ ยศ สรรเสริญก็จะทำให้เกิดบาป หรือเกิดกิเลสด้วยซ้ำ

ถึงแม้จะทำทานด้วยใจบาป ก็ยังมีกุศลอยู่บ้างในส่วนที่ทำ แต่ก็มีอกุศลในส่วนของจิตที่เป็นบาป และก็มีอานิสงส์หรือประโยชน์ที่จะเกิดตามธรรมต่อไปแต่บุญนั้นไม่เกิดขึ้นเลย

– – – – – – – – – – – – – – –

4.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

อย่ามัวแต่โทษกรรมเก่า เพราะกรรมเก่าแต่ปางก่อนไม่ใช่ทุกอย่างเสมอไป

July 2, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,780 views 0

อย่ามัวแต่โทษกรรมเก่า เพราะกรรมเก่าแต่ปางก่อนไม่ใช่ทุกอย่างเสมอไป

อย่ามัวแต่โทษกรรมเก่า เพราะกรรมเก่าแต่ปางก่อนไม่ใช่ทุกอย่างเสมอไป

แม้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเลยมาจนถึงทุกวันนี้ จะสะสมลงเป็น “กรรม” ที่เรียกว่ากรรมเก่า เพราะทำลงไปแล้วเกิดผลแล้ว สะสมผลนั้นไปแล้ว และจะรอวันให้ผลในวันใดวันหนึ่ง แต่กรรมเก่านั้นก็ไม่สามารถลิขิตขีดเขียนให้ทุกอย่างเป็นไปตามเส้นทางของมันได้เสมอไป

เมื่อเราเจอเหตุการณ์ใดๆ บางครั้งเรามักจะเหมาว่าเป็นเหตุจากกรรมเก่าเสียทั้งหมดซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นแบบนั้นไปเสียทั้งหมด แต่ถ้าหากเราโยนทุกอย่างให้เป็นเรื่องของกรรมเก่า เราก็คงจะต้องวนเวียนใช้กรรมและสร้างกรรมเช่นนี้ตลอดไปอย่างแน่นอน

ในบทความนี้จะมานำเสนอความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องกรรม ในมุมของกรรมเก่า ให้เข้าใจกันมากขึ้นเพื่อเสริมให้เกิดความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์

1). กรรมเก่า เก่าแค่ไหน?

คำว่ากรรมเก่านั้นเป็นคำกว้างๆ แม้จะเอ่ยมาก็ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร เพราะกรรมเก่ามีตั้งแต่กรรมเก่าตั้งแต่ชาติปางก่อน ชีวิตก่อน จนกระทั่งถึงกรรมเก่าที่พึ่งจะทำลงไปเมื่อไม่กี่วินาทีที่ผ่านมานี้ ทั้งหมดเรียกว่ากรรมเก่าทั้งสิ้น เพราะผ่านพ้นไปแล้ว ทำไปแล้ว แก้ไม่ได้แล้ว เมื่อทำไปแล้วก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องคอยรับผลกรรมนั้นไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม

2). กรรมเก่านั้นรู้ได้ยาก

กรรมเก่าที่สะสมมาก่อนจะมาถึงชีวิตนี้นั้นรู้ได้ยากมาก แม้กรรมในชาตินี้ที่ทำลงไปก็ยังรู้ได้ยากเช่นกัน แต่เราก็สามารถรู้ได้จากทุกสิ่งที่เข้ามากระทบเรา นั่นก็คือผลของกรรมที่เราทำมา กรรมจะทำหน้าที่ส่งผลเท่ากับที่เราทำมา ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป โดยมีสัดส่วนที่แบ่งไว้อย่างพอเหมาะพอควรแก่ฐานะ

นั่นหมายถึงทุกสิ่งที่เข้ามาทำให้เราเกิดสุข เกิดทุกข์ นั่นคือสิ่งที่ยุติธรรมและสมควรที่สุดที่เราจะได้รับ และผลของกรรมนั่นเองก็คือกระจกที่สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เราทำมา เราอาจจะสามารถระลึกถึงเหตุการณ์ของกรรมเก่าที่ทำในชาตินี้ได้บ้าง ในส่วนของกรรมเก่าแต่ชาติปางก่อนเราอาจจะพอรู้ได้จากความสุขทุกข์ที่ได้รับมา นั่นคือสิ่งที่เราทำมาทั้งนั้น แต่ทั้งหมดนั้นก็ไม่สำคัญเท่ากับเราได้เรียนรู้อะไรจากการรับผลกรรมเหล่านั้น

3). เห็นกรรม ไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์

บางคนเมื่อเจอความทุกข์ จะใช้เรื่องกรรมเข้ามาเป็นตัวช่วยให้ปล่อยวาง เช่นเมื่อรู้ว่าเราทำมา คิดว่าเราทำมา ก็สามารถปล่อยวางได้ ยิ่งระลึกถึงเหตุการณ์ร้ายๆที่เราทำมาสมัยก่อนก็ยิ่งจะทำให้เกิดความสลดใจ ยอมรับความผิดบาปของตัวเองได้ง่าย แต่กระนั้นก็ยังมีกรรมที่สืบสาวราวเรื่องได้ยาก เช่นกรรมที่สะสมมาเนิ่นนานจนมาเกิดผลเอาชาตินี้ แม้จะตรวจไปเท่าไหร่ก็หาที่มาไม่ได้ จึงมักจะทำได้เพียงคิดว่าเราก็ทำเช่นนั้นมา และทำใจยินดีรับกรรมจนหมดผลนั้นไป

เราใช้วิธีเหล่านั้นในการเข้าใจผลของกรรม เป็นวิธีที่ดีที่สามารถทำให้ใจสงบและปล่อยวางได้ แต่ก็ยังไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะไม่ได้ตรวจให้ลึกลงไปถึงเหตุเกิด เรียกได้ว่าเห็นทุกข์เกิดอยู่ แต่ไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์ กลับไปมอง“ผลของกรรม”ที่เกิดขึ้นเป็น“เหตุแห่งทุกข์

วิบากกรรม หรือผลของกรรม ชื่อก็บอกแล้วว่ามันคือผล คือสิ่งที่สุกงอม คนที่มองเห็นเพียงว่าผลของกรรมที่ได้รับคือเหตุแห่งทุกข์ จะไม่สามารถศึกษากรรมที่เกิดในแต่ละครั้งให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ มักจะทำอยู่ในวิถีของสมถะ คือการใช้ความเข้าใจกรรมมาเป็นอุบายช่วยในการทำจิตให้สงบนิ่ง

ในเมื่อวิบากกรรม คือผล มันก็ต้องมีเหตุ เหตุที่ว่าคือทำไมเราจึงไปสร้างกรรมดีหรือกรรมชั่วจนต้องมารับผลกรรมเหล่านั้น ในส่วนของกรรมชั่วก็คือกิเลส กิเลสคือเหตุให้สร้างกรรมชั่ว ส่วนจะเป็นกิเลสชนิดไหน ลีลาใดก็ลองวิเคราะห์จากผลของกรรมของตัวเองได้ ในส่วนของกรรมดีก็คือปัญญา ผู้มีปัญญาก็จะสร้างกรรมดี หรือกุศลกรรม เพื่อใช้อาศัยให้เกื้อหนุนความสุข ความเจริญ ตลอดจนเป็นสิ่งเกื้อหนุนสู่การหลุดพ้นจากกิเลส

ดังนั้นแม้จะเห็นว่าผลของกรรมนั้นคือสิ่งที่เราทำมาจนทำให้เราต้องเกิดทุกข์ แต่ก็ยังเป็นระดับของความเข้าใจในกรรมที่ยังตื้นเขิน เพราะในผลของกรรมแต่ละอย่างก็ยังมีเหตุของสิ่งนั้น เราจึงควรศึกษาให้เห็นเหตุของกรรมดีกรรมชั่วนั้น พระพุทธเจ้าสอนว่าดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ ถ้าเราไม่แจ่มแจ้งในเหตุของกรรม ก็จะไม่สามารถดับทุกข์ได้เลย

4). รำไม่ดีโทษปี่โทษกรรม

พอเราไม่เห็นเหตุแห่งกรรมนั้นๆ ว่าเกิดจากอะไร ก็มักจะมีความเห็นไปในแนวทางที่ว่า “ทุกสิ่งที่เกิดนั้น เกิดจากกรรมเก่า” โดยมากจะเป็นเรื่องของทุกข์ เมื่อเราเจอทุกข์เราก็มักจะโยนปัญหาทั้งหมดให้เป็นเรื่องของกรรม เจอเหตุการณ์ เจอสิ่งร้ายอะไรก็โยนให้เป็นเรื่องของกรรมเก่าทั้งหมด ทั้งๆที่บางครั้งบางเหตุการณ์ก็เกิดจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดอันเป็นผลมาจากความเห็นผิด เพราะมีกิเลสเป็นสิ่งที่พาให้หลง

ดังนั้นเมื่อเราโยนทุกอย่างให้เป็นเรื่องของกรรมเก่า โดยเฉพาะโยนไปที่กรรมเก่าแต่ปางก่อน ก็อาจจะทำให้ไม่ได้แก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดในตัวเอง เพราะไปโทษว่าทุกสิ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้เสียหมด

5). กรรมลิขิต แต่เราเป็นคนเลือกเดิน

ผลของกรรมนั้น ลิขิตขีดเขียนเส้นทางของชีวิตให้ก้าวเดิน เป็นเหมือนบทละครที่บีบบังคับให้เราเล่นไปตามกรรมที่ทำมา แม้กรรมจะลิขิตไว้เช่นนั้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องหลงเล่นละครไปตามกรรมเก่านั้นเสมอไป

ในแต่ละวินาทีของชีวิต เราจะได้รับโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงเส้นทางของกรรม เราสามารถขีดเขียนทางเดินของเราใหม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรายังเป็นคนที่กินเนื้อสัตว์อยู่เป็นประจำ แล้วมีคนมาบอกว่าการลดเนื้อกินผักนั้นดี เป็นสิ่งที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ทั้งยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย เมื่อได้รับข้อมูลดังนี้ เรามีสิทธิที่จะตัดสินใจเลือกเปลี่ยนแปลงกรรมได้

ทางที่ชัดเจนนั้นมีอยู่แค่สองทางคือกุศลและอกุศล หรือดีและชั่ว ถ้าเราตัดสินใจว่า ที่เขาเสนอมามันก็ดีนะ แม้เราจะยังรู้สึกขัดใจอยู่บ้าง แต่ก็อยากจะลองศึกษาเพิ่ม อยากจะลองทำดูสักครั้ง ตรงนี้เป็นการสร้างกรรมดี เกิดมโนกรรมที่ดี แม้จะยังไม่ได้เลิกกินเนื้อสัตว์แต่ก็มีทิศทางที่ไปสู่ความดีงาม

แต่ถ้าเราได้ฟังแล้วคิดว่า จะเลิกกินทำไมอร่อยจะตาย เนื้อสัตว์เป็นเพียงธาตุ เราต้องการโปรตีน อันนี้ก็จะไปทางอกุศล คือมีแนวโน้มจะเสพเหมือนเดิม ตามใจกิเลสเหมือนเดิม ทำตัวปล่อยไปตามกรรมเดิม คือมีความหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์เหมือนเดิม ที่จริงแล้วจะว่าเหมือนเดิมก็คงไม่ใช่ เพราะจริงๆแล้วเมื่อมีสิ่งที่ดีเข้ามาในชีวิตแล้วเรามีอาการต่อต้าน นั่นหมายถึงเราต้องเพิ่มความชั่วขึ้นมาเพื่อไม่เอาความดีนั้น นั่นหมายถึงเรากำลังสร้างกรรมชั่วที่จะยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์มากขึ้นนั่นเอง

ทุกวินาทีเราสามารถเปลี่ยนแปลงกรรมของเราได้ว่าจะทำกรรมดีหรือกรรมชั่ว แม้กิเลสที่สะสมมาจะเขียนบทให้เราเอาแต่สิ่งชั่วเป็นหลัก แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่พยายามจะเลิกยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

ผู้ที่ไม่เคยคิดจะฝืนกิเลส ไม่เคยคิดที่จะต่อต้านกิเลส ก็จะคิดว่าตนเองนั้นถูกกรรมทำให้ไหลไปตามความชั่ว ซึ่งเป็นผู้ประมาท เหมือนปลาที่ตายลอยตามน้ำไปสู่ความฉิบหาย แม้สุดท้ายจะอ้างว่าเพราะกรรมทำมา แต่นั่นก็คือชั่วที่ตนทำมาอยู่ดี แล้วเหตุอะไรที่เราต้องหลงทำชั่วตั้งมากมายจนต้องลำบากคอยรับกรรมชั่วที่ทำให้ทุกข์ ทำให้ไร้สติ ทำให้หลงเช่นนี้ เราจึงควรศึกษาในเหตุแห่งกรรมชั่วนั้น เพื่อที่จะทำลายเหตุนั้นในท้ายที่สุด

6). กรรมเก่าที่หนีไม่พ้น

ในส่วนกรรมเก่าที่หนีไม่พ้นนั้นก็มีอยู่ แม้เราจะป้องกันเต็มที่ด้วยกำแพงศีล สร้างกุศล ใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วยความไม่ประมาทก็อาจจะมีวันหนึ่งที่ผลของกรรมสุกงอม สร้างเป็นเหตุการณ์ให้เราได้รับทุกข์ที่ไม่มีวันจะป้องกันได้ก็ได้

ยกตัวอย่างเช่น เรากำลังเดินทางไปต่างจังหวัด ขับรถไปด้วยความเร็วปกติ ทำตามกฎจราจร ขับด้วยความระมัดระวัง แต่แล้วกลับมีรถสวนมาชนเข้าอย่างจัง กรณีเช่นนี้เป็นลักษณะของกรรมเก่าอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะถ้าเราเองไม่มีความประมาทซึ่งเป็นกิเลส เหตุหนึ่งของความซวยแล้ว ก็เรียกว่าไม่ได้สร้างกรรมชั่วใหม่ ดังนั้นสิ่งที่กระทบก็เป็นผลจากชั่วเก่าที่เคยทำมานั่นเอง

อีกตัวอย่างในกรณีกรรมดี เราเกิดมาในครอบครัวของผู้ที่มีจิตใจสูง พร้อมด้วยปัจจัย ๔ และความรู้ ตั้งแต่เราเกิดมาเราก็ไม่ได้ทำกรรมดีอะไรเลย แต่เรากลับได้รับทั้งอาหาร การดูแลเอาใจใส่ การสั่งสอนที่ดี และโอกาสในการเรียนรู้ เราคิดย้อนไปก็หาเหตุไม่ได้ว่าทำไมเราจึงได้รับสิ่งที่ดี ทั้งที่เราเกิดมาก็ไม่เห็นได้ทำอะไรที่สมเหตุสมผลที่จะได้รับสิ่งดีเหล่านั้นเลย ดังนั้นสิ่งที่ได้รับก็เป็นผลจากดีเก่าที่เคยทำมานั่นเอง

7). กรรมเก่าปนกิเลสใหม่

เหตุการณ์แต่ละอย่างที่เกิดขึ้น ก็จะมีส่วนผสมของกรรมเก่าและกรรมใหม่ปนกันอยู่ โดยเฉพาะกรรมที่ปนด้วยกิเลสนั้นรู้ได้ยาก เห็นได้ยาก มักจะถูกมองอย่างเหมารวมไปหมดว่าเป็นกรรมเก่า จะยกตัวอย่างให้เห็นทั้งในมุมผลกรรมชั่วที่กิเลส และผลกรรมดีที่ปนกิเลส

ผลกรรมชั่วที่ปนกิเลสเช่น เมื่อเราต้องการใครสักคนเข้ามาเป็นคู่ครองในชีวิต เราก็จะตั้งความต้องการไว้ว่าต้องหน้าตาประมาณนี้ ต้องมีฐานะประมาณนั้น ต้องมีแนวคิดประมาณนี้ ฯลฯ นี้คือการสร้างกรรมชั่วขึ้นเพราะมีความโลภ ราคะและความหลงเป็นพื้นฐาน ซึ่งเมื่อวันหนึ่งเจอคนที่ตรงใจก็ตัดสินใจเลือก ณ ตอนนี้เป็นการปักมั่นในการเสพสมใจตามกิเลสเป็นการสนองกิเลส สร้างกรรมชั่วสะสมขึ้นมาอีก แล้ววันหนึ่งก็กลับโดนคนที่หมายมั่นทิ้งไปอย่างไร้เยื่อใย ซึ่งกรณีนี้จะโทษกรรมเก่าแต่ปางก่อนทั้งหมดไม่ได้ เพราะมีกิเลสเป็นตัวร่วมตั้งแต่แรก ดังนั้นสิ่งที่ได้รับนี้เป็นผลมาจากกิเลสที่ยังคงสืบเชื้อชั่วอยู่ในจิตมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ผลกรรมดีที่ปนกิเลสเช่น เราเห็นคนแก่ขายล๊อตเตอรี่ ใจเราก็มีเมตตาอยากช่วย จึงช่วยซื้อไป แต่ก็ไม่ได้ซื้อด้วยจิตผ่องใส ยังมีความโลภ อยากได้ อยากถูกรางวัลอยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงวันออกฉลาก ก็มีความรู้สึกลุ้น อยากให้เป็นเราที่ถูกรางวัล สุดท้ายเกิดถูกรางวัลขึ้นมา ตรงนี้เป็นผลมาจากกรรมเก่าที่สะสมมาด้วย ไม่ใช่เพียงผลที่ช่วยคนแก่ เพราะผลที่ช่วยคนแก่จ่ายไปแค่ไม่กี่ร้อย แต่เมื่อถูกรางวัลกลับได้มากกว่านั้นหลายเท่า ส่วนต่างนั้นคือส่วนของกรรมเก่าที่ทำมา ซึ่งก็แค่เพียงได้รับกรรมดีที่ทำมาเท่านั้น ไม่ได้พิเศษหรือน่าสนใจแต่อย่างใด สิ่งที่น่าสนใจคือความละโมบ เพ่งเล็งอยากได้ในระหว่างที่ถือครองความหวังนั้นต่างหาก คือกรรมชั่วได้สะสมผลลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะรอวันที่ผลของกรรมชั่วนั้นสุกงอมและได้รับผลของกรรมชั่วนั้นต่อไป

….ดังจะเห็นได้ว่า ในเรื่องของกรรมก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย กรรมและผลของกรรมนั้นเป็นหนึ่งในสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ที่ยังมีกิเลสปนอยู่ ซึ่งก็เป็นความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์แล้ว

การเรียนรู้เรื่องกรรมให้แจ่มแจ้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาธรรมะ ผู้ที่เรียนรู้กรรมอย่างละเอียดจนไม่มีใครเทียบได้คือพระพุทธเจ้า ท่านรู้ว่ากรรมใดจะให้ผลอย่างไร แบบไหน เท่าไหร่ เป็นข้อมูลที่ท่านศึกษาอย่างละเอียดมามากกว่าสี่อสงไขยกับแสนมหากัป ซึ่งเราไม่จำเป็นจะต้องเรียนรู้กรรมทุกเหลี่ยมทุกมุมอย่างแจ่มแจ้ง เพียงแค่เรียนรู้ว่ากรรมแต่ละอย่างที่เราทำในทุกวันนี้ เกิดจากเหตุอะไร มีอะไรเป็นแรงผลักดัน แล้วจะให้ผลดีร้ายอย่างไร เรียนเกี่ยวกับกิเลสที่ผลักดันให้ทำกรรมชั่วให้แจ่มแจ้งก็เพียงพอแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

30.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)